อัต-ตีญานียฺกล่าวหาบรรดาเศาะหาบะฮฺว่าแข่งขันแย่งชิงกันในเรื่องทางโลก สะสมสมบัติพัสถาน และรบราฆ่าฟันเพื่อเรื่องนั้น

debateattiyaniassamawi32

ในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 124 อัต-ตีญานียฺเขียนถึงหะดีษที่ว่าด้วยการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อดุนยา โดยอ้างหะดีษที่ว่า : “แท้จริงฉันนำหน้าพวกท่านไปก่อนแล้ว และฉันคือสักขีพยานต่อพวกท่าน และแท้จริงขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าฉันกำลังมองดูยังสระน้ำของฉันในขณะนี้ และแน่แท้ฉันได้ถูกประทานกุญแจแห่งคลังของโลก (หรือบรรดากุญแจของแผ่นดินโลก) ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าแท้จริงฉันไม่ได้กลัวว่าพวกท่านจะตั้งภาคีหลังจากฉัน แต่ทว่าที่ฉันกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับพวกท่านคือการที่พวกท่านจะแข่งขันกันในเรื่องของกุญแจแห่งแผ่นดินโลกนั้น”

 

อัต-ตีญานียฺอ้างจากเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺ 4/100 , 101 แล้วเขียนอธิบายว่า : “ท่านรสูลุลอลฮฺพูดจริงแล้ว แน่แท้พวกเขาได้แข่งขันแย่งชิงกันในทางโลกจนกระทั่งดาบของพวกเขาถูกชักออกมา และรบพุ่งกัน กล่าวหาเรื่องการปฏิเสธซึ่งกันและกัน แน่แท้เศาะหาบะฮฺที่โด่งดังบางคนได้สะสมทองคำและเงินในขณะที่มุสลิมบางคนตายลงในสภาพที่หิวโหย…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 124)

 

 

วิภาษ

หะดีษบทนี้เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาหลักฐานของความเป็นนบี (ดะลาอิลุนนุบูวะฮฺ) ที่บอกถึงเรื่องราวในอนาคตของประชาคมมุสลิมว่า ต่อไปในเบื้องหน้าประชาคมมุสลิมจะครอบครองคลังแห่งแผ่นดินโลก และจะมีการแข่งขันกันในเรื่องทางโลก ซึ่งเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้วตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บอก แต่ในขณะที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บอกเล่าเรื่องนี้ บรรดาเศาะหาบะฮฺยังไม่ได้ครอบครองบรรดาคลังแห่งแผ่นดินโลกแต่อย่างใด

 

นัยของหะดีษจึงเป็นการเตือนให้เหล่าเศาะหาบะฮฺและประชาคมมุสลิมในภายหลังระวังจากการหลงโลกและการแข่งขันการทางโลก และโดยข้อเท็จจริงเศาะหาบะฮฺทั้งหมดก็ไม่ได้ครอบครองบรรดาคลังแห่งแผ่นดินโลก และเศาะหาบะฮฺบางส่วนที่มีทรัพย์สินทางโลกก็มิได้แย่งชิงทรัพย์สินนั้นมาโดยมิชอบ หรือสะสมทรัพย์สินเพื่อแสวงหาความสุขทางโลกหรือเบียดเบียนในระหว่างกัน การเป็นผู้มีทรัพย์ มีความร่ำรวยเป็นความโปรดปรานที่พระองค์อัลลออฺทรงประทานให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และการมีความร่ำรวยก็มิใช่สิ่งที่ถูกประณามในหลักคำสอนของอิสลามตราบใดที่ผู้มีความร่ำรวยได้ใช้ทรัพย์สินนั้นไปในหนทางของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวและไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนราวกับว่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นโจรปล้นสะดม ใช้ดาบและศัสตราวุธเข่นฆ่ากันเองเพื่อแย่งชิงทรัพย์สินเงินทองในระหว่างกัน ทั้งๆ ที่การรบพุ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างเศาะหาบะฮฺด้วยกันเป็นผลมาจากความวุ่นวายภายหลังการที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ถูกลอบสังหาร และนำไปสู่การมีทัศนะที่ต่างกันในการดำเนินการเอาผิดกับเหล่าผู้ลงมือสังหารท่านเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เศาะหาบะฮฺที่รบพุ่งในสมรภูมิแห่งการพิพาทกันในเรื่องนี้ไม่ได้ประหัตประหารกันเพื่อแย่งชิงทรัพย์สินจากอีกฝ่ายแต่อย่างใด

 

 

หากคลังแห่งแผ่นดินโลกในตัวบทอัล-หะดีษจะหมายถึงทรัพย์สมบัติที่อาณาจักรโรมันไบเซนไทน์และอาณาจักรเปอร์เซียสะสมไว้ในแคว้นชามและอีรัก ทรัพย์สมบัติที่เป็นสินสงคราม (เฆาะนีมะฮฺ) ซึ่งบรรดาเศาะหาบะฮฺได้รับแบ่งส่วนก็ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เศาะหาบะฮฺซึ่งออกศึกในการญิฮาดสมควรจะได้รับตามศาสนบัญญัติ

 

 

และทรัพย์สินเหล่านั้นก็มิได้มาด้วยการประหัตประหารของเหล่าเศาะหาบะฮฺด้วยกันนับตั้งแต่สมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) อุมัร (ร.ฎ.) และท่านอุษมาน (ร.ฎ.) แต่เป็นสินสงครามที่ได้มาจากการพิชิตดินแดนที่เคยอยู่ใต้อาณัติของ 2 อาณาจักรซึ่งเป็นชาวคัมภีร์ และพวกมะญูสียฺ รวมถึงภาษีญิซยะฮฺและภาษีเคาะรอจญ์ โปรดอย่าลืมว่าสงครามระหว่างเศาะหาบะฮฺด้วยกันเกิดขึ้นในสมัยของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) หลังการลอบสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.)

