อาณาจักรซอนฆอ หรือ ซอนฆอ

ซอนฆอ (ซอนฆอย) เป็นชนเผ่าหนึ่งจากชนชาติซูดาน (ชนผิวดำ) ทางตะวันตกที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่แถบตอนเหนือชายฝั่งแม่น้ำไนเจอร์ตอนกลางมาแต่เก่าก่อน มีเมืองเญาว์ เป็นเมืองใหญ่ของเผ่าซึ่งต่อไปจะกลายเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรของพวกเขา อาณาเขตของพวกซอนฆอได้แผ่ยื่น จนกระทั่งครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ในดินแดนส่วนใหญ่ของไนเจอร์ ทางตอนเหนือมีพวกเฏาะวาริก (ตูอาเร็ก) เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งพวกเฏาะสาริกเป็นชนเผ่าที่มีสายเลือดผสมมาจากพลเมืองโบราณในท้องทะเลทรายและพวกเบอร์เบอร์และพวกมุรอบิฎูนที่เหลืออยู่

 

พวกเฏาะวาริก (ตูอาเร็ก) มีอิทธิพลเหนือเส้นทางการค้าในท้องทะเลทรายซะฮาร่า และดินแดนโอเอซิสต่างๆ ของซะฮาร่า พวกเขาเหล่านี้หาใช่โจรสลัดแห่งท้องทะเลทรายหรือพวกที่ปล้นสะดมภ์อย่างที่พวกฝรั่งเศสได้กล่าวหา แต่พวกเขาเป็นชนชาติแอฟริกาที่พึ่งพาตนเองมีลักษณะพิเศษในด้านความอดทน, ความกล้าหาญ และหยิ่งในศักดิ์ศรี จนกระทั่งได้รับสมญานามว่า “เจ้าชายแห่งท้องทะเลทราย”

 

พวกมุรอบิฎูนที่เหลือหลังจากได้ปราชัยให้แก่พวกอัลมุวะหิดูนก็ได้ถูกกลืนเข้าสู่ชนชาติเฏาะวาริกซึ่งพวกเขาเลือกที่จะมีชีวิตอย่างเป็นเสรีชนท่ามกลางภยันตรายของท้องทะเลทรายมากกว่าที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยภายใต้อำนาจของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งพวกอัลมุวะหิดูน

 

พวกซอนฆอยังมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงทางตะวันตกและทางใต้อีกหลายกลุ่มหลายก๊กจาก ชนชาติซูดาน ที่สำคัญคือพวกอัลมาดันญีย์ พลเมืองแห่งกาน่า (ซึ่งเราพูดถึงไปแล้ว) พวกอัลญูรมาน และโมซ่าซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกพวกนี้ว่า อัลโมเช่ (อัลมูช่า) ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่ในแคว้นยาตีนย่า, ญูรมาน, กะอารตะห์ และอัลม่าซีน่า อาณาเขตของพวกซอนฆอได้แผ่ยื่นทางตะวันออกจนถึงบุรนูและกานิมในแคว้นช๊าด

 

แรกเริ่มเดิมทีพวกซอนฆอเป็นกลุ่มชนที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นจากเผ่าต่างๆ ของแม่น้ำไนเจอร์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมอยู่กับชนเผ่าอัลมาดันญีย์อันยิ่งใหญ่ จำนวนประชากรของพวกซอนฆอยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าครอบครองเหนือพื้นที่อันกว้างใหญ่ซึ่งเราได้กล่าวมาแล้ว

 

ส่วนหนึ่งจากสายตระกูลของพวกซอนฆอนั้นเราขอกล่าวถึงพวกอัซซูรกู้ (โซรโก) พวกนี้ประกอบอาชีพประมงน้ำจืดในแม่น้ำไนเจอร์ บางทีโคตรเหง้าดั้งเดิมของพวกนี้อาจจะมาจากชาวอาหรับอพยพเพราะที่นั่นมีนิทานปรัมปราที่เล่าสืบกันมายืนยันถึงคำพูดนี้ นิทานปรัมปราดังกล่าวเล่าว่ามีผู้อพยพชาวเบอร์เบอร์ 2 คน ได้มาถึงแม่น้ำไนเจอร์ตอนกลาง โดยผ่านข้ามท้องทะเลทรายมา ชาวเบอร์เบอร์ทั้ง 2 คนนั้นเป็นนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ ต่อมาไม่นานนักบุคคลทั้ง 2 ก็สามารถสร้างความไว้วางใจแก่พวกซอนฆอ พวกเหล่านี้จึงให้สัตยาบันแก่บุคคลทั้งสองให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองพวกตน ในกาลต่อมาบุคคลทั้งสองก็มีลูกหลานมากมาย

 

ส่วนหนึ่งจากกษัตริย์ซอนฆอที่มาจากพวกอัซซูรกู้เหล่านี้คือ ราชวงศ์ดิยา ซึ่งปกครองซอนฆอนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 14 กษัตริย์ที่เลืองนามที่สุดของพวกซอนฆอก็คือกษัตริย์ “กูฆอ” หรือ “กูกียะห์” ซึ่งอิบนุ เหาว์ก้อลได้กล่าวถึงพระองค์

 

