วิภาษเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในหนังสือแปล “ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร” [ตอนที่ ๓]

ผู้เขียน (โจเซฟ แกร์) ก้าวผ่านช่วงเวลาการสถาปนาอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺ นับตั้งแต่ปีที่ 1 แห่งการอพยพ (ฮิจเราะฮฺ) และละที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วง 8 ปีก่อนการพิชิตนครมักกะฮฺว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานั้น จริงอยู่ในช่วงเวลา 8 ปีเป็นช่วงของการสู้รบระหว่างรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺกับพวกกุรอยช์และพันธมิตรชาวอาหรับผู้ปฏิเสธ ตลอดจนการปราบปรามเผ่าของชาวยิวที่ตระบัดสัตย์และกระทำตนเป็นหนอนบ่อนไส้

เพื่อทำลายเสถียรภาพของรัฐอิสลามที่มีธรรมนูญการปกครองอันเต็มไปด้วยความยุติธรรมและนับเอากลุ่มชาวยิวแห่งนครมะดีนะฮฺเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองแห่งรัฐอิสลาม สงครามแห่งการต่อสู้เพื่อปกป้องความเชื่อและศาสนาให้พ้นจากการทำลายล้างและรุกรานของฝ่ายศัตรูที่มีกำลังทหารเหนือกว่าฝ่ายมุสลิมเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของการเผยแผ่ศาสนาอิสลามซึ่งมิอาจปฏิเสธได้

 

และมุสลิมผู้ศรัทธาในแนวทางและหลักคำสอนของอิสลามก็ไม่ปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 6 ปีแรก ซึ่งสิ้นสุดภาวะสงครามด้วยการทำสนธิสัญญาพักรบ อัล-หุดัยบียะฮฺระหว่างรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺและรัฐคู่สงครามแห่งนครมักกะฮฺที่มีพวกกุรอยช์เป็นผู้บัญชาการ

 

ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์อันเป็นภาวะสงครามตลอดช่วงเวลา 6 ปีนั้นเป็นสถานการณ์จริงที่อิสลามได้สำแดงพลังให้เป็นที่ประจักษ์แก่ฝ่ายศัตรูประการหนึ่ง และอิสลามในฐานะวิถีอันชัดเจนสำหรับมนุษยชาติก็ได้มอบหลักคำสอนและรูปแบบการทำสงครามแบบ “ธรรมยุทธ์” เอาไว้แก่มนุษยชาติว่า การทำสงครามที่ถูกควบคุมด้วยจริยธรรมและกฏเกณฑ์ที่ละเอียดครอบคลุมทุกขั้นตอนนั้นควรจะเป็นไปอย่างไรในสถานการ์ที่เกิดขึ้นจริง

 

เพราะอย่างไรเสีย ต่อให้มนุษย์มีความเจริญและมีความศิวิไลซ์มากเพียงใด การก่อสงคราม การรบพุ่งระหว่างมนุษยชาติด้วยกันก็ไม่เคยสิ้นสุดและหมดไปจากสังคมมนุษย์ เหตุนี้การวางรูปแบบและวิถีแห่งการทำสงครามที่มิได้เกิดจากทฤษฎีและหลักคำสอนแบบอุดมคติ แต่เกิดจากการปฏิบัติและการทำสงครามจริงๆ จึงถูกกำหนดขึ้นโดยการสงครามจริงๆ ผ่านการแสดงบทบาทของนักรบผู้เป็นอัครสาวกและต้นแบบคือท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในฐานะจอมทัพแห่งการธรรมยุทธ์

 

ผลที่ได้รับจากช่วงเวลาของการทำสงครามตลอดเวลา 6 ปีนี้ก็คือ หลักคำสอนที่อิสลามวางไว้ในกรณีภาวะสงคราม ซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อิสลามจึงมีหลักคำสอนที่ครอบคลุมข้อเท็จริงที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งในภาวะปลอดสงครามและในภาวะสงครามอย่างครบถ้วน

 

อาทิ การประกาศสงครามระหว่างรัฐต่อรัฐควรเป็นไปในลักษณะใด ก่อนการเริ่มสงครามควรมีมาตรการใด การจัดทัพ การส่งกองลาดตระเวณเพื่อหาข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายศัตรู การมีระเบียบวินัยของทหาร การเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติกับเชลยศึก การจัดการสินสงคราม การไถ่ตัวเชลยศึก บุคคลที่ต้องห้ามในการฆ่าเมื่ออยู่ในภาวะสงคราม การทำสัญญาพักรบ การเจรจาเพื่อประนีประนอม เป็นต้น

 

ทั้งหมดเป็นหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่บัญญัติไว้ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำสงครามจริงๆ มิใช่เป็นเพียงทฤษฎีแบบตำราพิชัยสงครามหรือเป็นเรื่องทางโลกเพียวๆ ที่ไร้หลักคำสอนของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสงครามมิเคยขาดหายไปในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะสงครามเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายที่รัฐจะนำมาใช้เพื่อปกป้องอธิปไตยและผืนแผ่นดินตลอดจนพลเมืองของตนเสมอ

 

และทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีหลักคำสอนของอิสลามบัญญัติเอาไว้โดยละเอียดอันเกิดจากการทำสงครามจริงๆ การที่ผู้เขียนก้าวผ่านเรื่องราวในช่วง 8 ปีแห่งนครมะดีนะฮฺภายหลังการอพยพ ทำให้ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ของอิสลามมิได้ถูกกล่าวถึงไปโดยปริยาย

 

ผู้มีอคติต่อศาสนาอิสลามบางคนแสดงความรังเกียจต่อศาสนาอิสลามและทำทีว่ายอมรับไม่ได้ถึงหลักคำสอนของอิสลามที่มีเรื่องการทำสงครามเข้ามาเกี่ยวข้อง พวกเขาทำราวกับว่า อิสลามคือศาสนาแห่งสงครามและการใช้กำลังทางทหารในการเผยแผ่เชิงบังคับกับคนต่างศาสนา ทั้งๆ ที่สงครามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดนับแต่ช่วงการบันทึกประวัติศาสตร์ของอารยธรรมมนุษย์ในอดีต

 

สงครามที่มุ่งทำลายล้างและเอาชนะฝ่ายศัตรูโดยไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรมและมนุษยธรรมเกิดขึ้นมาก่อนหน้าการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) หลายพันปีมาแล้ว และศาสนิกชนในทุกศาสนาใหญ่ๆ ของโลกต่างก็เคยผ่านการทำสงครามและการรบพุ่งมาก่อนหน้าชาวมุสลิมด้วยกันทั้งสิ้น หาใช่ว่าสงครามเพิ่งจะเริ่มต้นด้วยชาวมุสลิม

 

เปล่าเลย สงครามการรบพุ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นในเกือบทุกอารยธรรมโบราณ แม้ในคัมภีร์ไบเบิ้ลเก่าก็ระบุเรื่องราวการทำสงครามของบรรดากษัตริย์ที่อยู่ร่วมสมัยกับอับราฮัมและสมัยต่อมาเอาไว้เช่นกัน เมื่ออับราฮัม โยชูวา ซาอูล ดาวิด และซาโลมอนต่างก็เคยเป็นผู้นำทัพในการสู้รบกับศัตรูมาแล้วทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะเป็นผู้นำทัพชาวมุสลิมเพื่อต่อสู้กับศัตรูทีประกาศสงครามกับรัฐอิสลาม

 

