29. อัต-ตีญานียฺอ้างอัล-หะดีษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาสนับสนุนทฤษฎีการตกศาสนาของเหล่าเศาะหาบะฮฺ

หลังจากการอ้างบรรดาอายะฮฺอัล-กุรอานเพื่อสนับสนุนทฤษฎีการตกศาสนาของเหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งเราได้วิภาษมาแล้ว อัต-ตีญานียฺก็อ้างถึงบรรดาหะดีษที่อัต-ตีญานียฺเข้าใจว่านัยของหะดีษเหล่านั้นเป็นหลักฐานบางชี้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ได้ตกศาสนาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตั้งหัวข้อว่า “ทัศนะของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺ” ในหน้าที่ 119 จากหนังสือษุมมะฮฺตะดัยตุ้ของเขา อัต-ตีญานียฺเริ่มด้วยหลักฐานข้อที่ 1 ว่าด้วยหะดีษสระน้ำ (หะดีษอัล-เหาวฺฎ์) เขาเขียนว่า

 

 

 “รสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

 “ในระหว่างที่ฉันยืนอยู่ บัดดลนั้นมีกลุ่มชนหนึ่งจนกระทั่งเมื่อฉันรู้จักพวกเขา ก็มีชายคนหนึ่งออกมาระหว่างฉัน และระหว่างพวกเขา ชายผู้นั้นก็กล่าวว่า : จงมากันเถิด! ฉันจึงกล่าวว่า : ไปยังที่ใด? ชายผู้นั้นกล่าวว่า : ไปยังขุมนรก ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ! ฉันจึงกล่าวว่า : อะไรคือเรื่องราวของพวกเขา? ชายผู้นั้นกล่าวว่า “แท้จริงพวกเขาได้ตกศาสนา (ด้วยการถอยหลังกลับ) หลังจากท่าน!” แล้วฉันก็ไม่เห็นว่ามีผู้ใดรอดพ้นจากพวกเขานอกเสียจากเป็นเหมือนฝูงอูฐที่ถูกปล่อยให้หากินเองโดยไม่มีผู้ดูแล ทั้งในเวลากลางคืนและกลางวัน”

 

 

และท่านรสูลุลลออฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

 “แท้จริงฉันจะนำหน้าพวกท่านไปก่อนยังสระน้ำนั้น ผู้ใดผ่านฉันมาเขาย่อมได้ดื่มน้ำ และผู้ใดได้ดื่มแล้วเขาย่อมไม่กระหายอีกเลย ขอสาบานว่าจะมีคนหลายกลุ่มมุ่งหน้ามายังฉัน (ที่สระน้ำ) ฉันรู้จักพวกเขาและพวกเขาก็รู้จักฉัน ต่อมาก็จะถูกขวางระหว่างฉันและระหว่างพวกเขา ฉันก็จะกล่าวว่า : “(พวกเขาคือ) บรรดาพรรคพวกของฉัน” แล้วก็จะถูกกล่าวขึ้นว่า : “แท้จริงท่านนั้นไม่รู้ดอกว่าสิ่งใดที่พวกเขาได้กระทำขึ้นใหม่หลังจากท่าน!” แล้วฉันก็กล่าวว่า : ห่างไกล! ห่างไกล! สำหรับผู้ที่เปลี่ยนแปลงหลังจากฉัน”

(แล้วอัต-ตีญานียฺก็อ้างที่มาของอัล-หะดีษข้างต้นในเชิงอรรถว่า “เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ   และเศาะฮีหฺมุสลิม หะดีษอัล-เหาวฺฎ์)

 

 

ต่อมาอัต-ตีญานียฺก็เขียนว่า : “ดังนั้นผู้ที่พิจารณาใคร่ครวญในบรรดาอัล-หะดีษจำนวนหลายบทนี้ ซึ่งบรรดาปราชญ์ของชาวสุนนะฮฺคัดสายรายงานไว้ในตำราเศาะฮีหฺและมุสนัดของพวกเขา จะไม่มีความสงสัยย่างกรายเข้ามายังผู้นั้นว่าแท้จริงบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนมากได้เปลี่ยนแปลงมิหนำซ้ำพวกเขาได้ตกศาสนาภายหลังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยกเว้นจำนวนเพียงเล็กน้อยซึ่งถูกใช้สำนวนเปรียบเปรยว่าเหมือนกับฝูงอูฐที่ถูกปล่อยให้หากินกลางทุ่งโดยไม่มีผู้ดูแลทั้งเวลากลางคืนและกลางวัน

 

 

และเป็นไปไม่ได้เลยในทุกกรณีที่จะตีความบรรดาหะดีษเหล่านี้ว่าหมายถึง (เศาะหาบะฮฺ) ประเภทที่สาม คือพวกกลับกลอก เพราะตัวบทระบุว่า “แล้วฉันก็กล่าวว่า (พวกเขาคือ) บรรดาอัศหาบของฉัน” และเป็นเพราะว่าพวกกลับกลอกนั้นพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงภายหลังนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หากไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว พวกกลับกลอกก็ย่อมกลายเป็นผู้ศรัทธาภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

ในทำนองนั้น แท้จริงบรรดาหะดีษเหล่านี้คือข้อยืนยันและเป็นการอธิบายให้แก่สิ่งที่เราได้บันทึกมาก่อนแล้วเกี่ยวกับบรรดาอายะฮฺอัล-กุรอานซึ่งพูดถึงการหวนกลับ และการตกศาสนาของพวกเขาตลอดจนการคาดโทษพวกเขาด้วยการลงทัณฑ์อันเจ็บแสบ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 119-120)

 

 

วิภาษ

อัล-หะดีษทั้ง 2 บทที่อัต-ตีญานียฺนำมากล่างอ้างทฤษฎีของตนนั้นเป็นหะดีษเศาะฮีหฺซึ่งอิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิมบันทึกไว้ในเรื่องสระน้ำของท่านบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และยังมีสายรายงานอื่นๆ ที่อิมามทั้งสองและบรรดาอิมามท่านอื่นๆ บันทึกไว้ในตำราอัล-หะดีษ ในอัล-หะดีษบทที่หนึ่งระบุถึงชนกลุ่มหนึ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้รับคำตอบว่า พวกเขาได้ตกศาสนาหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่มีถ้อยความใดในตัวบทที่ระบุชนกลุ่มนั้นว่าคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

ส่วนสำนวนในตัวบทอัล-หะดีษที่สองนั้น ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวโต้ตอบกับบรรดาเศาะหาบะฮฺว่า “แท้จริงฉันจะนำหน้าพวกท่านไปก่อนที่สระน้ำนั้น” แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า : (ขอสาบานว่า) แน่นอนจะมีบรรดากลุ่มชนมุ่งหน้ามาหาฉัน (ที่สระน้ำนั้น) ฉันรู้จักพวกเขาและพวกเขาก็รู้จักฉัน…”  หากกลุ่มชนที่มุ่งหน้ามาหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่สระน้ำมุ่งหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โต้ตอบด้วย เหตุไฉนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงไม่กล่าวว่า “แน่นอนพวกท่านจะมุ่งหน้ามาหาฉัน (ที่สระน้ำนั้น) ฉันรู้จักพวกท่านและพวกท่านก็รู้จักฉัน..”  

 

 

สำนวนต่อมาก็จะตีความเป็นอื่นไม่ได้เลยนอกจากหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โต้ตอบด้วย คือสำนวนที่ว่า “ต่อมาก็จะถูกขวางกั้นระหว่างฉันและระหว่างพวกเขา แล้วฉันก็กล่าวว่า : “(พวกเขา) คือบรรดาเศาะหาบะฮฺของฉัน” หรือถ้าจะให้ชัดเจนก็คือเปลี่ยนจากคำว่า “พวกเขา” เป็น “พวกท่าน” คือ “ต่อมาก็จะถูกขวางกั้นระหว่างฉันและระหว่างพวกท่าน แล้วฉันก็กล่าวว่า : “(พวกเขาหรือพวกท่าน) คือบรรดาเศาะหาบะฮฺของฉัน!”

 

 

ทว่าทั้งหมดที่ว่ามามิใช่สำนวนของตัวบทอัล-หะดีษที่สอง เพราะในตัวบทใช้สำนวนว่า : “(ขอสาบานว่า) แน่นอนจะมีบรรดากลุ่มชน ( أَقْوَامٌ ) มุ่งหน้ามาหาฉัน (ที่สระน้ำนั้น)” คำว่า “บรรดากลุ่มชน”  จึงไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺหากแต่เป็นคำที่บ่งถึงบุคคลหลายจำพวก และถ้าคำว่า “บรรดากลุ่มชน” หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺเท่านั้น ประโยคที่ว่า “ฉันรู้จักพวกเจ้าและพวกเขาก็รู้จักฉัน” จะกล่าวมาเพื่อการใด ในเมื่อบรรดาเศาะหาบะฮฺต่างก็รู้จักท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็รู้จักพวกเขาเป็นอย่างดีในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่

 

 

ประโยคที่ว่า “บรรดากลุ่มชนที่ฉันรู้จักพวกเขาและพวกเขาก็รู้จักฉัน” จึงหมายถึงบุคคลหลายจำพวกที่มาภายหลังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตซึ่งอาจจะรวมถึงอัต-ตีญานียฺกับพวกด้วยก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อสำนวนในตัวบทอัล-หะดีษมิได้เจาะจงว่าบรรดากลุ่มชนที่ถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในวันกิยามะฮฺคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

ประเด็นจึงอยู่ที่ความหมายของคำว่า “อัศหาบียฺ” (พวกเขาคือบรรดาอัศหาบของฉัน) ซึ่งอัล-หะดีษใช้สำนวนเช่นนั้น และอัต-ตีญานียฺก็ถือเอาคำๆ นี้มาเป็นสาระในการกล่าวอ้างของตนทั้งๆ ที่อัล-หะดีษซึ่งถูกรายงานมาในเรื่องสระน้ำ (อัล-เหาวฺฎ์) มีหลายสำนวน หากอัต-ตีญานียฺเป็นผู้แสวงหาความจริงและเป็นนักวิเคราะห์จริงอย่างที่ตนกล่าวอ้างก็ควรอย่างยิ่งที่ตนจะต้องนำอัล-หะดีษในหมวดที่ว่าด้วยสระน้ำนี้มาวิเคราะห์โดยละเอียดเพราะมีหลายสำนวน มิใช่เลือกเอาเฉพาะสำนวนที่ตนต้องการนำมาอ้างเพียงสำนวนเดียวในส่วนของอัล-หะดีษบทที่ 2

 

 

ทั้งนี้เพื่อทำให้ความหมายของคำว่า “อัศหาบียฺ” ในตัวบทของอัล-หะดีษเป็นที่กระจ่างว่าหมายถึงเหล่าเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้หมายถึงชนกลุ่มอื่น แต่อัต-ตีญานียฺกลับไม่กระทำสิ่งที่ว่านี้ เพราะคำว่า “อัศหาบียฺ” เป็นคำที่มีความหมายกว้างและมีนัยทางภาษาที่ตีความได้ เหตุนั้นในสำนวนของอัล-หะดีษในสายรายงานอื่นๆ จึงใช้สำนวนที่ต่างกัน เช่น

 

 

 – รายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า : “ฉันคือผู้ที่นำหน้าพวกท่านไปก่อนที่สระน้ำนั้นและจะมีบรรดาบุคคลจากพวกท่านจะถูกยกสูงขึ้น (คือพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงทำให้พวกเขาปรากฏขึ้นแก่ฉันจนกระทั่งฉันมองเห็นพวกเขา) ต่อมาพวกเขาก็จะถูกดึงออกไปจากฉัน (ถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเข้าไปไม่ถึงท่าน) ฉันจึงกล่าวว่า : โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน พวกเขาคืออัศหาบของฉัน แล้วก็ถูกกล่าวขึ้นว่า : แท้จริงท่านไม่รู้ถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำอุตริขึ้นหลังจากท่าน” (ฟัตหุลบารียฺ 11/395) หากอัต-ตีญานียฺเลือกเอาสายรายงานนี้มาอ้างประกอบข้อเขียนของตนก็คงใกล้เคียงกับทฤษฎีของตนเพราะมีสำนวนระบุในสายรายงานนี้ว่า “และจะมีบรรดาบุคคลจากพวกท่าน…”  แต่อัต-ตีญานียฺก็ไม่ยกอัล-หะดีษบทนี้มาอ้าง

 

 

– รายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ.) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า : (ขอสาบานว่า) แน่นอนจะมีผู้คนจากอุศอยหาบียฺ (บรรดาอัศหาบน้อยๆ ของฉัน) มุ่งหน้ามาหาฉันที่สระน้ำนั้น จนกระทั่งเมื่อฉันรู้จักพวกเขา (ว่าเป็นใคร) พวกเขาก็ถูกกันออกไปไม่ให้เข้ามาถึงฉัน ฉันจึงกล่าวว่า : “(พวกเขา) คือบรรดาอัศหาบของฉัน” พระองค์ก็ตรัสว่า (ในสำนวนหนึ่งระบุว่า : แล้วก็ถูกกล่าวขึ้นว่า) : “ท่านไม่รู้ถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำอุตริขึ้นใหม่หลังจากท่าน” สายรายงานนี้ระบุว่า :”แน่นอนจะมีผู้คนจากบรรดาอุศอยหาบียฺ…” ซึ่งเป็นสำนวนการตัศฆีรจากคำว่า “อัศหาบียฺ” แปลว่า “บรรดาอัศหาบน้อยๆ ของฉัน” หากบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ตกมุรตัดตามคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺคือบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 ท่าน และท่านอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เหตุใดท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงใช้สำนวนว่า “บรรดาอัศหาบน้อยๆ ของฉัน” ? (ฟัตหุลบารียฺ : 11/399)

 

 

– รายงานจากท่านสะฮฺล์ อิบนุ สะอฺด์ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า : “แท้จริงฉันคือผู้ที่นำหน้าพวกท่านไปก่อนแล้วที่สระน้ำนั้น ผู้ใดผ่านฉันมาผู้นั้นย่อมได้ดื่มน้ำ และผู้ใดดื่มน้ำ ผู้นั้นจะไม่กระหายอีกเลย (ขอสาบานว่า) แน่นอนจะมีบรรดากลุ่มชนมุ่งหน้ามายังฉันที่สระน้ำ ฉันรู้จักพวกเขาและพวกเขารู้จักฉัน ต่อมาก็จะถูกกันระหว่างฉันและระหว่างพวกเขา” และในรายงานของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) เพิ่มเติมว่า : ฉันก็กล่าวว่า : “แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” แล้วก็ถูกกล่าวขึ้นว่า “แท้จริงท่านนั้นไม่รู้ถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำอุตริขึ้นใหม่หลังจากท่าน” ฉันจึงกล่าวว่า “ห่างไกล ห่างไกล สำหรับผู้ที่เปลี่ยนแปลงหลังจากฉัน!” (ฟัตหุลบารียฺ : 11/399-400)

 

 

สำนวนของรายงานจากท่านสะฮฺล์ อิบนุ สะอฺด์ (ร.ฎ.) ระบุเพียงว่า “จะมีกลุ่มชนหนึ่ง..” แค่นั้น ส่วนสำนวนที่รายงานเพิ่มเติมจากท่านสะอีด (ร.ฎ.) ระบุว่า “แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” ทั้งสองรายงานไม่ได้ระบุว่า “แท้จริงพวกเขาคืออัศหาบของฉัน”

 

 

ในริวายะฮฺของอิมามมุสลิมจากท่านสะฮฺล์ ว่า : ฉันเคยได้ยินท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า : ฉันคือผู้ที่นำหน้าพวกท่านไปก่อนแล้ว ณ สระน้ำนั้น ผู้ใดเข้ามาถึงสระน้ำ ผู้นั้นย่อมได้ดื่มน้ำ และผู้ใดดื่มน้ำผู้นั้นจะไม่กระหายอีกเลย และแน่นอนจะมีบรรดากลุ่มชนมุ่งมายังฉัน ฉันรู้จักพวกเขาและพวกเขารู้จักฉัน ต่อมาก็จะถูกขวางระหว่างฉันและระหว่างพวกเขา” อบูหาซิมกล่าวว่า “แล้วอันุอฺมาน อิบนุ อบีอัยยาชก็ได้ยินขณะที่ฉันกำลังเล่าหะดีษนี้ให้เขาฟัง อัน-นุอฺมานก็กล่าวว่า เช่นนี้แหล่ะฉันเคยได้ยินสะฮฺล์กล่าว อบูหาซิมจึงกล่าวว่า “แล้วฉันก็กล่าวว่า ใช่แล้ว”

 

 

อบูหาซิมกล่าวอีกว่า และฉันก็ขอยืนยันต่ออบูสะอีด อัล-คุดรียฺว่า ฉันได้ยินอบูสะอีดเพิ่มเติมว่า : “แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า “แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” แล้วก็มีผู้กล่าวว่า “แท้จริงท่านไม่รู้ถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำหลังจากท่าน” ฉัน (หมายถึงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)) จึงกล่าวว่า “ห่างไกล ห่างไกล สำหรับผู้ที่เปลี่ยนหลังฉัน” (เศาะฮีหฺมุสลิมบิชัรหินนะวาวียฺ 15/53, 54)

 

 

ในสำนวนการรายงานของอิมามมุสลิมนี้สอดคล้องกับสำนวนที่อัต-ตีญานียฺนำมากล่าวอ้าง แต่ไม่ปรากฏประโยคที่ว่า “พวกเขาคืออัศหาบของฉัน” อย่างที่อัต-ตีญานียฺอ้าง สำนวนในหะดีษของท่านสะฮฺล์ (ร.ฎ.) รายงานไม่มีการระบุสำนวนว่า “พวกเขาคืออัศหาบของฉัน” และในหะดีษที่รายงานเพิ่มเติมจากท่านอบูสะอีด (ร.ฎ.) ก็ไม่มีสำนวนดังกล่าว แต่ใช้สำนวนว่า “แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” แสดงว่าอัต-ตีญานียฺอ้างตัวบทแบบผสมปนเประหว่างรายงานหนึ่งเข้ากับอีกรายงานหนึ่ง ซึ่งถือว่าเจือสมเอาเอง!

 

 

เมื่อพิจารณาถึงสำนวนในตัวบทของหะดีษอัล-เหาวฺฎ์ซึ่งมีหลายสายรายงาน ก็จะพบว่ามีการใช้สำนวนหลากหลาย กล่าวคือ

  1. กลุ่มชนหนึ่ง (ซุมเราะฮ)
  2. บรรดากลุ่มชน (อักวาม)
  3. ผู้คนจากอัศหาบของฉัน (อุนาซุน มิน อัศหาบียฺ)
  4. บรรดาบุคคลจากพวกท่าน (ริญาลุน มิงกุม)
  5. ริญาลุน มิมมัน ศอหะบะนี (บรรดาบุคคลจากผู้ที่เคยอยู่กับฉัน) เป็นต้น

 

 

และสำนวน “อัษหาบียฺ” ก็ถูกรายงานไว้หลากหลาย เช่น “อุศอยหาบียฺ” (บรรดาอัศหาบน้อยๆ ของฉัน), “อินนะฮุมมินนี” (แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉัน), “ยารอบบี มินนี” (โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของฉัน) , “ยารอบบิมินนี ว่า มินอุมมะตี” (โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน (พวกเขา) เป็นส่วนหนึ่งของฉันและเป็นส่วนหนึ่งจากประชาคมของฉัน) เป็นต้น

 

 

ในสำนวนที่ว่า “พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉันและเป็นส่วนหนึ่งจากประชาคมของฉัน” มีนัยกว้างและไม่ได้มุ่งจำกัดความเฉพาะบรรดาเศาะหาบะฮฺ หากจะมุ่งหมายถึงผู้ที่เคยอยู่ร่วมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เป็นเพียงบางส่วนไม่ใช่ทั้งหมดอย่างทีอัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง เพราะเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งจากผู้ที่เคยอยู่ร่วมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ตกศาสนาภายหลังการเสียชีวิตของท่าน ซึ่งกรณีนี้ไม่ถือว่าผู้นั้นเป็นเศาะหาบียฺแต่อย่างใด เพราะผู้เป็นเศาะหาบียฺตามนิยามของปราชญ์ฝ่ายสุนนะฮฺต้องเป็นผู้ที่เสียชีวิตในศาสนาอิสลาม

 

 

ดังนั้นคำว่า “อัศหาบียฺ” ในตัวบทอัล-หะดีษจึงถูกอธิบายด้วยสำนวนที่ “บรรดาบุคคลจากผู้ที่เคยอยู่ร่วมกับฉัน”   ( رِجَالٌ مِمَّنْ صَاحَبَنِىْ )  ซึ่งมีความหมายตามภาษามิใช่มีความหมายตามนิยามในกรณีของผู้เป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ ดังกรณีของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยย์ อิบนิ สะลูล หัวหน้าของพวกมุนาฟิกีนที่กล่าวว่า : แน่นอนหากพวกเราได้กลับสู่นครมะดีนะฮฺผู้ที่มีเกียรติที่สุดจะขับผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดออกจากนครมะดีนะฮฺ (สูเราะฮฺอัล-มุนาฟิกูน : 8) ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า “โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ ท่านจงปล่อยให้ฉันฟันคอของคนกลับกลอกผู้นี้เถิด” ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า : ปล่อยเขาไปเถิด ผู้คนจะได้ไม่พูดว่าแท้จริงมุฮัมมัดจะสังหารบรรดา “อัศหาบ” (สาวก) ของเขา” (อัล-บุคอรียฺ : 4905)

 

 

จะเห็นได้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ระบุถึงอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยฺย์หัวหน้าพวกมุนาฟิกีนว่าเป็น “อัศหาบ” (สาวก) ของท่าน แต่คำว่า “อัศหาบ” นี้มีความหมายทางภาษาที่แปลว่า บรรดาผู้ที่ร่วมอยู่ด้วย, พรรคพวก, มิตรสหาย ไม่ได้มีความหมายตามคำนิยามที่ระบุถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺ ดังนั้น คำว่า “อัศหาบียฺ” ในบรรดาหะดีษที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องสระน้ำ “อัล-เหาวฺฎ์” จึงมิได้มุ่งหมายถึงบรรดา เศาะหาบะฮฺจริงๆ ตามคำนิยาม แต่หมายถึงบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมด้วยตามภาษาเท่านั้น

 

 

นอกจากคำว่า “อัศหาบ” ยังมีความหมายว่า “พวกที่ติดตามหรืออ้างถึงบุคคลนั้นๆ” ซึ่งความหมายในทำนองนี้ถูกอธิบายด้วยสำนวนว่า “แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” หรือ “พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากประชาคม (อุมมะฮฺ) ของฉัน” ซึ่งมิได้มุ่งหมายเอาเฉพาะบรรดา          เศาะหาบะฮฺเท่านั้นแต่หมายรวมถึงบุคคลที่มาทีหลังและถือตามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรืออ้างว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

