24. อัต-ตีญานียฺกล่าวหาเศาะหาบะฮฺในกรณีการส่งกองทัพที่นำโดยท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.)

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงกองทัพของท่านอุสามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ อิบนิหาริษะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า
“เรื่องนี้โดยสรุปมีอยู่ว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เตรียมกองทัพเพื่อทำสงครามกับพวกโรมันก่อนการเสียชีวิตของท่าน 2 วัน ท่านได้แต่งตั้งให้อุสามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ อิบนิหาริษะฮฺ เป็นแม่ทัพ และอุสามะฮฺมีอายุ 18 ปี ในกองทัพนี้ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้จัดเตรียมบรรดาบุคคลสำคัญของเหล่ามุฮาญิรีนและอันศอรฺ เช่น อบูบักรฺ, อุมัรฺ, อบูอุบัยดะฮฺ และคนอื่นๆ จากเหล่าเศาะหาบะฮฺผู้อาวุโสที่รู้กันดีให้ร่วมไปในกองทัพด้วย

 

แล้วคนหนึ่งจากพวกเขาก็ตำหนิวิจารณ์ในการแต่งตั้งอุสามะฮฺเป็นแม่ทัพ และพวกเขากล่าวว่า : เด็กหนุ่มที่เครายังไม่ขึ้นที่สองแก้มของเขาได้ถูกแต่งตั้งเป็นแม่ทัพเหนือพวกเราได้อย่างไรกัน? ก่อนหน้านั้นพวกเขาก็เคยวิจารณ์การเป็นแม่ทัพของบิดาของอุสามะฮฺ พวกเขาพูดถึงเรื่องนั้น และวิจารณ์เป็นอันมาก จนกระทั่งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เกิดความโกรธอย่างรุนแรงเนื่องจากสิ่งที่ท่านได้ยินคำตำหนิและการวิจารณ์ของพวกเขา ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ออกมาในสภาพที่พันผ้าบนศีรษะมีพิษไข้ โดยมีชายสองคนหิ้วปีกและเท้าทั้งสองของท่านลากไปบนพื้น ขอไถ่ถอนท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยบิดาและมารดาของฉัน เนื่องจากท่านมีความอ่อนระโหยโรยแรงเป็นอันมาก

 

แล้วท่านก็ขึ้นสู่มิมบัร สรรเสริญเยินยอพระองค์อัลลอฮฺแล้วกล่าวว่า “โอ้ ผองชน อะไรคือคำพูดหนึ่งที่รู้มาถึงฉันจากบางคนของพวกท่านในการแต่งตั้งอุสามะฮฺเป็นแม่ทัพ ขอสาบานหากพวกท่านได้ตำหนิวิจารณ์ในการแต่งตั้งอุสามะฮฺเป็นแม่ทัพแล้วละก็ แน่แท้พวกท่านได้ตำหนิวิจารณ์ในการที่ฉันได้แต่งตั้งบิดาของเขาเป็นแม่ทัพมาก่อนแล้ว ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริง เขา (ซัยดฺ) คือผู้ที่เหมาะสมในการเป็นแม่ทัพ และแท้จริงบุตรชายของเขา (อุสามะฮฺ) ก็ย่อมเหมาะสมในการเป็นแม่ทัพหลังจากเขา…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 100-101)

 

อัต-ตีญานียฺอ้างตำราเป็นหลักฐาน 4 เล่มด้วยกัน คือ เฏาะบะกอต อิบนิ สะอฺด์ เล่มที่ 2 หน้า 190, ตารีค อิบนุ อัล-อะษีรฺ เล่มที่ 2 หน้า 317, อัส-สีเราะฮฺ อัล-หะละบียะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 207 และตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ, เล่มที่ 3 หน้า 226 และกรณีของการกล่าวหาเหล่าเศาะหาบะฮฺว่าขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดจนลบหลู่ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพมิใช่เรื่องใหม่ที่ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺหยิบยกขึ้นมาเพื่อกล่าวหาเหล่าเศาะหาบะฮฺ เพราะชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺก็เคยเขียนเรื่องนี้ในอัล-มุรอญิอาตของตน (ดู อัล-มุรอญิอาต 90 เรื่องตำแหน่งแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ฉบับแปลภาษาไทย อัยยูบ ยอมใหญ่ หน้า 544-551, 556-561)

 

เมื่อเราได้ตรวจสอบเนื้อหาโดยละเอียดที่ถูกรายงานไว้ในตำราอ้างอิงทั้ง 4 เล่มเราจะพบว่าในตำราอัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ ของอิบนุสะอฺด์ ระบุว่า “แล้วคนกลุ่มหนึ่งก็พูดกันว่า : เด็กคนนี้ถูกใช้ให้เป็นแม่ทัพเหนือเหล่ามุฮาญิรีนรุ่นแรก…” (อัฏ-เฏาะบะกอต เล่มที่ 2 หน้า 189-191) สอดคล้องกับสำนวนที่ถูกรายงานในตำราอัส-สีเราะฮฺ อัล-หะละบียะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 207 ของอะลี อิบนุ บุรฺฮานิดดีน อัล-หะละบียฺ สำนักพิมพ์ดารฺ อิหฺยาอฺ อัต-ตุรอษฺ อัล-อะเราะบียฺ ซึ่งใช้สำนวนว่า “แล้วคนกลุ่มหนึ่งก็พูดกันว่า “เด็กคนนี้ถูกใช้ให้เป็นแม่ทัพเหนือเหล่ามุฮาญิรีนรุ่นแรกและชาวอันศอรฺ…”

 

และคำว่า “คนกลุ่มหนึ่ง” (قَوْمٌ) ก็ถูกชี้ชัดในตำราอัล-กามิล ฟิต-ตารีค ของอิบนุ อัล-อะษีรฺ เล่มที่ 2 หน้า 182 สำนักพิมพ์ดารุล กุตุบ อัล-อิลมียะฮฺ ว่า “แล้วพวกมุนาฟิกูนก็กล่าวถึงการเป็นแม่ทัพของอุสามะฮฺ….” ซึ่งสอดคล้องกับรายงานทั้ง 2 รายงานที่ถูกระบุใน “ตารีค อัล-อุมัม วัล-มุลูก” ของอัฏ-เฏาะบะรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 224,225 สำนักพิมพ์ดารฺ อัล-กุตุบ อัล-อิลมียะฮฺ โดยชี้ชัดว่าพวกมุนาฟิกได้กล่าวถึงเรื่องนั้นในริวายะฮฺที่หนึ่ง และชี้ชัดว่า และแน่แท้พวกมุนาฟิกูนได้พูดกันมากในการแต่งตั้งอุสามะฮฺเป็นแม่ทัพ”

 

ดังนั้นในตำราประวัติศาสตร์ทั้ง 4 เล่มที่อัต-ตีญานียฺนำมากล่าวอ้างและเล่าแบบสรุปรวบรัดชี้ชัดว่า คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกระบุในอัฏ-เฏาะบะกอตและสีเราะฮฺ หะละบียะฮฺซึ่งกล่าวลบหลู่และวิจารณ์การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ก็คือพวกมุนาฟิกูนที่กลับกลอก ตามที่ระบุไว้ในตำราอัล-กามิลและตำราตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ แต่อัต-ตีญานียฺใช้สำนวนที่เติมเข้ามาในคำเล่าโดยสรุปรวบรัดว่า “แล้วคนกลุ่มหนึ่งจากพวกเขา (หมายถึงเหล่าเศาะหาบะฮฺ) ก็ได้กล่าวลบหลู่ตำหนิในการแต่งตั้งท่านอุสามะฮฺเป็นแม่ทัพ” เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ผู้ที่กล่าววิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ คือคนกลุ่มหนึ่งจากเหล่าเศาะหาบะฮฺที่เป็นมุฮาญิรีนผู้อาวุโส ทั้งๆ ที่ตำราทั้ง 4 เล่มไม่ได้ระบุเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังระบุชัดเจนว่าเป็นพวกมุนาฟิกูนซึ่งไม่ใช่บรรดาเศาะหาบะฮฺที่เป็นมุฮาญิรีนและอันศอรฺ

 

กระนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อัต-ตีญานียฺจะมุ่งหมายว่าพวกที่กล่าววิจารณ์นั้นคือเหล่าเศาะหาบะฮฺผู้อาวุโสเพราะพวกท่านก็คือพวกกลับกลอกตามที่อัต-ตีญานียฺได้กล่าวหานับครั้งไม่ถ้วน

 

อิบนุ สะอฺด์ ในตำราอัฏ-เฏาะบะกอตและเจ้าของตำราอัส-สีเราะฮฺ อัล-หะละบียะฮฺได้ระบุตรงกันว่า ดังนั้นจึงไม่มีคนใดเหลืออยู่เลยจากบรรดาบุคคลสำคัญของชาวมุฮาญิรีนรุ่นแรก และชาวอันศอรฺนอกเสียจากทุกคนได้อาสาเข้าร่วมในการศึกดังกล่าว ในหมู่พวกเขามีอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก, อุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏ็อบ, อบูอุบัยดะฮฺ อิบนุ อัล-ญัรฺรอหฺ, สะอฺด์ อิบนุ อบีวักก็อศ, สะอีด อิบนุ ซัยดฺ, เกาะตาดะฮฺ อิบนุ อัน-นุอฺมาน และสะละมะฮฺ อิบนุ อัสลัม อิบนิ หะรีช..”

