บทที่ว่าด้วยการละหมาดอีดทั้งสอง และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดอีด

باب‭ ‬صلاة‭ ‬العيدين‭ ‬وما‭ ‬يتعلق‭ ‬بها

บทที่ว่าด้วยการละหมาดอีดทั้งสอง และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดอีด

ความหมาย

คำว่า อัล-อีด ‬اَلْعِيْدُ‬ แตกมาจากรากศัพท์ว่า อัล-เอาวฺดุ‭ ‬اَلْعَوْدُ‭  ‬ หมายถึง การหวนกลับ, การย้อนคืน เพราะวันอีดจะหวนกลับมาซ้ำเมื่อครบรอบ คำว่า อัล-อีด ‭‬اَلْعِيْدُ ‬มีคำนามพหูพจน์ว่า อะอฺยาดุน‭ ‬أَعْيَادٌ‭ ‬โดยปริยายเรียกวันที่มีการรวมตัวหรือชุมนุม หรือมีการรำลึกถึงเกียรติประวัติของบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญๆ ว่า “วันอีด” บ้างก็ว่า ที่เรียกกันว่า “วันอีด” เพราะว่าวันอีดจะหวนกลับมาในทุกปีพร้อมกับความปิติยินดีที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ เหตุนี้จึงเรียกวันอีดว่า วันเฉลิมฉลองหรือวันครบรอบ ส่วนที่เรียกว่า “วันตรุษ” นั้นดูจะไม่ตรงนัก เพราะวันตรุษหมายถึงเทศกาลเนื่องในการสิ้นปี ซึ่งกำหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 4 (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หน้า 323)

 

เพราะวันอีดในศาสนาอิสลามโดยศาสนบัญญัติ (อัล-อีด อัช-ชัรฺอียฺ) มีเพียง 2 วันคือ วันอีด อัล-ฟิฏร์ ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาว็าลตามปฏิทินอิสลาม และวันอีด อัล-อัฎหาตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ อันเป็นเดือนในลำดับที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม  ซึ่งวันอีดทั้งสองมิใช่วันสิ้นปีหรือวันขึ้นปีใหม่ และไม่ได้ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 จึงไม่สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “วันตรุษ” แต่อย่างใด และตามตัวบทที่มีรายงานในอัล-หะดีษระบุว่า “วันอะเราะฟะฮฺ” (วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮฺซึ่งเป็นวันที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์จะทำการวุกู๊ฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ) “วันเชือด” (คือวันอีด อัล-อัฎหาตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ) และบรรดาวันตัชรีก (วันที่ 11, 12 และ 13 เดือนซุลหิจญะฮฺ) ทั้งหมด 5 วันเป็นช่วงเวลาของวันอีดอัล-อัฎหา การกล่าวว่า วันอีดในศาสนาอิสลามมี 2 วันจึงเป็นการกล่าวโดยสรุปเท่านั้นเพราะการละหมาดสุนนะฮฺวันอีดจะกระทำในวันที่ 1 เดือนเชาว็าล (อีด อัล-ฟิฏร์) และวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ (อีด อัล-อัฎหา) แต่โดยตัวบทของอัล-หะดีษระบุวันอะเราะฟะฮฺและบรรดาวันอัต-ตัชรีกทั้ง 3 วันเข้าไปในช่วงเวลาของวันอีด อัล-อัฎหาด้วย 

 

ส่วนการจัดงานครบรอบที่เรียกว่าวันอีดอัล-อับ (วันพ่อ) อีดอัล-อุมม์ (วันแม่) อีดอัล-วะฏอน (วันชาติ) นั่นเป็นการเรียกตามความหมายทางภาษา (อีดลุเฆาะวียฺ) ที่มีความหมายตามจารีตประเพณีคือ วันครบรอบที่ย้อนกลับมาในทุกๆ ปีเท่านั้น หาใช่เป็นวันอีดตามศาสนบัญญัติ (อีดชัรฺอียฺ) และไม่ถือว่าวันครบรอบที่มีจารีตประเพณีเป็นตัวกำหนดเป็นวันสำคัญทางศาสนา หากแต่เป็นประเพณีทางโลกที่ผู้คนให้ความสำคัญเท่านั้น ซึ่งถ้าหากวันครบรอบปีดังกล่าว (เช่น วันพ่อ วันแม่ และวันชาติ) ไม่มีสิ่งใดที่ขัดต่อหลักการของศาสนาก็ย่อมสามารถเข้าร่วมหรือจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวนั้นได้ตามกรอบที่ศาสนากำหนดไว้

วัลลอฮุอะอฺลัม

 

 

การกำหนดวันอีดทั้งสอง

การกำหนดวันที่ 1 เดือนเชาว็าลซึ่งเป็นวันอีด อัล-ฟิฏร์และวันที่ 1 เดือนซุลหิจญะฮฺซึ่งเป็นเหตุให้รู้ลำดับของวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮฺ (วันอะเราะฟะฮฺ) และวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ (วันอีด อัล-อัฎหา) รวมถึงวันอัต-ตัชรีกหลังจากนั้นเป็นผลมาจากการดูจันทร์เสี้ยวในช่วงหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของวันที่ 29 ค่ำลงของเดือนเราะมะฎอนในกรณีการกำหนดวันอีดิลฟิฏร์ และวันที่ 29 ค่ำลงของเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺในกรณีกำหนดวันอีดิลอัฎหาซึ่งการตรวจสอบผลการดูจันทร์เสี้ยวในวันเวลาดังกล่าวและการประกาศผลการดูจันทร์เสี้ยวอย่างเป็นทางการถือเป็นอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี ตามมาตรา 8 (3) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 “ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา 35 (11) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา” ซึ่งมาตรา 35 (11) ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามประจำมัสญิดมีอำนาจหน้าที่ดูดวงจันทร์และแจ้งผลการดูดวงจันทร์ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

 

เมื่อการออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาเป็นอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีซึ่งมีสถานภาพเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 การออกประกาศเพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาของจุฬาราชมนตรีจึงถือเป็นข้อยุติและเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมในประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามการออกประกาศนั้น โดยนักวิชาการในศาสนาอิสลามเห็นพ้องตรงกันว่า : 

‭…‬أَنَّ‭ ‬حُكْمَ‭ ‬الْحَاكِمِ‭ ‬،‭ ‬أَوْ‭ ‬قَرَارَوَلِيّ‭ ‬الْأَمْرِ‭ ‬يَرْفَعُ‭ ‬الخِلَافَ‭ ‬في‭ ‬الأمُوْرِ‭ ‬المُخْتَلَفِ‭ ‬فِيْهَا

“แท้จริงการชี้ขาดของผู้ปกครองหรือการแถลงการณ์ (เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว) ของผู้นำกิจการศาสนาอิสลาม (วะลียุล อัมร์) จะเป็นสิ่งที่ยกข้อขัดแย้งในบรรดาเรื่องราวที่มีความเห็นต่างนั้นออกไป”

 

กล่าวคือ เมื่อผู้นำกิจการศาสนาอิสลามให้น้ำหนักแก่ทัศนะหนึ่งทัศนะใดที่นักวิชาการมีความเห็นต่างกันในประเด็นข้อปัญหานั้น การให้น้ำหนักของผู้นำกิจการศาสนาอิสลามถือเป็นข้อยุติโดยชอบแล้วและเป็นหน้าที่สำหรับชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยที่ผู้นำให้น้ำหนักนั้นโดยเคร่งครัด เพราะถือเป็นการปฏิบัติตาม (ฏออะฮฺ) ในสิ่งที่ชอบตามศาสนบัญญัติ ถึงแม้ว่าการให้น้ำหนักนั้นจะเป็นสิ่งที่มุสลิมผู้นั้นมีความเห็นขัดแย้งก็ตาม (ฟิกฮุศศิยาม, ดร.ยูสุฟ อัล-กอรฎอวียฺ หน้า 32) 

 

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า นักนิติศาสตร์อิสลามมีทัศนะต่างกันในประเด็นที่ว่าด้วยผลของการเห็นจันทร์เสี้ยว (รุอฺยะฮฺ อัล-ฮิลาล) ว่าเมื่อดินแดนหนึ่งของโลกมีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว การรับรู้ข่าวการเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นมีผลบังคับต่อผู้คนในดินแดนอื่นของโลกที่ไม่มีผู้เห็นจันทร์เสี้ยวหรือไม่? ตลอดจนการประกาศกำหนดวันวุกู๊ฟที่อะเราะฟะฮฺ ของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียมีผลในการกำหนดวันอีด อัล-อัฎหาในประเทศอื่นๆ หรือไม่? ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัญหาข้อปลีกย่อย (อัล-มะสาอิล อัล-ฟุรูอียะฮฺ) ทางนิติศาสตร์อิสลามซึ่งนักวิชาการมีทัศนะที่เห็นต่างกัน  การอภิปรายและถกเถียงในเชิงวิชาการและมิใช่วิชาการในประเด็นนี้มีมาอย่างยาวนานและกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาที่หาข้อยุติและบทสรุปแบบเด็ดขาดมิได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีมุมมองและวิเคราะห์ด้วยตัวบทหลักฐานตลอดจนเหตุผลตามฝ่ายของตน ทางออกของปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่ว่าทัศนะของฝ่ายใดถูกต้องหรือผิดพลาด ไม่ได้อยู่ที่หลักฐานของฝ่ายใดแข็งกว่าหรือมีน้ำหนักกว่า เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วทั้งสองฝ่ายอ้างและอาศัยหลักฐานจากตัวบทเดียวกัน แต่มีมุมมองและการวิเคราะห์ตัวบทที่แตกต่างกัน ทางออกของปัญหาจึงอยู่ที่การให้น้ำหนัก (อัต-ตัรฺญีหฺ) ของผู้นำประชาคมมุสลิมหรือองค์กรสูงสุดทางศาสนาอิสลามในแต่ละประเทศ

 

เมื่อมีการให้น้ำหนักแก่ทัศนะหนึ่งทัศนะใดโดยการประกาศของผู้นำประชาคมมุสลิมหรือองค์กรสูงสุดทางศาสนาอิสลามในประเทศนั้นๆ แล้วก็ย่อมถือเป็นข้อยุติ และประชาคมมุสลิมในประเทศนั้นๆ ก็จำต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดเพราะการปฏิบัติตามในเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่ชอบ (มะอฺรูฟ) ตามหลักการของศาสนา ถึงแม้ว่าการให้น้ำหนักแก่ทัศนะหนึ่งทัศนะใดในประเด็นข้อปัญหานั้นจะค้านกับทัศนะของอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม ทั้งนี้การให้น้ำหนักในประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนาที่นักวิชาการมีความเห็นต่างมิใช่เป็นการค้านต่อกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ หากแต่เป็นการให้น้ำหนักแก่ทัศนะของนักวิชาการที่มีมุมมองและวิเคราะห์ตัวบทจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺนั่นเอง

 

ดังนั้น เมื่อจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย การให้น้ำหนักในกรณีการประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาของจุฬาราชมนตรีจึงถือเป็นข้อยุติ ที่ประชาคมมุสลิมในประเทศไทยจำต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ไม่ว่าจุฬาราชมนตรีจะวินิจฉัยแล้วให้น้ำหนักกับทัศนะของนักวิชาการฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม กล่าวคือ หากจุฬาราชมนตรีประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามผลการดูดวงจันทร์ภายในประเทศ ประชาคมมุสลิมก็จำต้องปฏิบัติตาม เพราะในกรณีนี้จุฬาราชมนตรีได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะของนักวิชาการที่ระบุว่า แต่ละดินแดนนั้นให้ถือผลการดูจันทร์เสี้ยวของตน ถึงแม้ว่าผลการดูจันทร์เสี้ยวในประเทศอื่นจะมีผลเป็นอย่างอื่นก็ตาม

 

และหากจุฬาราชมนตรีประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามผลการดูดวงจันทร์ในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีการเห็นจันทร์เสี้ยว แต่ในประเทศไทยไม่มีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว ประชาคมมุสลิมก็จำต้องปฏิบัติตาม เพราะในกรณีนี้จุฬาราชมนตรีได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะของนักวิชาการที่ระบุว่า เมื่อมีการยืนยันผลการเห็นจันทร์เสี้ยวในดินแดนหนึ่งก็จำเป็นที่ดินแดนอื่นต้องถือตามผลการเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นด้วย ถึงแม้ว่าประชาคมมุสลิมบางส่วนในประเทศไทยจะถือในแนวทางของนักวิชาการฝ่ายแรกที่ระบุว่า แต่ละดินแดนนั้นให้ถือตามผลการดูจันทร์เสี้ยวของตนก็ตาม และหากว่าจุฬาราชมนตรีจะถือเอาการประกาศผลการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนซุลหิจญะฮฺ และวันที่ 10 เดือนเดียวกันเป็นวันอีดิลอัฎหา มุสลิมในประเทศไทยก็จำต้องปฏิบัติตามคำประกาศนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับการประกาศกำหนดวันอะเราะฟะฮฺของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียก็ตาม

 

และหากว่าจุฬาราชมนตรีจะถือตามการประกาศของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียเพื่อกำหนดวันวุกู๊ฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นเกณฑ์ในการกำหนดวันอีดิลอัฎหาในประเทศไทยก็ตาม ประชาคมมุสลิมไทยก็จำต้องปฏิบัติตามคำประกาศของจุฬาราชมนตรีเช่นกัน เพราะในกรณีนี้จุฬาราชมนตรีได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะของนักวิชาการฝ่ายที่ระบุว่า การกำหนดวันอีดิลอัฎหาต้องถือเอาวันวุกุ๊ฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺเป็นเกณฑ์ ถึงแม้ว่าประชาคมมุสลิมในประเทศไทยจะไม่ถือตามทัศนะชองนักวิชาการฝ่ายนี้ก็ตาม ทางออกของปัญหาในการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาจึงอยู่ที่การถือตามคำประกาศของจุฬาราชมนตรีอย่างเป็นทางการเท่านั้น

วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก

 

 

ข้อชี้ขาดของการละหมาดวันอีดทั้งสอง

อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : ประชาคมมุสลิมมีมติเป็นเอกฉันท์ (อิจญ์มาอฺ) ว่าการละหมาดวันอีดเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ (มัชรูอะฮฺ) ตามหลักการของศาสนาและมีมติเป็นเอกฉันท์ (อิจญ์มาอฺ) ว่าการละหมาดวันอีดไม่ใช่ฟัรฎูอัยนฺ ทั้งนี้อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และปวงปราชญ์ในมัซฮับระบุเป็นตัวบทว่าการละหมาดวันอีดเป็นสุนนะฮฺ ส่วนอัล-อิศเฏาะคิรียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่าเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ ดังนั้นหากเรากล่าวว่า การละหมาดวันอีดเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ พวกเขา (ผู้ที่ขัดขืนไม่ยอมให้จัดละหมาดอีด) ก็ย่อมถูกสู้รบเนื่องด้วยเหตุละทิ้งการละหมาดอีด และถ้าหากเรากล่าวว่า การละหมาดอีดเป็นสุนนะฮฺ พวกเขาก็จะไม่ถูกสู้รบเนื่องด้วยเหตุละทิ้งการละหมาดอีดตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) และอบูอิสหาก อัล-มัรฺวะซียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า พวกเขา (ผู้ที่ขัดขืนไม่ยอมจัดละหมาดอีด) จะถูกสู้รบ (จากกองทหารของผู้ปกครองในรัฐอิสลามเพื่อกดดันให้ชุมชนมุสลิมที่แข็งขืนนั้นจัดการละหมาดอีด) แต่ปวงปราชญ์ (ญุมฮูรฺ อัล-อุละมาอฺ) จากชนรุ่นสะลัฟและเคาะลัฟถือว่าการละหมาดอีดเป็นสุนนะฮฺไม่ใช่ฟัรฎูกิฟายะฮฺ

 

