ชุมชนมุสลิมย่านบางคอแหลม ถนนเจริญกรุง

พื้นที่เขตบางคอแหลมเดิมขึ้นอยู่กับอำเภอบ้านทะวาย (ทะวาย)  จังหวัดพระประแดง ต่อมาอำเภอบ้านทะวาย (ทะวาย)  ย้ายมาขึ้นกับจังหวัดพระนคร และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอยานนาวาและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครในสมัยต่อมา

 

ภายหลังพื้นที่เขตยานนาวามีความเจริญและมีประชากรหนาแน่นขึ้น รวมทั้งพื้นที่บางแห่งอยู่ไกลจากสำนักงานเขต ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2532 กรุงเทพมหานครจึงได้จัดตั้งสำนักงานเขตยานนาวา สาขา 2 (แขวงบางคอแหลม) ดูแลพื้นที่เขตยานนาวา 3 แขวง คือ แขวงบางคอแหลม แขวงวัดพระยาไกร และแขวงบางโคล่ และต่อมาได้แยกเขตปกครองออกมาเป็น เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย

 

เขตบางคอแหลม ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

– ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตสาทร

– ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตยานนาวา

– ทิศใต้ ติดต่อกับเขตราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี

– ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตธนบุรีและเขตคลองสาน ทั้งทิศใต้และทิศตะวันออก มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต

แผนที่เขตบางคอแหลม

เมื่อกล่าวถึงชุมชนมุสลิมที่ตั้งอยู่ในเขตบางคอแหลม ก็จำต้องกล่าวถึงถนนสายสำคัญที่ตัดผ่านย่านนี้ นั่นคือ ถนนเจริญกรุง  ถนนเจริญกรุงเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบยุโรป เช่นเดียวกับถนนอีก 2 สายที่ชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร  ถนนเจริญกรุง แบ่งเป็น 2 ตอนคือ ถนนเจริญกรุงในเขตกำแพงเมือง เริ่มจากบริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามจนถึงสะพานดำรงสถิตย์ ต่อกับถนนเจริญกรุงตอนนอกเขตกำแพงเมืองจนถึงตำบลดาวคะนองที่ถนนตก ในปัจจุบันถนนเจริญกรุงตัดผ่านพื้นที่ เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก เขตสาทร และเขตบางคอแหลม

 

การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้น เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในพระนครกันมาก และมีพวกกงสุลได้เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศและอ้างว่า “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ”

 

ดังนั้นในปีระกาตรงกับ พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กอง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก โดยมีนายเฮนรี อาลบัสเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน โดยเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404

 

และในปีจอตรงกับ พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) กว้าง 4 วา การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิตย์  ถึงกำแพงเมืองด้าน ถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวัง อาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิตย์ (สะพานเหล็ก) การก่อสร้างถนนเจริญกรุงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2407 ใช้เวลาก่อสร้างรวม 3 ปี มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร

 

เมื่อแรกสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถนนใหม่” และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียก “ซินพะโล้ว” แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

 

ในพื้นที่เขตบางคอแหลม มีชุมชนมุสลิมตั้งอยู่เป็นช่วงๆตลอดแนวถนนเจริญกรุง มีมัสยิดทั้งหมด 6 แห่งคือ มัสยิดดารุ้ลอาบีดีน  (ตรอกจันท์) มัสยิดบาหยัน มัสยิดอัล-อะติ๊ก มัสยิดบางอุทิศ (นอกและใน 2 แห่ง) และมัสยิดอัส-สะละฟียะฮฺตามลำดับ ชาวมุสลิมที่ตั้งชุมชนและสร้างมัสยิดขึ้นตลอดแนวด้านในของถนนเจริญกรุงนี้ เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายชวา (ยะวา- อินโดนีเซีย) และมลายู (มาเลย์)

 

โดยส่วนใหญ่ สำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายชวานั้นที่สามารถสืบค้นได้อย่างชัดเจน พบว่าเริ่มเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คือตั้งแต่ ร.ศ. 81 (พ.ศ. 2405) โดยเป็นชาวชวาจากเมืองสุราบายา และเป็นคนในบังคับของฮอลันดา (ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่ยึดครองอินโดนีเซียนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2142 จนถึงปี พ.ศ. 2488) ชาวชวายังคงทยอยเข้ามาในประเทศไทยเป็นระลอก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ. 2411 ในระยะ 3 ปีถัดจากการครองราชย์ มีชาวชวา (ยะวา-ยะหวา) เดินทางมาพำนักในเมืองไทยประมาณ 162 คนแล้ว

 

ชาวมุสลิมเชื้อสายชวารุ่นแรกๆที่เดินทางเข้ามาสู่เมืองไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เดินทางด้วยเรือใบ ต่อมาเมื่อมีการนำเรือกลไฟเข้ามาใช้เดินเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเดินทางสู่เมืองไทยจึงสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เรือกะตง เรือเดลฮี เรือกฤษณา เรือกะมุหนิง เรือบันดหรา จะรับผู้โดยสารชาวชวาจากสิงคโปร์สู่เมืองไทย โดยส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือเอเชียติค ท่าเรือบอร์เนียว ท่าเรือบี.ไอ. ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