พวกอัซซูรกู้เหล่านี้คือผู้ที่สร้างนครเญาว์และนครบอมบ้า และพวกนี้ได้กระจัดกระจายอยู่ในดินแดนต่างๆ จนกระทั่งในเขตเมือง “ญ่านา” อันเป็นศูนย์กลางของพวกอัลบูรู (อัลโบโร) ซึ่งเป็นคู่แข่งของพวกเขา พวกอัลบูรูก็เป็นชาวประมงน้ำจืดเช่นกัน

 

พวกกษัตริย์ในราชวงศ์ดิยา ได้ยุยงพวกซอนฆอในหัวเมืองต่างๆ ให้ลุกฮือขึ้นขับไล่พวกอัซซูรกู้สู่ดินแดนตอนเหนือเพื่อจะได้พ้นจากการเป็นคู่แข่งของพวกอัซซูรกู้ที่มีต่อราชวงศ์ดิยา

 

ต่อมากษัตริย์ซินยาที่ 15 ก็ได้ทรงยึดเอาเมืองเญาว์เป็นราชธานีของพระองค์ในใจกลางดินแดนของพวกอัซซูรกู้ กษัตริย์ซินยา พระองค์นี้ได้ทรงเปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลาม พวกซอนฆอและอัซซูรกู้ก็เข้ารับอิสลามตามพระองค์ และการที่กษัตริย์ซินยา ได้ทรงยึดครองเมืองเญาว์ได้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งทีเดียว กล่าวคือ เส้นทางต่างๆ ในท้องทะเลทรายที่นำไปสู่เมืองฟัซซาน , ทริโปลี , อิยีปต์ ต่างก็เริ่มต้นจากเมืองเญาว์แห่งนี้ และจวบจนทุกวันนี้เมืองเญาว์ก็ยังคงเป็นสถานีสุดท้ายสำหรับเส้นทางรถยนต์ของแอลจีเรียสู่ไนจีเรีย

 

ศาสนาอิสลามได้เข้าสู่ดินแดนของพวกซอนฆอมาเป็นเวลาช้านานแล้ว จากเส้นทางของท้องทะเลทรายตอนกลาง และเราก็ไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนในการที่อิสลามได้มาถึงดินแดนของชาวซูดานที่เข้มแข็งแห่งนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามพวกซอนฆอได้ปรากฎชัดในฉากหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 11 โดยมีเหล่ากษัตริย์มุสลิมที่สืบทอดหลังจากที่กษัตริย์ซินยาในกาลต่อมาเป็นผู้นำดินแดนของพวกซอนฆอได้เผชิญการรุกรานจากทางด้านอาณาจักรมาลีในช่วงแผ่ขยายอาณาเขตของกษัตริย์อะลี อิบนุ มารี ญาเตาะห์ที่ 1 ซึ่งทรงทำการรุกรานดินแดนของพวกซอนฆอ

 

ต่อมาซัยกะเราะห์ซึ่งได้ยื้อแย่งราชบัลลังก์แห่งอาณาจักรมาลี จากลูกหลานของมารี ญาเตาะห์ก็ได้รุกรานดินแดนแห่งนี้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสามารถเข้ายึดครองเมืองเญาว์ ราชธานีของซอนฆอ แต่ทว่าอำนาจของมาลีเหนือดินแดนซอนฆอนั้นก็หาได้ยาวนานไม่ เพียงไม่นานนักอำนาจของพวกมาลีก็อ่อนตัวลง เมื่อสุลต่านมันซา กัน กัน มูซา ได้เสด็จกลับจากการประกอบพิธีฮัจญ์ของพระองค์ในปีค.ศ.1315 พระองค์ได้ทรงมีบัญชาให้แม่ทัพซัจมาน ซึ่งท่านอิบนุ คอลดูน เรียกว่า ซักมันญะห์ ดังนั้นแม่ทัพผู้นี้จึงได้ยาตราทัพเข้ารุกรานซอนฆอและเข้ายึดครองเมืองเญาว์ ราชธานีแห่งซอนฆอ \

 

เมื่อยึดราชธานีซอนฆอได้แล้ว สุลต่าน กัน กัน มูซา ก็ทรงเสด็จเยือนนครเญาว์ และทรงสร้างมัสยิดกลางขึ้นในนครแห่งนี้ และวางกองกำลังทหารรักษาดินแดนในนครแห่งนี้ นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงจับตัวบรรดาผู้นำเผ่าซอนฆอและลูกหลานบุคคลสำคัญเป็นตัวประกัน และบังคับให้พวกซอนฆอส่งเครื่องบรรณาการแก่พระองค์

 

ต่อมากษัตริย์กัน กัน มูซาก็ได้ยาตราทัพเข้าสู่เมืองติมบักตู ซึ่งเคยขึ้นอยู่กับพวกซอนฆอ ชาวเมืองติมบักตูก็ได้ต้อนรับพระองค์ ทั้งนี้เพราะชาวเมือง ติมบักตูต่างก็โอดครวญจากการยึดครองของซอนฆอ ตลอดจนการฉกชิงปล้นสะดมภ์ทรัพย์สินของชาวเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ.718-719 / ค.ศ.1318-1319 และในเมืองติมบักตูนี่เองพระองค์ได้ทรงสร้างสถานที่สำคัญของอาณาจักรมาลี และตั้งให้ติมบักตูเป็นที่ว่าราชการของพระองค์

 

