หลักฐานว่าด้วยการละหมาดญะมาอะฮฺ

1. ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

 إِنَّ أَثْقَلَ صَلَاةٍ عَلَى الْمُنَافِقِينَ صَلَاةُ الْعِشَاءِ وَصَلَاةُ الْفَجْرِ ، وَلَوْ يَعْلَمُونَ مَا فِيهِمَا لَأَتَوْهُمَا وَلَوْ حَبْوًا ، وَلَقَدْ هَمَمْتُ أَنْ آمُرَ بِالصَّلَاةِ فَتُقَامَ ، ثُمَّ آمُرَ رَجُلًا فَيُصَلِّيَ بِالنَّاسِ ، ثُمَّ أَنْطَلِقَ مَعِي بِرِجَالٍ مَعَهُمْ حُزَمٌ مِنْ حَطَبٍ إِلَى قَوْمٍ لَا يَشْهَدُونَ الصَّلَاةَ فَأُحَرِّقَ عَلَيْهِمْ بُيُوتَهُمْ بِالنَّارِ
رواه البخاري ومسلم

ความว่า “แท้จริงการละหมาดที่หนักอึ้งเหนือพวกกลับกลอกมากที่สุดคือการละหมาดอิชาอฺและละหมาดอัล-ฟัจฺร์ (ศุบหิ) และมาตรแม้นว่าพวกเขารู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในการละหมาดทั้งสอง (จากผลานิสงค์อันยิ่งใหญ่) แน่นอนพวกเขาย่อมมาร่วมละหมาดสองเวลานั้น ถึงแม้ว่าจะต้องคลานมาก็ตาม

 

และแน่แท้ฉันเคยตั้งใจเอาไว้ว่าจะใช้ให้ทำการละหมาดแล้วการละหมาดก็ถูกดำรงขึ้น ต่อมาฉันก็ใช้คนๆ หนึ่งแล้วเขาก็จะนำผู้คนละหมาด ต่อมาฉันก็จะออกไปพร้อมกับบรรดาผู้ชายที่ที่พวกเขามีมัดฟืนยังกลุ่มชนหนึ่งที่พวกเขาไม่มาร่วมละหมาด แล้วฉันก็จะเผาบ้านช่องของพวกเขาด้วยไฟให้คลอกพวกเขาเสีย” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม)

 

2. รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า

أَتَى النَّبِيَّ صَلَّى الله عَلَيْهِ وَسَلَّمَ رَجُلٌ أَعْمَى ، فَقَالَ : يَا رَسُول الله ، لَيْسَ لِي قَائِدٌ يَقُودنِي إِلَى الْمَسْجِد ، فَسَأَلَ رَسُول الله صَلَّى الله عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنْ يُرَخِّص لَهُ فَيُصَلِّي فِي بَيْتهِ ، فَرَخَّصَ لَهُ ، فَلَمَّا وَلَّى دَعَاهُ فَقَالَ لَهُ : (( هَلْ تَسْمَع النِّدَاء بِالصَّلَاةِ ؟ )) فَقَالَ : نَعَمْ . قَالَ : ((فَأَجِبْ)) رواه مسلم

ความว่า “มีชายตาบอดคนหนึ่งมาหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านรสูลลุลลอฮฺ  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ฉันไม่มีคนนำทางที่เขาจะนำทางฉันไปยังมัสญิด แล้วชายผู้นั้นก็ขอต่อท่านรสูลลุลลอฮฺ  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ให้ท่านอนุโลมผ่อนผันแก่เขา เขาก็จะได้ทำการละหมาดในบ้านของเขา

 

ท่านรสูล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็อนุโลมผ่อนผันให้แก่ชายตาบอดผู้นั้น ครั้นเมื่อชายผู้นั้นผินหลัง ท่านรสูล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงเรียกเขา แล้วกล่าวกับเขาว่า “ท่านได้ยินเสียงเรียกร้อง (อะซาน) ให้ทำการละหมาดหรือไม่?” เขาตอบว่า “ได้ยินครับ!” ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า “เช่นนั้น ก็จำเป็น! (หมายถึงจำเป็นที่เขาต้องมาร่วมละหมาดที่มัสญิดและไม่มีข้ออนุโลมผ่อนผันให้เขาละหมาดที่บ้าน)”  (รายงานโดย มุสลิม)

