บทที่ว่าด้วยการอธิบายถึงบรรดาข้อปฏิบัติของการละหมาดวิตร์

باب‭ ‬بيان‭ ‬أحكام‭ ‬صلاة‭ ‬الوتر

บทที่ว่าด้วยการอธิบายถึงบรรดาข้อปฏิบัติของการละหมาดวิตร์

ความหมาย

คำว่า อัล-วิตร์ ‭)‬الوِتْرُ‭(‬ หมายถึง หนึ่งเดียว, เอก, โดดและจำนวนคี่ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า อัช-ชัฟอ์ ‭)‬الشَّفْعُ‭(‬ ที่หมายถึงคู่ คำว่าอัล-วิตร์ ‭)‬الِوتْرِ‭(‬ อ่านออกเสียงด้วยการใส่สระกัสเราะฮฺที่พยัญชนะ วาวฺ หรือใส่ฟัตหะฮฺที่พยัญชนะ วาวฺ ก็ได้ โดยอ่านออกเสียงว่า อัล-วัตร์ ‭)‬الوَتْرُ‭(‬ มีคำนามพหูพจน์ว่า เอาวฺตารฺ ‭)‬أَوْتَارٌ‭(‬

การละหมาดวิตร์ ‭)‬صَلَاةُ‭ ‬الْوِتْرِ‭(‬ หมายถึงการละหมาดสุนนะฮฺประเภทหนึ่งที่มีจำนวนรอกอะฮฺเป็นจำนวนคี่หรือจบการละหมาดด้วยการละหมาดเพียง 1 รอกอะฮฺ ซึ่งเป็นจำนวนคี่ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า ละหมาดวิเตรฺ

 

ข้อชี้ขาด (หุกม์) ของการละหมาดวิตร์

ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าการละหมาดวิตร์ไม่ใช่สิ่งจำเป็น (วาญิบ) หากแต่เป็นละหมาดสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ และตามนี้ปวงปราชญ์จากชุ่นรุ่นเศาะหาบะฮฺ อัต-ตาบิอีน และชนรุ่นหลังกล่าวเอาไว้ อัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏอยยิบ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เป็นคำกล่าวของบรรดานักปราชญ์ทั้งหมดแม้กระทั่งอิมาม อัล-กอฎียฺ อบูยูสุฟ (ร.ฮ.) และอิมามมุฮัมมัด (ร.ฮ.) ก็กล่าวเอาไว้เช่นกัน มีอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) เพียงท่านเดียวที่กล่าวว่า : การละหมาดวิตร์เป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) แต่มิใช่ฟัรฎู หากผู้ใดละทิ้งการละหมาดวิตร์จนกระทั่งแสงอรุณจริงขึ้น ผู้นั้นมีบาปและจำเป็นที่ผู้นั้นต้องละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) และชัยคฺอบูหามิด (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัต-ตะอฺลีกของท่านว่า : อัล-วิตร์เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺไม่ใช่ฟัรฎูและมิใช่วาญิบ และตามนี้ประชาคม (อุมมะฮฺ) ทั้งหมดกล่าวเอาไว้ ยกเว้นอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ที่กล่าวว่า : เป็นวาญิบและมีรายงานจากอิมามอบูหะนีฟะฮฺ ในริวายะฮฺหนึ่งว่าเป็นฟัรฎู และสหายทั้งสองของท่าน (คืออัล-กอฎียฺ อบูยูสุฟและอิมาม มุฮัมมัด) กล่าวว่า : เป็น สุนนะฮฺ ชัยคฺ อบูหามิด (ร.ฮ.) กล่าวอีกด้วยว่า : อิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ฉันไม่รู้ว่ามีผู้ใดเห็นพ้องกับอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ในเรื่องนี้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 514) 

 

 

หลักฐานของนักวิชาการที่ชี้ขาดว่าการละหมาดวิตร์เป็นวาญิบนั้น ได้แก่

หะดีษที่ท่านอบูอัยยูบ (ร.ฎ.) รายงานว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

اَلْوِتْرِ‭ ‬حَقٌّ‭ ‬عَلى‭ ‬كُلِّ‭ ‬مَسْلِمٍ‭ ‬فَمَنْ‭ ‬أَحَبَّ‭ ‬أَنْ‭ ‬يُوْتِرَ‭ ‬بِخَمْسٍ‭ ‬فَلْيَفْعَلْ‭ ‬،‭ ‬وَمَنْ‭ ‬أَحَبَّ‭ ‬أَنْ‭ ‬يُوْتِرَ‭ ‬بِثَلَاثٍ‭ ‬فَلْيَفْعَلْ‭ ‬وَمَنْ‭ ‬أَحَبَّ‭ ‬أَنْ‭ ‬يُوْتِرَ‭ ‬بِوَاحِدَةٍ‭ ‬فَلْيَفْعَلْ‭ ‬

(การละหมาด) อัล-วิตร์ เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ดังนั้นผู้ใดชอบที่จะละหมาดวิตร์ 5 รอกอะฮฺ ผู้นั้นก็จงกระทำ และผู้ใดที่ชอบที่จะละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺ ผู้นั้นก็จงกระทำ และผู้ใดชอบที่จะละหมาดวิตร์ 1 รอกอะฮฺ ผู้นั้นก็จงกระทำ” (บันทึกโดยอบูดาวูด และอัล-หากิม) 

 

จากท่าน อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

يا‭ ‬أَهْلَ‭ ‬الْقُرْآنِ‭ ‬أَوْتِرُوْا‭ ‬فَإِنَّ‭ ‬اللهَ‭ ‬وِتْرٌ‭ ‬يُحْبُّ‭ ‬الْوِتْرَ

“โอ้ ชนแห่งอัล-กุรอาน พวกท่านจงละหมาดวิตร์ แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเป็นเอก (หนึ่งเดียว) พระองค์ทรงโปรดปรานการละหมาดวิตร์” (บันทึกโดย อบูดาวูด, อัต-ติรฺมิซียฺ และอัน-นาสาอียฺ, อัต-ติรฺมิซียฺกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน) 

 

จากท่าน บุรอยดะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

اَلْوِتْرُ‭ ‬حَقٌّ‭ ‬فَمَنْ‭ ‬لَمْ‭ ‬يُوْتِرْ‭ ‬فَلَيْسَ‭ ‬مِنَّا‭ ‬،‭ ‬اَلْوِتْرِ‭ ‬حَقٌّ‭ ‬فَمَنْ‭ ‬لَمْ‭ ‬يُوْتِرْ‭ ‬فَلَيْسَ‭ ‬مِنَّا‭ ‬،‭ ‬اَلْوِتْرِ‭ ‬حَقٌّ‭ ‬“‭ ‬فَمَنْ‭ ‬لَمْ‭ ‬يُوْتِرْ‭ ‬فَلَيْسَ‭ ‬مِنَّا‭ ‬

(การละหมาด) อัล-วิตร์ เป็นหน้าที่ ผู้ใดไม่ละหมาดวิตร์ผู้นั้นมิใช่ส่วนหนึ่งจากเรา (ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าว 3 ครั้ง)(บันทึกโดยอบูดาวูด) 

 

จากอัมร์ อิบนุ ชุอัยบฺ จากบิดาของเขาจากปู่ของเขาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า :

إِنَّ‭ ‬اللهَ‭ ‬زَادَكُمْ‭ ‬صَلَاةً‭ ‬فَحَافِظُوْا‭ ‬عَلَيْهَا‭ ‬،‭ ‬وَهِىَ‭ ‬الْوِتْرُ

“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงเพิ่มการละหมาดหนึ่งให้แก่พวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงรักษาการละหมาดนั้น คือการละหมาดวิตร์” 

เป็นต้น

 

ส่วนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและปวงปราชญ์อาศัยหลักฐานจากหะดีษของท่านฏอลหะฮฺ  อิบนุ อุบัยดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) ว่า :

جَاءَ‭ ‬رَجُلٌ‭ ‬مِنْ‭ ‬أَهْلِ‭ ‬نَجْدٍ‭ ‬فَإِذَا‭ ‬هُوَ‭ ‬يَسْأَلُ‭ ‬عَنِ‭ ‬الْإِسْلَامِ‭ ‬،‭ ‬فَقَالَ‭ ‬رَسُوْلُ‭ ‬الله‭ ‬صَلَى‭ ‬اللهُ‭ ‬“ عَلَيْهِ‭ ‬وَسَّلَم‭ : ‬خَمْسُ‭ ‬صَلَوَاتٍ‭ ‬فِي‭ ‬الْيَوْمِ‭ ‬فِي‭ ‬الْلَّيْلَةِ‭ ‬،‭ ‬فَقَالَ‭ : ‬هَلْ‭ ‬عَلَىَّ‭ ‬غَيْرُهَا‭ ‬؟‭ ‬فَقَالَ‭ : ‬لَا‭ ‬إِلَّا‭ ‬أَنْ‭ ‬تَطَوَّعَ‭ ‬،‭ ‬وَسَأَلَهْ‭ ‬عَنِ‭ ‬الزَّكَاةِ‭ ‬وَالصَّيَامِ‭ ‬،‭ ‬وَقَالَ‭ ‬فِي‭ ‬آخِرَه‭ : ‬وَاللهِ‭ ‬لَا‭ ‬أَزِيْدُ‭ ‬عَلَى‭ ‬هَذا‭ ‬‬وَلَا‭ ‬أَنْقُصُ‭ ‬،‭ ‬فَقَالَ‭ ‬النَبِىُّ‭ ‬صلى‭ ‬الله‭ ‬عليه‭ ‬وسلم‭ : ‬أَفْلَحَ‭ ‬إِنْ‭ ‬صَدَقَ

“มีชายคนหนึ่งจากชาวแคว้นนัจญ์ดฺได้มา แล้วบัดนั้นเขาก็ถามถึงอิสลาม ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า : “คือการละหมาด 5 ครั้งในหนึ่งวันหนึ่งคืน” แล้วเขาก็กล่าวว่า มีอื่นจากละหมาด 5 ครั้งนั้นที่จำเป็นเหนือฉันอีกหรือไม่? ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า : “ไม่ ! ยกเว้นการที่ท่านอาสากระทำ” และชายผู้นั้นก็ได้ถามท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถึงเรื่องซะกาตและการถือศีลอด และเขากล่าวในตอนท้ายว่า : “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะไม่กระทำเกินจากนี้และฉันจะไม่กระทำให้บกพร่อง” แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า : เขาประสบชัยชนะแล้ว หากเขามีความสัจจริง (ตามที่เขาพูดสาบาน)(บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม) 

 

ท่านชัยคฺ อบูหามิด(ร.ฮ.)และท่านอื่นๆ ได้วิเคราะห์หลักฐานจากอัล-หะดีษออกมา 4 ประการด้วยกัน คือ

1) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) บอกให้ทราบว่าอันที่จริงสิ่งที่เป็นวาญิบจากบรรดาการละหมาดนั้นว่า คือการละหมาด 5 เวลาเท่านั้น

 

2) คำกล่าวของชายผู้นั้นที่ว่า : มีอื่นจากละหมาด 5 ครั้งนั้นที่จำเป็นเหนือฉันอีกหรือไม่? ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “ไม่!…”

 

3) คำกล่าวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ว่า : “ยกเว้นการที่ท่านอาสาว่าจะทำ” คำกล่าวนี้ บ่งชัดว่าการละหมาดที่เกินจาก 5 เวลานั้นเป็นเพียงการอาสากระทำ (เป็นสุนนะฮฺตะเฏาวุอฺ) 

 

4)ชายผู้นั้นกล่าวว่า : “ฉันจะไม่กระทำเกินจากนี้และฉันจะไม่กระทำให้บกพร่อง” แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า : “เขาประสบชัยชนะแล้วหากเขามีความสัจจริง” สิ่งนี้บ่งชัดว่ายอมไม่มีบาปด้วยการละทิ้งละหมาดอื่นๆ นอกจากการละหมาด 5 เวลา (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ 3/515) 

 

นักวิชาการฝ่ายนี้ยังได้อาศัยหลักฐานจากหะดีษที่รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ส่งท่านมุอาซฺ (ร.ฎ.) ไปยังเยเมน แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า : “ท่านจงเรียกร้องเชิญชวนพวกเขา (พลเมืองเยเมน) สู่การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮฺ และแท้จริงฉันคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ  หากพวกเขาเชื่อฟังต่อสิ่งดังกล่าว  ท่านก็จงสอนให้พวกเขารู้ว่าแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้น แน่แท้พระองค์ทรงบัญญัติการละหมาด 5 ครั้งในทุกวันคืนเหนือพวกเขาแล้ว

 

ดังนั้นหากพวกเขาตอบรับ ท่านก็จงสอนให้พวกเขารู้ว่าพระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติทานซะกาตในทรัพย์สินของพวกเขาเหนือพวกเขาแล้ว โดยทานซะกาตนั้นจะถูกเก็บเอาจากบรรดาผู้มั่งมีของพวกเขาและถูกมอบคืนยังบรรดาผู้ขัดสนของพวกเขา (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม) อัล-หะดีษบทนี้ถือเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เพราะการส่งท่านมุอาซฺ (ร.ฎ.) ไปยังเยเมนนั้นปรากฏว่าเป็นช่วงเวลาก่อนการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ซึ่งบ่งชี้ว่าการละหมาดที่เป็นฟัรฎูนั้นมีเพียงการละหมาด 5 เวลา หากการละหมาดวิตร์เป็นฟัรฎู ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็จะระบุในคำสั่งอย่างแน่นอน) (อ้างแล้ว 3/516)

 

นอกจากนี้ยังมีอัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอุบาดะฮฺ อิบนุ อัศ-ศอมิต (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นหะดีษเศาะหิหฺ บันทึกโดย อิมามมาลิก (ร.ฮ.) ในตำราอัล-มุวัฏเฏาะอฺและอบูดาวูด, อัล-หะดีษที่รายงานจากคำกล่าวของท่านอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งระบุว่าละหมาดวิตร์มิใช่เป็นสิ่งจำเป็นเด็ดขาดเหมือนละหมาดฟัรฎู แต่เป็นสุนนะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กระทำเป็นแบบเอาไว้ อัต-ติรฺมิซียฺระบุว่าเป็นหะดีษหะสัน เป็นต้น

 

สำหรับบรรดาอัล-หะดีษที่นักวิชาการซึ่งมีทัศนะว่าการละหมาดวิตร์เป็นวาญิบนำมาอ้างเป็นหลักฐานนั้น นัยของอัล-หะดีษจะถูกอธิบายความว่าเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ มิใช่วาญิบตามรูปคำที่ปรากฏ โดยการอธิบายความว่าเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺถือเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรวมอัล-หะดีษเหล่านั้นเข้ากับบรรดาอัล-หะดีษที่ปวงปราชญ์อ้างเป็นหลักฐาน ส่วนหะดีษของท่านอบูอัยยูบ (ร.ฎ.) นั้นนักวิชาการในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺไม่ได้นำมาพูดและชี้ขาดในเรื่องนี้ (ทั้งๆ ที่นักวิชาการในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺจะนำอัล-หะดีษบทนี้มาเป็นหลักฐานว่าการละหมาดวิตร์เป็นวาญิบก็ตาม) เพราะในอัล-หะดีษระบุว่า “ผู้ใดชอบการละหมาดวิตร์ 5 รอกอะฮฺก็จงกระทำ และผู้ใดชอบการละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺผู้นั้นก็จงกระทำ และผู้ใดชอบการละหมาดวิตร์ 1 รอกอะฮฺผู้นั้นก็จงกระทำ”

 

แต่นักวิชาการในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺกับกล่าวว่า : จะไม่ถือว่าเป็นการละหมาดวิตร์นอกจาก 3 รอกอะฮฺเท่านั้น (จึงเท่ากับว่าพวกเขามิได้ถือตามตัวบทของอัล-หะดีษจริงๆ) สำหรับหะดีษของอัมร์ อิบนุ ชุอัยบฺนั้นในสายรายงานมี อัล-มุษันนา อิบนุ อัศ-ศอบบาหฺ ซึ่งอ่อน (เฎาะอีฟ) และหะดีษของท่านบุรอยดะฮฺ (ร.ฎ.) ในการรายงานของอุบัยดุลลอฮฺนั้นเป็นการรายงานเพียงลำพัง และอิมามอัล-บุคอรียฺวิจารณ์ว่า อุบัยดุลลอฮฺ นั้นอ่อน (เฎาะอีฟ) (อ้างแล้ว 3/517) 

 

 

จำนวนรอกอะฮฺของการละหมาดวิตร์

ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺจำนวนรอกอะฮฺที่น้อยที่สุดของการละหมาดวิตร์คือ 1 รอกอะฮฺโดยไม่มีข้อขัดแย้ง และขั้นต่ำของจำนวนที่สมบูรณ์คือ 3 รอกอะฮฺ และที่สมบูรณ์ยิ่งกว่า คือ 5 รอกอะฮฺ ถัดมาคือ 7 รอกอะฮฺ ถัดมาคือ 9 รอกอะฮฺ และจำนวน 11 รอกอะฮฺซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดตามทัศนะที่รู้กัน (มัชฮูร) ในมัซฮับ และตามนี้อิมามอัช-ชีรอซียฺและนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺส่วนมากชี้ขาดเอาไว้ และในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมีอยู่ประเด็นหนึ่งระบุว่า จำนวนที่มากที่สุดคือ 13 รอกอะฮฺ ซึ่งนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากชาวเมืองคุรอสานเล่าเอาไว้  โดยในประเด็นนี้  (13 รอกอะฮฺ) มีบรรดาหะดีษที่เศาะหิหฺรายงานมา แต่ฝ่ายที่กล่าวว่าสูงสุดคือ 11 รอกอะฮฺนั้นตีความบรรดาหะดีษที่เศาะหิหฺซึ่งระบุจำนวนละหมาดวิตร์ว่ามี 13 รอกอะฮฺ โดยอธิบายว่าผู้รายงานหะดีษคิดการละหมาดสุนนะฮฺรอติบะฮฺของละหมาดอิชาอฺเข้าไปในจำนวน 11 รอกอะฮฺด้วย จึงกลายเป็น 13 รอกอะฮฺ

 

และหากว่าผู้ละหมาดทำละหมาดวิตร์เกิน 13 รอกอะฮฺก็ถือว่าไม่อนุญาตและการละหมาดวิตร์ของผู้นั้นใช้ไม่ได้ในทัศนะของปวงปราชญ์ในมัซฮับ แต่อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ เล่าประเด็นหนึ่งเอาไว้ในกรณีนี้ว่า อนุญาต เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยกระทำเอาไว้หลายประเด็นจากจำนวนรอกอะฮฺ  จึงบ่งชี้ว่าไม่มีการจำกัดจำนวน  ฝ่ายปวงปราชญ์ในมัซฮับตอบว่า  ความแตกต่างของจำนวนรอกอะฮฺในละหมาดวิตร์นั้นเป็นกรณีที่มีจำนวนไม่เกิน 13 รอกอะฮฺเท่านั้น และไม่มีการถ่ายทอดจำนวนที่เกิน 13 รอกอะฮฺว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยกระทำเกินกว่านั้น จึงบ่งชี้ว่าห้ามมิให้กระทำเกิน 13 รอกอะฮฺ (อ้างแล้ว 3/506) 

 

เมื่อผู้ละหมาดประสงค์ละหมาดวิตร์จำนวน 11 รอกอะฮฺและที่น้อยกว่านั้น ที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) คือให้ผู้ละหมาดทำการให้สล่ามจากทุกๆ 2 รอกอะฮฺ เนื่องจากมีบรรดาหะดีษเศาะหิหฺระบุมา ดังนั้นหากผู้ละหมาดประสงค์รวมจำนวนรอกอะฮฺของการละหมาดวิตร์ทั้งหมดด้วยการนั่งตะชะฮฺฮุดเพียงครั้งเดียวในรอกอะฮฺสุดท้ายของจำนวนที่ละหมาดก็ถือว่าอนุญาต และถ้าหากผู้ละหมาดประสงค์ละหมาดวิตร์ด้วยการนั่งตะชะฮฺฮุด 2 ครั้ง และให้สล่าม 1 ครั้งโดยนั่งตะชะฮฺฮุดในรอกอะฮฺสุดท้ายและรอกอะฮฺก่อนหน้ารอกอะฮฺสุดท้ายก็ถือว่าเป็นที่อนุญาต และอัล-เฟารอนียฺและอิมามอัล-หะเราะมัยนฺเล่าประเด็น หนึ่ง (วัจญ์ฮุน) เอาไว้ว่า ไม่อนุญาตให้ทำการนั่งตะชะฮฺฮุด 2 ครั้ง แต่มีเงื่อนไขว่าจำต้องจำกัดอยู่เฉพาะการนั่งตะชะฮฺฮุดเพียงครั้งเดียว อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “ประเด็นนี้แย่ไม่ถือเป็นบรรทัดฐานและอิมาม อัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) เล่าประเด็นหนึ่งเอาไว้ในทางตรงกันข้ามกับประเด็นก่อนหน้านี้ คือไม่อนุญาตให้จำกัดอยู่เฉพาะการนั่งตะชะฮฺฮุดเพียงครั้งเดียว ทั้งสองประเด็นที่ถูกเล่ามานี้ผิดพลาดและบรรดาหะดีษที่เศาะหิหฺระบุชัดว่า 2 ประเด็นนี้เป็นโมฆะ และที่ถูกต้องคือ อนุญาตให้กระทำสิ่งดังกล่าวได้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ 5/506-507) 

