15.อัต-ตีญานียฺกล่าวหาบรรดาเศาะหาบะฮฺในเหตุการณ์สนธิสัญญาอัล-หุดัยบียะฮฺ

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : เรื่องโดยสรุป แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ออก (จากนครมะดีนะฮฺ) ในปีที่ 6 แห่งการอพยพโดยประสงค์ทำอุมเราะฮฺพร้อมกับเหล่าเศาะหาบะฮฺจำนวน 1,400 คน ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ใช้ให้พวกเขานำเอาดาบใส่ในฝัก ตัวท่านและเหล่าเศาะหาบะฮฺได้ครองอิหฺรอมที่ซุลหุลัยฟะฮฺ….แต่พวกกุรอยชฺด้วยความหยิ่งยะโสของพวกเขาเกรงว่าชาวอาหรับจะได้ยินว่า มุฮัมมัดได้เข้าสู่นครมักกะฮฺด้วยการรบพุ่งและทำลายเสี้ยนหนามของพวกเขา พวกเขาจึงส่งคณะผู้แทนไปยังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยมีสุฮัยลฺ อิบนุ อัมรฺ อิบนิ อับดิวัด อัล-อามิรียฺเป็นผู้นำ…และพวกเขาได้กำหนดเงื่อนไขต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หลายเงื่อนไขที่แข็งกร้าว ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ยอมรับมันเพื่อเป็นไปตามสิทธิประโยชน์ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้มีวะหิยฺมายังท่าน

 

แต่ทว่ามีเศาะหาบะฮฺบางคนที่การกระทำเช่นนี้จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่เป็นที่พอใจสำหรับพวกเขา พวกเขาจึงคัดค้านท่านในเรื่องนั้นอย่างรุนแรง อุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบได้มาหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วกล่าวว่า : ท่านมิใช่นบีของอัลลอฮฺจริงๆ กระนั้นหรือ? ท่านกล่าวว่า : หาเป็นเช่นนั้นไม่ อุมัรฺกล่าวว่า : พวกเรามิได้อยู่บนความถูกต้องและศัตรูของพวกเรามิได้อยู่บนความเท็จกระนั้น หรือ? ท่านกล่าวว่า : หามิได้….ต่อมาอุมัรฺ อิบนุ อับ-คอฏฏอบก็มาหาอบูบักรฺแล้วกล่าวว่า : โอ้ อบูบักรฺ บุคคลผู้นี้มิใช่นบีของอัลลอฮฺจริงๆ หรือ? อบูบักรฺกล่าวว่า : หามิได้ แล้วอุมัรฺก็ถามอบูบักรฺด้วยคำถามเดียวกับที่เขาได้ถามท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม) อบูบักรฺก็ตอบอุมัรฺด้วยคำตอบเดียวกัน….

 

เมื่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสร็จสิ้นจากการเขียนสนธิสัญญา ท่านได้กล่าวกับเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านว่า : พวกท่านจงลุกขึ้นแล้วจงเชือดสัตว์ จากนั้นก็จงโกนศีรษะ ขอสาบานต่ออัลลออฺไม่มีเศาะหาบะฮฺคนใดเลยลุกขึ้นมาจนกระทั่งท่านได้กล่าวคำสั่งของท่าน ท่านจึงเข้าไปยังที่พักของท่าน ต่อมาท่านก็ออกมาโดยไม่พูดสิ่งใดกับคนหนึ่งคนใดจากพวกเขา กระทั่งท่านได้เชือดอูฐด้วยมือของท่าน และเรียกคนโกนผมของท่าน ผู้นั้นก็โกนศีรษะของท่าน เมื่อเหล่าเศาหาบะฮฺเห็นสิ่งนั้นพวกเขาก็ลุกขึ้นแล้วเชือดสัตว์ แล้วก็เริ่มโกนศีรษะให้แก่กัน จนกระทั่งบางคนของพวกเขาเกือบจะฆ่าอีกบางคน” (อัต-ตีญานียฺอ้างที่มาของเรื่องนี้จากเศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺ กิตาบอัช-ชุรูฏ บาบ อัช-ชุรูฏฟิลญิฮาด เล่มที่ 2 หน้า 122 , เศาะหิหฺมุสลิม ในบาบ ศุลหุ อัล-หุดัยบียะฮฺ เล่มที่ 2) (ษุมมะฮฺตะดัยตุ หน้า 93-94)

 

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงเรื่องนี้ว่า “ณ จุดนี้ข้าพเจ้าได้หยุดและข้าพเจ้าก็ไม่สามารถที่จะอ่านสิ่งในทำนองนี้ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้คล้อยตาม และไม่พอใจจากพฤติกรรมของเหล่าเศาะหาบะฮฺที่มีต่อท่านนบีของพวกเขา ผู้มีปัญญาจะยอมรับได้หรือถึงคำกล่าวของผู้ที่กล่าวว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และดำเนินการตามคำสั่งนั้นโดยลุล่วง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ตัดรอนสิ่งที่พวกเขาปรารถนาเหนือพวกเขา ผู้มีปัญญาจะจินตนาการได้หรือว่าการพฤติกรรมนี้ต่อหน้าท่านนบีเป็นเรื่อง เล็กๆ หรือถูกยอมรับได้ หรือถูกแก้ต่างได้ (ยกอายะฮฺที่ 65 จากสูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ)

 