 

 

อัต-ตีญานียฺอ้างหะดีษบทนี้โดยเข้าใจเอาเองว่าหะดีษนี้เป็นหลักฐานที่ปรักปรำบรรดาเศาะหาบะฮฺว่าหลงโลกและแก่งแย่งทรัพย์สมบัติในระหว่างกัน อัต-ตีญานียฺไม่รู้ตัวว่าการนำหะดีษบทนี้มาอ้างเป็นการหักล้างสิ่งที่ตนกล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ตกมุรตัด ทั้งๆ ที่หะดีษบทนี้ระบุชัดเจนว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้กลัวว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านจะตั้งภาคีหรือตกศาสนา แต่สิ่งที่ท่านกลัวและปรามเอาไว้คือเรื่องการแข่งขันกันในเรื่องทางโลก และความกลัวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าจะเกิดเรื่องหนึ่งในภายภาคหน้า ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นจริงกับชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับประชาคมรุ่นหลังในยุคสุดท้ายอย่างที่เรารู้ๆ กัน แ

 

 

ละเราชาวสุนนะฮฺ วัล- ญะมาอะฮฺก็ยืนยันได้ว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺห่างไกลจากการตั้งภาคีและการตกศาสนา และห่างไกลจากการสู้รบแก่งแย่งกันในเรื่องของทรัพย์สิน ความกลัวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงกับคนรุ่นหลังเศาะหาบะฮฺ แต่ถ้าอัต-ตีญานียฺจะยืนกรานเอาให้ได้ว่า การแก่งแย่งชิงดีในระหว่างกันเกิดขึ้นในสมัยเศาะหาบะฮฺโดยเฉพาะกรณีการสู้รบในระหว่างกัน พวกเคาะวาริจญ์และพวกนะวาศิบก็ย่อมอ้างได้ว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) สู้รบกับท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านอัซ-ซุบัยรฺ  (ร.ฎ) ตลอดจนท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) โดยมีเป้าหมายเรื่องทางโลกและอำนาจการปกครอง อัต-ตีญานียฺจะว่าอย่างไรในกรณีนี้

 

 

ในเมื่อสำนวนของหะดีษระบุครอบคลุมและมีนัยรวมถึงสองฝ่ายที่สู้รบกัน หากอัต-ตีญานียฺอ้างว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) มิได้สู้รบเพื่อสิ่งที่ว่ามา เราก็ย่อมกล่าวได้เช่นกันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺก็มิได้สู้รบเพื่อสิ่งที่ว่ามาเช่นกัน โดยเฉพาะเศาะหาบะฮฺส่วนมากที่เข้าร่วมกับฝ่ายของท่านอะลี (ร.ฎ.) และโดยข้อเท็จจริงยังมีเศาะหาบะฮฺอีกจำนวนมากและเป็นส่วนใหญ่อีกด้วยที่ไม่เข้าร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลยด้วยซ้ำในสงครามที่เกิดขึ้น! แล้วเหตุใดอัต-ตีญานียฺจึงเขียนราวกับว่าเศาะหาบะฮฺทั้งหมดเข้าร่วมสงครามในสมัยท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺโดยมุ่งหวังการแย่งชิงทรัพย์สินจากบรรดาเศาะหาบะฮฺด้วยกัน

 

 

หากอัต-ตีญานียฺจะเขียนอธิบายหะดีษที่หยิบยกมาตามคำอธิบายของนักวิชาการสองฝ่ายโดยไม่ต้องผูกเรื่องกับการรบราฆ่าฟันอย่างที่ตนมุ่งหมายจะยัดเยียดข้อหาแก่บรรดาเศาะหาบะฮฺก็พอจะฟังขึ้นอยู่บ้าง แต่ด้วยอคติและการไม่รอบคอบว่าสิ่งที่ตนเขียนจะเป็นที่ลากท่านอะลี (ร.ฎ.) เข้ามาด้วย อัต-ตีญานียฺจึงพลาดไปในประเด็นนี้ มิหนำซ้ำการนำหะดีษบทนี้มาประกอบการเขียนก็กลายเป็นสิ่งที่หักล้างคำกล่าวหาว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺตกศาสนาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อีกด้วย เพราะอัล-หะดีษบทนี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้กลัวว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺสูญเสียความเป็นผู้ศรัทธาของเหล่าเศาะหาบะฮฺด้วยการตั้งภาคีและการตกศาสนาแต่อย่างใด?

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “แน่แท้ปรากฏว่าบางคนของเหล่าเศาะหาบะฮฺที่มีความโด่งดังนั้นได้สั่งสมทองคำและเงินในขณะที่มีมุสลิมบางส่วนตายลงในสภาพที่หิวโหย” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 124) คนจนที่ขัดสนทั้งมุสลิม และไม่ใช่มุสลิมนั้นมีอยู่ในทุกสังคม และมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัยทั้งก่อนสมัยของเศาะหาบะฮฺ และร่วมสมัยเศาะหาบะฮฺรวมถึงยุคหลังเศาะหาบะฮฺ และอาจกล่าวได้ว่าคนจนที่ตายลงในสภาพที่หิวโหยนั้นมีอยู่ทุกวัน แม้กระทั่งในยุคของอัต-ตีญานียฺเอง หรือแม้กระทั่งในสมัยที่พวกชีอะฮฺมีอำนาจในด้านการปกครอง แต่ในยุคของเศาะหาบะฮฺนั้นมุสลิมบางส่วนที่ตายลงในสภาพที่หิวโหยนั้นมีใครบ้าง มีกลุ่มชนหรือคนในเผ่าใดบ้างเล่า? อัต-ตีญานียฺน่าจะอ้างข้อมูลส่วนนี้มาประกอบด้วย เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ แต่อัต-ตีญานียฺก็ได้แต่เขียนเพื่อดึงอารมณ์คนอ่านหนงสือของตนเท่านั้น โดยไม่มีหลักฐานประกอบ

