กรณีการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยหรือดังของอิมาม

การอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ ถือเป็นองค์ประกอบหลัก (รุกน์) ที่จำเป็นในการละหมาดทั้งละหมาดฟัรฎูและละหมาดสุนนะฮฺ และเป็นสูเราะฮฺที่ถูกเจาะจง ผู้ที่สามารถอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺได้จะละหมาดใช้ไม่ได้นอกเสียจากต้องอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ นี่เป็นคำกล่าวของปวงปราชญ์จากชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ อัต-ตาบิอีนและชนรุ่นหลังพวกเขา

 

และอิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าไว้จากท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ , อุษมาน อิบนุ อบีอัล-อาศฺ , อิบนุ อับบาส , อบูฮุรอยเราะฮฺ , อบู สะอีด อัล-คุดรียฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) ท่านอัล-เอาวฺซาอียฺ , อัซ-ซุฮฺรียฺ , อิมามมาลิก , อิบนุเอาวฺน์ , อิบนุ อัล-มุบาร็อก , อิมามอะหฺมัด , อิสหาก และอบูเษาริน (เราะหิมะฮุมุลลฮฺ) และตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่า บิสมิลลาฮฺฯ เป็นหนึ่งอายะฮฺที่สมบูรณ์จากตอนต้นของสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ โดยไม่มีข้อขัดแย้ง และไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺว่า บิสมิลลาฮฺฯ นั้นจำเป็นต้องอ่านในตอนต้นของสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ

 

และการละหมาดนั้นจะใช้ไม่ได้นอกเสียจากด้วยการอ่านบิสมิลลาฮฺฯ เพราะบิสมิลลาฮฺฯ เป็นเหมือนกับสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺที่เหลือ (เป็นส่วนหนึ่งของสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺที่จำเป็นต้องอ่าน) และบรรดานักวิชาการที่เห็นพ้องกับอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่ว่าบิสมิลลาฮฺเป็นส่วนหนึ่งจากสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺคือ อิมามอะหฺมัด , อิสหาก , อบูอุบัยดฺ และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากชาวเมืองอัล-กูฟะฮฺ , มักกะฮฺ และชาวอีรักส่วนมาก ตลอดจนอัล-คอฏฏอบียฺเล่าไว้จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ (ร.ฎ)

 

และอิมามอัล-บัยฮะกียฺรายงานไว้ในตำราอัล-คิลาฟิยาตฺของท่านด้วยสายรายงานของท่านเองจากท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) , อัซซุฮฺรียฺ และสุฟยาน อัษ-เษารียฺ ตลอดจนรายงานไว้ในสุนันกุบรอของท่านจากท่านอะลี (ร.ฎ.) ท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านมุฮัมมัด อิบนุ กะอฺบ์ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อันนะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 283 , 284 , 289 , 290)

 

และหลักฐานที่บ่งชี้ว่าบิสมิลลาฮฺฯ เป็นส่วนหนึ่งจากสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺนั้น ชัยคฺ อบูมุฮัมมัด อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ อิสมาอีล อิบนิ อิบรอฮีม อัล-มักดีสียฺ อัด-ดิมัชกียฺ (ร.ฮ.) รวบรวมเอาไว้ในตำราอันโด่งดังของท่าน และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ได้สรุปและคัดย่อพร้อมเพิ่มเติมเอาไว้ในตำราอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 289-313 ซึ่งมีรายละเอียดอย่างมากและพอเพียงสำหรับผู้ที่ถือตามแนวทางของมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺในเรื่องนี้

 

ประเด็นต่อมาก็คือ  เมื่อบิสมิลลาฮฺฯ เป็นส่วนหนึ่งจากสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺซึ่งจำเป็นต้องอ่านในละหมาด อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : และส่งเสริมให้อ่านบิสมิลลาฮฺในการละหมาดที่อ่านเสียงดังในการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ และในสูเราะฮฺ (หลังการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ) กรณีนี้ไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 289)