วิภาษ

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงเหตุการณ์ทำสนธิสัญญาอัล-หุดัยบียะฮฺแบบรวบรัด โดยไม่อ้างคำสาระสำคัญที่อิมามอัล-บุคอรียฺได้รายงานเอาไว้ เช่น คำกล่าวของอุรวะฮฺ อิบนุ มัสอูดหนึ่งในตัวแทนของฝ่ายกุรอยชฺที่กล่าวกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างดูแคลนว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺจะหนีและละทิ้งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะสัลลัม) ทำให้ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ถึงกับสบถต่ออุรวะฮฺและถามว่า : พวกเรานี่หรือจะหนีและละทิ้งเขา? และทุกครั้งที่อุรวะฮฺพูดก็จะจับเคราของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยดูแคลนท่าน ทำให้อัล-มุฆีเราะฮฺ อิบนุ ชุอฺบะฮฺ (ร.ฎ.) ปัดมือของอุรวะฮฺด้วยด้ามฝักของดาบ

 

สาระสำคัญในรายงานระบุว่า เมื่ออุรวะฮฺได้กลับไปหาพวกกุรอยชฺเขากล่าวว่า : โอ้ กลุ่มชน ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แน่แท้ ฉันเคยเป็นตัวแทนเข้าเฝ้าบรรดากษัตริย์ และฉันเคยเข้าเฝ้าก็อยศอรฺ (จักรพรรดิ์เปอร์เซีย) กิสรอ (จักรพรรดิ์โรมัน) และอัน-นะญาชียฺ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่เคยเห็นกษัตริย์องค์ใดเลยที่บริวารของกษัตริย์ผู้นั้นจะยกย่องผู้นั้น เหมือนอย่างพรรคพวกของมุฮัมมัดได้ให้เกียรติยกย่องต่อมุฮัมมัด ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ มุฮัมมัดไม่ได้บ้วนน้ำลายนอกเสียจากมันได้ตกอยู่ในมือคนหนึ่งของพวกเขา เมื่อมุฮัมมัดใช้พวกเขา พวกเขาก็เร่งรีบทำตามคำสั่ง เมื่อมุฮัมมัดอาบน้ำละหมาดพวกเขาก็เกือบจะฆ่ากันเพื่อแย่งน้ำละหมาดของมุฮัมมัด เมื่อพวกเขาพูด พวกเขาก็จะลดเสียงต่ำลง ณ มุฮัมมัด พวกเขาจะไม่มองจ้องหน้ามุฮัมมัดเนื่องจากให้เกียรติต่อเขา (เศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 2 กิตาบอัช-ชุรูฏ เลขที่ 2581)

 

และนี่คือคำบอกเล่าอันเป็นการยอมรับของอุรวะฮฺซึ่งเป็นผู้หนึ่งจากบรรดามุชริก ที่กล่าวถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เหตุไฉน อัต-ตีญานียฺจึงตัดใจความอันเป็นสาระสำคัญออกไปโดยไม่นำมากล่าวถึง แน่นอน! หากอัต-ตีญานียฺนำอัล-หะดีษส่วนนี้มากล่าวตามที่อิมามอัล-บุคอรียฺรายงานเอา ไว้ คำพูดของอัต-ตีญานียฺก็จะไร้ความหมายและไม่มีน้ำหนักเหลืออยู่แต่อย่างใด เพราะเป็นใจความที่ขัดกับคำสาธยายของอัต-ตีญานียฺอย่างไม่ต้องสงสัย

 

อัต-ตีญานียฺอ้างถึงรายงานของอิมามมุสลิมในเชิงอรรถแต่ไม่นำรายงานนี้มาอ้างประกอบเพื่อความชัดเจนในการวิเคราะห์และสืบค้นความจริง เพราะในรายงานของอิมามมุสลิมมีสาระสำคัญที่อัต-ตีญานียฺพยายามเลี่ยงที่จะไม่ให้สะดุดหรือขัดกับการสาธยายของตน

 

อิมามมุสลิมรายงานจากอัล-บะรออฺ อิบนุ อาซิบ (ร.ฎ.) ว่า : “เมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ถูกกัก ณ บัยตุลลอฮฺ พวกมักกะฮฺได้ทำสนธิสัญญากับท่านว่าให้ท่านเข้าสู่นครมักกะฮฺแล้วให้ท่านพำนักอยู่ที่นั่นได้ 3 วัน…ท่านจึงกล่าวกับท่านอะลี (อิบนุ อบีฏอลิบ) ว่า : จงเขียนบรรดาเงื่อนไขระหว่างเราว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺพระผู้ทรงเมตตา พระผู้ทรงกรุณายิ่ง นี่คือสิ่งที่มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮฺได้ชี้ขาดสิ่งนั้น” ฝ่ายมุชริกีนก็กล่าวว่า : หากพวกเรารู้ว่าท่านคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ เราก็ปฏิบัติตามท่านแล้ว แต่จงเขียนว่า : มุฮัมมัดบุตรของอับดุลลอฮฺ  ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) จึงใช้ให้อะลีลบประโยคนั้นเสีย อะลีกล่าวว่า : ไม่ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะไม่ลบมัน! ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า : จงให้ฉันดูที่ของประโยคนั้น อะลีก็ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ดูที่ประโยคนั้นแล้วนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ก็ลบมัน….” (เศาหิหฺมุสลิมพร้อมคำอรรถาธิบาย เล่มที่ 12 หน้า 190-191 กิตาบอัล-ญิฮาดวัส-สิยัรฺ บาบ ศุลห์ อัล-หุดัยบียะฮฺ)

 