 

 

เศาะหาบะฮฺคนใดเล่าที่ร่ำรวยเงินทองแต่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่แบ่งปันชาวมุสลิมที่ยากจนและปล่อยให้มุสลิมต้องล้มตายในสภาพที่หิวโหย อัต-ตีญานียฺน่าจะระบุชื่อมาให้ชัดเจนว่า เศาะหาบะฮฺคนนั้นคือใคร? เอาเพียงคนเดียวก็พอ! เชื่อได้เลยว่า อัต-ตีญานียฺไม่มีคำตอบในเรื่องนี้หรอก เพราะเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ย่อมไม่มีพฤติกรรมเช่นนั้น และถ้าหากเศาะหาบะฮฺบางท่านจะมีความร่ำรวย มีทรัพย์สินมากมายนั้นก็เป็นความโปรดปรานที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่ผู้นั้น และเศาะหาบะฮฺที่ร่ำรวยและรู้คุณ (อัล-เฆาะนียฺ อัช-ชากิร) ก็ถือเป็นผู้ประเสริฐเช่นเดียวกับเศาะหาบะฮฺที่ยากจนและมีความอดทน (อัล-ฟะกีรฺ อัศ-ศอบิรฺ) ก็ถือเป็นผู้ประเสริฐ

 

 

และผู้ที่ร่ำรวยจากเหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งใช้ทรัพย์สินของตนไปในวิถีทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยการบริจาคซะกาตและทานเศาะดะเกาะฮฺตลอดจนอุทิศทรัพย์สินไปในวิถีทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และสละทรัพย์สินในการเตรียมกองทัพเพื่อการญิฮาดก็มีจำนวนมิใช่น้อย เหตุใดอัต-ตีญานียฺจึงไม่เขียนถึงบุคคลเหล่านั้น! อัต-ตีญานียฺอ้างข้อมูลทรัพย์สินของเศาะหาบะฮฺบางท่าน เช่น อัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.)  อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) และอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) รวมถึงซัยคฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) จากตำรามุรูญุซซะฮับ ของอัล-มัสอูดียฺ (ดู ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 124-125) แต่กลับไม่เขียนถึงการเสียสละและบริจาคทรัพย?สินของเศาะหาบะฮฺเหล่านี้ในวิถีทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แม้แต่น้อย นี่หรือความเป็นกลางที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง!

 

 

ใครเล่า! ที่บริจาคทรัพย์สิน 1,000 ดีนารฺในขณะที่มีการเตรียมทัพในช่วงเวลาที่ยากลำบาก (สมรภูมิตะบู๊ก) และผู้ใดเล่า? ที่ขุดบ่อน้ำรูมะฮฺโดยจ่ายทรัพย์สินเป็นจำนวน 35,000 ดิรฺฮัม ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) มิใช่หรือ? (มัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด : 4715 , อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ : 2/29 , กันซุลอุมมาล : 36183) และในบางรายงานระบุว่า ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) บริจาคทรัพย์สินของท่านในการเตรียมทัพสู่ตะบู๊กเป็นทองจำนวน 700 อูกียะฮฺ (ตารีคดิมัชก์ 39/69) อูฐ 750 ตัว ม้าศึก 50 ตัว (อ้างแล้ว 39/70)

 

 

อัต-ตีญานียฺอ้างข้อมูลจากตารีคของอัล-มัสอูดียฺว่า ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ในวันที่ท่านเสียชีวิตได้ละทิ้งทรัพย์สินเป็นจำนวน 150,000 ดีนารฺ นอกเหนือจากปศุสัตว์ ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่อาจคำนวนได้ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ : 125)

 

 

แต่ที่อัต-ตีญานียฺได้รายงานระบุว่ามีจำนวนถึง 31,500,000 ดิรฮัม และ 200,000 ดีนารฺ มากกว่าที่อัล-มัสอูดียฺระบุไว้หลายเท่าแต่ทรัพย์สินทั้งหมดถูกปล้นสะดมและสูญหายด้วยน้ำมือของพวกก่อการกบถและสังหารท่าน และทิ้งอูฐเอาไว้ 1,000 ตัวที่ตำบลอัร-เราะบะซะฮฺ ตลอดจนทรัพย์สินที่ท่านบริจาคไว้ที่บ่อน้ำอะรีส, คอยบัรฺ และวาดียฺ อัล-กุรอ ที่นั่นมีทรัพย์สินอยู่จำนวน 200,000 ดีนารฺ (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ : 7/237) ทรัพย์สินที่เหลือจริงๆ จึงเป็นทรัพย์สินที่ท่านอุทิศเป็นสาธารณประโยชน์ การมีทรัพย์สินมากมายของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) จึงไม่ใช่เป็นประเด็นที่จะนำมากล่าวหาท่าน เพราะการมีทรัพย์สินของท่านถูกใช้ไปในเรื่องที่ถูกต้อง และเป็นการอุทิศในวิถีทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

 

 

อัต-ตีญานียฺอ้างข้อมูลจากตารีคอัล-มัสอูดียฺว่า : “ในทำนองนั้น รายได้ของฏอลหะฮฺจากอีรักเพียงแห่งเดียวมีมากถึง 1000 ดีนารฺในแต่ละวัน บ้างก็ว่ามีมากกว่านั้น” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ : 125) ทรัพย์สินของท่านฏอลหะฮฺ อิบนุ อุบัยดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) จะมีมากเพียงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะท่านคือ ฏอลหะฮฺ อัล-ฟัยยาฎ (ผู้การุณ-ใจบุญ) ที่รักในการบริจาคทานและช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ที่มีทรัพย์สินแต่รู้จักในการเสียสละและบริจาคทานย่อมเป็นผู้ประเสริฐมิใช่หรือ? และความร่ำรวยของท่านก็เกิดจากการค้าขาย ท่านไม่ได้แย่งชิงทรัพย์สินมาจากผู้อื่นแต่อย่างใด!