 

ท่านอบูดาวูด ได้รายงานด้วยสายรายงานที่ดี (หะสัน) และอิมาม อะหฺมัด รายงานไว้ในอัล-มุสนัด หะดีษเลขที่ (15490) จากท่านอับดุลลอฮฺ บ้างก็ว่า อัมรฺ อิบนุ กอยสฺ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อิบนุ อุมมิ มักตูม (ร.ฎ.) ผู้ทำหน้าที่อะซาน (มุอัซซิน) ว่า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมมิ มักตูม (ร.ฎ.) เคยกล่าวว่า “โอ้ท่านรสูลลุลลอฮฺ แท้จริงนครมะดีนะฮฺนั้นมีสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นอันตราย (เช่น งูและแมงป่อง) และสัตว์ร้าย (เช่น หมาป่า หรือหมาจรจัด) เป็นจำนวนมาก”

 

ท่านรสูล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงกล่าวว่า “ท่านได้ยิน (มุอัซซินกล่าวว่า) “หัยยะอะลัศเศาะลาฮฺ หัยยะอะลัลฟะลาหฺ” (หรือไม่? ถ้าได้ยิน) ท่านก็จงมา (ละหมาดที่มัสญิด) เถิด!” อัล-หะดีษที่รายงานโดยอบูดาวูดและอิมามอะหฺมัดนี้มาอธิบายว่า ชายตาบอดในอัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งบันทึกโดยอิมามมุสลิม คือ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมมิมักตูม (ร.ฎ.) ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า อัมร์ อิบนุ กอยสฺ บุคคลท่านนี้เป็นมุอัซซินของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

 

อนึ่ง นักวิชาการที่ชี้ขาดว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูอัยนฺ เหนือบรรดาผู้ชายเสรีชนที่ไม่มีอุปสรรคในการมามัสญิดเพื่อร่วมละหมาดญะมาอะฮฺได้อาศัยอัล-หะดีษบทที่หนึ่งซึ่งระบุถึงความตั้งใจของท่านรสูล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่จะใช้มาตรการขั้นรุนแรงด้วยการวางเพลิงบ้านเรือนของคนที่ละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดและอัล-หะดีษของท่านอิบนุ อุมมิ มักตูม (ร.ฎ.) ซึ่งมิได้รับข้ออนุโลมผ่อนผันให้ละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดเป็นหลักฐานสนับสนุนทัศนะที่ว่าการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดเป็นฟัรฎูอัยนฺ

 

แต่บรรดานักวิชาการที่มีทัศนะว่าการละหมาดญะมาอะฮฺมิใช่ฟัรฎูอัยนฺ อธิบายบรรดาหะดีษข้างต้นว่า ในหะดีษของชายตาบอดหรืออับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมมิ มักตูม (ร.ฎ.) นั้นไม่มีนัยบ่งชี้ว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูอัยนฺ เพราะท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยมีข้ออนุโลมผ่อนผันให้แก่ท่าน อิตาบฺ อิบนุ อุสัยยิด อิบนิ อบี อัล-อัยศฺ (ร.ฎ.) ซึ่งมีอาการทางสายตาให้ทำการละหมาดในบ้านของเขาได้ และหะดีษของอิตาบฺ (ร.ฎ.) ก็ถูกรายงานไว้ในเศาะหิหฺทั้งสอง และอธิบายสำนวนของอัล-หะดีษซึ่งรายงานโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺหรือหะสันจากอิบนุ อุมมิ มักตูม (ร.ฎ.) ที่ว่า (( لَاأَجِدُلك رُخْصَةً )) “ฉันไม่พบว่ามีข้ออนุโลมผ่อนผันอันใดสำหรับท่าน”

 

