สรุปประเด็นจากบทความ “อภิปรายเชิงถาม-ตอบเกี่ยวกับเรื่องผู้นำ”

หมายเหตุ : เนื่องจากบทความ  “อภิปรายเชิงถาม-ตอบเกี่ยวกับเรื่องผู้นำ” http://goo.gl/9N5KFw นี้  มีเนื้อหาค่อนข้างมากเพราะเป็นบทความเชิงอภิปราย การนำเสนอเนื้อหาบางส่วนที่ใช้ประกอบคำอภิปรายของผู้เขียนอาจถูกมองว่า “นอกประเด็น” หรือ “ตอบไม่ตรงประเด็น” หรือเลยเถิดไปถึงขั้น “เลอะเทอะ” หรือ “ตอบแบบมั่ว”  “สาดแข้งเปล่า” หรือ “ไม่เป็นวิชาการ” กระนั้นผู้เขียนก็มีเหตุผลรองรับในเรื่องของเนื้อหาที่อาจจะถูกมองและวิจารณ์ด้วยถ้อยคำดังกล่าว นั่นคือ ผู้เขียนมีเจตนาในการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวแก่ผู้อ่านโดยทั่วไปซึ่งมิใช่คู่กรณี เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเด็นถามตอบ
ซึ่งการเพิ่มเติมเนื้อหาในบทความจำต้องมีเจือปนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ถึงแม้ในความรู้สึกของผู้มีมุมมองดังกล่าวจะถือว่าเนื้อหาที่เพิ่มเติมในบทความเป็นการออกนอกเรื่องหรือเป็นสิ่งที่มากเกินไปจากประเด็นก็ตาม เพราะผู้เขียนได้อาสาที่จะเป็นผู้ตอบคำถามที่ตั้งประเด็นเอาไว้เท่านั้น ผู้เขียนมิใช่จำเลย มิใช่ผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยตรงซึ่งถูกตั้งประเด็นคำถามถึงสถานภาพความเป็นผู้นำคือ ท่านจุฬาราชมนตรี การอาสาของผู้เขียนในการตอบคำถามที่ถูกตั้งประเด็นไว้จึงมีสภาพเป็นเพียงพยานที่ให้ปากคำหรือบอกเล่าให้ทราบตามสิ่งที่ตนรู้ ส่วนจะฟังขึ้นหรือไม่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
และผู้ตั้งคำถามก็คงมิใช่ผู้พิพากษาหรือผู้ตัดสิน เพราะผู้ตัดสินในเรื่องนี้คือผู้ที่อ่านบทความทั้งในส่วนของผมและส่วนของอาจารย์ที่ตั้งคำถาม ซึ่งท่านจะได้เขียนบทความหักล้างความน่าเชื่อถือในการเป็นพยานของผมหรือข้อมูลที่ผมได้นำเสนอไว้แล้วในบทความ และผมคงไม่อาจยืนยันได้ว่า อาจารย์ที่ตั้งคำถามเป็นคู่กรณีหรือเป็นโจทย์ในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่พอจะกล่าวได้ก็คือ อาจารย์ที่ตั้งคำถามคือผู้ตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นผู้นำของท่านจุฬาราชมนตรี คำถามที่พรั่งพรูนั้นก็ย่อมนำพาไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ท่านจุฬาราชมนตรีไม่ใช่ผู้นำหรืออย่างน้อยก็ไม่ชัดเจนในการเป็นผู้นำแล้วจะรีบร้อนตามไปทำไม?
