18.การกล่าวหาเศาะหาบะฮฺในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ มหาวิปโยค

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “เรื่องโดยสรุปคือ บรรดาเศาะหาบะฮฺได้รวมตัวกันในบ้านของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก่อนการสิ้นชีวิตของท่าน 3 วัน ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ใช้ให้พวกเขานำกระดูกสัตว์และน้ำหมึกมาให้แก่ท่านเพื่อที่ท่านจะได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่พวกเขาโดยจะปกป้องพวกเขาจากความหลงผิด แต่บรรดา เศาะหาบะฮฺขัดแย้งกัน และบางคนได้ฝ่าฝืนคำสั่งและกล่าวหาว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพ้อเจ้อ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงโกรธและให้พวกเขาออกจากบ้านของท่านโดยที่ท่านไม่ได้เขียนสิ่งใดแก่พวกเขา…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 95-96)

 

วิภาษ

ข้อเขียนอัต-ตีญานียฺเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันพฤหัสฯ มหาวิปโยค หรือเหตุการณ์ที่อับโชคเมื่อวันพฤหัสฯ เป็นเรื่องเก่าที่ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺนำมาอ้างเพื่อกล่าวหาเหล่าเศาะหาบะฮฺ และอัต-ตีญานียฺก็นำเรื่องนี่มาเขียนซ้ำ เพราะในหนังสืออัล-มุรอญิอาตของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺก็เขียนถึงเรื่องนี้ (ดู อัล-มุรอญิอาต 86 ลงวันที่ 8 เราะบีอุลเอาวัล 1330 หน้า 521 ฉบับแปลภาษาไทย โดย อัยยูบ ยอมใหญ่ ; ดารอะหฺลิลบัยตฺโดยอัล-มูสาวียฺเขียนตอบชัยคฺ สะลีม อัล-บิชรียฺ ที่มีจดหมายลงวันที่ 7 เราะบีอุลเอาวัล 1330 เพื่อขอพิสูจน์หลักฐานที่ว่าบรรดาสาวกมิได้ยอมรับในคำสั่งต่างๆ ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (อ้างแล้ว หน้า 519)  ดังนั้นข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺและชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เราจึงขอวิภาษข้อเขียนของบุคคลทั้งสองไปพร้อมๆ กันเสียทีเดียว

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “อิบนุ อับบาสกล่าวว่า : วันพฤหัสฯ และอะไรคือวันพฤหัสนั้นเล่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการเจ็บหนัก ท่านจึงกล่าวว่า “มาเถิด ฉันจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่พวกท่าน พวกท่านจะได้ไม่หลงทางหลังจากนั้น” อุมัรก็กล่าวว่า “แท้จริง ท่านนบีมีอาการเจ็บหนักมากแล้ว และพวกท่านก็มีอัล-กุรอาน เพียงพอสำหรับพวกเราซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” แล้วคนที่อยู่ในบ้านนั้นก็ขัดแย้งกันเองและโต้เถียงกัน บางคนกล่าวว่า พวกท่านจงเข้ามาใกล้ๆ ท่านนบีจะได้เขียนลายลักษณ์อักษรให้แก่พวกท่านที่พวกท่านจะไม่หลงผิดหลังจากนั้น บางคนก็เป็นผู้กล่าวสิ่งที่อุมัรได้กล่าว เมื่อพวกเขาได้กระทำสิ่งไร้สาระเป็นอันมาก และขัดแย้งกัน ณ ที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวแก่พวกเขาว่า “จงลุกขึ้นออกไปจากฉันเสีย” แล้วปรากฏว่า อิบนุ อับบาสได้กล่าวว่า “แท้จริงความมหาวิปโยคทั้งหมดของความมหาวิปโยคนั้นคือสิ่งที่มาขวางกั้นระหว่างท่านรสูลและระหว่างการที่ท่านจะได้เขียนลายลักษณ์อักษรดังกล่าวแก่พวกเขาจากการที่พวกเขาได้ขัดแย้งกัน และการส่งเสียงดังของพวกเขา…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 96)

 

ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ อ้างถึงการบันทึกของอัล-บุคอรียฺจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า

