ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุส

พลเมืองมุสลิมในอัล-อันดะลุส รอเรือข้ามฟากไปยังฝั่งโมรอคโคเพื่อลี้ภัยสังคราม

1. การขัดแย้งภายในระหว่างผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)
ใน ปีฮ.ศ.755/คศ.1354 อัลฆอลิบ บิลลาฮฺ อบุลฮัจญ์ญาจฺ ได้ถูกชายสติฟั่นเฟือนลอบสังหารในระหว่างละหมาดอีด อัลฟิฏร์, อบุลฮัจฺญ์ญาจฺ นับเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงศ์อัลอะฮฺมัร พลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ ต่างก็เศร้าโศกต่อการเสียชีวิตของเขา

 

มุฮำหมัดที่ 5 ซึ่งมีฉายานามว่า อัลฆ่อนีย์ บิลลาฮฺ ได้ดำรงตำแหน่งสืบมา ครั้งถึงปีฮ.ศ.760 (5 ปีให้หลัง) อิสมาอีลที่ 2 บุตรของยูซุฟก็ร่วมมือกับมุฮำหมัดที่ 6 ผู้เป็นน้องเขย (ทั้งสองอยู่ในวงศ์อัลอะฮฺมัรเช่นกัน) ได้วางแผนยึดอำนาจและเข้ายึดครองปราสาทของฆอรนาเฏาะฮฺ มุฮำหมัดที่ 5 จึงหลบหนีไปยังเมืองวาดีย์ อ๊าชฺ (Guadix)

 

ครั้นถึงปีฮ.ศ.761 อิสมาอีลที่ 2 บุตรของยูซุฟก็ถูกลอบสังหารทำให้มุฮำหมัดที่ 6 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺอย่างเป็นทางการ หลังจากมุฮำหมัดที่ 6 ปกครองได้ 2 ปี (ฮ.ศ.763) มุฮำหมัดที่ 5 ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากซุลตอนแห่งมอรอคโคก็สามารถนำกำลังทหารเข้ายึดฆอร นาเฏาะฮฺกลับคืน มุฮำหมัดที่ 6 พร้อมกับทหารม้า 30 นายจึงหลบหนีไปพึ่งพวกคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) แต่บัฎเราะฮฺ (Pedro) กษัตริย์กิชตาละฮฺกลับสังหารมุฮำหมัดที่ 6 พร้อมกับทหารของเขาทั้งหมด และส่งศีรษะของบุคคลทั้งหมดมายังมุฮำหมัดที่ 5

 

สถานการณ์ในอาณาจักรคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile)
ใน ปีฮ.ศ.769/คศ.1368 เฮนรี่ที่ 2 (น้องชายของบัฏเราะฮฺ) ได้ก่อการกบฏแย่งชิงอำนาจในกิชตาละฮฺโดยฝรั่งเศสให้การสนับสนุนอยู่เบื้อง หลัง บัฏเราะฮฺ (Pedro) จึงหลบหนีไปยังโปรตุเกสโดยหวังว่ากษัตริย์โปรตุเกสจะให้ความช่วยเหลือแก่ตน แต่กษัตริย์โปรตุเกสปฏิเสธ บัฏเราะฮฺจึงลี้ภัยไปยังญะลีกียะฮฺ (Galicia) ซึ่งมีข้อพิพาทกับกิชตาละฮฺ แม่ทัพของญะลีกียะฮฺจึงสนับสนุนบัฏเราะฮฺด้วยกำลังทหารราว 1,200 คน

 

แต่ ทว่าบัฏเราะฮฺกลับทรยศต่อแม่ทัพญะลีกียะฮฺ (Galicia) และหลบหนีไปยังเกาะบิยองซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษและสามารถยึดครองเกาะดังกล่าวเอาไว้ในอำนาจของตน ต่อมาบัฏเราะฮฺก็ติดต่อขอความช่วยเหลือจากปรินซ์ เดอ กอล ซึ่งเป็นผู้ทรงอิทธิพลในยุโรปให้ส่งกำลังทหารมาสนับสนุนตนในการยึดอำนาจกลับคืน บัฏเราะฮฺกระทำการสำเร็จ เฮนรี่ที่ 2 จึงหลบหนีไปยังฝรั่งเศส ฝ่ายบัฏเราะฮฺ (Pedro) เมื่อกลับมามีอำนาจในกิชตาละฮฺ (Castile) อีกครั้งก็ปกครองอย่างโหดเหี้ยมเช่นเคย เขาได้สังหารบุคคลสำคัญในกิชตาละฮฺเป็นอันมาก และต้องการจะสังหารผู้ที่ตกเป็นเชลยทั้งหมดแต่ได้รับการทัดทานจากปรินซ์ เดอ กอล ซึ่งต่อมาได้เดินทางกลับสู่ยุโรป

 

ฝ่ายเฮนรี่ที่ 2 ซึ่งลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสก็ได้รับการสนับสนุนกำลังคนและทรัพย์สินจากกษัตริย์ฝรั่งเศส เฮนรี่ นำทัพเข้าปิดล้อมนครโคโดบาฮฺ ซึ่งอิบนุ อัลอะฮฺมัร (มุฮำหมัดที่ 5 ผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺก็ส่งกำลังเข้าสมทบกับเฮนรี่ที่ 2 พลเมืองกิชตาละฮฺก็พิพาทระหว่างกัน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนเฮนรี่ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนบัฏเราะฮฺ (Pedro) ในปีฮ.ศ.769 การรบพุ่งระหว่างสองฝ่ายก็เกิดขึ้นในสมรภูมิใกล้กับนครโคโดบาฮฺ บัฏเราะฮฺพ่ายแพ้และหลบหนีแต่ก็ถูกสังหารในที่สุด อำนาจจึงตกอยู่ในกำมือของเฮนรี่ที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว

 

ในปี ฮ.ศ.770/คศ.1369 กษัตริย์โปรตุเกสได้ประกาศว่า เฮนรี่ที่ 2 ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นกษัตริย์เหนือกิชตาละฮฺและพระองค์ (กษัตริย์โปรตุเกส) คือรัชทายาทที่ชอบธรรมในการปกครองกิชตาละฮฺ การรบพุ่งระหว่างอาณาจักรคริสเตียนทั้ง 2 จึงเกิดขึ้น ฝ่ายเฮนรี่ที่ 2 ได้รับชัยชนะและเกือบจะยึดครองโปรตุเกสได้ แต่ในภายหลังเฮนรี่ที่ 2 ก็กลับสู่อาณาจักรของตน

 

