บทที่ว่าด้วยการละหมาดตะรอวีหฺ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดตะรอวีหฺ

باب‭ ‬صلاة‭ ‬التراويح‭ ‬ومايتعلق‭ ‬بها

บทที่ว่าด้วยการละหมาดตะรอวีหฺ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดตะรอวีหฺ

ความหมาย

คำว่า อัต-ตะรอวีหฺ ‭)‬التَّرَاوِيْحُ‭(‬ เป็นคำนามพหูพจน์มาจากคำว่า อัต-ตัรฺวีหะฮฺ ‭)‬التَّرَوِيْحَةُ‭(‬ หมายถึง การพักหนึ่งครั้ง เหตุที่เรียกการละหมาดนี้ว่า อัต-ตะรอวีหฺเพราะบรรดาผู้ละหมาดจะพักภายหลังทุกๆ  4 รอกอะฮฺหนึ่งครั้ง  เมื่อมีจำนวนในการพักหลายครั้งตามจำนวนรอกอะฮฺของการละหมาดจึงเรียกว่า อัต-ตะรอวีหฺ แปลว่า การพักหลายครั้ง การละหมาดอัต-ตะรอวีหฺจะถูกบัญญัติให้กระทำเฉพาะในเดือนเราะมะฎอน จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า กิยามเราะมะฎอน (การละหมาดในค่ำคืนของเราะมะฎอน) (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 237) 

 

 

ข้อชี้ขาดของการละหมาดตะรอวีหฺ

การละหมาดตะรอวีหฺเป็นสุนนะฮฺโดยอิจญ์มาอฺของปวงปราชญ์ และตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ การละหมาดตะรอวีหฺมี 20 รอกอะฮฺ 10 สล่ามนอกเหนือจากการละหมาดวิตร์ จำนวนดังกล่าวมีการพัก 5 ครั้ง (ตัรวีหะฮฺ) การพัก 1 ครั้งคือ 4 รอกอะฮฺ 2 สล่าม และตามนี้อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และสานุศิษย์ของท่าน ตลอดจนอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และดาวูดอัซ-ซอฮิรียฺ และท่านอื่นๆ กล่าวเอาไว้ อัล-กอฎียฺ อิยาฎ (ร.ฮ.) ถ่ายทอดจากบรรดาปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอฺ) และเล่าว่าท่าน อัล-อัสวัด อิบนุ ยะซีด (อัน-นะเคาะอียฺ) จะยืนละหมาด 40 รอกอะฮฺ และละหมาดวิตร์ 7 รอกอะฮฺ  อิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ละหมาดตะรอวีหฺ มี 9 การพัก (ตัรวีหะฮฺ) คือ 36 รอกอะฮฺนอกเหนือจากการละหมาดวิตร์ และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ได้อ้างหลักฐานว่าชาวเมืองมะดีนะฮฺกระทำละหมาดตะรอวีหฺเช่นที่ว่านี้ และมีรายงานจากท่านนาฟิอฺ ว่า : ฉันเคยทันผู้คนโดยที่พวกเขาจะยืนละหมาดยามค่ำคืนของเราะมะฎอนจำนวน 39 รอกอะฮฺ และจะละหมาดวิตร์จากจำนวนนั้น 3 รอกอะฮฺ (คือละหมาดตะรอวีหฺ 36 รอกอะฮฺ และทำวิตร์ 3 รอกอะฮฺ รวมเป็น 39 รอกอะฮฺ) 

 

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ อ้างหลักฐานตามอัล-หะดีษที่อิมาม อัล-บัยฮะกียฺรายงานไว้ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺ จากท่าน อัส-สาอิบ อิบนุ ยะซีด (ร.ฎ.) ว่า :  

كَانُوْا‭ ‬يَقُوْمُوْنَ‭ ‬عَلَى‭ ‬عَهْدِ‭ ‬عُمَرَ‭ ‬بْنِ‭ ‬الْخَطَّابِ‭ ‬رَضِىَ‭ ‬اللهُ‭ ‬عَنْه‭ ‬فِيْ‭ ‬شَهْرِ‭ ‬رَمَضَانَ‭ ‬بَعِشْرِيْنَ‭ ‬رَكْعَةً‭ ، ‬وَكَانُوْا‭ ‬يَقُوْمُوْنَ‭ ‬بِالْمِائَتَيْنِ ، وَكَانُوْا‭ ‬يَتَوَكَّأُوْنَ‭ ‬عَلَى‭ ‬عُصِيِّهِمْ‭ ‬فِيْ‭ ‬عَهْدِ‭ ‬عُثْمَانَ‭ ‬مِنْ‭ ‬شِدَّةِ‭ ‬الْقِيَامِ‭

“พวกเขา (ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺและอัตตาบิอีน) จะยืนละหมาดในสมัยท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) ในเดือนเราะมะฎอนจำนวน 20 รอกอะฮฺและพวกเขาจะยืนด้วย (การอ่าน) 200 อายะฮฺ และพวกเขาจะพยุงอยู่บนไม้เท้าของพวกเขาในสมัยของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) อันเนื่องมาจากการยืนที่ (นาน) จัด” 

และรายงานจากยะซีด อิบนุ รูมาน ว่า :

‬كَانَ‭ ‬النَّاسُ‭ ‬يَقُوْمُوْنَ‭ ‬فِيْ‭ ‬زَمَنِ‭ ‬عُمَرَ‭ ‬بْنِ‭ ‬الْخَطَّابِ‭ ‬رضى‭ ‬الله‭ ‬عنه‭ ‬بِثَلَاثِ‭ ‬وَعِشْرَيْنِ‭ ‬رَكْعَةً

“ผู้คนเคยที่จะยืนละหมาดในสมัยท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบจำนวน 23 รอกอะฮฺ”

 

อิมามมาลิก(ร.ฮ.)รายงานในอัล-มุวัฏเฏาะอฺ จากท่านยะซีด อิบนุ รูมาน และอัล-บัยฮะกียฺก็เช่นกัน แต่เป็นหะดีษมุรสัล เพราะยะซีด อิบนุ รูมานไม่ทันท่านอุมัร (ร.ฎ.) อัล-บัยฮะกียฺกล่าวว่า : จะถูกรวมระหว่าง 2 ริวายะฮฺนี้ได้ว่า แท้จริงพวกเขา (ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ – อัต-ตาบิอีน) เคยยืนละหมาด 20 รอกอะฮฺและละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺ และอัล-บัยฮะกียฺ รายงานจากท่านอะลี (ร.ฎ.) อีกเช่นกันว่า การยืนละหมาดในยามค่ำคืนของเราะมะฎอนนั้นมีจำนวน 20 รอกอะฮฺ ส่วนสิ่งที่มีระบุจากการกระทำของชาวเมืองมะดีนะฮฺนั้นนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า : เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะชาวเมืองมักกะฮฺจะทำการเฏาะว๊าฟระหว่างทุกการพัก 2 ครั้งและพวกเขาจะละหมาด 2 รอกอะฮฺ (หลังการเฏาะว๊าฟ) แล้วพวกเขาก็จะไม่ทำการเฏาะว๊าฟอีกหลังจากการพักครั้งที่ห้า เหตุนั้น ชาวเมืองมะดีนะฮฺจึงประสงค์ที่จะให้เสมอกับชาวเมืองมักกะฮฺ พวกเขา (ชาวเมืองมะดีนะฮฺ) จึงกำหนดตำแหน่งของทุกๆ การเฏาะว๊าฟเป็น 4 รอกอะฮฺ แล้วก็เพิ่มเข้าไป 16 รอกอะฮฺ และทำละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺ จำนวนทั้งหมดจึงกลายเป็น 39 รอกอะฮฺ วัลลอฮุอะอฺลัม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 526, 527) 

 

อนึ่ง เจ้าของตำรา อัช-ชามิลฺและอัล-บะยาน ตลอดจนท่านอื่นๆ กล่าวว่า : บรรดานักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺของเรากล่าวว่า : ผู้ที่มิใช่ชาวเมืองมะดีนะฮฺใช่ว่าจะกระทำการละหมาดตะรอวีหฺได้อย่างการกระทำของชาวเมืองมะดีนะฮฺ อันเป็นเหตุให้พวกเขา (ผู้ที่มิใช่ชาวเมืองมะดีนะฮฺ) ทำการละหมาด 36 รอกอะฮฺก็หาไม่ ทั้งนี้เพราะสำหรับชาวเมืองมะดีนะฮฺมีความประเสริฐเนื่องด้วยเป็นสถานที่อพยพของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเป็นที่ฝังศพของท่าน ต่างจากบุคคลที่มิใช่ชาวเมืองมะดีนะฮฺ (ซึ่งไม่มีความประเสริฐเป็นกรณีเฉพาะในเรื่องดังกล่าวเหมือนอย่างชาวเมืองมะดีนะฮฺ) และอัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏอยยิบกล่าวไว้ในตำราอัต-ตะอฺลีกของท่านว่า : ส่วนผู้ที่มิใช่ชาวเมืองมะดีนะฮฺนั้นก็ไม่อนุญาตให้พวกเขาเอาอย่างชาวเมืองมักกะฮฺและไม่อนุญาตให้แข่งกับพวกเขา (คือแข่งกับชาวเมืองมักกะฮฺในการเพิ่มจำนวนการหมาดตะรอวีหฺเหมือนอย่างกรณีของชาวเมืองมะดีนะฮฺ) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ 3 / 527, 528)                                                         

 

 

การละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺ

อนุญาตให้ละหมาดตะรอวีหฺเพียงลำพังและละหมาดแบบญะมาอะฮฺได้ แต่การละหมาดตะรอวีหฺแบบไหนประเสริฐกว่ากัน?  ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ที่รู้กันตามที่เจ้าของตำรา อัล-มุฮัซซับกล่าว และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเล่าว่ามี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) ประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺคือ การละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺเป็นที่ประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเป็นตัวบท (อัล-มันศูศ) ในอัล-บุวัยฏียฺและนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺรุ่นก่อน (อัล-มุตะกอดฺดิมูน) ส่วนมากกล่าวเอาไว้ ประเด็นที่สอง การละหมาดตะรอวีหฺเพียงลำพังถือว่าประเสริฐกว่า (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 526) 

 

สรุปได้ว่า บรรดานักปราชญ์เห็นตรงกันว่าส่งเสริมให้ละหมาดตะรอวีหฺ แต่มีความเห็นต่างกันว่า ที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการละหมาดตะรอวีหฺเพียงลำพังภายในบ้านหรือว่าละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺในมัสญิด อิมามอัช-ชาฟิอียฺและปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ อิมามอัล-หะนะฟียฺ, อิมามอะหฺมัด, นักวิชาการสังกัดมัซฮับมาลิกียฺบางส่วน และอื่นจากพวกเขากล่าวว่าที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺเหมือนอย่างที่ท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) และบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ปฏิบัติตลอดจนการปฏิบัติของชาวมุสลิมในรูปแบบดังกล่าวที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญลักษณ์ (ชะอาอิรฺ) ทางศาสนาที่ปรากฏชัดจึงคล้ายกับการละหมาดอีด ส่วนอิมามมาลิก, อบูยูสุฟ และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺบางท่านตลอดจนนักวิชาการอื่นจากพวกเขาถือว่าที่ดีที่สุดคือการละหมาดตะรอวีหฺเพียงลำพัง (ต่างคนต่างละหมาด) ภายในบ้านเรือน เนื่องจากมีอัล-หะดีษระบุว่า : ‭ ‬أَفْضَلُ‭ ‬الصَّلَاةِ‭ ‬صَلَاةُ‭ ‬المَرْءِ‭ ‬فِيْ‭ ‬بَيْتِهِ‭ ‬إِلَّا‭ ‬الْمَكْتُوْبَة“การละหมาดที่ดีที่สุดคือการละหมาดของบุคคลภายในบ้านของเขายกเว้นการละหมาดที่เป็นฟัรฎู”

 