ดังสำนวนในภาษาอาหรับที่ว่า บรรดาผู้ที่ถือตาม (ตักลีด) อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ก็คือ “อัศหาบ อบีหะนีฟะฮฺ”  ( أصحابُ أبى حنيفة ) และเรียกผู้ที่ถือตามอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฎ.) ว่า : อัศหาบอัช-ชาฟิอียฺ ( أصحاب الشافعي ) หรือเรียกผู้ที่ถือตามแนวทางชีอะฮฺของท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) ว่า “อัศหาบชีอะฮฺอะลียฺ” ( أصحاب شيعة على )  ทั้งๆ ที่บรรดาผู้ถือตามเหล่านั้นจะไม่เคยพบอิมามอะลี (ร.ฎ.) หรืออิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ก็ตาม หรือทั้งๆ ที่ชาวชีอะฮฺคนนั้นไม่เคยพบบรรดาชีอะฮฺรุ่นแรกที่สนับสนุนท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) เมื่อพันกว่าปีที่แล้วแต่อย่างใด ดังเช่นกรณีของอัต-ตีญานียฺเป็นต้น

 

 

ซึ่งเป็นไปได้ว่าในวันกิยามะฮฺ อิมามอะลี (ร.ฎ.) อาจจะได้รับสิทธิในการชะฟาอะฮฺแล้วอัต-ตีญานียฺก็ถูกกันออกไปจากสิทธินั้น ท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า “แท้จริงเขา (อัต-ตีญานียฺ) คือชีอะฮฺของฉันหรือคืออัศหาบของฉัน” แล้วก็ถูกกล่าวขึ้น่า “ท่านไม่รู้ถึงสิ่งที่เขาผู้นี้ได้กระทำหลังจากท่าน เขากล่าวหาว่าท่านตกศาสนาพร้อมกับบรรดามิตรสหายของท่านที่เป็นเศาะหาบะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)” เรื่องอาจจะเป็นเช่นนี้ก็ได้

 

 

เพราะถ้าหากคำว่า “อัศหาบของฉัน” ในหะดีษอัล-เหาวฺฎ์ หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺโดยส่วนใหญ่ที่ตกศาสนาและถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่นก็หมายความว่าต้องรวมถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) ด้วย! เพราะคำว่า “อัศหาบียฺ” มีความหมายครอบคลุมหรือบ่งถึงเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่อย่างที่อัต-ตีญานียฺเขียน เมื่อเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ตกศาสนาตามทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺโดยเข้าอยู่ภายใต้นัยของคำว่า “อัศหาบียฺ” ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดมากันท่านอะลี (ร.ฎ.) ออกจากนัยของคำๆ นี้เช่นกัน

 

 

อัต-ตีญานียฺอาจจะค้านว่า ท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) ไม่เข้าอยู่ภายใต้นัยของคำว่า “อัศหาบียฺ” เพราะท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) อยู่ในกลุ่มของเศาะหาบะฮฺผู้รู้คุณซึ่งมีจำนวนเพียงเล็กน้อย เราก็ซักค้านได้ว่า สำนวนในตัวบทอัล-หะดีษระบุว่า “อัศหาบียฺ” (บรรดาเศาะหาบะฮฺของฉัน) หากอัต-ตีญานียฺเจาะจงความหมายของ “อัศหาบียฺ” ว่าหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จริงๆ ตามนิยามก็ต้องรวมท่านอะลี (ร.ฎ.) ด้วยอยู่ดี เพราะท่านอะลี (ร.ฎ.) คือหนึ่งจากบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

และการยกเว้นบุคคลเพียงเล็กน้อยที่รอดด้วยการเปรียบเปรยกับฝูงอูฐที่ถูกปล่อยให้หากินเองโดยไม่มีคนดูแลก็ไม่มีประเด็นที่ชี้ขาดว่าท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) ได้รับการยกเว้นและอยู่ในกลุ่มคนเพียงเล็กน้อยนั้น อัต-ตีญานียฺจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่มากันท่านอะลี (ร.ฎ.)  ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) ท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) และบุคคลอื่นๆ จากอะฮฺลุลบัยตฺของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ออกจากนัยของคำว่า “อัศหาบียฺ” และอะไรคือสิ่งที่มาห้ามว่าบุคคลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ตกศาสนาหรืออะไรคือหลักฐานที่ยืนยันว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมิได้ตกศาสนาในขณะที่บรรดาเศาะหาบะฮฺโดยส่วนใหญ่ตกศาสนาหลังการสิ้นชิวีตของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)?

 

 

เราชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺจะไม่กล่าวว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวตกศาสนา และเราไม่เชื่อว่าพวกท่านเหล่านั้นจะเป็นเช่นนั้น ทว่าเราจะกล่าวถึงความเป็นอิมามของท่านเหล่านั้น และพวกท่านเหล่านั้นคือชาวสวรรค์ แต่ถ้าอัต-ตีญานียฺและพวกชีอะฮฺ อิมามียะฮฺจะอ้างว่า แท้จริงท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) อุมัรฺ (ร.ฎ.) อุษมาน (ร.ฎ.) และท่านอื่นๆ ที่เป็นเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือกลุ่มชนที่ถูกกันมิให้เข้าถึงสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะพวกเขาได้ตกศาสนาและกระทำอุตริกรรมหลังการจากไปของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ถามว่า อะไรเล่า! ที่จะมาห้ามพวกอัน-นะวาศิบ (พวกที่เกลียดชังท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) และอะฮฺลุลบัยตฺ) มิให้พวกเขากล่าวว่า : ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เช่นกันที่เป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนที่ถูกกันจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นส่วนหนึ่งจากเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ตกศาสนาหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

แต่ถ้าอัต-ตีญานียฺกับพวกชีอะฮฺ อิมามียะฮฺจะค้านว่า เพราะมีหลักฐานจำนวนมากที่ระบุถึงความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) และอะฮฺลุลบัยตฺซึ่งยืนยันว่าพวกท่านไม่ได้ตกศาสนา ก็ตอบได้ว่า เคาะลีฟะฮฺทั้งสามท่านและบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ก็มีหลักฐานเป็นจำนวนมากที่ระบุถึงความประเสริฐของพวกท่านเหล่านั้น ซึ่งยืนยันว่าพวกท่านเหล่านั้นไม่ได้ตกศาสนาและไม่ได้ถูกกันจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เช่นกัน

 

 

เมื่ออัต-ตีญานียฺเจาะจงความหมายของคำ “อัศหาบียฺ” คือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จริงๆ อัต-ตีญานียฺก็คงต้องตอบกระทู้ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็นั่นแหล่ะ ทฤษฎีการแบ่งประเภทเศาะหาบะฮฺของอัต-ตีญานียฺที่รวมเอาพวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกูน) เข้าไว้ในนิยามของเศาะหาบะฮฺย่อมทำให้อัต-ตีญานียฺปักใจเชื่อว่า “อัศหาบียฺ” ในตัวบทหะดีษอัล-เหาวฺฎ์คือเศาะหาบะฮฺจริงๆ ตามคำนิยามมิใช่ตามมูลภาษา

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ในชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริงว่า

“เพราะฉะนั้นการที่เรา ได้สังเกตเห็นท่านศาสดา (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เรียกพวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอกว่าเป็น “อัศหาบี” (สาวกของฉัน) นอกเหนือจากที่ท่านตระหนักดีถึงความหน้าไหว้หลังหลอกของพวกเขา ข้อพิสูจน์มีดังต่อไปนี้คือ….

 

 

อัล-บุคอรีได้รายงานไว้ว่า อุมัรฺ อิบนิ อัล-ค็อตต็อบได้ขอให้ท่านศาสดา (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตัดศีรษะของอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุบัยย์ผู้เป็นคนกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิก) โดยกล่าวว่า โอ้ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ขอให้ฉันได้ตัดศีรษะมุนาฟิกคนนี้เถิด! ท่านศาสดา (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวตอบว่า จงปล่อยไปเถิด หาไม่แล้วผู้คนก็จะกล่าวหาว่ามุฮัมมัดสังหารบรรดาสาวกของเขาเอง” (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง (ฉบับแปลภาษาไทย / อับดุลลอฮฺ บิน กอเซ็ม หน้า 400)

 

 

ข้อเขียนนี้บ่งชี้ว่าตามความเข้าใจของอัต-ตีญานียฺ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยยฺ หัวหน้าของพวกมุนาฟิกูนเป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ ของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และพวกมุนาฟิกูนเป็นส่วนหนึ่งของเศาะหาบะฮฺที่แท้จริง อัต-ตีญานียฺเขียนตอกย้ำความเชื่อของตนอีกครั้งในย่อหน้าถัดมาว่า “อุละมาอ์ซุนนีบางท่านอาจพยายามที่จะทำให้เราเชื่อว่า บรรดาพวกหน้าไหว้หลังหลอกก็เป็นที่รู้จักชื่อเสียงกันอยู่แล้ว และเราไม่ควรไปปนเปพวกเขากับบรรดาซอฮาบะฮฺ แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพวกหน้าไหว้หลังหลอกอยู่ในหมู่ซอฮาบะฮฺผู้ซึ่งความคิดที่แฝงเร้นอยู่ด้านในของพวกเขา เป็นที่รู้ได้เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้น และพวกเขาก็ทำนมาซ ถือศีลอด เคารพภักดีต่อพระเจ้าและแสวงหาความใกล้ชิดกับพระเจ้าในทุกวิถีทางเช่นกันนี้คือ หลักฐานยืนยัน” (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงเรื่องท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ขออนุญาติท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการตัดศีรษะของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยย์อีกเช่นกันใน “จงถามผู้รู้” ว่า “ฮะดิษบทนี้อธิบายชัดว่าพวกกลับกลอกนั้นมาจากซอฮาบะฮฺนั่นเอง แน่นอนท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺได้ยอมรับในคำพูดของอุมัรฺที่ว่า เขาคนนั้นเป็นผู้กลับกลอก แต่ท่านห้ามมิให้ฆ่า เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่ามุฮัมมัดฆ่าซอฮาบะฮฺของตัวเอง อาจเป็นไปได้ว่าท่านศาสนทูตรู้ดีว่า ซอฮาบะฮฺของท่านยังมีอีกหลายคนที่เป็นผู้กลับกลอก ถ้าในเมื่อฆ่าคนกลับกลอกทุกคนเสียแล้ว คนจำนวนมากจากซอฮาบะฮฺนี้ของท่านจะไม่เหลืออยู่เลย แล้วอะฮฺลิซซุนนะฮฺจะอยู่ตรงไหนกับความจริงอันน่าเจ็บปวดเหล่านี้ที่พวกเขาพยายามกลบเกลื่อนเอาไว้” (จงถามผู้รู้ (ฉบับแปลภาษาไทย / อัยยูบ ยอมใหญ่ หน้า 180)

 

 

ข้อเขียนข้างต้นตอกย้ำสิ่งที่อัต-ตีญานียฺปักใจเชื่อว่าเศาะหาบะฮฺก็คือพวกมุนาฟิกูน และพวกมุนาฟิกูนก็คือเศาะหาบะฮฺส่วนมากยกเว้นเศาะหาบะฮฺเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่เป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ

 

 