 

รายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้อาสาเข้าร่วมกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ภายหลังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่งให้ระดมพล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เหล่าเศาะหาบะฮฺจะอาสาเข้าร่วมในกองทัพโดยรวมด้วยความสมัครใจ และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็มิได้ออกชื่อของผู้ใดเป็นการเฉพาะยกเว้นแม่ทัพ และการเข้าร่วมในการทำสงคราม ณ เวลานั้นเป็นไปในเชิงฟัรฎูกิฟายะฮฺ มิใช่เป็นไปในเชิงฟัรฎูอัยนฺ สังเกตได้จากสำนวนของรายงานที่ระบุว่า (إلاَّ انْتَدَبَ فِىْ تِلْكَ الْغَزْوَةِ) ยกเว้นเสียแต่ว่า (เศาะหาบะฮฺทุกคนจากชนมุฮาญิรีนรุ่นแรกและอันศ็อรฺ) ได้อาสาในการทำศึกดังกล่าว” (อัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ อิบนุสะอฺด์ เล่มที่ 2 หน้า 189)

 

และในตำราอัล-กามิลของอิบนุ อัล-อะษีรฺ เล่มที่ 2 หน้า 182 ใช้สำนวนว่า (وَأَوْعَبَ مَعَ أُسامةَ المُهَاجِرُوْن الأولونَ….) และบรรดาชนมุฮาญิรีนรุ่นแรกได้ออกไปพร้อมกับอุสามะฮฺโดยไม่เหลือผู้ใดเลย” คำว่า (أَوْعَبَ القومُ) หมายถึง “กลุ่มชนนั้นได้ออกไป และไม่มีผู้ใดเหลือจากพวกเขาเลย” (อัล-มุนญิด ฟิลลุเฆาะฮฺ วัล-อะอฺลาม หน้า 907) นั่นแสดงว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺไม่ได้ล่าช้าในการอาสาออกศึก ไม่ได้แข็งขืนต่อคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหา เพราะท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ได้นำบรรดาเศาะหาบะฮฺที่อาสาร่วมออกศึกออกไปตั้งค่ายที่อัล-ญุรุฟเพื่อเตรียมเคลื่อนทัพ (อัฏ-เฏาะบะกอต อิบนุ สะอฺด์ 2/190)

 

แต่ทว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการป่วยที่หนักมากขึ้นจึงเป็นเหตุให้ท่าน อุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ขออนุญาตต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้ประวิงเวลาออกไปสำหรับการเคลื่อนทัพสู่ตำบลอุบนา แคว้นชาม เพื่อรอดูอาการของท่าน (ดูเรื่องที่ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ขออนุญาตท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในอัล-มุรอญิอาต (92) ของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 560-561)

 

ประเด็นจึงอยู่ที่กรณีของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ที่ขออนุญาตให้ล่าช้าการเคลื่อนทัพเพื่อรอดูอาการของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งหากท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) มีคำสั่งให้เคลื่อนทัพในขณะนั้นเลย ก็ย่อมไม่มีเศาะหาบะฮฺท่านใดปฏิเสธหรือล่าช้าอย่างแน่นอน และในตำราอัล-มุรอญิอาตก็อ้างด้วยว่า “และท่านอุสามะฮฺก็ได้ดำเนินการจัดเตรียมกองทัพเพื่อออกไปทำสงคราม ครั้นเมื่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ฟื้น ท่านก็ได้ถามถึงท่านอุสามะฮฺและถามถึงเรื่องการจัดกองทัพเพื่อไปทำสงคราม ท่านก็ได้รับคำตอบว่า พวกเขาเหล่านั้นได้จัดเตรียมกองทัพแล้ว…ครั้นแล้วก็ปรากฏว่า ท่านอุสามะฮฺได้นำกองทหารออกไปพร้อมกับถือธงชัยอยู่ท่ามกลางของกลุ่มบรรดาสาวก จนกระทั่งว่าทุกคนได้ร่วมเข้าประจำการในกองทัพ เช่น ท่านอบูบักร ท่านอุมัรฺ และบรรดามุฮาญิรีนและชาวอันศอรฺอีกเป็นจำนวนมาก…” (อัล-มุรอญิอาต หน้า 561)

 

เมื่อรายงานของฝ่ายสุนนะฮฺและฝ่ายชีอะฮฺระบุตรงกันว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺได้จัดเตรียมกองทัพและออกไปตั้งค่ายที่อัล-ญุรุฟแล้ว เหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงกล่าวหาว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺล่าช้าและขัดคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการจัดเตรียมกองทัพ และการรอเวลาเคลื่อนทัพเพื่อดูอาการของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เป็นสิ่งที่ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ผู้เป็นแม่ทัพได้ขออนุญาตจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิใช่เป็นการกระทำโดยพละการ ครั้นเมื่อถึงวันอาทิตย์ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการป่วยหนัก ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงมาจากค่ายทหารและเข้าพบท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านได้ยกมือสู่ฟากฟ้าแล้ววางมือของท่านบนท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งรู้ว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ขอดุอาอฺให้แก่ท่าน แล้วท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ก็กลับไปยังค่ายทหาร ต่อมาในวันจันทร์ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ก็เข้าพบท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งท่านกล่าวกับท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า “จงออกไปบนความจำเริญของพระองค์อัลลอฮฺ”

 

ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงกล่าวคำอำลาท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และกลับไปยังค่ายทหารพร้อมกับสั่งให้ผู้คนเคลื่อนทัพ ระหว่างที่ท่านกำลังจะขึ้นขี่สัตว์พาหนะก็มีคนนำข่าวของท่านหญิงอุมมุ อัยมัน (ร.ฎ.) มารดาของท่านมาถึงโดยแจ้งว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กำลังจะเสียชีวิต ในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เดินทางมาจนถึงอัล-ญุรุฟแล้วท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินตุ กอยสฺภรรยาของท่านก็ส่งคนมาบอกว่า อย่าเพิ่งรีบ เพราะท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กำลังมีอาการหนัก ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) พร้อมด้วยท่านอุมัร (ร.ฎ.) และอบูอุบัยดะฮฺ (ร.ฎ.) จึงมุ่งหน้ามายังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในขณะที่ท่านกำลังจะเสียชีวิต แล้วท่านก็เสียชีวิตขณะตะวันคล้อย (อัส-สีเราะฮฺ อัล-หะละบียะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 207)

 

หากเราจะไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ในเรื่องนี้ตามที่ตำราประวัติศาสตร์บันทึกไว้ เราจะพบว่า วันจันทร์ปลายเดือนเศาะฟัรฺ ปีฮ.ศ.ที่ 11 ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่งให้ผู้คนเตรียมตัวสำหรับการทำศึกกับโรมัน วันอังคารท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เรียกท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) มาหาพร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ วันพุธ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) เริ่มอาการตัวร้อนและปวดศีรษะ เช้าวันพฤหัสฯ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มอบธงรบให้แก่ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ด้วยมือของท่านพร้อมกล่าวว่า “จงทำศึกด้วยพระนามของอัลลอฮฺในวิถีแห่งอัลลอฮฺ แล้วจงสู้รบกับผู้ที่ปฏิเสธพระองค์อัลลอฮฺ” ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงออกไปพร้อมกับธงรบ และมอบให้ท่านบุรอยดะฮฺ อิบนุ อัล-เคาะศีบ อัล-อัสละมียฺ เป็นผู้ถือธง และตั้งค่ายที่อัล-ญุรุฟ เศาะหาบะฮฺทั้งชาวมุฮาญิรีนและอันศอรฺก็อาสาเข้าร่วมในการศึก

 

แล้วพวกมุนาฟิกูนก็เริ่มพูดจาวิจารณ์การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) และการวิจารณ์นี้ก็ดำเนินเรื่อยมาในระหว่างที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กำลังมีอาการป่วย จนถึงวันเสาร์ที่ผ่านมาได้ 10 วันจากเดือนเราะบีอุลเอาวัล ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงขึ้นมิมบัรฺและกล่าวคุฏบะฮฺปรามการวิจารณ์ของพวกมุนาฟิกูน หลังจากการแสดงคุฏบะฮฺท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กลับเข้าบ้านของท่าน บรรดามุสลิมที่จะออกไปพร้อมกับอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงมาอำลาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และพากันไปค่ายที่ตั้งไว้ ณ อัล-ญุรุฟ

 

ครั้นถึงวันอาทิตย์ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เริ่มมีอาการป่วยหนัก ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงกลับมาจากค่ายเพื่อดูอาการ แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ขอดุอาอฺให้แก่ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จากนั้นท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ก็กลับไปยังค่าย ในครั้งนั้นท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ขออนุญาตท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้เลื่อนการเคลื่อนทัพออกไปเพื่อรอดูอาการของท่าน พอถึงวันจันทร์ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการดีขึ้นในช่วงเช้า ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งย้อนจากค่ายมาดูอาการของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อยู่ที่บ้านของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านจึงกล่าวกับท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า “จงออกไปบนความจำเริญของอัลลอฮฺ” ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงอำลาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และออกไปยังค่ายที่อัล-ญุรุฟ แล้วสั่งผู้คนให้เคลื่อนทัพ ในระหว่างนั้นก็มีผู้แจ้งข่าวอาการของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาถึง ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) พร้อมด้วยท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) และอบูอุบัยดะฮฺ (ร.ฎ.) จึงรีบรุดมายังบ้านของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (ดู อัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ ; อิบนุ สะอฺด์ เล่มที่ 2 หน้า 189-291 โดยสรุป)

 

ทั้งหมดที่ไล่เรียงมาตามลำดับย่อมบ่งชี้ว่า ช่วงระยะเวลาระหว่างคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้บรรดาเศาะหาบะฮฺเตรียมพร้อมสำหรับการศึกและการสิ้นชีวิตของท่านมีระยะเวลา 16 วัน ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่ได้เนิ่นนานเกินความจำเป็นสำหรับการจัดเตรียมทัพในเวลาเช่นนั้น กล่าวคือ จะต้องไม่ลืมว่าการจัดเตรียมทัพที่มีกำลังพลมากถึง 3,000 คน (ดู กิตาบอัล-มะฆอซียฺ ; อัล-วากิดียฺ 3/1122, ฟัตหุลบารียฺ ; อิบนุหะญัรฺ 8/152) ในอดีตเมื่อพันกว่าปีที่แล้วจำต้องอาศัยเวลาและความพร้อมของอาวุธยุทธภัณฑ์ ใช่ว่าสั่งวันนี้พรุ่งนี้ก็พร้อมเสร็จสรรพที่จะเคลื่อนพลได้เลยก็หาไม่ ประเด็นสำคัญที่จะต้องไม่มองข้ามก็คือ บรรดาเศาะหาบะฮฺมีความพร้อมและอาสาออกศึกได้ในช่วงเวลาก่อน 16 วันนั้น หากท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ไม่ขออนุญาตท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการให้ล่าช้าออกไปเพื่อรอดูอาการของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และในตำราประวัติศาสตร์ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ได้นำทัพไปตั้งค่ายที่อัล-ญุรุฟในวันพฤหัสฯ คือหลัง 3 วันนับจากการออกคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้เตรียมพร้อมสำหรับการศึก (อัฏ-เฏาะบะกอตฺ ; อิบนุ สะอฺด์ 2/189-191)

 

ซึ่งนั่นแสดงว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺไม่ได้ล่าช้าในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อย่างใด

 

