4.อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ตกเป็นจำเลย

อัต-ตีญานียฺอ้างหะดีษของท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ที่ถูกบันทึกในเศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺ ว่า “ในระหว่างช่วงชีวิตของท่านนบี ﷺ เราไม่เคยรู้จักใครเลยที่จะมีความเท่าเทียมกันกับท่านอบูบักรฺ จากนั้นอุมัรฺ จากนั้นอุษมาน โดยทิ้งบรรดาสาวกคนอื่นๆ ของท่านนบี ﷺ ไว้อย่างไม่อาจนำมาเปรียบกันได้เลย” (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง ; ฉบับแปลภาษาไทย หน้า 82)

  

และอ้างว่า “หรือจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ เขาผู้นั้นเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เหินห่างจากท่านอะลี และปฏิเสธการให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) หลังจากที่ผู้คนต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ถึงสิ่งดังกล่าว เขาได้เล่าอัล-หะดีษที่ว่า แท้จริงบุคคลที่ประเสริฐที่สุดหลังจากท่านนบี ﷺ คือ อบูบักรฺ ถัดมาคือ อุมัรฺ ถัดมาคือ อุษมาน หลังจากนั้นก็ไม่มีใครประเสริฐกว่าใครอีก ผู้คนหลังจากนั้นเสมอกัน อัล-หะดีษบทนี้ย่อมมีความหมายว่า อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ ได้ทำให้อิมาอะลีเป็นส่วนหนึ่งจากคนธรรมดาทั่วไปไม่มีความประเสริฐอันใดสำหรับท่านอะลี

 

ดังนั้น อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ จะเทียบได้อย่างไรกับบรรดาข้อเท็จจริงที่บรรดานักปราชญ์ผู้มีนามอุโฆษและบรรดาอิมามของประชาคมได้กล่าวเอาไว้ว่า ไม่มีการรายงานในเศาะหาบะฮฺท่านใดด้วยสายสืบที่ดีเหมือนอย่างที่รายงานมาในเรื่องของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) อับดุลลออฮฺ อิบนุ อุมัรฺ ไม่เคยได้ยินถึงความประเสริฐของท่านอะลีแม้เพียงประการเดียวเลยกระนั้นหรือ หาเป็นเช่นนั้นไม่ สาบานต่ออัลลอฮฺได้ว่า เขาเคยได้ยินและตระหนัก แต่ว่าการเมือง อะไรคือสิ่งที่ทำให้ท่านรู้ว่าอะไรคือการเมือง การเมืองก็คือการสับเปลี่ยนข้อเท็จจริงและทำสิ่งที่น่าฉงนให้เกิดขึ้น” (ษุมมะฮฺ ตะดัยตุ หน้า 168)

 

เรื่องจริงเกี่ยวกับท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.)

1) อับบาส อัล-กุมมียฺ นักหะดีษของกลุ่มอิมามียะฮฺ กล่าวถึง อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า : อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ สาวกที่เป็นที่ทราบกันดี อิบนุ อับดิลบัรฺ กล่าวไว้ในอัล-อิสตีอาบว่า ท่านอับดุลลอฮฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้มีความสำรวมจากบาป (วะเราะฮฺ) มีความรู้ ท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามร่องรอยของท่านนบี ﷺ มีความเคร่งครัดในการเลือกเฟ้นและการเผื่อเอาไว้ มีความระมัดระวังในการฟัตวาของท่านและทุกสิ่งที่ท่านยึดถือเป็นการส่วนตัวหลังการเสียชีวิตของท่านนบี ﷺ อับดุลลออฺมีความหลงใหลต่อการทำหัจญ์ และท่านรสูลุลลอฮฺ ﷺ เคยกล่าวแก่ภรรยาของท่านคือ หัฟเศาะฮฺ บินตุ อุมัรฺ ว่า พี่น้องของเธอ อับดุลลอฮฺนั่นเป็นคนดี ถ้าหากว่าเขาจะรักษาการละหมาดในยามค่ำคืนอิบนุ อุมัรฺ จึงไม่เคยทิ้งการละหมาดในยามค่ำคืนอีกเลย” (อัล-กุนา วัล อัล-กอบ ; อัล-กุมมียฺ เล่มที่ 1 หน้า 363 สำนักพิมพ์ อัศ-ศอดร์ เตหะราน)

