ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

2. การเป็นอิมามของผู้ชายในการนำละหมาดญะมาอะฮฺกับบรรดาสตรีนั้นประเสริฐกว่าการเป็นอิมามของผู้หญิงในการนำละหมาดญะมาอะฮฺกับบรรดาสตรีด้วยกัน เนื่องจากผู้ชายมีความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการละหมาดมากกว่า และผู้ชายที่เป็นอิมามนั้นอ่านเสียงดังได้ในทุกกรณี (ที่มีสุนนะฮฺให้อิมามนำละหมาดอ่านเสียงดัง)

 

แต่ไม่อนุญาตให้ชายละหมาดเพียงลำพังกับหญิงหนึ่งคนในกรณีที่ชายนั้นมิใช่มะหฺร็อม (ผู้ที่ห้ามแต่งงานด้วย) สำหรับหญิงนั้น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่  4/93) ทั้งนี้การที่ผู้ชายละหมาดเพียงลำพังกับผู้หญิงอื่นที่มิใช่มะหฺร็อมนั้นถือเป็นมักรูฮฺ กะรอฮะฮฺ ตะหฺรีม (กล่าวคือ น่ารังเกียจมากจนเกือบเป็นที่ต้องห้าม)

 

บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า “เมื่อผู้ชายเป็นอิมามนำละหมาดภรรยาของตนหรือหญิงผู้เป็นมะหฺร็อมสำหรับชายนั้นโดยละหมาดกันเพียงสองต่อสองในที่ลับตาคน ก็ถือว่าอนุญาตโดยไม่เป็นการน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) แต่อย่างใด เพราะอนุญาตให้ชายผู้นั้นอยู่ในที่ลับตาคนสองต่อสองกับนางในกรณีที่นอกเหนือจากการละหมาดอยู่แล้ว  แต่ถ้าหากชายผู้นั้นเป็นอิมามนำละหมาดหญิงอื่น (อัจญ์นะบียะฮฺ) และอยู่ในที่ลับตาคนเพียงสองต่อสองกับนางก็ถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นที่ต้องห้ามเหนือชายผู้นั้นและหญิงผู้นั้น

 

ส่วนในกรณีที่ผู้ชายนำละหมาดบรรดาหญิงอื่น (คือผู้หญิงที่มิใช่มะหฺร็อมจำนวนหลายคน) กรณีนี้มี 2 แนวทางในมัซฮับซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดว่าเป็นที่อนุญาต เพราะในภาวะปกติส่วนใหญ่นั้น บรรดาผู้หญิงหลายคนผู้ชายหนึ่คนจะไม่สามารถกระทำเรื่องเสียหายกับผู้หญิงบางคนต่อหน้าพวกนาง แต่ถ้าหากมีบรรดาผู้ชายละหมาดอยู่ในที่ลับตาแล้วมีผู้หญิงหนึ่งคนร่วมละหมาดอยู่ด้วยตามทัศนะที่รู้กัน (มัชฮูรฺ) ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม เพราะเป็นไปได้ว่าบรรดาผู้ชายอาจตกลงร่วมกันในการกระทำเรื่องเสียหายกับหญิงผู้นั้น

 

แต่มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “หากปรากฏว่าบรรดาผู้ชายนั้นเป็นบุคคลที่ห่างไกลจากการสมรู้ร่วมคิดกันกระทำสิ่งที่เสียหายก็เป็นที่อนุญาต ทั้งนี้ทั้งหมดที่กล่าวมา หากว่าผู้หญิงนั้นเป็นหญิงอื่นที่มิใช่มะหฺรอมกับชายเหล่านั้นหรือคนหนึ่งคนใดจากชายเหล่านั้น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 173)

 

อนึ่งการละหมาดญะมาอะฮฺของบรรดาสตรีในบ้านของพวกนางมีความประเสริฐกว่าการมาละหมาดที่มัสญิดของพวกนาง เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า;

(( لا تَمْـــنَعُوا نِسَاءَكُمُ الْمَسَاجِدَ ، وَبُيُوتُهُنَّ خَيْرٌ لَهُنَّ ))

ความว่า “พวกท่านอย่าได้ห้ามบรรดาสตรีของพวกท่าน (มาละหมาดญะมาอะฮฺที่) บรรดามัสญิด และบรรดาบ้านเรือนของพวกนางนั้นดีที่สุดสำหรับพวกนาง” (รายงานโดย อบูดาวูดด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามอัล-บุคอรียฺ)

 

และการละหมาดของพวกนางภายในสัดส่วนที่มิดชิดที่สุดของบ้านย่อมถือเป็นที่ประเสริฐที่สุด เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่รายงานโดยท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) ว่าแท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( صَلَاةُ الْمَرْأَةِ فِي بَيْتِهَا أَفْضَلُ مِنْ صَلَاتِهَا فِي حُجْرَتِهَا، وَصَلَاتُهَا فِي مَخْدَعِهَا أَفْضَلُ مِنْ صَلَاتِهَا فِي بَيْتِهَا ))