โดยอธิบายว่าหมายถึง  ((لَارُخْصَةَ لَكَ تَلْحَقُكَ بفضيلةِ مَنْ حَضَرَهَا))  “ไม่มีข้ออนุโลมผ่อนผันอันใดสำหรับท่านที่จะทำให้ท่านผนวกเข้าสู่การได้รับความประเสริฐของผู้ที่มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ” (กล่าวคือท่านย่อมไม่ได้รับผลานิสงค์ของผู้ที่มาละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด) ซึ่งเป็นคำอธิบายของบรรดาอิมามนักท่องจำอัล-หะดีษและนักวิชาการฟิกฮฺคือท่านอิมาม อบูบักร มุฮัมมัด อิบนุ อิสหาก อิบนิ คุซัยมะฮฺ (ร.ฮ.) อิมาม อัล-บัยฮะกียฺ (ร.ฮ.) (ดู กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 89)

 

ส่วนอัล-หะดีษที่ระบุถึงความตั้งใจของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการจะวางเพลิงบ้านเรือนของผู้ที่ไม่มาละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดนั้น ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.)  และนักวิชาการท่านอื่นๆ อธิบายว่า “อัล-หะดีษบทนี้มีรายงานมาในกรณีของกลุ่มชนผู้กลับกลอก (มุนาฟิกูน) ที่พวกเขาละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด และไม่ทำการละหมาดในบ้านเรือนของพวกเขาแม้จะเป็นการละหมาดเพียงลำพังก็ตาม  พร้อมกับให้เหตุผลว่า เพราะการละหมาดญะมาอะฮฺถือเป็นสัญลักษณ์ (ชิอารฺ) ทางศาสนาซึ่งจะปรากฏชัดเจนได้ด้วยการปฏิบัติละหมาดญะมาอะฮฺของผู้คนเพียงบางส่วน

 

ตลอดจนคำกล่าวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ว่า “แน่แท้ฉันเคยมีความตั้งใจ” นั้น ถึงแม้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะบอกว่าท่านมีความตั้งใจ แต่ท่านก็มิได้กระทำจริงๆ (คือมิได้วางเพลิงบ้านเรือนของผู้ที่ละทิ้งละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด) ถ้าหากว่าเป็นสิ่งจำเป็นแล้วแน่นอนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็จะไม่ละทิ้งการกระทำที่ตั้งใจไว้

 

หากมีผู้กล่าวว่า “หากไม่อนุญาตให้วางเพลิงแล้ว นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็จะไม่ตั้งใจกระทำเช่นนั้นก็กล่าวตอบได้ว่า เป็นไปได้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มีความตั้งใจที่จะกระทำเช่นนั้นตามการวิเคราะห์ (อิจญ์ติฮาด) ของท่านในเบื้องแรก ต่อมามีวะหิยฺลงมาห้ามมิให้ท่านกระทำหรือท่านเปลี่ยนการวิเคราะห์นั้นแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นประเด็นย่อยที่ถูกต้องในการบ่งชี้ว่าการวิเคราะห์ (อิจญ์ติฮาด) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นเรื่องที่อนุญาต (อ้างแล้ว 4/88)

 

ส่วนอัล-หะดีษที่รายงานโดย ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) ว่า :

مَنْ سَرَّهُ أَنْ يَلْقَى اللهَ تعالى غَداً مُسْلِماً ، فَلْيُحَافِظْ عَلَى هَؤُلاَءِ الصَّلَوَاتِ حَيْثُ يُنَادَى بِهِنَّ ، فَإِنَّ اللَّهَ شَرَعَ لِنَبِيِّكُمْ صلى الله عليه وسلم سُنَنَ الْهُدَى ، وَإِنَّهُنَّ مِنْ سُنَنِ الْهُدَى ، وَلَوْ أَنَّكُمْ صَلَّيْتُمْ فِي بُيُوتِكُمْ كَمَا يُصَلِّي هَذَا الْمُتَخَلِّفُ فِي بَيْتِهِ ، لَتَرَكْتُمْ سُنَّةَ نَبِيِّكُمْ ، وَلَوْ تَرَكْتُمْ سُنَّةَ نَبِيِّكُمْ لَضَلَلْتُمْ ، وَلَقَدْ رَأَيْتُنَا ، وَمَا يَتَخَلَّفُ عَنْهَا إِلَّا مُنَافِقٌ مَعْلُومُ النِّفَاقِ ، وَلَقَدْ كَانَ الرَّجُلُ يُؤْتَى بِه ، يُهَادَى بَيْنَ الرَّجُلَيْنِ حَتَّى يُقَامَ في الصَّفَ. رواه مسلم