เมื่อข้อมูลในบทความที่ผมนำเสนอถูกมองว่าตอบไม่ตรงคำถามหรือตอบไม่ตรงประเด็นหรือจับใจความไม่ได้ ก็ขอตอบอีกครั้งในบทหมายเหตุนี้ โดยจะตอบเท่าที่สามารถตอบได้ และขอสงวนสิทธิในบางคำถามที่จะไม่ตอบหรือถามกลับในบางคำถามที่ตั้งประเด็นมา เพราะการตอบคำถามของผมเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลหรือเป็นการให้ปากคำของพยานเท่านั้น และที่สำคัญผมเป็นเพียงผู้อาสาที่จะตอบ มิใช่จำเลยที่จะถูกคาดคั้นเอาคำตอบให้จงได้ คำถามและคำตอบในเชิงสรุปมีดังนี้
คำถามที่ 1
มีการพูดถึงผู้นำมาก โดยเฉพาะให้เชื่อฟังผู้นำในสิ่งที่ไม่ผิดหลักการ ประเด็นนี้เห็นด้วยครับ และต้องเอาด้วย เพราะมันคือหลักการ แต่ประเด็นใครคือผู้นำนี้สิค่อนข้างมีปัญหา
คำตอบ
จุฬาราชมนตรีคือผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย สำหรับมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ปัญหาจึงเป็นเรื่องของคนอื่นที่ไม่ยอมรับว่าจุฬาราชมนตรีคือผู้นำ และมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่ยอมรับว่า ท่านจุฬาราชมนตรีคือผู้นำชาวมุสลิมในประเทศไทย
ซึ่งประกอบด้วยชาวมุสลิมทั่วไป อิมาม คอเต็บ บิหลั่น คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย บรรดาโต๊ะกอฎีประจำจังหวัด บรรดาผู้รู้ทางศาสนาทั้งในสถาบันปอเนาะ โรงเรียนระดับซานาวียฺ บรรดานักวิชาการศาสนาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิสลามในต่างประเทศซึ่งเป็นวิทยากรในสถาบันทางวิชาการหรือสถาบันทางศาสนา คณะครูและนักเรียนในระดับฟัรฎูอีนที่ขึ้นกับสมาคมคุรุสัมพันธ์ มูลนิธิ องค์กรและสถาบันรวมถึงสมาคมต่างๆ ของชาวมุสลิมในประเทศไทย ชนส่วนใหญ่ที่กล่าวมาต่างก็ยอมรับว่าท่านจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย
เมื่อตอบอย่างนี้ เราก็พอจะรู้ว่าท่านจะเขียนซักค้านอย่างไร? คงหนีไม่พ้นเรื่องหลักการที่ถูกต้องตามที่ท่านยึดถือและกล่าวหาว่าคนส่วนใหญ่ผิดพลาดและหลงผิดเพราะเป็นเรื่องพวกมากลากไป โปรดอย่าลืมว่าในกลุ่มชนดังกล่าวมีบรรดานักวิชาการและผู้รู้ทางศาสนาจำนวนมากที่รู้เหมือนท่านรู้ หรืออาจจะรู้มากกว่ารวมอยู่ด้วย และท่านคงไม่ต้องหักล้างในกรณีที่ว่า ในบรรดาบุคคลที่กล่าวมามีผู้ที่ไม่ยอมรับจุฬาราชมนตรีว่าเป็นผู้นำ ข้อนี้เราไม่ปฏิเสธ เพราะรู้กันอยู่และกลุ่มคนที่ว่าก็คือ กลุ่มคนที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ส่วนกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เรากล่าวถึงคือผู้ที่ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
และเมื่อชนส่วนใหญ่ยอมรับว่าจุฬาราชมนตรีคือผู้นำ หลักการที่ว่าให้เชื่อฟังผู้นำในสิ่งที่ไม่ผิดหลักการซึ่งท่านก็เห็นด้วยและต้องเอาด้วยเพราะมันคือหลักการ ชนส่วนใหญ่เขาปฏิบัติและเห็นด้วยตลอดจนเอาด้วยในหลักการข้อนี้ แต่ท่านจะเอาด้วยได้อย่างไร ในเมื่อผู้นำในทัศนะของท่านไม่มีตัวตน แล้วท่านจะตามใคร? เพราะหากถือเงื่อนไขความเป็นผู้นำตามที่ท่านอ้าง ท่านอาจจะพบในประเทศอื่นที่เป็นประเทศมุสลิม แต่ในประเทศไทยผู้นำตามเงื่อนไขของท่านไม่มี แล้วท่านจะเชื่อฟังผู้ใดตามหลักการที่ศาสนากำหนดไว้ในเรื่องการฏออะฮฺผู้นำในสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนา
อายะฮฺ 59 สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺที่สั่งใช้ให้เชื่อฟังอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และอุลิลอัมริมิงกุม ได้รับการยกเว้นเฉพาะในประเทศไทยใช่หรือไม่ เพราะมุสลิมในประเทศไทยไม่มีบุคคลที่มีสถานภาพเป็นอุลิลอัมริมิงกุมปรากฏอยุ่ หรือประชาคมมุสลิมทั่วโลกในยุคปัจจุบันที่ไร้เคาะลีฟะฮฺที่ปกครองรัฐอิสลามหนึ่งเดียวไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ในอายะฮฺนี้ เราพอจะรู้ว่าท่านจะซักค้านอย่างไร?
