อบูบักร อัรรอซีย์ (أبوبكرالرازي)

อบูบักร มูฮำมัด อิบนุ ซะการียา อัรรอซีย์ เขาเป็นที่รู้จักสำหรับชาวตะวันตกในนาม “ราห์เซส” (Rhazes) เขาถือกำเนิดในเมืองอัรร็อยน์ และออกจากเมืองนี้สู่มหานครแบกแดดเมื่อมีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ เมืองอัรร็อยน์ ที่ว่านี้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ซึ่งชาวอาหรับพิชิตได้ในสมัยของท่านค่อลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (ร.ฎ) และค่อลีฟะฮฺฮารูน อัรร่อชีด ตลอดจน อัลมะฮฺดี อิบนุ มันซู๊ร ก็ถือกำเนิดที่เมืองนี้เช่นกัน เมืองอัรร็อยน์ตั้งห่างจากกรุงเตหะรานไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 5 ไมล์ อัรรอซีย์ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอัรร็อยน์ระหว่างปี ฮ.ศ.250-320

 

อัรรอซีย์ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของตนในมหานครแบกแดดและเสียชีวิตที่นั่น เขาเป็นพหูสูตที่รอบรู้ศาสตร์แขนงต่างๆ เป็นที่ทราบกันว่า ในช่วงต้น อัรรอซีย์เคยประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าแลกเงินและเคยเล่นเครื่องดนตรีอูด (เครื่องดนตรีของชาวอาหรับมีลักษณะคล้ายกีต้าร์) อัรรอซีย์เป็นผู้ที่ถูกร่ำลือถึงความมีสัจจะและความโปร่งใสนับแต่วัยเด็ก เขารังเกียจการสับปลับ การโอ้อวดและการอวดอ้างอุตริกรรม ในวัยเด็กเขาเคยแต่งบทกวีอีกด้วย

 

อัรรอซีย์ให้ความสนใจในการศึกษาวิชาปรัชญา, ดาราศาสตร์, เคมี, คณิตศาสตร์ และการแพทย์ ด้วยศักยภาพของเขาในการแต่งตำรับตำราที่อาศัยการค้นคว้าทางวิชาการเป็นหลัก ทำให้เขามีความโด่งดังเป็นอันมาก ในขณะที่เขาอาศัยข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการของอินเดีย เปอร์เซีย, กรีกหรืออาหรับ อัรรอซีย์ก็จะระบุที่มาเอาไว้ในตำราของตนโดยจะไม่มีการแอบอ้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผู้อื่นกล่าวเอาไว้ให้กับตนเอง

 

อบูบักรฺอัรรอซีย์ได้ศึกษาตำรับตำราของญาบิร อิบนุ ฮัยยาน อัลอะซะดีย์ ซึ่งยังคงมีเงื่อนงำในบางประเด็นปรากฏอยู่ในขณะที่ข้อมูลบางส่วนก็ถูกตีแผ่และได้รับการอธิบายไว้อย่างชัดเจน เหตุนี้เราจึงพบว่า อบูบักร อัรรอซีย์ ได้แก้ประเด็นเงื่อนงำที่ปรากฏในตำราของญาบิร และให้ความสำคัญต่อการเรียบเรียงและการใช้คำศัพท์เทคนิคที่ละเอียดรัดกุม ตำราของอัรรอซีย์จึงเป็นตำราที่ง่ายและสะดวกต่อการทำความเข้าใจ

 

อัรรอซีย์เป็นนักปราชญ์ชาวอาหรับมุสลิมผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจอย่างยิ่งยวดต่อวิชาเคมี เขามีความโดดเด่นเหนือปราชญ์ผู้อื่นด้วยการใช้สำนวนอย่างเป็นวิชาการซึ่งอาศัยการทดลองและการพิสูจน์ในห้องทดลองเป็นหลัก เหตุนี้เองนักวิชาการทั้งฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกต่างก็ให้การยอมรับและถือว่าอัรรอซีย์เป็นผู้วางรากฐานของวิชาเคมียุคใหม่

ในบทนำของตำรา “ซิรรุ้ลอัสร๊อร” ของอัรรอซีย์ เขาได้ระบุว่า : และเราได้อรรถาธิบายเอาไว้ในตำราเล่มนี้ถึงสิ่งที่เหล่านักปรัชญาโบราณได้จดบันทึกเอาไว้ อาทิเช่น อกาธาดิมุส , เฮอร์มุส , อริสโตเติ้ล, คอลิด อิบนุ ยะซีด อิบนิ มุอาวียะฮฺ และญาบิร อิบนุ ฮัยยาน อาจารย์ของเรา ซึ่งในตำราเล่มนี้มีอยู่หลายบทที่กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่หาไม่ได้ในตำราเล่มอื่น และตำราของข้าพเจ้านี้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับแร่ธาตุเอาไว้ 3 ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ

(1) ความรู้เกี่ยวกับวิชาว่าด้วยสรรพคุณของยาหรือเภสัชศาสตร์ หรือโอสถวิทยา(Pharmacology)

(2) ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องมือ

(3) ความรู้เกี่ยวกับการทดลองและการพิสูจน์

 

เป็นที่ทราบกันว่า อัรรอซีย์ คือ บุคคลแรกที่ใช้ถ่านที่ได้จากการเผาซากสัตว์ (Animal charcoal) ในการขจัดสีและกลิ่นจากสารหรือวัตถุที่มีชีวิต (organic) และเขายังเป็นผู้ที่แยกสารคาร์บอนของโซเดียมและโปตัสเซียมเป็นบุคคลแรก ถึงแม้ว่าสารทั้ง 2 ชนิดจะมีความเหมือนกันมากในคุณสมบัติเฉพาะทางธรรมชาติและเคมี นอกจากนี้อัรรอซีย์ยังเป็นผู้ค้นพบกรดกำมะถันและแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังเป็นบุคคลแรกที่ใช้สารปรอทในการผสมยาขี้ผึ้ง (ointment)

 
ตำราทางการแพทย์ของอบูบักร อัรรอซีย์

อบูบักร อัรรอซีย์ ได้แบ่งประเภทของสารเคมีออกเป็น 4 ประเภท คือ

– สารเคมีที่ได้จากแร่ธาตุ
– สารเคมีที่ได้จากพืช
– สารเคมีที่ได้จากสัตว์และสิ่งมีชีวิต
– ยาปฏิชีวนะ

และเขายังได้แบ่งธาตุออกเป็น 6 หมวด คือ

– สารระเหยหรือธาตุที่ลอยตัว
– โลหะ (metal)
– หิน
– กระจก
– เกลือ
– ธาตุที่เรืองแสง

อัรรอซีย์ได้ขลุกอยู่กับการแต่งตำรับตำราเป็นเวลานาน เขาแต่งตำรามากถึง 220 เล่ม ซึ่งเป็นตำราในศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น การแพทย์ , เคมี , คณิตศาสตร์ , ปรัชญา , ตรรกวิทยา และดาราศาสตร์ เป็นต้น