3.การอ้างถึงสถาภาพของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.)

อัต-ตีญานียฺเขียนใน “ชีอะฮฺคืออะฮฺลุสสุนนะฮฺที่แท้จริง”  (الشيعةهم أهل السنة) หน้า 45 (ฉบับภาษาอาหรับ และหน้า 78 ฉบับแปลภาษาไทยโดย อับดุลลอฮฺ บิน กอเซ็ม (2541) สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม) ว่า : 

“อย่างที่เราได้นำเสนอมาก่อนแล้วว่า บรรดาผู้ที่เรียกขานชื่อว่า “อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺ” พวกเขากล่าวถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของบรรดาอัล-คุละฟาอฺ อัรฺรอชิดีนทั้ง 4 คือ อบูบักร, อุมัร, อุษมาน และอะลี นี่เป็นสิ่งที่ผู้คนรู้กันดีในทุกวันนี้ แต่ความจริงอันน่าปวดร้าวก็คือ ท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบไม่เคยถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาคุละฟาอฺ อัรฺ-รอชิดีน ณ หมู่ชาวสุนนะฮฺ ไม่เลย! พวกเขาไม่ยอมรับถึงความชอบธรรมตามบัญญัติศาสนาในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอันที่จริงท่านอะลีเพิ่งจะถูกผนวกตามหลังเคาะลีฟะฮฺทั้งสามในช่วงเวลาไม่นานมานี้เอง นั่นคือในปีที่ 230 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชในสมัยของอะหฺมัด อิบนุ หัมบัล

 

ส่วนบรรดาเศาะหาบะฮฺที่มิใช่ชาวชีอะฮฺ และบรรดาเคาะลีฟะฮฺ เหล่ากษัตริย์ ตลอดจนบรรดาผู้นำที่ปกครองชาวมุสลิมนับจากสมัยอบูบักรฺ กระทั่งถึงรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ อัร-เราะชีด อัล-มุอฺตะศิมแห่งอัล-อับบาสียฺ พวกเขาไม่เคยยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบแต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำพวกเขาบางส่วนคือผู้ที่มักสาปแช่งต่อท่านอะลี และไม่ถือว่าท่านอะลีเป็นกระทั่งมุสลิมคนหนึ่งด้วยซ้ำ หาไม่แล้วเป็นไปได้อย่างไรที่จะเป็นที่อนุญาตสำหรับพวกเขาในการด่าทอสาปแช่งท่านอะลีบน บรรดามิมบัรฺเล่า!”

 

อัต-ตีญานียฺกล่าวอีกว่า : สำหรับสิ่งนั้นทั้งหมดเราจึงกล่าวได้ว่า อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่เคยยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี เว้นเสียแต่ว่าภายหลังสมัยของอะหฺมัด อิบนุ ฮัมบัลเป็นอย่างมาก ถูกต้อง! ที่อะหฺมัด อิบนุ หิมบัลคือบุคคลแรกที่กล่าวถึงการเป็นเคาะลีฟะของท่านอะลี แต่บรรดานักวิชาการอัล-หะดีษก็ไม่เคยยอมรับโดยดุษฎีเหมือนอย่างที่เราได้เคยนำเสนอเอาไว้ก่อนแล้ว เนื่องจากพวกเขาถือตามอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร! (อัช-ชีอะฮฺ ฮุมอะฮฺลุสสุนนะฮฺ หน้า 48-49) 

 

ข้อจริงที่หักล้างคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺ

1) อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺ ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในลำดับที่ 4 หลังการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) โดยการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) เกิดขึ้นภายหลังการลอบสังหารท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ในปี ฮ.ศ. ที่ 35 / ค.ศ. 656 ทั้งนี้บรรดาเศาะหาบะฮฺชั้นอาวุโส ชาวมุฮาญิรีน และอันศ็อรฺ มีมติเห็นพ้อง (อิจญ์มาอฺ) ในการให้สัตยาบันการเป็นเคาะลีฟะฮฺแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) และหัวเมืองอิสลามเช่น แคว้นอัล-หิญาซฺ, ยะมัน, ฟาริส คุรอสาน, อียิปต์, อิฟริกียะฮฺ, อัล-ญะซีเราะฮฺ, อาเซอร์ไบญาณ แคว้นสินธุ และอัน-นูบะฮฺได้ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) และในหมู่บรรดาเศาะหาบะฮฺที่เข้าร่วมกับฝ่ายของท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) มีเศาะหาบะฮฺที่เคยเข้าร่วมสมรภูมิ บัดร์ และการสัตยาบันอัรฺ-ริฎวานจำนวน 800 คน

