กุฏุบุดดีน อัชฺชีรอซีย์ (قطب الدين الشيرازي)

กุฏุบุดดีน มะฮฺมูด อิบนุ มัสอูด อิบนิ มุซลิฮฺ อัชชีรอซีย์ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ฮ.ศ.634-710 (ค.ศ.1236-1311) ถือกำเนิดในเมือง ชีรอซฺ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในประเทศอิหร่าน และเสียชีวิตที่เมือง ตับรีซฺ ประเทศอิหร่านเช่นกัน  อัชชีรอซีย์ ศึกษาวิชาการแพทย์จากบิดาของตนขณะมีอายุได้ 14 ปี และกลายเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญในเวลาต่อมา ครอบครัวของอัชชีรอซีย์เป็นครอบครัวที่เก่าแก่ในการประกอบอาชีพหมอ

 

ด้วยเหตุนี้เขาจึงประกอบอาชีพหมอจนกระทั่งมีอายุได้ 24 ปี อัชชีรอซีย์ยังศึกษาศาสนศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างแตกฉานจนกระทั่งกลายเป็นกอฎีย์ (ตุลาการ) นักกฎหมายชะรีอะฮฺและนักการทูตผู้เยี่ยมยอด เขารักการกุศลและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับบรรดานักปกครองผู้มีอำนาจในเวลานั้น ทั้งนี้เพื่อที่เขาจะสามารถดำเนินแผนงานทางวิชาการและงานการกุศลได้อย่างราบรื่น

 

ในปี ฮ.ศ.688 อัชชีรอซีย์ได้รับแต่งตั้งจากบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นฟาริส (เปอร์เซีย-อิหร่าน) ให้เป็นหัวหน้าคณะทูตในภารกิจสำคัญ เพื่อทำข้อตกลงสันติภาพกับ อัลมันซูร ซัยฟุดดีน ก่อลาวูน ซุลตอน ม่ามาลิก ในอิยิปต์

 

กุฏุบุดดีน อัชชีรอซีย์ เป็นนักปราชญ์ที่หลงใหลการเดินทางและการแปลตำราทางวิชาการ เขาแปลตำรา “รูปทรงปริซึมของ อพอลโลนิอุส” เป็นภาษาเปอร์เซีย และผนวกคำแปลด้วยคำอธิบายและการวิพากษ์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เขาเดินทางเยือนดินแดนส่วนใหญ่ของแคว้นฟาริส (เปอร์เซีย) อิรัก และตุรกี เพื่อเสาะหาเหล่านักปราชญ์ที่เลื่องลือในดินแดนเหล่านั้น และใช้เวลาส่วนหนึ่งพำนักอยู่ในอิยิปต์เพื่อแสวงหาความรู้และติดต่อกับเหล่านักปราชญ์ของอิยิปต์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ

 

เขาศึกษาในภาควิชาดาราศาสตร์และฟิสิกส์จนเกิดความชำนาญ และยังมีความโด่งดังในภาควิชาธรรมชาติวิทยา คณิตศาสตร์และการแพทย์ แต่เป็นเลิศในภาควิชาฟิสิกส์เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเขามุ่งศึกษาถึงปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ

 

นะซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ ได้เชื้อเชิญ กุฏุบุดดีน อัชชีรอซีย์ ให้ทำการเยือนหอดูดาวอันเลื่องชื่อของตน ณ เมือง ม่ารอเฆาะฮฺ เพื่อร่วมกันค้นหาผลการทดลองบางอย่างและแบบแผนทางดาราศาสตร์ ซึ่ง นะซีรุดดีน ยังไม่สามารถทำให้ผลการทดลองนั้นเป็นไปอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ อัชชีรอซีย์มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสำเร็จในภารกิจครั้งนั้น

 

อัชชีรอซีย์ ได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิดปรากฎการณ์รุ้งกินน้ำ ว่า : “รุ้งกินน้ำเกิดจากลำแสงของดวงอาทิตย์ตกกระทบกับหยดน้ำเล็กๆ ที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ ขณะที่เกิดฝนตก ขณะนั้นเองลำแสงที่ตกกระทบได้สะท้อนแสงภายในออกมาปรากฏแก่ผู้ที่มองเห็นรุ้งกินน้ำ”

 

อัชชีรอซีย์ ได้ดำเนินตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบแบบแผน โดยสืบสานการพัฒนาวิชาฟิสิกส์ตามความคิดของ อัลฮะซัน อิบนุ อัลฮัยซัม ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ของเขา จนกระทั่งนำพาให้วิชาจักษุประสาทบรรลุถึงความสุดยอดทางวิชาการและเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เขาอาศัยหลักการของการทดลองและการวิเคราะห์ในการค้นคว้าและการค้นพบของเขา เป็นเรื่องน่าเสียใจที่บางคนยังเชื่อว่า วิทยาศาสตร์ที่อาศัยการสังเกต การทดลองและการหาผลลัพธ์ เป็นผลมาจากความเจริญในยุคใหม่มานี่เอง

 

หากเราติดตามผลงานทางฟิสิกส์ของ กุฏุบุดดีน อัชชีรอซีย์ เราจะพบสิ่งที่ชวนฉงนและน่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพราะเขายึดหลักการทดลอง การรวบรวม สถิติ และการวิเคราะห์ผลลัพธ์ในผลงานทางวิชาการของเขา อีกทั้งเขายังได้อาศัยหลักการพิสูจน์ผ่านกระบวนการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและติดตามด้วยการหาหลักฐานเชิงคณิตศาสตร์มาสนับสนุน โดยที่เขาจะไม่อ้างถึงการลอกเลียนแบบตรรกะ เหมือนอย่างที่นักปราชญ์ชาวกรีกนิยมกระทำกัน เขาเชื่อว่า ไม่จำเป็นที่เราจะต้องกระทำซ้ำถึงสิ่งที่คนในยุคก่อนได้กระทำมาแล้ว

 

แต่สิ่งที่จำเป็นก็คือ เราจะต้องศึกษาผลงานเหล่านั้นและวิพากษ์ด้วยการอรรถาธิบายสิ่งที่คลุมเครือให้เกิดความชัดเจน หลังจากนั้น เราจำเป็นต้องพัฒนาต่อยอดออกไป โดยไม่หยุดยั้ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กุฏุบุดดีน อัชชีรอซีย์ มีส่วนร่วมในการพัฒนาภาควิชาจักษุประสาทร่วมกับบรรดานักปราชญ์ท่านอื่น จนมีส่วนทำให้ยุโรปพบกับการตื่นตัวและการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในเวลาต่อมา