การที่ชาวชวาเดินทางมาสู่เมืองไทย น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ได้ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับการทำมาหากินจากเพื่อนฝูงญาติมิตรที่เข้ามาทำงานอยู่เมืองไทยว่าค่าจ้างแรงงานในเมืองไทยมีอัตราสูง เพราะจากหลักฐานที่พบในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นปรากฏว่า ค่าจ้างชนชั้นแรงงานในเมืองไทยสูงกว่าค่าจ้างแรงงานในชวาถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากสภาพบ้านเมืองของอินโดนีเซียในเวลานั้นตกอยู่ในภาวะสงครามและการกอบกู้เอกราชจากฮอลันดาระหว่าง พ.ศ. 2416-2446

 

และการที่รัฐบาลฮอลันดาบีบบังคับชาวอาณานิคมด้วยระบบบังคับส่งส่วย (Forced Delivery) และการใช้นโยบายระบบการเพาะปลูกแบบบังคับ (Culture System) รวมถึงการเพิ่มจำนวนประชากรที่มากขึ้นของอินโดนีเซีย ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุปัจจัยชักนำให้ชาวชวาเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อแสวงหาสถานที่ทำกินและการประกอบอาชีพที่ดีกว่าในเมืองแม่ของตน

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านเสด็จประพาสชวาเป็นจำนวน 3 ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2414 ครั้งที่ 2 ในพ.ศ. 2439 ครั้งที่ 3 ในพ.ศ. 2444 และในการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2439) พระองค์ทรงเสด็จไปยังเมืองบุยเต็นซอก (Buitenzorg) ทรงทอดพระเนตรเห็นความงดงามของสวนพฤกษชาติโบกอร์ โบตานิคอล การ์เด็น (Bogor Botanical Garden) พระองค์พอพระราชหฤทัยสวนพฤกษชาติแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสด็จชมสวนทุกวันตลอดช่วงเวลาที่ประทับอยู่ ณ บุยเต็นซอก

 

ภายหลังเสด็จกลับจากชวา รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระราชวังดุสิตขึ้น ใน พ.ศ. 2441 เพื่อใช้เป็นที่แปรพระราชฐานสลับกับพระบรมมหาราชวัง และในพระราชวังดุสิตนี้เอง พระองค์ทรงสร้าง “พระราชอุทยานสวนดุสิต” ขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ตามแบบอย่างสวนโบตานิคอล การ์เด็น ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 โปรดเกล้าฯให้สร้างเกาะต่างๆไว้ในพระราชอุทยาน เกาะเหล่านี้มีความสูงขนาดภูเขาย่อมๆ จึงเป็นที่มาของการเรียกขานว่า “เขาดินวนา”

 

ใน พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาครั้งที่ 3 ครั้งนี้พระองค์ทรงนำนายเอเลนบาส ผู้เชี่ยวชาญในการเพาะปลูกชาวฮอลันดา พนักงานตรวจการเพาะปลูกและชาวชวา 2 คน มาตกแต่งสวนในพระราชวังดุสิตนี้ด้วยมีผลทำให้ชาวยะวาที่มีฝีมือในการตกแต่งสวนได้เข้ารับงานด้านตกแต่งสวนในบริเวณพระบรมมหาราชวัง วังสราญรมย์ วังสวนสุนันทา พระราชวังบางปะอิน นอกจากนี้ยังทำสวนบริเวณโรงกษาปณ์ ตกแต่งไม้ประดับในแนวถนนราชดำเนิน และปลูกต้นมะขามบริเวณท้องสนามหลวงอีกด้วย

 

ชาวชวาที่เข้ามาอยู่เมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ระยะแรกมิได้อยู่รวมกันเป็นหมู่ใหญ่ แต่กระจายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมือง ในการสำรวจสำมะโนครัวทั่วประเทศในปีพ.ศ. 2448-2452 ปรากฏว่ามีชาวชวาอาศัยอยู่ในเมืองไทย 371 คน

 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีชาวชวาเข้ามาเมืองไทยมากขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2471-2474 เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2470 ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสแก่คนต่างด้าวให้เข้าเมืองได้โดยสะดวก ทำให้จำนวนของชาวชวาในเมืองไทยเพิ่มขึ้นหลายพันคน โดยมีอัตราประชากรเป็นอันดับที่สองรองจากชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู (มาเลย์-ตานี)

 

ชาวชวากระจายอยู่ทั่วไปใน 18 อำเภอของกรุงเทพมหานครจากจำนวน  25 อำเภอในสมัยนั้น ได้แก่ พระราชวัง ชนะสงคราม บางขุนพรหม สามเสน ดุสิต นางเลิ้ง ประแจจีน ปทุมวัน บ้านทวาย สาธร บางรัก สามแยก ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ จักรวรรดิ์ สามยอด พาหุรัด สำราญราษฎร์ ทั้งนี้ อำเภอที่มีชาวชวามุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดคือ อำเภอบ้านทวาย รองลงมาคือ บางรักและสาธร

