การเคลื่อนย้ายสถานภาพการเป็นเคาะลีฟะฮฺ (คิลาฟะฮฺ อิสลามียะฮฺ) จากเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺท่านสุดท้าย ณ กรุงไคโร สู่สุลฏอนสะลีม ข่านที่ 1 ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หรือตำนาน?

กรณีการเคลื่อนย้ายสถานภาพการเป็นเคาะลีฟะฮฺ (คิลาฟะฮฺ อิสลามียะฮฺ) จากเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺท่านสุดท้าย ณ กรุงไคโรสู่สุลฏอนสะลีม ข่านที่ 1 และเหล่าสุลฏอนแห่งราชวงศ์อัล-อุษมานียะฮฺ (ออตโตมานเติร์ก) ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หรือตำนาน?

بسم الله الرحمن الرحيم

الحمد لله مالك الملك يؤتى الملك من يشاء , وينزع الملك ممن يشاء ويعزمن يشاء ويذل من يشاء, بيده الخير , إنه على كل شئ قدير أشهدأن لاإله إلاالله , وهورب الناس مالك الناس إله الناس وأن الفضل بيد الله يؤتيه من يشاء , ويختص برحمته من يشاء وأشهدأن محمداعبده ورسوله الصادق المصدوق القائل : خلافة النبوة ثلاثون سنة ثم يؤتى الله الملك من يشاء , وأفضل الصلاة وأتم التسليم على سيدنا محمد خاتم الرسل والأ نبياء وعلى آله الطاهرين الأصفياء وصحا بته الشرفاء ومن تبعهم بالخير والولاء………أمابعد: 

 

ระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺอันมีเคาะลีฟะฮฺเป็นผู้นำสูงสุดถือเป็นระบอบการปกครองตามรัฐศาสตร์อิสลามซึ่งเป็นที่ยอมรับในฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺตลอดระยะเวลาหนึ่งพันปีเศษ  แต่ระบอบคิลาฟะฮฺที่เป็นต้นแบบและปรากฏขึ้นภายหลังการวะฟาตฺ (การเสียชีวิต) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตรงนั้นมีช่วงระยะเวลา 30 ปี กล่าวคือ นับตั้งแต่การได้รับสัตยาบัน (บัยอะฮฺ) ของท่าน อบูบักร อัศ-ศิดดีก (ร.ฎ.) ในปี ฮ.ศ. ที่ 11 / ค.ศ. 632 (โดยท่านอบูบักร อัศ-ศิดดีก (ร.ฎ) ถือเป็นเคาะลีฟะฮฺ (ผู้สืบทอดภาระกิจในการเป็นประมุขรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺ) ท่านแรก และถูกเรียกขานว่า “เคาะลีฟะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺ” (خَلِيْفَةُرَسُوْلِ اللهِ)

 

เคาะลีฟะฮฺที่สองคือ ท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) ได้รับการสัตยาบันในปีฮ.ศ. 13 / ค.ศ. 634 เป็นเคาะลีฟะฮฺที่ถูกเรียกขานว่า “ประมุขแห่งศรัทธาชน” (อะมีรุลมุอฺมินีน) สมัยของท่านคือช่วงเวลาแห่งการพิชิตและการแผ่ขยายอาณาเขตของรัฐอิสลามพร้อมกับเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิ์เปอร์เซียและไบเซนไทน์

 

เคาะลีฟะฮฺที่สามคือ ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ได้รับการสัตยาบันในปีฮ.ศ.ที่ 23 / ค.ศ. 644 ถือเป็นเคาะลีฟะฮฺที่มีช่วงเวลาการปกครองยาวนานที่สุดในบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่าน เสียชีวิตในปีฮ.ศ. ที่ 35 / ค.ศ. 656

 

และเคาะลีฟะฮฺที่สี่คือ ท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ได้รับการสัตยาบันในปีฮ.ศ. ที่ 35 / ค.ศ. 656 เป็นเอกบุรุษที่ชาวมุสลิมฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ และมุสลิมฝ่ายชีอะฮฺให้การยอมรับโดยฝ่ายชีอะฮฺถือเป็นอิมามท่านแรกของพวกเขา เสียชีวิตในปีฮ.ศ. ที่ 40 / ค.ศ. 661 และเมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาการปกครองในระบอบคิลาฟะฮฺอัน-นุบูวะฮฺ อันหมายถึงการปกครองในระบอบคิลาฟะฮฺอันสมบูรณ์แบบ (ตุหฺฟะฮฺ อัล-อะหฺวะซียฺ ชัรหุ สุนัน อัต-ติรมีซียฺ 6/477)

 

ตามที่ปรากฏในอัล-หะดีษซึ่งระบุว่ามีระยะเวลา 30 ปี ช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็สมบูรณ์ครบถ้วนด้วยการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) ซึ่งสละตำแหน่งให้แก่ท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) ในเดือนเราะบีอุลเอาวัล ปีฮ.ศ. ที่ 41 เหตุนี้การดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) จึงถูกนับอยู่ในช่วงระยะเวลา 30 ปีดังกล่าวซึ่งสิ้นสุดลงด้วยการสัตยาบันของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) แก่ท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.)

 

และการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ถือเป็นการเริ่มต้นของระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺ อัลมุลก์ อันหมายถึงการปกครองแบบกษัตริย์และมีการสืบสันตติวงศ์ การเรียกชื่อบรรดาผู้ปกครองรัฐอิสลามภายหลังสิ้นสุด 30 ปีนั้นเป็นการเรียกขานโดยอนุโลมทางภาษา เพราะคำว่า เคาะลีฟะฮฺ มีความหมายว่าผู้ที่มาภายหลังหรือผู้สืบทอดผู้ปกครองคนก่อน (อ้างแล้วหน้าเดียวกัน) อย่างไรก็ตาม คำว่า อิมาม , เคาะลีฟะฮฺ , สุลฏอน , มะลิก และอะมีรฺ ทั้งหมดมีนัยทางภาษาที่มุ่งหมายตามหลักรัฐศาสตร์อิสลามในความหมายเดียวกัน นั่นคือการเป็นผู้นำ และการปกครองประชาคมมุสลิม ทั้งนี้นักวิชาการได้กำหนดคำนิยามของแต่ละคำไว้ดังนี้ 

 

อัล-คิลาฟะฮฺ (الخِلَافَة) คือตำแหน่งการเป็นผู้นำที่มาจากการอิสติคลาฟ (การแต่งตั้งให้สืบทอดภาระกิจ) จากผู้นำคนก่อน เรียกผู้นำที่สืบทอดนี้ว่า เคาะลีฟะฮฺ (الخَلِيْفَة) 

 

อัล-อิมาเราะฮฺ (الإمَارَة) คือตำแหน่งของผู้สืบทอดที่มาจากการปรึกษาหารือ (มะชูเราะฮฺ) และความเห็นร่วมกัน เรียกผู้นำนี้ว่า อะมีรฺ (الأَمِيْر) 

 

อัส-สิลาเฏาะฮฺ (السِّلاطَة) หมายถึง การมีอำนาจบังคับบัญชาและการมีชัยชนะเหนือผู้อื่น เรียกบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว อัส-สุลฏอน (السُّلْطَانُ) และคำว่าอัส-สุลฏอนยังมีความหมายอีกว่า ข้ออ้างและหลักฐาน ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวว่า คำว่าอัส-สุลฏอนในคัมภีร์อัล-กุรอานหมายถึง หลักฐานที่ถูกอ้าง เพราะเหตุนี้จึงเรียกขานบรรดาผู้นำว่า สะลาฏีน (เป็นคำพหูพจน์ของคำว่า สุลฏอน) เพราะพวกเขาคือบรรดาผู้ซึ่งหลักฐานและสิทธิจะถูกดำรงขึ้น (จากลิสานุลอะร็อบ) 

 

อัล-อิมามะฮฺ (الإمامة) หมายถึงตำแหน่งการเป็นประมุขที่สมบูรณ์ และการเป็นผู้นำทั่วไป มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับเรื่องเฉพาะกิจ และเรื่องทั่วไปในหลักสำคัญของศาสนาและทางโลก (ฆิยาษุลอุมัม ; อิมามอัล-ญุวัยนียฺ หน้า 15) อิบนุคอลดูน (ค.ศ. 1332 – 1406) ให้คำนิยามอัล-อิมามะฮฺว่า หมายถึงการแบกรับภาระทั้งมวลตามการชี้ขาดของมุมมองทางบัญญัติศาสนาทั้งสิทธิประโยชน์แห่งโลกหน้าและโลกนี้ที่ย้อนกลับไปยังการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนั้น (อัล-มุกอดดิมะฮฺ ; อิบนุคอลดูน หน้า 170) เรียกผู้ดำรงตำแหน่งนี้ว่า อิมาม (الإمام) 

 

อัล-มุลก์ (المُلْكُ) หมายถึง อำนาจในการปกครอง เรียกผู้มีคุณสมบัตินี้ว่า อัล-มะลิก (المَلِك) ซึ่งหมายถึงกษัตริย์หรือพระราชา นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่บ่งคุณสมบัติและสถานภาพที่คล้ายกันนี้ เช่น อัล-หากิม อัล-วะลียฺ เป็นต้น อัส-สัยยิด เราะชีดริฎอ กล่าวว่า : “ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ (อัล-คิลาฟะฮฺ) อิมามสูงสุด (อิมามอะอฺซ็อม) และตำแหน่งอะมีรุลมุอฺมินีน (ผู้นำปวงชนผู้ศรัทธา) ทั้ง 3 คำนี้มีความหมายเดียวกัน (อัล-คิลาฟะฮฺ , เราะชีดริฎอ หน้า 10)

 

กล่าวโดยสรุปว่า ระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺ อิสลามียะฮฺมี 2 ประเภท

หนึ่ง  คิลาฟะฮฺ นุบูวะฮฺ คือระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺที่สมบูรณ์และเป็นต้นแบบซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) สละตำแหน่งให้แก่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)

 

สอง คิลาฟะฮฺ มุลก์ คือระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺที่เป็นการสืบทอดของผู้นำที่เหมือนระบอบกษัตริย์ ซึ่งระบอบกษัตริย์นี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกตำหนิหรือถูกปฏิเสธว่ามิใช่ระบอบการปกครองแบบอิสลาม เพราะนบีดาวูด (อ.ล.) และนบีสุลัยมาน (อ.ล.) ก็เป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจและความยุติธรรมควบคู่กับการเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเมื่อผู้เป็นกษัตริย์ภักดีเชื่อฟังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และหลีกห่างบัญญัติห้ามของพระองค์พร้อมกับมรการใช้หลัก การปรึกษาหารือ (อัช-ชูรอ) นั่นย่อมถือว่าเป็นระบอบการปกครองแบบอิสลามโดยแท้ (อัล-มาลฺ  วัล-หุกม์ ฟิล อิสลาม ; อับดุลกอดิรฺ เอาวฺดะฮฺ หน้า 98)

 

ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ตำแหน่งอัล-วิลายะฮฺ และอัส-สุลฏอนหมายถึงความสามารถ (ศักยภาพในการใช้อำนาจ) ที่เกิดขึ้นจริง ต่อมาความสามารถนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นตามประเด็นที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านศาสนทูตของพระองค์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โปรดปราน เช่น อำนาจของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม และบางทีก็เกิดขึ้นตามประเด็นที่มีการฝ่าฝืนปรากฏอยู่ในประเด็นนั้น เช่น การใช้อำนาจของบรรดาผู้อธรรม การเป็นที่อนุมัติตลอดจนการเป็นที่ต้องห้ามจึงผูกพันอยู่กับพฤติกรรม (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 1/142)

 

หมายความว่าความถูกต้องและชอบธรรมในการใช้อำนาจปกครองเป็นเรื่องของพฤติกรรมส่วนบุคคล มิได้ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองเสมอไป ดังนั้นความเป็นผู้ปกครองแบบกษัตริย์มิใช่ระบอบการปกครองที่   ชั่วร้าย แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ปกครองว่าดำรงความยุติธรรมและปฏิบัติตามบัญญัติทางศาสนามากน้อยเพียงใด ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ไม่ปรากฏว่ามีกษัตริย์คนใดของอิสลามที่จะดีไปกว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และไม่ปรากฏว่าผู้คนในยุคของกษัตริย์คนใดจะดีไปกว่าผู้คนในยุคสมัยของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) เมื่อนับเอาช่วงวันเวลาของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ไปเทียบกับช่วงเวลาของผู้คนในยุคถัดมา แต่ถ้านำไปเทียบกับยุคสมัยของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.) ความประเสริฐที่ต่างกันก็ย่อมปรากฏชัด (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 3/85 , มินฮาญุลอิอฺติดาล 28 : 29)

 

กล่าวคือช่วงสมัยของเคาะลีฟะฮฺทั้งสองนั้นมีความประเสริฐกว่าอย่างชัดเจน และท่านอิบนุกะษีร (ร.ฮ.) กล่าวว่า “ช่วงวันเวลาของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ผู้เป็นกษัตริย์คนแรกถือเป็นกษัตริย์คนแรกของบรรดากษัตริย์แห่งอิสลาม และเป็นกษัตริย์ที่ดีที่สุด (อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ 8/19) เหตุนี้อะฮฺลุสสุนนะฮฺ , อัล-มุรฺญิอะฮฺ และอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ต่างก็ยอมรับในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) หลังปีแห่งหมู่คณะ (ฮ.ศ. ที่ 41) อันเป็นการยอมรับต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) มิได้ดำรงอยู่บนการสัตยาบันแบบอิสระโดยทั่วไป (ตารีคอัล-มะซาฮิบ อัล-อิสลามียะฮฺ ; ชัยคฺมุฮัมมัด อบูซะฮฺเราะฮฺ 1/21)

 

และในขณะนั้นมีบุคคลที่ประเสริฐกว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ปรากฏอยู่ การเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านจึงเป็นเคาะลีฟะฮฺแบบคิลาฟะฮฺ มุลก์ มิใช่แบบคิลาฟะฮฺ นุบูวะฮฺ ทั้งนี้เป็นเพราะท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺทั้งๆ ที่มีผู้ประเสิรฐกว่า (คือท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) และเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ) กอปรกับการให้บุคคลเหล่านั้นเป็นเคาะลีฟฮฺก็มิได้เป็นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดความเสียหายอันใด (มันฮัจญ์ อัสสุนนะฮฺ ; ดร.ยะหฺยา อิสมาอีล หน้า 262)

 

เมื่อท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) ได้รับการสัตยาบันจากท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) ด้วยการสละตำแหน่งเพื่อเป็นการรักษาเลือดเนื้อของประชาคมมุสลิม ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จึงกลายเป็นเคาะลีฟะฮฺแบบคิลาฟะฮฺ มุลก์ ซึ่งเป็นระบอบกษัตริย์ในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺที่มีอำนาจปกครองรัฐอิสลามระหว่างปีฮ.ศ. ที่ 41 – ฮ.ศ. 132 / ค.ศ. 662-750 มีราชธานีอยู่ ณ นครดามัสกัส ประเทศซีเรีย เคาะลีฟะฮฺท่านสุดท้ายคือ มัรวาน ที่ 2 (ฮ.ศ. 127-132 / ค.ศ. 744-750)

 

ต่อมาพวกตระกูลอัล-อับบาสได้เริ่มประกาศการแข็งข้อต่อราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺในปี ฮ.ศ. ที่ 130 / ค.ศ. 747 ในแคว้นคุรอสานภายใต้การนำของอบู มุสลิม อัล-คุรอสานียฺ และอบุลอับบาส อัส-สัฟฟาหฺก็ได้รับสัตยาบันจากชาวนครอัล-กูฟะฮฺในปี ฮ.ศ. 132 / ค.ศ. 750 และอบุลอับบาส อัส-สัฟฟาหฺก็ปราบปรามพวกอัล- อุมะวียะฮฺ เคาะลีฟะฮฺมัรวานที่ 2 ถูกสังหาร และอับดุรเราะหฺมานอัดดาคิลหนีรอดจากน้ำมือของพวกตระกูลอัล-อับบาสไปยังแคว้นอัล-อันดะลุส

 

ระบอบคิลาฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺจึงเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ปีฮ.ศ. 132-656 / ค.ศ. 750-1259 มีราชธานีอยู่ ณ นครแบกแดด (ยกเว้นการย้ายราชธานีมายังนครสามัรฺรออฺ โดยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมบิลลาฮฺในระหว่างปีค.ศ. 836-893) มีบรรดาเคาะลีฟะฮฺสืบทอดจำนวน 37 ท่าน เคาะลีฟะฮฺท่านสุดท้ายคือ อัล—มุสตะอฺศิม บิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 640-656 / ค.ศ. 1242-1258) ซึ่งถูกฮุลากูแม่ทัพของพวกมองโกลสังหารเมื่อครั้งที่นครแบกแดดถูกพวกมองโกลยกทัพเข้าทำลายในปี ค.ศ. 1258 

 

การปกครองระบอบคิลาฟะฮฺในสมัยราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺและราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺเป็นการปกครองแบบคิลาฟะฮฺ มุลก์ คือการปกครองแบบกษัตริย์ซึ่งทั้งสองราชวงศ์สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺเหมือนกัน โดยท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) ผู้เป็นต้นราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺสืบเชื้อสายถึงอุมัยยะฮฺ อิบนุ อับดิชัมส์ ส่วนราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺสืบเชื้อสายถึงอัล-อับบาส อิบนุ อับดิลมุฏเฏาะลิบ (ร.ฎ.) ผู้เป็นลุงของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในสายตระกูลของฮาชิม อิบนุ อับดิมะนาฟ

 

หากพิจารณาเรื่องเชื้อสายจะเห็นได้ว่า เคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านรวมถึงท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และบรรดาเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺตลอดจนราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺทั้งหมดล้วนมีเชื้อสายสืบถึงตระกูลกุรอยชฺซึ่งเป็นตระกูลของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เหตุนี้นักวิชาการมุสลิมจึงถือว่าเงื่อนไขของเคาะลีฟะฮฺในระบอบคิลาฟะฮฺ อิสลามียะฮฺที่สำคัญคือความเป็นผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺ (อัล-กุเราะชียะฮฺ) กล่าวคือ เป็นที่ยืนยันถึงความพิเศษของตระกูลกุรอยชฺตามข้อชี้ขาดทางศาสนาคือความเป็นผู้นำ (อิมามะฮฺ) จะอยู่ในผู้สืบสายตระกูลนี้โดยผู้ที่มิได้สืบสายตระกูลนี้จะไม่มีคุณสมบัติพิเศษอันเป็นเงื่อนไขของผู้ดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของรัฐอิสลาม (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 2/260)

 

อย่างไรก็ตามคุณสมบัติพิเศษของความเป็นผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกะรอยชฺผูกพันกับเงื่อนไข 2 ประการคือ 

1) สายตระกูลกะรอยชฺยังคงมีอยู่

2) ผู้สืบตระกูลกุรอยชฺดำรงสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อันเป็นภาระหน้าที่จำเป็นเหนือบุคคลผู้นั้น 

 

เงื่อนไขของผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺที่ว่าต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺนั้นนักวิชาการได้อ้างอิงจากตัวบทอัล-หะดีษหลายบทที่ระบุถึงเงื่อนไขข้อนี้

1) จากท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า 

إنَّ هَذَاالْأَمْرَفى قُرَيْشٍ لايُعَادِيْهِمْ أحَدٌ إِلَّاكَبَّهُ الله على وَجْهَه فى النارِماأَقَامُواالدينَ

ความว่า “แท้จริงการกิจนี้ (ความเป็นผู้นำ) อยู่ในตระกูลกุรอยชฺ ไม่มีผู้ใดที่จะเป็นปรปักษ์ต่อเหล่ากุรอยชฺ นอกเสียจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงให้ผู้นั้นคมำหน้าลงสู่นรกภูมิตราบใดที่เหล่ากุรอยชฺยังคงดำรงศาสนาเอาไว้” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ มุสลิม อะหฺมัด อัด-ดาริมียฺ และอัล-บัยฮะกียฺ)

 

2) จากอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า

لايَزَالُ هَذَاالْأَمْرُفى قُرَيْشٍ مابَقِيَ منهم اثنانِ

ความว่า “การกิจนี้ยังคงอยู่ในหมู่กุรอยชฺตราบใดที่ยังคงมีคน 2 คน จากพวกเขาเหลืออยู่” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ มุสลิม และอะหฺมัด)

 

3) จากอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

اَلنَّاسُ تَبَعٌ لِقُرَيْشٍ فِىهَذاالشَّأنِ مُسْلِمُهُمْ لِمُسْلِمِهِمْ وكافرُهم لكافِرهِمْ

ความว่า “ผู้คนย่อมถือตามกุรอยชฺในการกิจนี้ มุสลิมของผู้คนก็ถือตามมุสลิมของกุรอยชฺผู้ปฏิเสธของผู้คนก็ถือตามผู้ปฏิเสธของกุรอยชฺ” (บันทึกโดยมุสลิม และอัล-บัยฮะกียฺ) เป็นต้น

 

อัล-หะดีษดังกล่าวบ่งชี้ถึงเงื่อนไขที่ว่า การเป็นผู้นำของผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺผูกพันอยู่กับการมีผู้สืบเชื้อสายนี้ปรากฏอยู่ และการเคารพภักดีเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในการดำรงรักษาหลักการของศาสนา อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : บรรดาอัล-หะดีษเหล่านี้และที่คล้ายๆ กันเป็นหลักฐานบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจำกัดอยู่เฉพาะตระกูลกุรอยชฺ ไม่อนุญาตให้ผูกตำแหน่งการเป็นเคาะลีฟะฮฺกับผู้หนึ่งผู้ใดที่มิใช่ชาวกุรอยชฺ และตามนี้มีการอิจญ์มาอฺเกิดขึ้นในสมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺ และหลังจากสมัยของเศาะหาบะฮฺก็เช่นกัน

 

ผู้ใดที่กระทำสิ่งที่คัดค้านในเรื่องนี้จากพวกอุตริกรรมหรือนำเสนอโดยค้านกับผู้อื่น ผู้นั้นถูกอ้าง (ถูกหักล้าง) ด้วยการอิจญ์มาอฺของเหล่าเศาะหาบะฮฺ อัต-ตาบิอีน และผู้คนในรุ่นหลังพวกเขาพร้อมด้วยบรรดาอัล-หะดีษที่ถูกต้อง (ที่เป็นหลักฐานในการหักล้าง) อัล-กอฎียฺกล่าวว่า การกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺ คือมัซฮับของบรรดานักปราชญ์ทั้งหมด

 

