صلاةالجماعة การละหมาดญะมาอะฮฺ : ความหมายและข้อชี้ขาด

ความหมาย

คำว่า “อัลญะมาอะฮฺ” (الجماعة) หมายถึง กลุ่มคน , หมู่คน และคณะบุคคลที่มีจำนวนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การละหมาดอัล-ญะมาอะฮฺ จึงหมายถึงการปฏิบัติละหมาดร่วมกันของกลุ่มคณะบุคคลที่มีจำนวนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีผู้นำในการปฏิบัติละหมาดเรียกว่า อิมาม (الإمام) และมีผู้ตามในการปฏิบัติละหมาดเรียกว่า มะอฺมูม (المأموم)

 

ข้อชี้ขาด (อัลหุกม์) ของการละหมาดญะมาอะฮฺ

การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นสิ่งทีถูกใช้ให้กระทำตามศาสนบัญญัติเนื่องจากมีบรรดาอัล-หะดีษที่ถูกต้อง และเป็นที่รู้กันระบุเอาไว้ ตลอดจนมีมติเห็นพ้อง (อัล-อิจญ์มาอฺ) ของประชาคมมุสลิมระบุรับรองไว้

สำหรับนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมีความเห็นในเรื่องนี้ 3 ประเด็น (เอาญุฮฺ) กล่าวคือ

1.การละหมาด ญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ

2.เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ

3.การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎู อัยนฺ แต่มิใช่เงื่อนไขในการเศาะห์ละหมาด

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ประเด็นที่ถูกต้องตามมัซฮับถือว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ และเป็นสิ่งที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบท (นัศฺ) ในตำราอัล-อิมามะฮฺ ตลอดจนเป็นคำกล่าวของผู้อาวุโสในมัซฮับ 2 ท่าน คือ อิบนุสุรอยฺจญ์และอบู อิสหาก รวมถึงปวงปราชญ์รุ่นก่อนที่สังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเจ้าของตำราในมัซฮับส่วนมากถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้อง

 

และกลุ่มหนึ่งจากนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เช่น ชัยคฺ อบูหามิด ระบุว่าที่ถูกต้องคือ เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ ส่วนอิมามอิบนุ คุซัยมะฮฺ และอิบนุ อัล-มุนซิร ระบุว่าเป็นฟัรฎู อัยนฺ แต่มิใช่เงื่อนไขในการเศาะฮฺละหมาด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 85)

 

กรณีที่ชี้ขาดว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎู กิฟายะฮฺนั้น หากชาวเมืองหรือชุมชนหนึ่งปฏิเสธแข็งขืนจากการดำรงละหมาดญะมาอะฮฺ อิมาม (ผู้ปกครองในรัฐอิสลาม) ทำการสู้รบ (เพื่อกดดันให้พวกเขาทำการละหมาดญะมาอะฮฺ) ได้ และบาปจะไม่ตกจากพวกเขายกเว้นเมื่อพวกเขาจัดการละหมาดญะมาอะฮฺโดยให้สัญลักษณ์ (ชิอารฺ) ทางศาสนานี้เป็นที่ปรากฏชัดในหมู่ชาวเมืองหรือชาวชุมชนนั้น

 

ถ้าเป็นชุมชนเล็กๆ ก็พอเพียงในการจัดการละหมาดญะมาอะฮฺในสถานที่เดียว ส่วนในเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องจัดให้มีการละหมาดญะมาอะฮฺในหลายสถานที่โดยเป็นที่ปรากฏชัด หากว่าพวกเขาดำรงการละหมาดญะมาอะฮฺเฉพาะภายในบ้านเรือนก็มี 2 ประเด็นในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

 

ที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) เป็นคำกล่าวของอบู อิสหาก อัล-มัรฺวะซียฺ  ถือว่าบาปนั้นไม่ตกไปจากพวกเขาเนื่องจากการละหมาดญะมาอะฮฺไม่เป็นที่ปรากฏชัด

 

ประเด็นที่สอง ถือว่าตกเมื่อการละหมาดญะมาอะฮฺปรากฏชัดในบรรดาตลาด  ซึ่งนักวิชาการบางส่วนเลือกประเด็นที่สองนี้ ส่วนกรณีที่เรากล่าวว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นสุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ ก็ย่อมถือว่าเป็นการไม่บังควร (มักรูฮฺ) ในการละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺ ตามที่ชัยคฺ อบูหามิด , อิบนุ อัศ-ศ็อบบาฆฺ  และนักวิชาการท่านอื่นๆ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 85)

 

กรณีการมีความเห็นต่างของนักวิชาการว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺหรือสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺนั้น เป็นกรณีของการละหมาด 5 เวลาที่ถูกปฏิบัติในเวลา ส่วนการละหมาดวันศุกร์นั้น การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูอัยนฺ และเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาดวันศุกร์ ส่วนการละหมาดที่ถูกบน (นะซัรฺ) นั้นไม่มีบัญญัติให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ โดยไม่มีข้อขัดแย้ง

 