ความว่า : ผู้ใดที่การซึ่งเขาจะได้พบพระองค์อัลลอฮฺในวันพรุ่งนี้ในสภาพที่เขาเป็นมุสลิมเป็นสิ่งที่เขามีความยินดีปราโมทย์แล้วไซร้ ผู้นั้นก็จงดำรงรักษาบรรดาการละหมาดเหล่านั้นซึ่งถูกเรียกร้อง (มีการอะซาน) ด้วยบรรดาการละหมาดนั้น (หมายถึงการละหมาดฟัรฎู 5 เวลา) เพราะแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงวางบัญญัติบรรดาวิถีแห่งทางนำแก่นบีของพวกท่านเอาไว้แล้ว และแท้จริงบรรดาการละหมาดเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาวิถีแห่งทางนำ

 

และหากว่าแท้จริงพวกท่านทำละหมาดภายในบ้านเรือนของพวกท่านเหมือนเช่นบุคคลที่ทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺผู้นี้จะทำการละหมาดในบ้านของเขาแล้วไซร้ แน่นอนพวกท่านก็ย่อมได้ละทิ้งวิถีแห่งนบีของพวกท่านแล้ว และมาตรว่าพวกท่านได้ละทิ้งวิถีแห่งนบีของพวกท่านแล้วไซร้ พวกท่านก็ย่อมหลงทางแล้วเป็นแน่แท้ และขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า แน่แท้ฉันเคยเห็นพวกเรา (เหล่าสาวก) และไม่มีผู้ใดละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺนอกเสียจากผู้กลับกลอกที่เป็นที่รู้กันดีถึงความกลับกลอก

 

และแน่แท้คนๆ หนึ่งจะถูกนำตัวมาโดยที่เขาจะถูกนำทางระหว่างชาย 2 คน (ที่ประคองเขามา) จวบจนกระทั่งเขาถูกให้ยืนอยู่ในแถว (ของการละหมาดญะมาอะฮฺ)” รายงานโดย มุสลิม อัล-หะดีษบทนี้ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูอัยนฺ อันที่จริงในอัล-หะดีษบทนี้เพียงแต่ให้ความกระจ่างถึงความประเสริฐของการละหมาดญะมาอะฮฺ และการที่ท่านอับดุลลอฮฺ (ร.ฎ.) มีความเคร่งครัดอย่างมากในการดำรงรักษาการละหมาดญะมาอะฮฺ (อ้างแล้ว 4/89)

 

3. รายงานจากอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) แท้จริงท่านรสุลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

صَلَاةُ الْجَمَاعَةِ أَفْضَلُ مِنْ صَلَاةِ الْفَذِّ بِسَبْعٍ وَعِشْرِيْنَ دَرَجَةً. متفق عليه

ความว่า “การละหมาดญะมาอะฮฺนั้นมีความประเสริฐกว่าการละหมาดคนๆ เดียว 27 ขั้น” (รายงานพ้องกันโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

4. รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า ท่านรสุลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

  صَلَاةُ الرَّجُلِ فِي الْجَمَاعَةِ تُضَعَّفُ عَلَى صَلَاتِهِ فِي بَيْتِهِ وَفِي سُوقِهِ خَمْسًا وَعِشْرِينَ ضِعْفًا… الحديث متفق عليه

ความว่า “การละหมาดของบุคคลในแบบญะมาอะฮฺจะถูกเพิ่มทวีคูณ (ผลานิสงค์ในการละหมาด) มากกว่าการละหมาดของเขาในบ้านของเขาและในตลาดของเขาถึง 25 เท่า” (รายงานพ้องกันโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

