25. อัต-ตีญานียฺอ้างว่าอัล-กุรอานประณามเหล่าเศาะหาบะฮฺ (ร.ฎ.)

ในหนังสือ “ษุมมะฮฺตะดัยตุ้” อัต-ตีญานียฺเขียนถึงมุมมองของอัล-กุรอานที่มีต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า :
“ก่อนอื่น จำเป็นที่ข้าพเจ้าจะต้องกล่าวถึงเสียก่อนว่า แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ชื่นชมบรรดาสาวกของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เอาไว้ในหลายที่ด้วยกันในคัมภีร์อันทรงเกียรติของพระองค์

 

เหล่าสาวกที่ถูกชื่นชมคือบรรดาผู้ที่รักท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปฏิบัติตามและเชื่อฟังท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยไม่มีความละโมภไม่มีการคัดค้าน ไม่ยกตนข่มท่านและไม่มีความยะโสโอหัง แต่ทว่าพวกเขาปฏิบัติตามและเชื่อฟังโดยมุ่งหวังความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) พวกเขาเหล่านี้คือผู้ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงพึงพอพระทัยต่อพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีในพระองค์ สิ่งดังกล่าวเป็นกรณีของผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของเขา

 

และเหล่าสาวกประเภทนี้คือผู้ที่ชาวมุสลิมรับรู้ถึงเกียรติของพวกเขาผ่านจุดยืนและการประพฤติปฏิบัติของพวกเขาพร้อมกับท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บรรดามุสลิมรัก ให้เกียรติ และยกย่องสถานะของพวกเขาตลอดจนกล่าวประโยคอัต-ตะรอฎฎียฺทุกครั้งที่ชาวมุสลิมเอ่ยถึงพวกเขา

 

และการวิเคราะห์ของข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องกับเหล่าสาวกประเภทนี้ซึ่งพวกเขาเป็นที่ลงของการให้เกียรติและยกย่องทั้งจากฝ่ายของชาวสุนนะฮฺและชีอะฮฺ ทำนองเดียวกันก็ไม่เกี่ยวข้องกับประเภทที่รู้กันถึงความเป็นผู้กลับกลอกและบรรดาพวกที่ต้องเผชิญกับการสาปแช่งของชาวมุสลิมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชาวสุนนะฮฺและชีอะฮฺ

 

ทว่า การวิเคราะห์ของข้าพเจ้าจะเกี่ยวข้องกับเหล่าสาวกประเภทนี้ซึ่งบรรดามุสลิมมีความเห็นขัดแย้งกันใน (สถานภาพของ) พวกเขา และอัล-กุรอานได้ลงมาด้วยการตำหนิและคาดโทษพวกเขาในบางสถานการณ์ และพวกเขาคือบรรดาผู้ที่ท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เตือนให้พวกเขาระวังตัวในหลายวาระโอกาสหรือเตือนให้ (ชาวมุสลิม) ระมัดระวังจากคนเหล่านี้ ใช่แล้ว! การขัดแย้งที่ดำรงอยู่ระหว่างฝ่ายชีอะฮฺและสุนนะฮฺ ก็คือในเหล่าสาวกประเภทนี้” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ : หน้า 111 ฉบับภาษาอาหรับ)

 

วิภาษ

อัต-ตีญานียฺเขียนข้อความดังกล่าวโดยยึดหลักการแบ่งประภทของเหล่าเศาะหาบะฮฺตามทฤษฎีของตน ซึ่งอัต-ตีญานียฺเขียนเอาไว้ในหน้า 90-92 ก่อนหน้านั้น และเราได้วิภาษถึงการแบ่งประเภทเหล่าเศาะหาบะฮฺของอัต-ตีญานียฺไปแล้วว่าไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร และนั่นเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาดของอัต-ตีญานียฺ ผลจาการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ย่อมทำให้เกิดการผิดพลาดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งประเภท การนำเอาบุคคลเข้าใส่ไว้ในแต่ละประเภท โดยเฉพาะการนำเอาพวกมุนาฟิกหรือมุชริกในนครมักกะฮฺก่อนการพิชิตนครมีกกะฮฺเข้าไว้ในประเภทของเหล่าเศาะหาบะฮฺ และนำเอาเหล่าเศาะหาบะฮฺโดยส่วนใหญ่เข้าไว้ในประเภทของพวกมุนาฟิกจนกลายเป็นประเภทเดียวกัน

 

อัต-ตีญานียฺพยายามเขียนให้ได้ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา (ซึ่งผู้อ่านอาจจะคล้อยตามไปกับผลลัพธ์ที่ว่านั้น) กล่าวคือ ฝ่ายชีอะฮฺและสุนนะฮฺเห็นพ้องตรงกันว่า เศาะหาบะฮฺส่วนหนึ่งเป็นที่เห็นพ้องว่าเป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ และเศาะหาบะฮฺอีกส่วนหนึ่งฝ่ายชีอะฮฺและสุนนะฮฺก็เห็นพ้องตรงกันว่าเป็นพวกกลับกลอก (มุนาฟิก) แล้วก็เจือสมว่า ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสุนนะฮฺกับชีอะฮฺอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺประเภทที่สาม ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือเหล่าเศาะหาบะฮฺโดยส่วนใหญ่นั่นเอง

