ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

18. เมื่อบุคคลได้ละหมาดฟัรฎูแล้วในสภาพที่เขาละหมาดเพียงลำพัง ต่อมาเขาก็มาทันญะมาอะฮฺที่กำลังละหมาดฟัรฎูนั้นในเวลา ก็ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้เขาละหมาดฟัรฎูนั้นอีก (ละหมาดซ้ำ) พร้อมกับญะมาอะฮฺนั้น ส่วนที่มีประเด็นเล่ามาจากนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺบางคนว่า ส่งเสริมเฉพาะเวลาละหมาดซุฮฺริและอิชาอฺนั้น ส่วนละหมาดศุบหิและอัศรินั้นไม่ส่งเสริม เพราะการละหมาดซ้ำครั้งที่สองเป็นละหมาดสุนนะฮฺ ซึ่งละหมาดสุนนะฮฺหลังการละหมาดทั้งสองช่วงเวลานั้นเป็นที่มักรูฮฺ

 

ประเด็นที่เล่ามานี้ถือว่าแหวกแนว (ชาซฺ) และประเด็นที่ระบุว่าไม่ส่งเสริมให้ละหมาดซ้ำเป็นครั้งที่สองในเวลามัฆริบเช่นกันเพราะเมื่อละหมาดมัฆริบซ้ำเป็นครั้งที่สองก็จะกลายเป็นว่าละหมาดมัฆริบมีจำนวนเป็นคู่ ประเด็นนี้ถือว่าผิดพลาดถึงแม้ว่าจะเป็นประเด็นที่รู้กัน (มัชฮูร) ในทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานก็ตาม

 

ทั้งนี้เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่รายงานโดยท่านยะซีด อิบนุ อัล-อัสวัด อัล-อามิรียฺ (ร.ฎ.) ระบุว่า

(( أن النبي صلى الله عليه وسلم صلى صَلَاةَ الغداةِ في مَسِجِد الخَيْفِ فَرَأَى في آخِر القَوْمِ رَجُلَيْنِ لم يُصَلِّيَا معَه فقال : ما منَعَكُما أن تُصَلِّيَا معَنَا ؟ قالَا : يا رسول الله ، قَدْ صَلَّيْنَا في رِحَالِنَا ، قال : فلا تَفْعَلَا ، إذا صَلَّيْتُمَا في رِحَالِكُمَا ثم أتَيِتُمَا مَسْجِدَ جماعةٍ فَصَلِّيَا مَعَهُمْ فإنَّها لكما نافلةٌ ))

ความว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ละหมาด การละหมาดอัล-เฆาะดาอฺ (ศุบหิ) ในมัสญิดอัล-ค็อยฟฺ แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็เห็นว่าในตอนท้าย (ข้างหลังสุด) ของกลุ่มชนมีชายสองคนที่ทั้งสองมิได้ละหมาดพร้อมกับท่าน ท่านจึงกล่าวว่า “อะไรได้ห้ามท่านทั้งสองในการที่ท่านทั้งสองจะละหมาดพร้อมกับเรา?”

 

ทั้งสองกล่าวว่า “โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ แท้จริงพวกเราได้ละหมาดแล้วในที่พักของพวกเรา” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “กระนั้น ท่านทั้งสองอย่าได้ทำเช่นนั้น เมื่อท่านทั้งสองได้ละหมาดแล้วในที่พักของท่านทั้งสอง ต่อมาท่านทั้งสองได้มายังมัสญิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺ ท่านทั้งสองก็จงละหมาดพร้อมกับพวกเขา เพราะแท้จริงการละหมาดนั้นเป็นสุนนะฮฺ (ศาสนกิจอาสา) สำหรับท่านทั้งสอง” (รายงานโดย อบูดาวูด และอัต-ติรมีซียฺ ซึ่งกล่าวว่า เป็นหะดีษหะสัน เศาะหิหฺ) (อ้างแล้ว 4/120)

 

ส่วนกรณีที่บุคคลนั้นละหมาดฟัรฎูแบบญะมาอะฮฺแล้ว ต่อมาเขาก็มาทันละหมาดญะมาอะฮฺอีกญะมาอะฮฺหนึ่ง กรณีนี้มี 4 ประเด็น ที่ถูกต้องในทัศนะปวงปราชญ์ของมัซฮับคือ ส่งเสริมให้ละหมาดญะมาอะฮฺนั้นอีกโดยไม่มีเงื่อนไข (มุฏลัก) ส่วนวิธีการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ในการละหมาดครั้งที่ 2 นี้ให้ตั้งเจตนา (นียะฮฺ) เป็นละหมาดฟัรฎูตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดในทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เพราะไม่มีข้อห้ามในการตั้งเจตนาละหมาดเป็นฟัรฎู ถึงแม้ว่าการละหมาดครั้งที่สองนี้จะเป็นสุนนะฮฺก็ตาม (อ้างแล้ว 4/122)