สำหรับละหมาดสุนนะฮฺอัน-นะวาฟิลนั้นมีทั้งประเภทการละหมาดสุนนะฮฺที่มีบัญญัติให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ และไม่มีบัญญัติให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ ซึ่งประเภทหลังนี้หากถูกกระทำแบบญะมาอะฮฺก็ถือว่าไม่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (คือไม่มักรูฮฺ) แต่อย่างใด หากแต่ถือว่าเป็นการกระทำที่ค้านกับสิ่งที่ดีที่สุด (คิลาฟุล เอาลา)

 

ส่วนการละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) การละหมาดฟัรฎู 5 เวลานั้น การละหมาดแบบญะมาอะฮฺไม่ถือเป็นฟัรฎูอัยนฺ  และไม่ถือเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ทว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ละหมาดแบบญะมาอะฮฺกรณีละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) ซึ่งพ้องกันระหว่างอิมามและมะอฺมูมด้วยการที่ละหมาดซุฮฺริหรืออัศริพลาดไปจากอิมามและมะอฺมูม โดยมีหลักฐานที่ถูกต้องระบุว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ขณะที่ท่านและเหล่าเศาะหาบะฮฺพลาดการละหมาดศุบฮิ (ในเวลา) ท่านรสูล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็นำละหมาดชดใช้เวลาศุบฮฺแบบญะมาอะฮฺ

 

และอัล-กอฎียฺ อิยาฏ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในชัรหุล เศาะหิหฺมุสลิมว่า : ไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างนักปราชญ์ในการอนุญาตให้ละหมาดแบบญะมาอะฮฺในกรณีการละหมาดชดใช้ ยกเว้นสิ่งที่เล่ามาจาก อิมาม อัล-ลัยษฺ อิบนุ สะอฺด์ ว่าห้ามกระทำสิ่งดังกล่าว สิ่งที่ถูกถ่ายทอดจากอิมาม อัล-ลัยษฺ (ร.ฮ.) นี้หากเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกหักล้างด้วยบรรดาอัล-หะดีษที่เศาะหิหฺและอิจญ์มาอฺของผู้คนในยุคก่อนหน้าเขา

 

ส่วนการละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) ข้างหลังอิมามที่นำละหมาดในเวลา (อะดาอฺ) และการปฏิบัติละหมาดในเวลาข้างหลังอิมามที่นำละหมาดชดใช้ ตลอดจนการละหมาดชดใช้ข้างหลังอิมามที่ทำการละหมาดชดใช้ละหมาดอื่นทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตในทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เว้นเสียแต่ว่าการละหมาดชดใช้เพียงลำพังนั้นย่อมดีกว่า (อัฟฎ็อล) ทั้งนี้เพื่อออกจากการขัดแย้งของบรรดานักปราชญ์ (อ้างแล้ว 4/86-87)

 

นักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : การละหมาดญะมาอะฮฺในสิทธิของบรรดาสตรีนั้นไม่ถือเป็นฟัรฎูอัยนฺ และไม่ถือเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ แต่การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับพวกนาง ซึ่งในกรณีนี้มี 2 ประเด็นในมัซฮับ (วัจญ์ฮาน) คือ

1) ส่งเสริมสำหรับพวกนางเหมือนการเป็นที่ส่งเสริมสำหรับบรรดาผู้ชาย

2) เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) ซึ่ง ชัยคฺ อบูหามิดและท่านอื่นๆ  ชี้ขาดเอาไว้ คือ การละหมาดญะมาอะฮฺไม่เน้นหนักในสิทธิของพวกนาง ไม่เหมือนกับกรณีของบรรดาผู้ชายที่เป็นสิ่งที่เน้นหนัก (มุอักกะดะฮฺ) ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่น่ารังเกียจสำหรับพวกนางในการทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับบรรดาผู้ชายในการละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺในกรณีที่เรากล่าวว่า การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺสำหรับบรรดาผู้ชาย และอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ตลอดจนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : เด็กนั้นจะถูกใช้ให้มายังบรรดามัสญิดและการร่วมละหมาดญะมาอะฮฺเพื่อให้เด็กเกิดความเคยชิน (อ้างแล้ว 4/86)

 

การชี้ขาดว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺนั้นเป็นประเด็นที่ถูกต้องในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นคำกล่าวของบรรดานักปราชญ์กลุ่มหนึ่ง ส่วนท่านอะฏออฺ , อัล-เอาซาอียฺ , อิมาม อะหฺมัด , อบูเษาริน และอิบนุ อัล-มุนซิร (เราะฮิมะฮุมุลลอฮฺ) กล่าวว่า : เป็นฟัรฎูอัยนฺ แต่มิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด

 

ดาวูด อัซ-ซอฮิรียฺ กล่าวว่า เป็นฟัรฎูอัยนฺ และเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด และตามนี้สานุศิษย์ของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) บางส่วนกล่าวเอาไว้

 

ส่วนปวงปราชญ์ (ญุมฮูร-อัลอุละมาอฺ) ถือว่าการละหมาดญะมาอะฮฺมิใช่ฟัรฎูอัยนฺ แต่มีความเห็นต่างกันว่า การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ หรือเป็นสุนนะอฺมุอักกะดะฮฺ อัล-กอฎียฺ อิยาฏ (ร.ฮ.) กล่าวว่า นักปราชญ์ส่วนมากมีทัศนะว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ มิใช่ฟัรฎูกิฟายะฮฺ (อ้างแล้ว 4/87)