อัล-กอฎียฺกล่าวอีกว่า “และแน่แท้ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้อ้างเงื่อนไขข้อนี้ต่อบรรดาชาวอันศอรฺในวันอัส-สะกีฟะฮฺ แล้วก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน และบรรดานักปราชญ์ก็นับเรื่องนี้อยู่ในประเด็นปัญหาของการมีอิจญ์มาอฺรับรอง โดยไม่มีการถ่ายทอดคำพูดหรือการกระทำจากชาวสะลัฟคนใดที่ค้านกับสิ่งที่เรากล่าวมา และเช่นเดียวกันไม่มีการถ่ายทอดจากชนรุ่นหลังสะลัฟในทุกหัวเมืองที่ค้านกับสิ่งดังกล่าว (ชัรหุลมุสลิม ; อัน-นะวาวียฺ 4/481)

 

อิบนุ หัซฺมิน กล่าวว่า “ถ้อยคำนี้ –บรรดาอิมามมาจากกุรอยชฺ- (الأئِمَّةُ مِن قُرَيش) เป็นถ้อยคำบอกเล่า (เคาะบัรฺ) ฉะนั้นหากความหมายคำบอกเล่าเป็นคำสั่ง (อัล-อัมรฺ) ก็ย่อมเป็นที่ต้องห้ามในการที่เรื่องนั้น (คิลาฟะฮฺ) จะอยู่ในชนกลุ่มอื่นจากกุรอยชฺตลอดไป และหากความหมายเป็นการบอกเล่า ฉะนั้นผู้ใดที่มิใช่ผู้สืบสายจากกุรอยชฺ เรื่องนั้น (คิลาฟะฮฺ) ก็ย่อมมิใช่สิทธิของผู้นั้น ถึงแม้ว่าผู้นั้นกล่าวอ้างสิทธินั้นก็ตาม (อัล-มะหัลลียฺ 1/57)

 

อย่างไรก็ตามคำกล่าวของปราชญ์ทั้งสองท่านข้างต้นย่อมหลีกไม่พ้นจากการกำหนดถึงความเป็นไปได้ (อิมกาน) สำหรับการอธิบายเงื่อนไขข้อนี้ คือการดำรงตำแหน่งของผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺในฐานะเคาะลีฟะฮฺถูกกำหนดเงื่อนไขผูกพันอยู่กับที่ 2 กรณีที่ผ่านมา คือมีผู้สืบเชื้อสายนั้นเหลืออยู่ และการดำรงไว้ซึ่งหลักการของศาสนา ซึ่งเงื่อนไขทั้ง 2 กรณีถูกระบุไว้ในอัล-หะดีษ และตำแหน่งคิลาฟะฮฺเป็นตำแหน่งผู้นำสากล ซึ่งความเป็นผู้นำในหลายๆ กรณีก็ไม่มีความจำเป็นในการคำนึงถึงเชื้อสายของผู้เป็นเคาะลีฟะฮฺหรือผู้นำนั้น เพราะผู้มีเชื้อสายกุรอยชฺอาจจะไร้ความสามารถและขาดภาวะความเป็นผู้นำ ในขณะที่บุคคลที่มิใช่กุรอยชฺอาจจะมีความสามารถและมีภาวะผู้นำ

 

เหตุนี้ปราชญ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺบางท่านจึงอนุญาตในการเป็นผู้นำของคนไม่ดี (ฟาญิรฺ) ถ้าหากมีความจำเป็น ดังกรณีที่ อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) เคยถูกถามถึงชาย 2 คนที่เป็นผู้นำในการทำสงคราม คนหนึ่งมีความเข้มแข็งแต่เป็นคนไม่ดี อีกคนหนึ่งเป็นคนดีแต่อ่อนแอ สองคนนี้คนไหนที่จะถูกเข้าร่วมในการศึกพร้อมกับผู้นั้นหรือให้ผู้นั้นเป็นแม่ทัพ อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า “กรณีของคนไม่ดีที่มีความเข้มแข็งนั้น ความเข้มแข็งของเขาเป็นประโยชน์แก่ประชาคมมุสลิม (ในการทำสงคราม) ความไม่ดีของเขาเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนคนดีที่อ่อนแอ ความดีของเขาเป็นเรื่องส่วนตัว และความอ่อนแอของเขาเป็นผลร้ายต่อประชาคมมุสลิม (อัส-สิยาสะฮฺ อัช-ชัรอียะฮฺ หน้า 10)

 

อิมามอัล-ญุวัยนียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เมื่อมีผู้สืบเชื้อสายกุรอยชฺที่มิใช่ผู้มีความรู้ และมีผู้มีความรู้ที่มีความยำเกรงอยู่ร่วมสมัยกับผู้มีเชื้อสายกุรอยชฺนั้น ก็ให้เอาผู้มีความรู้ที่ยำเกรงขึ้นนำหน้า ผู้ใดไร้ศักยภาพและความสามารถก็ย่อมไม่มีการห้อมล้อม (คือการสวามิภักดิ์ต่อผู้นั้น) และการเตรียมการใดๆ (ที่รองรับและสนับสนุน) ต่อสถานะของผู้นั้นแต่อย่างใด (ฆิยาษุล อุมัม : 229)

 

ดังนั้น การพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺว่าต้องมีเชื้อสายกุรอยชฺจึงเป็นเงื่อนไขที่ผูกพันอยู่กับช่วงเวลาเป็นสำคัญ กอปรกับคุณสมบัติในการมีความรู้ความสามารถของบุคคลผู้นั้นเป็นสำคัญเช่นกัน การมีอิจญ์มาอฺรับรองในเงื่อนไขข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลในยุคที่บรรดาเคาะลีฟะฮฺยุคต้นอิสลามสืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺ เพราะตระกูลกุรอยชฺในช่วงเวลานั้นยังคงมีศักยภาพและการเป็นที่ยอมรับถึงภาวะการเป็นผู้นำรัฐอิสลามของพวกเขา

 

แต่ทว่าเมื่อเข้าสู่ยุคที่สองของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺซึ่งพวกเติร์กเข้ามามีบทบาทในราชสำนัก และมีอิทธิพลเหนือบรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดด เคาะลีฟะฮฺในช่วงเวลานั้นกลายเป็นเครื่องเล่นหรือตุ๊กตาที่พวกเติร์กจับขึ้นนั่งบัลลังค์หรือถอดถอนหรือแม้กระทั่งสังหาร (ปลงพระชนม์) ความมีภาวะผู้นำของเคาะลีฟะฮฺที่สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺถูกจำกัดอยู่เฉพาะในปราสาทและพระราชวังเท่านั้น ในขณะที่อำนาจในการบริหารรัฐอิสลามแบบเบ็ดเสร็จตกอยู่ในกำมือของพวกเติร์กที่ดำรงตำแหน่งสุลฏอนผู้ทรงอำนาจ ทั้งๆ ที่เคาะลีฟะฮฺในระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺจำต้องมีสถานภาพทั้งความเป็นเคาะลีฟะฮฺหรืออิมามสูงสุดและความเป็นสุลฏอนผู้ทรงอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชากองทัพควบคู่กันไปในเวลาเดียวกัน หาใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางจิตวิญญาณเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติว่าด้วยการมีเชื้อสายสืบถึงตระกูลกุรอยชฺของเหล่าเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อับบาสียะฮฺก็ยังคงมีสถานะพิเศษที่พลเมืองมุสลิมโดยทั่วไปให้การยอมรับและให้เกียรติยกย่องถึงแม้จะเป็นเพียงการกล่าวขอพรในการแสดงธรรมวันศุกร์และวาระโอกาสสำคัญๆ การจารึกพระนามลงในเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนการแต่งตั้งบรรดาสุลฏอนให้มีอำนาจในการบริหารและการปกครองเสมือนเป็นผู้แทนพระองค์ และอำนาจที่แท้จริงก็อยู่ในกำมือของบรรดาบุคคลเหล่านั้น หาใช่เป็นอำนาจของเคาะลีฟะฮฺไม่ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่สองของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺซึ่งเป็นยุคจองพวกเติร์กเรืองอำนาจนับตั้งแต่รัชสมัยเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุอฺตะศิมบิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ ฮารูน อัร-เราะชีด (ฮ.ศ. 218-227 / ค.ศ. 833-842)

 

ครั้นเมื่อเคาะลีฟะฮฺ อัล-วาษิกบิลลาฮฺ ฮารูน อิบนุ อัล-มุอฺตะศิม (ฮ.ศ. 227-232 / ค.ศ. 842-847) ดำรงตำแหน่งต่อจากเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุอฺตะศิมบิลลาฮฺพระราชบิดา พวกเติร์กก็กุมอำนาจในราชสำนักอย่างเบ็ดเสร็จ เคาะลีฟะฮฺอัล-วาษิกก็ตกอยู่ในสภาพที่ไร้อำนาจ ต่อมาพระอนุชาของพระองค์คือ ญะอฺฟัรฺ อิบนุ อัล-มุอฺตะศิม ได้สืบวงศ์ต่อมาเฉลิมพระนามว่า เคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ (ฮ.ศ. 232 / ค.ศ. 842) พระองค์เป็นเคาะลีฟะฮฺที่มีความนิยมในแนวทางของอุฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ และยกเลิกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสถานภาพของอัล-กุรอานซึ่งเริ่มต้นนับแต่รัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มะอฺมูน (ฮ.ศ. 170-218 / ค.ศ. 786-833) ซึ่งนิยมในแนวทางของกลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺ

 

แต่เมื่อเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺ ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามของพวกเติร์ก และทรงพยายามต่อต้านอิทธิพลของพวกเติร์ก พระองค์ก็ถูกปลงพระชนม์ในปี ฮ.ศ. 247 / ค.ศ. 861 นับแต่บัดนั้นพวกเติร์กก็กุมอำนาจเหนืออาณาจักรอัล-อับบาสียะฮฺแบบเบ็ดเสร็จ เคาะลีฟะฮฺราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺก็กลายเป็นเสมือนเชลยที่ตกอยู่ในกำมือของพวกเติร์ก จะปล่อยเอาไว้ก็ได้ จะปลดออกจากตำแหน่งและยกผู้อื่นขึ้นแทนก็ได้ หรือจะปลงพระชนม์เสียก็ย่อมทำได้ (อิบนุ เฏาะบาเฏาะบา ; อัล-ฟัครียฺ ฟิลอาดาบ อัส-สุลฏอนียะฮฺ หน้า 220)

 

หลังการลอบปลงพระชนม์เคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล พวกเติร์กก็ยกมุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุตะวักกิลขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺเฉลิมพระนามว่า อัล-มุนตะศิรฺบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 247-248 / ค.ศ. 861 862) เคาะลีฟะฮฺลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ เคาะลีฟะฮฺอัล-มุนตะศิรฺถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการปลงพระชนม์พระราชบิดา แต่พระองค์ทรงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ว่าเสนาบดีอัล-วะซีรฺ อิบนุ คอก็อน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 247 / ค.ศ. 861) เป็นผู้ลงมือปลงพระชนม์เคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลเพื่อแก้แค้นให้กับบิดาของตน

 

อย่างไรก็ตามเคาะลีฟะฮฺอัล-มุนตะศิรบิลลาฮฺก็ทรงยอมพวกเติร์กในช่วงแรก แต่ไม่นานนักพระองค์ก็ทรงทัดทานพวกเติร์กและประณามพวกเติร์กว่าเป็นพวกที่ปลงพระชนม์เคาะลีฟะฮฺ พวกเติร์กจึงติดสินบนอิบนุ ฏีฟู๊รฺ แพทย์หลวงประจำพระองค์ในลอบวางยาพิษปลงพระชนม์เคาะลีฟะฮฺอัล-มุนตะศิรฺ พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ภายหลังดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺได้เพียง 6 เดือน

 

เมื่อสิ้นเคาะลีฟะฮฺแล้วพวกเติร์กก็ยกอะฮฺมัด อิบนุ มุฮัมมัด อิบนิ อัล-มุอฺตะศิมขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ เฉลิมพระนามว่า อัล-มุสตะอีน บิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 284 – 252 / ค.ศ. 862 – 866) แต่ไม่นานนักเคาะลีฟะฮฺพระองค์ใหม่ก็ทรงปลอมพระองค์หลบหนีพวกเติร์กจากนครสามัรฺรออฺมุ่งหน้าสู่นครแบกแดด พวกแม่ทัพเติร์กจึงปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งและยกมุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุตะวักกิลขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺองค์ใหม่เฉลิมพระนามว่า อัล-มุอฺตัซฺ บิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 252-255 / ค.ศ. 866-869)

 

ฝ่ายเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอีน บิลลาฮฺจึงรวบรวมผู้ให้การสนับสนุนพระองค์ทำสงครามกับเคาะลีฟะฮฺองค์ใหม่เป็นระยะเวลาหลายเดือน สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นทำให้เศรษฐกิจของรัฐอิสลามตกต่ำและเกิดสภาพข้าวยากหมากแพงไปทั่ว ในที่สุดเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตัซฺบิลลาฮฺก็ไดรับชัยชนะ และเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอีนก็สิ้นพระชนม์ (อิบนุ อัล-อะษีรฺ เล่มที่ 7 หน้า 49-50 , หะสัน อิบรอฮีม หะสัน : ตารีค อัล-อิสลาม อัส-สิยาสียฺ เล่มที่ 3 หน้า 8)

 

เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตัซฺบิลลาฮฺทรงอยู่ในตำแหน่งระหว่างปี ฮ.ศ. 252-255 / ค.ศ. 866-869 พระองค์ทรงอ่อนแอและหวาดกลัวอิทธิพลของพวกเติร์กเป็นอันมาก สถานภาพของพระองค์เป็นที่ดูแคลนจากผู้คนที่อยู่ร่วมสมัย แม้แต่ในท้องพระโรงบรรดาเหล่าขุนนางก็ทายกันว่าพระองค์ทรงจะพระชนม์ชีพหรือทรงอยู่ในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺได้นานแค่ไหน ขุนนางบางคนก็กล่าวขึ้นว่า “ตราบใดที่พวกเติร์กยังคงมีความต้องการนั่นแหล่ะคือช่วงเวลาของพระองค์” กลายเป็นเรื่องขำขันในท้องพระโรง (อิบนุเฏาะบาเฏาะบา ; อ้างแล้ว หน้า 221)

 

แล้วเรื่องราวอันเป็นที่น่าขำขันนั้นก็เกิดขึ้นจริง พวกเติร์กปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺและทรมานพระองค์จนสิ้นพระชนม์ในที่คุมขังเมื่อปี ฮ.ศ. 255 / ค.ศ. 869 หลังสิ้นเคาะลีฟะฮฺ พวกเติร์กยกมุอัมมัด อิบนุ อัล-วาษิกขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺลำดับที่ 14 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺเฉลิมพระนามว่า อัล-มุฮิตะดียฺบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 255-256 / ค.ศ. 869 – 870) พระองค์ไม่สามารถจ่ายเบี้ยหวัดอุดหนุนกองทัพชาวเติร์กได้ พวกเติร์กจึงปลงพระชนม์เคาะลีฟะฮฺในปี ฮ.ศ. 256 / ค.ศ. 870 หลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึงขวบปี

 

เคาะลีฟะฮฺลำดับที่ 15 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ คืออัล-มุอฺตะมิด อะลัลลอฮฺ (อะหฺมัด อิบนุ อัล-มุตะวักกิล) ทรงดำรงตำแหน่งระหว่างปีฮ.ศ. 256-279 / ค.ศ. 871-892) แต่อำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในกำมือของอัล-มุวัฟฟักบิลลาฮฺ (ฏอลหะฮฺ อิบนุ อัล-มุตะวักกิล) ผู้เป็นพระเชษฐา

 

ต่อมาเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิดก็ถูกลอบวางยาพิษ โอรสของอัล-มุวัฟฟักบิลลาอฮฺก็ถูกยกขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 16 เฉลิมพระนามว่า อัล-มุอฺตะฏิดบิลลาฮฺ (อะหฺมัด อิบนุ อัล-มุวัฟฟัก) ดำรงตำแหน่งในระหว่างปี ฮ.ศ. 279-289 / ค.ศ. 892-902) ในช่วงการดำรงตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิดซึ่งอำนาจตกอยู่ในน้ำมือของพระเชษฐาอัล-มุวักฟักก่อนหน้านั้น (รัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อิบนุ อัล-มุอฺตะศิม) อะหฺมัด อิบนุ ฏูลูน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 270 / ค.ศ. 884) ได้ถูกส่งไปปกครองอียิปต์ในนามของบ็ากบ็ากผู้เป็นพ่อเลี้ยงของอิบนุฏูลูน ปี ฮ.ศ. 254 / ค.ศ. 868

 

ต่อมาบ็ากบ็ากก็ถูกสังหาร ยัรฺกูคฺแม่ทัพชาวเติร์กจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองอียิปต์แทนบ็ากบ็าก แต่อิบนุฏูลูนก็สมรสกับบุตรีของยัรฺกูคฺ ทำให้ยัรฺกูคฺผู้มีศักดิ์เป็นพ่อตารับรองการเป็นผู้ปกครองอียิปต์ของอิบนุฏูลูนในนามของตน ต่อมาอิบนุฏูลูนก็ปกครองอียิปต์แบบเบ็ดเสร็จและตั้งรัฐอิสระอัฏฏูลูนียะฮฺขึ้นมีอำนาจครอบคลุมอียิปต์และแคว้นชาม ความสัมพันธ์ของรัฐอิสระอัฏฏูลูนียะฮฺกับราชสำนักอัล-อับบาสียะฮฺมีเพียงแค่การขอพรให้แก่เคาะลีฟะฮฺในการแสดงธรรมวันศุกร์ การจารึกพระนามเคาะลีฟะฮฺในเหรียญกษาปณ์และการส่งบรรณาการสู่ราชสำนักเท่านั้น

 

ในช่วงรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิดบิลลาฮฺซึ่งอำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในกำมือของอัล-มุวัฟฟักผู้เป็นพระเชษฐา เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิดจึงคิดที่จะหลบหนีสู่อียิปต์เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากอิทธิพลของอัล-มุวัฟฟัก ฝ่ายอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนก็ตอบรับความคิดนี้จึงลอบส่งคนไปเข้าเฝ้าเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิดอย่างลับๆ ในปี ฮ.ศ. 268 ขณะนั้นอัล-มุวัฟฟักกำลังติดพันอยู่กับการปราบปรามการลุกฮือของพวกทาสผิวดำ (อัซ-ซันญ์) อยู่พอดี

 

เคาะลีฟะฮะฮฺอัล-มุอฺตะมิดจึงทรงฉวยโอกาสหลบหนีออกจากนครสามัรรอฺในปี ฮ.ศ. 269 ทำทีว่าจะทรงออกล่าสัตว์ แต่จริงๆ แล้วทรงมีพระประสงค์จะมุ่งหน้าสู่อียิปต์ ทว่าอัล-มุวัฟฟักก็ล่วงรู้แผนการณ์ของพระองค์ อัล-มุวัฟฟักจึงมีบัญชาให้ข้าหลวงประจำเมืองโมศุลนำเอาเคาะลีฟะฮฺกลับสู่นครแบกแดดพร้อมกับมีการจับกุมบรรดาแม่ทัพนายกองที่ร่วมไปกับเคาะลีฟะฮฺทั้งหมด แผนการณ์ที่จะย้ายระบอบคิลาฟะฮฺไปยังอียิปต์จึงล้มเหลว

 

และแผนการณ์ในครั้งนั้นก็แสดงให้เห็นว่าความพยายามในการย้ายระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺไปยังอียิปต์เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในสมัยของอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูน แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างแบกแดดกับนครอัล-เกาะฏออิฮิราชธานีของวงศ์อัฏ-ฏูลูนียะฮฺก็กลับมาดีดังเดิมในสมัยที่คุมาเราะวัยฮฺ โอรสของอะหฺมัด อิบนุฏูลูนขึ้นมามีอำนาจสืบต่อจากบิดาของตนโดยคุมาเราะวัยฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 282 / ค.ศ. 895) ได้ส่งราชบุตรีของตนคือ อัสมาอฺ ผู้มีฉายานามว่า ก็อฏรุนนะดา (พระนางหยาดน้ำค้าง) ไปยังนครแบกแดดเพื่ออภิเษกสมรสกับเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะฎิดบิลลาฮฺและหลังรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะฎิดบิลลาฮฺ ราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺก็มีเคาะลีฟะฮฺสืบต่อมาตามลำดับดังนี้

 

อัล-มุกตะฟียฺบิลลาฮฺ (อะลี อิบนุ อัล-มุอฺตะฎิด) เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 17 (ฮ.ศ. 289- 295 / ค.ศ. 902 – 908) เคาะลีฟะฮฺอัล-มุกตะดิรฺบิลลาฮฺ (ญะอฺฟัร อิบนุ อัล-มุอฺตะฎิด) เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 18 (ฮ.ศ. 295-320 / ค.ศ. 908-932) ในรัชสมัยของพระองค์พวกวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺเริ่มเรืองอำนาจในแอฟริกา (ค.ศ. 909) พวกวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺในนครคอร์โดบา (ค.ศ. 929) และพวกอัล-กะรอมีเฏาะฮฺเข้ารุกรานอีรักและยึดครองนครมักกธฮฺ (ค.ศ. 930) แล้วนำเอาหินดำ (อัล-หะญะรุล อัสวัด) เอาไปใว้ในแคว้นอัล-อะหฺสาอฺเป็นเวลาถึง 22 ปี

 

เคาะลีฟะฮฺอัล-มุกตะดิรฺ  บิลลาฮฺทรงพยามยามในการกำจัดอิทธิพลของมุอฺนิส อัล-คอดิม (เสียชีวิต ฮ.ศ. 321 / ค.ศ. 932) เจ้ากรมตำรวจนับแต่รัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะฎิดซึ่งกลายเป็น “อะมีรฺ อัล-อุมะรออฺ” ในรัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุกตะดิรฺ บิลลาฮฺ แต่ในที่สุดอุมมุอฺนิส อัล-คอดิม หรืออะมีรฺ อัล-อุมะรออฺ ผู้นี้ก็ปลงพระชนม์เคาะลีฟะฮฺในปี ฮ.ศ. 320 / ค.ศ. 932 เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 19 คือเคาะลีฟะฮัล-กอฮิรฺบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 320-322 / ค.ศ. 932-934) เป็นพระโอรสในเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุอฺตะฎิดอีกเช่นกัน เคาะลีฟะฮฺองค์นี้ก็ถูกพวกขุนนางชาวเติร์กถอดจากอำนาจ ควักลูกตาของพระองค์ทั้งสองข้างและถูกจองจำอยู่ในที่คุมขังเป็นเวลาถึง 11 ปี ภายหลังก็มีชีวิตเป็นขอทานจวบจนสิ้นพระชนม์