แต่ทัศนะที่มีน้ำหนักในเรื่องนี้คือทัศนะแรกที่กล่าวว่า การละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) ยิ่งไปกว่านั้นอิมาม อัฏ-เฏาะหาวียฺถือว่าการละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺด้วยซ้ำไป (ฟัตหุลบารียฺ 5/156) ส่วนทัศนะของนักวิชาการที่กล่าวว่าการละหมาดตะรอวีหฺภายในบ้าน (เพียงลำพัง) นั้นดีกว่า กรณีนี้เป็นสภาพของบุคคลที่ละหมาดเพียงลำพังและละหมาดนานตลอดจนบุคคลผู้นั้นไม่พบว่าในการละหมาดแบบญะมาอะฮฺร่วมกับผู้อื่นทำให้ความปราถนาของเขาในการยืนละหมาดนานๆ เป็นที่อิ่มเอิบสำหรับเขา ส่วนบุคคลที่พบว่ามีการละหมาดญะมาอะฮฺที่สร้างความอิ่มเอิบให้กับเขานี้ได้  ที่ดีที่สุดคือการที่ผู้นั้นละหมาดพร้อมกับบรรดามุสลิมแบบญะมาอะฮฺ เหตุนี้นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ บางท่านจึงกล่าวว่า : บุคคลที่ท่องจำอัล-กุรอานและไม่กลัวความเกียจคร้าน อีกทั้งการละหมาดญะมาอะฮฺของผู้คนที่มัสญิดก็ไม่บกพร่องด้วยการที่เขาไม่ไปร่วมละหมาดตะรอวีหฺที่มัสญิด  การละหมาดของบุคคลที่ว่านี้ในการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดและละหมาดเพียงลำพังที่บ้านถือว่าเสมอกัน แต่ถ้าบุคคลใดไม่มีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดจากกรณีดังกล่าว การละหมาดของเขากับญะมาอะฮฺที่มัสญิดย่อมถือว่าประเสริฐกว่า (ฟัตหุลบารียฺ อ้างแล้ว) 

 

ในกรณีการละหมาดตะรอวีหฺของผู้หญิงก็จะถูกกล่าวในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ การละหมาดของพวกนางภายในบ้านของพวกนางย่อมดีกว่า  หากปรากฏว่าพวกนางท่องจำอัล-กุรอานและไม่เกียจคร้านจากการละหมาดหากว่าพวกนางนั่งอยู่ภายในบ้าน  แต่สิ่งที่เห็นกันก็คือว่า หากผู้หญิงไม่ไปละหมาดที่มัสญิดก็เป็นเรื่องที่ห่างไกลในการที่นางจะละหมาด หรือถ้าหากนางละหมาดก็เป็นการละหมาดที่รวดเร็วเหมือนไก่จิกข้าว แต่ถ้าหากนางอยู่ในมัสญิด (และร่วมละหมาด) นางก็ได้ฟังอัล-กุรอาน คำตักเตือนที่ดี และได้พบปะกับบรรดามุสลิมะฮฺที่ดี ซึ่งในกรณีนี้มีความดีเป็นอันมาก (ฟิกฮุศศิยาม, ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ : ดารฺ อัศ-ศอหฺวะฮฺ – ดารฺ อัล-วะฟาอฺ หน้า 105-106) 

 

 

เวลาของการละหมาดตะรอวีหฺ

การละหมาดตะรอวีหฺจะเข้าเวลาด้วยการเสร็จสิ้นจากการปฏิบัติละหมาดอิชาอฺแล้ว อิมามอัล-บะเฆาะวียฺ(ร.ฮ.)และท่านอื่นๆ ระบุเอาไว้ และเวลาของการละหมาดตะรอวีหฺจะยังคงอยู่เรื่อยไปจนกระทั่งแสงอรุณจริงขึ้น และให้ผู้ละหมาดตะรอวีหฺละหมาดทีละ 2 รอกอะฮฺแล้วให้สล่ามเหมือนการปฏิบัติตามปกติ หากผู้ละหมาดทำการละหมาด 4 รอกอะฮฺรวดเดียว 1 สล่ามถือว่าใช้ไม่ได้ อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ ระบุเอาไว้ในฟัตวาของท่าน เพราะการละหมาด 4 รอกอะฮฺรวดเดียว 1 สล่ามเป็นการกระทำที่ค้านกับสิ่งที่ถูกบัญญัติ (มัชรูอฺ) ไว้และอัล-กอฏียฺ หุสัยนฺกล่าวอีกว่า การละหมาดตะรอวีหฺด้วยการตั้งเจตนาแบบมุฏลัก (คือตั้งเจตนาว่าละหมาดสุนนะฮฺเฉยๆ) ถือว่าใช้ไม่ได้ ทว่าให้ผู้ละหมาดตั้งเจตนาทำการละหมาดสุนนะฮฺตะรอวีหฺหรือละหมาดตะรอวีหฺ หรือกิยามเราะมะฎอนโดยให้ตั้งเจตนาในทุกๆ 2 รอกอะฮฺจากการละหมาดตะรอวีหฺนั้น (กล่าวคือ มิใช่ตั้งเจตนารวมว่าละหมาดตะรอวีหฺ 20 รอกอะฮฺในการละหมาด 2 รอกอะฮฺแรกเท่านั้น แต่จะต้องตั้งเจตนาใหม่ทุกครั้งสำหรับการละหมาดทุกๆ  2  รอกอะฮฺ)  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 526) 

 

 

สิ่งที่จะถูกอ่านในการละหมาดตะรอวีหฺ

อิมามมาลิก (ร.ฮ.)รายงานไว้ในตำรา อัล-มุวัฏเฏาะอฺ จากดาวูด อิบนุ หุศอยนฺ จากอับดิรฺเราะหฺมาน อัล-อะอฺร็อจญ์ว่า : “ฉันไม่ทันผู้คน (ในยุคเศาะหาบะฮฺ–อัตตา-บิอีน) นอกเสียจากว่าพวกเขาจะสาปแช่ง (ละอฺนะฮฺ) การปฏิเสธ (กุฟฺร์) ในเดือนเราะมะฎอน และผู้ที่อ่าน (อิมาม) จะยืน (อ่าน) สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺใน 8 รอกอะฮฺ และเมื่อผู้อ่านยืน (อ่าน) สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺใน 12 รอกอะฮฺผู้คนก็เห็นว่า แน่แท้ผู้อ่าน (อิมาม) ได้ทำให้ (การยืนละหมาดนั้น) เบาแล้ว” (หมายถึงมีขนาดที่พอดี ไม่ยาวหรือสั้นเกินไป)

 

และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) รายงานอีกว่า จากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อบีบักร ว่า : ฉันเคยได้ยินบิดาของฉันกล่าวว่า : “พวกเราจะแยกย้ายจากการยืน (ละหมาดตะรอวีหฺ) ในเดือนเราะมะฎอน (หมายถึงละหมาดเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน) แล้วพวกเราก็เร่งรัดบรรดาคนรับใช้ด้วยอาหารสุหู๊ร (ให้จัดเตรียมอาหารโดยเร็ว) เนื่องจากเกรงว่าแสงอรุณจะขึ้น” และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) รายงานจากมุฮัมมัด อิบนุ ยูสุฟ จากอัส-สาอิบ อิบนุ ยะซีดว่า : “ท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) ได้ใช้ให้ท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ และท่านตะมีม อัด-ดารียฺนำผู้คนยืนละหมาด (ตะรอวีหฺ) และปรากฏว่าผู้อ่าน (อิมาม) จะอ่าน 200 อายะฮฺ (ในหนึ่งรอกอะฮฺ) จนกระทั่งพวกเขาต้องยืนค้ำบนไม้เท้าอันเนื่องจากการยืนที่นาน และพวกเราก็จะไม่แยกย้าย (เลิกละหมาด) นอกเสียจากในขณะแสงอรุณจริงใกล้จะปรากฏ” 

 

และอัล-บัยฮะกียฺรายงานด้วยสายรายงานของท่านจากอบูอุษมาน อัน-นะฮฺดียฺ ว่า : “อุมัร (ร.ฎ.) ได้เรียกนักอ่านจำนวน 3 คนและขอให้พวกเขาอ่าน (นำละหมาด) แล้วอุมัร (ร.ฎ.) ก็ใช้ให้คนที่อ่านคล่องที่สุดของพวกเขาในการอ่าน (นำละหมาด) ให้แก่ผู้คนจำนวน 30 อายะฮฺ (ในหนึ่งรอกอะฮฺ) และใช้ให้คนที่อ่านคล่องปานกลางของของพวกเขาอ่าน 25 อายะฮฺ และใช้ให้คนที่อ่านช้าที่สุดของพวกเขาทำการอ่าน 20 อายะฮฺ” (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3/528) 

 

อัล-เคาะฏีบ อัช-ชิรฺบีนียฺ กล่าวว่า : และการปฏิบัติละหมาดตะรอวีหฺด้วยการอ่านอัล-กุรอาน (ทั้งหมด) ในทั้งหมดของเดือน (เราะมะฎอน) คืออ่านอัล-กุรอานตั้งแต่ต้นจนจบตลอดเดือนมีความประเสริฐกว่าการอ่านสูเราะฮฺอัล-อิคลาศซ้ำไปซ้ำมา (มุฆนียฺ อัล-มุหฺตาจญ์ 2/226) เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชัยคฺ อิบนุ หะญัรฺ อัล-ฮัยตะมียฺ (ร.ฮ.) ได้ถูกถามถึงการอ่านสูเราะฮฺอัล-อิคลาศซ้ำในการละหมาดตะรอวีหฺว่าเป็นสิ่งที่มีสุนนะฮฺให้กระทำเช่นนั้นหรือไม่? หากกล่าวว่าไม่ ถามว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) หรือไม่? เพราะผู้ถามเคยเห็นในอัล-มุอัลลิมาตฺของอิบนุชุฮฺบะฮฺว่าแท้จริงการอ่านสูเราะฮฺอัล- อิคลาศฺซ้ำ 3 ครั้งในการละหมาดตะรอวีหฺนั้น ชาวสะลัฟบางท่านถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) อิบนุชุฮฺบะฮฺกล่าวว่า เพราะเป็นการค้านกับสิ่งที่รู้กันจากคนรุ่นก่อน และเพราะว่าสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศในมุศหัฟนั้นมีเพียง 1 ครั้ง ดังนั้นก็จงให้เป็นหนึ่งครั้งในการอ่าน จบคำพูดของอิบนุชุฮฺบะฮฺถามว่าคำพูดของอิบนุชุฮฺบะฮฺเป็นสิ่งที่ถูกรับรองและถูกยึดถือหรือไม่? ชัยคฺ อิบนุ หะญัร อัล-ฮัยตะมียฺ (ร.ฮ.) ตอบว่า :

 

“การอ่านสูเราะฮฺอัล-อิคลาศ หรือสูเราะฮฺอื่นๆ  ทั้งในหนึ่งรอกอะฮฺหรือทุกๆ  รอกอะฮฺจากการละหมาดตะรอวีหฺนั้นไม่ใช่สุนนะฮฺ  และจะไม่ถูกกล่าวว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ตามกฎเกณฑ์ (ในมัซฮับ) ของเรา เพราะไม่มีรายงานการห้ามเป็นกรณีเฉพาะในเรื่องนี้ และแน่แท้ท่านอิบนุ อับดิสสลาม (ร.ฮ.) และ อิบนุ อัศ- เศาะลาหฺ (ร.ฮ.) ตลอดจนท่านอื่นๆ ได้ตอบฟัตวาว่า แท้จริงการอ่านจำนวน (อายะฮฺ) ที่เป็นปกติในละหมาดตะรอวีหฺ คือการแบ่งภาค (ญุซฺอ์) อันเป็นที่รู้กันโดยจบการอ่านอัลกุรอานทั้งหมดในเดือน (เราะมะฎอน) นั้นดีกว่าการอ่านสูเราะฮฺสั้นๆ พวกเขาให้เหตุผลว่า เพราะสุนนะฮฺคือการยืน (อ่าน) อัล-กุรอานทั้งหมดในละหมาดตะรอวีหฺ และคำกล่าวของตำราอัล-มัจญ์มูอฺ ก็นำพา (บ่งชี้ถึง) สิ่งนั้น และอัล-อัสนะวียฺตลอดจนคนอื่นๆ ก็ยึดสิ่งดังกล่าวเป็นหลัก…” (อัล-ฟะตาวา อัล-กุบรอ อัล-ฟิกฮียะฮฺ.; อิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมียฺ เล่มที่ 1 หน้า 262-263)