(ดู เมาวฺสูอะฮฺ อาลิ บัยตินนะบียฺ อัล-อัฏฮารฺ ; เศาะลาหุดดีน มะหฺมูด อัส-สะอีด หน้า 229)

 

 

ไม่มีผู้ใดคัดค้านการให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ยกเว้นพลเมืองชาม ซึ่งมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสิบของจำนวนประชาคมมุสลิมในเวลานั้น และในแคว้นชามก็มีชนรุ่นเศาะหาบะฮฺและชนรุ่นอัต-ตาบิอีนในการยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) และปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) เช่น ท่านชัดดาด อิบนุ เอาวฺส์ (ร.ฎ.) และอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ ฆุนม์ อัล-อัชอะรียฺ (ร.ฮ.) ผู้อาวุโสของชนรุ่นอัต-ตาบิอีนแห่งแคว้นชาม

(อ้างแล้ว หน้า 229)

  

ในสงครามอูฐ (ปี ฮ.ศ. ที่ 36) สะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ กล่าวว่า : ในวันสมรภูมิ มีชาวอันศอรฺร่วมอยู่พร้อมกับท่านอะลี (ร.ฎ.) จำนวน 800 คน และ 400 คนจากบุคคลที่เคยเข้าร่วมสัตยาบันอัรฺริฎวาน และสะอีด อิบนุ อิบรอฮีม อัซฺ-ซุฮฺรียฺ กล่าวว่า ชายคนหนึ่งจากตระกูลอัสลัมได้เล่าให้ฉันฟังว่า : พวกเราอยู่พร้อมกับท่านอะลี (ร.ฎ.) จำนวน 4,000 คน จากพลเมืองมะดีนะฮฺ และอัล-มุฏเฏาะลิบ อิบนุ ซิยาด จากอัส-สุดียฺ เล่าว่า : ในวันสมรภูมิอูฐมีชาวสมรภูมิบัดร์พร้อมกับท่านอะลี (ร.ฎ.) จำนวน 113 คน และเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ﷺ จำนวน 700 คน

(ดู สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ ; อัซ-ซุฮธบียฺ เล่มที่ 2 หน้า 638-639)

 

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺโดยส่วนใหญ่ได้ให้การยอมรับต่อการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) โดยถือเป็นอิจญ์มาอฺ ถึงแม้ว่าจะมีเศาะหาบะฮฺบางส่วนไม่ยอมรับในการให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ตาม เพราะอะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺถือว่าการให้สัตยาบันของเศาะหาบะฮฺที่เป็นชาวมุฮาญิรีนและอันศอรฺแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ตลอดจนการให้สัตยาบันของพลเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ย่อมเกินพอในการที่จะถือว่าสถานภาพความเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นไปอย่างชอบธรรมและครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

(ดู บรรยายสายรายงานที่ระบุถึงการให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ของบรรดามุฮาญิรีนและอันศอรฺในตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ เล่มที่ 4 หน้า 427 เป็นต้นไป และอัฏ-เฏาะบะกอตของอิบนุ สะอฺด์ เล่มที่ 2 หน้า 31 เป็นต้นไป) 

  

 

เมื่อบรรดาเศาะหาบะฮฺได้มีอิจญ์มาอฺ ต่อการสัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) บรรดาชนรุ่นอัต-ตาบิอีนก็ถือตามบรรดาเศาะหาบะฮฺ ดังนั้น บรรดาชนรุ่นอัต-ตาบิอีนของแคว้นอัล-หิญาซฺ, อีรัก, อียิปต์, ยะมัน, คุรอสาน และหัวเมืองอื่นๆ จึงมีอิจญ์มาอฺตามชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ เหตุนั้นจึงมีบรรดาชนรุ่นอัต-ตาบิอีนชั้นอาวุโสจากพลเมืองอีรักเข้าร่วมรบอยู่กับฝ่ายท่านอะลี (ร.ฎ.) ในสมรภูมิศิฟฟีน ส่วนชนรุ่นอัต-ตาบิอีนจากพลเมืองชามนั้นมีความประเสริฐและจำนวนน้อยกว่ามาก นอกเหนือจากชนรุ่นอัต-ตาบิอีนของแคว้นชามบางส่วนที่ไม่เข้าร่วมกับฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) แต่ให้การยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.)

