ความเป็นศัตรูของชาวยิวต่อซุลตอนอับดุลฮะมีด ข่านที่ 2

        ยังมิทันสิ้นศตวรรษที่ 19 พวกยิวก็แทรกซึมเข้าสู่แวดวงทางการเมืองได้มากกว่าในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นจนมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ของซุลตอน อับดุลฮะมีด ข่านที่ 2 (ค.ศ.1876) ชาวยิวทุ่มเทความพยายามของพวกตนเพื่อจะตีกรอบโอบล้อมพระองค์โดยอาศัยพรรคพวกของตนจากชาวยิวดูนมะห์ (ชาวยิวสัญชาติตุรกีที่อยู่ในอิสตันบูลและหัวเมืองใหญ่ของจักรวรรดิอุษมานียะห์) คือ เมดฮัต ปาชา ซึ่งพยายามโน้มน้าวซุลตอนอับดุลฮะมีด และราชสำนักให้ยอมอ่อนข้อต่อรัฐบาลของยุโรปด้วยข้ออ้าง “การปรับปรุงพัฒนา” หรือ “การปฏิรูประเบียบสังคมและการเมืองการปกครอง” ให้ทัดเทียมชาติยุโรปในเวลานั้น

ซุลตอน อับดุลฮะมีด ข่านที่ 2
ซุลตอน อับดุลฮะมีด ข่านที่ 2

        อย่างไรก็ตามซุลตอนอับดุลฮะมีดทรงมีพระราชวินิจฉัยเป็นอิสระและทรงปฏิเสธการดำเนินนโยบายเช่นนั้นของเมดฮัต ปาชา ซึ่งมีเป้าหมายแอบแฝง พระองค์มิอาจนิ่งเฉยที่จะเห็นเมดฮัต ปาชา ใช้เล่ห์เพทุบายและความคิดไม่ซื่อของตนในการทำให้สภาผู้แทนมีที่นั่งของชาวคริสเตียนถึง 48 ที่นั่งจากจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 117 คน และทำนองเดียวกัน พระองค์ย่อมมิอาจวางเฉยต่อการเที่ยวใช้อิทธิพลของเมดฮัต ปาชา ผู้ซึ่งอาจหาญปลดซุลตอน อับดุลอะซีซ ออกจากพระราชอำนาจและวางแผนลอบปลงพระชนม์ ตลอดจนยังได้ปลดซุลตอนมุรอดที่ 5 หลังจากทรงอยู่ในอำนาจได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น (อัลอัฟอา อัลยะห์ฮูดียะห์ หน้า 83)

 

        ขณะที่อำนาจและอิทธิพลของพวกยิวในจักรวรรดิอุษมานียะห์มีมากถึงเพียงนี้ ซุลตอน อับดุลฮะมีด ก็ทรงทราบด้วยพระปรีชาสามารถอันรู้เท่าทันว่า เมดฮัต ปาชา กำลังนำประเทศอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ไปสู่ความวิบัติล่มจม พระองค์จึงทรงปลดเมดฮัต ปาชา ออกจากตำแหน่งมหาเสนาบดี (อัซซอดรุ้ลอะอ์ซอม) ในปีค.ศ. 1877 และถูกเนรเทศไปยังยุโรป (อ้างแล้ว หน้า 84) ดังนั้นจุดจบของเมดฮัต ปาชา ได้ทำให้บทบาทของยิวจบลงหรือไม่?

 

        เปล่าเลย! การเคลื่อนไหวของชาวยิว และการใช้สื่อทุกวิธีการของพวกเขาเพื่อทำลายจักรวรรดิอุษมานียะห์หาได้อ่อนตัวลงไม่ พวกยิวได้สร้างความกดดันต่อซุลตอน อับดุลฮะมีด โดยอาศัยองค์การลับต่างๆ โดยเฉพาะ “องค์กรไซออ-นิสต์สากล” ซึ่งจัดประชุมครั้งแรก ณ เมืองบาเซิลในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีนายธีออดอร์ เฮิร์ตเซล เป็นประธานการประชุมครั้งนั้น และมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมถึง 204 คน ด้วยกัน หลังการอภิปรายและการถกเถียงอย่างยืดยาวในที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปอันเป็นมติเกี่ยวกับการประกันสถานภาพของชาวยิวทั่วโลกในอนาคต ในตอนแรกก็ได้กำหนดให้ชาวยิวมีรัฐของตนเองในอาร์เจนตินาหรือไม่ก็ในอูกานดา