 

ดังนั้นการอ่านอัลกุรอ่าน (จนจบบริบูรณ์) ในตลอดเดือน (เราะมะฎอน) ย่อมดีกว่าและประเสริฐกว่า และการอ่านสูเราะฮฺอัล-อิคลาศหรือสูเราะฮฺอื่นๆ ในรอกอะฮฺใดก็ตามถือว่าค้านกับสิ่งที่ดีกว่า (คิลาฟุลเอาวลา) เท่านั้น จะว่าเป็นสุนนะฮฺก็ไม่ใช่ และไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) สิ่งที่สรุปได้จากคำกล่าวของนักวิชาการในมัซฮับอัช-ซาฟีอียฺก็คือ สิ่งที่มีระบุมานั้นคือการอ่านอัล-กุรอานทั้งหมดตามการแบ่งภาค (ญุซฺอ์) ที่รู้กัน นั้นคือสิ่งที่ดีและประเสริฐ (อัพฎ็อล) ที่สุด และอื่นจากนั้นถือว่าขัดกับสิ่งที่ดีกว่าและประเสริฐกว่า ไม่ว่าผู้ละหมาดจะอ่านสูเราะฮฺอิคลาศหรือสูเราะฮฺอื่นๆ ในทุกรอกอะฮฺหรือในบางรอกอะฮฺแรกจากการละหมาดตะรอวีหฺ และไม่ว่าอ่านซ้ำสูเราะฮฺนั้น 3 ครั้งหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่ชาวเมืองมักกะฮฺ (ในสมัยผู้แต่งตำรา) นิยมกระทำกันจากการอ่าน “กุลฮุวัลลอฮุอะหัด” ในบรรดารอกอะฮฺสุดท้าย (รอกอะฮฺที่ 2) และอ่าน “อัลฮากุมุตตะกาษุรฺ” จนกระทั้งถึง “อัล-มะสัด” ในบรรดารอกอะฮฺแรก (รอกอะฮฺที่ 1) จึงเป็นสิ่งที่ค้านกับสิ่งที่ดีกว่า (คิลาฟุล-เอาวลา) และเช่นเดียวกับสิ่งที่พวกเขาบางคนมักกระทำเป็นประจำจากการอ่าน 1 ภาค (ญุซฺอ์) โดยสมบูรณ์ในจำนวน 16 รอกอะฮฺและอ่านกุลฮุวัลลอฮุอะหัดซ้ำในส่วนที่เหลือ (ก็ถือว่าค้านกับสิ่งที่ดีกว่าเช่นกัน)

 

และสำนวนของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺรุ่นหลัง (มุตะอิคคิรูน) บางคนระบุด้วยสำนวนที่ว่า”และการปฏิบัติละหมาดตะรอวีหฺด้วย (การอ่าน) อัล-กุรอานในทั้งหมดของเดือน (เราะมะฎอน) โดยอ่านในละหมาดทุกๆ คืน 1 ภาค (ญุซฺอ์) ย่อมประเสริฐ (อัฟฎ็อล) กว่าการอ่านซ้ำสูเราะฮฺ “อัร-เราะหฺมาน” หรือ “ฮัลอะตาอะลัลอินสาน” หรือ สูเราะฮฺอัล-อิคลาศหลังทุกๆ สูเราะฮฺนับจากสูเราะฮฺอัต-ตะกาษุรุจนกระทั่งถึง “อัล-มะสัด” เหมือนอย่างที่ชาวอียิปต์นิยมกระทำกัน” (หาชิยะฮฺ อิอานะตุฏฏอลิบีน” อัด-ดุมยาฏียฺ เล่มที่ 1 หน้า 307-308: ดารุลฟิกฮ์ (เบรุต) 1993) อย่างไรก็ตามหากผู้นำละหมาดตะรอวีหฺไม่ได้ท่องจำอัลกุรอานทั้งหมด กรณีการอ่านอย่างที่ว่ามาก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ค้านกับสิ่งที่ดีกว่าและประเสริฐกว่า (อ้างแล้ว 1/308) 

 

 

การนำละหมาดตะรอวีหฺของอิมามที่อ่านอัล-กุรอานจากมุศหัฟ

กรณีที่อิมามนำละหมาดตะรอวีหฺมิใช่นักท่องจำอัล-กุรอานและประสงค์จะอ่านอัล-กุรอานจากมุศหัฟในขณะปฎิบัติละหมาดเพื่อให้ได้ผลบุญของการอ่านอัล-กุรอานที่จบบริบูรณ์ตลอดเดือนเราะมะฎอนซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดตามที่นักวิชาการระบุเอาไว้ ถามว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตหรือไม่? เกี่ยวกับประเด็นนี้อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : หากผู้ละหมาดอ่านอัล-กุรอานจากมุศหัฟ การละหมาดของเขาก็ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ท่องจำอัล-กุรอานหรือไม่ก็ตาม ทว่าถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขาในกรณีดังกล่าวเมื่อเขาผู้นั้นไม่ได้ท่องจำสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ (คือจำเป็นต้องอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺจากมุศหัฟ ในกรณีที่ผู้นั้นไม่ได้ท่องจำ)

 

และถ้าหากเขาผู้นั้นพลิกหน้ากระดาษของมุศหัฟในบางครั้งขณะอยู่ในละหมาดก็ไม่ทำให้เสียละหมาด หากเขามองในสิ่งที่ถูกเขียน ซึ่งมิใช่อัล-กุรอานและอ่านสิ่งนั้นทวนในใจของเขา การละหมาดของเขาก็ไม่เป็นโมฆะ ถึงแม้ว่าจะมองนานก็ตามแต่ถือว่าเป็นที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) อิมามอัช-ชาฟิอียฺระบุเป็นตัวบทไว้ในตำราอัล-อิมลาอฺ และบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺก็นำตัวบทนั้นมาปฎิบัติ ส่วนที่อิมามอัร-รอฟิอียฺเล่าไว้ประเด็นหนึ่งว่า การพูดในใจเมื่อยาว (นาน) ถือว่าทำให้เสียละหมาดถือเป็นประเด็นที่แหวกแนว (ชาซฺ) ส่วนประเด็นที่รู้กัน (มัชฮู็รฺ) ในมัซฮับ คือชี้ขาดว่าการละหมาดนั้นใช้ได้ ชัยคฺอบูหามิดถ่ายทอดจากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำราอัล-อิมลาอฺและสิ่งนี้ซึ่งเราได้กล่าวมาแล้วว่า แท้จริงการอ่านในมุศหัฟไม่ทำให้เสียการละหมาดคือมัซฮับของเราและเป็นมัซฮับอิมามมาลิก, อบูยูสุฟ, มุฮัมมัด และอะหฺหมัด ส่วนอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า ทำให้เสียการละหมาด (กิตาบอัล-มัจมูอฺชัรหุลมุฮัซซับ : อัน-นะวาวียฺเล่มที่ 4 หน้า 27 ) 

 

ชัยคฺอะฏียะฮฺ ศ็อกร์(ร.ฮ.)ตอบในฟัตวาของท่านว่า : “…อิมามมาลิก(ร.ฮ.) คัดสายรายงานออกไว้ว่า แท้จริง ซักวาน เมาวฺลา (บ่าว) ของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เคยนำละหมาดท่านหญิงในเดือนเราะมะฎอนโดยที่ซักวานอ่าน (อัล-กุรอาน) จากมุศหัฟ และไม่เป็นอะไรด้วยการกระทำสิ่งดังกล่าวตามที่นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมีทัศนะเอาไว้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ละหมาดจะต้องไม่กระทำการเคลื่อนไหวที่ทำให้เสียการละหมาด เช่น วางมุศหัฟเอาไว้ต่อมาก็ถือมุศหัฟขึ้นและเปิดมุศหัฟเพื่ออ่านจากมุศหัฟนั้น เพราะแท้จริงการเคลื่อนไหว  3  ครั้ง  ที่ไม่มีสิ่งคั่นที่ยาวระหว่างการเคลื่อนไหวนั้นทำให้เสียละหมาด และบางทีผู้ละหมาดอาจจะอาศัยการวาง  มุศหัฟที่มีตัวอักษรขนาดใหญ่บนสิ่งหนึ่งที่อยู่สูงเบื้องหน้าผู้ละหมาดเพื่อมิให้มีการเคลื่อนไหวมาก โดยอ่าน 1 หน้าหรือ 2 หน้าจากมุศหัฟนั้นซึ่งทำให้ไม่ต้องมีการพลิกหน้ากระดาษอยู่บ่อยครั้ง และการพลิกหน้ากระดาษเพียงเล็กน้อยนั้นไม่ทำให้เสียการละหมาด อัน-นะวาวียฺกล่าวเอาไว้ในอัล-มัจญ์มูอฺว่า : หากผู้ละหมาดพลิกหน้ากระดาษของมุศหัฟในบางครั้งขณะอยู่ในการละหมาดของเขาก็ไม่ทำให้การละหมาดนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด

 

จากสิ่งนี้เราจะเห็นว่า  แท้จริงการอ่านในละหมาดจากมุศหัฟเป็นสิ่งที่อนุญาตในทัศนะของมัซฮับอัล-มาลิกียฺ  แต่ตำแหน่งของสิ่งดังกล่าวคือในการละหมาดตะรอวีหฺและละหมาดสุนนะฮฺทั้งหลาย ส่วนในการละหมาดฟัรฎูนั้นถือเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ แต่การละหมาดนั้นใช้ได้ เช่นเดียวกันเป็นที่อนุญาตในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและอัล-หัมบะลียฺ เช่นเดียวกับมัซฮับอัล-มาลิกียฺในการอนุญาตในละหมาดสุนนะฮฺ และเป็นมักรูฮฺในละหมาดฟัรฎูพร้อมกับการละหมาดนั้นใช้ได้ ส่วนมัซฮับอัล-หะนะฟียฺนั้นได้ถูกถ่ายทอดจากอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ว่า แท้จริงการอ่านจากมุศหัฟในขณะละหมาดนั้นทำให้เสียการละหมาดเมื่อผู้นั้นมิใช่นักท่องจำอัล-กุรอาน เพราะเป็นการกระทำที่ยาวนานและเป็นเพราะการอ่านตามจากมุศหัฟก็เหมือนการอ่านตามจากคนอื่น และเหมือนกับมัซฮับอัล-หะนะฟียฺคือมัซฮับอัซ-ซอฮิรียฺในการเสียละหมาด

 

และส่วนหนึ่งจากบรรดาหลักฐานของนักวิชาการฝ่ายที่อนุญาตคือสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจากซักวาน เมาวฺลา (บ่าว) ของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ที่อิมามมาลิก (ร.ฮ.) คัดสายรายงานออกไว้ และอิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ได้ถูกถามถึงชายคนหนึ่งที่กำลังอ่านในมุศหัฟ (ขณะละหมาด) ในเดือนเราะมะฎอน อิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : บรรดาคนที่ดีที่สุดจากพวกเราต่างก็เคยอ่านในมุศหัฟ และส่วนหนึ่งจากบรรดาหลักฐานของนักวิชาการฝ่ายที่ห้ามคือ สิ่งที่อิบนุ อบีดาวูดรายงานไว้ในตำรา “กิตาบ อัล-มะศอหิฟ” ว่า แท้จริงท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ท่านอะมีรุลมุอฺมินีนได้ห้ามพวกเราในการที่พวกเราจะนำละหมาดผู้คนในบรรดามุศหัฟ (คืออ่านจากมุศหัฟขณะละหมาด) และมีรายงานจากชนรุ่นอัต-ตาบิอีนบางท่านว่าเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ และมีเงื่อนไขในขณะที่อนุญาตว่าจะต้องไม่มีการกระทำที่มาก และที่ดียิ่งแล้วคือการที่ปรากฏว่าสิ่งดังกล่าวเป็นกรณีของผู้ที่ไม่ได้ท่องจำอัล-กุรอานและเป็นกรณีในละหมาดที่เป็นสุนนะฮฺ และการมีความเห็นต่างของพวกเขา (บรรดานักปราชญ์) คือพระเมตตา (อะหฺสะนุลกะลาม ฟิล ฟะตะวา วัล-อะหฺกาม ภาคที่ 7 เล่มที่ 2 หน้า 232-233 : สำนักพิมพ์ ดารฺ อัล-ฆ็อดฺ อัล- อะเราะบียฺ, ไคโร) 