(ดู เมาวฺ สูอะฮฺ อาลิ บัยตินนบียฺ ; หน้า 230)

  

 

อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺซึ่งดำเนินตามแนวทางของชนรุ่นเศาะหาบะฮฺและอัส-สะลัฟ อัศ-สอลิหฺต่างก็มีมติเป็นเอกฉันท์ (อิจญ์มาอฺ) มานับแต่ต้นแล้วในการยอมรับถึงความเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) โดยชอบธรรม กล่าวคือนับตั้งแต่ปีที่ 35 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชซึ่งเป็นปีที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้รับการสัตยาบันในการเป็นเคาะลีฟะฮฺต่อจากท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.)

 

อัต-ตีญานียฺเขียนแบบเหมารวมในประโยคที่ว่าอะฮฺลิสสุนนะฮฺไม่เคยยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) นับจากสมัยท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) จนถึงสมัยของอิมาม อิบนุ หัมบัล (ร.ฮ.) ซึ่งเพิ่งจะยอมรับและนับว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺ อัร-รอซิดลำดับที่ 4 โดยอิมาม อิบนุ หัมบัล (ร.ฮ.) เป็นบุคคลแรกที่พูดถึงเรื่องนี้ แน่นอนท่านอะลี (ร.ฎ.) มิใช่เคาะลีฟะฮฺท่านแรกหลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่เป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 4 หลังจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) การที่อะฮฺลิสสุนนะฮฺไม่เคยยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เพราะว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ยังไม่ได้เป็นเคาะลีฟะฮฺในช่วงเวลานั้นตามประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริง

 

ส่วนที่ชีอะฮฺอิมามียะฮฺจะยอมรับและเชื่อมั่นว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นวะศียฺหรือเป็นอิมามท่านแรกหลังการวะฟาตฺของท่านรสูล ﷺ โดยตรง และกล่าวหาว่าท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ท่านอุมัร (ร.ฎ.) และท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺที่ไร้ความชอบธรรมนั้น นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งฝ่ายชีอะฮฺกล่าวอ้างและเชื่อเช่นนั้น ฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺเชื่อมั่น (อิอฺติกอด) ว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺต่อจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) โดยสมบูรณ์และชอบธรรมด้วยการให้สัตยาบันของบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งมุฮาญิรีนและอันศอรฺในปี ฮ.ศ. ที่ 35 โดยก่อนหน้านั้นท่านไม่ใช่เคาะลีฟะฮฺ แต่เป็นบุคคลสำคัญที่ให้สัตยาบันแก่เคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และอุมัร (ร.ฎ.) และเป็นหนึ่งใน “อะฮฺลุชชูรอ” 6 คนที่ท่านอุมัร (ร.ฎ.) เสนอชื่อเอาไว้ คือ อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ฏอลหะฮฺ อิบนุ อุบัยดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) อัซฺซุบัยรฺ อิบนุ อัล-เอาวาม (ร.ฎ.) สะอฺด์ อิบนุ อบี วักกอศ (ร.ฎ.) และอับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.)

(ดู อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุ กะษีรฺ 7/147)

 

 

และท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็คือที่ปรึกษาคนสำคัญของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ในหลายเหตุการณ์ที่สำคัญ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแก่ท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ (ร.ฎ.) ในกรณีการสู้รบกับตระกูลอับส์ และซุบยาน

(อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุ กะษีรฺ 6/354-355)

 

 

แน่นอนในช่วงเวลานั้นท่านอะลี (ร.ฎ.) ยังไม่ได้เป็นเคาะลีฟะฮฺ และเมื่อท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้รับการสัตยาบันจากเหล่าเศาะหาบะฮฺให้เป็นเคาะลีฟะฮฺต่อจากท่านอุมัร (ร.ฎ.) ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ให้สัตยาบันแก่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) โดยไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด

(ดู ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ เล่มที่ 4 หน้า 239, สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ เล่มที่ 2 หน้า 578-579)

 

 

ซึ่งแน่นอนท่านอะลี (ร.ฎ.) ในช่วงเวลาการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ท่านอะลี (ร.ฎ.) ยังไม่ได้เป็นเคาะลีฟะฮฺ และในขณะที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ถูกพวกกบฎปิดล้อม ท่านอะลี (ร.ฎ.) และบรรดามุฮาญิรีน-อันศอรจำนวนหนึ่งได้ฝ่าวงล้อมเข้าไปหาท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ภายในบ้านและเรียกขานท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ว่า “โอ้ ท่านอมีรุลมุอฺมินีน”

(อัล-มุหิบฺ อัฏ-เฏาะบะรียฺ “อัรฺ-ริยาฎ อัน-นัฎเราะฮฺ” เล่มที่ 3 หน้า 68)

 

 

และท่านอะลี (ร.ฎ.) คือผู้ที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ร้องเรียกหาเพื่อขอน้ำ เมื่อท่านอะลี (ร.ฎ.) รู้ จึงส่งน้ำบรรจุในหนังแกะ 3 ถุงไปให้ ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีบุคคลได้รับบาดเจ็บหลายคน

(ดู สิยัรฺ อัล-อะอฺลาม 2/612)

 

 

และเมื่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ทราบข่าวว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ถูกสังหาร ทั้งๆ ที่ท่าน อะลี (ร.ฎ.) ได้ส่งให้ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ไปคุ้มกันท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เร่งรุดไปที่บ้านของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และกล่าวว่า “เขาถูกสังหารได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่พวกท่านอยู่ที่ประตูบ้าน! ท่านอะลี (ร.ฎ.) ถึงขั้นตบหน้าท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และตบอกของท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) และกลับไปบ้านของท่านด้วยความโกรธ

(ตารีคอัล-คุละฟาอฺ หน้า 188)

 

 

ทั้งหมดย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ยอมรับในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) อย่างแน่นอน และท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ได้รับสัตยาบันในการเป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากนั้นไม่ใช่ก่อนหน้านั้นแต่อย่างใด ฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺต่างก็ยอมรับในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) เมื่อท่านได้รับสัตยาบันจากบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งมุฮาญิรีนและอันศอรฺนับตั้งแต่บัดนั้น มิใช่เพิ่งจะมายอมรับกันในสมัยของท่านอิมามอะหฺมัด อิบนุ หัมบัล (ร.ฮ.) อย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวตู่ในข้อเขียนของตน

 

 

2) มีปราชญ์ชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาก่อนอิมามอะหฺมัด อิบนุ หัมบัล (ร.ฮ.) ที่คำพูดของพวกเขายอมรับถึงความชอบธรรมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งมีทั้งคำพูดที่ชัดเจนและคำพูดที่มีนัยสำคัญแฝงอยู่ ณ ที่นี้เราจะขอกล่าวเป็นตัวอย่างเพื่อหักล้างคำกล่าวอันเป็นเท็จของอัต-ตีญาณียฺ ดังนี้

 

(1) อิมามอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 110) กล่าวว่า “ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอฮฺ การสัตยาบันของท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นไม่ปรากฏนอกเสียจากว่าเป็นเหมือนการสัตยาบันของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.)”

(มินฮาญุลกอศิดีน ฟี ฟัฎลิลคุละฟาอฺ อัรฺ-รอชิดีน ; หน้า 77)

 

 

(2) อิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (สียชีวิต ฮ.ศ. 150) กล่าวว่า : ไม่มีผู้ใดที่สู้รบกับท่านอะลี (ร.ฎ.) เพื่อทำให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) หวนกลับสู่ความถูกต้องนอกเสียจากว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) มีสิทธิสมควรต่อความถูกต้องมากกว่าบุคคลผู้นั้น และหากไม่มีท่านอะลี (ร.ฎ.) แล้วไซร้ บุคคลหนึ่งย่อมมิอาจรู้ได้ว่าวิถีในการสู้รบกับชาวมุสลิมนั้นมีวิธีเช่นไร! และอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฎ.) ยังกล่าวอีกว่า –หลังจากท่านได้ถูกถามถึงการสู้รบในสมรภูมิอูฐ- “ท่านอะลี (ร.ฎ.) ดำเนินการในหมู่ชนนั้นด้วยความยุติธรรม และท่านอะลี (ร.ฎ.) คือผู้ที่สอนให้ชาวมุสลิมได้รู้ถึงการสู้รบกับบรรดาผู้ที่ละเมิด (อะฮฺลุลบัฆยฺ) และไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าแท้จริงท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) และอัซฺซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ทั้งสองได้สู้รบกับท่านอะลี (ร.ฎ.) หลังจากที่บุคคลทั้งสองได้ให้สัตยาบันและเป็นพันธมิตรกับท่านอะลี (ร.ฎ.)