 

และการอ่านบิสมิลลาฮฺฯ เสียงดัง เป็นคำกล่าวของนักปราชญ์ส่วนมากจากชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ อัต-ตาบิอีนและชนรุ่นหลังพวกเขาจากบรรดานักวิชาการฟิกฮฺ (ฟุเกาะฮาอฺ) และบรรดานักอ่าน (กุรรออฺ) สำหรับชนรุ่นเศาะหาบะฮฺนั้น อัล-หาฟิซฺ อบูบักร อัล-เคาฏีบ (ร.ฮ.) รายงานจากท่านอบูบักรฺ , อุมัร , อุษมาน , อะลี , อัมมารฺ อิบนุ ยาสิรฺ , อุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ , อิบนุ อุมัร , อิบนุ อับบาส , อบูเกาะตาดะฮฺ , อบู สะอีด , กอยส์ อิบนุ มาลิก , อบูฮุรอยเราะฮฺ , อับดุลลอฮฺ อิบนุ อบีเอาวฺฟา , ชัดดาด อิบนุ เอาวฺส์ , อับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัรฺ , อัล-หุสัยนฺ อิบนุ อะลี และท่านมุอาวียะฮฺ ตลอดจนกลุ่มหนึ่งจากชาวมุฮาญิรีนและอันศ็อรซึ่งอยู่ร่วมกับท่านมุอาวียะฮฺเมื่อครั้งที่ท่านนำละหมาดที่นครมะดีนะฮฺ และท่านมุอาวียะฮฺก็ละทิ้งการอ่านบิสมิลลาฮฺดัง บรรดาบุคคลเหล่านั้นก็ปฏิเสธการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยของท่านมุอาวียะฮฺ ท่านจึงกลับมาอ่านบิสมิลลาฮฺดัง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม)

 

ส่วนชนรุ่นอัต-ตาบิอีนและชนรุ่นหลังพวกเขานั้นมีเป็นจำนวนมากที่กล่าวว่าให้อ่านบิสมิลลาฮฺฯ เสียงดัง เช่น สะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบฺ , ฏอวูส , อะฏออฺ , มุญาฮิด , อบูวาอิล , สะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ , อิบนุสิรีน , อิกริมะฮฺ , อะลี อิบนุ อัล-หุสัยนฺ และมุฮัมมัด อิบนุอะลี (คืออิมามมุฮัมมัด อัล-บากิรฺ บุตรของอิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน) ท่านสาลิม อิบนุ อับดิลลาฮฺ , อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ , มักหูล , อัซซุฮฺรียฺ และอบู กิลาบะฮฺ เป็นต้น (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ อ้างแล้ว 3/298) 

 

ส่วนหลักฐานของนักวิชาการฝ่ายนี้ที่ถือว่าส่งเสริมให้อ่านบิสมิลลาฮฺฯ เสียงดังนั้นดูรายละเอียดได้จากตำรากิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ของอิมาม อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 301-312 สำหรับนักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่งที่ว่าให้อ่านบิสมิลลาฮฺค่อยนั้นก็มีเป็นจำนวนมาก (ดู อ้างแล้ว 3/299 , 300)

 

สรุปได้ว่า นักวิชาการมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถือว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺดังเป็นสุนนะฮฺ และอีกฝ่ายถือว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยเป็นสุนนะฮฺ ทั้งสองฝ่ายต่างมีตัวบทหลักฐานมาสนับสนุนทัศนะและความเห็นของฝ่ายตน ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) นั้น ท่านมีความเห็นว่าห้ามอ่านบิสมิลลาฮฺฯ ในการละหมาดฟัรฎู ไม่ว่าจะค่อยหรือดังก็ตาม และไม่ว่าจะอ่านในตอนต้นของสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺหรือสูเราะฮฺใดๆ ก็ตาม แต่อนุญาตให้อ่านบิสมิลลาฮฺได้ในการละหมาดสุนนะฮฺ (เราะวาอิอุลบะยาน ตัฟสีรฺ อายาตฺ อัล-อะหฺกาม ; มุฮัมมัดอะลี อัศ-ศอบูนียฺ เล่มที่ 1 หน้า 53)