ส่วนคำกล่าวของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำรา อัล-มุคตะศ๊อรฺ ที่ระบุว่า “ผู้ใดที่การมาร่วมละหมาดวันศุกร์เป็นหน้าที่จำเป็นเหนือเขา การมาร่วมละหมาดอีดทั้งสองก็เป็นหน้าที่จำเป็นเหนือผู้นั้น” คำกล่าวนี้ถูกตีความว่าหมายถึง การละหมาดอีดนั้นเป็นเรื่องที่เน้นหนัก (มุอักกัด) ในสิทธิของผู้จำเป็นต้องมาละหมาดวันศุกร์ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 5-6) 

 

สรุปได้ว่า การละหมาดวันอีดทั้งสองเป็นสุนนะฮฺ ที่เน้นหนัก (มุตะอักกิดะฮฺ) ในมัซฮับ อัช-ชาฟีอียฺ และอิมามมาลิก, อบูหะนีฟะฮฺ, ดาวูด และปวงปราชญ์ (ร.ฮ.) ก็กล่าวตามนี้ ส่วนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-หะนะฟียฺบางส่วนกล่าวว่า : เป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ และมีรายงานจากอิมามอะหมัด (ร.ฮ.) 2 ริวายะฮฺเช่นเดียวกับ 2 มัซฮับที่กล่าวมา (คือริวายะฮฺหนึ่งระบุว่าเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ และอีกริวายะฮฺหนึ่งระบุว่าเป็นฟัรฺฏูกิฟายะฮฺ) (อ้างแล้ว 5/10) 

 

 

กำหนดเวลาของการละหมาดอีด

อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟีอียฺ มีความเห็นตรงกันว่าช่วงเวลาแรกของการละหมาดอีดนั้นมี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

  • ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะฮฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ซึ่งอิมามอัช-ชีรอซียฺ และเจ้าของตำรา อัช-ชามิล, อิมามอัรฺ-รูยานียฺ และท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้ คือ เริ่มเข้าเวลานับแต่ช่วงแรกของดวงตะวันขึ้น และช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุด (อัฟฎ็อล) คือ ให้ล่าช้าการละหมาดอีดออกไปจนกระทั่งดวงตะวันขึ้นสูงขนาด 1 ด้ามหอก (ประมาณ 15-20 นาทีหลังเวลาดวงตะวันขึ้น) 
  • ประเด็นที่สอง ถือว่าจะเข้าเวลาด้วยการที่ดวงตะวันขึ้นสูงแล้ว ตามประเด็นที่สองนี้ อัล-บันดะนัยญีย, อิมามอัช-ชีรอซียฺในตำราอัต-ตัมบีฮฺชี้ขาดเอาไว้ และเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดจากคำกล่าวของอัศ-ศอยดะลานียฺ, อัล-บะเฆาะวียฺและท่านอื่นๆ ทั้งนี้ บรรดาตัวบท (นัศ) ของอิมามอัช-ชาฟีอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาอัล-อัศหาบฺระบุตรงกันว่าส่งเสริมให้รีบละหมาดอีดอัล-อัฎหา และล่าช้าการละหมาดอีดอัล-ฟิฏร์ เพื่อให้มีเวลามากพอสำหรับการออกซะกาตฟิฏร์ก่อนหน้าการละหมาดอีดอัล-ฟิฏร์ และเพื่อที่จะได้รีบไปยังการเชือดกุรฺบาน (อุฏหิยะฮฺ) หลังการละหมาดอีดอัล-อัฎหาของอิมามเสร็จสิ้น 

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า ดังนั้นหากบุคคลพลาดการละหมาดอีดพร้อมกับอิมาม ก็ให้บุคคลผู้นั้นละหมาดอีดเพียงลำพัง และถือว่าการละหมาดอีดของบุคคลนั้นเป็นการปฎิบัติ (อะดาอฺ) ในเวลาตราบใดที่ดวงตะวันของวันอีดนั้นยังไม่คล้อย ส่วนผู้ใดที่ยังไม่ได้ละหมาดอีดจนกระทั่งดวงตะวันของวันอีดคล้อยแล้ว ก็ถือว่าการละหมาดอีดของผู้นั้นผ่านพ้นเขาไปแล้ว ถามว่าส่งเสริมให้ละหมาดอีดชดใช้ (เกาะฎออฺ) หรือไม่? ในประเด็นนี้มีคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนี่) ถือว่าส่งเสริมให้ละหมาดอีดชดใช้ ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เมื่อการละหมาดอีดพร้อมกับอิมามพลาดไปจากผู้นั้น ผู้นั้นก็ไม่ต้องปฎิบัติละหมาดอีดนั้นแต่อย่างใดเลย (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 7) 

 

อนึ่ง การกำหนดเวลาของการละหมาดอีดทั้งสองว่าจะละหมาดในช่วงใดของเช้าวันอีดให้เป็นไปตามการประกาศของอิมามและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสญิดโดยคำนึงถึงความพร้อมของสับปุรุษและสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งการละหมาดอีด-อัลฟิฏร์ อาจจะมีกำหนดเวลาที่ช้ากว่าการละหมาดอีดอัล-อัฎหา แต่ไม่ควรกำหนดเวลาที่ล่าช้าจนเกินไป เพราะมีบางมัสญิดกำหนดเวลาการละหมาดอีดล่วงไปถึง 10.00 น. หรือมากกว่านั้นโดยอ้างว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนในอดีตปฏิบัติกันมาจึงไม่ยอมที่จะปรับเวลาให้เร็วขึ้น ทั้งๆ ที่การปฏิบัติของผู้คนในอดีตเป็นสิ่งที่มีเหตุผลรองรับ กล่าวคือ การคมนาคมในอดีตเป็นไปด้วยความยากลำบาก  บางปีช่วงละหมาดอีดตรงกับฤดูร้อนซึ่งน้ำในลำคลองแห้งขอดไป ไม่อาจพายเรือสัญจรได้จึงต้องเดินเท้า เหตุนั้นจึงกำหนดเวลาเอาไว้ค่อนข้างล่าช้า เพื่อให้สัปบุรุษเดินมาร่วมละหมาดอีดได้ทันเวลาแต่เหตุผลดังกล่าวเปลี่ยนไปแล้วโดยส่วนใหญ่ เพราะมีการตัดถนน มีการใช้รถยนต์ในการสัญจรทางบก และการสัญจรทางน้ำด้วยการพายเรือก็เลิกรากันไปในหลายพื้นที่ การอ้างอิงสภาพของผู้คนในอดีตจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน  จึงขอให้ทางมัสญิดได้พิจารณาในการปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาของการละหมาดอีดให้เร็วขึ้นเพื่อที่จะได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺให้มากที่สุด และมีความเหมาะสมกับสภาวะของปัจจุบัน

 

วัลลอฮุอะอฺลัม

 

 

สถานที่จัดการละหมาดอีด

บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺกล่าวว่า : การละหมาดอีดในที่โล่งกว้าง (มุศอลลา) เป็นที่อนุญาต และการละหมาดอีดในมัสญิดก็เป็นที่อนุญาต ดังนั้นหากเป็นที่นครมักกะฮฺก็ถือว่าการละหมาดที่มัสญิดอัล-หะรอมประเสริฐกว่า (อัฟฏ็อล) โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ เพราะบรรดาอิมาม (อัล-อะอิมมะฮฺ) ยังคงทำการละหมาดอีดที่นครมักกะฮฺภายในมัสญิดหะรอม และเป็นเพราะว่ามัสญิดนั้นประเสริฐกว่าและมีความสะอาดมากกว่า แต่ถ้าหากเป็นสถานที่อื่นที่นอกเหนือจากนครมักกะฮฺก็ให้พิจารณาว่าหากเป็นที่นครบัยตุลมักดิส อิมามอัล-บันดะนัยญียฺ และอัศศอยดะลานียฺกล่าวว่า : การละหมาดอีดภายในมัสญิดอัล-อักศอนั้นประเสริฐกว่า แต่ปวงปราชญ์ไม่ได้ระบุถึงมัสญิดอัล-อักศอ และคำกล่าวอย่างกว้างๆ ของปวงปราชญ์ในมัซฮับที่ปรากฏชัดระบุว่า บัยตุลมักดิสก็เหมือนกับสถานที่อื่นๆ

 

ดังนั้น หากปรากฏว่า บรรดาผู้ปฏิบัติละหมาดอีดมีอุปสรรค์ (อุซฺร์) ในการละทิ้งการออกไปยังสถานที่โล่งกว้าง และมุศอลลาการละหมาดอีด ก็ไม่มีข้อขัดแย้งว่าพวกเขาถูกใช้ให้ปฏิบัติละหมาดอีดภายในมัสญิด และส่วนหนึ่งจากบรรดาอุปสรรคดังกล่าวได้แก่ ฝนตก พื้นดินเป็นเลน  เฉอะแฉะ, ความหวาดกลัว ความหนาวเย็น และที่คล้ายๆ กัน แต่ถ้าหากพวกเขาไม่มีอุปสรรคและมัสญิดก็คับแคบ ก็ไม่มีข้อขัดแย้งว่าการออกไปละหมาดอีดยังสถานที่โล่งกว้างเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) แต่ถ้าหากว่ามัสญิดนั้นกว้างขวาง และไม่มีอุปสรรคดังกล่าว กรณีนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ในมัซฮับ 

 

  • ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ซึ่งมีตัวบท (นัศ) ระบุไว้ในตำราอัล-อุมม์ และอัช-ชีรอซียฺตลอดจนปวงปราชญ์ชาวอิรักที่สังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ, อิมาม อัล-บะเฆาะวียฺ และท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้ คือ ถือว่าการละหมาดอีดภายในมัสญิดเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) 
  • ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุดในทัศนะของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากชาวเมืองคุรอสาน และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากพวกเขาชี้ขาดเอาไว้คือ ถือว่าการละหมาดอีดในสถานที่โล่งกว้างมีความประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ละหมาดอีดใน
    สถานที่โล่งกว้างเป็นประจำ ซึ่งอัล-หะดีษที่ระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มักจะออกไปยังมุศอลลาในการละหมาดอีดทั้งสองเป็นหะดีษเศาะหิหฺรายงานจากท่านอบู สะอีด (ร.ฎ.) โดยอิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิม อย่างไรก็ตามนักวิชาการฝ่ายแรกตอบว่า ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ออกไปละหมาดอีดทั้งสองที่มุศอลลานั่นเป็นเพราะว่ามัสญิดนะบะวียฺคับแคบไม่สามารถจุจำนวนผู้มาร่วมละหมาดอีด เนื่องจากมีผู้คนเป็นจำนวนมากออกมาร่วมละหมาดอีด เหตุนั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงออกไปละหมาดอีดที่มุศอลลา

 

แต่ทัศนะที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับได้ให้น้ำหนักแก่การละหมาดอีดภายในมัสญิด เพราะมัสญิดมีความประเสริฐกว่าและมีความสะอาดมากกว่าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นหากถือตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดนี้ ในกรณีที่อิมามละทิ้งมัสญิดที่กว้างขวาง  และไปนำผู้คนละหมาดอีดในสถานที่โล่งกว้างหรือมุศอลลาก็ถือว่าค้านกับสิ่งที่สมควรกว่า (คิลาฟุลเอาวฺลา) แต่ไม่ถือว่าเป็นมักรูฮฺแต่อย่างใด และถ้าหากอิมามนำละหมาดอีดภายในมัสญิดที่คับแคบทั้งที่ไม่มีอุปสรรค (ในการละหมาดอีดในสถานที่โล่งกว้าง) ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) เช่นนี้ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้กำหนดเป็นตัวบทเอาไว้ตามที่อิมามอัช-ชีรอซียฺ (ร.ฮ.) ถ่ายทอดเอาไว้ว่า : อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ฉะนั้นหากปรากฏว่ามัสญิดนั้นกว้างขวางแล้วเขา (อิมาม) ได้ละหมาดในสถานที่โล่งกว้างก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าหากมัสญิดนั้นคับแคบแล้วอิมามก็ละหมาดภายในมัสญิดและไม่ออกไปละหมาดในสถานที่โล่งกว้าง ฉันก็ไม่ชอบ เพราะอิมามนั้นเมื่อเขาละทิ้งมัสญิดและทำละหมาดในสถานที่โล่งกว้างก็ไม่ปรากฏว่ามีความเดือดร้อนต่อบรรดาผู้ร่วมละหมาดแต่อย่างใด และเมื่อเขา (อิมาม) ละทิ้งสถานที่โล่งกว้างและทำละหมาดภายในมัสญิดที่คับแคบ พวกเขา (บรรดามะอฺมูม) ก็ย่อมได้รับความเดือดร้อนด้วยการเบียดเสียดแออัด และบางทีการละหมาดนั้นอาจจะพลาดบางคนของพวกเขาไปก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ  (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 8-9) 

 

อนึ่ง ประเด็นปัญหาว่าด้วยการละหมาดอีดภายในมัสญิด หรือสถานที่โล่งกว้างหรือมุศอลลา เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องความประเสริฐ (อัฟฎ็อล) ว่าการละหมาดอีด ณ สถานที่ใดดีกว่าและเหมาะสมกว่ากับสภาพของข้อเท็จจริง มิใช่เป็นประเด็นที่จะนำมาชี้ขาดว่าเป็นสุนนะฮฺหรือบิดอะฮฺ ถูกหรือผิด หรือว่าการละหมาดอีดนั้นจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้  เพราะการละหมาดอีดทั้งสองเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำที่มัสญิดหรือสถานที่โล่งกว้างหรือมุศอลลาก็ได้ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ถึงแม้ว่าการละหมาดอีดที่มุศอลลาหรือสถานที่โล่งกว้างจะมีสุนนะฮฺจากการกระทำของท่านบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) บ่งชี้ว่าท่านจะออกไปละหมาดอีดที่มุศอลลาเป็นประจำ ซึ่งนี่เป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุดในหมู่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสาน แต่การกระทำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็บ่งชี้ว่าสิ่งดังกล่าวเป็นสุนนะฮฺเท่านั้น การที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ละหมาดอีดที่มุศอลลาไม่ได้บ่งชี้ว่าการละหมาดอีดในมัสญิดเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ เพราะหากว่าบ่งชี้เช่นนั้นจริง การละหมาดอีดของประชาคมมุสลิมภายในมัสญิดทุกวันนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่น่าจะมีนักวิชาการคนใดกล่าวเอาไว้ (ดูคำอธิบายของชัยคฺ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) ใน “อิศลาหุลมะสาญิด มินัลบิดะอฺ วัล-อะวาอิด ของมุฮัมมัด ญะมาลุดดีน อัล-กอสิมียฺ หน้า 59 สำนักพิมพ์อัล-มักตับ อัล-อิสลามียฺ (เบรุต) 1983) 

 

แต่ดูเหมือนว่านักวิชาการบางกลุ่มในบ้านเมืองของเราพูดในทำนองว่าการละหมาดอีดภายในมัสญิดเป็นสิ่งที่ค้านกับสุนนะฮฺอย่างชัดเจนและชี้ขาดว่าการละหมาดภายในมัสญิดเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ทางศาสนาซึ่งไม่อาจยอมความได้ ผลของการพูดในทำนองนี้ทำให้พี่น้องมุสลิมบางส่วนที่คล้อยตามเกิดความเข้าใจทีคลาดเคลื่อนว่า การละหมาดอีดภายในมัสญิดเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) หรือใช้ไม่ได้ จึงไม่ยอมร่วมละหมาดอีดที่มัสญิด แล้วก็แยกไปละหมาดตามสถานที่โล่งกว้างซึ่งบางทีก็เป็นลานที่อยู่ใกล้กับมัสญิดนั่นเอง เมื่อพี่น้องมุสลิมฝ่ายนี้ยืนกรานที่จะละหมาดอีดในสถานที่โล่งกว้าง และไม่ยอมร่วมละหมาดอีดที่มัสญิด พี่น้องมุสลิมอีกฝ่ายหนึ่งก็เข้าใจว่าการละหมาดอีดต้องละหมาดภายในมัสญิดเท่านั้น และไม่ยอมรับการละหมาดอีดที่สถานที่โล่งกว้าง เพราะมองว่าเป็นการกระทำของฝ่ายที่ขัดแย้งจึงเคร่งครัดว่าต้องละหมาดภายในมัสญิดเท่านั้น และไม่ยอมทำละหมาดที่ลานโล่งของมัสญิดซึ่งกว้างขวาง และไม่อุปสรรคดังที่กล่าวมา ถึงแม้ว่ามัสญิดจะคับแคบ และต้องปฏิบัติละหมาดกันอย่างแออัดภายในมัสญิด ทั้งๆ ที่การละหมาดอีดที่มัสญิดในสภาพดังกล่าวเป็นสิ่งที่มักรูฮฺในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