 

มีคำถามเกิดขึ้นว่า การนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งเดียวประเสริฐกว่าหรือว่านั่งตะชะฮฺฮุด 2 ครั้ง? หรือว่ามีความประเสริฐ (ฟะฎีละฮฺ) เท่ากัน? ปัญหาข้อนี้มีคำตอบ 3 ประเด็น (เอาวฺญุฮฺ) อิมาม อัรฺรูยานียฺ (ร.ฮ.) เลือกการนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งเดียวเท่านั้น (กล่าวคือ การนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งเดียวประเสริฐกว่าเพียงประเด็นเดียว) ส่วนเมื่อมีการนั่งตะชะฮฺฮุดเกินกว่า 2 ครั้งโดยนั่งตะชะฮฺฮุดในทุกๆ 2 รอกอะฮฺและจำกัดการให้สล่ามเอาไว้เฉพาะในรอกอะฮฺสุดท้าย กรณีนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) อิมาม อัร-รอฟิอียฺ และท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้

 

  • ประเด็นที่หนึ่ง อนุญาตและการละหมาดวิตร์ของผู้นั้นใช้ได้ เหมือนอย่างกรณีหากผู้นั้นทำการละหมาดสุนนะฮฺ มุฏละเกาะฮฺ (ละหมาดสุนนะฮฺเฉยๆ) ด้วยการนั่งตะชะฮฺฮุดหลายครั้งและให้สล่ามเพียงครั้งเดียวก็เป็นที่อนุญาตตามมัซฮับที่ถูกต้อง
  • ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) คือการกระทำสิ่งดังกล่าวไม่เป็นที่อนุญาต เพราะค้านกับสิ่งที่ถูกถ่ายทอดมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และตามประเด็นที่สองนี้อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้ อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) กล่าวให้เหตุผลว่า “ข้อจำแนกระหว่างการละหมาดวิตร์และระหว่างบรรดาละหมาดสุนนะฮฺ มุฏละเกาะฮฺก็คือ การละหมาดสุนนะฮฺ มุฎละเกาะฮฺ ไม่มีจำนวนจำกัดสำหรับรอกอะฮฺและการนั่งตะชะฮฺฮุด ต่างจากกรณีของการละหมาดวิตร์ (ที่มีการจำกัดจำนวนรอกอะฮฺและจำนวนการนั่งตะชะฮฺฮุดเอาไว้ด้วยตัวบท)  (อ้างแล้ว 3/507) 

 

เมื่อผู้ละหมาดประสงค์ละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺในกรณีที่ประเสริฐที่สุด (อัฟฎ็อล) มี 4 ประเด็น (เอาวฺญุฮฺ)

  • ประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) คือ ที่ประเสริฐสุดให้ผู้ละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺ โดยถูกแบ่งออกจากกันด้วยการให้สล่าม 2 ครั้ง (คือละหมาด 2 รอกอะฮฺ แล้วให้สล่าม ต่อมาก็ขึ้นทำอีก 1 รอกอะฮฺแล้วให้สล่าม) เนื่องจากมีหะดีษที่เศาะหิหฺจำนวนมากระบุเอาไว้ และเป็นเพราะมีการกระทำอิบาดะฮฺที่มากครั้ง คือ มีการตั้งเจตนาใหม่ การอ่านดุอาอฺ อิฟติตาหฺ การขอดุอาอฺในตอนท้ายของการละหมาดและการให้สล่าม) เป็นต้น

 

  • ประเด็นที่สอง การละหมาดวิตร์แบบเชื่อมต่อด้วยการให้สล่ามเพียงครั้งเดียวประเสริฐกว่า ชัยคฺ อบู ซัยดฺ อัล-มัรฺวะซียฺ (ร.ฮ.) กล่าวเอาไว้โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการออกจากความเห็นต่าง (คิลาฟ) เพราะอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ถือว่าการ
    ละหมาดวิตร์แบบแยก (คือ 2 รอกอะฮฺ+1 รอกอะฮฺ) ใช้ไม่ได้

 

  • ประเด็นที่สาม หากละหมาดวิตร์คนเดียว การแยกนั้นถือว่าดีกว่า แต่ถ้าหากเป็นอิมามนำละหมาดก็ถือว่าการเชื่อมดีกว่าเพื่อให้การละหมาดของอิมามเป็นที่ใช้ได้สำหรับมะอฺมูมผู้ตามทุกคน

 

  • ประเด็นที่สี่ ตรงกันข้ามกับประเด็นที่สาม (กล่าวคือ หากละหมาดคนเดียวก็ถือว่าการละหมาดแบบเชื่อมนั้นดีกว่า แต่ถ้าเป็นอิมามก็ถือว่าการละหมาดแบบแยกนั้นดีกว่า) อิมามอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) เล่าประเด็นที่ 4 นี้เอาไว้ (อ้างแล้ว 3/507) 

 

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าการละหมาดวิตร์ทั้งสองแบบนั้นใช้ได้ กล่าวคือ การละหมาดสองรอกอะฮฺแล้วให้สล่าม แล้วขึ้นทำอีก 1 รอกอะฮฺ และให้สล่าม นี่เรียกว่าแบบแยก (มัฟศูละฮฺ) และละหมาด 3 รอกอะฮฺรวดแล้วนั่งตะชะฮฺฮุดในรอกอะฮฺสุดท้ายแล้วให้สล่าม นี่เรียกว่าแบบเชื่อม (เมาวฺศูละฮฺ) เพียงแต่ประเด็นที่ถูกต้องในมัซฮับ อัช-ชาฟิอีย์ถือว่าการละหมาดวิตร์แบบแยก (มัฟศูละฮฺ) ประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) เท่านั้น ส่วนมัซฮับอัล-หะนะฟียฺนั้นถือว่าการละหมาด 3 รอกอะฮฺ 1 สล่าม (แบบเชื่อม) คือแบบเดียวที่ใช้ได้ (เศาะหฺ) หากละหมาดแบบแยก (3 รอกอะฮฺ 2 สล่าม) ถือว่าใช้ไม่ได้ เหตุนี้ในบางมัสญิดที่มีสัปปุรุษถือในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺจึงแยกออกมาจากการตามอิมามที่เป็นชาฟิอียฺในกรณีของการละหมาดวิตร์หลังละหมาดตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอน โดยกลุ่มสัปปุรุษที่ถือในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺอาจจะละหมาดวิตร์ก่อนหรือละหมาดหลังจากอิมามที่เป็นชาฟิอียฺละหมาดวิตร์เสร็จหรือตั้งญะมาอะฮฺเฉพาะกลุ่มของตน

 

การปฏิบัติในรูปแบบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรหาทางออกให้แก่อิมามและสัปปุรุษโดยรวมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของ “อัล-ญะมาอะฮฺ” และรักษาน้ำใจระหว่างกัน ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ก็คือ เมื่ออิมามที่เป็นชาฟิอียฺนำละหมาดตะรอวีหฺเสร็จแล้ว ก็ให้อิมามที่เป็นชาฟิอียฺนำละหมาดวิตร์แบบเชื่อม (3 รอกอะฮฺรวดและนั่งตะชะฮฺฮุดในรอกอะฮฺสุดท้ายแล้วให้สล่าม) เพราะตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าใช้ได้ หรือไม่ก็ให้บุคคลที่อิมามที่เป็นชาฟิอียฺเห็นชอบจากกลุ่มสัปปุรุษที่ยึดถือตามมัซฮับอัล-หะนะฟียฺขึ้นมาเป็นอิมามนำละหมาดวิตร์ต่อจาก อิมามที่เป็นชาฟิอียฺ แล้วให้อิมามที่เป็นหะนะฟียฺละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺ 1 สล่ามตามมัซฮับอัล-หะนะฟียฺได้ บรรดามะอฺมูมที่เป็นหะนะฟียฺก็ละหมาดวิตร์นั้นพร้อมกันโดยไม่มีปัญหาเพราะเป็นการละหมาดตามรูปแบบที่ใช้ได้ในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ ส่วนบรรดามะอฺมูมที่เป็นชาฟิอียฺก็สามารถละหมาดวิตร์พร้อมกับอิมามที่เป็นหะนะฟียฺนั้นในคราเดียวกันโดยไม่มีปัญหา เพราะการละหมาดแบบเชื่อม (เมาวฺศูละฮฺ) เป็นสิ่งที่อนุญาตและถือว่าใช้ได้ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺโดยไม่มีข้อขัดแย้ง เพียงแต่มิใช่สิ่งที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) ตามประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุนเศาะหิหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเท่านั้น กระนั้นก็ยังถือเป็นการกระทำที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) ตามประเด็นหนึ่งในสี่ประเด็นซึ่งอิมามอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) เล่าเอาไว้และเป็นการรักษา “อัล-ญะมาอะฮฺ” (ความเป็นหมู่คณะที่มีความเป็นเอกภาพและสามัคคี) ของสัปปุรุษประจำมัสญิดที่มาร่วมละหมาดโดยพร้อมเพรียงกันอีกด้วย หรือให้อิมามที่เป็นชาฟิอียฺนำละหมาดวิตร์แบบเชื่อมต่อ 3 รอกอะฮฺรวดหนึ่งสล่ามเพราะเป็นสิ่งที่ใช้ได้เช่นกัน ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และใช้ได้ตามมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ นี่คือทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ 

วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก

 

 

อนึ่ง  ในกรณีที่นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องของการละหมาดแยก  (ฟัศล์) กับเชื่อม (วัศล์) ว่าแบบไหนประเสริฐกว่ากันนั้นเป็นกรณีเฉพาะของการละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺเท่านั้น ส่วนการละหมาดวิตร์ด้วยจำนวนที่มากกว่า 3 รอกอะฮฺนั้น การละหมาดวิตร์แบบแยก (มัฟศูละฮฺ) คือละหมาดทีละ 2 รอกอะฮฺแล้วให้สล่ามย่อมถือว่าดีกว่าการละหมาดแบบเชื่อม (เมาวฺศูละฮฺ) คือละหมาดรวดเดียวโดยไม่มีข้อแย้งซึ่งอิมาม อัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) กล่าวเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 507) 

 

และถ้าหากผู้ละหมาดทำการละหมาดวิตร์จำนวนรอกอะฮฺเดียว ก็ให้เขาตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ละหมาดวิตร์ด้วยหนึ่งรอกอะฮฺนั้น หากผู้นั้นทำการละหมาดวิตร์ด้วยจำนวนรอกอะฮฺที่มากกว่าและจำกัดอยู่เฉพาะการให้ สล่ามเพียงครั้งเดียว ก็ให้เขาตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ละหมาดวิตร์เช่นกัน และเมื่อผู้นั้นคั่น 2 รอกอะฮฺด้วยการให้ สล่ามโดยให้สล่ามจากทุกๆ 2 รอกอะฮฺก็ให้ผู้นั้นตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ด้วยทุกๆ 2 รอกอะฮฺนั้นว่าเป็นส่วนหนึ่งจากการละหมาดวิตร์ นี่เป็นทัศนะที่ได้รับการคัดเลือก (มุคตารฺ) และผู้นั้นก็มีสิทธิในการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) อื่นจากที่ว่ามานี้ (อ้างแล้ว 3/507) 

