ชาวมุสลิมจะสู้รบกับชนชาติเติร์ก

สัจจพยากรณ์ระบุว่า ชาวมุสลิมจะสู้รบกับชนชาติเติร์ก

ท่านอัลบุคอรียฺ ได้ระบุสายรายงานของท่านจากท่านอบูฮุรอยเราะห์ (รฎ.) จากท่านศาสนทูตว่า

“لَاتَقُوْمُ السَّاعَةُحَتّى تُقَاتِلُواقَوْمًانِعَالُهُمْالشَّعْرُوحَتّ تُقَاتِلُواالتُّرْكَ

صِغَارَالْأعْيُنِ , حُمْوَالْوُجُوْهِ , ذَ لَفَ الأُنُوْفِ كَأَنَّ وُجُوْهَهُمْ الْمَجَانُّ الْمُطَرَّ قَةُ….الحديث”

ความว่า : วันโลกาวินาศจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าพวกท่านจะสู้รบกับกลุ่มชนหนึ่ง รองเท้าของพวกเขาคือ ขน (ทำจากขนสัตว์) และจนกว่าพวกท่านจะสู้รบกับพวกเติร์ก ที่มีตาเล็ก ใบหน้าสีแดง จมูกโต ใบหน้าของพวกเขาประหนึ่งดังโล่ที่ถูกค้อนตี หรือมีหนังหุ้ม…..อัลหะดีษ (จากอันนิฮายะหฺ ฟิลฟิตัน 1/19)

ในอีกสายรายงานหนึ่งใช้สำนวนว่า

“لَاتَقُوْمَ السّاعَةُحَتّى تُقَا تِلُوْاحُوْرًاوكِرْمَانَ مِنَ الْأَعَاجِمِ ,

حُمْرَالْوُجُوهِ , فَطَسَ الْأُنُوْفِ كَأَنَّ وُجُوْهَهُمْ الْمَجَانُّ الْمُطَرَّقَةُ نِعَا لُهُمْ الشَّعْرُ”

“วันโลกาวินาศจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าพวกท่านจะสู้รบกับคูซและกิรมาน (หรือกะรอมาน) จาก    ชนชาติที่มิใช่อาหรับ มีใบหน้าแดงเรื่อ ดั้งจมูกโต ใบหน้าของพวกเขาประหนึ่งดังโล่ที่ถูกค้อนตี หรือมีหนังหุ้มโล่ห์ รองเท้าของพวกเขาคือเส้นขน… (คัดลอกโดยอัลญ่ามาอะห์ ยกเว้น อันนะซาอีย์)

 

ท่านอิบนุกะษีรฺ ได้กล่าวว่า : วจนะข้างต้นหมายถึง ชนชาติตุรกี (เติร์ก) นั้น บรรดาสาวกจะทำสงครามรบพุ่งกับพวกเขา และสร้างความปราชัยแก่พวกตุรก์ และได้ทรัพย์สงคราม และจับสตรีและลูกหลานของพวกตุรก์เป็นเชลย ตามนัยยะของวจนะนี้ย่อมชี้ชัดว่า เรื่องการทำสงครามกับชนชาติตุรก์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายก่อนเกิดวันโลกาวินาศ ถึงแม้ว่าเครื่องหมายของวันโลกาวินาศจะไม่เกิดขึ้น นอกจากใกล้วันโลกาวินาศก็ตาม เป็นไปได้ที่เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นมหาสงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาวมุสลิมกับพวกตุรก์ก็เป็นได้…” (ดูในอันนิฮายะหฺ ฟิลฺฟิตัน 1/19)

 

วจนะที่ระบุเกี่ยวกับการทำสงครามกับชนชาติตุรก์หรือเติร์กเป็นสัจจพยากรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในหน้าประวัติศาสตร์

 

ชนชาติตุรกี (เติร์ก) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด และมาตุภูมิ มีสามชาติพันธุ์ใหญ่ อันได้แก่ มองโกล เติร์ก และตุงกูซฺ ซึ่งทั้งสามชาติพันธุ์นี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชนชาติตูรอเนี่ยน หรืออูราลูล-อัลไตก์ (Ouralo-altaique) อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ยังมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับสายเลือดของชนชาติเติร์ก แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือ พวกเติร์กเคยเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนมาก่อนในแถบเทือกเขาอัลไตย์ และทะเลอาราลในเอเชียกลาง และเริ่มมีเรื่องราวขับขานในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา

 

จากเนื้อความของวจนะข้างต้น อาจตีความได้หลายกรณี เป็นต้นว่า หมายถึงพวกเติร์กที่มีถิ่นฐานอยู่ในดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยฮูน (อามูดาเรีย) ซึ่งเป็นเติร์กเผ่าฮวน (อัลฮายาติละห์) กล่าวคือ ในสมัยของท่านค่อลีฟะหฺอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน กองทัพมุสลิมได้พิชิตดินแดนตะวันออกจรดแม่น้ำมุรฆอบ (Murqhab) – ปัจจุบัน อยู่ในรัสเซีย มีต้นกำเนิดในอัฟกานิสถานและไหลผ่านตุรกีสถาน และหายไปในทะเลทรายคาราคุม (Kara Koum) ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอัฟกานิสถาน ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอามูดาเรีย-

 

แม่ทัพอัลอะหฺนัฟ อิบนุ กอยสฺ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 72/ค.ศ. 691) ได้นำทัพบุกตะลุยข้ามแม่น้ำมุรฆอบ และทำสงครามสู้รบกับชนชาติเติร์ก ซึ่งคอยช่วยเหลือพวกเปอร์เซียในการทำสงครามกับชาวมุสลิม เมืองกิรมานของเปอร์เซียก็อยู่ในเส้นทางเดินทัพในสมัยนั้น และถูกพิชิตโดยแม่ทัพมุญาชิอ์ อิบนุมัสอูด อัสสุละมีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่ทัพของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิร แม่ทัพใหญ่ของท่านค่อลีฟะหฺอุสมาน (รฎ.) พวกเติร์กที่วจนะอันเป็นสัจจพยากรณ์ได้ระบุถึง จึงน่าจะเป็นพวกเติร์กฮวนที่ทำสงครามกับชาวมุสลิมในสมัยท่านค่อลีฟะหฺอุสมาน (รฎ.) อันเป็นยุคของบรรดาเศาะหาบะฮฺ (สาวก) ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของท่านอิบนุ กะษีรฺ ที่กล่าวถึงข้างต้น

 

จริง ๆ แล้วพวกเติร์กฮวนซึ่งมีรูปร่างสันฐานโดยเฉพาะใบหน้าเหมือนดังวจนะได้กล่าวถึง มีอยู่สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเป็นพวกชาวเหนือเรียกกันทั่วไปว่า เติร์กฮวน (Hephtalites) มีกษัตริย์ปกครองในนาม “ซุนบีล” และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นชาวเผ่าทางใต้ เรียกกันว่า “ซาบีลียีน” พวกนี้มีถิ่นฐานอยู่ในแคว้นซาบิลิสตาน เดิมทีพวกเติร์กฮวนมีรากเหง้ามาจากเอเชียกลาง และอพยพสู่ภาคเหนือของอินเดีย จากที่นั่นพวกเติร์กก็แผ่ขยายดินแดนสู่ทิศตะวันตกเข้ารุกรานอิหร่าน และสังหารกษัตริย์ฟัยรูซแห่งอีหร่านลงได้ในสมรภูมิครั้งใหญ่ เมื่อปีค.ศ. 484 (ก่อนยุคอิสลาม) และกลายเป็นผู้มีอำนาจทางตะวันออกของอิหร่าน

 