 

อย่างไรก็ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการอ่านบิสมิลลาฮฺฯ ในสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ เพียงแต่เห็นต่างกันว่าอ่านค่อยหรืออ่านดังเท่านั้น และนี่คือประเด็นที่เรากำลังกล่าวถึงเพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของอิมามในการนำละหมาดญะมาอะฮฺ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดการถกเถียงกันในสังคมมุสลิมจนบางครั้งรุนแรงถึงขั้นที่มะอฺมูมไม่ละหมาดตามอิมามที่อ่านบิสมิลลาฮฺดังหรืออิมามที่อ่านบิสมิลลาฮฺค่อย ทางออกในเรื่องนี้คือ หากมะอฺมูมและอิมามที่นำละหมาดญะมาอะฮฺถือในทัศนะเดียวกันก็ให้ปฏิบัติไปตามทัศนะนั้น

 

กล่าวคือหากอิมามและมะอฺมูมเห็นตรงกันว่าควรอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยก็ให้อิมามนำละหมาดญะมาอะฮฺนั้นอ่านบิสมิลลาฮฺค่อย และหากมะอฺมูมและอิมามเห็นตรงกันว่าสมควรให้อ่านบิสมิลลาฮฺดังก็ให้อิมามอ่านบิสมิลลาฮฺดัง แต่ถ้าอิมามและมะอฺมูมเห็นไม่ตรงกัน ก็ให้พิจารณามะอฺมูมส่วนใหญ่ว่ามีความเห็นเช่นใดในเรื่องนี้ เช่น หากมะอฺมูมส่วนใหญ่เห็นว่าควรอ่านบิสมิลลาฮฺเสียงค่อย ก็ให้อิมามอ่านบิสมิลลาฮฺค่อย แต่ถ้าหากมะอฺมูมส่วนใหญ่เห็นว่าควรอ่านดัง ก็ให้อิมามอ่านบิสมิลลาฮฺดัง ถึงแม้ว่าอิมามจะมีความเห็นว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยจะดีกว่าก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาความเป็นเอกภาพของอัล-ญะมาอะฮฺ (หมู่คณะ) เอาไว้ เพราะการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยหรือดังเป็นเรื่องของการส่งเสริม (มุสตะหับ) เท่านั้น นักวิชาการทั้งสองฝ่ายมิได้ชี้ขาดว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยหรือดังเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ)

 

ส่วนการอ้างว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺดังเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นคำกล่าวของอัต-ตาบิอีนบางท่าน (คืออัล-หะดีษที่ถูกรายงานจาก อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ มุฆ็อฟฟัลฺ บันทึกโดยอัต-ติรมีซียฺ และอัน-นะสาอียฺ) เพราะบรรดานักท่องจำอัล-หะดีษระบุว่าเป็นหะดีษอ่อน (เฎาะอีฟ) เนื่องจากอิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ มุฆ็อฟฟัลฺ เป็นบุคคลนิรนาม (มัจญ์ฮูล)

 

และคำกล่าวอ้างที่ว่า การอ่านบิสมิลลาฮฺดังเป็นอุตริกรรมนั้นไม่มีหลักฐานมารับรอง เนื่องจากคำกล่าวในทำนองนี้เป็นการบอกถึงความเชื่อและความเห็นของบุคคลเช่นเดียวกับการที่อิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า การทำอะกีเกาะฮฺเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และการละหมาดขอฝนเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ทั้งๆ ที่สองเรื่องนั้นเป็นสุนนะฮฺในทัศนะของปวงปราชญ์เนื่องจากมีบรรดาอัล-หะดีษที่ถูกต้องระบุมา และความเห็นของบุคคลเพียงคนเดียวย่อมไม่ถือเป็นหลักฐานต่อผู้เป็นมุจญ์ตะฮิดอีกคนหนึ่ง ฉะนั้นความเห็นของบุคคลเพียงคนเดียวจะเป็นหลักฐานที่มาหักล้างความเห็นของนักวิชาการส่วนมากพร้อมกับค้านกับบรรดาอัล-หะดีษที่ถูกต้องได้อย่างไรกัน (กิตาบ อัลมัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 310,311,312)