 

 

เวลาของการละหมาดวิตร์

กรณีต้นเวลาของการละหมาดวิตร์นั้นมี 3 ประเด็น (เอาวฺญุฮฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ 

  • ประเด็นที่ถูกต้อง ซึ่งรู้กัน (มัชฮูร) และปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้คือ ละหมาดวิตร์จะเข้าเวลาด้วยการเสร็จสิ้นของผู้ละหมาดจากละหมาดฟัรฎูอิชาอฺแล้ว  ไม่ว่าผู้นั้นได้ละหมาดสุนนะฮฺคั่นระหว่างละหมาดวิตร์กับละหมาดอิชาอฺแล้วหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าผู้นั้นทำการละหมาดวิตร์จำนวน 1 รอกอะฮฺ หรือจำนวนที่มากกว่าก็ตาม ดังนั้นหากผู้นั้นละหมาดวิตร์ก่อนกระทำละหมาดอิชาอฺก็ถือว่าการละหมาดวิตร์ของเขาใช้ไม่ได้  ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเจตนาทำละหมาดวิตร์นั้นหรือหลงลืมและเข้าใจว่าตนละหมาดอิชาอฺไปแล้วหรือเข้าใจว่าอนุญาตให้ทำละหมาดวิตร์ (ก่อน
    ละหมาดอิชาอฺ) นั้นได้หรือไม่ก็ตาม ในทำนองเดียวกันหากผู้นั้นได้ละหมาดอิชาอฺแล้วโดยเข้าใจไปว่าตนได้ทำเฏาะฮาเราะฮฺ (มีน้ำละหมาดแล้ว) ต่อมาก็เกิดหะดัษ แล้วก็ไปอาบน้ำละหมาดแล้วก็ทำละหมาดวิตร์ แล้วก็เป็นที่ปรากฏชัดว่าเขามีหะดัษในการละหมาดอิชาอฺ (การละหมาดอิชาอฺของเขาก็เป็นโมฆะในกรณีนี้จึงจำเป็นที่เขาต้องกลับมาละหมาดอิชาอฺใหม่ (อิอาดะฮฺ) แต่ถ้าเขาไม่ละหมาดอิชาอฺใหม่แต่กลับไปทำละหมาดวิตร์เลย) การละหมาดวิตร์ของเขาก็เป็นโมฆะเช่นกัน  (อ้างแล้ว 3/508) 

 

  • ประเด็นที่สอง จะเข้าเวลาละหมาดวิตร์ด้วยการเข้าเวลาละหมาดอิชาอฺและผู้นั้นมีสิทธิละหมาดวิตร์ก่อนการปฏิบัติละหมาดอิชาอฺได้ อิมามอัล-หะเราะมัยนฺและท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้ และอัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏอยยิบชี้ขาดตามประเด็นที่สอง ทั้งนี้ไม่ว่าผู้นั้นเจตนาละหมาดวิตร์ก่อนละหมาดอิชาอฺหรือว่าหลงลืม (เผลอ) ไปก็ตาม

 

  • ประเด็นที่สาม หากผู้นั้นทำละหมาดวิตร์จำนวนมากกว่า 1 รอกอะฮฺ เวลาการละหมาดวิตร์ก็เข้าด้วยการละหมาดอิชาอฺ และหากผู้นั้นทำละหมาดวิตร์ 1 รอกอะฮฺ ก็มีเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาดวิตร์ 1 รอกอะฮฺนั้นว่าจะต้องมีการทำละหมาดสุนนะฮฺ (รอติบะฮฺ) ภายหลังการละหมาดอิชาอฺก่อนหน้าการทำละหมาดวิตร์ 1 รอกอะฮฺนั้น ดังนั้นหากผู้นั้นทำละหมาดวิตร์เพียง 1 รอกอะฮฺก่อนที่จะมีการละหมาดสุนนะฮฺมานำหน้า (คือละหมาดโดดๆ 1 รอกอะฮฺโดยไม่ได้ละหมาดสุนนะฮฺรอติบะฮฺหลังละหมาดอิชาอฺก่อนนั้น) ก็ถือว่าการละหมาดวิตร์ของเขาใช้ไม่ได้ และละหมาด 1 รอกอะฮฺนั้นก็เป็นเพียงสุนนะฮฺตะเฏาวฺวุอฺ (ไม่ใช่ละหมาดวิตร์) (อ้างแล้ว 3/508) 

 

ส่วนท้ายเวลาของการละหมาดวิตร์นั้นที่ถูกต้องซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้คือ เรื่อยไปจนกระทั่งแสงอรุณจริงขึ้นและจะออกนอกเวลาด้วยการที่แสงอรุณจริงขึ้น แต่อิมาม อัล-มุตะวัลลียฺ(ร.ฮ.)เล่าคำกล่าวหนึ่งของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า เวลาของละหมาดวิตร์นั้นเรื่อยไปจนกระทั่งผู้นั้นละหมาดฟัรฎูศุบหิ (อ้างแล้ว 3/508) 

 

ส่วนเวลาที่ส่งเสริมสำหรับการทำละหมาดวิตร์นั้น ปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดว่า ที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการละหมาดวิตร์เป็นละหมาดสุดท้ายของเวลากลางคืน ดังนั้นหากผู้นั้นจะไม่ลุกขึ้นทำละหมาดตะฮัจญุดก็ส่งเสริมให้ผู้นั้นทำการละหมาดวิตร์ภายหลังการละหมาดฟัรฎูอิชาอฺและละหมาดสุนนะฮฺรอติบะฮฺของอิชาอฺในตอนช่วงแรกของเวลากลางคืน แต่ถ้าหากผู้นั้นจะมีการละหมาดตะฮัจญุด (คือจะตื่นขึ้นมาในยามดึกเพื่อละหมาดตะฮัจญุด) ที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) คือให้ล่าช้าการละหมาดวิตร์เพื่อที่จะทำละหมาดวิตร์นั้นหลังการตะฮัจญุด และเพื่อให้การละหมาดวิตร์ของเขาเป็นสิ่งสุดท้ายของการละหมาดในยามค่ำคืน (อ้างแล้ว 3/508) 

 

ส่วนหนึ่งจากบรรดาหะดีษที่เป็นหลักฐานว่าส่งเสริมให้ทำละหมาดวิตร์ในช่วงท้ายของค่ำคืนได้แก่

จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า :

مِنْ‭ ‬كُلِّ‭ ‬لَيْلٍ‭ ‬قَدْ‭ ‬أَوْتَرَ‭ ‬رَسُوْلُ‭ ‬الله‭ ‬صَلَّى‭ ‬اللهُ‭ ‬عَلَيْهِ‭ ‬وَسَلَم‭ ‬مِنْ‭ ‬أَوَّلِه‭ ‬وَآخِرِه‭ ‬،‭ ‬وَانْتَهى‭  ‬وِتْرُهُ‭ ‬إِلَى‭ ‬السَّحَرِ‭ ‬

“จากทุกค่ำคืน แน่แท้ท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ทำละหมาดวิตร์จากช่วงแรก และช่วงท้ายของค่ำคืน และการละหมาดวิตร์ของท่านจะจบลงยังเวลาก่อนแสงอรุณจริงขึ้น”  (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม) 

 

จากท่าน อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า :

‭ ‬اِجْعَلُوْا‭ ‬آخِرَ‭ ‬صَلَاتِكُمْ‭ ‬بِاللَّيْلِ‭ ‬وِتْرًا‭ ‬

“พวกท่านจงทำให้การละหมาดวิตร์เป็นสุดท้ายการละหมาดของพวกท่านในยามค่ำคืน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม) 

 

จากท่านญาบิร (ร.ฎ.) ว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

مَنْ‭ ‬خَافَ‭ ‬أَلَّا‭ ‬يَقُوْمَ‭ ‬مِنْ‭ ‬آخِرِ‭ ‬اللَّيْلِ‭ ‬فَلْيُوْتِرْ‭ ‬أَوَّلَهُ‭ ‬،‭ ‬وَمَنْ‭ ‬طَمِعَ‭ ‬أَنْ‭ ‬يَقُوْمَ‭ ‬آخِرَهُ‭ ‬فَلْيَوْتِرْ‭  ‬آخِرَ‭ ‬اللَّيْلِ‭ ‬،‭ ‬فَإِنَّ‭ ‬صَلَاةَ‭ ‬آخِرِ‭ ‬اللَّيْلِ‭ ‬مَشْهُوْدَةٌ‭ ‬،‭ ‬وَذَلِكَ‭ ‬أَفْضَلُ

“ผู้ใดที่เกรงว่าตนจะไม่ลุกขึ้นในช่วงท้ายของค่ำคืน ผู้นั้นก็จงละหมาดวิตร์ในช่วงแรกของค่ำคืน และผู้ใดมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการที่ตนจะลุกขึ้นในช่วงท้ายของค่ำคืน ผู้นั้นก็จงละหมาดวิตร์ในช่วงท้ายของค่ำคืน เพราะแท้จริงการละหมาดช่วงท้ายของค่ำคืนนั้นถูกร่วมเป็นสักขีพยาน (ของบรรดามะลาอิกะฮฺ) และสิ่งนั้นดีที่สุด” (บันทึกโดยมุสลิม) 

 

 

