อบูอิสหาก อัลบัฏรูญี่ย์ (أبواسحاق البطروجي)

นูรุดดีน อัลบัฏรูญี่ย์ อบูอิสหาก อัลอิชบีลี่ย์ ไม่ทราบแน่ชัดว่าปราชญ์ผู้นี้ถือกำเนิดและสิ้นชีวิตเมื่อใด แต่ยืนยันได้ว่าเขาเป็นนักปราชญ์ผู้หนึ่งของตอนปลายศตวรรษที่ 6 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช เดิมเขามาจากเมือง บัฏรูจฺญ์ ใกล้กับนครกุรฏุบะฮฺ (โคโดบาฮฺ-สเปน) แต่เขาใช้ชีวิตและเติบโตตลอดจนศึกษาเล่าเรียนในนครอิชบีลียะฮฺ (ซีวิลล่า)

อัลโดมีลีย์ ได้กล่าวว่า “แท้จริง อบูอิสหาก นูรุดดีน อัลบัฏรูญีย์ อัลอิชบีลีย์ มีความโด่งดังยิ่งกว่า ญาบิร อิบนุ อัลอัฟละฮฺ ในวิชาดาราศาสตร์ ทว่าบรรดานักเขียนตำราในดินแดนตะวันตกเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์ได้ทำลายสิทธิอันชอบธรรมของเขาจนเสียสิ้น ชื่อเสียงของอัลบัฏรูญีย์เป็นที่รู้จักกันในนาม (Alpetragius) สำหรับชาวตะวันตก

 

อบูอิสหาก อัลบัฏรูญีย์ เป็นศิษย์ของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่นามว่า มุฮำมัด อิบนุ ฏุฟัยล์ อัลอันดะลูซีย์ (ฮ.ศ.550-581) ซึ่งเลื่องลือในวิชาแพทย์ศาสตร์, ปรัชญาและการเมืองการปกครอง

 

ทฤษฎีของอัลบัฏรูญีย์เกี่ยวกับการโคจรของหมู่ดวงดาวซึ่งรู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกว่า (Alpetragius , theory of planetary motion) ได้ส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในแวดวงดาราศาสตร์ ทฤษฎีอันยิ่งใหญ่นี้ได้สั่นคลอนระบบดาราศาสตร์ของปโตเลมี ซึ่งครอบงำความคิดของนักดาราศาสตร์ในยุคนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตำรา “อัลฮัยอะฮฺ” ของอัลบัฏรูญีย์ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการจุดประกายข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสอนของปโตเลมีในด้านดาราศาสตร์ ทำให้นักวิชาการชาวตะวันตกได้ทำการแปลตำราที่สำคัญเล่มนี้ในด้านดาราศาสตร์ออกเป็นภาษาต่างๆ ของพวกเขา

 

มิเชล สก็อต ได้แปลตำรา “อัลฮัยอะฮฺ” เป็นภาษาละติน ในปี ฮ.ศ.614 ส่วนมูซา (โมเช่) เบน ติบฺบูน ได้แปลเป็นภาษาฮิบรู ในปี ฮ.ศ.935 ในส่วนของมิเชล สก็อตนั้นถือได้ว่าเขาคือ บุคคลแรกที่นำเอาตำรา “อัลฮัยอะฮฺ” ของอัลบัฏรูญีย์ เข้าสู่โลกของคริสเตียนในยุโรป ทั้งนี้เพราะมิเชลได้ศึกษาภาษาอาหรับอย่างชำนาญในนคร ฏุลัยฏุละฮฺ (โทเลโด) เมื่อปี ฮ.ศ.614

 

อัลโดมิลีย์ ยังได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า อาร์คบิชอพ เบอร์นาดีน บัลดี เดอ เออร์บโน่ (Bernardin Baldi d-urbno) ชาวอิตาลี่ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ฮ.ศ.960-1026 ถือว่า อัลบัฏรูญีย์ เป็นนักคณิตศาสตร์ผู้โดดเด่นคนหนึ่งของโลก จากจุดนี้ท่านอาร์คบิชอพ ชาวอิตาลี่ผู้นี้จึงได้วางนามชื่อของอัลบัฏรูญีย์ เอาไว้ในทำเนียบต้นๆ ของบรรดานักดาราศาสตร์ในตำราของท่านที่รวบรวมอัตชีวประวัติของเหล่าผู้เลืองนามทั่วโลกเอาไว้

 

ทฤษฎีของอัลบัฏรูญีย์ทางด้านดาราศาสตร์ได้มีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดทฤษฎี (Eudoxus) ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับกลุ่มจักราศีที่มีศูนย์กลางร่วมกัน ซึ่งกล่าวว่า “ระหว่างการโคจรของกลุ่มจักราศีต่างๆ ไปพร้อมๆ กับได้นำไปสู่การปรากฏเส้นโคจรเดียวเท่านั้นของกลุ่มจักราศีแต่ละกลุ่ม”

 

สังเกตได้ว่า อัลบัฏรูญีย์ ได้ปฏิเสธทฤษฎีของปโตเลมีโดยสิ้นเชิงและเขาได้ชี้แนะว่าควรกลับไปพิจารณาระบบของอริสโตเติ้ลที่กล่าวถึงศูนย์กลางของจักราศีทั้งหมด และอัลบัฏรูญีย์ยังเป็นเจ้าของทฤษฎีรูปทรงหอยโข่งของจักราศีอีกด้วย

 

อัลบัฏรูญีย์ มีชื่อเสียงเลื่องลือทั้งในหมู่ของชาวคริสเตียนและชาวยิว เนื่องจากเขาเป็นผู้เดียวที่สามารถสร้างความสั่นคลอนต่อสำนักความคิดทางดาราศาตร์ของปโตเลมี ซึ่งนั่นเป็นเพราะความเจนจัดและความชำนาญการอย่างเอกอุของเขาในวิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ควบคู่กันนั่นเอง