ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

19. มีสุนนะฮฺให้อิมามนำละหมาดญะมาอะฮฺสั่งใช้ให้บรรดามะอฺมูมทำการจัดแถวละหมาดให้ตรง ขณะที่ต้องการจะทำการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมด้วยการละหมาดนั้น และส่งเสริม (มุสตะหับ) เมื่อปรากฏว่ามัสญิดนั้นมีขนาดใหญ่ให้อิมามสั่งใช้บุคคลหนึ่งที่ทำหน้าที่ใช้ให้บรรดามะอฺมูมจัดแถวละหมาดให้ตรง โดยบุคคลผู้นั้นจะเดินรอบพวกเขาหรือประกาศในหมู่พวกเขาให้จัดแถว

 

และส่งเสริมให้ผู้ร่วมละหมาดแต่ละคนใช้ผู้ที่บกพร่องในการจัดแถวในการจัดแถวให้ตรง และการจัดแถวละหมาดให้ตรงหมายถึง การทำให้แถวแรกยืนเต็มแถวโดยสมบูรณ์แล้วก็แถวถัดมา ให้มีการอุดช่องโหว่ในแถว ให้ผู้ที่ยืนอยู่ในแถวยืนชิดเป็นแนวเดียวกันโดยไม่มีหน้าอกของผู้ใดล้ำหน้า และจะต้องไม่เริ่มตั้งแถวที่สองจนกว่าแถวแรกจะยืนเต็มโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ให้ผู้ที่ยืนอยู่ในแถวยืนเอาหัวไหล่ชิดกันและให้เท่าชิดเท้าในระหว่างกัน

 

ส่วนหนึ่งจากบรรดาอัล-หะดีษที่ระบุถึงการจัดแถวละหมาดญะมาอะฮฺให้ตรงและสมบูรณ์ ได้แก่

1. ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( سَوُّوا صُفُوفَكُمْ ، فَإِنَّ تَسْوِيَةَ الصَّفِّ مِنْ تَمَامِ الصَّلاةِ ))

ความว่า “พวกท่านจงจัดบรรดาแถวของพวกท่านให้ตรง เพราะแท้จริงการจัดแถวให้ตรงเป็นส่วนหนึ่งจากความสมบูรณ์ของการละหมาด” (จากท่าน อะนัส (ร.ฎ.) รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม)

 

2. ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( سَوُّوا صُفُوفَكُمْ ، فَإِنَّ تَسْوِيَةَ الصَّفِّ مِنْ إقامةِ الصَّلاةِ ))

ความว่า “พวกท่านจงจัดบรรดาแถวของพวกท่านให้ตรง เพราะแท้จริงการจัดบรรดาแถวให้ตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากการดำรงการละหมาด” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ คำว่า “การดำรงการละหมาด” หมายถึงการดำรงการละหมาดซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีบัญชาใช้ในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า (وأقِيْمُوْا الصَّلَاةَ) “และพวกท่านจงดำรงการละหมาด” นั่นเอง)

 

3. จากท่านอบูมัสอูด อัล-บัดรียฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า

(( كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَمْسَحُ مَنَاكِبَنَا فِي الصَّلاةِ وَيَقُولُ : ” اسْتَوُوْا ، وَلا تَخْتَلِفُوا فَتَخْتَلِفَ قُلُوبُكُمْ ” ))

ความว่า “ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยลูบ (จับ) บรรดาหัวไหล่ของพวกเราในการละหมาด และท่านกล่าวว่า “พวกท่านจงจัดแถวให้ตรง และอย่าได้กระทำแตกต่างกัน (หมายถึงอย่าให้หัวไหล่เหลื่อมล้ำในระหว่างกันเอง) เพราะนั่นจะเป็นเหตุให้หัวใจของพวกท่านแตกต่างกัน (หมายถึง มีความแตกต่างกันในเรื่องความนึกคิดซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและพิพาทในระหว่างกัน)” (รายงานโดย มุสลิม)

 

4. จากท่านอัน-นุอฺมาน อิบนุ บะชีรฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า “ฉันเคยได้ยินท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( لَتُسَوُّنَّ صُفُوفَكُمْ أَوْ لَيُخَالِفَنَّ اللهُ بَيْنَ وُجُوهِكُمْ ))

ความว่า “(ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ) แน่แท้พวกท่านจำต้องจัดบรรดาแถวของพวกท่านให้ตรง หรือ (หากพวกท่านไม่จัดบรรดาแถวของพวกท่านให้ตรง) แน่นอนพระองค์อัลลอฮฺจะทรงทำให้เกิดความขัดแย้งกันในระหว่างใบหน้าของพวกท่าน” (รายงานพ้องกันโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

5. จากท่านบะรออฺ อิบนุ อาซิบ (ร.ฎ.) กล่าวว่า

(( كَانَ رَسُولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم يَتَخَلَّلُ الصَّفَّ مِنْ نَاحِيَةٍ إِلَى نَاحِيَةٍ ، يَمْسَحُ صُدُورَنَا مَنَاكِبَنَا ، وَيَقُولُ ” لاَ تَخْتَلِفُوا فَتَخْتَلِفَ قُلُوبُكُمْ ” . وَكَانَ يَقُولُ ” إِنَّ اللهَ وَمَلاَئِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى الصُّفُوفِ الْأولِ ))