 

อิมาม อิบนุ บาบะวัยฮฺ อัล-กุมมียฺ อ้างการรายงานหะดีษของอิบนุ อุมัรฺ จำนวนหลายรายงานด้วยกันในตำรา “อัล-คิศอล” ของท่าน (หน้า 29, 31, 67, 72, 163, 184, 191) โดยยอมรับท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) และผู้ตรวจทานหนังสือ “อัล-คิศอล” ก็ยอมรับเช่นกัน นี่คือสถานภาพของอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ที่นักวิชาการของฝ่ายอิมามียะฮฺเองก็ยอมรับ แต่อัต-ตีญานียฺไม่ได้มองเช่นนั้น

 

 

2) เพียงแค่การรายงานอัล-หะดีษบทนี้ของอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) อัต-ตีญานียฺก็ด่วนสรุปเสียแล้วว่าอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) มีเป้าหมายและเจตนาจาบจ้วงท่านอะลี (ร.ฎ.) ส่วนอัต-ตีญานียฺมีเจตนา บริสุทธิ์และไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝงในเรื่องนี้ แต่อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) กลายเป็นจำเลยเพียงแค่การรายงานหะดีษบทนี้โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จาบจ้วงท่านอะลี (ร.ฎ.) และกุหะดีษว่าด้วยความประเสริฐของเคาะลีฟะฮฺทั้งสาม นี่คืออคติของอัต-ติญานียฺ เพราะความจริงท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น หากอัต-ติญานียฺจะรอบคอบและอ้างนัยอัล-หะดีษบทนี้ให้จบเรื่องก็คงไม่พลาด แต่อัต-ตีญานียฺตัดใจความสำคัญของอัล-หะดีษออกไป

 

นัยที่ว่าปรากฏตามที่อิบนุ อะสากิรฺ รายงานไว้จากอับดุลลอฮฺ อิบนุ ยะสารฺ จากสาลิม จากอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริง พวกท่านย่อมรู้ดีว่า พวกเรา (เหล่าเศาะหาบะฮฺ) เคยพูดกันในสมัยของท่านรสูล ﷺ ว่า อบูบักรฺ, อุมัร และอุษมาน หมายถึงในการเป็นเคาะลีฟะฮฺ” ความประเสริฐที่อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ระบุในอัล-หะดีษจึงหมายถึงเรื่องการเป็นเคาลีฟะฮฺตามที่เศาะหาบะฮฺเคยพูดกันในครั้งที่ท่านนบี ﷺ ยังมีชีวิตอยู่ และอีกกระแสรายงานหนึ่งจากอุบัยดิลลาฮฺ จากนาฟิอฺ จากอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า ; พวกเราเคยกล่าวกันในสมัยของท่านรสูล ﷺ ว่า : ผู้ใดที่เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเรื่องนี้? (คือเรื่องการเป็นเคาะลีฟะฮฺ) พวกเราจึงกล่าวว่า : อบูบักรฺ, แล้วก็อุมัรฺ” (ฟัตหุลบารียฺ เล่มที่ 7 หน้า 21)

 

หาไม่แล้วกรณีที่อัต-ตีญานียฺกล่าวตู่ว่าอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่เคยยอมรับความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) เลยนั้น แล้วเหตุใดท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) จึงรายงานจากท่านนบี ﷺ ว่า : อัล-หะสัน และอัล-หุสัยนฺคือนายทั้งสองของคนหนุ่มแห่งสวนสวรรค์และบิดาของทั้งสองนั้น (หมายถึงท่าน อะลี (ร.ฎ.)) ดีกว่าบุคคลทั้งสอง  (สุนัน อิบนุมาญะฮฺ บท บรรดาความประเสริฐของเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล ﷺ เลขที่ 118)