 

ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺเป็นการตีเนียนแบบเจือสมว่า ฝ่ายสุนนะฮฺห็นพ้องกับตนในการแบ่งประเภทเหล่าเศาะหาบะฮฺตามนั้นด้วย ซึ่งค้านกับข้อเขียนก่อนหน้านั้นว่า “ส่วนชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺนั้นทั้งๆ ที่พวกเขาให้เกียรติและยกย่องตลอดจนให้ความประเสริฐแก่อะฮฺลุลบัยตฺ เว้นเสียแต่ว่า พวกเขาไม่ยอมรับการแบ่งประเภทนี้สำหรับเหล่า เศาะหาบะฮฺ และไม่นับว่าพวกกลับกลอกอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺ ทว่าเศาะหาบะฮฺในทัศนะของพวกเขาเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดหลังจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ : 92)

 

ความพยายามของอัต-ตีญานียฺในการอ้างว่ามีการเห็นพ้องระหว่างสุนนะฮฺกับชีอะฮฺเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของเหล่าเศาะหาบะฮฺตามทฤษฎีของตนจึงเป็นการลืมหรือแสร้งว่าลืมในสิ่งที่ตนเขียนมาก่อนหน้านี้ และขัดกันเองโดยปริยาย

 

เป็นเรื่องประหลาดที่ว่า อัต-ตีญานียฺอ้างว่าตนจะมีความเป็นกลาง เน้นเนื้อหาและจะรับฟังคำกล่าวจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยยึดสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน (ดู อ้างแล้ว หน้า 92) แต่แล้ว อัต-ตีญานียฺก็ยึดการแบ่งประเภทของฝ่ายชีอะฮฺเป็นหลักโดยหลงลืมไปว่า การแบ่งประเภทดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน และไม่ยอมรับฟังความเห็นของฝ่ายสุนนะฮฺในเรื่องนี้ การยึดการแบ่งประเภทของเหล่าเศาะหาบะฮฺของอัต-ตีญานียฺจึงเป็นความคิดที่ฟันธงแล้วก่อนการสืบค้นหาความจริงและไม่มีความเป็นกลางแต่อย่างใดในเรื่องนี้

 

ข้อเขียนที่ว่า “และข้าพเจ้ายังคงเคร่งครัดต่อตัวเองในการค้นคว้านี้เพื่อเป้าหมายการบรรลุถึงข้อเท็จจริง และข้าพเจ้ายังคงปลอดจากทุกๆ ความนึกคิดที่มีมาก่อนด้วยความบริสุทธิ์ใจล้วนๆ” (อ้างแล้ว หน้า 93) จึงเป็นเพียงการแอบอ้างเพื่อโน้มน้าวผู้อ่านเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว อัต-ตีญานียฺไม่ได้เคร่งครัดต่อตัวเองในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย

 


ก่อนที่เราจะได้กล่าวถึงบรรดาอายะฮฺในคัมภีร์อัล-กุรอานที่อัต-ตีญานียฺนำมาเป็นตัวอย่างสนับสนุนความเห็นของตนที่ว่า อัล-กุรอานลงมาพร้อมกับคำประณามเหล่าเศาะหาบะฮฺ เราขอวิภาษข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺในประเด็นที่เขียนว่า : “ทว่า ระหว่างการค้นคว้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ค้นพบว่ามีบรรดาอายะฮฺที่ชื่นชม (เหล่าเศาะหาบะฮฺ) อื่นๆ ซึ่งมีนัยที่รวมการตำหนิ (หรือวิจารณ์) เอาไว้ภายในเนื้อหาของบรรดาอายะฮฺเหล่านั้นหรือรวมสิ่งที่หักล้างการชื่นชมดังกล่าว (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ : 112)

 

แล้วอัต-ตีญานียฺก็ยกตัวอย่างการค้นพบของตนด้วยอายะฮฺที่ 29 จากสูเราะอัล-ฟัตห์ซึ่งเริ่มต้นอายะฮฺว่า

مُّحَمَّدٌ رَّسُولُ اللَّهِ وَالَّذِينَ مَعَهُ أَشِدَّاءُ عَلَى الْكُفَّارِ رُحَمَاءُ بَيْنَهُمْ…الآية
“มุฮัมมัดนั้นคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ซึ่งอยู่พร้อมกับเขานั้นคือบรรดาผู้ที่เข้มแข็งเหนือเหล่าผู้ปฏิเสธ คือ บรรดาผู้ที่มีความเมตตาระหว่างพวกเขากันเอง…”

และจบลงที่ว่า

وَعَدَ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ مِنْهُم مَّغْفِرَةً وَأَجْرًا عَظِيمًا
“อัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ซึ่งศรัทธาและประพฤติการดีจากพวกเขาด้วยการอภัยโทษและผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่”