ความว่า “ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยเดินระหว่างแถวจากปลายแถวด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ท่านลูบ (จับ) หน้าอกและหัวไหล่ของพวกเรา และท่านกล่าวว่า “พวกท่านอย่าขัดแย้งกัน (ด้วยการยืนเหลื่อมล้ำและไม่จัดแถวให้ตรง) เพราะจะเป็นเหตุให้หัวใจของพวกท่านขัดแย้งกัน” และท่านเคยกล่าวว่า  “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺและบรรดามะลาอิกะฮฺของพระองค์จะประสาทพรแก่บรรดาแถวแรกๆ” (รายงานโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่หะสัน)

 

6. จากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( أَقِيمُوا الصُّفُوفَ ، وَحَاذُوا بَيْنَ الْمَنَاكِبِ ، وَسُدُّوا الْخَلَلَ ، ولِنُوْابأيْدي إخوانكم ، وَلَا تَذَرُوا فُرُجَات لِلشَّيْطَانِ ، وَمَنْ وَصَلَ صَفًا وَصَلَهُ اَللَّهُ ، وَمَنْ قَطَعَ صَفًّا قَطَعَهُ اللهُ ))

ความว่า “พวกท่านจงยืนจัดแถวให้ตรง , จงให้เสมอกันระหว่างหัวไหล่ , จงอุดช่องว่าง , จงโอนอ่อนผ่อนตามมือพี่น้องของพวกท่าน และจงอย่าปล่อยให้มีช่องว่างแก่ซัยฏอน และผู้ใดเชื่อมต่อแถว อัลลอฮฺทรงเชื่อมต่อกับเขาผู้นั้น และผู้ใดทำแถวให้ขาดตอนอัลลอฮฺทรงตัดรอนกับผู้นั้นแล้ว” (รายงานโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺ)

 

7. จากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( رُصُّوا صُفُوفَكُمْ ، وَقَارِبُوا بَيْنَهَا ، وَحَاذُوا بِالْأَعْنَاقِ فَوَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ إِنِّي لَأَرَى الشَّيْطَانَ يَدْخُلُ مِنْ خَلَلِ الصَّفِّ كَأَنَّهَا الْحَذَفُ ))

ความว่า “พวกท่านจงเชื่อมบรรดาแถวของพวกท่านให้ชิดติดกัน (ประหนึ่งดังการหลอมด้วยตะกั่ว) จงให้ใกล้กันระหว่างบรรดาแถว และจงให้ตรงกันด้วยต้นคอ (คือหัวไหล่) ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงฉันย่อมมองเห็นซัยฏอนว่ามันจะเข้ามาจากช่องว่างของแถวประหนึ่งดังว่ามันนั้นเป็นแกะสีดำของเมืองยะมัน” (รายงานโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานเศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิม)

 

8. จากท่านอะนัส (ร.ฎ.) แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( أَتِمُّوا الصَّفَّ الْمُقَدَّمَ ، ثُمَّ الَّذِي يَلِيهِ ، فَمَا كَانَ مِنْ نَقْصٍ فَلْيَكُنْ فِي الصَّفِّ الْمُؤَخَّرِ ))

ความว่า “พวกท่านจงทำให้แถวข้างหน้าสมบูรณ์ ต่อมาก็แถวที่อยู่ถัดมา ดังนั้นสิ่งใดที่ปรากฏจากความบกพร่อง (หมายถึงแถวที่ไม่เต็ม) ก็จงให้อยู่ในแถวข้างหลังสุด” (รายงานโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่หะสัน)

 

9. จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า “ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( إِنَّ اللهَ وَمَلاَئِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى مَيَا مِنِ الصُّفُوْفِ ))

ความว่า “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และบรรดามะลาอิกะฮฺของพระองค์จะประสาทพรแก่บรรดาด้านขวาจากบรรดาแถว (หมายถึงผู้ร่วมละหมาดที่ยืนอยู่ทางขวาของอิมาม)” (รายงานโดย อบูดาวูด)

 

10. จากท่านอัล-บะรออฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า

(( كُنَّا إِذَا صَلَّيْنَا خَلْفَ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَحْبَبْنَا أَنْ نَكُونَ عَنْ يَمِينِهِ ، يُقْبِلُ عَلَيْنَا بِوَجْهِهِ ، فَسَمِعْتُهُ يَقُولُ : ” رَبِّ قِنِي عَذَابَكَ يَوْمَ تَبْعَثُ – أَوْ تَجْمَعُ – عِبَادَكَ ” ))

ความว่า “ปรากฏว่าพวกเรานั้น เมื่อพวกเราละหมาดอยู่ข้างหลังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) พวกเราก็ชอบต่อการที่พวกเราจะอยู่ทางด้านขวาของท่าน ท่านจะหันหน้ามายังพวกเรา แล้วฉันก็เคยได้ยินท่านกล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ทรงป้องกันให้ฉันพ้นการลงทัณฑ์ของพระองค์ในวันที่พระองค์จะทรงชุบชีวิต-หรือทรงรวบรวม-ปวงบ่าวของพระองค์” (รายงานโดยมุสลิม)

 

อนึ่ง ประเด็นเกี่ยวกับการจัดแถวละหมาดญะมาอะฮฺ การยืนของอิมามและมะอฺมูมจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป อินชาอัลลอฮฺ