และเมื่อสงครามยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์มาโดยตลอดจวบจนทุกวันนี้ แม้ในปัจจุบันจะมีองค์การสหประชาชาติ มีสนธิสัญญาเจนีวาเป็นเหมือนกฏบัตรในการทำสงครามสังคมมนุษย์ก็ยังคงไม่ปลอดจากภาวะสงครามในภูมิภาคต่างๆ ของโลกยุคโลกาภิวัฒน์แต่อย่างใด จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ความสมบูรณ์ในหลักคำสอนของอิสลามที่ครอบคลุมทุกมิติของวิถีแห่งการดำรงชีวิตของมนุษย์จะประมวลและมีหลักคำสอนว่าด้วยการทำสงครามซึ่งมีกฏเกณฑ์และข้อปฏิบัติในเชิงนิติศาสตร์อย่างครบครันบัญญัติไว้ ซึ่งถือเป็นต้นแบบของอนุสัญญาเจนีวาที่เป็นที่ยอมรับกันสำหรับประชาคมโลกในปัจจุบัน

 

ข้อเขียนที่ว่า “ตามตำนาน พระโมฮัมเม็ดขี่อูฐเข้าเมืองที่ว่างเปล่า มุ่งไปยังวิหารอันศักดิ์สิทธิ์และโดยไม่ลงจากหลังอูฐ เขาชี้ไปที่รูปเคารพแรกที่เขาพบและพูดว่า “ความจริงมา ความเท็จจะต้องหนีไป” แล้วสาวกของเขาได้ทำลายรูปเคารพลง

 

พระโมฮัมเม็ดผละจากรูปเคารพหนึ่งสู่อีกรูปหนึ่ง จนกระทั่งรูปเคารพทั้งหลายในบรรดารูปเคารพ 360 องค์ถูกทำลายหมด แต่พระโมฮัมเม็ดไม่อนุญาตให้ศาสนิกของเขาแตะต้องสิ่งใดในวิหาร ซึ่งประชาชนเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ ทั้งไม่อนุญาตให้ปล้นสะดมภ์ทรัพย์สินที่ถูกไว้ไม่ได้รักษาที่อยู่ในเมือง   เมื่อประชาชนกลับมาและพบว่าพระโมฮัมเม็ดเพียงแต่ทำลายรูปเคารพทั้งหลาย แต่ไม่จงใจที่จะปลนสะดมภ์และแก้แค้น พวกเขายอมรับคำสั่งสอนของพระโมฮัมเม็ด และเข้าร่วมอยู่ในกองทัพของผู้ศรัทธาแท้….”

 

ทั้งหมดเป็นการเขียนที่รวบรัดตัดตอนจนขาดสาระสำคัญของเรื่องและเหตุการณ์สำคัญในช่วงการพิชิตของนครมักกะฮฺไปโดยสิ้นเชิง ผู้เขียน (โจเซฟ แกร์) มิได้ระบุถึงสาเหตุที่นำไปสู่การพิชิตนครมักกะฮฺว่าเป็นผลมาจากการละเมิดสนธิสัญญาพักรบอัล-หุดัยบียะฮฺโดยน้ำมือของพันธมิตรฝ่ายกุรอยช์ และทำไมนครมักกะฮฺในขณะที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นำกองทัพเข้าพิชิตจึงว่างเปล่าจากผู้คนด้วยสาเหตุใด  แต่ผู้เขียนมุ่งเน้นประเด็นไปยังเรื่องของการทำลายรูปเคารพเป็นสำคัญ

 

กระนั้นผู้เขียนก็มีความสับสนและเขียนเนื้อเรื่องที่ขัดแย้งกันเองว่า ถึงแม้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะได้ทำลายรูปเคารพลงทั้งหมด แต่ก็ไม่อนุญาตให้สาวกของท่านแตะต้องสิ่งใดในวิหารซึ่งประชาชนเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะรูปเคารพที่ถูกทำลายลงนั้นถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับพลเมืองมักกะฮฺและชนเผ่าอาหรับด้วยกันทั้งสิ้น

 

เหตุผลจึงไม่ได้อยู่ตรงประเด็นที่ว่า พลเมืองมักกะฮฺยอมรับอิสลามเพราะการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้แตะต้องสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเหล่าสาวกมิได้ปล้นสะดมภ์ทรัพย์สินมีค่าใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินในเขตของอัล-กะอฺบะฮฺหรือทรัพย์สินของผู้คน

 

แต่เหตุผลที่อยู่ที่การชำระให้อัล-กะอฺบะฮฺนั้นมีความบริสุทธิ์จากรูปเคารพทั้งหมดที่พลเมืองมักกะฮฺเคารพกราบไหว้และนำมาตั้งภาคีกับพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นการประกาศสัจธรรมที่ว่า รูปเคารพเหล่านั้นเป็นสิ่งอุปโลกน์และเท็จเทียม เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ผู้มีปัญญาหลงงมงายในการยกสิ่งที่เป็นวัตถุซึ่งถูกสร้างจากน้ำมือของพวกเขาขึ้นเป็นภาคีกับพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

 

สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงวัตถุที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ไร้ความสามารถในการรอดพ้นจากการถูกทำลายแล้วเหตุไฉนมนุษย์ผู้มีปัญญาจึงลดระดับของตนเองสู่การเคารพสักการะสิ่งที่ไร้ความสามารถเหล่านั้น ตัวของพวกมันเองยังไม่สามารถปกป้องและรักษาได้ แล้วพวกรูปเคารพเหล่านั้นจะมีความสามารถในการให้คุณให้โทษได้อย่างไร  การทำลายรูปเคารพทั้งหมดลงจึงเป็นการดึงสติและปัญญาของมนุษย์ที่งมงายให้กลับมาสู่สัจธรรมและความจริงซึ่งตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผลที่ถูกต้อง


และเหนือสิ่งอื่นใด เหตุผลที่ทำให้พลเมืองมักกะฮฺยอมรับอิสลามโดยสมัครใจก็คือ การอภัยและการอโหสิกรรมที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ประกาศแก่พวกเขา เป็นการนิรโทษกรรมทีเกิดขึ้นในสภาวะการณ์ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเหล่าสาวกแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่พลเมืองมักกะฮฺ

 

ทั้งๆ ที่พลเมืองมักกะฮฺและตระกูลกุรอยช์เป็นศัตรูตัวฉกาจที่มุ่งหมายเอาชีวิตและประกาศสงครามและรุกรานท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และรัฐอิสลามมาโดยตลอด ผู้ชนะย่อมสามารถกระทำอย่างไรก็ได้กับผู้แพ้ที่ตกเป็นเชลยศึก แต่ผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ก็คือ ผู้ที่เอาชนะใจผู้คนด้วยสัจธรรมและหลักธรรมแห่งการให้อภัยและการอโหสิกรรม นี่คือผู้ชนะด้วยธรรมอย่างแท้จริง

 

หากพันธมิตรร่วมฝ่ายกุรอยช์ไม่ละเมิดสนธิสัญญา อัล-หุดัยบียะฮฺ จนเป็นเหตุนำไปสู่การพิชิตนครมักกะฮฺ ศาสนาอิสลามก็แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับไปทั่วคาบสมุทรอาหรับแล้วนับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างสองฝ่ายเริ่มมีผลบังคับ การเผยแผ่หลักคำสอนที่เป็นไปอย่างสันติวิธีในช่วงสงบศึกของท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเหล่าสาวกประสบความสำเร็จมากยิ่งกว่าช่วงหน้านั้นหลายเท่านัก