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : อายะฮฺนี้ทั้งอายะฮฺเป็นการชื่นชมต่อท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งอยู่พร้อมกับท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) …และอายะฮฺอันทรงเกียรติได้ดำเนินเรื่องในการชื่นชมพวกเขาเหล่านี้และระบุถึงคุณลักษณะต่างๆ ของพวกเขาจนกระทั่งจบลงด้วยคำสัญญาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยการอภัยโทษและผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ซึ่งมิใช่สำหรับบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ถูกกล่าวถึงทั้งหมด แต่ทว่าสำหรับบางส่วนจากพวกเขาเท่านั้น คือ บรรดาผู้ที่ศรัทธาและประพฤติการดี

 

ดังนั้นคำว่า (مِنْهُمْ) ซึ่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงระบุคำนี้เอาไว้จึงบ่งชี้ถึงบางส่วน (ลิต-ตับอีฎ) เท่านั้น และถ้อยคำนี้ส่อว่า แท้จริงบางส่วนจากพวกเขาเหล่านั้น การอภัยโทษจากอัลลอฮฺและโปรดปรานของพระองค์ไม่ครอบคลุมพวกเขาด้วย และบ่งชี้อีกว่า แท้จริง บางส่วนจากเศาะหาบะฮฺนั้นคุณลักษณะแห่งศรัทธาและการประพฤติความดีไม่มี (ในกลุ่มของเศาะหาบะฮฺ) จากบางส่วนนั้น ดังนั้น นี่คือส่วนหนึ่งจากบรรดาอายะฮฺที่ชื่นชมสรรเสริญและตำหนิวิจารณ์ในคราเดียวกัน กล่าวคือในขณะที่อายะฮฺชื่นชมกลุ่มหนึ่งจากเหล่าเศาะหาบะฮฺก็วิจารณ์และตำหนิอีกกลุ่มหนึ่งด้วย” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ : 113)

 

วิภาษ

ปัญหาเกิดจากการแบ่งประเภทเหล่าเศาะหาบะฮฺของอัต-ตีญานียฺ เพราะทฤษฎีการค้นพบของอัต-ตีญานียฺหมายรวมเอาบรรดาผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีการประพฤติการดีซึ่งหมายถึงพวกปฏิเสธและพวกกลับกลอกเข้าอยู่ในประเภทของเศาะหาบะฮฺด้วย ซึ่งกรณีนี้ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่เห็นด้วย เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย หลักเกณฑ์ในการค้นคว้าของอัต-ตีญานียฺที่ว่าจะยึดหลักที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันจึงใช้ไม่ได้

 

ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺในหน้า 113 จากษุมมะฮฺตะดัยตุ้ที่ว่าอายะฮฺนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนในการสนับสนุนฝ่ายชีอะฮฺที่กล่าวถึงการแบ่งประเภทเหล่าเศาะหาบะฮฺออกเป็นผู้ศรัทธาที่บริสุทธิ์ใจมีศรัทธาสมบูรณ์ และประพฤติชอบ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงทรงสัญญาการลุแก่โทษและผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่แก่พวกเขา และอีกประเภทหนึ่งที่เข้ารับอิสลามแต่ศรัทธาไม่ได้เข้าสู่หัวใจของพวกเขา หรือเคยศรัทธาและประพฤติชอบในสมัยท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วตกศาสนาในภายหลัง ข้อเขียนดังกล่าวย่อมบ่งชี้ว่า อัต-ตีญานียฺมีใจลำเอียงไปยังฝ่ายชีอะฮฺอยู่ก่อนแล้ว การวางตัวเป็นกลางที่แอบอ้างอยู่เนืองๆ จึงเป็นเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

 

การอ้างว่าคำสัญญาในอายะฮฺที่ 29 จากสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์มุ่งหมายเฉพาะบรรดาผู้ศรัทธาและประพฤติการดีนั้นไม่ผิดดอก เพราะคำสัญญาดังกล่าวย่อมไม่รวมถึงบรรดาผู้ไร้ศรัทธาและผู้ประพฤติชั่วอย่างแน่นอน แต่การคัดเศาะหาบะฮฺจำนวนมาก มิใช่เพียงส่วนหนึ่งอย่างที่เข้าใจออกจากความเป็นผู้ศรัทธาและประพฤติการดี นี่แหล่ะคือปัญหา! เพราะ สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์เป็นสูเราะฮฺที่สมบูรณ์ซึ่งถูกประทานลงมาให้แก่ท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

กล่าวคือ ทั้ง 29 อายะฮฺในสูเราะฮฺนี้เป็นสิ่งที่ถูกประทานลงมาทั้งหมดในรวดเดียวขณะที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กลับจากอัล-หุดัยบียะฮฺ ในเวลาค่ำคืน ณ ตำบลกุรออ์ อัล-เฆาะมีมซึ่งเป็นวาดียฺที่อยู่ด้านหน้าอัสฟานระหว่างนครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ (หาชิยะฮฺ อัศ-ศอวียฺ อะลา ตัฟสีรฺ อัล-ญะลาลัยนฺ ; ชัยคฺ อะหฺมัด อัศ-ศอวียฺ ; ตรวจทานโดย อับดุลลอฮฺ อัล-มินชาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 66 สำนักพิมพ์ดารุลหะดีษ (ไคโร) ค.ศ. 2011)

 

และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวภายหลังสูเราะฮฺนี้ประทานลงมาว่า لقد أُنْزِلَتْ عَلَيَّ اللَّيْلَةَ سُوْرَةٌ هِىَ أَحَبَّ إليَّ مِنَ الدنيا ومافيها “แน่แท้ในคืนนี้มีสูเราะฮฺหนึ่งประทานลงมาให้แก่ฉัน เป็นสูเราะฮฺที่รักยิ่งยังฉันมากกว่าดุนยาและสิ่งที่อยู่ในดุนยา” แล้วท่านก็อ่านอายะฮฺของสูเราะฮฺจนกระทั่งจบสูเราะฮฺ (อัล-บุคอรียฺ ; 4177 , 4833 , อัต-ติริมิซียฺ : 3262 , 3263 , อะห์มัด : 3/134 , อัล-บะเฆาะวียฺ : 5/164,165 และอัล-กุรฏุบียฺ : 9/202)

 

และมูลเหตุแห่งการประทานสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ลงมาเป็นเรื่องของเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺและสัตยาบันอัรฺริฎวานซึ่งเป็นกรณีของบรรดาเศาะหาบะฮฺจำนวน 1,400 คนในปีฮ.ศ. ที่ 6 (หาชิยะฮฺ อัศ-ศอวียฺ ; อ้างแล้ว 4/66) ซึ่งอัต-ตีญานียฺระบุเอาไว้ในหน้า 93 จากษุมมะฮฺตะดัยตุ้ในบรรดาเศาะหาบะฮฺจำนวนดังกล่าวไม่มีพวกมุนาฟิกร่วมอยู่ด้วย หรือมีอยู่เพียงคนเดียวที่ไม่ยอมให้สัตยาบันดังจะกล่าวถึงต่อไป เพราะในอายะฮฺที่ 6 , 11 , 15 และ 16 ในสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ได้กันพวกมุนาฟิกออกไปจากเหล่าเศาะหาบะฮฺ ในขณะที่พวกมุชริกมักกะฮฺเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ชัดเจนซึ่งขัดขวางท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเหล่าเศาะหาบะฮฺมิให้เข้าสู่นครมักกะฮฺ

 

และในอายะฮฺที่ 10 พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงระบุถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ร่วมสัตยาบันกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺจำนวน 1,400 คนนั้น ดังที่ท่านญาบิรฺ (ร.ฎ.) ระบุว่า : พวกเราในวันอัล-หุดัยบียะฮฺมีจำนวน 1,400 คน แล้วพวกเราได้ให้สัตยาบันแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และอุมัร (ร.ฎ.) ได้จับมือของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ภายใต้ต้นไม้ คือต้นสะมุเราะฮฺ (มุสลิม : 3/1483 หะดีษเลขที่ 1856)

 

และติดตามด้วยอายะฮฺที่ 18 ซึ่งพระองค์ทรงประกาศความพึงพอพระทัยของพระองค์ที่มีต่อบรรดาผู้ศรัทธาซึ่งให้สัตยาบันแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ภายใต้ต้นไม้นั้น โดยประโยคที่ว่า ( …لقد رَضِي الله عن المؤمنين ) “แน่แท้พระองค์อัลลอฮฺทรงพอพระทัยต่อบรรดาผู้ศรัทธา” ซึ่งเป็นผู้ใดไปไม่ได้นอกจากเหล่าเศาะหาบะฮฺที่ร่วมสัตยาบันอัรฺริฎวาน เพราะประโยคถัดมาใช้สำนวนว่า ( …إِذْيُبَايِعُوْنَكَ تَحْتَ الشَّجَرَةَ ) “ขณะที่พวกเขากำลังสัตยาบันกับท่าน ณ ใต้ต้นไม้นั้น”

 

ดังนั้นจำนวนของเศาะหาบะฮฺที่ศรัทธาและให้สัตยาบันอัร-ริฎวานกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นมีจำนวน 1,400 คน โดยไม่รวมมุนาฟิกซึ่งไม่ยอมให้สัตยาบัน นั่นคืออัล-ญัดด์ อิบนุ กอยสฺ (ตัฟสีรฺ อัล-กุรฏุบียฺ 16/274 , ศอฟวะฮฺ อัต-ตะฟาสีรฺ ; มุฮัมมัด อะลี อัศ-ศอบูนียฺ 3/215)

 

หากอัต-ตีญานียฺกับพวกจะอ้างว่า “ในหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺมีมุนาฟิกรวมอยู่ด้วย อย่างน้อยก็หนึ่งคนมิใช่หรือ” ก็ตอบว่า ใช่! แต่มุนาฟิกหนึ่งคนนั้นถูกออกชื่อไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นใคร การร่วมอยู่ในเหตุการณ์ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ผู้ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เป็นมุนาฟิกที่รู้กันว่าคือใคร เมื่อเป็นมุนาฟิกก็ย่อมไม่ใช่เศาะหาบะฮฺตามคำจำกัดความของฝ่ายสุนนะฮฺ และไม่เข้าอยู่ในกลุ่มของเศาะหาบะฮฺที่เป็นผู้ศรัทธาซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงพึงพอพระทัยและสัญญากับพวกเขาด้วยการอภัยโทษและผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ การปฏิเสธการให้สัตยาบันของมุนาฟิกผู้นี้ย่อมกันบุคคลผู้นี้ออกจากความของอายะฮฺที่ 18 และ 29 จากสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ ส่วนผู้ที่ศรัทธาซึ่งไม่ใช่มุนาฟิกและให้สัตยาบันแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็คือเหล่าเศาะหาบะฮฺจำนวน 1,400 คนเท่านั้น และมิได้จำกัดจำนวนอยู่เฉพาะ 7-10 คนอย่างที่ฝ่ายชีอะฮฺกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

