ตำนานมอระกู่ (บาระกู่)

        บรรดาสิงห์อมควันและคอยาสูบคงจะรู้จักเครื่องสูบชนิดหนึ่งที่เรียกว่า บาระกู่ ซึ่งนิยมเรียกกันติดปาก แต่ตามพจนานุกรมฯ เรียกว่า มอระกู่ (บ้างก็เขียนว่า หม้อระกู่) หมายถึง หม้อยาสูบของชาวอาหรับ เป็นคำในภาษาชะวา (ชวา, ยะหวา) ออกเสียงว่า (“เมอโรโก๊ะ” (merokok) ซึ่งหมายถึง สูบบุหรี่นั้นเอง จากเมอโรโก๊ะก็พี้ยนมาเป็น มอระกู่ หรือ หม้อระกู่ และเป็นบาระกู่ในที่สุด ในภาษาเปอร์เซียเรียกว่า ชีชะฮฺ หรือ ชีช่าฮฺ (شِيْشَة Hubble-bubble) บางทีก็เรียกว่า อัรฆีละห์ , อัรฺญีละห์ หรือ นัรญีละห์ (nardhile) มีภาพจากหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ ปรากฏเครื่องสูบมอระกู่ที่แขกมัวร์นำเข้ามาใช้ที่อยุธยาราวรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3) -พ.ศ.2199-2231/คศ.1656-1688-

        คำว่าแขกมัวร์ในสมัยอยุธยามักใช้ปะปนกันระหว่างชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียหรืออินเดีย หรือแม้กระทั่งตุรกี (เติร์ก) ซึ่งบรรดาแขกเหล่านี้นิยมสูบมอระกู่ด้วยกันทั้งสิ้น มิใช่ชาติอาหรับภาษาเพียงกลุ่มเดียว ดังจะเห็นได้จากภาษาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีทั้งชวา เปอร์เซีย และอาหรับ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ชาวชวาที่เป็นเจ้าของชื่อมอระกู่ นั้นรู้จักกับเครื่องยาสูบชนิดนี้มาจากชาวเปอร์เซียและอาหรับก่อนที่จะเข้ามาสู่อยุธยาในเวลาต่อมา

        ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีคณะทูตชาวอิหร่านซึ่งกษัตริย์สุลัยมานแห่งวงศ์วานเศาะฟะวียะห์ (ค.ศ.1666-1694) แต่งมาเจริญสัมพันธไมตรีตอบสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่ได้ทรงราชทูตสยามไปยังกรุงเปอร์เซียก่อน ในบันทึกของอาลักษณ์ประจำคณะราชทูตอิหร่าน ชื่อ อิบนุ มุฮัมมัด อิบรอฮีม ได้ระบุว่า

        “…วันนั้นมีการเลี้ยงต้อนรับพวกเรา เมื่อเราเข้าไปในพระราชวัง ก็เห็นมีหมอนอิงเล็กใหญ่วางเรียงรายไว้ต้อนรับพวกเรา ท่านอิบรอฮีม เบก ได้สูบ ً”มอระกู่” เงิน เขาอบห้องให้หอมด้วย…” แสดงว่าชาวอิหร่าน (เปอร์เซีย) ก็นิยมสูบมอระกู่ไม่แพ้ชาวอาหรับเลยทีเดียว เพราะเครื่องสูบมอระกู่ในยุคนั้นก็คงต้องอิมพอร์ตมาจากดินแดนในตะวันออกกลางนั่นเอง แถมโลหะที่ทำเครื่องสูบยังเป็น “เงิน” อีกเสียด้วย

        ตัวยาสูบ หรือ ยามอระกู่ (บาระกู่) นั้นก็มีส่วนผสมจากใบยาสูบที่ฉีกเป็นเส้น คลุกเคล้าด้วยน้ำผึ้ง และอาจเติมแต่งกลิ่นหรือรสของผลไม้ที่นิยมกันก็เห็นจะเป็นแอปเปิ้ล และถ้าเป็นคอบาระกู่ที่คอถึงๆ ก็อาจจะชอบและติดใจเนื้อยาที่ผสมจากอินทผลัม ซึ่งค่อนข้างฉุนและแรงสักหน่อย

        สรุปได้ว่า มอระกู่ หรือ บาระกู่ ที่เริ่มฮือฮากันในหมู่วัยรุ่นมุสลิมจนมีการหารายได้ด้วยการเปิดซุ้มบาระกู่ กันตามงานมัสยิด (สุเหร่า) กันอย่างเป็นล่ำเป็นสำนั้น ตามประวัติศาสตร์มีมาตั้งแต่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน้นแล้ว ยาซิกกาแรต หรือบุหรี่แบบฝรั่ง (อเมริกัน) นั้นเพิ่งมามีตอนหลัง ที่เห็นจะเทียบอายุอานามความเก่าแก่กับยามอระกู่ได้ก็จะเห็นจะเป็นใบจากกับยาสูบ หรือไม่ก็ใบตองแห้งที่เรียกว่า ยามวน นั่นแหละ อย่างไรเสียการสูบบุหรี่หรือมอระกู่นั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพนะจ้ะ บันยะบันยังกันหน่อยก็ดี ที่เตือนน่ะ หวังดีและรู้ซึ้งรสชาดของบาระกู่ยิ่งนัก (ฮิๆ)

 


ที่มา

  • กอมูซ อิดรีส อัลมัรบะวีย์ (อาหรับ-มลายู)
  • บทสนทนาภาษามาเลเซียพื้นฐาน มุฮัมมัด คอลดุนฯ
  • สำเภากษัตริย์ สุลัยมาน (the Ship of Sulaiman)
  • ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ แปล มติชน พ.ศ.2545
  • พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
  • อัลมุนญิด ฟิล ลุเฆาะห์ วัลอะอฺลาม