(มะนากิบ อบีหะนีฟะฮฺ ; อัล-มักกียฺ 2/344)

 

 

(3) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 204) กล่าวว่า : “ส่วนการอิจญ์มาอฺที่เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า อนุญาตให้สู้รบกับพวกเขา (พวกที่ละเมิด –อัลบุฆอตฺ-) นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำของอิมาม 2 ท่าน หนึ่ง : ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ในการสู้รบกับกลุ่มที่ปฏิเสธการจ่ายซากาต สอง : ท่าน อะลี (ร.ฎ.) ในการสู้รบกับผู้ที่ถอดการภักดีต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) (คือละเมิดสัตยาบันที่ให้ไว้ต่อเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.)) 

(อัล-หาวียฺ อัล-กะบีรฺ ; อัล-มาวัรฺดียฺ หน้า 57-66)

 

 

และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฎ.) ยังกล่าวอีกว่า :  พวกท่านจงรู้เถิดว่า แท้จริงอิมามที่ชอบธรรมหลังจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็คือ ท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) และการเป็นอิมามของท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นได้รับการยืนยันอย่างถูกต้องด้วยการสัตยาบันของชนรุ่นเศาะหาบะฮฺชั้นอาวุโสและความพึงพอใจของผู้ที่เหลืออยู่

(อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ใน อัล-ฟิกฮฺ อัล-อักบัรฺ อ้างจาก “มะนากิบ อัช-ชาฟิอียฺ” : อัร-รอซียฺ หน้า 125)

 

 

(4) มุอฺตะมิรฺ อิบนุ สุลัยมาน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 187) อัล-บะลาซุรียฺ รายงานจากมุอฺตะมินฺ อิบนุ สุลัยมาน ว่า “ฉันกล่าวกับบิดาของฉันว่า : แท้จริงผู้คนกล่าวกันว่า การสัตยาบันของท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นไม่สมบูรณ์ บิดาของฉันกล่าวว่า : ลูกเอ๋ย พลเมืองของอัล-หะเราะมัยนฺ (มักกะฮฺ-มะดีนะฮฺ) ได้ให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) อันที่จริงการสัตยาบันนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพลเมืองแห่งอัล-หะเราะมัยนฺ”

(อันสาบุลอัชร็อฟ ; อัล-บะลาซุรียฺ : เล่มที่ 2 หน้า 208)

 

 

(5) อิบนุ สะอฺด์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 231) ระบุถึงการรับสัตยาบันในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) จากบรรดาเศาะหาบะฮฺที่นครมะดีนะฮฺ

(อัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ ; อิบนุ สะอฺด์ เล่มที่ 3 หน้า 31) 

 

 

นี่คือตัวอย่างของปราชญ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺที่กล่าวยอมรับการสัตยาบันและความชอบธรรมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) และปราชญ์เหล่านี้ก็มีชีวิตอยู่ก่อนสมัย อิมามอะหฺมัด อิบนุ หัมบัล (ร.ฮ.) หรืออยู่ร่วมสมัยเดียวกัน

 

 

อับบาส อัด-ดูรียฺ รายงานจากท่านยะหฺยา อิบนุ มะอีน ว่า : “บุคคลที่ประเสริฐที่สุดของประชาคมนี้หลังจากท่านนบี ﷺ คือ อบูบักรฺและอุมัร ถัดมาคืออุษมาน ถัดมาคือ ท่านอะลี (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) (หมายถึงในด้านคุณงามความดีและการเป็นเคาะลีฟะฮฺ) นี่คือแนวทาง (มัซฮับ) ของเราและเป็นคำกล่าวของบรรดาอิมามของเรา”