 

ต่อมาเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 20 คือเคาะลีฟะฮฺ อัร-รอฎียฺ บิลลาฮฺ (มุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุกตะดิรฺ) ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺระหว่างปี ฮ.ศ. 322 – 329 / ค.ศ. 934 – 940) ในรัชสมัยของพระองค์อำนาจการบริหารตกอยู่ในกำมือของมุฮัมมัด อิบนุ รออิก (เสียชีวิต ฮ.ศ. 330 / ค.ศ. 942) ผู้แม่ทัพและดำรงตำแหน่งอะมีรฺ อัลอุมะรออฺ ทำให้อำนาจของเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดดอ่อนแอ ในขณะที่วงศ์อัล-อุมะวียะฮฺในนครคอร์โดบาสถาปนาระบอบคิลาฟะฮฺ และมีความรุ่งเรืองในแคว้นอัล-อันดะลุส

 

เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 21 คือเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตตะกียฺลิลลาฮฺ (อิบรอฮีม อิบนุ อัล-มุกตะดิรฺ) ดำรงตำแหน่งในระหว่างปี ฮ.ศ. 329-332 / ค.ศ. 940-944) รัชสมัยของพระองค์ตรงกับช่วงเวลาที่มฺฮัมมัด อัล-อิคชีดตั้งวงศ์อัล-อิคชีดียะฮฺและสถาปนารัฐอิสระขึ้นในอียิปต์และซีเรีย (ฮ.ศ. 323-358 / ค.ศ.935-969) ต่อจากวงศ์อัฏ-ฏูลูนียะฮฺ และมุฮัมมัด อัล-อิคชีดผู้นี้ได้พยายามกระทำสิ่งที่อะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนเคยกระทำไว้ก่อนหน้านั้น คือการย้ายระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺมายังอียิปต์เพื่อให้เคาะลีฟะฮฺอยู่ภายใต้การอารักขาของตน

 

ความพยายามของอัล-อิคชีดเกิดขึ้นในปีฮ.ศ. 333 / ค.ศ. 944 ขณะที่มุฮัมมัด อิบนุ รออิก ผู้ดำรงตำแนห่งอะมีร อัล-อุมะรออฺกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในราชสำนักอัล-อับบา สียะฮฺ โดยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตตะกียฺลิลลาฮฺทรงตกอยู่ในสภาพที่ไร้อำนาจใดๆ ในการบริหารและปกครองรัฐอิสลาม อัล-อิคชีดได้เข้าเฝ้าเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตตะกียฺลิลลาฮฺที่เมืองอัร-ร็อกเกาะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของซีเรียริมฝั่งแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) และทูลขอให้พระองค์ร่วมเดินทางสู่อียิปต์พร้อมกับตนโดยเคาะลีฟะฮฺจะได้อยู่ภายใต้การอารักขาของอัล-อิคชีด แต่ทว่าเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตตะกียฺทรงปฏิเสธข้อเสนอของอัล-อิคชีด พระองค์ทรงเสด็จกลับสู่นครแบกแดด ส่วนอัล-อิคชีดก็กลับสู่แคว้นชาม (ซีเรีย) จุดจบของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตตะกียฺก็คือถูกควักลูกตา และตูซูน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 334 / ค.ศ. 945) ขุนนางชาวเติร์กผู้ดำรงตำแหน่งอะมีรฺ อัล-อุมะรออฺก็ปลงพระชนม์พระองค์ในที่คุมขัง

 

เคาะลีฟะฮฺลำดับที่ 22 คือ อัล-มุสตักฟียฺบิลลาฮฺ (อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัล-มุกตะฟียฺ) ก็ดำรงตำแหน่งต่อมาในระหว่างปี ฮ.ศ. 333 – 334 / ค.ศ. 944-945) ในรัชสมัยของพระองค์ราชสำนักแบกแดดถูกตระกูลของอบูชุญาอฺ บุวัยฮฺ (ฮ.ศ. 320-447 / ค.ศ. 932 – 1055) ซึ่งสถาปนารัฐอิสระ อัลบูวัยฮียะฮฺกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมุอิซฺซุดเดาละฮฺ (ค.ศ. 915-967) ได้นำทัพเข้าสู่นครแบกแดดในปี ค.ศ. 947 เคาะลีฟะฮฺจึงทรงแต่งตั้งให้มุอิซฺซุดเดาละฮฺ อัล-บุวัยฮียฺดำรงตำแหน่งอะมีรฺ อัล-อุมะรออฺ แต่แล้วมุอิซฺซุดเดาละฮฺก็ตอบแทนพระองค์ด้วยการสั่งให้ควักลูกตาทั้งสองของพระองค์ ปลดพระองค์ออกจากการเป็นเคาะลีฟะฮฺและจองจำพระองค์จนสิ้นพระชนม์

 

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งสำหรับเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺซึ่งอ่อนแอไร้อำนาจและถูกปลดออกจากตำแหน่ง ตลอดจนมีจุดจบไม่ต่างจากเคาะลีฟะฮฺองค์ก่อนๆ และนี่ย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเป็นเคาะลีฟะฮฺที่สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยช์แต่ไร้อำนาจและถูกทารุนกรรม ถูกปลด ถูกคุมขัง และถูกปลงพระชนม์นั้นว่ามีสิทธิอันชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺอย่างแท้จริงหรือไม่ การมีเคาะลีฟะฮฺตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวสามารถตอบสนองในภาระกิจและหน้าที่ต่อประชาคมมุสลิมได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

 

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺได้ทำให้เงื่อนไขที่ว่า เคาะลีฟะฮฺจำต้องมีคุณสมบัติสืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺดูเป็นเรื่องที่ค้านกับอิจญ์มาอฺของปวงปราชญ์ในยุคก่อนหน้านั้นและมีผลทำให้การอิจญ์มาอฺดังกล่าวกลายเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่สามารถยกสถานภาพของเคาะลีฟะฮฺให้สูงขึ้นแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นผลจากการอิจญ์มาอฺก็คือ การยกผู้สืบเชื้อสายในสายตระกูลกุรอยชฺขึ้นมาเป็นหุ่นเชิดหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่บรรดาขุนนางที่กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเท่านั้น

 

เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 23 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ คือ อัล-มุฏีอฺลิลลาฮฺ (อัล-ฟัฏล์ อิบนุ อัล-มุกตะดิรฺ) ดำรงตำแหน่งระหว่างปีฮ.ศ.334-363 / ค.ศ. 946 – 974) ในรัชสมัยของพระองค์อำนาจการปกครองและการบริหารตกอยู่ในกำมือของมุอิซฺซุดเดาละฮฺ อัล-บูวัยฮียฺ ในปลายรัชกาลทรงประชวรจึงทรงสละตำแหน่งให้แก่พระราชโอรส คือเจ้าชาย อับดุลกะรีม เฉลิมพระนามว่า อัฏ-ฏออิอฺลิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 363-381 / ค.ศ. 974 – 991)

 

ในรัชสมัยของพระองค์ ฟันนาคุสโรว์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 372 / ค.ศ. 983) บุตรของรุกนุดเดาละฮฺ อัล-บูวัยฮียฺ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อะเฎาะฎุดเดาละฮฺและมีศักดิ์เป็นพ่อตามีอำนาจและอิทธิพลเหนือพระองค์ เคาะลีฟะฮฺอัฏ-ฏออิอฺลิลลาฮฺทรงถูกปลดออกจากตำแหน่ง และสิ้นพระชนม์ในที่คุมขังภายหลังบะฮาอุดเดาละฮฺ (เสียชีวิต ค.ศ. 1002) ขึ้นมามีอำนาจต่อจากอะเฎาะฎุดเดาละฮฺผู้เป็นบิดา และบะฮาอุดเดาละฮฺก็ยกเจ้าชายคนหนึ่งในราชวงศ์อัล-บบาสียะฮฺขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 25 เฉลิมพระนามว่า อัล-กอดิรฺบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 381 – 422 / ค.ศ. 991 – 1031) เคาะลีฟะฮฺ อัล-กอดิรฺบิลลาฮฺ เป็นปราชญ์ทางศาสนาและรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 41 ปี

 

เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 26 คือ อัล-กออิมบิอัมริลลาฮฺ (อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัล-กอดิรฺ) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ฮ.ศ. 422 – 467 / ค.ศ. 1031 – 1075) ในรัชสมัยของพระองค์ แม่ทัพเติร์กนามว่า อัล-บะสาสีรียฺ (สียชีวิต ฮ.ศ. 451 / ค.ศ. 1060) ได้ก่อการกบฏ เคาะลีฟะฮฺอัล-กออิมจึงทรงขอความช่วยเหลือไปยังฏุฆฺรุล เบยฺกฺ บุตรมีกาอีล (เสียชีวิต ค.ศ. 1063) ผู้นำของพวกเสลญูกเติร์ก (สะลาญิเกาะฮฺ) ซึ่งนำทัพเข้าสู่นครแบกแดด ปี ค.ศ. 1055 และปราบปรามพวกวงศ์อัล-บูวัยฮียฺ และอัล-บะสาสีรียฺ ผู้นำชาวเติร์กที่ก่อการกบฏ เคาะลีฟะฮฺทรงพระราชทานตำแหน่งอัส-สุลฏอน ว่า มะลิก อัช-ชัรฺก์ วัล-ฆ็อร์บฺ (สุลฏอนและกษัตริย์แห่งตะวันออก-ตะวันตก) แก่ฏุฆรุลเบย์กฺและได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาในเคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม ปี ฮ.ศ. 454 แต่หลังการอภิเษกไม่นาน ฏุฆรุล เบย์กฺ ก็เสียชีวิตในเดือนเราะมะฎอน ปีฮ.ศ. 455 (ค.ศ. 1063) ขณะมีอายุได้ 70 ปี และฏุฆรุล เบย์กฺผู้นี้ถือเป็นผู้สถาปนาอาณาจักร เสลญูกียะฮฺ ที่ทรงอำนาจในระหว่างคริสตศตวรรษที่ 11-13

 

เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 27 คือ อัล-มุกตะดียฺ บิอัมริลลาฮฺ (อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮัมมัด) พระราชนัดดาในเคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม (ฮ.ศ. 467-487 / ค.ศ. 1075 – 1094) ตลอดรัชสมัยของพระองค์อำนาจในการปกครองและการบริหารตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกเสลญูกเติร์ก ต่อมาเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 22 คือ อัล-มุสตัซฺฮิรฺบิลลาฮฺ (อะหฺมัด อิบนุ อัล-มุกตะดียฺ) ดำรงตำแหน่งคิลาฟะฮฺในระหว่างปี ฮ.ศ. 487 – 512 / ค.ศ. 1094 – 1118) ในรัชสมัยของพระองค์สงครามครูเสดได้เริ่มต้นขึ้น และนครอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) ตกอยู่ในกำมือของพวกครูเสด

 

ต่อมาคือรัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุสตัรฺชิดบิลลาฮฺ (อัล-ฟัฏล์ อิบนุ อัล-มุสตัซฮิรฺ) (ฮ.ศ. 512-529 / ค.ศ. 1118 – 1135) เป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 29 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺและเป็นเคาะลีฟะฮฺอีกพระองค์หนึ่งที่ถูกลอบปลงพระชนม์ และเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 30 คือ อัร-รอชิดบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 529 – 530 / ค.ศ. 1135 – 1136) พระองค์ถูกมัสอูด อิบนุ มุฮัมมัด สุลฏอนเสลญูกแห่งอีรัก (ค.ศ. 1133-1152) ถอดจากตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺและยกเจ้าชายมุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุสตัซฮิรฺผู้เป็นพระอนุชาขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 31 เฉลิมพระนามว่า อัล-มุกตะฟียฺลิอัมริลลาฮฺ (ฮ.ศ. 530 – 555 / ค.ศ. 1136 – 1160)

 

ในรัชสมัยของพระองค์ทรงสามารถนำเอาอำนาจในการปกครองและการบริหารของเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺกลับคืนมาอีกครั้งภายหลังอิทธิพลของพวกเสลญูกเติร์กได้เสื่อมลง เคาะลีฟะฮฺอัล-มุกฺตะฟียฺลิอัมริลลาฮฺจึงถือเป็นเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺช่วงที่สองที่มีอำนาจในการดำรงสถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺอย่างแท้จริงแต่รัชสมัยของพระองค์ก็สั้นนัก

 

เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 32 คือ อัล-มุสตันญิดบิลลาฮฺ (ยูสุฟ อิบนุ อัล-มุกตะฟียฺ) มีอำนาจปกครองระหว่างปี ฮ.ศ. 555-566 / ค.ศ. 1160 – 1170 ถือเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ดีที่สุดพระองค์หนึ่งนอกเหนือจากพระราชบิดาของพระองค์และส่งผลสืบมาในรัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะฎีอฺบิลลาฮฺ (อัล-หะสัน อิบนุ อัล-มุสตันญิด) (ฮ.ศ. 566 – 575 / ค.ศ. 1170 – 1180) เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 33 ซึ่งทรงเป็นที่ยอมรับถึงความเป็นเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม และในรัชสมัยของพระองค์พวกวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺในอียิปต์ก็สิ้นอำนาจลงเมื่อเศาะลาหุดดีน ยูสุฟ อิบนุ อัยยูบ (ฮ.ศ. 532 – 589 / ค.ศ. 1138 – 1193) ประกาศยกเลิกระบอบการปกครองในราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺและยอมรับอำนาจของเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบดแดดในปีค.ศ. 1171

 

ต่อมาก็เป็นเคาะลีฟะฮฺอัน-นาศิรฺลิดินนิลลาฮฺ (อะหฺมัด อิบนุ อัล-มุสตะฎีอฺ) ในลำดับที่ 34 (ฮ.ศ. 575 – 622 / ค.ศ. 1180 – 1225) รัชสมัยของพระองค์ก็เป็นช่วงเวลาที่เคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดดในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺมีอำนาจควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จและอิทธิพลของพวกเสลญูกก็สิ้นสุดลง สถานภาพของเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺดูจะมีเสถียรภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยหลายรัชกาลติดต่อกัน เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 35 คือ อัซ-ซอฮิรฺ บิอัมริลลาฮฺ อิบนุ อัน-นาศิรฺ (ค.ศ. 1225 – 1226) พระองค์เป็นเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมและทรงจัดการบริหารการคลังได้เป็นอย่างดี แต่ทว่ารัชสมัยของพระองค์ก็สั้นมากเพราะทรงอยู่ในตำแนห่งได้เพียง 1 ปีเท่านั้น 

 

เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 36 คือเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุสตันศิรฺบิลลาฮฺ (อัล-มันศูรฺ อิบนุ อัซ-ซอฮิรฺ) ดำรงตำแหน่งในระหว่างปี ฮ.ศ. 623 – 640 / ค.ศ. 1226 – 1242 พระองค์ทรงมีความยุติธรรมและมีความเคร่งครัดในหลักการของศาสนา ผลงานที่สำคัญของพระองค์คือการสร้างวิทยาลัยอัล-มุสตันศิริยะฮฺ ในนครแบกแดดซึ่งยังคงอยู่ตราบจนทุกวันนี้

 

เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 37 คือเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอฺศิมบิลลาฮฺ (อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัล-มุสตันศิรฺ) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ฮ.ศ. 640 – 656 / ค.ศ. 1242 – 1258 ในรัชสมัยของพระองค์กองทัพมองโกลภายใต้การนำของฮุลากูหลานชายของเจงกีสข่านได้สถาปนาอาณาจักรมองโกล อัล-อีลคอนียะฮฺในอิหร่าน (ค.ศ. 1251) ต่อมาก็ยาตราทัพข้ามแม่น้ำอะมูดาเรียแล้วปราบปรามบรรดาเจ้าครองแคว้นชาวเปอร์เซียและพวกอิสมาอีลียะฮฺในป้อมอะละมูต (ค.ศ. 1256) ต่อมาก็ยาตราทัพเข้าทำลายนครแบกแดดในปี ค.ศ. 1258 และปลงพระชนม์เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอฺศิมบิลลาฮฺ ระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดก็สิ้นสุดลงนับแต่นั้นพร้อมกับความย่อยยับของอารยธรรมอิสลามที่ถูกสั่งสมมาตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษ

 

เหตุที่เราต้องสาธยายถึงเหล่าเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺนับตั้งแต่รัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 218 – 227 / ค.ศ. 833 – 842) เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ชักนำพวกเติร์กเข้ามามีอำนาจในแบกแดดเป็นครั้งแรกจวบจนถึงเคาะลีฟะฮฺองค์สุดท้ายในลำดับที่ 37 คือ เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอฺศิมบิลลาฮฺก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาพของบรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในหลายรัชกาลที่ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ไร้อำนาจและถูกกระทำจากพวกขุนนางที่เข้ามามีอำนาจในราชสำนักตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี

 

สถานภาพของบรรดาเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺเริ่มกลับมาฟื้นตัวและมีพัฒนาการดีขึ้นในรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-กอดิรบิลลาฮฺ เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 25  (ฮ.ศ. 381 – 422 / ค.ศ. 991 – 1031) และดีขึ้นเป็นลำดับจวบจนถึงรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺองค์สุดท้ายของราชวงศ์ อันเป็นช่วงระยะเวลานับตั้งแต่ปีค.ศ. 991 – 1258 คือราว 267 ปีสำหรับช่วงตอนปลายราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการปกครองแบบคิลาฟะฮฺมุลก์โดยในบางรัชกาลนั้นเคาะลีฟะฮฺมีความรู้ความสามารถและมีอำนาจการปกครองอย่างสมบูรณ์ตลอดจนมีความยุติธรรม

 

กอปรกับความมีคุณสมบัติพิเศษในการสืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺทำให้รัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺในช่วงตอนปลายนี้มีความใกล้เคียงกับระบอบคิลาฟะฮฺนุบูวะฮฺเช่นเดียวกับรัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซฺ อิบนิ มัรฺวาน (ฮ.ศ. 61 – 101 / ค.ศ. 681 – 720) เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ (ฮ.ศ. 99 / ค.ศ. 717) เพราะถึงแม้ว่าเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซจะมิได้รับการเลือกสรรให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺโดยผ่านการประชุมหารือ (อัช-ชูรอ) หากแต่เป็นการแต่งตั้งตามคำสั่งเสียของเคาะลีฟะฮฺองค์ก่อน (เคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน อิบนุ อับดิลมะลิก) ทว่าเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซก็ได้ดำรงความยุติธรรมและส่งมอบสิ่งที่ถูกยึดครองโดยมิชอบ (ร็อดดุล-มะซอลิม) เข้าสุ่บัยตุลมาลฺ ท่านจึงเป็นอิมามหรือเคาะลีฟะฮฺแบบนุบูวะฮฺที่แท้จริง (มันฮัจญ์ อัส-สุนนะฮฺ ; ดร.ยะหฺยา อิสมาอีล หน้า 255 – 256) บรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในช่วง 267 ปีหลังก็มีสภาพที่คล้ายกันถึงแม้ว่าในด้านความประเสริฐจะมิอาจเทียบได้กับเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อับดิลอะซีซก็ตาม

 

เมื่อประชาคมมุสลิมสูญเสียระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในปี ค.ศ. 1258 ทำให้การรื้อฟื้นตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺเป็นสิ่งที่ประชาคมมุสลิมคาดหวังและ รอคอย เนื่องจากบรรดาเคาะลีฟะฮฺในช่วง 267  ปีหลังมีสถานภาพที่ดีกว่าในช่วงรัชสมัยก่อนหน้านั้นถึงแม้ว่าอำนาจจริงๆ ของเคาะลีฟะฮฺจะมีอยู่เพียงแค่นครแบกแดดและเขตปริมณฑลเท่านั้น ส่วนดินแดนในโลกอิสลามเวลานั้นก็มีรัฐอิสระเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งอาณาจักรของพวกเสลญูกเติร์กในเขตเอเซียน้อย (ค.ศ. 1077 – 1300) อาณาจักรมัมลูกียะฮฺ อัล-บะหฺรียูน (ค.ศ. 1253 – 1382) พวกมัมลูกียะฮฺ อัล-บุรญียูน (ค.ศ. 1382 – 1517) ซึ่งก่อนหน้านั้นคือวงศ์อัล-อัยยูบียะฮฺ (ค.ศ. 1174-1249) พวกเติร์กอัล-ฆอซฺนะวียะฮฺ (ค.ศ. 962-1182) พวกเติร์กอัล-ฆูรียะฮฺในอัฟกานิสถานและอินเดีย (ค.ศ. 1148-1215) รัฐสุลฏอนแห่งเดลฮี (ค.ศ. 1206-1526) อาณาจักรคุวาริซฺม์ชาฮฺ (ค.ศ. 1097-1231) และรัฐอิสระของพวกอะตาบัก (ค.ศ. 1104-1287) อาณาจักรและรัฐอิสระเหล่านี้ส่วนมากให้การยอมรับต่อเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ แห่งนครแบกแดดซึ่งถือเป็น “ดารุลคิลาฟะฮฺ” ถึงแม้ว่าเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดดจะสูญเสียอำนาจการปกครองเหนือดินแดนเหล่านั้นก็ตาม

 

ปี ฮ.ศ. 656 (ค.ศ. 1258) นับเป็นปีแห่งความเศร้าสลดในประวัติศาสตร์ของประชาคมมุสลิม กองทัพมองโกลนำโดยฮุลากูได้เข้ายึดครองนครแบกแดดและทำลายล้างทุกสิ่งตลอดระยะเวลา 7 วัน พวกมองโกลสังหารเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอฺศิมบิลลาฮฺ บรรดาเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของราชสำนักอัล-อับบาสียะฮฺ ประชาคมมุสลิมเกิดความหวาดวิตกต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว เพราะระบอบการปกครองในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ (ทั้งๆ ที่มีความอ่อนแอในด้านการเมืองการปกครอง) ยังคงเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณสำหรับโลกอิสลามซึ่งเหนือกว่าความสำคัญของพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรมเสียอีก (Camb.Med.Hidt.vol IV , p.462….)