กระนั้นอัต-ตีญานียฺก็เขียนว่า “แท้จริงสิ่งที่เหมือนกับกรณีดังกล่าวได้ผลักดันให้ข้าพเจ้าต้องตั้งคำถามว่า : อะไรคือความอาจหาญที่บังอาจนี้ต่ออัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ และอะไรคือการเนรคุณนี้ในสิทธิของท่านรสูลผู้มีเกียรติที่สุดซึ่งเพียรพยายามต่อพวกเขา เป็นผู้มีกรุณาและเมตตาต่อเหล่าผู้ศรัทธา? ข้าพเจ้าไม่เคยจินตนาการมาก่อนเลย ทำนองเดียวกันคนหนึ่งก็ไม่อาจจินตนาการถึงคำอธิบายที่ยอมรับได้สำหรับการฝ่าฝืนนี้ และเรื่องที่บังอาจนี้…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 101)

 

ที่อัต-ตีญานียฺอ้างว่าไม่เคยจินตาการเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนนั้นอาจจะใช่ แต่อัต-ตีญานียฺก็ปักใจเชื่อและยอมรับในสิ่งที่เจ้าของตำราอัล-มุรอญิอาต จินตนาการมาก่อนแล้ว และจินตนาการที่ว่านี้ก็เกินเลยความจริงไปอย่างสุดกู่ เพราะโดยข้อเท็จจริงเหล่าเศาะหาบะฮฺไม่ได้บังอาจฝ่าฝืนคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้เนรคุณต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามที่ตำราประวัติศาสตร์ระบุไว้ก็ไม่ได้บ่งชี้เช่นนั้น

 

ในทางกลับกันก็บ่งชี้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นผู้รู้คุณและเร่งรีบในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยดุษฎี แต่จินตาการแบบสุดกู่ของอัต-ตีญานียฺที่เกิดขึ้นหลังจากที่อ้างว่าไม่เคยนึกฝันมาก่อนต่างหากนั่นแหล่ะคือปัญหาที่จะต้องตั้งคำถามเอากับอัต-ตีญานียฺว่า คิดอย่างไร? และอะไรคือความบังอาจ และการเนรคุณต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กันแน่ ระหว่างการจินตาการแบบสุดกู่กับความจริงทางประวัติศาสตร์? อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “ทว่าเป็นไปไม่ได้ในการปฏิเสธสิ่งที่บรรดานักประวัติศาสตร์และนักวิชาการหะดีษจากปราชญ์ฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺเห็นพ้องตรงกัน…” (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

 

ก็ขอถามว่า ปราชญ์ฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺเห็นพ้องตรงกันในเรื่องใดเล่า? ใช่เรื่องการบังอาจและแข็งขืนและการเนรคุณของเหล่าเศาะหาบะฮฺหรือไม่? หากตอบว่า “ใช่” เราก็ขอซักค้านว่าฝ่ายสุนนะฮฺไม่ได้เห็นพ้องกับฝ่ายชีอะฮฺในเรื่องนี้แต่อย่างใด! หากแต่เป็นความเห็นของฝ่ายชีอะฮฺที่ตีความและจินตนาการเอาเองว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺดื้อแพ่งและเนรคุณต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น และความจริงในเรื่องนี้ก็หาใช่เป็นสิ่งที่ขมขื่นอย่างที่อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ไม่ เพราะความจริงก็คือเหล่าเศาะหาบะฮฺไม่ได้ดื้อแพ่งและไม่ได้เนรคุณต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วจะเป็นเรื่องที่ขมขื่นได้อย่างไร? ความเท็จและการมโนภาพในเชิงอคติต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺนั่นต่างหากคือความขมขื่น

 

อัต-ตีญานียฺอ้างว่าความจริงในกรณีที่เกิดขึ้นนี้คือ “แท้จริงบรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านี้ซึ่งวิจารณ์ทิ่มแทงในการตั้งอุสามะฮฺเป็นแม่ทัพ แน่แท้ พวกเขาได้ขัดคำสั่งพระผู้อภิบาลของพวกเขาและขัดแย้งต่อสิ่งที่ชัดเจนจากบรรดาตัวบทซึ่งไม่สอดรับข้อสงสัยและไม่สอดรับการตีความ และพวกเขาก็ไม่มีข้ออ้างใดๆ ในเรื่องนั้น…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 101)

 

ความจริงตามมุมมองและบทสรุปของอัต-ตีญานียฺนั่นแหละคือความเท็จในความเป็นจริง เพราะผู้ที่พูดวิจารณ์และทิ่มแทงการเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) คือพวกกลับกลอก (มุนาฟิกูน) หากจะมีเศาะหาบะฮฺบางคนคล้อยตามคำวิจารณ์ของพวกกลับกลอก เช่น ท่านอัยยาชฺ อิบนุ เราะบีอะฮฺ อัล-มัคซูมียฺ (ดู ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 3/184, ฟัตหุลบารียฺ 8/152) นั่นก็เป็นบางคน มิใช่บรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมด และท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ก็ตอบโต้คำพูดของพวกเขาและนำเรื่องที่วิจารณ์กันนั้นไปบอกท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จนท่านต้องขึ้นมิมิบัรฺเพื่อแสดงคุฏบะฮฺ (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน) แล้วเรื่องนั้นก็จบลงโดยไม่มีผู้ใดพูดถึงอีก กล่าวคือเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขึ้นมิมบัรฺและแสดงคุฏบะฮฺโดยย้ำถึงความเหมาะสมของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ในการเป็นแม่ทัพ ทุกคนก็ยอมรับและเชื่อฟังสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้บอกกล่าว

 

ไม่มีการระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สาปแช่งและกล่าวว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺขัดคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หรือตำหนิพวกเขาว่าล่าช้าในการเคลื่อนทัพและไม่มีข้อสงสัยใดๆ ในเรื่องนี้สำหรับผู้ที่ไร้อคติ จะมีก็แต่อัต-ตีญานียฺที่เป็นคนขี้สงสัยเพราะมีอคติอยู่ในใจ และเมื่อเรื่องนี้ไม่มีข้อสงสัย ก็ย่อมไม่มีการตีความใดๆ หากประเด็นที่ชวนสงสัยก็คือ บรรดาตัวบทที่ชัดเจนซึ่งอัต-ตีญานียฺอ้างว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺขัดแย้งคือตัวบทอะไร? ถูกกล่าวไว้ในตำราประวัติศาสตร์เล่มใด?

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “ต่อมาท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เริ่มปลุกเร้าให้พวกเขาเร่งรีบและเริ่มกล่าวว่า : พวกท่านจงจัดเตรียมกองทัพของอุสามะฮฺ จงดำเนินการกองทัพของอุสามะฮฺให้ลุล่วง จงส่งกองกำลังของอุสามะฮฺออกไป ท่านกล่าวสิ่งนั้นซ้ำบนการรับฟังของพวกเขาโดยที่พวกเขาทำตัวหนักอึ้ง (ล่าช้า) และพวกเขาก็ตั้งค่ายที่อัล-ญุรุฟ และพวกเขาเกือบไม่ได้กระทำ (ตามคำสั่งนั้น)….” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 101) 

 

คำสั่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนเอาเองนั่นกระมังที่เป็นตัวบทที่ชัดเจนซึ่งอัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง ความจริงที่ตำราประวัติศาสตร์บันทึกไว้ก็คือ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวสิ่งดังกล่าวจริง ข้อนี้เราไม่ปฏิเสธ และก็เป็นความจริงอีกเช่นกันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ดำเนินการตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยการออกไปตั้งค่ายที่อัล-ญุรุฟและเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนทัพ แต่ที่ยังรีรออยู่นั่นเป็นเพราะแม่ทัพคือท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ขออนุญาตจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพื่อดูอาการของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเมื่อถึงวันจันทร์ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ก็ได้อำลาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และออกไปยังค่ายเพื่อสั่งให้เคลื่อนทัพแล้วข่าวที่ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กำลังจะเสียชีวิตก็มาถึง หากอัต-ตีญานียฺเป็นท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) อัต-ตีญานียฺจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น? ขวัญและกำลังใจของกองทัพที่มีกำลังพล 3,000 นายจะเป็นเช่นใดในสถานการณ์ที่วิกฤตินั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนอยู่ในสภาพที่พร้อมออกศึกและรอเพียงคำสั่งของแม่ทัพเท่านั้น!

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “….และข้าพเจ้าได้อ่านคำแก้ต่างของอะฮฺลิสสุนนะฮฺที่มีต่อพวกเขาว่า แท้จริง พวกเขา (เหล่าเศาะหาบะฮฺ) เป็นผู้อาวุโสของกุรอยชฺเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของกุรอยชฺ พวกเขามีสถานภาพเป็นคนที่รับเข้าอิสลามมาก่อน ในขณะที่อุสามะฮฺเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในบรรดาการศึกที่ชี้ชะตาถึงเกียรติยศของอิสลาม…เหตุนั้นพวกเขาจึงตำหนิการเป็นแม่ทัพของอุสามะฮฺ และต้องการให้ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เปลี่ยนอุสามะฮฺด้วยกับคนหนึ่งจากบรรดาคนสำคัญและมีอาวุโสของเหล่าเศาะหาบะฮฺ…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ : 102)

 

แล้วอัต-ตีญานียฺก็สรุปว่า “แท้จริงมันเป็นการแก้ตัวที่ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานทางสติปัญญาและหลักการของศาสนา และเป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมคนใดที่เคยอ่านอัล-กุรอานและรู้ถึงข้อชี้ขาดของอัล- กุรอานเว้นเสียแต่มุสลิมผู้นั้นต้องปฏิบัติสิ่งในทำนองนี้…” (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

 

อัต-ตีญานียฺไม่ได้เขียนระบุว่าตนอ่านคำแก้ต่างของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺให้แก่เหล่าเศาะหาบะฮฺมาจากตำราเล่มใด ที่สำคัญไม่มีนักวิชาการหะดีษและนักประวัติศาสตร์คนใดที่ระบุว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺชั้นอาวุโสเหล่านั้นคือผู้ที่ตำหนิและวิจารณ์การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) แล้วเหตุไฉนจึงต้องอ้างเหตุผลเช่นนั้นมาแก้ต่างให้กับบรรดาเศาะหาบะฮฺด้วยเล่า? และในตำราประวัติศาสตร์ก็ระบุถึงเหตุผลที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่งตั้งให้ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นแม่ทัพเอาไว้ นั่นคือ การนำทัพมุ่งหน้าไปยังสถานที่ซึ่งท่านซัยดฺ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) บิดาของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เสียชีวิต (ดู อัฏ-เฏาะบะกอต ; อิบนุ สะอฺด์ เล่มที่ 2 หน้า 189, อัส-สีเราะฮฺ อัล-หะละบียะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 207) การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมในการศึกครั้งนี้ เพราะท่านคือบุตรชายของท่านซัยดฺ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) เศาะหาบะฮฺท่านอื่นถึงแม้จะมีอาวุโสก็ย่อมไม่เหมาะสมเท่าท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.)