อนึ่ง เมื่อผู้นั้นได้ละหมาดวิตร์แล้วก่อนที่จะเข้านอน ต่อมาเขาก็ลุกขึ้นและทำละหมาดตะฮัจญุด เขาผู้นั้นก็ไม่ต้องทำให้จำนวนคี่ของละหมาดวิตร์ (ที่ได้ละหมาดไปแล้วก่อนเข้านอน) นั้นเป็นสิ่งที่ถูกยกเลิกไป (คือไม่ต้องยกเลิกการละหมาดวิตร์ที่กระทำไปแล้วในตอนก่อนเข้านอน) ตามทัศนะที่ถูกต้องและรู้กันซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ แต่ให้เขาผู้นั้นทำการละหมาดตะฮัจญุดเป็นคู่ตามที่สะดวก และในเรื่องนี้มีประเด็นหนึ่งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺซึ่งอิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (ร.ฮ.) และนักวิชาการคนอื่นจากชาวเมืองคุรอสานเล่าเอาไว้ คือ ให้ผู้นั้น (ซึ่งลุกขึ้นละหมาดตะฮัจญุด) ทำการละหมาดในตอนแรกของการยืนละหมาดในยามค่ำคืนของเขา 1 รอกอะฮฺ (โดยการละหมาด 1 รอกอะฮฺนี้จะทำให้ละหมาดวิตร์ที่กระทำไปก่อนการเข้านอนกลายเป็นละหมาดที่เป็นจำนวนคู่) ต่อจากนั้นก็ทำละหมาดตะฮัจญุดตามประสงค์ หลังจากนั้นก็ให้ทำละหมาดวิตร์อีกครั้ง เรียกการกระทำเช่นนี้ว่า การเลิกจำนวนคี่ (นักฎุล วิตร์) แต่ตามมัซฮับคือประเด็นแรกที่กล่าวมาแล้ว (คือไม่มีการเลิกหรือทำลายจำนวนคี่ให้เป็นคู่) เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่ระบุว่า “‭ ‬لَا‭ ‬وِتْرَانِ‭ ‬فِيْ‭ ‬لَيْلَةٍ‭ ‬”‭ ‬ความว่า : “ไม่มีการละหมาดวิตร์ 2 ครั้งในหนึ่งคืน” (บันทึกโดย อบูดาวูด อัต-ติรฺมิซียฺ และอัน-นะสาอียฺ และอัต-ติรฺมิซียฺกล่าวว่า : เป็นหะดีษหะสัน)   (อ้างแล้ว 3/509) 

 

อนึ่ง อิบนุ อัล-มุนซิรฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : บรรดานักวิชาการมีมติเห็นตรงกันว่า ช่วงเวลาระหว่างการละหมาดอิชาอฺจนถึงแสงอรุณจริงขึ้นเป็นเวลาสำหรับการละหมาดวิตร์ ต่อมาอิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) ได้เล่าจากชนรุ่นสะลัฟกลุ่มหนึ่งว่า เวลาของการละหมาดวิตร์นั้นเรื่อยไปจนถึงการที่ผู้นั้นละหมาดศุบหิ และเล่าจากอีกกลุ่มหนึ่งว่า : เวลาการละหมาดวิตร์จะผ่านพ้นไปด้วยการที่แสงอรุณจริงขึ้น และส่วนหนึ่งจากบุคคลที่ถือว่าส่งเสริมให้ทำละหมาดในช่วงแรกของค่ำคืนคือ ท่านอบูบักร์ อัศ-ศิดดีก, ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน, อบูอัด-ดัรฺดาอฺ, อบูฮุรอยเราะฮฺ, รอฟิอฺ อิบนุ เคาะดีจญ์ และอับ-ดุลลอฮฺ อิบนุ อัมร์ อิบนิ อัล-อ็าศ (ร.ฎ.) และส่วนหนึ่งจากบุคคลที่ถือว่าส่งเสริมให้ทำละหมาดวิตร์ในช่วงท้ายของค่ำคืนคือท่านอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ, ท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ, ท่านอิบนุ มัสอู๊ด, อิมามมาลิก, อัษ-เษารียฺ และอัศหาบุรฺเราะอฺย์ (ร.ฎ.) ตลอดจนเป็นประเด็นที่ถูกต้องในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (อ้างแล้ว 3/518) 

 

 

การละหมาดวิตร์แบบญะมาอะฮฺ 

เมื่อเราถือว่าส่งเสริมให้ละหมาดแบบญะมาอะฮฺในการละหมาดตะรอวีหฺ ก็ถือว่าส่งเสริมให้ละหมาดแบบญะมาอะฮฺในกรณีของการละหมาดวิตร์เช่นกันโดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ดังนั้นหากปรากฏว่าผู้นั้นมีการลุกขึ้นทำละหมาดตะฮัจญุด ผู้นั้นก็ไม่ต้องละหมาดวิตร์พร้อมกับพวกเขา (ที่ทำละหมาดวิตร์แบบญะมาอะฮฺในชวงแรกของค่ำคืน หรือหลังจากการละหมาดตะรอวีหฺที่มัสญิด) ทว่า ให้ผู้นั้นล่าช้าการละหมาดวิตร์ออกไปยังช่วงเวลาท้ายของค่ำคืนดังที่กล่าวมาแล้ว แต่หากผู้นั้นประสงค์จะละหมาดพร้อมกับพวกเขาก็ให้ผู้นั้นละหมาดสุนนะฮฺมุฏละเกาะฮฺ (คือตั้งเจตนาละหมาดสุนนะฮฺเฉยๆ) พร้อมกับพวกเขา และไปทำละหมาดวิตรฺในตอนท้ายของค่ำคืน ทั้งนี้การละหมาดวิตร์แบบญะมาอะฮฺนี้ส่งเสริมเฉพาะในเดือนเราะมะฎอน ส่วนในช่วงเวลาอื่นนอกจากเราะมะฎอนนั้นทัศนะที่รู้กัน (มัชฮูร) คือ ไม่ส่งเสริมให้ละหมาดวิตร์แบบญะมาอะฮฺ (อ้างแล้ว 3/510) 

 

และตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่ามีสุนนะฮฺให้ทำการกุหนูตในรอกอะฮฺสุดท้ายจากการละหมาดวิตร์ในช่วงครึ่งหลังจากเดือนเราะมะฎอน นี่เป็นทัศนะที่รู้กัน (มัชฮูรฺ) ในมัซฮับ และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบท (นัศฺ) เอาไว้ในประเด็นหนึ่ง (วัจญ์ฮุน) ว่าส่งเสริมให้ทำการกุหนูตตลอดเดือนเราะมะฎอนในการละหมาดวิตร์ซึ่งประเด็นนี้ เป็นมัซฮับของอิมามมาลิก (ร.ฮ.) และมีประเด็นที่สาม ระบุว่าส่งเสริมให้ทำการกุหนูตในการละหมาดวิตร์ในช่วงเวลาตลอดทั้งปี  เป็นคำกล่าวของนักวิชาการอาวุโสในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ 4 ท่านคือ อับดุลลอฮฺ อัซฺซุบัยรียฺ, อบุลวะลีด อัน-นัยสะบูรียฺ, อบุลฟัฎล์ อิบนุ อับดาน และอบูมันศูร อิบนุ มิฮฺรอน (ร.ฮ.) และประเด็นที่สามนี้มีความแข็งแรงทางด้านหลักฐาน เนื่องจากมีหะดีษของท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) ในเรื่องการกุหนูต แต่ที่รู้กัน (มัชฮูรฺ) ในมัซฮับคือประเด็นแรกและปวงปราชญ์ในมัซฮับกล่าวเอาไว้ (อ้างแล้ว 3/510) 

 

สำหรับตำแหน่งการกุหนูตในละหมาดวิตร์นั้นมีหลายประเด็น (เอาวฺญุฮฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ 

  • ประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) และรู้กัน (มัชฮูรฺ) คือหลังจากการรุ่กัวะอฺ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบท (นัศฺ) เอาไว้จากท่าน หัรฺมะละฮฺ และนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺส่วนมากชี้ขาดเอาไว้
  • ประเด็นที่สอง ก่อนการรุ่กัวะอฺ อิบนุ สุร็อยจฺญ์ กล่าวเอาไว้
  • ประเด็นที่สาม ให้ผู้ละหมาดเลือกเอาว่าจะกุหนูตก่อนหรือหลังการรุ่กัวะอฺ อิมามอัร-รอฟิอียฺเล่าเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 510) 

 

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : ถ้อยคำในการกุหนูต ณ ตรงนี้ (การละหมาดวิตร์) ก็คือถ้อยคำการกุหนูตในละหมาดศุบหิ โดยเฉพาะในการละหมาดวิตร์นั้นมีถ้อยคำถูกรายงานมาในอัล-หะดีษที่รายงานโดย อัล-หะสัน อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) ว่า :

عَلَّمَنِيْ‭ ‬رَسُوْلُ‭ ‬الله‭ ‬صَلَّى‭ ‬اللهَ‭ ‬عَلَيْهِ‭ ‬وَسَلَم‭ ‬كَلِمَاتٍ‭ ‬أَقُوْلُهُنَّ‭ ‬فِي‭ ‬الْوِتْرِ‭ : ‬أَللَّهُمَّ‭ ‬اهْدِنِيْ‭ ‬فِيْمَنْ‭ ‬هَدَيْتَ‭ ‬،‭ ‬وَعَافِنِيْ‭ ‬فِيْمَنْ‭ ‬عَافَيْتَ‭ ‬،‭ ‬وَتَوَلَّنِيْ‭ ‬فِيْمَنْ‭ ‬تَوَلَّيْتَ‭ ‬،‭ ‬وَبَارِكْ‭ ‬لِيْ‭ ‬فِيْمَا‭ ‬أَعْطَيْتَ‭ ‬،‭ ‬وَقِنِيْ‭ ‬شَرَّمَاقَضَيْتَ‭ ‬،‭ ‬فَإِنَّكَ‭ ‬تَقْضِيْ‭ ‬وَلَا‭ ‬يُقْضى‭ ‬عَلَيْكَ‭ ‬وَإِنَّهُ‭ ‬لَايَذِلُّ‭ ‬مَنْ‭ ‬وَالَيْتَ‭ ‬،‭ ‬تَبَارَكَتَ‭ ‬رَبَّنَا‭ ‬وَتَعَالَيْتَ

“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สอนให้ฉันรู้ถึงบรรดาถ้อยคำที่ฉันจะกล่าวบรรดาถ้อยคำนั้นในการละหมาดวิตร์ (คือ ความหมาย) “ โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานทางนำให้แก่ข้าพระองค์ในหมู่ชนที่พระองค์ทรงประทานทางนำ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์คลาดแคล้วจากเภทภัยในหมู่ชนที่พระองค์ทรงประทานความคลาดแคล้วจากเภทภัย ขอพระองค์ทรงอภิบาลการกิจของข้าพระองค์ในหมู่ชนที่พระองค์ทรงอภิบาล ขอพระองค์ทรงประทานสิริมงคลแก่ข้าพระองค์ในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้ และขอพระองค์ทรงปกปักรักษาข้าพระองค์ให้พ้นจากความไม่ดีของสิ่งที่พระองค์ทรงลิขิตไว้แล้ว แท้จริงพระองค์ท่านทรงประกาศิตและจะไม่ถูกประกาศิตเหนือพระองค์ และแท้จริงผู้ที่พระองค์ทรงช่วยเหลือย่อมไม่ตกต่ำ พระองค์ท่านทรงจำเริญด้วยพระสิริ โอ้พระผู้อภิบาลแห่งเรา และพระองค์ทรงสูงส่งยิ่ง” (บันทึกโดยอบูดาวูด, อัต-ติรฺมิซียฺ และอัน-นะสาอียฺ ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺ อัต-ติรฺมิซียฺกล่าวว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษหะสัน) 

 