คำถามที่ 2
“เพราะนิยามผู้นำตามหลักการนั้นไม่ได้แยกระหว่างผู้นำศาสนากับผู้นำทางการเมือง (ผู้ปกครอง) หากเราจะเอาแบบชาวโลกเขาก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะชาวโลกเขามีผู้นำทางศาสนาต่างหาก แยกไปจากผู้นำทางการเมือง (ผู้ปกครอง) เช่น โป๊บ สังฆราช และ ฯลฯ ตกลงมุสลิมเหมือนคริสต์ พุทธ พราหมฯ ด้วยหรือไม่ กรณีผู้นำศาสนาแยกออกจากผู้ปกครองสูงสุด”
คำตอบ
เห็นด้วยที่ผู้นำตามหลักการนั้นไม่ได้ยแยกระหว่างผู้นำศาสนากับผู้นำทางการเมือง (ผู้ปกครอง) แต่เมื่อเราถือว่าจุฬาราชมนตรีคือ วะลียุลอัมร์ มิงกุม ในอายะฮฺที่ 59 สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ เราก็ถือว่าท่านคือผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยและเป็นผู้นำไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางศาสนาหรือผู้นำทางการเมืองหรือไม่ ก็คือ “ผู้นำ” และผู้นำศาสนาอิสลามก็คือผู้รู้ทางศาสนาซึ่งเป็นหนึ่งในความหมายของคำว่า “อุลิลอัมริมิงกุม” ตามคำอธิบายในบรรดาตัฟสีรที่ยกมา เมื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใช้ให้ฏออัตต่ออุลิลอัมริมิงกุม ซึ่งหมายถึงผู้นำ เราก็เชื่อตามที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ว่าและเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า
ส่วนนิยามและทัศนะของนักวิชาการที่ท่านอ้างเป็นทัศนะเป็นความเห็นของมนุษย์ เมื่อเราอ้างหลักฐานจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺในเรื่องการฏออัตผู้นำ เราก็เชื่อตามที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ว่า และเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า เราจะไม่กระทำอย่างกลุ่มอื่นที่เมื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สั่งใช้ให้ปฏิบัติแล้ว ชนพวกนั้นก็ตั้งคำถามลงรายละเอียดจนกระทั่งเกือบที่จะไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
เพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ได้สั่งใช้ให้เราปฏิบัติตามเชื่อฟังบุคคลที่ไม่มีตัวตนหรือบุคคลที่ถูกตั้งเงื่อนไขด้วยทัศนะของมนุษย์จนกระทั่งหาบุคคลผู้นั้นไม่เจอหรือทำให้ไม่มีบุคคลที่ว่านั้นด้วยการตั้งคำถาม ซึ่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ระบุรายละเอียดและเงื่อนไขในเรื่องนั้นเอาไว้