 

แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ศาสนาอิสลามมิได้มีศาสนิกชนเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากการทำสงคราม แต่เป็นผลของการเผยแผ่และเรียกร้องผู้คนสู่การยอมรับในเอกภาพแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และการเป็น ศาสนทูตของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยสมัครใจและยอมรับในความงดงามแห่งหลักคำสอนของอิสลามโดยแท้

 

กระนั้นโจเซฟ แกร์ ก็เขียนในทำนองที่ว่า เมื่อพลเมืองมักกะฮฺยอมรับอิสลามพวกเขาก็เข้าร่วมเป็นกองทัพของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ประหนึ่งดังว่า พลเมืองมุสลิมที่ศรัทธาต่ออิสลามในเวลานั้นมีแต่พลเมืองที่เข้าร่วมในกองทัพเพื่อทำศึกเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วมิได้มีเพียงแค่กองทัพ แต่ยังมีประชาชนและพลเมืองที่ใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนสามัญชนทั่วไป มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย การเข้าร่วมในกองทัพจึงมิใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการทำสงครามในเวลานั้นเป็นเรื่องของการอาสาและเป็นเรื่องของการปกครองฝ่ายรัฐอิสลามในนครมะดีนะฮฺไปแล้ว

 

โดยเฉพาะกรณีของมักกะฮฺที่ถูกพิชิตและกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลามโดยสมบูรณ์ และชนเผ่าอาหรับในคาบสมุทรอาหรับก็เริ่มทยอยส่งคณะทูตและตัวแทนของเผ่าเพื่อประกาศเข้ารับอิสลามต่อหน้าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ณ นครมะดีนะฮฺ อีกทั้งยังมีการส่งสาส์นไปยังแว่นแคว้นและอาณาจักรที่เรืองอำนาจในเวลานั้นเพื่อเรียกร้องผู้ปกครองให้เข้ารับอิสลามโดยวิธีการทูตและการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกันอีกด้วย

 

ในหัวข้อที่ 4 “ความเติบโตของศาสนาอิสลาม” โจเซฟ แกร์ เขียนว่า :

“หลังจากการสิ้นชีวิตของพระโมฮัมเม็ดแล้ว อาลักษณ์ผู้เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของพระโมฮัมเม็ด คือ อาบู เบกร์ ก็ได้เป็นกาลิฟคนแรกหรือผู้สืบช่วง แผนการที่จะสถาปนาศาสนาอิสลามให้เป็นศาสนาโลกโดยการเผยแผ่ ซึ่งร่างไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนการสิ้นชีพของผู้ตั้งศาสนาได้เป็นเรื่องราวที่กาลิฟ อาบู เบกร์ ตระเตรียมที่จะนำออกมาใช้

อาบู เบกร์ เริ่มรวบรวมวาทะและคำสั่งสอนของผู้เป็นนายของตนลงเป็นคัมภีร์เรียกว่า โกราน ซึ่งหมายความว่า “การอ่าน” และเขาได้จัดให้คน ผู้ซื่อสัตย์ได้เป็นทหารซึ่งจะต้องออกไปและปราบเผ่าอื่นๆ ซึ่งขบถต่อต้านศาสนาอิสลามและหันกลับไปบูชาเคารพ  หลายปีต่อมา การรวบรวมและจัดทำเป็นคัมภีร์โบราณสำเร็จลง และสงครามอันศักดิ์สิทธิ์กับเผ่าเพื่อนบ้านและประเทศต่างๆ ก็ได้ดำเนินต่อไป”

 

 

วิพากษ์

 

 

การเขียนถึงแผนการเกี่ยวกับการสถาปนาศาสนาอิสลามให้เป็นศาสนาโลกโดยการเผยแผ่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกร่างไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนการสิ้นชีพของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นเป็นการเขียนที่ไม่ได้ขัดกับข้อเท็จจริงแต่มีสิ่งแอบแฝงบางอย่างที่ผู้เขียนพยายามสอดใส่เอาไว้ในสำนวนการเขียน  เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วศาสนาอิสลามที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้นำมาประกาศแก่ประชาคมโลกนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะชนชาติอาหรับ หรือภูมิภาคนั้นเพียงแห่งเดียวแต่เป็นการภาระกิจสากลที่ถูกบัญชาใช้จากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)  นับแต่เริ่มแรกการประกาศศาสนาแล้ว

 

หากจะพูดว่าเป็นแผนการนั้นก็เป็นแผนการของเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ไว้แล้ว มิใช่สิ่งที่เพิ่งมาจะร่างหรือคิดแผนการในช่วงท้ายก่อนการสิ้นชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แต่อย่างใด ทั้งนี้หากเราพิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไม ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงต้องเป็นชาวอาหรับ ทำไมคัมภีร์อัล-กุรอานจึงต้องเป็นภาษาอาหรับ และทำไมการเริ่มประกาศศาสนาจึงต้องเริ่มในนครมักกะฮฺ

 

ทั้งหมดต่างก็ชี้ให้เห็นว่า เพราะอิสลามเป็นศาสนาสากลมิใช่ศาสนาท้องถิ่นหรือกลุ่มชนเฉพาะ เพราะชาวอาหรับเป็นชนชาติที่แพร่กระจายทั้วทั้งคาบสมุทรอาหรับและเอเชียน้อย และชาวอาหรับในเวลานั้นก็เป็นอนารยชนที่อยู่ในท้องทะเลทรายที่มีดินแดนติดต่อกับภูมิภาคสำคัญของโลกในเวลานั้น การเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติสังคม และความเชื่อของชาวอาหรับที่กำลังจมดิ่งสู่ความล้าหลัง และงมงายในอวิชชา

 

ด้วยพลังศรัทธาและหลักคำสอนของศาสนาอิสลามจนกลายเป็นชนชาติที่สืบสานและต่อยอดอารยธรรมของมนุษยชาติตลอดช่วงยุคกลางจวบจนกระทั่งส่งผ่านความเจริญรุ่งเรืองสู่ยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรป นั่นย่อมเป็นสิ่งท้าทายและสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ถึงพลังของอิสลามที่มีชาวอาหรับเป็นผู้รับภาระกิจเป็นกลุ่มแรกและเปลี่ยนผ่านสู่ชนชาติต่างๆ ที่ยอมรับอิสลาม ทั้งชาวอียิปต์ ชาวนูเบียน ชาวเบอร์เบอร์ ชาวอิหร่าน ชาวเติร์ก ชาวมองโกล และชาวอินเดีย ซึ่งทั้งหมดต่างก็มีความศรัทธาต่อคัมภีร์อัล-กุรอานซึ่งเป็นภาษาอาหรับ  มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวที่มุ่งสู่นครมักกะฮฺอันเป็นที่ตั้งของอัล-กะอฺบะฮฺในเวลาประกอบศาสนกิจ การเป็นศาสนาของโลกที่ไร้เขตพรมแดน

 

และเชื้อชาติซึ่งกินพื้นที่อาณาเขตนับตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกจรดเส้นพรมแดนของประเทศจีน ล้วนแต่เป็นลักษณะพิเศษของศาสนาอิสลามที่มีความเป็นสากลอยู่ในตัวเอง การที่ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาใหญ่ศาสนาหนึ่งของโลกจึงมิใช่แผนการของผู้ใดนอกเสียจากเป็นแผนการที่เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีพระประสงค์ไว้เท่านั้น