 

จึงไม่แปลกที่โศกนาฏกรรมดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาคมมุสลิมพากันเข้าใจว่าโลกจะถึงกาลอวสานและวันโลกาวินาศก็ใกล้เข้ามาเต็มที่ (อัส-สุยูฏียฺ ; ตารีค อัล-คุละฟาอฺ : หน้า 309) แต่แล้วในเช้าวันศุกร์ ตรงกับวันที่ 3 กันยายน ปี ค.ศ. 1260 (26 เราะมะฎอน ปี ฮ.ศ. 658) กองทัพของมองโกลก็ประจันหน้ากับกองทัพของพวกมัมลูกในสมรภูมิอัยนฺ ญาลูต ฝ่ายมัมลูกมีสุลฏอนสัยฟุดดีน กุฏุซฺ (ค.ศ. 1259-1260) ผู้นำของพวกมะมาลีก บะหฺรียูน และอะมีรฺ บัยบรัส อัล-บันดะเกาะดารียฺ เป็นแม่ทัพ และฝ่ายมองโกลมีกะตุบฆอเป็นแม่ทัพ สมรภูมิอัยนฺ ญาลูต จบลงด้วยชัยชนะของพวกมัมลูก และชัยชนะในสมรภูมิครั้งนี้ทำให้แสนยานุภาพทางการทหารของพวกมองโกลเปลี่ยนไป เพราะสมรภูมิอัยนฺญาลูตคือความปราชัยเป็นครั้งแรกของพวกมองโกล ตำนานที่เล่าขานกันว่า กองทัพมองโกลไม่เคยปราชัยก็ปิดฉากลง (Camb. Med. Hidt. Vo;. IV , p. 644)

 

อาณาจักรของพวกมัมลูกก็กลายเป็นรัฐอิสระที่ถูกมองจากประชาคมมุสลิมด้วยสายตาที่ยกย่องและยอมรับถึงความดีความชอบของพวกเขา ประเทศมุสลิมต่างก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่มีต่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่นี้ เพราะประชาคมมุสลิมเคยสิ้นหวังจากการมีชัยเหนือพวกตาตาร์-มองโกล เนื่องจากพวกมองโกลได้เข้ายึกครองดินแดนอิสลามส่วนใหญ่ และเพราะพวกมองโกลพิชิตทุกแว่นแคว้นที่ไปถึงและสร้างความปราชัยแก่ทุกกองทัพที่รบพุ่งด้วย (อบุลฟิดาอฺ , อัล-มุคตะศอรฺ ฟี ตารีค อัล-บะชัรฺ เล่มที่ 3 หน้า 214)

 

แต่ทว่าในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1260 (15 ซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 658) หลังการกลับจากการล่าสัตว์ของสุลฏอน กุฏุซฺ อัล-มะลิก อัล-มุซอฟฟัรฺ วีรบุรุษแห่งสมรภูมิอัยนฺ ญาลูต พระองค์ก็ถูกเหล่าอัศวินมะมาลีกภายใต้การนำของบัยบรัส อัล-บันดะเกาะดารียฺ ลงดาบสังหารพระองค์ (อัล-มักรีซียฺ ; อัส-สุลูก เล่มที่ 1 หน้า 435) แล้วบัยบรัส อัล-บันดุเกาะดารียฺก็ได้รับการเห็นชอบให้ขึ้นดำรงตำแหน่งสุลฏอนองค์ใหม่ของพวกมัมลูก เฉลิมพระนามว่า อัล-มะลิก อัซ-ซอฮิรฺ กองทหารของบัยบรัสได้เข้าสู่กรุงไคโรโดยไม่ได้รับการต่อต้านใดๆ และพระองค์ก็เข้าสู่ท้องพระโรงและขึ้นนั่งบัลลังค์ในวันที่ 26 ตุลาคม (19 ซุลเกาะอฺดะฮฺ) ปีเดียวกัน (อ้างแล้ว 1/437)

 

สุลฏอนบัยบรัส (อัล-มะลิก อัซ-ซอฮิร) แห่งวงศ์มัมลูกียะฮฺได้สร้างความมั่นคงให้แก่อาณาจักรอัล-มัมลูกียะฮฺด้วยการปราบปรามกบถในกรุงดามัสกัสซึ่งอะมีร อะละมุดดีน สันญัร อัล-หะละบียฺเป็นผู้นำในปี ค.ศ. 1260-1261 และการกบถของอัลกูรอนียฺซึ่งเป็นผู้นิยมในแนวทางของฝ่ายชีอะฮฺในปีค.ศ. 1260 อย่างราบคาบ เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีเสถียรภาพมั่นคงแล้ว สุลฏอนบัยบรัสก็มีความคิดในการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺขึ้นใหม่อีกครั้งในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งจริงๆ แล้วสุลฏอนบัยบรัสมิใช่บุคคลแรกที่มีความคิดในเรื่องนี้ เพราะในสมัยของอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูน และมุฮัมมัด อัล-อิคชีดก็เคยมีความคิดเกี่ยวกับการย้ายดารุลคิลาฟะฮฺจากกรุงแบกแดดมายังกรุงไคโรก่อนหน้านี้ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

 

ในทำนองเดียวกัน อัล-มะลิก อัน-นาสิรฺ ยูสุฟ เจ้าครองเมืองหะลับ (อเล็ปโป) และดามัสกัสก็เคยมีความคิดในการฟื้นฟูระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในตอนต้นฮิจเราะฮฺศักราชที่ 658 (ค.ศ. 1260) กล่าวคือ เมื่ออัน-นาศิร ยูสุฟรู้ข่าวจากอีซา อิบนุ มิฮฺนา ผู้ปกครองเมืองอัล-อุรฺบานซึ่งมีพรมแดนติดกับอีรักว่ามีเจ้าชายในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺผู้หนึ่งชื่อว่า อบุล อับบาส อะหฺมัด (เป็นพระนัดดาในเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตัรฺชิด อิบนุ อัล-มุสตัซฺฮิรฺ แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ) กำลังจะมุ่งหน้ามายังกรุงดามัสกัส อัน-นาศิร ยูสุฟก็ส่งตัวแทนไปเชื้อเชิญเจ้าชายองค์นี้ แต่ทว่ากองทัพมองโกลได้รุกเข้าสู่แคว้นชามทำให้อัน-นาศิรฺ ยูสุฟ จำต้องเตรียมทัพในการทำศึกกับพวกมองโกล อบุลอับบาส อะหฺมัดจึงย้อนกลับไปหาอีซา อิบนุ มิฮฺนาอีกครั้ง (อัส-สุยูฏียฺ ; ตารีค อัล-คุละฟาอฺ หน้า 317-318)

 

แม้กระทั่งสุลฏอนกุฏุซฺเองก็เคยมีดำริในเรื่องการฟื้นฟูระบอบคิลาฟะฮฺอีกครั้งในกรุงแบกแดด โดยมีหลักฐานยืนยันว่า หลังสมรภูมิอัยนฺญาลูต สุลฏอนกุฏุซฺได้เชื้อเชิญเจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัดมายังกรุงดามัสกัสเพื่อรับสัตยาบันในการเป็นเคาะลีฟะฮฺ (มุฟัฎฎอลฺ อิบนุ อบีอัล-ฟะฎออิล : อัน-นะฮฺญุ อัส-สะดีด เล่มที่ 1 หน้า 435) แต่ทว่าสุลฏอนกุฏุซฺก็ถูกลอบสังหารไปเสียก่อน เจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัดจึงกลับไปยังเส้นพรมแดนแถบแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) ซึ่งที่นั่นพระองค์ได้ร่วมกับชาวอาหรับและผู้ติดตามทำการยึดหัวเมืองเล็กๆ เช่น อานะฮฺ , อัล-หะดีษะ และอัล-อัมบารฺ ตลอดจนยังได้รับชัยชนะต่อกองลาดตระเวณของพวกมองโกลอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าบรรดาผู้ปกครองชาวมุสลิมก่อนหน้าบัยบรัสเคยมีความพยายามในการฟื้นฟูระบอบคิลาฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺมาหลายครั้งแล้ว และความพยามยามนี้ก็ยังคงมีอยู่จนกระทั่งบัยบรัส อัล-บันดะเกาะดารียฺได้ขึ้นเป็นสุลฏอนแห่งอียิปต์ (ค.ศ. 1260-1277)

 

เมื่อสุลฏอนบัยบรัสได้สร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในอียิปต์และซีเรียภายใต้การปกครองของวงศ์มัมลูกียะฮฺแล้ว พระองค์จึงส่งคณะบุคคลออกติดตามเจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัด ซึ่งในเวลานั้นยังคงอยู่ในเขตแดนอีรัก เจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัดจึงมุ่งหน้าสู่กรุงดามัสกัสซึ่งที่นั่นข้าหลวงของสุลฏอนบัยบรัสได้เตรียมการนำพระองค์สู่นครไคโร

 

แต่ทว่าเจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัดก็อาภัพยิ่งนัก เพราะก่อนหน้าที่จะเดินทางสู่นครไคโรก็มีเจ้าชายอีกคนหนึ่งนามว่า อบุลกอสิม อะหฺมัด จากเชื้อพระวงศ์แห่งอัล-อับบาสียะฮฺชิงตัดหน้าไปถึงสุลฏอนบัยบรัสเสียก่อนแล้ว เจ้าชายอบุลอับบาสจึงเลือกที่จะกลับสู่แคว้นชามและมุ่งหน้าสู่นครหะลับ (อเล็บโป) ซึ่งที่นั่นอะมัร ชัมสุดดีน อะกูชฺ อัล-บิรฺลียฺ อัล-อะซีซียฺ เจ้าเมืองหะลับได้ให้สัตยาบันแก่เจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัด และเฉลิมพระนามว่า อัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺ โดยมอบทหารม้าชาวตุรฺกุมาน (เติร์คะเมน) จำนวน 700 นาย แก่เคาะลีฟะฮฺ พระองค์จึงนำกองทหารที่ถูกมอบให้มุ่งหน้าสู่หัวเมืองอานะฮฺ ที่ตั้งอยู่ ณ เส้นพรมแดนอีรักเพื่อสู้รบกับพวกมองโกลอีกครั้ง ฝ่ายอะมีร ชัมสุดดีนนั้นก็ก่อการกบถแข็งเมืองต่อสุลฏอนบัยบรัส แต่ก็ถูกปราบปรามลงในปีฮ.ศ. 660 อะมีร ชัมสุดดีนก็ยอมสวามิภักดิ์ต่อสุลฏอนบัยบรัส ทว่าในปีฮ.ศ. 661 อะมีร ชัมสุดดีนก็ถูกสุลฏอนบัยบรัสสังหาร (อบุล-ฟิดาอฺ ; อัล-มุคตะศ็อรฺ เล่มที่ 3 หน้า 217-220,223)

 

ส่วนเจ้าชายอบุลกอสิม อะหฺมัด ซึ่งมีวาสนามาถึงกรุงไคโร แล้วสุลฏอนบัยบรัสก็พบกับเจ้าชายอบุล กอสิมในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1261 (เราะญับ ฮ.ศ. 659) ที่นอกเมืองโดยมีเสนาบดีบะฮาอุดดีน อิบนุ หินนา , กอฎียฺ อัล-กุฎอฮฺ ตาญุดดีน อิบนุ บินติลอะอัซฺ บรรดานักปราชญ์และบุคคลสำคัญ ตลอดจนบรรดามุอัซซินรวมถึงพวกยิวและคริสเตียนที่ร่วมขบวนพร้อมกับคัมภีรฺไบเบิ้ลออกไปต้อนรับเจ้าชายอบุลกอสิม อะหฺมัด กันอย่างสมพระเกียรติ โดยทรงเข้าสู่กรุงไคโรและลงพำนักในป้อมปราการแห่งขุนเขา (ป้อมบนภูเขาอัล-มุกอฏฏอม)

 

หลังจากนั้นในวันที่  13 เดือนเราะญับ ฮ.ศ. 659 สุลฏอนบัยบรัสก็จัดการประชุม ณ โถงใหญ่ของป้อมปราการมีบรรดากอฎียฺ บรรดานักปราชญ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บรรดาพ่อค้าคหบดี และบุคคลสำคัญเข้าร่วมในการประชุมครั้งนั้นมีชัยคุลอิสลาม อิซฺซุดดีน อิบนุ อับดิสสลาม (เสียชีวิต ฮ.ศ. 660/ ค.ศ. 1262) ปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺซึ่งได้รับการขนานนามว่า “สุลฏอน อัล-อุละมาอฺ” เข้าร่วมด้วย ทั้งหมดอยู่เบื้องหน้าเจ้าชายอบุลกอสิม อะหฺมัด และสุลฏอนบัยบรัสประทับอยู่เบื้องหน้าด้วยความรอบร้อม

 

ต่อมาสุลฏอนก็มีบัญชาให้เบิกตัวคณะบุคคลที่มีส่วนในการนำเจ้าชายอบุลกอสิมมาจากนครแบกแดด คณะบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นชาวอาหรับและพลเมืองแบกแดดได้ยืนยันว่า เจ้าชายผู้นี้คือ อบุลกอสิม อะหฺมัด พระโอรสในเคาะลีฟะฮฺอัซ-ซอฮิรฺ บิอัมริลลาฮฺ (ค.ศ. 1225-1226) เคาะลีฟะฮฺลำดับที่ 35 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ บรรดากอฎียฺที่ร่วมอยู่ในที่ประชุมต่างก็ยืนยันสถานภาพของเจ้าชายอบุลกอสิม อะหฺมัดว่าเป็นเชื้อพระวงศ์โดยเป็นที่รับรู้กัน ดังนั้นกอฎียฺอัล-กุฏอฮฺ ตาญุดดีน อิบนุ บินติลอะอัซฺจึงประกาศยอมรับการเป็นสักขีพยานของผู้ที่ยืนยันเหล่านั้น และบันทึกการรับรองเชื้อสายของเจ้าชายอบุลกอสิมว่าสืบถึงท่านอัล-อับบาส อิบนุ อับดิลมุฏเฏาะลิบ (ร.ฎ.) ผู้เป็นปฐมวงศ์ และลุกขึ้นแสดงสัตยาบันต่ออบุลกอสิมในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺติดตามด้วยการสัตยาบันของสุลฏอนบัยบรัส หลังจากนั้นชัยคุลอิสลาม อิซซุดดีน อิบนุ อับดิสสลาม (แต่ในบางกระแสระบุว่า ชัยคุลอิสลาม อิซซุดดีนแสดงสัตยาบันก่อนสุลฏอนบัยบรัส เช่น ในตำราหุสนุลลมุหาเฎาะเราะฮฺของอัส-สุยูฏียฺ หน้า 44 , อัส-สุบกียฺ : อัล-มัรฺญิอฺ เล่มที่ 5 หน้า 84) ก็แสดงสัตยาบัน

 

ต่อจากนั้นบรรดาผู้ที่เข้าร่วมในการประชุมก็ทยอยกันแสดงสัตยาบันต่อเคาะลีฟะฮฺพระองค์ใหม่ เฉลิมพระนามว่า อัล-มุสตันศิรฺบิลลาฮฺ ซึ่งเป็นพระนามเดียวกับพระเชษฐา คือเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺบิลลาฮฺ (อัล-มันศูรฺ อิบนุ อัซ-ซอฮิรฺ เคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 36 (ค.ศ. 1226-1242) แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ผู้สร้างวิทยาลัยอัล-มุสตันศิรียะฮฺ ณ กรุงแบกแดด (อบูชามะฮฺ : อัซซัยลุ อะลา อัร-เราวฺเฏาะตัยนฺ หน้า 213 , อัล-มุกรีซียฺ : อัส-สุลูก เล่มที่ 1 หน้า 451)

 

เมื่อการแสดงสัตยาบันต่อเคาะลีฟะฮฺเสร็จสิ้น เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺบิลลาฮฺ เคาะลีฟะฮฺองค์แรกแห่งราชวงศ์อัล-   อับบาสียะฮฺในกรุงไคโรก็ทรงแต่งตั้งให้สุลฏอนบัยบรัส อัล-มะลิก อัซ-ซอฮิรฺมีอำนาจในการปกครองหัวเมืองอิสลามทั้งที่สวามิภักดิ์ต่อวงศ์มัมลูกียะฮฺอยู่แล้วตลอดจนดินแดนที่จะถูกพิชิตต่อไปในเบื้องหน้า หลังจากนั้นประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มาร่วมอยู่ในพิธีการนั้นก็แสดงสัตยาบันต่อเคาะลีฟะฮฺ ในวันเดียวกันนั้นสุลฏอนบัยบรัสก็มีสาส์นไปยังเจ้าครองนครและข้าหลวงทั่วราชอาณาจักรให้รับสัตยาบันแก่เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺบิลลาฮฺ ให้ขอพรแก่พระองค์บนมิมบัรฺตามด้วยการขอพรแก่สุลฏอนและให้จารึกพระนามของเคาะลีฟะฮฺในเหรียญกษาปณ์ (กิยามเดาวฺละฮฺ อัล-มะมาลีก อัล-อูลา ฟี มิศรฺ วัชชามฺ ; ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ อะหฺมัด มุคตาร  อัล-อิบาดียฺ หน้า 184)

 

อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์บางคนก็บันทึกเรื่องราวในเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้โดยมีบางอย่างที่ส่อเค้าถึงความเคลือบแคลงต่อข้อเท็จจริงในเรื่องการสืบเชื้อสายของเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ อบุล-ฟิรชดาอฺ เล่าไว้ในตำราประวัติศาสตร์ของเขาภายใต้หัวข้อเรื่อง “กล่าวถึงการสัตยาบันบุคคลผู้หนึ่งในการเป็นเคาะลีฟะฮฺ” อบุล-ฟิดาอฺเล่าว่า “ในเดือนเราะญับ ปี ฮ.ศ. 659 มีชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งมายังอียิปต์ พร้อมกับพวกเขามีชายคนหนึ่งทีมีผิวดำ ชื่อของเขาคือ อะหฺมัด พวกเขากล่าวอ้างว่า ชายผู้นี้คือพระโอรสของอิมามอัซ-ซอฮิรฺ บิลลาฮฺ อิบนุ อัล-อิมาม อัน-นาศิรฺ ชายผู้นั้นจึงมีศักดิ์เป็นอาของอัล-มุสตะอฺศิม…” (อบุลฟิดาอฺ ; อัล-มุคตะศ็อร เล่ม 4 หน้า 8)

 

อบุล-ฟิดาอฺ ถือกำเนิดในปี ฮ.ศ. 672 คือหลังจากการมาถึงกรุงไคโรของอัล-มุสตันศิรฺราว 13 ปี เป็นไปได้ว่าอบุล-ฟิดาอฺคงจะได้ยินผู้คนที่อยู่ร่วมสมัยกับตนหรือผู้ที่มีอายุสูงกว่าเล่าขานถึงข้อน่าสงสัยในเรื่องนี้ ในทำนองนั้น มุฟัฏฏ็อล อิบนุ อบี อัล-ฟะฏออิลฺก็เรียกขานเคาะลีฟะฮฺองค์นี้ว่า “อัล-มุสตันศิรฺ องค์ดำ” (อัน-นะฮฺญุ อัส-สะดีด หน้า 105)

 

ในขณะที่อบูชามะฮฺนักประวัติศาสตร์ที่อยู่ร่วมสมัย (เสียชีวิต ฮ.ศ. 665) ได้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยใช้สำนวนที่ชวนให้น่ากังขาและดูแคลนว่า “และในวันที่ 19 เดือนเราะญับ มีสาส์นที่มาจากอียิปต์ถูกอ่านขึ้น ณ วิทยาลัยอัล-อาดิลียะฮฺ กรุงดามัสกัส เป็นสาส์นมาจากสุลฏอนอัล-มะลิก อัซ-ซอฮิรฺ บัยบรัส ประมวลความได้ว่า อบุลกอสิม อะหฺมัด อิบนุ อัซ-ซอฮิรฺ มุฮำมัด …. ผู้นำของพวกกลับกลอก มาถึงพวกเขาที่อียิปต์” (ในต้นฉบับเขียนด้วยลายมือจากตำราอัซ-ซัยลุอะลา อัร-เราวฺเฎาะตัยนฺ ของอบูชามะฮฺ หน้า 235 หอสมุดนครอเล็กซานเดรีย และหอสมุดแห่งชาติ กรุงไคโร ใช้สำนวนว่า “เราะอีส อีล-มุนาฟิกีน” (ผู้นำของพวกกลับกลอก) ส่วนต้นฉบับที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่โดยอิซซัติ อัล-อัฏฏ็อร อัล-หุสัยนียฺ หน้า 213 แก้ไขสำนวนดังกล่าวเป็น “อะมีร อัล-มุอฺมินีน” (ผู้นำศรัทธาชน) ซึ่งต่างจากสำนวนต้นฉบับเดิมที่เขียนด้วยลายมือ)

 

และดูเหมือนว่าความเคลือบแคลงในเรื่องเชื้อสายของเคาะลีฟะฮฺองค์ใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นได้แพร่ไปในหมู่พลเมืองไคโร และหัวเมืองอื่นๆ โดยผู้คนเรียกขานเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺว่า อัซ-ซะรอตีนียฺ หรืออัซ-ซอรอบีนียฺซึ่งเป็นคำเรียกบุคคลที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าโดยไม่รู้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครตามภาษาชาวบ้าน แต่อบุล-ฟิดาอฺระบุคำเรียกขานนี้ว่า ซัรฺบูน ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้กันในอียิปต์เพื่อเรียกขานคนผิวดำ (กิยามุ เดาวฺละฮฺ อัล-มะมาลีก อัล-อูลา (อ้างแล้ว) หน้า 185) 

 

อย่างไรก็ตาม สุลฏอนบัยบรัสไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ สิ่งที่สุลฏอนบัยบรัสได้พยายามก็คือการเตรียมการเพื่อสนับสนุนเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺทั้งกำลังทหาร งบประมาณ อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อยาตราทัพสู่นครแบกแดดและตีแบกแดดกลับคืนจากพวกมองโกล พร้อมกับนำเคาะลีฟะฮฺกลับคืนสุ่ดารุลคิลาฟะฮฺ (นครแบกแดด) กล่าวกันว่าสุลฏอนบัยบรัสต้องใช้งบประมาณการเตรียมการครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ดีนารฺ นอกจากนี้สุลฏอนบัยบรัสได้มุ่งสู่กรุงดามัสกัสพร้อมกับเคาะลีฟะฮฺในปี ฮ.ศ. 659 (ค.ศ. 1261) เพื่อระดมไพร่พลจากแคว้นชามสมทบกับกองทหารอียิปต์จนมีกำลังพลในกองทัพของเคาะลีฟะฮฺมากถึง 10,000 นาย

