1.ภูมิความรู้เดิมของอัต-ตีญานียฺ

เจ้าของหนังสือ “ในที่สุดฉันได้รับทางนำ” (ثُمَّ اهْتَدَيْتُ) คือ ดร.มุฮัมมัด อัต-ตีญานียฺ อัส-สะมาวียฺกล่าวว่า

“ขณะที่ฉันเข้ามาในบ้าน ฉันก็ต้องประหลาดใจกับตำรับตำราที่ส่งมาถึง ฉันรู้ที่มาของตำรับตำรานั้น…ฉันดีใจมาก ฉันจึงจัดเรียงตำรับตำรานั้นเอาไว้ในห้องเฉพาะ เรียกห้องนั้นว่า “ห้องสมุด” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 86-87)

หลังจากนั้น อัต-ตีญาณียฺก็เขียนว่า : ฉันได้เดินทางไปยังเมืองหลวง ที่นั่นฉันได้ซื้อตำราเศาะหิหฺอัล-บุคอรียฺ, เศาะหิหฺมุสลิม, มุสนัด อิมามอะหฺมัด,  เศาะหิหฺ อัต-ติรฺมิซียฺ, มุวัฏเฏาะอฺ อิมามมาลิก และตำราอื่นๆ ที่โด่งดังนอกจากนั้น ฉันมิอาจรีรอให้กลับถึงบ้านก่อน ในระหว่างทางจากตูนิสและก็อฟเศาะฮฺ ขณะที่ฉันโดยสารรถประจำทาง ฉันก็เปิดตำราเศาะหิหฺอัล-บุคอรียฺทีละหน้า และค้นหาเรื่อง “วันพฤหัสฯ อับโชค” โดยหวังว่าฉันจะไม่พบเรื่องนี้….”  (ษุมมะฮิตะดัยตุ้ หน้า 88)

 

ข้อสังเกต

 

อัต-ตีญานียฺจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัซ-ซัยตูนะฮฺ ประเทศตูนิเซีย แต่ไม่มีตำรับตำราพื้นฐานสำหรับผู้รู้มาก่อนเลยภายในบ้านของตน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าการซื้อหาตำรับตำราเหล่านี้มาใช้ค้นคว้า อัต-ตีญานียฺเป็นนักกล่าวปาฐกถาอยู่เป็นประจำในมัสญิดและแวดวงวิชาการในประเทศของตนมาก่อน และเคยกล่าวสุนทรพจน์ในที่ชุมนุมของบรรดานักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร อัช-ชะรีฟ (ดู ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 24)

 

ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺบ่งชี้ว่า เขาไม่เคยผ่านตำราอัล-หะดีษเหล่านี้มาก่อน หรืออย่างน้อยก็ไม่เคยมีตำราอัล-หะดีษเหล่านั้นในชั้นวางหนังสือที่บ้านของตนมาก่อน แม้แต่ตำราอัล-มุวัฏเฏาะฮฺของอิมามมาลิก (ร.ฎ.) ซึ่งอัต-ตีญานียฺถือตามมัซฮับของท่าน (อ้างแล้ว หน้า 11) ก็เพิ่งจะหาซื้อได้ในครั้งนี้ เหตุนี้จึงไม่แปลกใจที่อัต-ตีญานียฺจะเป็นเพียงนักศึกษาที่ผ่านมหาวิทยาลัยอิสลามที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอิสลาม อย่างมหาวิทยาลัยอัซ-ซัยตูนะฮฺ แต่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางศาสนาเพียงพอ อัต-ตีญานียฺภายหลังการเดินทางกลับจากการประกอบพิธีหัจญ์ก็กลับกลายเป็นผู้สอนวิชาการทางศาสนาตามมัสญิดในวันศุกร์ (อ้างแล้ว หน้า 15)

 

ส่วนวันอาทิตย์อัต-ตีญ่นียฺสอนวิชาเทคโนโลยีและเทคนิคพื้นฐานให้แก่นักเรียนชั้นมัธยม (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน) ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺบ่งชี้ว่า เขาจบการศึกษาในภาควิชาสามัญ มิได้จบการศึกษาในภาควิชาศาสนามาจากมหาวิทยาลัยอัซ-ซัยตูนะฮฺ

 

อัต-ตีญานียฺยังระบุว่า : จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์อิสลามที่ฉันรู้นั้นเล็กน้อย ไม่ได้มากเลย (อ้างแล้ว หน้า 37) นี่เป็นคำสารภาพของอัต-ตีญานียฺ เมื่อตนถูกสหายชาวอีรัก (ดร.มุนอิมซึ่งเป็นชีอะฮฺ) ถามตรงๆ ว่า “พี่น้องอัส-สามาวียฺ ท่านรู้ประวัติศาสตร์อิสลามหรือไม่?” และความไม่รู้ของอัต-ตีญานียฺเกี่ยวกับเรื่องราวของมัซฮับต่างๆ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้อัต-ตีญานียฺต้องยอมสารภาพถึงความอ่อนด้อยของตนเมื่อถูกเด็กนักเรียนชาวชีอะฮฺในเมืองนะญัฟถามตนว่า “รู้จักมัซฮับอัล-ญะอฺฟะรียฺหรือไม่?” (อ้างแล้ว หน้า 54)

 

จึงไม่แปลกที่บุคคลอย่างอัต-ตีญานียฺซึ่งไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺ และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแนวทางของพวกอิมามียะฮฺนอกจากความเชื่อ การบอกเล่า และประสบการณ์ ไม่แปลกเลยที่บุคคลเช่นนี้จะพลั้งพลาดในการตั้งคำถามกับเหล่าชีอะฮ อิมามียะฮฺที่เขาได้พบปะ หรืออึ้งไปกับคำถามที่ถูกสวนกลับมาจากเหล่าชีอะฮฺอิมามียะฮฺ จนนำไปสู่ความคลางแคลงสงสัยต่อแนวทางเดิมของตน ซึ่ง อัต-ตีญานียฺมีภูมิความรู้ไม่มากพออีกเช่นกัน

 

จึงกล่าวได้ว่า อัต-ตีญานียฺในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นเพียงชาวสุนนียฺที่ไม่มีความรู้ลึกซึ้งในแนวทางที่ถูกต้องของอะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺ นอกเหนือจากการไม่มีภูมิความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางของกลุ่มชีอะฮฺอิมามียะฮฺ อัต-ตีญานียฺสำคัญตนว่าเป็นผู้รู้และนักสอนศาสนาของชาวสุนนียฺ เพราะตนได้รับการยกย่องจากผู้คนและได้รับความไว้วางใจจากชัยคฺในเฏาะรีเกาะฮฺ อัต-ตีญานียะฮฺ เมื่อรู้ไม่จริงในสิ่งที่ตนเป็นอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้ในคำรบที่สอง

 

หลักเดิมในการยึดมั่นของตนก็ไม่ชัดเจนและคลุมเครืออยู่แล้ว เมื่อถูกคำถามและคำอธิบายของฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺมาปะทะและหักล้างในห้วงความคิดของตน ก็ย่อมถึงตาจนในการตอบโต้ ท้ายที่สุดก็ถูกกระแสที่มาปะทะนั้นพัดพาใจตนไปสู่วังวนแห่งความสงสัยและเคลือบแคลงในความเป็นมาตามหลักความเชื่อเดิมของตน แทนที่จะหวนกลับมาพิจารณาหลักความเชื่อเดิมของตนให้ถ่องแท้ว่าจริงๆ คืออะไร? แต่กลับนำพาตัวเองลงสู่วังวนที่ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺก่อเชื้อไฟเอาไว้ในใจตน