 

 

อัต-ตีญานียฺอ้างจากตารีคอัล-มัสอูดียฺเช่นกันว่า : ทรัพย์สินของท่านอัซ-ซุบัยรฺเพียงผู้เดียวมีมากถึง 50,000 ดีนารฺ มีม้าศึก 1,000 ตัว ทาส 1,000 คน และอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายในเมืองอัล-บัศเราะฮฺ , กูฟะฮฺ , อียิปต์ และอื่นๆ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 124)

 

 

ท่านอัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ อัล-เอาวาม (ร.ฎ.) เป็นผู้มีทรัพย์สินมากมายดังที่ระบุ แต่สิ่งที่อัล-มัสอูดียฺไม่ได้ระบุก็คือ ท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) บริจาคทานเป็นจำนวนมากมาย ในขณะเดียวกันท่านก็มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ทรัพย์สินของท่านจึงถูกนำใช้ในการชำระหนี้สินหนึ่งในสาม และถูกกันไว้ในเรื่องการอุทิศตามที่ท่านสั่งเสียไว้อีกหนึ่งในสาม ส่วนที่เหลือเป็นมรดกของทายาท (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/285) และทรัพย์สินที่ท่านรวบรวมเอาไว้ถูกนำมาใช้ในเรื่องการญิฮาดและการบริจาค และที่มาของทรัพย์สินก็มีทั้งที่ได้จากสินสงครามที่ท่านร่วมในการออกศึกและการค้าขาย ส่วนทาสจำนวน 1,000 คนนั้นทำงานในที่ดินและจ่ายภาษีเคาะรอจญ์ที่ได้ทั้งหมดให้แก่ผู้ยากไร้ (อ้างแล้ว 7/285)

 

 

อัต-ตีญานียฺไม่ได้นำข้อมูลส่วนนี้มาเขียน เพราะหากนำมาเขียนประกอบแล้วก็จะกลายเป็นสิ่งที่หักล้างข้อเขียนของตนในที่สุด ที่สำคัญเมื่อท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ได้ถูกสังหารในสมรภูมิอูฐ ทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่เหลือเป็นมรดกมิใช่ดีนารฺหรือดิรฮัม แต่เป็นที่ดินเพียง 2 แปลง แปลงหนึ่งเป็นป่ารก มีบ้าน 11 หลังที่นครมะดีนะฮฺ  2 หลังที่เมืองบัศเราะฮฺ 1 หลังที่กูฟะฮฺ และ 1 หลังที่อียิปต์ (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ 3 / หะดีษเลขที่ 2961) ส่วนสิ่งที่อัล-มัสอูดียฺระบุว่าท่านมีอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในหัวเมืองอีรักและอียิปต์นั้นเป็นการเขียนเกินจริง!

 

 

ส่วนกรณีของท่านอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) ที่อัต-ตีญานียฺอ้างจากตารีคอัล-มัสอูดียฺว่า ท่านอับดุรเราะหฺมาน (ร.ฎ.) มีม้าศึก 100 ตัว อูฐ 1,000 ตัว และแพะแกะอีก 10,000 ตัว และเศษหนึ่งส่วนสี่จากแปดส่วนของทรัพย์สินที่ท่านแบ่งให้ภรรยาของท่านหลังการเสียชีวิตมีจำนวนถึง 84,000 (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 125) กรณีการแบ่งทรัพย์สินของท่านอับดุรเราะหฺมาน (ร.ฎ.) ให้บรรดาภรรยาของท่านเป็นมรดกนี้ อ้างจากตารีคอัส-มัสอูดียฺแต่ไม่พบว่าในตำราเล่มนี้ระบุข้อมูลดังกล่าวเอาไว้แต่อย่างใด อัต-ตีญานียฺอ้างจากอัล-มัสอูดียฺทั้งๆ ที่อัล-มัสอูดียฺมิได้ระบุเอาไว้ นี่หมายความว่าอะไร? แน่นอนอัต-ตีญานียฺเติมแต่งและสอดใส้ข้อมูลนี้โดยกล่าวตู่ต่ออัล-มัสอูดียฺ ซึ่งไม่แปลกสำหรับคนอย่างอัต-ตีญานียฺที่จะกระทำเรื่องในทำนองนี้!

 

 

อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) เคยบริจาคทรัพย์สินของท่านจำนวน 4,000 ครึ่งหนึ่งจากทรัพย์สินของท่านในสมัยของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต่อมาท่านได้บริจาคอีก 40,000 และอีก 40,000 ตลอดจนมอบม้าศึกในการสงครามจำนวน 500 ตัว และอูฐอีกจำนวน 500 ตัว ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของท่านได้มาจากการค้าขาย (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/213)

 

 

ก่อนเสียชีวิตท่านอับดุรฺเราะมาน (ร.ฎ.) ท่านได้สั่งเสียให้มอบทรัพย์สินแก่ชาวสมรภูมิบัดร์ทุกคนที่ยังมีชีวิติอยู่จำนวน 400,000 ดีนารฺ ซึ่งจำนวนชาวบัดร์มีอยู่ 100 คนในขณะนั้น ทุกคนรับทรัพย์สินนั้นเอาไว้แม้กระทั่งท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และท่านอะลี (ร.ฎ.) และท่านได้ซื้อสวนแห่งหนึ่งอุทิศให้แก่บรรดาภรรยาของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นจำนวน 40,000 (ดู อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/214 , สุนัน อัต-ติรฺมิซียฺ หะดีษเลขที่ 3740 , 3750) และสั่งเสียไว้ให้แก่มารดาแห่งผู้ศรัทธาทุกท่านด้วยจำนวนทรัพย์สินมากมาย จนกระทั่งท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า “ขออัลลอฮฺทรงให้เขาได้ดื่มน้ำจากลำธารสัลสะบีล” (อัต-ติรฺมีซียฺ เลขที่ 3749)

