ชายผู้หนึ่งจากชนเผ่าเกาะหฺฏอนจะปรากฏตัวก่อนถึงวันสิ้นโลกและชายทีชื่อ “ญะฮฺญาฮฺ” จะมีอำนาจ

ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) รายงานจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า

(( لَاتَقُوْمُ السَّاعَةُ حَتّى يَخْرُجَ رَجُلٌ مِنْ قَحْطَانَ يَسُوْقُ النَّاسَ بِعَصَاهُ ))

ความว่า “ช่วงเวลานั้น (วันสิ้นโลก) จะไม่เกิดขึ้น จนกว่าจะมีชายคนหนึ่งจากเกาะหฺฏอน (ปรากฏตัว) ออกมา โดยเขาจะไล่ต้อนผู้คนด้วยไม้เท้าของเขา”
(อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

“เกาะหฺฏอน” เป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าอาหรับในยะมัน (เยเมน) ทางตอนใต้ เผ่าพันธุ์ของเกาะหฺฏอนแบ่งออกเป็น 2 ก๊กใหญ่ คือ หิมยัรฺ และ กะฮฺลาน   พวกหิมยัรฺเป็นชนชาติเดิมในยะมัน และเป็นผู้รับช่วงอารยธรรมที่รุ่งเรืองของพวกสะบะอฺและมะอีน ในอดีตพวกหิมยัรฺมีอาณาจักรที่เข้มแข็ง มีราชธานีอยู่ที่เมืองซุฟารฺ พวกกะฮฺลานเป็นชาวอาหรับที่สืบเผ่าพันธุ์จากเกาะหฺฏอน แบ่งเป็นหลายเผ่า เช่น เผ่าอัล-อัซฺด์ , ฮัมดาน , ฏอยยิอฺ , มัซหิจญ์ และกินดะฮฺ

 

ในคัมภีร์ไบเบิ้ลเก่า (อัต-เตารอต) เรียกเกาะหฺฏอนว่า “ยักฏอน” และในอัล-หะดีษนี้ระบุว่า ชายผู้นั้นมาจากเกาะหฺฏอนคือ เป็นลูกหลานของเกาะหฺฏอน ผู้เป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าอาหรับในยะมัน (เยเมน) โดยไม่ได้ระบุชื่อของชายผู้นั้น และสิ่งที่เป็นคุณลักษณะของชายจากเกาะหฺฏอนตามที่อัล-หะดีษระบุก็คือ “เขาจะไล่ต้อนผู้คนด้วยไม้เท้าของเขา” นักวิชาการอธิบายคุณสมบัติดังกล่าวแตกต่างกัน บ้างก็ว่าเป็นสำนวนบ่งถึง “อำนาจ” ในการปกครอง โดยเปรียบเทียบชายผู้นี้กับคนเลี้ยงแกะ และเปรียบเปรยผู้คนเป็นเหมือนฝูงแกะ การไล่ต้อนด้วยไม้เท้ามีนัยบ่งถึงการควบคุมและการใช้อำนาจในการปกครอง บ้างก็ว่าเป็นสำนวนที่กล่าวเป็นนัยว่า ชายผู้นี้จะมีชัยชนะเหนือผู้คน แล้วผู้คนก็จะปฏิบัติตามเขา และการใช้สำนวนที่ว่า “เขาจะไล่ต้อนผู้คนด้วยไม้เท้า” เป็นการบ่งถึงความหยาบคาย การใช้กำลังอย่างเข้มงวดและเด็ดขาดของชายผู้นี้ที่มีต่อผู้คน (อัล-กิยามะฮฺ อัศ-ศุฆรอ ; ดร.อุมัร สุลัยมาน อัล-อัชกอรฺ หน้า 203 , ดูเชิงอรรถ อัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุกะษีร 1/206) เป็นที่น่าสังเกตว่าอิบนุ กะษีร (ร.ฮ.) ระบุถึงชายผู้นี้ว่าเป็นผู้อธรรม (ซอลิม) (อัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุกะษีรฺ 1/205)

 

อัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ฉันไม่พบชื่อของชายผู้นี้ แต่อัล-กุรฺฏุบียฺอนุโลมว่าน่าจะเป็นชายที่ชื่อ ญะฮฺญาฮฺ (جَهْجَاهٌ) ซึ่งมีการระบุไว้ในเศาะหิหฺมุสลิมในอีกสายรายงานหนึ่งจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า (( لَاتَذْهَبُ الأَيَّامُ واللَّيَالِى حتى يَمْلِكَ رَجُلٌ يُقَالُ لَهُ جَهْجَاهٌ )) ความว่า “บรรดาวันและคืนจะไม่จากจรจนกว่าชายคนหนึ่งที่ถูกเรียกขานว่า ญะฮฺญาฮฺ จะมีอำนาจปกครอง” อิมามมุสลิมบันทึกอัล-หะดีษบทนี้หลังจากหะดีษของชายจากเกาะหฺฏอน (ฟัตหุลบารียฺ 6/425)