 

การเขียนถึงแผนการในการสถาปนาศาสนาอิสลามให้เป็นศาสนาโลกโดยการเผยแผ่อย่างที่ผู้เขียนพยายามสื่อกับผู้อ่านจึงเป็นการพูดในทำนอง “สำนวนดีแต่มีเลศนัยแอบแฝง” เพราะคำว่าแผนการเป็นคำที่ส่อความหมายไปในเชิงลบและเชิงบวกได้เท่าๆ กัน ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้อ่านว่าจะตีความไปในทิศทางใด

 

สำหรับผู้ที่มีอคติต่ออิสลามและมุสลิมก็ย่อมมิใช่เรื่องแปลกสำหรับพวกเขาที่จะตีความแผนการที่ว่านี้ไปในทำนองลบประเภทแผนการยึดครองโลกและกวาดล้างศาสนาอื่นๆ ให้หมดสิ้นไปจากหน้าโลกใบนี้ โดยอธิบายคำว่าการเผยแผ่ที่เขียนไว้ในท้องเรื่องให้เป็นการเผยแผ่ด้วยกำลังการทหารซึ่งเข้ากันได้พอดิบพอดีกับประโยคที่ว่า “และสงครามอันศักดิ์สิทธิ์กับเผ่าเพื่อนบ้านและประเทศต่างๆ ก็ได้ดำเนินต่อไป”

 

แผนการของท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) ตามความหมายที่ผู้เขียนพยายามสอดแทรกและแฝงเลศนัยเอาไว้ในข้อเขียนของเขา จึงหมายถึง “การจัดให้คนผู้ซื่อสัตย์ผู้ได้เป็นทหารซึ่งจะต้องออกไปและปราบเผ่าอื่นๆ ซึ่งพยายามต่อต้านศาสนาอิสลามและหันกลับไปบูชารูปเคารพ”

 

สรุปง่ายๆ ก็คือ แผนการที่อ้างว่ามีการร่างเอาไว้และเตรียมเอามาใช้ก็คือ การทำสงครามเพื่อเผยแผ่อิสลามหรือการเผยแผ่อิสลามด้วยการทำสงครามและปราบปรามชนต่างศาสนิกนั่นเอง ซึ่งความคิดและทัศนคติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกและนักบูรพาคดีตลอดจนผู้มีอคติต่อศาสนาอิสลามพยายามตอกย้ำ และถ่ายทอดแก่ผู้คนที่รู้จักอิสลามแต่เพียงผิวเผินหรือไม่เคยรู้จักอิสลามมาก่อนอยู่เนืองๆ

 

ซึ่งไม่แปลกถ้าหากเราจะกล่าวว่านี่ต่างหากคือแผนการของพวกเขาที่ร่างเอาไว้เพื่อบิดเบือนภาพลักษณ์ และข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ศึกษาศาสนาเปรียเทียบซึ่งมิใช่มุสลิมมีความคิดฝังใจ และมองอิสลามว่าเป็นปีศาจสงคราม และมุสลิมเป็นพวกกระหายสงคราม ศาสนาอิสลามเติบโตขึ้นจนแผ่ปกคลุมพื้นที่ค่อนโลกเพราะกำลังทหารและคมหอกคมดาบเท่านั้น

 

ประเด็นสำคัญที่คนเหล่านั้นอธิบายตามทฤษฎีกล่าวอ้างของพวกตนไม่ได้ก็คือ ถ้าอิสลามเผยแผ่ด้วยกำลังทหารและการปราบปรามชนต่างศาสนาจริง พวกเขาจะอธิบายอย่างไรในกรณีการเข้ารับอิสลามของชนชาติตาตาร์ – มองโกลที่รุกรานรัฐอิสลามในแคว้น อัล-คุวาริซมฺ และทำลายนครแบกแดดอย่างย่อยยับ เพราะมุสลิมในเวลานั้นตกอยู่ภายใต้คมหอกคมดาบของพวกมองโกลที่เป็นลูกหลานของเจงกิสข่านผู้เกรียงไกร

 

พวกเขาจะอธิบายอย่างไรถึงกรณีของชนชาติ “บุลฆ็อร” (บัลกาเรียน) ในยุโรปตะวันออกที่กองทัพของมุสลิมไม่เคยยาตราทัพไปถึงมาก่อนในสมัยอาณาจักรอัล-อับบาสียะฮฺ พวกเขาจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับกรณีการเข้ารับอิสลามของชนเผ่าแอฟริกาในดินแดนแถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งไม่เคยมีกองทัพของมุสลิมอาณาจักรใดเคยย่างกรายไปถึง

 

พวกเขาจะอธิบายตามทฤษฎีกล่าวอ้างของพวกเขาได้อย่างไรในกรณีการเข้ารับอิสลามของพลเมืองในท้องถิ่นแถบแหลมมลายู หมู่เกาะสุมาตรา ชวา และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในแถบซูลู และมินดาเนา เพราะในดินแดนแถบนี้ไม่เคยมีกองทัพเรือของรัฐมุสลิมใดๆ ถูกส่งมายังน่านน้ำแถบนี้แต่อย่างใด

 

และที่สำคัญพวกเขาจะอธิบายอย่างไรถึงสาเหตุที่อัตราการเติบโตและการเพิ่มจำนวนของชาวมุสลิมซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป ทวีปอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ ของโลกในยุคปัจจุบันซึ่งมุสลิมเป็นฝ่ายถูกกระทำในทุกๆ สมรภูมิที่มิใช่สงครามการสู้รบเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในคาบสมุทรบอลข่าน ในพม่าและในอีกหลายประเทศ

 

เพราะอะไรและทำไม ผู้คนจึงละทิ้งศาสนาเดิมของตนแล้วยอมรับอิสลามด้วยความเต็มใจและศรัทธา ทั้งๆ ที่ไม่มีกองทัพใดๆ ของประเทศมุสลิมประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์กับประเทศอื่นที่มิใช่มุสลิมแต่อย่างใดในปัจจุบัน

 

สำหรับเราในฐานะผู้ศรัทธาเราย่อมรู้แน่ชัดว่า อะไรคือคำตอบและคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนคำตอบที่ชัดเจนมีเพียงหนึ่งเดียวคือ เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีความสมบูรณ์และงดงามด้วยหลักคำสอนที่บริสุทธิ์และสูงส่ง เป็นทางนำอันเที่ยงตรง อุดมด้วยเหตุผลและปัญญา เป็นศาสนาที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกบริบท

 

และด้วยพลังและศักยภาพอันเอกอุของศาสนาอิสลามทำให้ผู้มีปัญญาได้รับทางนำจากเอกองค์พระผู้เป็นเจ้ายอมรับและถือเป็นสรณะ สงครามจึงมิใช่เหตุปัจจัยที่ทำให้ศาสนาอิสลามมีความเติบโตและเจริญงอกงาม แต่ปัจจัยเหตุสำคัญอยู่ที่หลักคำสอนและแก่นธรรมที่อิสลามประมวลเอาไว้เอง เห็นได้ชัดว่าคราใดที่ปลอดสงคราม การเผยแผ่ของอิสลามก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็วและมั่นคง คำว่า อิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบจึงเป็นเพียงมายาคติที่หลอกลวงคนเขลาให้หลงออกจากสัจธรรมอย่างกู่ไม่กลับเท่านั้นเอง