ความว่า “การละหมาดของสตรีภายในบ้านของนางประเสริฐกว่าการละหมาดของนางภายในห้อง (มุมหนึ่งในบ้าน) ของนาง และการละหมาดของนางในที่ซ่อนตัวของนางประเสริฐกว่าการละหมาดของนางในบ้านของนาง” (รายงานโดย อบูดาวูดด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิม)

 

ถ้าหากผู้หญิงต้องการมาละหมาดที่มัสญิด บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า “หากปรากฏว่าหญิงนั้นเป็นสาวแรกรุ่นหรือเป็นสาวใหญ่ที่เย้ายวนอารมณ์ก็ถือเป็นที่มักรูฮฺสำหรับนาง และมักรูฮฺสำหรับสามีของนางและผู้ปกครอง (วะลียฺ) ของนางในการเอื้อให้นางไปมัสญิดโดยพละการ แต่ถ้าหากหญิงนั้นเป็นหญิงชราหรือสูงวัยและไม่เย้ายวนอารมณ์ ก็ไม่มักรูฮฺแต่อย่างใดในการที่นางจะไปละหมาดที่มัสญิด (อ้างแล้ว 4/93-94)

 

การให้รายละเอียดเช่นนี้เป็นไปตามนัยของบรรดาอัล-หะดีษที่มีรายงานมาอย่างถูกต้อง อาทิ

– ท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) รายงานว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

(( إِذَا اسْتَأْذَنَكُمْ نِسَاؤُكُمْ إِلَى الْمَسْجِدِ فَأْذَنُوا لَهُنَّ ))

ความว่า “เมื่อภรรยาของคนหนึ่งในหมู่พวกท่านขออนุญาตเขา (สามีของนาง) ไปมัสญิด เขาผู้นั้นก็อย่าห้ามนาง” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม) ในอีกริวายะฮฺหนึ่งใช้สำนวนว่า

(( إِذَا اسْتَأْذَنَكُمْ نِسَاؤُكُمْ بِاللَّيْلِ إِلَى الْمَسْجِدِ فَأْذَنُوا لَهُنَّ ))

ความว่า “เมื่อบรรดาสตรีของพวกท่านขออนุญาตพวกท่านไปยังมัสญิดในยามค่ำคืน พวกท่านก็จงอนุญาตให้แก่พวกนาง” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

– รายงานจากอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า “ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( لَا تَمْنَعُوا إِمَاءَ اللهِ مَسَاجِدَ اللهِ ))

ความว่า “พวกท่านอย่าห้ามบรรดาบ่าวหญิงของอัลลอฮฺไปยังบรรดามัสญิดของอัลลอฮฺ” (รายงานโดยมุสลิม)

 รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า

(( لَوْ أَنَّ رَسُولَ اللهِ صلى الله عليه وسلم رَأَى مَا أَحْدَثَ النِّسَاءُ لَمَنَعَهُنَّ الْمَسْجِدَ كَمَا مُنِعَتْ نِسَاءُ بَنِي إِسْرَائِيلَ ))

ความว่า “หากว่าแท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เห็นถึงสิ่งที่บรรดาผู้หญิงได้กระทำเหตุต่างๆ นาๆ แล้วไซร้ ท่านรสุลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ย่อมห้ามพวกนางไม่ให้ไปมัสญิดเหมือนอย่างที่บรรดาผู้หญิงของวงศ์วานอิสราเอลถูกห้ามเป็นแน่แท้” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

อนึ่ง เป็นที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับสามีในการที่เขาจะอนุญาตให้แก่ภรรยาของเขา เมื่อนางได้ขออนุญาตเขาไปมัสญิดเพื่อปฏิบัติละหมาด ทั้งนี้เมื่อปรากฏว่านางเป็นหญิงสูงวัยที่ไม่ยั่วยวนให้เกิดอารมณ์และนางมีความปลอดภัยจากเรื่องเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับนางและคนอื่นๆ ตามที่บรรดาอัล-หะดีษข้างต้นระบุ แต่ถ้าหากสามีห้ามนางก็ไม่เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เหนือสามี นี่เป็นมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอิมาม อัล-บัยฮะกียฺ กล่าวว่า บรรดานักปราชญ์ทั่วไปก็ว่าตามนี้

 

ส่วนอัล-หะดีษที่ระบุว่า “พวกท่านอย่าได้ห้ามบรรดาบ่าวหญิงของอัลลอฮฺไปยังบรรดามัสญิดของอัลลอฮฺ” นั้น ถูกตอบได้ว่า เป็นคำห้ามในเชิงไม่บังควร (นะฮฺยุ ตันซิฮฺ) เพราะสิทธิของสามีในกรณีที่ภรรยาต้องอยู่ประจำในที่พักอาศัยเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) ดังนั้นนางก็จะต้องไม่ละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบเพียงเพื่อปฏิบัติสิ่งที่มีภาคผลความประเสริฐ (ฟะฎิละฮฺ)

 