 

เรื่องจึงกลายเป็นว่าคนกลุ่มหนึ่งยืนกรานที่จะละหมาดอีดในสถานที่โล่งกว้าง และไม่ยอมมาร่วมละหมาดอีดพร้อมกับอิมามที่มัสญิด คนอีกกลุ่มหนึ่งก็ยืนกรานที่จะละหมาดอีดในมัสญิดเท่านั้น และไม่ยอมที่จะละหมาดอีดในสถานที่โล่งกว้างหรือลานที่กว้างขวางของมัสญิดถึงแม้ว่าจะต้องเบียดเสียดกันละหมาดในมัสญิดที่คับแคบ ซึ่งเรื่องเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมมุสลิมแต่อย่างใดเลย ถ้าหากนักวิชาการได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นของสถานที่ปฏิบัติละหมาดอีดอย่างถ่องแท้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่พี่น้องมุสลิมอย่างครบถ้วน ซึ่งประเด็นนี้นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺได้อธิบายเอาไว้อย่างครอบคลุม และเหมาะสมกับสภาพของข้อเท็จจริง

 

ดังนั้นเรื่องการกำหนดสถานที่การละหมาดอีดทั้งสองจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสญิดสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสมของสภาพในแต่ละมัสญิด กล่าวคือ หากมัสญิดใดคับแคบ และมัสญิดนั้นมีลานเอนกประสงค์ที่กว้างขวาง และไม่มีอุปสรรค เช่น ฝนตก คณะกรรมการมัสญิดก็ย่อมสามารถกำหนดให้ลานเอนกประสงค์นั้นเป็นสถานที่ของการปฏิบัติละหมาดอีดของสัปปุรุษได้ เพราะเป็นสิ่งที่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) แต่ถ้าหากมัสญิดใดมีพื้นที่ของอาคารมัสญิดกว้างขวาง และมีความจุที่สามารถรองรับจำนวนผู้มาร่วมละหมาดอีดได้ กอปรกับมัสญิดนั้นไม่มีลานเอนกประสงค์หรือในละแวกใกล้เคียงไม่มีสถานที่โล่งที่กว้างขวางพอสำหรับการละหมาดอีดในสถานที่แห่งนั้นคณะกรรมการอิสลามประจำมัสญิดก็ย่อมสามารถกำหนดให้สัปปุรุษมาร่วมละหมาดอีดที่มัสญิดได้โดยไม่มีข้อเสียหายแต่อย่างใด วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก

 

อนึ่ง ในกรณีที่อิมามได้ออกไปนำละหมาดอีดที่สถานที่โล่งกว้างก็ให้อิมามแต่งตั้ง (อิสติคฺลาฟ) ผู้ทำหน้าที่อิมามนำละหมาดอีดพร้อมกับบรรดาผู้ที่อ่อนแอที่มัสญิด เพราะมีรายงานระบุว่าท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ได้แต่งตั้งให้ท่านอบูมัสอู๊ด อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) นำละหมาดอีดพร้อมกับบรรดาผู้ที่อ่อนแอที่มัสญิด (อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.)‭)‬ รายงานไว้ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺ)  (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 9) 

 

 

การปฏิบัติละหมาดสุนนะฮฺนะวาฟิลก่อนการละหมาดอีด

อนุญาตสำหรับบุคคลที่มิใช่อิมามทำการละหมาดสุนนะฮฺนะวาฟิล (ละหมาดสุนนะฮฺทั่วไป) ในวันอีดได้ทั้งก่อนหน้าการละหมาดอีดและภายหลังการละหมาดอีด ทั้งภายในบ้าน เส้นทางสัญจร และที่มุศอลลาก่อนหน้าการมาถึงของอิมาม ทั้งนี้การอนุญาตดังกล่าวจะต้องไม่มีเจตนากระทำละหมาดสุนนะฮฺนะวาฟิลเนื่องจากการละหมาดอีด และไม่ถือเป็นสิ่งที่มักรูฮฺแต่อย่างใดในสิ่งดังกล่าวเพราะมีรายงานระบุว่าท่านอะนัส (ร.ฎ.) ท่านอัล-หะสัน, ท่านญาบิรฺ อิบนุ ซัยดฺ และท่านอบูบุรฺดะฮฺ อิบนุ อบีมูซา อัล-อัชอะรียฺ (ร.ฎ.) เคยละหมาดสุนนะฮฺในวันอีดก่อนการออกมาของอิมาม และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ตลอดจนสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : สำหรับการละหมาดอีดนั้นไม่มีสุนนะฮฺ (รอติบะฮฺ) ก่อนหน้าการละหมาดอีดและหลังการละหมาดอีด เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยละหมาดใดๆ ก่อนหน้าการละหมาดอีดและหลังการละหมาดอีด (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 16-17) 

 

กล่าวคือ การละหมาดอีดนั้นไม่มีสุนนะฮฺรอติบะฮฺให้กระทำทั้งก่อนและหลัง ส่วนกรณีที่อนุญาตให้บุคคลที่มิใช่อิมามนำละหมาดอีดทำการละหมาดสุนนะฮฺได้นั้นเป็นกรณีของการละหมาดสุนนะฮฺทั่วไปที่เรียกว่า อัน-นะวาฟิล ซึ่งมิใช่ละหมาดสุนนะฮฺรอติบะฮฺสำหรับการละหมาดอีดแต่อย่างใด เพราะบรรดานักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์ (อิจญ์มาอฺ) ว่าการละหมาดอีดไม่มีสุนนะฮฺรอติบะฮฺทั้งก่อนและหลัง แต่นักวิชาการมีความเห็นต่างกันในกรณีการละหมาดสุนนะฮฺนะวาฟิลก่อนและหลังการละหมาดอีดว่าเป็นมักรูฮฺหรือไม่ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺนั้นถือว่าการละหมาดสุนนะฮฺนะวาฟิลก่อนและหลังการละหมาดอีดนั้นไม่เป็นสิ่งที่มักรูฮฺไม่ว่าจะละหมาดที่บ้านหรือที่มุศอลลาก็ตาม ทั้งนี้ในกรณีที่บุคคลนั้นมิใช่อิมาม ซึ่งตามนี้ท่านอะนัส อิบนุ มาลิก, อบูฮุรอยเราะฮฺ , รอฟิอฺ อิบนุ เคาะดีจญ์, สะฮฺล์ อิบนุ สะอฺด์, อบูบุรฺดะฮฺ, อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, สะอฺด์ อิบนุ อบิล หะสัน, ญาบิรฺ อิบนุ ซัยดฺ, อุรฺวะฮฺ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ และอิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฎ.) กล่าวเอาไว้ 

 

และนักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า : การละหมาดสุนนะฮฺก่อนและหลังการละหมาดอีดเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ อิบนุ อัล-มุนซิรฺ เล่าจากอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ, อิบนุ มัสอู๊ด, หุซัยฟะฮฺ, อิบนุ อุมัรฺ, ญาบิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ, อับดุลลอฮฺ อิบนุ อบีเอาวฺฟา, มัสรู๊ก, อัช-ชะอฺบียฺ, อัฎ-เฎาะห็าก อิบนุ มุซาหิม, สาลิม อิบนุ อับดิลลาฮฺ, อัซ-ซุฮฺรียฺ, อิบนุ ญะรีรฺ, มะอฺมัรฺ และอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า : ให้ละหมาดสุนนะฮฺได้หลังจากการละหมาดอีดแล้วไม่ใช่ก่อนหน้าการละหมาดอีด อิบนุ อัล-มุนซิรฺ เล่าจากอบูมัสอู๊ด อัล-บัดรียฺ, อัล-เกาะมะฮฺ, อัล-อัสวัด, มุญาฮิด, อัน-นะเคาะอียฺ, อิบนุ อบีลัยลา, อัษ-เษารียฺ, อัล-เอาวฺซาอียฺ และอัศหาบุรฺเราะอฺย์ ตลอดจนอิมามอัล-บุคอรียฺเล่าไว้ในเศาะหิหฺของท่านจากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) และอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า : การละหมาดสุนนะฮฺก่อนและหลังการละหมาดอีดที่มุศอลลาไม่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) แต่การละหมาดสุนนะฮฺในที่อื่นนอกจากมุศอลลาเป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ส่วนหลักฐานที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และนักวิชาการท่านอื่นๆ อาศัยในเรื่องนี้คือ แท้จริงหลักเดิมนั้นอนุญาตให้ละหมาดได้จนกว่าจะมีข้อห้ามที่ระบุชัด ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีหลักฐานใดๆ มาระบุห้ามเอาไว้ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 17-78) 

 

อิมามอัน-นะวาวีย์(ร.ฮ.)กล่าวว่า : ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับอิมามที่จะนำละหมาดอีดว่าอย่าได้ออกไปยังสถานที่ละหมาดอีด (มัสญิดหรือมุศอลลา) นอกเสียจากในเวลาที่อิมามจะเริ่มนำผู้คนละหมาดอีด และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺของเรากล่าวว่า : เป็นที่มักรูฮฺสำหรับอิมาม (ที่จะนำละหมาดอีด) ในการที่อิมามจะละหมาด (สุนนะฮฺใดๆ) ก่อนและหลังการละหมาดอีดในมุศอลลา เพราะหากว่าอิมามทำการละหมาด (ก่อนและหลังการละหมาดอีด) แล้ว ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่าการละหมาดนั้นเป็นสุนนะฮฺทั้งๆ ที่มิใช่สุนนะฮฺ และอิมาม (ที่จะนำละหมาดอีดในมัสญิด) ไม่ต้องละหมาดตะหิยะตุลมัสญิด แต่ให้อิมามเริ่มกระทำสิ่งแรกเมื่อมาถึงมัสญิดด้วยการเข้าสู่การละหมาดอีดเลย และการตะหิยะตุลมัสญิดของอิมามก็เกิดขึ้นอยู่ในการละหมาดอีดนั่นเอง ทั้งนี้มีรายงานจากท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ว่า : “ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะออกไปยังมุศอลลาในวันอีดอัล-ฟิฏร์และอัล-อัฎหา แล้วสิ่งแรกที่ท่านจะเริ่มด้วยสิ่งนั้นคือการละหมาด (อีด)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม) (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 17) 

 

 

การประกาศเพื่อเริ่มละหมาดอีด 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : จะไม่ถูกอะซานสำหรับ (การละหมาด) อีด และจะไม่ถูกอิกอมะฮฺ (กล่าวคือไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺสำหรับการละหมาดอีดทั้งสอง) ตามนี้บรรดาปวงปราชญ์จากชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ, อัต-ตาบิอีน และชนรุ่นหลังจากพวกเขากล่าวเอาไว้ ตลอดจนผู้คนในบรรดาหัวเมืองก็ปฏิบัติตามหลักการข้อนี้

 

ทั้งนี้มีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยร่วมละหมาดอีดพร้อมกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และพร้อมกับอบูบักรฺ, อุมัรฺ และอุษมาน (ร.ฎ.) ทั้งหมาดละหมาด (อีด) ก่อนการแสดงคุฎบะฮฺโดยไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺ” (บันทึกโดยอบูดาวูดด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม)

 

และมีรายงานจากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) และท่านญาบิรฺ (ร.ฎ.) ทั้งสองกล่าวว่า : ไม่เคยปรากฏว่ามีการอะซานในวันอีด อัล-ฟิฏร์และอัล-อัฎหา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

และมีรายงานจากท่านญาบิรฺ (ร.ฎ.) ว่า : “ฉันเคยอยู่ร่วมพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในวันอีด ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็เริ่มด้วยการละหมาด (อีด) ก่อนการแสดงคุฏบะฮฺโดยไม่มีการอะซานและไม่มีการอิกอมะฮฺ” (บันทึกโดยมุสลิม)

 

และมีรายงานจากท่านญาบิรฺ อิบนุ สะมุเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยอยู่ร่วมพร้อมกับท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในวันอีดทั้งสองมิใช่เพียงครั้งเดียว และไม่ใช่เพียง 2 ครั้ง โดยไม่มีการ อะซานและอิกอมะฮฺ” (บันทึกโดยมุสลิม) 

 

อิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวว่า : และเราได้รายงานจากอิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ว่าเขาใช้ให้อะซานและอิกอมะฮฺสำหรับการละหมาดอีด อิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวอีกว่า : หุศ็อยน์ กล่าวว่า : บุคคลแรกที่ทำการอะซานในวันอีดคือ ซิยาดฺ บ้างก็ว่าบุคคลแรกที่ใช้ให้อะซานสำหรับการละหมาดอีดคือมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) บ้างก็ว่าเป็นคนอื่น (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 18-20) 

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : และส่งเสริมในการที่จะถูกกล่าว (ประกาศ) ขึ้นว่า “อัศ-เศาะลาต้าญามิอะตัน”  ‭‬الصَّلَاةَ‭ ‬جَامِعَةً‭‬ – คำว่า อัศ-เศาะลาต้า‭ (‬الصلاة‭ ‬ถูกอิอฺร็อบเป็นมันศูบอะลัล อิฆรออฺ และคำว่า ญามิอะตัน ‭‬جَامِعَةً‬ ถูกอิอฺร็อบเป็นมันศูบอะลัลห็าล – เนื่องจากเป็นการเทียบ (กิย็าส) กับการละหมาดสุริยคลาสซึ่งมีหะดีษของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมร์ อิบนิ อัล-อ็าศ (ร.ฎ.) ว่า : เมื่อเกิดสุริยคราสในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ถูกประกาศด้วยคำว่า “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

และมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงดวงอาทิตย์ได้ถูกคราสในสมัยของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วท่านก็ส่งคนหนึ่งออกไปประกาศว่า “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม) ส่วนอัล-หะดีษที่อิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) รายงานว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยใช้มุอัซซินในวันอีดทั้งสอง แล้วมุอัซซินก็ กล่าวว่า “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” อัล-หะดีษบทนี้อ่อน (เฎาะอีฟ) และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : และหากมุอัซซินทำการอะซานหรืออิกอมะฮฺสำหรับการละหมาดอีด ฉันก็รังเกียจสิ่งนั้นสำหรับมุอัซซินและไม่จำเป็นเหนือมุอัซซินที่จะต้องกลับมาประกาศใหม่แต่อย่างใด (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ อ้างแล้ว หน้า 19-20) 

 

 

การปฏิบัติละหมาดอีดทั้งสอง

การละหมาดอีดมี 2 รอกอะฮฺโดยอิจญ์มาอฺ และลักษณะการละหมาดอีดที่ใช้ได้ก็เหมือนกับลักษณะของการละหมาดทั่วไป และบรรดาสุนนะฮฺและบรรดารูปของการละหมาด (ฮัยอะฮฺ) ก็เหมือนกับการละหมาดอื่นๆ โดยให้ตั้งเจตนาทำการละหมาดนั้นเป็นการละหมาดอีด นี่เป็นอย่างน้อยที่สุดของการละหมาดอีด ส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นคือการที่ผู้ละหมาดอีดอ่านดุอาอฺอัล-อิสติฟตาหฺภายหลังการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อม ต่อมาผู้ละหมาดก็จะกล่าวตักบีรฺในรอกอะฮฺที่หนึ่ง 7 การตักบีรฺนอกเหนือจากการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อม และนอกเหนือจากการกล่าวตักบีรฺของการก้มรุ่กัวะอฺ และในรอกอะฮฺที่สองผู้ละหมาดจะกล่าวตักบีรฺ 5 การตักบีรฺนอกเหนือจากการตักบีรฺของการลุกขึ้นยืนจากการสุหญูด (ครั้งที่สองของรอกอะฮฺที่หนึ่ง) และนอกเหนือจากการตักบีรฺเพื่อก้มรุ่กัวะอฺ (ในรอกอะฮฺที่สอง)