 

เมื่อทราบรายละเอียดข้างต้นแล้ว อิมามนำละหมาดตะรอวีหฺในช่วงค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนหากเป็นผู้ท่องจำอัล-กุรอานทั้งเล่ม ก็สมควรอ่านอัล-กุรอานในการละหมาดตะรอวีหฺตามการเรียบเรียงของมุศหัฟตั้งแต้ต้นจนจบตลอดเดือนเราะมะฎอนโดยไม่ต้องอ่านจากมุศหัฟ แต่ถ้าอิมามไม่ใช่นักท่องจำอัล-กุรอานแต่เป็นผู้ที่อ่านอัล-กุรอานคล่องและถูกต้องก็ให้วางมุศหัฟบนแท่นวางมุศหัฟเบื้องหน้าแล้วอ่านจากมุศหัฟ ส่วนจะอ่านได้คืนละ 1 ภาค (ญุซอ์) หรือไม่ก็ให้พิจารณาตามความเหมาะสม แต่ถ้าอิมามมิได้ท่องจำอัล-กุรอานทั้งหมดเล่มแต่ท่องจำสูเราะฮฺยาวๆ ได้ก็ให้อ่านสูเราะฮฺเหล่านั้นในการนำละหมาดโดยไม่ต้องดูจากมุศหัฟ แต่ถ้าหากอิมามจำเฉพาะสูเราะฮฺสั้นๆ ที่นิยมอ่านกันเป็นปกติในละหมาดตะรอวีหฺ และอิมามก็มีสายตาไม่ดีหรืออ่านจากมุศหัฟในบทยาวๆ ไม่คล่องก็ให้อิมามปฏิบัติตามที่นิยมกระทำกัน ทั้งนี้ในมัสญิดที่มีการกำหนดผู้เป็นอิมามนำละหมาดตะรอวีหฺหลายคนในแต่ละค่ำคืน ก็ให้อิมามแต่ละคนเลือกปฏิบัติตามที่กล่าวมาในกรณีที่เหมาะสมกับสภาพของอิมามเพื่อให้มะอฺมูมได้รับฟังอัล-กุรอานในบทอื่นๆ ด้วย  มิใช่กระทำในรูปแบบเดียวอย่างที่นิยมกระทำกัน 

 

อย่างไรก็ตามเราสามารถอธิบายถึงผลดีของรูปแบบที่นิยมกระทำกันได้ว่าเป็นเพราะในสมัยก่อนยังไม่มีนักท่องจำอัล-กุรอานทั้งเล่มจะมีก็น้อยคน และการอ่านสูเราะฮฺสั้นๆ ในภาคสุดท้าย (ญุซฺอ์ที่ 30) ก็เป็นความสะดวกในการอ่านและเป็นที่ท่องจำกันโดยส่วนมาก หากอิมามหลงลืมก็สามารถเตือนกันได้ เพราะมะอฺมูมส่วนมากก็ท่องจำ  เพียงแต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานการกระทำตามรูปแบบที่นิยมกระทำกันอาจทำให้สัปปุรุษเข้าใจไปว่าเป็นสุนนะฮฺให้กระทำอย่างนั้นซึ่งความจริงมิใช่สุนนะฮฺและมิใช่สิ่งที่ห้ามกระทำ การปฏิบัติที่หลากหลายตามที่กล่าวมาข้างต้นก็จะเป็นแนวทางที่ทำให้สัปปุรุษเข้าใจได้ถูกต้องว่าในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เปิดกว้างและสามารถนำมาปฏิบัติได้ตามความเหมาะสม มิใช่ยึดติดกับรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดเป็นการเฉพาะ วัลลอฮุวะลียุตเตาฟิก         

 

 

กรณีการละหมาดตะรอวีหฺ 8 รอกอะฮฺและ 20 รอกอะฮฺ

การละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน (‭)‬قِيَامُ‭ ‬رَمَضَانَ‬ เป็นสุนนะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้วางไว้เป็นแบบให้แก่ประชาคมมุสลิมโดยท่านกล่าวว่า : مَنْ‭ ‬قَامَ‭ ‬رَمَضَانَ‭ ‬إِيْمَانًا‭ ‬وَاحْتِسَابًا‭ ‬غُفِرَلَهُ‭ ‬مَا‭ ‬تَقَدَّمَ‭ ‬مِنْ‭ ‬ذَنْبِه “ผู้ใดยืน (ละหมาดในยามค่ำคืนของ) เดือนเราะมะฎอน อันเกิดจากความศรัทธาและมุ่งหวังผลานิสงส์จากพระองค์อัลลอฮฺ สิ่งที่ผู้นั้นได้กระทำมาก่อนจากบาป (เล็ก) ของเขาได้ถูกอภัยให้แก่เขาผู้นั้นแล้ว” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม) 

 

ในอัล-หะดีษบทนี้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้ระบุจำนวนของการละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนว่ามีจำนวนเท่าใด  และท่านก็มิได้เรียกชื่อการละหมาดนั้นว่าละหมาดตะรอวีหฺ เพราะการเรียกชื่อนี้เป็นการบัญญัติของนักวิชาการฟิกฮฺในภายหลังซึ่งเรียกชื่อตามลักษณะการปฏิบัติของชาวสะลัฟที่มีการพักระหว่างการละหมาดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เคยออกมาละหมาดที่มัสญิดแล้วบรรดาเศาะหาบะฮฺก็ได้มาละหมาดร่วมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) อยู่ 2-3 คืนแล้วท่านก็ไม่ออกมาอีกเนื่องจากเกรงว่าการละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนที่เรียกกันว่าละหมาดตะรอวีหฺนั้นจะถูกบัญญัติเป็นฟัรฎู และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็เสียชีวิตลงในสภาพที่ผู้คนต่างคนต่างละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนที่มัสญิดรวมถึงตลอดช่วงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักร อัศ-ศิดดิก (ร.ฎ.) และในตอนต้นการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ซึ่งท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ได้รายงานเรื่องการละหมาดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่มัสญิดในยามค่ำคืนของเราะมะฎอนเอาไว้ บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิมพ้องกัน

 

ในอัล-หะดีษที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) รายงานเอาไว้นั้นไม่ได้ระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ละหมาดตะรอวีหฺจำนวนกี่รอกอะฮฺ แต่มีการระบุจำนวนเอาไว้ในอัล-หะดีษที่รายงานจากท่านญาบิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) ว่า :

 

صَلَّى‭ ‬بِنَا‭ ‬رَسُوْلُ‭ ‬اللهِ‭ ‬صَلَى‭ ‬اللهُ‭ ‬عَلَيْهِ‭ ‬وَسَلَّمْ‭ ‬فِيْ‭ ‬شَهْرِ‭ ‬رَمَضَانَ‭ ‬ثَمَانَ‭ ‬رَكَعَاتٍ‭ ‬،‭ ‬وَأَوْتَرَ‭ ‬،‭ ‬فَلَمَّا‭ ‬كَانَتِ‭ ‬الْقَابِلَةُ‭ ‬اجْتَمَعْنَا‭ ‬فِي‭ ‬الْمَسْجِدِ‭ ‬وَرَجَوْنَا‭ ‬أَنْ‭ ‬يَخْرُجَ‭ ‬،‭ ‬فَلَمْ‭ ‬نَزَلْ‭ ‬فِيْهِ‭ ‬حَتّى‭ ‬أَصْبَحْنَا‭ ‬،‭ ‬ثُمَّ‭ ‬دَخَلْنَا‭ ‬،‭ ‬فَقُلْنَا‭ ‬يَا‭ ‬رَسُوْلَ‭ ‬الله‭ ‬اجْتَمَعْنَا‭ ‬البَارِحَةَ‭ ‬فِي‭ ‬الْمَسْجِدِ‭ ‬وَرَجَوْنَا‭ ‬أَنْ‭ ‬تُصَلِّىَ‭ ‬بِنَا‭ ‬،‭ ‬فَقَالَ‭ : ‬إِنِّيْ‭ ‬خَشِيْتُ‭ ‬أَنْ‭ ‬يُكْتَبَ‭ ‬عَلَيْكُمْ‭ ‬

“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ละหมาดกับพวกเราในเดือนเราะมะฎอนจำนวน 8 รอกอะฮฺ และท่านก็ทำละหมาดวิตร์ ครั้นเมื่อปรากฏค่ำคืนหน้า (คืนถัดมา) พวกเราก็รวมกันอยู่ในมัสญิดและพวกเราวาดหวังในการที่ท่านรสูลุลลอฮฺจะออกมา แล้วพวกเราก็ยังคงอยู่ในมัสญิดจนกระทั่งเราได้ละหมาดศุบหิ ต่อมาเราก็เข้า (ไปหาท่านรสูลุลลอฮฺ) พวกเราก็กล่าวว่า “โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ พวกเราได้รวมกันอยู่เมื่อคืนวานในมัสญิดและพวกเราวาดหวังในการที่ท่านจะละหมาดกับพวกเรา ท่านกล่าวว่า “แท้จริงฉันเกรงว่าการละหมาดนั้นจะถูกบัญญัติเหนือพวกท่าน” (บันทึกโดย อิบนุ นัศร์ (หน้า 90), อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ ใน “อัล-มุอฺญัม อัศ-เศาะฆีรฺ” หน้า 108, และสายรายงานของอัฏ-เฏาะบะรอนียฺเป็นสายรายงานที่หะสัน, อัล-หาฟิซฺ บ่งชี้ไว้ในตำราฟัตหุลบารียฺ 3/10, และใน อัต-ตัลคีศ หน้า 119 ว่าเป็นสายรายงานที่แข็งแรง และอ้างถึงอิบนุ-คุซัยมะฮฺและอิบนุหิบบาน ในเศาะหิหฺของบุคคลทั้งสอง) 

 

อัล-หะดีษของท่านญาบิรฺ (ร.ฎ.) ระบุชัดเจนว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ละหมาดในค่ำคืนเราะมะฎอนที่ท่านได้ออกมาละหมาดที่มัสญิด 3 คืนนั้นเป็นจำนวน 8 รอกอะฮฺ และท่านละหมาดวิตร์หลังจากนั้น และนี่คือสิ่งที่มีรายงานมาอย่างถูกต้องจากการกระทำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และสิ่งที่นอกเหนือจากดังกล่าวซึ่งอ้างถึงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นล้วนแล้วแต่ไม่เศาะหิหฺเลย (อะหฺสะนุลกะลามฟิลฟะตาวา วัล-อะหฺกาม, ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ ภาคที่ 6 เล่มที่ 2 หน้า 103) 

 

ส่วน อัล-หะดีษที่รายงานโดย อิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ว่า 

كَانَ‭ ‬رَسُوْلُ‭ ‬اللهُ‭ ‬صَلَى‭ ‬اللهُ‭ ‬عَلَيْهِ‭ ‬وَسَلَّمْ‭ ‬يُصلِّى‭ ‬فِى‭ ‬رَمَضَانَ‭ ‬عِشْرِيْنَ‭ ‬رَكْعَةً‭ ‬والوِتْـرَ‭ ‬

“ปรากฏว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะละหมาดในเราะมะฎอน 20 รอกอะฮฺ และทำละหมาดวิตร์” (บันทึกโดย อิบนุ อบีชัยบะฮฺ 2/90/2, อัฎ-เฎาะบะรอนียฺ ในอัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ 3/148/2 และ อัล-บัยฮะกียฺ 2/496) 

 