ในอายะฮฺที่ 29 จากสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ อัต-ตีญานียฺอ้างว่า “มินฮุม” (مِنْهُمْ) หมายถึงบางส่วน (ลิต-ตับอิฎ) มิได้หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมด (อัต-ตีญานียฺระบุว่า “มิน” ในอายะฮฺบ่งถึงบางส่วนในงานเขียน “อิอฺริฟ อัล-หัก” หน้า 88 สำนักพิมพ์ดารุลมุจญัตะบา เบรุต ;1995 อีกด้วย) เพราะเศาะหาบะฮฺที่อัต-ตีญานียฺมุ่งหมายคือเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยที่มีอยู่ราว 7-10 คน และนั่นคือ “บางส่วน” แต่ในข้อเท็จจริงความของอายะฮฺนี้ผูกพันอยู่กับอายะฮฺที่ 18 และก่อนหน้านั้นเพราะถูกประทานลงมาทั้งสูเราะฮฺในรวดเดียว

 

ในอายะฮฺที่ 18 ระบุชัดถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ร่วมสัตยาบันอัร-ริฎวานที่ตำบลอัล-หุดัยบียะฮฺว่าเป็นผู้ศรัทธา และผู้ศรัทธาใน อายะฮฺที่ 18 ซึ่งอายะฮฺที่ 18 นี้กันมุนาฟิกออกไปเรียบร้อยแล้ว เพราะมุนาฟิกมิใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริงและปฏิเสธการสัตยาบันอัรฺริฎวานต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อายะฮฺที่ 18 ชื่นชมและเยินยอต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยใช้สำนวนการโต้ตอบด้วยสรรพนามบุรุษที่สามและในอายะฮฺที่ 20 ใช้สำนวนบุรุษที่ 2 ทั้งหมดไม่มีการประณามหรือตำหนิควบคู่มาด้วยตามทฤษฎีที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างว่าตนได้ค้นพบ

 

หากจะมีอายะฮฺกล่าวมาต่อจากนั้นก็เป็นการระบุถึงพวกปฏิเสธชาวนครมักกะฮฺในอายะฮฺที่ 25 และ 26 ซึ่งไม่ใช่บรรดาเศาะหาบะฮฺอย่างแน่นอน พอถึงอายะฮฺที่ 27 และ 28 ก็ระบุถึงความฝันที่เป็นจริงของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺผู้ศรัทธาจะได้เข้าสู่นครมักกะฮฺอย่างแน่นอน และหลังจากนั้นคือการพิชิตนครมักกะฮฺซึ่งเป็นผลมาจากการละเมิดสนธิสัญญาอัล-หุดัยบียะฮฺของพวกมักกะฮฺ และพระองค์คือผู้ทรงส่งท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาพร้อมกับทางนำและศาสนาอันเที่ยงธรรมเพื่อทำให้ศาสนาของพระองค์สูงส่งเหนือทุกศาสนา เพียงพอแล้วที่พระองค์จะทรงเป็นพยานถึงความสัจจริงของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

แล้วอายะฮฺที่ 29 ยืนยันว่าท่านนบีมุฮัมมัดคือศาสนทูตของพระองค์และสาธยายถึงคุณลักษณะของเหล่าเศาหาบะฮฺผู้ศรัทธา มิใช่พวกมุนาฟิกหรือผู้ปฏิเสธคำสัญญาของพระองค์ ในอายะฮฺสุดท้ายจึงเป็นการจบลงอย่างสวยงามของสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ว่า เหล่าเศาะหาบะฮฺที่มีศรัทธาและประพฤติการดี (ไม่ใช่พวกมุนาฟิกและพวกปฏิเสธศรัทธา) จะได้รับการอภัยโทษและผลานิสงค์อันยิ่งใหญ่ คำสัญญานี้ครอบคลุมบรรดาเศาะหาบะฮฺผู้มีศรัทธาและประพฤติการดีทั้งหมดและยังครอบคลุมบรรดาผู้ศรัทธาและประพฤติการดีโดยรวม ดังปรากฏในอายะฮฺที่ว่า

 

وَعَدَ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ لَهُم مَّغْفِرَةٌ وَأَجْرٌ عَظِيمٌ
“อัลลอฮฺทรงสัญญาแล้วกับบรรดาผู้ศรัทธาและประพฤติการดีว่าสำหรับพวกเขาคือการอภัยโทษและผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่”

(อัล-มาอิดะฮฺ : 9)

 