 

 

และท่านยังได้ปลดปล่อยทาสของท่านเป็นจำนวนมาก มิหน้ำซ้ำท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็กล่าวชื่นชมท่านอับดุรเราะมาน (ร.ฎ.) ในการบริจาคทานอย่างมากมายของท่านอับดุรเราะมาน (ร.ฎ.) อีกด้วย (อัล-บิดายะฮฺ 7/214) นี่คือความร่ำรวยของเศาะหาบะฮฺผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งจากบรรดาบุคคลที่ถูกแจ้งข่าวดีถึงสวนสวรรค์และเป็นเศาะหาบะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยละหมาดตามหลังในรอกอะฮฺที่ 2 ของการละหมาดฟัจร์ในการเดินทาง (อ้างแล้วหน้าเดียวกัน)

 

 

ดูเอาเถิด อัต-ตีญานียฺ! นี่หรือบุคคลที่ร่ำรวยและสั่งสมทรัพย์สินเงินทองเพื่อโลกนี้ เหตุใดเศาะหาบะฮฺท่านนี้และท่านอื่นๆ จะต้องถูกประณามทั้งๆ ที่พวกท่านเหล่านั้นได้บริจาคทานเป็นจำนวนมหาศาล ท่านเหล่านี้มีความร่ำรวยและรู้คุณและเป็นต้นแบบสำหรับชาวมุสลิมที่ร่ำรวยในการถือเอาเป็นแบบอย่างมิใช่หรือ? แล้วคนอย่างอัต-ตีญานียฺเล่าบริจาคสิ่งใดบ้างในวิถีทางของอัลลอฮฺ!

 

 

เศาะหาบะฮฺอีกท่านหนึ่งที่อัต-ตีญานียฺอ้างจากตารีคอัล-มัสอูดียฺ คือ ท่านซัยดฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) โดยระบุว่า : “และซัยดฺ อิบนุ ษาบิต ได้ทิ้งทองคำและเงินเอาไว้โดยที่ขวานไม่ทำให้ทองคำและเงินนั้นแตกหักจนกระทั่งมือของผู้คนต้องพองเป็นตุ่มใส นอกเหนือจากทรัพย์สินและที่ดินซึ่งมีราคาถึง 100,000 ดีนารฺ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 125) สำนวนที่อัล-มัสอูดียฺระบุนี้น่าจะเป็นทองคำแท่งที่เป็นทรัพย์สินของท่านอับดุรเราะหฺมาน (ร.ฎ.) เสียมากกว่าตามที่อิบนุ กะษีร (ร.ฮ.) ระบุไว้ (ดู อัล-บิดายะฮฺ 7/214)

 

 

ท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้บันทึกวะหิยฺให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นผู้ทำหน้าที่รวบรวมอัล-กุรอานทั้งในสมัยเคาะลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) และเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ใช้ให้ท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) ทำหน้าที่เป็นกอฎียฺประจำนครมะดีนะฮฺ และกำหนดปัจจัยยังชีพให้แก่ท่าน และท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ได้แบ่งสวนอินทผลัมให้เป็นกรรมสิทธิ์ของท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) (ดู สิยัรฺ อัล-อะอฺลาม ; อัซ-ซะฮะบียฺ 4/78 , 79) ท่านไม่ได้มีทรัพย์สินมากมายเหมือนเศาะหาบะฮฺท่านอื่นที่ออกชื่อมา และอัต-ตีญานียฺก็ไม่ได้ฉุกคิดว่า ที่ดินคือทรัพย์สินของท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) มิใช่ทองคำและเงิน แต่เป็นสวนอินทผลัมซึ่งตีค่าได้ 100,000 ดีนารฺตามที่อัล-มัสอูดียฺระบุไว้

 

 

และการที่ท่านมีที่ดินเป็นสวนอินทผลัมเป็นจำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะท่านเป็นชาวอันศอรฺที่ส่วนใหญ่ก็มีสวนอินทผลัมในนครมะดีนะฮฺกันเป็นจำนวนมากโดยปกติอยู่แล้ว ท่านไม่ได้แย่งชิงหรือโกงสวนอินทผลัมของผู้อื่นมาครอบครองแต่อย่างใด!

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนทิ้งท้ายเรื่องนี้เอาไว้อย่างมีอคติว่า : นี่เป็นตัวอย่างพื้นๆ เพียงบางส่วน และในประวัติศาสตร์มีประจักษ์พยานยืนยันมากมายที่เราไม่ต้องการเข้าไปเจาะลึกในขณะนี้เราเพียงพอแค่นี้เพื่อบ่งถึงความสัจจริงของหะดีษ และบ่งชี้ว่าเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นมีดุนยาเป็นเครื่องประดับในดวงตาของพวกเขา และความเพริศแพร้วของดุนยาได้ทำให้พวกเขาลุ่มหลง แล้วพวกเขาสั่งสมทรัพย์สินเป็นกองพะเนินด้วยการแย่งชิงทรัพย์สินนั้นจากบรรดามุสลิมที่อ่อนแอ (ษุมมะตะดัยตุ้ หน้า 125)

 

 

นี่คือความอคติและการกล่าวหาที่หยาบคายของอัต-ตีญานียฺที่มีต่อเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประโยคที่อัต-ตีญานียฺเขียนสรุปเอาเองนี้เป็นการก้าวล่วงสู่จิตใจของบรรดาเศาะหาบะฮฺโดยมโนภาพเอาเองว่า เศาะหาบะฮฺเป็นอย่างที่ตนคิด ทั้งๆ ที่อัล-มัสอูดียฺไม่ได้ระบุเลยแม้แต่น้อยว่าเศาะหาบะฮฺที่ออกชื่อไว้ได้คดโกง เอาเปรียบมุสลิมที่ยากจนและอ่อนแอ ยื้อแย่งทรัพย์สินนั้นมาจากผู้ขัดสน อัล-มัสอูดียฺเพียงแต่รายงานให้ทราบถึงสถานะความร่ำรวยและทรัพย์สินของเหล่าเศาะหาบะฮฺไว้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนในหมู่เศาะหาบะฮฺมีทั้งผู้ร่ำรวยและผู้ยากจน