 

นอกจากนี้อัล-บุคอรียฺได้รายงานจากสะอฺด์ อิบนุ อุบัยดะฮฺว่า “มีชายคนหนึ่งมาหาอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) แล้วถามอิบนุ อุมัรฺถึงท่านอุษมาน (ร.ฎ.) อิบนุ อุมัร จึงกล่าวถึงคุณงามความดีของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และกล่าวว่า : ดูเหมือนว่าสิ่งนั้นจะทำให้ท่านไม่สบายใจ? ชายผู้นั้นกล่าวว่า ใช่! อิบนุ อุมัร กล่าวว่า : ขออัลลอฮฺให้ท่านมีแต่ความต่ำต้อย!

 

ต่อมาเขาก็ถามถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) ท่านอิบนุ อุมัรฺจึงกล่าวถึงคุณงามความดีของท่านอะลี (ร.ฎ.) และกล่าวว่า : นั่นคือบ้านของท่านอะลี เป็นบ้านที่งดงามที่สุดในบรรดาบ้านของท่านรสูล ﷺ แล้วอิบนุ อุมัรฺก็กล่าวว่า : ดูเหมือนสิ่งนั้นจะทำให้ท่านไม่สบายใจ ชายผู้นั้นกล่าวว่า ใช่ อิบนุ อุมัรฺจึงกล่าวว่า : ขอให้อัลลอฮฺให้ท่านมีแต่ความต่ำต้อย จงออกไปเสียเถิด…”  (เศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺ กิตาบ อัล-ฟะฎออิล บาบ ฟะฏออิลอะลี หะดีษ เลขที่ 3501)

 

ในอีกริวายะฮฺของอะฏออฺระบุว่า : ชายผู้นั้นกล่าวว่า ฉันรังเกียจเขา (หมายถึงอะลี) อิบนุ อุมัรฺ จึงกล่าวว่า : ขอให้อัลลอฮฺทรงรังเกียจท่าน (ฟัตหุลบารียฺ เล่มที่ 7 หน้า 91) สิ่งที่มีรายงานมานี้บ่งชี้ว่าท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่เคยยอมรับคุณงามความดีของท่านอะลี (ร.ฎ.) เลยกระนั้นหรือ? อัต-ตีญานียฺมองด้วยตาเพียงข้างเดียวจริงๆ

 

 

3) อัต-ตีญานียฺอ้างหะดีษของอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) จากเศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 202  โดยเพิ่มเติมประโยคที่ว่า “ต่อมาก็ไม่มีความประเสริฐเหนือกว่ากัน (และผู้คนหลังจากนั้นเสมอกัน) (ษุมมะฮฺตะดัยตุ หน้า 168)  

 

อัต-ตีญานียฺเพิ่มเติมประโยคในวงเล็บ แล้วก็กล่าวหาอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ว่า อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) มีความเห็นว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) กับผู้คนทั่วไปตามท้องตลาดมีความเสมอกัน ท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่มีความประเสริฐใดๆ ความจริงก็คือ อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) มิได้กล่าวข้อความที่ถูกเพิ่มเติมนี้แต่อย่างใด และอัล-บุคอรียฺได้รายงานคำกล่าวนี้จากอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) จาก 2 กระแสรายงานด้วยกันคือ

 

(1) จากยะหฺยา อิบนุ สะอีด จากนาฟิอฺ จากอิบนุ อุมัรฺ ว่า : พวกเราเคยเลือกระหว่างผู้คนในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เราจึงเลือกอบูบักรฺ ต่อมาก็อุมัรฺ ต่อมาก็อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (เราะฎิยัลฮุอันฮุม) (ฟัตหุลบารียฺ 7/16 หะดีษ (3655))

 