และหะดีษเดียวกันนี้ อิมามอัล-บุคอรียฺก็บันทึกเอาไว้จากอัล-บะรออฺ อิบนุ อาซิบ (ร.ฎ.) ว่า : “อะลี อิบนุ อบีฏอลิบได้เขียนสนธิสัญญาระหว่างท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) และระหว่างพวกมุชริกีนในวัลอัล-หุดัยบียะฮฺ แล้วอะลีก็เขียนว่า นี่คือสิ่งที่มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮฺได้ให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึง สิ่งนั้นเอาไว้ พวกมุชริกีนก็กล่าวว่า : ท่านอย่าได้เขียนว่า มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮฺ เพราะหากเรารู้ว่าท่านนั้นคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ เราก็คงไม่สู้รบกันท่าน! ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า : จงลบมันเสีย อะลีจึงกล่าวว่า : ฉันไม่ใช่คนที่จะลบมัน! ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) จึงลบมันด้วยมือของท่าน (ฟัตหุลบารียฺ 5/303 หะดีษเลขที่ 2698) ในบางรายงานระบุว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า : “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะไม่ลบมันตลอดกาล…” (ฟัตหุลบารียฺ 6/286 หะดีษเลขที่ 3184 และเศาะหิหฺมุสลิม 3/1410)

 

ในรายงานของหะดีษข้างต้นระบุชัดว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เป็นผู้หนึ่งจากเหล่าเศาะหาบะฮฺที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เช่นกัน หากเราจะใช่สติปัญญาของอัต-ตีญานียฺและการวิเคราะห์ที่อ้างว่าเป็นกลางในเรื่องนี้ เราก็คงกล่าวเช่นเดียวกับที่อัต-ตีญานียฺสาธยายเอาไว้ว่า : ณ จุดนี้ข้าพเจ้าต้องหยุดชะงักลง ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะอ่านเรื่องเช่นนี้ได้ และข้าพเจ้าไม่ได้คล้อยตามและข้าพเจ้าก็ไม่พอใจจากพฤติกรรมของเศาะหาบะฮฺท่านนี้ ผู้มีปัญญาจะยอมรับได้เชียวหรือถึงคำกล่าวของผู้ที่กล่าวว่า เศาะหาบะฮฺท่านนี้เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) และดำเนินการให้ลุล่วง

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้คำกล่าวนั้นเป็นมุสา และตัดรอนสิ่งที่เขามุ่งหมาย เขานึกว่าตัวเองมีความถูกต้องยิ่งกว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) กระนั้นหรือ ถึงได้ดื้อแพ่งไม่ยอมลบสิ่งที่ถูกเขียนตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ทำให้ท่านจำต้องลบสิ่งนั้นด้วยมือของท่านเอง ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะมีผู้มีปัญญาคนใดกล่าวว่า พฤติกรรมเช่นนี้ที่กระทำต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เป็นเรื่องเล็กน้อยหรือถูกยอมรับหรือถูกแก้ต่างได้…

 

นี่คือสติปัญญาของอัต-ตีญานียฺที่เขาเป็นผู้เขียนเองเมื่อสาธยายถึงการกระทำของเศาะหาบะฮฺเช่น ท่านอุมัร (ร.ฎ.) เหตุไฉน อัต-ตีญานียฺจึงไม่ตรวจสอบเนื้อหาของอัล-หะดีษให้ครบถ้วนเล่า ว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็คือบุคคลหนึ่งที่มีท่าทีไม่ได้แตกต่างจากท่าทีของท่านอุมัร (ร.ฎ.) หากอัต-ตีญานียฺเฉไฉว่า เหตุที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ยอมลบประโยค “มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮฺ” เพราะท่านรักท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) และให้เกียรติท่าน เราก็กล่าวได้ว่าที่ท่านอุมัร (ร.ฎ.) มีท่าทีเช่นนั้นก็เพราะท่านรักท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) และให้เกียรติต่อท่านเช่นกัน

 

ทว่า อัต-ตีญานียฺก็เฉไฉในเรื่องของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ด้วยสติปัญญาและทฤษฎีของเขาโดยให้เหตุผลว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้อยู่ในฝ่ายของ เศาะหาบะฮฺที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) อัต-ตีญานียฺเขียนว่า :

 

“ประการแรก ท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ มิได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเศาะหาบะฮฺ กล่าวคือ ท่านเป็นพี่น้อง เป็นบุตรของลุง เป็นสามีของบุตรสาว และเป็นบิดาของผู้อยู่ในฐานะบุตรของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) แน่นอนท่านอะลีกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) นั้นอยู่ในฟากหนึ่ง และคนอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นก็อยู่อีกฟากหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนักรายงานได้เล่าไว้ในเศาะหิหฺอัล-บุคอรียฺว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ได้ออกคำสั่งแก่เศาะหาบะฮฺของท่านให้เชือดสัตว์พลีและให้โกนศีรษะ ก็ย่อมหมายความว่าบิดาของท่านหะสัน (อ.ล.) มิได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของบุคคลเหล่านั้น เพราะท่านอยู่ในฐานะของฮารูนที่มีต่อมูซา…แล้วอัต-ตีญานียฺก็อ้างเรื่องการกล่าวคำเศาะละวาต (จงถามผู้รู้ (ฉบับแปล) หน้า 200)

 

ประการที่สอง แท้จริงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เคยร่วมในการเชือดสัตว์พลีกับท่านอะลี ผู้เป็นพี่น้องของท่านเองเสมอ… ดังนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ว่าท่านอะลีก็จะเป็นผู้ร่วมหุ้นกับท่านนบีด้วย เช่นกันในวันทำสนธิสัญญาหุดัยบียะฮฺ (อ้างแล้ว หน้า 200-201)

