ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

22. จำเป็นที่มะอฺมูมต้องปฏิบัติตามอิมาม และเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) สำหรับมะอฺมูมในการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากอิริยาบถก่อนอิมาม และการปฏิบัติตาม (มุตาบะอะฮฺ) นั้นคือการดำเนินภายหลังอิมามโดยที่การเริ่มของมะอฺมุมสำหรับทุกๆ อิริยาบถต้องล่าช้า (คือเกิดขึ้นทีหลัง) ภายหลังจากการเริ่มของอิมามและเกิดขึ้นก่อนหน้าการเสร็จสิ้นของอิมามจากอิริยาบทนั้น และในทำนองเดียวกันมะอฺมูมจะต้องปฏิบัติตามอิมามในบรรดาคำกล่าว โดยการเริ่มของมะอฺมูมเกิดขึ้นล่าช้าจากตอนแรกของการเริ่มของอิมาม ยกเว้นในกรณีการกล่าว “อามีน” ส่งเสริมให้กล่าวพร้อมกับอิมาม (อ้างแล้ว 4/130)

 

หากมะอฺมูมปฏิบัติค้านอิมามในการตามก็มีสภาพของมะอฺมูมดังต่อไปนี้

สภาพที่ 1 มะอฺมูมทำพร้อม (ควบคู่) กับอิมาม ดังนั้นหากมะอฺมูมทำพร้อมอิมามในการตักบีเราะตุล อิหฺร็อม หรือสงสัยในการทำพร้อมกับอิมาม หรือเข้าใจว่าทำช้าหลังอิมามแล้วปรากฏชัดว่าเขาทำพร้อมกับ อิมาม การละหมาดของมะอฺมูมถือว่าใช้ไม่ได้ตามการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ พร้อมมีตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺระบุเอาไว้ และตามนี้อิมามมาลิก , อบูยูซุฟ , อิมามอะหฺมัด และดาวูดกล่าวเอาไว้ ส่วนอัษ-เษารียฺ , อิมามอบูหะนีฟะฮฺ , ท่านซุฟัรฺ และอิมามุฮัมมัด กล่าวว่า การละหมาดของมะอฺมูมใช้ได้เช่นเดียวกับกรณีทำพร้อมกับอิมามในการรุ่กัวอฺ (อ้างแล้ว 4/130)

 

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า มีเงื่อนไขว่าการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมทั้งหมดของมะอฺมูมต้องล่าช้า (คือทำทีหลัง) การตักบีเราะตุลอิหฺร็อมทั้งหมดของอิมาม และถ้าหากมะอฺมูมทำพร้อมกับอิมามในการให้สล่าม กรณีนี้มี 2 ประเด็นที่รู้กันสำหรับนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสาน คือ

1) ถูกต้องที่สุด (อะเศาะฟฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) ถือว่ามักรูฮฺและการละหมาดของมะอฺมูมไม่เป็นโมฆะ

2) การละหมาดของมะอฺมูมเป็นโมฆะ แต่ถ้าหากมะอฺมูมทำพร้อมกับอิมามในกรณีอื่นจากสิ่งดังกล่าว (คือ การตักบีเราะตุลอิหฺร็อมและการให้สล่าม) การละหมาดของมะอฺมูมก็ไม่เป็นโมฆะ แต่มักรูฮฺโดยการเห็นพ้องของปวงปราชญ์ในมัซฮับ และอิมามอัร-รอฟิอียฺกล่าวว่า “ภาคผลความประเสริฐการละหมาดญะมาอะฮฺย่อมผ่านพ้นมะอฺมูมผู้นั้น (คือไม่ได้รับภาคผลความประเสริฐของการละหมาดญะมาอะฮฺ) (อ้างแล้ว 4/130)

 

สภาพที่ 2 มะอฺมูมกระทำล่าช้าจากอิมาม ดังนั้น หากมะอฺมูมกระทำล่าช้าโดยไม่มี อุปสรรค์ (อุซฺร์) ก็ให้พิจารณาว่า หากมะอฺมูมกระทำล่าช้าจากอิมามเพียงรุก่นเดียว การละหมาดของมะอฺมูมก็ไม่เป็นโมฆะตามทัศนะที่ถูกต้องและรู้กัน แต่ถ้าหากมะอฺมูมกระทำล่าช้าสองรุ่นก่นการละหมาดของมะอฺมูมก็ถือเป็นโมฆะเนื่องจากสิ่งดังกล่าวค้านกับการปฏิบัติตาม (มุตาบะอะฮฺ)

