ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

21. เมื่ออิมามเข้าสู่การละหมาดแล้ว ต่อมาอิมามก็ละหมาดนานเพื่อ (ดึงเวลา) รอคอยผู้มาละหมาด

 

กรณีนี้อิมามมีหลายสภาพ กล่าวคือ

1. อิมามรู้ตัวในสภาพที่อิมามก้มลงรุกัวอฺว่ามีคนต้องการละหมาดตาม อิมามจะรอคนๆ นั้นหรือไม่? กรณีนี้มี 2 คำกล่าวในมัซฮับ คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดคือ ส่งเสริมให้อิมามรอคนๆ นั้น คำกล่าวที่สองถือว่ามักรูฮฺ

 

ในกรณีที่ถือตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งส่งเสริมให้รอนั้นมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั้นอยู่ภายในมัสญิดขณะที่รอ , การรอนั้นต้องไม่นานจนน่าเกลียด และมีเจตนาในการรอเพื่อเป็นการสร้างความใกล้ชิดไปยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติ

 

แต่ถ้าเราถือตามคำกล่าวที่ว่า การรอนั้นเป็นมักรูฮฺ แล้วอิมามก็รอ กรณีนี้ถือว่าไม่เสียละหมาดแต่อย่างใดตามมัซฮับและคำชี้ขาดของปวงปราชญ์ในมัซฮับ (อ้างแล้ว 4/126)

 

2. อิมามรู้ตัวว่ามีคนต้องการละหมาดตามในสภาพที่อิมามอยู่ในการตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย กรณีนี้มีความเห็นต่างเช่นเดียวกับกรณีที่อิมามรุกัวอฺ แต่คำกล่าวที่ถูกต้องคือส่งเสริมให้รอตามเงื่อนไขดังที่กล่าวมา (อ้างแล้ว 4/126)

 

3. อิมามรู้ตัวว่ามีคนต้องการละหมาดตามในกรณีที่อื่นจากการรุกัวอฺและตะชะฮฺฮุด เช่น การยืน การ สุหญุด , การอิอฺติดาล และการตะชะฮฺฮุดครั้งแรกเป็นต้น ในกรณีนี้มีหลายแนวทางในมัซฮับ ที่ถูกต้องที่สุด คือ

 

อิมามไม่ต้องรอคนๆ นั้น เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในกรณีดังกล่าว ต่างจากกรณีของการรุ่กัวฮฺซึ่งผู้ที่จะละหมาดตามอิมามจะได้รอกอะฮฺนั้น และต่างจากกรณีของการตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย ซึ่งผู้นั้นจะได้ภาคผลความประเสริฐของการทันละหมาดญะมาอะฮฺ การรอใน 2 กรณีนี้จึงเป็นที่ส่งเสริมตามเงื่อนไขที่กล่าวมา ส่วนกรณีอื่นจากทั้งสองนี้หากอิมามรอก็ถือว่ามักรูฮฺ แต่การละหมาดของอิมามไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด (อ้างแล้ว 4/127)

 

หากอิมามเข้าสู่การละหมาดสำหรับญะมาอะฮฺหนึ่งแล้วอิมามก็ละหมาดนานเพื่อให้คนอีกกลุ่มหนึ่งมาสมทบทำให้ญะมาอะฮฺนั้นมีจำนวนคนร่วมละหมาดมากขึ้น หรือเพื่อให้บุคคลที่รู้กันว่าเขามาร่วมละหมาดเป็นประจำได้ตามมาสมทบหรือในทำนองนั้น กรณีนี้ถือว่ามักรูฮฺโดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ทั้งนี้เพราะคนเหล่านั้นบกพร่องในการล่าช้าเอง และเป็นเพราะการละหมาดนานนั้นทำให้บรรดามะอฺมูมได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนเมื่ออิมามไม่รอพวกเขา สิ่งดังกล่าวย่อมเป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาต้องรีบมาละหมาดและมาแต่เนิ่นๆ (อ้างแล้ว 4/127)

 

ส่วนถ้าหากว่าอิมามยังไม่ได้เข้าสู่การละหมาด และก็ได้เวลาเข้าสู่การละหมาดขณะนั้นแล้ว (เช่น มีการอิกอมะฮฺแล้ว) กอปรกับมีมะอฺมูมบางส่วนได้มาร่วมอยู่ ณ เวลานั้น และอิมามก็หวังว่าจะมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น ก็ส่งเสริมให้อิมามรีบเข้าสู่การละหมาดเลยโดยไม่ต้องรอพวกเขา แต่ถ้ามะอฺมูมมาพร้อมแล้วโดยที่อิมามยังไม่มา กรณีนี้ได้กล่าวมาแล้วในประเด็นก่อนหน้านี้

 

อนึ่ง ในกรณีที่อิมามรอผู้ที่เข้ามาร่วมละหมาดในสภาพที่อิมามกำลังรุ่กัวอฺอยู่นั้น ตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดในมัซอับอัช-ชาฟิอียฺ คือส่งเสริมให้รอพร้อมกับคำนึงถึงเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้ว และอิบนุ อัล-มุนซิรได้เล่าทัศนะนี้จากอัช-ชะอฺบียฺ , อันนะเคาะอียฺ , อบีมุจญ์ลิซฺ , อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ อบีลัยลา ทั้งหมดเป็นชนรุ่นอัต-ตาบิอีน และเล่าจากอิมามอะหฺมัด , อิสหาก และอบูเษาริน ว่าให้อิมามรอคนๆ นั้นตราบใดที่การรอไม่สร้างความลำบากให้แก่บรรดามะอฺมูม และเล่าจากอิมามอบูหะนีฟะฮฺ , อิมามมาลิก , อัล-เอาซาอียฺ , อบูยุสุฟ และดาวูด ว่า อิมามไม่ต้องรอคนๆ นั้น และอิบนุอัล-มุนซิรถือว่าเป็นเรื่องดี (อ้างแล้ว 4/128)