 

เกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของบ้านทวายนั้นเดิม “ทวาย” เป็นชื่อเมืองเมืองหนึ่งในหัวเมืองฝ่ายใต้ของพม่า ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวทวายชื่อ แมงจันจา นำชาวทวายกบฏต่อพม่าเพื่อตั้งตนเป็นอิสระ แต่สู้ทหารพม่าไม่ได้ จึงพาพรรคพวกอพยพหนีภัยพม่าเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปีพ.ศ. 2334 ในช่วงแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชาวทวายกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนอกป่าช้าวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หลักฐานที่ยังคงปรากฏในปัจจุบันว่าสถานที่บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวทวายในอดีต คือชื่อตรอกทวายซึ่งอยู่ใกล้กับสะพานแม้นศรีในปัจจุบัน

 

ครั้นปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชาวทวายกลุ่มแมงจันจานี้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ห่างจากราชธานีไปทางตะวันออก ณ ตำบลคอกควาย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น ตำบลบ้านทวาย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งโปรดให้สถาปนาวัดคอกควายหรือวัดคอกกระบือ ซึ่งเป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ และโปรดพระราชทานนามพระอารามใหม่นี้ว่าวัดยานนาวา ตามลักษณะพระเจดีย์ที่มีฐานเป็นยานนาวาซึ่งเป็นเรือสำเภาจีน ขนาดเท่าและมีลักษณะเหมือนจริงทุกประการ ซึ่งโปรดให้สร้างไว้ในพระอารามแห่งนี้ ชื่อตำบลบ้านทวายจึงเปลี่ยนเป็นตำบลยานนาวาตามพระอารามใหม่นั่นเอง

ถนนเจริญกรุงในอดีต

จริงๆแล้ว เรื่องราวของชาวชวาหรือมุสลิมยะวาที่เริ่มเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นั้นเป็นชาวชวารุ่นหลังที่สามารถสืบค้นถึงการเข้ามายังประเทศไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลายที่เป็นกิจจะลักษณะและมีหลักฐานเอกสารยืนยันตัวบุคคลได้อย่างชัดเจน แต่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย นับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็ปรากฏว่ามีชาวชวาเข้ามายังสยามประเทศตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว เพราะในสมัยอยุธยามีหลักฐานระบุว่า: “ถึงพวกจามและชวา มลายู แม้ที่สุดจีน ก็คงไปมาถึงกันแต่ก่อนมาช้านาน” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 (กรุงเทพฯ:คลังวิทยา,2516) , หน้า 90 )

 

การติดต่อในด้านการค้าขายระหว่างชวาและไทยสมัยอยุธยานี้พบหลักฐานว่า ชาวชวารู้จักสินค้าข้าวของไทย โดยพ่อค้าญี่ปุ่นทำตัวเป็นคนกลางซื้อข้าวสารไทยส่งไปยังเกาะชวา (กรมศิลปากร, “จดหมายเหตุวันวลิต” ประชุมพงศาวดาร ภาค 79 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2505) หน้า 225-226)

 

หลักฐานที่เกี่ยวกับชาวชวามีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยพระบรมไตรโลกนารถ พ.ศ. 2011 ว่า: “อนึ่งพิริยหมู่แขก ขอม ลาว พม่า เมง มอญ มสุม แสง จีน จาม ชาว นานาประเทศทั้งปวงและเข้ามาเดินท้ายสนมก็ดีทั้งนี้อัยการขุนสนมห้าม ถ้ามิได้ห้ามปรามเกาะกุมเอามาถึงศาลาให้แก่ เจ้าน้ำ เจ้าท่า และให้นานาประเทศไปมาในท้ายสนมได้ โทษเจ้าพนักงานถึงตาย” (องค์การค้าของคุรุสภา.กฏหมายตราสามดวง เล่ม 1 (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภา, 2505),หน้า 78).

 

ชาวชวาได้อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสืบเรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งพระองค์ทรงชิงราชบัลลังก์จากพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาในปี พ.ศ. 2199 ในการชิงราชสมบัติครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีบัญชาให้ “มิรยาฝัน เมาลามักเมาะตาด คุมไพร่พลไปอยู่ ณ ด้านหน้าสรรเพชญ์ปราสาท ให้หลวงเทพอรชุนคุมไพร่พลอยู่ที่ประตูศรีสรรพทวารให้พระจุลา พระพนัง คุมไพร่พลอยู่ ณ ทางสระแก้ว” (พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ,พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (กรุงเทพฯ,โรงพิมพ์คุรุสภา 2504),หน้า 436-437)) ตำแหน่ง รายาลิลา นี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหัวหน้าประชาคมมุสลิมชวา (นิธิ เอียวศรีวงศ์.การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527),หน้า 40))

 