ขอย้ำว่า! อัต-ตีญานียฺแบ่งประเภทเศาะหาบะฮฺเอาไว้ใน “ษุมมะฮฺตะดัยตุ้” หน้า 90-91 (ฉบับภาษาอาหรับ) เป็น 3 ประเภท คือ    

 

1) เศาะหาบะฮฺผู้ประเสริฐซึ่งฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺเห็นพ้องในการให้เกียรติ 

 

 2) เศาะหาบะฮฺที่เข้ารับอิสลามปฏิบัติตามท่านรสูล (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามคำสั่ง – คำห้าม มิหนำซ้ำเศาะหาบะฮฺประเภทนี้ได้กำหนดทัศนะของพวกเขาค้านหรือตรงกันข้ามกับตัวบทที่ชัดเจน ฝ่ายชีอะฮฺจะไม่กล่าวถึงพวกเขานอกเสียจากพฤติกรรมของพวกเขาโดยไม่มีการให้เกียรติยกย่องเหมือนเศาะหาบะฮฺประเภทแรก

 

3) พวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกูน) เป็นพวกที่อยู่ร่วมกับท่านรสูล (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพื่อวางแผนร้ายต่อท่านรสูล (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเสแสร้งภายนอกว่าเป็นผู้ศรัทธาในอิสลาม แต่เบื้องลึกในใจพวกเขาเก็บงำการปฏิเสธเอาไว้ และในหน้า 92 จากษุมมะฮฺตะดัยตุ้ อัต-ตีญานียฺเขียนย้ำอีกครั้งว่า ฝ่ายอะฮิลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่ยอมรับการแบ่งประเภทเศาะหาบะฮฺนี้ และไม่นับเอาพวกมุนาฟิกูนเข้าอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺ ดังนั้นพวกมุนาฟิกูนตามทฤษฎีการแบ่งของอัต-ตีญานียฺจึงเป็นเศาะหาบะฮฺประเภทที่สาม และเป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ โดยการนำเอาเศาะหาบะฮฺแยกออกจากพวกมุนาฟิกูนและไม่นำมาปะปนกัน เป็นสิ่งที่อัต-ตีญานียฺอ้างว่า “เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้” (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง หน้า 400)

 

 

ทว่าในเรื่องหะดีษอัล-เหาวฺฎ์ อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “และเป็นไปไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดก็ตามที่จะตีความบรรดาอัล-หะดีษเหล่านี้ (หะดีษ อัล-เหาวฺฎ์) ว่าหมายถึง (เศาะหาบะฮฺ) ประเภทที่สาม คือบรรดาผู้กลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกูน) เพราะแท้จริงตัวบท (ของหะดีษ) กล่าวว่า “แล้วฉันก็กล่าวว่า (พวกเขา) คือบรรดาอัศหาบ (สาวก) ของฉัน” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 120)

 

 

มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ!  นี่เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก อัต-ตีญานียฺเป็นผู้ตั้งทฤษฎีในการแบ่งประเภทเศาะหาบะฮฺออกเป็น 3 ประเภท และกำหนดว่าพวกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกูน) คือเศาะหาบะฮฺประเภทที่สาม แล้วอัต-ตีญานียฺก็เขียนค้านกับทฤษฎีการแบ่งประเภทเศาะหาบะฮฺตนว่า พวกหน้าไหว้หลังหลอกไม่ใช่เศาะหาบะฮฺ!!! ทั้งๆ ที่ยืนกรานว่าเป็นว่าเป็นไปไม่ได้และเกิดขึ้นไม่ได้เว้นเสียแต่ต้องนับเอาพวกหน้าไหว้หลังหลอกเข้ามาอยู่ในประเภทของเหล่าเศาะหาบะฮฺด้วย ทว่าเมื่อเขียนถึงหะดีษ อัล-เหาวฺฎ์ อัต-ตีญานียฺกลับยืนยันว่า ตัวบทในอัล-หะดีษเรื่องนี้ระบุชัดว่า “อัศหาบียฺ” ที่มีความหมายเจาะจงว่าคือ บรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ของท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เท่านั้น จะตีความว่าหมายถึงเศาะหาบะฮฺประเภทที่สามคือพวกมุนาฟิกูนไม่ได้โดยสิ้นเชิง หัวหน้าพวกมุนาฟิกูนคือเศาะหาบะฮฺตามที่ท่านนบี (ศ็อลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เรียกขานในหะดีษที่ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ขออนุญาตฟันคอบุคคลผู้นี้!  อัต-ตีญานียฺเขียนค้านกันเองอย่างน่าเกลียดและขัดกันอย่างชัดเจน

 

 

เรามีประเด็นให้อัต-ตีญานียฺเลือกเอา 2 ประเด็น หากอัต-ตีญานียฺบอกว่า หนึ่งในประเภทของเศาะหาบะฮฺคือ พวกมุนาฟิกูนอย่างแน่นอน เพราะเป็นไปไม่ได้ในการที่จะไม่นับพวกมุนาฟิกูนเข้าไว้ในหมู่เศาะหาบะฮฺ ถ้าอัต-ตีญานียฺเลือกประเด็นนี้ อัต-ตีญานียฺก็ค้านกับสิ่งที่ตนเขียนในเรื่องหะดีษอัล-เหาวฺฎ์ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ถ้าอัต-ตีญานียฺบอกว่าพวกมุนาฟิกูนมิใช่ประเภทหนึ่งของเหล่าเศาะหาบะฮฺ ดังกรณีที่อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ในเรื่องหะดีษอัล-เหาวฺฎ์นี้ว่าตัวบทในหะดีษระบุชัดว่า “อัศหาบียฺ” จึงต้องหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺจริงๆ ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เท่านั้น จะหมายถึงพวกมุนาฟิกูนไม่ได้ ทำไมจึงตีความว่าเป็นพวกมุนาฟิกูนไม่ได้ ก็เพราะพวกมุนาฟิกูนมิใช่เศาะหาบะฮฺ เนื่องจากตัวบทระบุว่าเป็นเศาะหาบะฮฺ เมื่อเป็นเศาะหาบะฮฺก็ย่อมไม่ใช่พวกมุนาฟิกูน

 

หากอัต-ตีญานียฺเลือกประเด็นที่สองนี้ งานเขียนทุกเล่มของอัต-ตีญานียฺก็ย่อมพังครืนลงตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะงานเขียนทุกเล่มของอัต-ตีญานียฺเขียนขึ้นบนฐานของมโนคติที่ว่า พวกมุนาฟิกูนคือส่วนหนึ่งจากเหล่าเศาะหาบะฮฺหรือเป็นประเภทที่สามของเศาะหาบะฮฺ เนื้อหาของหนังสือที่อัต-ตีญานียฺเขียนเกี่ยวกับบรรดาเศาะหาบะฮฺทุกเล่มล้วนตั้งอยู่บนฐานของมโนคติและทฤษฎีพิสดารที่ว่านี้

 

 

บรรดาหะดีษที่รายงานเกี่ยวกับสระน้ำ (อัล-เหาวฺฎ์) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งระบุว่าจะมีกลุ่มชนที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เรียกว่า “อัศหาบียฺ” หรือเรียกด้วยสำนวนอื่นๆ ถูกกันออกจากสระน้ำนั้นชนกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มอัล-เคาะวาริจญ์, อัน-นะวาศิบ และอัล-มุอฺตะซิละฮฺไม่ได้นำมาอ้างเป็นหลักฐานถึงการตกศาสนาของบรรดาเศาะหาบะฮฺ เมื่อฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺนำเอาหะดีษอัล-เหาวฺฎ์มาอ้างเพียงแต่ฝ่ายเดียว ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคือสุนนะฮฺและชีอะฮฺเห็นพ้องตรงกัน จึงไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่อัต-ตีญานียฺกำหนดไว้ให้แก่ตัวเองว่าจะยึดเอาเฉพาะหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 92)

 

 

เมื่อปรากฏว่าคำ “อัศหาบียฺ” ในตัวบทของหะดีษอัล-เหาวฺฎ์มีรายงานในตัวบทของสายรายงานอื่นๆ ด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า “อัศหาบียฺ” เช่น “อินนะฮุมมินนี” ( إنَّهُمْ مِنِّيْ )  “แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” , “อินะฮุม มิน อุมมะตี” ( إِنَّهُمْ مِنْ أُمَّتِيْ ) “แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากประชาคมของฉัน”, “รอบบี อุศอยหาบี” ( رَبِّيْ أُصَيْحَابِيْ ) “โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน (พวกเขาคือ) บรรดาเศาะหาบะฮฺน้อยๆ ของฉัน” เป็นต้น เมื่อปรากฏถ้อยคำที่ต่างกันในบรรดารายงานที่มากกว่าหนึ่งรายงานแต่เป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน ก็ย่อมไม่ถูกต้องในการที่จะยึดถือความหมายของถ้อยคำที่ถูกระบุในตัวบทเพียงบทเดียวเท่านั้น

 

 

คำ “อัศหาบียฺ” ในหะดีษอัล-เหาวฺฎ์จึงต้องถูกอธิบายด้วยถ้อยคำอื่นๆ ในรายงานอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ด้วยการรวมสายรายงานเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะได้รู้ถึงความหมายที่ถูกประสงค์สำหรับคำ “อัศหาบียฺ” จากตัวบทของอัล-หะดีษ ดังนั้นคำว่า “อัศหาบียฺ” ซึ่งบ่งถึงความเป็นพรรคพวกมิตรสหาย (อัศ-ศุหฺบะฮฺ) จึงเป็นเพียงคำนามบ่งประเภท (อิสมุ ญินสฺ) ยังไม่มีนิยามใดๆ สำหรับคำๆ นี้ในด้านศาสนบัญญัติและในด้านมูลภาษา จารีตในทางภาษาที่ระบุเจาะจงความหมายของคำๆ นี้ก็มีความแตกต่างกัน และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็มิได้ผูกความเป็นเศาะหาบะฮฺในตัวบทของอัล-หะดีษกับเงื่อนไขใดๆ แต่ท่านผูกข้อชี้ขาดของคำๆ นี้เอาไว้กับนัยกว้างๆ ของคำ และไม่มีนัยกว้างๆ (มุฏลัก) สำหรับคำๆ นี้ นอกเสียจากจากการได้เห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะสัลลัม) เท่านั้น (มินฮาญุสสุนนะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ 8/387  โดยสรุป)

 

 

เมื่อคำ “อัศหาบียฺ” มีนัยกว้างที่บ่งถึงการได้เห็น หรือการได้พบเจอไม่ว่าจะเป็นการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เห็นผู้นั้น หรือผู้นั้นได้เคยเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพียงแค่การเห็นก็ยังไม่ถือว่าผู้นั้นเป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ ตามคำนิยาม เพราะเศาะหาบะฮฺจริงๆ คือ “บุคคลใดๆ ที่เคยเห็นหรือพบท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในสภาพที่ผู้นั้นศรัทธา และผู้นั้นสิ้นชีวิตลงบนศาสนาอิสลาม”

 

 

ดังนั้น ในกรณีของ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยย์ และพวกมุนาฟิกูนจึงไม่ถูกนับว่าเป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ เพราะการได้เห็นและอยู่ร่วมในวาระโอกาสต่างๆ กับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขาดเงื่อนไขสำคัญในการเป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ ตามนิยามคือ เป็นผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) และตายลงบนศาสนาอิสลาม  ถึงแม้ว่าในด้านมูลภาษาจะอนุโลมให้เรียกอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยย์ และพวกมุนาฟิกูนว่า “อัศหาบ” ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ตาม

 

 