 

อัล-มุซะนียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า ในรอกอะฮฺที่หนึ่งมีการตักบีรฺ 6 การตักบีรฺ และอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) เล่าคำกล่าวหนึ่งที่แหวกแนว (ช็าซฺ) ว่า แท้จริงดุอาอฺอัล-อิสติฟตาหฺ นั้นจะปรากฏ (จะถูกอ่าน) ภายหลังการตักบีรฺเหล่านี้ แต่ที่ถูกต้องคือคำกล่าวแรก (คืออ่านดุอาอฺอัล-อิสติฟตาหฺภายหลังการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อม) ซึ่งเป็นที่รู้กันจากบรรดาตัวบท (นุศูศ) ของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 22) 

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : ส่งเสริมให้ผู้ละหมาดอีดหยุดอยู่ระหว่างทุก 2 การตักบีรจากบรรดาการตักบีรที่เพิ่มมา (อัซ-ซะวาอิด) ขนาดเท่ากับการอ่าน 1 อายะฮฺที่ไม่ยาวและไม่สั้น โดยกล่าวตะฮฺลีลและตักบีรและสรรเสริญ (ตะหฺมีด) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) นี่คือถ้อยคำของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำราอัล-อุมม์และตำรามุคตะศ็อรฺของอัล-มุซะนียฺ และปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : ให้ผู้ละหมาดกล่าวว่า :

سُبْحَانَ‭ ‬اللهِ‭ ‬وَالحَمْدُ‭ ‬لله‭ ‬وَلَا‭ ‬إِلَهَ‭ ‬إْلَا‭ ‬اللهُ‭ ‬وَاللهُ‭ ‬أَكْبَر

และหากผู้ละหมาดกล่าวเพิ่มเติมไปมากกว่านั้นก็อนุญาตอัศ-ศอยดะลานียฺได้กล่าวจากนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺบางท่านว่า ให้ผู้ละหมาดกล่าวว่า :

لا‭ ‬إله‭ ‬إلا‭ ‬الله‭ ‬وحده‭ ‬لا‭ ‬شريك‭ ‬له‭ ‬،‭ ‬له‭ ‬المُلْكُ‭ ‬وَله‭ ‬الحمدُ‭ ‬،‭ ‬بِيَدِهِ‭ ‬الخَيْرُ‭ ‬وَهُوَ‭ ‬عَلى‭ ‬كُلِّ‭ ‬شئٍ‭ ‬قَدِيْرٌ

และผู้ละหมาดไม่ต้องนำเอาถ้อยคำซิกรุลลอฮฺนี้มากล่าวอีกภายหลังการตักบีรฺครั้งที่เจ็ด (ของรอกอะฮฺที่หนึ่ง) และภายหลังการตักบีรฺครั้งที่ห้า (ของรอกอะฮฺที่สอง) แต่ให้ผู้ละหมาดกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺฯ ภายหลังการตักบีรฺครั้งที่เจ็ดและครั้งที่ห้านั้น ทั้งนี้หากเรากล่าวว่าให้ผู้ละหมาดกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺฯ ในทุกรอกอะฮฺซึ่งเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อัล-อะเศาะหฺ) และผู้ละหมาดไม่ต้องกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺอีกเช่นกันระหว่างการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมและการตักบีรฺเพิ่มครั้งที่หนึ่ง รวมถึงไม่ต้องกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺในรอกอะฮฺที่สองก่อนการตักบีรฺครั้งที่หนึ่งจากจำนวนการตักบีรฺห้าครั้งนั้น นี่เป็นมัซฮับ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ อ้างแล้ว 5 หน้า 22-23) 

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)กล่าวไว้ในตำราอัล-อุมม์ ว่า : “และหากผู้ละหมาด (อีด) กล่าวบรรดาการตักบีรฺที่เพิ่ม (ตักบีร็อตฺซะวาอิด) เชื่อมต่อซึ่งกันและกัน (กล่าวรวดเดียว) และไม่แยกระหว่างการตักบีรฺที่เพิ่มนั้นด้วยการกล่าวซิกรุลลอฮฺ ฉันก็รังเกียจสิ่งดังกล่าว ต่อมาผู้ละหมาด (อีด) ก็อ่านอัล-ฟาติหะฮฺหลังการกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺ ต่อมาก็อ่านสูเราะฮฺก็อฟ และในรอกอะฮฺที่สองก็อ่าน “อิกตะเราะบะติสสาอะฮฺ” หลังสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ” และมีรายงานที่ถูกต้องในเศาะหิหฺมุสลิมในริวายะฮฺของอัน-นุอฺมาน อิบนุ บะชีร (ร.ฎ.) ว่า “แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยอ่าน “สับบิหิสมะร็อบบิกะ” และ “ฮัลอะตากะหะดีษุลฆอชียะฮฺ” ในการละหมาดอีดเช่นกัน” ดังนั้นทั้งสองอย่างคือสุนนะฮฺ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ อ้างแล้ว 5/23) 

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับผู้ละหมาดอีดในการยกมือทั้งสองข้างตรงกับหัวไหล่ทั้งสองของเขาในแต่ละครั้งจากบรรดาการตักบีรฺที่เพิ่ม (อัซ-ซะวาอิด) และวางมือข้างขวาบนมือซ้ายระหว่างทุกๆ 2 การตักบีรฺอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำรา อัล-อุมม์ : “ดังนั้นหากว่าเขา (ผู้ละหมาดอีด) ละทิ้งการยกมือในบรรดาตักบีรฺหรือบางส่วน ฉันก็ไม่ชอบให้เขาทำอย่างนั้น”

 

และถ้าหากผู้ละหมาดอีดสงสัยในจำนวนครั้งของการตักบีรฺก็ให้ยึดเอาจำนวนที่น้อยที่สุดโดยเทียบกับการสงสัยในจำนวนของรอกอะฮฺ หากผู้ละหมาดทำการตักบีรฺ 8 ตักบีรฺและเกิดสงสัยว่าเขาตั้งเจตนาตักบีเราะตุลอิหฺร็อมกับการตักบีรฺครั้งหนึ่งของจำนวน 8 ครั้งแล้วหรือยัง? ก็ถือว่าการละหมาดของเขาใช้ไม่ได้ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)กำหนดเป็นตัวบทเอาไว้ในตำราอัล-อุมม์ และบรรดานักวิชาการในมัซฮับก็เห็นพ้องตรงกันในเรื่องนี้ เพราะถือว่าหลักเดิมคือไม่มีสิ่งดังกล่าว (การตั้งเจตนา) และหากเขาสงสัยในการตักบีรฺ  ซึ่งเขาตั้งเจตนาเป็นตักบีเราะตุลอิหฺร็อมด้วยการตักบีรฺนั้นแล้ว ก็ให้เขากำหนดการตักบีรฺนั้นเป็นครั้งหลังสุดและย้อนกลับไปกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (อัซ-ซะวาอิด) นั้นใหม่ (อ้างแล้ว 5/23) 

 

และหากว่าผู้ละหมาดอีดทำการละหมาดข้างหลังอิมามที่กล่าวตักบีรฺ 3 หรือ 6 การตักบีรฺ กรณีนี้มี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) 

  • คำกล่าวที่หนึ่ง ให้มะอฺมูมผู้นั้นกล่าวตักบีรฺ 7 ครั้งในรอกอะฮฺที่ 1 และกล่าวตักบีรฺ 5 ครั้ง ในรอกอะฮฺที่ 2 เช่นเดียวกับกรณีที่อิมามละทิ้งการอ่านอะอูซุบิลลาฮฺและที่คล้ายกันนั้น 
  • คำกล่าวที่สอง ซึ่งถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนี่) มะอฺมูมไม่ต้องกล่าวตักบีรฺเกินกว่าการตักบีรฺของอิมาม เพื่อมิให้ขัดแย้งกับอิมาม และถ้าหากอิมามละทิ้งการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (อัซ-ซะวาอิด) โดยเจตนาหรือหลงลืม อิมามก็ไม่ต้องสุหญูดสะฮฺวียฺ และการละหมาดของเขาก็ใช้ได้ แต่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ในการละทิ้งการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (อัซ-ซะวาอิด) ทั้งหมดหรือละทิ้งการตักบีรฺครั้งหนึ่งครั้งใดหรือตักบีรฺเกินกว่าที่กำหนดไว้ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบทเอาไว้ และมีอิจญ์มาอฺว่าให้อิมามอ่านและกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (อัซ-ซะวาอีด) ด้วยเสียงที่ดัง และทำการกล่าวซิกรุลลอฮฺระหว่างการตักบีรฺที่เพิ่มนั้นค่อยๆ (อ้างแล้ว 5/23-24) 

 

หากผู้ละหมาดอีดลืมการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (อัซ-ซะวาอิด) ในการละหมาดอีดในรอกอะฮฺหนึ่งรอกอะฮฺใด แล้วก็นึกขึ้นได้ถึงการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่มว่าตนลืมกล่าวในขณะก้มรุ่กัวะอฺแล้วหรือหลังจากการรุ่กัวะอฺนั้น ก็ให้ดำเนินการละหมาดของตนต่อไป โดยไม่ต้องกล่าวตักบีรฺที่เพิ่มนั้นอีก และไม่ต้องชดใช้ ดังนั้นหากว่าผู้นั้นย้อนกลับไปยืนตรงเพื่อที่จะกล่าวบรรดาตักบีรฺที่เพิ่ม (ซะวาอีด) นั้น ก็ถือว่าการละหมาดของผู้นั้นเป็นโมฆะ ถ้าหากว่าผู้นั้นรู้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม หากไม่รู้ก็ถือว่าการละหมาดของเขาไม่เป็นโมฆะ

 

และถ้าหากผู้นั้น (ผู้ที่ลืมการตักบีรฺที่เพิ่ม) นึกขึ้นได้ก่อนการก้มรุ่กัวะอฺ บางทีอาจนึกขึ้นได้ในตอนกำลังอ่านสูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺหรือหลังจากการอ่าน กรณีนี้มี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) 

 

คำกล่าวที่ถูกต้อง (เศาะหิหฺ) และเป็นคำกล่าวญะดีด ถือว่าผู้นั้นไม่ต้องกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (ซะวาอิด) นั้นอีก เนื่องจากผ่านเลยตำแหน่งของการกล่าวตักบีรฺไปแล้ว คือก่อนหน้าการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ

 

และคำกล่าวเกาะดีมของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ให้กล่าวตักบีรฺที่เพิ่มนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะนึกขึ้นได้ในขณะการอ่านหรือหลังการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ ตราบใดที่เขาผู้นั้นยังไม่ได้ก้มรุ่กัวะอฺเพราะถือว่าตำแหน่งของการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่มคือการยืน ซึ่งยังคงเหลืออยู่ ทั้งนี้หากถือตามคำกล่าวเกาะดีม หากผู้นั้นนึกขึ้นได้ขณะอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ ก็ให้ตัดการอ่าน (หยุดอ่าน) และกล่าวตักบีรฺที่เพิ่มนั้น ต่อมาก็เริ่มอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺใหม่ตั้งแต่ต้น และถ้าหากนึกขึ้นได้ภายหลังอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ แล้วก็ให้กล่าวตักบีรฺที่เพิ่มนั้นและส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้เริ่มอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺใหม่ตั้งแต่ต้น ในเรื่องนี้มีประเด็นที่แหวกแนว (วัจญ์ฮุน ช็าซ) ซึ่งอัร-รอฟิอียฺเล่าเอาไว้ว่า จำเป็น (วาญิบ) ต้องเริ่มอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺใหม่ตั้งแต่ต้น แต่ที่ถูกต้องคือประเด็นแรก (คือส่งเสริมเท่านั้น) และบรรดาปวงปราชญ์ในมัซฮับได้ชี้ขาดเอาไว้ และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบทไว้ในตำราอัล-อุมม์ และปวงปราชญ์ในมัซฮับเห็นพ้องตรงกันว่าผู้ละหมาดซึ่งละทิ้งการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (ซะวาอิด) จนกระทั่งอ่านอะอูซุบิลลาฮฺ แต่ยังไม่ได้เริ่มอ่านอัล-ฟาติหะฮฺก็ให้ผู้ละหมาดนำการตักบีรฺนั้นมากล่าว เพราะตำแหน่งของการตักบีรฺที่เพิ่มนั้นอยู่ก่อนหน้าการอ่าน  และการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่มก่อนหน้าการกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺฯ เป็นเพียงสุนนะฮฺมิใช่เงื่อนไข (ชัรฺฏ์) 

 

และหากว่าผู้นั้นมาทันอิมามในระหว่างที่อิมามอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ หรืออิมามได้กล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (ซะวาอิด) บางส่วนไปแล้วตามคำกล่าวญะดีด ผู้ที่มาทันอิมามก็ไม่ต้องกล่าวตักบีรฺในส่วนที่พลาดไป  ส่วนตามคำกล่าวเกาะดีมก็ให้ผู้นั้นกล่าวตักบีรฺที่พลาดไปนั้นด้วย และถ้าหากผู้นั้นมาทันอิมามในสภาพที่อิมามก้มรุ่กัวะอฺแล้ว ก็ให้ผู้นั้นก้มรุ่กัวะอฺพร้อมอิมามโดยไม่ต้องกล่าวบรรดาตักบีรฺที่เพิ่มนั้นโดยการเห็นพ้องของปวงปราชญ์ในมัซฮับ และถ้าหากผู้นั้นมาทันอิมามในรอกอะฮฺที่สอง ก็ให้ผู้นั้นกล่าวตักบีรฺพร้อมกับอิมาม 5 ครั้งตามคำกล่าวญะดีด และเมื่อผู้นั้นลุกขึ้นยืนไปทำรอกอะฮฺที่สองของตนภายหลังการให้สล่ามของอิมาม ก็ให้ผู้นั้นกล่าวตักบีรฺที่เพิ่มจำนวน 5 ครั้งเช่นกัน (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า24) 

 

อนึ่ง ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺนั้นจำนวนการกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (ตักบีรอตฺ ซะวาอิด) ในรอกอะฮฺที่หนึ่งมีจำนวน 7 ครั้งและในรอกอะฮฺที่สองจำนวน 5 ครั้ง อัล-คอฏฏอบียฺ (ร.ฮ.) เล่าไว้ในตำรา “มะอาลิม อัส-สุนัน” จากบรรดานักปราชญ์ส่วนมากและเจ้าของตำรา อัล-หาวียฺ เล่าไว้จากบรรดาชนรุ่นเศาะหาบะฮฺและอัต-ตาบิอีนส่วนมาก และเล่าจากอิบนุอุมัร, อิบนุ อับบาส, อบูฮุรอยเราะฮฺ, อบูสะอีด อัล-คุดรียฺ, ยะหฺยา อัล-อันศอรียฺ, อัซ-ซุฮฺรียฺ, อิมามมาลิก, อัล-เอาวฺซาอียฺ, อิมามอะหฺมัด และอิสหาก (ร.ฮ.)  และอัล-มุหามิลียฺ (ร.ฮ.) เล่าจากอบูบักร อัศ-ศิดดีก, อุมัร, อะลี, ซัยดฺ อิบนุ ษาษิต, และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และอัล-อับดะรียฺเล่าเอาไว้เช่นกันจาก อัล-ลัยษฺ, อบูยูสุฟ และดาวูด (ร.ฮ.)