 

        อย่างไรก็ตาม นายธีร์ออดอร์ เฮิร์ตเซล ในฐานะสมาชิกในที่ประชุมคนหนึ่ง (นอกเหนือจากเป็นประธาน) ได้ยืนกรานให้รัฐของชาวยิวที่จะมีขึ้นนี้ต้องอยู่ในประเทศปาเลสไตน์และเสนอความคิดให้โหวตเสียง ซึ่งปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายธีออดอร์ ภายหลังที่ประชุมก็มีการแถลงมติดังนี้ ถือเป็นความจำเป็นที่จะให้กรณีปัญหาข้อนี้บรรลุผลสำเร็จ ไม่ว่าจะต้องทุ่มงบประมาณหลายล้านเหรียญก็ตาม และที่ประชุมได้มอบหมายให้เฮิร์ตเซล ดำเนินการพันธกรณีที่แสดงความจำนงไว้ให้ลุล่วงสู่เป้าหมายที่คาดไว้ พร้อมทั้งรับผิดชอบในการจัดการกับข้อปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด (อัซรอรฺ อัลอิงกิลาบ อัลอุษมานียะห์ หน้า 114)

ธีร์ออดอร์ เฮิร์ตเซล จักรพรรดิวิลเลียมที่ 2
ธีร์ออดอร์ เฮิร์ตเซล (ซ้าย)           กรพรรดิวิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมัน (ขวา)

        พวกยิวได้กำหนดเป้าหมายของพวกตน นั่นคือ ปาเลสไตน์ และทุ่มเทศักยภาพของพวกตนทั้งหมดเพื่อทำให้สิ่งดังกล่าวเป็นจริง และเป็นเรื่องปกติที่ชาวยิวจะต้องอาศัยทุนรอนของพวกตนซึ่งรวบรวมมาจากการสูบเลือดเนื้อของพลเมืองทั้งหลายในการนี้

 

        ในปีค.ศ. 1898 จักรพรรดิวิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมันได้เสด็จถึงนครอิสตันบูล ในฐานะพระราชอาคันตุกะตามคำเชิญของซุลตอนอับดุลฮะมีด นายธิออดอร์ เฮิร์ตเซล ก็ฉวยโอกาสและมุ่งหน้าสู่นครอิสลตันบูลแต่ทว่าการเสด็จเยือนของจักรพรรดิได้สิ้นสุดลงและเริ่มเสด็จเยือนกรุงเยรูซาเล็ม (อัลกุดซ์) เฮิร์ตเซลจึงรุดตามไปยังที่นั่นและเข้าเฝ้าจักรพรรดิโดยขอให้พระองค์ช่วยเป็นตัวกลางให้ตนได้เข้าเฝ้าซุลตอนอับดุลฮะมีด ซึ่งก็สมประสงค์ เมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าซุลตอน ยิวผู้นี้ก็ปั้นหน้าเสแสร้งใช้คำพูดจาที่ตลบตะแลงปลิ้นปล้อนเพ็จทูลต่อซุลตอนว่าตนขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวยิวอพยพสู่แผ่นดินปาเลสไตน์ พร้อมเสนอเงินสินบนจำนวน 5 ล้านเหรียญลีร่าทองคำ สำหรับพระองค์ตลอดจนจะช่วยเป็นธุระในการปลดหนี้สินที่รุงรังของจักรวรรดิและสร้างเรือรบแก่ราชนาวีอุษมานียะห์

 

        บทเจรจาพาทีระหว่างเฮิร์ตเซล กับซุลตอนอับดุลฮะมีดมีดังนี้
        ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท องค์ซุลตอนผู้ทรงเกียติเหล่าพสกนิกรชาวยิวผู้จงรักภักดีต่อพระองค์ได้มอบหมายให้คณะของข้าฝ่าพระบาทถวายพระพรต่อพระองค์ เหล่าพสกนิกรชาวยิวผู้จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ชาวยิวได้อพยพสู่ดินแดนปาเลสไตน์อันศักดิ์สิทธิ์และเพื่อสนองต่อพระราชานุญาต ขอพระองค์ได้ทรงโปรดรับเงินถวายจำนวน 5 ล้านลีร่าทองคำจากเหล่าข้าฝ่าพระบาทเพื่อเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