ไม่มีผู้ใดขัดแย้งในกรณีที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยเห็นพวกมุนาฟิกูนและพวกที่ตกศาสนาหลังจากท่านในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และคนทั้งสองพวกก็เคยเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เช่นกัน และกรณีนี้คือสิ่งที่ให้น้ำหนักว่ากลุ่มชนที่ถูกระบุใน     หะดีษอัล-เหาวฺฎ์คือพวกมุนาฟิกูนและพวกที่ตกศาสนาโดยกลุ่มชนดังกล่าวเคยร่วมอยู่กับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในบางวาระโอกาสและเคยเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ข้อนี้มีหะดีษที่อิมามอะหฺมัดและอัฏ-เฏาะบะรอนียฺบันทึกไว้ด้วยสายรายงานที่ดีจากหะดีษของท่านอบูบักเราะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นหะดีษมัรฺฟูอฺว่า “แน่นอนจะมีบรรดาบุคคลจากผู้ที่เคยอยู่ร่วมกับฉันและเคยเห็นฉันมุ่งหน้ามายังฉันที่สระน้ำนั้น” (ดู ฟัตหุลบารียฺ 11/393 )

 

 

ตลอดจนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังได้ระบุถึงกลุ่มชนนั้นด้วยสำนวน “อุศอยหาบียฺ” ซึ่งเป็นการตัศฆีรฺจากคำว่า “อัศหาบียฺ” อันเป็นการกล่าวในเชิงดูแคลนและไม่ให้เกียรติชนกลุ่มนั้น ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะไม่เรียกเหล่าเศาะหาบะฮฺจริงๆ ของท่านอย่างนั้นแน่นอน

 

 

สำนวนในตัวบทของหะดีษอัล-เหาวฺฎ์ที่ระบุว่า “ฉันรู้จักพวกเขาและพวกเขาก็รู้จักฉัน” สำนวนเช่นนี้ก็ไม่ได้มีความหมายโดยภาวะจำเป็นว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) รู้จักตัวบุคคลในหมู่ชนนั้นเป็นรายบุคคล หากแต่ท่านรู้จักพวกเขาด้วยเครื่องหมายเฉพาะ ดังปรากฏในหะดีษที่อิมามมุสลิมบันทึกไว้จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

 

 

“ประชาคมของฉันจะมุ่งหน้ามายังฉันที่สระน้ำนั้น แล้วฉันก็จะถูกกันผู้คนออกไปจากสระน้ำเหมือนกับชายที่กันอูฐของอีกคนให้ออกจากอูฐของเขา” พวกเขากล่าวว่า “โอ้ ท่านนบีของอัลลอฮฺ ท่านจะรู้จักพวกเราด้วยหรือ?” ท่านกล่าวว่า “ใช่แล้ว สำหรับพวกท่านจะมีเครื่องหมายที่จะไม่มีสำหรับผู้อื่นจากพวกท่านโดยพวกท่านจะมุ่งหน้ามาหาฉันในสภาพที่มีรอยแด่นอันเป็นผลมาจากร่องรอยของการอาบน้ำละหมาด และแน่นอนกลุ่มชนหนึ่งจากพวกท่านจะถูกขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฉัน พวกเขาจึงเข้าไม่ถึง แล้วฉันก็กล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน พวกเขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งจากอัศหาบของฉัน แล้วมะลักท่านหนึ่งก็จะกล่าวตอบฉันว่า ท่านจะรู้ถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำอุตริหลังจากท่านกระนั้นหรือ? (เศาะฮีหฺมุสลิม บิชัรหิ อัน-นะวาวียฺ หะดีษเลขที่ 247  กิตาบอัฏ-เฏาะฮาเราะฮฺ)

 

 

หะดีษบทนี้บ่งชี้ว่าพวกกระทำอุติรกรรมตามอารมณ์ และพวกมุนาฟิกูนจะถูกให้ฟื้นคืนชีพโดยมีรอยแด่นรวมอยู่ในหมู่ผู้ศรัทธา หากจะถามว่าพวกกระทำอุตริกรรมและพวกมุนาฟิกูนจะมีรอยแด่นซึ่งเป็นผลจากการอาบน้ำละหมาดและการทำอิบาดะฮฺด้วยหรือ? คำตอบก็คือสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนเอาไว้เองว่า พวกหน้าไหว้หลังหลอกอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺ และพวกกลับกลอกเหล่านี้ก็นมาซ ถือศีลอด เคารพภักดีต่อพระเจ้าและแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ในทุกวิถีทางเช่นกัน (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง หน้า 400)

 

 

เมื่อพวกมุนาฟิกูนและพวกที่กระทำอุตริกรรมรวมอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺและทำอิบาดะฮฺ (ภายนอก) เช่นเดียวกับเหล่าเศาะหาบะฮฺที่แท้จริงอย่างที่อัต-ตีญานียฺเขียนก็ย่อมไม่แปลกที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะเรียกขานพวกนั้นว่า “อัศหาบียฺ” เพราะท่านรู้จักพวกนั้นด้วยร่องรอยของการทำอิบาดะฮฺและพวกนั้นก็เคยอยู่ร่วมกับท่านและเคยเห็นท่าน ทว่า “อัศหาบียฺ” ที่ท่านเรียกขานนั้นมิได้มุ่งหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านตามคำนิยาม แต่เป็นในเชิงภาษาที่มีนัยกว้างๆ เท่านั้น และเศาะหาบะฮฺของท่านก็มิใช่พวกมุนาฟิกูนอย่างแน่นอน เพราะเศาะหาบะฮฺห่างไกลจากการนิฟาก (กลับกลอก) และการตกศาสนา ถ้าเศาะหาบะฮฺตกศาสนาอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหา นั่นก็ไม่ใช่เศาะหาบะฮฺตามนิยามของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ

 

 

สิ่งที่อัต-ตีญานียฺไม่รู้หรือเสแสร้งว่าไม่รู้ก็คือ เศาะหาบะฮฺของท่าน  รสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประเสริฐกว่าเศาะหาบะฮฺของนบีท่านอื่นๆ ดังปรากฏใน ตัฟสีรฺของอิมามอัล-หะสัน อัล-อัสกะรียฺ (อิมามท่านที่ 11 ของอิมามียะฮฺ อัล-อิษนา อะชะรียะฮฺ) ว่า : ท่านนบีมูซา (อ.ล.) ได้ถามพระผู้อภิบาลของท่านว่า : ในบรรดาเศาะหาบะฮฺของบรรดานบีมีผู้ประเสริฐ ณ พระองค์มากกว่าเศาะหาบะฮฺของฉันหรือไม่? พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสว่า “โอ้ มูซา ท่านไม่รู้ดอกหรือว่า แท้จริงความประเสริฐของเศาะหาบะฮฺของมุฮัมมัดที่มีเหนือเศาะหาบะฮฺของบรรดาศาสนทูตทั้งหมดนั้น เช่นเดียวกับความประเสริฐของวงศ์วานมุฮัมมัดเหนือวงศ์วานของนบีทั้งหมด และเหมือนกับความประเสริฐของมุฮัมมัดเหนือบรรดาศาสนทูตทั้งหมด” (ตัฟสีรฺ อิมามอัล-หะสัน อัล-อัสกะรียฺ หน้า 11 สูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ)

 

 

หากเราจะกล่าวอย่างที่อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ ก็คงกล่าวได้ว่า คำ “เศาะหาบะฮฺ” ที่ปรากฏในตัฟสีรฺของอิมามอัล-หะสัน อัล-อัสกะรียฺ (ร.ฎ.) ย่อมไม่อาจตีความเป็นอื่นได้ไม่ว่ากรณีใดก็ตามนอกจากหมายถึงเศาะหาบะฮฺจริงๆ ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และไม่อาจตีความว่าหมายถึงเศาะหาบะฮฺประเภทที่สามคือพวกมุนาฟิกูน

 

 

และอัล-กุลัยนียฺ (ปราชญ์หะดีษของชีอะฮฺ) รายงานจากมันศูรฺ อิบนุ หาซิม ว่า : ฉันกล่าวกับท่านอบูอับดิลลาฮฺ (อ.ล.) ว่า ท่านจงบอกฉันถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า พวกเขาพูดจริงต่อมุฮัมมัดหรือพวกเขาโกหก? อบูอับดิลลาฮฺ (อ.ล.) กล่าวว่า : หามิได้ พวกเขาพูดจริง…” (อัล-อุศูลมินัลกาฟียฺ ; อัล-กุลัยนียฺ 1/52 กิตาบฟัฎลิลอิลม์)

 

 

อัล-กุมมียฺ (ปราชญ์ของชีอะฮฺ) ระบุไว้ในตำราอัล-คิศอลจากฮิชาม อิบนุ สาลิม จากอบีอับดิลลาฮฺ (อ.ล.) ว่า : บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺและวงศ์วานของท่านมี 12,000 คน 8,000 คน จากนครมะดีนะฮฺ 2,000 คน จากนครมักกะฮฺ  และ 2,000  คนจากพวกอัฏ-ฏุละกออฺ (พลเมืองมักกะฮฺที่ได้รับการนิรโทษกรรมหลังการพิชิตนครมักกะฮฺ) และจะไม่ถูกเห็นในหมู่เศาะหาบะฮฺว่ามีคนเกาะดะรียฺ (พวกปฏิเสธลิขิตของอัลลอฮฺ) มุรญิอฺ , หะรูรียฺ (พวกเคาะวาริจญ์) มุอฺตะซิลียฺ และคนที่ชอบใช้ทัศนะ พวกเขาจะร่ำให้ในยามค่ำคืนและกลางวัน และพวกเขาจะกล่าวว่า : ขอพระองค์ทรงเก็บวิญญาณของพวกเราก่อนหน้าที่พวกเราจะได้กินขนมปังใส่เชื้อ (กิตาบอัล-คิศอล ; อัล-กุมมียฺ หน้า 639-640 บทที่ 12)

 

 

สิ่งที่ถูกระบุในตำราของปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺข้างต้นบ่งชี้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีความประเสริฐยิ่งกว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺของบรรดานบีทั้งหลายและในหมู่เศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่มีปรากฏพวกอุตริชนใดๆ ตลอดจนยืนยันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือตกศาสนาภายหลังการจากไปของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ดังนั้นคำว่า “อัศหาบียฺ” ในตัวบทของหะดีษอัล-เหาวฺฎ์จึงไม่ได้หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺจริงๆ ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หากแต่หมายถึงพวกหน้าไหว้หลังหลอกและกลับกลอกตลอดจนพวกที่กระทำอุตริกรรม

 

 

คำว่า “อัศหาบียฺ” จึงเป็นเพียงถ้อยคำทางภาษาเท่านั้น มิใช่ถ้อยคำที่มีความหมายในเชิงนิยาม เหตุนี้ท่านกุบัยเศาะฮฺจึงกล่าวว่า  : กลุ่มชนที่ถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในวันกิยามะฮฺคือบรรดากลุ่มชนที่ตกศาสนาในสมัยของท่าน   อบูบักรฺ (ร.ฎ.) หมายความว่า พวกเขาตกศาสนาเรื่อยมาจนกระทั่งถูกสังหารและตายไปบนการปฏิเสธนั้น

 

 

อัล-คอฏฏอบียฺกล่าวว่า : ไม่มีเศาะหาบะฮฺคนใดตกศาสนา อันที่จริงกลุ่มชนจากพวกอะอฺรอบ (อาหรับเบดูอิน) ต่างหากที่ตกศาสนา

 

 