หลังจากที่กษัตริย์ กัน กัน มูซา ได้กลับสู่อาณาจักรมาลี พวกชนเผ่าอัลมูซ่า (อัลมูช่า) ที่กราบไหว้รูปเจว็ดก็ได้ทำการรุกรานติมบักตู ราวปี ฮ.ศ.730/ค.ศ.1330 พวกอัลมูซ่าได้ปล้นสะดมภ์และทำลายติมบักตูลง ต่อมาเมืองติมบักตูก็กลับมาอยู่ใต้อำนาจของมาลีอีกครั้งหนึ่ง ติมบักตูยังคงเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรมาลีประมาณ 1 ศตวรรษ จวบจนกระทั่งพวกซอนฆอได้เข้ายึดครองหลังจากที่พวกซอนฆอมีความแข็งแกร่งแล้ว

 

ชาวซอนฆอยในรัชกาลของกษัตริย์มาฆอนที่ 1 โอรสของมันซา กัน กัน มูซา (ฮ.ศ.738-741 / ค.ศ.1337-1341) บรรดาตัวประกันของซอนฆอได้หลบหนีและสามารถกลับสู่บ้านเมืองของตนได้ บรรดาตัวประกันเหล่านี้นับเป็นบุคคลสำคัญจากบรรดาผู้นำของซอนฆอ กษัตริย์ มันซา กัน กัน มูซา ทรงทราบดีว่าการมีตัวประกันซอนฆออยู่กับพระองค์นั้นเป็นการประกันถึงความจงรักภักดีของพลเมืองซอนฆอ ด้วยเหตุนี้จึงทรงเข้มงวดในการคุ้มกันตัวประกันและสอดส่องพวกเหล่านี้ไม่ให้คลาดสายตา

 

ครั้นเมื่อกษัตริย์มาฆอนที่ 1 ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ กษัตริย์มาฆอนก็ทรงละเลยไม่เข้มงวดในการคุ้มกันตัวประกันเหล่านี้ จึงทำให้เหล่าตัวประกันของซอนฆอได้วางแผนหลบหนีและสามารถกลับสู่ดินแดนของพวกเขาได้สำเร็จ ในบรรดาตัวประกันนั้นจะมีเจ้าชายของซอนฆอ 2 องค์ คือ อะลี เกาลัน และน้องชายของท่านคือสุลัยมาน นารี เจ้าชายทั้ง 2 องค์ได้รวบรวมกลุ่มคนของตนและสามารถเอาชนะกองทหารรักษาการณ์ของอัลม่าดันญีย์ในนครเญาว์ได้สำเร็จ

 

หลังจากนั้นก็เคลื่อนกำลังพลเข้าทำสงครามรบพุ่งเพื่อปลดแอกดินแดนของซอนฆอให้เป็นอิสระจากการปกครองของอาณาจักรมาลี แต่ทว่ากษัตริย์มันซ่า สุลัยมานซึ่งครองราชย์ต่อจากกษัตริย์มาฆอนที่ 1 ก็ได้ทำสงครามต่อต้านพวกซอนฆอ และสามารถตีดินแดนส่วนใหญ่ของพวกซอนฆอกลับคืนสู่อำนาจของมาลีได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ไม่สามารถยึดนครเญาว์ราชธานีของซอนฆอกลับคืนมาได้

 

เจ้าชายอะลี เกาลันได้ขึ้นครอราชย์ในนครเญาว์ในปีค.ศ.1355 และซอนฆอก็แยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับมาลีอีกต่อไปหลังจากที่เป็นเมืองขึ้นของมาลีประมาณครึ่งศตวรรษ หลังจากนั้นซอนฆอก็เริ่มแผ่ขยายอาณาเขตเข้าสู่ดินแดนของอาณาจักรมาลีโดยใช้ช่วงจังหวะที่อาณาจักรมาลีกำลังอ่อนแอ เหล่าศัตรูของมาลีก็เริ่มรุกรานมาลี โดยเฉพาะเผ่าอัลมูซ่าต่างๆ ซึ่งเป็นเผ่าที่เคารพบูชารูปเจว็ดมีดินแดนตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมาลี พวกอัลมูซ่าไม่เคยหยุดยั้งที่จะรุกรานอาณาจักรอิสลามและอาณาจักรอื่นๆ พวกนักรบอัลมูซ่าได้รุกรานเขตแดนทะเลสาบดะบูที่มีอาณาเขตติดต่อกับไนเจอร์ และขณะที่อาณาจักรอิสลามแห่งซอนฆอสถาปนาขึ้นนั้น นักรบอัลมูซ่าก็เริ่มโจมตีรุกรานซอนฆอและยกกำลังพลเข้าปล้นสะดมภ์ดินแดนของอาณาจักรซอนฆอ

 

กษัตริย์อะลี เกาลัน ทรงมีพระราชสมัญญานามว่า ซุน หรือ ชุน อันมีความหมายว่า รัชทายาทแห่งสุลต่าน หรือผู้แทนแห่งเจ้าครองนคร พระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ซุน ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งที่สองที่ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนของซอนฆอ ส่วนอาณาจักรซอนฆอแห่งแรกนั้นคือ อาณาจักรอัรวาอ์ ซึ่งถูกพวกมาลีปราบปราม

 

พรมแดนของอาณาจักรซอนฆอยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในนครเญาว์ และเขตปริมณฑลในช่วงรัชสมัยของซุนที่ 1 อะลี เกาลัน และพระอนุชาของพระองค์ซุน สุลัยมาน นารี ซึ่งสืบราชบัลลังก์ต่อมาในภายหลัง แต่ทว่ากษัตริย์ผู้สืบทอดอำนาจในรุ่นต่อมาต่างก็ใช้นโยบายทำสงครามแย่งดินแดนของอาณาจักรมาลี ดังนั้นในรัชสมัยของซุน มุฮำหมัด ดาอิน ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 10 ในสายราชวงศ์ซุน พวกซอนฆอจึงได้ยกทัพเข้าตีราชธานีแห่งอาณาจักรมาลี และจับผู้คนในเมืองนั้นเป็นเชลยได้เป็นอันมาก

 

หลังจากนั้นซุน สุลัยมาน ดาม กษัตริย์ลำดับที่ 17 แห่งซอนฆอก็ได้ทรงยึดครองดินแดน “มีม” ได้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มีม่า” และกษัตริย์องค์นี้ยังทรงเป็นที่รู้จักในอีกพระนามหนึ่งว่า “ชีดาม” ดินแดน “มีม” เป็นอาณาเขตของอาณาจักรมาลี เมื่อทรงยึดได้พระองค์ก็ได้ทรงสั่งให้ทำลายเมือง “มีม” ลงอย่างราบคาบ อัลกอฎีย์ มะห์มูด กะอฺต์ เจ้าของหนังสือ “อัลฟัตต๊าช” ได้กล่าวถึงกษัตริย์องค์นี้ว่า เป็นผู้ที่ชั่วร้ายและเลวทรามยิ่ง

 

หลังสิ้นรัชกาลของกษัตริย์สุลัยมาน ดาม กษัตริย์ซุน อะลี ผู้เป็นมหาราชในราชวงศ์ซุน ก็ได้ขึ้นครองราชย์ถือกันว่าพระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานที่แท้จริงให้กับแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของซอนฆอ พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ฮ.ศ. 875/ ค.ศ.1468 และสิ้นพระชนม์ในปี ฮ.ศ.898 / ค.ศ.1492 กษัตริย์ซุน อะลี ทรงเป็นกษัตริย์ผู้กล้าหาญมีความกระตือรือร้นเป็นอันมาก และไม่ค่อยมีความเคร่งครัดตามหลักการของอิสลามมากนัก ทั้งนี้เพราะว่านักวิชาการศาสนาทั้งหลายมักจะคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับพระองค์อยู่บ่อยครั้ง

 

ดังนั้นพระองค์จึงมีความขัดเคืองต่อพวกเขา และได้ทำร้ายพวกนักวิชาการเป็นการตอบโต้ตลอดจนบุกรุกเข้าไปยังมัสยิด และสถานที่บำเพ็ญศาสนกิจซึ่งบรรดานักวิชาการได้ทำการสอนหนังสืออยู่ในสถานที่ดังกล่าว เหตุนี้เองเจ้าของหนังสือ “อัลฟัตต๊าช” จึงเขียนถึงกษัตริย์ผู้นี้ในทำนองที่ไม่สบอารมณ์มากนัก และยังกล่าวหาว่าพระองค์เป็นทรราชย์และชั่วช้า พระมารดาของกษัตริย์ซุน อะลี ก็เป็นสตรีที่มาจากเผ่าอัลมาดันญีย์พลเมืองแห่งมาลี

 

อย่างไรก็ตามกษัตริย์ ซุน อะลี ซึ่งเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 18 แห่งราชวงศ์ซุน ก็ทรงเป็นผู้พิชิตชาวมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เคยปรากฏมีมาในดินแดนซูดานตะวันตก พระองค์ได้รับการเรียกขานว่า อะลี บิร หรือ อะลี ผู้ยิ่งใหญ่ หรือ ชุน เท่านั้น ในระหว่างรัชกาลของพระองค์ซึ่งกินเวลาถึง 27 ปี พระองค์ได้สร้างอาณาจักรที่มีอาณาเขตเท่ากับพื้นที่ของประเทศอิหร่านและอิรักรวมกัน โดยแผ่ยื่นจากซัยญ์ที่อยู่ริมแม่น้ำไนเจอร์ จรดดินแดนที่ถูกเรียกกันในทุกวันนี้ว่า “ดาโฮเม่” ชื่อเสียงของพระองค์เลื่องลือระบือไกลจนกระทั่งในดินแดนยุโรปกษัตริย์ญ่าวาวหรือโยฮันที่ 2 กษัตริย์แห่งโปรตุเกสยังได้เคยส่งคณะทูตานุทูตของพระองค์ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ซุน อะลี แห่งซอนฆอ พระองค์นี้เช่นกัน

 

ในปี ค.ศ.1498 กษัตริย์ซุน อะลี ได้รุกรานนครติมบักตู ซึ่งพวกเผ่าเฏาะวาริก (ตูอาเร็ก) ได้เคยยึดครองตั้งแต่ปี ค.ศ.1435 นครติมยักตูเป็นศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ที่คราครั่งไปด้วยร้านรวง บรรดามัสยิด นักวิชาการและนักการศาสนา กษัตริย์ซุน อะลี จึงได้ขับไล่พวกเฏาะวาริกออกจากนครติมบักตู และตั้งขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่สองของอาณาจักรซอนฆอ ต่อมาก็ได้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างพระองค์กับบรรดานักวิชาการศาสนา พระองค์จึงได้ทำการกดขี่และจับนักวิชาการเหล่านี้เข้าที่จองจำเป็นอันมาก หลังจากนั้นก็ได้มีคำสั่งให้เผานครติมบักตู

 