 

แต่ทว่าผู้ปกครองนครโมศุลบางคนได้สร้างความวิตกแก่สุลฏอนบัยบรัสในขณะที่อยู่ในกรุงดามัสกัสว่า เมื่อเคาะลีฟะฮฺสร้างความมั่นคงในแบกแดดแล้ว พระองค์ก็จะแย่งอำนาจและขับสุลฏอนออกจากอียิปต์ เป็นเหตุให้ท่าที่ของสุลฏฮนที่มีต่อเคาะลีฟะฮฺเปลี่ยนไป สุลฏอนบัยบรัสจึงเตรียมทหารม้า 300 นายให้แก่เคาะลีฟะฮฺเท่านั้น ซึ่งนั่นเท่ากับว่าสุลฏอนบัยบรัสกำลังจะส่งเคาะลีฟะฮฺไปสู่ความหายนะ

 

อย่างไรก็ตาม เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺก็นำกองทหารเพียงน้อยนิดมุ่งสู่อีรัก และในระหว่างเส้นทางทหารม้าจากเผ่าอาหรับในอีรักก็ได้เข้าร่วมสมทบเป็นจำนวน 400 นาย มีอัศวินมัมลูกจากนครโมศุลเข้าร่วม 60 นาย และทหารม้าจากค่ายเมืองหะมาฮฺอีก 30 นาย เคาะลีฟะฮฺทรงนำทัพที่มีกำลังพลผสมนี้มุ่งหน้าสู่เส้นพรมแดนอีรัก ที่นั่น ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) เรียกว่า “มัชฮัด อะลี” เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺก็พบกับอบุลอับบาส อะหฺมัด (อัล-หากิม บิอัมริลลาฮฺ) คู่แข่งของพระองค์พร้อมกับทัพม้าชาวตุรฺกุมาน (เติร์คะเมน) จำนวน 700 นาย แต่ทว่าทั้งสองพระองค์ก็ประนีประนอมระหว่างกัน โดยอัล-หากิมยอมสวามิภักดิ์ต่ออัล-มุสตันศิรฺ เนื่องจากอัล-หากิมมีอายุน้อยกว่า ทั้งสองรวมกำลังเข้าด้วยกันโดยมีเป้าหมายฟื้นฟูระบอบคิลาฟะฮฺแห่งนครแบกแดดให้กลับมาอีกครั้ง (อบูชามะฮิ ; อัซ-ซัยลุฯ หน้า 215)

 

กองทัพของทั้งสองพระองค์ก็เคลื่อนพลสู่หัวเมืองอานะฮฺ และอัล-หะดีษะฮฺตามลำดับ ต่อจากนั้นก็มุ่งหน้าสู่เมืองฮีต (ในอีรักอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำยูเฟรติส) แต่ชาวเมืองฮีตฺกลับไม่ยอมเปิดประตูเมือง ทัพของอัล-มุสตันศิรฺจึงปิดล้อมและพิชิตเมืองฮีตฺได้ในตอนปลายเดือนซุลหิจญะฮฺ ฮ.ศ. 659 (ตุลาคม ค.ศ. 1261) ต่อมาก็เคลื่อนพลออกจากที่นั่นและไปตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆกับเมืองอัล-อัมบารฺ (อัน-นะฮฺญุ อัส-สะดีด เล่มที่ 1 หน้า 429-430)

 

ที่นั่นกองทัพของพวกมองโกลภายใต้การนำของกุรอบุฆอและบะฮาดุรฺได้ล้อมทัพของเคาะลีฟะฮฺเอาไว้ในวันที่ 2 มุหัรฺร็อม ปี ฮ.ศ. 660 การรบพุ่งระหว่างสองฝ่ายจบลงด้วยการที่ทัพของเคาะลีฟะฮฺส่วนใหญ่ถูกสังหาร มีเจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัด (อัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺ) พร้อมด้วยเหล่าอัศวินราว 50 นาย หนีรอดด้วยการตีฝ่าวงล้อมของพวกมองโกลออกมาได้ ส่วนเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺนั้นไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวของพระองค์ กล่าวกันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในสนามรบ บ้างก็ว่าพระองค์ได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไปยังชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา (กิยามุเดาวฺละฮฺ มะมาลีก อัล-อูลา (อ้างแล้ว) หน้า 187)

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เปิดโอกาสให้แก่เจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัดอีกครั้ง สุลฏอนบัยบรัสได้ส่งคณะผู้แทนไปเชิญตัวพระองค์สู่กรุงไคโร ซึ่งเจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัดก็ตอบรับคำเชิญและเดินทางมาถึงกรุงไคโรในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1262 (17 เราะบีอุษ-ษานียฺ ฮ.ศ. 660) สุลฏอนบัยบรัสจึงจัดพิธีการต้อนรับเจ้าชายอบุลอับบาสเหมือนอย่างที่เคยกระทำมาแล้วกับเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺ โดยจัดพิธีการสัตยาบันแก่เจ้าชายอบุลอับบาส อะหฺมัดในวันที่ 8 มุหัรรอม ฮ.ศ. 661 เฉลิมพระนามว่า อัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺ และสุลฏอนบัยบรัสก็ได้รับฉายานาม “เกาะสีม อะมีร อัล-มุอฺมินีน” พร้อมกับมอบอำนาจในการปกครองจากเคาะลีฟะฮฺ (อัล-มุกรีซียฺ ; อัส-สุลูก เล่มที่ 1 หน้า 477-479)

 

การฟื้นฟูระบอบเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในครั้งที่สองก็เสร็จสิ้น โดยสุลฏอนบัยบรัสวางแผนให้กรุงไคโรเป็นดารุลคิลาฟะฮฺ และไม่คิดจะตีกรุงแบกแดดกลับคืนเพื่อสถาปนาราชสำนักของเคาะลีฟะฮฺที่กรุงแบกแดดอีกต่อไป เพราะสุลฏอนบัยบรัสได้ร้องขอบรรดามัมลูกแบกแดดที่เคยรับใช้เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอฺศิมซึ่งหนีพวกมองโกลไปยังแคว้นหิญาซให้เดินทางสู่กรุงไคโร แสดงให้เห็นว่าสุลฏอนไม่คิดที่จะใช้กรุงแบกแดดเป็นสถานที่พำนักของเคาะลีฟะฮฺอีกต่อไป แต่พระองค์ตั้งใจจะให้กรุงไคโรเป็นสถานที่พำนักของเคาะลีฟะฮฺอย่างใกล้ชิดและอยู่ภายใต้การดูแลของตน

 

ในขณะเดียวกันสุลฏอนบัยบรัสก็ไม่ได้ปรารถนาจะสถาปนาอำนาจเชิงศาสนาหรือการเมืองของเคาะลีฟะฮฺมาเคียงคู่กับอำนาจของพระองค์ในกรุงไคโรเช่นกัน เคาะลีฟะฮฺจึงเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ในการค้ำจุนฐานอำนาจของพวกมัมลูกเท่านั้น และในครั้งนี้สุลฏอนบัยบรัสก็ไม่ได้มีบัญชาให้จารึกพระนามของเคาะลีฟะฮฺเคียงคู่พระนามของสุลฏอนลงในเหรียญกษาปณ์ มีเพียงการขอพรให้แก่เคาะลีฟะฮฺในการแสดงธรรมวันศุกร์เท่านั้น เคาะลีฟะฮฺอัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺได้ลงพำนักอยู่ในป้อมปราการแห่งขุนเขาภายใต้การควบคุมของพวกมัมลูก

 

การฟื้นฟูระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺจึงเป็นเพียงเรื่องของการอาศัยประโยชน์ทางการเมืองของพวกมัมลูกในฐานะผู้พิทักษ์เคาะลีฟะฮฺโดยที่เคาะลีฟะฮฺไม่มีส่วนในการปกครองอาณาจักรแต่อย่างใด สภาพของเคาะลีฟะฮฺแห่งกรุงไคโรจึงไม่ต่างอะไรจากผู้ถูกกักบริเวณหรือผู้ถูกจองจำตลอดช่วงสมัยของอาณาจักรมัมลูกียะฮฺ

 

สำหรับเคาะลีฟะฮฺอัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺเอง พระองค์ก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับเชื้อสายของพระองค์ว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺจริงหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺก่อนหน้านั้น (ซิยาดะฮฺ ; บะอฺฎุ มุลาหะซอตฺฯ ; วารสารคณะศิลปากร ม.ไคโร เล่มที่ ปี  1936)

 

กรณีของเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺมิได้จบลงเพียงแค่นี้ เพราะ 3 ปีต่อมานับจากการสัตยาบันต่อเคาะลีฟะฮฺอัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺ (ค.ศ. 1263) มีบุคคลอีก 2 คนเข้าเฝ้าต่อสุลฏอนบัยบรัส ขณะที่พระองค์อยู่ที่นครดามัสกัส (ปี ค.ศ. 1266) 1 ใน 2 คนนั้นอ้างว่าตนคือ เจ้าชายมุบาร็อก โอรสในเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอฺศิมบิลลาฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ และชายผู้นี้อ้างว่าตนสมควรมีสิทธิในการเป็นเคาะลีฟะฮฺมากกว่าอัล-หากิม บิอัมริลลาฮฺ ชายคนที่สอง (ซึ่งเป็นคนผิวดำ) ก็อ้างว่าตนเป็นเชื้อพระวงศ์เช่นกัน แต่สุลฏอนบัยบรัสก็ทรงทราบว่าคำอ้างของบุคคลทั้งสองนั้นเป็นเรื่องโกหก จึงมีบัญชาให้นำตัวบุคคลทั้งสองไปยังอียิปต์เพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุม

 

เรื่องมิได้จบลงเพียงแค่นี้ ในปีเดียวกัน (ค.ศ. 1266) มีบุคคลที่อ้างว่าตนคือเจ้าชายอะลี โอรสในเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอฺศิมเข้าเฝ้าสุลฏอนโดยบอกว่าตนตกเป็นเชลยของพวกมองโกลมาก่อนหน้านั้น (อัล-มุกรีซียฺ ; อัส-สุลูก เล่มที่ 1 หน้า 554) และการกล่าวอ้างสิทธิในการสืบทอดระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺซึ่งสิ้นสุดลงในกรุงแบกแดดเมื่อปี ค.ศ. 1258 ยังเกิดขึ้นในดินแดนตูนิเซียโดยวงศ์อัล-หัฟศียะฮฺอีกเช่นกัน

 

ถึงแม้ว่านักประวัติศาสตร์จะมีความเห็นต่างกันในการระบุช่วงเวลาการประกาศระบอบคิลาฟะฮฺของวงศ์อัล-หัฟศิยะฮฺในตูนีเซียว่าเกิดขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1258 หรือหลังจากนั้นได้หนึ่งปีก็ตาม (อัซ-ซัรฺกะชียฺ ระบุว่าเป็นปี ฮ.ศ. 650 (ค.ศ. 1253) ในขณะที่อิบนุ อบีดีนารฺ ระบุว่าเป็นปี ฮ.ศ. 657 (ค.ศ. 1259) ภายหลังกรุงแบกแดดตกอยู่ในกำมือของพวกมองโกลได้ 1 ปี)

 

เคาะลีฟะฮฺอัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺทรงอยู่ในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺระหว่างปี ฮ.ศ. 660-701 (ค.ศ. 1262-1302) นับเป็นเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งกรุงไคโรพระองค์ที่สองต่อจากเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 659 / ค.ศ. 1261) แต่เคาะลีฟะฮฺอัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺเป็นเคาะลีฟะฮฺพระองค์แรกที่พำนักอยู่ในกรุงไคโรนับแต่การฟื้นฟูระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺโดยสุลฏอนบัยบรัสแห่งอาณาจักรอัล-มัมลูกียะฮฺ และบรรดาเคาะลีฟะฮฺที่สืบต่อมามีจำนวน 15  พระองค์ รวมทั้งสิ้น 17 พระองค์โดยจะกล่าวถึงเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 3 เป็นต้นมาดังนี้

3. เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตักฟียฺบิลลาฮฺ (อบู อัร-เราะบีอฺ สุลัยมาน) ฮ.ศ. 701 – 740 / ค.ศ. 1302 – 1337

4. อัล-วาษิกบิลลาฮฺ (อบูอิสหาก อิบรอฮีม ฮ.ศ. 740 – 742 / ค.ศ. 1337 – 1341 (ถูกปลด) 

5. อัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺ ที่ 2 (อบุลอับบาส อะหฺมัด อิบนุ อัล-มุสตักฟียฺ) ฮ.ศ. 742-754 / ค.ศ. 1341/4353

6. อัล-มุอฺตะฏิดบิลลาฮฺ (อบูบักร อิบนุ อัล-มุสตักฟียฺ) ฮ.ศ. 754-764 / ค.ศ. 1353-1362

7. อัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ (มุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุอฺตะฏิด) ฮ.ศ. 763-785 / ค.ศ. 1362-1383 (ถูกปลดและถูกคุมขัง)

8. อัล-วาษิกบิลลาฮฺ (มุฮัมมัด อุมัร) ฮ.ศ. 785-788 / ค.ศ. 1383-1386 (ถูกปลด)

9. ซะกะรียา อิบรอฮีม (พี่น้องกับอัล-วาษิก) ฮ.ศ. 788-791 / ฮ.ศ. 1386 – 1389 ต่อมาอัล-มุตะวักกิล อะลัลลฮฺ ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกจองจำได้ถูกยกขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺอีกครั้งในระหว่างปีฮ.ศ. 791-808 / ค.ศ. 1389-1405

10. อัล-มุลตะอีนบิลลาฮฺ (อบุลอับบาส อิบนุ มุอัมมัด อัล-มุตะวักกิล) ฮ.ศ. 808-817 / ค.ศ. 1405-1414 (ถูกปลด)

11. อัล-มุอฺตะฎิดบิลลาฮฺ (ดาวูด อิบนุ มุฮัมมัด อัล-มุตะวักกิล) ฮ.ศ. 845 – 855 / ค.ศ. 1414-1441

12. อัล-มุสตักฟียฺบิลลาฮฺ (สุลัยมาน อิบนุ มุฮัมมัด อัลมุตะวักกิล) ฮ.ศ. 845-855 / ค.ศ. 1441 – 1451

13. อัล-กออิม บิอัมริลลาฮฺ (หัมซะฮฺ อิบนุ มุฮัมมัด อัล-มุตะวักกิล) ฮ.ศ. 855-859 / ค.ศ. 1451-1455

14. อัล-มุสตันญิดบิลลาฮฺ (อบุลมะหาสิน ยูสุฟ อิบนุ มุฮัมมัด อัล-มะตะวักกิล) ฮ.ศ. 859-884 / ค.ศ. 1455-1479

15. อัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺ ที่ 2 (อบุลมุอิซฺ อับดุลอะซีซ หลานของอัล-มุตะวักกิลที่ 1) ฮ.ศ. 884-903 / ค.ศ. 1479-1498

16. อัล-มุสตัมสิกบิลลาฮฺ (อบู อัศ-ศอบรฺ ยะอฺกู๊บ อิบนุ อับดิลอะซีซ) ฮ.ศ. 903-921 / ค.ศ. 1498-1515 (ถูกปลด)

17. อัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺ ที่ 3 (มุฮัมมัด อิบนุ ยะอฺกู๊บ) ฮ.ศ. 921-922 / ค.ศ. 1515-1516

 

บรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรมีถึง 5 พระองค์ที่เป็นโอรสในเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺที่ 1 และมีจำนวน 6 พระองค์ที่ถูกสุลฏอนในราชวงศ์มัมลูกียะฮฺถอดออกจากตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และเคาะลีฟะฮฺที่มีช่วงเวลายาวนานในการดำรงตำแหน่งได้แก่ เคาะลีฟะฮฺอัล-หากิม บิอัมริลลาฮฺ (ราว 40 ปี) เคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺ ในการดำรงตำแหน่งสองครั้ง (ราว 40 ปี) เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะฎิดบิลลาฮฺ (28 ปี) เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันญิดบิลลาฮฺ (25 ปี)

 

และเคาะลีฟะฮฺที่เคยมีอำนาจทั้งในด้านศาสนา และการปกครองในช่วงเวลาสั้นๆ คือ เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตะอีนบิลลาฮฺ แต่ต่อมาก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยคงสภาพเป็นเคาะลีฟะฮฺเพียงอย่างเดียว และในปี ฮ.ศ. 815 (ค.ศ. 1412) ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺโดยอะมีรชัยคฺ อัล-มะหฺมูดียฺ อัล-มุอัยยัด อบุลนัศรฺ อดีตมัมลูกของสุลฏอนอัซ-ซอฮิรฺ  บัรกู๊ก ระบอบคิลาฟะฮฺแห่งกรุงไคโรเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1251-1516 รวมระยะเวลา 265 ปี ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวมีสุลฏอนมัมลูกปกครอง 50 องค์ และในรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-หากิมบิอัมริลลาฮฺถึงรัชสมัยอัล-มุสตักฟียฺ บิลลาฮฺ อาณาจักรอัล-อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) ก็เริ่มปรากฏขึ้นในดินแดนอนาโตเลีย (อนาฎูลฺ) ราวปี ฮ.ศ. 680 (ค.ศ. 1342) 

 

พวกอุษมานียูน (ออตโตมาน) สืบเชื้อสายจากอุษมาน บุตร อัรฺฎุฆรุล บุตรสุลัยมานชาฮฺ กุนดูซฺ อาลฺบ์ บุตรกิยาอัลบฺ หัวหน้าเผ่ากอยี ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของชนชาติอัลฆุซฺเติร์กที่มีจำนวนถึง 24 เผ่า เมื่อเจงกิสข่านนำกองทัพมองโกลเข้ารุกรานอาณาจักรคุวาริซฺม์ ชาฮฺ ปี ฮ.ศ. 617 สุลัยมานชาฮฺซึ่งถูกเรียกขานว่า กุนดูซฺ อาลฺบ์ ได้พาชนเผ่าของตนอพยพจากดินแดนกุรฺดิสตานพร้อมกับทหารม้าจำนวน 1,000 นายมุ่งหน้าสู่อนาโตเลีย และลงพักในเมืองอัคลาฏ (ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตุรกีในปัจจุบัน)

 

ต่อมาสุลัยมานชาฮฺต้องการกลับสู่มาตุภูมิของตนโดยอพยพผ่านเส้นทางป้อมปราการญะอฺบัรฺ แต่ในระหว่างข้ามแม่น้ำยูเฟรติส สุลัยมานชาฮฺถูกกระแสน้ำพัดพาร่างของเขาจมสูญหายไปในปี ฮ.ศ. 628 สุลัยมานชาฮฺมีบุตรชาย 4 คน 1 ใน 4 คนนั้นคือ อัรฺฏุฆฺรุลซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้นำเผ่ากอยีได้พาชนเผ่าของตนจำนวน 400 ครอบครัวมุ่งหน้าสุ่อุรฎ์รูม (Erzurum) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอนาโตเลีย อัรฺฏุฆฺรุลได้ส่งบุตรชายของตนที่ชื่อ สาวญียฺไปยังสุลฏอนอะลาลุดดีน อัส-เสลญูกียฺเจ้าครองนครกูนียะฮฺของวงศ์เสลญูกรูมเพื่อขอตั้งถิ่นฐานและทุ่งเลี้ยงสัตว์แต่สาวญียฺเสียชีวิตเสียก่อน ในระหว่างนั้นชนเผ่าของอัรฺฏุฆฺรุ้ลก็พบว่ามีกองทัพ 2 ฝ่ายกำลังสู้รบกันอยู่

 

ฝ่ายหนึ่งมีกำลังน้อยกว่า อัรฺฏุฆฺรุ้ลจึงนำชนเผ่าของตนเข้าช่วยเหลือกองทัพที่กำลังเสียเปรียบจนได้รับชัยชนะ แล้วอัรฏุฆฺรุ้ลก็รู้ว่ากองทัพที่ตนเข้าช่วยเหลือเป็นกองทัพของสุลฏอนอะลาลุดดีน อัส-เสลญูกียฺ ส่วนอีกกองทัพหนึ่งเป็นพวกโรมันไบแซนไทน์ (บ้างก็ว่าเป็นกองทัพมองโกล บ้างก็ว่าเป็นกองทัพคุวาริซม์ เรียกสมรภูมิครั้งนั้นว่า ยาสิยฺ ญะมัน)

 

สุลฏอนอะลาลุดดีนได้ทรงตอบแทนอัรฺฏุฆฺรุ้ล และชนเผ่าของเขาที่เข้าช่วยเหลือในการรบพุ่งจนได้รับชัยชนะด้วยการมอบที่ดินจำนวน 2 พันตารางกิโลเมตรทางทิศตะวันตกของอาณาจักรเสลญูกรูมติดกับพรมแดนของพวกโรมันไบแซนไทน์เป็นรางวัล (ปัจจุบันคือเขตพื้นที่ของเยกียฺ ชะอัรฺ , เบลาญัก และกูตาฮียะฮฺในตุรกี)

 

ต่อมาอัรฺฏุฆฺรุ้ลได้สู้รบกับพวกไบแซนไทน์และขยายดินแดนเพิ่มเป็น 4 พัน 800 ตารางกิโลเมตร เมื่ออัรฏุฆฺรุ้ลเสียชีวิต บุตรชายคนโตของเขาที่ชื่อ อุษมานก็ขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่าโดยความเห็นชอบของสุลฏอนอะลาอุดดีน อัส-เสลญูกียฺก่อนที่พระองค์จะลี้ภัยจากพวกมองโกลที่ยกทัพเข้ารุกรานอาณาจักรเสลญูกรุมไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล ในปี ฮ.ศ. 699 และภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรเสลญูกรูม อุษมาน อิบนุ อัรฺฏุฆรุลจึงเข้ายึดครองดินแดนที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสุลฏอนอะลาอุดดีน อัส-เสลญูกียฺ และตั้งเมืองเยกียฺ ชะอัรฺ ขึ้นเป็นราชธานีพร้อมกับสถาปนาธงศึกที่มีดาวและจันทร์เสี้ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรอุษมานียะฮฺในเวลาต่อมา

 

อุษมานขนานนามตนเองว่า บาดิชาฮฺ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้รับใช้ชาฮฺ (คอดิมชาฮฺ) แห่งวงศ์อุษมาน (อาลฺอุษมาน) อาณาจักรอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) ก็ถูกสถาปนาขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา และภายในระยะเวลาไม่ถึง 200 ปี อาณาจักรอุษมานียะฮฺก็แผ่ขยายอาณาเขตออกไปทั้งตะวันออกและตะวันตกกินพื้นที่มากกว่า 10 ล้านตารางไมล์ และกลายเป็นอาณาจักรที่ทรงพลังมากที่สุดในเวลานั้น