สถานการณ์ตามเส้นพรมแดนของฆอรนาเฏาะ ฮฺก็คงอยู่ในความสงบเรื่อยมาจนถึงปีฮ.ศ.793/คศ.1391 มีชายผู้หนึ่งชื่อซิโอ ซึ่งมีฉายานามว่า ซิโอนักพรต ได้อ้างว่าตนเป็นผู้เผยวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและบอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีผู้คนหลงเชื่อติดตามเขาเป็นจำนวนมาก ซิโอกล่าวว่า : ชาวคริสต์จะพิชิตฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) เหมือนอย่างที่เคยพิชิต บะลันซียะฮฺ (Valencia) มาก่อนแล้ว เจ้าเมืองกอนฏอเราะฮฺ (Consuegra) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของอัลอันดะลุสได้ตอบรับสิ่งที่ซิโอนักพรตได้กล่าว จึงได้ส่งคำขู่ไปยังพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺให้ยอมแพ้ แต่ชาวเมืองฆอรนาเฏาะฮฺไม่สนใจคำขู่นั้น

 

ซิโอนักพรตและเจ้า เมืองกอนฏอเราะฮฺ จึงได้นำกองกำลังจำนวน 5,000 คน มุ่งหน้าสู่ฆอรนาเฏาะฮฺ ทั้งๆ ที่เฮนรี่ได้ทัดทานพวกเขาเอาไว้เนื่องจากมีพันธสัญญาระหว่างตนกับฆอรนาเฏาะฮฺ ซิโอนักพรตยืนกรานที่จะนำกำลังของตนเข้าโจมตีฆอรนาเฏาะฮฺพร้อมกับอ้างว่า จะไม่มีคริสเตียนแม้เพียงคนเดียวถูกสังหารในสมรภูมิที่จะเกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ของตน เมื่อพวกคริสเตียนมาถึงกำแพงเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ พรรคพวกบางคนของซิโอนักพรตก็ถูกสังหาร

 

พวกคริสเตียนจึงกล่าวแก่ซิโอว่า ไฉนจึงไม่เป็นไปตามคำพยากรณ์ของท่าน แต่ซิโอก็แก้ต่างว่า ฉันไม่ได้พูดว่าจะไม่มีคริสเตียนคนใดถูกสังหารในขณะปิดล้อม สิ่งที่ฉันพยากรณ์คือในสมรภูมิต่างหาก พวกคริสเตียนจึงยังคงปิดล้อมต่อไป ฝ่ายทหารมุสลิมจึงได้เข้าโจมตีพวกคริสเตียนและสามารถสังหารกองกำลังของซิโอ เป็นจำนวนถึง 3,500 คนรวมถึงซิโอนักพรตด้วย พวกที่เหลือจึงพากันหลบหนี หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นกษัตริย์กิชตาละฮฺก็รื้อฟื้นสนธิสัญญาพักรบกับฆอรนาเฏาะฮฺอีกครั้ง

 

ต่อ มาอบุลฮัจญ์ญาจฺ ยูซุฟที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งสืบต่อจากมุฮำหมัดที่ 5 ก็สิ้นชีวิตลง มุฮำหมัดที่ 7 ก็สืบตำแหน่งผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺต่อมา ในปีฮ.ศ.797 มุฮำหมัดที่ 7 มิใช่บุตรคนโตของบิดาของตน ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้สั่งให้จับยูซุฟพี่ชายของตนซึ่งเป็นบุตรคนโตคุมขัง ในภายหลังก็มีหนังสือถึงผู้คุมห้องขังให้สังหารยูซูฟเสีย ในขณะที่หนังสือมาถึงนั้นผู้คุมกำลังเล่นหมากรุกอยู่กับยูซุฟ ซึ่งเมื่ออ่านข้อความในหนังสือแล้วก็มีสีหน้าถอดสี เมื่อยูซุฟเห็นอาการของผู้คุมก็ยื้อแย่งหนังสือนั้นมาอ่าน แล้วเขาก็บอกกับผู้คุมว่าให้เล่นหมากรุกจนจบเกมส์ ทั้งสองจึงยังคงเล่นหมากรุกก็ต่อไปแล้วก็มีข่าวมาถึงว่า มุฮำหมัดที่ 7 สิ้นชีวิตแล้ว ต่อมายูซุฟก็ออกจากที่คุมขังและขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺ ได้รับฉายานามว่า ยูซุฟที่ 3

 

ในปีฮ.ศ.815/คศ.1412 ยูฮันน่า (จอห์น) ที่ 2 ได้ครองราชย์ต่อจากกษัตริย์เฮนรี่ที่ 3 บิดาของตน แคธเธอรีน่า ภรรยาของยูฮันน่าที่ 2 ก็ยุยงให้พระสวามีของนางทำศึกกับฆอรนาเฏาะฮฺ กองทัพคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) จึงเข้าโจมตีเมืองอันนะกีเราะฮฺ, ยูซุฟที่ 3 จึงนำกองทัพของตนเข้าต่อสู้แต่ก็ต้องปราชัยและเสียเมืองอันนะกีเราะฮฺแก่พวก คริสเตียน สถานการณ์ของฝ่ายมุสลิมในฆอรนาเฏาะฮฺจึงย่ำแย่ลงไปอีก

 

ต่อมามุฮำหมัดที่ 8 อัลอัยซัรก็สืบตำแหน่งต่อจากยูซุฟที่ 3 ในรัชสมัยของมุฮำหมัดที่ 8 ได้เกิดความระส่ำระสายมาโดยตลอด หลังจากปกครองมาได้ราว 10 ปี มุฮำหมัดที่ 9 บุตรของมุฮำหมัดที่ 8 อัลอัยซัรก็ก่อการกบฏแย่งชิงอำนาจจากบิดาของตน ฝ่ายอัลอัยซัรได้หลบหนีไปยังตูนิเซียและได้รับการสนับสนุนกำลังพล 1,500 นายกลับมายังฆอรนาเฏาะฮฺ การรบพุ่งระหว่างพ่อกับลูกก็เกิดขึ้น จนกระทั่งปีฮ.ศ.835 อัลอัยซัรก็ได้รับชัยชนะเนื่องจากกองทหารของมุฮำหมัดที่ 9 ได้เข้าร่วมสมทบกับอัลอัยซัร ซึ่งกลับมาเป็นผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺอีกครั้ง

 

ทว่าไม่นานนัก ยูซุฟที่ 4 บุตรอัลเมาล์ก็ก่อการกบฏเพื่อแย่งชิงอำนาจจากอัลอัยซัร ฝ่ายกษัตริย์กิชตาละฮฺ (Castile) ก็ฉวยโอกาสจากความขัดแย้งในวงศ์อัลอะฮฺมัรนี้ด้วยการสนับสนุนยูซุฟที่ 4 โดยหวังสร้างความอ่อนแอให้แก่ฝ่ายมุสลิมมากขึ้น ยูซุฟที่ 4 ก็สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ และปลดอัลอัยซัร ออกจากอำนาจในปีฮ.ศ.835และ1 ปีให้หลัง (ฮ.ศ.836) ยูซุฟที่ 4 ก็สิ้นชีวิต มุฮำหมัดอัลอัยซัรจึงกลับสู่อำนาจเป็นครั้งที่ 3

 