อัต-ติรฺมิซียฺ ระบุว่า : ไม่เป็นที่รู้กันว่ามีสิ่งใดที่ถูกรายงานจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเรื่องกุหนูตที่ดีไปกว่าหะดีษบทนี้ และในอีกริวายะฮฺหนึ่ง อัล-บัยฮะกียฺรายงานจากท่านมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะนะฟียะฮฺ ผู้เป็นบุตรชายของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริง
ดุอาอฺบทนี้คือดุอาอฺซึ่งปรากฏว่าบิดาของฉันจะขอในการละหมาดฟัจร์ (ศุบหิ) ในการกุหนูตของท่าน” และอัล-บัยฮะกียฺได้รายงานจากหลายกระแสจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) และท่านอื่นๆ ว่า : “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยสอนดุอาอฺบทนี้ให้แก่พวกเขา (เศาะหาบะฮฺ) เพื่อใช้ขอในการกุหนูตจากการละหมาดศุบหิ” และในอีกริวายะฮฺหนึ่งระบุว่า : “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยทำการกุหนูตในละหมาดศุบหิและละหมาดวิตร์ในยามค่ำคืนด้วยถ้อยคำเหล่านี้” และในริวายะฮฺหนึ่งระบุว่า “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ในการกุหนูตของยามค่ำคืน” อัล-บัยฮะกียฺกล่าวว่า : สิ่งนี้ทั้งหมดเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าการสอนดุอาอฺบทนี้เกิดขึ้นสำหรับการกุหนูตละหมาดศุบหิและการกุหนูตละหมาดวิตร์  วะบิลลาฮิตเตาฟีก (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 476) 

 

อนึ่ง นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า : หากผู้ละหมาดวิตร์ (หรือศุบหิ) เป็นอิมามนำละหมาดผู้นั้นก็ไม่ควรจำกัดการขอดุอาอฺเอาไว้เฉพาะตัวเอง แต่ให้ขอดุอาอฺโดยรวมด้วยการใช้สำนวนพหูพจน์ว่า‭ ‬‭(‬أَللّهُمَّ‭ ‬اهْدِنَا‭…)‬ ถามว่า บรรดาถ้อยคำในบทดุอาอฺสำหรับการกุหนูตนั้นเจาะจงตายตัวหรือไม่? มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ในเรื่องนี้ 

  • ประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) และรู้กัน (มัชฮูรฺ) ซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ คือ ไม่เจาะจงตายตัว หากแต่ถือว่าการกุหนูตเกิดขึ้นได้ด้วยทุกๆ บทดุอาอฺ
  • ประเด็นที่สอง เจาะจงตายตัวเช่นเดียวกับถ้อยคำในการอ่านตะชะฮฺฮุด ประเด็นที่สองนี้ อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ, อัล-เฆาะซาลียฺ, มุฮัมมัด อิบนุ ยะหฺยาในตำรา อัล-มุหิฏของท่านชี้ขาดเอาไว้ และเจ้าของตำรา อัล-มุสตัซฮิรียฺถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้องและกล่าวว่า : หากผู้ละหมาดละทิ้งเพียงหนึ่งถ้อยคำจากดุอาอฺบทนี้หรือหันไปกล่าวบทอื่นๆ ก็ถือว่าการกุหนูตของเขาใช้ไม่ได้และจะต้องสุหญูดสะฮฺวียฺ แต่ตามมัซฮับถือว่าไม่เจาะจงตายตัว อัล-มาวัรฺดียฺ, อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ, อัล-บะเฆาะวียฺ, อัล-มุตะวัลลียฺ และผู้คนจำนวนมากระบุเอาไว้อย่างชัดเจน และชัยคฺ อบูอัมร์ อิบนุ อัศ-เศาะลาหฺกล่าวว่า : “คำพูดของผู้ที่กล่าวว่าเจาะจงตายตัวนั้นเป็นสิ่งที่แหวกแนว (ชาซฺ) ไม่เป็นที่ยอมรับ (มัรดูด) ค้าน (มุคอลิฟ) กับปวงปราชญ์ในมัซฮับ มิหนำซ้ำยังถือว่าค้านกับปวงปราชญ์ทั้งหมดอีกด้วย” (อ้างแล้ว 3/477) 

 

ดังนั้นเมื่อเรากล่าวตามมัซฮับว่า : สำนวนของดุอาอฺกุหนูตไม่ถูกเจาะจงตายตัว เจ้าของตำราอัล-หาวียฺก็กล่าวว่า : การกุหนูตเกิดขึ้นได้ด้วยการขอดุอาอฺที่ถูกรายงานมา (มะอฺษูเราะฮฺ) และดุอาอฺอื่นๆ ดังนั้นหากผู้ละหมาดอ่านอายะฮฺหนึ่งจากอัล-กุรอานที่เป็นสำนวนดุอาอฺหรือคล้ายกับดุอาอฺ เช่น ช่วงท้ายของสูเราะฮฺอัล-  บะเกาะเราะฮฺ ก็ถือว่าการกุหนูตนั้นใช้ได้ แต่ถ้าสิ่งที่นำมาอ่านไม่ได้รวมการขอดุอาอฺเอาไว้ในสำนวนหรือไม่คล้ายกับดุอาอฺ เช่น อายะฮฺที่ว่าด้วยการยืมหนี้สิน (อายะฮฺอัด-ดัยนฺ) และสูเราะฮฺตับบัตฺ (อัล-มะสัด) เป็นต้น ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

  • ประเด็นที่หนึ่ง ถือว่าใช้ได้ เมื่อผู้นั้นเจตนาเป็นการกุหนูตเพราะอัล-กุรอานประเสริฐกว่าดุอาอฺกุหนูต
  • ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะการกุหนูตเป็นเรื่องสำหรับการขอดุอาอฺ แต่ที่นำมาอ่านนี้มิใช่ดุอาอฺ และการอ่านอัล-กุรอานในการละหมาดที่มิใช่เป็นองค์ประกอบหลัก (รุกน์) ของการยืน (เช่นในกรณีนี้เป็นการอ่านอัล-กุรอานในรุกน์ของการอิอฺติดาล) ถือเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) (อ้างแล้ว 3/477) 

 

ถามว่า ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กล่าวเศาะละวาตแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) หลังอ่านกุหนูตหรือไม่? กรณีนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่)

  • ประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะหิหฺ) และรู้กัน (มัชฮูรฺ) และปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาด คือ ส่งเสริมให้กล่าว

 

  • ประเด็นที่สอง ไม่อนุญาตให้กล่าว หากทำการเศาะละวาตฺหลังอ่านกุหนูตถือว่าการละหมาดของผู้นั้นเป็นโมฆะ เพราะเป็นการย้ายองค์ประกอบหลัก (รุกน์) ไปยังที่ซึ่งมิใช่ตำแหน่งของมัน (กล่าวคือ การเศาะละวาตเป็นรุกน์เกาวฺลียฺ ที่มีตำแหน่งอยู่ในการอ่านหลังตะชะฮฺฮุด เมื่อผู้ละหมาดนำเศาะละวาตมากล่าวในกุหนูตก็เท่ากับว่าผู้ละหมาดย้ายรุกน์เกาวฺลียฺข้อนี้เอามาไว้ในการกุหนูตหลังการรุ่กัวะอฺซึ่งมิใช่ตำแหน่งของการเศาะละวาต)  อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ กล่าวเอาไว้และ อัล-บะเฆาะวียฺเล่าประเด็นนี้จาก อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ แต่อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า เป็นประเด็นที่ผิดพลาดอย่างชัดเจน หลักฐานที่สนับสนุนประเด็นแรกที่ถูกต้องในมัซฮับก็คือ ในริวายะฮฺหนึ่งจากหะดีษของท่าน อัล-หะสัน (ร.ฎ.) ในเรื่องบทดุอาอฺกุหนูตมีระบุสำนวนตอนท้ายว่า “‭ ‬تَبَارَكْتَ‭ ‬وَتَعَالَيْتَ‭ ‬،‭ ‬وَصَلّى‭ ‬اللهُ‭ ‬عَلَى‭ ‬النَّبِيِّ‭ ‬” นี่เป็นถ้อยคำของท่าน อัล-หะสัน (ร.ฎ.) ในริวายะฮฺของอัน-นะสาอียฺด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺหรือหะสัน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ : 3/479) 

 

อิมามอัล-บะเฆาะวียฺ (ร.ฮ.)กล่าวว่า : การอ่านกุหนูตยาวนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) เหมือนกับกรณีการอ่านตะชะฮฺฮุดครั้งแรกยาว และการอ่านอัล-กุรอานในการกุหนูตเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) แต่ถ้าหากผู้ละหมาดอ่านก็ไม่ทำให้เสียละหมาดและให้สุหญูดสะฮฺวียฺ (อ้างแล้ว 3/479) 

 

ถามว่า ส่งเสริมให้ยกมือทั้งสองในการกุหนูตหรือไม่? กรณีนี้มี 2 ประเด็นในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ 

  • ประเด็นที่หนึ่ง ไม่ส่งเสริม เป็นประเด็นที่อิมามอัช-ชีรอซียฺ, อัล-ก็อฟฟ้าล และอัล-บะเฆาะวียฺ เลือกเอาไว้ อิมามอัล-หะเราะมัยนฺเล่าจากนักวิชาการในมัซฮับจำนวนมากซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักโดยให้เหตุผลว่า การขอดุอาอฺในขณละหมาดไม่ต้องยกมือเพื่อการขอดุอาอฺ เช่น การดุอาอฺขณะสุหญูดและดุอาอฺหลังการตะชะฮฺฮุดก่อนให้สล่าม เป็นต้น 
  • ประเด็นที่สอง ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ยกมือทั้งสองขณะทำการกุหนูต ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) ในหมู่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอิมามอบูซัยดฺ อัล-มัรฺวะซียฺ อิมามของชาวเมืองคุรอสาน, อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ ในตำรา อัต-ตะอฺลีก และอัล-มินฮาจญ์, ชัยคฺ อบูมุฮัมมัด, อิบนุ อัศ-ศอบบ๊าฆฺ, อัล-มุตะวัลลียฺ, อัล-เฆาะซาลียฺ และชัยคฺ นัศร์ อัล-มักดิสียฺ ในตำรา อัล-อินติค็อบ, อัต-ตะฮฺซีบ และ อัล-กาฟียฺของท่านทั้ง 3 เล่มเลือกประเด็นนี้ 

 