แน่นอน เราพอจะรู้ว่าทำไม คงจะซักค้านว่าเราอ้างอายะฮฺอัล-กุรอานและอัล-หะดีษมาครอบจุฬาราชมนตรีแบบผิดเรื่อง หรืออย่างที่ท่านกล่าวว่า “ฉะนั้น การอ้างอิงหลักการกับการนำมาใช้ในสถานที่เป็นจริงมันต่างกัน พึงระวังด้วย” ข้อนี้เป็นทัศนะของท่านที่จะซักค้านอย่างนั้น ท่านจะอ้างว่าเราอ้างผิดเรื่องก็เป็นสิทธิของท่าน แต่เราเชื่อว่าจุฬาราชมนตรีคือผู้นำและเราก็อ้างอิงหลักฐานจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺมาสนับสนุนตามการวิเคราะห์ของเรา เมื่อเราอ้างตัวบทหลักฐานจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺมาสนับสนุนซึ่งเราเชื่อว่าถูกต้อง และเราไม่ถือว่าทัศนะของนักวิชาการจะสำคัญไปกว่าหลักฐานจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ ซึ่งเป็น 2 คำสั่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงใช้ให้เราหวนกลับไปยัง 2 สิ่งนั้น
แล้วท่านก็อ้างว่า “ตามนิยาม” และความเข้าใจของท่านมาหักล้างว่าไม่ถูกต้อง ท่านก็จงนำหลักฐานของท่านมาจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺเพื่อยืนยันเถิดว่า จุฬาราชมนตรีไม่ใช่บุคคลที่เข้าอยู่ในคำว่า “อุลิลอัมริมิงกุม”

قُلْ هَاتُوا بُرْ‌هَانَكُمْ إِن كُنتُمْ صَادِقِين

البقرة : 111
ส่วนที่ถามว่า “ตกลงมุสลิมเหมือนคริสต์ พุทธ พราหมณ์ด้วยหรือไม่ กรณีมีผู้นำทางศาสนาแยกออกจากผู้ปกครองสูงสุด
คำตอบไม่เหมือนอย่างแน่นอน! ต่อให้มุสลิมมีผู้นำทางศาสนาแยกออกจากผู้ปกครองสูงสุดก็ตาม ส่วนท่านจะอ้างว่าเหมือนนั่นก็เป็นมุมมองของท่านไม่ใช่ตัวบททางศาสนา และเราก็ตอบเรื่องนี้โดยละเอียดในบทความ ขอให้ท่านอ่านข้อมูลนั้นด้วยก่อนที่จะซักค้าน
คำถามที่ 3
“เพราะคำว่า “ฮาเก่ม” คือผู้มีอำนาจ ถามว่าจุฬามีอำนาจไหม เมื่อออกคำสั่งแล้ว หากมีคนฝ่าฝืนจุฬาทำอะไรได้บ้าง”
คำตอบ
การนิยามคำว่า “อัล-หากิม” หมายถึงผู้มีอำนาจ นั่นเป็นเพียงหนึ่งในคำนิยามทางภาษา (อัต-ตะอฺรีฟ อัล-ลุเฆาะวียฺ) และเป็นเพียงหนึ่งในคำนิยามทางเทคนิค (อัต-ตะอฺรีฟ อัล-อิศฏิลาหิยฺ) และเราก็เทียบความหมายของอัล-หากิมกับอัล-กอฎียฺเอาไว้ตามข้อมูลในบทความหน้า 10/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
รวมถึงการแยกอำนาจของฝ่ายตุลาการออกจากฝ่ายปกครอง (ฝ่ายบริหาร) และเมื่อถามว่า จุฬาราชมนตรีมีอำนาจไหน ก็ตอบว่า มี! เพราะจุฬาราชมนตรีเป็นบุคคลที่เข้าอยู่ในคำว่า “อุลิลอัมริมิงกุม” ตามที่เรายืนยัน ถามว่าเมื่อออกคำสั่งแล้ว หากมีคนฝ่าฝืน จุฬาราชมนตรีทำอะไรได้บ้าง?