 

ดังนั้น คำกล่าวอ้างที่ว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่ผิดพลาดและฟังไม่ขึ้น เหตุนี้อิมามที่นำละหมาดญะมาอะฮฺจะกล่าวอ้างว่าตนยอมไม่ได้ที่จะอ่านบิสมิลลาฮฺเสียงดังเพราะเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และยืนกรานจะอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยเท่านั้น จะกล่าวอ้างเช่นนี้ไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานทางศาสนามารองรับ อิมามจึงมีทางเลือกอยู่เพียง 2 กรณีคือ อ่านบิสมิลลาฮฺค่อยหรือดังเท่านั้น

 

ในกรณีที่อ่านบิสมิลลาฮฺดังหรือค่อยจึงต้องพิจารณามะอฺมูมเป็นเกณท์ในเรื่องนี้ และการคำนึงถึงสภาพข้อเท็จจริงของมะอฺมูมนั้นมีปรากฏหลักฐานอยู่ในสุนนะฮฺที่ถูกต้อง เช่น กรณีการละหมาดญะมาอะฮฺอิมามไม่ควรละหมาดนานเกินไป เพราะอิมามต้องคำนึงว่ามะอฺมูมที่มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺมีทั้งผู้อ่อนแอ คนป่วย หรือคนที่มีธุระ

 

ดังปรากฏในอัล-หะดีษที่รายงานโดยอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : เมื่อคนหนึ่งของพวกท่าน (เป็นอิมามนำ) ละหมาดให้แก่ผู้คน ผู้นั้นก็จงกระทำให้เบา (ไม่ละหมาดนาน) เพราะแท้จริงในหมู่ผู้คนนั้นมีคนอ่อนแอ คนป่วย และผู้สูงอายุ และเมื่อคนหนึ่งของพวกท่านละหมาดสำหรับตัวเขา (ละหมาดเพียงลำพัง) ผู้นั้นจงกระทำให้ยาว (ละหมาดนาน) ตามที่ผู้นั้นมีความประสงค์ (รายงานพ้องกันโดย อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม)

 

และมีรายงานจากท่านอบูเกาะตาดะฮฺ อัล-หาริษ อิบนุ ริบฺอียฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัล ลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “แท้จริงฉันได้ลุกขึ้นไปยังการละหมาด และฉันก็ประสงค์ที่จะทำให้ยาว (ละหมาดนาน) ในการละหมาดนั้น แล้วฉันก็ไดยินเสียงร้องของเด็ก จึงเป็นเหตุให้ฉันต้องรวบรัด (ละหมาดอย่างกระชับ) ในการละหมาดของฉัน เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างความลำบากให้แก่แม่ของเด็กนั้น” (รายงานโดยอัล-บุคอรียฺ)

 

และการนำละหมาดของอิมามสำหรับกลุ่มชนที่มีความไม่พอใจต่ออิมามนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) สำหรับอิมามตามที่มีระบุในอัล-หะดีษที่รายงานโดยอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺด้วยสายรายงานที่หะสัน และรายงานจากท่านอบู อุมามะฮฺ (ร.ฎ.) บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺซึ่งกล่าว่าเป็นหะดีษหะสัน ตลอดจนมีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมฺร์ (ร.ฎ.) บันทึกโดยอบู ดาวูด

 

