บทการอิอฺติก็าฟและประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง

باب‭ ‬الإعتكاف‭ ‬وما‭ ‬يتعلق‭ ‬به‭ ‬من‭ ‬المسائل
บทการอิอฺติก็าฟและประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง

ความหมาย

อัล-อิอฺติก็าฟ ‭‬الإِعْتِكَافُ‬ ตามภาษาหมายถึง การหยุดอยู่ การกักขัง และการประจำอยู่อย่างเคร่งครัด อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.)  กล่าวไว้ในสุนัน หัรฺมะละฮฺ ว่า : อัล-อิอฺติก็าฟ คือ การที่บุคคลเคร่งครัดอยู่กับสิ่งหนึ่ง และกักตัวเองเอาไว้กับสิ่งนั้นไม่ว่าสิ่งนั้น จะเป็นความดีหรือบาปก็ตาม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 6 หน้า 500) โดยปริยาย หมายถึง การดำรงอยู่บนสิ่งนั้นๆ และการประจำอยู่อย่างเคร่งครัดกับสิ่งนั้น (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 2 หน้า 105) 

 

อัล-อิอฺติก็าฟ ตามศาสนบัญญัติ (ชัรฺอัน) หมายถึง การพำนักอยู่ในมัสญิดจากบุคคลที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้วยเจตนาที่เจาะจงเป็นการเฉพาะ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/500, อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ 2/105) 

 

 

หลักฐานการเป็นบัญญัติทางศาสนา

หลักเดิมในการเป็นบัญญัติทางศาสนา (มัชรูอียะฮฺ) ของการอิอฺติก็าฟ คือ ดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ว่า :

وَلَا‭ ‬تُبَاشِرُوْهُنَّ‭ ‬وَأَنِتُمْ‭ ‬عَاكِفُوْنَ‭ ‬فِي‭ ‬الْمَسَاجِدِ

“และพวกท่านอย่าได้มีเพศสัมพันธ์กับพวกนางในสภาพที่พวกท่านเป็นผู้อิอฺติก็าฟอยู่ในบรรดามัสญิด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 187) 

 

และอัล-หะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ (1922) และมุสลิม (1172) จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า :

أَنَّ‭ ‬النَّبِيَّ‭ ‬صَلَّى‭ ‬اللهُ‭ ‬عَلَيْهِ‭ ‬وَسَلَّمَ‭ ‬كَانَ‭ ‬يَعْتَكِفُ‭ ‬الْعَشْرَ‭ ‬الْأَوَاخِرَ‭ ‬مِنْ‭ ‬رَمَضَانَ‭ ‬،‭ ‬ثُمَّ‭ ‬اعْتَكَفَ‭ ‬أَزْوَاجُهُ‭ ‬مِنْ‭ ‬بَعْدِه

“แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มักจะทำการอิอฺติก็าฟช่วง 10 วันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอน ต่อมาบรรดาภริยาของท่านก็ได้ทำการอิอฺติก็าฟหลังจากท่าน”

 

และการอิอฺติก็าฟเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาศาสนกิจดั้งเดิมที่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนยุคอิสลามแล้ว ดังหลักฐานที่มีบ่งชี้ไว้ในพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ว่า : 

وعهدنا‭ ‬إلى‭ ‬إبراهيم‭ ‬وإسماعيل‭ ‬أن‭ ‬طهرا‭ ‬بيتي‭ ‬للطائفين‭ ‬والعاكفين‭ ‬والركع‭ ‬السجود‭ ‬

“และเราได้กำชับยังอิบรอฮีมและอิสมาอีลว่า เจ้าทั้งสองจงชำระบ้านของข้าให้สะอาดบริสุทธิ์สำหรับบรรดาผู้เฏาะว็าฟ บรรดาผู้อิอฺติก็าฟบรรดาผู้ก้มรุ่กัวะอฺ ตลอดจนบรรดาผู้ก้มลงสุหญูด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 125) (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ 2/105) 

 

 

ข้อชี้ขาด (หุกม์) ของการอิอฺติก็าฟ

การอิอฺติก็าฟ เป็นสุนนะฮฺโดยการอิจญ์มาอฺและการอิอฺติก็าฟไม่ใช่สิ่งที่วาญิบ ยกเว้น ด้วยการบนบาน (นะซัรฺ) โดยการอิจญ์มาอฺ และส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ทำการอิอฺติก็าฟมากๆ และการเป็นที่ส่งเสริมให้เน้นหนักในช่วง 10 วันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอน เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่ถูกรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า “แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มักจะทำการอิอฺติก็าฟช่วง 10 วันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอนแล้วท่านก็ยังคงทำการอิอฺติก็าฟจนกระทั่งท่านเสียชีวิต” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม) และมีหะดีษของท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) ซึ่งบันทึกโดยอบูดาวูด อัน-นะสาอียฺ และอิบนุมาญะฮฺ ด้วยบรรดาสายรายงานที่เศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิม  หรือตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิมเท่านั้น และยังมีอัล-หะดีษที่คล้ายกันในเศาะหิหฺทั้งสองจากริวายะฮฺของอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) และเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 500-501) 

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : และผู้ใดประสงค์ดำเนินตามแบบอย่างของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการอิอฺติก็าฟช่วง 10 วันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอน ก็สมควรที่ผู้นั้นจะเข้าสู่ภายในมัสญิด (เพื่อทำการอิอฺติก็าฟ) ก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของค่ำคืนที่ 21 จากเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ช่วงเวลาหนึ่งจากสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอนพลาดผู้นั้นไป และให้ผู้นั้นออกจากการอิอฺติก็าฟที่มัสญิดภายหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของค่ำคืนวันอีด ไม่ว่าเดือนเราะมะฎอน (ในปีนั้น) จะครบจำนวน (30 วัน) หรือมีจำนวนพร่อง (29 วัน) ก็ตาม และที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) ให้ผู้นั้นยังคงพำนักอยู่ในมัสญิด (ด้วยการอิอฺติก็าฟ) ตลอดค่ำคืนของวันอีดจนกระทั่งผู้นั้นได้ร่วมละหมาดอีดในมัสญิดหรือออกจากมัสญิดไปยังมุศอลลาเพื่อร่วมละหมาดอีด หากว่าผู้คนละหมาดอีดที่มุศอลลา (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 501) 

 

 

กล่าวโดยสรุป การอิอฺติก็าฟจะมี 3 ข้อชี้ขาด (หุกม์) คือ

1) เป็นที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) คือการอิอฺติก็าฟในทุกเวลา

2) เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ คือ การอิอฺติก็าฟในช่วง 10 วันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้เพื่อแสวงหาค่ำคืนอัล-ก็อดร์ ซึ่งเป็นค่ำคืนที่ประเสริฐที่สุดในรอบปีและปวงปราชญ์มีความเห็นว่า ค่ำคืนอัล-ก็อดร์ อยู่ในช่วง 10 คืนสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอน

3) เป็นวาญิบในสภาพที่มีการบนบาน (นะซัรฺ) (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 2 หน้า 106) 

 

 

เงื่อนไขในการอิอฺติก็าฟ

การอิอฺติก็าฟจะใช้ได้ (เศาะหฺ) โดยมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่

 

1) การตั้งเจตนา (อัน-นียะฮฺ) และสิ่งดังกล่าวคือ ในขณะทำการเริ่มอิอฺติก็าฟ ผู้ทำการอิอฺติก็าฟได้ตั้งเจตนาการพำนักอยู่ในมัสญิดตลอดช่วงเวลาหนึ่งที่ถูกเจาะจงเพื่อเป็นการทำอิบาดะฮฺ (ตะอับบุด) และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตามสุนนะฮฺจริงๆ ดังนั้นหากผู้นั้นเข้าสู่ภายในมัสญิดเพื่อจุดประสงค์ทางโลกหรือไม่มีการตั้งเจตนามุ่งหมายใดๆ  ผุดขึ้นในจิตใจของผู้นั้นก็ไม่ถือว่าการพำนักอยู่ภายในมัสญิดของผู้นั้นเป็นการอิอฺติก็าฟตามศาสนบัญญัติ

 

2)การหยุดพักอยู่ (อัล-ลุบษุ) ภายในมัสญิด และสมควรที่การหยุดพักอยู่นั้นคงอยู่เรื่อยไปยังช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ถูกเรียกตามจารีต (อัล-อุรฺฟุ) ว่าเป็นการอิอฺติก็าฟและเข้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขประการที่สองนี้  คือบรรดาเงื่อนไขที่อนุญาตให้หยุดพักอยู่ภายในมัสญิด คือการมีความสะอาดจากการมีญุนุบ (ญะนาบะฮฺ) การมีความสะอาดจากการมีเลือดรอบเดือน (หัยฎ์) และเลือดนิฟาส ตลอดจนเสื้อผ้าที่สวมใส่และร่างกายปลอดจากนะญิสที่เป็นไปได้ว่ามัสญิดจะเปรอะเปื้อนเลอะเทอะด้วยนะญิสนั้น (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 2 หน้า 107) 

 

อนึ่ง อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.) ระบุเงื่อนไขสำหรับตัวผู้ทำการอิอฺติก็าฟ (มุอฺตะกิฟ)  เอาไว้ 3 ประเภท คือ

1) เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม

2) มีสติปัญญาที่สมบูรณ์

3) การสะอาดจากการมีหะดัษใหญ่ คือ ญะนาบะฮฺ, หัยฎ์ และนิฟาส

 

ดังนั้นการอิอฺติก็าฟของชนกาฟิรฺดั้งเดิม (กาฟิรฺ อัศลียฺ) และผู้ที่ตกศาสนา (มุรฺตัด) ย่อมใช้ไม่ได้ ตลอดจนการอิอฺติก็าฟของผู้ที่มีสติสัมปชัญญะของผู้นั้นหมดไปด้วยการเป็นบ้าวิกลจริตหรือเป็นลมหมดสติหรือป่วยหรือมึนเมาหรือผู้ที่มีการอักเสบของเยื่อบุ ระหว่างตับกับหัวใจที่เรียกว่า มุบัรฺสัม ‭)‬مُبَرْسَمٌ‭(‬ และเรียกอาการของโรคนี้ว่า อัล-บิรฺสาม ‭)‬اَلْبِرْسَامُ‭(‬ รวมถึงการอิอฺติก็าฟของเด็กที่ยังไม่รู้เดียงสา (ฆอยร์ มุมัยยิซฺ) ทั้งหมดถือว่าใช้ไม่ได้ในการอิอฺติก็าฟของบุคคลดังกล่าว เพราะไม่มีการตั้งเจตนาสำหรับพวกเขาและเงื่อนไขของการอิอฺติก็าฟนั้นคือ การตั้งเจตนา (อัน-นียะฮฺ) และการอิอฺติก็าฟของหญิงที่มีรอบเดือน (หาอิฎ) หญิงที่มีเลือดหลังจากการคลอดบุตร (นุฟะสาอฺ) และผู้มีญุนุบถือว่าใช้ไม่ได้นับตั้งแต่ตอนแรก (ของการอิอฺติก็าฟ) เพราะการพักอยู่ในมัสญิดของบุคคลดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืน (มะอฺศิยะฮฺ) แต่ถ้าหากเกิดมีเลือดรอบเดือน เลือดนิฟาส หรือการตกศาสนา (ริดดะฮฺ) หรือการมีญุนุบ (ญะนาบะฮฺ) ในระหว่างการทำอิอฺติก็าฟ กรณีนี้จะได้กล่าวถึงต่อไป อินชาอัลลอฮฺ 

 

ส่วนการอิอฺติก็าฟของเด็กที่รู้เดียงสาแล้ว (มุมัยยิซฺ) และสตรีที่ถูกแต่งงานและสตรีที่ยังเป็นโสด ตลอดจนการอิอฺติก็าฟของทาสถือว่าใช้ได้ แต่เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) สำหรับสตรีและทาสในการอิอฺติก็าฟโดยมิได้รับอนุญาตจากสามีและนาย หากบุคคลทั้งสองฝ่าฝืนก็ถือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นใช้ได้พร้อมกับเป็นที่ต้องห้าม (เศาะหฺ มะอัตตะหฺรีม) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/501)

 

และในกรณีที่สตรีและทาสทำการอิอฺติก็าฟโดยมิได้รับอนุญาตจากสามีและนาย ทั้งสามีและนายย่อมมีสิทธินำเอาสตรีผู้เป็นภรรยาและทาสผู้นั้นออกจากการอิอฺติก็าฟนั้นได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าหากมีการบนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟโดยได้รับอนุญาตจากสามีและนาย ก็ให้พิจารณาว่าหากการบนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟนั้นผูกพันเป็นเงื่อนไขด้วยช่วงเวลาที่ถูกกำหนดเจาะจง ก็อนุญาตให้สตรีและทาสนั้นเข้าสู่การอิอฺติก็าฟได้โดยไม่ต้องขออนุญาตอีก เพราะการอนุญาตในการบนบานที่ถูกเจาะจง (นัซร์ มุอัยยัน) เป็นการอนุญาตในการเข้าสู่การอิอฺติก็าฟอยู่แล้ว แต่ถ้าหากการบนบานนั้นมิได้ผูกพันเป็นเงื่อนไขด้วยช่วงเวลาที่ถูกเจาะจง ก็ไม่อนุญาตให้สตรีและทาสนั้นเข้าสู่การอิอฺติก็าฟโดยไม่ได้รับอนุญาตเพราะการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานโดยไม่มีเงื่อนไขด้วยช่วงเวลาที่ถูกเจาะจงนั้นไม่จำเป็นต้องเร่งรีบในการกระทำ ส่วนสิทธิของสามีและนายเป็นสิ่งที่ต้องสนองตอบโดยเร่งรีบจึงถือว่าสิทธินั้นต้องมาก่อนการอิอฺติก็าฟ  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 502) 

 

ในกรณีเมื่อสตรีหรือทาสเข้าสู่การอิอฺติก็าฟนั้นหากเป็นการอิอฺติก็าฟโดยกุศลกิจอาสา (ตะเฏาวฺวุอฺ) สามีและนายได้อนุญาตในการเข้าสู่การอิอฺติก็าฟแล้วหรือทั้งสองไม่อนุญาตก็ตาม ก็อนุญาตสำหรับสามีและนายในการนำเอาสตรีและทาสนั้นออกจากการอิอฺติก็าฟแบบกุศลกิจอาสา (ตะเฏาวฺวุอฺ) นั้นได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ไม่อนุญาตหากว่าสามีและนายอนุญาตแล้วในการเข้าสู่การอิอฺติก็าฟ อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : อนุญาตเฉพาะนายทาสแต่ไม่อนุญาตสำหรับสามี ส่วนมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่ระบุว่าอนุญาตให้นำบุคคลทั้งสองออกจากการอิอฺติก็าฟแบบกุศลกิจอาสา (ตะเฏาวฺวุอฺ) ได้นั้นเป็นเพราะว่าการอิอฺติก็าฟดังกล่าวไม่จำเป็นที่บุคคลทั้งสองต้องเข้าสู่การอิอฺติก็าฟนั้นนับตั้งแต่ต้นแล้ว จึงอนุญาตให้สามีและนายนำบุคคลทั้งสองออกจากการอิอฺติก็าฟนั้นได้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/502-503) 

 

และถ้าหากสตรีและทาสเข้าสู่การอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานเอาไว้ (มันซูรฺ) แล้ว ก็ให้พิจารณาว่าหากบุคคลทั้งสองบนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟนั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากสามีและนาย สามีและนายก็ย่อมมีสิทธิในการห้ามบุคคลทั้งสองจากการเริ่ม (ชุรูอฺ) เข้าสู่การอิอฺติก็าฟนั้น แต่หากบุคคลทั้งสองเริ่มเข้าสู่การอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานเอาไว้แล้ว สามีและนายก็ย่อมมีสิทธินำเอาบุคคลทั้งสองออกจากการอิอฺติก็าฟได้เช่นกัน และหากบุคคลทั้งสองได้รับอนุญาตในตอนเริ่มเข้าสู่การอิอฺติก็าฟ และปรากฏว่าช่วงเวลาในการอิอฺติก็าฟนั้นถูกเจาะจงแน่นอนหรือมิได้ถูกเจาะจงแน่นอน แต่บุคคลทั้งสองกำหนดเงื่อนไขว่าจะมีการอิอฺติก็าฟอย่างต่อเนื่อง กรณีนี้ก็ไม่อนุญาตให้สามีและนายนำบุคคลทั้งสองออกจากการอิอฺติก็าฟ เพราะสิ่งที่ถูกกำหนดเจาะจงนั้นไม่อนุญาตให้กระทำล่าช้าออกไป ตลอดจนการกำหนดเวลาอิอฺติก็าฟอย่างต่อเนื่องนั้นก็ไม่อนุญาตให้ออกจากการอิอฺติก็าฟนั้นเพราะจะต้องรับผิดชอบในกรณีที่ทำให้เงื่อนไขนั้นเป็นโมฆะ และไม่อนุญาตในการทำให้การทำอิบาดะฮฺที่เป็นวาญิบนั้นเป็นโมฆะภายหลังการเข้าสู่การทำอิบาดะฮฺนั้นแล้วโดยไม่มีอุปสรรคอันใด แต่ถ้าหากบุคคลทั้งสองได้รับอนุญาตในตอนเริ่มต้นเข้าสู่การอิอฺติก็าฟ และช่วงเวลานั้นมิได้ถูกเจาะจง ตลอดจนบุคคลทั้งสองมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะอิอฺติก็าฟอย่างต่อเนื่อง สามีและนายก็ย่อมมีสิทธิในการนำบุคคลทั้งสองออกจากการอิอฺติก็าฟนั้นได้ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ซึ่งอัล-มุตะวัลลียฺชี้ขาดเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/503) 