 

โจเซฟ แกร์ เขียนต่อมาว่า

“เมื่อคัมภีร์โกรานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้กลายเป็นอุปกรณ์ทรงพลัง (คัดลอกข้อความจนถึง) เพราะคัมภีร์โบราณช่วยผนึกมุสลิมเข้าด้วยกัน กองทัพของผู้มีศรัทธาแท้ได้เคลื่อนออกจากประเทศของตน ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามแล้วเข้าไปทำการกลับใจประชาชนอื่นๆ ให้มานับถือศาสนาออิสลาม”

 

วิพากษ์

 

 

เห็นได้ชัดเจนเจ่มแจ้งว่า สิ่งที่เราได้วิพากษ์ไว้ก่อนหน้านี้เป็นจริงเพียงใด การผูกเรื่องระหว่างสงครามเผยแผ่ศาสนากับการรวบรวมอัล-กุรอานเข้าด้วยกันของผู้เขียนได้ตอกย้ำว่า พวกเขาพยายามในการนำเสนอเหตุผลที่ทำให้ศาสนาอิสลามแผ่ขยายและเติบโตในทำนองใด แน่นอนสงครามคือสิ่งที่พวกเขาถือเป็นเหตุปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้

 

ผลที่ตามมาก็กลายเป็นว่า คัมภีร์อัล-กุรอานถูกรวบรวมขึ้นในสมัยท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร อัศศิดดีก (ร.ฎ.) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนการที่ร่างไว้ทำให้อัล-กุรอานกลายเป็น “คัมภีร์แห่งสงคราม” หรือเป็น “คู่มือสำหรับปิศาจสงคราม”  ที่สร้างกฏระเบียบ วินัย และความเข้มแข็งให้กับเหล่าผู้กระหายสงครามที่ผนึกกำลังกันเข้ารุกรานชนต่างศาสนิกในรัฐหรืออาณาจักรของผู้ปฏิเสธอิสลาม และนี่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายกาจของผู้เขียนและเหล่านักคิดชาวตะวันตกที่เป็นตะเภาเดียวกัน

 

หากผู้เขียน (โจเซฟ แกร์) มีความเป็นนักวิชาการศาสนาเปรียบเทียบที่มุ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคัมภีร์อัล-กุรอาน อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องเขียนผูกเรื่องที่มีเลศนัยแอบแฝง เขาก็ย่อมสามารถที่จะกระทำด้ เพราะไม่มีผู้ใดกดดัน หรือบีบบังคับให้เขาต้องเขียนผูกเรื่องในทำนองนี้ แต่เป็นเพราะมายาคติและความมีอคติของผู้เขียนที่มีต่อศาสนาอิสลามจึงทำให้เขาไม่สามารถบังคับปากกาและข่มใจตนเองให้เขียนอย่างตรงไปตรงมาได้นั่นเอง

 

การรวบรวมอัล-กุรอานที่ถูกจารึกลงในวัสดุอุปกรณ์จำพวกกาบอินทผลัม แผ่นหิน กระดูกตะโพกอูฐ และแผ่นหนังให้รวมอยู่ในที่เดียวกันตามบัญชาของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร อัศศิดดิก (ร.ฎ.) ซึ่งยอมรับในข้อเสนอของท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) และมอบหมายให้สาวกคนสำคัญคือ ท่านซัยดฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งหมดมิใช่แผนการที่ถูกร่างไว้แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่ท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) มิได้เคยฉุกคิดมาก่อนด้วยซ้ำไป

 

แต่เนื่องจากการสูญเสียชีวิตของนักท่องจำอัล-กุรอานที่เป็นสาวกจำนวนมากในสมรภูมิอัล-ยะมามะฮฺซึ่งเป็นสมรภูมิที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺกับบรรดาเผ่าอาหรับที่ก่อการกบถต่อรัฐและหลงเชื่อคำประกาศของศาสดาจอมปลอมที่อ้างตนว่าเป็นศาสนทูตของพระเจ้าภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) สมรภูมิอัล-ยะมามะฮฺจึงเป็นสมรภูมิที่รัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของอธิปไตยและเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐ มิใช่เป็นการทำสงครามเพื่อเผยแผ่ศาสนาแต่อย่างใด

 

ผู้อ่านที่มีความรู้ในด้านรัฐศาสตร์การปกครองย่อมเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี การที่สาวกผู้ท่องจำอัล-กุรอานอย่างขึ้นใจสูญเสียชีวิตเป็นอันมากในสมรภูมิอัล-ยะมามะฮฺเป็นเหตุให้ท่านอุมัร (ร.ฎ.) สาวกคนสำคัญเกิดความวิตกเกี่ยวกับการคงอยู่ของคัมภีร์อัล-กุรอานซึ่งเหล่าสาวกผู้ท่องจำได้รักษาถ้อยความของอัล-กุรอานเอาไว้ในหัวอกของพวกเขา แล้วพวกเขาก็เสียชีวิตลง เหตุนั้น ท่านอุมัร (ร.ฎ.) จึงได้เสนอให้ท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) ดำเนินการรวบรวมอัล-กุรอานที่ถูกจารึกลงในวัสดุอุปกรณ์ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในการเก็บรักษาของเหล่าสาวกที่เป็นอาลักษณ์ของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน

 

โดยอัล-กุรอานที่ถูกจารึกนี้จะถูกยืนยันและรับรองด้วยการท่องจำของสาวกโดยเฉพาะท่าน ซัยดฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมภายใต้การกำกับดูแลของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.) อัครสาวกคนสำคัญของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การรวบรวมอัล-กุรอานครั้งแรกในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร อัศศิดดิก (ร.ฎ.) จึงเป็นการพิทักษ์รักษาอัล-กุรอานที่ถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรมิให้สูญหายและรวบรวมเอาไว้ในที่เดียวกันอย่างเป็นกิจลักษณะด้วยการคัดลอกลงใน “มุศหัฟ” เพียงหนึ่งเดียว

 

ซึ่งเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้วางแบบอย่างเอาไว้แล้วในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ การท่องจำอัล-กุรอานทั้งหมดในหัวอก และการจดจารลงในวัสดุเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เราจะต้องไม่ลืมว่า อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก่อนที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะเสียชีวิต

 

จึงกล่าวได้ว่า ทุกถ้อยคำในคัมภีร์อัล-กุรอานได้รับการรักษาและพิทักษ์ไว้ด้วยการท่องจำและการจดจารโดยเหล่าอัครสาวกที่มีความจำเป็นเลิศนับแต่สมัยของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยถ้อยคำทั้งหมดได้รับการถ่ายทอดจากปากอันบริสุทธิ์ของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถูกอ่านทบทวนในการประกอบศาสนกิจ ถูกท่องจำอย่างขึ้นใจ

 

และทุกครั้งที่อัล-กุรอานถูกประทานลงมาในวาระต่างๆ ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็จะสั่งใช้ให้อัครสาวกที่เป็นอาลักษณ์ซึ่งมิใช่ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) เพียงผู้เดียวเท่านั้นทำการจดจารลงในวัสดุอุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในสมัยนั้น ด้วยการบอกกล่าวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เองว่า อายะฮฺใดอยู่ตรงไหน และอยู่สูเราะฮฺใด คัมภีร์อัล-กุรอานจึงเป็นคัมภีร์ที่ใช้ในการท่องจำและการอ่านตรวจสอบถ้อยคำที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าถูกต้องหรือไม่ ในขณะเดียวกันถ้อยคำที่ถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็จะตรวจสอบความถูกต้องในการอ่านและการท่องจำขึ้นใจไปพร้อมๆ กัน

