ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

17. หากปรากฏว่าบุคคลได้มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺโดยอิมามเสร็จสิ้นจากการละหมาดญะมาอะฮฺนั้นแล้ว  ให้พิจารณาว่า หากมัสญิดนั้นมีอิมามโดยตำแหน่ง (อิมาม รอติบ) และมัสญิดนั้นมิใช่มัสญิดที่เป็นทางผ่าน (มัสญิดมัฏรูก) เช่น มัสญิดในระหว่างเส้นทางตามจุดลงพักของผู้เดินทาง เป็นต้น ก็ถือว่ามักรูฮฺสำหรับผู้ที่มิใช่อิมามโดยตำแหน่งในการตั้งญะมาอะฮฺในมัสญิดแห่งนั้นทั้งในกรณีตั้งญะมาอะฮฺแต่ต้นก่อน การมาของอิมามจะผ่านเลยไปดังที่กล่าวมาแล้วในประเด็นแรกๆ ก่อนหน้านี้

 

และทั้งในกรณีที่อิมามนำละหมาดญะมาอะฮฺประจำเวลาเสร็จสิ้นแล้ว ถือว่าเป็นการมักรูฮฺในการตั้งญะมาอะฮฺอื่นอีกในมัสญิดแห่งนั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากอิมามโดยตำแหน่ง นี่เป็นทัศนะที่ถูกต้องและรู้กันดี ซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ ส่วนประเด็นที่อิมามอัร-รอฟิอียฺเล่าเอาไว้ว่า ไม่มักรูฮฺนั้นถือเป็นประเด็นที่แหวกแนว (ชาซฺ) และอ่อน (เฎาะอีฟ)

 

แต่ถ้าหากมัสญิดนั้นเป็นมัสญิดที่เป็นทางผ่านหรือมิใช่มัสญิดที่เป็นทางผ่าน แต่ไม่มีอิมามประจำโดยตำแหน่ง การตั้งญะมาอะฮฺที่สองในมัสญิดแห่งนั้นก็ไม่ถือว่ามักรูฮฺแต่อย่างใด (อ้างแล้ว 4/119)

 

ส่วนบุคคลที่มาถึงมัสญิดเพียงคนเดียวภายหลังการละหมาดญะมาอะฮฺเสร็จสิ้นแล้ว ก็ส่งเสริมสำหรับผู้ที่ร่วมอยู่บางคนซึ่งละหมาดญะมาอะฮฺพร้อมกับอิมามเสร็จสิ้นแล้วให้ทำการละหมาดพร้อมกับบุคลลคนนั้นเพื่อให้เขาได้รับภาคผลความประเสริฐของการละหมาดญะมาอะฮฺ และส่งเสริมให้บางคนที่ร่วมอยู่ซึ่งมีอุปสรรคในการไม่สามารถร่วมละหมาดกับบุคคลคนนั้นให้ช่วยอนุเคราะห์ด้วยการบอกกล่าวบุคคลอื่นที่ร่วมอยู่ให้ร่วมละหมาดกับผู้ที่มาละหมาดคนเดียวนั้น

 

เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่รายงานโดย อบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า “แท้จริงมีชายคนหนึ่งได้มาโดยที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ละหมาดเสร็จแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า “ผู้ใดที่จะทำเศาะดะเกาะฮฺให้แก่ชายผู้นี้บ้าง?” แล้วก็มีชายคนหนึ่งลุกขึ้นยืนแล้วเขาก็ละหมาดกับชายผู้นั้น” (รายงานโดย อบูดาวูด และอัตติรมีซียฺ ซึ่งกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน และในสุนันของอัล-บัยฮะกียฺระบุว่าชายที่ลุกขึ้นแล้วไปละหมาดร่วมกับชายผู้นั้นคือ ท่านอบูบักร (ร.ฎ.))

 

ในอัล-หะดีษบทนี้บ่งชี้ว่า ส่งเสริมให้ละหมาดซ้ำได้ในแบบญะมาอะฮฺสำหรับผู้ที่ละหมาดประจำเวลานั้นแล้วในแบบญะมาอะฮฺ ถึงแม้ว่าการละหมาด ญะมาอะฮฺครั้งที่สองจะมีจำนวนคนน้อยกว่าการละหมาดญะมาอะฮฺครั้งแรกก็ตาม (อ้างแล้ว 4/119)

 

อนึ่งในการตั้งญะมาอะฮฺในมัสญิดซึ่งมีการละหมาดญะมาอะฮฺเสร็จสิ้นแล้วก่อนหน้านั้น กรณีถ้ามัสญิดนั้นไม่มีอิมามประจำโดยตำแหน่ง ก็ถือว่าไม่มักรูฮฺในการตั้งญะมาอะฮฺที่สอง ที่สาม และมากกว่าโดยอิจญ์มาอฺ

 

ส่วนกรณีถ้ามัสญิดนั้นมีอิมามประจำโดยตำแหน่ง และมัสญิดนั้นมิใช่มัสญิดทางผ่าน (มัสญิดมัฏรูก) ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ถือว่ามักรูฮฺในการตั้งญะมาอะฮฺที่สองโดยมิได้รับอนุญาตจากอิมาม ซึ่งตามนี้ อุษมาน อัล-บัตตียฺ , อัล-เอาซาอียฺ , มาลิก , อัล-ลัยษฺ , อัษ-เษารียฺ และอบูหะนีฟะฮฺ (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ) กล่าวเอาไว้ ส่วนอะหฺมัด , อิสหาก , ดาวูด และอิบนุ อัล-มุนซิร (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ) กล่าวว่า ไม่มักรูฮฺ (อ้างแล้ว 4/120)