 

เหตุนั้นการที่พวกมุนาฟิกวิจารณ์การเป็นแม่ทัพของท่านอะสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับจุดประสงค์และเหตุผลของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการเจาะจงท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นแม่ทัพ ส่วนบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งมุฮาญิรีนและอันศ็อรฺนั้นต่างก็เข้าใจและรู้ถึงเหตุผลของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงไม่มีผู้ใดวิจารณ์การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จะมีก็แต่อัต-ตีญานียฺและชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺเท่านั้นที่กล่าวหาว่าเศาะหาบะฮฺคือผู้วิจารณ์และตำหนิท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องนี้!

 

อัต-ตีญานียฺอ้างตำราอัฏ-เฏาะบะกอต เล่มที่ 2 หน้า 190 และตำราตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ เล่มที่ 3 หน้า 226 ในเชิงอรรถของษุมมะตะดัยตุ้ หน้า 103 ว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) คือผู้ที่มาหาเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) หลังการเสียชีวิตของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และร้องขอท่านเคาะลีฟะฮฺให้ถอดท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ออกจากตำแหน่งแม่ทัพและเปลี่ยนคนอื่นแทนท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) แต่ทว่ารายงานที่อัต-ตีญานียฺนำมาอ้างเป็นรายงานที่อ่อน (เฎาะอีฟะฮฺ)

 

เพราะในสายรายงานมีสัยฟฺ อิบนุ อุมัรฺ อัฎ-ฎอบบียฺ ซึ่งอัล-อุกอยลียฺระบุถึงบุคคลผู้นี้ในตำราอัฎ-ฎุอะฟาอฺ อัล-กะบีรฺ เล่มที่ 2 เลขที่ 694 หน้า 175 และอิมามอัซ-ซะฮะบียฺกล่าวถึงบุคคลผู้นี้ในตำรามีซาน อัล- อิอฺติดาลฺว่า “เป็นผู้แต่งตำราอัล-ฟุตูหฺ, อัรฺริดดะฮฺ และอื่นจากนั้น เขาผู้นี้เหมือนกับอัล-วากิดียฺที่รายงานจากฮิชาม อิบนุ อุรวะฮฺ, อุบัยดฺ อิบนุ อุมัรฺ, ญาบิรฺ อัล-ญุอฺฟียฺ และผู้คนเป็นจำนวนมากจากบุคคลนิรนาม, เขาเป็นนักเล่าเรื่องราวที่มีความรู้…อับบาสจากยะหฺยากล่าวว่า : อ่อน อบูดาวูดกล่าวว่า : เขาไม่มีอะไรเลย, อบูหาติมกล่าวว่า มัตรูก, อิบนุหิบบานกล่าวว่า เขา (หมายถึง สัยฟฺ) ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต (ซินดีก) และอิบนุ อะดียฺกล่าวว่า หะดีษทั่วไปของเขาเป็นหะดีษมุงกัรฺ (มีซาน อัล-อิอฺติดาล อัซ-ซะฮะบียฺ เล่มที่ 2 เลขที่ 3637 หน้า 255) รายงานหะดีษนี้จึงอ่อน (เฎาะอีฟ) ไม่อาจนำมากล่าวหาท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ได้

 

และสาระสำคัญของหะดีษที่อัต-ตีญานียฺปิดบังและไม่นำมาอ้างบ่งชี้ว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่ได้ร้องขอเรื่องนี้กับท่านอบูบักร (ร.ฎ.) แต่เป็นผู้คนทั่วไปที่ร้องขอเนื่องจากมีเหตุการณ์การตกศาสนาของพวกที่มุรฺตัด (ดู อัฏ-เฏาะบะรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 245, 246) และท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) เองคือผู้ที่ตอบโต้บรรดาผู้ที่ตำหนิการเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) และนำเรื่องการวิจารณ์นั้นมาบอกกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก่อนหน้านั้น (ดู ฟัตหุลบารียฺ เล่มที่ 7 หน้า 759) แสดงว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) หากแต่ยอมรับการเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) แล้วท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) จะร้องขอให้เคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ถอดท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จากการเป็นแม่ทัพได้อย่างไรกัน?

 

โปรดสังเกตข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่อ้างคำพูดของเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) จากรายงานที่อ่อนนี้ว่า “แม่ของท่านสูญเสียท่านแล้ว โอ้ บุตรของอัล-คอฏฏอบ ท่านจะใช้ให้ฉันถอดเขาออกจากตำแหน่งทั้งๆ ที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้แต่งตั้งเขากระนั้นหรือ? คำพูดของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ได้ยืนยันถึงท่าทีของท่านที่มีต่อการเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) และการเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อัต-ตีญานียฺก็ก้าวข้ามคุณงามความดีของท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องนี้โดยไม่มีการเขียนชื่นชมท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) แต่อย่างใด?

 

นี่คือความเป็นกลางที่อัต-ตีญานียฺสัญญากับพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ว่าตนจะเคร่งครัดใช่หรือไม่? เปล่าเลย คราใดที่มีเรื่องคุณงามความดีของเศาะหาบะฮฺ อัต-ตีญานียฺก็ผ่านเลยและละที่จะกล่าวถึง แต่ถ้าคราใดมีการระบุถึงเหตุการณ์หนึ่งที่อัต-ตีญานียฺเห็นว่าเป็นเรื่องบกพร่องเสียหาย อัต-ตีญานียฺก็จะวิจารณ์ให้เป็นเรื่องใหญ่โตและโจมตีแบบกัดไม่ปล่อย เมื่อเกลียดชังเศาะหาบะฮฺแบบเข้ากระดูกดำแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมองเห็นแต่เรื่องเสื่อมเสียตามที่ตนมโนภาพ และมืดบอดมองไม่เห็นความดีอันใดอีก และนี่คือพฤติกรรมของคนที่ฝังหัว (ตะอัศศุบ) โดยแท้ หาใช่เป็นพฤติกรรมของคนที่มีความเป็นกลางไม่

 

ในหน้า 102-104 จากหนังสือษุมมะฮฺตะดัยตุ้ อัต-ตีญานียฺเขียนวิจารณ์เหล่าเศาะหาบะฮฺและวนเวียนอยู่กับเรื่องนี้อย่างยืดยาว แล้วก็วกกลับไปยังเหตุการณ์วันพฤหัสฯ มหาวิปโยคอีกครั้งโดยเชื่อมโยงเรื่องกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เข้ากับเรื่องคำกล่าวหาที่ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพ้อ กล่าวคือ อัต-ตีญานียฺวิจารณ์เหล่าเศาะหาบะฮฺก่อนหน้านั้น 2 วันก็สร้างเรื่องขุ่นเคืองให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในกรณีส่งเสียงดังต่อหน้าท่านด้วยการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวหาว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพ้อ และถูกไล่ออกจากห้องของท่าน

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺไม่สำนึกผิด แต่ทำให้เรื่องให้เละหนักเข้าไปอีกโดย 2 วันถัดมาก็วิจารณ์การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) อีกจนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต้องลุกขึ้นมาแสดงคุฏบะฮฺ ทั้งๆ ที่ท่านต้องถูกหิ้วปีกระหว่างคน 2 คนซึ่งประโยคที่ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เดินในสภาพถูกหิ้วปีกระหว่างคน 2 คน นี้อัต-ตีญานียฺย้ำอยู่หลายครั้งและอ้างว่านักประวัติศาสตร์ระบุไว้เช่นนั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีระบุอยู่ในตำราเล่มใดถึงลักษณะดังกล่าว จะมีระบุเอาไว้ก็เฉพาะการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีผ้าพันรอบศีรษะของท่านเท่านั้น และท่านก็แสดงคุฏบะฮฺบนมิมบัรฺจนครบถ้วน เป็นที่น่าสังเกตุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แสดงคุฏบะฮฺจนจบโดยอ้างถึงกรณีการเป็นแม่ทัพของท่านซัยดฺ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) ก่อหน้านั้นอีกด้วย

 

การนำเหตุการณ์นี้ไปผูกกับเรื่องราวของวันพฤหัสฯ อับโชคเพื่อสร้างภาพในเชิงลบแก่เหล่าเศาะหาบะฮฺของอัต-ตีญานียฺจึงเป็นการหักล้างคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺในกรณีวันพฤหัสฯ อับโชคเสียเอง กล่าวคือ ถ้าความมุ่งหมายของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเรื่องสำคัญที่ผูกพันอยู่กับความรอดของอุมมะฮฺซึ่งจะไม่หลงผิดเสียแล้ว ทำไมท่านจึงไม่กล่าวถึงเรื่องการแต่งตั้งเคาะลีฟะฮฺของท่านอีกครั้งในการแสดงคุฏบะฮฺครั้งนี้ ซึ่งไม่มีผู้ใดกล่าวขึ้นต่อหน้าท่านว่าท่านเพ้อเล่า โปรดอย่าลืมว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แสดงคุฏบะฮฺได้อย่างสมบูรณ์ในขณะนั้นและจดจำเรื่องเก่าที่เกี่ยวกับการเป็นแม่ทัพของท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) บิดาของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) อีกด้วย

 

กระนั้นท่านก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการแต่งตั้งเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านแต่อย่างใด ซึ่งหากท่านจะกล่าวถึงเรื่องเคาะลีฟะฮฺในการแสดงคุฏบะฮฺในวันนั้น จะมีผู้ใดห้ามท่านได้และจะมีผู้ใดกล่าวหาว่าท่านเพ้อได้อีก และดูเหมือนว่าอัต-ตีญานียฺก็ยืนยันในข้อเขียนของตนว่าที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต้องแสดงคุฏบะฮฺบนมิมบัรฺจนจบนั้นก็เพื่อทำให้เหล่าเศาะหาบะฮฺเห็นว่าท่านห่างไกลจากการเพ้อ (ดู ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 104) และคำวิจารณ์เกี่ยวกับการตั้งท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นแม่ทัพก็ยุติลงภายหลังการแสดงคุฏบะฮฺนั้น

 