“ขณะที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใกล้ที่จะถึงแก่การวายชนม์นั้นที่บ้านของท่านมีผู้คนเป็นจำนวนมาก และในจำนวนนั้นก็มีท่านอุมัรฺ บิน ค็อฏฏอบ รวมอยู่ด้วย ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “ฉันจะให้พวกท่านบันทึกข้อความเพื่อพวกท่านจะได้ไม่หลงผิด” ท่านอุมัรฺได้กล่าวว่า “แท้จริงท่านนบีได้เพ้อไปเสียแล้ว พวกท่านทั้งหลายก็มีอัล-กุรอานอยู่แล้ว ฉะนั้นคัมภีร์ของอัลลอฮฺย่อมเป็นที่เพียงพอแก่เรา” จะเห็นได้ว่าท่านอุมัรฺได้ขัดแย้งต่อคนที่อยู่ในบ้าน ขณะนั้นมีบางคนได้โต้แย้งกันขึ้นโดยกล่าวว่า “จงให้ท่านนบีบันทึกข้อความที่สำคัญให้แก่พวกท่านทั้งหลายเถิด เพื่อพวกท่านจะได้ไม่หลงทาง” แต่แล้วบางคนก็ได้กล่าวเหมือนกับคำถามของท่านอุมัรฺ ครั้นเมื่อพวกเขาได้โต้เถียงและขัดแย้งกันมากขึ้น ขณะที่อยู่ต่อหน้าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ฉะนั้นท่านจึงได้กล่าวแก่พวกเขาเหล่านั้นว่า “จงลุกออกไปเสียเถิด” (อัล-มุรอญิอาต (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 511-512)

 

ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺกล่าวอีกว่า “เรื่องนี้ท่านอิบนุ อับบาสได้กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่อับโชคที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะทำการบันทึกข้อความนี้ให้แก่พวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้พ้นจากความขัดแย้งต่อกัน” (อ้างแล้ว หน้า 512)

 

วิภาษ

1) บรรดาผู่ที่รวมตัวกันภายในบ้านของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นคือเศาะหาบะฮฺจำนวนหนึ่งไม่ใช่เศาะหาบะฮฺทั้งหมดอย่างที่อัต-ตีญานียฺได้พยายามเขียนให้เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เพราะในเศาะหิหฺทั้งสองระบุว่า “เมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใกล้จะเสียชีวิตและในบ้านนั้นมีบรรดาผู้ชาย” (ฟัตหุลบารียฺ 8/132 หะดีษเลขที่ 4432 , มุสลิม 3/1258) คำว่า “และในบ้านนั้นมีบรรดาผู้ชาย” หมายถึงมีคนร่วมอยู่ภายในบ้านของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หลายคนจากเศาะหาบะฮฺของท่าน แต่มิได้หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมด

 

2) ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น แต่สิ่งที่ท่านพูดตามที่มีรายงานในบันทึกของมุสลิมก็คือ “แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นความเจ็บป่วยได้เอาชนะท่าน (หมายถึง ท่านมีอาการเจ็บหนักมากแล้ว) และพวกท่านก็มีอัล-กุรอาน เพียงพอแก่เราแล้วซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่ได้กล่าวว่า “ท่านนบีเพ้อ” อย่างที่อัล-มูสาวียฺเขียนโดยเจาะจงเช่นนั้น เพราะในส่วนของอัล-หะดีษระบุว่า “พวกเขากล่าวว่า…” เป็นสำนวนพหูพจน์มิใช่สำนวนเอกพจน์ ดังนั้นในสำนวนของรายงานส่วนมากซึ่งระบุด้วยสำนวนพหูพจน์จึงยืนยันได้ว่าไม่ใช่คำพูดของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) อย่างที่อัล-มูสาวียฺเขียนแต่อย่างใด

 

ส่วนสำนวนอัล-หะดีษที่อัต-ตีญานียฺนำมาอ้างนั้นก็ระบุชัดเจนว่า “อุมัรฺก็กล่าวว่า : แท้จริงท่านนบีนั้น ความเจ็บป่วยได้เอาชนะท่านแล้ว (หมายถึงมีอาการป่วยหนัก)….” เป็นสำนวนที่มีระบุในริวายะฮฺของอิมามมุสลิม ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่ได้กล่าวว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพ้อแต่อย่างใด

 

3) การขัดแย้งและโต้เถียงกันของบรรดาเศาะหาบะฮฺที่อยู่ภายในบ้านของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอนตามที่มีอัล-หะดีษระบุ แต่เหตุแห่งความขัดแย้งเป็นกรณีของการมีความเข้าใจในคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่บรรดาเศาะหาบะฮฺมีความเข้าใจต่างกันว่านัยของคำสั่งเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) หรือเป็นสิ่งที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพียงแต่ชี้แนะถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่สมควรกระทำ มิใช่เป็นการขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างที่อัต-ตีญานียฺและอัล-มูสาวียฺกล่าวอ้าง