 

ดังนั้นเมื่อบรรดาสาวกที่เป็นนักท่องจำจำนวนมากเสียชีวิตลงในสมรภูมิอัล-ยะมามะฮฺขณะที่อัล-กุรอานซึ่งถูกจดจารเป็นลายลักษณ์อักษรยังกระจัดกระจายอยู่ในหมู่สาวกและมิได้ถูกรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน ก็ย่อมเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับการปล่อยให้อัล-กุรอานถูกท่องจำอยู่ในหัวอกของบรรดาสาวกที่เป็นนักท่องจำและมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

การรวบรวมอัล-กุรอานที่ถูกจดจารเป็นลายลักษณ์อักษรจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำต้องดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้อัล-กุรอานสูญหาย เพราะเหล่าสาวกยังคงต้องเข้าสู่สมรภูมิเพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม (มิใช่รุกรานศาสนาอื่น) และรักษาอำนาจอธิปไตยของรัฐอิสลามให้พ้นจากการคุกคามของมหาอำนาจของโลกในเวลานั้น คือ จักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์และจักรวรรดิ์เปอร์เซีย

 

การเสียชีวิตลงของสาวกที่เป็นนักท่องจำและครอบครองวัสดุที่ใช้บันทึกอายะฮฺอัล-กุรอานบางส่วนไว้กับตัวจึงเป็นเรื่องที่กริ่งเกรงได้ว่าจะนำไปสู่การสูญหายของวัสดุที่จารึกถ้อยคำของอัล-กุรอานทุกเมื่อ การรวบรวมอัล-กุรอานในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) จึงมีการดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว คือการ พิทักษ์รักษาอัล-กุรอานทั้งในส่วนที่ถูกท่องจำและถูกจดจารเป็นลายลักษณ์อักษร หาใช่เป็นแผนการที่คิดล่วงหน้าเอาไว้อย่างที่ผู้เขียนพยายามสื่อในข้อเขียนของตนไม่

 

หากถือเอาข้อเขียนของโจเซฟ แกร์ ในทำนองที่ว่าการรวบรวมอัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ได้กลายเป็นอุปกรณ์ทรงพลังช่วยยึดเหนี่ยวผู้ศรัทธาเข้าด้วยกันและทำให้เข้มแข็งขึ้น เป็นผลทำให้กองทัพของผู้ศรัทธาได้เคลื่อนออกจากรัฐอิสลามเพื่อเข้าไปกลับใจประชาชนอื่นๆ ให้มานับถืออิสลามอย่างที่โจเซฟ แกร์ พยายามสอดใส่ไว้ในข้อเขียนของตน เราก็จะพบว่าโดยข้อเท็จจริงมีความคลาดเคลื่อนอยู่อีกเช่นกัน เพราะไม่ว่าอัล-กุรอานจะถูกรวบรวมเป็นคัมภีร์หรือไม่

 

ผู้ศรัทธาต่างก็ท่องจำอัล-กุรอานและศึกษาเรียนรู้จากท่าน นบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มาก่อนหน้านั้นแล้ว มิใช่ว่าเพิ่งจะมาเกิดขึ้นในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) และอัล-กุรอานก็ได้รับการท่องจำและจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่ พลังแห่งศรัทธาอันเกิดจากการชี้นำของอัล-กุรอานก็ได้สำแดงให้เป็นที่ประจักษ์มาก่อนแล้วตลอดช่วงเวลา 23 ปี แห่งการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

 

กระนั้นในช่วงเวลา 13 ปีแรกแห่งการประกาศศาสนาที่นครมักกะฮฺซึ่งอัล-กุรอานถูกประทานลงมาอย่างต่อเนื่องก็มิได้มีเรื่องของการทำสงครามกับพวกกุรอยช์และพลเมืองมักกะฮฺ แต่มีสาระธรรมส่วนใหญ่ที่เน้นการวางรากฐานแห่งศรัทธาอันมั่นคงและการยืนหยัดต่อสู้บนพื้นฐานของขันติธรรมและความอดทนอดกลั้นต่อการกดขี่และประทุษร้ายของพวกกุรอยช์มักกะฮฺ

 

แม้ภายหลังการอพยพในช่วงแรก การทำสงครามปกป้องตนเองของรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺก็ยังไม่เป็นที่อนุมัติจวบจนกระทั่งลุเข้าสู่ปีที่ 2 นับแต่การอพยพ และการสู้รบที่เกิดขึ้นในเกือบทุกสมรภูมิก็เป็นชัยชนะของฝ่ายมุสลิม ซึ่งนั่นแสดงว่าพลังและศักยภาพของอัล-กุรอานได้สำแดงให้เป็นที่ประจักษ์นับแต่สมรภูมิแรกคือ สมรภูมิบัดรฺ แล้วกระนั้นอัล-กุรอานก็ยังคงถูกประทานลงมาได้รับการจดจำและจำบันทึกไปพร้อมๆ กัน

 

แม้ในช่วงหลังปีที่ 6 แห่งการอพยพซึ่งเป็นช่วงสนธิสัญญาพักรบ อัล-กุรอานก็ยังคงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและทรงพลังสำหรับผู้ศรัทธาในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามแบบสันติวิธี มิใช่เป็นการทำสงครามแต่อย่างใด ดังนั้นการรวบรวมอัล-กุรอานในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร อัศสิดดิก (ร.ฎ.) จึงไม่ได้วัตถุประสงค์เพื่อใช้อัล-กุรอานเป็นเครื่องมือในการสร้างพลังให้แก่ผู้ศรัทธาในเรื่องการทำสงคราม แต่เป็นการพิทักษ์รักษาอัล-กุรอานเอาไว้ให้อยู่ในสภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะความเป็นปึกแผ่นและความยึดมั่นในพลังแห่งอัล-อิสลามซึ่งมีอัล-กุรอานเป็นรากฐานเกิดขึ้นและแสดงศักยภาพอันทรงพลังมาก่อนหน้านั้นแล้ว

 

คัมภีร์อัล-กุรอานเป็นพระดำรัสของเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ทรงประทานให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ผ่านทูตสวรรค์ญิบรีล (อ.ล.) และเป็นภาษาอาหรับที่ชัดเจน มีสำนวนเฉพาะ มิใช่บทกวีความเป็นปาฏิหาริย์ของอัล-กุรอานในด้านภาษาเป็นสิ่งที่ท้าทายชนชาติอาหรับที่พูดภาษาเดียวกับภาษาของอัล-กุรอานซึ่งมนุษย์และอมนุษย์ไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิงในการปะพันธ์ถ้อยคำที่เหมือนกับถัอยคำของอัล-กุรอาน และคำท้าทายนี้ยังคงดำรงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

 

คัมภีร์อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ทางศาสนาเพียงเล่มเดียวที่ผู้คนที่มิใช่ชาวอาหรับสามารถอ่านและท่องจำได้ทั้งเล่ม มิใช่มุสลิมบางคน แต่มีมุสลิมเป็นจำนวนมากที่ท่องจำอัล-กุรอานได้ทั้งหมดอย่างขึ้นใจ และทุกคำที่พวกเขาอ่านในเวลาปัจจุบันก็เป็นถ้อยคำเดียวกับถ้อยคำที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเหล่าสาวกเมื่อพันปีที่แล้วได้อ่านโดยไม่ผิดเพี้ยน