ส่วนการอธิบายของอัต-ตีญานียฺที่ว่า คำสัญญาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในอายะฮฺที่ 29 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ มุ่งหมายเฉพาะเศาะหาบะฮฺบางส่วน เพราะคำว่า “มินฮุม” (مِنْهُمْ) หมายถึงบางส่วนจากพวกเขา (ลิตตับอีฎ) ไม่ใช่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ นั่นเป็นการอธิบายเอาเองของ อัต-ตีญานียฺ และไม่ใช่สิ่งที่นักตัฟสีรฺฝ่ายสุนนะฮฺเห็นด้วย

 

หลักเกณฑ์ที่อัต-ตีญานียฺอ้างว่าจะเคร่งครัดอยู่เฉพาะสิ่งที่ฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺเห็นพ้องตรงกันจึงขาดความสมจริงและไม่เป็นไปตามสิ่งที่ตนอ้างว่าจะเคร่งครัด เพราะคำว่า มินฮุม (مِنْهُمْ) ตามคำอธิบายของนักตัฟสีรฝ่ายสุนนะฮฺเป็นคำบุพบทที่ระบุเพื่อแจ้งถึงประเภท (ลิบะยาน อันญินส์) ประโยคในอายะฮฺที่ 29 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์จึงมีความหมายว่า “อัลลอฮฺได้ทรงสัญญาแล้วกับบรรดาผู้ศรัทธาและประพฤติการดีจากชนประเภทนี้” ซึ่งหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นการเฉพาะ ต่างจากอายะฮฺที่ 9 สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺที่มีนัยกว้างและครอบคลุมบรรดาผู้ศรัทธาและผู้ประพฤติการดีทั้งหมด ซึ่งเศาะหาบะฮฺเข้าอยู่ในอันดับแรกและครอบคลุมชนรุ่นหลังด้วย

 

อิมามอัล-กุรฏุบียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : บุพบท “มิน” (مِنْ) ในดำรัส “มินฮุม” (مِنْهُمْ) ไม่ใช่คำบ่งถึงบางส่วนสำหรับชนกลุ่มหนึ่งจากเหล่าเศาะหาบะฮฺโดยไม่รวมถึงบางส่วน แต่บุพบท “มิน” (مِنْ) บ่งถึงประเภทโดยรวมเหมือนพระดำรัสที่ว่า فَاجْتَنِبُوا الرِّجْسَ مِنَ الْأَوْثَانِ “ดังนั้น เจ้าจงหลีกห่างมลมินจากเหล่ารูปเจว็ด” (อัล-หัจญ์ : 30) ซึ่งไม่ได้มุ่งหมายถึงบางส่วนแต่มุ่งหมายยังประเภท (อัล-ญินส์) ดำรัสนี้จึงหมายความว่า “ดังนั้น สูเจ้าจงหลีกห่างมลทินจากประเภทของรูปเจว็ดทั้งหลาย”

 

กล่าวคือ คำว่า “มลทิน” الرِّجْسُ จะเกิดขึ้นจากประเภทต่างๆ เช่น การผิดประเวณี , ดอกเบี้ย , การดื่มสุราและการมุสา ดังนั้น บุพบท “มิน” (مِنْ) จึงถูกนำมาใส่ในประโยคเพื่อบ่งถึงประเภท ในทำนองเดียวกัน คำว่า “มินฮุม” หมายถึง จากประเภทนี้ คือประเภทเศาะหาบะฮฺ (เหมือนกับสำนวน) ที่ถูกกล่าวว่า ( أَنْفِقْ نَفَقَتَكَ مِنَ الدِّرْهَمِ ) “ท่านจงจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบรรดาเหรียญดิรฮัม” หมายถึง “จงทำให้ค่าใช้จ่ายของท่านมาจากประเภทนี้” (ตัฟสีรอัล-กุรฏุบียฺ : 16/282)

 

อิบนุ กะษีรฺ (ร.ฮ.) ก็ระบุว่า “บุพบท “มิน” (مِنْ) นี้ถูกกล่าวเพื่อแจ้งประเภท” (ตัฟสีรฺ อิบนิกะษีรฺ : 4/205) เช่นเดียวกับตัฟสีรอัล-ญะลาลัยนฺที่ระบุว่า “มิน” (مِنْ) เป็นคำที่บ่งถึงการอธิบายประเภท ไม่ใช่บ่งถึงบางส่วน เพราะเศาะหาบะฮฺทั้งหมดมีลักษณะที่ถูกระบุไว้ (ในอายะฮฺที่ 29 นี้) (หาชียะฮฺ อัศ-ศอวียฺ : อ้างแล้ว 4/84 , อัต-ตีฟสีรฺ อัล-มุนีรฺ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ ภาคที่ 26 หน้า 205)

 

อิมามอิบนุ ฮิชาม อัล-อันศอรียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ในตำราอัล-มะศอหิฟ ของอิบนุ อัล-อัมบารียฺ ระบุว่า : พวกซินดีก (นอกรีต) บางส่วนได้ยึดอายะฮฺที่ 29 จากสูเราะฮฺอัล-ฟัตห์นี้ในการจาบจ้วงต่อเศาะหาบะฮฺบางส่วน และที่จริงแล้วบุพบท “มิน” ในอายะฮฺบ่งถึงการให้ความกระจ่าง (แก่ประเภท) มิใช่บ่งถึงบางส่วน หมายถึง “บรรดาผู้ศรัทธานั้นพวกเขาคือพวกเขาเหล่านี้ (เศาะหาบะฮฺ) และสำนวน “มินฮุม” (مِنْهُمْ) ในอายะฮฺที่ 29 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ก็เหมือนกับสำนวนในอายะฮฺที่ว่า : 