 

ประการที่สาม แท้จริงท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ เป็นคนที่เขียนหนังสือสนธิสัญญาในวันหุดัยบียะฮฺตามคำบอกของท่านศาสนทูตแห่ง อัลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เอง ท่านไม่เคยแสดงอาการคัดค้านท่านนบีเลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดตลอดชีวิตของท่าน ไม่ว่าจะเป็นที่หุดัยบียะฮฺหรือที่อื่น ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกเลยว่า ท่านอะลีจะเคยชักช้าแชเชือนต่อคำสั่งใดๆ ของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) หรือละเมิดฝ่าฝืนท่านสักครั้งเดียว…” (อ้างแล้ว หน้า 201)

 

วิภาษ

เหตุผลประการแรกของอัต-ตีญานียฺฟังดูเข้าที แต่ก็ขัดแย้งกับการแบ่งประเภทเศาะหาบะฮฺของอัต-ตีญานียฺในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ (ดู หน้า 91) เพราะประเภทที่มีความพิเศษคืออะฮฺลุลบัยตฺนั้น อัต-ตีญานียฺก็ยอมรับเองว่าเป็นเศาะหาบะฮฺ เหตุไฉน อัต-ตีญานียฺจึงเขียนใน “จงถามผู้รู้” ของตนว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) มิได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเศาะหาบะฮฺ เพราะถ้าท่านอะลี (ร.ฎ.) มิใช่เศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ก็ย่อมไม่มีผู้ใดอีกแล้วที่จะถูกนับว่าเป็นเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ได้อีกเลย แต่ถ้าค้านว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) มิใช่เศาะหาบะฮฺแต่เป็นอะฮฺลุลบัยตฺ ก็ต้องถามว่า แล้วอะฮฺลุลบัยตฺในสมัยของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เป็นเศาะหาบะฮฺของท่านหรือไม่? หากตอบว่า ไม่ แล้วอัต-ตีญานียฺจะจัดอะฮฺลุลบัยตฺเข้ามาอยู่ในประเภทหนึ่งจากบรรดาประเภทของเศาะหาบะฮฺทำไม แต่ถ้าบอกว่าเป็นเศาะหาบะฮฺก็ขัดแย้งกันเอง เพราะอัต-ตีญานียฺบอกว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของเศาะหาบะฮฺเป็นคนละฝ่ายกันกับพวกนั้น

 

หากถือตามเหตุผลของอัต-ตีญานียฺที่ว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) กับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) อยู่ในฟากหนึ่ง และคนอื่นๆ นอกเหนือจากท่านทั้งสองอยู่อีกฟากหนึ่ง ดังนั้น การออกคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) จึงไม่ได้หมายรวมถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวคือ ท่านอะลี (ร.ฎ.) อยู่เหนือคำสั่งนั้นเนื่องจากสถานะอันสูงส่งของท่านเหมือนกับกรณีของนบีฮารูน (อ.ล.) กับนบีมูซา (อ.ล.) นั่นหมายความว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้รับการยกเว้นที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ในกรณีนี้หรือทุกกรณีก็ได้อย่างนั้นหรือ? กอปรกับคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ให้ทุกคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺทำการเชือดสัตว์และโกนศีรษะ ก็ไม่มีการระบุข้อยกเว้นเอาไว้เฉพาะท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่า ท่านไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) อัต-ตีญานียฺจำต้องหาหลักฐานมาชี้ชัดว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้เชือดสัตว์และไม่ได้โกนศีรษะของท่านในเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่ใช่อ้างเรื่องการกล่าวเศาะละวาตซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

 

เชื่อได้เลยว่า อัต-ตีญานียฺไม่มีหลักฐานทั้งจากฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺมายืนยันว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้เชือดสัตว์และโกนศีรษะของท่าน เพราะในเมื่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้ครองอิหฺรอมเพื่อทำอุมเราะฮฺพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) และบรรดาคนอื่นๆ นับจากตำบลซุลหะลัยฟะฮฺแล้วก็ย่อมไม่มีประเด็นมายกเว้นว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ต้องปฏิบัติเหมือนกับคนอื่นที่ครองอิหฺรอม จริงอยู่ที่มีรายงานระบุว่ามีเศาะหาบะฮฺบางส่วนเช่น ท่านอบูเกาะตาดะฮฺ (ร.ฎ.) ไม่ได้ครองอิหฺรอม เศาะหาบะฮฺกลุ่มนี้จึงไม่ต้องเชือดสัตว์พลี แต่ไม่มีหลักฐานระบุว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้ครองอิหฺรอม จึงไม่มีเหตุการณ์ในการยกเว้นจากการเชือดสัตว์พลี…เพราะแม้แต่ตัวท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เองท่านก็ยังได้ปฏิบัติเช่นนั้น

 

หรือว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ได้กระทำสองสิ่งนั้นแทนท่านอะลี (ร.ฎ.) โดยที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ต้องกระทำสิ่งใดเลยเพราะท่านมีสถานภาพเหมือนกับนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เช่นเดียวกับกรณีของนบีฮารูน (อ.ล.) กับนบีมูซา (อ.ล.) ตามเหตุผลที่อัต-ตีญานียฺอ้างซึ่งเป็นคนละประเด็นกันอยู่ดี กล่าวคือ การอ้างว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นพี่น้องกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) และมีสถานภาพเหมือนกับนบีฮารูน (อ.ล.) กับนบีมูซา (อ.ล.) ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) หรืออยู่นอกเหนือคำสั่งของท่านแต่อย่างใด