จวบจนถึงปี ฮ.ศ.845 เกิดการรบพุ่งเพื่อแย่งชิงอำนาจในอาณาจักรคริสเตียน ทว่าอัลอัยซัรก็มิได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการฟื้นฟูกำลังของฝ่ายมุสลิมหรือตี ชิงเขตแดนที่ต้องสูญเสียแก่คริสเตียนกลับคืนมา ด้วยเหตุนี้บรรดาบุคคลสำคัญและเหล่าแม่ทัพนายกองจึงร่วมหารือกันและมีมติให้ปลดอัลอัยซัรออกจากอำนาจ และเชิญมุฮำหมัดที่ 10 (อัลอะอฺรอจญ์) ขึ้นสู่อำนาจ มุฮำหมัดที่ 10 ได้พยายามสร้างวีรกรรมเพื่อนำเอาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของฆอรนาเฏาะฮฺกลับคืนมา ในปีฮ.ศ.848-849 เขาได้ส่งกองทหารเข้าโจมตีเขตแดนของอาณาจักรคริสเตียนกิชตาละฮฺ แต่ก็ปราชัยไปเสียทุกครั้ง

 

ดังนั้นมุฮำหมัดที่ 10 (อัลอะอฺรอจญ์) จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งในต้นปีฮ.ศ.849 ยูซุฟที่ 5 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺ แต่ทว่าหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน อัลอะอฺรอจญ์ก็สามารถแย่งชิงอำนาจกลับคืนมาอีกครั้ง ในช่วงเวลานั้นชาวมุสลิมมีโอกาสอยู่หลายครั้งในการตีชิงหัวเมืองที่สูญเสียไปแก่พวกคริสเตียนกลับคืนเพราะพวกคริสเตียนกำลังรบพุ่งกันเอง แต่ทว่ากลับไม่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย เพราะในฝ่ายมุสลิมก็มีการพิพาทภายในระหว่างกันเอง

 

บรรดากษัตริย์มุสลิมแห่งฆอรนาเฏาะฮฺในช่วงเวลานั้นก็มีอำนาจแต่เพียงในนามและแย่งชิงอำนาจกันโดยตลอดทั้งๆ ที่มีศึกและภัยคุกคามมาประชิดเมืองถึง 3 ด้านคือ อาณาจักรกิชตาละฮฺ, อรากอนและโปรตุเกส บรรดามุสลิมที่ตกค้างอยู่ในอาณาจักรคริสเตียนเหล่านี้ก็ต้องทนทุกข์กับความ อยุติธรรมจากฝ่ายคริสเตียนอยู่โดยตลอด มีการใช้มาตรการกดขี่อย่างอยุติธรรมต่อชาวมุสลิม เป็นต้นว่า

 

  1. อนุญาตให้ชาวคริสเตียนคนใดก็ตามสั่งสอนชาวมุสลิมด้วยการใช้แส้เฆี่ยนตี จะมีเหตุอันควรหรือไม่ก็ตาม และไม่ต้องถามว่าทำไม?
  2. มุสลิมคนใดก็ตามย่อมไม่มีสิทธิในการเข้าสู่ภายในบ้านของชาวคริสเตียนในทุกกรณี ยกเว้นหมอ ทั้งนี้เพราะหมอในสมัยนั้นล้วนแต่เป็นชาวมุสลิมทั้งสิ้น
  3. มุสลิมจะต้องเสียค่าปรับทันทีเมื่อใช้ที่พักหรือทำงานร่วมกับชาวคริสเตียนและมุสลิมต้องอาศัยอยู่ในเขตเฉพาะมุสลิมเท่านั้น
  4. ยกเลิกระบบศาลที่เคยชำระคดีความระหว่างมุสลิมด้วยกัน และให้ใช้ศาลของคริสตจักรแทนในการชำระคดีความ
  5. หากมุสลิมคนใดถูกจับได้ในระหว่างเส้นทางอพยพสู่ฆอรนาเฏาะฮฺ หรือเมืองอื่น มุสลิมผู้นั้นจะกลายเป็นทาสที่ถูกซื้อขายและสิ้นอิสรภาพ
  6. หนี้สินที่ชาวคริสเตียนจำต้องชดใช้แก่มุสลิมเป็นอันยกเลิกโดยไม่มีข้อยกเว้น
  7. มุสลิมไม่มีสิทธิขัดขวางบุตรหลานของตนเมื่อเข้ารีตในศาสนาคริสต์และจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงหากมีการขัดขวาง
  8. มุสลิมทุกคนที่เปล่งวาจาด้วยคำปฏิญาณ 2 ประโยคโดยส่งเสียงดังหรือกล่าวต่อหน้าผู้คนจะถูกสังหาร
  9. มุสลิมต้องพูดหรือใช้ภาษาอัลคิมยาโด ซึ่งเป็นภาษาสเปนที่เขียนด้วยตัวอักษรอาหรับในการสื่อสาร และห้ามพูดภาษาอาหรับ
  10. ไม่เรียกชาวมุสลิมว่ามุสลิมแต่ให้เรียกว่า อัลมุดัจฺญะนูน (Los Mudejares) เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้ดังกล่าว บรรดานักวิชาการศาสนาซึ่งอยู่ร่วมสมัยดังกล่าว จึงได้มีคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ให้ชาวมุสลิมจำต้องอพยพไปยังดินแดนของชาวมุสลิม เนื่องจากตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจและพิธีกรรมทางศาสนาได้ ส่วนหนึ่งของนักวิชาการมุสลิมที่วินิจฉัยเรื่องนี้คือ ท่านอบุล อับบาส อะฮฺหมัด อิบนุ ยะฮฺยา อิบนิ มุฮำหมัด อัตติลมีซานีย์ ในตำราที่ชื่อ อัซนา อัลมะตาญิร ทั้งๆ ที่ชาวมุสลิมที่ตกค้างอยู่ในดินแดนที่ถูกคริสเตียนยึดครองจะถูกบังคับกดขี่ทางศาสนาอย่างหนักก็ปรากฏว่าฆอรนาเฏาะฮฺเองก็ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาเลยแต่อย่างใดและสาเหตุที่ทำให้ชาวคริสเตียนไม่ยอมขับไล่ชาวมุสลิมที่ตกค้างอยู่ออกจากเขตแดนของพวกเขา

 

อาจจะเป็นเพราะว่า พวกคริสเตียนต้องการใช้ประโยชน์จากความชำนาญการและประสบการณ์ของชาวมุสลิมในด้านเศรษฐกิจ, การค้า, การเพาะปลูก, การสร้างอาคารบ้านเรือน และการหัตถกรรม และเมื่อใดที่ฝ่ายทางการของคริสเตียนต้องการขับไล่ชาวมุสลิม พวกคริสเตียนที่ได้รับประโยชน์จากชาวมุสลิมในเรื่องดังกล่าวก็จะพากันคัดค้าน ซึ่งการคัดค้านดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพราะรักชอบชาวมุสลิมแต่เพื่อต้องการ รักษาผลประโยชน์ของพวกเสียมากกว่า

 

2. อาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) เกิดความแตกแยก
ใน ปีฮ.ศ.863/คศ.1459 อัลอะอฺรอจญ์ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺ และสะอฺด์ อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ ยูซุฟที่ 2 ก็ยึดอำนาจในการปกครองต่อมาราว 4 ปี