เจ้าของตำรา อัล-บะยาน กล่าวว่า : เป็นคำกล่าวของนักวิชาการส่วนมากในมัซฮับของเรา และอิมามอัล-บัยฮะกียฺก็เลือกประเด็นนี้โดยอาศัยหลักฐานจากหะดีษที่มีสายรายงานเศาะหิหฺหรือหะสันที่อิมามอัล-บัยฮะกียฺคัดสายรายงานออกไว้จากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ในเรื่องราวของบรรดานักท่องจำอัล-กุรอาน (อัล-กุรรออฺ) ที่ถูกสังหารว่า : “แท้จริงฉัน (ท่านอะนัส) เห็นท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ทุกครั้งเมื่อท่านละหมาดอัล-เฆาะดาอฺ (ศุบหิ) ท่านยกมือทั้งสองของท่านขอดุอาอฺสาปแช่งพวกเขา (พวกที่ฆ่าบรรดานักท่องจำอัล-กุรอาน)” และอิมามอัล-บัยฮะกียฺ (ร.ฮ.) ยังกล่าวอีกว่า : เพราะมีเศาะหาบะฮฺจำนวนหลายท่านยกมือของพวกท่านในการกุหนูต เช่น ท่านอุมัร (ร.ฎ.) เป็นต้น (อ้างแล้ว 3/479) 

 

ส่วนการลูบหน้าด้วยมือทั้งสองภายหลังจากเสร็จจากการดุอาอฺกุหนูตนั้น หากเรากล่าวว่า : ไม่ต้องยกมือทั้งสอง (ตามประเด็นที่ 1 ในเรื่องการยกมือขณะดุอาอฺกุหนูต) ก็ไม่มีบัญญัติให้ลูบหน้าโดยไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าหากเรากล่าวว่า : ให้ยกมือทั้งสองก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

  • ประเด็นที่หนึ่ง เป็นประเด็นที่รู้กันมากที่สุดใน 2 ประเด็น (อัชฮัรฺ) ถือว่าส่งเสริมให้ลูบหน้า อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ, อิบนุ อัศ-ศ็อบบาฆฺ, อัล-มุตะวัลลียฺ และชัยคฺ นัศร์ ตลอดจนอิมาม อัล-เฆาะซาลียฺและเจ้าของตำราอัล-บะยานชี้ขาดเอาไว้
  • ประเด็นที่สอง ไม่ต้องลูบหน้า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) อิมามอัล-บัยฮะกียฺ, อัร-รอฟิอียฺและนักปราชญ์ที่สันทัดกรณี (มุหักกิก) ท่านอื่นๆ ถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้อง อิมามอัล-บัยฮะกียฺกล่าวว่า : ฉันไม่เคยจดจำในเรื่องการลูบหน้า ณ ตรงนี้ (การกุหนูต) จากชนรุ่นสะลัฟคนใดเลย และถึงแม้ว่าจะถูกรายงานมาจากชนรุ่นสะลัฟบางคนในการ (ลูบหน้าหลังเสร็จสิ้นจากการขอ) ดุอาอฺนอกการละหมาดก็ตาม ส่วนในการละหมาดนั้นการลูบหน้าเป็นการกระทำที่ไม่มีหะดีษหรือร่องรอยใดๆ หรือการกิยาสใดๆ ยืนยันอย่างถูกต้อง ดังนั้นที่สมควรแล้วอย่าได้กระทำ และให้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งที่ชนรุ่นสะลัฟรายงานสิ่งนั้นมาจากการยกมือทั้งสองโดยไม่ต้องเอามือทั้งสองมาลูบหน้าในการละหมาด (อ้างแล้ว 3/480) 

 

ส่วนการใช้มือลูบส่วนอื่นที่มิใช่ใบหน้า เช่น หน้าอก เป็นต้น นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเห็นพ้อง (อิต-ติฟาก) ว่าไม่เป็นที่ส่งเสริม ยิ่งไปกว่านั้น อิบนุ อัศ-ศอบบ๊าฆฺและท่านอื่นๆกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) (อ้างแล้ว 3/481) 

 

ถามว่า เมื่ออิมามทำการกุหนูตในละหมาดศุบหิ (หรือละหมาดวิตร์) อิมามจะอ่านกุหนูตเสียงดังหรือไม่? กรณีนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ที่รู้กันในหมู่นักวิชาการชาวเมืองคุรอสานและกลุ่มหนึ่งจากนักวิชาการชาวอิรักเล่าเอาไว้ ส่วนหนึ่งคือเจ้าของตำรา อัล-หาวียฺ

  • ประเด็นที่หนึ่ง ไม่อ่านกุหนูตเสียงดัง เช่นเดียวกับกรณีการอ่านตะชะฮฺฮุดและดุอาอฺในละหมาดทั่วไป
  • ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) ส่งเสริมให้อ่านกุหนูตเสียงดัง นักวิชาการชาวอิรักส่วนมากชี้ขาดเอาไว้ ส่วนกรณีของผู้ละหมาดคนเดียวนั้นให้อ่านกุหนูตค่อยโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ ทั้งนี้อัล-มาวัรฺดียฺ, อัล-บะเฆาะวียฺ และท่านอื่นระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในกรณีนี้

 

ส่วนกรณีของมะอฺมูมนั้น ถ้าหากเรากล่าวว่าอิมามไม่ต้องอ่านกุหนูตเสียงดัง ก็ให้มะอฺมูมอ่านกุหนูตค่อยๆ แต่ถ้าหากเรากล่าวว่า ให้อิมามกุหนูตเสียงดังตามประเด็นที่สองข้างต้น ก็ให้พิจารณาว่าหากมะอฺมูมได้ยินการอ่านกุหนูตของอิมามก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ในหมู่นักวิชาการชาวเมืองคุรอสาน 

  • ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) ให้มะอฺมูมที่ได้ยินนั้นกล่าวอามีนรับการดุอาอฺของอิมามโดยที่มะอฺมูมไม่ต้องอ่านกุหนูต ตามนี้นักวิชาการส่วนมากในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ 
  • ประเด็นที่สอง ให้มะอฺมูมเลือกเอาระหว่างการกล่าวอามีน และการอ่านกุหนูตอย่างใดอย่างหนึ่ง 

 

ดังนั้นหากเรากล่าวว่าให้มะอฺมูมกล่าวอามีน ก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

  • ประเด็นที่หนึ่ง ให้มะอฺมูมกล่าวอามีนในการกุหนูตทั้งหมด 
  • ประเด็นที่สอง ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) และนักวิชาการส่วนมากในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ คือ ให้มะอฺมูมกล่าวอามีนเฉพาะในส่วนของถ้อยคำทั้งห้าซึ่งเป็นสำนวนของการขอดุอาอฺในการกุหนูตเท่านั้น ส่วนสำนวนที่เป็นถ้อยคำสรรเสริญ คือประโยคที่ว่า ‭‬فَإِنَّكَ‭ ‬تَقْضِىْ‭ ‬وَلَايُقْضى‭ ‬عَلَيْكَ ‬ เรื่อยไปนั้นให้มะอฺมูมร่วมกับอิมามในการกล่าว (คือกล่าวประโยคนั้นพร้อมกับอิมามมิใช่กล่าวอามีนรับประโยคที่ว่านั้นเพราะมิใช่สำนวนดุอาอฺแต่เป็นสำนวนการสรรเสริญ) หรือให้มะอฺมูมสงบนิ่ง แต่การกล่าวร่วม (มุชา-เราะกะฮฺ) กับอิมามเป็นสิ่งที่ดีกว่า (เอาวฺลา) 

 

แต่ถ้าหากมะอฺมูมไม่ได้ยินการอ่านกุหนูตของอิมาม อันเนื่องมาจากอยู่ไกลหรืออื่นๆ กรณีนี้มี 2 ประเด็น 

  • ที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) ให้มะอฺมูมนั้นอ่านดุอากุหนูต  
  • ประเด็นที่สอง ให้มะอฺมูมกล่าวอามีน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นกรณีการกุหนูตในละหมาดศุบหิ  และในกรณีมีการกุหนูตในละหมาดวิตร์ในช่วงครึ่งหลังจากเดือนเราะมะฎอน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่3/481) 

 

 

สิ่งที่ถูกอ่านในการละหมาดวิตร์

นักวิชาการในมัซฮับอัชชาฟิอียฺกล่าวว่า : ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับบุคคลที่ทำการละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺในการอ่านสูเราะฮฺภายหลังอัล-ฟาติหะฮฺในรอกอะฮฺแรก คือสูเราะฮฺ อัล-อะอฺลา (สับบิหิส) ในรอกอะฮฺที่สอง คือ อัล-กาฟิรูน และในรอกอะฮฺที่ 3 คือ สูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ และ อัล-มุเอาวฺวิซะตัยนฺ (อัล-ฟะลัก – อันนาส) เนื่องจากมีอัลหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ระบุเอาไว้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) อ่านบรรดาสูเราะฮฺดังกล่าว (อ้างแล้ว 3/511) อัล-กอฎียฺ อิยาฏ (ร.ฮ.) เล่าเอาไว้จากบรรดาปวงปราชญ์ และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ตลอดจน อบูดาวูด (ร.ฮ.) ก็กล่าวตามนี้ ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) อัษ-เษารียฺ (ร.ฮ.) และอิสหาก (ร.ฮ.) ก็กล่าวไว้เช่นเดียวกัน แต่กล่าวว่า ไม่ต้องอ่านสูเราะฮฺ  อัล-ฟะลักและ อัน-นาส ในรอกอะฮฺที่ 3 (อ่านสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศเพียงบทเดียว)

 

และถูกเล่าจากอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) เช่นเดียวกับนักวิชาการฝ่ายนี้ และอัต-ติรฺมิซียฺได้ถ่ายทอดทัศนะนี้จากบรรดานักปราชญ์รุ่นเศาะหาบะฮฺและรุ่นถัดมาส่วนมาก แต่หลักฐานของนักวิชาการฝ่ายแรกที่ว่าให้อ่าน “อัล-มุเอาวฺวิซะตัยนฺ” ด้วยนั้นคือหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งบันทึกโดยอบูดาวุดและอัต-ติรฺมิซียฺ ซึ่งระบุว่าเป็นหะดีษหะสัน และอบูดาวูด, อัน-นะสาอียฺ และอิบนุมาญะฮฺรายงานจากท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) และอัต-ติรฺมิซียฺ อัน-นะสาอียฺและอิบนุมาญะฮฺรายงานจากท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ซึ่งใน 2 รายงานนี้ไม่มีระบุสูเราะฮฺทั้งสอง แต่มีระบุในรายงานของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (อ้างแล้ว 3/512) จึงให้ถือเอารายงานที่มีระบุเพิ่มเติมมาใช้ เพราะการระบุเพิ่มเติมจากผู้รายงานที่เชื่อถือได้นั้นย่อมถูกยอมรับ วัลลอฮุอะอฺลัม (อ้างแล้ว 3/520) 

 