 

หากอัต-ตีญานียฺจะอ้างว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เชือดสัตว์พลีแทนท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ต้องถามว่า แล้วการโกนศีรษะเล่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) โกนศีรษะเป็นการตะหัลลุลจากการครองอิหฺรอมอุมเราะฮฺและคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ก็รวมถึงการโกนศีรษะด้วยมิใช่แค่การเชือดสัตว์เพียงอย่างเดียว หากอัต-ตีญานียฺอ้างว่าการโกนศีรษะเป็นคำสั่งที่ไม่นับรวมท่านอะลี (ร.ฎ.) เข้าไปด้วยเช่นเดียวกับการเชือดสัตว์ ก็ต้องถามว่า แล้วท่านอะลี (ร.ฎ.) ตะหัลลุลจากการครองอิหฺรอมของท่านด้วยวิธีการใด? หรือว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้รับข้อยกเว้นในการตะหัลลุลโดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะท่านอยู่ฝ่ายเดียวกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เป็นพี่น้อง เป็นบุตรเขย เป็นลูกของลุง เป็นบิดาของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ผู้มีปัญญายอมรับเหตุผลเช่นนี้ได้หรือไม่?

 

สำหรับเหตุผลประการที่สองของอัต-ตีญานียฺซึ่งอ้างว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) มีส่วนร่วมในสัตว์พลีกับท่านอะลี (ร.ฎ.) ผู้เป็นพี่น้องของท่านอยู่เสมอ จึงจำเป็นที่จะปรากฏว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) จะเป็นผู้ร่วมหุ้นกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ด้วยเช่นกันในวันทำสนธิสัญญาหุดัยบียะฮฺ เหตุผลนี้ดูดีแต่ก็อีกนั่นแหล่ะ เพราะหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้ตามที่ปรากฏในตำราของฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺระบุว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประกอบพิธีฮัจญ์อำลาของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งในเวลานั้นท่านอะลี (ร.ฎ.) อยู่ที่ยะมันแล้วท่านก็มายังนครมักกะฮฺพร้อมกับสัตว์ที่ถูกไล่ต้อนมาจำนวนหนึ่ง ส่วนสัตว์ที่จะเชือดพลีของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) นั้นเป็นอูฐ 100 ตัว ท่านเชือดด้วยมือของท่านจำนวน 63 ตัว ที่เหลือให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) ทำการเชือดโดยท่านอะลี (ร.ฎ.) มีส่วนร่วมในสัตว์ที่ถูกเชือดนั้นกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) (ดู อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุกะษีร เล่มที่ 3 ภาคที่ 5 หน้า 240-241)

 

ส่วนในตำราของชีอะฮฺระบุว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ไล่ต้อนฝูงอูฐมาพร้อมกับท่านจำนวน 100 ตัว และท่านได้กำหนดส่วนให้แก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) 34 ตัว และสำหรับตัวท่านเอง 66 ตัว ซึ่งท่านเชือดด้วยมือของท่านเอง และท่านอะลี (ร.ฎ.) เคยแสดงความภาคภูมิเหนือเศาะหาบะฮฺว่า “มีคนใดในหมู่พวกท่านที่เหมือนฉันเล่า ฉันคือผู้มีส่วนร่วมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ในสัตว์พลีของท่าน มีคนใดในหมู่พวกท่านที่เหมือนฉันเล่า ฉันคือผู้ที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) เชือดสัตว์พลีของฉันด้วยมือของท่าน” (ดู มันละยะหฺฏุรุฮู อัล-กะฟีฮฺ ; อิบนุ บาบะวัยฮฺ อัล-กุมมียฺ เล่มที่ 2 หน้า 181-182) ซึ่งตำราของทั้งสองฝ่ายระบุว่า เป็นเหตุการณ์ในหัจญะตุลวะดาอฺ เพราะท่านอะลี (ร.ฎ.) เดินทางมาจากเมืองยะมัน จึงเป็นคนละเหตุการณ์กับกรณีที่อัล-หุดัยบียะฮฺ ซึ่งเป็นปีที่ 6 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช

 

การอ้างของอัต-ตีญานียฺว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ได้ให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) มีส่วนร่วมในการเชือดสัตว์พลีเมื่อครั้งอัล-หุดัยบียะฮฺจึงขาดความชัดเจน เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน เหตุนั้นอัต-ตีญานียฺจึงเขียนในทำนองสรุปเอาเองว่า ในเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) มีส่วนร่วมในสัตว์พลีอยู่เสมอ (ซึ่งไม่แน่อีกว่า “อยู่เสมอ” จริงหรือไม่) ในครั้งอัล-หุดัยบียะฮฺก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ซึ่งเป็นการคาดเดาเอาเอง เพราะถ้ามีหลักฐานยืนยันในกรณีเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺด้วยเหมือนกับปีหัจญะตุลวะดาอฺ ทำไมอัต-ตีญานียฺจึงไม่นำหลักฐานมาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนเหตุผลของตน ซึ่งนำมาหักล้างนักปราชญ์ชาวตูนิเซียที่ตั้งข้อสังเกตุจากหนังสือ “ษุมมะฮฺตะดัยตุ” ว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เป็นหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ไม่ทำตามคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอัยฮิวะสัลลัม) ด้วยเช่นกัน (ดู จงถามผู้รู้ (ฉบับแปล) หน้า 200)

 