 

นักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า : ให้กล่าวตักบีรฺในแต่ละรอกอะฮฺ 7 ครั้ง อิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าจากอิบนุ อับบาส, อัล-มุฆีเราะฮฺ อิบนุ ชุอฺบะฮฺ, อะนัส อิบนุ มาลิก, สะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบและ อัน-นะเคาะอียฺ และอัศหาบุชชาฟิอียะฮฺเล่าจากอิมามมาลิก, อิมามอะหฺมัด, อบูเษาริน และอัล-มุซะนียฺว่า : ในรอกอะฮฺแรกให้กล่าวตักบีรฺ 6 ครั้ง และในรอกอะฮฺที่สองให้กล่าว 5 ครั้ง ส่วนอิบนุมัสอู๊ด (ร.ฎ.) กล่าวว่า : กล่าวตักบีรฺในรอกอะฮฺแรก 5 ครั้ง และในรอกอะฮฺที่สอง 4 ครั้งตามที่อัต-ติรมิซียฺเล่าเอาไว้ แต่บุคคลอื่นเล่าจากอิบนุมัสอู๊ด (ร.ฎ.) ว่าในแต่ละรอกอะฮฺนั้นกล่าวตักบีรฺ 3 ครั้งซึ่งเป็นมัซฮับของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และอิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าคำกล่าวนี้เอาไว้ จากอิบนุ มัสอู๊ด, หุซัยฟะฮฺ, อบูมูซา, และอุกบะฮฺ อิบนุ อามิรฺ และเล่าจากอัล- หะสัน อัล-บะเศาะรียฺว่า ในรอกอะฮฺแรกกล่าว 5 ครั้ง และในรอกอะฮฺที่สองกล่าว 3 ครั้งและเล่าจากอิบนุมัสอู๊ด, หุซัยฟะฮฺ, อบูมูซา และอิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ อีกเหมือนกันว่าในแต่ละรอกอะฮฺนั้นให้กล่าวตักบีรฺ 4 ครั้ง และจากอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺในริวายะฮฺหนึ่งว่า ให้ตักบีรฺในรอกอะฮฺที่หนึ่ง 3 ครั้งและในรอกอะฮฺที่สอง 2 ครั้ง (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ 5/24-25) 

 

อิมามอบูหะนีฟะฮฺ(ร.ฮ.)และผู้ที่เห็นด้วยกับท่านอาศัยหลักฐานจากอัล-หะดีษที่รายงานว่า : แท้จริง สะอีด อิบนุ อัล-อ็าศได้สอบถามอบูมูซาและหุซัยฟะฮฺว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยกล่าวตักบีรฺอย่างไรในการละหมาดอัล-อัฎหาและอัล-ฟิฏร์ อบูมูซากล่าวว่า : ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะกล่าวตักบีรฺ 4 ครั้งเหมือนการตักบีรฺญะนาซะฮฺ หุซัยฟะฮฺกล่าวว่า : “อบูมูซากล่าวถูกต้องแล้ว” บันทึกโดยอบูดาวูดด้วยสายรายงานที่อ่อน และอัล-บัยฮะกียฺก็บ่งชี้ว่าเป็นหะดีษที่อ่อนและแหวกแนว (ช็าซฺ) ตลอดจนค้านกับสายรายงานของบรรดานักรายงานที่เชื่อถือได้ และที่รู้กันหะดีษนี้เป็นหะดีษเมาวฺกู๊ฟจากอิบนุมัสอู๊ด (ร.ฎ.)

 

ส่วนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺอาศัยหลักฐานจากหะดีษของอัมร์ อิบนุ ชุอัยบ์ จากบิดาของเขาจากปู่ของเขาว่า แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวตักบีรฺในรอกอะฮฺแรก 7 ครั้งและในรอกอะฮฺที่สอง 5 ครั้ง (บันทึกโดยอบูดาวูด, อะหฺมัด และอิบนุมาญะฮฺ อิมาม
อะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า ฉันมีทัศนะยังสิ่งนี้ อัล-อิรอกียฺกล่าวว่า สายรายงานของหะดีษนี้ดี และอัต-ติรมีซียฺถ่ายทอดไว้ในตำรา “อัล-อิลัล” จากอัล-บุคอรียฺว่า : เป็นหะดีษเศาะหิหฺ)  (อ้างแล้ว 5/25) 

 

สำหรับตำแหน่งของการกล่าวตักบีรฺเพิ่ม (ซะวาอิด) นั้นตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺอยู่ระหว่างการอ่านดุอาอฺอิสติฟตาหฺกับการอ่านอะอูซุบิลลาฮฺ ซึ่งตามนี้บรรดานักปราชญ์ทั้งหมดกล่าวเอาไว้ยกเว้นอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ที่กล่าวว่า : จะอ่านในการตักบีรฺครั้งที่สองก่อนการตักบีรฺที่เพิ่ม ต่อมาก็กล่าวตักบีรฺและอิบนุ อัศ-ศอบบ็าฆ และท่านอื่นๆ เล่าจากอบูยูสุฟว่าให้กล่าวอะอูซุบิลลาฮฺฯ ก่อนการตักบีรฺที่เพิ่ม เพื่อให้การกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺฯต่อติดกับดุอาอฺอิสติฟตาหฺ และชัยคฺ อบูหามิดเล่าจากอิมามมุฮัมมัด (ร.ฮ.) ว่า ให้กล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม ต่อมาก็อ่านดุอาอฺอิสติฟตาหฺแล้วก็อ่านอะอูซุบิลลาฮฺฯ ฝ่ายอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) อาศัยหลักฐานจากหะดีษที่ถูกรายงานมาจากอิบนุมัสอู๊ด (ร.ฎ.) และหุซัยฟะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวตักบีรฺในการละหมาดอีด 4 ครั้งเช่นเดียวกับบรรดาตักบีรฺของการละหมาดญะนาซะฮฺ และท่านเชื่อมต่อระหว่างสองการอ่านนั้น” แต่อัล-หะดีษบทนี้เป็นหะดีษที่อ่อนหรือเป็นโมฆะ (บาฏิ้ล) ส่วนคำกล่าวของท่านอบูยูสุฟนั้นไม่ถูกยอมรับ เพราะการกล่าวอะอูซุบิลลาฮฺถูกบัญญัติเพื่อการอ่าน (สูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ) การกล่าว อะอูซุบิลลาฮฺ จึงติดตามการอ่านและสมควรต้องติดต่อกับการอ่าน วัลลอฮุอะอฺลัม (อ้างแล้ว 5/26) 

 

สำหรับการยกมือในการตักบีรฺที่เพิ่มนั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าส่งเสริมให้ยกมือในการตักบีรฺที่เพิ่มนั้นทุกครั้งและส่งเสริมให้กล่าวซิกรุลลอฮฺคั่นระหว่างการตักบีรฺซึ่งตามนี้ท่านอะฏออฺ, อัล-เอาวฺซาอียฺ,  อบูหะนีฟะฮฺ, มุฮัมมัด, อะหฺมัด, ดาวูดและอิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวเอาไว้ ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.), อัษ-เษารียฺ, อิบนุ อบีลัยลา และอบูยูสุฟกล่าวว่า : ไม่ต้องยกมือทั้งสองข้างยกเว้นในการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมเท่านั้น (อ้างแล้ว 5/26) 

 

ส่วนการกล่าวซิกรุลลอฮฺระหว่างการตักบีรฺที่เพิ่ม (ซะวาอิด) ในแต่ละครั้งนั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าส่งเสริมและอิบนุมัสอู๊ด (ร.ฎ.) อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และอิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) ก็กล่าวตามนี้ ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) และอัล-เอาวฺซาอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ไม่ต้องกล่าวซิกรุลลอฮฺ (อ้างแล้ว 5/26) 

 

อนึ่ง ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : “ส่วนระหว่างการตักบีรฺนั้น ให้ผู้ละหมาด (อีด) กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ และกล่าวเศาะละวาตแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และขอดุอาอฺได้ตามที่เขาประสงค์ เช่นนี้แหล่ะบรรดานักปราชญ์ได้รายงานเหมือนอย่างนี้จากอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) และถ้าหากผู้ละหมาดกล่าวว่า :

‭ ‬سُبْحَانَ‭ ‬اللهِ‭ ‬،‭ ‬وَالْحَمْدُلِلهِ‭ ‬،‭ ‬وَلَا‭ ‬إِلٰهَ‭ ‬إِلَا‭ ‬اللهُ‭ ‬،‭ ‬وَاللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬، أَللهُمَّ‭ ‬صَلِّ‭ ‬عَلىٰ‭ ‬مُحَمَّدٍ وَعَلى‭ ‬آلِ‭ ‬مُحَمَّدٍ‭ ‬،‭ ‬أَللهُمَّ‭ ‬اغْفِرْلِىْ‭ ‬وَارْحَمْنِىْ

ก็ย่อมเป็นสิ่งที

 

ในทำนองเดียวกันหากผู้ละหมาดกล่าวว่า

الله‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬كَبِيْرًا‭ ‬،‭ ‬وَالْحَمْدُ‭ ‬لِلهِ‭ ‬كَثِيْرًا‭ ‬،‭ ‬وَسُبْحَانَ‭ ‬اللهِ‭ ‬بُكْرَةً‭ ‬وَأَصِيْلاً‭ 

และที่คล้ายๆ กัน (ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี)  และไม่มีสิ่งที่ถูกกำหนดเจาะจงในเรื่องดังกล่าวจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาเศาะหาบะฮฺ วัลลอฮุอะอฺลัม (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 12 ภาค 24หน้า 119, 120)

 

จะเห็นได้ว่า ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) มิได้กล่าวว่าการกล่าวซิกรุลลอฮฺระหว่างการตักบีรฺที่เพิ่มในการละหมาดอีดเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) หากแต่ท่านกล่าวว่า “เป็นสิ่งที่ดี” เพราะมีสายรายงานจากชนรุ่นสะลัฟบางท่านในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการกำหนดเจาะจงว่าให้กล่าวสิ่งใดจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ตาม

วัลลอฮุอะอฺลัม

 

 

การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) หลังการละหมาดอีด

อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) 2 คุฏบะฮฺบนมิมบัรฺภายหลังการละหมาดอีดถือเป็นสุนนะฮฺและผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) ขึ้นสู่มิมบัรฺแล้ว ก็ให้หันหน้ามายังผู้คนและให้สล่ามแก่ผู้คน (ที่อยู่ร่วมฟังการแสดงธรรม) และผู้คนก็ตอบสล่ามของผู้แสดงธรรม เหมือนอย่างที่กล่าวมาแล้วในเรื่องการละหมาดวันศุกร์ ต่อมาผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) ก็กล่าวแสดงธรรมเช่นเดียวกับการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺของวันศุกร์ในเรื่ององค์ประกอบหลัก (อัรฺ-กาน)  และลักษณะ (ศิฟาตฺ) นอกเสียจากว่าในการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) หลังการละหมาดอีดไม่ถือว่าการยืนเป็นเงื่อนไขในการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺนั้น หากแต่อนุญาตให้แสดงธรรมได้ในสภาพที่นั่ง และนอนตะแคงทั้งๆ ที่มีความสามารถในการยืนได้ แต่ที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการแสดงธรรมในสภาพที่ยืน และมีสุนนะฮฺให้คั่นระหว่างการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺ ด้วยการนั่งเช่นเดียวกับกรณีของการนั่งที่จะคั่นในการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺของวันศุกร์

 

ถามว่า ส่งเสริมให้ผู้แสดงธรรมนั่งลงก่อนการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺเมื่อแรกขึ้นไปถึงมิมบัรฺหรือไม่? เหมือนอย่างที่ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) จะนั่งลงก่อนการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺของวันศุกร์ ในเรื่องนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการในมัซฮับ คือ เป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ซึ่งมีระบุเป็นตัวบท (นัศ) ในตำราอัล-อุมม์  (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ 5/28) 

 

และบรรดาตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดาสานุศิษย์ของท่านระบุไว้ตรงกันว่า เป็นที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) กล่าวตักบีรฺในตอนแรกของคุฏบะฮฺที่หนึ่ง 9 การตักบีรฺแบบเรียงติดต่อกัน และในตอนแรกของคุฏบะฮฺที่สอง 7 การตักบีรฺ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : ถ้าหากผู้แสดงธรรมนำเอาการสรรเสริญ (ตะหฺมีด) และการกล่าวตะฮฺลีลเข้าไปแทรกระหว่างการตักบีรฺดังกล่าว ก็เป็นที่อนุญาต (อ้างแล้ว 5/28) 

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : แท้จริงการกล่าวตักบีรฺเหล่านี้ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งจากตัวของการแสดงธรรม (คุฎบะฮฺ) เป็นเพียงการกล่าวนำก่อนการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) เท่านั้น (อ้างแล้ว 5/28) 

 

เป็นที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับผู้คนที่มาร่วมละหมาดอีดในการรับฟังการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) และการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ตลอดจนการรับฟังการแสดงธรรมไม่ใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาดอีด แต่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : หากผู้มาร่วมละหมาดละทิ้งการรับฟังการแสดงธรรมของวันอีดหรือการละหมาดสุริยคราส-จันทรคราส หรือการละหมาดขอฝนหรือบรรดาการแสดงธรรมช่วงประกอบพิธีหัจญ์ หรือพูดคุยในขณะที่มีการแสดงธรรม หรือแยกย้ายกันไปและละทิ้งการแสดงธรรมนั้น ฉันก็รังเกียจมันและไม่จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับมาอีก (อิอาดะฮฺ) แต่อย่างใด

 

และหากว่ามีคนๆ หนึ่งเข้ามาในขณะที่อิมามกำลังแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันอีด ก็ให้ดูว่า หากการแสดงธรรมนั้นอยู่ที่มุศอลลาก็ให้ผู้ที่เข้ามานั้นนั่งลงและรับฟังการแสดงธรรมโดยไม่ต้องละหมาดตะหิยะฮฺ ต่อมาเมื่ออิมามแสสดงธรรมเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ที่เพิ่งเข้ามานั้นมีสิทธิเลือกเอาว่าตนจะละหมาดอีดในสถานที่โล่งกว้างนั้นเลย (ในกรณีที่ยังไม่ได้ละหมาด) หรือว่าจะไปละหมาดที่บ้านของตนหรือที่อื่นๆ ตามนี้ปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ ส่วนในกรณีหากการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) นั้นอยู่ที่มัสญิดก็มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ที่รู้กัน

  • ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ในทัศนะของปวงปราชญ์ในมัซฮับคือให้ผู้ที่เข้ามาในมัสญิด (ซึ่งยังไม่ได้ละหมาดอีด) ทำการละหมาดอีดของตนเลย และการตะหิยะตุลมัสญิดก็เข้าอยู่ในการละหมาดอีดนั้น ตามประเด็นนี้ อบูอิสหาก อัล-มัรฺวะซียฺกล่าวเอาไว้ และชัยคฺ อบูหามิด, เจ้าของตำราอัล-หาวียฺ, อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ ในอัล-มุญัรฺร็อด, อีด-ดาริมียฺ, อัล-บันดะนัยญียฺ, อัล-มุหามิลียฺ และอัล-บะเฆาะวียฺ ทั้งหมดถือว่าประเด็นนี้ถูกต้อง 
  • ประเด็นที่สอง อิบนุ อบีฮุรอยเราะฮฺกล่าวไว้ว่า ให้ผู้ที่เพิ่งเข้ามาในมัสญิดละหมาดตะหิยะตุลมัสญิดและค่อยละหมาดอีดทีหลัง ตามประเด็นนี้ สะลีม อัร-รอซียฺ ชี้ขาดไว้ในอัล-กิฟายะฮฺ  และเจ้าของตำราอัล-บะยาน  ถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้อง

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : ความเห็นต่างในประเด็นนี้เป็นกรณีที่ว่า อย่างไหนประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) ระหว่างการละหมาดตะหิยะตุลมัสญิดหรือการละหมาดอีด แต่ไม่มีความเห็นต่างในกรณีที่ว่าผู้ที่เพิ่งเข้ามาในมัสญิดถูกใช้ให้กระทำการละหมาดหนึ่งในสองการละหมาดนั้น เพราะมัสญิดนั้นจะไม่ถูกนั่งลงในมัสญิดนอกเสียจากภายหลังการละหมาด ดังนั้น หากว่าผู้ที่เข้ามาทำการละหมาดตะหิยะตุลมัสญิดแล้ว ที่ดีก็ให้ผู้นั้นทำการละหมาดอีดของตนภายหลังการแสดงธรรมของอิมามเสร็จสิ้นภายในมัสญิดนั้นเลย โดยไม่ต้องไปละหมาดอีดที่บ้านในภายหลัง ต่างจากกรณีที่ว่า หากผู้นั้นมาทันอิมามขณะมีการแสดงธรรมที่มุศอลลา ผู้นั้นก็มีสิทธิที่จะเลือกเอาว่าจะละหมาดอีดของตน ณ มุศอลลานั้นหลังจากการแสดงธรรมของอิมามเสร็จสิ้น หรือว่าจะกลับไปละหมาดที่บ้านของตน (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 5 หน้า 29) 