 

ต่างจากคัมภีร์ในศาสนาอื่นที่น้อยคนนักซึ่งเป็นศาสนิกชนของศาสนานั้นจะท่องจำได้ทั้งหมด ทุกวรรคทุกตอนหรือแม้กระทั่งอ่านให้ครบจบทั้งเล่ม และภาษาของคัมภีร์ในศาสนาอื่นๆ ที่อ่านกันในปัจจุบันก็มิใช่ภาษาดั้งเดิมของศาสดาในศาสนานั้นเคยอ่านหรือเคยพูดเมื่อหลายพันปีก่อน ทั้งหมดเป็นฉบับแปลจากภาษาเดิมเกือบทั้งสิ้น

 

และแน่นอนการแปลหรือการถ่ายภาษาจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งย่อมต้องมีข้อบกพร่องและมีความแตกต่าง เพราะแต่ละภาษามีลีลา อรรถรส สำนวนและโวหารเป็นของตนเองโดยเฉพาะ แต่สำหรับคัมภีร์อัล-กุรอานแล้ว มุสลิมไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด พูดภาษาแม่ภาษาใดก็ตาม และอยู่ส่วนไหนของภูมิภาคในโลกใบนี้พวกเขาจะอ่านคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นภาษาอาหรับเหมือนกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะพูดภาษาอาหรับในเชิงสื่อสารและสนทนาไม่ได้เลยก็ตาม

 

คัมภีร์อัล-กุรอานจึงเป็นคัมภีร์แห่งการอ่านโดยแท้จริง แน่นอนการเรียบเรียงสูเราะฮฺ (บท) ของคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นเรื่องของการเรียบเรียงลำดับในการอ่านเท่านั้น กล่าวคือเริ่มต้นด้วยสูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺ และจบลงด้วยสูเราะฮฺ อัน-นาส รวมทั้งหมด 114 สูเราะฮฺ (บท) ส่วนช่วงเวลาตามลำดับการประทานอัล-กุรอานลงมาตามเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีรายละเอียดและองค์ความรู้อรรถาธิบายเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะอัล-กุรอานเป็นคัมภีร์แห่งการอ่านมิใช่ตำราหรือพงศาวดารทางประวัติศาสตร์ที่จำต้องเรียบเรียงเนื้อหาและบทตามช่วงเวลาของเหตุการณ์นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าฉงนก็คือ การให้ข้อมูลของผู้เขียนว่า เรื่องยาวที่สุดในคัมภีร์อัล-กุรอานยาวมากกว่าหนังสือ 10 เล่ม ที่ว่าน่าฉงนก็เพราะว่าคัมภีร์อัล-กุกุรอานที่เรียกว่า อัล-มุศหัฟ อัช-ชะรีฟ นั้นมีเพียงเล่มเดียว มีเพียง 114 บท บทที่ยาวที่สุดคือ สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ ก็อยู่ในคัมภีร์เล่มเดียวนี้ แล้วเหตุไฉนจึงเขียนว่ายาวมากกว่าหนังสือ 10 เล่มไปได้ เห็นทีผู้เขียนคงสับสนระหว่างคัมภีร์อัล-กุรอานที่เป็นตัวบทกับคัมภีร์หรือตำราที่อรรถกถาข้อความในอัล-กุรอานที่เรียกว่า ตำราอัต-ตัฟสีร ซึ่งอาจจะมีได้หลายเล่ม

 

และแน่นอนการศึกษาคัมภีร์อัล-กุรอานจากฉบับแปลเป็นภาษาอื่นย่อมต้องพบกับความสับสนที่เป็นธรรมดาไม่มากก็น้อย เพราะคำแปลและความหมายที่แปลจากตัวบทอัล-กุรอานย่อมมีข้อบกพร่องในการถ่ายทอดภาษา อรรถรส และลีลาจากภาษาเดิม อีกทั้งคำแปลนั้นก็มิใช่อัล-กุรอานแต่เป็นภาษาที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแปลและถอดความหมาย และเมื่ออัล-กุรอานเป็นดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับที่มีความเป็นพิเศษเฉพาะตัว การแปลและถอดความหมายให้ถูกต้องและตรงตัวเป็นภาษาของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้

 

สิ่งที่สามารถกระทำได้ คือการอรรถธิบายและขยายความเพียงเท่านั้น ส่วนที่ว่า ชาวตะวันตกผู้อ่านคำภีร์โกรานในทางแปลจะพบความสับสน เพราะจะพบคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอื่นๆ อยู่ด้วย จะว่าไปแล้วก็ต้องสับสนอยู่แล้ว เพราะไปอ่านฉบับแปลซึ่งไม่ได้อรรถรสและลีลาตลอดจนสำนวนของอัล-กุรอานที่เป็นต้นฉบับภาษาอาหรับ

 

แต่ถ้าพวกเขาอ่านคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายและขยายความคัมภีร์อัล-กุรอานซึ่งในปัจจุบันถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา พวกเขาก็ย่อมไม่พบความสับสนแต่อย่างใด ส่วนที่ให้เหตุผลว่า ความสับสนที่เกิดขึ้นเกิดจากการไปพบข้อความอันเป็นหลักคำสอนในคัมภีร์ของศาสนาอื่นนั้น ซึ่งคงจะหมายถึงคัมภีร์ อัต-เตารอต และ คัมภีร์ อัล-อินญีล (ไบเบิ้ล)

 

การให้เหตุผลเช่นนี้ของผู้เขียนก็ตอกย้ำสิ่งที่เราวิพากษ์มาโดยตลอดว่าเป็นเรื่องจริงมากน้อยเพียงใด? กล่าวคือ แทนที่ผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับคัมภีร์อัล-กุรอานในศาสนาอิสลามแบบวิชาการ ผู้เขียนกลับสอดใส่คำวิจารณ์บางอย่างลงไปในข้อเขียนของตนเสียอย่างนั้น และคำวิจารณ์ในทำนองนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาของนักคิดชาวตะวันตกและพวกนักบูรพาคดีที่มักจะกล่าวอย่างเนืองๆ ว่า อัล-กุรอาน คือคัมภีร์ที่ลอกเลียนแบบคำสอนในคัมภีร์ของศาสนายูดายและคริสตศาสนา โดยให้เหตุผลว่ามีหลักคำสอนและเรื่องราวที่คล้ายกับสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ของสองศาสนานั้นปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอาน

 

แล้วพวกเขาก็โยงและผูกเรื่องว่า เพราะท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในช่วงวัยเยาว์และช่วงวัยหนุ่มท่านได้สนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดในเชิงศาสนาและความเชื่อจากชาวยิวและบาทหลวงในศาสนาคริสต์ขณะที่ท่านเดินทางไปค้าขายกับกองคาราวานในดินแดนที่มีศาสนาทั้งสองนั้นแพร่หลายอยู่ คำสอนในคัมภีร์อัล-กุรอานจึงกลายเป็นเรื่องที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จดจำและนำมากล่าวสั่งสอนผู้คนในเวลาต่อมา

 