อิบนุ อัต-ตีนกล่าวว่า : เป็นไปได้ว่าพวกนั้นคือพวกมุนาฟิกูนหรือเป็นพวกที่กระทำบาปใหญ่ (ดูฟัตหุลบารียฺ 11/393)

 

 

อิมามอันนะวาวียฺกล่าวว่า : หมายถึงบรรดาผู้ประพฤติชั่วและบาปใหญ่ซึ่งพวกเขาตายลงบนการเตาฮีดและหมายถึงพวกที่กระทำอุตริกรรมซึ่งพวกเขาไม่ได้ออกจากศาสนาอิสลามด้วยการทำอุตริกรรมนั้น (เศาะฮีหฺมุสลิม บิชัรฺหิ อัน-นะวาวียฺ 3/173 โดยสรุป)

 

 

เหตุที่นักวิชาการฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺมีความเห็นต่างในการชี้ชัดกลุ่มชนที่ถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เนื่องมาจากบรรดาตัวบทที่รายงานในเรื่องนี้มีสำนวนที่หลากหลาย กระนั้นเราย่อมสามารถในการรวมตัวบทของทุกสายรายงานและสรุปได้ว่า บรรดากลุ่มชนที่ถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้น ประกอบด้วย   

 

 

(1)  ชนเผ่าอาหรับที่เคยศรัทธาและเมื่อนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตพวกเขาก็ตกศาสนา พวกชนเผ่าอาหรับนี้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตลงโดยที่พวกเขายังคงอยู่ในศาสนาอิสลาม ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เข้าใจว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากอัศหาบของท่านเพราะท่านเสียชีวิตลงในขณะที่พวกเขายังเป็นมุสลิม ต่อมาพวกเขาก็ตกศาสนาในสมัยเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เหตุนี้ในสำนวนของอัล-หะดีษจึงระบุว่า : แท้จริงท่านนั้นไม่รู้ดอกว่าอะไรที่พวกเขาได้กระทำอุตริกรรมขึ้นใหม่หลังจากท่าน แท้จริงพวกเขาได้ย้อนกลับแบบถอยหลัง (ตกศาสนา) (ฟัตหุลบารียฺ 11/464-465  , เศาะฮีหฺมุสลิม 4/1796 )

 

 

(2)  บรรดากลุ่มชนที่หน้าไหว้หลังหลอกและกลับกลอก (มุนาฟิกูน) พวกนี้ถูกเรียกขานว่า “อัศหาบียฺ” ในตัวบทหะดีษตามมูลภาษา มิใช่เศาะหาบะฮฺจริงๆ ตามคำนิยาม เนื่องจากพวกนี้ปะปนอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺ และในวันกิยามะฮฺพวกนี้ถูกให้ฟื้นคืนชีพอยู่ในหมู่ผู้ศรัทธาโดยมีร่องรอยของการทำอิบาดะฮฺเป็นเครื่องหมายซึ่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) รู้จักพวกนี้ด้วยเครื่องหมายคือรอยแด่น  แล้วพวกนี้ก็ถูกกันออกไปจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในบางตัวบทท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เรียกพวกนี้ว่า “อุศอยหาบียฺ”

 

 

(3)  พวกที่เปลี่ยนแปลงศาสนาด้วยการกระทำอุตริกรรมหรือประพฤติบาปใหญ่ พวกนี้เป็นส่วนหนึ่งจากประชาคมของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงมีตัวบทบางสำนวนระบุว่า “พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากประชาคมของฉัน”

 

 

ส่วนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งมีนิยามกำหนดไว้ไม่เข้าอยู่ในนัยของหะดีษอัล-เหาวฺฎ์แต่อย่างใด เพราะเหล่าเศาะหาบะฮฺมิได้ตกศาสนา มิได้เปลี่ยนแปลงศาสนา มิได้กระทำอุตริกรรมและมิใช่พวกมุนาฟิกูน แต่เศาะหาบะฮฺต่อสู้และปราบปรามกลุ่มชนดังกล่าว และสิ่งที่เรายืนยันนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ถูกระบุในตำราของฝ่ายชีอะฮฺทีถูกหยิบยกมาข้างต้นและสอดคล้องกับคำอธิบายของอัฏ-ฏอบริสียฺ (ปราชญ์ชีอะฮฺ) ที่อธิบายอายะฮฺที่ว่า “ดังนั้นส่วนบรรดาผู้ที่ใบหน้าของพวกเขาดำหมองคล้ำ (ก็ถูกกล่าวขึ้นกับพวกเขาว่า) พวกเจ้าได้ปฏิเสธภายหลังการศรัทธาของพวกเจ้ากระนั้นหรือ”

 

 

อัฏ-ฏอบริสียฺระบุทัศนะของนักวิชาการเอาไว้ 4 ทัศนะ และอ้างหะดีษอัล-เหาวฺฎ์มาประกอบคำอธิบายโดยระบุว่าพวกที่มีใบหน้าหมองคล้ำ หมายถึงพวกกระทำอุตริกรรมจากประชาคมนี้ หรือหมายถึงพวกเคาะวาริจญ์เป็นต้น ในคำอธิบายของอัฏ-ฏอบริสียฺไม่มีการบ่งชี้ใดๆ เลยว่าพวกที่มีใบหน้าหมองคล้ำคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (มัจญ์มะอฺ อัล- บะยาน ; อัฏ-ฏอบริสียฺ  ) ในตัฟสีรฺ อัศ-ศอฟียฺของอัล-กาชานียฺ (ปราชญ์ชีอะฮฺ) ก็อธิบายอายะฮฺดังกล่าวพร้อมยกหะดีษอัล-เหาวฺฎ์มาประกอบ

 

 

และอัล-กาชานียฺก็ระบุว่าหมายถึงพวกที่กระทำอุตริกรรมตามอารมณ์ พวกที่มีทัศนะความเห็นที่เป็นโมฆะจากประชาคมนี้ อัล-กาชานียฺไม่ได้บ่งชี้ถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีคำอธิบายในตัฟสีรฺของเขาหลายที่ด้วยกันในการโจมตีบรรดาเศาะหาบะฮฺ (ตัฟสีรฺ อัศ-ศอฟียฺ 1/341)

 

 

ในหนังสือ “นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ” ซึ่งอัต-ตีญานียฺแสดงความชื่นชมและใช้ข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ในการเขียนวิทยานิพนธ์จนได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน (ดู จงถามผู้รู้ (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 41 ) มีคำกล่าวสุนทรพจน์ของอิมามอะลี (ร.ฎ.) ที่ท่านได้สาธยายถึงความประเสริฐของเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และอิมามอะลี (ร.ฎ.) ได้กล่าวตำหนิบรรดาชีอะฮฺที่ให้การสนับสนุนท่านว่าไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเขาที่ปฏิบัติตนเหมือนเหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอัศหาบของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กับอัศหาบของอิมามอะลี (ร.ฎ.) อย่างชัดเจน และอิมามอะลี (ร.ฎ.) ก็ไม่ได้กล่าวหาว่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ตกศาสนาหรือกระทำอุตริกรรมแต่อย่างใด (ดู นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ หน้า129-130, 225)

 

 

อะหฺมัด อัล-กิสเราะวียฺ (นักคิดชาวชีอะฮฺ) เขียนว่า : “ส่วนกรณีที่พวกเขา (ชีอะฮฺ) กล่าวถึงการตกศาสนาของชาวมุสลิมหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยกเว้น 3 หรือ 4 คน จากพวกเขานั้น ก็คือความบังอาจต่อการโกหกและใส่ร้ายจากพวกเขา (ชีอะฮฺ) ดังนั้น บุคคลหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวว่า : พวกเขาตกศาสนาได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่พวกเขาคืออัศหาบของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) พวกเขาศรัทธาต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในขณะที่คนอื่นๆ กล่าวหาว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกหก และพวกเขาก็ปกป้องท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดจนยอมแบกรับการประทุษร้ายในวิถีของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

ต่อมาพวกเขาก็ช่วยเหลือสนับสนุนท่านในการสู้รบโดยไม่ถือว่าชีวิตของพวกเขาสำคัญไปกว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หลังจากนั้นมันจะมีประโยชน์อันใดสำหรับพวกเขาในสมัย   เคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺที่พวกเขาต้องตกจากศาสนาของพวกเขาเพื่อท่านอบูบักรฺ ดังนั้นสมมุติฐานใดจาก 2 เรื่องที่ง่ายกว่าในความเป็นไปได้ คือมีคนๆ หนึ่ง หรือ 2 คน จากพวกที่มีเป้าหมายอันเลวทรามโกหก (ในเรื่องนี้) หรือมีคนจำนวนหลายร้อยคนจากบรรดามุสลิมที่บริสุทธิ์ได้ตกศาสนาก็ขอให้พวกท่าน (ชีอะฮฺ) ตอบเราเถิด หากว่าพวกท่านจะมีคำตอบ” (อัต-ตะชัยยุอฺ วัช-ชีอะฮฺ หน้า 66)

 

 

มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดรฺ กล่าวว่า : แท้จริงบรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นด้วยคุณลักษณะของพวกเขาคือกลุ่มชนแรกที่นำร่องความศรัทธาและเจิดจำรัสด้วยรัศมี พวกเขาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับการอุบัติขึ้นของประชาคมผู้นำสาส์น กระทั่งว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไม่เคยประจักษ์มาก่อนเลยถึงชนรุ่นหนึ่งที่มีหลักความเชื่อซึ่งสายรายงานมีความสูงส่งและบริสุทธิ์มากไปกว่าชนรุ่นที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นผู้นำได้ก่อตั้ง” (อัต-ตะชัยยุอฺ ซอฮิเราะฮฺ เฏาะบีอียะฮฺ หน้า 80 )

 

 

เราจะเชื่อสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนเกี่ยวกับเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรือว่าเราจะเชื่อสิ่งที่นักปราชญ์ของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺ 2  ท่านนี้เขียนเอาไว้ หากอัต-ตีญานียฺและกลุ่มชีอะฮฺอัร-รอฟิเฎาะฮฺยืนยันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ตกศาสนาและบิดเบือนคำสอนของศาสนาคือความจริง สิ่งที่อัล-กิสเราะวียฺและมุฮัมมัด บากิรฺ  อัศ-ศอดร์เขียนไว้ก็ย่อมกลายเป็นเรื่องโกหกหรือไม่ก็เป็นการเขียนในเชิงอำพราง (ตะกียะฮฺ)

 

 

แต่ถ้าสิ่งที่ปราชญ์ชีอะฮฺทั้งสองเขียนไว้เป็นความจริง ข้ออ้างและคำกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺกับพวกก็ย่อมเป็นความเท็จ ส่วนความจริงก็คือบรรดาเศาะหาบะฮฺมิได้ตกศาสนา และมิได้เปลี่ยนแปลงหลักคำสอนของศาสนา ทว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺคือชนรุ่นหนึ่งที่ดีที่สุดในด้านความเชื่อและความงดงามซึ่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไม่เคยประจักษ์มาก่อนเลยอย่างที่มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ เขียนไว้

 

 

ใครคือมุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ และอันใดเล่าที่ทำให้ท่านรู้ว่ามุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์คือผู้ใด คือปราชญ์ของชีอะฮฺ อิมามียะฮฺที่อัต-ตีญานียฺเคยพบและสนทนาด้วย ณ แผ่นดินอีรัก อัต-ตีญานียฺเขียนถึงการสนทนาของตนกับปราชญ์ผู้นี้ในษุมมะตะดัยตุ้ เรื่อง “การพบปะกับอัส-สัยยิด มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ หน้า 61-69  และคำตอบของอัส-สัยยิดผู้นี้ได้สร้างความสงสัยและสับสนให้เกิดขึ้นในใจของอัต-ตีญานียฺในเวลาต่อมาโดยเฉพาะเรื่องราวของเหล่าเศาะหาบะฮฺและเคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 ท่าน (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ เรื่อง “ความสงสัยและความสับสน หน้า 71…)

 

 

ในกรณีถือตามคำยืนยันของอัต-ตีญานียฺที่ว่าคำ “อัศหาบียฺ” เป็นตัวบทที่ระบุว่า กลุ่มชนที่ถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยไม่อาจตีความคำ “อัศหาบียฺ” ว่าหมายถึงพวกหน้าไหว้หลังหลอกซึ่งอัต-ตีญานียฺจัดกลุ่มนี้เข้าไว้ในกลุ่มของเศาะหาบะฮฺประเภทที่สาม เมื่ออัต-ตีญานียฺเขียนยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ในทุกกรณีนอกจากต้องเป็นเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เท่านั้น อัต-ตีญานียฺก็จะต้องกำหนดให้แน่ชัดว่าเศาะหาบะฮฺที่อัล-หะดีษระบุถึงว่าตกศาสนาและกระทำอุตริกรรมหลังการจากไปของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าเป็นผู้ใด?