 

ท่านอัรฺฏอฮฺ อิบนุ อัล-มุนซิรฺซึ่งเป็นชนรุ่นตาบิอีนแห่งแคว้นชาม (ซีเรีย) กล่าวว่า “ชายชาวเกาะหฺฏอนจะปรากฏตัวขึ้นหลังจากอิมามอัล-มะฮฺดียฺ และเขาจะดำเนินตามแนวทางของอัล-มะฮฺดียฺ โดยจะมีอำนาจในการปกครองอยู่ราว 20 ปี (ฟัตหุลบารียฺ 6/425) และท่านหาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) ได้อ้างจากหนังสืออัต-ตีญานของอิบนุฮิชาม ซึ่งระบุว่า : ชายผู้นี้มีชื่อว่า ชุอัยบฺ อิบนุ ศอลิหฺ โดยเขาผู้นี้จะเป็นผู้สังหารผู้ที่ทำลายอัล-กะอฺบะฮฺ (ฟัตหุลบารียฺ 13/66)

 

อิบนุ กะษีรฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า : ชายผู้นี้อาจหมายถึง “ซู อัส-สุวัยเกาะตัยนฺ”  (ذُوالسُّوَيْقَتَيْنِ) – ผู้มีหน้าแข้งเล็ก  2 ข้าง-  และอาจเป็นไปได้ว่าเป็นคนละคนกัน เพราะชายผู้นี้มาจากเกาะหฺฏอน และ “ซู อัส-สุวัยเกาะตัยนฺ” นั้นมาจากชนอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปีย) และอิบนุ กะษีรฺ (ร.ฮ.) ยังระบุอีกด้วยว่า เป็นไปได้ที่ญะฮฺญาฮฺ เป็นชื่อของซู อัส-สุวัยเกาะตัยนฺ (อัน-นิฮายะฮฺ 1/206) และดร.อุมัร สุลัยมาน อัล-อัชกอรฺ ระบุชัดเจนว่าญะฮฺญาฮฺเป็นชนจากเกาะหฺฏอน ซึ่งต่อมามีอำนาจในการปกครอง มีความเฉียบขาดและรุนแรงในการใช้อำนาจ แต่ดร.อุมัรก็ระบุว่า ชนจากเกาะหฺฏอนอาจะป็นคนละคนกับญะฮฺญาฮฺ เพราะมีอัล-หะดีษที่ถูกต้องในสุนันอัต-ติรฺมิซียฺจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) จากท่านเราะสูลุลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า (( لايَذْهَبُ الَّيْلُ وَالنَّهَارُحَتّى يَمْلِكَ رَجُلٌ مِنَ الْمَوَالِىْ يُقَالُ لَهُ جَهْجَاهٌ )) ความว่า “คืนวันจะไม่จากจร จนกว่าชายคนหนึ่งที่ถูกเรียกขานกันว่า ญะฮฺญาฮฺจากพวกมะวาลียฺจะมีอำนาจในการปกครอง” ในสำนวนของอัล-หะดีษบทนี้ระบุว่า ญะฮฺญาฮฺมาจากพวกมะวาลียฺ (อัล-กิยามะฮฺ อัศ-ศุฆรอ ; ดร.อุมัร สุลัยมาน อัล-อัชกอรฺ หน้า 203)

 

คำว่า อัล-มะวาลียฺ (الموالي) เป็นคำนามพหูพจน์ของคำเอกพจน์ที่ว่า เมาวฺลา (المولى) หมายถึงพรรคพวกที่ยอมเข้าร่วมสังกัดกับชนเผ่า โดยพวกอัล-มะวาลียฺจะเป็นชนชาติที่มิใช่ชาวอาหรับแต่เดิม เช่น พวกที่เป็นชาวเปอร์เซียเป็นต้น ดังนั้น ญะฮฺญาฮฺจึงไม่น่าจะเป็นคนๆเดียวกับชายจากเกาะหฺฏอนซึ่งเป็นชาวอาหรับแท้ในยะมัน และกรณีของชายจากเกาะหฺฏอนนั้นเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นผู้อธรรมในช่วงแรก ต่อมาก็กลับใจภายหลังการปรากฏตัวของอิมาม อัล-มะฮฺดียฺ และมีอำนาจในการปกครองอยู่ราว 20 ปี ชื่อของเขาอาจจะมีชื่อว่า “ญะฮฺญาฮฺ” เหมือนกัน โดยเป็นฉายานาม เพราะคำว่า “ญะฮฺญาฮฺ” แปลว่าผู้ส่งเสียงดัง หรือผู้ที่ตะโกนส่งเสียงซึ่งเป็นลักษณะที่เข้ากับคำว่า “ไม้เท้าและการไล่ต้อน” ตามที่อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) ได้ระบุไว้ (ฟัตหุลบารียฺ 13/78)