(ตารีค อิบนุ อะสากิรฺ ; หน้า 517)

 

 

อิมามยะหฺยา อิบนุ มะดีน เสียชีวิตในปีฮ.ศ. 233 ท่านเป็นอิมามในด้านอัล-หะดีษ มีชีวิตอยู่ในแบกแดด และเสียชีวิตที่นครมะดีนะฮฺ คำกล่าวของอิมามยะหฺยา อิบนุ มะอีน (ร.ฮ.) ระบุอย่างชัดเจนถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในลำดับที่ 4 และยังระบุอย่างชัดเจนว่าการยอมรับในเรื่องนี้เป็นแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺและเป็นคำกล่าวของบรรดาอิมามในด้านอัล-หะดีษซึ่งเป็นคณาจารย์ของท่าน ส่วนอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) นั้นท่านเสียชีวิตในปีฮ.ศ. 241 คือหลังการเสียชีวิตของอิมามยะหฺยา (ร.ฮ.) ได้ 8 ปี 

 

 

อบูหาติมกล่าวว่า หัรฺมะละฮฺได้เล่าให้เราฟังว่า : ฉันเคยได้ยินอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : บรรดาเคาะลีฟะฮฺนั้นมี 5 ท่าน คือ อบูบักร์, อุมัรฺ, อุษมาน, อะลี และอุมัรฺ อิบนุ อับดิลอะซีซฺ

(สิยัรฺ อัล-อะอฺลาม ; เล่มที่ 8 หน้า 383)

 

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. ที่ 204 ในขณะที่อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ 241 คือหลังการเสียชีวิตของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้ 37 ปี คำกล่าวของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุอย่างชัดเจนว่าท่านยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในลำดับที่ 4 หลังจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ดังนั้น อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) จึงมิใช่บุคคลแรกที่กล่าวยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) และผนวกเข้ามาภายหลังท่านอุษมาน (ร.ฎ.) แต่เรื่องนี้มีมาก่อนแล้วนับแต่สมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺ บรรดาอัต-ตาบิอีน และชนรุ่นถัดมาก่อนสมัยของท่านอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.)

 

 

3) กรณีที่อิมามอะหฺมัด อิบนุ หัมบัล (ร.ฮ.) ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺโดยชอบธรรมของท่านอะลี (ร.ฎ.) และรายงานบรรดาตัวบทอัล-หะดีษที่ระบุถึงคุณงามความดีของท่านอะลี (ร.ฎ.) ตลอดจนปกป้องท่านอะลี (ร.ฎ.) จากการวิจารณ์หรือการจาบจ้วงท่านอะลี (ร.ฎ.) จนดูเหมือนว่าท่านเป็นปราชญ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺที่มีความโดดเด่นในเรื่องนี้ นั่นเป็นเพราะว่า อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) อยู่ในช่วงเวลาที่บรรดาอิมามรุ่นอาวุโสของอะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น แต่สุนนะฮฺแนวทางของบรรดาเศาะหาบะฮฺและชนรุ่นอัต-ตาบิอีนได้รับการถ่ายทอดและท่องจำตลอดจนการจดบันทึกนับตั้งแต่สมัยของอิมามมุฮัมมัด อิบนุ ชิฮาม อัซ-ซุฮฺรียฺ (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ. 124)

 

สิ่งที่อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ได้นำมาใช้อ้างเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันถึงแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺจึงมิใช่อื่นใดนอกเสียจากเป็นตัวบทของอัล-หะดีษและคำกล่าวของบรรดาเศาะหาบะฮฺและชนรุ่นก่อนหน้าท่าน ดังนั้น การยืนยันถึงความขอบธรรมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) และบรรดาคุณงามความดีของท่านอะลี (ร.ฎ.) ที่ท่านอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ได้นำมาใช้ในการชี้แจงและตอบโต้กลุ่มชนที่ไม่ใช่อะฮฺลุสสุนนะฮฺจึงมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นข้อมูลที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากเหล่านักปราชญ์แห่งอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺในสมัยก่อนหน้าท่านอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) จึงมิใช่เป็นบุคคลแรกที่กล่าวยอมรับถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.)