        ซุลตอนทรงทราบดีอยู่ก่อนแล้วถึงมติที่ประชุมองค์การไซออนิสต์สากลในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์ทรงทราบข่าวจากชาวยิวที่ถูกกดขี่และลี้ภัยจากประเทศรุสเซีย ด้วยสิ่งดังกล่าวพระองค์จึงทราบถึงจุดประสงค์ของคณะตัวแทนชาวยิวที่เข้าเฝ้าและถวายเงินนั้นเป็นอย่างดี

หลังจากที่พระองค์ได้ทรงรับฟังข้อเสนอเช่นนี้อย่างสงบเยือกเย็นจากคณะของชาวยิว พระองค์ได้ทรงดำรัสตอบด้วยเกียรติแห่งผู้ศรัทธาอันมั่นคงและเด็ดเดี่ยวว่า :

แผ่นดินอันเป็นมาตุภูมิของเราย่อมมิอาจนำมาซื้อขายด้วยเงินทองได้เลย แผ่นดินที่เราได้มาทุกคืบทุกศอกนั้น ล้วนแต่ได้มาด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อของเหล่าบรรพบุรุษแห่งเรา เราจึงมิอาจละเลยได้เลยแม้แต่เพียงคืบเดียว โดยที่เราหาได้ทำการอุทิศทุ่มเทให้มากกว่าที่เหล่าบรรพชนได้อุทิศเลือดเนื้อในวิถีทางเช่นนั้น ภาระหนี้สินของประเทศนี้ย่อมมิใช่เรื่องที่น่าอดสูแต่อย่างใด ประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศสก็เป็นหนี้เป็นสินเช่นกัน (อัซรอร อัลอิงกิลาบ อัลอุษมานียะห์ หน้า 7/ อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้า 84)

 

        บัยตุ้ลมักดิส อันทรงเกียรติ (กรุงเยรูซาเล็ม) นั้น ชาวมุสลิมได้พิชิตเป็นครั้งแรกในสมัย ค่อลีฟะห์อุมัร (รฎ.) และข้าพเจ้าก็หาได้พร้อมไม่ที่จะแบกรับรอยด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ด้วยการขายแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ชาวยิว และบิดพลิ้วต่อภาระหน้าที่ซึ่งมวลมุสลิมได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าพิทักษ์รักษาภารกิจนั้นไว้ ขอให้ชาวยิวเก็บรักษาทรัพย์สินของพวกเขาไว้เถิด จักรวรรดิอุษมานียะห์มิอาจจะหลบเร้นจากผองภัยอยู่เบื้องหลังป้อมปราการที่ถูกสร้างขึ้นด้วยทรัพย์สินของเหล่าศัตรูแห่งอิสลามได้เลยแม้แต่น้อย (อัซซุลตอน อับดุลฮะมีดที่ 2 และปาเลสไตน์ หน้า 180)

 

ด้วยท่าทีเช่นนี้ ชาวยิวจึงได้ทราบถึงความเด็ดเดี่ยวของซุลตอนอับดุลฮะมีดที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงเบื้องหน้าความโลภโมโทสันของพวกตน ดังนั้นการวางแผนเพื่อโค่นล้มซุลตอนอับดุลฮะมีดจึงทวีความเข้มข้นมากขึ้น และพวกยิวได้พึ่งพาพลังอันชั่วร้ายซึ่งปวารนาตัวเพื่อสร้างความแตกแยกในประชาคมอิสลามที่สำคัญได้แก่ พวกมาโซนีย์, พวกยิวดูนมะห์ และองค์กรลับต่างๆ (กลุ่มเอกภาพและการวิวัฒน์) พวกยิวดูนมะห์ (ยิวสัญชาติตุรกี) ได้มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายไฟแห่งความสับสนวุ่นวายเพื่อต่อต้านซุลตอนอับดุลฮะมีด และถือว่าพระองค์เป็นศัตรูคู่อาฆาตที่มิอาจรามือ

 