 

ส่วนชายที่ชื่อว่า “ญะฮฺญาฮฺ” อีกคนหนึ่งนั้นเป็นชายที่มาจากพวกอัล-มะวาลียฺ ซึ่งมิใช่ชาวอาหรับแท้ๆ เหมือนกับญะฮฺญาฮฺที่มาจากเกาะหฺฏอนซึ่งอาจจะมีชื่อจริงที่ว่า “ชุอัยบฺ อิบนุ ศอลิหฺ” ตามที่อิบนุฮิชามระบุ และชายผู้นี้เป็นผู้สังหารผู้ทำลายกะอฺบะฮฺ ซึ่งมีหะดีษระบุว่าคือ “ซู อัส-สุวัยเกาะตัยนฺ” ดังนั้น “ซู อัส-สุวัยเกาะตัยนฺ” จึงไม่น่าจะใช่ญะฮฺญาฮฺคนที่มาจากเกาะหฺฏฮนเพราะคนนี้เป็นชาวอาหรับแท้ๆ ส่วนซู อัส-สุวัยเกาะตัยนฺเป็นชาวอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปีย) ตามที่อิบนุ กะษีรฺตั้งข้อสงสัยเอาไว้ และการไล่ต้อนผู้คนของชายจากเกาะหฺฏอนนั้นก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เขาไล่ต้อนผู้คนไปสู่ความดีหรือความชั่ว เนื่องจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ชี้ชัดเอาไว้ในอัล-หะดีษ แต่ถ้าชายจากเกาะหฺฏอนดำเนินตามแนวทางของอิมาม อัล-มะฮฺดียฺ (ร.ฎ.) ก็น่าจะเป็นการไล่ต้อนผู้คนสู่ความดีและปกครองผู้คนด้วยความยุติธรรม

 

อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : อัล-หะดีษบทนี้ (หมายถึงอัล-หะดีษต้นเรื่องที่ระบุถึงชายจากเกาะหฺฏอน) ถูกจัดอยู่ใน “บรรดาหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความเป็นนบี” (ดะลาอิลุลุนนุบูวะฮฺ) ซึ่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เคยบอกไว้ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง และเรื่อง (ของชายจากเกาะหฺฏอน) นี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด (ฟัตหุลบารียฺ 6/426) แสดงว่า การปรากฏขึ้นของชายจากเกาะฮฺฏอนยังไม่เกิดขึ้นมาก่อนในช่วงยุคต้นของอิสลามจนกระทั่งถึงสมัยของอัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) ซึ่งท่านเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 852/ ค.ศ. 1449 และถ้าหากคำกล่าวของท่านอัรฺฏอฮฺ อิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) ซึ่งเป็นชนรุ่นอัต-ตาบิอีนที่ระบุว่า ชายจากเกาะฮฺฏอนจะปรากฏตัวหลังการปรากฏตัวของอิมามอัล-มะฮฺดียฺ (ร.ฎ.) นั่นก็แสดงว่า ณ เวลาปัจจุบันชายจากเกาะหฺฏฮนก็ยังไม่ปรากฏตัวออกมาเช่นกัน

 

และการที่มีนักวิชาการบางท่านระบุว่า ชายจากเกาะหฺฏอนคือ อุสามะฮฺ บินลาดิน ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะถึงแม้ว่าอุสามะฮฺ บินลาดินจะมีเชื่อสายยะมันอย่างที่รู้กัน แต่อุสามะฮฺ บินลาดินก็ไม่ได้มีอำนาจปกครองและไม่ได้ไล่ต้อนผู้คนไปยังสิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกจากการเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับพวกจักวรรดินิยมหรือมหาอำนาจ และอุสามะฮฺก็จบชีวิตลงแล้ว (ตามที่รัฐบาลของสหรัฐฯ กล่าวอ้างและเป็นข่าว) ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีอำนาจปกครอง ตลอดจน อิมามอัล-มะฮฺดียฺ (ร.ฎ.) และ “ซู อัส-สุวัยเกาะตัยนฺ” ที่จะทำลายอัล-กะอฺบะฮฺก็ยังไม่ปรากฏตัวออกมา อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรามีความเชื่อก็คือ ชายจากเกาะหฺฏฮนจะต้องปรากฏตัวออกมาก่อนวันสิ้นโลกอย่างแน่นอนตามสัจจะพยากรณ์ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวไว้ วัลลอฮุอะอฺลัม