 

 

ในเมื่อตัวบทระบุไว้กว้างๆ ว่า “อัศหาบียฺ” (คือบรรดาเศาะหาบะฮฺหรือสาวกของฉัน) โดยไม่ได้ออกชื่อเสียงเรียงนามเอาไว้เป็นรายบุคคล หาไม่แล้วคำ “อัศหาบียฺ” ก็ต้องมีนัยครอบคลุมบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งหมดโดยไม่มีการยกเว้น และคำ “อัศหาบียฺ” ก็ใม่ได้บ่งชี้ว่าหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย กรณีนี้ว่าตามการยืนยันของอัต-ตีญานียฺ ขอย้ำ!! เพราะอัต-ตีญานียฺย้ำว่านัยของ “อัศหาบียฺ” ในหะดีษอัล-เหาวฺฎ์หมายถึงเศาะหาบะฮฺจริงๆ ไม่ได้หมายถึงพวกกลับกลอก (มุนาฟิกูน)

 

 

ส่วนข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่ว่า “แท้จริงบรรดาเศาะหาบะฮฺโดยส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนแปลง มิหนำซ้ำพวกเขาได้หันหลังกลับ (ตกศาสนา) หลังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยกเว้นจำนวนเล็กน้อยซึ่งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใช้สำนวนบ่งถึงพวกเขาด้วยกับฝูงอูฐที่ถูกปล่อยให้หากินเองในท้องทุ่งโดยไม่มีผู้ดูแล” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้  119-120) ข้อเขียนนี้อัต-ตีญานียฺเข้าใจเอาเองและสรุปว่า เศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ตกศาสนาและถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งๆ ที่สำนวนของหะดีษกล่าวว่า ( فلاأرى يخلص منهم إلامثل همل النعم ) “แล้วฉันก็ไม่เห็นว่ามีผู้ใดจากพวกเขาที่รอดพ้นนอกเสียจากเหมือนอูฐที่ถูกปล่อยไว้โดยไม่มีผู้ดูแล”

 

 

คำว่า “มินฮุม” (จากพวกเขา) เป็นสรรพนามที่ไม่ได้กลับไปยังเศาะหาบะฮฺแต่กลับไปยังกลุ่มชน (ซุมเราะฮฺ) ที่ถูกกันระหว่างพวกเขากับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หมายถึงกลุ่มชนที่มุ่งหน้ามายังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่สระน้ำนั้นและเข้าใกล้สระน้ำในระยะที่ท่านมองเห็นและรู้จักพวกเขาแล้วพวกเขาก็ถูกกันออกไป คนส่วนน้อย (ที่ถูกเปรียบเปรยกับอูฐที่ถูกปล่อยให้หากินโดยไม่มีผู้ดูแล) จากกลุ่มชนนั้นคือผู้ที่รอดเข้าไปถึงสระน้ำ คำว่า “กลุ่มชน” ในสำนวนของตัวบทในหลายสายรายงานต่างก็ระบุว่ามีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น และในจำนวนที่ว่านั้นก็มีน้อยเข้าไปอีกซึ่งรอดเข้าไปถึงสระน้ำ

 

 

สำนวนของหะดีษจึงเป็นเรื่องคนจำนวนหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์นั้นกับพวกเขาในวันกิยามะฮฺซึ่งไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) การอ้างของอัต-ตีญานียฺว่าสำนวนของหะดีษบ่งถึงเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่จึงไม่สอดคล้องกับสิ่งที่สำนวนหะดีษระบุถึง และถ้าอัต-ตีญานียฺจะยกเว้นเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยเอาไว้ตามความเข้าใจของตนเอง ก็ถามว่าใครคือเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยที่ถูกเปรียบเปรยกับฝูงอูฐที่ถูกปล่อยให้หากินเองโดยไม่มีคนดูแล (ซึ่งมีจำนวนน้อยเพราะอูฐโดยส่วนใหญ่จะมีเจ้าของและมีผู้ดูแล) ในเมื่อตัวบทของอัล-หะดีษมิได้ระบุชื่อเสียงเรียงนามเอาไว้ แต่ตัวบทระบุคำ “อัศหาบียฺ” ไว้เท่านั้น

 

 

และอัต-ตีญานียฺก็ยืนยันว่าคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เท่านั้น ความของคำ “อัศหาบียฺ” ก็ต้องครอบคลุมอิมามอะลี (ร.ฎ.) ; อิมามหะสัน (ร.ฎ.) อิมามหุสัยนฺ (ร.ฎ.) , อัมมารฺ อิบนุ ยาสิรฺ (ร.ฎ.) อบูซัรฺริน อัล-ฆิฟารียฺ (ร.ฎ.) สัลมาน อัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) อัล-มิกดาด อิบนุ อัล-อัสวัด (ร.ฎ.) คุซัยมะฮฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) และอุบัยย์ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) ด้วย ซึ่งอัต-ตีญานียฺเรียกบรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านี้ว่า “บรรดาเศาะหาบะฮฺผู้รู้คุณ” (อัช-ชากิรีน) –ษุมมะฮฺ ตะดัยตุ้ หน้า 158-159 )

 

 

และบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยนี้ย่อมไม่ถูกยกเว้นจากความของคำ “อัศหาบียฺ” ในอัล-หะดีษนอกจากจะมีหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจนมายืนยันว่าพวกท่านเหล่านั้นได้รับการยกเว้น แต่ถ้าอัต-ตีญานียฺกล่าวว่า เพราะมีหลักฐานจากอัล-กุรอานและอัล-หะดีษจำนวนมากได้สรรเสริญและชื่นชมบรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้น ตลอดจนมีหลักฐานยืนยันว่าเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นเป็นชาวสวรรค์โดยเฉพาะท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) และบุตรชายทั้งสองของท่าน

 

 

เราชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺก็ยืนยันในทำนองเดียวกันนั้นว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺจำนวนมากนอกเหนือจากที่ออกนามชื่อมานั้นก็มีหลักฐานจากอัล-กุรอานและอัล-หะดีษจำนวนมากได้สรรเสริญและชื่นชมพวกท่านเหล่านั้นเช่นกัน อีกทั้งยังมีหลักฐานยืนยันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺจำนวนมากเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงพึงพอพระทัยต่อพวกท่าน และพวกท่านเหล่านั้นก็ยินดีต่อพระองค์ ตลอดจนมีหลักฐานยืนยันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นรังเกียจการทำอุตริกรรมและอุตริชน อีกทั้งยังทำสงครามกับพวกชนเผ่าอาหรับที่ตกศาสนา จึงเป็นไปไม่ได้ว่าพวกท่านเหล่านั้นจะกระทำอุตริกรรมเสียเองหรือตกศาสนาหลังการจากไปของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

เรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าก็คือ หะดีษอัล-เหาวฺฎ์มีบรรดาเศาะหาบะฮฺรายงานถึง 80  คน หนึ่งในผู้รายงานเรื่องนี้จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็คือ ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านหญิงอุมมุสละมะฮฺ (ร.ฎ.) อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมร์   อิบนิ อัล-อาศ (ร.ฎ.) อุกบะฮฺ อิบนุ อามิรฺ (ร.ฎ.) อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) หุซัยฟะฮฺ อิบนุ อัล-ยะมาน (ร.ฎ.) หาริษะฮฺ อิบนุ วะฮฺบ์ (ร.ฎ.) อบูซัรริน (ร.ฎ.) เษาบาน (ร.ฎ.) อะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) , ญาบิรฺ อิบนุ สะมุเราะฮฺ (ร.ฎ.) อัล-บะรออฺ อิบนุ อาซิบ (ร.ฎ.) อัสมาอฺ บินตุ อบีบักร์ (ร.ฎ.) อับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) และ ฯลฯ (เศาะฮีหฺมุสลิม บิชัรหิ อัน-นะวาวียฺ 15/53 ) บรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านี้รายงานหะดีษอัล-เหาวฺฎ์จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ภายหลังการสิ้นชีวิตของท่าน พวกท่านเหล่านี้ไม่รู้ดอกหรือว่าแต่ละท่านจะกลายเป็นผู้ที่ตกศาสนาและถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

บรรดานักวิชาการหะดีษชาวสุนนะฮฺที่บันทึกสายรายงานของหะดีษอัล-เหาวฺฎ์นึกไม่ออกหรือไร? ว่าพวกเขาได้บันทึกหลักฐานที่ชี้ชัดว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺที่รายงานหะดีษบทนี้ซึ่งมีจำนวนถึง 20 คน ต่างก็เป็นผู้ที่ตกศาสนาหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จนกระทั่งเมื่ออัต-ตีญานียฺมาถึงหลังจากพันปีเศษได้ผ่านไป อัต-ตีญานียฺก็ได้ค้นพบความจริงที่ผู้คนจำนวนมากตลอดพันปีนั้นนึกไม่ออกหรือไม่เคยฉุกคิดมาก่อน! และหะดีษอัล-เหาวฺฎ์จะถูกเชื่อถือได้อย่างไร? ในเมื่อผู้รายงานจำนวน 80 คน ซึ่งถึงขั้นมุตะวาติรฺล้วนเป็นผู้ที่ตกศาสนาไปแล้วตามคำชี้ขาดของอัต-ตีญานียฺ

 

 

มิหนำซ้ำศาสนาอิสลามที่ชาวมุสลิมมีความเชื่อและศรัทธาก็เป็นศาสนาที่บรรดาผู้ตกศาสนาได้ถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง ศาสนาอิสลามที่แผ่ไพศาลไปยังดินแดนทั่วโลกและมีผู้ยอมรับในทุกทิศานุทิศแท้ที่จริงแล้วเป็นศาสนาของพวกที่ตกศาสนาไปแล้วหลังศาสนทูตได้จากไปกระนั้นหรือ? แล้วคัมภีร์อัล-กุรอานที่ “ฮัส-สัยยิด อัล-คูอียฺ” บอกกับอัต-ตีญานียฺว่าเป็นคัมภีร์เล่มเดียวกัน และมุสลิมทั้งหลายเป็นพี่น้องกันไม่ว่าจะเป็นชีอะฮฺหรือสุนนะฮฺ พวกเขาต่างก็เคารพสักการะต่อพระองค์อัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่นำสิ่งใดมาตั้งภาคีกับพระองค์ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ 57 หน้า )

