ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

1. อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า การปฏิบัติละหมาดญะมาอะฮฺสำหรับผู้ชายที่มัสญิดมีภาคผลความประเสริฐมากกว่าการปฏิบัติละหมาดญะมาอะฮฺในบ้าน , ตลาด และที่อื่นๆ เนื่องจากมีบรรดาอัล-หะดีษที่ระบุถึงภาคผลความประเสริฐในการเดินไปยังมัสญิด และเพราะมัสญิดเป็นสถานที่ที่มีความประเสริฐที่สุด

ตลอดจนการแสดงสัญลักษณ์ของการละหมาดญะมาอะฮฺให้เป็นที่ปรากฏชัดนั้นเกิดขึ้นที่มัสญิดได้อย่างชัดเจนที่สุดโดยไม่มีข้อสงสัย ดังนั้นหากปรากฏว่าในเขตหนึ่งมีมัสญิดหลายแห่ง การที่บุคคลไปร่วมละหมาดที่มัสญิดซึ่งมีจำนวนผู้ร่วมละหมาดญะมาอะฮฺมากกว่าย่อมถือว่ามีความประเสริฐมากกว่าตามที่มีอัล-หะดีษระบุว่า

(( صَلاةُ الرَّجُلِ مَعَ الرَّجُلِ أَزْكَى مِنْ صَلاتِهِ وَحْدَهُ ، وَصَلاةُ الرَّجُلِ مَعَ الرَّجُلَيْنِ أَزْكَى مِنْ صَلاتِهِ مَعَ الرَّجُلِ ، وَمَا كَانَ أَكْثَرَ فَهُوَ أَحَبُّ إِلَى اللهِ تعالى ))

ความว่า “การละหมาดของชายพร้อมกับชายอีกคนย่อมมีความสมบูรณ์ (ในภาคผลความประเสริฐ) ยิ่งกว่าการละหมาดของชายนั้นเพียงคนเดียว และการละหมาดของชายคนหนึ่งพร้อมกับชายอีก 2 คน ย่อมมีความสมบูรณ์ (ในภาคผลความประเสริฐ) ยิ่งกว่าการละหมาดของชายผู้นั้นกับชายเพียงหนึ่งคน และสิ่งใดที่ปรากฏว่ามากกว่า (ด้วยจำนวนของผู้ร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ) นั้นย่อมเป็นที่โปรดปรานยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มากกว่า”

 

รายงานโดย อุบัยยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) บันทึกโดย อบูดาวูด ซึ่งในสายรายงานมีบุคคลผู้หนึ่งที่นักรายงานอัล-หะดีษมิได้แจงสถานภาพบุคคลผู้นั้นเอาไว้ แต่อบูดาวูดมิได้ระบุว่าเป็นสายรายงานที่อ่อน (เฎาะอีฟ) และอะลี อิบนุ อัล-มะดีนียฺ , อัล-บัยฮะกียฺ และท่านอื่นๆ บ่งชี้ว่าเป็นสายรายงานที่เศาะหิหฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ : อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 92-93)

 

ในกรณีที่มัสญิดอยู่ใกล้บ้านแต่มีจำนวนผู้ละหมาดญะมาอะฮฺน้อย และที่ไกลจากบ้านมีมัสญิดที่จำนวนผู้ร่วมละหมาดญะมาอะฮฺมากกว่า มัสญิดที่อยู่ไกลย่อมดีกว่าในการไปร่วมละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดแห่งนั้นยกเว้นใน 2 กรณี

 

1.1 กรณีที่การละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดใกล้จะหยุดชะงักลงเนื่องจากบุคคลผู้นั้นเป็นอิมามแล้วไม่ไปมัสญิดที่ใกล้นั้น หรือผู้คนจะมาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดใกล้เมื่อบุคคลนั้นมาร่วมละหมาดที่มัสญิดใกล้ ในกรณีนี้ การละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดใกล้ย่อมประเสริฐกว่า

 

1.2 กรณีที่ปรากฏว่าอิมามประจำมัสญิดที่อยู่ไกลเป็นบุคคลที่กระทำอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เช่น เป็นพวกมัวะตะซิละฮฺ เป็นต้น หรืออิมามนั้นเป็นคนไม่ดี (ฟาสิก) หรือเป็นอิมามที่ไม่มีอิอฺติกอดฺ (ความเชื่อ) ถึงความเป็นวาญิบในองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการละหมาดบางประการ มัสญิดที่อยู่ใกล้ย่อมประเสริฐกว่า

 

แต่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานได้เล่าประเด็นหนึ่งไว้ว่า แท้จริงมัสญิดที่อยู่ใกล้ย่อมประเสริฐกว่าในทุกกรณี ส่วนประเด็นที่ถูกต้องซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ คือประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น

 

อนึ่ง หากปรากฏว่ามัสญิดข้างเคียงที่อยู่ใกล้บ้านไม่มีการปฏิบัติละหมาดญะมาอะฮฺในมัสญิดแห่งนั้น ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นี้จะไปยังมัสญิดนั้นก็ไม่ได้ภาคผลของการละหมาดญะมาอะฮฺ และไม่มีคนอื่นมาร่วมละหมาดด้วย กรณีนี้การไปยังมัสญิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺย่อมประเสริฐกว่าโดยมติเห็นพ้อง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 93)