 

อนึ่ง ในกรณีหากอิมาม (หรือเคาะฏีบ) แสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ก่อนการละหมาดอีด ก็ถือว่าอิมามผู้นั้นทำไม่ดี (มุสิอฺ) และทัศนะที่ถูกต้องตามที่อิมามอัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)ระบุไว้ ถือว่าการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ก่อนการละหมาดอีดนั้นไม่ถูกนับว่าเป็นการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) เช่นเดียวกับกรณีที่อิมามทำละหมาดอีดและไม่มีการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ภายหลังการละหมาดเสร็จ (กล่าวคือไม่ถือว่ามีการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) เกิดขึ้นในสองกรณีนี้) ดังนั้นหากอิมามหรือเคาะฏีบแสดงธรรมก่อนการละหมาดอีดก็ให้ทำการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่อีกครั้งหลังการละหมาดอีดเสร็จแต่ถ้าอิมามหรือเคาะฏีบไม่กระทำเช่นนั้น (คือไม่แสดงธรรมใหม่อีกครั้งหลังการละหมาดอีด) ก็ไม่จำเป็นที่อิมามต้องกลับไปนำละหมาด (อีด) ใหม่ และไม่มีกัฟฟาเราะฮฺใดๆ ในกรณีนี้ (อ้างแล้ว 5/30) 

 

 

การกล่าวตักบีรฺในวันอีดทั้งสอง 

นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า : การกล่าวตักบีรฺในวันอีดทั้งทั้งสองมี 2 ประเภท คือ

1) การกล่าวตักบีรฺที่เพิ่ม (ตักบีรอตฺ ซะวาอิด) ในการละหมาดอีดและในการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) 

 

2) อื่นจากประเภทแรก การตักบีรฺประเภทที่สองนี้มี 2 ชนิดคือ

(1) การกล่าวตักบีรฺมุรฺสัลหรือมุฏลัก  หมายถึงการกล่าวตักบีรฺซึ่งไม่ผูกพันอยู่กับสภาพหนึ่งสภาพใด กล่าวคือ ให้กล่าวตักบีรฺได้ภายในบ้านเรือน, มัสญิด และเส้นทางสัญจรทั้งในเวลากลางคืนหรือเวลากลางวัน การกล่าวตักบีรฺมุรฺสัลหรือมุฏลักเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ (มัชรูอฺ) ในวันอีดทั้งสอง และช่วงเวลาแรกของการกล่าวตักบีรฺมุรฺสัลหรือมุฏลักนี้คือนับตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกของค่ำคืนวันอีด ส่วนช่วงเวลาสุดท้ายสำหรับการกล่าวตักบีรฺมุรฺสัลหรือมุฏลักในวันอีด อัล-ฟิฏร์มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ 

แนวทางที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-เฏาะรีกอยนี่) มี 3 คำกล่าว (อักว็าล) 

  • คำกล่าวที่หนึ่ง เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-อักว็าล) ให้กล่าวตักบีรฺจนกระทั่งอิมามทำการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมละหมาดอีด นักวิชาการหลายกลุ่มชี้ขาดตามคำกล่าวที่หนึ่งนี้ โดยให้เหตุผลว่าเพราะการพูดจาก่อนการเริ่มละหมาดเป็นสิ่งที่อนุญาต ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการกล่าวตักบีรฺย่อมเป็นสิ่งที่สมควรกว่า และคำกล่าวที่หนึ่งนี้เป็นตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในริวายะฮฺของอัล-บุวัยฏียฺ
  • คำกล่าวที่สอง ให้กล่าวตักบีรฺได้จนกระทั่งอิมามออกไปยังการละหมาดอีด ให้เหตุผลว่าเมื่ออิมาม ออกมายังที่ละหมาดอีดแล้ว ตามสุนนะฮฺก็ให้พะวงอยู่กับการละหมาด คำกล่าวนี้เป็นตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำราอัล-อุมม์เป็นริวายะฮฺของอัล-มุซะนียฺ
  • คำกล่าวที่สาม ให้กล่าวตักบีรฺจนกระทั่งอิมามเสร็จสิ้นจากการละหมาดอีด บ้างก็กล่าวว่า เรื่อยไปจนกระทั่งอิมามเสร็จสิ้นจากการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺแล้ว  คำกล่าวนี้เป็นตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในอัล-เกาะดีม

 

แนวทางที่สอง ชี้ขาดตามคำกล่าวที่หนึ่งในแนวทางแรก อิบนุ สุรอยจฺญ์ และอบูอิสหาก อัล-มัรฺวะซียฺกล่าวเอาไว้โดยตีความตามตัวบททั้งสองของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ตามนี้อัล-บันดะนัยญียฺและท่านอื่นๆ กล่าวว่า : ประโยชน์ของความเห็นต่างในเรื่องนี้จะปรากฏชัดในกรณีของผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมพร้อมกับอิมาม กล่าวคือ หากเรากล่าวว่าการกล่าวตักบีรฺมุรฺสัลเลยไปจนถึงการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺเสร็จสิ้น ผู้ที่กล่าวตักบีรฺก็ย่อมมีสิทธิกล่าวตักบีรฺจนกระทั่งรู้แน่ชัดว่า อิมามแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมพร้อมกับอิมามนั้น ก็จะไม่กล่าวตักบีรฺในขณะมี
การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) แต่ให้พวกเขาตั้งใจฟังการแสดงธรรมนั้น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 5 หน้า 38) 

 

อนี่ง การกล่าวตักบีรฺมุรฺสัลในค่ำคืนวันอีดอัล-ฟิฏร์เป็นสิ่งที่ถูกเน้นหนัก (มุอัก-กัด) มากกว่าการกล่าวตักบีรฺมุรฺสัลในค่ำคืนวันอีดอัล-อัฎหา ตามสิ่งที่ปรากฏชัดที่สุด (อัล-อัซฺฮัรฺ) และเป็นคำกล่าวอัล-ญะดีดของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.)  (อ้างแล้ว 5/38) 

 

(2) การกล่าวตักบีรฺมุก็อยยัด  หมายถึงการกล่าวตักบีรฺภายหลังการเสร็จสิ้นการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาหรือละหมาดอื่นๆ การกล่าวตักบีรฺมุก็อยยัดถูกบัญญัติให้กล่าวในวันอีดอัล-อัฎหา โดยไม่มีข้อขัดแย้งเนื่องจากมีการอิจญ์มาอฺ ถามว่า การตักบีรฺมุก็อยยัดถูกบัญญัติในวันอีดอัล-ฟิฏร์หรือไม่? ในปัญหาข้อนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

  • ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ตามทัศนะของปวงปราชญ์ในมัซฮับ คือไม่มีบัญญัติให้กล่าวตักบีรฺมุก็อยยัดในวันอีดอัล-ฟิฏร์ เป็นประเด็นที่ถ่ายทอดจากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในคำกล่าวอัล-ญะดีดและอัล-มาวัรฺดียฺ, อัล-ญุรฺญานี่, อัล-บะเฆาะวียฺและท่านอื่นๆ ชี้ขาดเอาไว้ และเจ้าของตำราอัช-ชามิล และอัล-มุอฺตะมัดถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้องโดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะไม่มีการถ่ายทอดมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถ้าหากเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ (มัชรูอฺ) แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ย่อมกระทำและมีการถ่ายทอดมาจากท่าน 
  • ประเด็นที่สอง ถือว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กล่าวตักบีรฺมุก็อยยัดในอีดอัล-ฟิฏร์ อัล-มุหามิลียฺ, อัล-บันดะนัยญียฺ และชัยคฺอบูหามิดให้น้ำหนักประเด็นที่สองนี้ โดยให้เหตุผลว่าเพราะว่าวันอีดอัล-ฟิฏร์เป็นวันอีดที่มีสุนนะฮฺให้กล่าวตักบีรฺมุรฺสัลก็ย่อมมีสุนนะฮฺให้กล่าวตักบีรฺมุก็อยยัดด้วยเช่นเดียวกับอีดอัล-อัฎหา ดังนั้นหากถือตามประเด็นที่สองนี้ ก็ให้กล่าวตักบีรฺ มุก็อยยัดหลังการละหมาดมัฆริบ และอิชาอฺตลอดจนศุบหิของวันอีดอัล-ฟิฏร์ (อ้างแล้ว 5/38-39) 

 

ในกรณีของวันอีดอัล-อัฎหาสำหรับบุคคลที่มิได้ไปประกอบพิธีหัจญ์นั้น อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) มีตัวบทการกล่าวตักบีรฺของพวกเขา 3 ตัวบทด้วยกัน คือ

1) ให้กล่าวตักบีรฺมุก็อยยัด (หลังละหมาด) นับตั้งแต่เวลาของซุฮฺริของวันเชือด (วันอีดอัล-อัฎหา) จนกระทั่งถึงเวลาศุบหิของวันสุดท้ายของบรรดาวันอัต-ตัชรีก นี่เป็นสิ่งที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) จากบรรดาตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และเป็นตัวบทในตำรามุคตะศ็อรฺของอัล-มุซะนียฺ, อัล-บุวัยฏียฺ, ตำราอัล-อุมม์และคำกล่าวเกาะดีม เจ้าของตำราอัล-หาวียฺกล่าวว่า : เป็นตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในคำกล่าว อัล-เกาะดีมและอัล-ญะดีด และเจ้าของตำราอัช-ชามิลกล่าวว่า : เป็นตัวบทในตำราส่วนมากของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) 

2) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)กล่าวตัวบทที่สองนี้ไว้ในตำราอัล-อุมม์ ว่า : “หากเขาเริ่มกล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดมัฆริบในค่ำคืนของวันอีด (อัล-อัฎหา) เนื่องจากการเทียบกับคืนของวันอีดอัล-ฟิฏร์ ฉันก็ไม่รังเกียจสิ่งดังกล่าว”

3) อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)รายงานไว้ในตำราอัล-อุมม์ จากชนรุ่นสะลัฟบางท่านว่าจะเริ่ม (กล่าวตักบีรฺ) นับจากศุบหิของวันอะเราะฟะฮฺ

 

เจ้าของตำราอัล-หาวียฺกล่าวว่า : อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบท (นัศ) ในคำกล่าวอัล-เกาะดีมและอัล-ญะดีดว่าจะเริ่มกล่าวตักบีรฺตั้งแต่เวลาซุฮฺริของวันเชือด (วันอีด อัล-อัฎหา) และจะจบลงด้วยเวลาศุบหิของวันสุดท้ายจากบรรดาวันตัชรีกก็จะปรากฏว่าผู้นั้นกล่าวตักบีรฺภายหลังการละหมาด 15 เวลาด้วยกัน และเจ้าตำราอัล-หาวียฺกล่าวอีกว่า : และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในอีกที่หนึ่งว่า : จะเริ่มกล่าวตักบีรฺนับตั้งแต่เวลามัฆริบของค่ำคืนวันเชือด (วันอีดอัล-อัฎหา) เรื่อยไปจนถึงเวลาศุบหิของวันสุดท้ายจากบรรดาวันตัชรีก ก็จะเป็นการตักบีรฺ 18 เวลาละหมาดฟัรฎู และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในอีกที่หนึ่งว่า เริ่มกล่าวตักบีรฺในเวลาศุบหิของวันอะเราะฟะฮฺเรื่อยไปจนถึงเวลาอัศริของวันสุดท้ายจากวันตัชรีก การตักบีรฺหลังละหมาดก็จะมีจำนวน 23 เวลาละหมาดฟัรฎู (อ้างแล้ว 5/39, 40) 

 

อิมามอันนะวาวียฺ(ร.ฮ.)กล่าวสรุปว่า : ที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) ในมัซฮับของเรา คือเริ่มกล่าวตักบีรฺนับตั้งแต่เวลาซุฮฺริของวันเชือดเรื่อยไปจนกระทั่งเวลาศุบหิของวันตัชรีกวันสุดท้าย และสิ่งที่ถูกคัดเลือด (อัล-มุคต็าร) คือการกล่าวตักบีรฺเริ่มจาก (หลัง) เวลาศุบหิของวันอะเราะฟะฮฺเรื่อยไปจนกระทั่งถึงเวลาอัศริของวันตัชรีกวันสุดท้าย และอิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าการตักบีรฺที่เริ่มจากเวลาศุบหิของวันอะเราะฟะฮฺจนกระทั่งถึงเวลาอัศริของวันสุดท้ายของบรรดาวันตัชรีก จากอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ, อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ, อิบนุอับบาส, สุฟยาน อัษเษารียฺ, อบูยูสุฟ, อิมามมุฮัมมัด, อิมามอะหฺมัด และอบูเษาริน (ร.ฮ.) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 46-47) 

 

ในหนังสืออัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ ระบุว่า : ต่อมา มีสุนนะฮฺในวันอีด อัล-อัฎหาสำหรับทุกคนที่เป็นผู้ประกอบพิธีหัจญ์และผู้อื่นในการกล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดชนิดต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่เวลาศุบหิของวันอะเราะฟะฮฺจนถึงหลังเวลาละหมาดอัศริของวันสุดท้ายจากบรรดาวันตัชรีก คือสามวันที่ถัดจากวันอีด อัล-อัฎหา ส่วนในวันอีดอัล-ฟิฏร์นั้น ไม่มีสุนนะฮฺให้กล่าวตักบีรฺหลังการละหมาด แต่การส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺจะขาดลงในขณะที่อิมามทำการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมเพื่อทำการละหมาดอีด (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 226) 

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : และจะกล่าวตักบีรฺในช่วงเวลา (ที่ถูกกล่าวมา) นี้หลังบรรดาละหมาดฟัรฎูที่ปฏิบัติในเวลาโดยไม่มีข้อขัดแย้ง และหากว่าการละหมาดฟัรฎูหนึ่งจากช่วงเวลานี้พลาดผู้นั้นไปแล้วผู้นั้นได้ละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) ละหมาดฟัรฎูที่พลาดไปนั้นในช่วงเวลาอื่น (นอกจากวันอีดจนถึงเวลาอัศริของวันตัชรีกวันสุดท้าย) ผู้นั้นก็ไม่ต้องกล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดชดใช้นั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้ง เพราะการกล่าวตักบีรฺเป็นสัญลักษณ์ (ชิอ็ารฺ) ของบรรดาวันเหล่านี้ (วันอีดและวันตัชรีกอีก 3 วัน) จึงไม่ต้องกระทำ (การตักบีรฺ) ในช่วงเวลาอื่นจากบรรดาวันดังกล่าว แต่ถ้าหากว่าละหมาดฟัรฎูหนึ่งจากช่วงเวลาของวันดังกล่าวพลาดผู้นั้นไปแล้วเขาก็ละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) การละหมาดฟัรฎูที่พลาดไปนั้นในช่วงเวลาวันดังกล่าว ถามว่าเขาจะกล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดนั้นหรือไม่? กรณีนี้มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) คือ

  • แนวทางที่หนึ่ง อัล-บันดะนัยญียฺ และเจ้าของตำราอัล-หาวียฺ ชี้ขาดว่าให้กล่าวตักบีรฺหลังละหมาดฟัรฎูที่ชดใช้ (เกาะฎออฺ) นั้น เพราะการกล่าวตักบีรฺเป็นสัญลักษณ์ของช่วงวันเวลาดังกล่าว
  • แนวทางที่สอง มีความเห็นต่างกัน นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานเล่าไว้ 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) และเจ้าของตำราอัล-บะยาน เล่าจากนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวอีรักเป็น 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 
  • ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) คือให้กล่าวตักบีรฺเช่นเดียวกับแนวทางแรก อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดฟัรฎูที่ชดใช้ (เกาะฎออฺ) ในช่วงวันเวลาดังกล่าว ซึ่งอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และนักวิชาการรุ่นหลังถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 42-43) 

 