ก็ตอบได้ว่า ถ้าจุฬาราชมนตรีคือบุคคลที่อยู่ในฐานะ “วะลียุลอัมร์” ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนา คนที่ฝ่าฝืนไม่เชื่อฟังวะลียุลอัมร์ก็เท่ากับขัดคำสั่งในอายะฮฺอัล-กุรอานและสุนนะฮฺที่บัญญัติให้เชื่อฟังวะลียุลอัมร์ในกรณีที่ไม่ขัดคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)
ไม่ต้องถามว่าวะลียุมอัมร์จะทำอะไรได้บ้าง คนที่มีอำนาจซึ่งเป็นหากิมอาจจะถูกฝ่าฝืนคำสั่งอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ก็มีอยู่ถมไป เพราะคนที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้มีอำนาจมีปรากฏในทุกยุคทุกสมัย เหตุนั้นอัล-กุรอานจึงสั่งใช้ใหผู้ศรัทธาเชื่อฟังอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และวะลียุมอัมริ ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้มีอำนาจและผู้ไม่มีอำนาจ ตราบใดที่ผู้นั้นเป็นวะลียุลอัมริ และเราก็ถือว่าจุฬาราชมนตรีเป็นวะลียุอัมริ เรามิได้ยึดถือสาระของคำว่า อัล-หากิม เอามาเป็นประเด็นที่กันจุฬาราชมนตรีออกจากผู้ที่เป็นวะลียุมอัมริ เพราะคำว่าวะลียุลอัมริเป็นคำที่ถูกระบุในตัวบทของอัล-กุรอาน
ส่วนคำว่าหากิมที่ท่านนิยามว่าคือผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองซึ่งปรากฏในหลักที่ว่า “เมื่อผู้ปกครองตัดสินแล้ว ข้อขัดแย้งก็ยุติ” นี่มิใช่สิ่งที่เป็นตัวบทจากอัล-กุรอาน เป็นกฏทางนิติศาสตร์ (กออิดะฮฺ ฟิกฮิยะฮฺ) และเราก็ไม่ได้บอกว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้ปกครองหรือหากิม แต่เราบอกว่าจุฬาราชมนตรีเป็นวะลียุลอัมริตามนัยของอัล-กุรอานซึ่งกว้างกว่านัยของคำว่า หากิม
อีกทั้งเรายืนยันว่าจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย เราไม่ได้พูดถึงเรื่องผู้ปกครองหรือหากิม ท่านเป็นผู้พูดและตั้งสมมุติฐานเอาเอง เราจึงไม่ต้องตอบคำถามที่ท่านตั้งประเด็นเอาเองว่า “แต่ปัญหาคือจุฬา” คือผู้ปกครองหรือไม่ ต้องถามต่อว่าปกครองอะไร ถ้าเอาตามกฏหมายบ้านเราจุฬาไม่มีอำนาจลงโทษหรือเอาโทษกับคนที่ไม่เห็นด้วย” สิ่งที่ท่านตั้งคำถามถึงนี้เราไม่จำเป็นต้องตอบ!
คำถามที่ 4
“เพราะนิยามผู้นำตามหลักการนั้นไม่ได้แยกระหว่างผู้นำศาสนากับผู้นำทางการเมือง (ผู้ปกครอง)
คำตอบ
ดูคำตอบของคำถามที่ (2) และบทความหน้า 6/25 , 7/25 , 8/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
คำถามที่ 5
“และหากมี (ระบบผู้นำศาสนา) ถามว่า เคยมีในยุคใดสมัยใดในประวัติศาสตร์อิสลาม”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความหน้า 10/25 , 11/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
และตอบเพิ่มเติมได้ว่า ระบบผู้นำศาสนาจะเคยมีในสมัยใด หรือไม่เคยมีไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่า หากจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ที่เข้าอยู่ในนัยของตัวบทจากอัล-กุรอานที่ระบุว่าเป็น “วะลียุลอัมริ” ก็ไม่ต้องถามถึงระบบผู้นำศาสนา และไม่ต้องถามว่ามีในสมัยใด เพราะวะลียุลอัมริเป็นคำที่ถูกระบุในอัล-กุรอานและคำสั่งใช้ในอายะฮฺดังกล่าวก็ครอบคุลมทุกยุคทุกสมัย จะมีเคาะลีฟะฮฺหรืออิมามอะอฺซอมหรือไม่ก็ตาม
คำถามที่ 6
“ในตัฟสีรเล่มใดที่อธิบายว่า “อุลิลอัมริมิงกุม” หมายถึงผู้นำ (ศาสนาเท่านั้น) ในรัฐที่ไม่ใช่อิสลาม”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความหน้า 12/25 , 13/25 และ 14/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
คำถามที่ 7
“ประเทศไทยเป็นรัฐอิสลามหรือรัฐกุฟร์ ข้อบัญญัติแตกต่างกันหรือไม่”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความหน้า 16/25 , 17/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