ทั้งนี้เพราะพวกเขามิได้รับการตอบรับข้อเรียกร้องจากพระองค์ พวกเขาจึงสมรู้ร่วมคิดและจัดการประชุมหารือขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยเฮิร์ตเซลได้มีข้อเสนอต่อที่ประชุมว่า : จากการที่ได้พูดคุยกับซุลตอน ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่า การใช้ประโยชน์จากตุรกีย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของตุรกีเกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยการที่ตุรกีเข้าสู่สภาวะสงครามหรือตกอยู่ในประเด็นปัญหาระดับนานาชาติ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความเห็นใจตลอดจนความร่วมมือจากรัฐบาลอังกฤษต่อปัญหาของไซออนิสต์ ตามข้อเสนอเช่นนี้ที่ประชุมจึงมีมติว่า เป้าหมายที่วางไว้จะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อถอดซุลตอน อับดุลฮะมีดออกจากพระราชอำนาจเท่านั้น

 

        ความพยายามครั้งใหม่จึงเปิดฉากด้วยการปลุกปั่นชนกลุ่มน้อยที่มิใช่มุสลิมให้กระทำการยั่วยุต่อการเข้าแทรกแซงของกลุ่มประเทศมหาอำนาจเพื่อยุติปัญหาชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิอุษมานียะห ปฏิบัติการแรกเพื่อความสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่เกิดขึ้นด้วยการร่วมมือกับพวกนายทุน กล่าวคือ พวกนายทุนชาวยิวได้ดำเนินการสนับสนุนทางการเงินแก่พวกกบฏเชื้อสายแอลบาเนีย (อัรนาอูฏ) ซึ่งคุกคามต่อเสถียรภาพของอุษมานียะห์อยู่เสมอๆ จนในที่สุดอุษมานียะห์ก็จำต้องส่งกำลังทหารเพื่อเข้าปราบปรามพวกกบฏให้สิ้นซากและเป็นที่ทราบกันดีว่า พวกก่อการกบฏเชื้อสายแอลบาเนียล้วนแล้วแต่เป็นพวกที่นิยมในองค์กรมาโซนีย์ทั้งสิ้น (อัซรอร อัลอังกิลาบ อัลอุษมานียะห์ หน้า 26)

 

        ในช่วงเวลานั้นคาบสมุทรบอลข่านกำลังลุกเป็นไฟ กลุ่มกบฏแอลบาเนีย, บัลแกเรีย, อาหรับ และพลเมืองในแคว้นกุรอฮ์ดาฆต่างก็ยกพลพรรคของพวกตนเข้าทำลายหมู่บ้านต่างๆ การลอบสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอุษมานียะห์และพลเมืองทั่วไปมีอยู่ตลอดเวลา มีการสังหารหมู่ในอนาโตเลีย และกองทัพของอุษมานียะห์ก็ต้องทุ่มกำลังเพื่อปราบปรามขบวนการต่างๆ เหล่านี้ เรียกได้ว่าไม่มีความสงบและไร้เสถียรภาพโดยสิ้นเชิง พวกยิวยังได้ให้การสนับสนุนกลุ่มชาวอาร์เมเนียและปลุกปั่นให้ชาวอาร์เมเนียนโจมตีศูนย์กลางของการปกครอง (อัลบาบุลอาลี) พวกกบฏกลุ่มหนึ่งเข้าโจมตีธนาคารอุษมานียะห์ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งลอบวางระเบิดเพื่อสร้างความโกลาหลแก่ประชาชน พวกยิวได้ให้เงินทุนแก่พวกอาร์เมเนียนเหล่านี้ และผลักดันพวกเขาให้รุกคืบไปข้างหน้าอย่างไม่ลดละและวางแผนการให้แก่กลุ่มกบฏอาร์เมเนียนทำตามอย่างแยบยล (อ้างแล้วหน้า 19)

 

        ในสถานการณ์ที่อึมครึมและเป็นปรปักษ์อย่างชัดเจนต่อซุลตอนอับดุลฮะมีดเช่นนี้ พวกยิวได้โหมการโฆษณาชวนเชื่อโดยอาศัยหนังสือพิมพ์สำคัญทั่วโลก ซึ่งทำหน้าที่ในการตีพิมพ์ข้อความโฆษณาชวนเชื่อเพื่อลดทอนสถานภาพของซุลตอนอับดุลฮะมีด (อ้างแล้วหน้า 30)