(2) จากอุบัยดิลลาฮฺ อิบนุ อุมัร จากนาฟิอฺ จากอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ว่า : พวกเราเคยกล่าวกันโดยที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่ว่า ผู้ที่ประเสริฐที่สุดในประชาคมของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หลังจากท่าน คือ อบูบักรฺ ถัดมาคือ อุมัรฺ ถัดมาคือ อุษมาน (สุนัน อบีดาวูด (กิตาบอัส-สุนนะฮฺ บาบ ฟี อัต-ตัฟฎีล) 5/26 หะดีษเลขที่ (3628))

 

ทั้ง 2 กระแสรายงานไม่มีประโยคที่อัต-ตีญานียฺเพิ่มเติมในข้อเขียนของตน และอัต-ตีญานียฺก็ไม่ได้อ้างที่มาของสำนวนที่เพิ่มเติมนั้น และในคำกล่าวของอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ที่ว่า “เราไม่ถือว่าผู้ใดประเสริฐกว่ากันในระหว่างพวกเขา” ท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ละทิ้งการมุฟาเฎาะละฮฺ (คือการเทียบว่าผู้ใดประเสริฐกว่ากันในระหว่างเศาะหาบะฮฺหลังจากเศาะหาบะฮฺทั้ง 3 ท่าน

 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) เชื่อว่าในหมู่เศาะหาบะฮฺที่เหลือมีความประเสริฐเท่ากัน ท่านไม่ได้ว่าอย่างนั้น เพราะย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) จะเชื่อว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) มีสถานภาพเหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีความประเสริฐ ไม่มีสถานภาพความเป็นเศาะหาบะฮฺใดๆ เลย หะดีษที่ท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) รายงานถึงความปะเสริฐของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) ท่านอัล-หุสัยนฺ และท่านอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งเราได้กล่าวถึงมาก่อนนี้ย่อมเป็นสักขีพยานในประเด็นดังนี้

 

ดังนั้นสิ่งที่ท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) มุ่งหมายเป็นเพียงการเล่าถึงสิ่งที่พูดกันในสมัยที่ท่านนบี ﷺ ยังมีชีวิตอยู่ และความอาวุโสของท่านอบูบักรฺ, อุมัร และอุษมานในการที่ท่านนบี ﷺ มักจะหารือด้วยในเรื่องต่างๆ นั้นก็เป็นที่ทราบกัน และท่านอะลี (ร.ฎ.) ในเวลานั้นยังเป็นคนรุ่นหนุ่ม นอกเหนือจากประเด็นที่ว่า ความประเสริฐของบุคคลทั้งสามเป็นเรื่องของการมีความเหมาะสมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺต่อจากท่านนบี ﷺ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และการเป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 4 ของท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการจากไปของท่านนบี ﷺ ถึง 35 ปี

 

 

4) อัล-กุลัยนียฺ ถ่ายทอดรายงานจากอิมาม มุฮัมมัด อัล-บากิรฺ (ร.ฎ.) ว่า  : “แท้จริง อิมามอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้เรียกร้องให้แก่ตัวท่านเอง ท่านได้รับรองกลุ่มชน (หมายถึง เหล่าเศาะหาบะฮฺ) บนสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ (คือการสัตยาบันแก่เคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 ท่าน) และท่านก็ปิดเรื่องของท่านเอาไว้” (เราวฺเฎาะฮฺ อัล-กาฟียฺ ; อัล-กุลัยนียฺ หน้า 246)

 