 

 

เงื่อนไขการอิอฺติก็าฟในมัสญิด

การอิอฺติก็าฟทั้งชายและหญิงจะใช้ไม่ได้นอกเสียจากเป็นการอิอฺติก็าฟภายในมัสญิด และการอิอฺติก็าฟภายในสถานที่ละหมาดประจำบ้านของหญิง และภายในสถานที่ละหมาดประจำบ้านของชายนั้นใช้ไม่ได้ นี่เป็นมัซฮับและปวงปราชญ์ชาวอิรักที่สังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ ส่วนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานและชาวอิรักบางส่วนเล่าเอาไว้ 2 คำกล่าว (เกาวฺลัยนี่) คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนี่) คือคำ กล่าวอัล-ญะดีดนี้ (คือถือว่าการอิอฺติก็าฟภายในสถานที่ละหมาดประจำบ้านใช้ไม่ได้) คำกล่าวที่สองเป็นคำกล่าวอัล-เกาะดีม ถือว่าการอิอฺติก็าฟของหญิงภายในสถานที่ละหมาดประจำบ้านของนางนั้นใช้ได้

 

แต่อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-กอยยิบได้ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่สองนี้เอาไว้ในตำราอัต-ตะอฺลีกของท่านพร้อมกับนักวิชาการในมัซฮับกลุ่มหนึ่งโดยกล่าวว่า การอิอฺติก็าฟภายในสถานที่ละหมาดประจำบ้านของนางนั้นใช้ไม่ได้เป็นคำกล่าวเดียวเท่านั้นและการถ่ายทอดว่ามี 2 คำกล่าวในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาดและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่สังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานเล่าว่า : หากเรากล่าวตามคำกล่าวอัล-เกาะดีมที่ว่า การอิอฺติก็าฟของผู้หญิงภายในสถานที่ละหมาดประจำบ้านของนางใช้ได้ ในกรณีการอิอฺติก็าฟของชายภายในมัสญิดประจำบ้านของเขาว่าจะใช้ได้หรือไม่ มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าใช้ไม่ได้ และนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวอีกว่า : เมื่อเรากล่าวตามคำกล่าวอัล-ญะดีดก็ถือว่าผู้หญิงทุกคนที่การออกไปร่วมละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ การออกไปยังมัสญิดของนางเพื่อทำการอิอฺติก็าฟก็เป็นสิ่งที่มักรูฮฺด้วย และหญิงคนใดที่การออกไปร่วมละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดไม่เป็นที่มักรูฮฺการออกไปยังมัสญิดเพื่อทำการอิอฺติก็าฟของนางก็ไม่เป็นที่มักรูฮฺเช่นกัน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/505) 

 

  • – การอิอฺติก็าฟในทุกมัสญิดนั้นถือว่าใช้ได้ และในมัสญิดญามิอฺ (มัสญิดที่มีการละหมาดวันศุกร์) นั้นประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิดญามิอฺ และการละหมาดญะมาอะฮฺภายในมัสญิดญามิอฺนั้นมีจำนวนคนมาร่วมละหมาดมากกว่า ตลอดจนเป็นการออกจากข้อขัดแย้งของนักวิชาการ ส่วนที่ชัยคฺ อบูหามิดและนักวิชาการในมัซฮับกล่าวว่า : อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) พูดเป็นนัยไว้ในคำกล่าวอัล-เกาะดีม ว่า การอิอฺติก็าฟในมัสญิดญามิอฺเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺการอิอฺติก็าฟ คำกล่าวที่ว่านี้ อิมามอัน-นะวาววียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า แปลก (เฆาะรีบ) และอ่อน (เฎาะอีฟ) ที่ถูกต้องคืออนุญาตให้ทำการอิอฺติก็าฟได้ในทุกมัสญิด และนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : การอิอฺติก็าฟที่ดาดฟ้า (หลังคา) และระเบียงนอกชานของมัสญิดนั้นถือว่าใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งเพราะพื้นที่สองแห่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากมัสญิด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/505) 

 

  • -ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่ามัสญิดเป็นเงื่อนไขสำหรับการเศาะหฺการอิอฺติก็าฟ และการอิอฺติก็าฟจะใช้ได้ในทุกมัสญิด อิมามมาลิก (ร.ฮ.) และดาวูด (ร.ฮ.) ก็กล่าวตามนี้ และอิบนุอัล-มุนซิรฺเล่าจากสะอีด  อิบนุ อัล-มุสัยยิบ (ร.ฮ.) ว่า : การอิอฺติก็าฟจะใช้ไม่ได้นอกเสียจากภายในมัสญิดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เท่านั้น ซึ่งอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ฉันไม่คิดว่าสิ่งนี้เป็นการรายงานที่ถูกต้องจากท่านสะอีด (ร.ฮ.) และมีรายงานที่เล่าจากท่านหุซัยฟะฮฺ อิบนุ อัล-ยะมาน (ร.ฎ.) ว่าการอิอฺติก็าฟจะใช้ไม่ได้นอกเสียจากในบรรดามัสญิดทั้งสามแห่ง คือ มัสญิดหะรอม, มัสญิดมะดีนะฮฺ และอัล-อักศอ

    ส่วนอิมาม อัซ-ซุฮฺรียฺ, อัล-หะกัม และหัมม็าด กล่าวว่า : การอิอฺติก็าฟจะใช้ไม่ได้นอกเสียจากในมัสญิดญามิอฺเท่านั้น ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ, อิมามอะหฺมัด, อิสหากและอบูเษาริน (ร.ฮ.)  กล่าวว่า การอิอฺติก็าฟจะใช้ได้ในทุกๆมัสญิดที่มีการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาและมีการละหมาดญะมาอะฮฺในมัสญิดนั้น (อ้กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/507) นักวิชาการฝ่ายหลังนี้อาศัยหลักฐานจากหะดีษที่รายงานโดย ญุวัยบิรฺ จาก อัฎ-เฎาะห็ากจากท่านหุซัยฟะฮฺ (ร.ฎ.) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า : “ทุกมัสญิดที่มีมุอัซซินและอิมาม การอิอฺติก็าฟในมัสญิดนั้นก็ถือว่าใช้ได้” บันทึกโดยอัด-ดาเราะกุฏนียฺซึ่งกล่าวว่าอัฏ-เฎาะหากไม่เคยรับฟังหะดีษจากท่านหุซัยฟะฮฺและอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : และญุวัยบิรฺนั้นอ่อน (เฎาะอีฟ) โดยความเห็นพ้องของนักวิชาการหะดีษ หะดีษนี้จึงเป็นหะดีษมุรฺสัล เฎาะอีฟ ที่มิอาจนำมาเป็นหลักฐานได้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/507) 

    สำหรับนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺได้อาศัยหลักฐานจากดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ว่า :‭ ‬“‭ ‬وَلَا‭ ‬تُبَاشِرُوْهُنَّ‭ ‬وَأَنْتُمْ‭ ‬عَاكِفُوْنَ‭ ‬فِي‭ ‬الْمَسَاجِدِ‭ ‬”‭ ‬ความว่า : “และพวกท่านอย่าได้มีเพศสัมพันธ์กับพวกนางในสภาพที่พวกท่านเป็นผู้อิอฺติก็าฟอยู่ในบรรดามัสญิด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 187) 

    ประเด็นของการบ่งชี้จากอายะฮฺนี้ถึงการเป็นเงื่อนไขของมัสญิดในการอิอฺติก็าฟที่ใช้ได้ก็คือ หากว่าการอิอฺติก็าฟในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่มัสญิดใช้ได้แล้วละก็  การเป็นที่ต้องห้ามของการมีเพศสัมพันธ์ก็คงไม่ถูกจำกัดนัยเอาไว้เฉพาะการอิอฺติก็าฟในมัสญิดเท่านั้น เพราะการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับการอิอฺติก็าฟดังนั้นจึงรู้ได้ว่าความหมายของอายะฮฺก็คือการแจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนว่าการอิอฺติก็าฟจะเกิดขึ้นเฉพาะในมัสญิด และเมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าอนุญาตให้อิอฺติก็าฟได้ในบรรดามัสญิด การอิอฺติก็าฟก็ย่อมใช้ได้ในทุกๆ มัสญิด และการจำกัดความของผู้ที่จำกัดความเอาไว้เฉพาะบางมัสญิด (เช่นมัสญิดญามิอ์) ก็จะไม่ถูกยอมรับนอกเสียจากด้วยหลักฐาน และไม่มีสิ่งใดที่ชี้ชัดอย่างถูกต้องในการจำกัดความดังกล่าวนั้นเลย (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 507) 

 

  • -ในกรณีเมื่อบุคคลได้บนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟภายในมัสญิดที่ถูกเจาะจงสถานที่นั้น หากเป็นมัสญิดอื่นที่นอกจากมัสญิดทั้ง 3 แห่งคือ มัสญิดหะรอม, มัสญิดมะดีนะฮฺ และมัสญิดอักศอ ก็ไม่ถือว่าจำเป็นต้องเจาะจงมัสญิดนั้น (กล่าวคือ การอิอฺติก็าฟถือว่าใช้ได้ในมัสญิดใดๆ ก็ตามนอกเหนือจากมัสญิดทั้ง 3 แห่ง) นี่เป็นมัซฮับและปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ ยกเว้นว่าเป็นสิ่งส่งเสริมให้ทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิดที่ถูกเจาะจงนั้น

    ส่วนในกรณีที่ผู้นั้นบนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟในมัสญิดหะรอมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกเจาะจงโดยจำเป็นตามมัซฮับ ส่วนมัสญิดมะดีนะฮฺและมัสญิดอักศอนั้นก็ถือว่าจำเป็นโดยการเจาะจงนั้นเช่นกันตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) ใน 2 คำกล่าว และในกรณีที่เจาะจงการอิอฺติก็าฟในมัสญิดหะรอม มัสญิดอื่นก็ไม่อาจมาแทนที่มัสญิดมัสญิดหะรอมได้ แต่ถ้าเจาะจงมัสญิดมะดีนะฮฺก็จะมีเพียงมัสญิดหะรอมเท่านั้นที่จะมาแทนที่มัสญิดมะดีนะฮฺได้ เพราะมัสญิดหะรอมประเสริฐกว่ามัสญิดมะดีนะฮฺ และถ้าหากเจาะจงมัสญิดอักศอ ก็จะไม่มีมัสญิดใดมาแทนที่ได้ยกเว้นมัสญิดหะรอมและมัสญิดมะดีนะฮฺเท่านั้น (อ้กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/505-506) 

 

  • -ในกรณีที่บุคคลเจาะจงเวลาในการอิอฺติก็าฟในการบนบาน (นะซัรฺ) ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ในมัซฮับ  ประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะหิหฺ) และเป็นที่รู้กัน (มัชฮู๊รฺ) ซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ก็ถือว่าจำเป็นในการเจาะจงเวลานั้น โดยไม่อนุญาตให้อิอฺติก็าฟก่อนหรือหลังจากการที่ถูกกำหนดเจาะจงในการบนบาน (นะซัรฺ) นั้น ทั้งนี้หากผู้นั้นอิอฺติก็าฟก่อนเวลาที่ถูกกำหนดเจาะจงก็ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าหากล่าช้าในการอิอฺติก็าฟจนเลยจากกำหนดเวลาที่ถูกเจาะจงก็ถือว่ามีบาปแต่ใช้ได้โดยถือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นการชดใช้ (เกาะฎออฺ)  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/506) 

 

 

การอิอฺติก็าฟในสภาพที่ถือศีลอด

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : ที่ประเสริฐสุด (อัฟฎ็อล) คือการที่บุคคลทำการอิอฺติก็าฟในสภาพที่ถือศีลอด และการอิอฺติก็าฟโดยไม่มีการถือศีลอดนั้นใช้ได้ และการอิอฺติก็าฟในเวลากลางคืนและในบรรดาวันที่ศาสนาไม่ยอมให้ถือศีลอดนั้นใช้ได้ (คือการอิอฺติก็าฟในวันอีดและวันตัชรีกซึ่งต้องห้ามในการถือศีลอดเป็นสิ่งที่ใช้ได้) นี่คือมัซฮับและบรรดาปวงปราชญ์ได้ชี้ขาดเอาไว้ในทุกแนวทาง (ฏุรุ๊ก) และตามมัซฮับถือว่าการถือศีลอดมิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺการอิอฺติก็าฟ และหากว่าเรากล่าวตามมัซฮับแล้วบุคคลก็บนบาน (นะซัรฺ) ว่าจะทำการอิอฺติก็าฟหนึ่งวันโดยผู้นั้นถือศีลอดในวันนั้น หรือจะทำการอิอฺติก็าฟหลายวันในสภาพที่เขาถือศีลอดในบรรดาวันเหล่านั้น การอิอฺติก็าฟพร้อมกับการถือศีลอดก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ และผู้นั้นไม่มีสิทธิถือศีลอดเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการอิอฺติก็าฟหรืออิอฺติก็าฟอย่างเดียวโดยไม่มีการถือศีลอดควบคู่กันโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ ซึ่งอัล-มุตะวัลลียฺ, อัล-บะเฆาะวียฺ, อัรฺ-รอฟิอียฺ และท่านอื่นๆ ระบุเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/508-509) 

 

นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : หากผู้ที่บนบานนนี้ (อัน-นาซิรฺ) ทำการอิอฺติก็าฟในเดือนเราะมะฎอนก็ถือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นใช้ได้ เพราะผู้นี้ไม่จำเป็นต้องถือศีลอดเนื่องด้วยเหตุบบาน (นะซัรฺ) นี้ อันที่จริงเขาเพียงบนบานการอิอฺติก็าฟด้วยลักษณะ (ศิฟะฮฺ) เท่านั้นซึ่งลักษณะดังกล่าวมีอยู่แล้ว (กล่าวคือ การถือศีลอดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขาอยู่แล้ว เมื่อเขาทำการอิอฺติก็าฟในเวลากลางวันของเดือนเราะมะฎอนการถือศีลอดก็ย่อมเกิดขึ้นโดยปริยาย) และในทำนองเดียวกันหากเขาผู้นั้นทำการอิอฺติก็าฟในเวลาอื่นนอกจากเราะมะฎอนในสภาพที่ถือศีลอดอันเนื่องมาจากการชดใช้ (เกาะฎออฺ) หรือการบนบาน (นะซัรฺ) หรืออันเนื่องมาจากการเสียกัฟฟาเราะฮฺ ก็ถือว่าใช้ได้เช่นกันเพราะมีลักษณะ (ศิฟะฮฺ) เกิดขึ้นแล้ว และหากว่าผู้นั้นบนบาน (นะซัรฺ) ว่าจะทำการอิอฺติก็าฟในเดือนเราะมะฎอน แล้วเราะมะฎอนก็ผ่านเลยเขาไป ก็จำเป็นที่เขาต้องอิอฺติก็าฟในเดือนอื่นนอกจากเราะมะฎอนโดยที่ผู้นั้นไม่จำเป็นต้องถือศีลอดโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/509, 511) 

 

ส่วนในกรณีที่ผู้นั้นบนบาน (นะซัรฺ) ว่าจะทำละหมาดในสภาพที่อิอฺติก็าฟหรือจะอิอฺติก็าฟในสภาพที่ทำละหมาด ก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องอิอฺติก็าฟและทำละหมาด ส่วนที่ว่าจำเป็นหรือไม่ที่เขาผู้นั้นต้องรวมระหว่างการอิอฺติก็าฟและการละหมาดในคราเดียวกัน กรณีนี้มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) ตามที่อัล-มุตะวัลลียฺและอัล-บะเฆาะวีย์เล่าเอาไว้