ผลของสงครามในราชสำนักอยุธยาครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์เป็นฝ่ายมีชัยชนะ ชาวชวาที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงคงรับราชการในกองอาสาซึ่งสังกัดกับกษัตริย์โดยตรง ส่วนชาวชวาที่ไม่ได้รับราชการซึ่งประกอบไปด้วยพ่อค้าและผู้อพยพลี้ภัพการเมืองเข้ามายังอยุธยาเนื่องจากถูกฮอลันดารุกรานในภายหลังก็คงถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูหรือพวกมักกะสันไปในที่สุดเพราะเป็นประชาคมที่มีความผูกพันใกล้ชิดกันทั้งในด้านชาติพันธุ์ภาษาและศาสนานั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าชาวชวาหรือยะวารุ่นเก่าที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้กลายเป็นประชาคมมลายูเก่าไปแล้ว

 

และส่วนหนึ่งจากประชาคมมลายูเก่านี้ก็เป็นชาวมลายูอยุธยา-บางกอกที่มีมาก่อนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาก็มีชาวมุสลิมมลายูจากหัวเมืองมลายูที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาที่เมืองบางกอกเป็นระลอกๆ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เข้ามาสมทบในภายหลัง ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 4 ก็เริ่มมีชาวมุสลิมชวารุ่นใหม่เดินทางเข้ามายังประเทศสยามเป็นระลอกจวบจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 7 โดยตั้งชุมชนอยู่บริเวณบ้านทวาย บางรัก และสาธรมากที่สุดตามลำดับ

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องสืบค้นก็คือ ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ตั้งชุมชนอยู่ในอาณาบริเวณแถบนี้มีมาตั้งแต่เมื่อใด? ทั้งนี้เมื่อเราได้พิจารณาถึงความเก่าแก่ของมัสยิดในชุมชนแถบถนนเจริญกรุงนี้ก็จะพบว่า “มัสยิด อัล-อะติ๊ก” เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ และในจำนวน 6 มัสยิดในเขตบางคอแหลมย่านถนนเจริญกรุงตัดผ่านไปทางถนนตกนั้นเป็นมัสยิดของชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู ตานีถึง 4 แห่งด้วยกันคือ

 

มัสยิด อัล-อะติ๊ก, มัสยิดบางอุทิศ หรือสุเหร่าแม่บางทั้งนอกและใน (คือมัสยิดญามิอุลคอยรอต) และมัสยิด อัส-สะละฟียะฮฺ ส่วนมัสยิดดารุ้ลอาบีดีนและมัสยิดบาหยันนั้นเป็นที่แน่ชัดว่าชาวชวาเป็นผู้อุทิศและสร้างมัสยิดทั้งสองแห่งนี้นอกเหนือจากมัสยิดยะหวาและมัสยิดบ้านอู่ซึ่งปัจจุบันมัสยิดทั้งสองแห่งอยู่ในเขตสาธรและบางรัก กล่าวคืออยู่นอกเขตบางคอแหลม ซึ่งในอดีตคือเขตยานนาวาก่อนปี พ.ศ. 2532 ดังนั้นชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูตานีจึงน่าจะตั้งอยู่แต่เดิมที่บริเวณชุมชน มัสยิดอัล-อะติ๊ก ในปัจจุบันแล้วขยับขยายไปตั้งชุมชนและมัสยิดแห่งใหม่ทั้งที่แม่บางและชุมชนมัสยิด อัส-สะละฟียะฮฺ ในเวลาต่อมา

 

อาณาบริเวณที่ตั้งชุมชนของมัสยิดอัล-อะติ๊ก ในอดีตอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ซึ่งพื้นที่แถบนี้ในอดีตเรียกว่า “ตำบลคอกควายหรือคอกกระบือ” มีวัดโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเรียกกันว่า วัดคอกควายหรือคอกกระบือตามชื่อตำบลที่ตั้ง ครั้นต่อมาเมื่อมีการสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพื้นที่ตำบลคอกควายอยู่นอกเขตกำแพงพระนครริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก พื้นที่แถบนี้มีประชากรเบาบางและเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่อพิจารณาถึงความเก่าแก่ของมัสยิดอัล-อะติ๊กและชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบนี้ กอปรกับมีคำบอกเล่าโดยมุขปาฐะว่า บรรพชนของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในแถบนี้เป็นชาวมลายูตานีที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกมาจากหัวเมืองมลายูและนครรัฐปัตตานีเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2329 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหรือไม่ก็เป็นเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อพ.ศ. 2374-2375