 

        พวกยิวหาได้ยุติเพียงแค่นี้ไม่ หากแต่ยังได้เริ่มวางแผนการลอบปลงพระชนม์ซุลตอนเสียด้วยซ้ำ โดยคาร์ล เอ็ดเวิร์ดได้มอบเงินจำนวน 13,000 เหรียญลีร่าทองคำแก่องค์กรลับของพวกอาร์เมเนียนให้ลอบปาระเบิดพระตำหนักยัลดัซและปลงพระชนม์ซุลตอน เหตุการณ์ในวันที่ 21 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1905 ยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงปฏิบัติการเพื่อลอบปลงพระชนม์ซุลตอนอับดุลฮะมีด พวกยิวได้ตระเตรียมแผนการในสวิสเซอร์แลนด์ และมอบหมายให้เอ็ดเวิร์ด การูซ ซึ่งเป็นยิวฮังกาเรียนถือสัญชาติฝรั่งเศสได้รับการฝึกฝนปฏิบัติการลอบสังหารทุกรูปแบบในรุสเซียเป็นผู้ลงมือ

 

        แผนที่วางไว้คือลอบปลงพระชนม์ซุลตอนขณะที่พระองค์เสด็จออกจากการร่วมนมัสการวันศุกร์ โดยวางระเบิดในรถยนต์พระที่นั่งบริเวณใต้ที่นั่งเจ้าพนักงานขับรถยนต์พระที่นั่ง แต่ทว่าพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงมีพระประสงค์บันดาลให้ซุลตอนทรงเสด็จช้ากว่าหมายกำหนดหลังเสร็จสิ้นพิธีนมัสการ เนื่องจากมีพระราชปฏิสันฐานกับชัยคุลอิสลาม ญะมาลุดดีน อะฟันดีย์อยู่หลายนาที ในช่วงนั้นเองระเบิดที่ตั้งเวลาไว้หมายลอบปลงพระชนม์ซุลตอนก็ระเบิดขึ้น และซุลตอนก็ทรงปลอดภัยจากแผนการพวกยิวด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า หลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ได้มีการตั้งคณะสืบสวน โดยมี นะญิบ มุลฮิม เป็นหัวหน้าคณะทำคดีนี้ และภายในระยะเวลาอันสั้นก็สามารถสาวถึงผู้บงการและกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดได้ทั้งหมด โดยสามารถจับกุม คริสโตเฟอร์ มิกาเอเลี่ยน และรูปีน่าลูกสาวของคริสโตเฟอร์ รวมถึง คอนสแตนติน ธิโอเลี่ยน ซึ่งเป็นชาวยิวสัญชาติรุสเซีย (อัซรอร อัลอิงกิลาบ อัลอุษมานียะห์ หน้า 22)

คริสโตเฟอร์ มิกาเอเลี่ยน
คริสโตเฟอร์ มิกาเอเลี่ยน

        นอกจากนี้พวกยิวยังได้พยายามลอบขว้างระเบิดมือเข้าใส่ขบวนเสด็จของซุลตอนอีกหลายครั้ง และริฎอ เบก์ หนึ่งในทหารปืนใหญ่ก็เคยมีความคิดที่จะยิงปืนใหญ่เข้าใส่พระตำหนักยัลดัช แต่ความคิดเช่นนี้ก็ถูกคัดค้านเนื่องจากเกรงว่าจะมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก (อัซรอร อัลอิงกิลาบ หน้า 34)

 

        จิตใจของพวกยิวมิเคยสงบแม้แต่คราเดียวในความคิดเพื่อโค่นล้มซุลตอน อับดุลฮะมีดที่ 2 พวกเขาได้ใช้องค์กรลับของพวกมาโซนีย์ในเมืองซาลานีก เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายของพวกตน และสโมสรริโซริต้า ในเมืองซาลานีกก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนี้ เนื่องจากประธานสโมสรแห่งนี้คือ ครูซโซ่ ตลอดจนสโมสรในปารีส เจนีวา และฟาลูรอนซ่า ก็เช่นกัน สโมสรต่างๆ เหล่านี้สามารถสร้างเครือข่ายติดต่อกับองค์กรสำคัญต่างๆ ในจักรวรรดิอุษมานียะห์ โดยอาศัยกลุ่มยังเติร์ก