ต่อมาพระองค์ก็ได้เข้ายึดครองเมืองญ่านา ซึ่งเป็นเมืองที่สามที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนเจอร์ ในสมัยนั้นตั้งอยู่ถัดจากเมืองเญาว์และติมบักตู ในเมืองญ่านามีผู้นำจากเผ่าซูนันกะห์ที่เป็นมุสลิมปกครองอยู่ ซึ่งพวกซูนันกะห์ได้ทำให้เมืองญ่านาเป็นรัฐเล็กๆ ที่มั่งคั่ง เพราะการค้าทองคำได้เปลี่ยนจากดินแดนกาน่ามาอยู่ที่เมืองนี้ เมืองญ่านาเป็นที่เลื่องลือด้วยบรรดานักวิชาการศาสนาและมัสยิดอับดุรเราะห์มาน อัสสะอ์ดีย์ นักประวัติศาสตร์แห่งอาณาจักรซอนฆอ (1596-1654) ได้กล่าวว่ากษัตริย์ซุน อะลี ไม่สามารถเข้ายึดครองเมืองญ่านาได้นอกจากหลังการปิดล้อมเป็นเวลาถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน หลังจากนั้นพระองค์ก็ยาตราทัพเข้าสู่เมืองนี้ด้วยคมดาบ แต่ทว่าพระองค์ก็มิได้ทรงกระทำกับญ่านา เช่นที่ได้ทรงกระทำกับเมืองติมบักตู พระองค์เพียงแต่กระทำสิ่งที่สร้างความมั่นใจว่านครญ่านา ได้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์และนำทัพกลับสู่นครเญาว์

 

ต่อมาพระองค์ก็ทรงมีความฮึกเหิมอีกครั้งหนึ่ง และนำทัพเข้าโจมตีดินแดนของพวกบูชาเจว็ดที่ยังคงเหลืออยู่ในตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ เช่น พวกบูรญู่ และเข้ายึดครองเมืองหลวงของพวกนี้คือ นครมาดีนเต้ พระองค์ได้ทรงพักอยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลานานก่อนที่จะจู่โจมเผ่าอัลมูซ่า และดูญูนในดินแดนของพวกนี้ (ดินแดนของพวกนี้อยู่ในเทือกเขา บันด่ายาญาร่า) โดยไม่สามารถเอาชนะเผ่าดังกล่าวได้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงเบนเข็มจากพวกนี้และหันมาทำสงครามกับพวกเฏาะวาริก นักค้นคว้าชาวฝรั่งเศสบางคนมีความเห็นว่า การที่พระองค์ยืนกรานทำสงครามกับพวกเฏาะวาริกเกิดจากความชิงชังต่อศาสนาอิสลามของพระองค์ ซึ่งจริงๆ แล้วกษัตริย์พระองค์นี้หาได้เป็นปรปักษ์กับอิสลามไม่ ที่จริงพระองค์เพียงแต่โกรธเคืองเหล่านักวิชาการศาสนาซึ่งมักจะกล่าวหาพระองค์อยู่เสมอว่าเป็นคนชั่วและออกนอกศาสนา

 

ต่อจากนั้นกษัตริย์ซุน อะลี ก็ได้นำทัพเข้ารุกรานดินแดนของเผ่าอัลฟูล่า หรือโฟลานี่ ซึ่งแต่เดิมพวกอัลฟูล่ามาจากเผ่าเบอร์เบอร์ แห่งท้องทะเลทรายทางตอนใต้ของเมืองซูซ พวกเผ่าอัลฟูล่ามีความเข้มแข็งและกระตือรือร้นอยู่เสมอ นอกจากนี้เผ่าอัลฟูล่ายังเป็นที่เลื่องลือว่ามีสตรีของเผ่าที่งดงามและเฉลียวฉลาด สตรีนางหนึ่งของเผ่าเมื่อได้อภิเษกกับเจ้าชายหรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งชนชาติซูดาน ไม่นานนักนางก็สามารถบงการบุคคลผู้นั้นได้ และครอบครองปราสาทของเจ้าชายองค์นั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด

 

ส่วนเหล่าบุรษเพศของเผ่าอัลฟูล่าก็เช่นกัน พวกเขาจะใช้เวลาไม่นานนักในการไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญๆ ในอาณาจักรซอนฆอ ด้วยการอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของพวกเขา สิ่งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความหวาดระแวงแก่กษัตริย์ซุน อะลี ดังนั้นพระองค์จึงทรงขับไล่พวกอัลฟูล่าออกจากตำแหน่งและปราบปรามพวกเหล่านี้ ต่อมาพระองค์ก็ทรงรุกรานดินแดนของพวกอัลฟูล่าในเมืองญุรมาถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือในปี ค.ศ. 1465 , ปี ค.ศ. 1470 และปี ค.ศ. 1488 การวิงวอนเพื่อสาปแช่งพระองค์ในดินแดนอิสลามเหล่านี้จึงเพิ่มมากขึ้น ดูเหมือนว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตอบรับคำวิงวอนของประชาชนในดินแดนอิสลามแห่งอัลฟูล่า

 