และอัต-ตีญานียฺก็ยอมรับด้วยว่า กรณีที่ชัดเจนในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพิธีหัจญ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งนักวิชาการหะดีษต่างก็กล่าวถึงด้วยกันทั้งหมด (ดู จงถามผู้รู้ (ฉบับแปล) หน้า 201) แต่กรณีเทียบเคียงว่าน่าจะเกิดขึ้นในวันทำสนธิสัญญาอัล-หุดัยบียะฮฺด้วยนั้น เป็นการอนุมานของอัต-ตีญานียฺเอง เพราะไม่มีหลักฐานจากนักวิชการหะดีษกล่าวถึงเอาไว้นั่นเอง

 

ส่วนเหตุผลประการที่สามนั้น เราได้กล่าวถึงรายงานที่มีปรากฏในเศาะหิหฺอัล-บุคอรียฺและมุสลิมว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็แสดงอาการขัดคำสั่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในกรณีการลบข้อความ “มุฮัมมัดศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ” เช่นกัน ดังนั้นการอ้างของอัต-ตีญานียฺที่ว่า ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกเลยถึงการแชเชือนและขัดคำสั่งของท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงเป็นการเจือสมเอาเอง ทั้งๆ ที่ตำราอัล-หะดีษที่ระบุเรื่องราวสนธิสัญญาอัล-หุดัยบียะฮฺก็มีรายงานที่กล่าวถึงการเขียนสนธิสัญญาโดยท่านอะลี (ร.ฎ.) และท่าทีของท่านขณะที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใช้ให้ลบประโยค “มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮฺ” ถึงแม้อัต-ตีญานียฺอาจจะอ้างว่าเป็นการบันทึกของฝ่ายสุนนะฮฺเพียงฝ่ายเดียวก็ตาม กระนั้นก็มิอาจอ้างได้ว่าประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกเรื่องนี้เอาไว้เลย

 

อย่างไรก็ตาม  หากเราจะยอมรับการวิเคราะห์ของอัต-ตีญานียฺในเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺซึ่งไม่อาจรวมท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้แสดงความไม่พอใจต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยเฉพาะท่าทีของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ตลอดจนการล่าช้าของเหล่าเศาะหาบะฮฺในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในกรณีการเชือดสัตว์พลีและการโกนศีรษะ เราก็กล่าวได้ว่าท้ายที่สุดแล้วเหล่าเศาะหาบะฮฺก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อยู่ดี เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือสิ่งที่ชัดเจนและถูกต้องตลอดจนไม่อาจตีความเป็นอื่นได้ ที่สำคัญอัต-ตีญานียฺหลงลืมไปว่าหลังการเชือดสัตว์พลีและการโกนศีรษะของเหล่าเศาะหบะฮฺตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในระหว่างเส้นทางกลับจากอัล-หุดัยบียะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงประทานอายะฮฺที่ 18-19 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ลงมาว่า

 

لَّقَدْ رَضِيَ اللَّهُ عَنِ الْمُؤْمِنِينَ إِذْ يُبَايِعُونَكَ تَحْتَ الشَّجَرَةِ فَعَلِمَ مَا فِي قُلُوبِهِمْ فَأَنزَلَ السَّكِينَةَ عَلَيْهِمْ وَأَثَابَهُمْ فَتْحًا قَرِيبًا

وَمَغَانِمَ كَثِيرَةً يَأْخُذُونَهَا وَكَانَ اللَّهُ عَزِيزًا حَكِيمًا

ความ ว่า “(ขอสาบาน) แน่แท้พระองค์อัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยแล้วต่อบรรดาผู้ศรัทธา ขณะที่พวกเขาได้สัตยาบันกับท่านภายใต้ต้นไม้นั้น แล้วพระองค์ทรงรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในบรรดาหัวใจของพวกเขา พระองค์จึงทรงประทานความสงบทางจิตใจลงมาเหนือพวกเขา และทรงตอบแทนพวกเขาซึ่งการพิชิตอันใกล้ และบรรดาทรัพย์สงครามอันมากมายที่พวกเขาจะได้ยึดเอาบรรดาทรัพย์สงครามนั้น และพระองค์อัลลอฮฺทรงเกริกเกียรติยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง” (อัล-ฟัตห์ : 18-19)

 

(ดู ตัฟสีรฺ อิบนิกะษีร 4/182) สิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรู้ถึงจิตใจของเหล่าเศาะหาบะฮฺก็คือความสัจจริง การรักษาคำมั่นสัญญา การเชื่อฟังและความภักดีนั่นเอง (ตัฟสีรฺ อิบนิกะษีรฺ 4/191) และอายะฮฺในสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์นี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งหักล้างข้อเขียน และการสร้างภาพของอัต-ตีญานียฺในเชิงลบแก่บรรดาเศาะหาบะฮฺในเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺลงอย่างสิ้นเชิง เพราะอายะฮฺดังกล่าวประทานลงมาภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนับตั้งแต่การร่วมสัตยาบันอัรฺ-ริฎวานของเหล่าเศาะหาบะฮฺ ท่าทีของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) และท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการยอมรับข้อตกลงในสนธิสัญญาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่กระทำกับตัวแทนของพวกกุรอยชฺ ตลอดจนการออกคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้เศาะหาบะฮฺของท่านทำการเชือดสัตว์พลีและโกนศีรษะ