 

และส่วนหนึ่งจากการกระทำล่าช้าโดยไม่มีอุปสรรค (อุซฺร์) คือการที่อิมามลงก้มรุ่กัวอฺ แล้วมะอฺมูมก็ยังคงพะวงอยู่กับการอ่านสูเราะฮฺจนจบ ในทำนองเดียวกันหากมะอฺมูมมัวพะวงอยู่กับการตัสบีหฺของการรุ่กัวอฺและการสุหญุดยาวก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ล่าช้าโดยไม่มีอุปสรรค ส่วนกรณีของการอธิบายถึงการกระทำล่าช้าเพียงหนึ่งรุก่นนั้น กรณีนี้จำเป็นต้องรู้ถึงประเภทของรุก่นว่าเป็นรุก่นยาวหรือสั้น รุก่นที่สั้นนั้นคือการอิอฺติดาล (เงย) จากการรุ่กัวอฺ และการนั่งระหว่างสอง สุหญูดตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น

 

ส่วนรุก่นยาวคือรุก่นอื่นที่นอกเหนือจากรุก่นทั้งสอง (อิอฺติดาล – นั่งระหว่างสองสุหญูด) ดังนั้นเมื่ออิมามก้มลงรุกัวอฺแล้วมะอฺมูมก็ก้มลงรุกัวอฺและทันอิมามในการรุกัวอฺนั้น กรณีนี้มะอฺมูมย่อมมิใช่ผู้กระทำล่าช้าด้วยหนึ่งรุก่นและการละหมาดของมะอฺมูมก็ไม่เป็นโมฆะอย่างเด็ดขาด

 

ดังนั้นหากอิมามอิอฺติดาล (เงยศีรษะ) จากการรุ่กัวอฺแต่มะอฺมูมยังคงอยู่ในการยืน การละหมาดของมะอฺมูมก็ถือว่าไม่เป็นโมฆะตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น ส่วนถ้าหากอิมามสิ้นสุดยังการสุหญูดแล้วแต่มะอฺมูมยังคงอยู่ในการยืน การละหมาดของมะอฺมูมก็เป็นโมฆะโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ทั้งนี้ในกรณีที่การทำล่าช้าของมะอฺมูมไม่มีอุปสรรค (อ้างแล้ว 4/131)

 

ส่วนหนึ่งจากอุปสรรคในการทำล่าช้าของมะอฺมูมได้แก่ การที่มะอฺมูมผู้นั้นอ่านช้าเพราะความอ่อนแอของลิ้น (มิใช่เพราะการวิสวาส) และอิมามเป็นคนอ่านเร็ว แล้วอิมามก็ก้มลงรุ่กัวอฺก่อนหน้าการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺจบของมะอฺมูม กรณีนี้มี 2 ประเด็นคือ

 

1. ให้มะอฺมูมรุ่กัวอฺตามอิมามและส่วนที่เหลือของอัล-ฟาติหะฮฺก็ตกไปจากมะอฺมูมผู้นั้นตามประเด็นนี้ หากมะอฺมูมยังคงพะวงอยู่กับการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺจนจบ ก็ถือว่ามะอฺมูมผู้นั้นกระทำล่าช้าโดยไม่มีอุปสรรค

 

2. เป็นประเด็นที่ถูกต้องซึ่งอัล-บะเฆาะวียฺและนักวิชาการส่วนมากชี้ขาดเอาไว้ คือส่วนที่เหลือของอัล-ฟาติหะฮฺนั้นไม่ตกไป แต่จำเป็นที่มะอฺมูมต้องอ่านให้จบและพยายามกระทำตามหลังอิมามตามระเบียบการละหมาดของมะอฺมูมตราบใดที่อิมามไม่กระทำนำหน้ามะอฺมูมมากกว่า 3 รุก่นที่ถูกมุ่งหมาย (คือ รุก่นที่ยาวโดยเห็นพ้องหรือรุก่นที่สั้นตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็นของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานซึ่งนักวิชาการส่วนมากและอิมามอัล-หะเราะมัยนฺชี้ขาด ส่วนอัล-บะเฆาะวียฺถือว่ารุก่นสั้นมิใช่รุก่นที่ถูกมุ่งหมาย)

 

ดังนั้น หากว่าอิมามกระทำนำหน้ามะอฺมูมเกินกว่า 3 รุก่น ก็มี 2 ประเด็น คือ

1. จำเป็นที่มะอฺมูมต้องนำตัวเองออกจากการปฏิบัติตามอิมาม (คือให้มุฟาเราะเกาะฮฺ) เนื่องจากการกระทำที่สอดคล้อง (มุวาฟะเกาะฮฺ) เป็นอุปสรรคเสียแล้ว