ดังนั้นเมื่อพระองค์ได้ทรงทำการรุกรานดินแดนของอัลฟูล่าเป็นระลอกที่ 4 ในปี ค.ศ. 1492 พระองค์ก็จมน้ำตายขณะที่พระองค์พยายามข้ามแม่น้ำในช่วงที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก พระโอรสของพระองค์ที่ตกศาสนาอิสลามก็ได้ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ ดังนั้นพวกซอนฆอจึงได้ถอดกษัตริย์ผู้นี้ออกจากอำนาจและตั้งให้แม่ทัพมุฮำหมัด อิบนุ อบีบักร อัตตุวารีย์ขึ้นเป็นผู้นำของพวกเขาในปี ค.ศ. 1493 และท่านผู้นี้ก็ได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นปกครอง คือ ราชวงศ์อัซกาย่า หรือ อัซกา หรือ อะซากา

 

ราชวงศ์อัซกาย่า

ท่านอัสสะอ์ดีย์ได้กล่าวถึงที่มาของราชวงศ์นี้ว่า บรรดาพระธิดาของกษัตริย์ซุน อะลี ได้ตะโกนว่า “อัซกาย่า” อันมีความหมายว่า “จะต้องไม่เป็น! โดยเฉพาะเขาผู้นี้” อันหมายถึงหวังว่าบุคคลผู้นี้ (คือท่านแม่ทัพ) จะไม่ใช่ผู้ที่ฉกชิงบัลลังก์ของพวกเรา พวกนางได้ตะโกนถ้อยคำดังกล่าวโดยมุ่งหมายถึงตระกูลอัตตุวารีย์ ดังนั้นคำว่า “อัซกาย่า” จึงกลายเป็นชื่อของตระกูลนี้ไปโดยปริยาย

 

คำว่า อัตตุวารีย์ เป็นคำที่เพี้ยนมาเป็นตุว่ารี หรือ ตูรี ในการใช้ของพวกเราในปัจจุบัน เมื่อเรากล่าวขึ้นว่า ซีกูตุรู ก็น่าจะกล่าวว่า เชคตูรีย์ หรือเชคตูวารีย์ อาณาจักรซอนฆอได้รักษาความรุ่งโรจน์ของตนเอาไว้ได้ในรัชสมัยของราชวงศ์อัซกายา หรือ อะซากี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ต่างก็ยึดมั่นในศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด อันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนมีความผูกพันกับพวกเขามากขึ้น

 

ท่านอบูบักร มุฮำหมัด อัตตุวารีย์ หรืออัลอะซากีย์ได้ทรงปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1493 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1528 พระองค์ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองในอาณาจักรของพระองค์อย่างดีเยี่ยม ทรงแบ่งการปกครองอาณาจักรออกเป็นมณฑลต่างๆ มีข้าหลวงชาวมุสลิมที่จงรักภักดีต่อพระองค์เป็นผู้ปกครองมณฑล พระองค์ได้ทรงยึดเอานครติมบักตูเป็นราชธานี และได้ทรงรวบรวมเหล่านักวิชาการศาสนาและนักปราชญ์ในสาขาต่างๆ มายังนครแห่งนี้ และทรงอุปถัมภ์พวกเขาตลอดจนยังได้สร้างมัสยิดขึ้นหลายแห่ง พระองค์ทรงประทานทรัพย์สินเป็นอันมากแก่เหล่านักปราชญ์และนักวิชาการศาสนาที่สั่งสอนความรู้แก่ผู้คนในมัสยิดเหล่านี้

 

ในปี ค.ศ. 1497 อัซกาย่า มุฮำหมัด อิบนุ อบีบักร อัตตุวารีย์ ได้ออกเดินทางเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยติ้ลลาฮ์อัลหะรอม โดยมีผู้ร่วมขบวนเป็นทหารม้า 500 นาย ทหารเดินเท้า 1,000 นาย และทรงนำเอาทองคำจำนวน 300,000 มิษฺก้อลไปในการเดินทางครั้งนี้ด้วย ชะรีฟแห่งนครมักกะห์ที่สืบเชื้อสายจากลูกหลานของท่านอัลหะสัน อิบนิ อะลี (รฎ.) ก็ได้ทำการต้อนรับพระองค์และขบวนเสด็จอย่างสมพระเกียรติ และเรียกขานคำว่า “ค่อลีฟะห์” กับกษัตริย์อัซกาย่าอีกด้วย

 

กษัตริย์มุฮำหมัด อัตตุวารีย์ได้เสด็จนิวัตรกลับสู่อาณาจักรของพระองค์โดยที่พระองค์มีความมั่นคงต่ออิสลามอย่างมาก และเร่งทำศึกกับเผ่าอัลมูซ่าในยาตันย่าอย่างหนักหน่วงและพระองค์ได้ทำให้พวกอัลมูซ่าเข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าพวกซอนฆอจะสามารถทำลายอำนาจของมาลีลงได้ แต่นโยบายทางการเมืองการปกครองของพวกซอนฆอในการปล่อยให้การปกครองมณฑลต่างๆ ให้ตกอยู่ในกำมือของชนพื้นเมืองที่มีความจงรักภักดีต่อซอนฆอ ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมาลีที่เป็นพลเมือง อัลมาดันญีย์สามารถรักษาความเป็นอิสระของพวกเขาไว้ได้เป็นอันมาก ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาผู้นำของพวกอัลมาดันญีย์ในมาลีก็ยังคงรักษาฉายาของตนที่ว่า “มันซ่า” เอาไว้อยู่เช่นเดิมดังนั้นเมื่อ อัซกาย่า มุฮำหมัด อิบนุ อบีบักร อัตตุวารีย์ ได้ทุ่มการโจมตีต่อดินแดนของมาลีหนักข้อมากขึ้นพวกตระกูลมันซาในมาลีจึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังพวกออตโตมาน เติร์ก (อุษมานียะห์ ตุรกี) ในปี ค.ศ. 1481 ซึ่งพวกตุรกีในเวลานั้นได้ยึดครองแอลจีเรียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าการขอความช่วยเหลือของตระกูลมันซ่าก็ไม่เกิดผลอันใด

