ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

9. เมื่อกลุ่มผู้มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺมาพร้อมแล้วแต่อิมามยังไม่มา  ให้พิจารณาว่า  หากว่ามัสญิดนั้นไม่มีอิมามโดยตำแหน่ง (อิมามรอติบ)  กลุ่มคนดังกล่าวก็ให้คนหนึ่งยืนข้างหน้าและนำละหมาดพวกเขาได้เลย  แต่ถ้าหากมัสญิดนั้นมีอิมามโดยตำแหน่ง  หากอิมามนั้นอยู่ใกล้ๆ (มัสญิด) ก็ให้พวกเขาส่งคนไปหาอิมามเพื่อบอกให้อิมามมาร่วมละหมาดหรืออนุญาตให้บุคคลนำละหมาดพวกเขา

 

หากอิมามโดยตำแหน่งอยู่ไกลหรือไม่อยู่ในที่ของอิมาม  (เช่น ห้องพักของมัสญิด)  ถ้าพวกเขาทราบดีถึงความมีมารยาทที่ดีของอิมามว่าจะไม่มีปัญหาด้วยการที่คนอื่นนำละหมาดและไม่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย  ก็ส่งเสริมให้คนหนึ่งของพวกเขาขึ้นไปนำหน้าและนำละหมาดพวกเขาเพื่อรักษาต้นเวลาของการละหมาด 

 

ทั้งนี้มีหลักฐานจากอัล-หีษระบุว่า  ท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)  ไปยังชุมชนของตระกูลอัมรฺ อิบนุ เอาวฟฺ เพื่อประนีประนอมระหว่างพวกเขา  ผู้คนที่รอละหมาดญะมาอะฮฺอยู่ที่มัสญิดนะบะวียฺจึงให้ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) นำละหมาดพวกเขา  เมื่อท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาถึง พวกเขาก็อยู่ในการละหมาดโดยที่ท่านมิได้แสดงอาการปฏิเสธแต่อย่างใด  (อัล-บุคอรียฺและมุสลิมรายงานเรื่องนี้จากท่าน สะฮฺล์ อิบนุ สะอฺด์ อัส-สาอีดียฺ (ร.ฎ.) 

 

อย่างไรก็ตาม สมควรอย่างยิ่งในการให้บุคคลที่เหมาะสมในการเป็นอิมามและเป็นผู้ที่อิมามมีความพอใจและรักใคร่เป็นผู้นำละหมาด  แต่ถ้าหากผู้มาร่วมละหมาดเกรงว่าอิมามจะมีปัญหาไม่พอใจหรือเกิดความวุ่นวายตามมาก็ไห้พวกเขารออิมาม  แต่ถ้าหากการรออิมามนั้นนานและเกรงว่าจะพลาดช่วงเวลาของการละหมาดทั้งหมด ก็ให้ละหมาดญะมาอะฮฺได้เลย (อ้างแล้ว 4/103)

 

ในกรณีที่อิมามและมะอฺมูมบางส่วนมาอยู่ร่วมแล้วก็ให้อิมามนำละหมาดได้เลยและไม่ต้องรอการมาร่วมของคนที่เหลือ  เพราะการละหมาดในต้นเวลาพร้อมกับญะมาอะฮฺที่มีน้อยมีความประเสริฐกว่าการทำละหมาดตอนท้ายเวลาในญะมาอะฮฺที่มีจำนวนคนมาก (อ้างแล้ว 4/103)