ดังนั้นการที่อิมามยึดมั่นในทัศนะที่ว่าให้อ่านบิสมิลลาฮฺค่อยแล้วไปนำละหมาดบรรดามะอฺมูมที่ยึดมั่นในทัศนะที่ว่าให้อ่านบิสมิลลาฮฺดังก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอิมามกับมะอฺมูมได้ ทั้งๆ ที่การอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยหรือดังเป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการที่เห็นต่างกันว่า อย่างไหนดีกว่าเท่านั้น มิใช่เรื่องของสุนนะฮฺกับบิดอะฮฺ ถูกหรือผิด ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ หากมะอฺมูมและอิมามเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องนี้ว่าสามารถกระทำได้ทั้ง 2 กรณี คืออ่านบิสมิลลาฮฺค่อยก็ได้หรืออ่านบิสมิลลาฮฺดังก็ได้ หรือแม้กระทั่งอิมามจะไม่อ่านบิสมิลลาฮฺเลยมะอฺมูมก็ย่อมสามารถละหมาดตามอิมามได้ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของทัศนะทางวิชาการ หากเข้าใจอย่างนี้ก็ย่อมไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในการละหมาดญะมาอะฮฺตามกัน

 

และอิมามก็มีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้แก่บรรดาสัปปุรุษของมัสญิด แต่ถ้าอิมามกลับเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้เสียเอง แล้วจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ปวงสัปปุรุษได้อย่างไร ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ให้น้ำหนักในกรณีการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยและถือตามความเห็นของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ที่ว่า บิสมิลลาฮฺฯ เป็นอายะฮฺหนึ่งในตอนต้นของสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ แต่บิสมิลลาฮฺมิใช่อายะฮฺอัล-กุรอานในตอนต้นของบรรดาสูเราะฮฺ (อื่นๆ) และในอีกริวายะฮฺหนึ่งจากอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ระบุว่า บิสมิลลาฮฺฯ มิใช่อายะฮฺหนึ่งจากสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺอีกเช่นกัน และการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยก็เป็นมัซฮับของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.)

 

กระนั้นชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ก็กล่าวว่า “…และเช่นสิ่งดังกล่าวคือการอ่านบิสมิลลาฮฺ ดังและค่อย ทั้งสองกรณีนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตไม่ทำให้เสียการละหมาด ถึงแม้จะปรากฏว่าส่วนหนึ่งจากบรรดานักปราชญ์คือผู้ที่ถือว่าหนึ่งในสองกรณีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริมหรือถือว่าอีกกรณีหนึ่งเป็นมักรูฮฺ หรือเลือกในการที่จะไม่อ่านบิสมิลลาฮฺเลยก็ตาม การขัดแย้งในระหว่างบรรดานักปราชญ์อยู่ในกรณีของการส่งเสริม (มุสตะหับ) หาไม่เช่นนั้นแล้วการละหมาดด้วยกรณีหนึ่งของสองกรณีนั้น (อ่านบิสมิลลาฮฺค่อยหรือดัง) ก็ถือว่าเป็นที่อนุญาต (ใช้ได้) ในทัศนะของนักปราชญ์ทั่วไป…

 

และเช่นเดียวกันไม่มีข้อขัดแย้งว่าส่วนหนึ่งจากชนรุ่นเศาะหาบะฮฺคือผู้ที่อ่านบิสมิลลาฮฺฯ ดัง เช่น อิบนุ อัซซุบัยรฺ เป็นต้น และส่วนหนึ่งจากชนรุ่นเศาะหาบะฮฺคือผู้ที่ไม่เคยอ่านบิสมิลลาฮฺฯ เสียงดังเลย เช่น อิบนุ มัสอูด เป็นต้น และบรรดาเศาะหาบะฮฺก็พูดถึงเรื่องดังกล่าว โดยไม่มีผู้ใดถือว่าการละหมาดของผู้ใดเป็นโมฆะในเรื่องดังกล่าว และนี่คือส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ฉันไม่เคยรู้ว่ามีข้อขัดแย้งในเรื่องนี้…” (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตะวา เล่มที่ 11 ภาคที่ 22 หน้า 216,217)