 

ทั้งนี้เป็นเพราะนัยคำสั่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ออกปากนั้นตีความได้เช่นเดียวกับกรณีที่ท่านเคยสั่งบรรดาเศาะหาบะฮฺในวันสมรภูมิอัล-อะหฺซาบที่ว่า “คนหนึ่งจะไม่ละหมาดอัศรินอกจากที่บะนูกุรอยเซาะฮฺ” (ฟังหุลบารียฺ 7/408 หะดีษเลขที่ 4119) ผลจากคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในครั้งนั้น บรรดาเศาะหาบะฮฺมีความเข้าใจต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเกรงว่าจะไม่ทันละหมาดอัศริในเวลานั้น จึงละหมาดอัศริก่อนถึงเขตบะนูกุรอยเซาะฮฺ ส่วนอีกฝ่ายกล่าวว่าเราจะไม่ละหมาดนอกจาก ณ สถานที่ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สั่งใช้ และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ไม่ได้ตำหนิเศาะหาบะฮฺฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใดในเหตุการณ์ครั้งนั้น

 

และในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ นั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ไม่ได้ตำหนิบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ถกเถียงกันภายในบ้านของท่าน หากแต่ได้กล่าวกับพวกเขาว่า “พวกท่านจงปล่อยฉันเถิด” ดังนั้น สิ่งที่ฉันเป็นอยู่ในสิ่งนั้นย่อมดีกว่าสิ่งที่พวกท่านได้เรียกร้องฉันไปยังสิ่งนั้น” และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ได้สั่งเสียพวกเขาใน 3 เรื่องด้วยกัน (ฟัตหุลบารียฺ 8/132 หะดีษเลขที่ 4431 / มุสลิม 3/1257 หะดีษเลขที่ 1637)

 

จะเห็นได้ว่า การขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นการขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตรงแต่เป็นการถกเถียงกันในระหว่างบรรดาเศาะหาบะฮฺที่มีมุมมองต่างกันเกี่ยวกับนัยของคำสั่งที่ตีความได้ กระนั้นเราก็ไม่ปฏิเสธว่า การถกเถียงและส่งเสียงดังต่อหน้าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ของเหล่า เศาะหาบะฮฺเป็นสิ่งที่ไม่บังควรเพราะเหล่าเศาะหาบะฮฺเป็นปุถุชนที่มิได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากความผิด เรื่องในทำนองนี้จึงเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ เหตุนั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวขึ้นว่า “พวกท่านจงลุกขึ้นไปจากฉันเสียเถิด ซึ่งในการรายงานของอิมามอัล-บุคอรียฺเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีถึง 7 กระแสรายงานไม่มีการระบุอย่างชัดเจนแต่อย่างใดว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกรธเคืองบรรดาเศาะหาบะฮฺหรือใช้ให้ไล่พวกเขาออกจากบ้านของท่านอย่างที่อัต-ตีญานียฺระบุไว้ในข้อเขียนของตน

 

แต่เหตุที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวประโยคดังกล่าวนั่นเป็นการออกคำสั่งให้พวกเขายุติจากการโต้เถียงกันเองเพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการเจ็บป่วยมากขึ้นในขณะนั้น เมื่อเหล่าเศาะหาบะฮฺยุติจากการโต้เถียงนั้นแล้วท่านก็ได้สั่งเสียพวกเขาเกี่ยวกับ 3 ประการตามที่มีระบุรายงานมาในอัล-หะดีษ ถ้าหากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกรธเคืองและไล่ เศาะหาบะฮฺออกจากบ้านของท่านในขณะนั้นอย่างที่อัต-ตีญานียฺเขียน แล้วท่านจะสั่งเสียพวกเขาถึงเรื่อง 3 ประการนั้นทำไมเล่า! และหากว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกรธเคืองเหล่าเศาะหาบะฮฺจริง กรณีนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะเหล่าเศาะหาบะฮฺไม่ใช่บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองให้บริสุทธิ์ (มะอฺศูม) จากการกระทำผิด

 

แต่ถ้าอัต-ตีญานียฺจะยืนกรานว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกรธ อัต-ตีญานียฺจะหาคำอธิบายใดให้แก่ท่านอะลี(ร.ฎ.) ในเหตุการณ์ที่อิมามอัล-บุคอรียฺบันทึกเอาไว้ว่า : แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เคาะประตูบ้านของท่านอะลี (ร.ฎ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) ในคืนหนึ่ง แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า : ท่านทั้งสองไม่ละหมาด (กิยามุลลัลย์) หรือ?