 

        พวกยิวยังได้ใช้กลุ่มแนวความคิดที่เบี่ยงเบน เช่น กลุ่มบักดาซีน, กลุ่มอัลมาลามีน และอัลกาซินาซีน รวมถึงกลุ่มซูฟีย์บางส่วน นายทหาร, รัฐมนตรี, อัครราชทูต, นักเขียน และทนายความที่นิยมในกลุ่มมาโซนีย์ เป็นแนวร่วมกับพวกตน ส่วนกลุ่มพลพรรคสัญชาติบัลกาเรียน, กรีซ และอาหรับนั้นพวกนี้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับซาโลนีกโดยตลอด ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลุ่มยังเติร์กในนครอิสตันบูลก็มีความสัมพันธ์อย่างสนิทชิดเชื้อกับนักศึกษาวิชาทหารในวิทยาลัยกองทัพบกและกองทัพเรือ รวมถึงวิทยาลัยการแพทย์และเภสัชกรรม มีการแจกจ่ายหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ส่งมาจากกรุงปารีสแก่นักศึกษาเหล่านี้ ซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าวสามารถเข้าในประเทศได้โดยผ่านระบบไปรษณียากรของต่างชาติ อันเป็นไปตามสิทธิพิเศษที่ชาวต่างชาติได้รับจากสนธิสัญญานอกอาณาเขต

 

        ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามความเคลื่อนไหวของพวกยิวอย่างใกล้ชิดจากตำรวจลับของอุษมานียะห์ การดำเนินกิจกรรมของพวกยิวก็ขยายวงกว้างวันแล้ววันเล่า จนกระทั่งสามารถดึงบรรดาชัยค์ที่เป็นผู้นำทางสายซูฟีย์บางคน กลุ่มสมาชิกของกลุ่มซูฟีย์ บรรดาเจ้าพนักงานในพระราชวังเข้าเป็นแนวร่วม เป็นต้นว่า ซุรอยยา, กาซิม, คอยรีย์ ญะอ์ฟัร อัลอะรอบีย์ และ อะรอบีย์ เบก์ ตลอดจนผู้คนทั่วไปที่คาดไม่ถึงว่าพวกเขาจะเข้าร่วมเป็นแนวร่วมกับกลุ่มองค์กรที่มีชาวยิวอยู่เบื้องหลัง เป้าหมายของกลุ่มแนวร่วมเหล่านี้คือ โค่นล้มซุลตอนอับดุลฮะมีด และสถาปนาซุลตอนที่มีความคิดก้าวหน้า และรักเสรีภาพตามคำสมอ้างขึ้นมาแทนที่ซุลตอนอับดุลฮะมีด ซึ่งถูกปรามาสว่ามีความคิดเผด็จการ และอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ที่ความคิดเช่นนี้เป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาและนายทหารในกองทัพของอุษมานียะห์ (อัซรอร อัลอังกิลาบ อัลอุษมานียะห์ หน้า 100, 101)

 

        พวกยิวสามารถสร้างบรรยากาศเป็นพิษห้อมล้อมซุลตอนอับดุลฮะมีด และด้วยการร่วมมือกับสำนักข่าวของอังกฤษ พวกยิวก็สามารถยุยงปลุกปั่นพวกอาชญากร พวกก่อวินาศกรรม ซึ่งมีทั้งพวกบัลกาเรียน อาหรับ กรีซ และแอลบาเนียน ในการก่อโศกนาฏกรรมในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นอันมากในราชธานีของจักรวรรดิ กองทหารรักษาพระองค์ตอชกิชละห์ถูกสังหาร พระตำหนักยัลดัซถูกบุกรุกอย่างอุกอาจจากพวกบัลกาเรียน ด้วยการรู้เห็นเป็นใจของอันวาร ปาชา และกระทำการเบื้องหน้าซุลตอนอย่างไม่กลัวเกรงอาญาแผ่นดิน หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน คณะเสนาธิการทหารได้ประชุมร่วมกับสมาชิกสภาองคมนตรีซึ่งตั้งขึ้นโดยสภาผู้แทนจากมณฑล และมีมติให้ถอดซุลตอลอับดุลฮะมีดออกจากพระราชอำนาจหลังจากที่ได้มีคำวินิจฉัยจากสำนักมุฟตีรับรองมติดังกล่าว