แนวทางที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-เฏาะรีกอยนี่) ซึ่งอิมามอัล-หะเราะมัยนฺและนักวิชาการผู้สันทัดกรณี (มุหักกิก) ท่านอื่นชี้ขาดเอาไว้คือ ไม่จำเป็นต้องรวมระหว่างการอิอฺติก็าฟและการละหมาดในคราเดียว แต่เขามีสิทธิแยกในการปฏิบัติระหว่างการอิอฺติก็าฟและการละหมาด โดยการละหมาดที่เขาจำต้องปฏิบัตินั้นคือ 2 รอกอะฮฺตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดใน 2 คำกล่าว (อะเศาะหฺ  อัล-เกาวฺลัยนี่) แต่ถ้าเราถือว่าจำเป็นที่ผู้นั้นต้องรวมระหว่างการอิอฺติก็าฟและการละหมาดในคราเดียวกัน ก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องละหมาด 2 รอกอะฮฺในวันที่เขาทำการอิอฺติก็าฟ โดยไม่จำเป็นว่าต้องทำละหมาดตลอดทั้งวันที่ทำการอิอฺติก็าฟนั้นแต่อย่างใด และหากว่าผู้นั้นได้บนบาน (นะซัรฺ) อิอฺติก็าฟเป็นเวลาหลายวันในสภาพที่ทำละหมาด ก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องละหมาด 2 รอกอะฮฺในแต่ละวันที่ทำการอิอฺติก็าฟนั้น ตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) หรือ 1 รอกอะฮฺในอีกคำกล่าวหนึ่ง และไม่จำเป็นที่เขาต้องละหมาดมากกว่าจำนวนรอกอะฮฺที่ว่ามา อัล-บะเฆาะวียฺ และท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 501) 

 

 

ทัศนะของมัซฮับต่างๆ เกี่ยวกับการถือศีลอดในการอิอฺติก็าฟ

เราได้กล่าวมาแล้วว่า มัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าการถือศีลอดในการอิอฺติก็าฟเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) และการถือศีลอดมิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺการอิอฺติก็าฟตามสิ่งที่ถูกต้องในมัซฮับ และตามนี้อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, อบูเษาริน, ดาวูด และอิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวเอาไว้และเป็นริวายะฮฺที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ริวายะฮฺจากอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และอิบนุอัล-มุนซิรฺกล่าวว่า : เป็นสิ่งที่ถูกรายงานจากท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) และอิบนุมัสอู๊ด (ร.ฎ.) ส่วนอิบนุอุมัร, อิบนุอับบาส, ท่านหญิงอาอิชะฮฺ, อุรวะฮฺ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ, อัซ-ซุฮฺรี่ยฺ, อิมามมาลิก, อัล-เอาวฺซาอียฺ, อัษ-เษารรียฺ, อิมามอบูหะนีฟะฮฺ, อิมามอะหฺมัดและอิสหากในริวายะฮฺหนึ่งจากบุคคลทั้งสอง ทั้งหมดกล่าวว่า : การอิอฺติก็าฟจะใช้ไม่ได้ยกเว้นด้วยการถือศีลอด และอัล-กอฎียฺ อิยาฎ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เป็นคำกล่าวของปวงปราชญ์ (ญุมฮูรฺ อัล-อุละมาอฺ) 

 

นักวิชาการที่ถือว่าการถือศีลอดเป็นเงื่อนไขในการอิอฺติก็าฟอาศัยหลักฐานที่ระบุว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ทำการอิอฺติก็าฟตัวท่านและเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านในสภาพที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน” และอาศัยหลักฐานจากหะดีษของสุวัยดฺ อิบนุ อับดิล อะซีซ จากสุฟยาน อิบนุ หุสัยนฺจาก อัซ-ซุฮฺรียฺจาก อุรฺวะฮฺจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : ไม่มีการอิอฺติก็าฟนอกเสียจากด้วยการถือศีลอด”  บันทึกโดย อัด-ดาเราะกุฏนียฺ ซึ่งกล่าวว่า : สุวัยดฺรายงานเพียงลำพังจากสุฟยาน อิบนุ หุสัยนฺ และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : สุวัยดฺ อิบนุ อับดิลอะซีซนั้นอ่อน (เฎาะอีฟ) โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการหะดีษ

 

นอกจากนี้ยังอาศัยหลักฐานที่รายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ บะดีล จาดอัมร์ อิบนุ ดีนารฺ จากอิบนุอุมัร จากท่านอุมัร (ร.ฎ.) ว่า “แท้จริงท่านอุมัรได้เคยถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถึงการอิอฺติก็าฟที่จำเป็นเหนือท่านอุมัร ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงใช้ท่านอุมัรให้ทำการอิอฺติก็าฟและถือศีลอด” บันทึกโดยอบูดาวูดและอัด-ดาเราะกุฏนียฺ ซึ่งกล่าวว่า : อิบนุบะดีลรายงานเพียงลำพังเป็นหะดีษอ่อน (เฎาะอีฟ) และในอีกริวายะฮฺหนึ่ง ใช้สำนวนว่า : “ท่านจงอิอฺติก็าฟและจงถือศีลอด” อัด-ดาเราะกุฏนียฺ กล่าวว่า : ฉันเคยได้ยินอบูบักร อัน-นัยสาบูรียฺกล่าวว่า : “นี่เป็นหะดีษมุงกัร” (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/511) 

 

ส่วนนักวิชาการในสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺอาศัยหลักฐานจากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยทำการอิอฺติก็าฟช่วง 10 วันแรกจากเดือนเชาว็าล” อิมามมุสลิมบันทึกด้วยถ้อยคำนี้ และอัล-บุคอรียฺรายงานว่า : “สิบจากเดือนเชาว็าล” หมายถึงสิบวันต้นจากเดือนเชาว็าลตามที่มีระบุในรายงานของอิมามมุสลิม และนี่ย่อมรวมการอิอฺติก็าฟในวันอีด (อัล-ฟิฏร์) เข้าไว้ด้วยใน 10 วันต้นของเดือนเชาว็าลและการอิอฺติก็าฟในวันอีด (ที่ห้ามถือศีลอด) ซึ่งใช้ได้ย่อมบ่งชี้ว่าการถือศีลอดมิใช่เงื่อนไขของการเศาะหฺการอิอฺติก็าฟ

 

และอาศัยหลักฐานจากหะดีษของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ที่ว่า : “แท้จริงท่านอุมัรได้บนบานว่าจะทำการอิอฺติก็าฟในเวลากลางคืนของท่าน” แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวกับอุมัร (ร.ฎ.) ว่า : “ท่านจงทำให้การบนบานของท่านสมบูรณ์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม) และในริวายะฮฺหนึ่งของอิมามอัล-บุคอรียฺระบุว่า : “จงทำให้การบนบานของท่านสมบูรณ์ อุมัรจึงอิอฺติก็าฟในเวลากลางคืนของท่าน” และในอีกริวายะฮฺหนึ่งของอิมามมุสลิมระบุว่า : “แท้จริงฉันได้เคยบนบานว่าจะทำการอิอฺติก็าฟหนึ่งวัน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า : “จงไปเถิดแล้วจงอิอฺติก็าฟหนึ่งวัน” หะดีษนี้มิได้ขัดแย้งกับริวายะฮฺของอิมามบุคอรียฺและไม่ได้ขัดแย้งกับริวายะฮฺที่รู้กัน เพราะเป็นไปได้ว่าท่านอุมัร (ร.ฎ.) ถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถึงการอิอฺติก็าฟในเวลากลางคืนของท่านและถามถึงการอิอฺติก็าฟหนึ่งวัน ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงใช้ให้ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ทำตามที่ได้บนบานเอาไว้ให้ครบถ้วน

 

จึงสรุปได้ว่าการอิอฺติก็าฟในเวลาค่ำคืนเพียงอย่างเดียว (โดยไม่มีการถือศีลอด) เป็นสิ่งที่ใช้ได้และมีหะดีษในอีกริวายะฮฺหนึ่งมาสนับสนุนสิ่งนี้ กล่าวคือ ริวายะฮฺของนาฟิอฺจากอิบนุอุมัร (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้บนบานว่าจะทำการอิอฺติก็าฟเป็นเวลา 1 คืนในมัสญิดหะรอม ท่านอุมัร (ร.ฎ.) จึงถามท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ท่านจึงกล่าวกับท่านอุมัร (ร.ฎ.) ว่า : “จงทำตามการบนบานของท่านให้สมบูรณ์แล้วท่านอุมัร (ร.ฎ.) ก็ทำการอิอฺติกาฟเป็นเวลาหนึ่งคืน”  บันทึกโดย อัด-ดาเราะกุฏนียฺ ซึ่งกล่าวว่า : สายรายงานของหะดีษนี้เศาะหิหฺแน่นอน และนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺยังได้อาศัยหลักฐานจากหะดีษของฏอวูส จากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : “การถือศีลอดมิใช่สิ่งจำเป็นเหนือผู้ทำการอิอฺติก็าฟยกเว้นการที่ผู้นั้นกำหนดการถือศีลอดว่าจำเป็นเหนือตน” บันทึกโดยอัล-หากิม ในอัล-มุสตัดร็อก ซึ่งกล่าวว่า : เป็นหะดีษเศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/512) 

 

ส่วนที่อ้างว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทำการอิอฺติก็าฟในสภาพที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนนั้น ตีความได้ว่าเป็นการส่งเสริมมิใช่เป็นเงื่อนไข เหตุนี้จึงมีรายงานที่ถูกต้องระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ทำการอิอฺติก็าฟในเดือนเชาว็าลจึงจำเป็นต้องตีความหะดีษแรกที่ถูกนำมาอ้างว่าเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริมเพื่อเป็นการรวมระหว่างหะดีษมิให้ขัดกัน กอปรกับไม่จำเป็นว่าการเพียงแค่ทำการอิอฺติก็าฟในเราะมะฎอนจะต้องกำหนดการถือศีลอดเป็นเงื่อนไขไปด้วย และอิมามอัล-มุซะนียฺอ้างหลักฐานว่า หากการถือศีลอดเป็นเงื่อนไขแล้ว การอิอฺติก็าฟในเดือนเราะมะฎอนก็ย่อมใช้ไม่ได้ เพราะว่าการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีการอิอฺติก็าฟ (กล่าวคือ ถึงแม้ว่าการไม่มีการอิอฺติก็าฟในขณะถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การถือศีลอดก็ถือว่าใช้ได้และการอิอฺติก็าฟก็มิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนกับการอิอฺติก็าฟจึงเป็นคนละเรื่องกัน) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 512-513) 

 

 

เวลาในการอิอฺติก็าฟ

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : การอิอฺติก็าฟจะใช้ได้ในบรรดาเวลาทั้งหมดทั้งกลางคืนและกลางวันรวมถึงใช้ได้ในบรรดาเวลาที่มักรูฮฺในการละหมาดสุนนะฮฺและในวันอีดทั้งสองตลอดจนวันตัชรีกดังที่กล่าวมาแล้ว และการอิอฺติก็าฟที่ประเสริฐที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการอิอฺติก็าฟที่มีการถือศีลอดด้วย และช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการอิอฺติก็าฟในเดือนเราะมะฎอน และช่วงเวลาที่ประเสริฐสุดของเดือนเราะมะฎอนคือช่วง 10 วันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอนและอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวอีกว่า ที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการอิอฺติก็าฟที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งวันเพราะไม่มีการถ่ายทอดจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาเศาะหาบะฮฺว่ามีการอิอฺติก็าฟน้อยกว่าหนึ่งวัน และเพื่อเป็นการออกจากข้อขัดแย้งของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และนักวิชาการท่านอื่นๆ ที่กำหนดเงื่อนไขการอิอฺติก็าฟว่าต้องมีระยะเวลาหนึ่งวันและมากกว่านั้น

 

 

ส่วนการอิอฺติก็าฟอย่างน้อยที่สุดนั้นมี 4 ประเด็นในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ คือ

1) เป็นประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) ซึ่งถูกระบุเป็นตัวบท (มันศูศ) และปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ คือ มีเงื่อนไขว่ามีการหยุดพำนักอยู่ในมัสญิดโดยอนุญาตทั้งส่วนมากและส่วนน้อยจากการหยุดพักนั้นแม้กระทั่งเพียงหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วครู่หนึ่ง อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ กล่าวว่า : ตามประเด็นนี้ย่อมถือว่าช่วงเวลาแค่การมีฏุมะอฺนีนะฮฺในการรุ่กัวะอฺและการสุหญูดและที่คล้ายกันย่อมไม่เพียงพอ แต่ทว่าจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมให้นานกว่านั้นด้วยสิ่งที่เรียกว่าการหยุดพักหรือการมั่นคงอยู่กับที่

 

2) อิมามอัล-หะเราะมัยนฺและท่านอื่นๆเล่าเอาไว้ว่า เพียงพอในการอิอฺติก็าฟด้วยการเพียงแค่มามัสญิดและผ่านไปโดยไม่ต้องหยุดพักแต่อย่างใด เหมือนอย่างการมาปรากฏตัวและผ่านไปที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺในการวุกู๊ฟแค่นั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้ว และอัล-บันดะนัยญียฺชี้ขาดตามประเด็นที่สองนี้ อิมามอัล-หะเราะมัยนฺกล่าวว่า : ตามประเด็นนี้ถือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยการผ่านเข้ามัสญิด จนกระทั่งหากว่าผู้นั้นเข้าทางประตูหนึ่งและออกอีกทางประตูหนึ่งของมัสญิดโดยมีเจตนาการอิอฺติก็าฟ การอิอฺติก็าฟก็เกิดขึ้นแล้ว และตามประเด็นนี้หากผู้นั้นบนบาน (นะซัรฺ) ว่าจะทำการอิอฺติก็าฟเฉยๆ (มุฏลัก) เขาผู้นั้นก็ออกจากการบนบาน (นะซัรฺ) ของตนแล้วเพียงแค่ผ่านเข้าไปในมัสญิด

3) การอิอฺติก็าฟจะใช้ไม่ได้นอกจากมีระยะเวลา 1 วันหรือเกือบ 1 วัน เป็นประเด็นที่อัศ-ศอยดะลานียฺ, อิมามอัล-หะเราะมัยนฺและท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้

 

4) ถือว่าการอิอฺติก็าฟอย่างน้อยที่สุดที่จะใช้ได้ต้องมีเงื่อนไขว่ามีระยะเวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของเวลากลางวันหรือครึ่งหนึ่งของเวลากลางคืน อัล-มุตะวัลลียฺและท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้ ดังนั้นหากเรากล่าวตามมัซฮับคือประเด็นแรกว่าการอิอฺติก็าฟจะใช้ได้ด้วยเงื่อนไขของการหยุดพักถึงแม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ไม่มีข้อแบ่งแยกระหว่างมากและน้อยของการหยุดพักในการเศาะหฺการอิอฺติก็าฟ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าการหยุดพักนั้นต้องมีระยะเวลามากกว่าการมีฏุมะอฺนีนะฮฺในการละหมาดเท่านั้น และเมื่อการหยุดพักนั้นนานมากกว่า ก็ประเสริฐมากกว่าและไม่มีกำหนดสำหรับระยะเวลามากที่สุดของการหยุดพักนั้น ยิ่งไปกว่านั้นการอิอฺติก็าฟตลอดช่วงอายุขัยของคนๆ หนึ่งก็ย่อมถือว่าใช้ได้ และการบนบาน (นะซัรฺ) อิอฺติก็าฟตลอดชีวิตนั้นก็ถือว่าใช้ได้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/514) 

 

ในกรณีหากผู้นั้นทำการบนบาน (นะซัรฺ) อิอฺติก็าฟหนึ่งชั่วโมง การบนบาน (นะซัรฺ) ของเขาก็ใช้ได้และจำเป็นที่ผู้นั้นต้องอิอฺติก็าฟเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และหากว่าผู้นั้นบนบาน (นะซัรฺ) อิอฺติก็าฟเฉยๆ (มุฏลัก) การอิอฺติก็าฟเพียงชั่วขณะหนึ่งก็เพียงพอจากการบนบานของเขาแล้ว แต่ที่ดีที่สุดให้ผู้นั้นทำการอิอฺติก็าฟเป็นเวลา 1 วันเพื่อออกจากการขัดแย้งกับทัศนะของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และนักวิชาการที่เห็นด้วยกับท่าน และหากผู้นั้นเข้าสู่การอิอฺติก็าฟในมัสญิด 1 ชั่วโมงและออกจากมัสญิดไป 1 ชั่วโมงและทุกครั้งที่เข้ามาใหม่ก็มีการเจตนาอิอฺติก็าฟก็ถือว่าใช้ได้แล้วตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/514) 

 

  • -ในกรณีที่บุคคลบนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟ 10 วันสุดท้ายจากเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ ถามว่าผู้นั้นจะเข้าสู่การอิอฺติก็าฟเมื่อใด ? ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า ผู้นั้นจำเป็นต้องเข้าสู่การอิอฺติก็าฟในค่ำคืนของวันที่ 21 ก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อให้สิ่งที่เป็นฟัรฎูอันเนื่องมาจากการบนบานนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยความมั่นใจ (ยะกีน) และผู้นั้นจะออกจากการอิอฺติก็าฟตามที่บนบานไว้ด้วยการสิ้นสุดของเดือนนั้น ไม่ว่าจำนวนวันของเดือนนั้นจะเต็มจำนวน (30 วัน) หรือพร่องไป (29 วัน) ก็ตาม อิมามมาลิก, อัษ-เษารียฺ, อบูหะนีฟะฮฺและสานุศิษย์ของท่านก็ว่าตามนี้ ส่วนอิมามอัล-เอาวฺซาอียฺ, อิสหากและอบูเษารินกล่าวว่า : การเข้าสู่การอิอฺติก็าฟของเขาในตอนแสงอรุณจริงขึ้นของวันที่ 21 ก็ถือว่าใช้ได้แล้วโดยไม่จำเป็นที่จะต้องอิอฺติก็าฟในค่ำคืนของวันที่ 21 แต่อย่างใด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 516) 