และตอบเพิ่มเติมได้อีกว่า ประเทศไทยเจะเป็นรัฐอิสลามหรือรัฐกุฟร์หรือไม่ก็ตาม ประชาคมมุสลิมต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามข้อบัญญัติของศาสนาทุกประการ ทั้งนี้นักวิชาการฟิกฮฺโดยส่วนใหญ่ถือว่าการเคร่งครัดตามบัญญัติของศาสนาเป็นเรื่องที่ครอบคลุมในทุกดินแดน ไม่จะเป็นในดารุลอิสลามหรือมิใช่ก็ตาม (อัต-ตะอายุช อัส-สิลมียฺ บัยนัล มุสลิมีน ว่า ฆอยริฮิม ; ซูเราะหฺมาน ฮิดายาต หน้า 414)
ส่วนกรณีการบังคับใช้เรื่อง “อัล-หุดูด” ซึ่งเกี่ยวพันกับระบอบการปกครองแบบอิสลาม มุสลิมที่อยู่ในดินแดนของดารุลหัรบ์หรือดารุลกุฟร์ไม่ถูกจัดอยู่ในกรอบของการเคร่งครัดที่ต้องปฏิบัติตามเรื่อง “อัล-หุดูด” ตามทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ (อ้างแล้ว หน้า 422)
และกรณีการเคร่งครัดปฏิบัติตามบรรดาข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้ตามอำนาจในด้านการปกครองหรือกฏหมาย ก็ให้อาศัยบรรดานักวิชาการทางศาสนาของพวกเขาซึ่งตามปกติจะมีการตั้งสถาบันหรือองค์กรที่ดูแลกิจการของชาวมุสลิมในประเทศที่เข้าข่ายเป็นดารุลอะฮฺดิ (ซึ่งประเทศไทยก็ถูกจัดอยู่ในดินแดนประเภทนี้นอกเหนือจากการเป็นดารุสสลามที่กล่าวมาแล้ว) ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐบาลของประเทศนั้นจะรับรองหรือไม่ก็ตาม (อ้างแล้ว หน้า 415)
แน่นอน เรามิได้ปฏิเสธกรณีที่เกิดขึ้น เนื่องจากการแบ่งประเภทของดินแดนในการมีข้อบัญญัติทางศาสนาในบางเรื่องที่แตกต่างกันระหว่างดินแดนดารุลอิสลามและดารุลกุฟร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดในตำรับตำราทางวิชาการระบุเอาไว้ และการลงรายละเอียดในเรื่องนี้ย่อมส่งผลให้คำตอบต่อประเด็นคำถามที่ตั้งมายืดยาวออกไปอีก เราจึงของสงวนสิทธิในการที่จะตอบโดยละเอียดในเรื่องนี้ไว้ก่อน
เพราะอย่างไรเสีย การแบ่งประเทภของดินแดนและบัญญัติที่แตกต่างกันบางประเด็นซึ่งเป็นผลมาจากการแบ่งประเภทดินแดนเป็นทัศนะของนักวิชาการที่เห็นต่างกัน และโดยข้อเท็จจริงการแบ่งประเภทดังกล่าวไม่มีตัวบทระบุมาทั้งในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ (อาษารุล หัรบ์ ฟิล ฟิกฮิลอิสลามียฺ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุฮัยลียฺ หน้า 194)แต่เรื่องการฏออัตต่อวะลียุลอัมริเป็นข้อชี้ขาดโดยบัญญัติของศาสนาที่มีปรากฏในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ และการเคร่งครัดต่อบัญญัติของศาสนาตามความสามารถเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทุกดินแดน ไม่ว่ามุสลิมจะอยู่ในดินแดนดารุลอิสลามหรือดารุลกุฟร์ก็ตาม
คำถามที่ 8
“หากผมประกาศว่า ผมคือผู้นำของประเทศไทย ผมพูดได้หรือไม่ พูดได้ แต่ข้อเท็จจริงเป็นหรือไม่ ตอบว่า ไม่ ดังนั้นปัญหาคือใครเป็นผู้นำ เข้าใจหรือยัง”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความหน้า 14/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
(เพิ่มเติม) ประโยคคำถามของท่านมิใช่เนื้อหาที่วิเคราะห์มาจากตัวบทหลักฐาน เป็นเพียงคำพูดในเชิงตรรกะที่สับสนและยากที่จะเข้าใจตลอดจนค้านกับข้อเท็จจริง จุฬาราชมนตรีไม่ได้ประกาศว่าตัวท่านคือผู้นำของประเทศไทย แต่ท่านได้รับการคัดเลือกจากบรรดาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ และท่านเป็นผู้นำกิจการอิสลามในประเทศไทยตามมาตรา (6) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 การเป็นผู้นำของจุฬาราชมนตรีถูกประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา
 
โปรดอย่าอ้างว่า “เรายกกฏหมายมาอ้าง” เพราะกฏหมายคือข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ขัดต่อบัญญัติของศาสนา และการยกกฏหมายมาอ้างเพื่อตอบคำถามของท่านเป็นการหักล้างคำกล่าวอ้างของท่านซึ่งมิใช่ตัวบทศาสนา และประเด็นที่ท่านประกาศคือ “ผู้นำของประเทศไทย” เมื่อเป็นเรื่องการประกาศความเป็นผู้นำของประเทศไทยก็ต้องใช้กฏหมายของประเทศไทยเป็นตัวชี้ขาดว่าเป็นผู้นำจริงหรือไม่?