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงกรณีการอพยพเทครัวเชลยศึกจากหัวเมืองมลายู-ปัตตานีขึ้นมาไว้ที่เมืองบางกอกในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า เชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนใส่เรือขึ้นมาจากหัวเมืองมลายูจะต้องมีจุดที่เทียบเรือเพื่อนำเอาเชลยศึกขึ้นฝั่งลงพักเอาไว้ก่อนที่จะถูกจัดแบ่งและแยกย้ายเอาไปไว้ยังสถานที่ต่างๆ เมื่อพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีสภาพคดเคี้ยวเป็นคุ้งน้ำ จุดที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นเมืองหน้าด่านตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณก็คือ เมืองพระประแดง ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่ฝั่งคลองเตยแถบตำบลพระโขนงเก่า ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่อำเภอพระประแดง ฝั่งสมุทรปราการ เลยจากคุ้งน้ำที่เมืองพระประแดงก็จะถึงอีกคุ้งน้ำหนึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาก็คือ บริเวณบางคอแหลม ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นชุมชนเก่าที่เรียกว่า ตำบลคอกควายหรือตำบลคอกกระบือ ตรงบริเวณแถบนี้อยู่นอกกำแพงพระนครและมีพื้นที่รกร้างติดต่อกับทุ่งวัดดอนและทุ่งมหาเมฆที่อยู่ลึกเข้ามา

 

จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ว่า ณ บริเวณคุ้งน้ำ ช่วงนี้จะเป็นจุดที่สองซึ่งเรือที่ขนเทครัวเชลยศึกจากหัวเมืองมลายู-ตานีเทียบเรือเอาเชลยศึกขึ้นไว้เนื่องจากเป็นเขตที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่นอกกำแพงเมือง กอปรกับมีข้อเขียนของอาจารย์ ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ระบุเอาไว้ว่า: “เชลยที่นำขึ้นมาด้วยในครั้งนี้นั้นเป็นจำนวนมากและได้แยกให้อาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ หลายแห่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณรอบๆชานกรุง เช่น ที่ธนบุรี บริเวณสี่แยกบ้านแขก รอบๆชายกรุงเทพฯ คือบริเวณทุ่งครุในอำเภอพระประแดง บางคอแหลม มหานคร พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก….” (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์.ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยและสำเภากษัตริย์สุลัยมาน  (พระนคร:สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,2517) หน้า 77)

 

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ที่อาณาบริเวณของเขตบางคอแหลม คือจุดที่มีการนำเชลยศึกจากหัวเมืองมลายู-ปัตตานีนำเอาขึ้นฝั่งพักไว้ที่นี้นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว และชุมชนของชาวมุสลิมมลายูที่ถูกพักเอาไว้ที่นี่ก็น่าจะเป็นชุมชนมุสลิมในบริเวณคลองสวนหลวงของมัสยิดอัล-อะติ๊กนั้นเอง สอดรับกับมุขปาฐะของผู้อาวุโสที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนและมัสยิดอัล-อะติ๊กว่า เป็นชุมชนของชาวมลายู-ตานีที่มีอายุเก่าแก่ถึง 200 ปีขึ้นไป แต่ไม่สามารถระบุว่ามัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ใด เพราะไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ หากข้อสันนิษฐานเป็นจริงก็แสดงว่าชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู-ตานี ในเขตบางคอแหลมนี้มีอายุเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกับชุมชนมุสลิมในเขตตำบลพระประแดงและในเขตฝั่งธนบุรีที่บริเวณสี่แยกบ้านแขกนั่นเลยทีเดียว

 

และชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู-ตานีที่เขตบางคอแหลมนี้ก็ย่อมมีมาก่อนการเข้ามาของชาวทวายกลุ่มแมงจันจาซึ่งอพยพหนีพม่าเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อปีพ.ศ. 2334 โดยช่วงแรกชาวทวายกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตรอกบริเวณสะพานแม้นศรี (บริเวณถนนบำรุงเมืองตัดถนนจักรพรรดิพงษ์ตอนต่อกับถนนวรจักร) เรียกบริเวณนี้ว่า “ตรอกทวาย” ครั้นปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชาวทวายกลุ่มแมงจันจาย้ายมาตั้งชุมชนอยู่นอกเขตกำแพงพระนครทางตะวันออก ณ ตำบลคอกควายหรือคอกกระบือ

 

ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อตำบลเป็นตำบลทวายตามพวกทวายที่ย้ายเข้ามาในภายหลัง ข้อสังเกตประการหนึ่งที่เกี่ยวกับการตั้งชุมชนของพวกมอญ (รามัญ) และพวกที่เกี่ยวเนื่องกันทางชาติพันธุ์เช่นพวกทวายนี้ก็คือ เมื่อมีการย้ายครัวประชาคมมุสลิมมลายู-ตานีไปไว้ ณ ที่ใดก็มักจะมีพวกมอญหรือพม่ารามัญนี้ถูกย้ายครัวไปอยู่ใกล้กันเสมอ เห็นได้ในกรณีชาวมลายู-ตานีที่เมืองพระประแดง ท่าอิฐ-เกาะเกร็ด และเมืองปทุมธานีก็จะมีชุมชนมอญพระประแดง มอญเกาะเกร็ด และมอญสามโคกตามไปอยู่ด้วยกันเสมอ กรณีของพวกทวายที่ถูกย้ายครัวมาอยู่ในเขตใกล้เคียงกับชุมชนมุสลิมมลายู-ตานีที่ตำบลคอกกระบือ บางคอแหลมนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน

มัสยิดดารุ้ลอาบีดีน

ประชาคมมุสลิมมลายู-ตานีในแถบชุมชนสวนหลวง บางคอแหลมที่ตั้งหลักแหล่งอยู่นับแต่ถูกนำเอามาขึ้นฝั่งไว้นอกกำแพงพระนครเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็คงมีการขยับขยายและเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กันกับชุมชนมุสลิมมลายูในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามทางทิศใต้ที่มีเขตราษฎร์บูรณะตั้งอยู่หรือเขตสาธุประดิษฐ์ทางทิศตะวันออกที่มีคลองบางมะนาวเป็นเส้นแบ่งเขตเป็นต้น ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อเกิดสงครามสยามกับหัวเมืองมลายูระหว่างปีพ.ศ. 2374-2375 ชาวมลายูที่ตกเป็นเชลยได้ถูกกวาดต้อนเทครัวขึ้นมาที่เมืองบางกอกอีกครั้งและในการศึกหนนี้มีเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหกลาโหม (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพ มีมุขปาฐะเล่าขานว่าเมื่อชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาไว้ที่เมืองบางกอกส่วนหนึ่งถูกนำขึ้นพักไว้ที่คลองสวนหลวง ตำบลบ้านทวายซึ่งเป็นการเข้ามาสมทบกับชาวมลายูตานีเดิมที่ตั้งชุมชนอยู่ก่อนแล้วเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1

 

เกรงว่าชาวมลายูที่เป็นเชลยศึกเข้ามาใหม่นี้จะก่อเหตุสร้างความวุ่นวายขึ้น เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ให้ว่าทั้งกลาโหมและกรมท่าในรัชกาลนั้นจึงเรียกท่านว่า เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม ได้มีบัญชาให้พระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็ก (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของเจ้าพระยาพระคลังมาดูแลควบคุมบรรดาเชลยศึกที่พักไว้ ณ คลองสวนหลวง ตำบลบ้านทวาย  พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้นี้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธิ มหาบุรุษรัตโนดม โปรดให้ถือตราศรพระขรรค์ เป็นทำนองผู้ทำการในที่ที่สมุหพระกลาโหม ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์  (ดิศ บุนนาค) หรือที่สามัญชนเรียกกันว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ผู้เป็นบิดาได้ถึงแก่พิราลัย เมื่อพ.ศ. 2398 จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นสมุหพระกลาโหม

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพ.ศ. 2416 ได้ทรงตั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ฯ มีอำนาจบรมอิสริยยศบรรดาศักดิ์ยิ่งกว่าจตุสดมภ์มนตรี 3 เท่า ดำรงตรามหาสุริยมณฑล ได้บังคับสิทธิขาดราชการแผ่นดินในกรุง นอกกรุง ทั่วพระราชอาณาจักร และสำเร็จสรรพอาชญาสิทธิ์ประหารชีวิตคนที่ถึงแก่อุกฤษฏ์โทษมหันตโทษได้ (ส.พลายน้อย.ขุนนางสยาม:สำนักพิมพ์มติชน (กรุงเทพฯ 2537)หน้า 93-95) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พระองค์นี้ ชาวมุสลิมที่สี่แยกบ้านแขกฝั่งธนบุรี เรียกขานว่า “ดะโต๊ะสมเด็จ” (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ;มุสลิมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ พิมพ์ครั้งที่ 2,พ.ศ.2539)หน้า 48) แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูกับพระองค์ท่าน

 

อย่างไรก็ตาม ในคำบอกเล่าโดยมุขปาฐะระบุว่า ผู้ที่ได้รับบัญชาให้มาควบคุมดูแลประชาคมมุสลิมมลายูที่คลองสวนหลวง บ้านทวายนั้นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) กับท่านเจ้าคุณพระราชพันธ์ (นวล) และเป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย” ถ้าถือเอาประเด็นคำเรียกขาน “ดะโต๊ะสมเด็จ” อย่างที่มุขปาฐะเล่าไว้ก็น่าจะคลาดเคลื่อนเพราะสมเด็จเจ้าพระยาที่ชาวมุสลิมสี่แยกบ้านแขกเรียกขานเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรของ สมเด็จเจ้าพระยาพระองค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ 3 และเป็นแม่ทัพหลวงที่นำทัพลงไปปราบหัวเมืองมลายูในช่วงรัชกาลที่ 3 เรื่องของสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง 3 องค์นี้อาจเกิดความสับสนได้เป็นเรื่องธรรมดาในคำบอกเล่าแบบมุขปาฐะ

 

มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับชื่อสถานที่ของชุมชนมุสลิมที่มัสยิดอัล-อะติ๊ก คือ ซอยสวนหลวง และคลองสวนหลวง ซึ่งพ้องกับซอยสวนหลวงที่เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพราะที่เขตสวนหลวงบริเวณคลองพระโขนงต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ก็มีชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูตานีตั้งอยู่เช่นกัน เรียกกันว่า ชุมชนบ้านหัวป่า มีมัสยิดเก่าแก่ที่ชื่อว่า มัสยิดอัล-กุ๊บรอ (สุเหร่าใหญ่-หัวป่า) ในวารสารมุสลิม กทม. ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2547 กล่าวถึงประวัติของมัสยิดอัล-กุ๊บรอ (หัวป่า) ว่ามัสยิดแห่งนี้ “ได้รับพระราชทานที่ดินพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างมัสยิดจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์”