 

 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เศาะหาบะฮฺที่ร่ำรวยต้องตกเป็นจำเลยอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหาหรือมีพฤติกรรมเลวๆ อย่างที่เขียน อัต-ตีญานียฺอ้างข้อมูลเรื่องทรัพย์สินของเศาะหาบะฮฺเพียงอย่างเดียว แต่กลับไม่เขียนถึงกรณีที่เศาะหาบะฮฺใช้ทรัพย์สินเหล่านั้นไปในเรื่องใด

 

 

ดูอย่างกรณีของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) นั่นปะไร? อัล-มัสอูดียฺระบุว่า “และปรากฏว่าอุษมานนั้นมีความการุณ ใจบุญสุนทานเป็นที่สุด มีความเสียสละในทั้งคนใกล้และคนไกล บรรดาเจ้าพนักงานและผู้คนในสมัยของอุษมานต่างก็ดำเนินตามวิถีของอุษมานและถือเอาการกระทำของเขาเป็นแบบอย่าง” (มุรูญุซซะฮับ ; อัล-มัสอูดียฺ 2/332 สำนักพิมพ์ดารุล อันดุลุส เบรุต) ทำไมอัต-ตีญานียฺไม่อ้างสิ่งที่อัล-มัสอูดียฺระบุเอาไว้นี้ด้วยเล่า? นี่ขนาดที่บอกว่ายังไม่อยากจะเข้าสู่การค้นคว้าเจาะลึกในเรื่องนี้ตามคำอ้าง แล้วถ้ายกตัวอย่างอื่นๆ มาเพิ่มเติม เรื่องราวจะเปิดเผยความเท็จและความมีอคติของอัต-ตีญานียฺอีกพะเรอเกวียนขนาดไหน!

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่าตนได้มีสัญญากับพระผู้อภิบาลว่าตนจะสลัดความรู้สึกทั้งหมดเพื่อเป็นกลางและอยู่ในเนื้อหา และตนจะรับฟังคำพูดจากทั้งสองฝ่ายแล้วก็จะตามคำพูดที่ดีที่สุด (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 92) แต่แล้วอัต-ตีญานียฺก็บิดพลิ้วต่อคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าตนจะเป็นกลาง สลัดความคิดที่ปักธงเอาไว้ก่อนแล้วด้วยความบริสุทธิ์ใจ (อ้างแล้ว หน้า 93) แล้วเหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงไม่อ้างตำราประวัติศาสตร์ของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺมาประกอบด้วยเล่า แต่ในเรื่องนี้อัต-ตีญานียฺเลือกตำรามุรูญุซซะฮับของอะล-มัสอูดียฺมาอ้างอิงแต่ฝ่ายเดียว มาตรฐานของอัต-ตีญานียฺไปอยู่เสียที่ไหน? อัล-มัสอูดียฺเป็นใครเล่า?

 

 

ในตำราอัล-กุนา วัล-อัล  ก็อบของอับบาสียฺ อัล-กุมมียฺ เล่มที่ 3 หน้า 185 สำนักพิมพ์อัศ-ศอดร์ (อิหร่าน) ระบุว่า : อบุลหะสัน อะลี อิบนุ อัล-หุสัยนฺ อิบนิ อะลี อัล-มัสอูดียฺ อัล-ฮุซะลียฺ ชัยคฺของบรรดานักประวัติศาสตร์และเสาหลักของพวกเขา ผลงานทางวิชาการของเขาคือตำราอัล-อิมามะฮฺและอื่นๆ เช่น ตำราว่าด้วยการยืนยันความเป็นผู้สืบทอด (วะศียฺ) ของอะลี อิบนุ อบีฏอลิบและเป็นเจ้าของตำรามุรูญุซซะฮับ…

 

 

อัล-ลามะฮฺ อัล-มัจญ์ลิสียฺกล่าวไว้ในคำนำอัล-บิหารฺว่า อัล-มัสอูดียฺนั้น อัน-นะญาชียฺนับไว้ในฟิฮฺริสต์ของเขาว่าเป็นผู้หนึ่งจากนักรายงานของชีอะฮฺ” และท่านอิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้ในลิสานุลมีซานว่า : “ตำราของบุคคลนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เสียหาย เขาเป็นชีอะฮฺ มุอฺตะซิลียฺ” และท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวถึงตารีคของอัล-มัสอูดียฺว่ามีเรื่องโกหกมากมายที่ไม่มีผู้ใดสามารถนับจำนวนได้นอกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)…” (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 4/84 , 85)  อัล-มัสอูดียฺมิใช่ชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺแต่เป็นพวกชีอะฮฺที่นิยมแนวทางของพวกมุอฺตะซิละฮฺ (ลิสานุลมีซาน 5/532) และตารีคของอัล-มัสอูดียฺที่ชื่อว่า มุรูญุซซะฮับเป็นตำราที่ไม่มีสายรายงาน (หุกบะฮฺ มินัตตารีค ; อุษมาน อิบนุ มุฮัมมัด อัล-เคาะมีส หน้า 17)

 

 

เมื่ออัล-มัสอูดียฺเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวชีอะฮฺก็ย่อมไม่แปลกที่อัต-ตีญานียฺจะอ้างอิงข้อมูลจากตารีคของอัล-มัสอูดียฺ และนี่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าอัต-ตีญานียฺมิได้มีใจเป็นกลาง ไม่รักษามาตรฐานที่ตนตั้งคำสัญญาไว้ มิหนำซ้ำ อัต-ตีญานียฺยังได้เขียนข้อมูลที่อัล-มัสอูดียฺไม่ได้ระบุไว้ ส่วนที่อัล-มัสอูดียฺระบุไว้อัต-ตีญานียฺก็ละไว้ไม่เขียนถึงเสียอีก ท่านผู้อ่านก็ลองตรึกตรองดูเอาเถิดว่าคนเช่นนี้น่าจะได้รับทางนำหรือหลงผิดอย่างสุดกู่กันแน่ วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก วัลฮิดายะฮฺ

