การละหมาดวันศุกร์ صلاة الجمعة

ความหมาย

คำว่า “ อัล-ญุมอะฮฺ “ หมายถึง การประชุม , การร่วมชุมนุม , ความสมานฉันท์ , สัปดาห์ และวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันในลำดับที่หกของสัปดาห์ อยู่ระหว่างวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ เหตุที่เรียก วันศุกร์ ในภาษาอาหรับว่า อัล-ญุมอะฮฺ เพราะวันศุกร์เป็นวันที่ชาวมุสลิมจะมาร่วมชุมนุม ณ มัสญิดในรอบสัปดาห์เพื่อรับฟังการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) และร่วมละหมาดวันศุกร์โดยพร้อมเพรียงกัน

 

คำว่า อัล-ญุมอะฮฺ สามารถอ่านออกเสียงว่า อัล-ญุมอะฮฺ (الجُمْعَةُ) อัล-ญุมุอะฮฺ (الجُمُعَة) และอัล-ญุมะอะฮฺ (الجُمَعَة) แต่ที่รู้จักกัน (มัชฮู๊ร) อ่านออกเสียงว่า อัล-ญุมุอะฮฺ (الجُمُعَة) โดยใส่สระฏอมมะฮฺที่อักษรมีม  ซึ่งเป็นการอ่านออกเสียงตามที่มีรายงานมาในกิรออะฮฺทั้งเจ็ด และการอ่านออกเสียงโดยใส่สุกูนที่อักษรมีม ว่า อัล-ญุมฺอะฮฺ เป็นการอ่านที่ทำให้เบาในการออกเสียง (ตัคฟีฟ) ส่วนการอ่านออกเสียงโดยใส่สระ ฟัตหะฮฺ ที่อักษรมีมว่า อัล-ญุมะอะฮฺ เป็นการอ่านออกเสียงตามภาษาของตระกูล อุก็อยล์

 

ในยุคญาฮิลียะฮฺ เรียกวันศุกร์ว่า อัล-อะรูบะฮฺ (العَرُوْبَة) ซึ่งกล่าวกันว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า “ อะรุบา” (أرُبَا) ในภาษาของชาวอัน-บาฏ (เนบาเตียน) บ้างก็ว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า อะรูบัต (عَرُوْبَتْ) ในภาษาของชาวสุรยาน แต่ท่านอิบนุ หะญัรฺ(ร.ฮ.) กล่าวว่า “นักภาษาศาสตร์กล่าวว่าชื่อ อัล-อะรูบะฮฺ เป็นชื่อที่มีมาแต่เดิมของชาวอาหรับในยุคญาฮิลียะฮฺ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 347-348)

 

บุคคลแรกที่รวบรวมผู้คนและจัดการละหมาดวันศุกร์ที่นคร มะดีนะฮฺ ก่อนการฮิจเราะฮฺของท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)คือท่าน อัสอัด อิบนุ ซุรอเราะฮฺ(ร.ฎ.) ซึ่งอบูดาวูดและนักวิชาการท่านอื่นๆรายงานจากท่าน กะอฺบ์ อิบนุ มาลิก(ร.ฎ.) (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ 1/198)