อนึ่ง ชัยคฺ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า : “และปรากฏว่าบางทีท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็อ่านเพิ่มสูเราะฮฺอัล-ฟะลัก และ อัน-นาส เข้าไปยังสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศในบางครั้ง” บันทึกโดย อัต-ติรมิซียฺ และอบุลอับบาส อัล-อะศ็อมฺ ในตำราหะดีษของเขา เล่มที่ 2 หะดีษเลขที่ 117 และบันทึกโดยอัล-หากิม ซึ่งระบุว่าเป็นหะดีษเศาะหิหฺ และอัซ-ซะฮฺบียฺเห็นพ้อง ชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) มิได้วิจารณ์หะดีษที่ระบุ “อัล-มุเอาวฺ วิซะตัยนฺ” เพิ่มเข้ามาในการอ่านต่อจากสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ ในรอกอะฮฺที่ 3 ของละหมาดวิตร์แต่อย่างใด (ศิฟะตุเศาะลาตินนบี, ชัยคฺ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ หน้า 90 สำนักพิมพ์ อัล-มักตับ อัล-อิสลามียฺ 1978) 

 

 

ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับละหมาดวิตร์

ในกรณีของบุคคลที่ทำละหมาดวิตร์ 3 รอกอะฮฺนั้นเราได้กล่าวมาแล้วถึงทัศนะที่แตกต่างกันของนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเกี่ยวกับการละหมาดแบบแยก (ทำ 2 รอกอะฮฺแล้วให้สล่าม และขึ้นทำอีก 1 รอกอะฮฺและให้สล่าม) และการละหมาดแบบเชื่อม (ทำ 3 รอกอะฮฺ 1 สล่าม) ว่ากระทำแบบไหนที่ถือว่าประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) ซึ่งประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุนเศาะหิหฺ) ถือว่าการทำแบบแยกมีความประเสริฐกว่า เป็นคำกล่าวของท่าน อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.), มุอาซฺ อัล-กอรีอฺ, อับดุลลอฮฺ อิบนุ อิย็าช อิบนิ อบีเราะบีอะฮฺ, อิมามมาลิก, อิมามอะหฺมัด, อิสหาก และอบูเษาริน (ร.ฮ.) อิมามอัล-เอาวฺซาอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ทั้งสองแบบนั้นดีทั้งคู่ และอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ไม่อนุญาตนอกเสียจากละหมาดวิตร์แบบเชื่อม (3 รอกอะฮฺ 1 สล่าม) เท่านั้น (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/520) 

 

กรณีการกุหนูตในละหมาดวิตร์นั้นได้กล่าวมาแล้วว่า ประเด็นที่รู้กัน (มัชฮูรฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ คือส่งเสริมให้ทำการกุหนูตในละหมาดวิตร์ในช่วงครึ่งหลังจากเดือนเราะมะฎอนโดยเฉพาะ และอิบนุอัล-มุนซิรฺ เล่าประเด็นนี้จาก ท่านอุบัยฺ อิบนุ กะอบ์, ท่านอิบนุ อุมัร, อิบนุ สีรีน, อัซ-ซุบัยรียฺ, ยะหฺยา อิบนุ วัษษาบ, อิมามมาลิก, อิมามอัช-ชาฟิอียฺ, อิมามอะหฺมัด y และอิบนุ อัล-มุนซิรฺ เล่าจากท่านอิบนุ มัสอู๊ด, อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, อัน-นะเคาะอียฺ, อิสหาก และอบูเษาริน (ร.ฎ.) ว่า : ให้ผู้ละหมาดทำการกุหนูตในการละหมาดวิตร์ในช่วงเวลาตลอดทั้งปี เป็นมัซฮับของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และเป็นริวายะฮฺหนึ่งจากอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ตลอดจนนักวิชาการกลุ่มหนึ่งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวเอาไว้ และอิบนุ อัล-มุนซิรเล่าจากท่านฏอวูส (ร.ฮ.) ว่า : การกุหนูตละหมาดวิตร์เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) อันเป็นริวายะฮฺหนึ่งจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) (อ้างแล้ว 3/520) 

 

อนึ่ง ในกรณีการอ่านกุหนูตทั้งในละหมาดวิตร์และละหมาดศุบหินั้น มีคำกล่าวของนักปราชญ์บางท่านระบุว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ดังกรณีของท่านฏอวูส (ร.ฮ.) ที่กล่าวว่า การกุหนูตในละหมาดวิตร์เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และหะดีษที่ท่านสะอฺด์ อิบนุ ฏอริก รายงานจากบิดาของท่านถึงเรื่องการกุหนูตในละหมาดศุบหิว่าการกุหนูตในการละหมาดศุบหิเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) หรืออัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า : การกุหนูตในละหมาดศุบหิเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เป็นต้น ทั้งหมดเป็นข้อยืนยันว่า การปฏิบัติศาสนกิจอันเป็นข้อปลีกย่อยในด้านศาสนานั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีคำกล่าวในทำนองชี้ขาดว่า เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) แต่คำกล่าวในทำนองนี้ใช่ว่าจะถูกต้องหรือสมจริงเสมอไป เพราะในหลายกรณีคำกล่าวที่ว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ของนักวิชาการบางท่านค้านกับตัวบทที่ถูกต้อง ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ยึดเป็นหลักฐานในการปฏิบัติศาสนกิจ

 

ดังนั้นใช่ว่าทุกคำกล่าวที่ชี้ขาดว่าการกระทำเรื่องหนึ่งเรื่องใดในประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนาว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะเป็นไปได้ว่าเหตุที่นักวิชาการผู้นั้นชี้ขาดการกระทำบางอย่างว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) อาจจะมาจากการที่หะดีษซึ่งเป็นหลักฐานชี้ขาดว่าเป็นสุนนะฮฺหรือส่งเสริมหรืออนุญาตให้กระทำได้ไปไม่ถึงการรับรู้ของนักวิชาการผู้นั้น ซึ่งหากนักวิชาการผู้นั้นรับรู้ถึงหะดีษที่เป็นหลักฐานในเรื่องนั้นๆ นักวิชาการผู้นั้นก็คงไม่ชี้ขาดหรือระบุว่าการกระทำในเรื่องนั้นๆ เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) 

 

ดังนั้นการด่วนสรุปในประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนาว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) โดยไม่พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานและมุมมองการวิเคราะห์ของนักวิชาการผู้สันทัดกรณีจึงเป็นเรื่องที่มุสลิมต้องพึงระวัง เพราะในบางครั้งอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายบิดเบือนข้อเท็จจริงและค้านกับตัวบทที่มีระบุมาอย่างถูกต้องในสุนนะฮฺได้

วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก

 

ส่งเสริม (มุสสตะหับ) ให้ผู้ละหมาดวิตร์กล่าวประโยคดังต่อไปนี้ภายหลังเสร็จสิ้นจากละหมาดวิตร์แล้ว

سُبْحَانَ‭ ‬الْمَلِكِ‭ ‬اْلقُدُّوْسِ

“มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ผู้ทรงอำนาจปกครอง  พระผู้ทรงบริสุทธิ์จากสิ่งบกพร่องทั้งปวง” 

 

โดยให้กล่าวประโยคนี้ 3 ครั้ง และให้กล่าวว่า :

أَللّهُمَّ‭ ‬إِنِيْ‭ ‬أَعُوْذُ‭ ‬بِرِضَاكَ‭ ‬مِنْ‭ ‬سَخَطِكَ‭ ‬،‭ ‬وَبِمُعَافَاتِكَ‭ ‬مِنْ‭ ‬عُقُوْبَتِكَ‭ ‬،‭ ‬وَأَعُوْذُبِكَ‭ ‬مِنْكَ‭ ‬،‭ ‬لَا‭ ‬أَحْصِىْ‭ ‬ثَنَاءً‭ ‬عَلَيْكَ‭ ‬أَنْتَ‭ ‬كَمَا‭ ‬أَثْنَيْتَ‭ ‬عَلَى‭ ‬نَفْسِكَ‭ ‬

“โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงข้าพระองค์ขอความคุ้มครองด้วยความพอพระทัยของพระองค์จากความกริ้วของพระองค์ และต่อการลุแก่โทษของพระองค์จากการลงทัณฑ์ของพระองค์ และขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากพระองค์ท่าน ข้าพระองค์มิอาจสรรเสริญพระองค์ท่านอย่างครบถ้วน พระองค์ทรงเป็นไปตามสิ่งที่พระองค์ทรงสรรเสริญพระองค์เอง”

ในเรื่องการกล่าวประโยคข้างต้นมีหะดีษเศาะหิหฺระบุไว้ในสุนันอบีดาวูดและท่านอื่นๆ (อ้างแล้ว 3/511) 

 

เมื่อบุคคลได้ทำการละหมาดวิตร์แล้ว ต่อมาผู้นั้นก็ประสงค์ที่จะทำการละหมาดสุนนะฮฺทั่วไป (อัน-นาฟิละฮฺ) หรืออื่นๆ ในค่ำคืนนั้น ก็เป็นที่อนุญาตให้กระทำได้โดยไม่มีข้อน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) แต่อย่างใด และผู้นั้นไม่ต้องละหมาดวิตร์อีก เหตุที่อนุญาตให้กระทำละหมาดอื่นๆ หลังการละหมาดวิตร์แล้วทั้งๆ ที่มีหะดีษเศาะหิหฺระบุว่า ละหมาดสุดท้ายในยามค่ำคืนของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือละหมาดวิตร์ และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็มีคำสั่งใช้ให้กระทำละหมาดวิตร์เป็นละหมาดสุดท้ายในยามค่ำคืน เพราะมีหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ i ซึ่งในตอนท้ายของอัล-หะดีษระบุว่า :

ثُمَّ‭ ‬يُصَلِّىْ‭ ‬رَكْعَتَيْنِ‭ ‬بَعْدَ‭ ‬مَا‭ ‬يُسَلِّمُ‭ ‬وَهُوَ‭ ‬قَاعِدٌ

“ต่อมาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ละหมาด 2 รอกอะฮฺภายหลังสิ่งที่ท่านได้ให้สล่าม (คือละหมาดวิตร์) ในสภาพที่ท่านนั่ง (ละหมาด 2 รอกอะฮฺนั้น) (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : อัล-หะดีษบทนี้ถูกอธิบายความได้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ละหมาด 2 รอกอะฮฺภายหลังการละหมาดวิตร์เพื่อเป็นการแจ้งให้ทราบว่าอนุญาตให้ทำการละหมาดหลังการทำละหมาดวิตร์ได้ ไม่ได้หมายความว่ามีสุนนะฮฺให้ละหมาด 2 รอกอะฮฺในสภาพที่นั่งละหมาดภายหลังเสร็จการละหมาดวิตร์โดยเข้าใจว่าเป็นสุนนะฮฺเฉพาะที่แข็งแรงหรือท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กระทำเป็นประจำ ความเข้าใจเช่นนี้ไม่ถูกต้อง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 512)

 

วัลลอฮุอะอฺลัม