นักวิชาการได้รวมระหว่างอัล-หะดีษบทนี้กับอัล-หะดีษบทก่อนเข้าด้วยกันโดยอธิบายว่า จำนวนที่น้อยกว่า (คือ 25 เท่า) มิได้ปฏิเสธจำนวนที่มากกว่า (คือ 27 ขั้น) เพราะจำนวน 25 เท่านั้นเข้าอยู่ในความหมายของจำนวน 27 ขั้น

 

บ้างก็อธิบายว่า ในตอนแรกท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) รู้ว่าการละหมาดญะมาอะฮฺมีผลบุญ 25 เท่าแล้วท่านก็บอกตามนั้น ต่อมาท่านก็รู้ว่ามีจำนวน 27 ขั้นท่านจึงกล่าวอัล-หะดีษที่ระบุว่าการละหมาดญะมาอะฮฺมีผลบุญมากกว่าการละหมาดเพียงลำพังถึง 27 ขั้น

 

บ้างก็อธิบายว่า : กรณีดังกล่าวจะแตกต่างกันไปตามความแตกต่างของสภาพการละหมาดที่มีความสงบ (คุชัวอฺ) และการดำรงรักษาสุนนะฮฺและมารยาทต่างๆ ของการละหมาด (นุซฮะตุลมุตตะกีน ชัรหุ ริยาฎิศอลิหิน หน้า 414)

 

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและปวงปราชญ์ได้อาศัยอัล-หะดีษบทที่ 3 และ 4 นี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าการละหมาดญะมาอะฮฺมิใช้ฟัรฎูอัยนฺ โดยมีประเด็นของนัยจากตัวบทอัล-หะดีษดังกล่าวว่า การมีความประเสริฐมากกว่าหรือน้อยกว่า  (อัล-มุฟาเฎาะละฮฺ) นั้นจริงๆ แล้วเป็นกรณีของสิ่งที่มีความประเสริฐสองสิ่งที่อนุญาตให้เลือกปฏิบัติได้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 88)

 

5. รายงานจากท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

مَنْ صَلَّى الْعِشَاءَ فِي جَمَاعَةٍ فَكَأَنَّمَا قَامَ نِصْفَ اللَّيْلِ وَمَنْ صَلَّى الصُّبْحَ فِي جَمَاعَةٍ فَكَأَنَّمَا صَلَّى اللَّيْلَ كُلَّهُ. رواه مسلم

ความว่า “ผู้ใดทำการละหมาดอิชาอฺในแบบญะมาอะฮฺย่อมประหนึ่งว่าผู้นั้นยืนละหมาดในยามค่ำคืนครึ่งคืน และผู้ใดทำการละหมาดศุบหิในแบบญะมาอะฮฺ ย่อมประหนึ่งว่าผู้นั้นละหมาดยามค่ำคืนตลอดทั้งคืน” (รายงานโดย มุสลิม)

 

และในรายงานของอัต-ติรมีซียฺ จากท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( مَنْ شَهِدَ الْعِشَاءَ في جَمَاعَةٍ كان لَهُ قِيَامُ نِصْفِ لَيْلَةٍ ، وَمَنْ صَلَّى الْعِشَاءَ وَالْفَجْرَ في جماعةٍ ، كان لَهُ كَقِيَامِ لَيْلَةٍ ))

ความว่า “ผู้ใดมาร่วมละหมาดอิชาอฺในแบบญะมาอะฮฺ ย่อมปรากฏว่าสำหรับผู้นั้นคือ (ผลบุญ) การยืน (ละหมาดค่ำคืน) ครึ่งคืน และผู้ใดละหมาดอิชาอฺและฟัจร์ (ศุบหิ) ในแบบญะมาอะฮฺ ย่อมปรากฏว่าสำหรับผู้นั้นคือ (ผลบุญ) เหมือนการยืน (ละหมาดค่ำคืน) ของคืนหนึ่ง (ทั้งคืน)”

 

จากอัล-หะดีษทั้งสองสายรายงานนี้บ่งชี้ว่าการละหมาดญะมาอะฮฺที่เน้นหนักมากที่สุด (อื่นจากละหมาดวันศุกร์) คือการละหมาดญะมาอะฮฺในเวลาศุบหิและเวลาอิชาอฺ

(กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 4/90)