หะดีษบทนี้อัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ(ร.ฮ.)กล่าวไว้ใน ฟัตหุลบารียฺ (4/205-206) ว่าสายรายงานอ่อน (เฎาะอีฟ), อัล-หาฟิซฺ อัซ-ซัยละอียฺ ในตำรานัศบุรฺรอยะฮฺ (2/153) ก็ระบุว่าอ่อนเช่นกัน อิมาม อัส-สุยูฏียฺระบุไว้ใน อัล-หาวียฺ ลิลฟะตาวา 2/73 ว่าอ่อนมาก (เฎาะอีฟญิดดัน) เพราะในสายรายงานมี อบูชัยบะฮฺ อิบรอฮีม อิบนุ อุษมาน ซึ่ง อัล-หาฟิซฺ อิบนุหะญัรฺ ระบุไว้ใน อัต-ตักรีบว่า “มัตรูก อัล-หะดีษ” และอิมาม อัล-บัยฮะกียฺ กล่าวว่า “อบูชัยบะฮฺรายงานเพียงลำพัง เป็นหะดีษอ่อน (เฎาะอีฟ) และอัล-ฮัยตะมียฺ ระบุไว้ในตำรามัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด 3/172 ว่าเป็นหะดีษอ่อนและระบุไว้ใน อัล-ฟะตาวา อัล-กุบรอ 1/195 ว่าเป็นหะดีษที่อ่อนอย่างรุนแรง

 

ต่อมาในสมัยการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัร (ร.ฎ.) ได้ออกไปยังมัสญิดนะบะวียฺในค่ำคืนหนึ่งของเราะมะฎอนพร้อมกับท่าน อับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ อับดิลกอรียฺ ปรากฎว่าผู้คนที่มัสญิดนะบะวียฺแยกกันเป็นกลุ่มในการละหมาดกิยามเราะมะฎอน บางคนละหมาดเพียงลำพัง บางคนละหมาดอยู่แล้วก็มีคนราว 3-10 คน มาละหมาดตามหลัง เมื่อท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัร (ร.ฎ.) เห็นเช่นนั้น ท่านจึงปรารภขึ้นว่า “ฉันเห็นว่า หากฉันรวมคนเหล่านั้นให้มาละหมาดตามกอรี (อิมาม) คนเดียวก็คงเป็นสิ่งที่ดียิ่ง” แล้วท่านก็ใช้ให้ผู้คนที่มัสญิดละหมาดตามท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) ต่อมาท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร (ร.ฎ.) จึงกล่าวขึ้นว่า “บิดอะฮฺที่ดียิ่งคือสิ่งนี้” และการละหมาดที่ผู้คนนอนเสียก่อนจากการละหมาดนั้นย่อมดีกว่าการละหมาดที่ผู้คนกำลังยืนปฏิบัติกัน หมายถึง การละหมาดในตอนดึกภายหลังการนอนย่อมดีกว่าในความเห็นของท่านอุมัร (ร.ฎ.) และผู้คนนั้นจะละหมาดกิยามเราะมะฎอนในช่วงหัวค่ำ (สรุปความจากอัล-หะดีษที่บันทึกโดยอิมาม อัล-บุคอรียฺ)

 

อนึ่ง คำกล่าวของท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัร (ร.ฎ.) ที่ว่า “บิดอะฮฺที่ดียิ่งคือสิ่งนี้” ‭)‬نِعْمَتِ‭ ‬البِدْعة‭ ‬هذه‭(‬ นักวิชาการอธิบายไว้ 2 นัย คือ นักวิชาการที่ไม่แบ่งประเภทของ “บิดอะฮฺ ดีนียะฮฺ” (อุตริกรรมทางศาสนา) ออกเป็นประเภทต่างๆ  แต่ถือว่า ทุกอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ทางศาสนาเป็นความหลงผิด (เฎาะลาละฮฺ) อธิบายคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) นี้ว่า เป็นความหมายในทางภาษา (ลุเฆาะวียะฮฺ) กล่าวคือ คำว่า “บิดอะฮฺ” ตามภาษาหมายถึง สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นใหม่ เพราะเรื่องที่ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ดำริให้ผู้คนละหมาดในยามค่ำคืนของเราะมะฎอนตามอิมามที่นำละหมาดคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และในช่วงต้นการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอุมัร (ร.ฎ.) 

 

และการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านอุมัร (ร.ฎ.) เกี่ยวกับเรื่องละหมาดกิยามเราะมะฎอนนี้มิใช่ อุตริกรรมทางศาสนา (บิดอะฮฺ ดีนียะฮฺ) เพราะสอดคล้องกับการกระทำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และการยอมรับของท่านในการละหมาดของบรรดาเศาะหาบะฮฺที่มาละหมาดตามหลังท่านใน 3 คืน ดังที่ปรากฏในหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านอุมัร (ร.ฎ.) จึงเป็นผู้ฟื้นฟูสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเรื่องนี้ ส่วนนัยที่ 2 ซึ่งนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการแบ่งประเภทของอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น บิดอะฮฺมุบาหะฮฺ บิดอะฮฺมันดูบะฮฺ บิดอะฮฺวาญิบะฮฺ เป็นต้น อธิบายว่าคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ดังกล่าวเป็นบิดอะฮฺมันดูบะฮฺหรือมุสตะหับบะฮฺหรือบิดอะฮฺ หะสะนะฮฺ อันหมายถึงเป็นสิ่งที่ดีและส่งเสริมเพราะมีหลักการทางศาสนามารองรับ  ซึ่งประเด็นที่กล่าวมานี้มีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงขอละไว้แต่ประเด็นของเราอยู่ในกรณีของการละหมาดตะรอวีฮฺหรือกิยามเราะมะฎอนว่ามีจำนวนกี่รอกอะฮฺ ซึ่งในหะดีษที่ อิมามอัล-บุคอรียฺรายงานไม่มีระบุว่า ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ใช้ให้ท่านอุบัยอิบนุกะอฺบ์ (ร.ฎ.) นำละหมาดผู้คนจำนวนกี่รอกอะฮฺ

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้อิมามมาลิก (ร.ฮ.) ได้รายงานไว้ในอัล- มุวัฏเฏาะอฺ 1/137 เลขที่ 28/8 จากมุฮัมมัด อิบนุ ยูสุฟ จากอัส-สาอิบฺ อิบนุ ยะซีด (ร.ฎ.) ว่า :

أَمَرَ‭ ‬عُمَرُ‭ ‬بْنُ‭ ‬الْخَطَّابِ‭ ‬أُبَيَّ‭ ‬بْنَ‭ ‬كَعْبٍ‭ ‬وَتَمِيْمًا‭ ‬الدَّارِيَّ‭ ‬أَنْ‭ ‬يَقُوْمَا‭ ‬لِلنَّاسِ‭ ‬بِإِحْدى‭  ‬عَشْرَةَ‭ ‬رَكْعَةً‭ ‬

“ท่านอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ (ร.ฎ.) ได้ใช้ท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) และท่านตะมีม อัด-ดารียฺ ให้บุคคลทั้งสองยืน (นำละหมาดกิยามเราะมะฎอน) แก่ผู้คนจำนวน 11 รอกอะฮฺ” 

 

อัล-หะดีษบทนี้เศาะหิหฺและระบุจำนวนการละหมาดตะรอวีหฺที่ท่านอุบัยฺ  อิบนุ  กะอฺบ์ และท่าน ตะมีม อัด-ดารียฺ นำละหมาดว่ามีจำนวน 11 รอกอะฮฺซึ่งเป็นจำนวนรอกอะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยละหมาดใน 3 คืนนั้นเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว
การละหมาดตะรอวีหฺจำนวน 20 รอกอะฮฺนั้นมีรายงานมาว่าเกิดขึ้นในสมัยท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้อย่างไร? บรรดาปวงปราชญ์ในวิชาฟิกฮฺได้อาศัยหลักฐานที่รายงานจากท่านอัส-สาอิบ อิบนุ ยะซีด (ร.ฎ.) เช่นกันว่า

كَانُوْا‭ ‬يَقُوْمُوْنَ‭ ‬عَلَى‭ ‬عَهْدِ‭ ‬عُمَرَ‭ ‬بْنِ‭ ‬الْخَطَّابِ‭ ‬رَضِىَ‭ ‬اللهُ‭ ‬عَنْه‭ ‬فِيْ‭ ‬شَهْرِ‭ ‬رَمَضَانَ‭ ‬بِعِشْرِيْنَ‭ ‬رَكْعَةً‭ ‬

พวกเขาเคยยืน (ละหมาดตะรอวีหฺ) ในสมัยของท่านอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ (ร.ฎ.) ในเดือน เราะมะฎอนจำนวน 20 รอกอะฮฺ” (ฟัตหุลบารียฺ 4/204, อัล-มุศอนนัฟ อับดิรฺรอซฺซ็าก หะดีษเลขที่ 7730, อัล-ฟิรฺยานียฺ ในอัศ-ศิยาม 1/76 และอัล-บัยฮะกียฺ ในอัส-สุนัน 2/496) 

 

อัล-หะดีษบทนี้นักวิชาการหะดีษบางส่วนถือว่าเศาะหิหฺ ในขณะที่ชัยคฺ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) วิจารณ์ว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟ มุงกัรฺ และระบุว่า บรรดาอัล-หะดีษที่มีรายงานมาว่าท่านอุมัร (ร.ฎ.) ใช้ให้ละหมาด 20 รอกอะฮฺทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีสายรายงานไม่ถูกต้อง (ดู เศาะลาตุตตะรอวีหฺ, มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ : สำนักพิมพ์ อัล-มักตับ อัล-อิสลามียฺ) อย่างไรก็ตาม บนการยอมรับว่าอัล-หะดีษที่ระบุว่ามีการละหมาดตะรอวีหฺ 20 รอกอะฮฺเกิดขึ้นในสมัยท่านอุมัร (ร.ฎ.) เป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ซึ่งชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่าไม่ถูกต้องและไม่อาจนำ 2 รายงานที่ต่างกันนี้มารวมกัน) ชัยคฺ อัซ-ซัรฺกอนียฺ กล่าวไว้ใน ชัรฺหุลมะวาฮิบ อัล-ละดุนนียะฮฺว่า : “อิบนุ หิบบาน ระบุว่าการละหมาดตะรอวีหฺนั้นปรากฏว่าในตอนแรกมีจำนวน 11 รอกอะฮฺ และปรากฏว่าพวกเขา (อิมาม) อ่านยาวจึงเกิดความลำบาก พวกเขาจึงทำให้การอ่านนั้นเบาลงและเพิ่มเติมในจำนวนของรอกอะฮฺ ดังนั้นพวกเขาจึงละหมาด 20 รอกอะฮฺนอกเหนือจากละหมาดคู่และละหมาดคี่ (ละหมาดวิตรฺ 3 รอกอะฮฺ 2 สล่าม) ด้วยการอ่านขนาดปานกลาง ต่อมาพวกเขาก็ทำให้การอ่านเบาลงอีกและทำให้จำนวนรอกอะฮฺเป็น 36 รอกอะฮฺโดยไม่รวมละหมาดวิตรฺแล้วเรื่องก็ดำเนินมาเช่นนั้น” (อะหฺสะนุลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัลอะหฺกาม, ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ หน้า 104 ภาคที่ 6 เล่มที่ 2)

 

และอัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) ได้กล่าวถึงการรวมริวายะฮฺต่างๆ ว่า “แท้จริงสิ่งดังกล่าวมีความแตกต่างกันไปตามการทำให้การอ่านยาวและการทำให้การอ่านนั้นเบา (สั้น)  โดยที่การอ่านจะยาว จำนวนรอกอะฮฺก็จะน้อยและกลับกัน (คืออ่านเบา (สั้น) จำนวนรอกอะฮฺจะมาก) และตามนี้อัด-ดาวูดียฺ และท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้ (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน) ซึ่งกรณีนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่ว่า :

إِنْ‭ ‬أَطَالُوا‭ ‬الْقِيَامَ‭ ‬وَأَقَلُّوا‭ ‬السَّجُوْدَ ‭ )‬أَىْ‭ ‬عَدَدَ‭ ‬الرَّكْعَاتِ ‬) فَحَسَنٌ‭ ‬،‭ ‬وَإِنْ‭ ‬أَكْثَرُوا‭ ‬السَّجُوْدَ‭  ‬وَأَخَفُّوا‭ ‬الْقِرَاءَةَ‭ ‬،‭ ‬فَحَسَنٌ‭ ‬،‭ ‬وَالْأَوَّلُ‭ ‬أَحَبَّ‭ ‬إِلَيَّ‭ ‬