ถ้าการจดบันทึกเรื่องเคาะลีฟะฮฺในวันพฤหัสฯ สองวันก่อนหน้านี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง เหตุไฉนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงไม่กล่าวถึงอีกครั้งทั้งๆ ที่ในการแสดงคุฏบะฮฺไม่มีผู้ใดถกเถียง ไม่มีผู้ใดขัดแย้งจนส่งเสียงดัง และท่านนบี (ศ็อลฯ) ก็แสดงให้เห็นว่าท่านห่างไกลจากอาการเพ้อตามที่อัต-ตีญานียฺเขียน อัต-ตีญานียฺไม่ได้ฉุกคิดถึงประเด็นนี้เพราะมัวแต่เขียนวกวนอยู่กับสิ่งที่ตนมโนภาพว่าเศาะหาบะฮฺก่อเรื่องเสื่อมเสียครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องซึ่งอัต-ตีญานียฺเจือสมเอาเองว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺน่าจะมีพฤติกรรมเช่นนั้นและตอกย้ำให้ผู้อ่านวนเวียนอยู่กับคำกล่าวหาของตน

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “อย่างไรก็ตามข้าพเจ้ามิได้กล่าวถึงการฝ่าฝืนของเหล่าเศาะหาบะฮฺนอกจากสี่หรือห้าเรื่องเท่านั้น และนั่นก็เป็นการกล่าวโดยสรุปและเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้น ทว่าบรรดาปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺได้รวบรวมแหล่งอ้างอิงเป็นจำนวนหลายร้อยที่เหล่าเศาะหาบะฮฺได้ ฝ่าฝืนต่อบรรดาตัวบทที่ชัดเจน และบรรดาปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺก็ไม่ได้อ้างหลักฐานใดๆ นอกจากด้วยสิ่งที่นักปราชญ์ฝ่ายสุนนะฮฺคัดสายรายงานออกไว้ในตำราเศาะหิหฺและมุสนัดของพวกเขา” (ษุมมุฮฺตะดัยตุ้ หน้า 104-105)

 

สิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนถึงการรวบรวมของบรรดาปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺ โดยถือเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺมีพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับตัวบทที่ชัดเจนจำนวนนับร้อยเรื่อง ย่อมถือเป็นเรื่องปกติและไม่ใช่เรื่องเกินจริงสำหรับชีอะฮฺ เพราะฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺถือว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเกือบทั้งหมดตกศาสนา (วัล-อิยาซุบิลลาฮฺ) และเป็นกลุ่มชนหน้าไหว้หลังหลอกที่ละเมิดพันธสัญญาของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องการแต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺ

 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีนักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺแต่งตำราที่มีเนื้อหาจาบจ้วงและประณามเหล่าเศาะหาบะฮฺ และตำราเหล่านั้นก็เป็นแหล่งอ้างอิงหรือวัตถุดิบสำหรับบรรดานักบูรพาคดีที่จ้องทำลายและบิดเบือนศาสนาอิสลาม กอปรกับมีนักคิดนักเขียนที่อ้างตนว่าเป็นชาวสุนนะฮฺแต่นิยมในแนวทางของนักบูรพาคดีได้เขียนตำราในทำนองนี้อีกด้วยโดยเฉพาะนักคิดนักเขียนที่ขาดความชำนาญในด้านภาควิชาอัล-หะดีษและการตรวจสอบสายรายงาน มีหัวนิยมความคิดแบบนักคิดนักเขียนชาวตะวันตก และเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมที่มองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องของสังคมศาสตร์และมนุษย์วิทยาแล้วสำคัญตนผิดด้วยการเขียนวิจารณ์สถานภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺจากมุมมองในเชิงวรรณกรรมของตน

 

ส่วนหนึ่งจากตำราประวัติศาสตร์ซึ่งอยู่ในบรรณานุกรมของอัต-ตีญานียฺก็คือ ตารีค อัล-มัสอูดียฺ และตารีค อัล-ยะอฺกูบียฺ (ในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ อัต-ตีญานียฺอ้างตารีค อัล-ยะอฺกูบียฺในเชิงอรรถ หน้า 184, 185 และดู ตารีค อัล-มัสอูดียฺ ในบรรณานุกรมประวัติศาสตร์ ลำดับที่ 9 จากหนังสือชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง ฉบับแปลภาษาไทย หน้า 468) สำหรับตารีค อัล-มัสอูดียฺนั้นมีชื่อว่า “มุรูญุซซะฮับ” แต่งโดย อะลี อิบนุ อัล-หุสัยนฺ อัล-มัสอูดียฺ (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ. 346) บุคคลผู้นี้มีความนิยมในแนวทางของฝ่ายชีอะฮฺ และอัล-มะมากอนียฺ ระบุประวัติโดยสังเขปของอัล- มัสอูดียฺเอาไว้ในตำรา “ตังกีหฺ อัล-มะกอล” 2/282-283 ซึ่งกล่าวว่า อัล-มัสอูดียฺยังมีตำราที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องอัล-วิศอยะฮฺ และความเป็นผู้บริสุทธิ์ (อิศมะฮฺ) ของอิมามอีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตำราประวัติศาสตร์ของอัล-มัสอูดียฺจะมีเนื้อหาที่กล่าววิจารณ์เหล่าเศาะหาบะฮฺและบุคคลในตระกูลอุมะวียะฮฺในเชิงลบ

 

ส่วนตารีค อัล-ยะอฺกูบียฺของอะหฺมัด อิบนุ อิสหาก อัล-ยะอฺกูบียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 284) นั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาการกล่าวโจมตี บะนู อุมัยยะฮฺ มากมายไปด้วยการายงานที่อ่อนและไม่มีการระบุสายรายงานที่ชัดเจน และเป็นที่รู้กันว่า อัล-ยะอฺกูบียฺมีความนิยมในแนวทางของชีอะฮฺ จึงไม่แปลกที่ตำราตารีค อัล-ยะอฺกูบียฺจะเป็นแหล่งอ้างอิงของกลุ่มที่มีอคติต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺและชิงชังต่อพวกตระกูลอุมัยยะฮฺ

 

ในหนังสือ “จงถามผู้รู้” อัต-ตีญานียฺได้อ้างตำรา ตารีค อัล-คุละฟาอฺ หรือที่เรียกกันว่า อัล-อิมามะฮฺ วัส-สิยาสะฮฺของอิบนุ กุตัยบะฮฺในเชิงอรรถเลขที่ 166, 167, 193 และอ้างถึงตำราเล่มเดียวกันนี้ในเชิงอรรถของหนังสือชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง เลขที่ 85, 87, 89, 90, 91, 92, 155, 161, 178, 226 ตำราเล่มนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวอันเป็นเท็จที่จาบจ้วงบรรดาเศาะหาบะฮฺ (ดู อิฟาดะตุลอัคย๊ารฺ บิบะรออะติล อับร็อร, มุฮัมมัด อัล-อะเราะบียฺ อัต-ตุบบานียฺ 1/39) และมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่าตำรา “อัล-อิมามะฮฺ วัส-สิยาสะฮฺ” ไม่ใช่ตำราของอิบนุ กุตัยบะฮฺ ผู้เป็นนักปราชญ์ชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ แต่ผู้แต่งได้แอบอ้างชื่อของท่านอิบนุ กุตัยบะฮฺ (ร.ฮ.) (ดู กุตุบ หัซซะเราะ มินฮา อัล-อุละมาอฺ ; อบูอุบัยดะฮฺ มัชฮูร อิบนุ หะสัน อาลสัลมาน เล่มที่ 2 หน้า 55-56)

 

และอิมาม อิบนุ อัล-อะเราะบียฺ อัล-มาลิกียฺ ได้ระบุเตือนถึงตำราเล่มนี้เอาไว้ในอัล- อะวาศิมุ มินัล เกาะวาศิม หน้า 260-262 เพราะนักวิชาการที่ชื่อ “อิบนุ กุตัยบะฮฺ” มี 2 คน คนหนึ่งชื่อ อับดุลลออฺ อิบนุ มุสลิม อิบนิ กุตัยบะฮฺ เป็นนักวิชาการฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ อีกคนหนึ่งชื่อ อับดุลลอฮฺ อิบนุ กุตัยบะฮฺ ซึ่งเป็นชีอะฮฺรอฟิฎียฺ และตำราอัล-อิมามะฮฺ วัส-สิยาสะฮฺก็คือตำราที่บุคคลผู้นี้แต่ง (ดู อุศูล มัซฮับ อัช-ชีอะฮฺ อัล-อิมามียะฮฺ อัล-อิษนา อะชะรียะฮฺ ; ดร.นาศิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อะลี อัล-กอฟฟารียฺ เล่มที่ 3 หน้า 1198)

 

กรณีที่นักวิชาการฝ่ายสุนนะฮฺกับนักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺมีชื่อพ้องกันจนเกิดความสับสนและมีการอ้างตำราไปยังผู้แต่งที่มีชื่อพ้องกับอีกคนหนึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับนักวิชาการคนสำคัญๆ เช่น อิมาม มุฮัมัด อิบนุ ญะรีรฺ อัฏ-เฏาะบะรียฺ ปราชญ์ของฝ่ายสุนนะฮฺที่เป็นเจ้าของตัฟสีรฺ อัฏ-เฏาะบะรียฺ และตารีค อัล-มุมัม วัลมุลูก หรือ ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ กับปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺที่มีชื่อว่า มุฮัมมัด อิบนุ ญะรีรฺ อิบนิ รุสตุม อัล-เฏาะบะรียฺ บุคคลทั้งสองมีชีวิตอยู่ในนครแบกแดด อยู่ร่วมสมัยกัน และเสียชีวิตในปีเดียวกัน คือ ฮ.ศ. ที่ 310 พวกชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺได้อาศัยความคล้ายกันของบุคคลทั้งสองด้วยการอ้างว่าตำรา อัล-มุสตัรฺชิด ฟิลอิมามะฮฺเป็นตำราของอิมาม อัฏ-เกาะบะรียฺปราชญ์ชาวสุนนะฮฺ ทั้งๆ ที่ตำราเล่มนี้เป็นงานเขียนของอัฏ-เกาะบะรียฺที่เป็นชีอะฮฺรอฟิฎียฺ (ดู เฏาะบะกอต อะอฺลาม อัชชีอะฮฺ ฟิลมิอะฮฺ อัร- ริบิอะฮฺ หน้า 252 และมะอาลิม อัล-มุละมาอฺ หน้า 106) จวบจนทุกวันนี้ พวกชีอะฮฺยังคงอ้างเรื่องราวบางเรื่องที่สนับสนุนแนวทางของพวกเขาไปยังอิมาม อิบนุ ญะรีรฺ อัฏ-เฏาะบะรียฺ (ดู อัล-เฆาะดีรฺ ; อัล-อะมีนียฺ อัน-นะญะฟียฺ 1/214-216)

 