ในกรณีที่ผู้หญิงมีความประสงค์ไปร่วมละหมาดที่มัสญิด ก็เป็นที่มักรูฮฺสำหรับนางในการที่นางจะใส่เครื่องหอมและสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ชั้นดี เนื่องจากมีอัล-หะดีษของท่านหญิงซัยหนับ อัษ-เกาะฟียะฮฺ (ร.ฎ.) ภรรยาของท่านอิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) รายงานว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวแก่พวกเราว่า

(( إِذَا شَهِدَتْ إِحْدَاكُنَّ الْمَسْجِدَ فَلَا تَمَسَّ طِيبًا ))

ความว่า “เมื่อคนหนึ่งของพวกเธอได้มาร่วมละหมาด ณ มัสญิด นางก็อย่าได้สัมผัสเครื่องหอม” (รายงานโดยมุสลิม) และมีรายงานจากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

(( لا تَمْنَعُوا إِمَاءَ اللهِ مَسَاجِدَ اللهِ ، وَلَكِنْ لِيَخْرُجْنَ وَهُنَّ تَفِلاتٌ ))

ความว่า “พวกท่านอย่าได้ห้ามบรรดาบ่าวหญิงของอัลลอฮฺไปยังบรรดามัสญิดของอัลลอฮฺ แต่ทว่าให้พวกนางออกไปในสถาพที่พวกนางละทิ้งการใช้เครื่องหอม” (รายงานโดยอบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

อนึ่ง ในการมาร่วมละหมาดที่มีมัสญิดของสตรีสูงวัยที่ไม่ยั่วยวนอารมณ์นั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าสิ่งดังกล่าวไม่เป็นที่มักรูฮฺไม่ว่าจะเป็นการละหมาดใดๆ อัล-อับดะรียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า :นักวิชาการฟิกฮฺส่วนมากถือตามนี้ ส่วนอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า  : เป็นที่มักรูฮฺ ยกเว้นในเวลาละหมาดฟัจญ์ (ศุบหิ) , อิชาอฺ , และละหมาดอีด ส่วนการละหมาดญะมาอะฮฺสำหรับบรรดาผู้หญิงนั้นถือเป็นที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับพวกนางไม่ว่าจะเป็นการละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนนะฮฺก็ตาม

 

โดยอิบนุ อัล-มุนซิรฺ ได้เล่าจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฮ.) ท่านหญิงอุมมุสละมะฮฺ (ร.ฎ.) , ท่านอะฏออฺ , อัษ-เษารียฺ , อัล-เอาซาอียฺ , อิมามอะหฺมัด , ท่านอิสหาก และอบูเษาริน (เราฎิยัลลอฮุอันฮุม) และอิบนุ อัล-มุนซิรฺ กล่าวว่า : สุลัยมาน อิบนุ ยะสารฺ , อัล-หะสัน อัลบะเศาะรียฺ และอิมามมาลิก (เราฮิมะฮุมุลลอฮฺ) กล่าวว่า : ผู้หญิงจะไม่เป็นอิมามนำละหมาดผู้ใดไม่ว่าละหมาดฟัรฎูหรือสุนนะฮฺ และอัศหาบุรฺเราะอฺย์ (นักวิชาการที่ยึดทัศนะเป็นหลัก) กล่าวว่า : เป็น มักรูฮฺแต่ใช้ได้  ส่วนอิมาม อัช-ชะอฺบียฺ , อัน-นะเคาะอียฺ และเกาะตาดะฮฺ กล่าวว่า : ผู้หญิงจะเป็น  อิมามนำละหมาดผู้หญิงด้วยกันเฉพาะละหมาดสุนนะฮฺเท่านั้น โดยไม่เป็นอิมามนำละหมาดฟัรฎู

 

หลักฐานที่สนับสนุนทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ คือ หะดีษของอุมมุ วะเราะเกาะฮฺ (ร.ฎ.) ที่ว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ใช้ให้นางเป็นอิมามนำละหมาดในบ้านของนาง” (รายงานโดย อบูดาวูด และอบูดาวูดมิได้ระบุว่าเป็นหะดีษอ่อน (เฎาะอีฟ) แต่อย่างใด)

 

และมีรายงานจากร็อบเฎาะฮฺ อัล-หะนะฟียะฮฺว่า “ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เคยเป็นอิมามนำละหมาดพวกเรา ท่านหญิงก็ยืนอยู่ระหว่างพวกนางในการละหมาดฟัรฎู” และรายงานจากหุญัยเราะฮฺว่า : ท่านหญิงอุมมุสละมะฮฺ (ร.ฎ.) เคยเป็นอิมามนำละหมาดพวกเราในการละหมาดอัศริ ท่านหญิงก็ยืนอยู่ระหว่างพวกเรา” รายงานหะดีษทั้งสองบทนี้โดย อัด-ดาเราะกุฏนียฺและอัล-บัยฮะกียฺด้วย 2 สายรายงานที่เศาะหิหฺ (อ้างแล้ว 4/95)