ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

12. เมื่อบุคคลมาทันอิมามในสภาพที่อิมามก้มรุ่กัวอฺ ให้ผู้นั้นกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมในสภาพที่ยืนตรง  ต่อมาก็ให้กล่าวตักบีรฺเพื่อลงก้มรุ่กัวอฺและก้มลงสูการรุ่กัวอฺ  ฉะนั้นหากว่าบางส่วนของการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมเกิดขึ้นในสภาพที่มิได้ยืนตรง (เช่น เมื่อกล่าวคำว่า “อักบัร” ผู้นั้นก็ลงไปอยู่ในสภาพของการรุ่กัวอฺแล้ว)  การละหมาดซึ่งเป็นฟัรฎูของผู้นั้นย่อมใช้ไม่ได้โดยไม่มีความขัดแย้ง  หากเป็นละหมาดสุนนะฮฺก็ถือว่าใช้ไม่ได้เช่นกันตามประเด็นที่ถูกต้องในมัซฮับ 

 

ส่วนทัศนะที่รู้กันที่สุดในมัซฮับ อัล-มาลิกียฺ คือ ผู้ที่เป็นมัสบู๊กเมื่อมาทันอิมามในขณะที่อิมามก้มรุ่กัวอฺและการตักบีเราะตุลอีหฺร็อมบางส่วนของเขาอยู่ในขั้นของท่าทางการรุ่กัวอฺ  ถือว่าการละหมาดของผู้นั้นใช้ได้ในกรณีเป็นละหมาดฟัรฎู (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุ้ลมุฮัซซับ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4/111)

 

เมื่อผู้ที่เป็นมัสบู๊กกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมในขณะนั้นแล้ว  ผู้นั้นย่อมไม่มีสิทธิในการไปพะวงอยู่กับการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ  แต่ให้ผู้นั้นก้มลงสู่การการรุกัวอฺในสภาพที่กล่าวตักบีรเพื่อการรุ่กัวอฺ  ในทำนองเดียวกันหากผู้ที่เป็นมัสบู๊กมาทันอิมามใสสภาพที่อิมามยืนอยู่  แล้วผู้ที่เป็นมัสบู๊กก็กล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมประจวบเหมาะกับอิมามได้ก้มลงรุ่กัวอฺเพียงแค่การกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมของผู้ที่เป็นมัสบู๊กก็ให้เขาผู้นั้นกล่าวตักบีรรุ่กัวอฺลงตามอิมามไปได้เลย

 

ในกรณีที่ผู้เป็นมัสบู๊กจำกัดอยู่เฉพาะการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมเท่านั้นใน 2 กรณีดังกล่าว  โดยที่เขาผู้นั้นกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมครบสมบูรณ์ในสภาพที่ยืนตรง  กรณีนี้มี 4 สภาพสำหรับผู้ที่เป็นมัสบู๊ก คือ

1) เขามีเจตนา (นียะฮฺ) ตักบีเราะตุลอิหฺร็อมเท่านั้น  การละหมาดฟัรฎูของเขาก็ย่อมใช้ได้

2) เขามีเจตนาตักบีรเพื่อการรุ่กัวอฺ ก็ถือว่าการละหมาดของเขาใช้ไม่ได้

3) เขามีเจตนาตักบีเราะตุลอิหฺร็อมและตักบีรเพื่อการรุ่กัวอฺพร้อมกันทั้งสองอย่าง  การละหมาดที่เป็นฟัรฎูของเขาถือว่าใช้ไม่ได้โดยไม่มีความเห็นขัดแย้ง  ส่วนการละหมาดสุนนะฮฺนั้นมี 3 ประเด็น  ที่ถูกต้องตามการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าใช้ไม่ได้  ประเด็นที่ 2 ถือว่าใช้ได้ 

ส่วนประเด็นที่ 3 อัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏ็อยฺยิบ เล่าว่า  หากการละหมาดที่เขาผู้นั้นกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมเป็นละหมาดสุนนะฮฺ การละหมาดนั้นใช้ได้ในการเป็นละหมาดสุนนะฮฺ  แต่ถ้าเป็นละหมาดฟัรฎูถือว่าใช้ไม่ได้ (อ้างแล้ว 4/111)

4) เขาไม่ได้มีเจตนา (นียะฮฺ) อันหนึ่งอันใดจากทั้งสอง (คือเจตนาตักบีเราะตุลอิหฺร็อมและเจตนาตักบีรรุ่กัวอฺ)  หากแต่กล่าวตักบีรเฉยๆ  สภาพที่ 4 นี้ตามสิ่งที่ถูกต้องและมีตัวบทระบุไว้ในตำราอัล-อุมม์ ซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ถือว่าการละหมาดนั้นใช้ไม่ได้ (อ้างแล้ว 4/111)