 

  • -เมื่อบุคคลบนบานอิอฺติกาฟ 1 วันการอิอฺติก็าฟในช่วงเวลากลางคืนของวันนั้น ก็ไม่จำเป็นสำหรับเขาโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ แต่ทว่าจำเป็นที่ผู้นั้นต้องเข้าสู่การอิอฺติก็าฟก่อนแสงอรุณจริงขึ้นของวันนั้น และจะออกจากการอิอฺติก็าฟหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของวันนั้นแล้ว เพราะคำว่าหนึ่งวันตามความหมายที่แท้จริงคือช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างแสงอรุณจริงขึ้นกับดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/518) ในทำนองเดียวกัน หากผู้นั้นบนบานการอิอฺติก็าฟ 1 คืนก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องเข้าสู่การอิอฺติก็าฟในมัสญิดก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของวันนั้นและพำนักอยู่ในมัสญิดจนกระทั่งแสงอรุณจริงขึ้น ตามที่อัล-มุตะวัลลียฺและท่านอื่นๆกล่าวเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/520) 

 

  • -ในกรณีเมื่อบุคคลทำการบนบานอิอฺติก็าฟเป็นเวลา 1 เดือนโดยกำหนดเจาะจงแต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องอิอฺติก็าฟทั้งในเวลากลางคืนและเวลากลางวันตลอด 1 เดือนนั้นไม่ว่าจำนวนของเดือนจะมีจำนวนเต็มหรือพร่องไปก็ตาม และเดือนที่มีจำนวนพร่องไป (29 วัน) นั้นถือว่าใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง และหากผู้นั้นกล่าวว่า : “บรรดาวันของเดือน” ก็ไม่จำเป็นต้องอิอฺติก็าฟในเวลากลางคืน หรือกล่าวว่า : “บรรดาค่ำคืนของเดือน” ก็ไม่จำเป็นต้องอิอฺติก็าฟในเวลากลางวัน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/517) 

    ส่วนในกรณีเมื่อผู้นั้นบนบานอิอฺติก็าฟหนึ่งเดือนโดยกำหนดเจาะจงหรือ 10 วันโดยกำหนดเจาะจงพร้อมกับตั้งเงื่อนไขว่าติดต่อกัน (ตะตาบุอฺ) เช่นกล่าวว่า : “ข้าพเจ้าบนบาน (นะซัรฺ) อิอฺติก็าฟในเดือนนี้โดยติดต่อกันหรือ 10 วันนี้โดยติดต่อกัน” แล้วช่วงเวลาที่ถูกเจาะจงนั้นก็ผ่านเลยเขาไป ก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องอิอฺติก็าฟชดใช้ (กอฎออฺ) โดยติดต่อกันตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ซึ่งนักวิชาการส่วนมากในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/517) 

    และหากว่าผู้นั้นตั้งเงื่อนไขว่าจะอิอฺติก็าฟแยกกัน ก็อนุญาตให้อิอฺติก็าฟแยกกันได้ แต่ถามว่าอนุญาตให้อิอฺติก็าฟติดต่อกันได้หรือไม่ ? แนวทางที่ถูกต้องที่สุดใน 2 แนวทาง (อะเศาะหฺ  อัฏ-เฏาะรีกอยนี่) ชี้ขาดว่าอนุญาต เพราะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะอิอฺติก็าฟติดต่อกันหรือแยกกัน ก็อนุญาตให้อิอฺติก็าฟแบบแยกกันและติดต่อกันตามมัซฮับและปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ แต่ส่งเสริมให้อิอฺติก็าฟติดต่อกันในกรณีนี้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/518) 

 

 

ประเด็นเกี่ยวกับการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ในการอิอฺติก็าฟ

-การอิอฺติก็าฟจะใช้ไม่ได้นอกจากต้องมีการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ไม่ว่าจะเป็นการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบาน (มันซูรฺ) หรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะมีการกำหนดเจาะจงช่วงเวลาของอิอฺติก็าฟหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นหากปรากฏว่าการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นฟัรฎูเนื่องด้วยเหตุมีการบนบาน  การตั้งเจตนาก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นั้นเพื่อจำแนกการอิอฺติก็าฟที่เป็นฟัรฎูออกจากการอิอฺติก็าฟแบบกุศลกิจอาสา (ตะเฏาวฺวุอฺ) และเมื่อผู้นั้นตั้งเจตนาแล้วโดยไม่มีการระบุเงื่อนไข สิ่งดังกล่าวก็เพียงพอแล้วและถึงแม้ว่าการพักอยู่ในมัสญิดของผู้นั้นจะยาวนานเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีก็ตาม ดังนั้นหากผู้นั้นออกจากมัสญิดแล้วย้อนกลับมาก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องตั้งเจตนาเริ่มการอิอฺติก็าฟนั้นใหม่ ไม่ว่าผู้นั้นออกจากมัสญิดไปเพื่อทำธุระส่วนตัว (ปลดทุกข์) หรือเพื่อสิ่งอื่นก็ตามทั้งนี้เป็นเพราะว่า สิ่งที่ผ่านพ้นมา (จากการอิอฺติก็าฟในช่วงเวลาก่อนออกจากมัสญิด) เป็นอิบาดะฮฺที่สมบูรณ์และเป็นเอกเทศ จึงไม่รวมอิบาดะฮฺในช่วงเวลาอื่นด้วยการตั้งเจตนาที่มีมาก่อน ดังนั้นจึงมีการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าสู่มัสญิดในครั้งที่สอง (หลังจากออกไป) ว่าต้องมีการตั้งเจตนาใหม่เพราะเป็นอิบาดะฮฺอีกอันหนึ่ง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 523) 

 

อัล-มุตะวัลลียฺและท่านอื่นๆ กล่าวว่า : หากผู้นั้นตั้งใจ (อัซฺม์) ขณะออกจากมัสญิดว่าจะไปทำธุระส่วนตัว (ปลดทุกข์) แล้วก็จะกลับมาอิอฺติก็าฟในมัสญิดต่อ ความตั้งใจนี้ก็แทนที่การตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ได้  อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่าประเด็นที่อิมามอัล-มุตะวัลลียฺ (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ กล่าวไว้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่าเมื่อผู้นั้นทำให้มีการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) เกิดขึ้นในขณะที่ต้องการออกจากมัสญิด ผู้นั้นก็กลายเป็นเหมือนกับผู้ที่ตั้งเจตนา 2 ช่วงเวลาด้วยการตั้งเจตนาอันเดียว เหมือนกับกรณีที่อัศหาบอัช-ชาฟิอียฺของเรากล่าวถึงบุคคลที่ตั้งเจตนาละหมาดสุนนะฮฺ 2 รอกอะฮฺ แล้วต่อมาก็ตั้งเจตนาในตอนท้ายการละหมาดสุนนะฮฺนั้นว่าทำละหมาด 4 รอกอะฮฺหรือมากกว่า ก็ถือว่าการละหมาดสุนนะฮฺ 4 รอกอะฮฺของผู้นั้นใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง และผู้นั้นก็จะกลายเป็นเหมือนกับผู้ที่ตั้งเจตนา 4 รอกอะฮฺในตอนแรกเข้าสู่ละหมาดของเขา วัลลอฮุอะลัม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ 6/523)

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นกรณีเมื่อผู้นั้นไม่ได้กำหนดเจาะจงระยะเวลา ดังนั้นหากผู้นั้นกำหนดเจาะจงระยะเวลาด้วยการตั้งเจตนาอิอฺติก็าฟช่วงต้นวันหรือเดือน ในการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีการตั้งเจตนาใหม่ (ตัจญ์ดีด อัน-นียะฮฺ) เมื่อผู้นั้นออกจากมัสญิดแล้วก็ย้อนกลับมาหรือไม่ มี 4 ประเด็น (เอาวฺญุฮฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ คือ

1) เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด(อะเศาะหฺ อัล-เอาวฺญุฮฺ) ซึ่งอัล-มุตะวัลลียฺ(ร.ฮ.)ชี้ขาดเอาไว้ กล่าวคือ หากผู้นั้นออกไปเพื่อทำธุระส่วนตัวแล้วก็หวนกลับมา ก็ถือว่าไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่ เพราะการออกไปนั้นเป็นสิ่งจำเป็น (เลี่ยงไม่ได้) และถ้าผู้นั้นออกไปเพื่อเป้าหมายอย่างอื่นก็มีเงื่อนไขว่าต้องตั้งเจตาใหม่ไม่ว่าช่วงระยะเวลานั้นจะนานหรือสั้นก็ตาม

 

2) หากช่วงเวลาของการออกไปนั้นนาน ก็มีเงื่อนไขว่าต้องตั้งเจตนาใหม่แต่ถ้าไม่นานก็ไม่ต้องตั้งเจตนาใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่าการออกไปนั้นจะเป็นไปเพื่อธุระส่วนตัวหรือไม่ก็ตาม

 

3) การตั้งเจตนาใหม่ไม่ถือเป็นเงื่อนไขแต่อย่างใดเลย

 

4) หากผู้นั้นออกไปเพื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่ทำให้การอิอฺติก็าฟที่ติดต่อกันขาดความต่อเนื่องก็มีเงื่อนไขว่าต้องตั้งเจตนาใหม่ แต่ถ้าหากออกไปเพื่อทำเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่ไม่ทำให้การอิอฺติก็าฟติดต่อกันขาดความต่อเนื่องและไม่มีทางเลี่ยง (คือจำเป็นต้องออก) เช่น การ
ทำธุระส่วนตัว (ปลดทุกข์) การอาบน้ำยกหะดัษเนื่องจากการฝันเปียก เป็นต้น ก็ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องตั้งเจตนาใหม่แต่อย่างใด แต่ถ้าหากว่ามีทางเลี่ยง (ไม่จำเป็น) หรือช่วงระยะเวลานั้นนานในการเป็นเงื่อนไขว่าต้องตั้งเจตนาใหม่หรือไม่ มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

 

และทั้ง 4 ประเด็นนี้ใช้สำหรับกรณีการอิอฺติก็าฟที่เป็นกุศลกิจอาสา (ตะเฏาะวฺวุอฺ) และกรณีของผู้ที่บนบาน (นะซัรฺ) อิอฺติก็าฟเป็นเวลาหลายวันตลอดจนผู้นั้นไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะอิอฺติก็าฟติดต่อกัน (ตะตาบุอฺ) แล้วต่อมาผู้นั้นก็กลับเข้าสู่มัสญิดโดยเจตนากระทำให้การบนบาน (นะซุรฺ) นั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/524) 

 

ส่วนในกรณีที่ผู้นั้นตั้งเงื่อนไขว่าจะอิอฺติก็าฟโดยติดต่อกันหรือปรากฏว่าบรรดาวันที่ถูกบนบาน (อัยยาม อัล-มันซูเราะฮฺ) นั้นติดต่อกัน กรณีของการตั้งเจตนาใหม่นั้นนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้การติดต่อกันในการบนบานอิอฺติก็าฟที่ต่อเนื่องขาดตอนลง ก็จำเป็นต้องเริ่มการอิอฺติก็าฟนั้นใหม่ด้วยการตั้งเจตนาใหม่ และทุกๆ อุปสรรค (อุซฺร์) ที่ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้การต่อเนื่อง (ตะตาบุอฺ) ของการอิอฺติก็าฟขาดตอนลง เมื่อพ้นอุปสรรคนั้นแล้วก็จำเป็นต้องย้อนกลับมาสู่มัสญิด ดังนั้นหากผู้นั้นล่าช้าในการย้อนกลับมา ความต่อเนื่องนั้นก็ขาดตอนลง และการอิอฺติก็าฟต่อเป็นอุปสรรคก็จำเป็นต้องชดเชย (เกาะฎออฺ) ช่วงเวลาที่ถูกใช้ในกรณีอื่นนอกจากการทำธุระส่วนตัว (ปลดทุกข์) แต่ไม่จำเป็นต้องชดเชย (เกาะฎออฺ) ช่วงเวลาของการทำธุระส่วนตัวและช่วงเวลาที่ไป–มาเพื่อการทำธุระส่วนตัวนั้น และเมื่อผู้นั้นย้อนกลับมายังมัสญิดแล้วถามว่าจำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่หรือไม่ ก็ให้พิจารณาว่า : หากการออกไปนั้นเป็นการออกไปเพื่อทำธุระส่วนตัวและสิ่งที่จำเป็น (ไม่มีทางเลี่ยง) เช่น อาบน้ำยกหะดัษและการอะซาน เป็นต้น กรณีนี้หากเราถือว่าการออกไปเพื่อกระทำสิ่งดังกล่าวเป็นที่อนุญาต การตั้งเจตนาใหม่เมื่อกลับมาก็ไม่จำเป็นตามมัซฮับไม่ว่าช่วงเวลานั้นนานหรือสั้นก็ตาม บ้างก็กล่าวว่า (กีล่า) หากช่วงเวลานั้นนาน ในการตั้งเจตนาใหม่จำเป็นหรือไม่ ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ดังที่กล่าวมาแล้ว (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 565) 

 

ส่วนกรณีที่การออกจากมัสญิดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ (ไม่จำเป็นต้องออก) ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

 

ประเด็นที่หนึ่ง : จำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่เพราะการออกนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นโดยยิ่งยวด (เฎาะรูรียฺ) 

 

ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่ เพราะการตั้งเจตนาครั้งแรกได้ครอบคลุมสิ่งที่ถูกบนบาน (นะซัรฺ) เอาไว้โดยรวมแล้ว และการออกนี้ก็ไม่ทำให้ความต่อเนื่อง (ตะตาบุอฺ) ขาดตอนลง จึงเป็นเหมือนว่าผู้นั้นไม่ได้ออก ส่วนในกรณีที่ผู้นั้นกำหนดเจาะจงระยะเวลาสำหรับการอิอฺติก็าฟของตนโดยไม่ได้ระบุประเด็นความต่อเนื่อง ต่อมาผู้นั้นก็มีเพศสัมพันธ์หรือออกไปจากมัสญิดโดยไม่มีอุปสรรค (อุซฺร์) การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เสียแล้ว (ฟาสิด) ต่อมาผู้นั้นก็ย้อนกลับมาเพื่อทำให้ระยะเวลาในการอิอฺติก็าฟที่เหลืออยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในการตั้งเจตนาใหม่เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : แต่ตามมัซฮับ ณ กรณีนี้ถือว่าจำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่ และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะการตั้งเจตนาใหม่ที่จำเป็นในกรณีนี้ก็สืบเนื่องมาจากมีการกระทำที่ค้านและทำให้การอิอฺติก็าฟขาดตอนลง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/565) 

 

  • -ในกรณีเมื่อบุคคลตั้งเงื่อนไขในการอิอฺติก็าฟของตนว่าจะออกไปทำงาน และเรากล่าวตามมัซฮับที่ว่า การตั้งเงื่อนไขของเขาใช้ได้ แล้วเขาก็ออกไปทำสิ่งดังกล่าวต่อมาก็หวนกลับมายังมัสญิด ในการตั้งเจตนาใหม่ว่าจำเป็นหรือไม่ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ซึ่งอิมามอัล-บะเฆาะวียฺและท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้ ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าจำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่ ส่วนกรณีเมื่อผู้นั้นเข้าสู่การอิอฺติก็าฟด้วยการตั้งเจตนาต่อมาก็ตัดการตั้งเจตนานั้น และมีเจตนาทำให้การอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะ จะถือว่าการอิอฺติกาฟนั้นเป็นโมฆะหรือไม่ ? กรณีนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าจำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่และการอิอฺติก็าฟนั้นก็ไม่เป็นโมฆะเพียงแค่การตั้งเจตนาทำให้การอิอฺติก็าฟเป็นโมฆะตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดในสองประเด็น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 524) 

 

 

ประเด็นเกี่ยวกับการออกจากมัสญิดสำหรับผู้ทำอิอฺติก็าฟ

1) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : เมื่อบุคคลเข้าสู่การอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานไว้ (อิอฺติก็าฟมันซูรฺ) โดยผู้นั้นตั้งเงื่อนไขความต่อเนื่อง (ตะตาบุอฺ) ในการอิอฺติก็าฟ ก็ไม่อนุญาตให้ผู้นั้นออกจากมัสญิดโดยไม่มีอุปสรรค (อุซฺร์)