“หากพวกเขาทำให้การยืนนั้นยาว (นาน) และทำให้การสุหญูดนั้นน้อย (หมายถึงจำนวนรอกอะฮฺ) นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี และถ้าหากพวกเขาทำให้การสุหญูดนั้นมาก และทำให้การอ่านนั้นเบา (อ่านไม่ยาว) นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี และประการแรกนั้น ฉันชอบมากกว่า” (คือยืนอ่านนานและทำจำนวนรอกอะฮฺน้อย)  (อ้างจาก ฟิกฮุศศิยาม, ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ หน้า 106) 

 

และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : “การทำให้การยืน (ในละหมาด) นั้นยาวประเสริฐกว่าการทำให้การรุ่กัวะอฺ และสุหญูดนั้นยาวเนื่องจากมีหะดีษของท่านญาบิรฺ (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ถูกถามว่าการละหมาดแบบไหนที่ประเสริฐที่สุด? ท่าน
กล่าวว่า : การกุหนูตที่ยาว ‭)‬طُوْلُ‭ ‬الْقُنُوْتِ‭(‬ บันทึกโดยอิมามมุสลิม และคำว่ากุหนูตในอัล-หะดีษบทนี้หมายถึงการยืน (‭)‬القِيَامُ‭‬ และการทำให้สุหญูดนั้นยาว (สุหญูดนาน) ประเสริฐกว่าการทำองค์ประกอบหลัก (อัร-กาน) อื่นๆ ที่มิใช่การยืนให้ยาว เนื่องจากมีหะดีษของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “ที่บ่าวจะใกล้ชิดพระผู้อภิบาลของเขามากที่สุดคือในสภาพที่บ่าวนั้นก้มสุหญูด” (บันทึกโดยอิมามมุสลิม) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับเล่มที่ 3 หน้า 238,536)

 

คำอธิบายเกี่ยวกับจำนวนรอกอะฮฺของการละหมาดกิยามเราะมะฎอน (ละหมาดตะรอวีหฺ) ที่มีความแตกต่างกันนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ในคำฟัตวาของท่านที่ว่า : “แท้จริงเป็นที่ยืนยันอย่างถูกต้องว่า อุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) เคยยืนนำละหมาดผู้คนจำนวน 20 รอกอะฮฺในการละหมาดกิยามเราะมะฎอน และทำการละหมาดวิตรฺ 3 รอกอะฮฺ ดังนั้นนักปราชญ์จำนวนมากจึงเห็นว่าสิ่งดังกล่าวเป็นสุนนะฮฺ เพราะท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) ยืนนำละหมาดนั้นท่ามกลางบรรดามุฮาญิรีนและชาวอันศ็อรฺ และไม่มีผู้ใดปฏิเสธการกระทำของท่านอุบัยฺ (ร.ฎ.) และนักปราชญ์อื่นๆ ถือว่าการละหมาดจำนวน 39 รอกอะฮฺเป็นสิ่งที่ดี โดยถือหลักที่ว่าสิ่งนั้นเป็นการปฏิบัติที่มีมาแต่เก่าก่อนของชาวเมืองมะดีนะฮฺ

 

นักวิชาการกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า : มีการยืนยันอย่างถูกต้องมาในหะดีษเศาะหิหฺจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยกระทำละหมาดในยามค่ำคืนในเราะมะฎอนและอื่นจากเราะมะฎอนเกินกว่า 13 รอกอะฮฺ” นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงเกิดความสับสนในหลักเดิมข้อนี้  เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเข้าใจว่ามีการขัดแย้งกันของหะดีษเศาะหิหฺ (บทนี้)  กับสิ่งที่มีการยืนยันมาจากสุนนะฮฺของบรรดาเคาะลีฟะฮฺ อัร-รอชิดีน และการปฏิบัติของชาวมุสลิม (คือการละหมาด 20 รอกอะฮฺหรือมากกว่า) 

 

สิ่งที่ถูกต้องก็คือ แท้จริงสิ่งดังกล่าวทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ดี  ดังเช่นที่อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ได้ระบุสิ่งนั้นเป็นตัวบทเอาไว้ และแท้จริงไม่มีจำนวนในการละหมาดกิยามเราะมะฎอนที่ถูกกำหนดไว้เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้กำหนดจำนวนที่แน่นอนเอาไว้ในการละหมาดกิยามเราะมะฎอน และในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมปรากฏว่าการทำให้จำนวนรอกอะฮฺมากและน้อยจึงเป็นไปตามการยืนที่นานและสั้น ทั้งนี้เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะทำให้การยืนละหมาดนั้นยาวในยามค่ำคืน จนกระทั่งมีรายงานอย่างถูกต้องในหะดีษเศาะหิหฺจากหะดีษของหุซัยฟะฮฺ (ร.ฎ.)  ว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยอ่านสูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ, อัน-นิสาอฺ และอาลิอิมรอนใน 1 รอกอะฮฺ” (รายงานโดยมุสลิม)

 

ดังนั้นจึงปรากฏว่าการยืนนานย่อมทำให้พอเพียงจากการทำจำนวนรอกอะฮฺมาก และอุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) เมื่อยืนนำพวกเขาละหมาด (ในสภาพที่พวกเขาเป็นญะมาอะฮฺเดียวกัน) อุบัยฺ (ร.ฎ.) ก็ไม่สามารถทำให้การยืนละหมาดกับพวกเขานานได้ เขาจึงทำให้จำนวนรอกอะฮฺนั้นมากขึ้น เพื่อที่สิ่งดังกล่าวจะได้ทดแทนจากการยืนนาน และพวกเขาก็ทำให้สิ่งดังกล่าวเป็นการทบทวีคูณจำนวนรอกอะฮฺของการยืนนานที่อุบัยฺ (ร.ฎ.) ได้กระทำ กล่าวคือ อุบัยฺ (ร.ฎ.) ยืนนำละหมาดในยามค่ำคืนจำนวน 11 รอกอะฮฺหรือ 13 รอกอะฮฺ ต่อมาภายหลังจากนั้นก็ปรากฏว่าผู้คนที่นครมะดีนะฮฺอ่อนแอเกินกว่าที่จะยืนนานพวกเขาจึงทำให้จำนวนรอกอะฮฺเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งมีจำนวนถึง 39 รอกอะฮฺ” (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตะวา, อิบนุตัยมียะฮฺ เล่มที่ 12 ภาคที่ 23 หน้า 68 สำนักพิมพ์ ดารุลวะฟาอฺ (อัล-มันศูเราะฮฺ) 1997) 

 

อย่างไรก็ตาม ชัยคฺ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) ไม่ยอมรับการอธิบายที่เป็นการรวมเอารายงานการละหมาดกิยามเราะมะฎอนที่ระบุว่ามี 8 รอกอะฮฺและมีการทำวิตรฺ 3 รอกอะฮฺกับจำนวนรอกอะฮฺที่มีรายงานมาว่ามีการละหมาด 20 รอกอะฮฺ และทำละหมาดวิตรฺ 3 รอกอะฮฺ เพราะในความเห็นของท่าน ได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์สายรายงานของหะดีษ 20 รอกอะฮฺในสมัยท่านอุมัร (ร.ฎ.) และการกระทำของเศาะหาบะฮฺว่าเป็นรายงานที่อ่อน (เฎาะอีฟ) ทั้งหมด โดยอาศัยหลักที่ว่า “การรวมเป็นสาขาหนึ่งของการถือว่าหะดีษที่มีรายงานมานั้นเป็นสิ่งที่เศาะหิหฺ” ซึ่งจะรวมกันได้ก็ต่อเมื่อสายรายงานนั้นเศาะหิหฺเสมอกัน แต่สายรายงานของหะดีษที่ระบุว่ามีการละหมาด 20 รอกอะฮฺ เป็นสายรายงานที่ไม่เศาะหิหฺ จึงไม่อาจรวมกันได้ในกรณีนี้ (เศาะลาฮฺ อัต-ตะรอวีหฺ หน้า 59-60) 

 

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากการรวมระหว่างสายรายงานของหะดีษที่ระบุการละหมาดกิยามเราะมะฎอนว่ามี 8 รอกอะฮฺและสายรายงานที่ระบุว่ามี 20 รอกอะฮฺเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามการวิเคราะห์และข้อสรุปของชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) แล้วเราจะเชื่อถือนักวิชาการอัล-หะดีษอย่างอิบนุ หิบบาน (ร.ฮ.) ซึ่งอัซ-ซัรกอนียฺถ่ายทอดคำอธิบายในการรวมสายรายงานของท่านเอาไว้ได้หรือ ตลอดจนคำอธิบายของอัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานียฺ (ร.ฮ.) และชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ก็เช่นกัน เพราะท่านทั้งสองก็อธิบายในการรวมสายรายงานทั้งหมดระหว่างจำนวนที่แตกต่างกันจาก 8 รอกอะฮฺจนถึง 39 รอกอะฮฺ ซึ่งข้อสรุปของชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) ในหนังสือเศาะลาฮฺอัต-ตะรอวีหฺ ของท่านชี้ชัดว่า รายงานที่ระบุว่ามีการละหมาด 20 รอกอะฮฺในสมัยท่านอุมัร (ร.ฎ.) และชนรุ่นเศาะหาบะฮฺเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะทุกสายรายงานล้วนแต่มีข้อบกพร่อง

 

จึงกลายเป็นว่าการละหมาด 20 รอกอะฮฺไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องมารับรองแล้วเรื่องเช่นนี้ทำไมจึงถูกปล่อยให้มีการปฏิบัติกันมาโดยตลอดตราบจนกระทั่งมาถึงสมัยท่านอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ซึ่งระบุว่าการละหมาดของชาวเมืองมะดีนะฮฺมีจำนวนถึง 39 รอกอะฮฺ (รวมละหมาดวิตรฺ 3 รอกอะฮฺ) โดยท่านกล่าวว่าเป็นเรื่องที่มีมาแต่เก่าก่อนแล้ว ณ พวกเรา (หมายถึงชาวเมืองมะดีนะฮฺ) และอัซ-ซะอฺฟะรอนียฺ (ร.ฮ.) ก็รายงานจากอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า : ฉันเห็นผู้คนละหมาดกิยามที่นครมะดีนะฮฺจำนวน 39 (รอกอะฮฺ) และในมักกะฮฺ 23 (รอกอะฮฺ) (อ้างจาก ฟิกฮุศศิยาม, ดรุยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ หน้า 106)

 

ซึ่งที่แปลกคือ ชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.)  มิได้วิจารณ์ข้อเท็จจริงของสายรายงานที่ระบุว่าชาวเมืองมะดีนะฮฺละหมาดกิยามเราะมะฎอนจำนวน 39 รอกอะฮฺเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพียงแต่อ้างเรื่องนี้ในหน้า 30 (ใต้เส้น) เพื่อหักล้างความเห็นของนักวิชาการที่ระบุว่านัยของตัวบทเป็นเรื่องกว้างๆ ในการละหมาดได้โดยไม่มีจำนวนจำกัดเท่านั้น  เพราะการระบุว่าชาวเมืองมะดีนะฮฺกระทำกันมาแต่เดิมด้วยการละหมาด 39 รอกอะฮฺเป็นคำกล่าวของอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ซึ่งชี้ชัดโดยไม่ต้องวิเคราะห์สายรายงานว่าอิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวในสิ่งที่เชื่อถือได้หรือไม่? และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ก็ระบุถึงการละหมาดจำนวน 39 รอกอะฮฺของชาวมะดีนะฮฺตลอดจนการละหมาด 20 รอกอะฮฺและทำละหมาดวิตรฺอีก 3 รอกอะฮฺของชาวเมือง  มักกะฮฺซึ่งนั่นเป็นการกระทำของผู้คนในยุคสะลัฟศอลิหฺ ดังนั้นถึงแม้ว่าชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) จะได้ข้อสรุปจากการละหมาด 20 รอกอะฮฺ ในสมัยท่านอุมัร (ร.ฎ.) ว่า ไม่มีรายงานที่ถูกต้องเลย แต่ท่านก็ไม่ได้อธิบายว่าแล้วรายงานจำนวน 39 รอกอะฮฺของชนรุ่นก่อนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะอะไรจึงมีจำนวนมากถึงเพียงนั้น

 