 

2. ถือเป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด คือ มะอฺมูมมีสิทธิปฏิบัติตามอิมาม (มุตาบะอะฮฺ) โดยตลอดต่อไป และตามประเด็นที่ 2 นี้มีแยกเป็น 2 ประเด็นคือ

ก. ให้มะอฺมูมคำนึงถึงระเบียบขั้นตอนการละหมาดของตนและดำเนินตามหลังอิมามต่อไป (จนกระทั่งทัน) ประเด็นนี้ อัล-ก็อฟฟาลวินิจฉัยเอาไว้

ข. เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด คือ ให้มะอฺมูมกระทำสอดคล้องกับอิมามในอิริยาบทของอิมามขณะนั้น ต่อมาก็ให้มะอฺมูมกระทำตามหลังในสิ่งที่ผ่านเลยมะอฺมูมไปหลังการให้สล่ามของอิมาม (อ้างแล้ว 4/132)

 

และส่วนหนึ่งจากอุปสรรคคือ การหลงลืม (อัน-นิสยาน) ดังนั้นหากมะอฺมูมก้มลงรุ่กัวอฮฺพร้อมกับอิมาม ต่อมามะอฺมูมนึกขึ้นได้ว่าตนเองหลงลืมการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺหรือสงสัยในการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ กรณีนี้ไม่อนุญาตให้มะอฺมูมหวนกลับไปเพื่ออ่านอัล-ฟาติหะฮฺเนื่องจากตำแหน่งการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺผ่านเลยไปแล้ว และจำเป็นที่มะอฺมูมต้องปฏิบัติตามอิมามต่อไปในทุกขั้นตอน

 

ครั้นเมื่ออิมามให้สล่ามแล้วก็จำเป็นที่มะอฺมูมผู้นั้นต้องลุกขึ้นกระทำอีก 1 รอกอะฮฺ และถ้าหากมะอฺมูมนึกขึ้นได้ว่าตนละทิ้งการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺหรือสงสัยในการละทิ้งนั้นโดยอิมามก้มลงรุ่กัวอฺแล้ว แต่มะอฺมูมยังมิได้ก้มลงรุ่กัวอฺการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺก็ย่อมไม่ตกไปด้วยเหตุแห่งการหลงลืมนั้น ทั้งนี้ในความจำเป็นของมะอฺมูมนั้นมี 2 ประเด็นในมัซฮับ คือ

 

1. ให้มะอฺมูมลงรุ่กัวอฺพร้อมกับอิมามเมื่ออิมามให้สล่ามแล้วก็จำเป็นที่มะอฺมูมต้องลุกขึ้นทำอีก 1 รอกอะฮฺ

 

2. ถูกต้องที่สุดคือจำเป็นต้องอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ และตามประเด็นที่ 2 นี้ถือว่าการกระทำล่าช้าของมะอฺมูมเป็นการกระทำล่าช้าของผู้มีอุปสรรคตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 2 ถือว่ามะอฺมูมไม่ใช่ผู้มีอุปสรรคเนื่องจากความบกพร่องของมะอฺมูมเป็นไปด้วยเหตุแห่งการหลงลืม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 4/132)

 

สภาพที่ 3 การที่มะอฺมูมกระทำก่อนอิมามด้วยการรุ่กัวอฺหรืออื่นๆจากบรรดาอิริยาบทที่เป็นการกระทำ (อัล-อัฟอาล) ซึ่งการกระทำก่อนนี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ดังที่กล่าวมาแล้ว ต่อมาก็ให้พิจารณาว่า หากมะอฺมูมมิได้กระทำนำหน้าก่อนอิมามด้วยหนึ่งรุ่ก่นที่สมบูรณ์โดยมะอฺมูมก้มลงรุกัวอฺก่อนหน้าอิมาม แต่มะอฺมูมก็ยังไม่ได้เงยขึ้นจากการรุ่กัวอฺจนกระทั่งอิมามก้มลงรุ่กัวอฺ ก็ถือว่าการละหมาดของมะอฺมูมไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ว่าจะกระทำโดยเจตนาหรือโดยหลงลืมหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นการกระทำที่ค้าน (กับการตามอิมาม) เพียงเล็กน้อย

 