ดังนั้นหากผู้นั้นออกไปโดยไม่มีอุปสรรค ก็ถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะ แต่ถ้ผู้นั้นออกไปเพื่อทำธุระส่วนตัว คือ ปลดทุกข์ทั้งเบาและหนัก ก็ไม่ถือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด เพราะมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ระบุว่า “ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะไม่เข้าภายในบ้านนอกเสียจากเพื่อทำธุระของมนุษย์ (ปลดทุกข์) ในสภาพที่ท่านทำการอิอฺติก็าฟ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม) และหากผู้นั้นทำการอิอฺติก็าฟอยู่ภายในมัสญิดแล้วยื่นมือหรือเท้าหรือศีรษะของตนออกนอกมัสญิดก็ไม่ทำให้การอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด ไม่ว่าจะมีความจำเป็นหรือไม่ก็ตาม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 525) 

 

 

2) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : สิ่งที่จะทำให้การอิอฺติก็าฟแบบต่อเนื่องขาดตอนและมีความจำเป็นต้องเริ่มการอิอฺติกาฟที่ถูกบนบานไว้ใหม่อีกครั้งมี 2 เรื่องคือ

หนึ่ง ขาดเงื่อนไขในการอิอฺติก็าฟบางประการไปซึ่งเงื่อนไขนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการเศาะหฺการอิอฺติก็าฟ เช่น การระงับจากการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ดังนั้นหากผู้ทำการอิอฺติก็าฟมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นก็ถือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นขาดตอนลงแล้ว

 

สอง การออกด้วยร่างกายทั้งหมดจากเขตของมัสญิดทั้งหมดโดยไม่มีอุปสรรค (อุซฺร์) ซึ่งในเรื่องนี้มี 3 เงื่อนไข (กุยู๊ด) คือ

  • (1) การออกด้วยร่างกายทั้งหมด หากผู้นั้นนำศีรษะหรือมือทั้งสองหรือขาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างออกจากมัสญิดหรือตัวนั่งอยู่ในมัสญิดแต่ยืดขาหรือแขนออกนอกมัสญิด การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด แต่ถ้าหากผู้นั้นนำขาทั้งสองข้างออกจากมัสญิดและยืนบนขาทั้งสองข้างนั้น และศีรษะของเขายังคงอยู่ในมัสญิดโดยที่ร่างกายของเขาอยู่นอกมัสญิดก็ถือว่าทำให้การอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะ
  • (2) การออกจากเขตทั้งหมดของอาคารมัสญิด หากผู้นั้นออกไปสู่ระเบียงหรือนอกชานของมัสญิด ก็ไม่ส่งผลเสียต่อการอิอฺติก็าฟแต่อย่างใด
  • (3) การออกโดยไม่มีอุปสรรค ในกรณีของการออกจากมัสญิดโดยไม่มีอุปสรรคมีรายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไป (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/526) 

 

 

3) อนุญาตให้ออกจากมัสญิดเพื่อปลดทุกข์ทั้งหนักและเบาโดยไม่มีข้อขัดแย้ง

อิบนุ อัล-มุนซิรฺ, อัล-มาวัรฺดียฺและท่านอื่นๆ ถ่ายทอดการอิจญ์มาอฺในเรื่องนี้ และอนุญาตให้ออกจากมัสญิดเพื่อทำการอาบน้ำยกหะดัษเนื่องจากการฝันเปียกได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับเช่นกัน ในกรณีที่ในมัสญิดสิกอยะฮฺ (ที่กักเก็บน้ำ) ก็ไม่บังคับว่าผู้นั้นต้องทำธุระส่วนตัวในสถานที่นั้น แต่ผู้นั้นมีสิทธิไปยังบ้านของตนเพื่อทำธุระส่วนตัว ในทำนองเดียวกันหากปรากฏว่าข้างๆ มัสญิดมีบ้านของเพื่อนผู้นั้นและผู้นั้นสามารถเข้าไปทำธุระส่วนตัวในบ้านหลังนั้นได้ ก็ไม่บังคับอีกเช่นกัน ส่วนในกรณีที่ผู้นั้นมีบ้าน 2 หลังหลังหนึ่งอยู่ใกล้กว่า ถามว่าอนุญาตให้ไปยังบ้านหลังที่ไกลกว่าได้หรือไม่ ? กรณีนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้อง (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) คือไม่อนุญาตและนักวิชาการในมัซฮับ เห็นตรงกันว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้อง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/527) 

 

 

4) เมื่อปรากฏว่าบ้านของผู้นั้นอยู่ไกลมาก และในเส้นทางไม่มีสถานที่ เช่น สิกอยะฮฺหรือบ้านของเพื่อนที่อนุญาตให้ผู้นั้นเข้าไปได้ ผู้นั้นก็ย่อมมีสิทธิไปยังบ้านของตน เป็นประเด็นเดียว (วัจญ์ฮุน วาหิด) เพราะผู้นั้นมีความจำเป็นแต่ถ้ามีสถานที่ดังกล่าวในเส้นทางแต่ไม่สมควรที่ผู้นั้นจะเข้าไปยังสถานที่นั้น  ผู้นั้นก็ย่อมมีสิทธิเข้าไปยังบ้านของตนได้เช่นกัน โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ  หากไม่เป็นเช่นนั้น (คือมีสถานที่ระหว่างทางที่สามารถ เข้าไปได้โดยสมควร) ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าไม่อนุญาตให้ผู้นั้นไปยังสถานที่อื่นที่มิใช่บ้านของตน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/527)

 

และในการออกไปเพื่อปลดทุกข์นั้นไม่มีเงื่อนไขว่าต้องมีความจำเป็นมาก (เช่น ปวดทุกข์มาก) แต่อย่างใด และเมื่อออกไปเพื่อการปลดทุกข์ก็ไม่บังคับว่าต้องรีบเร่งแต่ให้เดินไปตามปกติ และหากการออกไปเพื่อปลดทุกข์เกิดขึ้นมากครั้งเนื่องจากมีเหตุให้ต้องทำเช่นนั้น อาทิ ท้องร่วง เป็นต้น ก็ไม่ถือว่าส่งผลเสียแต่อย่างใดตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) และช่วงเวลาที่ออกไปเพื่อทำการปลดทุกข์นั้นไม่จำเป็นต้องชดเชยในกรณีของการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานเอาไว้ เพราะการอิอฺติก็าฟยังคงดำเนินอยู่ในช่วงเวลาของการออกไปปลดทุกข์ตามประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะหิหฺ) จาก 2 ประเด็น และเป็นเพราะว่าเวลาของการออกไปเพื่อปลดทุกข์ได้รับการยกเว้นเอาไว้เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยยิ่งยวด (เฎาะรูรียฺ) และเมื่อผู้นั้นออกไปปลดทุกข์ในการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานแบบต่อเนื่องแล้วก็กลับมา ก็ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องตั้งเจตนาใหม่เพราะการตั้งเจตนาครั้งแรกยังคงอยู่โดยถือตามมัซฮับในกรณีนี้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 528-529) 

 

 

5) เมื่อผู้นั้นเสร็จสิ้นจากการปลดทุกข์และการทำความสะอาด (อิสตินญาอฺ) แล้ว ผู้นั้นก็มีสิทธิทำการอาบน้ำละหมาดที่นอกมัสญิดได้ เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องต่อเนื่อง อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) ถ่ายทอดมติเห็นพ้อง (อิตติฟาก) ในประเด็นนี้ ส่วนในกรณีเมื่อผู้นั้นมีความต้องการอาบน้ำละหมาดโดยไม่มีเหตุของการปลดทุกข์หนักหรือเบาและไม่มีความจำเป็นต้องทำความสะอาด (อิสตินญาอฺ) ก็ให้พิจารณาว่าหากผู้นั้นไม่สามารถอาบน้ำละหมาดภายในมัสญิดได้ก็อนุญาตให้ผู้นั้นออกไปอาบน้ำละหมาดได้และไม่ทำให้การอิอฺติก็าฟขาดตอนแต่อย่างใด แต่ถ้าหากผู้นั้นสามารถอาบน้ำละหมาดภายในมัสญิดได้ ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ที่อิมาม อัล-หะเราะมัยนฺและท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้ ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ  อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าไม่อนุญาตให้ผู้นั้นออกไปอาบน้ำละหมาดนอกมัสญิด ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นการอาบน้ำละหมาดที่เป็นวาญิบส่วนถ้าเป็นการอาบน้ำละหมาดใหม่ (ตัจญ์ดีด อัล-วุฎูอฺ) ก็ถือว่าไม่อนุญาตเพียงประเด็นเดียวโดยไม่มีข้อขัดแย้ง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/529) 

 

 

6) ถามว่าช่วงเวลาของการออกจากมัสญิดเพื่อไปปลดทุกข์นั้นจะถูกคิด (มะหฺสู๊บ) ว่าเป็นส่วนหนึ่งจากการอิอฺติก็าฟหรือไม่ ? และในสภาพที่ผู้นั้นออกไปเพื่อปลดทุกข์จนกระทั่งย้อนกลับเข้ามาสู่มัสญิดผู้นั้นถือว่าเป็นผู้ทำการอิอฺติก็าฟ (มุอฺตะกิฟ) หรือไม่ ? กรณีนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ซึ่งอิมามอัล-หะเราะมัยนฺ, อัล-มุตะวัลลียฺ และท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้ 

  • ประเด็นที่หนึ่ง ผู้นั้นไม่เป็นผู้ทำอิอฺติก็าฟ (มุอฺตะกิฟ) ในช่วงเวลาและสภาพดังกล่าว อัล-มุตะวัลลียฺกล่าวว่า : เพราะผู้นั้นยุ่งอยู่กับสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการอิอฺติก็าฟ ผู้นั้นจึงไม่เป็นผู้อิอฺติก็าฟแต่ทว่าช่วงเวลานั้นถูกยกเว้นจากการอิอฺติก็าฟ  
  • ประเด็นที่สอง ผู้นั้นเป็นผู้ทำอิอฺติก็าฟ (มุอฺตะกิฟ) ในสภาพดังกล่าว เป็นเพราะว่า หากผู้นั้นมีเพศสัมพันธ์ในสภาพดังกล่าวหรือหาความสุขด้วยการจูบสตรี และมีการหลั่งอสุจิ และเรากล่าวว่าสิ่งดังกล่าวส่งผลต่อการอิอฺติก็าฟ ก็ย่อมถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะแล้วตามมัซฮับ ประเด็นนี้ อัล-มุตะวัลลียฺและท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้ และถ้าหากไม่ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อิอฺติก็าฟในช่วงเวลาหรือสภาพดังกล่าวแล้วไซร้ การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็ย่อมไม่เป็นโมฆะเพราะสิ่งที่ทำให้เสียการทำอิบาดะฮฺนั้น เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้ประจวบเหมาะกับการทำอิบาดะฮฺ สิ่งนั้นก็ย่อมไม่ทำให้การทำอิบาดะฮฺเสียหายแต่อย่างใด เช่นเดียวกับกรณีของการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ถือศีลอดในค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนนั่นเอง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/529-530) 

 

 

7) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัล-อุมม์และมุคตะศ็อรฺ อัล-มุซะนียฺว่า : ผู้ทำการอิอฺติก็าฟ (มุอฺตะกิฟ) มีสิทธิออกจากมัสญิดไปยังบ้านของตน เพื่อรับประทานอาหารถึงแม้ว่าเขาจะสามารถทานอาหารในมัสญิดได้ก็ตาม และปวงปราชญ์ในมัซฮับกล่าวว่า : อนุญาตให้ออกจากมัสญิดเพื่อทานอาหารและอยู่ในบ้านเพื่อทานอาหารตามขนาดความจำเป็น นี่เป็นประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะหิหฺ) ในทัศนะนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและเห็นพ้องตรงกันว่าไม่อนุญาตให้ผู้นั้นคงอยู่ภายในบ้านหลังทานอาหารเสร็จสิ้นแล้วตลอดจนภายหลังการทำธุระส่วนตัวภายในบ้านแล้ว และเห็นพ้องตรงกันว่าอนุญาตให้ผู้นั้นรับประทานอาหารได้ในระหว่างการผ่านไปทำธุระส่วนตัว (ปลดทุกข์) ส่วนการออกจากมัสญิดเพื่อดื่มน้ำนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า : หากผู้นั้นกระหายน้ำและไม่มีน้ำในมัสญิดผู้นั้นย่อมมีสิทธิออกไปเพื่อดื่มน้ำ แต่ถ้าหากพบว่ามีน้ำดื่มในมัสญิด ในกรณีนี้ การอนุญาตให้ออกไปยังบ้านเพื่อดื่มน้ำก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ซึ่งอัล-มาวัรฺดียฺและอัช-ชาชียฺและท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้ ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าไม่อนุญาตและอัร-รอฟิอียฺถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้อง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ เล่มที่ 6 หน้า 531) 

 

 

8) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในอัล-มุคตะศ็อรฺว่า : ไม่เป็นอะไรเมื่อปรากฏว่าผู้นั้นเป็นมุอัซซินในการที่เขาจะขึ้นไปบนหออะซาน (มะนาเราะฮฺ) ถึงแม้ว่าหออะซานนั้นจะอยู่นอกมัสญิดก็ตาม นี่คือตัวบท (นัศ) ของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ  (ร.ฮ.) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : สำหรับหออะซาน (มะนาเราะฮฺ) นั้นมี 2 สภาพ หนึ่งในสองสภาพนั้นคือ การที่หออะซานนั้นถูกสร้างอยู่ในมัสญิดหรืออยู่ที่ระเบียง (นอกชาน) ของมัสญิด หรือปรากฏว่าประตูของหออะซานอยู่ในมัสญิดหรืออยู่ที่ระเบียง (นอกชาน) ของมัสญิดที่ติดต่อกับตัวมัสญิดก็ไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใดในการที่ผู้ทำอิอฺติก็าฟจะขึ้นไปข้างบนหออะซานนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะขึ้นไปเพื่อทำการอะซานหรืออื่นๆ เช่น หลังคา (ดาดฟ้า) ของมัสญิด และถ้าหากหออะซานนั้นอยู่นอกแนวตรงของอาคารหรืออยู่นอกรูปสี่เหลี่ยมของอาคาร ก็ไม่ทำให้การอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะด้วยการขึ้นไปบนหออะซานนั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่ว่าผู้ที่ขึ้นนั้นเป็นมุอัซซินหรือมิใช่มุอัซซินก็ตาม เช่นนี้นักวิชาการในมัซฮับชี้ขาดและเห็นพ้องตรงกัน

 

สภาพที่สองคือ การที่ปรากฏว่าประตูของหออะซานไม่ได้อยู่ในมัสญิดและไม่ได้อยู่ที่ระเบียง (นอกชาน) ซึ่งติดต่อกับมัสญิดแต่ปรากฏว่าหออะซานนั้นแยกออกจากพื้นที่ทั้งสองกรณีนี้ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ทำอิอฺก็าฟออกไปยังหออะซานนั้นในกรณีอื่นที่มิใช่การอะซานโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ส่วนในกรณีของมุอัซซินนั้นมีหลายประเด็น (เอาวฺญุฮฺ) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เอาวฺญุฮฺ) คือ ไม่ทำให้การอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะในกรณีของมุอัซซินโดยตำแหน่ง (มุอัซซินรอติบ) ในมัสญิดนั้น และเป็นโมฆะในกรณีของผู้อื่นที่มิใช่มุอัซซินนั้น สาม เป็นโมฆะทั้ง 2 กรณี สี่ ไม่เป็นโมฆะทั้งสองกรณี ซึ่งการมีความเห็นที่ต่างกันนี้เป็นผลมาจากการตีความตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่กล่าวมาข้างต้น อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า การแบ่งแยกระหว่างมุอัซซินรอติบ (มุอัซซินประจำมัสญิดโดยตำแหน่งคือบิหลั่น) และบุคคลอื่นเป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด และส่วนหนึ่งที่ถือว่าประเด็นนี้ถูกต้องคืออัล-บะเฆาะวียฺและอัร-รอฟิอียฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/532-533) 

 