 

นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสได้แสดงความเห็นว่า กษัตริย์มุฮำหมัด มันซา ที่ 1 แห่งมาลีได้หันไปยังพวกโปรตุเกส เพื่อขอความช่วยเหลือจากโปรตุเกสให้ช่วยปราบปรามอิทธิพลของซอนฆอ พวกโปรตุเกสจึงเร่งรีบในการตอบรับคำร้องขอเนื่องจากเกรงว่าพวกออตโตมาน เติร์กจะมามีอำนาจในแอฟริกาตะวันตก ดังนั้นกษัตริย์แห่งโปรตุเกสจึงส่งนักการฑูตสองคนมาสอดแนมพื้นที่อาณาเขตของมาลี และหาข้อมูลถึงสภาพของมาลีตลอดจนวาดรูป (สเก็ตภาพ) พลเมืองมาลี และทำแผนที่อันเป็นผลร้ายแก่มาลีในเวลาต่อมา ในขณะที่พวกโปรตุเกสได้เริ่มยึดครองศูนย์กลางทางการค้าและป้อมปราการต่างๆ ที่เรียกกันว่าอัลบาซีตูน เหนือชายฝั่งของมอรอคโคและแอฟริกา พวกโปรตุเกสไม่ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือใดๆ แก่กษัตริย์มันซา มุฮำหมัด

 

อัซกาย่า มุฮำหมัด อัตตุวารีย์ ได้พยายามแผ่ขยายอาณาเขตสู่ทางตะวันออก แต่ก็ได้รับการต้านทานจากพวกอัลฮูซ่า พระองค์จึงไม่สามารถเข้ายึดดินแดนของพวกนี้ได้ นอกจากเมืองเล็กๆ 3 แห่งเท่านั้น ดินแดนของพวกอัลฮูซ่า ประกอบขึ้นจากรัฐเล็กๆ ที่เป็นพันธมิตรกัน และมีดินแดนใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นอัซกาย่าจึงได้ยาตราทัพขึ้นสู่ตอนเหนือและได้เกิดการรบพุ่งหลายต่อหลายครั้งกับผู้ปกครองหัวเมืองชายแดนของอาณาจักรอัสสะอ์ดียีน ที่มีอำนาจในมอรอคโคขณะนั้นอย่างไรก็ตามพระองค์สามารถเข้ายึดครองเหมืองเกลือที่เลื่องชื่อทางตอนใต้ของอาณาจักรอัสสะอ์ดียีนได้สมรภูมิครั้งนั้น แต่ทว่าอัซกาย่า ดาวูด (1549-1582) ได้ยอมสละเหมืองเกลือดังกล่าวแก่ ซุลต่านแห่งอัสสะอ์ดียีนเพื่อแลกกับทองคำจำนวน 10,000 มิซก้อลที่จ่ายให้ซอนฆอทุกปี

 

หลังการสิ้นพระชนม์ของอัซกาย่า มุฮำหมัด อัตตุวารีย์ บรรดาโอรสของพระองค์ก็แก่งแย่งราชสมบัติกันเอง กล่าวกันว่าพระองค์ทรงมีพระโอรสถึง 100 องค์ด้วยกัน แต่ทว่าในท้ายที่สุดความวุ่นวายดังกล่าวก็สิ้นสุดลง เหตุการณ์ก็เข้าสู่สภาวะปกติ การบริหารราชการก็ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ อำนาจของสุลต่านแห่งซอนฆอก็มั่นคงและแผ่ไพศาล นครติมบักตูก็เจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งชื่อเสียงแห่งความมั่งคั่ง ความสงบสุขและเรื่องเล่าขานที่ว่ามีทองคำอย่างอุดมสมบุรณ์ในนครแห่งนี้ก็ได้ขจรขจายไปถึงดินแดนในยุโรป บรรดานักวิชาการก็หลั่งไหลมาสู่นครแห่งนี้ การศึกษาในหมู่ประชาชนก็แพร่หลายจนกระทั่งตำราภาษาอาหรับก็ได้กลายเป็นสินค้าสำคัญและมีอย่างมากมายที่นั่น

 

ในช่วงนี้เอง (ปลายศตวรรษที่ 16) นักเดินทางชาวมอรอคโคที่ชื่อ อัลหะสัน อัลวัซซาน ก็ได้เยือนนครติมบักตู บุคคลผู้นี้เคยออกนอกศาสนาอิสลามและเข้ารีตในศาสนาคริสต์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ลีโอ อัลอัฟริกีย์ นอกจากว่าในตอนหลังเขาก็ได้เดินทางสู่มอรอคโคและกลับไปนับถือศาสนาอิสลามอีกครั้งในช่วงท้ายของชีวิต ชายผู้นี้ยังได้เยือนดินแดนส่วนอื่นของซอนฆออีกเช่นกัน กล่าวกันว่า ผลกำไรจากค้าตำรานั้นมีมากกว่าผลกำไรจากการค้าทองคำและเกลือเสียอีก นอกจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและตำราทางศาสนาที่เป็นภาษาอาหรับยังนับเป็นความภาคภูมิใจของคนที่นั่นอีกด้วย เพราะทรัพย์สินและสถานภาพของคนๆ หนึ่งจะวัดกันที่จำนวนของตำราที่มีอยู่ในห้องสมุดของเขาและจำนวนของม้าที่อยู่ในคอกช