นี่เป็นประเด็นในมัซฮับและปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ ส่วนประเด็นที่อบู อะลี อัฏ-เฏาะบะรียฺ , อัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏ็อยยิบ และอัร-รอฟิอียฺเล่าไว้ว่า หากมะอฺมูมมีเจตนาก็ถือว่าการละหมาดของมะอฺมูมเป็นโมฆะ ประเด็นนี้แหวกแนว (ชาซฺ) และอ่อน (เฎาะอีฟ) และเมื่อเรากล่าวว่าการละหมาดของมะอฺมูมไม่เป็นโมฆะ มะอฺมูมจะหวนกลับมายืนอีกได้หรือไม่? กรณีนี้มี 3 ประเด็นในมัซฮับ คือ

 

1. เป็นประเด็นที่ถูกต้อง ซึ่งปวงปราชญ์สังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวอีรักและนักวิชาการหลายกลุ่มที่มิใช่ชาวอีรักชี้ขาด คือ ส่งเสริม (มุสตะหับ) ในการที่มะอฺมูมจะหวนกลับมายืนตรงและก้มลงรุ่กัวอฺพร้อมกับอิมาม แต่ก็ไม่จำเป็นในการทำเช่นนั้น อัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏอยยิบ และท่านอื่นๆ ถ่ายทอดประเด็นนี้จากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ

 

2. จำเป็นที่มะอฺมูมต้องหวนกลับมายืนตรง ตามนี้ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ และชัยคฺ อบูหามิดชี้ขาดเอาไว้และมีการถ่ายทอดจากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺในอัล-เกาะดีม

 

3. การหวนกลับมายืนของมะอฺมูมเป็นที่ต้องห้าม อิมามอัล-บะเฆาะวียฺชี้ขาดเอาไว้ ดังนั้นหากมะอฺมูมหวนกลับมายืนโดยเจตนาก็ถือว่าการละหมาดของเขาเป็นโมฆะ และตามประเด็นนี้หากว่าการกระทำก่อนของมะอฺมูมเป็นเพราะหลงลืมก็มี 2 ประเด็น ที่ถูกต้องที่สุด คือให้มะอฺมูมเลือกเอาระหว่างการหวนกลับและการยังคงก้มรุ่กัวอฺอยู่ต่อไปจนกว่าอิมามจะก้มรุ่กัวอฺ ส่วนประเด็นที่สอง ถือว่าจำเป็นต้องหวนกลับมายืน ถ้าหากไม่หวนกลับมายืนก็ถือว่าการละหมาดของมะอฺมูมเป็นโมฆะ (อ้างแล้ว 4/133)

 

และถ้าหากมะอฺมูมกระทำนำหน้าก่อนอิมาม 2 รุ่ก่น การละหมาดของมะอฺมูมย่อมเป็นโมฆะ หากมะอฺมูมมีเจตนาและรู้ว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้าม แต่ถ้าหากมะอฺมูมหลงลืมหรือกระทำไปโดยไม่รู้ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม การละหมาดของมะอฺมูมก็ไม่เป็นโมฆะ แต่มะอฺมุมจะต้องไม่หวนกลับไปยังรอกอะฮฺนั้นเพราะมะอฺมูมไม่ได้ปฏิบัติตามอิมามในส่วนใหญ่ของรอกอะฮฺนั้น แต่จำเป็นที่มะอฺมูมต้องลุกขึ้นทำอีก 1 รอกอะฮฺหลังการให้ สล่ามของอิมาม (อ้างแล้ว 4/133)

 

ส่วนการกระทำนำหน้าก่อนอิมามด้วยบรรดาคำกล่าว (อัล-อักวาล) นั้น หากเป็นการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมกรณีนี้ได้กล่าวถึงมาแล้ว และหากมะอฺมูมอ่านอัล-ฟาติหะฮฺหรืออ่านตะชะฮฺฮุดเสร็จก่อนอิมามเริ่มอ่าน กรณีนี้มี 3 ประเด็น ประเด็นที่ถูกต้อง ถือว่าไม่ส่งผลอันใดและการอ่านทั้งสองนั้นก็ใช้ได้ เพราะการกระทำค้านไม่ปรากฏชัดในกรณีนี้

 

 

ประเด็นที่สอง ถือว่าเสียละหมาด และประเด็นที่สาม การละหมาดไม่เป็นโมฆะแต่การอ่านนั้นใช้ไม่ได้ ทว่าจำเป็นที่มะอฺมูมต้องอ่านทั้งสองสิ่งนั้นพร้อมกับการอ่านของอิมามหรือหลังการอ่านของอิมาม (อ้างแล้ว 4/134)