อนึ่ง อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)ระบุว่า : แท้จริงรูปของประเด็นปัญหา (ศูเราะฮฺ อัล-มัสอะละฮฺ) ข้างต้นเป็นกรณีของการอะซานที่หออะซานซึ่งอยู่ใกล้กับอาคารของมัสญิด และถูกสร้างไว้เพื่อมัสญิดนั้น ส่วนการออกไปยังสถานที่อื่นจากหออะซานที่ว่านี้ก็คือ ถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะด้วยการออกไปยังสถานที่ดังกล่าวโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นมุอัซซินรอติบหรือไม่ก็ตาม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/533) และอัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ กล่าวไว้ในตำราอัล-มุญัรฺร็อดว่า อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ใน อัล-บุวัยฏียฺว่า : “การอิอฺติก็าฟในหออะซาน (มะนาเราะฮฺ) นั้นใช้ได้”  อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ตัวบทนี้ถูกตีความว่า หมายถึงหออะซาน (มะนาเราะฮฺ) ที่อยู่ในระเบียง (นอกชาน) ของมัสญิดหรือประตูของมัสญิดติดต่อไปถึงหออะซานนั้น และเจ้าของตำรา อัช-ชามิลและตำราอัล-บะยาน กล่าวว่า : ระเบียง (นอกชาน) ซึ่งภาษาอาหรับเรียกว่า อัร-เราะหฺบะฮฺ ‭)‬اَلرَّحْبَةُ‭(‬ นั้นหมายถึงพื้นที่ที่ถูกเพิ่มเข้าไปยังอาคารมัสญิดโดยถูกกันส่วนนั้นเอาไว้และระเบียง (นอกชาน) นั้นเป็นส่วนหนึ่งของมัสญิด เจ้าของตำราอัล-บะยาน กล่าวว่า : อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้กำหนดเป็นตัวบท (นัศ) ว่าการอิอฺติก็าฟในระเบียง (นอกชาน) นั้นถือว่าใช้ได้ และอัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบกล่าวไว้ในตำราอัล-มุญัรฺร็อดว่า : อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การอิอฺติก็าฟในบรรดาระเบียง (นอกชาน) ของมัสญิดนั้นใช้ได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งจากมัสญิด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 535) 

 

 

9) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในมุคตะศ็อรฺ อัล-มุซะนียฺว่า : และผู้ทำการอิอฺติก็าฟไม่ต้องไปเยี่ยมผู้ป่วยและไม่ต้องร่วมญะนาซะฮฺ เมื่อการอิอฺติก็าฟของเขาเป็นสิ่งที่วาญิบ และบรรดานักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : หากการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นกุศลกิจอาสา (ตะเฏาะวฺวุอฺ) และผู้นั้นสามารถละหมาดญะนาซะฮฺได้ภายในมัสญิดผู้นั้นก็ไม่ต้องออกจากมัสญิด เพราะสามารถละหมาดญะนาซะฮฺภายในมัสญิดได้โดยไม่ต้องออกไป แต่ถ้าไม่สามารถละหมาดในมัสญิดได้ (เช่นมีการละหมาดญะนาซะฮฺที่มุศอลลา) ก็ออกไปจากมัสญิดได้เพราะการละหมาดญะนาซะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ การละหมาดญะนาซะฮฺจึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาก่อนการอิอฺติก็าฟ (ในการให้ความสำคัญ) ประเด็นนี้ไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าหากการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มันดูบ) ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

 

ประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะหิหฺ) และรู้จักกัน (มัชฮูร) ซึ่งอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กำหนดเป็นตัวบทเอาไว้และปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดคือ ไม่อนุญาตให้ผู้นั้นออกไปจากมัสญิดเพื่อทำการละหมาดญะนาซะฮฺ ไม่ว่าการละหมาดญะนาซะฮฺนั้นจะเป็นที่เจาะจงเหนือเขาผู้นั้นหรือไม่ก็ตาม เพราะหากว่าไม่เป็นที่เจาะจงเหนือเขาก็มีคนอื่นทำหน้าที่ในการละหมาดญะนาซะฮฺนั้น การอิอฺติก็าฟที่ถูกเจาะจงก็จะไม่ถูกละทิ้งเพื่อสิ่งที่ไม่ถูกเจาะจง แต่ถ้าหากการละหมาดญะนาซะฮฺนั้นถูกเจาะจงเหนือเขา เขาผู้นั้นก็ย่อมสามารถปฎิบัติละหมาดญะนาซะฮฺได้ภายในมัสญิดด้วยการนำเอาผู้เสียชีวิตเข้ามาภายในมัสญิด จึงไม่อนุญาตให้ออกไป 

 

ประเด็นที่สอง หากว่าการละหมาดญะนาซะฮฺนั้นถูกเจาะจงเหนือเขาผู้นั้น ก็อนุญาตให้ออกไปเพื่อละหมาดญะนาซะฮฺได้ แต่ถ้าไม่ถูกเจาะจงก็ไม่อนุญาต อัด-ดาริมียฺ, อัส-สัรฺเคาะสียฺและท่านอื่นๆ เล่าประเด็นนี้เอาไว้ และอัด-ดาริมียฺอ้างถึงอิบนุ อัล-กอฏฏอน และเมื่อเราถือว่าไม่อนุญาตให้ออกไปเพื่อละหมาดญะนาซะฮฺตามประเด็นที่ถูกต้อง แล้วผู้นั้นก็ออกไปเพื่อสิ่งนั้นการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ และถ้าหากผู้นั้นออกไปเพื่อปลดทุกข์แล้วละหมาดญะนาซะฮฺในระหว่างทาง กรณีหากว่าเขาหยุดยืนรอญะนาซะฮฺหรือหันออกจากเส้นทางไปยังการละหมาดญะนาซะฮฺ การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะโดยไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าหากผู้นั้นละหมาดญะนาซะฮฺในระหว่างทางเพื่อไปปลดทุกข์โดยไม่ได้หยุดยืนรอหรือหันออกจากเส้นทางไปสู่การละหมาดญะนาซะฮฺ กรณีนี้มีหลายแนวทาง (ฏุรุก) คือ

 

  • หนึ่ง เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-ฏุรุ๊ก) ซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ คือ การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะ เพราะเป็นช่วงเวลาเพียงเล็กน้อยและผู้นั้นไม่ได้ออกไปเพื่อสิ่งนั้น (หากแต่ออกไปเพื่อปลดทุกข์) ส่วนหนึ่งจากผู้ที่ชี้ขาดตามแนวทางนี้คือ อิมาม อัล-หะเราะมัยนฺ, อัล-เฆาะซาลียฺ และอัร-รอฟิอียฺถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
  • สอง มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะ อัล-มุตะวัลลียฺและท่านอื่นๆ ชี้ขาดตามแนวทางที่สองนี้
  • สาม หากการละหมาดญะนาซะฮฺนั้นถูกเจาะจงเหนือเขาก็ไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใด แต่ถ้าไม่ถูกเจาะจงเหนือเขาก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) อัร-รอฟิอียฺเล่า 2 ประเด็นนั้นไว้
  • สี่ หากการละหมาดญะนาซะฮฺไม่ถูกเจาะจงเหนือเขาผู้นั้นการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ หากถูกเจาะจงก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) อัล-บะเฆาะวียฺชี้ขาดตามแนวทางที่สี่นี้ ซึ่งอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ผิดพลาดหรือเหมือนกับว่าจะ
    ผิดพลาด และตามมัซฮับคือประเด็นที่หนึ่ง และอิมามอัล-หะเราะมัยนฺตลอดจนอัล-เฆาะซาลียฺได้กำหนดขนาดระยะเวลาของการละหมาดญะนาซะฮฺนั้นว่าเป็นการหยุดยืนในระยะเวลาเพียงเล็กน้อย หากไม่ถือตามข้อกำหนดดังกล่าวก็ถือว่าเป็น
    สิ่งที่ถูกอนุโลมให้สำหรับทุกเป้าหมายในสิทธิของผู้ที่ออกไปเพื่อปลดทุกข์ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/536-537

 

 

10) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : หากการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นการอิอฺติก็าฟแบบกุศลกิจอาสา (ตะเฏาะวฺวุอฺ) ก็อนุญาตให้ผู้นั้นออกจากมัสญิดเพื่อเยี่ยมคนป่วย  เพราะการเยี่ยมผู้ป่วยเป็นกุศลกิจอาสา (ตะเฏาะวฺวุอฺ) และการอิอฺติก็าฟก็เป็นกุศลกิจอาสา (ตะเฏาะวฺวุอฺ) ก็ให้ผู้นั้นเลือกเอาระหว่าง 2 กรณีนี้ ดังนั้นหากผู้นั้นเลือกการออกไปเยี่ยมผู้ป่วย การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ (สิ้นสุดลง) เพราะผู้นั้นมิได้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการที่จะออกไป (เยี่ยมผู้ป่วย) แต่ถ้าหากผู้นั้นออกจากมัสญิดเพื่อกระทำสิ่งที่ถูกอนุญาตให้ออกไป อาทิ การปลดทุกข์และการรับประทานอาหาร แล้วในระหว่างทางผู้นั้นก็ถามไถ่ถึงผู้ป่วยโดยมิได้เบี่ยงออกจากเส้นทางก็ถือว่าอนุญาต และไม่ทำให้การอิอฺติก็าฟของเขาเป็นโมฆะแต่อย่างใด แต่ถ้าหากเขาผู้นั้นหยุดถามถึงอาการของผู้ป่วยในระหว่างทางก็ถือว่าการอิอฺติก็าฟของเขาเป็นโมฆะ เพราะมีรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) นั้นปรากฏว่าเมื่อพระนางทำการอิอฺติก็าฟ พระนางก็จะไม่ไถ่ถามถึงอาการของผู้ป่วยยกเว้นในสภาพที่พระนางจะเดินและไม่หยุดอยู่กับที่” (บันทึกโดยมุสลิม) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/538) 

 

ส่วนกรณีที่ปรากฏว่าการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบาน (มันซูรฺ) ก็ไม่อนุญาตให้ผู้นั้นออกจากมัสญิดเพื่อไปเยี่ยมคนป่วย (อิยาดะฮฺ อัล-มะรีฎ) เช่นนี้ ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กำหนดเป็นตัวบทเอาไว้ในตำราอัล-มุคตะศอรฺ ตลอดจนบรรดาอัล-อัศห็าบระบุไว้ในทุกแนวทาง เพราะการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบาน (มันซูรฺ) เป็นวาญิบ จึงไม่อนุญาตให้ออกจากสิ่งที่เป็นวาญิบไปสู่สิ่งที่เป็นสุนนะฮฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/538) 

 

และนักวิชาการเห็นตรงกันว่า ส่งเสริมให้ผู้ทำการอิอฺติก็าฟเยี่ยมคนป่วยที่อยู่ในมัสญิด ส่วนกรณีเมื่อผู้ทำการอิอฺติก็าฟออกไปจากมัสญิดเพื่อไปปลดทุกข์แล้วเยี่ยมผู้ป่วยในระหว่างทาง ก็ให้พิจารณาว่า หากผู้นั้นมิได้หยุดเนื่องด้วยเหตุการเยี่ยมผู้ป่วยและไม่ได้เบี่ยงออกจากเส้นทางของตนเนื่องด้วยเหตุของการเยี่ยมผู้ป่วย แต่ผู้นั้นจำกัดอยู่เฉพาะการถามไถ่อาการของผู้ป่วย ก็เป็นที่อนุญาตและการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานแบบต่อเนื่องของผู้นั้นก็ไม่ขาดตอนโดยไม่มีข้อขัดแย้งในหมู่นักวิชาการ เพราะมีหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ระบุมาข้างต้น และเป็นเพราะผู้นั้นไม่ได้ทำให้ระยะเวลาผ่านเลยไปด้วยเหตุของการไถ่ถามนั้น แต่ถ้าหากผู้นั้นหยุดเพื่อเยี่ยมคนป่วยและใช้เวลานาน การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะโดยไม่มีข้อขัดแย้ง

 

ในทำนองเดียวกับกรณีที่หากว่าผู้นั้นออกไปเยี่ยมคนป่วย แต่ถ้าหากระยะเวลาในการเยี่ยมผู้ป่วยไม่นาน ก็มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) แนวทางที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-เฏาะรีกอยนี่) ถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะเพียงประเด็นเดียว (วัจญ์ฮุน วาหิด) อัล-บะเฆาะวียฺและนักวิชาการส่วนมากชี้ขาดเอาไว้ ทั้งนี้ช่วงเวลานั้นต้องมีขนาดเพียงเล็กน้อยและไม่มีเจตนาออกไปเพื่อเยี่ยมผู้ป่วยตั้งแต่ต้น แนวทางที่สอง มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) หนึ่งในสองประเด็นคือเหมือนกับแนวทางแรก ประเด็นที่สอง ถือว่าเป็นโมฆะ ซึ่งอัล-มุตะวัลลียฺชี้ขาดเอาไว้  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6/538) 

 

อนึ่ง กรณีของการที่ผู้ทำการอิอฺติก็าฟออกจากการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบาน (มันซูรฺ) เพื่อไปเยี่ยมคนป่วยหรือละหมาดญะนาซะฮฺนั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าไม่อนุญาต และทำให้การอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งอิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าทัศนะนี้จาก อะฏออฺ, มุญาฮิด, อุรวะฮฺ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ, อัซ-ซุฮฺรียฺ อิมามมาลิก, อบูหะนีฟะฮฺ, อิสหาก, อบูเษาริน และเป็นริวายะฮฺที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ริวายะฮฺจากอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.)  และอิบนุ อัล-มุนซิรฺก็เลือกทัศนะนี้ ส่วน อัล-บัยฮะกียฺรายงานจากสะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบอีกเช่นกัน และอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, สะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ และอัน-นะเคาะอียฺ (ร.ฮ.)  กล่าวว่า : อนุญาต (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/539) 

 

 

11) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : เมื่อบุคคลทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิดที่มิใช่มัสญิดญามิอฺ (มัสญิดที่มีการละหมาดวันศุกร์) และวันศุกร์ก็มาถึงโดยที่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่วาญิบต้องละหมาดวันศุกร์ก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องออกจากมัสญิดที่อิอฺติก็าฟอยู่นั้นไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิดญามิอฺ  โดยไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่ว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นจะเป็นการอิอฺติก็าฟสุนนะฮฺหรือวาญิบอันเนื่องมาจากการบนบาน (นัซรฺ) ก็ตาม เพราะการละหมาดวันศุกร์เป็นฟัรฎูอัยนฺ และผู้นั้นบกพร่องเองในกรณีที่ไม่ทำการอิอฺก็าฟในมัสญิดญามิอฺ แต่ถ้าหากว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นแบบกุศลกิจอาสา (ตะเฏาวฺวุอฺ) การออกไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิดญามิอฺก็จะทำให้การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะ (คือสิ้นสุดลง) แต่ถ้าหากเป็นการอิอฺติก็าฟที่มีการบนบาน (นะซัรฺ) โดยไม่ได้ตั้งเงื่อนไขแบบต่อเนื่อง ช่วงเวลาการออกไปยังมัสญิดญามิอฺ การพักอยู่ในมัสญิดญามิอฺ และช่วงเวลาขากลับก็จะไม่ถูกคิดให้แก่ผู้นั้น (ถูกยกเว้นให้) และเมื่อผู้นั้นกลับมายังมัสญิดที่ตนอิอฺติก็าฟอยู่ก็ให้ดำเนินการอิอฺติก็าฟในตอนแรกของเขาต่อไปได้เลย นี่เป็นมัซฮับและปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้

 

แต่ถ้าหากการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นการบนบาน (นะซัรฺ) แบบต่อเนื่อง (มุตะตาบิอฺ) และผู้นั้นก็ไม่ได้เลิกการอิอฺติก็าฟ ในการเป็นโมฆะของการอิอฺติก็าฟด้วยเหตุผลของการออกไปยังมัสญิดญามิอฺ มีความเห็นต่าง (คิล็าฟ) อิมามอัช-ชีรอซียฺและอัล-มุหามิลียฺเล่าเอาไว้ในตำรา อัล-มัจญ์มูอฺ และอัล-บะเฆาะวียฺ, อัส-สัรฺเคาะสียฺ และนักวิชาการจำนวนมากเล่าเอาไว้เป็น 2 คำกล่าว (เกาวฺลัยนี่) และอัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ, อิบนุ อัศ-ศอบบ็าฆฺ, อัล-มุตะวัลลียฺและนักวิชาการท่านอื่นๆ เล่าไว้เป็น 2 ประเด็น (วัจญ์ฮัยนี่) ซึ่งนักวิชาการในมัซฮับเห็นตรงกันว่า ที่ถูกต้องที่สุด (อัล-อะเศาะหฺ) คือความต่อเนื่องของการอิอฺติก็าฟ ในกรณีนี้ขาดตอนและการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะ ตามสิ่งที่รู้กัน (มัชฮู๊รฺ) จากบรรดาตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และอัล-มาวัรฺดียฺ, อัล-มุหามิลียฺในตำรา อัต-ตัจญ์รีด และอัล-ญุรฺญานียฺชี้ขาดเอาไว้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะผู้นั้นสามารถระวัง (หลีกเลี่ยง) การออกจากการอิอฺติก็าฟนั้นได้ด้วยการอิอฺติก็าฟในมัสญิดญามิอฺตั้งแต่ต้น เมื่อเขาไม่กระทำอย่างนั้นการอิอฺติก็าฟของเขาก็ย่อมเป็นโมฆะ ส่วนประเด็นที่สองหรือคำกล่าวที่สองนั้นถือว่าไม่เป็นโมฆะเนื่องจากการออกไปยังมัสญิดญามิอฺเป็นการออกที่จำเป็น (เลี่ยงไม่ได้) จึงไม่ทำให้การอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะเช่นเดียวกับกรณีของการออกไปเพื่อปลดทุกข์ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 540-541) 