 

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวถึงการอ่านบิสมิลลาฮฺฯ ว่ามีสุนนะฮฺให้อ่านดังหรือว่าไม่มีสุนนะฮฺ?” มี 3 คำกล่าวบ้างก็ว่ามีสุนนะฮฺให้อ่านบิสมิลลาฮฺฯ ดัง เช่น คำกล่าวของอัช-ชาฟิอียฺและผู้ที่เห็นด้วย บ้างก็ว่า ไม่มีสุนนะฮฺให้อ่านบิสมิลลาฮฺฯ เสียงดัง เหมือนอย่างคำกล่าวของปวงปราชญ์จากอะฮฺลุลหะดีษและอัร-เราะอฺย์ ตลอดจนบรรดานักวิชาการฟิกฮฺ (ฟุเกาะฮาอฺ) ของบรรดาหัวเมือง และบ้างก็ว่า ให้เลือกเอาระหว่าง 2 กรณีนั้น เหมือนอย่างที่ถูกรายงานมาจากอิสหาก และเป็นคำกล่าวของอิบนุหัซฺมินฺ และคนอื่นๆ

 

ทั้งๆ อย่างนี้ ที่ถูกต้องก็คือแท้จริงสิ่งที่จะไม่ถูกอ่านดังนั้นบางทีก็ถูกบัญญัติให้อ่านสิ่งนั้นด้วยเสียงดังเนื่องจากมีมัศละหะฮฺ (ประโยชน์ในเชิงบวกที่มีน้ำหนัก ดังนั้นจึงถูกบัญญัติให้อิมาม –ในบางครั้ง- สำหรับกรณีเช่นการสอนมะอฺมูม (อ่านเสียงดังได้) และอนุญาตสำหรับบรรดาผู้ละหมาดในการที่พวกเขาจะอ่านถ้อยคำที่เล็กน้อยด้วยเสียงดังในบางครั้ง และอนุญาต – อีกเช่นกัน- ในการที่บุคคลจะละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า (อัฟฎ็อล) เพื่อทำให้บรรดาหัวใจนั้นเกิดความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพ อันเนื่องจากเกรงว่าจะมีการเตลิดหนีจากสิ่งที่ดี

 

เหมือนอย่างที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยละทิ้งการบูรณะบัยตุลลอฮฺ (ตามรูปทรงเดิม) บนฐานรากของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) เนื่องจากตระกูลกุรอยชฺเพิ่งจะเข้ารับอิสลาม (และยังคุ้นเคยกับยุคญาฮิลียะฮฺ) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เกรงว่าพวกตระกูลกุรอยชฺจะเตลิดและยอมรับสิ่งนั้นไม่ได้ ท่านจึงเห็นว่าประโยชน์ในเชิงบวกของการมีสามัคคีและความสมานฉันท์เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงก่อนประโยชน์ของการบูรณะบัยตุลลอฮฺบนฐานรากของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.)

 

และอิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) เมื่อครั้งที่ท่านละหมาดเต็มตามหลังท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และมีคนตำหนิว่าท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) ซึ่งมีความเห็นว่าต้องละหมาดย่อว่าตามการละหมาดเต็มของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้อย่างไร? ท่านอิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า “การขัดแย้งเป็นชั่ว” (الخِلَافُ شَرٌّ) และเหตุนี้บรรดาอิมาม เช่น อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ ได้กำหนดเป็นตัวบทเอาไว้ถึงเรื่องดังกล่าวในกรณีของการอ่านบิสมิลลาฮฺการละหมาดวิตรฺแบบติดต่อและอื่นจากนั้นอันเป็นสิ่งที่มีการย้ายจากสิ่งที่ดีกว่า (อัฟฎอล) ไปยังสิ่งที่อนุญาต (มัฟฎูล) เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจของบรรดามะอฺมูมหรือเพื่อสอนให้พวกเขารู้ถึงสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺ และอะไรในทำนองนั้น วัลลอฮุอะอฺลัม (อ้างแล้ว 11 ภาค 22 หน้า 254-255)