 

ต่อมาในปีฮ.ศ.867/คศ.1463 พวกคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) ก็ยกทัพเข้าโจมตีและยึดครองเมืองญะบัลตอริก (Gibralta) ซึ่งถือเป็นที่มั่นสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอัลอันดะลุส เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอัลอันดะลุสและมอรอคโคก็ถูกตัดขาด ความช่วยเหลือจากฝั่งมอรอคโคก็กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ฆอรนาเฏาะฮฺจึงถูกคุกคามจากอาณาจักรคริสเตียนโดยตรง

 

และในปี ฮ.ศ.867 นี้เอง ยูซุฟที่ 5 ก็ก่อการกบฏยึดอำนาจจากสะอฺด์ อิบนุ มุฮำหมัด แต่หนึ่งปีให้หลัง (ฮ.ศ.868) สะอฺด์ อิบนุ มุฮำหมัดก็สามารถยึดอำนาจในฆอรนาเฏาะฮฺกลับคืน นี่คือสภาพอันน่าสังเวชใจที่เกิดขึ้นในราชสำนักของฆอรนาเฏาะฮฺอาณาจักรสุดท้ายของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุส การแก่งแย่งอำนาจยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้านว่าจุดจบของอาณาจักร เล็กๆ แห่งนี้จะเป็นเช่นไร

 

กระนั้นอายุขัยของฆอรนาเฏาะฮฺก็ยังคงไม่ขาดสะบั้นลงทั้งๆ ที่จวนเจียนอยู่รอมร่อ ทั้งนี้เพราะเกิดความยุ่งยากในราชสำนักของพวกคริสเตียนเช่นกัน ในปีฮ.ศ.868/คศ.1464 อัลฟองซัวได้ก่อการกบฏต่อเฮนรี่ที่ 4 (ทั้งสองเป็นโอรสของยูฮันน่าที่ 2) และเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างไพร่พลของ 2 ฝ่าย แต่ทว่า อัลฟองซัวได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา บรรดาผู้ให้การสนับสนุนอัลฟองซัว จึงหันมาสนับสนุน อิซาเบลล่า (Isabella) ผู้เป็นขนิษฐาของอัลฟองซัว และขอให้พระนางนำพวกกบฏต่อสู้กับกองทัพของเฮนรี่ที่ 4 ผู้เป็นพระเชษฐาของพระนางเช่นกัน อิซาเบลล่า ปฏิเสธที่จะกบฏต่อเฮนรี่ที่ 4 แต่ได้ทำความตกลงระหว่างกันว่า ให้พระนางเป็นรัชทายาทสืบต่อจากเฮนรี่ที่ 4 เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ความวุ่นวายในอาณาจักร คริสเตียนก็สงบลง

 

ในปีฮ.ศ.869/คศ.1465 อาณาจักรบะนู มะรีนในมอรอคโคและบางส่วนของแอฟริกาเหนือก็สิ้นสุดลงด้วยการแผ่ขยายอำนาจของ พวกวัฏฏอซฺ ซึ่งเป็นเชื้อสายของพวกบะนู มะรีนเอง พวกวัฏฏอซได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองอัรรีฟทางตะวันออกของมอรอคโคและมี อำนาจต่อมาระหว่างปีฮ.ศ.877-957/คศ.1472-1550 มีอบูซะกะรียา มุฮำหมัด อัชชัยค์เป็นกษัตริย์องค์แรก และในปีคศ.1472 พวกวัฏฏอซก็สามารถยึดครองนครฟ๊าสได้สำเร็จ เมื่อพวกวัฏฏอซสถาปนาอำนาจขึ้นในมอรอคโคนั้นพวกเขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อ อัลอันดะลุสเหมือนอย่างพวกบะนู มะรีนอีกต่อไป

 

ครั้นถึงปีฮ.ศ.874/คศ.1470 รัชทายาทแห่งอาณาจักรอรากอน เฟอร์ดินานที่ 5 (Fernando V) ก็ได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับรัชทายาทของอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) คือพระนางอิซาเบลล่า (Isabella) ผู้มีศักดิ์เป็นธิดาของลุงของเฟอร์ดินานด์เอง การอภิเษกสมรสนี้นับเป็นการรวมอาณาจักรคริสเตียนทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างเป็นปึกแผ่น ต่อมาอีก 5 ปี (ฮ.ศ.879) กษัตริย์เฮนรี่ที่ 4 ก็สิ้นพระชนม์ พระนางอิซาเบลล่าก็เสด็จขึ้นเป็นกษัตริยาแห่งอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile)

กษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 5 และพระราชินีอิซาเบล่า แห่งสเปน

และต่อมาอีก 10 ปี (ฮ.ศ.884) กษัตริย์ยูฮันน่าที่ 2 ก็ทรงสละราชสมบัติให้แก่เฟอร์ดินานดฺ ราชโอรสของพระองค์ เฟอร์ดินานด์ที่ 5 จึงได้ขึ้นครองราชย์เหนืออาณาจักร อรากอน (Aragon) ในภายหลังก็มีประกาศรวมอาณาจักรกิชตาละฮฺ และอรากอนเข้าเป็นหนึ่งเดียวอย่างเป็นทางการ อัลอันดะลุสในเวลานั้นจึงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

1)  อาณาจักรสเปน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของอาณาจักรกิชตาละฮฺ และอรากอน กินอาณาบริเวณส่วนใหญ่ของอัลอันดะลุส

2)  อาณาจักรโปรตุเกส กินอาณาบริเวณทิศตะวันตกส่วนใหญ่ของอัลอันดะลุส

3)  อาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของอัลอันดะลุสและมีอาณาเขตเพียงหนึ่งในสิบของอัลอันดะลุสเท่านั้น

 

ในปีฮ.ศ.887/คศ.1482 กษัตริย์เฟอร์ดินานด์และพระราชินีอิซาเบลล่าก็ได้ร่วมกันส่งกองทัพคริสเตียนเข้าโจมตีเมืองอัลฮามะฮฺ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันตกเฉียงใต้ของฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ชาวเมืองได้ต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างสุดความสามารถแต่ในที่สุดก็ถูกตีแตกมี การเข่นฆ่าสังหารพลเมืองผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก

 

ต่อมากองทัพคริสเตียนของสเปนก็เคลื่อนกำลังพลเข้าปิดล้อม ป้อมปราการลูชะฮฺ (Loja) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองอัลฮามะฮฺและอยู่ทางทิศตะวันตกของฆอรนาเฏาะฮฺในป้อมปราการแห่งนี้มีกองทหารประจำการภายใต้การบัญชาของชัยค์ อะลี อัลอัฏฏอรตั้งมั่นอยู่ กองทหารมุสลิมได้ต่อสู้ป้องกันป้อมปราการอย่างเข้มแข็ง อัลอัฏฏอรผู้บัญชาการกองทหารมุสลิมนั้นก็มีอายุได้ 80 ปีแล้วและสามารถต้านทานการโจมตีของพวกคริสเตียนได้จนต้องล่าถอยไป ป้อมปราการลูชะฮฺ (Loja) และฆอรนาเฏาะฮฺจึงรอดพ้นไปได้ช่วงเวลาหนึ่ง