ด้วยเหตุนี้ ดินแดนฮูรอนและกิรมานที่ถูกระบุไว้ในวจนะจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะพวกเติร์กเข้ามาเกี่ยวข้องกับอิหร่านเสียแล้วตั้งแต่บัดนั้น ส่วนชาวเติร์กหรือตุรกีที่เข้ารับอิสลามในภายหลัง และมีบทบาทสำคัญในการแผ่ขยายดินแดนอิสลามนั้น คงมิได้เข้าอยู่ในนัยยะของพระวจนะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเติร์กเซลจูกที่มาจากเตอร์คะเมน ซึ่งได้สถาปนาอาณาจักรอิสลามขึ้นเพื่อต่อกรกับโรมันไบแซนไทน์ ระหว่างศตวรรษที่ 11-13 หรือเติร์กอุษมานียะหฺ (ออตโตมาน) ซึ่งได้สถาปนาจักรวรรดิอิสลามอันเกรียงไกร และปกครองด้วยระบอบคิลาฟะห์ และสามารถยึดครองกรุงคอนแสตนติโนเปิ้ลได้ อันเป็นไปตามคำสัจจพยากรณ์เช่นกัน

 

ทั้งนี้ เพราะรูปร่างหน้าตา และผิวพรรณที่ผสมปนเปกับชาวอาหรับและเปอร์เชีย จนไม่เหลือเค้าเดิมตามที่ระบุไว้ในวจนะประการหนึ่ง และกลายเป็นมุสลิมที่ยืนหยัดต่ออิสลามอีกประการหนึ่ง จึงมิน่าจะเข้ามาอยู่ในนัยยะของวจนะ อย่างไรก็ตาม ชาวเติร์กในปัจจุบันซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเติร์กที่มีสายเลือดผสม และมีอำนาจในรัฐบาลแห่งอังการ่ายุคสาธารณรัฐ ก็อาจจะเป็นชาวเติร์กที่ชาวมุสลิมจะทำสงครามด้วยก็เป็นได้ ข้อนี้หมายถึงชาวเติร์กที่ทำลายล้างอิสลามเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงพี่น้องชาวมุสลิมตุรกีที่พยายามต่อสู้กับรัฐบาลโลกนิยมแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะรัฐบาลตุรกีในยุคปัจจุบันมักมีจิตใจฝักใฝ่พวกยิวและคริสเตียนอยู่ตลอด ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้มุสลิมตุรกีอาจะลุกฮือก่อสงครามกับรัฐบาลของตนก่อนวันโลกาวินาศก็เป็นได้

 

นอกจากนี้ในวจนะนี้ชาวตุรกี (เติร์ก) ที่กล่าวถึงอาจจะหมายถึงพวกมองโกลหรือตาตาร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยรุกรานดินแดนอิสลามและทำลายอาณาจักรอับบาสียะหฺ แห่งแบกแดด ข้อนี้ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน เพราะพวกมองโกลหรือตาตาร์เป็นชนป่าเถื่อนมีรูปพรรณสันฐานเหมือนดังวจนะ ส่วนกลุ่มชนมุสลิมที่จะต้องรบพุ่งกับพวกมองโกลหรือตาตาร์ก็แน่นอนต้องเป็นคนรุ่นหลังหลายร้อยปีนับจากศตวรรษแรกของฮิจเราะหฺศักราช (แบกแดดถูกมองโกลทำลายในปีฮ.ศ. 1258/ฮ.ศ. 656) และมิใช่กลุ่มชนรุ่นสาวกดังที่ท่าน อิบนุกะษีรฺกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม จะเป็นตุรกีหรือมองโกลหรือตาตาร์ คำพยากรณ์อันเป็นสัจจะนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และเท่าที่พิจารณาดูก็น่าจะเป็นพวกตุรกีในดินแดนหลังแม่น้ำมุรฆอบในอิหร่านและเอเชียกลางนั่นแหละ น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุด และที่สำคัญสงครามกับพวกตุรก์ (เติร์ก) ในสมัยท่านค่อลีฟะหฺอุสมาน (รฎ.) นอกจากจะเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างมุสลิมกับชนชาตินี้แล้ว ยังเป็นสงครามที่ตามมาด้วยการเข้ารับอิสลามของพวกตุรกี (เติร์ก) ในเวลาต่อมาอีกด้วย วัลลอฮุอะอ์ลัม

 

อนึ่ง เมืองคูซ ที่เรียกว่า หูรฺ ในวจนะ อาจหมายถึง แคว้นคูซิสตานอยู่ทางตะวันตกของอิหร่านก็เป็นได้