 

        ในวันอังคารที่ 27 เมษายน ค.ศ.1901 สภาผู้ทรงคุณวุฒิได้เปิดประชุมร่วมและมีมติเห็นพ้องในการถอดซุลตอนอับดุลฮะมีดออกจากพระราชอำนาจ และเพื่อย้ำให้เห็นถึงบทบาทของชาวยิวในการนี้ คณะผู้แทนที่เข้าเฝ้าซุลตอนเพื่อแจ้งมติถอดถอนออกจากพระราชอำนาจมี นายเอ็มมานูเอล ครุซโซ ผู้แทนชาวยิวในซาลานีกเข้าร่วมในคณะด้วย ชาวยิวผู้นี้คือศัตรูหมายเลขหนึ่งของอิสลาม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนการต่างๆ ที่หมายทำลายระบอบการปกครองอิสลามแบบค่อลีฟะห์ คณะผู้แทนชุดนี้ยังมีอาริฟ ฮิกมัต ปาชา และอัสอัดตูบตอนีย์ ชาวแอลบาเนีย ตลอดจน อารอม อะฟันดีย์ ชาวอาร์เมเนีย เข้าร่วมในคณะอีกด้วยเช่นกัน คณะผู้แทนได้เข้าเฝ้าซุลตอนและพบว่าพระองค์ทรงยืนอยู่บนพระบาทอย่างมั่นคง และมีสติที่หนักแน่น

 

        เมื่ออาริฟ ฮิกมัต ปาชา ได้อ่านคำวินิจฉัยของท่านชัยคุลอิสลาม ฎิยาอุดดีน อะฟันดีย์ ให้ทรงรับทราบเสร็จสิ้น พระองค์ก็ทรงตอบเยี่ยงผู้ศรัทธาที่มีความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าว่า ดังกล่าวนั้น คือการลิขิตของพระองค์ผู้ทรงเกียรติและปรีชาญาณ” ขณะนั้นเอง อัสอัด ตูบตอนีย์ ชาวแอลบาเนียก็ก้าวออกมาเบื้องหน้าพร้อมกล่าวขึ้นว่า “ประชาชาติได้ถอดพระองค์ออกจากพระราชอำนาจแล้ว” เมื่อทรงได้ยินคำพูดเช่นนี้ ซุลตอน อับดุลฮะมีดก็กริ้วและดำรัสว่า “ถ้าท่านมุ่งหมายจริงๆ ว่าประชาชาติได้ถอดฉันออกจากตำแหน่งแล้ว นั่นคงไม่เป็นไร แต่ทว่าด้วยเพราะเหตุอันใดพวกท่านจึงได้นำยิวครุซโซผู้นี้เข้ามายังสถานที่แห่งค่อลีฟะห์ด้วย” (อัซรอร อัลอิงกิลาบ อัลอุษมานียะห์ หน้า 100,101)

 

        ภายหลังการรัฐประหารโค่นล้ม ซึ่งชาวยิวมีบทบาทอย่างใหญ่หลวง พวกยิวก็หายใจหายคอได้คล่องขึ้น พวกมาโซนีย์ก็บรรลุผลสมประสงค์ แผนการถอดซุลตอนอับดุลฮะมีดก็ประสบความสำเร็จ มุฮำหมัดที่ 5 ก็ถูกสถาปนาขึ้นเป็นซุลตอนที่มีฐานะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น (อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้า 86)

มุฮำหมัดที่ 5
มุฮำหมัดที่ 5

        ดังนั้นการปกครองในระบอบค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์ก็ได้ล่มสลายด้วยการถอดซุลตอนอับดุลฮะมีดที่ 2 ออกจากราชบัลลังก์ และระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการถอดซุลตอนกับการประกาศสิ้นสุดระบอบการปกครองแบบค่อลีฟะห์นั้นเป็นเพียงช่วงเวลาที่ทำให้แผนการของยิวไซออนิสต์มีความสมบูรณ์สำหรับการทำลายล้างระบอบค่อลีฟะห์อันเป็นที่มั่นสุดท้ายที่สำคัญของโลกอิสลามเท่านั้น