 

และบรรดาสุลฏอนในราชวงศ์อุษมานียะฮฺที่สืบทอดอำนาจตามลำดับจนถึงสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 มีดังนี้

1. อุษมาน ฆอซียฺ ข่านที่ 1 (ค.ศ. 1299-1324) บุตรอัรฺฏุฆรุล ฆอซียฺ กับพระนางฮายฺเม่ฮฺ อานา ถือกำเนิดในเมืองสุงฆุตฺ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอนาโตเลียในปี ค.ศ. 1258 ดำรงตำแหน่งสุลฏอนบาดิชาฮฺ อาลฺ อุษมาน ขณะมีอายุได้ 41 ปี

 

2. อูรุคข่าน ฆอซียฺ (ค.ศ. 1324-1362) บุตรอุษมานฆอซียฺกับพระนางมาลฮูนคอตูน ถือกำเนิดในเมืองสูงฆูต ปี ค.ศ. 1281 ดำรงตำแหน่งขณะมีอายุได้ 45 ปี

 

3. มุรอดข่านที่ 1 (ค.ศ. 1362-1389) บุตรอูรุคข่านฆอซียฺกับพระนางนีลูฟัรฺคอตูน ถือกำเนิดในนครบูรฺศอ ปี ค.ศ. 1326 ดำรงตำแหน่งขณะมีอายุได้ 36 ปี

 

4. บายะซีดข่านที่ 1 (เยลฺดะรีม-สายฟ้าฟาด) (ค.ศ. 1389-1402) บุตรมุรอดข่านที่ 1 กับพระนางกูลฺญีญักคอตูน ถือกำเนิดในนครอดิรฺเน่ฮฺ (เอเดรียโนเปิ้ล) ปี ค.ศ. 1354 เป็นสุลฏอนอุษมานียฺองค์แรกที่พยายามปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลถึง 4 ครั้ง และพระองค์พ่ายแพ้การศึกกับตีมุรลังก์ (ค.ศ. 1370-1405) ในสมรภูมิอังการ่า (ค.ศ. 1402) และตกเป็นเชลยศึกที่ถูกคุมขังอยู่ในป้อมอากชะอีรฺ และสิ้นชีวิตในปีค.ศ. 1403 ด้วยการตรอมใจ

 

5. มุฮัมมัดข่านที่ 1 (ญะละบียฺ) (ค.ศ. 1413-1421) บุตรบายะซีดข่านที่ 1 กับพระนางเดาวฺลัตคอตูน ถือกำเนิดในนครอดิรฺเน่ฮฺ ปี ค.ศ. 1387 ขึ้นดำรงตำแหน่งขณะมีอายุได้ 26 ปี ในรัชสมัยของพระองค์ อาณาจักรอุษมานียะฮฺเริ่มกลับสู่ความมีเสถียรภาพและความเข้มแข็งอีกครั้ง

 

6. _มุรอดข่านที่ 2 (ค.ศ. 1421-1444 ช่วงที่ 1 และ ค.ศ. 1446 – 1451 ช่วงที่2) บุตรมุฮัมมัดข่านที่ 1 (ญะละบียฺ) กับพระนางอะมีนะฮฺคอตูน ถือกำเนิดในนครอมาเซีย ปี ค.ศ. 1404 ดำรงตำแหน่งขณะมีอายุได้ 17 ปี ในรัชสมัยของพระองค์ กองทัพอุษมานียะฮฺได้รับชัยชนะเหนือพวกฮังการีและโบโลเนียในสมรภูมิวารฺนา (Varna) ปี ค.ศ. 1444

 

7. มุอัมมัดข่าน ที่ 2 (อัล-ฟาติหฺ) (ค.ศ. 1444-1446 ช่วงที่ 1 / ค.ศ. 1451-1481 ช่วงที่ 2) บุตรมุรอดข่านที่ 2 กับพระนางฮุมาคอตูน ถือกำเนิดในนครอดิรฺเน่ฮฺ ค.ศ. 1433 ดำรงตำแหน่งช่วงที่ 1 ขณะมีอายุได้ 13 ปี และช่วงที่ 2 ขณะมีอายุได้ 19 ปี ในรัชสมัยของพระองค์ กองทัพของอุษมานียะฮฺได้เข้าปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลเป็นเวลา 54 วัน และพิชิตได้สำเร็จในวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1453 พระองค์จึงได้รับสมญานามว่า อัล-ฟาติหฺ (ผู้พิชิต) และย้ายราชธานีจากนครอดิรฺเน่ฮฺมายังกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอิสลามบูล (อิสตันบูล) และการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลของพระองค์ถือเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดของยุคกลางในประวัติศาสตร์โลก

 

8. บายะซีดข่านที่ 2 (ค.ศ. 1481-1512) บุตรมุฮัมมัดข่าน ที่ 2 (อัล-ฟาติหฺ) กับพระนางกุลฺบะฮารฺ ถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1448 ขึ้นดำรงตำแหน่งขณะมีอายุได้ 33 ปี ในปลายรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงสละตำแหน่งให้แก่เจ้าชายสะลีม ในปีค.ศ. 1512 หลังจากทรงอยู่ในตำแหน่งสุลฏอน 31 ปี

 

9.สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 (อัช-ชุญาอฺ-ยาวูซฺ) โอรสในสุลฏอนบายะซีดข่านที่ 2 กับพระนางอาอิชะฮฺ คอตูน ถือกำเนิดในนครอมาเซีย ปี ค.ศ. 1470 ดำรงตำแหน่งสุลฏอนขณะมีอายุได้ 42 ปี (ค.ศ. 1512 – 1520) ในรัชสมัยของพระองค์กองทัพอุษมานียะฮฺได้รับชัยชนะต่อกองทัพของชาฮฺ อิสมาอีลที่ 1 แห่งราชวงศ์อัศ-เศาะฟะวียะฮฺ (ค.ศ. 1487-1524) ในสมรภูมิญาลฺดีรอน ปี ค.ศ. 1514 และได้รับชัยชนะเหนือกองทัพมะมาลีกในสมรภูมิมัรญ์ดาบิก ปี ค.ศ. 1516 ทางตอนเหนือของนครหะลับ (อเล็ปโป)

 

ซึ่งในกองทัพของมะมาลีกที่นำโดยสุลฏอนกอนศูวะฮฺ อัล-ฆูรียฺ (ค.ศ. 1501-1516) มีเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโร คือ เคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ (มุฮัมมัด อิบนุ ยะอฺกูบ) ร่วมอยู่ด้วย และที่มัสญิดญามิอฺแห่งนครหะลับ                 สุลฏอนสะลีมข่านที่1 ได้พบกับเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺ หลังจากพวกมะมาลีกพ่ายการศึกในสมรภูมิมัรญ์ดาบิก และสุลฏอนกอนศูวะฮฺ อัล-ฆูรียฺเสียชีวิตในสมรภูมิ

 

เคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลได้มอบฉายานามให้แก่สุลฏอนสะลีมว่า หากิม อัล-หะเราะมัยนฺ (ผู้ปกครองดินแดนต้องห้ามทั้งสอง) แต่สุลฏอนสะลีมทรงโปรดให้เรียกพระองค์ว่า “คอดิมุล-หะเราะมัยนฺ” (ผู้รับใช้ดินแดนต้องห้ามทั้งสอง) (ศอลิหฺ กุวะลัน ; สลาฏีน อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ หน้า 93 สำนักพิมพ์ดารุลนัยลฺ แปลเป็นภาษาอาหรับโดย มุนา ญะมาลุดดีน พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 2011 กรุงไคโร)

 

ต่อมาเมื่อสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ได้เคลื่อนทัพจากซีเรียมุ่งสู่กรุงไคโรซึ่งขณะนั้นฏูมานบายที่ 2 (อัล-มะลิก อัล-อัชร็อฟ) ได้ขึ้นเป็นผู้นำของพวกมะมาลีกและปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อกองทัพอุษมานียะฮฺ และในวันที่ 16 มกราคม ปี ค.ศ. 1517 กองทัพปืนใหญ่ของอุษมานียะฮฺก็ระดมยิงใส่กองทัพของพวกมะมาลีก ภายหลังการรบพุ่งได้ 8 วัน กองทัพอุษมานียะฮฺก็เข้าสู่กรุงไคโร ฝ่ายฏูมานบายก็แตกพ่ายไปยังเขตอัล-ญีซะฮฺและตกเป็นเชลย สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 จึงมีบัญชาให้ประหารชีวิตฏูมานบายด้วยการแขวนคอ

 

ในระหว่างที่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 อยู่ในกรุงไคโรเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺได้สละตำแหน่งคิลาฟะฮฺให้แก่สุลฏอน และมอบธงกับเสื้อคลุมของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้แก่สุลฏอน (ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ดร.อะลี หัสสูน ; สำนักพิมพ์อัล-มักตับ อัลอิสลามียฺ 1994 เบรุต หน้า 62)

 

มุฮัมมัด ฟะรีด เบยฺก์ อัล-มุหามียฺก็ระบุไว้เช่นกันว่า “มุฮัมมัด อัล-มุตะวักกิลอะลลัลลอฮฺ เชื้อสายคนสุดท้ายของอาณาจักรอัล-อับบาสียะฮฺซึ่งบรรพบุรุษของพระองค์ได้มายังอียิปต์ภายหลังนครแบกแดดราชสำนักของเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺตกอยู่ในกำมือของฮุลากูข่านมองโกล ในปี ฮ.ศ. 656 (ค.ศ. 1258) และเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลมีตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺเพียงแต่ในนาม ได้สละตำแหน่งอันเป็นสิทธิ์ในการเป็นเคาะลีฟะฮฺอิสลามียะฮฺแก่สุลฏอนสะลีมแห่งอัล-อุษมานียะฮฺ และมอบข้าวของเครื่องใช้ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือ ธงศึก ดาบ และเสื้อคลุมตลอดจนมอบกุญแจของนครต้องห้ามทั้งสองแก่สุลฏอนสะลีม และนับตั้งแต่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งนั้น สุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺทุกพระองค์ก็กลายเป็น อะมีรุลมุอฺมินีน และเคาะลีฟะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งในนามและพฤตินัย…” (ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อะลียะฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; มุฮัมมัด ฟะรีด เบยฺก์ อัล-มุหามียฺ ; สำนักพิมพ์ดารุลนะฟาอิส (1983) เบรุต หน้า 194)

 

ในกรณีการสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺให้แก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ตามความเห็นของนักวิชาการฝ่ายนี้บ่งชี้ว่า การสละตำแหน่งเกิดขึ้นในกรุงไคโรภายหลังกองทัพอุษมานียะฮฺพิชิตกรุงไคโร และประหารชีวิตฏูมานบายแล้ว กล่าวคือเกิดขึ้นในช่วงที่สุลฏอนสะลีมพำนักอยู่ในกรุงไคโรประมาณ 1 เดือน ส่วนกรณีส่งมอบกุญแจเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺนั้น ชะรีฟ บะเราะกาตฺ อิบนุ มุฮัมมัด อัล-หะสะนียฺ เจ้าครองนครมักกะฮฺได้ส่งคณะผู้แทนนำโดย อบูนุมัยฺ บุตรของชะรีฟ (ซึ่งขณะนั้นอบูนุมัยฺ มีอายุได้ 12 ปี) มายังกรุงไคโรเพื่อเข้าเฝ้าสุลฏอน สะลีมข่านที่ 1 และมอบกุญแจเมืองต้องห้ามทั้งสอง (ศอลิหฺ กุวะลัน ; หน้า 94 , ดร.อะลี หัสสูน หน้า 62)

 

และเมื่อสุลฏอนสะลีมกลับสู่นครอิสตันบูล พระองค์ก็ทรงนำเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลกลับไปพร้อมกัน (อะลี หัสสูน อ้างแล้ว หน้า 62) แต่บางกระแสรายงานก็ระบุว่า สุลฏอนสะลีมได้มีบัญชาให้ส่งตัวเคาะลีฟะฮฺพร้อมเชื้อพระวงศ์ และลูกหลานของบรรดาสุลฏอนในวงศ์มะมาลีกองค์ก่อนๆ เช่น บุตรของกอนศูวะฮฺ อัล-ฆูรียฺ บรรดานักปราชญ์และเหล่ากอฎียฺให้เดินทางล่วงหน้าไปยังกรุงอิสตันบูลจากเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งทั้งหมดลงเรือและไปถึงกรุงอิสตันบูลก่อนหน้าสุลฏอน 1 เดือน (อะลี หัสสูน อ้างแล้ว)

 

ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า การสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺเกิดขึ้นในนครอิสตันบูล ณ มัสญิดญามิอฺอายาโศเฟีย หลังจากสุลฏอนเสด็จกลับถึงกรุงอิสตันบูลแล้ว อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องตรงกันว่า การสละตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮฺแก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 แห่งอุษมานียะฮฺเกิดขึ้นจริง และเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่กรุงไคโรหรือในกรุงอิสตันบูลก็ตาม

 

นักประวัติศาสตร์อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า เรื่องราวการสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 โดยเคาะลีฟะฮฺองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรไม่เคยเกิดขึ้น (ดร.อับดุลอะซีซฺ อัช-ชินาวียฺ ในอัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ และโทมัส อาร์โนลด์ ในอัล-อิสลาม วัล หะฎอเราะฮฺ) เหตุผลของนักประวัติศาสตร์ฝ่ายนี้ก็แตกต่างกัน บางท่านให้เหตุผลว่า ฉายานาม “เคาะลีฟะฮฺ” เป็นสิ่งที่สุลฏอนมูรอดข่านที่ 1 เคยใช้มาก่อนแล้วนับตั้งแต่ ปีค.ศ. 1359 (กุรดฺ อะลี ; เล่มที่ 2 หน้า 494 , หิตไตย : 831) ซึ่งการระบุปีที่เริ่มใช้ฉายานามว่า “เคาะลีฟะฮฺ” ในปี ค.ศ. 1359 ไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะในปีนั้น มุรอดข่านเป็นเพียงรัชทายาท (วะลียุลอะฮฺด์) ที่ปกครองนครบุรศอและเมืองอัสกียฺ ชะอีร (Eskisehir) ตลอดจนสุลฏอนอูรุคข่าน ฆอซียฺก็ทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1360 (ดู มุฮัมมัด ฟะรีด เบยฺก์ อัล-มุหามียฺ : หน้า 129/ ศอลิหฺ กุวะลัน หน้า 19 / อะลี หัสสูน หน้า 25)

 

ส่วนโทมัส อาร์โนลด์ ระบุว่า สุลฏอนมุรอดข่านที่ 1 ทรงเป็นสุลฏอนอุษมานียะฮฺพระองค์แรกที่ใช้ฉายานามเคาะลีฟะฮฺเมื่อทรงพิชิตอะดิรฺเน่ฮฺ (เอเดรียโนเปิล) ได้ในปี ค.ศ. 1365 โทมัสอาร์โนลด์อ้างถึงสาส์นที่บรรดาเจ้าครองแคว้นใกล้เคียงกับอุษมานียะฮฺส่งมาถวายพระพรสุลฏอนมุรอดข่านที่ 1 ว่าใจความในสาส์นเหล่านั้นโต้ตอบสุลฏอนด้วยฉายานามเคาะลีฟะฮฺ และใจความในสาส์นที่ตอบกลับไปยังเจ้าครองแคว้นเหล่านั้นจากสุลฏอนก็ใช้สำนวนว่า “พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงสวมอาภรณ์แห่งเกียรติยศของความเป็นเคาะลีฟะฮฺแก่พระองค์” (โทมัส อาร์โนลด์ : อัล-คิลาฟะฮฺ หน้า 77)

 

แต่นั่นก็ไม่เพียงพอในการมีน้ำหนักที่จะหักล้างเหตุการณ์สละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺอับบาสียะฮฺแก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ในเวลาต่อมา เพราะการเรียกขานฉายานาม “เคาะลีฟะฮฺ” ในสาส์นแสดงความยินดีต่อเหตุการณ์สำคัญที่ถือเป็นวีรกรรมของสุลฏอนผู้ทรงอิทธิพลและทรงอำนาจอันเป็นที่น่าเกรงขามนั้น บ่อยครั้งที่จะมักจะเกินเลยจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเมื่อการเรียกขานนั้นมาจากผู้อื่นมิใช่ตัวของสุลฏอนเอง และการเรียกขานสุลฏอนมุรอดข่านที่ 1 ว่า เคาะลีฟะฮฺก็เป็นเรื่องหนึ่ง ในขณะที่การสละตำแหน่งของผู้เป็นเคาะลีฟะฮฺแก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นเคาะลีฟะฮฺก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กอปรกับการเรียกขานด้วยฉายาเคาะลีฟะฮฺนั้นก็ยังสามารถอธิบายได้ว่าเป็นการเรียกขานโดยอนุโลมตามภาษาเพราะคำว่าเคาะลีฟะฮฺ , อิมาม , สุลฏอน และอะมีรุลมุอฺมินีนทั้งหมดมีความหมายใกล้เคียงกัน (อัส-สัยยิดเราะชีด ริฎอ ; อัล-คิลาฟะฮฺ หน้า 10)

 

อีกทั้งคำว่า เคาะลีฟะฮฺในทางภาษาก็ใช้เรียกขานผู้สืบทอดอำนาจในภายหลังถึงแม้ว่าผู้นั้นจะไม่ใช่เคาะลีฟะฮฺตามนิยามในทางรัฐศาสตร์อิสลามก็ตาม และการกล่าวอ้างว่าสุลฏอนมุรอดข่านที่ 1 ทรงเฉลิมพระนามว่า เคาะลีฟะฮฺนับแต่ ค.ศ. 1359 อย่างที่กุรดฺ อะลีระบุไว้ในงานเขียนของเขาก็น่าจะเป็นความคลาดเคลื่อนระหว่างตำแหน่งองค์รัชทายาท (วะลียุลอะฮฺด์) ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจในภายหลัง (เคาะลีฟะฮฺ) เพราะไม่สมเหตุสมผลในการที่มุรอดข่านจะสถาปนาตัวเองเป็นเคาะลีฟะฮฺ ทั้งๆ ที่สุลฏอนอุรุคข่านยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่

 

ส่วนกรณีที่โทมัส อาร์โนลด์ระบุว่า สุลฏอนมุรอดข่านที่ 1 ทรงเฉลิมพระนามว่า เคาะลีฟะฮฺ ภายหลังการพิชิตอดิรฺเน่ฮฺในปี ค.ศ. 1365 กรณีนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการจดบันทึกการเฉลิมพระนามของสุลฏอนหรือฉายาของพระองค์ การอาศัยใจความในสาส์นแสดงความยินดีและใจความในสาส์นตอบกลับมาเป็นหลักฐานจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สุลฏอนมุรอดข่านที่ 1 มีพระนามปรากฏในบทกวีเยินยอและพระฉายานามที่ถูกเรียกขานในราชสำนักอุษมานียะฮฺว่า ฆอซียฺ คุนฺการ (สุลฏอนนักรบ) , คุดาวันดิการฺ (ตรงกับสำนวนเมาวฺลานา) เบยฺก์ (เจ้าชาย) และอัล-อะมีร อัล-อะอฺซ็อม โดยไม่ปรากฏฉายาว่าเคาะลีฟะฮฺแต่อย่างใด (ศอลิหฺ กุวะลัม : 18)

 

ส่วนฉายานามหรือพระนามโดยตำแหน่งที่ใช้เรียกขานบรรดาสุลฏอนอุษมานียะฮฺที่มีมาก่อนแล้วและภายหลังก็เช่น ข่าน (ผู้ปกครอง) บาดิชาฮฺ (สุลฏอนผู้ยิ่งใหญ่) และมะลิกมุลูกกิลอะร็อบ วัล-อะญัม (กษัตริย์แห่งบรรดากษัตริย์อาหรับและชนชาติที่มิใช่อาหรับ) ซึ่งเป็นคำเรียกขานที่นิยมใช้ในพระราชสาส์นของราชสำนักก็ไม่ปรากฏว่ามีฉายาหรือพระนามว่าเคาะลีฟะฮฺอีกเช่นกัน (อ้างแล้ว : 18) 

 

โทมัส อาร์โนลด์ ได้อ้างถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ของบุคคลที่อยู่ร่วมสมัยเหตุการณ์ยึดครองกรุงไคโรของสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 คือ บันทึกของอบุลบะเราะกาตฺ อิบนุ อิยาส (เสียชีวิตราว ค.ศ. 1524) โดยให้เหตุผลว่าอิบนุ อิยาสมิได้บันทึกเรื่องการสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ

 

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า อิบนุ อิยาส เป็นนักประวัติศาสตร์ที่อยู่ร่วมสมัยเหตุการณ์การยึดครองไคโรก็จริง แต่บุคคลผู้นี้ขาดความน่าเชื่อถือในด้านความละเอียดในการจดบันทึกเหตุการณ์ กอปรกับความเป็นชนชาติเจอร์กิสของอิบนุ อิยาสซึ่งเป็นชนชาติเดียวกับพวกมะมาลีกญะรอกิสะฮฺที่ปกครองอียิปต์ในช่วงเวลาก่อนการถูกกองทัพอุษมานียะฮฺยึดครองก็เป็นที่น่ากังขาถึงความเป็นกลางในการจดบันทึกเหตุการณ์ที่ชนชาติเดียวกันต้องสูญเสียอำนาจ (อับดุลลอฮฺ อุษมาน อัล-มุหามียฺ ; มิศรฺ อัล-อิสลามียะฮฺ ว่า ตารีค อัล-คุฏฏอฏ อัล-มิษรียะฮฺ หน้า 149 , 151 , 156)

 