ถึงแม้ว่า โจเซฟ แกร์ มิได้เขียนอย่างตรงไปตรงมาในข้อความช่วงนี้ว่า หลักคำสอนในคัมภีรือัล-กุรอานคือการลอกเลียนเนื้อหาบางส่วนมาจากคัมภีร์ของศาสนายูดายและคริสตศาสนา แต่นั่นก็เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า โจเซฟ แกร์ มีทัศนคติไม่ต่างจากพวกนักคิดชาวตะวันตกหรือพวกนักบูรพาคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น คาร์ล บรู๊คฺแมน ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “ประวัติศาสตร์ประชาคมอิสลาม” กุสต๊าฟ เลอร์บ็อง ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “อารยธรรมอาหรับ” หรือ ฟิลลิฟ ฮิตไทน์ ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “ประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติอาหรับ” เป็นต้น

 

แน่นอน เราในฐานะผู้ศรัทธา เราศรัทธาต่อเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของอับราฮัม อิชมาเอล อิศอัค ยากอบ โมเสส อารอน เศคาริยาห์ ยอห์น และเยซู (ขอพระองค์ทรงประทานความศาสนติแก่พวกท่านเหล่านั้น) เราศรัทธาว่าบุคคลที่ถูกเอ่ยนามและมิได้ถูกเอ่ยนามล้วนเป็น ศาสนทูตของพระองค์โดยไม่มีการแบ่งแยก

 

ความศรัทธาของมุสลิมย่อมเป็นโมฆะหากมุสลิมศรัทธาในความเป็นศาสนทูตของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพียงผู้เดียว แล้วปฏิเสธการเป็นศาสนทูตของบุคคลหนึ่งบุคคลใดจากผู้ที่เอ่ยนามและมิได้ถูกเอ่ยนาม และเราในฐานะผู้ศรัทธา

 

เราศรัทธาต่อคัมภีร์ อัต-เตารอต ที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ศาสนทูตมูซา (โมเสส) และเราก็ศรัทธาต่อคัมภีร์ อัล-อินญีล ที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ท่านศาสนทูตอีซา (เยซู) และความศรัทธาของมุสลิมย่อมเป็นโมฆะ หากมุสลิมศรัทธาต่อคัมภีร์อัล-กุรอานเพียงอย่างเดียว แล้วปฏิเสธศรัทธาต่อคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาก่อนหน้านั้น เพราะอะไรมุสลิมจึงต้องศรัทธเช่นนั้น เพราะพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่ง พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงของมนุษยชาติทั้งปวง มิใช่พระผู้เป็นเจ้าเฉพาะของวงศ์วานอิสราเอลหรือชาวอาหรับเท่านั้น

 

และพระองค์ได้ทรงประทานคัมภีร์อัล-กุรอานลงมาให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ศาสนทูตท่านสุดท้ายเพื่อยืนยันสัจธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์อัต-เตารอต และคัมภีร์อัล-อินญีล ซึ่งพระองค์ได้ทรงประทานลงมาให้แก่ท่านศาสนทูตมูซา (อ.ล.) และศาสนทูตอีซา (อ.ล.) คัมภีร์อัล-กุรอานจึงเป็นคัมภีร์สุดท้ายที่ประมวลหลักคำสอนอันเป็นสัจธรรมที่มีในคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาก่อนหน้านั้น

 

เหตุนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ชวนให้สับสนแต่อย่างใด หากเราจะพบว่ามีหลักความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว การกล่าวถึงเรื่องราวของเหล่าผู้เผยวจนะและศาสนทูตในยุคก่อน หลักจริยธรรมอันเป็นสากลปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัล-กุรอาน เพราะคัมภีร์อัล-กุรอาน , อัต-เตารอต และอัล-อินญีล คือคัมภีร์ของพระองค์ เพราะโมเสสและเยซูคือศาสนทูตของพระองค์ เพราะอิสลามคือศาสนาหนึ่งเดียวของพระองค์ มิใช่ศาสนาของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ตั้งขึ้นอย่างที่พวกเขาเหล่านั้นกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

หากถือเอาความเหมือนของหลักคำสอนทางจริยธรรมซึ่งเป็นสากลมาเป็นตัวชี้วัด และตัดสินว่ามีการลอกเลียนแบบในระหว่างกันแล้ว

เราจะพูดได้หรือไม่ว่า ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และอิสลามลอกเลียนแบบความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวจากฟาโรห์ “อัคนาตูน” แห่งไอยคุปต์โบราณที่เชื่อในเทพเจ้า “อาตูน” ว่าเป็นมหาเทพสูงสุดหนึ่งเดียว เพราะฟาโรห์ “อัคนาตูน” มีชีวิตอยู่ในสมัยก่อนการเคลื่อนย้ายของพงษ์พันธุ์อิสราเอลสู่ดินแดนไอยคุปต์หลายพันปี แล้วโมเสสก็รับอิทธิพลในความเชื่อดังกล่าว แน่นอนชาวยิว และชาวคริสต์เองคงไม่ยอมรับในเรื่องนี้ แล้วเหตุไฉนพวกเขาจึงต้องยัดเยียดข้อกล่าวหาในการลอกเลียนแบบให้แก่ศาสนาอิสลามด้วยเล่า

 

เราจะพูดได้หรือไม่ว่า พระธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์เก่าที่ชาวยิวและชาวคริสต์ศรัทธาเกี่ยวกับเรื่องกฏหมายตาต่อตา ฟันต่อฟัน ว่าเป็นการลอกเลียนแบบกฏหมายของกษัตริย์ ฮัมมูราบี ในดินแดนเมโสโปเตเมียซึ่งสลักไว้ในแผ่นศิลาและมีอายุย้อนกลับไปก่อนหน้าการอุบัติขึ้นของอับราฮัม (อ.ล.) แน่นอนชาวยิวและชาวคริสค์คงรับไม่ได้ในสมมุติฐานเช่นนี้ แล้วเหตุใดพวกเขาจึงกล่าวหาต่อศาสนาอิสลามว่าลอกเลียนแบบจากผู้อื่นด้วยเล่า

 

เราจะพูดได้หรือไม่ว่า ศีลธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลเป็นการลอกเลียนแบบหลักศีลธรรมที่พระพุทธเจ้า สมณโคดมเคยตรัสสั่งสอนผู้คนในชมพูทวีปมาก่อน แน่นอนชาวยิวและชาวคริสต์ก็คงรับไม่ได้อีกเช่นกัน ความเหมือนหรือความคล้ายในหลักคำสอนทางศีลธรรมที่ปรากฏในศาสนาใหญ่ๆ ของโลกย่อมมิใช่สิ่งที่จะนำมาตัดสินได้ว่า ใครลอกเลียนแบบใครเสมอไป

 

แต่ถ้าจะถือเอาเรื่องนี้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินแล้วละก็ ความเชื่อในศาสนาคริสต์ว่าด้วยตรีเอกานุภาพน่าจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตุมากที่สุดว่าลอกเลียนแบบมาจากศาสนาโบราณ เช่น ฮินดู-พราหมณ์หรือไม่ต่างหาก และสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิล (พระคริสตธรรมคัมภีร์) บันทึกหลักคำสอนของพระคัมภีร์เก่า (ภาคพันธะสัญญาเดิม) เอาไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะในส่วนของกิจการของอัครทูตและจดหมายของนักบุญทั้งหลายนั้นเกือบจะไม่มีการอ้างถึงหลักคำสอนของพระเยซูเคริสต์เลย หากแต่เต็มไปด้วยพระวจนะในคัมภีร์เก่าเกือบทั้งสิ้น โจเซฟ แกร์ ฉุกคิดในเรื่องนี้หรือไม่!