ส่วนหนึ่งจากคำกล่าวของอิมาม อะลี (ร.ฎ.)

  • “พึงทราบเถิด! แท้จริง อัล-ฟะกีฮฺ (ผู้เข้าใจหลักการของศาสนา) คือ ผู้ซึ่งไม่ทำให้ผู้คนสิ้นหวังจากพระเมตตาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และไม่ทำให้ผู้คนประมาทวางใจจากการลงทัณฑ์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ผ่อนปรนแก่ผู้คนในการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ละทิ้งอัล-กุรอานไปยังสิ่งอื่นอย่างไม่ใยดีต่ออัล-กุรอาน
    และย่อมไม่มีความดีอันใดเลยในการอิบาดะฮฺที่ไร้ความรู้ในการอิบาดะฮฺนั้น และย่อมไม่มีความดีอันใดเลยในความรู้ที่ไร้ความเข้าใจในความรู้นั้น และย่อมไม่มีความดีอันใดในการอ่านที่ไร้การตรึกตรองในการอ่านนั้น”

  • “บ่าวจะต้องไม่มุ่งหวังต่อผู้ใดนอกจากพระผู้อภิบาลของเขา บ่าวจะต้องไม่กลัวสิ่งใดนอกจากบาปของตน บ่าวจะต้องไม่กระดากอาย เมื่อบ่าวผู้นั้นไม่รู้ต่อการที่บ่าวนั้นจะเรียนรู้ และจะต้องไม่กระดากอายเมื่อถูกถามถึงสิ่งที่ตนไม่รู้ ต่อการที่บ่าวผู้นั้นจะกล่าวว่า “ฉันไม่รู้” พึงรู้เถิดว่า แท้จริงความมีขันติธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากความศรัทธาในตำแหน่งของศีรษะจากร่างกาย และย่อมไม่มีความดีอันใดในร่างกายที่ไร้ศีรษะ”

  • “มนุษย์มี 3 จำพวก คือ ผู้รู้ซึ่งเป็นคนของพระเจ้า (อาลิม รอบบานียฺ) ผู้เรียนรู้บนหนทางแห่งความรอด และคนหยาบช้าที่เลี้ยงสัตว์คอยไล่ตามเสียงร้องของสัตว์เลี้ยง เอนเอียงไปพร้อมกับสายลม ไม่อาศัยแสงสว่างของรัศมีแห่งความรู้ ไม่หลบลี้หนีภัยสู่มุมอันมั่นคง อันความรู้นั้นดีกว่าทรัพย์ ความรู้จะคุ้มกันภัยให้แก่ท่าน แต่ท่านต้องคอยคุ้มกันทรัพย์ ความรู้จะเพิ่มพูนบนการปฏิบัติ ส่วนทรัพย์นั้นการใช้จ่ายย่อมทำให้ทรัพย์นั่นพร่องไป

    อันความรู้คือผู้ปกครอง ส่วนทรัพย์นั้นคือสิ่งที่ถูกปกครองเหนือมัน และสิ่งถูกสรรค์สร้างของทรัพย์ย่อมสูญด้วยการสิ้นทรัพย์ ความรักที่มีต่อผู้รู้คือภาคผลที่จะถูกตอบแทนด้วยความรักนั้น ความรู้ย่อมนำพาผู้รู้ให้ภักดีในช่วงชีวิตของผู้รู้ เป็นความสวยงามของคนรุ่นใหม่หลังการเสียชีวิตของผู้รู้ คนที่เฝ้าคลังทรัพย์สินตายแล้วทั้งๆ ที่พวกเขายังมีชีวิต ส่วนบรรดาผู้รู้นั้นพวกเขายังคงอยุ่ตราบชั่วกาลนาน ถึงตัวของพวกเขาไม่อยู่แล้ว แต่แบบอย่างของพวกเขาในหัวใจของผู้คนยังคงอยู่”

(จาก “ศิฟะฮฺ อัศ-ศอฟวะฮฺ ; อิบนุ อัล-เญาซียฺ เล่มที่ 1 หน้า 108 , 109 , 110)