 

เช่นเดียวกับกรณีของอัล-กุรอานที่อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ยืนยันอย่างมั่นคงว่าเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างอย่างที่พวกมัวะฮฺตะซิละฮฺและกลุ่มอะฮฺลุลบิดอะฮฺอื่นๆ พยายามเผยแพร่ และบังคับผู้คนให้ยอมรับโดยอาศัยอิทธิพลของเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺเป็นเครื่องมือ อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) มิใช่บุคคลแรกที่ยืนยันสถานภาพของอัล-กุรอานว่าเป็นพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) หากแต่นั่นเป็นหลักความเชื่อของบรรดาอิมามในอะฮฺลิสสุนนะฮฺที่มีมาแต่เดิมแล้ว

(ดู มินฮาญุสสุนนะฮฺ ; อิบนุตัยมียะฮฺ 2/482, 483, 486)

 

 

บรรดาอิมามผู้เป็นปราชญ์ของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺมีเป็นจำนวนมากในหัวเมืองสำคัญของโลกอิสลาม และบุคคลเหล่านี้มีกิติตศัพท์ในการรักษาและถ่ายทอดแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺ

(ดู กาชิฟุล ฆุมมะฮฺ ฟี อิอฺติกอด อะฮฺลิสสุนนะฮฺ หน้าที่ 1 เป็นต้นไป)

 

 

และคราใดที่มีกลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺปรากฏขึ้น บรรดานักปราชญ์เหล่านี้ก็จะเผชิญหน้ากับกลุ่มอะฮฺลุลบิดอะฮฺ ด้วยการตีแผ่ตัวบทหลักฐานจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ ตลอดจนแนวทางของเหล่าเศาะหาบะฮฺและบรรดาอัต-ตาบิอีนเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนร่วมสมัย ดังกรณีของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ที่ท่านอยู่ในสมัยของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ (ญะอฺฟัรฺ อิบนุ อัล-มุอฺตะศิม) –ฮ.ศ. 206-247- ซึ่งมีความคิดแบบพวกอัน-นะวาศิบที่เป็นปรปักษ์กับท่านอะลี (ร.ฎ.) และอะฮฺลุลบัยตฺที่เป็นลูกหลานของท่านอะลี (ร.ฎ.)

(ดู อิบนุ หัมบัล ; อิมามมุฮัมมัด อบูซะฮฺเราะฮฺ ; หน้า 136)

 

 

เหตุนี้ อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) จึงตอบโต้ความคิดของพวกอัน-นะวาศิบด้วยการรายงานตัวบทหลักฐานจากอัล-หะดีษที่นักปราชญ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺถ่ายทอดเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว มิใช่ว่าท่านเป็นผู้กระทำอุตริหรือกุอัล-หะดีษที่เกี่ยวกับความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) ขึ้นมาแต่อย่างใด

 

กรณีของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) จึงไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่อุษมาน อิบนุ ศอลิหฺ ได้เล่าว่า : พลเมืองอียิปต์เคยตำหนิท่านอุษมาน (ร.ฎ.) จนกระทั่งอิมามอัล-ลัยษฺ อิบนุ สะอฺด์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 175) ได้เติบใหญ่ในหมู่พวกเขา อิมามอัล-ลัยษฺ (ร.ฮ.) จึงเล่าอัล-หะดีษที่รายงานถึงความประเสริฐของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) แก่พลเมืองอียิปต์ พวกเขาจึงยุติการกล่าวจาบจ้วงท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และพลเมืองหิมศ์ (ในซีเรีย) เคยกล่าวจาบจ้วงท่านอะลี (ร.ฎ.) จนกระทั่งอิมามอิสมาอีล อิบนุ อัยย๊าชฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 181, 182) ได้เติบใหญ่ในหมู่พวกเขา อิมามอิสมาอีล (ร.ฮ.) จึงได้เล่าอัล-หะดีษที่รายงานถึงความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) แก่พลเมืองหิมศ์ พวกเขาจึงยุติจากสิ่งดังลก่าว

(ดู สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ ; อัซ-ซะฮะบียฺ เล่มที่ 7 หน้า 446, 559)

 

 

ซึ่งกรณีนี้เรายังพบอีกด้วยว่า อิมามอิสมาอีล  อิบนุ อัยย๊าชฺ (ร.ฮ.) ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนหน้าอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ได้กระทำหน้าที่ในการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสถานภาพของท่านอะลี (ร.ฎ.) มาก่อนแล้วหลายทศวรรษ