 

และชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ยังกล่าวอีกว่า : บรรดามุสลิมต่างก็เห็นพ้องตรงกันว่าอนุญาตให้ละหมาดตามหลังพวกเขาซึ่งกันและกันได้ เหมือนอย่างบรรดาเศาะหาบะฮฺและบรรดาอัต-ตาบิอีน ตลอดจนชนรุ่นหลังจากบรรดาอิมามทั้งสี่ ต่างก็เคยละหมาดตามหลังซึ่งกันและกัน และผู้ใดปฏิเสธสิ่งดังกล่าว ผู้นั้นเป็นผู้อุตริที่หลงผิดและค้านกับกิตาบุลลอฮฺ สุนนะฮฺ และอิจญ์มาอฺของชาวมุสลิม

 

และปรากฏว่าในชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ อัต-ตาบิอีน และชนรุ่นหลังพวกเขามีคนที่อ่านบิสมิลาฮฺฯ และบางคนก็ไม่อ่านบิสมิลลาฮฺฯ ทั้งๆ อย่างนี้พวกเขาก็ยังละหมาดตามหลังซึ่งกันและกัน เหมือนอย่างกรณีที่อบูหะนีฟะฮฺและบรรดาสานุศิษย์ของท่านตลอดจน อัช-ชาฟิอียฺและคนอื่นๆ ต่างก็เคยละหมาดตามหลังบรรดาอิมามของชาวเมืองมะดีนะฮฺจากผู้สังกัดมัซฮับมาลิกียฺ ถึงแม้ว่าบรรดาอิมามเหล่านั้นจะไม่อ่านบิสมิลลาฮฺฯ เลยไม่ว่าค่อยหรือดังก็ตาม..” (อ้างจาก อัศ-เศาะหฺวะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺ บัยนัล ญุหูดวัตตะฏอรฺรุฟ ; ดร.ยูสุฟ อัล-กอรฺฎอวียฺ หน้า 173)

 

 

ดังนั้น ในกรณีของการอ่านบิสมิลลาฮฺฯ ตอนต้นสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺของอิมามที่นำละหมาดญะมาอะฮฺว่าอิมามจะอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยหรือดังก็ให้อิมามพิจารณาและคำนึงถึงบรรดามะอฺมูมเป็นเกณฑ์ หากบรรดามะอฺมูมชอบที่จะอ่านบิสมิลลาฮฺดัง อิมามก็ควรอ่านบิสมิลลาฮฺฯดัง ถึงแม้ว่าอิมามผู้นั้นจะถือว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺค่อยเป็นสิ่งที่ดีกว่าก็ตาม และหากบรรดามะอฺมูมชอบให้อ่านบิสมิลลาฮฺฯค่อย อิมามก็ควรอ่านบิสมิลลาฮฺฯ ค่อย ถึงแม้ว่าอิมามผู้นั้นจะถือว่าการอ่านบิสมิลลาฮฺดังเป็นสิ่งที่ดีกว่าก็ตาม 

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาความมีเอกภาพและความสมานฉันท์ในหมู่ปวงสัปปุรุษเอาไว้ และการรักษาเอกภาพและความสมานฉันท์ด้วยสิ่งที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาถือเป็นสิ่งจำเป็น (ฟัรฎู) และจะต้องไม่ทำลายสิ่งที่เป็นฟัรฎูด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นเพียงการส่งเสริม (มุสตะหับ) เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นผลเสียและสร้างความเสียหายต่อหมู่คณะ (อัล-ญามาอะฮฺ) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามบัญญัติของศาสนา

 

วัลลอฮุอะอฺลัม