الَّذِينَ اسْتَجَابُوا لِلَّهِ وَالرَّسُولِ مِن بَعْدِ مَا أَصَابَهُمُ الْقَرْحُ لِلَّذِينَ أَحْسَنُوا مِنْهُمْ وَاتَّقَوْا أَجْرٌ عَظِيمٌ 

ความว่า “(บรรดาผู้ศรัทธานั้น) คือบรรดาผู้ซึ่งพวกเขาตอบรับอัลลอฮฺและศาสนทูตภายหลังการที่พวกเขาได้รับบาดเจ็บ (จากคมศัสตราวุธ) สำหรับบรรดาผู้ซึ่งประพฤติการดีจากพวกเขาและมีความยำเกรงคือผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่”

(อาลิ อิมรอน : 172)

หมายความว่า พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นผู้ประพฤติการดีและเป็นผู้มีความยำเกรง

 

และเหมือนกับอายะฮฺที่ว่า

وَإِن لَّمْ يَنتَهُوا عَمَّا يَقُولُونَ لَيَمَسَّنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا مِنْهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ 

ความว่า “และถ้าหากพวกเขาไม่ยุติจากสิ่งที่พวกเขาพูด แน่นอนการลงทัณฑ์อันเจ็บแสบย่อมจะประสบกับบรรดาผู้ฏิเสธจากพวกเขา”

(อัล-มาอิดะฮฺ : 73)

หมายความว่า พวกที่ถูกกล่าวถึงทั้งหมดล้วนเป็นผู้ปฏิเสธ (มุฆนียฺ อัล-ละบีบ ; อิบนุ ฮิชาม : 1/350)

จะเห็นได้ว่า “มินฮุม” ในอายะฮฺทั้งสองบ่งถึงประเภททั้งหมด ไม่ได้บ่งถึงบางส่วนอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง

 

นักวิชาการในฝ่ายสุนนะฮฺบางส่วนระบุว่า “มินฮุม” (مِنْهُمْ) ในอายะฮฺที่ 29 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์และอายะฮฺอื่นๆ ที่มีสำนวนคล้ายกันตกในตำแหน่งของ “สภาพ” “ห๊าล” หมายความว่า ทั้งคำบุพบท “มิน” และสรรพนามที่ตกหลังจาก “มิน” เป็นคำบ่งถึงสภาพ (ดู อิอฺรอบุลกุรอาน อัล-กะรีม ว่า บะยานุฮู ; มุหัยยิดดีน อัด-ดัรฺวีช เล่มที่ 9/255 เป็นต้น) ดังนั้น ความหมายของอายะฮฺก็คือ : อัลลอฮฺทรงสัญญาไว้กับบรรดาผู้ศรัทธาและประพฤติการดีโดยการศรัทธาและการประพฤติดีคือสภาพของพวกเขา”

 

คำอธิบายในลักษณะดังกล่าวจึงปลอดจากการระบุถึงบางส่วน แต่มุ่งเน้นถึงสภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺที่ถูกระบุในตอนต้นของอายะฮฺ

 

สิ่งที่อัต-ตีญานียฺพลาดไปสำหรับการยกอายะฮฺที่ 29 สูเราะฮฺอัล-ฟัตห์ ก็คือ

1) “والذيْنَ مَعَهُ” และบรรดาผู้ที่อยู่พร้อมกับเขา (ศาสนทูตของอัลลอฮฺ)” หมายถึง เหล่าเศาะหาบะฮฺแน่นอนถึงแม้อัต-ตีญานียฺจะอ้างว่าพวกมุนฟิกก็อยู่ร่วมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยปะปนอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺ แต่อัต-ตีญานียฺก็มิอาจอ้างได้ว่า มีบรรดาผู้ปฏิเสธและบรรดาผู้ตั้งภาคีอยู่ร่วมพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และการอยู่ร่วมพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการสัตยาบันอัร-ริฎวาน ณ อัล-หุดัยบียะฮฺก็ไม่รวมพวกมุนาฟิกเข้าไว้ในหมู่บรรดาเศาะหาบะฮฺอย่างแน่นอน

 

2) “أَشِدَّاءُعلى ألكُفَّارِ”  “คือบรรดาผู้เข้มแข็งในการต่อสู้กับพวกปฏิเสธ” นี่เป็นคำขยายความ (เคาะบัร) ให้แก่ประโยคแรกที่ว่า “และบรรดาผู้ที่อยู่พร้อมกับศาสนทูต” ข้อนี้ไม่รวมพวกปฏิเสธศรัทธาและพวกมุนาฟิก เพราะพวกมุนาฟิกเป็นพันธมิตรกับพวกปฏิเสธศรัทธา และการอ้างของพวกมุนาฟิกว่าอยู่พร้อมกับบรรดาผู้ศรัทธาเป็นคำตลบแตลงที่อัล-กุรอานเปิดโปงพฤติกรรมของพวกเขาเอาไว้