และเมื่อท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ถูกสังหาร บรรดามุฮาญิรีนและอันศ็อรได้มายังท่านอะลี (ร.ฎ.) เพื่อร้องขอให้ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวกับพวกเขาว่า : “พวกท่านจงปล่อยฉันไว้เถิด และจงไปหาผู้อื่นนอกจากฉัน พวกท่านจงรู้เถิดว่า แท้จริงฉันนี้ หากฉันตอบรับพวกท่าน ฉันก็ได้ขี่ไปพร้อมกับพวกท่านตามที่ฉันรู้ และหากพวกท่านปล่อยฉันไว้ ฉันก็เหมือนคนหนึ่งในหมู่พวกท่าน และฉันหวังว่าฉันจะเป็นผู้ที่เชื่อฟังและภักดีที่สุดของพวกท่านต่อบุคคลที่พวกท่านได้มอบให้ผู้นั้นดูแลการกิจของพวกท่าน และฉันเป็นผู้ช่วย (วะซีรฺ) สำหรับพวกท่านนั้นย่อมดีกว่าสำหรับพวกท่านในการที่ฉันจะเป็นผู้นำ” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ หมวดบรรดาคุฏบะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) 1/182-183)

 

และท่านอะลี (ร.ฎ.) ยังได้กล่าวอีกว่า : “สิ่งจำเป็นในข้อชี้ขาดของอัลลอฮฺและข้อชี้ขาดของอิสลามที่เป็นหน้าที่เหนือชาวมุสลิมภายหลังการที่ผู้นำของพวกเขาเสียชีวิตลงหรือถูกสังหาร ก็คือการที่พวกเขาจะต้องดำเนินการปฏิบัติตาม และไม่กระทำสิ่งที่เป็นอุตริกรรม ไม่ยื่นมือหรือเท้าและไม่เริ่มกระทำสิ่งใดก่อนการที่พวกเขาจะเลือกผู้นำที่โปร่งใส มีความรู้ สำรวมตน รู้ถึงการตัดสินและสุนนะฮฺให้แก่ตัวของพวกเขาเสียก่อน” (กิตาบ สะลีม อิบนุ กอยส์ อัล-ฮิลาลียฺ หน้า 182, บิหารุ้ลอันวารฺ ; อัล-มัจญ์ลิสียฺ เล่มที่ 8 หน้า 555) 

 

ดังนั้น การเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) และท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ตลอดจนท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นสิ่งที่ผูกพันอยู่กับการเลือกผู้นำ และการให้สัตยาบันแก่ผู้นำที่ถูกเลือก เมื่อเหล่าเศาะหาบะฮฺได้เลือกบุคคลทั้งสามเป็นเคาะลีฟะฮฺ ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็รับรองและไม่ปฏิเสธ ซึ่งในตอนนั้นท่านอะลี (ร.ฎ.) ยังไม่ได้เป็นเคาะลีฟะฮฺ

 

และอัล-หะดีษที่อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) รายงานเกี่ยวกับบุคคลทั้งสามนั้นก็เป็นสิ่งบรรดาเศาะหาบะฮฺพูดกันในขณะที่ท่านนบี ﷺ  ยังมีชีวิตอยู่ และการพูดถึงเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงในเวลานั้น ต่อเมื่อท่านรสูล ﷺ ได้วะฟาตเรื่องที่เคยพูดถึงกันนั้นก็เกิดขึ้นจริงตามลำดับ จนกระทั่งท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ถูกลอบสังหาร ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงได้รับสัตยาบันให้เป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับต่อมา ซึ่งประเด็นนี้ในตำราชีอะฮฺก็ระบุเอาไว้ว่า : “แท้จริง การเป็นผู้นำ (อิมามะฮฺ) ของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) เป็นที่ยืนยันแน่นอนในช่วงเวลาที่ท่านเรียกร้องผู้คนและแสดงเรื่องราวของท่านให้เป็นที่ปรากฏ” (ฟิรอก อัช-ชีอะฮฺ; อัน-นูบัคตียฺ หน้า 54)

 

เมื่อการเป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 4 ของท่านอะลี (ร.ฎ.) คือความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. ที่ 35 ก็ย่อมไม่เหตุอันใดในการที่ชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺจะต้องปฏิเสธความจริงในเรื่องนี้โดยปล่อยให้ล่วงเลยมาถึงสมัยของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) อย่างที่อัต-ตีญานียฺเจือสมในข้อเขียนของตน