 

ในปีเดียวกันนั้น (ฮ.ศ.887) อัลฮะซัน อะลี เจ้าผู้ครองนครฆอรนาเฏาะฮฺก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และมุฮำหมัดที่ 11 ผู้เป็นบุตรชายก็ขึ้นครองอำนาจ มุฮำหมัดที่ 11 เป็นที่รู้จักกันในนาม อบูอับดิลลาฮฺ อัซซ่อฆีร มีฉายาว่า อัลฆอลิบ บิลลาฮฺและคำขวัญประจำราชวงศ์อัลอะฮฺมัร ในฆอรนาเฏาะฮฺก็คือ “ลาฆอลิบ้า อิลลัลลอฮฺ” (ไม่มีผู้พิชิตนอกจากพระองค์อัลลอฮฺ) ถ้อยความนี้ถูกสลักเอาไว้ในปราสาทอัลฮัมรออฺ (Alhambra) ในฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) และยังคงปรากฏอยู่ตราบทุกวันนี้ อบูอับดิลลาฮฺ (Boabdil) ได้ครองอำนาจในปีฮ.ศ.887/คศ.1482 และการสิ้นสุดของฆอรนาเฏาะฮฺก็เริ่มต้น !

 

ในช่วงแรกของการขึ้นครองอำนาจ อบูอับดิลลาฮฺ นั้นเขาได้นำกองทัพเข้าทำศึกกับพวกคริสเตียนที่ป้อมปราการอัลลัซซานะฮฺ (Lucena) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครโคโดบาฮฺ และได้รับชัยชนะในการรบพุ่งบางสมรภูมิ แต่ในที่สุดก็ถูกกองทัพสเปนจับตัวเป็นเชลยศึก ในปีฮ.ศ.888/คศ.1483 ฆอรนาเฏาะฮฺจึงขาดกษัตริย์ปกครองมุฮำหมัด อิบนุ สะอฺด์ อัซฺซะฆอลฺ ลุงของอบูอับดิลลาฮฺจึงปกครองฆอรนาเฏาะฮฺแทน

 

ฝ่ายคริสเตียนได้เจรจากับอบู อับดิลลาฮฺ (Boabdil, Bodilla) กษัตริย์ฆอรนาเฏาะฮฺผู้ตกเป็นเชลยว่าจะยอมรับอำนาจของคริสเตียนหรือไม่? เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการปล่อยตัว อบูอับดิลลาฮฺ ยอมตกลงตามเงื่อนไขทุกประการและยอมคำนับพร้อมจุมพิตพระหัตถ์ของกษัตริย์ เฟอร์ดินานด์

 

เมื่อพวกคริสเตียนได้ปล่อยตัวอบูอับดิลลาฮฺและช่วยเหลือให้เข้าไปถึงฆอรนา เฏาะฮฺแล้ว อัซฺซะฆอลฺ ลุงของอบูอับดิลลาฮฺก็ไม่ยินยอมให้อบูอับดิลลาฮฺกลับมาเป็นกษัตริย์แห่งฆอร นาเฏาะฮฺอีก จึงได้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างบุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกคริสเตียนรอคอยให้เกิดขึ้นในปีฮ.ศ.891 กองทัพคริสเตียนก็มุ่งหน้าสู่ป้อมปราการลูชะฮฺ (Loja) อีกครั้งในครั้งนี้พวกคริสเตียนสเปนได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษในการส่งทหารเข้าร่วมสมทบซึ่งมีจำนวนถึง 12,000 คนเป็นทหารม้าและทหารราบอีก 40,000 คน

 

ชาวเมืองลูชะฮฺได้ออกมาต่อสู้กับกองทัพคริสเตียนภายใต้การนำของอัลอัฏฏอร แต่ชาวมุสลิมก็ต้องประหลาดใจกับยุทธวิธีแบบใหม่ในการรบของพวกอังกฤษซึ่งใช้ ขวานในการทำศึก แทนที่จะใช้ดาบ,หอก,ธนู และโล่เหมือนทุกครั้ง ชัยค์ อะลี อัลอัฏฏอร ถูกขวานของพวกทหารอังกฤษฟาดฟันจนได้รับชะฮีด ทำให้ชาวเมืองจำต้องเจรจาขอยอมแพ้แก่พวกคริสเตียนโดยมีเงื่อนไขว่าให้ชาว เมืองอพยพออกจากเมืองโดยปลอดภัย

 

ในปีฮ.ศ.892/คศ.1487 อบูอับดิลลาฮฺ ก็เดินทางมุ่งหน้าสู่ฆอรนาเฏาะฮฺเพื่อสู้รบกับลุงของตนที่ยึดอำนาจ พวกคริสเตียนจึงเร่งส่งกองทัพสู่ฆอรนาเฏาะฮฺ เมื่อข่าวการโจมตีของคริสเตียนมาถึงบรรดาบุคคลสำคัญในฆอรนาเฏาะฮฺจึงได้ พยายามไกล่เกลี่ยระหว่างบุคคลทั้ง 2 ซึ่งในที่สุดก็ตกลงกันแบ่งฆอรนาเฏาะฮฺออกเป็น 2 ส่วน

 

ส่วนที่หนึ่งมีฆอรนาเฏาะฮฺเป็นเมืองหลวง ส่วนที่ 2 มีเมืองบัสเฏาะฮฺ (Baza) เป็นเมืองหลวง สถานการณ์ของอาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ในเวลานั้นสวนทางกลับสถานการณ์ของอาณาจักรคริสเตียนโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ฝ่ายคริสเตียนมีความเป็นปึกแผ่นภายใต้การปกครองของเฟอร์ดินานด์และพระนาง อิซาเบลล่า ในระหว่างที่ฆอรนาเฏาะฮฺแตกออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน

 

กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 5 จึงอาศัยโอกาสดังกล่าวหวนกลับมาทำสงครามกับฆอรนาเฏาะฮฺทั้ง 2 ส่วน ในปีฮ.ศ.892/คศ.1487 กองทัพคริสเตียนที่ประกอบไปด้วยอัศวินคริสเตียน 25,000 นาย และทหารราบ 50,000 คนก็รุกคืบหน้าสู่ป้อมปราการแห่งเมืองบะลัช ซึ่งขึ้นกับส่วนที่อัซฺซะฆอลปกครอง กองทัพมุสลิมสามารถโจมตีกองทัพคริสเตียนที่กำลังเคลื่อนกำลังพลมุ่งหน้าสู่เมืองบะลัช และยึดครองกองลำเลียงอาวุธของคริสเตียนได้แต่เฟอร์ดินานด์ก็ยังคงรุกคืบหน้าต่อไป

 