 

3) “رُحَمَاءُ بَيْنَهُمْ” “คือบรรดาผู้มีเมตตาในระหว่างพวกเขา”  นี่เป็นคำขยายตัวที่สองซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาไม่ใช่ลักษณะของพวกปฏิเสธและพวกมุนาฟิก

 

4) “تَرَاهُمْ رُكَّعًا سُجَّدًا يَبْتَغُونَ فَضْلًا مِّنَ اللَّـهِ وَرِضْوَانًا”  “ท่านจะเห็นพวกเขาในสภาพของบรรดาผู้ก้มรุกัวะอฺ – สุหญูดโดยพวกเขาจะมุ่งแสวงหาความโปรดปรานและความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ” คำว่า “บรรดาผู้ก้มรุกัวะอฺ – สุหญูด” เป็นคำนามพหูพจน์ที่บ่งถึงสภาพ (ห๊าล) และประโยคกริยา (يَبْتَغُونَ) เป็นประโยคที่บ่งถึงสภาพเช่นกัน ข้อนี้กันพวกปฏิเสธศรัทธาออกไปและพวกมุนาฟิกก็ถูกกันออกไปเช่นกันด้วยประโยคกริยา เพราะพวกมุนาฟิกทำละหมาดโดยเสแสร้งและโอ้อวด ไม่ได้มุ่งแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แต่อย่างใด

 

5) “سِيمَاهُمْ فِي وُجُوهِهِم مِّنْ أَثَرِ السُّجُودِ” “เครื่องหมายของพวกเขาปรากฏอยู่ในใบหน้าของพวกเขาอันเป็นผลมาจากร่องรอยของการสุหญูด” ประโยคนี้กันพวกปฏิเสธศรัทธาออกไปและกันพวกมุนาฟิกออกไปด้วย เพราะพวกมุนาฟิกเกียจคร้านในการละหมาด ทั้งนี้การปรากฏร่องรอยในใบหน้าของเศาะหาบะฮฺเป็นผลมาจากการละหมาดมาก ส่วนพวกมุนาฟิกมักทิ้งการละหมาดศุบหิและอิชาอฺตลอดจนเกียจคร้านในการละหมาดและไม่รำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ยกเว้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนพวกปฏิเสธนั้นไม่ละหมาดอยู่แล้ว จึงไม่มีร่องรอยจากการสุหญูดในใบหน้าของพวกเขา

 

6) อุปมาเหล่าเศาะหาบะฮฺในคัมภีร์อัต-เตารอตและอัล-อินญีล ตรงประโยคที่ว่า لِيَغِيظَ بِهِمُ الْكُفَّارَ “เพื่อที่พวกปฏิเสธจะแค้นเคืองพยาบาทต่อพวกเขา” นั่นหมายความว่า ผู้ที่ไม่พอใจและแค้นเคืองพยาบาทต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเป็นพวกปฏิเสธหรือเป็นคนชั่ว ทั้งนี้อิมามมาลิก (ร.ฮ.) ได้อ้างอายะฮฺนี้เป็นหลักฐานว่าพวกเราะวาฟิฏที่แค้นเคืองพยาบาทต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเป็นผู้ปฏิเสธเนื่องจากความของอายะฮฺนี้ โดยอิบนุกะษีร (ร.ฮ.) ระบุว่า มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเห็นพ้องกับท่านอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ถึงแม้ว่านักวิชาการส่วนใหญ่จากชาวอะฮิลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺจะถือว่าเป็นคนชั่ว (ฟาสิก) ที่ประพฤติบาปใหญ่ก็ตาม (อัต-ตัฟสีรฺ อัล-มุนีรฺ ภาคที่ 26/210)

 

ประเด็นอยู่ที่ว่า อุปมาอุปมัยในอายะฮฺนี้หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺโดยรวม ไม่ใช่บางส่วน เพราะอัลกุรอานใช้สำนวนว่า “อุปมาพวกเขา” (مَثَلُهُمْ) ซึ่งกินความถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมด อัล-กุรอานไม่ได้ใช้สำนวนว่า “อุปมาบางส่วนของพวกเขา” (مَثَلُ بَعْضِهِمْ)

 

และทั้ง 6 ประเด็นนี้อัต-ตีญานียฺไม่ได้ค้นพบเพราะอัต-ตีญานียฺจับประเด็นเฉพาะคำว่า “มินฮุม” ซึ่งผิดพลาดโดยหลงลืมประเด็นอื่นๆ ในอายะฮฺนี้และประโยค (لِيَغِيْظَ بهم الكفار) ก็หักล้างข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่ว่า อายะฮฺนี้หมายถึงเศาะหาบะฮฺบางส่วน เพราะอัล-กุรอานไม่ได้ใช้สำนวนว่า : (لِيَغيظَ بِبِعْضِهم الكفارُ) “เพื่อที่พวกปฏิเสธจะแค้นเคืองพยาบาทต่อบางส่วนของพวกเขา” แต่อัล-กุรอานใช้สรรพนามว่า “พวกเขา” (بِهِمْ) ซึ่งมีนัยรวมบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมดที่ถูกอุปมาอุปมัยในอายะฮฺดังกล่าว