 

แต่ในวารสารฉบับดังกล่าวกลับระบุว่ามัสยิดอัล-กุ๊บรอ ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2332 ซึ่งน่าจะคลาดเคลื่อนเพราะถ้าหากมัสยิดหลังแรกในชุมชนหัวป่าถูกสร้างขึ้นบนที่ดินพระราชทานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จริงตามที่ระบุนั้น ก็ไม่น่าจะสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2332 ซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 1 เพราะท่านเจ้าคุณสมเด็จฯเพิ่งจะเกิดในปี พ.ศ. 2351 ครั้นจะว่าเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์  (ดิศ) ผู้เป็นบิดาก็มิน่าจะเป็นไปได้ เพราะ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ท่านเกิดเมื่อปีวอก พ.ศ. 2331 (ส.พลายน้อย,อ้างแล้ว หน้า 93-94)

 

ถ้าที่ดินของมัสยิดเป็นที่ดินพระราชทานของพระองค์ท่าน และถูกสร้างในปีพ.ศ. 2332 ตามที่ระบุไว้ พระองค์ท่านก็เพิ่งจะมีอายุได้เพียง 2 ปีเท่านั้นเอง เรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือมัสยิดอัล-กุ๊บรอ ที่สวนหลวง-หัวป่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังสงครามสยาม-ปัตตานีในปีพ.ศ. 2374-2375 ซึ่งในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (ดิศ) ท่านเป็นที่สมุหพระกลาโหมและเป็นแม่ทัพหลวงที่นำทัพสยามลงไปตีเอาหัวเมืองมลายูและเทครัวเชลยศึกขึ้นมาไว้ที่บางกอกและสมเด็จเจ้าพระยาผู้ลูก คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ก็รับราชการและเติบใหญ่เป็นหนุ่มแล้ว การได้รับมอบหมายจากท่านเจ้าคุณบิดาให้ไปดูแลควบคุมและปกครองพวกเชลยศึกมลายู-ตานี ทั้งที่คลองสวนหลวง ตำบลทวาย และที่ชุมชนหัวป่า เขตสวนหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากกันคนละคุ้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาจนมีความสนิทสนมและได้รับการยกย่องจากชาวมลายู-ตานีว่าเป็น “ดะโต๊ะสมเด็จ”

 

และมีการยกที่ดินให้แก่ชาวมุสลิมมลายูในการสร้างมัสยิดทั้งที่ตำบลบ้านทวายและที่หัวป่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด กอปรกับมีหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ที่ตำบลพระประแดง (เก่า) และการขุดคลองสวนหลวงและคลองบางคอแหลมต่างก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น และการสันนิษฐานว่าชุมชนมุสลิมมลายูทั้งที่ตำบลทวายและหัวป่ามีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 คือหลังสงครามสยาม-ปัตตานีในปีพ.ศ. 2329 นั้นก็ไม่ได้ขัดกับข้อสันนิษฐานที่ว่า

 

มัสยิดในตำบลทั้ง 2 แห่งถูกสร้างขึ้นจากที่ดินพระราชทานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ“ดะโต๊ะสมเด็จ” หลังปี พ.ศ. 2375 ในรัชกาลที่ 3 เพราะมัสยิดในช่วงเวลาราว 40 กว่าปีนับจากปีพ.ศ. 2329-พ.ศ. 2375 อาจจะเป็นเพียงบ้านหรือเพิงที่ทำขึ้นง่ายๆจากวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจร่วมกันเท่านั้น

 

ต่อมาเมื่อมีการยกที่ดินให้จากท่านเจ้าคุณสมเด็จจึงได้มีการปลูกสร้างเป็นเรือนไม้ในเวลาต่อมา ซึ่งถ้าถือเอาปีพ.ศ. 2375 เป็นปีที่มีการก่อสร้างมัสยิดทั้งสองแห่ง ปัจจุบันก็มีอายุถึง 180 ปีมาแล้ว  ส่วนอายุของชุมชนนั้นเก่าแก่ถึง 200 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งนี่ก็เพียงพอที่จะยืนยันว่า ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูในตำบลบ้านทวาย (บางคอแหลม) และในตำบลหัวป่า เขตสวนหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่นับแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว

 

และในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดคอกควายหรือวัดคอกกระบือ ที่ตำบลบ้านทวาย ซึ่งเป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระราชดำริให้สร้างเจดีย์มีฐานเป็นยานนาวามีลักษณะเป็นเรือสำเภาจีน ขนาดเท่าและลักษณะเหมือนของจริงทุกประการขึ้นในวัดคอกกระบือ แล้วโปรดพระราชทานนามวัดว่า “วัดยานนาวา” ชื่อตำบลบ้านทวายจึงเปลี่ยนเป็นตำบลยานนาวาตามนามพระอารามแห่งใหม่นี้ (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย; ชื่อบ้านนามเมือง (สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพฯ 2540) หน้า 87,182-183)  แต่เดิมอำเภอบ้านทะวาย ขึ้นกับจังหวัดพระประแดง ต่อมาขึ้นกับจังหวัดพระนคร และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอยานนาวาและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ในสมัยต่อมา

 

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็เริ่มมีชาวมุสลิมเชื้อสายชวาได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งที่ตำบลบ้านทวายเป็นจำนวนมากดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นเรื่อง ต่อมาในปีพ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างถนนเจริญกรุงขึ้น โดยแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2407 เมื่อถนนเจริญกรุงถูกสร้างขึ้นและตัดผ่านเขตบางรัก สาทร และเขตบางคอแหลม ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู-ตานี ที่เคยตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้นับแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็กลายเป็นชุมชนมุสลิมที่ตั้งอยู่ในแนวของถนนที่มีความเจริญมากที่สุดในยุคนั้นมัสยิดอัล-อะติ๊กในซอยสวนหลวง ตรอกวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม ก็ถือเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้

 

ต่อมาชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู-ตานีก็สร้างมัสยิดขึ้นอีก 3 แห่งคือ มัสยิดอัสสะละฟียะห์ มัสยิดบางอุทิศนอกและใน ซึ่งเรียกกันว่า มัสยิดหรือสุเหร่าแม่บางซึ่งเป็นผู้อุทิศที่ดินในการสร้างมัสยิด ชาวมุสลิมเชื้อสายชวาซึ่งปรากฏว่าเริ่มมีกรรมสิทธิ์จากการซื้อที่ดินนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2425 เป็นต้นมา ทั้งที่ดินในเขตบางคอแหลม บางโคล่ คอกกระบือ บางรัก ทุ่งวัวลำพอง บางขวาง บ้านใหม่ บ้านทวาย คอกกรวย บางมด สามเสน หนองจอก เลยไปถึงจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนนทบุรีก็เริ่มอุทิศที่ดินเพื่อสร้างมัสยิดขึ้น เช่น มัสยิดยะหวา ซอยโรงน้ำแข็ง (วัดปรก) แขวงยานนาวา เขตสาธร ในปีพ.ศ. 2437 โดยฮัจยีมุฮัมมัดซอและห์ ชาวยะวาในบังคับฮอลันดาเป็นผู้อุทิศที่ดิน , มัสยิดบาหยันซึ่งตั้งชื่อตามเกาะบาหยัน หรือโบหยัน ในชวา สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2454 ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 มัสยิดแห่งนี้เกิดอัคคีภัยถูกเพลิงเผาผลาญจนหมดสิ้น

 

ต่อมามีการสร้างอาคารมัสยิดเป็นตึกถาวรขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. 2495 มัสยิดบาหยันถูกสร้างบนที่ดินอุทิศของนายมุฮัมมัดฮูเซ็น อาบู และบุตรชาย 3 คนจำนวน 401 ตารางวา, มัสยิดดารุลอาบิดีน ตรอกจันท์ หรือสุเหร่าคลองกรวย ถูกสร้างขึ้นโดยชาวยะวา มีฮัจยี ไซนุลอาบีดีน เป็นผู้อุทิศที่ดินในการก่อสร้างมัสยิด ร่วมกับฮัจยี ยะห์ยา บิน ฮัจยีเย็บ ชาวยะวา แปลนของมัสยิดนี้ออกแบบโดย รองอำมาตย์ตรี เอ็ม.เอ.กาเซ็ม ซึ่งรับราชการในกองประปา กระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านเป็นชาวยะวาเดิมและแปลงสัญชาติเป็นไทยมีชื่อว่า นายเกษม อิทธิเกษม รูปทรงของมัสยิดดารุลอาบีดีน นี้มีความสง่างามด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ในปีพ.ศ.2458 และปีพ.ศ. 2488 มัสยิดแห่งนี้รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง และได้มีการบูรณะซ่อมแซมในปีพ.ศ. 2495

 

ชาวมุสลิมเชื้อสายชวา (ยะวา) ในแถบบางคลองแหลมทุกวันนี้กลายเป็นชาวไทยมุสลิมที่ผสมผสานไปกับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู-ตานีไปอย่างกลมกลืนและยังคงสืบสานศาสนาอิสลามในชุมชนของตนอย่างมั่นคง บรรดามัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาที่ชาวมุสลิมทั้งสองกลุ่มได้ร่วมกันสร้างขึ้นยังคงเป็นสักขีพยานที่เด่นชัดเคียงคู่กับถนนสายแรกในพระนครที่เคยเป็นถนนสายสำคัญมานับแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 คือถนนเจริญกรุงสายนอกตราบจนทุกวันนี้

 

 


 

ภาพประกอบส่วนหนึ่งจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=473255