อบุลอับบาส อัลฟัรฆอนีย์ (ابوالعباس الفرغا ني)

อบุลอับบาส อะฮฺมัด อิบนุ มุฮำมัด อิบนิ กะซีร อัลฟัรฆอนีย์ เป็นพลเมืองของเอเชียกลาง (ดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำ อมูรดาเรีย-รัสเซีย) ไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาเกิดเมื่อใด แต่ที่แน่ชัดเขามีชีวิตอยู่ในปี ฮ.ศ.247 และเป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกับ มุฮำมัด อิบนุ มูซา อัลคุวาริซฺมีย์

 

อบุลอับบาส อัลฟัรฆอนีย์ เป็นที่โปรดปรานของค่อลีฟะฮฺอัลมะอฺมูน แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ ซึ่งพระองค์ได้ทรงมอบหมายให้เขาทำการศึกษาในภาควิชาดาราศาสตร์และแต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าประจำหอดูดาว อัชชะมาซียะฮฺ ในนครแบกแดด ซึ่งถือเป็นหอดูดาวแห่งแรกในยุคอิสลาม

 

อัลฟัรฆอนีย์ เป็นที่รู้จักในแวดวงนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกด้วยชื่อ อัลฟรากานัส (Al-Fraganus) เขาเป็นเจ้าของหลักสูตรที่โดดเด่นในวิชาดาราศาสตร์ ด้วยเหตุนี้อิทธิพลของเขาที่มีต่อนักวิชาการตะวันตกยังคงปรากฏอยู่จนถึงยุคของ เรจิโอ มอนตานุส (Regiomontoanus) ซึ่งเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.881 นักวิชาการตะวันตกได้แปลตำราดาราศาสตร์ของเขาเป็นภาษาละติน และถูกตีพิมพ์ใน ฟารอเราะฮฺ เมื่อปี ฮ.ศ.898 และตูริมเบิร์ก ในปี ฮ.ศ.944 และในปี ฮ.ศ.953 ถูกตีพิมพ์ในปารีส

 

อบุลอับบาส อัลฟัรฆอนีย์ ได้ศึกษาวิชาว่าด้วยรูปร่างและเนื้อที่ของโลก (Geodesy) เขาได้นำเสนอความเห็นและทฤษฎีในภาควิชานี้ในตำราของเขาที่ชื่อ (อัลกามิล) การศึกษาวิชานี้ช่วยให้เขามีความชำนาญในด้านดาราศาสตร์

 

อัลฟัรฆอนีย์ ได้พัฒนานาฬิกาแดด (Sundial) ในส่วนที่เกี่ยวพันกับวิชาดาราศาสตร์ โดยที่เครื่องมือวัดตำแหน่งดวงดาว (Astrolabe) ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการวัดระยะทางระหว่างดวงดาวและการกำหนดค่าตัวเลขสำหรับขนาดของดวงดาว อัลฟัรฆอนีย์ ได้แต่งตำราเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้และตำราเครื่องมือชี้วัดตำแหน่งดวงดาวของเขายังคงเป็นตำราภาษาอาหรับที่มีอยู่ในหอสมุดต่างๆ ทั่วโลกที่สนใจรวบรวมเอาสารข้อเขียนของตะวันออก

 

อบุลอับบาส อัลฟัรฆอนีย์ ได้กำหนดมวลของโลกและมวลของดาวเคราะห์บางดวง เขาระบุว่า มวลหรือขนาดของดวงจันทร์ = 39/1 จากมวลหรือขนาดของโลก , ดวงอาทิตย์ = 166 เท่าของโลก , ดาวอังคาร = 8/15 จากขนาดของโลก , ดาวพฤหัส = 95 เท่าของโลก และดาวเสาร์ = 90 เท่าของโลก

 

การวัดขนาดของอัลฟัรฆอนีย์ยังคงใช้กันทั่วโลกจวบจนถึงศตวรรษที่ 9 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช ซึ่งเมื่อวิทยาศาสตร์มีความเจริญทางเทคโนโลยีมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น จึงทราบผลการวัดดังกล่าวอย่างละเอียดแม่นยำ ซึ่งแตกต่างไม่มากนักจากผลการวัดที่อัลฟัรฆอนีย์ได้สร้างผลงานเอาไว้