 

ในขณะที่อาณาจักรซอนฆอกำลังอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองนั้น การรุกรานของมอรอคโคก็มาถึง (ซึ่งเราจะพูดถึงต่อไป) การรุกรานของมอรอคโคนี้เป็นการรุกรานในขั้นแตกหักและเป็นการอวสานของอาณาจักรแห่งซอนฆอ ดังนั้นในขณะที่แม่ทัพเญาดัร ปาชา แห่งโมรอคโคสามารถสร้างความปราชัยแก่กองทัพซอนฆอในปีค.ศ. 999/1590 และยาตราทัพเข้าสู่นครติมบักตู บรรดาศัตรูเก่าของซอนฆอก็ประดาหน้ากันเข้ารุกราน ไม่ว่าจะเป็นพวกมาลี อัลมาดันญีย์ ภายใต้การนำของมุฮำหมัดที่ 3 ซุลต่านแห่งมาลี และทำการถอดซุลต่านแห่งซอนฆอออกจากอำนาจ และฮัมด์ อามินะห์ ซุลต่านแห่งอัลฟูล่าในลุ่มแม่น้ำเซเนกัลก็เช่นกันได้ทำการประกาศแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับซอนฆออีกต่อไป

 

เรื่องราวของอาณาจักรซอนฆอก็ได้จบลงด้วยการรุกรานของโมรอคโค อาณาจักรมาลีก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง บรรดากษัตริย์แห่งมาลีก็ได้พยายามขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองบางคน แต่ก็มิสามารถกระทำการอันใดได้ และพวกกษัตริย์แห่งมาลีก็พยายามที่จะการต่อสู้กับผู้ปกครองแห่งโมรอคโค แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้อีกเช่นกัน หลังจากนั้น อาณาจักรมาลีก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง จึงดูประหนึ่งว่า การรุกรานของโมรอคโคนั้นเป็นจุดจบของความรุ่งโรจน์แห่งอาณาจักรอิสลามในซูดานทั้งหลายซึ่งเราได้กล่าวถึง

 

แน่นอนการรุกรานของโมรอคโคก็เหมือนกันกับการรุกรานของนาดิ๊ร ชาฮ์ อัลอัฟชารีย์ ชาฮ์แห่งอิหร่านที่ได้รุกรานอินเดีย และการทำลายนครเดลฮีลงอย่างราบคาบ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเสื่อมอำนาจของชาวมุสลิมในอินเดีย และยังได้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าในเวลาเดียวกัน อันเป็นยุคของมหาอาณาจักรอิสลามรุ่นสุดท้ายซึ่งครอบครองดินแดนในโลกอิสลามจากปลายสุดเขตแดนอิสลามจรดปลายสุดอีกด้านหนึ่งในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 อันได้แก่อาณาจักรอิสลามต่างๆ โดยเรียงลำดับจากอาณาเขตทางตะวันออกไปจรดตะวันตก คือ

 

อาณาจักรแห่งซุลต่านโมกุลในอินเดีย, อาณาจักรเศาะฟะวียีน และอัลอัฟชารียีนในอินเดีย และอาณาจักรแห่งซุลต่านมะมาลีกในอียีปต์และแคว้นชาม (ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน ปาเลสไตน์) ต่อจากนั้นก็อาณาจักรของซุลต่านในราชวงศ์อุษมานียะห์ (ออตโตมาน) ในคาบสมุทรอนาโตเลีย, รูมิลลี่, อิรัก, อียิปต์, ชาม, อัลฮิญาซ และมอรอคโค จรดพรมแดนปลายสุดทางตะวันตก ณ ลำน้ำอัลมาลาวียะห์ ต่อจากนั้นก็อาณาจักรแห่งซุลต่านอัสอะอ์ดียีนในมอรอคโค ต่อมาก็อาณาจักรมาลีและซอนฆอในดินแดนซูดานตะวันตก

 

อาณาจักรอิสลามอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ต่างก็รุกรานซึ่งกันและกันในระหว่างที่เหล่าศัตรูชาวตะวันตกได้มาเคาะประตูเพื่อล่าอาณานิคม พวกอัฟชารียูนรุกรานอาณาจักรแห่งซุลต่านในอินเดีย พวกอุษมานียะห์ก็รุกรานอียิปต์และชาม พวกอัสสะอ์ดียูนก็รุกรานอาณาจักรอิสลามแห่งแอฟริกาตะวันตกทั้งสองอาณาจักร พวกเขาเหล่านี้ได้ทำการรับใช้กองกำลังของชาติยุโรปด้วยการรุกรานกันเอง ซึ่งในที่สุดกองกำลังทหารของยุโรปก็ได้รวบหัวรวบหางด้วยการยึดครองอาณาจักรเหล่านี้ทั้งหมดนับจากมหาสมุทรอินเดีย จรดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกโดยรวมเอาทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าไปด้วย มหาบริสุทธิ์แด่พระผู้ทรงบันดลบันดาลให้การรุกรานกันเองของชาวมุสลิมนั้นรุนแรงยิ่ง