ความนิยมในชาติพันธ์ของอิบนุ อิยาสอาจมีผลต่อการละไว้ที่จะจะบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญบางช่วงชางตอนก็เป็นได้ อีกทั้งการจดบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่เกิดความระส่ำระส่ายซึ่งตัวอิบนุ อิยาสเองก็เก็บตัว และไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์สำคัญ แม้กระทั่งการเห็นพระองค์จริงของสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ซึ่งพระองค์ทรงใช้เวลาอยู่ในกรุงไคโรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน เพื่อเสด็จประพาสและเยี่ยมราษฎรตลอดจนการเข้าร่วมในงานประเพณีของราษฎรอียิปต์ อย่างการเปิดคลองส่งน้ำอันนาศิรียฺ เมื่อแม่น้ำไนล์มีระดับสูงขึ้นหรือการร่วมงานเฉลิมฉลองขบวนของบรรดาคาราวานที่นำผ้ากิสวะฮฺ (ผ้าคลุมบัยตุลลอฮฺ) พร้อมกับบรรดาหุจญาจสู่แคว้นอัล-หิญาซฺ โดยเฉพาะพิธีเปิดคลองส่งน้ำอัน-นาศิรียฺนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลากับการประกาศสละตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลแก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 (มุฮัมมัด ฟะรีด เบยฺก์ อัล-มุหามียฺ หน้า 194) เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้อิบนุ อิยาสจดบันทึกตามคำบอกล่าของเพื่อนคนหนึ่งเท่านั้นเอง (มิศรฺ อัล-อิสลามียะฮฺ ; อับดุลลอฮฺ อุษมาน อัล-มุหามียฺ หน้า 161) ดังนั้นการที่อิบนุ อิยาสมิได้จดบันทึกเหตุการณ์การสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจึงมิอาจเป็นข้อหักล้างว่าไม่มีเหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดขึ้น

 

โทมัส อาร์โนลเขียนว่า “เมื่อจักวรรดิ์โมกุลในอินเดียล่มสลายลงในราวคริสศตศวรรษที่ 18 สุลฏอนแห่ง อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) ก็กลายเป็นกษัตริย์ของโลกที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุด แม้พระจักรพรรดินีแคธรีน่า แห่งจักรวรรดิรุสเซียยังทรงร้องขอในสนธิสัญญา “กูญูก ฆัยฺนารด์ญียฺ” ให้ระบุในข้อตกลงของสนธิสัญญาประนีประนอมว่า “สำหรับเคาะลีฟะฮฺแห่งอุษมานียะฮฺทรงมีสิทธิอันชอบธรรมในการพิทักษ์ชาวตาตาร์ที่เป็นมุสลิม” (อัล-อิสลาม วัล หะฎอเราะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ หน้า 494)

 

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.อับดุลอะซีซ อัช-ชินาวียฺ ที่ว่า “การเพิ่มเติมฉายานามว่า เคาะลีฟะฮฺ แก่ประมุขสุงสุดของจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺนั้นเพิ่งจะได้รับการฟื้นฟูในราวคิสตศตวรรษที่ 18 ด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุคนั้น” (อ้างจาก อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ เดาวฺละตุน มุฟตอรอ อะลัยฮา เล่ม 1 หน้า 407-467 โดยสรุป)

 

การอ้างเหตุผลของโทมัส อาร์โนลด์ และดร.อัช-ชินาวียฺเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตถึงการปรากฏชัดว่ามีการใช้ฉายานามเคาะลีฟะฮสำหรับสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 เพื่อเหตุผลทางการเมืองซึ่งเวลานั้นจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺหรือออตโตมานกำลังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและกลายเป็น “คนไข้แห่งยุโรป”

 

แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าบรรดาสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺนับแต่สะลีมข่านที่ 1 ไม่มีสถานภาพเป็นเคาะลีฟะฮฺของโลกอิสลามหรือถือเป็นข้อหักล้างว่าไม่มีการสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจากราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรเมื่อหลายศตวรรษก่อนหน้าการรื้อฟื้นอีกครั้งในราวคริสตศตวรรษที่ 18 คำพูดในทำนองที่ว่ามีการรื้อฟื้นย่อมมีนัยบ่งชี้ว่าก่อนหน้านั้นความเป็นเคาะลีฟะฮฺของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺเป็นที่ยอมรับกันว่าเกิดขึ้นจริง เพราะหากว่าไม่มีสถานภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริง การรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลในการนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุผลทางการเมืองอยู่ดี

 

ดร.อัช-ชินาวียฺไม่ยอมรับว่ามีการถ่ายโอนสถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺจากราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺสู่ราชวงศ์อัล-อุษมานียะฮฺ โดยให้เหตุผลว่า คุณสมบัติและอัตลักษณ์ของบรรดาสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺที่หยิ่งในศักดิ์ศรีเป็นเรื่องที่สูงเกินกว่าที่สุลฏอนผู้ทรงอำนาจจะถือเอาเป็นประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างบารมีและอำนาจที่มีอยู่แล้วด้วยการมีสถานภาพเป็นเคาะลีฟะฮฺ ทั้งๆ ที่ทราบกันดีว่าอยู่แล้วว่า บรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรตกต่ำและไร้เกียรติตลอดจนตกเป็นเครื่องมือในการปกครองของพวกมะมาลีเท่านั้น

 

การอ้างว่าสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺมีความมุ่งหมายในการได้รับอำนาจจากเคาะลีฟะฮฺซึ่งไร้อำนาจเพื่อมาเสริมอำนาจที่มีอยู่แล้วจึงเป็นเรื่องที่ขัดกับคุณสมบัติและอัตลักษณ์ของสุลฏอนอุษมานียะฮฺ (ดร.อับดุลอะซีซ อัช-ชินาวียฺ ; อัดเดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ) เราคงไม่ค้านต่อข้อเท็จจริงที่ดร.อัช-ชินาวียฺกล่าวถึงทั้งสถานภาพของเคาะลีฟะฮฺ ณ กรุงไคโร และอำนาจที่มีอยู่จริงของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺ

 

แต่นั่นก็ไม่ใช่หลักฐานที่จะนำมายืนยันว่าไม่มีการถ่ายโอนตำแหน่งคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาสียะฮฺสู่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 แห่งอุษมานียะฮฺอยู่ดี เพราะถึงแม้ว่าเคาะลีฟะฮฺ ณ กรุงไคโรจะไร้อำนาจในด้านการเมืองการปกครอง แต่สถานภาพของผู้ดำรงตำแหน่งคิลาฟะฮฺในด้านจิตวิญญาณและความเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาก็ยังคงมีอยู่สำหรับประชาคมมุสลิมที่ถือในแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ และสถานภาพที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่ค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของพวกมะมาลีกในเวลาก่อนหน้านั้นมาโดยตลอดและพวกมะมาลีกก็ถือว่าพวกตนมีสิทธิโดยชอบธรรมสำหรับการเป็นเหล่าผู้พิทักษ์ระบอบคิลาฟะฮฺ (หุมาติ อัล-คิลาฟะฮฺ) และเป็นผู้ปกครองรัฐมุสลิมที่มีอำนาจตามบัญญัติของศาสนาด้วยเหตุของการสัตยาบัน (บัยอะฮฺ) ต่อระบอบคิลาฟะฮฺ ตลอดจนการได้รับมอบหมายอำนาจในการบริหารจากเคาะลีฟะฮฺ (อิบนุ ชาฮีน ; ซุบดะฮฺ กัชฟิล มะมาลีก หน้า 89)

 

จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกินจริงหรือขาดเหตุผลในการที่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 จะถือเอาการสืบทอดตำแหน่งคิลาฟะฮฺสำหรับพระองค์ว่าเป็นเรื่องสำคัญในด้านจิตวิญญาณ และความเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาโดยการสืบทอดตำแหน่งจากเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลที่ทรงสละตำแหน่งเป็นการรวมเอาสถานภาพของสุลฏอนในด้านการบริหารและการปกครองซึ่งมีอยู่แล้วเข้ากับสภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺในด้านศาสนจักรและจิตวิญญาณ

 

กล่าวคือด้านการสืบทอดตำแหน่งคิลาฟะฮฺของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺทำให้สุลฏอนมีสถานภาพในการเป็นประมุขสูงสุดทั้งในด้านอาณาจักรและศาสนจักรของโลกอิสลาม กอปรกับเป็นการฟื้นฟูระบอบคิลาฟะฮฺอัล-มุลก์ตามรัฐศาสตร์อิสลามให้กลับมามีสถานภาพที่เข้มแข็งอีกครั้งเช่นเดียวกับเมื่อครั้งบรรดาเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์อัล- อุมะวียะฮฺ และอัล-อับบาสียะฮฺตอนต้นเคยมีสถานภาพเช่นนั้นมาก่อน

 

ส่วนข้ออ้างของนักวิชาการบางท่าน เช่นอัส-สัยยิด เราะชีด ริฎอ ที่ว่าบรรดาสุลฏอนในราชวงศ์อัล-อุษมานียะฮฺไม่มีความชอบธรรมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺอิสลามียะฮฺเพราะมิใช่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลกุรอยชฺ และการสละตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรนั้นก็เป็นการสละตำแหน่งที่มิได้เกิดจากการยินยอมพร้อมใจของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล แต่เป็นการถูกบังคับให้สละตำแหน่ง (อัล-คิลาฟะฮฺ ; มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ หน้า 28 , 63)

 

กรณีที่ว่าบรรดาสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺมิได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลกุรอยชฺนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีผู้ใดคัดค้าน และบรรดา      สุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺก็ไม่มีผู้ใดแอบอ้างว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นชาวอาหรับจากตระกุรอยชฺ และคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺที่ต้องสืบเชื้อสายมาจากตระกูลกุรอยชฺก็เป็นสิ่งที่ยอมรับกันและมีอิจญมาอฺรองรับ แต่ในรายละเอียดของคุณสมบัติข้อนี้ก็มีความเห็นต่างของบรรดานักวิชาการอีกเช่นกัน

 

อย่างน้อยก็มีทัศนะของนักวิชาการที่กำหนดเงื่อนไขของคุณสมบัติข้อนี้ว่า สายตระกูลกุรอยชฺยังคงอยู่ ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้มีปรากฏอยู่ในรัฐอิมามซัยดียฺแห่งเยเมนที่อิมามของพวกเขาสืบเชื้อสายจากอะฮฺลุลบัยตฺ แต่บรรดาอิมามของเยเมนก็มิได้อ้างความเป็นเคาะลีฟะฮฺ และเพื่อนบ้านชาวอาหรับและมุสลิมทั่วไปก็มิได้ยอมรับการเป็นอิมามของพวกซัยฺดียฺ ถึงแม้ว่าอัล-หาฟิซฺ อะหฺมัด อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานียฺ (ร.ฮ.) จะยอมรับถึงความถูกต้องในการเป็นอิมามของพวกซัยดียฺในเยเมนก็ตาม (มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ ; อัล-คิลาฟะฮฺ หน้า 60-61)

 

ส่วนเงื่อนไขข้อที่สองก็คือ การที่ผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺธำรงรักษาสิทธิหน้าที่ตามที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนด (มันฮะญุสสุนนะฮฺ ; ดร.ยะหฺยา อิสมาอีล หน้า 270) ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้ขาดหายไปในช่วงที่บรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ นครแบกแดดและกรุงไคโรกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ และตกเป็นเครื่องมือของบรรดาชาวเติร์ก เปอร์เซีย เสลญูก และมะมาลีก ที่รวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้เคาะลีฟะฮฺที่มีความเป็นชาติตระกูลกุรอยชฺไม่มีบทบาทใดๆ ในการดำรงสิทธิหน้าที่ตามที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนด

 

มิหนำซ้ำมุฮัมมัด เราะชีดริฎอเองก็กล่าวว่า : ดังนั้นหากปรากฏว่าตำแหน่งคิลาฟะฮฺเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่ไร้อำนาจในการปกครองประชาคมและการบริหารนั่นก็ไม่ใช่ตำแหน่งอิมามะฮฺ (อัล-คิลาฟะฮฺ หน้า 63) เหตุนั้น มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ จึงเห็นว่าการกล่าวอ้างว่าระบอบคิลาฟะฮฺได้ย้ายไปยังบรรดาสุลฏอนของอุษมานียะฮฺตุรกีด้วยการสละตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺองค์สุดท้ายของพวกอับบาสียูนแก่สุลฏอนสะลีมซึ่งจับเคาะลีฟะฮฺเป็นเชลยในอียิปต์แล้วพาไปยังอัสตานะฮฺ (อิสตันบูล) และตำแหน่งคิลาฟะฮฺก็สืบสายต่อมาในหมู่สุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺด้วยการแต่งตั้งและการสืบทอด….เคาะลีฟะฮฺแห่งอับบาสียะฮฺที่สุลฏอนสะลีมจับเป็นเชลยไม่เคยมีสถานภาพเป็นเคาะลีฟะฮฺแต่อย่างใด และไม่มีการสละตำแหน่งเกิดขึ้น แต่ถ้ามีสถานภาพเป็นเคาะลีฟะฮฺตลอดจนมีสิทธิในการสละตำแหน่งก็มีเงื่อนไขว่าในการสละตำแหน่งนั้นต้องเป็นไปโดยความสมัครใจและเสรี กระนั้นเคาะลีฟะฮฺอับบาสียะฮฺก็ไม่มีสิทธิอยู่ดี เพราะขาดสถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺนั่นเอง (อัล-คิลาฟะฮฺ อ้างแล้ว หน้า 63)

 

อย่างไรก็ตาม มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ ก็ยอมรับว่าระบอบเคาะลีฟะฮฺแห่งอุษมานียะฮฺของตุรกีเป็นไปด้วยการมีชัยชนะในด้านการทหาร และอำนาจในการปกครอง (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน) และการมีอำนาจบนสถานภาพและการปราบปราม (อัต-ตะฆอลลุบ) ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อพวกอุษมานียะฮฺ เพราะนักนิติศาสตร์บางคนก็กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ในกรณีของราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ และอัล-อับบาสียะฮฺว่ามีลักษณะเหมือนกัน (อ้างแล้ว หน้า 28)

 

มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ที่พยายามตีความนัยของบรรดาหะดีษและวิเคราะห์สถานภาพสายรายงานของบรรดาหะดีษที่ระบุคุณสมบัติของเคาะลีฟะฮฺว่าต้องสืบเชื้อสายมาจากกุรอยชฺ หรือกล่าวว่าคุณสมบัติข้อนี้เป็นเงื่อนไขที่มีความเห็นขัดแย้งกัน หรือแม้กระทั่งพยายามปกปิดคุณสมบัติข้อนี้มีเป้าหมายในการยืนยันความถูกต้องในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของบรรดาสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺเท่านั้น (อ้างแล้ว หน้า 28) ซึ่งแน่นอนเรามิได้เป็นส่วนหนึ่งจากบุคคลที่พยายามกระทำเช่นนั้นอย่างที่อัส-สัยยิด มุฮัมมัด เราะชีด ริฏอกล่าว

 

เพราะในเรื่องคุณสมบัติการเป็นเคาะลีฟะฮฺที่มีเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺนั้นเป็นสิ่งที่มีสุนนะฮฺอย่างชัดเจนและเป็นอิจญมาอฺในยุคของชาวสะลัฟ ศอลิหฺ อย่างที่อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ได้ระบุไว้ในตำราชัรหฺ อะลา เศาะหิหฺมุสลิม เล่มที่ 4/481 และเราก็มิได้พยายามลดทอนสถานภาพของหลักฐานจากอัล-หะดีษหรือตีความเป็นอื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การเป็นเคาะลีฟะฮฺของสุลฏอนอุษมานียะฮฺ แต่สิ่งที่เราให้น้ำหนักก็คือ การผูกพันคุณสมบัติการเป็นผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺของผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺเอาไว้กับเงื่อนไข 2 ประการที่กล่าวมาซึ่งเป็นนัยของบรรดาอัล-หะดีษที่ระบุเกี่ยวกับคุณสมบัติข้อนี้

 

เงื่อนไขข้อที่ 1 เป็นนัยที่ได้จากอัล-หะดีษที่อิมามอัล-บุคอรียฺ มุสลิม และอะหฺมัดรายงานจากอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า

لَايَزَالُ هَذَاالْأَمْرُفى قَرَيْشٍ مابَقِىَ مِنْهُمُ اثْنَانِ

ความว่า “ การกิจนี้ (ความเป็นผู้นำสูงสุด) จะยังคงอยู่ในตระกูลกุรอยชฺตราบใดที่ยังคงมี คน 2 คนจากพวกเขาเหลืออยู่” (อัล-บุคอรียฺ กิตาบอัล-มะนากิบ บาบฺ มะนากิบกุรอยชฺ 4/218 , กิตาบอัล-อะหฺกาม บาบฺ อัล-อุมะรออฺ มิน กุรอยชฺ 9/78 /มุสลิม กิตาบอัล-อิมาเราะฮฺ บาบฺ อัล-คิลาฟะฮฺ 4/481 อะหฺหมัด ในอัล-มุสนัด 2/29 บุคคลในสายรายงานเป็นที่เชื่อถือได้ /อัด-ดาริมียฺ 2/159 / อัลบัยฮะกียฺในอัส-สุนัน อัล-กุบรอ 8/142)

 

เงื่อนไขข้อที่ 2 เป็นนัยที่ได้จากสำนวนของอัล-หะดีษที่ระบุว่า (…..مَاأقَامُواالدِّيْنَ)  “ตราบใดที่พวกเขา (กุรอยชฺ) ดำรงศาสนาเอาไว้อย่างมั่นคง” (ตัครีจญ์เช่นเดียวกับอัล-หะดีษบทก่อน) และอีกหลายหะดีษด้วยกัน ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ กล่าวว่า “เมื่อเรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และชัยชนะที่เหนือกว่ากลายเป็นของบุคคลที่ผู้คนส่วนมากเห็นชอบบุคคลผู้นั้นด้วยการเลือกตั้งและที่คล้ายกัน ก็ย่อมไม่มีข้อห้ามในการให้เกียรติของเราต่อบุคคลที่เป็นผู้นำ (อิมามะฮฺ) ถูกผูกนิติสัมพันธ์แก่ผู้นั้น (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮู เล่มที่ 6 หน้า 698)

 

บรรดานักนิติศาสตร์ที่สังกัดมัซฮับทั้งสี่และอื่นๆ มีความเห็นว่า การเป็นผู้นำสูงสุด (อิมามะฮฺ) จะเกิดเป็นผลผูกพันได้ด้วยการมีชัยชนะและการปราบปราม กล่าวคือ ผู้ที่มีชัยจะกลายเป็นอิมามได้โดยไม่ต้องมีการสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) หรือการแต่งตั้งให้สืบทอด (อิสติคลาฟ) จากอิมามคนก่อน อันที่จริงผู้ที่มีชัยจะกลายเป็นอิมามได้ด้วยการยึดครอง (อิสตีลาอฺ) และบางทีการสัตยาบันอาจจะเกิดพร้อมกับชัยชนะในภายหลังได้อีกเช่นกัน (หุจญะตุลลอฺ อัล-บาลิเฆาะฮฺ ; อัดดิฮฺละวียฺ : 2/111 , หาชิยะฮฺ อิบนิ อาบิดีน : 3/319…, มุฆนียฺ อัล-มุหฺตาจญ์ : 4/130-132 , อัล-อะหฺกาม อัส-สุลฏอนียะฮฺ : อบูยะอฺลา หน้า 6… , หาชิยะฮฺ อัดดุสูกียฺ อะลา อัช-ชีรฺหิลกะบีรฺ : 4/298 และฆอยะตุลมุนตะฮา : 3 / 348)

 

ทัศนะของบรรดานักนิติศาสตร์ข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของอัส-สัยยิด มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอที่ระบุว่าการเป็นเคาะลีฟะฮฺของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺเกิดขึ้นด้วยการมีชัยชนะในทางการทหารและการปราบปรามผู้ปกครองดินแดนต่างๆ ทั้งนี้โดยอาศัยกฏเกณท์ทางนิติศาสตร์ที่ว่าด้วยการปัดป้องบรรดาเหตุแห่งความเสียหาย (ดัรฺอุลมะฟาสิด) และการเลือกกระทำสิ่งที่เป็นภัยเบากว่าหรือน้อยกว่า (อิรฺติกาบ อะค็อฟฺ อัฎ-เฎาะเราะรอยนฺ) ตลอดจนเป็นการคำนึงถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติและการรักษาเลือดเนื้อของผู้คน (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ วะอะดิลลุตุฮู : อ้างแล้ว 8/682-683)

 

นั่นหมายความว่าในแง่รัฐศาสตร์อิสลามแล้วความเป็นเคาะลีฟะฮฺของบรรดาสุลฏอนในราชวงศ์อัล-อุษมานียะฮฺตุรกีเป็นสภาวการณ์ในกรณียกเว้น (หาละฮฺอิสติษนาอียะฮฺ) และมีทัศนะของนักวิชาการยอมรับ เพราะเมื่อสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ทรงได้รับชัยชนะและปราบปรามพวกมะมาลีกตลอดจนมีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺโดยอนุโลมอยู่แล้วโดยไม่ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติว่าด้วยการเป็นผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลกุรอยชฺแต่อย่างใด

 

ส่วนกรณีการสละตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรองค์สุดท้ายแก่สุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 นั้นเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลังตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ที่ระบุว่ามีการสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาสียะฮฺจะมีอำนาจหรือไร้อำนาจอย่างที่อัส-สัยยิด มุฮัมมัดเราะชีด ริฎอ กล่าวถึง เพราะอย่างไรเสียสภาพของเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรก็เริ่มต้นด้วยการสัตยาบันของสุลฏอนบัยบรัส อัล-บันดะเกาะดารียฺและเป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์คนสำคัญอย่างท่านชัยคุลอิสลาม อิซซุดดีน อิบนุ อับดิสสลาม (ร.ฮ.) และบรรดากอฎียฺใน 4 มัซฮับซึ่งการได้รับสัตยาบันดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่อัสสัยยิด มุฮัมมัดเราะชีด ริฎอ มองข้ามไป แต่กลับไปให้ความสำคัญในเรื่องอำนาจของเคาะลีฟะฮฺซึ่งไม่มีตามข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่มีเช่นกันสำหรับเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดหลายพระองค์ในช่วงถูกพวกขุนนางชาวเติร์กครอบงำ

 

สำหรับนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ยอมรับว่ามีการสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแก่สุลฎอนสะลีมข่านที่ 1 เช่น ดร.อับดุลอะซีซ อัช-ชินาวียฺนั้นก็มองว่าการเป็นเคาะลีฟะฮฺของราชวงศ์อุษมานียะฮฺเกิดขึ้นด้วยสาเหตุการผนวกเอาดินแดนมักกะฮฺและมะดีนะฮฺเข้าอยู่ภายใต้อำนาจของอุษมานียะฮฺซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ตอกย้ำถึงสถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺของอุษมานียะฮฺสำหรับโลกอิสลามโดยรวม (อ้างจาก อัดเดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ เดาวฺละตุน มุฟตะรอ อะลัยฮา เล่มที่ 1 หน้า 467)

 