ส่วนการกล่าวตักบีรหลังการละหมาดสุนนะฮฺทั่วไป (อัน-นะวาฟิล) อัล-มุซะนียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัล-มุคตะศ็อรฺ ว่า : อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : และจะกล่าวตักบีรหลังบรรดาละหมาดฟัรฎูและบรรดาสุนนะฮฺนะวาฟิล อัล-มุซะนียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : และการกล่าวตักบีรฺซึ่งอยู่ก่อนอันนี้ (หมายถึง การกล่าวตักบีรฺหลังบรรดาละหมาดฟัรฎู) ในทัศนะของฉันเป็นสิ่งที่สมควรกว่า (เอาวฺลา บิฮี) โดยจะไม่มีการกล่าวตักบีรฺนอกเสียจากหลังบรรดาละหมาดฟัรฎูเท่านั้น ส่วนบรรดานักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺในประเด็นปัญหานี้มี 4 แนวทาง (ฏุรุก) แนวทางที่ถูกต้องและรู้กันมากที่สุด (อะเศาะหฺ อัฏ-ฏรุก ว่า อัชฮะรุ้ฮา) มี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) 

  • คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนี่) ถือว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กล่าวตักบีรฺหลังบรรดาละหมาดสุนนะฮฺ เพราะละหมาดสุนนะฮฺเป็นสิ่งที่ถูกกระทำในช่วงวันเวลาของการตักบีรฺ จึงเหมือนกับบรรดาละหมาดฟัรฎู 
  • คำกล่าวที่สอง ถือว่าไม่ส่งเสริม เพราะการกล่าวตักบีรฺเป็นสิ่งที่ติดตาม (ตาบิอฺ) สำหรับการละหมาดฟัรฎู และละหมาดสุนนะฮฺเป็นสิ่งที่ติดตามการละหมาดฟัรฎู สิ่งที่ติดตามย่อมไม่มีสิ่งใดมาติดตามมันอีก
  • แนวทางที่สอง จาก 4 แนวทาง คือให้กล่าวตักบีรฺหลังละหมาดสุนนะฮฺเป็นคำกล่าวเดียว อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบกล่าวว่า แนวทางนี้ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) และอัล-บันดะนัยญียฺก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
  • แนวทางที่สาม ไม่ต้องกล่าวตักบีรฺหลังบรรดาละหมาดสุนนะฮฺ เป็นคำกล่าวเดียว เจ้าของตำราอัล-หาวียฺเล่าเอาไว้
  • แนวทางที่สี่ หากการละหมาดสุนนะฮฺนั้น มีสุนนะฮฺให้ละหมาดคนเดียว ก็ไม่ต้องกล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดสุนนะฮฺนั้น แต่ถ้าหากละหมาดสุนนะฮฺนั้น มีสุนนะฮฺให้ละหมาดแบบญะมาอะฮฺ เช่น ละหมาดสุริยคราส-จันทรคราส และละหมาดขอฝน เป็นต้น ก็ให้กล่าวตักบีรหลังละหมาดสุนะฮฺนั้น เจ้าของตำรา อัล-หาวียฺเล่าเอาไว้ และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ตามมัซฮับโดยสรุปถือว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กล่าวตักบีรฺหลังทุกๆ การละหมาดสุนนะฮฺในช่วงวันเวลาดังกล่าว (อ้างแล้ว 5/43-44) 

 

 

ถามว่า ส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดญะนาซะฮฺในช่วงวันเวลาดังกล่าวหรือไม่ กรณีนี้มี 3 แนวทาง (ฏุรุก) 

  • แนวทางที่หนึ่ง ไม่ต้องกล่าวตักบีรฺ เป็นประเด็นเดียว อัด-ดาริมียฺ ในตำราอัล-อิสติซการฺ อัล-กอฎียฺหุสัยนฺ และเจ้าของตำรา อัต-ตะติมมะฮฺชี้ขาดเอาไว้
  • แนวทางที่สอง มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) เจ้าของตำรา อัล-หาวียฺ และท่านอื่นๆ เล่าเอาไว้
  • แนวทางที่สาม อัช-ชาชียฺ ระบุเอาไว้ใน อัล-มุสตัซฮิรียฺว่า : หากเรากล่าวว่าให้กล่าวตักบีรฺหลังบรรดาละหมาดสุนนะฮฺ ตรงนี้ (หลังละหมาดญะนาซะฮฺ) ก็สมควรกว่า (เอาวฺลา) หากไม่กล่าวอย่างนี้ ก็เหมือนกับบรรดาละหมาดฟัรฎูที่ถูกชดใช้ในช่วงวันตัชรีก อิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า: ตามมัซฮับโดยสรุปถือว่าส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดญะนาซะฮฺ เพราะการละหมาดญะนาซะฮฺเน้นหนักมากกว่าการละหมาดสุนนะฮฺนะวาฟิล (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ซัสฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 44) 

 

หากผู้ละหมาดหลงลืมการกล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดแล้วนึกขึ้นได้ (และการคั่นนั้นใกล้ คือ ทิ้งช่วงไม่นานนัก) ก็ส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่ว่าผู้นั้นจะแยกจากที่ละหมาดของตนแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าการคั่นนั้นยาว (ทิ้งช่วงนาน) กรณีนี้มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) 

  • แนวทางที่หนึ่ง อัล-บะเฆาะวียฺและท่านอื่นๆ จากนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ชาวเมืองคุรอสานระบุว่า มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) เป็นไปตามกรณีของการละทิ้งการสุหญูด สะฮฺวียฺ และนึกขึ้นได้หลังจากทิ้งช่วงนาน อัรฺ-รอฟิอียฺ กล่าวว่า ประเด็นที่ถูกต้องที่สุดตรงนี้ ถือว่าส่งเสริมให้ทำการตักบีรฺ
  • แนวทางที่สอง ส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺไล่ตามหลัง ถึงแม้ว่าการคั่น (ทิ้งช่วง) นานก็ตาม อิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง และตามแนวทางนี้ อัล-มุตะวัลลียฺ ชี้ขาดเอาไว้ และเจ้าของตำรา อัล-บะยาน ถ่ายทอดเอาไว้จากบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองอิรัก และอัล-มุตะวัลลียฺได้แยกแยะระหว่างการกล่าวตักบีรฺกับกรณีการสุหญูดสะฮฺวียฺว่า สุหญูดสะวียฺถูกบัญญัติเพื่อทำให้การละหมาดและคุณลักษณะ (ศิฟะฮฺ) ของการละหมาดเกิดความสมบูรณ์ การสุหญูดสะฮฺวียฺจึงไม่ถูกกระทำภายหลังการทิ้งช่วงที่นาน  ส่วนการกล่าวตักบีรฺนั้นเป็นสัญลักษณ์ของวันเวลาดังกล่าวมิใช่เป็นคุณลักษณะของการละหมาด และไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากการละหมาด และอัล-มุตะวัลลียฺได้ถ่ายทอดจากอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ว่า หากผู้ละหมาดพูดคุยแล้ว (หลังการละหมาด) หรือออกจากมัสยิดแล้ว ต่อมานึกขึ้นได้ว่าตนลืมการกล่าวตักบีรฺหลังละหมาด ผู้นั้นก็ไม่ต้องกล่าวตักบีรฺ แต่มัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าเป็นที่ส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺโดยไม่มีเงื่อนไข (อ้างแล้ว 5/44-45) 

 

ผู้ที่เป็นมัสบู๊กด้วยบางส่วนของการละหมาดอีดหมายถึงผู้ที่มาทันอิมามซึ่งนำละหมาดไปบางส่วนแล้วผู้นั้นไม่ต้องกล่าวตักบีรฺ ยกเว้นภายหลังเสร็จสิ้นจากการละหมาดของตนแล้วนี่เป็นมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอิบนุ อัล-มุนซิรฺได้รายงานจากอิบนุ สีรีน, อัช-ชะอฺบียฺ, อิบนุ ชิบริมะฮฺ, อิมามมาลิก, อัล-เอาวฺซาอียฺ, อิมามอะหฺมัด, อิสหาก, อบูเษาริน และอัศหาบุรฺเราะอฺย์ และถ่ายทอดจาก อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺว่า ให้กล่าวตักบีรฺเลยในขณะนั้นแล้วค่อยชดใช้ละหมาด (เกาะฎออฺ) ทีหลัง และถ่ายทอดจากมุญาฮิดและมักหู้ล ว่า ให้ผู้นั้นกล่าวตักบีรฺเลยแล้วก็ชดใช้การละหมาด หลังจากนั้นก็กล่าวตักบีรฺอีก อิบนุ อัล-มุนซิรฺ กล่าวว่า ฉันกล่าวตามทัศนะแรก

 

และอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.) อ้างว่า ที่ให้ผู้เป็นมัสบูกนั้นกล่าวตักบีรพร้อมอิมาม (ซึ่งเสร็จละหมาดก่อน) เลยนั้น เป็นเพราะผู้ที่เป็นมัสบู๊กจะปฏิบัติตามอิมมามในกรณีของการสุหญูดสะฮฺวียฺ การตักบีรฺก็เช่นกัน แต่นักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และปวงปราชญ์กล่าวว่า : เป็นเพราะการกล่าวตักบีรจะถูกบัญญัติให้กระทำภายหลังผู้ละหมาดเสร็จสิ้นจากการละหมาดแล้ว และในกรณีของผู้ที่เป็นมัสบู๊กนี้ยังละหมาดไม่เสร็จสิ้น ต่างจากกรณีของการสุหญูดสะฮฺวียฺที่จะถูกกระทำในตัวของการละหมาด และผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั้นจะแยกจากการตามอิมามภายหลังการให้สล่ามของอิมามเท่านั้น  (อ้างแล้ว 5/45)  และตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ถือว่าเท่ากันในการกล่าวตักบีรฺ มุรฺสัล (มุฏลัก) และมุก็อยยัด ไม่ว่าผู้นั้นจะละหมาดคนเดียว,ญะมาอะฮฺ, ผู้ชาย, ผู้หญิง, เด็กที่รู้เดียงสา, ผู้ที่ไม่ได้เดินทาง หรือผู้ที่เดินทางก็ตาม ทั้งหมดส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺในช่วงวันเวลาของอีด (อ้างแล้ว 5/45) 

 

หากอิมามกล่าวตักบีรฺบนสิ่งที่ค้านกับความเชื่อของมะอฺมูม เช่น อิมามกล่าวตักบีรฺในวันอะเราะฟะฮฺ (หลังละหมาดศุบหิเป็นต้น) แต่มะอฺมูมไม่เห็นเช่นนั้น (กล่าวคือเห็นขัดแย้งกับอิมามว่าวันนั้นยังไม่ใช่วันอะเราะฟะฮฺในความเชื่อของมะอฺมูม) หรืออิมามละทิ้งการกล่าวตักบีรฺ และมะอฺมูมเห็นว่าควรกล่าวหรืออิมามกล่าวตักบีรฺในช่วงเวลาของวันบรรดาวันตัชรีก แต่มะอฺมูมไม่เห็นเช่นนั้นหรืออิมามละทิ้งการกล่าวตักบีรฺ และมะอฺมูมไม่เห็นเช่นนั้น กรณีทั้งหมดนี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

  • ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) ให้มะอฺมูมทำตามความเชื่อ (อิอฺติก็อด) ของตนในเรื่องการกล่าวตักบีรและการละทิ้ง โดยมะอฺมูมไม่ต้องกระทำสอดคล้องกับอิมามเพราะการตามอิมามสิ้นสุดลงแล้วด้วยการให้สล่ามของอิมาม 
  • ส่วนประเด็นที่สอง ให้มะอฺมูมกระทำสอดคล้องกับอิมาม เพราะการกล่าวตักบีรฺเป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งติดตาม (ตะวาบิอฺ) การละหมาด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 45) 

 

 

สำนวนของการกล่าวตักบีรฺวันอีด

ลักษณะของการกล่าวตักบีรฺที่ถูกส่งเสริมคือ ‭‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭‬ นี่คือ สิ่งที่รู้กัน (มัชฮู๊รฺ) จากบรรดาตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำราอัล-อุมม์, อัล-มุคตะศอรฺ และตำราเล่มอื่นๆ บรรดานักวิชาการในมัซฮับก็ตัดสินชี้ขาดตามนี้ และเจ้าของตำราอัต-ตะติมมะฮฺ และท่านอื่นๆ เล่าคำกล่าวเกาะดีมของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า : ให้กล่าวตักบีรฺ ‬الله‭ ‬أكبر‭‬ 2 ครั้งโดยกล่าวว่า : ‭‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬الله‭ ‬أكبر ‬ แต่ที่ถูกต้อง (อัศ-เศาะวาบ) คือสำนวนแรกที่กล่าวตักบีรฺ ‭‬الله‭ ‬أكبر‭‬ 3 ครั้งโดยติดต่อกัน

 

อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)กล่าวไว้ใน อัล-มุคตะศอรฺว่า : และสิ่งที่เพิ่มเติมจากการกล่าวซิกรุลลอฮฺนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี และอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)กล่าวไว้ในตำรา อัล-อุมม์ ว่า : ฉันชอบในการเพิ่มเติมว่า : 

اَللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬كَبِيْرًا‭ ‬،‭ ‬وَالْحَمْدُ‭ ‬لِلهِ‭ ‬كَثِيْرًا‭ ‬،‭ ‬وَسُبْحَانَ‭ ‬اللهِ‭ ‬بُكْرَةً‭ ‬وَأَصِيْلاً‭ ‬،‭ ‬لاَ‭ ‬إِلٰهَ‭ ‬إِلاَّ‭ ‬اللهُ‭ ‬ وَلاَ‭ ‬نَعْبُدُ‭ ‬إِلاَّ‭ ‬إِيَّاهُ‭ ‬،‭ ‬مُخْلِصِيْنَ‭ ‬لَهُ‭ ‬الدِّيْنَ‭ ‬وَلَوْكَرِهَ‭ ‬الْكَافِرُوْنَ‭ ‬،‭ ‬لاَ‭ ‬إِلٰهَ‭ ‬إِلاَّ‭ ‬اللهَ‭ ‬وَحْدَهُ‭ ‬،‭ ‬صَدَقَ‭ ‬وَعْدَهُ‭ ‬وَنَصَرَعَبْدَهُ‭ ‬وَهَزَمَ‭ ‬الْأَحْزَابَ‭ ‬وَحْدَهَ‭ ‬،‭ ‬لاَ‭ ‬إِلٰهَ‭ ‬إِلاَّ‭ ‬اللهَ‭ ‬وَاللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬

ทั้งนี้โดยอาศัยหลักฐานที่ว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวสำนวนดังกล่าวบนเนินเขา อัศ-เศาะฟา ซึ่งเป็นหะดีษที่อิมามมุสลิมรายงานไว้ในเศาะหิหฺของท่านจากริวายะฮฺของท่านญาบิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) โดยมีสำนวนที่กระชับกว่าที่กล่าวมา

 

และอัล-มุตะวัลลียฺตลอดจนท่านอื่นๆ ได้ถ่ายทอดจากตัวบทอัล-เกาะดีมของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า : แท้จริงเมื่อผู้กล่าวตักบีรฺกล่าวเกินกว่าการตักบีรฺ 3 ครั้ง  ก็ให้กล่าวว่า : 

اَللهُ‭ ‬أَكْبَرُكَبِيْرًا‭ ‬،‭ ‬وَالْحَمْدُ‭ ‬لِلهِ‭ ‬كَثِيْرًا‭ ‬،‭ ‬اَللهُ‭ ‬أََكْبَرُ‭ ‬عَلَى‭ ‬مَا‭ ‬هَدَانَا‭ ‬،‭ ‬وَالْحَمْدُ‭ ‬لِلهِ‭ ‬عَلَى‭ ‬مَا‭ ‬أَوْلَانَا‭ ‬وَأَبْلَانَا

 

เจ้าของตำรา อัช-ชามิล กล่าวว่า : และสิ่งที่ผู้คนนิยมกล่าวกันนั้นก็ไม่เป็นอะไร เช่นกัน คือ

اَللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬اَللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬اَللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬،‭ ‬لَا‭ ‬إِلٰهَ‭ ‬إِلَّا‭ ‬اللهُ‭ ‬وَاللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬اَللهُ‭ ‬أَكْبَرُ‭ ‬وَلِلهِ‭ ‬الْحَمْدُ