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เลวร้ายอย่างที่อัต-ตีญานียฺพยายามเขียนให้เป็นเช่นนั้น เพราะในตอนแรกท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้บอกแก่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านที่นครมะดีนะฮฺว่าท่านฝันเห็นว่าท่านได้ เข้าสู่นครมักกะฮฺและทำการเฏาะว๊าฟรอบบัยติลลาฮฺ เมื่อมีการออกเดินทางในปีอัล-หุดัยบียะฮฺสู่นครมักกะฮฺเหล่าเศาะหาบะฮฺมิได้สงสัยเลยว่าความฝันของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะถูกอธิบายว่าหมายถึงปีนั้น แต่เมื่อมีการขัดขวางของพวกกุรอยชฺและเกิดการทำสนธิสัญญาที่กำหนดให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กลับไปก่อนในปีนั้นและให้หวนกลับมาในปีหน้า สิ่งดังกล่าวได้สร้างความลำบากใจแก่เหล่า เศาะหาบะฮฺ (ดู ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 2/635 , อุ้ล-บิดาะฮฺ วันนิฮายะฮฺ : อิบนุกะษีรฺ 4/170)

 

และคำถามของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ที่มีต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ไม่ใช่เป็นการคัดค้านต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หากเป็นการขอความกระจ่างและประสงค์ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ทบทวนในการตัดสินใจของท่านซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มักจะมีการปรึกษาหารือในกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างเหล่าเศาะหาบะฮฺกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ดังอายะฮฺอัล-กุรอานที่ว่า

 

فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ

“ดังนั้นจงยกโทษแก่พวกเขาและจงขออภัยโทษแก่พวกเขา และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในการกิจ” (อาลิ อิมรอน : 159)

 

ดังนั้นเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนพร้อมกับการเห็นพ้องของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ก็จึงยอมยุติจากการถือในทัศนะของท่านและยอมรับการตัดสินใจของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็มิได้ตำหนิท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) แต่อย่างใด เพราะในบันทึกของอิบนุอิสหากระบุว่า : แท้จริง อบูบักรฺนั้นเมื่อท่านได้กล่าวกับอุมัรฺว่า : จงยึดมั่นสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตัดสินใจโดยเคร่งครัดเพราะเขาคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ก็กล่าวว่า : “และฉันก็ขอยืนยันว่าแท้จริงเขาคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ” (ฟัตหุลบารียฺ เล่มที่ 5 หน้า 409)

 

และในบันทึกของอิมามมุสลิมในเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺขณะที่ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ได้ถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยคำถามดังกล่าวได้ระบุว่า : แล้วอัล-กุรอานก็ได้ประทานลงมาแก่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยการพิชิต (อัล-ฟัตห์) ท่านจึงส่งคนไปบอกท่านอุมัรฺและอ่านอายะฮฺนั้นให้ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ฟัง ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า : โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ นั่นคือการพิชิตกระนั้นหรือ? ท่านตอบว่า : ใช่ ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ก็มีใจยินดีและหวนกลับ (จากทัศนะของท่าน) (ชัรฺหุ เศาะหิหฺมุสลิม เล่มที่ 2 หน้า 194 กิตาบอัล-ญิฮาด หะดีษเลขที่ 1784)

 

ทว่า แทนที่อัต-ตีญานียฺจะนำอายะฮฺอัล-กุรอานในสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์มาอ้างในเรื่อง นี้ อัต-ตีญานียฺกลับนำอายะฮฺที่ 65 จากสูเราะฮฺอัน-นิสาอฺมาอ้างเพื่อโจมตีท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ทั้งๆ ที่ อายะฮฺที่ 65 จากสูเราะฮฺอัน-นิสาอฺเป็นกรณีของอัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ อัล-เอาวาม (ร.ฎ.) กับท่านหาฏิบ อิบนุ อบีบัลตะอะฮฺ ที่ทั้งสองมีกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องน้ำและได้ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ชำระความ (ดู ลุบาบุนนุกูล ฟี อัสบาบินนุซูล ; อัส-สุยูฏียฺ หน้า 97)

 

ซึ่งกรณีการชำระความและพิพากษาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ย่อมถือเป็นที่สิ้นสุดและเด็ดขาด ต่างจากสถานการณ์ในอัล-หุดัยบียะฮฺซึ่งมิใช่การพิพากษาชำระความ หากแต่เป็นกรณีที่ยังอยู่ในขั้นของการปรึกษาหารือ การสอบถามเพื่อทราบข้อเท็จจริงที่ยังไม่ปรากฏชัดและตีความได้ ซึ่งในท้ายที่สุดท่านอุมัร (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺก็ยอมรับในการตัดสินใจของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และปฏิบัติตามเมื่อทุกอย่างได้ข้อยุติแล้ว อีกทั้งยังมีวะหิยฺลงมาเพื่อรับรองถึงความพึงพอพระทัยของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่มีต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺในเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺ ซึ่งอัต-ตีญานียฺทำไขสือ และเลี่ยงที่จะกล่างถึง เพราะว่าหากอัต-ตีญานีย์นำเอาอายะฮฺในสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์มาอ้างประกอบข้อเขียนตามมโนคติของตนก็จะกลายเป็นเพียงสิ่งไร้สาระ และเข้าข่ายปฏิเสธอายะฮฺอัล-กุรอานที่ชัดเจนดั่งแสงตะวันไปในทันที และความไม่พอใจของอัต-ตีญานียฺที่มีต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺในเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺก็จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ในเมื่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสแล้วว่าพระองค์ทรงพึงพอพระทัยต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺ และพระองค์ไม่ทรงผิดในคำสัญญาของพระองค์แต่อย่างใด! เหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงไม่พอใจในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงพอพระทัยเล่า?