เมื่ออัซฺซะฆอลเห็นเช่นนั้นจึงได้นำทัพม้า 1,000 คนพร้อมด้วยทหารราบจำนวน 20,000 คน ออกเดินทางในเวลากลางคืนเพื่อเร่งรุดเข้าป้องกัน ป้อมปราการของเมืองบะลัชโดยทิ้งกองทหารประจำการส่วนหนึ่งเอาไว้ในฆอรนาเฏาะฮฺ (ส่วนที่เขาปกครอง) และอัซฺซะฆอล ก็มีหนังสือถึงแม่ทัพในป้อมบะลัชเพื่อนัดหมายให้เข้าโจมตีกองทัพคริสเตียน แต่ทว่าหนังสือฉบับนั้นกลับตกอยู่ในกำมือของเฟอร์ดินานด์ซึ่งสั่งให้กองทัพ ของตนเตรียมพร้อม

 

เมื่อถึงกำหนดเวลา อัซฺซะฆอลก็นำทหารของตนเข้าโจมตีกองทัพคริสเตียน โดยที่ทหารในบะลัชไม่ได้ร่วมโจมตีด้วย ทำให้กองทัพของอัซฺซะฆอลต้องปราชัยและล่าถอยไปยังเขตวาดีย์ อาชฺ (Guadix) เมื่อข่าวปราชัยของกองทัพอัซฺซะฆอลไปถึงพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ อบูอับดิลลาฮฺจึงได้เข้ายึดครองฆอรนาเฏาะฮฺในส่วนที่เหลือและเริ่มจัดการกับ บรรดาผู้ให้การสนับสนุนอัซฺซะฆอลลุงของตน ในที่สุดกองทัพคริสเตียนจึงสามารถยึดครองป้อมและเมืองบะลัชเอาไว้ได้ในกำมือ ของเฟอร์ดินานด์ มุสลิมจึงเหลือดินแดนเพียงเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ, มาลิเกาะฮฺและบัสเฏาะฮฺ เท่านั้น!

 

ต่อมากษัตริย์เฟอร์ดินานด์ก็นำทัพเข้าปิดล้อมเมืองมาลิเกาะฮฺ (Malaga) ทางตอนใต้สุดของอัลอันดะลุส ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปีฮ.ศ.893 ในที่สุดชาวเมืองมาลิเกาะฮฺก็ยอมจำนนหลังจากทำการต่อสู้ป้องกันเมืองอย่าง เข้มแข็งภายใต้การนำของอะลี ดัรดูก ซึ่งเป็นทั้งนายทหารและพ่อค้าใหญ่ในเมืองมาลิเกาะฮฺ แต่ทว่าก่อนที่จะส่งมอบเมืองนั้น มีทหารมุสลิมผู้หนึ่งนามว่า ฮามิด อัซฺซุฆฺบีย์ ไม่ยอมจำนนต่อพวกคริสเตียนและเรียกร้องให้ทหารและชาวเมืองทำการต่อสู้ต่อไป มีบรรดาอัศวินมุสลิมให้การตอบรับเขาเป็นจำนวนมากพร้อมกับชาวเมือง และเตรียมการสำหรับต่อสู้ป้องกันเมือง

 

พวกที่เจรจาจะยอมส่งมอบเมืองแก่คริสเตียนจึงส่งพ่อค้าคนหนึ่งไปเกลี้ยกล่อม ฮามิดและพวกที่คิดจะต่อสู้โดยให้ยอมจำนนเพื่อแลกกับเงินจำนวน 4,000 ดีนารฺ ฮามิด อัซฺซุฆฺบีย์จึงกล่าวว่า “แท้จริง ฉันรับมอบเมืองนี้มาเพื่อปกป้องรักษามันเอาไว้ หาใช่เพื่อส่งมอบมันให้กับผู้ใดไม่” ในที่สุดทั้งหมดก็เห็นด้วยกับฮามิดที่จะต่อสู้ป้องกันเมืองต่อไป ฝ่ายศัตรูได้เริ่มยิงกระสุนเพลิงเข้าใส่ตัวเมือง กระสุนเพลิงที่ชาวอาหรับเรียกกันว่า อัลอันฟาฏ นั้นคือลูกหินที่ชุบน้ำมันดิบและติดไฟ เมื่อยิงออกจากเครื่องดีดลูกหินก็จะทำลายบ้านเรือนและเผาผลาญทุกสิ่งแม้ กระทั่งผู้คน

 

พวกคริสเตียนมิใช่พวกแรกที่คิดกระสุนเพลิงเพราะมีรายงานว่าชาวมุสลิมเองก็เคยใช้กระสุนเพลิงมาก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น ในครั้งสมรภูมิเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปืนใหญ่ในเวลาต่อมา พวกคริสเตียนได้โจมตีเชิงเทินและหอรบของเมือง มาลิเกาะฮฺ (Malaga) อย่างหนักหน่วง จนสามารถยึดเชิงเทินและหอรบได้หลายแห่ง ฝ่ายมุสลิมก็ขุดรากฐานของเชิงเทินและหอรบพร้อมกับสุมกองเพลิงที่รากฐานนั้น จนทรุดลงมา บรรดาผู้นำของฆอรนาเฏาะฮฺก็ส่งคนมาบอกให้ฮามิดและชาวเมืองยอมแพ้เสีย แต่ฮามิดปฏิเสธและยืนกรานที่จะต่อสู้ป้องกันเมืองต่อไป

 

ฝ่ายพวกพ่อค้าก็ส่งคนไปยังเฟอร์ดินานด์เพื่อขอคำยืนยันว่าชาวเมืองจะได้รับความปลอดภัยหากยอมส่งมอบเมืองนี้แก่เฟอร์ดินานด์ ฝ่ายผู้ต่อสู้จึงไม่ยอมให้ตัวแทนดังกล่าวกลับเข้าสู่ตัวเมือง และอัซฺซะฆอลก็ส่งคนมาแจ้งแก่ชาวเมืองมาลิเกาะฮฺว่า ตนจะนำทัพหนุนมาช่วยเหลือ แต่ปรากฏว่าอบูอับดิลลาฮฺกลับวิตกว่าหากมาลิเกาะฮฺได้รับชัยชนะในการป้องกันเมืองก็จะทำให้อัซฺซะฆอลเป็นฝ่ายได้ เปรียบและหันมาคุกคามต่ออำนาจของตน อบูอับดิลลาฮฺ จึงส่งกองทัพของตนไปขัดขวางทัพหนุนของอัซฺซะฆอลไม่ให้มาถึงมาลิเกาะฮฺ การรบพุ่งระหว่างชาวมุสลิมในยามน่าสิ่วน่าขวานจึงเกิดขึ้น

 