 

 

ฟังแล้วดูดี! แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าคัมภีร์อัล-กุรอานที่บรรดาเศาะหาบะฮฺท่องจำ จดบันทึกและรวบรวมหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้จากไปในสมัยเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ (ร.ฎ.) และท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นผลงานของพวกที่ตกศาสนาและบิดเบือนกระนั้นหรือ? คำกล่าวของอัส-สัยยิด อัล-คูอียฺคงเป็นได้แค่เรื่องประโลมโลกเท่านั้น เพราะคำพูดที่ว่า พวกเขา (สุนนะฮฺ-ชีอะฮฺ) เป็นพี่น้องกันและเคารพสักการะพระเจ้าองค์เดียวกัน และสุนนะฮฺกับชีอะฮฺก็ไม่ได้แตกต่างกันยกเว้นในเรื่องนิติศาสตร์เท่านั้น (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน) เปล่าเลย! นี่คือการชี้ขาดของอัต-ตีญานียฺว่าชาวสุนนะฮฺถือศาสนาตามชนรุ่นแรกที่ตกศาสนาไปแล้ว

 

 

การเคารพสักการะต่อพระผู้เป็นเจ้าจะถูกนำมาอ้างเพื่อสิ่งใดเล่าในเมื่อฝ่ายหนึ่งของพี่น้องที่ว่านั้นเคารพพระองค์และประกอบศาสนกิจในฐานะผู้ปฏิเสธที่รับเอาพิธีกรรมและหลักความเชื่อมาจากพวกที่ปฏิเสธศาสนารุ่นแรก! อัต-ตีญานียฺเขียนไว้เองมิใช่หรือ ว่าบทบัญญัติทางศาสนาและหลักความเชื่อของอิสลามในประการทั้งปวงนั้นล้วนมีมาถึงยังพวกเราจากวิถีทางของ “ซอฮาบะฮฺ” จะไม่มีใครสักคนเดียวสามารถอ้างว่า ตนเองเคารพภักดีอัลลอฮฺโดยคำสอนจากคัมภีร์ของอัลลอฮฺและซุนนะฮฺได้ เว้นแต่จะต้องอาศัยซอฮาบะฮฺเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงรากฐานที่มาของสองสิ่งนี้ สำหรับมุสลิมทุกคนทั่วทั้งทิศตะวันออกและตะวันตกของโลก “(จงถามผู้รู้ (ฉบับภาษาไทย) บทที่ 4 เกี่ยวกับซอฮาบะฮฺโดยทั่วไปหน้า 159 )

 

 

เราเห็นด้วยกับอัต-ตีญานียฺ ในข้อเขียนตรงนี้ แต่ทว่าเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นตกศาสนาและเปลี่ยนแปลงบัญญัติของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไปแล้วมิใช่หรือ? ตามคำตัดสินของอัต-ตีญานียฺ การเขียนของอัต-ตีญานียฺเกี่ยวกับเศาะหาบะฮฺโดยอ้างว่าเป็นการตรวจสอบสถานภาพ และความน่าเชื่อถือของเหล่าเศาะหาบะฮฺจะมีประโยชน์อันใดอีกเล่า ในเมื่อเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นตกศาสนาไปแล้วตามคำตัดสินของอัต-ตีญานียฺ เพราะการตรวจสอบสถานภาพของบุคคลที่รายงานหลักคำสอนของศาสนาจะกระทำกับบุคคลที่เป็นมุสลิมด้วยกัน แต่กรณีของเศาะหาบะฮฺนั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาไปแล้วเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ทำไมจึงต้องมาตรวจสอบสถานภาพของผู้ที่มิใช่มุสลิมให้เสียเวลา

 

 

สำคัญอยู่ที่ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺตกศาสนาจริงหรือไม่! แน่นอนอัต-ตีญานียฺก็คงตอบว่าใช่แล้ว! และถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หรือเป็นไปไม่ได้ อัต-ตีญานียฺก็จำต้องทำให้ได้คำตอบว่า ใช่หรือเป็นไปได้อยู่ดี! เพราะข้อเขียนในหนังสือทุกเล่มของอัต-ตีญานียฺมันฟ้องว่าเป็นเช่นนั้น!

 

 

สำหรับเหตุผลที่อัต-ตีญานียฺอ้างว่า หะดีษอัล-เหาวฺฎ์ไม่อาจตีความว่าหมายถึงพวกมุนาฟิกูนเพราะตัวบทในอัล-หะดีษระบุว่า “อัศหาบียฺ” และเป็นเพราะพวกมุนาฟิกูนนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงภายหลังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หาไม่แล้วพวกมุนาฟิกูนก็จะกลายเป็นผู้ศรัทธาภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) – ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 120 –

 

 

เหตุผลที่หนึ่งเกี่ยวกับคำ “อัศหาบียฺ” นั้นได้วิภาษมาแล้ว ส่วนเหตุผลข้อที่สองนั้น ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลในเชิงตรรกะที่อัต-ตีญานียฺนำมาใช้เพื่อสนับสนุนเหตุผลข้อที่หนึ่งซึ่งวิภาษได้ว่า พวกมุนาฟิกูนจะถูกกันออกจากความของคำ”อัศหาบียฺ” ได้อย่างไร? ในเมื่ออัต-ตีญานียฺยืนยันอย่างหนักแน่นว่า พวกมุนาฟิกูนเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ และเป็นกลุ่มคนประเภทที่สามจากบรรดาประเภทของเศาะหาบะฮฺตามที่อัต-ตีญานียฺแบ่ง ถ้าพวกมุนาฟิกูนมิใช่เศาะหาบะฮฺ อัต-ตีญานียฺก็ขัดแย้งกับทฤษฎีของตนเองที่ลากพวกมุนาฟิกูนเข้ามาในหมู่เศาะหาบะฮฺ แต่ถ้าพวกมุนาฟิกูนเป็นส่วนหนึ่งจากเหล่าเศาะหาบะฮฺ ข้อเขียนตรงนี้ก็ขัดแย้งกับสิ่งที่อัต-ตีญานียฺตั้งทฤษฎีเอาไว้อยู่ดี

 

 

ส่วนการให้เหตุผลว่าเพราะพวกมุนาฟิกูนไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่ถ้าพวกเขาเปลี่ยนแปลงหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ย่อมกลายเป็นว่าพวกมุนาฟิกูนคือผู้ศรัทธา เหตุผลนี้อ่านผาดๆ ก็อาจจะเห็นว่าเป็นเหตุผลที่เข้าที แต่ก็นั่นแหละเหตุผลของอัต-ตีญานียฺที่ว่า พวกมุนาฟิกูนไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พวกมุนาฟิกูนสามารถเข้าถึงสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และได้ดื่มน้ำจากสระน้ำนั้น มิหนำซ้ำพวกมุนาฟิกูนก็จะถูกไล่ต้อนสู่นรกภูมิและอยู่ที่ชั้นล่างสุดของนรกภูมิอยู่ดีในกรณีที่พวกเขาเสียชีวิตไปในสภาพที่เป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกและกลับกลอก

 

 

แต่ถ้าพวกมุนาฟิกูนเตาบะฮฺตัวและประพฤติคุณงามความดี การเปลี่ยนสภาพจากความเป็นพวกกลับกลอกสู่ความเป็นผู้ศรัทธาจริงๆ ทั้งก่อนและหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วพวกเขาก็ตายลงบนศาสนาอิสลาม นั่นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีและได้ชื่อว่าเป็นผู้ศรัทธามิใช่หรือ?

 

 

ส่วนพวกมุนาฟิกูนที่มีสภาพของการนิฟาก (กลับกลอก) จนกระทั่งตายไปในสภาพดังกล่าวก็คงไม่ใช่สาระสำคัญว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งก่อนและหลังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะพวกมุนาฟิกูนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ศรัทธาและปฏิเสธ สับสนและขัดแย้งในตัวเองอยู่เสมอ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันสำหรับพวกเขา

 

 

ดังนั้นเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตลงโดยที่พวกมุนาฟิกูนมิได้เปลี่ยนแปลง นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากการนิฟากสู่ศรัทธา แต่ถ้าพวกเขาเปลี่ยนแปลง นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเปลี่ยนจากการนิฟากสู่ศรัทธาเสมอไป เพราะพวกเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงจากการอำพรางซ่อนเร้นการปฏิเสธศรัทธาสู่การกระทำอย่างเปิดเผยในฐานะของผู้ปฏิเสธโดยแท้จริงก็ได้

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงเศาะหาบะฮฺว่า “คนส่วนใหญ่เหล่านี้ (หมายถึงเศาะหาบะฮฺที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพียงภายนอกอันผิวเผิน แต่มีโรคอยู่ในหัวใจตน) มีอยู่แล้วในสมัยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีชีวิตอยู่ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับท่าน นมาซตามหลังท่าน และเป็นเพื่อนกับท่านทั้งในยามพำนักอยู่กับที่ และในยามเดินทาง พวกเขาใกล้ชิดสนิทสนมกับท่านในทุกๆ ด้าน จนเรื่องราวของพวกเขาไม่เป็นที่รู้สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่บริสุทธิ์ใจ พวกเขาพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะแสดงภาพลักษณ์ออกมาให้ปรากฏจนบรรดาผู้ศรัทธาตายใจกับพวกเขา…”

 

 

ครั้นเมื่อสภาพของพวกเขาเป็นอย่างนี้ในสมัยที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีชีวิตอยู่ แล้วหลังจากท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว พวกเขาจะเป็นอย่างไร? ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกเขายิ่งมีพลังและยิ่งเพิ่มการซ่อนเร้นและการปลอมแปลงของตนได้มากยิ่งขึ้น เพราะถือว่ายามนั้นไม่มีนบีใดๆ ที่รู้จักพวกเขาอีกแล้ว และไม่มีวะห์ยูใดๆ มาเปิดโปงพวกเขาได้อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทันทีที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สิ้นชีวิต…” (จงถามผู้รู้ (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 175)

 

 

โปรดสังเกตข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่กล่าวถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ว่า คือพวกมุนาฟิกูนนั่นเอง และนี่คือสิ่งที่หักล้างข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่ว่าพวกมุนาฟิกูน (ซึ่งในมโนคติของอัต-ตีญานียฺคือบรรดาเศาะหาบะฮฺ) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะถ้าพวกเขาเปลี่ยนแปลงก็จะกลายเป็นผู้ศรัทธา! เปล่าเลย พวกเขามิได้กลายเป็นผู้ศรัทธาแต่พวกเขาจะมีพลังและยิ่งเพิ่มการนิฟากและปลอมแปลงมากยิ่งขึ้นต่างหาก! หรือไม่พวกเขาก็เปลี่ยนจากการนิฟากสู่การปฏิเสธได้อย่างชัดเจนเพราะในยามนั้นไม่มีนบีและไม่มีวะหฺยูใดมาเปิดโปงพวกเขาได้อีกแล้ว!

 

 

อัต-ตีญานียฺเป็นผู้ให้คำตอบเอง และหักล้างข้อสันนิษฐานของตนว่าพวกมุนาฟิกูนมิได้เปลี่ยนแปลงสู่การเป็นผู้ศรัทธา แต่เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ ตรรกะของอัต-ตีญานียฺจึงมิได้เป็นสิ่งใดมากไปกว่าความสับสนและการขัดแย้งกันเองในข้อเขียนของตน!

 

วัลลอฮุอะอฺลัม