 

กระนั้น อัต-ตีญานียฺก็คงอ้างเหตุผลของตนในการไม่ยกอายะฮฺที่ 18 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ได้อีกตามคำอธิบายของนักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺซึ่งไม่ยอมรับว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺเป็นผู้มีศรัทธา ดังกรณีของอายาตุลลอฮฺ อัล-อุซมา มุฮัมมัด อัล-คอลิศียฺ ปราชญ์ชีอะฮฺชาวอีรักซึ่งอ้างว่า “เรากล่าวว่า หากพระองค์ดำรัสว่า แน่แท้ พระองค์อัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยต่อบรรดาผู้ที่สัตยาบันกับท่านที่ใต้ต้นไม้นั้น หรือบรรดาผู้ที่สัตยาบันกับท่าน ในอายะฮฺนั้นก็ย่อมเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าพระองค์ทรงพึงพอพะทัยต่อทุกคนที่ทำสัตยาบัน แต่พระองค์ตรัสว่า “แน่แท้พระองค์อัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยต่อบรรดาผู้ศรัทธา ขณะที่พวกเขาได้สัตยาบันกับท่าน…” ในอายะฮฺจึงไม่มีนัยบ่งชี้ใดๆ นอกเสียจากความพอพระทัยต่อผู้ที่มีศรัทธาจริงๆ เท่านั้น” (ดู อิหฺยาอฺ อัช-ชะรีอะฮฺ ฟี มัซฮับ อัช-ชีอะฮฺ ; มุฮัมมัด อิบนุ มุฮัมมัด มะฮฺดียฺ อัล-กาซิมียฺ อัล-คอลิศียฺ 1/63-64)

 

ซึ่งหากคำอธิบายของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺเป็นจริงดังว่า ทุกเรื่องราวที่อัล-กุรอานกล่าวถึงบรรดาผู้ศรัทธาก็ย่อมมิได้หมายความถึงเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะพวกเขาไม่มีศรัทธาอย่างแท้จริงตามคำอธิบายนั้น แล้วผู้ใดเล่าที่เป็นผู้ศรัทธาที่ร่วมในการสัตยาบันอัรฺริฏวานที่ใต้ต้นไม้นั้น ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กับเศาะหาบะฮฺเพียงหยิบมือกระนั้นหรือ! ทั้งๆ ที่อัล-กุรอานในสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ได้แยกแยะคนกลุ่มต่างๆ เอาไว้อย่างชัดเจน โดยระบุถึงพวกกลับกลอกที่ไม่ยอมออกเดินทางร่วมไปกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในปีอัล-หุดัยบียะฮฺ (อายะฮฺที่ 6 , 11 , 15 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์) และเปิดโปงพฤติกรรมของพวกเขาเอาไว้ในขณะที่พวกผู้ปฏิเสธชาวมักกะฮฺก็ถูกแยกแยะเอาไว้อีกฝ่ายหนึ่งโดยชัดเจน (อายะฮฺที่ 24 , 25 , 26 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์)

 

คงเหลือไว้เฉพาะเหล่าเศาะหาบะฮฺที่ร่วมเดินทางและทำสัตยาบันกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งอายะฮฺที่ 10 ระบุอย่างชัดเจนว่า “แท้จริง บรรดาผู้ที่พวกเขาสัตยาบันกับท่านนั้น อันที่จริงพวกเขาได้สัตยาบันกับพระองค์อัลลอฮฺ” ซึ่งจะเป็นกลุ่มชนใดไปไม่ได้นอกจากเหล่าเศาะหาบะฮฺผู้ศรัทธาเท่านั้น เพราะพวกกลับกลอกและพวกปฏิเสธมิได้ร่วมในการสัตยาบันนั้นด้วย มิหน้ำซ้ำพวกกลับกลอกก็เป็นฝ่ายที่คิดเอาเองว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเหล่าเศาะหาบะฮฺจะไม่ได้กลับสู่ครอบครัวของพวกเขาที่นครมะดีนะฮฺ (อายะฮฺ ที่ 12 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์)

 

แล้วในที่สุดเหล่าเศาะหาบะฮฺก็ได้กลับสู่นครมะดีนะฮฺพร้อมกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างปลอดภัย หากบรรดาผู้ที่ได้กลับสู่นครมะดีนะฮฺจากอัล-หุดัยบียะฮฺไม่ใช่เหล่าผู้ศรัทธาที่แท้จริงแล้ว เหตุไฉนอัล-กุรอานจึงได้ระบุว่าพวกเขาคือผู้ศรัทธาเล่า! เพราะผู้ที่กลับจากอัล-หุดัยบียะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺก็มีแต่เหล่าเศาะหาบะฮฺที่ร่วมไปกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เท่านั้นไม่มีพวกกลับกลอกและไม่มีพวกปฏิเสธร่วมด้วยนับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

 

อัล-กุรอานแยกแยะไว้อย่างชัดเจนโดยไร้ข้อกังขา แต่ปราชญ์ชีอะฮฺอิมามียะฮฺกลับสร้างความสับสนในคำอธิบายของพวกเขาจนกระทั่งไม่อาจจะแยกแยะได้ว่าใครเป็นผู้ศรัทธา ใครเป็นผู้ปฏิเสธ ใครเป็นผู้กลับกลอก อัล-กุรอานไม่ได้ขัดแย้งกันเอง แต่ความคิดและการอธิบายของปราชญ์ชีอะฮฺอิมามียะฮฺคือสิ่งที่ขัดแย้งและสับสน และนี่คือลักษณะของพวกเขาโดยแท้!