 
หรือว่าผู้ประกาศพูดเอาเอง คงไม่ต้องเอาถึงขั้นประกาศเป็นผู้นำของประเทศหรอก เอาแค่ว่า ท่านประกาศว่าตนเองเป็นอิมามประจำมัสยิดที่มีทะเบียน แล้วโดยข้อเท็จจริงท่านไม่ได้เป็นอิมามที่มีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คำประกาศของท่านจะทำให้ท่านเป็นอิมามประจำมัสยิดตามกฏหมายได้หรือ ใครคัดเลือกท่านและใครที่รับรองท่าน?
 
สำหรับจุฬาราชมนตรีนั้นอย่างน้อยก็มีตัวแทนของชาวมุสลิมที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ร่วมกันเสนอชื่อและคัดเลือก ตลอดจนท่านเป็นผู้นำองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทยทั้งพฤตินัยและนิตินัย ท่านไม่เคยประกาศว่าตัวท่านเป็นผู้นำของประเทศไทย เพราะผู้นำของประเทศไทยคือนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่จุฬาราชมนตรี
 
และท่านก็อย่าได้อ้างว่า เราแยกผู้นำศาสนาออกจากการเมือง เพราะเราได้ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วว่าถึงแม้จะเป็นผู้นำทางศาสนา ก็ไม่มีตัวบทใดๆ ในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺระบุว่าผู้นำศาสนามิใช่วะลียุลอัมริ แต่ในทางกลับกันมีคำอธิบายในตัฟสีรฺหลายเล่มที่ยกมาระบุว่า ผู้รู้ทางศาสนา (อัล-อุละมาอฺ , อะฮิลุลฟิกฮฺ วัดดีน) เป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าอยู่ในความของ “อุลิลอัมริมิงกุม” ที่มีตัวระบุให้ฏออัตเชื่อฟัง
 
หากท่านจะค้านว่า “จุฬาราชมนตรี” ไม่ใช่บุคคลที่เข้าอยู่ในความของ “อุลิลอัมริมิงกุม” ก็ขอได้โปรดยกหลักฐานจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺมาสนับสนุนความเห็นของท่านเถิด ขอโปรดอย่าได้นำทัศนะและความคิดของมนุษย์มาอ้างในเรื่องนี้เลย เพราะเมื่อเราขัดแย้งกัน ก็ให้เราหวนกลับไปยังกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺมิใช่หรือ?
คำถามที่ 9
“มีคนบังคับให้ตาม “จุฬา” ผมถามว่า จุฬาคือใคร มีคนตอบว่า “คือผู้นำ” ผมถามว่า “ผู้นำอะไร” เพราะในศาสนาเรามีผู้นำหลายประเภท หลายระดับ”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความ หน้า 15/25  (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
(เพิ่มเติม) ในเมื่อยอมรับเองว่า ในศาสนาเรามีผู้นำหลายประเภทและหลายระดับ ทุกประเทภทุกระดับนั้นก็เป็นผู้นำมิใช่หรือ? หากตอบว่า “ใช่” ก็ไม่ต้องถามว่า “ผู้นำอะไร?” แต่ถ้าตอบว่า “ไม่ใช่” ก็ช่วยบอกทีว่ามีผู้นำประเภทใดหรือระดับใดที่ไม่ใช่ “ผู้นำ” หรือ “ผู้นำอะไร” ที่ไม่ใช่ผู้นำ!