 

ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า : โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ ชีวิตของพวกเราอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ เมื่อพระองค์ทรงประสงค์ให้เราลุกขึ้น เราก็ลุกขึ้น แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ผินไปขณะที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวถ้อยคำนั้น โดยที่ท่านไม่ได้กล่าวสิ่งใดตอบกลับมายังท่าน อะลี (ร.ฎ.) แล้วท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ได้ยินท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขณะที่ท่านผินไปโดยตีที่ต้นขาของท่านพร้อมกับกล่าวขึ้นว่า “และมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ชอบโต้เถียงมากที่สุด (เศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 1 บทว่าด้วยการละหมาดตะฮัจญุด หะดีษเลขที่ 1075) อัต-ตีญานียฺมีคำอธิบายต่อการขัดคำสั่งของท่านอะลี (ร.ฎ.) และการอ้างเรื่องลิขิตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เมื่อนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้มาปลุกให้ขึ้นละหมาดตะฮัจญุดหรือไม่! ถ้ามีและสมเหตุสมผลในกรณีของการที่เศาะหาบะฮฺถกเถียงกันก็ย่อมมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป และถ้าหากคำกล่าวของท่านอะลี (ร.ฎ.) มีเหตุผลที่ถูกต้องรองรับคำกล่าวของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ที่ว่า “พวกท่านมีอัล-กุรอาน และย่อมเพียงพอสำหรับเราซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีเหตุผลและถูกต้องเช่นกัน

 

4) ในสำนวนของอัล-หะดีษที่อิมามอัล-บุคอรียฺได้รายงานจากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ใช้สำนวนว่า  ( فَقَالُوْا : مَاشَأْنُهُ؟ أَهَجَرَ اسْتَفْهِمُوْهُ…… )  “แล้วพวกเขาก็กล่าวว่า : อะไรคือเรื่องราวของท่านนบี? ท่านนบีเพ้อไปกระนั้นหรือ? พวกท่านจงถามท่านนบีเถิด…” (ฟัตหุลบารียฺ 8/132 , เศาะหิหฺมุสลิม กิตาบอัล-วะศียะฮฺ 3/1257 หะดีษเลขที่ 1637)

 

สำนวนนี้ใช้พหูพจน์ (พวกเขา) มิใช่เอกพจน์ (เขาจึงกล่าวว่า) ถึงจะกล่าวหาว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้กล่าวประโยคดังกล่าว และสำนวนของอัล-หะดีษก็บ่งชี้ว่านั่นเป็นประโยคคำพูดของเศาะหาบะฮฺฝ่ายที่เห็นด้วยว่าควรทำตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ชี้แนะ เป็นการตอบโต้ฝ่ายที่ว่าไม่ต้องให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เขียนสิ่งดังกล่าว เพราะเศาะหาบะฮฺฝ่ายที่กล่าวประโยคนี้คือ ฝ่ายที่กล่าวขึ้นว่า : พวกท่านจงเข้ามาใกล้ๆ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะได้เขียนลายลักษณ์อักษรให้แก่พวกท่าน พวกท่านจะได้ไม่หลงผิดหลังจากนั้น (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 4432 , มุสลิม 3/1258)

 

แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยซึ่งในสำนวนของอัล-หะดีษบันทึกว่า “และส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือผู้ที่กล่าวสิ่งอื่นนอกเหนือจากนั้น” คือไม่ต้องให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เขียนก็ได้ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเขียนของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงค้านขึ้นว่า ทำไมพวกท่านจึงไม่ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เขียนลายลักษณ์อักษรนั้นให้แก่พวกท่านเล่า ท่านนบีเป็นอย่างไรหรือ ท่านเพ้อไปกระนั้นหรือ ถึงไม่ให้ท่านเขียนสิ่งนั้น พวกท่านจงถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้เป็นที่แน่ชัดสิ! จะเห็นได้ว่า ประโยคที่ว่า “ท่านนบีเพ้อไปกระนั้นหรือ?” เป็นประโยคคำถามในเชิงปฏิเสธ ที่มุ่งเป้าไปยังฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มิใช่เป็นการกล่าวหาว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพ้อแต่อย่างใด!