 

 

4) ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่ว่า “ถูกต้อง อะหฺมัด อิบนุ หัมบัล คือบุคคลแรกที่กล่าวถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี แต่ทว่านักวิชาการอัล-หะดีษก็ไม่เคยยอมรับมัน เหมือนอย่างที่เราได้กล่าวมาก่อนแล้ว เนื่องจากพวกเขาถือตามอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร” (อัช-ชีอะฮฺฮุม อะฮฺลุสสุนนะฮฺ หน้า 48-49)

 

ข้อเท็จจริง ของดัต-ตีญานียฺที่อ้างว่าอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) คือบุคคลแรกที่กล่าวถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) เราได้หักล้างมาแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีที่อัต-ติญานียฺ อ้างว่าบรรดานักวิชาการหะดีษถือตามหะดีษของท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ที่กล่าวถึงความประเสริฐของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) อุมัรฺ (ร.ฎ.) และอุษมาน (ร.ฎ.) เท่านั้น และอิมามอะหฺมัด (ร.ฎ.) ก็มาสามารถชักจูงนักหะดีษให้เชื่อได้ว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) สมควรได้รับการยอมรับให้เป็นเคาะลีฟะฮฺคนที่ 4

(ดู ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง แปลโดย อับดุลลออฺ บินกอเซ็ม หน้า 83)  

 

 

โดยอัต-ตีญานียฺได้อ้างข้อมูลจาก “เฏาะบะกอต อัล-หะนาบิละฮฺ” เล่มที่ 1 หน้า 292 ซึ่งอ้างว่ามีสายสืบจากวะดีซะฮฺ อัล-หิมศิยฺที่เล่าว่าตนเข้าไปโต้เถียงกับอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ในเรื่องนี้ โดยใช้หะดีษของท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) เป็นข้อมูลในการโต้เถียง

(ดู อ้างแล้ว หน้า 80-81)

 

 

อัต-ติญานียฺมองข้ามเหตุผลของอิมามอะหฺมัด (ร.ฎ.) ที่หักล้างคำพูดของอัล-หิมศียฺ แต่กลับใช้ความคิดของตนในการตั้งข้อสังเกตุและอ้างว่า ผู้รายงานเรื่องนี้ (คือ อัล-หิมศียฺ) เป็นหัวหน้าของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ และเป็นปากเสียงของพวกเขา (อ้างแล้ว หน้า 81) ใครเล่าคือ วะดีซะฮฺ อัล-หิมศียฺที่เล่าว่าตนเข้าไปโต้เถียงกับอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.)  และบุคคลผู้นี้เป็นหัวหน้าของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ และเป็นปากเสียงแทนนักวิชาการอัล-หะดีษของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺตั้งแต่เมื่อใด?

 

 

อัล-หิมศียฺผู้นี้แทบจะไม่มีผู้ใดรู้จักและไม่มีปรากฏความเป็นนักวิชาการอัล-หะดีษหรือความเป็นนักปราชญ์ในภาควิชาใดเลย ไม่มีประวัติในตำรับตำราที่ระบุถึงนักรายงานอัล-หะดีษ หรือหากจะมีก็คงเทียบไม่ได้กับสถานภาพของอิมามอะหฺมัด (ร.ฎ.) ซึ่งน่าจะเป็นหัวหน้า (อิมาม) ของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ และเป็นเป็นปากเสียงแทนนักวิชาการในฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺมากกว่า ซึ่งท่านอิมามอะหฺมัด (ร.ฎ.) ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพียงแต่ในความคิดที่อัต-ตีญานียฺแสดงเอาไว้เป็นเรื่องของการเจือสม และกล่าวอ้างแบบเกินจริงก็เท่านั้น คือแทนที่จะเห็นเหตุผลของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนดั่งแสงตะวัน แต่กลับไปให้ความสำคัญกับคำพูดของอัล-หิมศียฺและสร้างภาพให้อัล-หิมศียฺซึ่งเป็นคนๆ เดียวว่าหมายถึงนักวิชาการอัล-หะดีษของอะฮฺลิสสุนนะฮฺทั้งหมด