 

นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : หากเรากล่าวว่าการออกไปละหมาดวันศุกร์ของผู้นั้นทำให้การอิอฺติก็าฟของเขาเป็นโมฆะ ก็ให้พิจารณาว่าหากปรากฏว่าการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบาน (มันซูรฺ) ของเขามีระยะเวลาน้อยกว่า 1 สัปดาห์ก็ให้ผู้นั้นเริ่มทำการอิอฺติก็าฟ (ใหม่) นับจากวันแรกของสัปดาห์ในมัสญิดใดก็ได้ที่เขามีความประสงค์และให้เขาออกไปละหมาดวันศุกร์ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาของการอิอฺติก็าฟนั้นแล้ว แต่ถ้าหากว่าเขาประสงค์จะทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิดญามิอฺก็ให้เขาเริ่มทำการอิอฺติก็าฟนั้นได้เลยเมื่อใดก็ตามที่เขาต้องการ แต่ถ้าหากระยะเวลาในการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบาน (มันซูรฺ) ของเขามีระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ก็จำเป็นที่เขาผู้นั้นจะต้องเริ่มทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิดญามิอฺตั้งแต่ต้น แต่ถ้าหากผู้นั้นได้กำหนดเจาะจงในการบนบาน (นะซัรฺ) ทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิดที่มิใช่มัสญิดญามิอฺและเรากล่าวตามประเด็นที่ว่าการกำหนดเจาะจงนั้นเป็นสิ่งจำเป็นผู้นั้นก็มิย่อมสามารถทำให้การบนบาน (นะซัรฺ) ของตนให้ครบสมบูรณ์ตามที่บนบานไว้ได้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้นั้นป่วย การละหมาดวันศุกร์ก็ตกไปจากผู้นั้นหรือผู้นั้นละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ในสภาพที่ฝ่าฝืน (อาศิยัน) และก็คงทำการอิอฺติก็าฟนั้นต่อไป  วัลลอฮุอะอฺลัม  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/541) 

 

อนึ่ง ในกรณีที่ผู้การอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบานแบบต่อเนื่องจากออกมัสญิดที่มิใช่มัสญิดญามิอฺเพื่อไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิดญามิอฺ ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺในประเด็นที่ถูกต้องถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะ ซึ่งตามนี้อิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวเอาไว้และเป็นริวายะฮฺหนึ่งจากอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ส่วนสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ, อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, อัน-นะเคาะอียฺ, อิมามอะหฺมัด, อับดุลมะลิกจากสานุศิษย์ของอิมามมาลิก (ร.ฮ.) , อิบนุ อัล-มุนซิรฺ, ดาวูด และอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ในอีกริวายะฮฺหนึ่งกล่าวว่า : การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/542) 

 

 

12) ในกรณีที่ผู้หญิงเริ่มทำการอิอฺติก็าฟที่มัสญิดแล้ว ต่อมาก็จำเป็นที่นางต้องครองตนอยู่ในเวลาอิดดะฮฺเนื่องจากสามีของนางเสียชีวิตหรือเนื่องจากการแยกทาง (หย่า) แล้วนางก็ออกจากมัสญิดเพื่อทำการครองตนในช่วงเวลาอิดดะฮฺ (ที่บ้านของสามีเป็นต้น) ถามว่าการอิอฺติก็าฟของนางเป็นโมฆะหรือไม่ ? กรณีนี้ มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) อิมามอัช-ชีรอซียฺเจ้าของอัล-มุฮัซซับเล่าเอาไว้

  • แนวทางที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-เฏาะรีกอยนี่) ในหมู่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและเป็นสิ่งที่ถูกระบุเป็นตัวบท (มันศูศ) เอาไว้ คือ ถือว่าการอิอฺติก็าฟของนางไม่เป็นโมฆะ ถึงแม้ว่าเมื่อนางได้บนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟแบบต่อเนื่องเอาไว้ก็ตาม ก็ให้นางครองตนอยู่ในช่วงระยะเวลาอิดดะฮฺจนครบสมบูรณ์ ต่อมาก็ให้กลับมายังมัสญิดและดำเนินการอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลย 
  • แนวทางที่สอง ในการเป็นโมฆะนั้นมี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) ที่ถูกระบุเป็นตัวบท (มันศูศ) คือไม่เป็นโมฆะ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 544) 

 

 

13)  อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : หากผู้ทำการอิอฺติก็าฟป่วยหรือผู้มีอำนาจ (สุลฏอน) นำตัวเขาออกจากมัสญิด (เพื่อนำไปสอบสวนคดีความ) และการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นอิอฺติก็าฟที่วาญิบ เมื่อผู้นั้นหายจากอาการป่วยหรือถูกปล่อยตัวก็ให้ดำเนินการอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลย แต่ถ้าเขายังคงพักอยู่ภายหลังหายจากอาการป่วยโดยไม่มีอุปสรรคจำเป็น ก็ให้ผู้นั้นเริ่มต้นการทำอิอฺติก็าฟใหม่ นี่เป็นตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำราอัล-มุคตะศอรฺ นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : การป่วยมี 3 ประเภท

  •  (1) การป่วยเพียงเล็กน้อยที่การพำนักอยู่ในมัสญิดไม่เกิดความลำบากพร้อมกับอาการป่วยนั้น เช่น ปวดหัว เป็นไข้เล็กน้อย ปวดฟัน หรือปวดตาหรืออะไรในทำนองนั้น กรณีนี้ก็ไม่อนุญาตให้ผู้นั้นออกจากมัสญิดด้วยเหตุการป่วยนั้น  ทั้งนี้เมื่อปรากฏว่าการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นการบนบาน (นัซรฺ) แบบต่อเนื่อง ดังนั้นหากผู้นั้นออกไป การอิอฺติก็าฟของเขาก็ย่อมเป็นโมฆะเพราะไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในกรณีดังกล่าว

  •  (2) การป่วยที่การพำนักอยู่ในมัสญิดเป็นความยากลำบากพร้อมกับอาการป่วยนั้น เนื่องจากเขาต้องการที่นอนและคนปรนนิบัติตลอดจนการติดตามอาการป่วยของหมอและที่คล้ายกันนี้ กรณีนี้ก็อนุญาตให้ผู้นั้นออกจากมัสญิดที่อิอฺติก็าฟอยู่นั้นได้ เมื่อผู้นั้นออกไป  ในกรณีขาดความต่อเนื่องของการอิอฺติก็าฟที่บนบานเอาไว้ มี 2 แนวทางซึ่งอัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ, อิบนุ อัศ-ศอบบ็าฆ, อัล-มุตะวัลลียฺและท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้ 

    แนวทางที่หนึ่ง ถือว่าไม่ขาดตอนเป็นคำกล่าวเดียว (เกาวฺลัน วาหิดัน) เป็นนัยที่ปรากฏชัดของตัวบทที่เรากล่าวมาข้างต้น อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ ระบุไว้ในตำรา อัล-มุญัรฺร็อดว่า เป็นตัวบทที่ถูกกำหนดไว้ของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในบรรดาตำราของท่าน

    แนวทางที่สอง
    มี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) ที่ถูกต้องที่สุด (อัล-อะเศาะหฺ) ถือว่า ไม่ขาดตอนเหมือนกับแนวทางที่หนึ่ง อิมามอัช-ชีรอซียฺ, อัล-บะเฆาะวียฺ, อัส-สัรฺเคาะสียฺ และท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้

  • (3) การป่วยที่เกรงว่าจะทำให้มัสญิดสกปรกเลอะเทอะพร้อมกับอาการป่วยนั้น  เช่น ท้องร่วง ปัสสาวะราด มีเลือดเสีย (อิสติหาเฎาะฮฺ) ปัสสาวะกะปริดกะปรอย (สิลส์) และที่คล้ายกันนั้น กรณีนี้ผู้นั้นก็มีสิทธิออกจากมัสญิดได้ และในกรณีการขาดความต่อเนื่องในการอิอฺติก็าฟนั้นมี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) แนวทางที่ถูกต้อง (เฏาะรีก เศาะหิหฺ) และที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) ซึ่งอิมามอัช-ชีรอซียฺและปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดคือ ไม่ถือว่าขาดตอนแต่อย่างใดเป็นคำกล่าวเดียว (เกาวฺลัน วาหิดัน) เพราะเหมือนกับกรณีของคนที่ออกจากมัสญิดเพื่อไปปลดทุกข์ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 544-545) 

  • เจ้าของตำราอัช-ชามิลฺกล่าวว่า : เมื่อผู้ทำอิอฺติก็าฟประสงค์ที่จะออกไปเพื่อเจาะเลือด (อัล-ฟัศด์) และกรอกเลือด (อัล-หิญามะฮฺ) ถ้าหากว่ามีความจำเป็นโดยไม่อาจล่าช้าได้ ก็อนุญาตให้ผู้นั้นออกไปเพื่อทำสิ่งดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับการป่วยที่จะถูกแยกแยะในแต่ละกรณีดังที่กล่าวมาแล้ว (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/546) 

 

 

14) ตามแนวทางที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-ฏุรุ๊ก) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้ที่มึนเมาและผู้ที่ตกศาสนา (มุรฺตัด) เป็นโมฆะทั้งคู่ด้วยเหตุเกิดอาการมึนเมาและตกศาสนา (ริดดะฮฺ) เพราะ 2 กรณีนี้น่าเกลียดกว่าการออกจากมัสญิด โดยนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺตีความตามตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในกรณีของคนที่มึนเมาว่าเป็นกรณีที่ผู้นั้นอยู่ในการอิอฺติก็าฟแบบต่อเนื่องก็ถือว่าขาดตอน และตีความตัวบทในกรณีของคนที่ตกศาสนา (มุรฺตัด) ว่าเป็นการอิอฺติก็าฟที่มิใช่แบบต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อผู้นั้นเข้ารับอิสลามใหม่ก็ให้ทำการอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลยเพราะการตกศาสนา (ริดดะฮฺ) ในทัศนะมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺไม่ได้ทำให้การกระทำความดีนั้นสูญเปล่ายกเว้นเมื่อผู้นั้นตายไปในสภาพที่ตกศาสนา (มุรฺตัด) วัล-อิยาซุบิลลาฮฺ

 

อิมามอัร-รอฟิอียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : ความเห็นต่าง (คิล็าฟ) ในเรื่องนี้ (ซึ่งมีถึง 6 แนวทางในมัซฮับ) เป็นความเห็นต่างในกรณีที่ว่า การอิอฺติก็าฟในช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนการตกศาสนา (ริดดะฮฺ) และการมึนเมานั้นเป็นโมฆะหรือไม่ ? และจำเป็นต้องเริ่มการอิอฺติก็าฟใหม่หรือไม่ ? เมื่อปรากฏว่าผู้นั้นทำการอิอฺติก็าฟเนื่องด้วยเหตุการบนบาน (นะซัรฺ) แบบต่อเนื่องหรือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นยังคงอยู่ในสภาพที่ใช้ได้จึงให้ทำการอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลยเมื่ออาการมึนเมาและการตกศาสนาหมดไป ? ส่วนกรณีของช่วงเวลาที่มีการตกศาสนาและอาการมึนเมาเกิดขึ้นนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ถูกนับโดยไม่มีข้อขัดแย้ง อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่าคำกล่าวของอิมามอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) นี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 547-548) 

 

 

15)  อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ใน อัล-บุวัยฏียฺว่า : “เมื่อสตรีที่ทำการอิอฺติก็าฟมีรอบเดือน (หัยฎ์) ก็ให้นางออกจากมัสญิด เมื่อนางสะอาดแล้ว (หมดรอบเดือนและอาบน้ำยกหะดัษใหญ่) ก็ให้นางกลับมายังมัสญิดและอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลย” เช่นนี้อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบทเอาไว้ และอัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบตลอดจนท่านอื่นๆ ได้ถ่ายทอดจากตัวบทของอิมามในอัล-บุวัยฏียฺนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : เมื่อสตรีมีรอบเดือน (หัยฎ์) ในการอิอฺติก็าฟของนางก็จำเป็นที่นางจะต้องออกจากมัสญิด เมื่อนางออกไปและสะอาดแล้ว (หมดประจำเดือนและอาบน้ำยกหะดัษใหญ่) ก็ให้พิจารณาว่า หากการอิอฺติก็าฟของนางเป็นแบบกุศลกิจอาสา (ตะเฏาวฺวุอฺ) และนางประสงค์ทำการอิอฺติก็าฟต่อ ก็ให้นางอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลย แต่ถ้าหากเป็นการอิอฺติก็าฟเนื่องด้วยเหตุมีการบนบาน (นะซัรฺ) ที่ไม่ใช่แบบต่อเนื่องก็ให้นางทำการอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลย แต่ถ้าหากเป็นแบบต่อเนื่องก็ให้พิจารณาว่า หากเป็นช่วงระยะเวลาต่อเนื่องที่นางไม่สามารถรักษาช่วงเวลาดังกล่าวให้ปลอดจากการมีรอบเดือนได้โดยส่วนใหญ่เช่น เป็นช่วงระยะเวลาที่มีจำนวนมากกว่า 15 วัน กรณีนี้ความต่อเนื่องก็ไม่เป็นโมฆะ ทว่าให้นางทำการอิอฺติก็าฟต่อไปได้เลยโดยไม่มีข้อขัดแย้ง

 

แต่ถ้าหากการอิอฺติก็าฟของนางมีช่วงเวลาที่นางสามารถรักษาช่วงเวลานั้นให้ปลอดจากการมีรอบเดือน (หัยฎ์) ได้ เช่นมีช่วงระยะเวลา 15 วันและน้อยกว่านั้น กรณีนี้มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) 

แนวทางที่หนึ่ง ถือว่าขาดความต่อเนื่อง อิมามอัช-ชีรอซียฺและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งชี้ขาดเอาไว้ 

แนวทางที่สอง มีความเห็นต่าง (คิล็าฟ) บ้างก็ว่ามี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) บ้างก็ว่ามี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) ที่ถูกต้องที่สุด (อัล-อะเศาะหฺ) ถือว่าขาดความต่อเนื่อง ตามที่อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 548) 

 

ในกรณีของสตรีที่มีเลือดอิสติหาเฎาะฮฺซึ่งทำการอิอฺติก็าฟอยู่นั้นก็ไม่อนุญาตให้นางออกจากมัสญิด หากว่าการอิอฺติก็าฟของนางเป็นการอิอฺติก็าฟเนื่องจากการบนบาน (นะซัรฺ) ไม่ว่าจะเป็นการอิอฺติก็าฟแบบต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม เพราะนางเป็นเหมือนหญิงที่สะอาด (ปลอดประจำเดือน) แต่นางจะต้องระมัดระวังจากการทำให้มัสญิดสกปรกเลอะเทอะ และมีรายงานในเศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : มีสตรีผู้หนึ่งจากเหล่าภริยาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ใด้ทำการอิอฺติก็าฟพร้อมกับท่านในสภาพที่นางมีเลือดอิสติหาเฎาะฮฺ แล้วปรากฏว่านางเห็นเลือดและสีเหลืองโดยที่เบื้องใต้ของนางมีถาดรองโดยนางกำลังละหมาด” ส่วนหนึ่งจากผู้ที่ระบุประเด็นปัญหาข้อนี้คือเจ้าของตำรา อัล-หาวียฺและอิบนุ อัล-มุนซิรฺซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกเห็นพ้องเป็นมติเอกฉันท์ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/548-549) 

 

 

16) เมื่อผู้ทำการอิอฺติก็าฟออกจากมัสญิดโดยลืมว่าตนอยู่ในการอิอฺติก็าฟ การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด  เพราะมีรายงานจากอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ว่าแท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงละไว้ให้แก่ฉันจากประชาคมของฉันซึ่งความผิดพลาดความหลงลืม และสิ่งที่พวกเขาถูกบังคับให้กระทำสิ่งนั้น” (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ และอัล-บัยฮะกียฺเป็นหะดีษหะสัน) และเป็นเพราะว่าหากผู้นั้นทานอาหารในขณะที่ถือศีลอดในสภาพที่หลงลืม การถือศีลอดก็ไม่เป็นโมฆะ ในทำนองเดียวกันเมื่อผู้นั้นออกจากการอิอฺติก็าฟในสภาพที่หลงลืม การอิอฺติก็าฟก็ไม่เป็นโมฆะ นี่คือมัซฮับและปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้

 

ในกรณีที่ผู้ทำการอิอฺติก็าฟถูกอุ้มหรือถูกแบกในสภาพที่ถูกบังคับแล้วก็ถูกนำออกจากมัสญิดการอิอฺติก็าฟก็ไม่เป็นโมฆะ นี่คือมัซฮับของปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ และถ้าหากผู้นั้นถูกบังคับจนต้องออกจากมัสญิดด้วยตัวของเขาเองก็มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) แนวทางที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-เฏาะรีกอยนี่) มี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนี่) ถือว่าการอิอฺติ  ก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะ แนวทางที่สอง ถือว่าไม่เป็นโมฆะเป็นคำกล่าวเดียว และหากผู้ทำการอิอฺติก็าฟเกิดความกลัวจากคนที่อธรรม (ซอลิม) จึงออกจากมัสญิดและหลบซ่อนตัว ก็ถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะ ตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดใน 2 คำกล่าว (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนี่)  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 550) 

 

 

17)  อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัล-อุมม์ว่า  : “เมื่อบุคคลบนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติก็าฟ ต่อมาผู้นั้นก็เข้าสู่ภายในมัสญิดแล้วทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิด ภายหลังมัสญิดนั้นก็พังลงมา ถ้าหากว่าผู้นั้นยังสามารถพักอยู่ภายในมัสญิดนั้นได้ก็ให้พักอยู่จนกระทั่งการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นสมบูรณ์ แต่ถ้าไม่สามารถพักอยู่ได้ก็ให้ออกมา แล้วเมื่อมัสญิดที่พังลงมานั้นถูกสร้าง (หรือซ่อมแซมดีแล้ว) ก็ให้ผู้นั้นย้อนกลับมาและทำให้การอิอฺติก็าฟของเขานั้นสมบูรณ์” นี่คือตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.)