 

5) แม้ว่ารายงานของอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ที่อัต-ตีญานียฺนำมาอ้างจะระบุเพียงว่า “อุมัรฺจึงกล่าวว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นความเจ็บป่วยได้เอาชนะท่านแล้ว (คือท่านมีอาการป่วยหนัก) และพวกท่านก็มีอัล-กุรอาน และย่อมเพียงพอสำหรับเราซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 96) โดยไม่มีการระบุว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) กล่าวหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่ามีอาการเพ้อ แต่อัต-ตีญานียฺก็เขียนอย่างชัดเจนว่า “และส่วนหนึ่งจากพวกเขา (เหล่าเศาะหาบะฮฺ) คือผู้ที่กล่าวสิ่งที่อุมัรฺกล่าว คือ “แท้จริงท่านนบีกำลังเพ้อ” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 97) อัต-ตีญานียฺยังเขียนอีกว่า : และกระทั่งคำที่ว่า “นบีกำลังเพ้อ” จะถูกเปลี่ยนวัล-อิยาซุบิลลาฮฺด้วยคำที่ว่า “ความเจ็บป่วยได้เอาชนะท่านนบี” เราก็จะไม่มีวันพบสิ่งที่มารับรองคำกล่าวของอุมัรฺที่ว่า “พวกท่านมีอัล-กุรอานและย่อมเพียงพอแก่พวกเราซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” หรือว่าอุมัรฺรู้ซึ่งคัมภีร์อัล-กุรอานมากกว่าท่านรสูลซึ่งอัล-กุรอานได้ประทานมายังท่านหรือว่าแท้จริงท่านรสูลไม่ได้รู้ตัวถึงสิ่งที่ท่านพูดออกมา ไม่มีทางหรือว่าท่านรสูลมีประสงค์ด้วยการใช้สิ่งดังกล่าวในการก่อให้เกิดการขัดแย้งและแบ่งกลุ่มในหมู่พวกเขา อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ”(ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 97)

 

อัต-ตีญานียฺยืนกรานว่าคำพูดของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสำหรับผู้ศรัทธาแล้วก็ย่อมต้องยอมรับในทางนำของคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นอันดับแรก และการปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เป็นผลมาจากคำสั่งที่อัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ ทว่าเหตุที่อัต-ตีญานียฺไม่ยอมรับในคำพูดของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) นั่นเป็นเพราะอัต-ตีญานียฺเขียนว่า : “เพราะแท้จริงคัมภีร์ของอัลลอฮฺเพียงลำพังย่อมไม่เพียงพอสำหรับชี้นำ มีกลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนมากที่อ้างคัมภีร์ของอัลลอฮฺ โดยที่กลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนมากที่อ้างคัมภีร์ของอัลลอฮฺ โดยที่กลุ่มนั้นอยู่ในความหลงผิด…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 180) คนที่มีความเชื่อว่าอัล-กุรอานไม่เพียงพอสำหรับการชี้นำทางจะเป็นผู้ที่ได้รับทางนำได้อย่างไรกัน ทั้งๆ ที่อัล-กุรอานระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

 

إِنَّ هَٰذَا الْقُرْآنَ يَهْدِي لِلَّتِي هِيَ أَقْوَمُ

“แท้จริงอัล-กุรอานนี้จะนำทางสู่สิ่งซึ่งคือหนทางที่เที่ยงตรงยิ่ง” (อัล-อิสรออฺ : 9)

وَمَا أَنزَلْنَا عَلَيْكَ الْكِتَابَ إِلَّا لِتُبَيِّنَ لَهُمُ الَّذِي اخْتَلَفُوا فِيهِ ۙ وَهُدًى وَرَحْمَةً لِّقَوْمٍ يُؤْمِنُونَ

“และเรามิได้ประทานคัมภีร์ลงมาเหนือท่านนอกเสียจากเพื่อที่ท่านจะได้ให้ความกระจ่างแก่พวกเขาซึ่งสิ่งที่พวกเขามีความเห็นขัดแย้งกันในสิ่งนั้น และ (เพื่อเป็น) ทางนำตลอดจนเป็นความเมตตาสำหรับกลุ่มชนที่ศรัทธา” (อัล-นะหฺล์ : 64)