การกระทำของอบูอับดิลลาฮฺช่างเป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งนัก ในที่สุดอบูอับดิลลาฮฺก็กระทำการได้สำเร็จตามแผนการของตน กล่าวคือ เขาสามารถเอาชนะกองทัพหนุนของอัซฺซะฆอลและส่งคนไปแจ้งข่าวดีแก่เฟอร์ดินานด์ เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปก็ทำให้ผู้คนตีตนออกห่างจากอบูอับดิลลาฮฺ ดังนั้นกษัตริย์เฟอร์ดินานด์และพระนางอิซาเบลล่าจึงส่งทหารคริสเตียนจำนวน 1,000 คนเพื่อไปคอยอารักษาความปลอดภัยให้แก่อบูอับดิลลาฮฺไม่ให้ผู้คนที่โกรธแค้น ลอบทำร้ายเขา

 

ณ จุดนี้ได้มีนักวิชาการศาสนาท่านหนึ่งในเมืองอาช (Guadix) ชื่อว่า อิบรอฮีม อัซซานโตพร้อมกับกำลังคนจำนวน 400 คนได้เร่งรุดเพื่อเข้าช่วยเหลือพลเมืองมาลิเกาะฮฺและสามารถบุกฝ่าวงล้อมของ พวกคริสเตียนได้สำเร็จ กำลังคนจำนวน 200 คนที่มาช่วยเหลือก็ได้เข้าสู่กำแพงเมือง เมื่อพวกคริสเตียนโถมกำลังเข้าโจมตี อิบรอฮีม อัซซานโตก็แสร้งทำอุบายเป็นทีว่าก้มลงสุหญูดจนถูกทหารคริสเตียนจับเป็นเชลย และนำตัวมาพบแม่ทัพของพวกตน

 

แม่ทัพของกิชตาละฮฺจึงให้สอบถามถึงเรื่องราวของอิบรอฮีม อิบรอฮีมก็ตอบว่า ตนเป็นคนของพระผู้เป็นเจ้าและมีความลับบางอย่างที่ต้องการแจ้งให้กษัตริย์ ทรงทราบ ทั้งนี้เพราะอิบรอฮีมเข้าใจว่าแม่ทัพผู้นั้นเป็นกษัตริย์ เมื่อพวกทหารนำตัวอิบรอฮีมเข้าไปใกล้แม่ทัพอิบรอฮีมก็จู่โจมแม่ทัพผู้นั้นด้วยกริชที่ซ่อนเอาไว้ และสามารถปลิดชีพแม่ทัพผู้นั้น ต่อมาก็จู่โจมเข้าหาภรรยาของแม่ทัพเพราะเข้าใจว่าเป็นพระนางอิซาเบลล่า พวกทหารองครักษ์จึงรุมสังหารอิบรอฮีมจนสิ้นใจและโยนศพของเขาให้กับฝ่ายมุสลิม ชาวมุสลิมจึงได้นำศพของอิบรอฮีมไปฝัง

 

พวกคริสเตียนได้โจมตีกดดันหนักหน่วงยิ่งขึ้น มีการเผาทำลายสะพานเพื่อตัดเส้นทางสำคัญของเมืองและใช้ปืนไฟที่พวกทหารคริสเตียนใช้นั้นก็เอามาจากชาวมุสลิม! ทหารคริสเตียนบางส่วนก็สามารถรุกเข้าสู่ตัวเมือง แต่ก็ต้องล่าถอยออกไปเนื่องจากถูกชาวมุสลิมต่อสู้ขัดขวางเอาไว้อย่างกล้าหาญ ฮามิด อัซฺซัฆฺบีย์ จึงได้นำกำลังทหารที่มีอยู่เข้าไล่บดขยี้พวกทหารคริสเตียน แต่ในที่สุดฮามิด ก็ถูกกระสุนเพลิงเข้าอย่างจังจนธงศึกในมือของเขาร่วงลง แต่ฮามิดก็ยังรอดตายได้อย่างหวุดหวิด พวกทหารคริสเตียนจึงย้อนกลับมาโจมตีอย่างหนักอีกครั้ง จนชาวเมืองมาลิเกาะฮฺต้องร้องขอให้ฝ่ายคริสเตียนยอมรับเงื่อนไขในความปลอดภัยของชาวเมือง หากมาลิเกาะฮฺยอมจำนน

 

แต่เฟอร์ดินานด์ยืนกรานให้ยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งหมายความว่าชาวเมืองทั้งหมดต้องถูกสังหารชาวเมืองมาลิเกาะฮฺจึงส่งคนไป เจรจากับกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ว่าในเมืองมีเชลยศึกจำนวน 1,500 คน หากเฟอร์ดินานด์ไม่ยอมรับเงื่อนไขก็จะสังหารเชลยศึกทั้งหมดบนเชิงเทินและจะเผาเมืองให้เป็นจุล หลังจากนั้นก็จะยอมสู้ตาย เฟอร์ดินานด์จึงยอมรับข้อเสนอดังกล่าวว่าจะให้การรับรองความปลอดภัยแก่ชาวเมือง

 

แต่ทว่าฮามิด อัซฺซัฆฺบีย์ซึ่งรอดตายจากกระสุนเพลิงยังคงยึดเอาหอประภาคารเป็นที่มั่น พร้อมกับทหารของตนโดยไม่ยอมแพ้ แต่แล้วพวกทหารเหล่านั้นก็ทอดทิ้งฮามิดเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว พวกทหารกิชตาละฮฺได้ทุ่มกำลังเข้าโจมตีหอประภาคารและจับฮามิดเป็นเชลยพร้อม กับนำตัวเขาไปพบกับกษัตริย์เฟอร์ดินานด์และตกเป็นทาสรับใช้ของพระองค์ เมืองมาลิเกาะฮฺที่ต่อสู้อย่างห้าวหาญก็ตกอยู่ในกำมือของกองทัพคริสเตียน ซึ่งเมื่อพวกคริสเตียนยึดครองเมืองนี้ได้ก็เที่ยวไล่จับสตรีและเด็กเป็นเชลย ปล้นสะดมทรัพย์สิน และจับชาวเมืองทั้งหมดเป็นทาสโดยไม่สนใจต่อสัญญาที่ให้เอาไว้กับชาวมุสลิม ก่อนยอมจำนนเลยแม้แต่น้อย ต่อมาปลายปีฮ.ศ.894 เมืองหน้าด่านอัลมะนักกับและอัลมะรียะฮฺ ก็ตกอยู่ในกำมือของพวกคริสเตียน อัซฺซะฆอลจึงเหลือเมืองบัสเฏาะฮฺ (Baza) อยู่ในอำนาจของตนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

 

ลุสู่ปีฮ.ศ.895/คศ.1490 กษัตริย์และพระราชินีคริสเตียนแห่งสเปนได้นำทัพใหญ่อันประกอบด้วยทหารม้า 13,000 นายและทหารราบ 40,000 คน มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) หมายเข้าตีเมืองบัสเฏาะฮฺ (Baza) อัซฺซะฆอลได้ตัดสินใจละทิ้งเมืองหลังจากได้เตรียมลู่ทางสำหรับการป้องกัน เมืองเอาไว้แล้ว เนื่องจากเกรงว่าจะตกเป็นเชลยหากปราชัยแก่กองทัพคริสเตียน พลเมืองบัสเฏาะฮฺ และทหารจึงได้ร่วมกันต่อสู้ป้องกันเมือง