 

บรรดานักวิชาการในมัซฮับกล่าวว่า : หากว่ามีสถานที่หนึ่ง (ในมัสญิดที่พังลงมา) ยังคงเหลืออยู่โดยที่ผู้นั้นสามารถพักอยู่ในสถานที่นั้น ก็ให้ผู้นั้นพักอยู่และไม่อนุญาตให้ผู้นั้นออกจากอิอฺติก็าฟ หากว่าเป็นการอิอฺติก็าฟที่ถูกบนบาน (มันซูรฺ) แต่ถ้าไม่มีสถานที่ใดที่สามารถพักอยู่ได้เหลืออยู่เลยในมัสญิดนั้น ก็ให้ผู้นั้นออกมาและทำให้การอิอฺติก็าฟของตนสมบูรณ์ในสถานที่อื่นจากมัสญิดนั้น และการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็ไม่เป็นโมฆะด้วยการออกมาเพราะมีความจำเป็น นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : ส่วนคำกล่าวของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่ว่า : “แล้วเมื่อมัสญิดได้ถูกสร้าง (หรือถูกบูรณะ) แล้ว  ก็ให้ผู้นั้นย้อนกลับมาและทำให้การอิอฺติกาฟของผู้นั้นสมบูรณ์” คำกล่าวนี้ตีความได้ดังนี้

  • (1) ผู้นั้นกำหนดเจาะจงการอิอฺติก็าฟในมัสญิดหะรอม มัสญิดมะดีนะฮฺ และมัสญิดอักศอ และเรากล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องอิอฺติก็าฟในมัสญิดทั้งสามโดยเจาะจง
  • (2) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) หมายถึง กรณีเมื่อผู้นั้นบนบาน (นะซัรฺ) การอิอฺติกาฟที่มิใช่แบบต่อเนื่องและมิได้ผูกพันกับช่วงเวลาที่ถูกเจาะจง ดังนั้นเมื่อมัสญิดได้พังลง ผู้นั้นก็มีสิทธิเลือกเอาหากประสงค์ก็รอการสร้างหรือบูรณะมัสญิดนั้นจนแล้วเสร็จ และหากประสงค์ก็ให้อิอฺติก็าฟในมัสญิดอื่นได้
  • (3) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) หมายถึง เมื่อปรากฏว่าในชุมชนนั้นไม่มีมัสญิดยกเว้นมัสญิดแห่งเดียวและมัสญิดนั้นก็พังลง
  • (4) เจ้าของตำรา อัช-ชามิลฺ เล่าเอาไว้ว่าอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวสิ่งนั้นในทำนองส่งเสริม (อิสติหฺบ็าบ) เพราะท่านชอบให้ทำการอิอฺติก็าฟในมัสญิด ซึ่งถูกบนบานการอิอฺติก็าฟเอาไว้ในมัสญิดนั้น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 552) 

 

 

18) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเห็นพ้องตรงกันว่า เป็นที่อนุญาตสำหรับผู้ทำการอิอฺติก็าฟในการสัมผัส จับ โดน (มุบาชะเราะฮฺ) โดยไม่มีอารมณ์กำหนัด (ชะฮฺวะฮฺ) ด้วยมือและการจูบอันเป็นไปในทำนองของการแสดงความสงสารเวทนาและการให้เกียรติ หรืออันเนื่องมาจากการกลับมาถึงของ (หญิงที่เป็นภรรยา เป็นต้น) จากการเดินทางหรือที่คล้ายกันนั้น เพราะมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้โน้มศีรษะของท่านมาใกล้ฉันแล้วฉันก็หวีผมให้แก่ท่าน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม) อัล-มาวัรฺดียฺกล่าวว่า : แต่เป็นเรื่องที่ไม่บังควร (ที่จะสัมผัส จับ โดนสตรีที่เป็นภรรยา) และการมีเพศสัมพันธ์ (ญิมาอฺ) การสัมผัสจับโดน (มุบาชะเราะฮฺ) โดยมีอารมณ์กำหนัด (ชะฮฺวะฮฺ) นั้นเป็นที่ต้องห้ามเหนือผู้นั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้งและบรรดานักวิชาการในมัซฮับมีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องนี้

 

ดังนั้นหากผู้ทำการอิอฺติก็าฟ (มุอฺตะกิฟ) มีเพศสัมพันธ์ (ญิมาอฺ) โดยรู้ตัวว่าอยู่ในการอิอฺติก็าฟและรู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ทำการอิอฺติก็าฟ การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะโดยการอิจญ์มาอฺ ไม่ว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นจะเกิดขึ้นภายในมัสญิดหรือในขณะออกไปปลดทุกข์หรือขณะมีอุปสรรคที่อนุญาตให้ออกจากมัสญิดได้ก็ตาม แต่ถ้าผู้นั้นมีเพศสัมพันธ์ (ญิมาอฺ) ในสภาพที่ลืมไปว่าอยู่ในการอิอฺติก็าฟหรือไม่รู้ว่าการกระทำสิ่งดังกล่าวเป็นที่ต้องห้าม การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็ไม่เป็นโมฆะตามมัซฮับ และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวอิรักและหลายกลุ่มจากชาวเมืองคุรอสานชี้ขาดเอาไว้ ตามมัซฮับที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) นั้น ถือว่าการอิอฺติก็าฟจะเป็นโมฆะด้วยทุกๆ การร่วมเพศไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศกับผู้หญิง สัตว์ และการลิว็าฏ (รักร่วมเพศ) ตลอดจนอื่นๆ โดยไม่มีข้อขัดแย้ง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/554-555) 

 

ส่วนในกรณีที่ผู้นั้นสัมผัสลูบไล้หรือจูบโดยมีกำหนัด (ชะฮฺวะฮฺ) หรือมีการกระทบสัมผัสด้วยองคชาติในส่วนที่นอกเหนือจากอวัยวะเพศของผู้หญิงโดยเจตนาและรู้ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม กรณีนี้มี 2 ตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ซึ่งนักวิชาการในมัซฮับมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับข้อชี้ขาดของตัวบททั้งสองนั้น อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า สิ่งที่สมควรด้วยการตรวจสอบ (ตะหฺกีก) แล้วย่อมชี้ขาดว่าการกระทบสัมผัส (มุบา-ชะเราะฮฺ) พร้อมกับมีการหลั่งอสุจิทำให้การอิอฺติก็าฟเป็นโมฆะด้วยสิ่งดังกล่าว และอัล-มุหามิลียฺกล่าวไว้ในตำรา อัล-มัจญฺมูอฺ และอัต-ตัจญ์รีดของท่านและเจ้าของตำรา อัล-บะยาน ทั้งสองกล่าวว่า : ที่ถูกต้องจาก 2 คำกล่าว (เกาวฺลัยนี่) ถือว่าการอิอฺติก็าฟนั้นเป็นโมฆะ ไม่ว่าผู้นั้นจะหลั่ง (อสุจิ) หรือไม่ก็ตาม อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบกล่าวไว้ในตำรา อัล-มุญัรฺร็อดว่า : ที่รู้กันจากมัซฮับคือถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะ ไม่ว่าจะหลั่งหรือไม่ก็ตาม ส่วนคำกล่าวที่สองนั้น ถือว่าเป็นโมฆะจะมีการหลั่งอสุจิออกมาหรือไม่ก็ตาม แต่อิมามอัล-บะเฆาะวียฺกล่าวว่า : ที่ถูกต้องที่สุดของ 2 คำกล่าวถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะ และอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ที่ถูกต้องที่สุด (อัล-อะเศาะหฺ) ในทัศนะของปวงปราชญ์ถือว่า หากมีการหลั่งของอสุจิออกมา การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ แต่ถ้าไม่มีการหลั่งก็ไม่เป็นโมฆะ วัลลอฮุอะอฺลัม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6/556) 

 

ในกรณีที่บุคคลทำให้อสุจิเคลื่อนออกมา (อิสติมนาอฺ) ด้วยมือของเขา หากว่าไม่หลั่ง  การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็ไม่เป็นโมฆะโดยไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าหลั่งอิมามอัล-บะเฆาะวียฺ (ร.ฮ.) และอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : หากเรากล่าวว่ากรณีเมื่อผู้นั้นสัมผัส จับ โดนหรือจูบแล้วผู้นั้นก็หลั่ง  การอิอฺติก็าฟนั้นไม่ถือเป็นโมฆะ ตรงนี้ก็สมควรมากกว่าแต่ถ้าเราไม่กล่าวอย่างนั้น ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้อง (อัล-อะเศาะหฺ) ถือว่าเป็นโมฆะ ส่วนเมื่อผู้นั้นมอง (ผู้หญิง) แล้วก็หลั่ง กรณีนี้การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นชี้ขาดได้ว่าไม่เป็นโมฆะตามที่อัด-ดาริมียฺ (ร.ฮ.) ระบุอาไว้อย่างชัดเจน และอิมาม อัล-บะเฆาะวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ทุกกรณีที่ผู้ทำการอิอฺติก็าฟจำเป็นต้องอาบน้ำญะนาบะฮฺ ไม่ว่าจะด้วยเหตุการฝันเปียกหรือมีเพศสัมพันธ์โดยหลงลืมหรือกระทบสัมผัสในส่วนที่นอกเหนือจากอวัยวะเพศ (ของหญิง) โดยมีอารมณ์กำหนัด (ชะฮฺวะฮฺ) และผู้นั้นมีการหลั่ง โดยเรากล่าวว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะด้วยสิ่งดังกล่าว แล้วผู้นั้น (ซึ่งมีญุนุบ) ก็พำนักอยู่ในมัสญิดย่อมถือว่าผู้นั้นกระทำการฝ่าฝืนต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทว่าจำเป็นที่ผู้นั้นจะต้องออกจากมัสญิดเพื่อไปทำการอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ และการพำนักอยู่พร้อมกับมีความสามารถออกจากมัสญิดได้ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) และช่วงเวลาที่ผู้นั้นมีญะนาบะฮฺก็จะไม่ถูกคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งจากเวลาของการอิอฺติก็าฟ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/556-557) 

 

อนึ่ง เมื่อผู้ทำการอิอฺติก็าฟมีเพศสัมพันธ์ (ญิมาอฺ) ในการอิอฺติก็าฟที่มีการบนบาน (นะซัรฺ) แบบต่อเนื่องในสภาพที่ผู้นั้นมิได้หลงลืมว่าตนอยู่ในการอิอฺติก็าฟและรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นที่ต้องห้าม ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะ โดยการอิจญ์มาอฺและผู้นั้นไม่จำเป็นต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺใดๆ ซึ่งตามนี้บรรดาปวงปราชญ์ได้กล่าวเอาไว้ อัล-มาวัรฺดียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เป็นคำกล่าวของเหล่านักวิชาการฟิกฮฺทั้งหมด ยกเว้น อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.) และอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ที่กล่าวว่า : ผู้นั้นต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺของผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน และอัล-อับดะรียฺ กล่าวว่า : เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดจาก 2 ริวายะฮฺที่มีรายงานมาจากอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และอิบนุอัล-มุนซิรฺกล่าวว่า : นักวิชาการส่วนมากถือว่าผู้นั้นไม่จำเป็นต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺ อันเป็นคำกล่าวของชาวเมืองมะดีนะฮฺ แคว้นชาม และอิรัก ส่วนในอีกริวายะฮฺหนึ่งจากอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่าผู้นั้นต้องปล่อยทาส 1 คน ถ้าไร้ความสามารถก็เชือดอูฐ 1 ตัว และถ้าไร้ความสามารถก็ทำเศาะดะเกาะฮฺเป็นอินทผลัมแห้งจำนวน 20 ศ็ออฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับเล่มที่ 6 หน้า 557) 

 

ในกรณีของผู้ทำอิอฺติก็าฟมีเพศสัมพันธ์โดยหลงลืมนั้นตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าการอิอฺติกาฟของผู้นั้นไม่เสียและเป็นคำกล่าวของดาวูด อัซ-ซอฮิรียฺ (ร.ฮ.) ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่าเสีย และในกรณีการสัมผัสจับต้องในส่วนที่นอกเหนือจากอวัยวะเพศนั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมีความเห็นต่างกันดังที่กล่าวมาแล้ว อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ถ้าหากว่ามีการหลั่งก็ถือว่าการอิอฺติก็าฟของผู้นั้นเป็นโมฆะ แต่ถ้าไม่มีการหลั่งก็ไม่ถือว่าโมฆะ ฝ่ายอิมามาลิก (ร.ฮ.) ท่านกล่าวว่า : เป็นโมฆะโดยสิ้นเชิง แต่ท่านอะฏออฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด ซึ่งอิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) เลือกทัศนะนี้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/558) 

 

 

19) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัล-มุคตะศ็อรฺ ว่า : ไม่เป็นอะไรในการที่ผู้ทำการอิอฺติก็าฟทั้งชายและหญิงจะสวมใส่เสื้อผ้า รับประทานอาหาร และใส่ของหอมตามที่ประสงค์ บรรดานักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : อนุญาตสำหรับผู้ทำการอิอฺติก็าฟทั้งชายและหญิงจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นเสื้อผ้าชั้นดีหรือไม่ก็ตาม ตลอดจนของหอมและสิ่งที่ถูกรับประทานอันเป็นสิ่งที่อนุญาตก่อนเริ่มการอิอฺติก็าฟและไม่มักรูฮฺแต่อย่างใด นี่คือมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ซึ่งอัล-อับดะรียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่านักวิชาการส่วนมากกล่าวตามนี้ ส่วนอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ส่งเสริมว่าผู้ทำการอิอฺติก็าฟจะไม่สวมใส่เสื้อผ้าชั้นดีและไม่ใส่เครื่องหอม อัล-มาวัรฺดียฺเล่าจากท่านอะฏออฺและฏอวูสว่า ห้ามใส่ของหอมเช่นเดียวกับกรณีของเรื่องหัจญ์ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 559) 

 

 

20) ในกรณีการซื้อ-ขายของผู้ที่ทำการอิอฺติก็าฟนั้น  ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺในประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อัล-อะเศาะหฺ) ถือว่ามักรูฮฺ ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น  อิบนุอัล-มุนซิรฺ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งจากผู้ที่ถือว่ามักรูฮฺคือ ท่านอะฏออฺ, มุญาฮิด, และอัซ-ซุฮฺรียฺ ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ท่านอนุโลมให้กระทำได้ ท่านสุฟยาน อัษ-เษารียฺ (ร.ฮ.) และอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า อนุญาตให้ผู้นั้นซื้อขนมปังได้ในกรณีที่ไม่มีคนอื่นซื้อให้ สำหรับอิมามมาลิก (ร.ฮ.) นั้นริวายะฮฺหนึ่งกล่าวเหมือนกับอัษ-เษารียฺ (ร.ฮ.) และในอีกริวายะฮฺหนึ่งกล่าวว่า ให้ซื้อและขายได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ อิบนุอัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ในทัศนะของฉันผู้นั้นไม่ควรซื้อและขายนอกจากสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับผู้นั้น ส่วนการค้าขายทั่วไปนั้นหากผู้นั้นกระทำการค้าขายภายในมัสญิดก็ถือว่ามักรูฮฺ และถ้าหากผู้นั้นออกจากมัสญิดเพื่อไปค้าขาย การอิอฺติก็าฟของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ แต่ถ้าหากผู้นั้นออกไปเพื่อปลดทุกข์แล้วทำการซื้อหรือขายในระหว่างทางก็ไม่ถือว่ามักรูฮฺแต่อย่างใด วัลลอฮุอะอฺลัม (กิตาบ อัล-มัจญ์มุอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 6/564)