บทสรุปของเราก็คือ การละหมาดตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอนนั้นมีทั้งจำนวน 8 รอกอะฮฺกับละหมาดวิตรฺอีก 3 รอกอะฮฺรวมเป็น 11 รอกอะฮฺ และจำนวน 20 รอกอะฮฺกับละหมาดวิตรฺอีก 3 รอกอะฮฺรวมเป็น 23 รอกอะฮฺ ผู้ใดละหมาด 8 รอกอะฮฺก็ย่อมสามารถกระทำได้และเป็นสิ่งที่มีสุนนะฮฺมารับรอง และผู้ใดละหมาด 20 รอกอะฮฺก็ย่อมสามารถกระทำได้และเป็นสิ่งที่มีสุนนะฮฺมารับรองบนพื้นฐานของการวิเคราะห์สายรายงานที่นักวิชาการหะดีษอย่างอิมามอัล-บัยฮะกียฺ (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ ระบุว่าเป็นสายรายงานที่เศาะหิหฺ สาระสำคัญของเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่จำนวนรอกอะฮฺของการละหมาดตะรอวีหฺแต่อยู่ที่การปฏิบัติละหมาดที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ตามสุนนะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ปฏิบัติเป็นแบบเอาไว้ต่างหาก การละหมาด 8 รอกอะฮฺแบบรวดเร็วและเร่งรีบนั่นย่อมไม่ใช่การปฏิบัติตามสุนนะฮฺที่แท้จริง ในขณะที่การละหมาด 20 รอกอะฮฺแบบไก่จิกข้าว ขาดความคุชัวอฺและไม่มีฏุมะอฺนีนะฮฺอย่างที่บางมัสญิดกระทำกันนั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามสุนนะฮฺและสมควรจะถูกติเตียนเสียมากกว่า

 

หลักการที่ต้องเน้นจึงอยู่ที่การปฏิบัติละหมาดอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ หากอิมามประจำมัสญิดและสัปปุรุษเห็นพ้องว่าจะละหมาดตะรอวีหฺ 8 รอกอะฮฺและทำละหมาดวิตรฺ 3 รอกอะฮฺก็ให้พร้อมใจกันตามอิมาม และหากอิมามประจำมัสญิดและสัปปุรุษเห็นพ้องว่าจะละหมาดตะรอวีหฺ 20 รอกอะฮฺและทำละหมาดวิตรฺ 3 รอกอะฮฺก็ให้พร้อมใจกันตามอิมาม  โดยมุ่งไปยังตัวละหมาดเป็นสำคัญและไม่ควรเอาเรื่องของจำนวนรอกอะฮฺมาถกเถียงหรือสร้างความแตกแยกในระหว่างหมู่สัปปุรุษด้วยกัน เพราะการละหมาดตะรอวีหฺคือสุนนะฮฺ แต่การรักษา “อัล-ญะมาอะฮฺ” คือฟัรฎู และการแตกแยกออกจาก “อัล-ญะมาอะฮฺ” คือสิ่งต้องห้าม (หะรอม) วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก

 

 

กรณีการละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺ 

ชัยคฺ อับดุลอะซีซฺ อิบนุ อับดิลลอฮฺ อิบนิ อับดิรฺเราะหฺมานฺ บิน บ็าซฺ(ร.ฮ.)ได้ถูกถามว่า : “เมื่อบุคคลได้ละหมาดในเดือนเราะมะฎอนพร้อมกับบุคคลที่ทำละหมาด 23 รอกอะฮฺ และบุคคลผู้นั้นก็ละหมาดเพียง 11 รอกอะฮฺโดยไม่ละหมาดให้ครบพร้อมกับอิมาม ถามว่าการกระทำอย่างนี้ของบุคคลนั้นสอดคล้องกับสุนนะฮฺหรือไม่? คำตอบ “สุนนะฮฺ คือการทำละหมาดให้ครบสมบูรณ์พร้อมกับอิมาม ถึงแม้ว่าอิมามได้ละหมาด 23 รอกอะฮฺก็ตาม เพราะท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : مَنْ‭ ‬قَامَ‭ ‬مَعَ‭ ‬الْإِمَامِ‭ ‬حَتّى‭ ‬يَنْصَرَفَ‭ ‬كَتَبَ‭ ‬اللهُ‭ ‬لَهْ‭ ‬قِيَامَ‭ ‬لَيْلَةٍ  “ผู้ใดยืนละหมาดพร้อมกับอิมามจนกระทั่งอิมามผินออก (เสร็จสิ้นการละหมาด) พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงบันทึก (ผลบุญ) การยืนละหมาดของค่ำคืนแก่ผู้นั้นแล้ว” (บันทึกโดย อัต-ติรฺมิซียฺ (734) อิบนุมาญะฮฺ (1347) อะหฺมัด (20450) 

 

ในอีกถ้อยคำหนึ่งระบุว่า ‭)‬بَقِيَّةَ‭ ‬لَيْلَتِه‭(‬ “ในส่วนที่เหลือแห่งค่ำคืนของเขา” (รายงานโดยอะหฺมัด) ดังนั้นที่ประเสริฐที่สุด (อัฟฎ็อล) สำหรับมะอฺมูมคือการที่มะอฺมูมนั้นยืนละหมาดพร้อมกับอิมามจนกระทั่งอิมามผินออก (เสร็จสิ้นการละหมาด) และการละหมาดจำนวน 23 รอกอะฮฺนั้น ท่านอุมัร (ร.ฎ.) และบรรดาเศาะหาบะฮฺได้เคยกระทำเอาไว้ ดังนั้นในการละหมาด 23 รอกอะฮฺจึงไม่มีความบกพร่องและก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด หากแต่เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาสุนนะฮฺ (สุนนะฮฺของบรรดาเคาะลีฟะฮฺ อัร-รอชิดีน)…” (มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา ว่า มะกอลาตฺ มุตะเนาวิอะฮฺ ; ชัยคฺบินบาซฺ เล่มที่ 11 หน้า 325)

 

คำฟัตวาของชัยคฺ บินบาซฺ (ร.ฮ.)  มีประเด็นที่สำคัญอยู่หลายประการ ได้แก่

  • – ตามสุนนะฮฺและถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง (อัฟฎ็อล) คือการที่มะอฺมูมร่วมละหมาดตะรอวีหฺกับอิมามจนกระทั่งอิมามละหมาดเสร็จ
  • – การละหมาด 20 รอกอะฮฺและทำละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺเป็นสิ่งที่ชัยคฺ บินบาซฺ (ร.ฮ.) ยอมรับและอ้างถึงสุนนะฮฺ (แบบฉบับ) ของท่านอุมัร (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺ ท่านมิได้วิจารณ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) แต่อย่างใด
  • – กรณีที่อิมามประจำมัสญิดนำละหมาด 11 รอกอะฮฺ ก็ให้มะอฺมูมร่วมละหมาดพร้อมกับอิมามจนกระทั่งเสร็จสิ้นการละหมาด และในกรณีที่อิมามนำละหมาด 23 รอกอะฮฺ ก็ให้มะอฺมูมร่วมละหมาดพร้อมกับอิมามจนกระทั่งเสร็จสิ้นการละหมาด ไม่ควรในการที่มะอฺมูมจะละหมาดเพียงแค่ 11 รอกอะฮฺแล้วก็เลิกละหมาดก่อนที่อิมามจะทำการละหมาดตะรอวีหฺครบตามจำนวนที่อิมามปฎิบัติ เพราะเป็นการขัดกับสุนนะฮฺ (คิลาฟุส  สุนนะฮฺ) และทำให้มะอฺมูมผู้นั้นมิได้รับภาคผลตามที่อัล-หะดีษระบุ

 

 

การกล่าวเศาะละวาตระหว่างการละหมาดตะรอวีหฺ

ชัยคฺ อะฎียะฮฺ ศ็อกร์ (ร.ฮ.) ได้ถูกถามว่า “สำหรับบรรดาผู้ที่ละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺมีบทรำลึก (อัซการฺ) บางอย่างที่พวกเขาจะกล่าวบทรำลึกนั้นระหว่างทุกๆ 2 รอกอะฮฺหรือ 4 รอกอะฮฺ และบางคนมีความเห็นว่าการกล่าวบทรำลึกนั้นเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ไม่ใช่สิ่งที่ถูกบัญญัติให้กระทำ ดังนั้นอะไรคือมุมมองของศาสนาในเรื่องดังกล่าว?”

คำตอบ “ไม่มีตัวบทที่ห้ามจากการรำลึก (ซิกร์) หรือการขอดุอาอฺหรือการอ่านอัล-กุรอานในช่วงคั่นระหว่างทุกๆ 2 รอกอะฮฺจากการละหมาดตะรอวีหฺหรือทุกๆ 4 รอกอะฮฺจากการละหมาดตะรอวีหฺเป็นต้น กล่าวคือ (นั่น) เป็นสิ่งที่เข้าอยู่ภายใต้คำสั่งกว้างๆ ให้ทำการรำลึก (ซิกร์) ในทุกๆ ขณะ และการที่ชนรุ่นสะลัฟซึ่งการวางบัญญัติ (ตัชรีอฺ) จะถูกนำเอามาจากพวกท่านไม่เคยกระทำสิ่งนั้นก็ไม่ได้บ่งว่าเป็นเรื่องที่ห้ามกระทำ กอปรกับสิ่งที่ถูกถ่ายทอดมาจากชนรุ่นสะลัฟในการห้ามรำลึกตามสิ่งที่ถูกกล่าวมาก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ  สิ่งที่มาคั่นนี้ก็เหมือนกับสิ่งที่ชาวเมืองมักกะฮฺได้เคยกระทำกันจากการละหมาดกิยามของพวกเขาด้วยการเฎาะวาฟรอบบัยติลลาฮฺ 7 รอบระหว่างทุกๆ การพัก 2 ครั้ง อันเป็นเรื่องซึ่งทำให้ชาวเมืองมะดีนะฮฺทำการเพิ่มจำนวนของการละหมาดตะรอวีหฺเกินกว่า 20 รอกอะฮฺ  เพื่อทดแทนจากการเฎาะวาฟนี้อันเป็นแนวทางในการจัดระเบียบปฎิบัติที่พวกเขาจะรู้ได้ด้วยระเบียบนั้นถึงจำนวนของสิ่งที่พวกเขาได้ละหมาดไปแล้ว (ว่ามีจำนวนกี่รอกอะฮฺ)

 

กอปรกับในแนวทางนั้นมีการสร้างความกระฉับกระเฉงให้เกิดขึ้นแก่บรรดาผู้ละหมาด จึงไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดเลย และด้วยสิ่งนี้ การรำลึกดังกล่าวจึงไม่เข้าอยู่ภายใต้ชื่อของอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และบรรดาตัวบทโดยกว้างๆ ก็ยืนยันรับรองสิ่งดังกล่าวนอกเหนือจากไม่มีการขัดแย้งกับบรรดาตัวบทเหล่านั้น แต่ถ้าหากจะถูกเรียกว่าเป็น ”บิดอะฮฺ” นั่นก็เป็นไปตามทำนองคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ที่ว่า “‭ ‬نِعْمَت‭ ‬الْبِدْعَةُ‭ ‬هَذِه‭ ‬” (บิดอะฮฺ (สิ่งที่กระทำขึ้นใหม่) ที่ดียิ่งก็คือสิ่งนี้ ในขณะที่ท่านได้เห็นการรวมตัวของชาวมุสลิมเพื่อทำละหมาดตะรอวีหฺข้างหลังท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอบ์ (ร.ฎ.)” (อะหฺสะนุลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัล-อะหฺกาม)

 

ชัยคฺ  อิบนุ หะญัรฺ อัล-ฮัยตะมียฺ (ร.ฮ.) ได้ถูกถามว่า “การเศาะละวาตให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระหว่างบรรดาการให้สล่ามของละหมาดตะรอวีหฺเป็นสุนนะฮฺหรือว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ที่ถูกห้ามกระทำ?