 

 

ในเมื่ออัต-ตีญานียฺมีความเชื่อว่าอัล-กุรอานเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอสำหรับการชี้นำสู่ความถูกต้อง ก็ไม่แปลกที่อัต-ตีญานียฺจะไม่เห็นด้วยกับคำพูดของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) แน่นอนไม่มีผู้ศรัทธาคนใดที่จะหาญกล้าอ้างว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) รู้อัล-กุรอานดีกว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และย่อมไม่มีผู้ใดกล้าที่จะกล่าวอ้างว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ออกคำสั่งในเรื่องการเขียนข้อความสำคัญนี้โดยมีจุดประสงค์ให้เหล่าเศาะหาบะฮฺขัดแย้งและแบ่งฝ่าย ยกเว้นอัต-ตีญานียฺที่คิดได้ตามการตั้งสมมุติฐานของตนเท่านั้น และสิ่งที่ยืนยันว่าอัต-ตีญานียฺมีอคติต่อท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องนี้ก็คือการตอกย้ำข้อกล่าวหาที่ว่า ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้กล่าวว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีการเพ้อ และตั้งแง่กับสำนวนที่ระบุในอัล-หะดีษของอิมามมุสลิมว่าเป็นการสับเปลี่ยน หรือใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า “ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นความเจ็บป่วยได้เอาชนะท่านแล้ว” กับคำว่า “เพ้อเจ้อ” ทั้งๆ ที่คำของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่ได้มีนัยมากไปกว่าคำกล่าวของท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ที่ว่า “วันพฤหัสและอะไรคือวันพฤหัสนั้น ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการป่วยหนัก” และอัต-ตีญานียฺก็อ้างรายงานนี้ในข้อเขียนของตน (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 96) แต่อัต-ตีญานียฺก็ไม่ได้วิจารณ์คำพูดของท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) แต่อย่างใด แม้ว่าทั้ง 2 สำนวนมีนัยไม่ได้ต่างกันเลย

 

6) อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “….แต่ทว่าเราจะพบหรือไม่ถึงคำอธิบายที่กินกับปัญญาสำหรับเหตุการณ์อันน่าเจ็บปวดนี้ ซึ่งทำให้ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกรธเคืองจนต้องขับไล่พวกเขา และทำให้อิบนุ อับบาสต้องร่ำไห้จนกระทั่งน้ำตาของท่านเปียกเม็ดกรวดและเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าวันมหาวิปโยค” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 96)

 

ข้ออ้างที่ว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกรธเคืองจนต้องขับไล่บรรดาเศาะหาบะฮฺออกจากบ้านของท่านนั้นเราได้วิภาษมาแล้ว ส่วนกรณีของการที่ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ต้องร่ำไห้นั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวถ้อยคำของท่านขณะที่ท่านรายงานอัล-หะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มิใช่กล่าวขึ้นในขณะที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และการร่ำไห้ของท่านก็เป็นผลมาจากการระลึกถึงการเจ็บหนักของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และการสิ้นชีวิตในเวลาต่อมา และความเศร้าของท่านก็มีเรื่องของการที่ไม่มีการเขียนข้อความสำคัญในวันพฤหัสฯ นั้นเข้ามาผนวกอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งเป็นความอับโชคหรือวิปโยคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่สงสัยในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สะกีฟะฮฺ บะนี สาอิดะฮฺ ซึ่งถ้าหากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เขียนข้อความสำคัญนั้นข้อสงสัยก็ย่อมหมดไป เพราะอะไร? ก็เพราะท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) คือบุคคลหนึ่งที่เห็นด้วยกับการเสนอท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ให้เป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และได้ให้สัตยาบัน

 

ความอับโชคหรือความวิปโยคจึงเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลที่สงสัยและไม่เห็นด้วยกับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ส่วนคนที่ยอมรับถึงสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) นั่นถือว่าไม่เป็นความอับโชคแต่อย่างใด! และสิ่งที่ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการปรากฏของกลุ่มอุตริกรรมทั้งเคาะวาริจญ์และพวกชีอะฮฺ รอฟิเฎาะฮฺแล้ว ท่านมิได้กล่าวในขณะที่เกิดเหตุการณ์วันพฤหัสฯ นั้นแต่อย่างใด (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 6/316 , ฟัตหุลบารียฺ 1/209)