 

และสิ่งที่เจ้าของตำราอัช-ชามิล กล่าวนี้ อัล-บันดะนัยญียฺ และเจ้าของตำราอัล-บะหฺร์ ถ่ายทอดจากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ใน อัล-บุวัยฏียฺ โดย อัล-บันดะนัยญียฺ กล่าวว่า : และนี่คือสิ่งซึ่งสมควรในการถูกนำมาปฏิบัติและผู้คนก็ถือกัน ส่วนเจ้าของตำราอัล-บะหฺร์ กล่าวว่า : การปฏิบัติเป็นไปตามนี้ และตัวฉันเคยเห็น (ตัวบท) ใน 2 ที่ จากอัล-บุวัยฏียฺ แต่ว่าตัวบทนั้นกำหนดการกล่าวตักบีรฺอันแรก 2 ครั้ง (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5/46) 

 

ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ถือว่าส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺ 3 ครั้ง ติดต่อกัน และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ก็ว่าตามนี้ ท่านอิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าจากท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) และอิบนุมัสอู๊ด (ร.ฎ.) ว่า :  

الله‭ ‬أكبر‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬كبيرا‭ ‬،‭ ‬الله‭ ‬أكبرَ‭ ‬كبيرا‭ ‬،‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬وأجَلُّ‭ ‬،‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬ولله‭ ‬الحمدُ

 

และเล่าจากอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ว่า : 

الله‭ ‬أكبر‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬الله‭ ‬أكبر‭ ‬،‭ ‬لا‭ ‬إله‭ ‬إلا‭ ‬الله‭ ‬وحده‭ ‬لا‭ ‬شريكَ‭ ‬له‭ ‬،‭ ‬له‭ ‬المُلكُ‭ ‬وله‭ ‬الحمدُ‭ ‬،‭ ‬وهو‭ ‬على‭ ‬كل‭ ‬شيئٍ‭ ‬قديرٌ

 

และอัล-หะกัม ตลอดจนหัมม็าดกล่าวว่า : ในเรื่องนี้ไม่มีสิ่งใดที่ถูกกำหนดตายตัว  (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 47-48) 

 

อนึ่ง ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ(ร.ฮ.)กล่าวว่า : และทุกสิ่งที่มีร่องรอยถูกรายงานมา (อัล-มะอฺษูร) เป็นสิ่งที่ดี… แท้จริงคุณลักษณะ (ศิฟาต) ของบรรดาอิบาดะฮฺจากบรรดาคำพูดและการกระทำนั้น เมื่อปรากฏว่าเป็นสิ่งที่มีร่องรอยอันเป็นรายงานที่ถูกต้องในการยึดถือสิ่งนั้น สิ่งหนึ่งจากเรื่องดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) แต่สิ่งดังกล่าวทั้งหมดถือเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ (มัชรูอฺ) แต่ว่าบางสิ่งที่มีร่องรอย (มะษูร) นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริมและมีความประเสริฐกว่าอีกบางส่วน เมื่อมีหลักฐานหนึ่งระบุถึงความประเสริฐกว่า และอีกบางส่วนก็ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) (ในการนำมาปฏิบัติ) (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 12 ภาคที่ 24 หน้า 132)

 

ดังนั้นสำนวนการกล่าวตักบีรฺในวันอีดทั้งสองที่มีร่องรอย (มะอฺษูร) ถูกรายงานมาจากชนรุ่นสะลัฟ ศอลิหฺว่ามีการกล่าวเพิ่มเติมจากสำนวนการกล่าวตักบีรฺ เช่น การกล่าวตะฮฺลีล การกล่าวตัสบีหฺ และการกล่าวตะหฺมีด จึงถือเป็นสิ่งที่สามารถนำมากล่าวได้โดยไม่ถือว่าเป็นสิ่งมักรูฮฺแต่อย่างใด
ดังกรณีของสำนวนการกล่าวเพิ่มเติมในการตักบีรฺวันอีดที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้ในตำราอัล-อุมม์ของท่านซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมากล่าวกันตามมัสญิดต่างๆ ในบ้านเมืองของเราก็มีอัล-หะดีษระบุว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยกล่าวสำนวนดังกล่าวบนเนินเขา
อัศ-เศาะฟา

 

ทั้งนี้ถึงแม้จะมีบางคนวิจารณ์ว่าสำนวนดังกล่าวท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวที่เนินเขาอัศ-เศาะฟา ท่านมิได้กล่าวในขณะทำการกล่าวตักบีรฺหลังการละหมาดก็ตาม เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยกล่าวสำนวนดังกล่าวในวันอีดหรือไม่ ซึ่งแน่นอนการระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยกล่าวสำนวนที่เพิ่มเติมตามที่ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ชอบให้กล่าวและระบุไว้ในตำราอัล-อุมม์ของท่านก็ย่อมเพียงพอแล้วในการยืนยันว่า สำนวนการกล่าวที่เพิ่มเติมนั้นมีร่องรอยที่ถูกรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าท่านกล่าวสำนวนดังกล่าวในช่วงของวันอีด เพราะการสะอฺย์ (สะแอ) ที่เริ่มต้น ณ เนินเขาอัศ-เศาะฟา ในการประกอบพิธีหัจญ์ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เกิดขึ้นในช่วงวันเวลาของวันอีดอย่างแน่นอน ประเด็นจึงมิได้อยู่ที่ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวสำนวนเพิ่มเติม ณ สถานที่ใดแต่อยู่ที่ว่าท่านกล่าวสำนวนที่เพิ่มเติมนั้นในช่วงวันเวลาของอีด-อัลอัฎหา ซึ่งมีขั้นตอนของการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺและการสะอฺย์หลังจากนั้น (วัลลอฮุอะอฺลัม) 

 

 

กรณีวันอีดตรงกับวันศุกร์

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.)และบรรดานักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : เมื่อวันศุกร์ตรงกับวันอีด และชาวชุมชน (อะฮฺลุลกุรอ) ซึ่งการละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาเนื่องจากเสียงอะซาน (ของมัสญิดญามิอฺในเมือง) ได้ยินไปถึง และพวกเขาได้มาร่วมละหมาดอีด การละหมาดวันศุกร์ก็ไม่ตกไปจากชาวเมือง (อะฮฺลุลบะลัด) โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ ส่วนในกรณีของชาวชุมชน (อะฮฺลุลกุรอ) นั้นมี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) 

  • ประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะหฺ) และถูกระบุเป็นตัวบท (มันศูศ) สำหรับอิมามอัช-ชาฟิอียฺในตำราอัล-อุมม์ และคำกล่าวอัล-เกาะดีม ถือว่าการละหมาดวันศุกร์ (ซึ่งตรงกับวันอีด) จะตกไป 
  • ประเด็นที่สอง ถือว่าไม่ตกไป (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 358)  

 

ทั้งนี้อิมาม อัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.)ได้กล่าวถึงทัศนะของบรรดานักวิชาการในประเด็นนี้ว่า : แน่แท้เราได้กล่าวมาแล้วว่า แท้จริงมัซฮับของเราคือ การละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็นเหนือชาวเมือง (อะฮฺลุลบะลัด) และการละหมาดวันศุกร์นั้นตกไปจากชาวชุมชน (อะฮฺลุลกุรอ) ซึ่งตามนี้ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.), ท่านอุมัรฺ อิบนุ อับดิลอะซีซ (ร.ฎ.) และปวงปราชญ์กล่าวเอาไว้ และท่านอะฎออฺ อิบนุ อบีเราะบาหฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เมื่อพวกเขาละหมาดอีดแล้ว การละหมาดวันศุกร์ก็ไม่จำเป็นหลังการละหมาดอีดของพวกเขาในวันนี้อีก ตลอดจนการละหมาดซุฮฺริด้วย รวมถึงละหมาดอื่นจากทั้งสอง (ละหมาดอื่นนอกจากละหมาดวันศุกร์และละหมาดซุฮฺริ) ยกเวันการละหมาดอัศริโดยไม่จำเป็นเหนือชาวชุมชนและไม่จำเป็นเหนือชาวเมือง (ในการละหมาดวันศุกร์หรือซุฮฺริ) อิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวว่า : และเราได้รายงานที่คล้ายกัน (กับคำกล่าวของอะฏออฺ) จากท่านอะลี อิบนุ อบีฎอลิบ (ร.ฎ.) และอิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ส่วนอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การละหมาดวันศุกร์จะตกไปจากชาวชุมชน (อะฮฺลุลกุรอ) และชาวเมือง (อะฮฺลุลบะลัด) แต่จำเป็นต้องละหมาดซุฮฺริ อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การละหมาดวันศุกร์จะไม่ตกไปทั้ง
จากชาวเมืองและชาวชุมชน (อ้างแล้ว 4/359) 

 

ทั้งนี้นักวิชาการฝ่ายที่ถือว่าการละหมาดวันศุกร์จะตกไปจากทั้งหมด (ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองหรือชาวชุมชน) อาศัยหลักฐานจากหะดีษของซัยดฺ อิบนุ อัรฺก็อม (ร.ฎ.) ว่า : “ฉันเคยอยู่ร่วมพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในวันอีดทั้งสองที่รวมกัน (คือวันอีดตรงกับวันศุกร์)
แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ละหมาดอีด ต่อมาท่านก็อนุโลม (รุคเศาะฮฺ) ในการละหมาดวันศุกร์และท่านกล่าวว่า : ผู้ใดประสงค์ในการละหมาด (วันศุกร์) ผู้นั้นก็จงละหมาด “(บันทึกโดยอบูดาวูด อัน-นะสาอียฺ และ อิบนุมาญะฮฺ ด้วยสายรายงานที่ดี และอบูดาวูดไม่ได้ระบุว่า
เป็นหะดีษที่อ่อน (เฎาะอีฟ) และหะดีษที่รายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) จากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า : “แน่แท้อีด 2 อีดได้รวมกันในวันของพวกท่านนี้ ดังนั้นผู้ใดประสงค์ผู้นั้นก็เอาเรื่องของวันศุกร์ไว้หลัง และแท้จริงเรานั้นเป็นผู้ทำวันศุกร์” (บันทึกโดยอบูดาวูดและอิบนุมาญะฮฺ ด้วยสายรายงานที่อ่อน)

 

ส่วนหลักฐานของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ที่ว่าการละหมาดวันศุกร์จะไม่ตกไปจากชาวเมืองและชาวชุมชนนั้นคือ หลักเดิมถือว่าการละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับท่านอะฎออฺ (ร.ฮ.) นั้นท่านอาศัยหลักฐานที่ว่า : “วันศุกร์และวันอีดรวมกัน (ตรงกัน) ในสมัยของอิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) และ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ กล่าวว่า : อีด 2 อีดมารวมกันฉะนั้นก็รวมทั้งสองอีดนั้นเข้าด้วยกัน และอิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ ก็ละหมาดทั้งสองการละหมาดนั้น 2 ร็อกอะฮฺในตอนเช้าตรู่ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺไม่ได้ทำเกิน 2 ร็อกอะฮฺนั้นจนกระทั่งละหมาดอัศริ” (บันทึกโดยอบูดาวูดด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิม)

 

และจากท่านอะฏออฺว่า : อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ ได้ละหมาดวันศุกร์ในวันอีดตอนต้นวัน ต่อมาพวกเราก็ออกไปละหมาดวันศุกร์ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺไม่ได้ออกมายังพวกเรา (ที่มัสญิด) พวกเราจึงต่างคนต่างละหมาด และอิบนุอับบาสนั้นอยู่ที่เมืองอัฏ-ฏออิฟ ครั้นเมื่ออิบนุ อับบาสได้มุ่งหน้ามา พวกเราได้กล่าวถึงสิ่งดังกล่าวแก่อิบนุ อับบาส แล้ว อิบนุ อับบาสก็กล่าวว่า :  (อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ) กระทำถูกต้องตามสุนนะฮฺ” (บันทึกโดยอบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่ดีหรือเศาะหิหฺตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิม) (อ้างแล้ว 4/359) 

 

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เมื่อวันศุกร์และวันอีดมารวมกันภายในวันเดียว (ตรงกัน) บรรดานักปราชญ์ก็มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็น 3 คำกล่าว (อักว็าล) คือ

  • หนึ่ง จำเป็นต้องละหมาดวันศุกร์เหนือผู้ที่มาร่วมละหมาดอีด เช่นเดียวกับวันศุกร์อื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากมีสิ่งบ่งชี้เป็นหลักฐานกว้างๆ ถึงการเป็นสิ่งจำเป็นของการละหมาดวันศุกร์
  • สอง การละหมาดวันศุกร์จะตกไปจากชาวบก (อะฮฺลุลบัรฺร์) เช่นเดียวกับผู้คนที่อยู่ในที่สูงหรือชนบท เพราะอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) อนุโลมให้แก่พวกเขาในการละทิ้งละหมาดวันศุกร์เมื่อท่านได้นำพวกเขาละหมาดอีด (ในตอนเช้า) แล้ว
  • สาม เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง (ในทัศนะของอิบนุตัยมียะฮฺ) คือ ผู้ที่ได้มาร่วมละหมาดอีดแล้ว การละหมาดศุกร์ก็ตกไปจากผู้นั้น แต่จำเป็นที่อิมามจะต้องจัดให้มีการละหมาดวันศุกร์ (ที่มัสญิดญามิอฺ) เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์มาร่วมละหมาดวันศุกร์ได้มาร่วมละหมาด (ที่มัสญิดญามิอฺ) ตลอดจนคนที่ไม่ได้ไปร่วมละหมาดอีด (จะได้มาร่วมละหมาดวันศุกร์) และนี่คือสิ่งที่ถูกรายงานเป็นร่องรอย (มะอฺษู๊ร) มาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน เช่น อุมัร, อุษมาน, อิบนุ มัสอูด, อิบนุ อับบาส และอิบนุอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) และไม่เป็นที่รู้กันว่ามีข้อขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ…” (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 12 ภาคที่ 24 หน้า 114) 

 

สรุปได้ว่า ในกรณีที่วันอีดตรงกับศุกร์นั้น หากผู้มาร่วมละหมาดอีดพร้อมกับอิมามในตอนเช้าของวันอีดอยู่ในพื้นที่ซึ่งห่างจากมัสญิดญามิอฺและไม่ได้ยินเสียงอะซานจากมัสญิดญามิอฺ ก็อนุโลมให้ผู้นั้นไม่ต้องมาร่วมละหมาดวันศุกร์ในวันนั้นอีก ส่วนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับมัสญิดญามิอฺนั้น และได้ยินเสียงอะซานจากมัสญิดก็ถือว่าการละหมาดวันศุกร์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นั้น หรืออย่างน้อยก็สมควรมาร่วมละหมาดวันศุกร์พร้อมกับอิมามที่มัสญิดญามิอฺเพื่อเป็นการออกจากการมีความเห็นขัดแย้งของนักวิชาการ ส่วนบุคคลที่ไม่ได้มาร่วมละหมาดอีดในตอนเช้าก็ถือว่าการละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นั้นในกรณีที่ผู้นั้นไม่มีอุปสรรคอย่างอื่นที่ผ่อนผันให้ละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ สำหรับอิมามและคณะกรรมการมัสญิดนั้นก็สมควรที่จะจัดการละหมาดวันศุกร์ตามปกติ เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์มาร่วมละหมาดวันศุกร์หรือผู้ที่มิได้ละหมาดอีดได้มาร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิด ทั้งนี้ในกรณีที่เงื่อนไขของการเศาะหฺละหมาดวันศุกร์ครบถ้วน มีจำนวนอะฮฺลุลญุมอะฮฺครบตามกำหนด เป็นต้น แต่ถ้าไม่สามารถทำละหมาดวันศุกร์ได้ก็ให้อิมามนำละหมาดซุฮฺริแบบญะมาอะฮฺที่มัสญิด และในทุกกรณีถือว่าการละหมาดซุฮฺริไม่ตกไปหากผู้นั้นไม่ได้ละหมาดวันศุกร์ ทั้งนี้เพื่อออกจากการขัดแย้งของนักวิชาการ

 

วัลลอฮุอะอฺลัม