คำตอบ “การเศาะละวาตในสถานที่ตรงนี้ (ระหว่างการให้สล่ามจากการละหมาดตะรอวีหฺ) เป็นกรณีเฉพาะนั้น เราไม่เคยพบเห็นสิ่งใดในสุนนะฮฺและในคำกล่าวของบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับของเรา (อัช-ชาฟีอียฺ) ในเรื่องนี้เลย ดังนั้นจึงถือเป็นอุตริกรรม (บิดอะห์) ที่ถูกห้ามกระทำสำหรับบุคคลที่นำเอามาปฏิบัติโดยเจตนามุ่งหมายว่าการเศาะละวาตเฉพาะที่ตรงนี้เป็นกรณีพิเศษว่าเป็นสุนนะฮฺ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับผู้ที่ปฏิบัติหรือกระทำการเศาะละวาตนั้นโดยไม่มีเจตนาที่ว่านี้ อาทิ การที่ผู้นั้นมีเจตนามุ่งหมายว่าการเศาะละวาตเป็นสุนนะฮฺกว้างๆ ที่กระทำได้ในทุกเวลา…” (อัล-ฟะตาวา อัล-กุบรอ อัล-ฟิกฮิยะฮฺ ; อิบนุ หะญัรฺ อัล-ฮัยตะมียฺ (เล่มที่ 1 หน้า 266)  

 

 

ชัยคฺ บินบาซฺ (ร.ฮ.) ถูกถามว่า “อะไรคือข้อชี้ขาดของการส่งเสียงดังด้วยการกล่าวเศาะละวาตแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เเละการขอให้พระองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) ทรงพึงพระทัย (อัต-ตะรอฎฎียฺ) แก่บรรดาเคาะลีฟะฮฺอัร-รอชิดีนระหว่างบรรดารอกอะฮฺของการละหมาด
ตะรอวีหฺ?

คำตอบ ไม่มีต้นตอที่มาสำหรับสิ่งดังกล่าว (ในสิ่งที่เรารู้) จากบัญญัติทางศาสนาอันบริสุทธิ์ ทว่าถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ที่กระทำขึ้นใหม่ ดังนั้นการละทิ้งสิ่งนั้นจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) และไม่มีสิ่งใดเหมาะสมสำหรับชนรุ่นหลังของประชาคมนี้นอกเสียจากสิ่งที่เหมาะสม (ดี) สำหรับชนรุ่นแรกของประชาคมนี้ นั่นคือการฎิบัติตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ  ตลอดจนสิ่งที่ชนรุ่นสะลัฟของประชาคมนี้เคยดำเนินอยู่บนสิ่งนั้น และการระวังจากสิ่งที่ค้านกับสิ่งดังกล่าว (มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา ว่า มะกอลาต มุตะเนาวิอะฮฺ ; ชัยคฺ บินบาซฺ เล่มที่ 11 หน้า 369) 

 

จากคำฟัตวาของนักวิชาการทั้ง 3 ท่าน เราจะพบว่ามีประเด็นที่สอดคล้องในหลายกรณีและมีความแตกต่างในมุมมองที่มีต่อปัญหาข้อนี้

ชัยคฺ อิบนุ หะญัร อัล-ฮัยตะมียฺ (ร.ฮ.) มีทัศนะว่า ในกรณีของการกล่าวเศาะละวาตเอาไว้ในตำแหน่งตรงนี้เป็นการเฉพาะ และการที่บุคคลไปมีความเข้าใจและมุ่งหมายว่าให้ทำการกล่าวเศาะละวาตเป็นกรณีเฉพาะ และเชื่อว่าเป็นสุนนะฮฺ การกระทำในลักษณะนี้ถือเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของชัยคฺ บินบาซฺ (ร.ฮ.) ที่ว่า ไม่มีต้นตอที่มาในสุนนะฮฺในเรื่องการเศาะละวาตเฉพาะที่ตรงนี้และถือว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ที่จำเป็นต้องละทิ้งการกระทำดังกล่าว ชัยคฺ บินบาซฺ (ร.ฮ.) ตอบเด็ดขาดแบบรวบรัด แต่ชัยคฺ อิบนุ หะญัร (ร.ฮ.) แยกรายละเอียดในปัญหาข้อนี้โดยพิจารณาเจตนามุ่งหมายของผู้กล่าวเศาะละวาตว่า หากการกล่าวเศาะละวาตดังกล่าวมิได้มีเจตนามุ่งหมายเหมือนในกรณีแรกแต่ถือเอานัยของคำสั่งกว้างๆ ที่ใช้ให้ทำการซิกรุลลอฮฺหรือทำการเศาะละวาตได้ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนี้เป็นการปฎิบัตินอกการละหมาดก็ย่อมไม่ถือว่าเป็นอุตริกรรมที่ถูกห้ามมิให้กระทำ

 

ส่วนชัยคฺ อะฎียะฮฺ ศ็อกร์ (ร.ฮ.) พิจารณาถึงประเด็นที่ว่า ไม่มีตัวบทมาระบุห้ามในการกล่าวซิกรุลลอฮฺหรือการขอดุอาอฺหรือการกล่าวเศาะละวาต เพราะการกระทำดังกล่าวเข้าอยู่ภายใต้นัยกว้างๆ ในการส่งเสริมให้ทำการซิกรุ้ลลอฮฺ การอ่านอัล-กุรอาน และการเศาะละวาตได้ทุกเวลา โดยไม่ได้พิจารณาที่เจตนามุ่งหมายของผู้กระทำ หากแต่มีมุมมองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นแนวทางสำหรับการวางระเบียบเพื่อให้ผู้ปฎิบัติละหมาดตะรอวีหฺรู้ถึงจำนวนของรอกอะฮฺที่ได้ละหมาดไปแล้วโดยเทียบกับกรณีของการเฎาะวาฟรอบบัยตุลลอฮฺภายหลังการพัก 2 ครั้งของชาวมักกะฮฺในอดีต ซึ่งในกรณีเดียวกันนี้เราจะพบว่ามีการบรรยายศาสนธรรมของอิมามในบางมัสญิดนำมาคั่นระหว่างการพักเมื่อละหมาดได้ 4 รอกอะฮฺแล้วในกลุ่มพี่น้องมุสลิมที่ละหมาด 8 รอกอะฮฺ ซึ่งการคั่นด้วยการบรรยายธรรมดังกล่าวก็ไม่มีตัวบทระบุให้กระทำเป็นกรณีเฉพาะเช่นกัน หากถือเอาการบรรยายธรรมเป็นเรื่องกว้างๆ ที่สามารถกระทำได้และมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ผู้ละหมาดได้มีการพักและรู้ถึงจำนวนของรอกอะฮฺที่ละหมาดไปแล้ว กรณีของการซิกรุลลอฮฺและการกล่าวเศาะละวาตในช่วงคั่นระหว่างสล่ามก็ย่อมสามารถกระทำได้เช่นกันเพราะเป็นเรื่องกว้างๆ ที่มีคำสั่งให้กระทำได้ทุกเวลาและมีเป้าหมายเพื่อพักและทำให้รู้ถึงจำนวนของรอกอะฮฺในละหมาดตะรอวีหฺที่ทำการละหมาดไปแล้วว่าได้จำนวนเท่าใดและเหลืออีกกี่รอกอะฮฺ 

 

และการคั่นระหว่างการให้สล่ามเมื่อเสร็จสิ้นการละหมาดกับการเริ่มละหมาดใหม่นี้เป็นการออกจากประเด็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ของการละหมาดติดต่อกันโดยไม่มีสิ่งอื่นมาคั่นกลางเช่นการพูดเป็นต้น ดังปรากฏในหะดีษของท่าน อัมร์ อิบนุ อะฏออฺ ว่า “แท้จริงนาฟิอฺ อิบนุ ญุบัยรฺ ได้ส่งเขา (อิบนุ อะฏออฺ) ไปยัง อัส-สาอิบ บุตรพี่น้องผู้หญิงของท่านนุมัยรฺ ให้ถามท่านอัส-สาอิบ ถึงสิ่งหนึ่งที่ท่านมุอาวียะฮฺเคยเห็นสิ่งนั้นจากท่านอัส-สาอิบ ในการละหมาด อัส-สาอิบกล่าวว่าใช่แล้ว ฉันเคยละหมาดวันศุกร์พร้อมกับทานมุอาวียะฮฺในห้องที่กั้นเขตเอาไว้เฉพาะเคาะลีฟะฮฺที่จะละหมาดในมัสญิด ต่อมาเมื่อละหมาด (วันศุกร์) แล้ว ฉันก็ลุกขึ้นในที่ยืนของฉันแล้วฉันก็ละหมาด (สุนนะฮฺ) ครั้นเมื่อท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) เข้าสู่ที่พักแล้ว ท่านก็ส่งคนมาบอกกับฉันว่า “ท่านอย่าได้หวนกลับไปกระทำสิ่งที่ท่านได้กระทำอีก เมื่อท่านละหมาดวันศุกร์แล้วก็จงอย่าเชื่อมการละหมาดวันศุกร์กับการละหมาดใดๆ จนกว่าท่านจะพูดคุยหรือออก (จากที่ละหมาดนั้น) เสียก่อน เพราะแท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ใช้พวกเราให้กระทำสิ่งดังกล่าวคือพวกเราจะต้องไม่ละหมาดติดต่อกันจนกว่าเราจะพูดคุยหรือออกจากที่ละหมาดนั้นเสียก่อน” (บันทึกโดยมุสลิม)

 

คำสั่งในอัล-หะดีษบทนี้เป็นการส่งเสริมให้คั่นระหว่างการละหมาดที่เป็นฟัรฎูกับการละหมาดสุนนะฮฺ ซึ่งในกรณีนี้การละหมาดตะรอวีหฺเป็นละหมาดสุนนะฮฺที่กระทำหลังการละหมาดอิชาอฺซึ่งเป็นฟัรฎู และการละหมาดสุนนะฮฺ 2 รอกอะฮฺกับ ละหมาดสุนนะฮฺอีก 2 รอกอะฮฺ ต่อจากนั้นในกรณีละหมาดตะรอวีหฺที่ติดต่อกันก็เข้าอยู่ภายใต้นัยของคำสั่งกว้างๆ นี้ด้วย เมื่อการคั่นระหว่างการละหมาดหนึ่งกับอีกการละหมาดหนึ่งสามารถใช้คำพูดของมนุษย์มาคั่น การซิกรุลลอฮฺหรือการขอดุอาอฺหรือการกล่าวเศาะละวาตก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าในการนำมาใช้เป็นสิ่งคั่นระหว่างการละหมาดที่ติดต่อกันในจำนวนหลายรอกอะฮฺเพื่อแยกการละหมาดในทุกๆ  2 รอกอะฮฺหรือทุกๆ  4 รอกอะฮฺออกจากกัน 

ดังนั้นการกล่าว เศาะละวาตระหว่างการให้สล่ามจาก 2 รอกอะฮฺ หรือ 4 รอกกะฮฺของการละหมาดตะรอวีหฺก็ย่อมสามารถกระทำได้โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสม เช่น หากอิมามละหมาดตะรอวีหฺ 20 รอกอะฮฺ ก็สามารถกล่าวเศาะละวาตคั่นทุกๆ 2 รอกอะฮฺหรือ 4 รอกอะฮฺหรือในกรณีที่อิมามอ่านยาวก็สมควรลดการคั่นด้วยการกล่าวเศาะลาวาตเพียงครั้งเดียวในทุกๆ 4 รอกอะฮฺแล้วขอดุอาอฺก็จะทำให้เวลากระชับมากขึ้น เพราะสิ่งที่ปฏิบัติกันในบางมัสญิดนั้นปรากฏว่าในขณะละหมาดตะรอวีหฺมีการอ่านสูเราะฮฺสั้นๆ และละหมาดเร็ว แต่พอมาถึงช่วงคั่นก็กล่าวกันเยิ่นเย้อและไปมุ่งให้ความสำคัญในส่วนนี้ทั้งๆ ที่เป็นเพียงข้ออนุโลมให้ปฏิบัติได้เท่านั้นและข้ออนุโลมนี้ก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่าเข้าข่ายอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) หรือไม่? ดังนั้นเมื่อเราปฏิบัติตามข้ออนุโลมก็ควรปฏิบัติแต่พอดี และให้เน้นที่ตัวละหมาดเป็นสำคัญเพราะการละหมาดคือเนื้อหาหลักที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเน้นหนักและให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

 

วัลลอฮุอะอฺลัม