 

แต่ทว่าการปิดล้อมเป็นไปอย่างยาวนาน กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ได้มีบัญชาให้ทหารของพระองค์วางเพลิงเรือกสวนไร่นา ผู้คนในเมืองก็พากันออกมาดับไฟ ความระส่ำระสายและการรบพุ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยที่ฝ่ายมุสลิมขาดผู้นำ และแม่ทัพในการต่อสู้กับข้าศึก การปิดล้อมกินระยะเวลา 4 เดือนก็ยอมจำนนต่อกองทัพคริสเตียนหลังจากต่อสู้และรบพุ่งป้องกันเมืองอย่าง ทรหด ทหารคริสเตียนถูกสังหาร 3,000 คน และล้มตายจากโรคระบาดในขณะปิดล้อมเมืองอีกราว 17,000 คน

 

เมื่อเมืองบัสเฏาะฮฺ (Baza) ยอมจำนนแล้ว บรรดาแม่ทัพมุสลิมที่ประจำการอยู่ตามป้อมปราการที่ขึ้นกับเมืองบัสเฏาะฮฺ ก็ยอมส่งมอบป้อมปราการของตนแก่กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ แม่ทัพนายกองแต่ละคนจะได้รับทรัพย์สินและของกำนัลตลอดจนชุดที่กษัตริย์ทรง มอบให้เป็นของพระราชทาน ในบรรดาแม่ทัพนายกองมุสลิมนั้นมีนายทหารมุสลิมคนหนึ่งนามว่า อะลี อิบนุ อัลฟัคค๊อร ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์เฟอร์ดินานด์และพระราชินีอิซาเบลล่า เขามีจมูกโด่ง มีความสุขุมคัมภีรภาพ และตอบโต้กับกษัตริย์ทั้งสองพระองค์เยี่ยงชายชาติทหารว่า : ข้าพระองค์เป็นชาวมุสลิม เป็นแม่ทัพประจำป้อมปราการฎอบัรนะฮฺและบะรอชนะฮฺข้าพระองค์ได้รับมอบป้อมปราการเหล่านี้เพื่อปกป้องรักษาเอาไว้แต่ทว่าพันธสัญญาที่พวกเขาเคยมอบให้แก่ข้าพระองค์สิ้นสุดลงแล้ว เพราะพวกเขาประสงค์แต่ความปลอดภัยเท่านั้น และป้อมปราการเหล่านี้ก็กลายเป็นสิทธิของพวกท่านแล้ว

 

กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ได้มีรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์สินและของกำนัลแก่แม่ ทัพมุสลิมผู้นี้ แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะรับเอาไว้และกล่าวว่า : ข้าพระองค์มิได้มาเพื่อขายสิ่งที่มิใช่กรรมสิทธิ์ของข้าพระองค์ แต่ทว่ามาเพื่อส่งมอบสิ่งที่พระเจ้าทรงลิขิตเอาไว้แล้วว่าเป็นสิทธิของพระองค์ทั้งสอง และขอให้พระองค์ทั้งสองทรงวางพระทัยเถิด หากมาตรแม้นมีบุคคลที่ให้การสนับสนุนข้าพระองค์อย่างที่ควรจะเป็นแล้วไซร้ แน่นอนการตายเพื่อปกป้องป้อมปราการเหล่านี้ย่อมมีค่ายิ่งกว่าทองคำที่ถูก เสนอแก่ข้าพระองค์เสียอีก

 

กษัตริย์คริสเตียนทั้งสองพระองค์ทรงประหลาดใจต่อท่าทีของแม่ทัพอะลี อิบนุ อัลฟัคค๊อรผู้นี้เป็นอันมาก เขายังได้ขอร้องให้กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงให้ความคุ้มครองบรรดาชาวมุสลิม โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง และขอให้ทรงอนุญาตให้เขากับครอบครัวเดินทางสู่มอรอคโคโดยปลอดภัยโดยไม่หวัง ทรัพย์สินและเงินทองที่จะทรงพระราชทานให้แต่อย่างใด

 

อัซฺซะฆอลไม่เหลือดินแดนใดในการปกครองของตนอีกหลังจากสูญเสียเมืองบัสเฏาะฮฺ นอกจากป้อมและหมู่บ้านที่อยู่รอบเมืองวาดีย์ อาช (Guadix) ในภายหลังบุคคลผู้นี้ก็ยอมขายดินแดนที่เหลืออยู่ให้แก่กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ เพื่อแลกกับเงินจำนวน 3 ล้านดีนาร และเดินทางไปยังราชสำนักของสเปน กษัตริย์สเปนทรงให้เกียรติและต้อนรับอัซฺซะฆอลเป็นอย่างดี เมืองวาดีอาช (Guadix) ก็ตกเป็นของคริสเตียนในปีฮ.ศ.895

 

สรุปเหตุการณ์สำคัญในอาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)

ฮ.ศ.755     – อบุลฮัจฺญ์ญาจเจ้าผู้ครองฆอรนาเฏาะฮฺถูกลอบสังหาร

                – เกิดการแย่งชิงอำนาจหลายครั้งในฆอรนาเฏาะฮฺ

                – อาณาจักรกิชตาละฮฺเกิดการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก

ฮ.ศ.793     นักพรตซิโอ นำพวกคริสเตียนโจมตีฆอรนาเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.815     เมืองอันนะกีเราะฮฺถูกคริสเตียนยึดครอง

ฮ.ศ.820     มุฮำหมัดที่ 8 (อัลอัยซัร) ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ครองฆอรนาเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.845     ปลดอัลอัยซัร, มุฮำหมัดที่ 10 (อัลอะอฺรอจญ์) ครองอำนาจ

                – ชาวมุสลิมในเขตแดนของคริสเตียนถูกอธรรม

ฮ.ศ.863     ปลดอัลอะอฺรอจญ์และซะอฺด์ อิบนุ มุฮำหมัดครองอำนาจ

ฮ.ศ.867     ป้อมปราการญะบัลตอริกเสียแก่คริสเตียน

ฮ.ศ.869     อาณาจักรบะนูมะรีนล่มสลาย

ฮ.ศ.874     เฟอร์ดินานด์แห่งอรากอนอภิเษกสมรสกับอิซาเบลล่าแห่งกิชตาละฮฺ

ฮ.ศ.887     เมืองอัลฮามะฮฺเสียแก่สเปน

ฮ.ศ.887     อบูอับดิลลาฮฺ อัซซ่อฆีรขึ้นครองอำนาจในฆอรนาเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.888     อบูอับดิลลาฮฺ อัซซ่อฆีรตกเป็นเชลย

ฮ.ศ.891     เสียป้อมลูชะฮฺ

ฮ.ศ.892     เสียป้อมบะลัช

ฮ.ศ.893     มาลิเกาะฮฺเสียแก่สเปน

ฮ.ศ.895     บัสเฏาะฮฺ ยอมจำนนแก่ฝ่ายกองทัพคริสเตียนสเปน