การแผ่แสนยานุภาพทางทหารของชาวมุสลิมสู่อินเดียและแคว้นสินธุ (ในปากีสถาน)

รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะหฺ (รฎ.) ว่า ท่านศาสนทูตได้กล่าวว่า

يَكُوْنُ فِىْ هذِهِ الْأمَّةِ بَعْثٌ إلَى السِّنْدِ وَالْهِنْدِ

“ในประชาชาตินี้จะปรากฏมีกองทัพถูกส่งไปยังแคว้นสินธุและอินเดีย” รายงานโดยอะหฺหมัดและอันนะซาอียฺ

 

การพิชิตแคว้นสินธุ ได้เริ่มต้นในสมัยท่านค่อลีฟะหฺอุมัร (รฎ.) โดยท่านอุมัร (รฎ.) ได้ตั้งให้อุสมาน อิบนิ อบี อัลอ๊าศ อัษ-ษะเกาะฟีย์ ปกครองเมืองบะหฺเรน และโอมาน ในปี ฮ.ศ. ที่ 15 (ค.ศ. 636) ท่านอุสมานได้มีคำสั่งให้น้องชายของท่านคือ ท่านอัลหะกัม นำกำลังพลที่นั่นมุ่งหน้าสู่เมืองตานะหฺ ซึ่งเป็นเขตของชายฝั่งของอินเดียเพื่อสอดแนม

 

ครั้นเมื่อกำลังพลเดินทางกลับ และแจ้งเรื่องให้ท่านค่อลีฟะหฺอุมัร (รฎ.) ทราบ ท่านก็ได้ห้ามมิให้กระทำการเช่นนั้นอีก เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความสูญเสียแก่ฝ่ายมุสลิม อย่างไรก็ตาม ท่านอุสมาน อิบนุ อบี อัลอ๊าศ ก็ได้ส่งอัลหะกัมพร้อมด้วยกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปยังเมืองบรูซ ชายฝั่งของอินเดีย และให้อัลมุฆีเราะหฺ น้องชายอีกคนนำกำลังพลสู่เมืองไดบิล ซึ่งมีการปะทะกันกับฝ่ายศัตรู แต่ อัลมุฆีเราะห์ก็ได้รับชัยชนะในการศึกครั้งนั้น เหตุการณ์ในทำนองนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน (รฎ.)

 

ต่อมาในสมัยท่านค่อลีฟะหฺอะลี (รฎ.) อัลหาริษ อิบนุ มุรเราะห์ ได้นำทัพเข้าตีหัวเมืองชายแดนของอินเดียและได้ทรัพย์เชลยเป็นอันมาก ต่อมาในปี ฮ.ศ. ที่ 42 อัลหาริษก็ได้นำทัพบ่ายหน้าสู่เมือง กีกอน ซึ่งเป็นเขตพรหมแดนติดกับแคว้นสินธุอีกครั้งหนึ่ง แต่อัลหาริษก็ได้จบชีวิตลงที่นั่น ล่วงเข้าสมัยท่านมุอาวียฺ (รฎ.) อัลมุฮัลลับได้นำทัพเข้าตีเมืองหน้าด่านของอินเดีย และรุกเข้าถึงเมืองบัตตะหฺและอัลอะหฺวัร (ลาโฮร์) การศึกในครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  ในสมัยของท่านมุอาวียะหฺ (รฎ.) อีกเช่นกัน ซิยาด อิบนุ อะบีฮฺ ได้ส่งแม่ทัพชื่อ ซินาน อิบนุ สะละมะหฺ เข้าพิชิตเมืองมักรอนทางตะวันตกของแคว้นปัญจาบ และได้ตั้งชุมชนชาวอาหรับขึ้นที่นั่น

 

การพิชิตแคว้นสินธุอย่างเบ็ดเสร็จได้เกิดขึ้นด้วยการนำทัพของท่านมุฮำหมัด อิบนุ อัลกอสิม ผู้ปกครองแคว้นเปอร์เซีย โดยการสนับสนุนของอัลหัจญ๊าจ อิบนุ ยูซุฟ อัษษะเกาะฟียฺ ด้วยกำลังทหารในช่วงแรก 6,000 นาย ท่านมุฮำหมัดนำทัพเข้าตีหัวเมืองสำคัญได้เป็นอันมาก อาทิเช่น มักรอน, ไดบิล, มุลตาน ฯลฯ ต่อมาในสมัยท่านค่อลีฟะหฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ แห่งราชวงศ์อุมาวียะหฺ ได้มีสาส์นเชิญชวนเจ้าครองนครในแคว้นสินธุ ตลอดจนพลเมืองตามหัวเมืองให้เข้ารับอิสลาม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

 

ตั้งแต่บัดนั้นมา แคว้นสินธุก็กลายเป็นส่วนหนึ่งจากอาณาเขตของรัฐอิสลาม ส่วนการพิชิตชมพูทวีป ในส่วนของอินเดียตอนเหนือนั้นได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยของ ซุลตอนมะหฺมูด อิบนุ ซุบุกตะกีน แห่งฆอซฺนะห์ (ฮ.ศ. 389-421/ค.ศ. 998-1030) โดยนำทัพเข้ารุกรานอินเดียตอนเหนือครั้งใหญ่ ราวปี ฮ.ศ. 390/ค.ศ. 1000 และอีกครั้งในปี ฮ.ศ. 418/ค.ศ. 1027 โดยสามารถปราบปรามแคว้นสินธุ, ปัญจาบ, ลุ่มแม่น้ำคงคา, จรดเส้นพรหมแดนบังคลาเทศ (เบงกอล) ท่านซุลตอนมะหฺมูดเสียเชีวิตในปี ฮ.ศ. 421/ค.ศ. 1030 หลังจากได้สถาปนาอาณาจักรฆอซนะวียะห์ อันกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมอีหร่าน ส่วนใหญ่เอเซียกลาง และดินแดนทางตอนเหนือทั้งหมดของอินเดีย