 

 

 

(สรุป) เนื้อหาในหมวดที่สอง เรื่องทัศนะของท่านรสูลุลลอฮฺในหมู่เศาะหาบะฮฺ ตั้งแต่หน้า 119-125 จากษุมมะฮฺตะดัยตุ้ อัต-ตีญานียฺอ้างหะดีษเป็นหัวข้อเรื่อง 4 หะดีษหลัก ประกอบด้วย

  1. หะดีษสระน้ำ (อัลเหาวฺฎ์)
  2. 2. หะดีษการตามรอยพวกยะฮูดและนะศอรอ
  3. 3. หะดีษผู้ใกล้ชิด 2 กลุ่ม (อัล-บิฏอนะตัยนฺ)
  4. 4. หะดีษการแข่งขันเรื่องทางโลก

 

 

หะดีษที่เป็นหัวข้อเรื่องทั้ง 4 มีนัยครอบคลุมประชาคมมุสลิมโดยรวมทั้งชนรุ่นเศาะหาบะฮฺและชนรุ่นหลัง แต่อัต-ตีญานียฺมุ่งหมายเจาะจงเฉพาะชนรุ่นเศาะหาบะฮฺเท่านั้น โดยอาศัยทัศนะและความเข้าใจของตนเองในการอธิบายหะดีษเหล่านั้น อัต-ตีญานียฺไม่ได้อาศัยทัศนะของนักวิชาการจากฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺประกอบการเขียนอธิบายเนื้อหาและนัยของหะดีษดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่เป็นการนำเอาหะดีษที่ตนเข้าใจว่ามีเนื้อหาประณามและตำหนิเศาะหาบะฮฺมาตั้งเป็นหัวข้อเรื่องและเขียนอธิบายโยงเรื่องว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺมีพฤติกรรมหรือมีลักษณะที่สอดคล้องกับตัวบทของหะดีษ ทั้งๆ ที่เนื้อหาและนัยของหะดีษไม่ได้มุ่งหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺอย่างที่อัต-ตีญานียฺคิดมโนภาพและเขียนผูกเรื่องเอาเอง

 

 

ในหัวข้อเรื่องหะดีษสระน้ำ อัต-ตีญานียฺอ้างหะดีษ 2 บทเท่านั้น แต่ไม่นำหะดีษบทอื่นๆ ในเรื่องเดียวกันมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่า กลุ่มชนที่ถูกกันออกจากสระน้ำของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในวันกิยามะฮฺคือผู้ใด? เป็นชนกลุ่มใดกันแน่! โปรดสังเกตว่า หมวดที่สอง ว่าด้วยทัศนะของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในหมู่เศาะหาบะฮฺ เป็นส่วนหนึ่งจากบทที่ว่าด้วย “เริ่มศึกษาเชิงลึก (บิดายะฮฺ อัด-ดิรอสะฮฺ อัล-มุอัมมิเกาะฮฺ) เศาะหาบะฮฺ ณ กลุ่มชีอะฮฺและสุนนะฮฺ” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 89)

 

 

แต่พอเอาเข้าจริงเป็นการเขียนที่ขาดการวิเคราะห์เชิงลึก ไม่มีการวิเคราะห์สำนวนของตัวบทหะดีษในแต่ละสายรายงานเพื่อหาข้อสรุปในเชิงวิชาการตลอดจนไม่มีการอ้างอิงทัศนะและมุมมองของปราชญ์ผู้ชำนาญการจากฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺ คงมีแต่ทัศนะของอัต-ตีญานียฺเพียงฝ่ายเดียวที่เขียนอธิบายนัยของหะดีษที่ถูกนำมาอ้างภายใต้หัวข้อเรื่องนี้ และที่สำคัญในการอธิบายคำว่า “อัศหาบียฺ” ในหะดีษบทที่สอง อัต-ตีญานียฺอธิบายขัดแย้งกับทฤษฎีการแบ่งประเภทเศาะหาบะฮฺของตนอย่างชัดเจนโดยย้ำว่า พวกกลับกลอกมิได้เป็นประเภทของเศาะหาบะฮฺ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 120 )

 

 

หะดีษการตามพวกยะฮูดและนะศอรอ (อ้างแล้ว หน้า 120-123) อัต-ตีญานียฺสาธยายถึงแนวทางของพวกยะฮูดและนะศอรอ แต่ก็ไม่สามารถชี้ชัดว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺถือตามพวกยะฮูดและนะศอรออย่างไร? จึงต้องวกกลับไปเขียนเรื่องเดิมที่เราวิภาษมาแล้วคือเรื่องวันพฤหัสฯ อับโชค เรื่องกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) พร้อมกับลากเรื่องสะกีฟะฮฺ บะนี สะอิดะฮฺในการคัดเลือกเคาะลีฟะฮฺเข้ามาพ่วง ซึ่งขาดความชัดเจนว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺถือตามพวกยะฮูดและนะศอรอในเรื่องการเลือกเคาะลีฟะฮฺอย่างไร?