 

แน่นอนคำกล่าวที่ว่า อะฮฺลิสสุนนะฮฺไม่เคยยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความประเสริฐและกิติศัพท์) ของท่านอะลี (ร.ฎ.) นับตั้งแต่สมัยท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) จนถึงก่อนปีฮ.ศ. ที่ 35 อันเป็นปีที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ถูกสังหารย่อมเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิด เพราะในช่วงเวลานั้นท่านอะลี (ร.ฎ.) ยังไม่ได้เป็นเคาะลีฟะฮฺนั่นเอง ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ในกรณีที่ว่า อะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺไม่ยอมรับสถานสภาพการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) หลังจากปี ฮ.ศ.ที่ 35 เพราะเราได้หักล้างคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺไปแล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าทำไมอัต-ตีญานีย์ต้องลากช่วงเวลาย้อนกลับไปถึงสมัยท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) นั่นต่างหาก

 

คำตอบก็คงหนีไม่พ้นหลักความเชื่อของชีอะฮฺอิมามียะฮฺและอัต-ตีญานียฺที่ว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) คือ วะศียฺ หรือผู้สืบทอดตำแหน่งอิมามะฮฺโดยตรงเป็นท่านแรกหลังจากท่านรสูล ﷺ โดยบุคคลทั้ง 3 คือ ท่านอบูบักรฺ, อุมัร และอุษมาน (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมในเรื่องนี้ ความจริงก็คือ ในขณะที่อะฮฺลิสสุนนะฮฺถูกอัต-ตีญานียฺกล่าวหาว่าไม่ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺในลำดับที่ 4 ของท่านอะลี (ร.ฎ.) และเพิ่งจะมายอมรับในสมัยของอิมามอะหฺมัด (ร.ฎ.) แต่ชีอะฮฺอิมามียะฮฺและอัต-ตีญานียฺต่างหากเล่าที่ไม่เคยยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของบุคคลทั้งสามจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ตำราของฝ่ายชีอะฮฺเองก็ระบุว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) ให้การยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของบุคคลทั้งสาม

 

และในขณะที่อะฮฺลิสสุนนะฮฺถูกอัต-ตีญานียฺยัดเยียดข้อหาว่า อะฮฺลิสสุนนะฮฺบางส่วนไม่ถือว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นมุสลิม! (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง ฉบับแปลภาษาไทย หน้า 78) และด่าทอบริภาษท่านอะลี (ร.ฎ.) บนมิมบัรฺ! (ซึ่งเรื่องนี้จะได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงต่อไปเบื้องหน้า) และการด่าทอสาปแช่งท่านอะลี (ร.ฎ.) บนมิมบัรฺถูกกระทำตลอดระยะเวลา 80 ปี (อ้างแล้ว หน้า 79)

 

หากข้อกล่าวหาที่อัต-ตีญานียฺยัดเยียดให้แก่ฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺเป็นเรื่องจริง ระยะเวลา 80 ปีแห่งการด่าทอบริภาษนั้นก็สิ้นสุดไปนานแล้ว แต่การที่ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺ และผู้ที่ได้รับทางนำอย่างอัต-ตีญานียฺได้กระทำต่อบุคคลทั้งสามและเหล่าเศาะหาบะฮฺด้วยการกล่าวหาว่าตกศาสนา บิดเบือนหลักคำสอนและเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอก ฯลฯ ทั้งหมดคือสิ่งที่ยังคงมีอยู่ตราบจนทุกวันนี้ และหลักฐานที่บ่งชี้ว่าชีอะฮฺอิมามียะฮฺไม่เคยยอมรับถึงคุณงามความดีของเหล่าเศาะหาบะฮฺ (ยกเว้นบางคนที่พวกเขาละเอาไว้) และบุคคลทั้งสามเลยแม้แต่น้อยก็คือบรรดาหนังสือที่อัต-ตีญานียฺเขียนขึ้นมานั่นเอง