อัต-ตีญานียฺยังได้อ้างตำราและงานเขียนของนักวิชาการหลายคนที่เป็นชาวสุนนะฮฺหรืออ้างว่าเป็นชาวสุนนะฮฺซึ่งเขียนวิจารณ์บรรดาเศาะหาบะฮฺ เช่น ฏอฮา หุสัยนฺ เจ้าของหนังสือ “อัล-ฟิตนะฮิ อัล-กุบรอ” ในเชิงอรรถที่ 166 และ 169 จากหนังสือ “ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง” และในบรรณานุกรมหมวดตำราอื่นๆ ลำดับที่ 14 จากหนังสือ “จงถามผู้รู้” หน้า 478 เนื้อหาในหนังสือ “อัล-ฟิตนะฮฺ อัล-กุบรอ” มี 2 ภาค ภาคที่หนึ่งว่าด้วยเรื่องของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และภาคที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของท่านอะลี (ร.ฎ.) และลูกหลานของท่าน

 

หนังสือเล่มนี้มีการจาบจ้วงและโจมตีบรรดาเศาะหาบะฮฺ โดยสร้างภาพลักษณ์ให้แก่เศาะหาบะฮฺว่าพฤติกรรมเหมือนนักการเมืองอาชีพในยุคปัจจุบัน มีการจาบจ้วงท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) มีการกล่าวหาต่อบรรดา เศาะหาบะฮฺที่เข้าร่วมในการสัตยาบันอัรฺริฎวานและสร้างความสงสัยเกี่ยวกับระบอบการปกครองอิสลามในสมัยเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ (ร.ฎ.) และอุมัรฺ (ร.ฎ.) เป็นต้น ฏอฮา หุสัยนฺ ยังเขียนหนังสือที่ชื่อ “มิรฺอาตุลอิสลาม” ซึ่งในช่วงท้ายของหนังสือมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานภาพของบรรดาเศาะหาบะฮฺและเขียนปกป้องกลุ่มอุตริชน เช่น พวกซินดีก, อัล-กะรอมิเฏาะฮฺ, อัส-สะบะอียะฮฺ และกลุ่มศูฟียฺที่เลยเถิด หนังสืออีกเล่มหนึ่งของฏอฮา หุสัยนฺ คือ “อัช-ชัยคอนี่” เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความสงสัยและความเคลือบแคลงถึงความประเสริฐของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ตลอดจนไล่เรียงบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นรายคนด้วยการกล่าวถึงข้อบกพร่องและให้ลักษณะแก่เศาะหาบะฮฺว่าเป็นพวกกลับกลอก

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ ฏอฮา หุสัยนฺ ใช้แนวทางของนักบูรพาคดีในการโจมตีเหล่าเศาะหาบะฮฺและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม จึงไม่แปลกที่แนวการเขียนของฏอฮา หุสัยนฺจะมีลักษณะที่คล้ายกับแนวทางของอัต-ตีญานียฺและเนื้อหาในตำราทั้งสามเล่มของฏอฮา หุสัยนฺจะเป็นข้อมูลดิบที่อัต-ตีญานียฺนำมาใช้ประกอบการเขียนตำราของตน

 

ในหนังสือ “ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง” ฉบับแปลภาษาไทย หน้า 385-387 อัต-ตีญานียฺอ้างข้อเขียนของดร.หะมีด หัฟนียฺ หัวหน้าภาควิชาภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัยนฺ ชัมส์ ไคโร ในหนังสือที่ชื่อ “อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟี นัซรฺ อัช-ชีอะฮิ อัล-อิมามียะฮฺ” หน้า 8 และถัดไป (เชิงอรรถเลขที่ 282) โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “พวกเขาได้รวบรวมบุคคลเหล่านี้ไว้ด้วยเช่นกัน คือ มุจญ์ตะฮิดที่ซื่อสัตย์และที่มีความผิดพลาด พวกเสเพล และซินดีก ผู้ซึ่งมีความน่าเกลียดน่าชังและเลวร้ายยิ่งกว่าพวกเสเพลเสียอีก ซึ่งรวมทั้งพวกหน้าไหว้หลังหลอก ผู้ซึ่งทำการภักดีพระเจ้าบนขอบอันแคบๆ และบรรดาผู้ปฏิเสธด้วยเช่นกัน ผู้ซึ่งไม่เคยสารภาพบาป ที่ตกเป็นหน้าไหว้หลังหลอก และเหล่าบรรดาผู้ที่หมดสภาพของความเป็นผู้ศรัทธา ภายหลังจากที่ได้เป็นมุสลิมแล้ว” (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง ฉบับแปลไทย หน้า 385)

 

ข้อเขียนของดร.หะมีด หัฟนียฺ ที่ระบุถึงมุมมองของฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺต่อคุณลักษณะของเศาะหาบะฮฺว่ารวมเอาบุคคลที่มีศรัทธา พวกกลับกลอก พวกเสเพล พวกซินดีก (พวกนอกรีต) และพวกที่ไร้ศรัทธาหรือตกศาสนาภายหลังการมีศรัทธา ย่อมบ่งชี้ว่าชีอะฮฺอิมามียะฮฺไม่แยกแยะเหล่าเศาะหาบะฮฺออกจากบุคคลที่มิใช่เศาะหาบะฮฺ และความเป็นเศาะหาบะฮฺของบุคคลไม่มีความพิเศษหรือความประเสริฐอันใดเลย และการให้น้ำหนักของดร. หะมีด หัฟนียฺต่อบรรทัดฐานของฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺในการวิจารณ์เหล่าเศาะหาบะฮฺแบบเหมารวมก็ส่งให้เห็นถึงทัศนคติของนักภาษาศาสตร์อย่างดอกเตอร์ผู้นี้ว่ามีความคิดคล้อยตามแนวทางของฝ่ายชีอะฮฺและนักบูรพาคดีอย่างไร?

 

ดร.หะมีด หัฟนียฺจึงไม่ต่างจากนักคิดหรือนักวรรณกรรมอย่างฏอฮา หุสัยนฺที่มีส่วนสำคัญในการเปิดช่องให้แก่พวกนักบูรพาคดีและนักเขียนชาวตะวันตกรวมถึงพวกชีอะฮฺอิมามียะฮฺในการวิพากษ์วิจารณ์สถานภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺและแนวทางของอะฮฺลิสสุนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ดังนั้น เราในฐานะชาวสุนนะฮฺจึงขอใช้มาตรฐานเดียวกันกับสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนวิพากษ์ และโจมตีความน่าเชื่อถือของดร.มูซา อัล-มูสาวียฺ ปราชญ์ชีอะฮฺผู้เป็นเจ้าของหนังสือ “อัช-ชีอะฮฺ วัต-ตัศหิหฺ” ซึ่งอัต-ตีญานียฺเขียนถึงในหนังสือชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง หน้า 430 เป็นต้นไป

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “เพราะฉะนั้น คำพูดที่เอื้อนเอ่ยโดยดร.มูซา อัล-มูซาวียฺจึงพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเพียงเรื่องไร้สาระและเป็นการใส่ร้าย ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานทางวิทยาการหรือศาสตร์แห่งตรรกอิสลามแต่อย่างใด…” (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 435)

 

เราชาวสุนนะฮฺก็ขอกล่าวกับอัต-ตีญานียฺในทำนองนั้นว่า “ข้อเขียนของดร.หะมีด หัฟนียฺ, ฏอฮา หุสัยนฺ และคนอื่นๆ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเพียงแค่เรื่องไร้สาระและเป็นการใส่ร้ายต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺตลอดจนนักปราชญ์ฝ่ายสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺเท่านั้น ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานทางวิชาการหรือศาสตร์แห่งตรรกอิสลามแต่อย่างใด”

 

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่อัต-ตีญานียฺได้กล่าวถึงใน “จงถามผู้รู้” หน้า 243 (ฉบับแปลภาษาไทย) โดยอ้างว่าเป็นหนังสือของปราชญ์ฝ่ายสุนนะฮฺเอง คือบุคคลที่มีชื่อว่า “กอฏียฺ ชัยคฺ มุฮัมมัด อะมีน อัล-อันฏอกียฺ” เจ้าของหนังสือ “ทำไมข้าพเจ้าจึงเลือกมัซฮับ อะฮฺลิลบัยตฺ” ตีพิมพ์ในปี ฮ.ศ. 1380 ผู้เขียนอ้างว่าตนเป็นชาวสุนนะฮฺสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชาวชีอะฮฺ ปกในของหนังสือมีรูปถ่ายของผู้เขียน 2 รูป รูปแรกแต่งกายเป็นชาวสุนนะฮฺ รูปที่สองแต่งกายแบบชัยคฺชีอะฮฺรอฟิฎียฺ

 

ผู้เขียนคือ มุฮัมมัด มัรอียฺ อัล-อะมีน อัล-อันฎอกียฺอ้างว่าตนอาศัยอยู่ในเมืองหะลับ (อเล็บโป) และเคยดำรงตำแหน่ง กอฏียฺ อัล-กุฎอฮฺ ในหมู่ชาวสุนนะฮฺของเมืองหะลับ แต่ปรากฏว่านักวิชาการอาวุโสชาวสุนนะฮฺในเมืองหะลับ เช่น ชัยคฺ อับดุลฟัตตาหฺ อบูเฆาะดะฮฺ ไม่เคยรู้จักบุคคลผู้นี้และระบุว่าไม่มีชื่อของชัยคฺผู้นี้ในทำเนียบของกอฎียฺแห่งเมืองหะลับ (มัสอะละฮฺ อัต-ตักรีบ บัยนะ อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ; ดร.นาศิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อะลี อัล-ก็อฟฟารียฺ เล่มที่ 2 หน้า 131-132, กุตุบ หัซซะเราะมินฮา อัล-อุละมาอฺ ; อบูอุบัยดะฮฺ มัชฮูรฺ อิบนุ หะสัน อาลสัลมาน เล่มที่ 1 หน้า 346-347)

 

อัต-ตีญานียฺยังได้อ้างอิงถึงหนังสือ “สิรฺรุลอาละมีน” ของอิมาม อัล-เฆาะซาลียฺ ในเชิงอรรถลำดับที่ 161 หน้า 488 จากหนังสือ “จงถามผู้รู้” (ฉบับแปลภาษาไทย) หนังสือ “สิรฺรุลอาละมีน” เป็นหนังสือที่กลุ่มชีอะฮฺอิมามียะฮฺแต่งขึ้นแล้วอ้างว่าเป็นผลงานของอิมามอัล-เฆาะซาลียฺ (ดู มัสอะละฮฺ อัต-ตักรีบ ; ดร.นาศิรฺ อัล-ก็อฟฟารียฺ เล่มที่ 2 หน้า 130)

 