 

 

เมื่อข้อมูลไม่เพียงพอเนื้อหาจำนวนเกือบ 2 หน้าภายใต้หัวข้อเรื่องนี้จึงเป็นการคัดลอกข้อเขียนของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺในอัล-มุรอญิอาตมาใส่เอาไว้ ซึ่งเป็นการเทียบกรณีของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) กับกรณีของท่านอะลี (ร.ฎ.) โดยไม่มีการชี้ชัดว่า เรื่องที่ชะเราะฟุดดีนเขียนการตามพวกยะฮูดและนะศอรอเกี่ยวข้องกับเหล่าเศาะหาบะฮฺอย่างไร? หากจะอ้างว่าเพราะฝ่าฝืนและขัดคำสั่งเหมือนกันระหว่างพวกยะฮูดและนะศอรอกับเหล่าเศาะหาบะฮฺ ก็ไม่ใช่อีกเพราะเศาะหาบะฮฺมิได้ขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการอาสาออกศึกร่วมในกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ดังที่เราได้วิภาษมาแล้ว

 

 

หะดีษเรื่องคนใกล้ชิด (อัล-บิฏอนะฮฺ) นั่นก็มีนัยกว้างๆ มิได้มุ่งหมายเฉพาะเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนอธิบายเรื่องนี้ด้วยการอ้างหะดีษกับกลุ่มชนกุรอยชฺที่มาหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วถามความเห็นของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) โดยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีสีหน้าเปลี่ยนไป หะดีษนี้ก็ไม่ได้มีสำนวนที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่พอใจหรือโกรธบุคคลทั้งสอง ส่วนสำนวนของหะดีษที่ชะเราะฟุดดีนรายงานไว้ในอัล-มุรอญิอาตก็เป็นสำนวนที่ชะเราะฟุดดีนแต่งเติมและเพิ่มเข้ามาซึ่งขัดกับตัวบทในมุสนัดของอิมามอะหฺมัดและตารีคบัฆดาด

 

 

ยิ่งหะดีษเรื่องการแบ่งทรัพย์ซะกาตที่ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้รายงานและอิมามอะหฺมัดกับอิมามมุสลิมบันทึกไว้ อัต-ตีญานียฺเปลี่ยนสำนวนของตัวบท และสรุปว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้ใกล้ชิดที่เลวและเป็นผู้หนึ่งที่ขอทานซะกาตจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยความหยาบคายพร้อมทั้งใช้ให้มีความตระหนี่ การเขียนโยงเรื่องนี้ว่าท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) มีพฤติกรรมมเช่นนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของอัต-ตีญานียฺเอง และเป็นการจงใจยัดเยียดข้อกล่าวหาต่อท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ด้วยความมีอคติอย่างชัดเจนและเป็นการปักใจเชื่อไว้ก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้อัต-ตีญานียฺเขียนว่า :

 

 

“และข้าพเจ้าจะไม่ยึดคนหนึ่งคนใดจากเศาะหาบะฮฺมาเป็นหลักในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าผู้นั้นจะมีความใกล้ชิดและมีสถานะสูงส่งเพียงใด แล้วข้าพเจ้าก็มิใช่พวกนิยมตระกูลอุมะวียะฮฺ อับบาสียะฮฺ หรือ ฟาฏิมียะฮฺ ไม่ใช่สุนนียฺ ไม่ใช่ชีอะฮฺ และข้าพเจ้าก็ไม่มีความเป็นศัตรูกับอบูบักรฺ อุมัร อุษมาน และอะลี ไม่มีแม้กระทั่งกับวะหฺชียฺผู้สังหารสัยยิดินา หัมซะฮฺ ต่อเมื่อ วะหฺชียฺได้เข้ารับอิสลาม และอิสลามจะตัดรอนสิ่งก่อนหน้านั้น และแน่แท้ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้อภัยแก่เขาแล้ว” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 92-93)

 

 

แต่สิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ในหนังสือทุกเล่มของตนค้านกับสิ่งที่ตนประกาศไว้โดยสิ้นเชิง เศาะหาบะฮฺทั้งสามท่านล้วนแต่ตกอยู่ในสถานะศัตรูของอัต-ตีญานียฺและถูกติดตามกัดจิกอยู่เสมอในข้อเขียนของเขา

 

 

ส่วนหะดีษเรื่องการแข่งขันกันทางโลกของเศาะหาบะฮฺที่มีความร่ำรวย ในหน้า 124-125 ของษุมมะฮฺตะดัยตุ้นั้นอัต-ตีญานียฺอ้างข้อมูลจากตารีคของอัล-มัสอูดียฺซึ่งเป็นชีอะฮฺแต่ฝ่ายเดียว และละที่จะกล่าวที่มาของทรัพย์สินสำหรับเศาะหาบะฮฺแต่ละท่านตลอดจนการบริจาคและอุทิศทรัพย์สินมหาศาลของบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้ง 5 ท่าน อัต-ตีญานียฺเขียนราวกับว่าเศาะหาบะฮฺทั้ง 5 ท่านเป็นผู้ร่ำรวยที่ได้ทรัพย์สินมาจากการทำสงครามแย่งชิงในระหว่างกัน เบียดเบียนชาวมุสลิมที่ยากจน ไม่ต่างอะไรจากกลุ่มโจรที่ปล้นสะดมทรัพย์สินมาจากผู้อ่อนแอ การเขียนของอัต-ตีญานียฺจึงเป็นการเผยทัศนะคติในเชิงลบของตนที่มีต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺ

 

 

เนื้อหาและคำอธิบายของอัต-ตีญานียฺในหมวดที่ 2 นี้จึงเป็นทัศนะของอัต-ตีญานียฺที่เจือสมเอาเอง มิใช่ทัศนะของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่มีต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านแต่อย่างใด กระนั้นอัต-ตีญานียฺก็ตั้งหัวข้อเรื่องว่าเป็นทัศนะของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยกล่าวตู่ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีทัศนะต่อเศาะหาบะฮฺของท่านอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ข้อเขียนทั้งหลายเป็นทัศนะล้วนๆ ของอัต-ตีญานียฺที่มโนภาพเอาเองทั้งสิ้น หัวข้อเรื่องที่ตั้งจึงไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่อัต-ตีญานียฺเขียนอธิบาย มิหนำซ้ำยังถือเป็นการกล่าวตู่ต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อีกด้วย!