ซึ่งคำกล่าวของดร.อัช-ชินาวียฺ สอดคล้องกับกรณีที่นักประวัติศาสตร์ระบุถึงอบูนุมัยฺ บุตรของชะรีฟบะเราะกาตฺแห่งนครมักกะฮฺได้นำคณะผู้แทนมุ่งหน้าสู่อียิปต์เพื่อแสดงการสวามิภักดิ์ต่อสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 พร้อมกับการมอบกุญแจเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺแก่สุลฏอน ทำให้สุลฏอนกลายเป็นเคาะลีฟะฮฺของประชาคมมุสลิมนับแต่บัดนั้น (ตารีคฺ อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; ดร.อะลี หัสสูน หน้า 62 , สะลาฎีน อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ;ศอลิหฺ กุวะลัน หน้า 94)

 

และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ก็มีความเห็นว่า : แท้จริงพลเมืองของหะรอม (มักกะฮฺ-มะดีนะฮฺ) ทั้งสองเมื่อพวกเขาสัตยาบัน การสัตยาบันนั้นก็เป็นผลบังคับต่อชาวอิสลามแล้ว (ตารีค อัล-มะซาฮิบ อัล-อิสลามียะฮฺ : ชัยคฺ มุฮัมมัด อบูซะฮฺเราะฮฺ เล่มที่ 1 หน้า 98/99) ข้อเท็จจริงนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับกันในแวดวงนักประวัติศาสตร์และไม่ได้รับการวิจารณ์ในเชิงตั้งข้อสงสัยแต่อย่างใด

 

พวกอุษมานียะฮฺก็เช่นเดียวกับประชาคมมุสลิมโดยรวมที่มองนครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ (อัล-หะเราะมัยนฺ อัช-ชะรีฟัยนฺ) อย่างยกย่องและให้ความสำคัญ บรรดาสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺก่อนรัชสมัยสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ต่างก็ทุ่มเทในการทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขตในยุโรปโดยไม่คิดที่จะแผ่ขยายดินแดนลงมาทางใต้ (แคว้นชามและดินแดนของชาวอาหรับ) ในทุกๆ ปีเหล่าสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺจะส่งทรัพย์สินและบริจาคทานเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่บรรดาผู้ยากจนในนครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ สุลฏอนมุฮัมมัดข่าน ที่ 1 ทรงอุทิศ (วักฟ์) พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งให้แก่บรรดาผู้ยากจนของนครทั้งสอง

 

สุลฏอนมุรอดข่านที่ 2 ทรงกำหนดพระราชทรัพย์จำนวน 3,500 ดีนารฺเพื่อแจกจ่ายให้แก่บรรดาผู้ยากจนในนครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ ตลอดจนสุลฏอนมุฮัมมัดข่าน ที่ 2 (อัล-ฟาติหฺ) ก็ทรงส่งของกำนัลมากมายไปยังนครต้องห้ามทั้งสองเช่นกัน สำหรับสุลฏอนบายะซีดข่าน ที่ 2 พระราชบิดาของสุลฏอนสะลีมข่าน ที่ 1 นั้นพระองค์ทรงมีความรักต่อพลเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ ตลอดจนปฏิบัติกับพวกเขาเป็นอย่างดี ในแต่ละปีพระองค์จะจัดเตรียมทรัพย์สินจำนวน 14,000 ดีนารฺ ครึ่งหนึ่งสำหรับพลเมืองมักกะฮฺ และอีกครึ่งหนึ่งสำหรับพลเมืองมะดีนะฮฺ บรรดาพลเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺที่ส่งตัวแทนมาเข้าเฝ้าพระองค์จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี (อัล-กะวากิบ อัส-สาอิเราะฮฺ 1/122)

 

และในขณะที่พวกโปรตุเกสกำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางทะเลสู่เขตชายฝั่งของชาวอาหรับในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง ตลอดจนเข้าโจมตีเมืองท่าญิดดะฮฺ (ตารีคมักกะฮฺ หน้า 316) พวกอุษมานียะฮฺก็ตระหนักว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการที่จะต้องแผ่ขยายอิทธิพลสู่ดินแดนในแคว้นชาม อียิปต์ และแคว้นอัล-หิญาซฺเพื่อพิทักษ์คุ้มครองดินแดนดังกล่าวให้พ้นจากการรุกรานของพวกโปรตุเกส สิ่งดังกล่าวได้ทำให้สุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺเกิดความคิดที่จะรวมดินแดนอิสลามให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของสุลฏอนองค์เดียว (อัต-ตารีค อัช-ชามิลฺ ลิลมะดีนะฮฺ อัล-มุเนาวฺวะเราะฮฺ , ดร.อับดุลบาสิฏ บะดัรฺ เล่มที่ 2 หน้า 332)

 

ในช่วงก่อนการพิชิตอียิปต์ของอุษมานียะฮฺ นครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺเป็นดินแดนในอาณัติของวงศ์มะมาลีก ในราวต้นปี ฮ.ศ. 919 (ค.ศ. 1513) สุลฏอนกอนศูวะฮฺ อัล-ฆูรียฺ แห่งวงศ์มัมลูกียะฮฺได้มีสาส์นถึงชะรีฟบะเราะกาต (สืบตระกูลจากบะเราะกาต อิบนุ หะสัน (ค.ศ. 1425-1455) ผู้เป็นต้นตระกูลชะรีฟแห่งมักกะฮฺจากบะนู อัจญ์ลาน) เพื่อแต่งตั้งให้ชะรีฟบะเราะกาตแห่งนครมักกะฮฺปกครองนครมะดีนะฮฺโดยมีชัยคฺ อัล-หะรอม อัน-นะบะวียฺและบรรดากอฎียฺเป็นที่ปรึกษา ชะรีฟ บะเราะกาตจึงกลายเป็นผู้มีอำนาจปกครองแคว้นอัล-หิญาซฺโดยมีอำนาจเต็ม (อ้างแล้ว 2/329)

 

และในปี ฮ.ศ. 923 (ค.ศ. 1518) ข่าวการได้รับชัยชนะของสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 เหนือพวกมะมาลีกในอียิปต์ได้มาถึงแคว้นอัล-หิญาซฺ ในเวลานั้นสุลฏอนสะลีมทรงพบว่าในที่คุมขังของสุลฏอนอัล-ฆูรียฺมีชะรีฟแห่งอัล-หิญาซฺบางคนถูกคุมขังอยู่ พระองค์จึงทรงปล่อยชะรีฟที่ถูกคุมขังอยู่ให้เป็นอิสระ และชะรีฟผู้นั้นก็รู้ว่าสุลฏอนมีพระประสงค์จะนำทัพเคลื่อนสู่แคว้นอัล-หิญาซฺ ชะรีฟกับพวกจึงมีหนังสือถึงชะรีฟ บะเราะกาตเพื่อเสนอแนะให้ชะรีฟ บะเราะกาต ส่งคณะผู้แทนมายังสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺซึ่งทรงพำนักอยู่ในกรุงไคโร และผูกไมตรีกับพระองค์เพื่อมิให้พระองค์นำทัพเข้ายึดครองแคว้นอัล-หิญาซฺ และยกเลิกระบอบการปกครองของชะรีฟแห่งนครมักกะฮฺและอัล-หิญาซฺ ชะรีฟ บะเราะกาต ยอมรับข้อเสนอแนะและส่งบุตรชายของตนคือ อบูนุมัยฺพร้อมด้วยบรรดาบุคคลสำคัญของนครมักกะฮฺร่วมคณะสู่อียิปต์

 

คณะผู้แทนจากแคว้นอัล-หิญาซฺได้เดินทางถึงกรุงไคโรในตอนกลางเดือนญุมาดา อัล-อาคิเราะฮฺ ปี ฮ.ศ. 923 (ค.ศ. 1518) สุลฏอนสะลีมทรงต้อนรับคณะผู้แทนดังกล่าวด้วยความปิติ และอบูนุมัยฺก็ถวายความจงรักภักดีต่อสุลฏอนและประกาศว่า แคว้นอัล-หิญาซฺทั้งหมดซึ่งขึ้นกับชะรีฟแห่งมักกะฮฺได้เข้าอยู่ภายใต้อำนาจของอุษมานียะฮฺ พร้อมกันนี้อบูนุมัยฺได้มอบกุญแจประตูเมืองมักกะฮฺแก่พระองค์ (บะดาอิอฺ อัซ-ซุฮูรฺ 5/190)

 

และนี่คือการสิ้นสุดอำนาจของพวกวงศ์มะมาลีกในแคว้นอัล-หิญาซฺ และเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งอุษมานียะฮฺเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของนครมักกะฮฺและนครมะดีนะฮฺ ตลอดจนแคว้นอัล-หิญาซฺทั้งหมด ซึ่งกินระยะเวลาต่อมาอีก 4 ศตวรรษด้วยกัน (อัต-ตารีค อัช-ชามิล อ้างแล้ว 2/329 , 330)

 

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น สุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺก็มีพระฉายานามว่า “คอกอน อัล-บัรฺร์ วัล บะหฺร์ ว่า คอดิมุลหะเราะมัยนฺ อัช-ชะรีฟัยนฺ” (ข่านผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดินและท้องทะเล ผู้รับใช้นครต้องห้ามทั้งสอง) และสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ชะรีฟบะเราะกาตฺเป็นเจ้าครองนครมักกะฮฺและแคว้นอัล-หิญาซฺ (อ้างแล้ว 2/333)

 

และในการแสดงธรรมวันศุกร์ในมัสญิดหะรอมนครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺผู้แสดงธรรมจะกล่าวขอพรต่อสุลฏอนผู้มีพระฉายานามว่า คอดิมุลหะเราะมัยนฺ อัช-ชะรีฟัยนฺ เป็นอันดับแรกตามด้วยชะรีฟมักกะฮฺและอะมีรแห่งนครมะดีนะฮฺ

 

การที่พลเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺผ่านชะรีฟมักกะฮฺยอมรับในอำนาจของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺทำให้สุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺมีสถานภาพเป็นเคาะลีฟะฮฺตามทัศนะที่ อิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวเอาไว้และสอดคล้องกับสิ่งที่ดร.อัช-ชินาวียฺระบุเอาไว้ว่า สถานภาพของเคาะลีฟะฮฺแห่งอุษมานียะฮฺเกิดขึ้นด้วยสาเหตุการผนวกรวมนครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺในแคว้นอัล-หิญาซฺเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺ (อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺฯ ดร.อับดุลอุซีซ อัช-ชินาวียฺ เล่มที่ 1 หน้า 467)

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเราสามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในการมีสถานภาพเคาะลีฟะฮฺแห่งโลกอิสลามของจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺ (ออตโตมานเติร์ก) นับตั้งแต่รัชสมัยสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 เป็นต้นมาได้ดังต่อไปนี้

 

1) รัฐสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺหรือจักรวรรดิ์ออตโตมานเติร์กนับตั้งแต่รัชสมัยสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 (ค.ศ. 1512-1520) ตราบจนการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแห่งราชวงศ์อุษมานียะฮฺโดยมุศฏอฟา คมาล อะตาเติร์ก ในปี ค.ศ. 1923 เป็นรัฐอิสลามที่มีระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺมุลก์

 

2) สถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺของบรรดาสุลฏอนอุษมานียะฮฺนับตั้งแต่รัชสมัยสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 เกิดขึ้นจริงตามหลักรัฐศาสตร์อิสลามที่รับรองสถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺด้วยเหตุปัจจัยดังนี้

2.1) การได้รับชัยชนะทางการทหารและการปราบปรามรัฐอิสลามตลอดจนการยึดครองดินแดนที่สำคัญในโลกอิสลามเช่น แคว้นชาม อียิปต์ และแคว้นอัล-หิญาซฺ เป็นต้น เรียกลักษณะการได้มาซึ่งสถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺนี้ว่า คิลาฟะฮฺ อัล-มุตะฆ็อลลิบฺ (การเป็นเคาะลีฟะฮฺของผู้มีชัย) โดยปวงปราชญ์ให้การยอมรับว่า เมื่อผู้มีชัยได้รับชัยชนะเหนือกิจการของชาวมุสลิม และไม่ปรากฏว่าสำหรับชาวมุสลิมมีอิมามสำหรับพวกเขา และผู้มีชัยมีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำ (อิมามะฮฺ) อย่างครบถ้วนตลอดจนดำรงความยุติธรรมในหมู่ผู้คน แล้วผู้คนเหล่านั้นก็มีความยินดีและให้สัตยาบันแก่ผู้มีชัยนั้น ผู้นั้นก็เป็นอิมามสูงสุดแล้ว (มันฮัจญ์ อัส-สุนนะฮฺ ; ดร.ยะหฺยา อิสมาอีล หน้า 255)

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) มีความเห็นในรายงานหนึ่งจากท่านว่า “เพียงพอในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺด้วยการยินดีที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง” และอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวไว้อย่างชัดเจนในริวายะฮฺหนึ่งของท่านว่า “ผู้ใดดำรงตำแหน่งคิลาฟะฮฺ แล้วผู้คนก็ร่วมกับเขาผู้นั้น และยินดีต่อผู้นั้น ผู้นั้นคือเคาะลีฟะฮฺ (อัล-มะนากิบ ; อิบนุ อัล-เญาวฺซียฺ หน้า 176)” และอิมามอัล-ญุวัยนียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “การมีอำนาจเหนือกว่าพร้อมกับการคัดค้านและขัดแย้งเป็นอุปสรรค (คือไม่สามารถปฏิเสธได้) นั่นย่อมมีนัยยืนยันถึงการเป็นอิมาม (ฆิยาษุล อุมัม หน้า 279)”

 

และการเป็นเคาะลีฟะฮฺของผู้มีชัย (คิลาฟะฮฺ อัล-มุตะฆ็อลลิบฺ) ในทัศนะของปวงปราชญ์จะถือเป็นคิลาฟะฮฺนุบูวะฮฺได้เมื่อครอบคลุมเงื่อนไข 5 ประการคือ

       1. ความเป็นผู้สืบเชื่อสายจากตระกูลกุรอยชฺ

       2. การดำรงความยุติธรรมในตำแหน่ง

       3. ไม่มีอิมามคนอื่นในขณะนั้น


       4. จะต้องไม่มีโอกาสสำหรับการคัดเลือกและการสัตยาบันด้วยการปรากฏขึ้นของสภาพการณ์ที่จำต้องมีความเร่งด่วน เช่น อิมามสิ้นชีวิตในการรบ เป็นต้น


       5. มีความยินดีจากประชาคมเกิดขึ้น (ตารีค อัล-มะซาฮิบ อัล-อิสลามียะฮฺ 1/199)

 

ดังนั้นหากขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดไป การเป็นเคาะลีฟะฮฺนั้นก็ถือเป็นเคาะลีฟะฮฺมุลก์ ตราบใดที่มีผู้ให้การสนับสนุนซึ่งมีอิทธิพลและอำนาจให้ความเห็นชอบโยการสนับสนุนนั้นทำให้เป้าหมายของการเป็นผู้นำเกิดขึ้นจริง (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 1/141)

 

2.2) สถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺเกิดขึ้นจริงด้วยเหตุของการที่ตัวแทนของพลเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺในแคว้นอัล-หิญาซฺโดยชะรีฟบะเราะกาตผู้มีอำนาจเต็มให้สัตยาบันต่อสุลฏอนสะลีมข่านที่ 1 ทำให้อุษมานียะฮฺกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือพลเมืองในนครทั้งสอง

 

ซึ่งการสัตยาบันของพลเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺเป็นสิ่งที่ทำให้การเป็นเคาะลีฟะฮฺของผู้ที่ได้รับสัตยาบันมีความชอบธรรมตามทัศนะของอิมามมาลิก (ร.ฮ.) และนักวิชาการอย่างดร.อับดุลอะซีซฺ อัช-ชินาวียฺที่ถือว่าการผนวกดินแดนต้องห้ามทั้งสองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในราชวงศ์อุษมานียะฮฺเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้อุษมานียะฮฺมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของโลกอิสลาม

 

2.3 สถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺเกิดขึ้นจริงตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ยอมรับว่าเหตุการณ์สละตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิลอะลัลลอฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรนั้นเป็นเรื่องจริง ไม่ว่าการสละตำแหน่งนั้นจะเกิดขึ้นที่กรุงไคโรหรือนครอิสตันบูลก็ตาม

 

ส่วนนักประวัติศาสตร์ที่ตั้งข้อสงสัยในข้อเท็จจริงของการสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺนี้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนมาสนับสนุนทัศนะของตนนอกจากการวิเคราะห์สภาพความน่าจะเป็นการอาศัยข้อมูลจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ผู้จดบันทึกขาดความน่าเชื่อถือ กอปรกับนักวิชาการฝ่ายนี้ส่วนหนึ่งเป็นนักบูรพาคดี

 

เช่น โทมัส อาร์โนลด์ ซึ่งวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อย่างชาวตะวันตกที่มีอคติต่อจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺเป็นทุนเดิม ตลอดจนนักวิชาการที่เป็นชาวมุสลิมฝ่ายนี้ส่วนมากเป็นพวกชาตินิยมอาหรับที่มีอคติต่อระบอบคิลาฟะฮฺแห่งอุษมานียะฮฺซึ่งความมีอคติดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบการปกครองของตุรกีในช่วงเวลาที่มีการเรียกร้องเอกราชของรัฐที่อยู่ภายใต้อาณัติของจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺดังเช่นบทความที่ระบุว่าการเป็นเคาะลีฟะฮฺของพวกตุรกีในกรุงอิสตันบูลเป็นโมฆะและเลยเถิดไปถึงขั้นกล่าวหาเคาะลีฟะฮฺและรัฐบาลของตุรกีเป็นพวกนอกศาสนา (อัล-คิลาฟะฮฺ ; มุฮัมมัดเราะชีดริฎอ หน้า 61)

 

ข้อสรุปที่ได้ในบทความนี้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะของนักประวัติศาสตร์และนักค้นคว้าที่ยืนยันว่ามีเหตุการณ์สละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจากราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ณ กรุงไคโรแก่สุลฏอนสะลีมข่าน ที่ 1 แห่งจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺตลอดจนการวิเคราะห์ทัศนะของนักรัฐศาสตร์และนักปราชญ์ชาวมุสลิมที่ระบุถึงสถานภาพการเป็นเคาะลีฟะฮฺของอุษมานียะฮฺว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมโดยมีเหตุปัจจัย 2 ประการแรกข้างต้นที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อยืนยันว่า การสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจะเกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงตำนานแต่การมีชัยชนะของสุลฏอนอุษมานียะฮฺเหนือดินแดนในโลกมุสลิมและการสัตยาบันของตัวแทนพลเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺก็มิใช่ตำนานแต่อย่างใด

วัลลอฮุอะอฺลัม

 

หนังสืออ้างอิง

1.ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อะลียะฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; อุสตาซฺ มุฮัมมัด ฟะรีด เบยฺก์ อัล-มุหามียฺ ตรวจทานโดย ดร.อิหฺสาน หิกกียฺ สำนักพิมพ์ดารุนนะฟาอิส (เบรุต) 1983.

2.ตารีค อัดเดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; ดร.อะลี หัสสูน สำนักพิมพ์ อัล-มักตับอัลอิสลามียฺ (เบรุต) 1994.

3.ตารีค อัล-มะซาฮิบ อัล-อิสลามียะฮฺ ; ชัยคฺมุฮัมมัด อบูซะฮฺเราะฮฺ สำนักพิมพ์ดารุลฟิกร์ อัล-อะเราะบียฺ (กรุงไคโร)

4.ตารีค อัลคุละฟาอฺ ; อัส-สุยูฏียฺ สำนักพิมพ์วะฮฺบะฮฺ (กรุงไคโร)

5.อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ เดาวฺละตุนอิสลามียะฮฺ มุฟตะรออะลัยฮา , ศาสตราจารย์ดร.อับดุลอะซีซ อัช-ชินาวียฺ สำนักพิมพ์แอนญาโล อัล-มิศรียะฮฺ (กรุงไคโร)

6.ฆิยาษุลอุมัม ; อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ อัล-ญุวัยนียฺ ดารุดดะอฺวะฮฺ อเล็กซานเดรีย

7.มินฮาญุสสุนนะฮฺ ; อิบนุตัยมียะฮฺ (โบลาก)

8.มันฮะญุสสุนนะฮฺ ฟิล อะลาเกาะฮฺ บัยนะ อัล-หากิม วัลมะหฺกูม ดารุลวะฟาอฺ (อัล-มันศูเราะฮฺ 1986 ดร.ยะหฺยา อิสมาอีล

9.อัล-คิลาฟะฮฺ ; ชัยคฺ มุฮัมมัดเราะชีดริฎอ , สำนักพิมพ์อัซ-ซะฮฺรออฺ ลิลลิอฺลาม อัล-อะเราะบียฺ (กรุงไคโร) 1988

10.อัต-ตารีค อัช-ชามิล ลิลมะดีนะฮฺ อัล-มุเนาวะเราะฮฺ ; ดร.อับดุลบาสิฎ บะดัรฺ (มะดีนะฮฺ) 1993

11.กิยาม เดาวฺละฮฺ อัล-มะมาลีก อัล-อูลา พี มิศรฺ วัช-ชาม ; ศาสตราจารย์ดร.อะหฺมัด มุคตารฺ อัล-อับบาดียฺ สำนักพิมพ์ชะบาบอัล-ญามิอะฮฺ (อเล็กซานเดรีย)

12.สลาฏีน อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; ศอลิหฺ กุวะลัน ; สำนักพิมพ์ดารุลนีลฺ แปลโดย มุนาญะมาลุดดีน (ไคโร) 2011.

13.ฟี อัตตารีค อัล-อับบาสียฺ วัล-ฟาฏิมียฺ ; ศาสตราจารย์ดร.อะหฺมัด มุคตาร์ อัล-อับบาดียฺ (อเล็กซานเดรีย) 1993 สำนักพิมพ์ชะบาบ อัล-ญามิอะฮฺ

14.อัล-มุนญิดฟิลลุเฆาะฮฺ วัล-อะอฺลาม ; ดารุลมัชริก (เบรุต) พิมพ์ครั้งที่ 41 , 2005

15.อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยฺลียฺ สำนักพิมพ์ดารุลฟิกรฺ (ดามัสกัส) พิมพ์ครั้งที่ 3 , 1989

16.Arnold : Sir Thomas W., The Caliphate (Oxford 1924X

17.Camb. Med. Hist. Cambrige Medieval History , Vols. IV , VI.

18.Creswell : The Works of Sultan Bibars Al Bunduqdari in Egypt , Bulletin de I’Istitut Francaise d’Archeologic Orientale , tome 26 , Fasc 2

19.Hitti : P.K. “The History of the Arabs (London 1934)

ฯลฯ