จริงๆ แล้วน่าจะถามเขากลับไปว่า “จุฬาเป็นผู้นำจริงหรือ?” เพราะในศาสนาของเราไม่มีจุฬาเป็นผู้นำ หรือมุสลิมในประเทศไทยไม่มีผู้นำ เพราะผู้นำจริงๆ นั้นต้องมีลักษณะ คุณสมบัติและเงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้ ถามอย่างนี้น่าจะดีกว่ามั้ย หรือไม่ก็ถามในเชิงค้านเขาไปเลยว่า “ผู้นำอะไร๊?” (ยกเสียงสูง) แล้วก็ตามด้วยประโยคที่ว่า “ใครว่าเป็นผู้นำ ไม่ชงไม่ใช่อะไรหรอก เอาอะไรมาว่า ว่าจุฬาเป็นผู้นำ เลอะเทอะ กำปั้นทุบดิน!”
เพราะถ้าถามอย่างนี้ก็ไม่ต้องให้เหตุผลตามที่ยกมาว่า “เพราะในศาสนาเรามีผู้นำหลายประเภท หลายระดับ” เพราะให้เหตุผลอย่างนี้ก็ย่อมเปิดช่องให้เขาถามต่อเอาได้ว่า แล้วจุฬาเป็นผู้นำประเภทใด ระดับใด? ถ้าตอบว่า เป็นผู้นำเล็กหรือระดับย่อย เขาก็จะค้านเอาได้ว่า “ก็ยังเป็นผู้นำอยู่ดีจะเล็กหรือย่อย ก็ตาม!
คำถามที่ 10
“คำว่า ผู้นำ (อัล-อิมามะฮฺ) ตามหลักการอิสลามมีกี่ประเภท”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความ หน้า 18/25 , 19 , 25  (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
คำถามที่ 11
“และตำแหน่งชัยคุลอิสลาม มีขั้นในสมัยใด และมีหรือไม่ในศาสนาอิสลาม และถ้าไม่มีมันจะพอเทียบเคียงได้กับตำแหน่งใด”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความ หน้า 19/25 , 20/25 , 21/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
คำถามที่ 12
“หากบอกว่าจุฬาคือผู้นำ ก็ต้องถามว่าผู้นำตามที่นักวิชาการสังเคราะห์ไว้คือ อามมะฮฺและคอศเศาะฮฺหรือเรียกว่า กุบรอกับศุฆรอ จุฬาอยู่ประเภทไหน?”
คำตอบ
ดูคำตอบในบทความ หน้า 22/25 , 23/25 (ตามไฟล์ pdf คลิ๊ก>> https://goo.gl/tKtxn5)
อนึ่ง ตามที่ผมได้พูดคุยโทรศัพท์กับท่านอาจารย์โดยตรง และตกลงว่าจะตอบคำถามในเชิงสรุปเพื่อให้ท่านอาจารย์ได้จับประเด็นจากบทความของผม ก็ขอเรียนว่า ผมคงทำได้เพียงแค่นี้ เพราะจริงอย่างอาจารย์ได้ปรารภไว้ว่ามันเยอะและมีหลายประเด็นที่น่าจะออกนอกเรื่อง ผมจึงทำสรุปได้เพียงแค่นี้ พร้อมใส่ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ด้วย
โปรดได้อย่าถือสา ข้อมูลเรื่องนี้คงไม่มากไปกว่าการเขียนหักล้างกลุ่มกอดยานียฺที่ทางกลุ่มอัส-สะละฟียูนได้เคยกระทำเป็นหนังสือเล่มโตแจกแจงมาแล้ว บทความของผมมีเพียงแค่ 25 หน้ากับข้อความเพิ่มเติมในหมายเหตุนี้ยังนับว่าน้อยกว่าข้อมูลในหนังสือเล่มนั้น หวังว่าอาจารย์จะเขียนบทความซักค้านกลับมา เมื่อต้นฉบับเสร็จแล้ว ผมขออนุญาตลงเผยแผ่ในเวบไซด์ของผมด้วยเพื่อเป็นวิทยาทานแก่พี่น้องมุสลิมทั่วไป
والله ولي التوفيق والهداية
والسلام عليكم ورحمة الله وبركاته