ในหนังสือจงถามผู้รู้ (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 243-244 อัต-ตีญานียฺได้เขียนถึงชัยคฺ มะหฺมูด ชัลตูต ชัยคุล อัซฮัร อัช-ชะรีฟ ซึ่งออกคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ว่า อนุญาตให้ประกอบศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ตามแนวทางของมัซฮับญะอฺฟะรียฺได้ โดยออกคำวินิจฉัยนี้ในปี ฮ.ศ. 1368 และคำวินิจฉัยของชัยคุลอัซฮัรฺ ชัยคฺ มะหฺมูด ชัลตูตนี้เป็นผลมาจากความพยายามของชัยคฺ อัล-กุมมียฺ ซึ่งเป็นชีอะฮฺที่เรียกร้องให้มีการตักรีบ (การสร้างความใกล้ชิดและหลอมรวม) ระหว่างฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺ ในขณะที่นักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺอย่างชัยคฺ มุฮัมมัด อัล-คอลิศียฺ ออกคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ว่าไม่อนุญาตให้ประกอบศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ตามแนวทางของมัซฮับทั้งสี่ในฝ่ายของสุนนะฮฺ (ดู อัต-เตาหีด วัล-วะหฺดะฮฺ ; มุฮัมมัด อัล-คอลิศียฺ หน้า 33-34)

 

การอ้างคำวินิจฉัยของชัยคฺ มะหฺมูด ชัลตูตจึงเป็นการอ้างและโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายชีอะฮฺแต่ฝ่ายเดียว กล่าวคือ คำวินิจฉัย (ฟัตวา) ของชัยคฺ มะหฺมูด ชัลตูตในเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นข้ออ้างสำหรับฝ่ายชีอะฮฺในการโฆษณาชวนเชื่อในหมู่ชาวสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยฝ่ายชีอะฮฺมักจะหยิบยกคำฟัตวานี้มาอ้างว่า แม้กระทั่งชัยคุล อัซฮัรฺยังให้การรับรองมัซฮับญะอฺฟะรียฺ (อิมามียะฮฺ อิษนา อะชะรียะฮฺ) แล้วทำไมชาวสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺจึงไม่ให้ความสำคัญต่อคำฟัตวานี้ มิหนำซ้ำยังกล่าวโจมตีชัยคุลอัซฮัรว่าเป็นผู้ปฏิเสธ เนื่องจากการออกคำฟัตวาดังกล่าว (จงถามผู้รู้ หน้า 244)

 

ซึ่งในการอ้างของอัต-ตีญานียฺว่า ชาวสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺกล่าวหาว่าชัยคฺ มะหฺมูด ชัลตูตเป็นผู้ปฏิเสธเนื่องจากออกคำวินิจฉัยรับรองมัซฮับญะอฺฟะรียะฮฺนั้น อัต-ตีญานียฺก็ไม่ได้อ้างอิงว่ามีนักวิชาการชาวสุนนะฮฺคนใดที่กล่าวหาชัยคฺ ชัลตูตด้วยข้อหาดังกล่าว จะมีก็เพียงการไม่เห็นด้วยกับคำฟัตวาของชัยคฺ ชัลตูตเท่านั้น เพราะผู้คัดค้านรู้ว่าคำฟัตวาดังกล่าวเป็นผลมาจากความพยายามของกลุ่มญะมาอะฮฺ อัต-ตักรีบ บัยนัล มะซาฮิบ อัล-อิสลามียะฮฺ ซึ่งมีชัยคฺ มุฮัมมัด ตะกียฺ อัล-กุมมียฺ นักวิชาการของฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺเป็นเลขานุการฯ บุคคลผู้นี้ได้พยายามเรียกร้องให้ชัยคุล ชัลตูต ยอมรับการเรียนการสอนฟิกฮฺของมัซฮับญะอฺฟะรียฺในมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัรฺด้วยการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร และส่วนหนึ่งจากนักวิชาการของอัล-อัซฮัรที่คัดค้านเรื่องนี้ก็คือ ชัยคฺ มุฮัมมัด หะสะนัยนฺ มัคลูฟ อดีตมุฟตียฺแห่งอียิปต์

 

และการออกคำวินิจฉัยของชัยคฺ ชัลตูตก็เป็นเรื่องของการอนุญาตให้ประกอบศาสนกิจและถือตาม (ตักลีด) ฟิกฮฺในมัซฮั ญะอฺฟะรียฺเท่านั้นไม่ได้หมายรวมถึงการยอมรับในหลักมูลฐานทางด้านความเชื่อ (อะกีดธฮิ – อุศูล) ของฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺ ซึ่งแตกต่างในสาระสำคัญจากแนวทางของฝ่ายสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺโดยสิ้นเชิง เพราะข้อเขียนในตำราบางเล่มของชัยคฺ ชัลตูตได้วิจารณ์แนวความเชื่อของกลุ่มชีอะฮฺอิมามียะฮฺ เอาไว้หลายประเด็น โดยเฉพาะการยอมรับต่อสถานภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺว่าจะต้องไม่มีการจาบจ้วงโจมตี ซึ่งฝ่ายชีอะฮฺไม่ได้ลดราวาศอกในเรื่องนี้ (ดู อิสลาม บิลา มะซาฮิบ (คำนำ) ; ชัยคฺ ชัลตูต หน้า 6)

 

อย่างไรก็ตามการอ้างคำฟัตวาของชัยคฺ ชัลตูตในเรื่องนี้ย่อมไม่อาจนำมาอ้างต่อฝ่ายสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺได้ เพราะในขณะที่คำฟัตวาของชัยคฺ ชัลตูต (ร.ฮ.) แสดงให้เห็นถึงความใจกว้างของฝ่ายสุนนะฮฺ แต่คำฟัตวาของชัยคฺ มุฮัมมัด อัล-คอลิศียฺ ปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺกลับระบุว่า ไม่อนุญาตให้ชาวชีอะฮฺถือตาม (ตักลีด) มัซฮับทั้งสี่ของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ (ดู อัต-เตาหีด วัล-วะหฺดะฮฺ หน้า 33-34) จึงย่อมบ่งชี้ว่าไม่มีความจริงใจในเรื่องนี้ของฝ่ายชีอะฮฺแต่อย่างใด และเป้าหมายที่แอบแฝงของสาบันอัต-ตักรีบ ระหว่างสุนนะฮฺกับชีอะฮฺก็คือการเปิดทางให้แก่บรรดานักเรียกร้องฝ่ายชีอะฮฺในการเผยแพร่แนวทางของชีอะฮฺในหมู่ชาวสุนนะฮฺเท่านั้น และชัยคฺ มะหฺมูด ชัลตูต ก็คือบุคคลหนึ่งที่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายชีอะฮฺในการออกคำฟัตวาดังกล่าวโดยไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของนักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺในเรื่องนี้

 

อัต-ตีญานียฺยังได้อ้างถึงนักเขียนในแวดวงของนักวิชาการชาวสุนนียฺอีกคนหนึ่งนามว่า มะหฺมูด อบูริยะฮฺ เจ้าของหนังสือ “อัฎวาอฺ อะลัส สุนนะฮฺ อัล-มุฮัมมะดียะฮฺ” (จงถามผู้รู้ หน้า 243) ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีการวิจารณ์แนวทางการถ่ายทอดสุนนะฮฺของเหล่านักปราชญ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ การอาศัยข้อโจมตีของเหล่านักบูรพาคดีและนักเขียนชาวตะวันตกในการเขียนวิจารณ์ความน่าเชื่อถือของนักวิชาการหะดีษฝ่ายสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ การโจมตีและจาบจ้วงบรรดาเศาะหาบะฮฺโดยเฉพาะท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) อาจะกล่าวได้ว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่อัต-ตีญานียฺสามารถนำมาต่อยอดในการเขียนโจมตีฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺได้เป็นอย่างดี และเราก็ไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่อัต-ตีญานียฺจะชื่นชมนักเขียนผู้นี้ว่าเป็นนักวิชาการอิสระที่มีความคิดเสรีและกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์แนวทางของชาวสุนนะฮฺ

 

อย่างไรก็ตามหนังสือของมะหฺมูด อบูริยะฮฺ ได้ถูกนักวิชาการคนสำคัญในฝ่ายชาวสุนนะฮฺเขียนตอบโต้และหักล้างโดยละเอียด คือ ดร.ชัยคฺ มุฮัมมัด อิบนุ มุฮัมมัด อบูชะฮฺบะฮฺ (ร.ฎ.) และดร.ชัยคฺ อับดุลเฆาะนียฺ อับดุลคอลิก (ร.ฮ.) ในหนังสือขนาด 500 หน้า ที่ชื่อ “ดิฟาอฺ อะนิสสุนะฮฺ” พิมพ์โดยมักตะบะฮฺ อัส-สุนนะฮฺ (กรุงไคโร) พิมพ์ครั้งแรก ปี ค.ศ. 1989 ซึ่งเราคงจะได้นำข้อหักล้างจากหนังสือเล่มนี้มาใช้ประกอบในการวิพากษ์ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺในลำดับต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

 

ในขั้นนี้เราขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตำราอ้างอิงในบรรณานุกรมของหนังสือที่อัต-ตีญานียฺได้เขียนไว้โดยเฉพาะหนังสือ จงถามผู้รู้ และชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง ว่าตำราอ้างอิงในหมวดอื่นๆ ที่ถูกนำมาอ้างอิงส่วนใหญ่เป็นงานเขียนของนักคิดนักเขียนร่วมสมัยที่มีแนวทางคล้ายกันคือ อาศัยข้อมูลจากนักบูรพาคดีและนักเขียนชาวตะวันตกที่มุ่งหมายโจมตีศาสนาอิสลามและมีความโน้มเอียงต่อแนวทางของกลุ่มชีอะฮฺอิมามียะฮฺไม่มากก็น้อย สิ่งดังกล่าวย่อมบ่งชี้ว่า อัต-ตีญานียฺไม่ได้มีความเป็นกลาง ไม่มีทัศนคติที่บริสุทธิ์จากการนิยมคลั่งไคล้และฝังหัว (ตะอัศศุบ)

 

มาตรฐานในการวิเคราะห์ของอัต-ตีญานียฺที่มักจะอ้างว่าตนจะอ้างอิงจากตำราและข้อเขียนที่เป็นที่ยอมรับของทั้งฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺจึงเป็นการเขียนตบตาและหลอกผู้อ่านเท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วอัต-ตีญานียฺได้ฝังหัวอยู่กับเนื้อหาของตำราที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียนเหล่านั้นและดำเนินตามวิธีการนำเสนอในข้อเขียนของตนอย่างที่นักเขียนเหล่านั้นได้กระทำมาก่อนแล้ว มิหนำซ้ำข้อมูลและเนื้อหาในหนังสือที่อัต-ตีญานียฺเขียนเกือบทุกเล่มเป็นการอ้างอิงถึงเรื่องเก่าที่นักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺเคยเขียนโจมตีและกล่าวหาฝ่ายสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺมาตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา

 

กอปรกับข้อกล่าวหาของนักบูรพาคดีและนักเขียนชาวตะวันตกที่มุ่งโจมตีศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมโดยรวมก็ล้วนแต่เป็นเรื่องเก่าที่นำมาเขียนใหม่เพื่อต่อยอดและมีเป้าหมายเดียวกันคือการบ่อนทำลายและสร้างความน่าสงสัยให้แก่มุสลิมและผู้ที่ขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ นักบูรพาคดี นักเขียนมุสลิมที่มีความผิดเพี้ยนในหลักวิชาการ และนักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺอย่างอัต-ตีญานียฺกับพวกจึงเป็นพันธมิตรและแนวร่วมเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย

 

เรายังพบอีกว่า อัต-ตีญานียฺได้อ้างอิงหนังสืออัรฺริยาฎ อัน-นัฎเราะฮฺของอัฏ-เฏาะบะรียฺในเชิงอรรถเลขที่ 205 จากหนังสือ “ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง” (หน้า 461) และในเชิงอรรถเลขที่ 141, 272, 278 จากหนังสือ “จงถามผู้รู้” (หน้า 464, 465, 487) ซึ่งมุหิบบุดดีน อัฏ-เกาะบะรียฺผู้นี้ถูกวิจารณ์จากอัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ ว่า “แท้จริง เขามีความคลุมเครืออย่างมากในการอ้างสายรายงานให้แก่ตัวบทของอัล-หะดีษ ทั้งๆ ที่ในสมัยของเขาไม่มีผู้ใดเหมือนเขา”

 

โดยอิบนุ หะญัรฺ อัล-ฮัยตะมียฺได้อ้างคำกล่าวของอัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรเอาไว้ใน “อัศ-เศาะวาอิก อัล-มุหฺริเกาะฮฺ” หน้า 226 และมุหิบบุดดีน (อบูญะอฺฟัรฺ อะหมัด อิบนุ มุฮัมมัด อัฏ-เฏาะบะรียฺ อัล-มักกียฺ อัช-ชาฟิอียฺ เสียชีวิต ฮ.ศ. 694) ได้ระบุไว้ใน “อัร-ริยาฎ อัน-นัฎเราะฮฺ ฟี ฟะฎออิล อัล-อัชเราะฮฺ” คือหนังสือที่เรากำลังพูดถึงนี้ว่า “เขาได้รวบรวมสิ่งที่ถูกรายงานมาเกี่ยวกับบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้ง 10 ท่าน จากตำรับตำราจำนวนหลายเล่มโดยทิ้งสายรายงาน (อะสานีด)” เหตุนี้จึงทำให้สิ่งที่ถูกรายงานเกี่ยวกับบรรดาเศาะหาบะฮฺขาดความน่าเชื่อถือเนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบสายรายงานได้ (กัชฟุซซุนูน อัน อะสามียฺ อัล-กุตุบ วัล-ฟุนูน ; หาจญียฺ เคาะลีฟะฮฺ 1/937 สำนักพิมพ์ดารุลฟิกร์ ค.ศ. 1982)

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ ตำรับตำราในบรรณานุกรมที่อัต-ตีญานียฺได้อ้างอิงในหนังสือทุกเล่มที่เขาได้เขียนสามารถแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มซึ่งไม่ได้แบ่งตามหมวดวิชา เช่น ตัฟสีรฺ หะดีษ และ ตารีค หากแต่แบ่งกลุ่มตามลักษณะที่ปรากฏในการนำมาอ้างอิงประกอบเรื่องของข้อเขียนที่อัต-ตีญานียฺเขียนถึงในแต่ละประเด็น ดังนี้

1.กลุ่มที่หนึ่ง เป็นตำราทางวิชาการของปราชญ์ฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ เช่น ตำราหะดีษทั้งเศาะหิหฺ อิมามอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม ตำราสุนันทั้ง 4 เล่ม (อบูดาวูด, อัต-ติรฺมีซียฺ, อัน-นะสาอียฺ, อัต-ติรฺมีซียฺ และอิบนุมาญะฮฺ, ตำรามุสนัด เช่น มุสนัดอิมามอะหฺมัด และมุวัฏเฏาะอฺของอิมามมาลิก ตำราตัฟสีรฺ เช่น ตัฟสีรฺ อัฏ-เฏาะบะรียฺ, อิบนิกะษีรฺ, ฟัครุดดีน อัร-รอซียฺ เป็นต้น ตำราประวัติศาสตร์ เช่น ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ, ตารีคบัฆดาดของอัล-บัฆดาดียฺ และตารีคอิบนิอะสากิรฺ เป็นต้น ตำรากลุ่มนี้เป็นผลงานทางวิชาการของปราชญ์ฝ่านอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺก็จริง แต่อัต-ตีญานียฺอ้างอิงโดยมีเป้าหมายเพื่อนำมาหักล้างและสนับสนุนแนวทางของตน ซึ่งส่วนใหญ่มิได้มีเนื้อหาอย่างที่อัต-ตีญานียฺพยายามกล่าวอ้างและสาธยายตามมโนภาพของตน ดังตัวอย่างกรณีเหตุการณ์วันพฤหัสฯ อัปโชค และกรณีกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ที่กล่าวมาแล้ว

 

2.กลุ่มที่สอง เป็นตำราที่มีลักษณะเหมือนกับกลุ่มแรก แต่เป็นตำราที่รวบรวมสายรายงานและข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ทั้งที่ถูกต้องและมีข้อมูลน่าเชื่อถือ และสายรายงานที่อ่อนและขาดความน่าเชื่อถือ เช่น ตำรากันซุลอุมมาล และสุนันอัด-ดาริมียฺ, อัด-ดาเราะกุฏนียฺ และอัล-มุสตัดรอกของอัล-หากิม ในหมวดวิชาอัล-หะดีษ และตำราอัด-ดุรรุลมันษูร ฟี อัต-ตัฟสีรฺ บิลมะอฺษูรฺของอิมามาอัส-สุยูฏียฺ ในหมวดวิชาตัฟสีรฺ ตำราในกลุ่มที่สองนี้ผู้แต่งมีเป้าหมายรวบรวมหลักฐานในทุกระดับทั้งเศาะหิหฺและไม่เศาะหิหฺโดยอ้างผู้รายงานเอาไว้ จึงต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้รายงานจากตำราอิลมุลญัรฺ วัต-ตะอฺดีลอีกครั้ง มิใช่ว่า ทุกสิ่งที่ตำรากลุ่มนี้ระบุไว้จะสามารถนำมาอ้างเป็นหลักฐานได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง

 

3.กลุ่มที่สาม เป็นตำราของปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺ หรือปราชญ์ในแนวทางอื่นที่มิใช่อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ หรือเป็นปราชญ์ที่นิยมในแนวทางของชีอะฮฺ เช่น อุศูลุลกาฟียฺ ของอัล-กุลัยนียฺ, ตารีคอัล-ยะอฺกูบียฺ, ตารีค อัล-มัสอูดียฺ, อัล-มุรอญิอาต ของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ, ยะนาบีอฺ อัล-มะวัดดะฮฺของอัล-กันดูซียฺ อัล-หะนะฟียฺ อัน-นัศ วัล-อิจญ์ติฮาดของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ, อัล-อิหฺติญาจญ์ของอัฏ-ฏอบริสียฺ, นะฮฺญูลบะลาเฆาะฮฺ, อัล-ฟะตะวา อัล-วาฎิหะฮฺ ของบากิรฺ อัศ-ศอดร์ เป็นต้น ตำรากลุ่มนี้โดยมากเป็นแหล่งข้อมูลจากฝ่ายชีอะฮฺที่อัต-ตีญานียฺนำมาอ้างอิง และหลายเล่มเป็นตำราที่เขียนขึ้นเพื่อโจมตีแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล- ญะมาอะฮฺ ซึ่งแน่นอนเป็นตำราที่ฝ่ายสุนนะฮฺไม่เห็นด้วย ทำให้ตำรากลุ่มที่ 3 นี้ออกจากมาตรฐานที่อัต-ตีญานียฺอ้างว่าตนจะอ้างอิงตำราที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับในข้อเขียนของตน

 

4.กลุ่มที่สี่ เป็นตำราที่นักวิชาการซึ่งอ้างตนว่าเป็นชาวสุนนียฺและมีความคิดอิสระเขียนขึ้นเพื่อโจมตีแนวทางของชาวสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ โดยอิงแอบกับข้อมูลของนักบูรพาคดีและนักเขียนชาวตะวันตก เช่น งานเขียนของฏอฮา หุสัยนฺ , อับบาส อักก็อด, หะมีด อัล-หัฟนียฺ, อะหฺมัด อะมีน, และมะหฺมูด อบูริยะฮฺ เป็นต้น ตำรากลุ่มนี้เป็นตำราที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความกังขาและข้อสงสัยให้เกิดขึ้นต่อแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺและศาสนาอิสลามโดยรวม จึงเป็นตำราที่ฝ่ายสุนนะฮฺไม่ให้การยอมรับและทำให้ตำรากลุ่มนี้ออกจากมาตรฐานที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างว่าตนจะอ้างอิงเฉพาะตำราที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับในข้อเขียนของตน ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

5.กลุ่มที่ห้า เป็นตำราทั่วไปที่ใช้อ้างเป็นข้อมูลประกอบในการเขียน เช่น ตำรา มะกอลาต อัล-อิสลามียีน และอัล-มิลัล วัน-นิหัล ที่กล่าวถึงกลุ่มความเชื่อต่างๆ, ตำราอัตชีวประวัติและเกียรติคุณของบุคคลสำคัญ เช่น ตำรามะนากิบ, ตำราสิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ เป็นต้น ตำรากลุ่มที่ 5 นี้ อัต-ตีญานียฺจะอ้างถึงในหนังสือที่ตนเขียนเพื่อใช้ประกอบในการวิจารณ์กลุ่มนักวิชาการทั้งที่เป็นชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ และกลุ่มอื่นๆ เช่น พวกนะวาศิบ พวกเคาะวาริจญ์, มุอฺตะซิละฮฺ และพวกมุชับบิฮะฮฺ – มุญัสสิมะฮฺ เป็นต้น