ความแตกต่างของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับกรณีอิสราเอล-ปาเลสไตน

        สืบเนื่องจากช่วงสนทนาในรายการโทรทัศน์  “สลามร่อมาฎอน”  ซึ่งออกอากาศแพร่ภาพทางช่อง 5  โดย ศอ.บต. กระผมนายสันติ (อาลี) เสือสมิง  ได้รับเชิญจากท่าน  ผ.ศ.นิรันดร์  พันธรกิจ   ผู้ดำเนินรายการให้พูดเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ปรากฏว่าหลังการแพร่ภายรายการดังกล่าว  2  คืนติดต่อกันมีคำตอบรับและการติชมจากผู้ชมทางบ้านอย่างหลากหลาย  บ้างก็ชื่นชมและเห็นด้วยกับการวิเคราะห์และมุมมองต่อปัญหาของกระผม  บ้างก็ติติงและวิจารณ์ในทำนองแบ่งรับแบ่งสู้  เห็นด้วยในบางประเด็น  และตั้งข้อสงสัยในบางประเด็น 

        เพื่อความเข้าใจอันดีและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกระผม  จำต้องอธิบายความเพื่อความกระจ่างและความเข้าใจต่อประเด็นเนื้อหาที่พูดสนทนากับผู้ดำเนินรายการในเวลาอันจำกัดนั้น  ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่นำเสนอ  เพราะได้อ่านบทความวิจารณ์ของพี่น้องบางท่านในเว็บไซด์ทางอินเตอร์เน็ต  เช่น  บทความของคุณอารีฟีน  บินจิ  ที่ลงบทความทางเว็บไซด์ของศูนย์ข่าวอิสราฯ  พิจารณาคำวิจารณ์แล้วกระผมเห็นว่ามีอยู่หลายประเด็นที่ต้องแจกแจงให้กระจ่าง  ดังนี้

        1. คุณอารีฟีน บินจิ  สรุปคำพูดของกระผมว่า  “ท่าน  (หมายถึงตัวกระผม)  เห็นว่าชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเป็นเสมือนคนเป็น  ”โรคมะเร็ง”  หมายถึง  พวกเขากำลังติดยึดอยู่กับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตนเอง  คือความเป็น  ”ชนชาติมลายู”  และพวกเขากำลังพยายามขุดคุ้ยเอาความขัดแย้งกับชนชาติสยาม  เมื่อ  2-3  ร้อยปีมาแล้วมาเล่าสู่กันให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังคนไทย  ครั้นเมื่อข้าราชการไทยเข้าไปสร้างเงื่อนไขและความอยุติธรรมขึ้นเท่ากับ  ”อาหารแสลง”  เข้าไปสู่ร่างกาย  ทำให้อาการของโรคมะเร็งในหมู่ชาวมุสลิมภาคใต้กำเริบหนักขึ้น  จนเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งที่รุนแรง  สับสน  วุ่นวาย ฆ่ากันตายมากขึ้น  จนไม่รู้จักจบสิ้นเมื่อใด…”

 

        ประเด็นข้อเท็จจริงก็คือ  กระผมมิได้มีเจตนามุ่งหมายรวมถึงพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด  แต่มุ่งหมายถึงพี่น้องบางกลุ่มหรือคนบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ก่อการหรือผู้ที่คล้อยตามการปลุกเร้าสมางัตในเรื่องชาติพันธุ์ความเป็นมลายู  จากคนที่มีความคิดสุดโต่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นทุนเดิม  ซึ่งเปรียบได้ดั่งโรคมะเร็งที่พร้อมจะสำแดงอาการเสมอหากมีสิ่งกระตุ้นหรือที่เรียกว่า  “ของแสลง”  ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า  “สารก่อมะเร็ง”  กระผมมิได้กล่าวหาว่าพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดเป็นโรคมะเร็งในเชิงเปรียบเปรยนั่น  หากแต่หมายถึงคนบางกลุ่มที่พยายามปลุกสมางัตพี่น้องในพื้นที่  โดยเฉพาะหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาวเท่านั้นต่างหาก 

 

        การที่คุณอารีฟีน  บินจิ  สรุปว่ากระผมพูดแบบเหมารวมนั้นถือว่าคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงซึ่งสามารถถอดเทปบันทึกรายการออกมาตรวจสอบได้  อย่างไรก็ตามการยึดมั่นต่ออัตลักษณ์ความเป็นมลายูชนแบบสุดเข้มข้น เน้นในชาติพันธุ์  (กะบังซออัน)  ภาษาและวัฒนธรรมแบบมลายู  ตลอดจนการนำเอาความเป็นมลายูหรือภาษามลายูไปผูกติดอยู่กับศาสนาอิสลามจนบางครั้งผู้คนส่วนหนึ่งในพื้นที่มีความเชื่อความเข้าใจว่า มลายูคืออิสลาม  อิสลามคือมลายู  ภาษามลายูคือภาษาอิสลามก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมของพี่น้องมุสลิมใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือแม้แต่ในจังหวัดอื่นบางพื้นที่โดยเฉพาะในอดีตที่ผ่านมา 

 

        ข้อนี้ต้องขอยอมรับกันและพูดกันอย่างเปิดอก  ส่วนนั่นจะเป็นผลข้างเคียงจนกลายเป็นสารก่อมะเร็งทำให้เกิดโรคมะเร็งอย่างที่ว่าหรือไม่  ก็ต้องวิเคราะห์และตรึกตรองดู  ตัวกระผมเองก็เป็นชาวมลายู  ปู่ย่าตาทวด  พ่อแม่พี่น้องก็ล้วนเป็นชาวมลายู  ความเป็นมลายูโดยสายเลือดเป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธได้  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามีความเชื่อ  ความเข้าใจของคนบางกลุ่มในหมู่พี่น้องมลายูมุสลิมว่า  เราเป็นมลายูเรามิใช่คนไทย  เพราะเราเป็นมลายูนี่เองเราจึงไม่ใช่คนไทย คนมลายู  (ออแร  นายู)  คือ  คนมุสลิม  ส่วนคนไทย  (ออแร  สึแย)  เป็นคนพุทธ  ความเป็นมลายูจึงมิอาจเข้ากันได้กับความเป็นไทย ซึ่งหมายถึงพุทธนั่นเอง  ความเข้าใจเช่นนี้เองที่กระผมพยายามอธิบายให้เห็นว่าเป็นความสับสน 

 

        แม้กระทั่งปราชญ์แห่งสยามประเทศอย่าง  มรว.คึกฤทธ์  ปราโมช  ก็ยังมีพูดไว้ต่างกันจนดูสับสน  กล่าวคือ  ท่านยืนยันว่า  “ข้อกล่าวหาที่ว่ามุสลิมีนไม่ใช่คนไทย  เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่จริงโดยสิ้นเชิง”  (ประยูรศักดิ์  ชลายนเดชะ,  มุสลิมในประเทศไทย,  2539  หน้า  24,  220,  221)

 

        แต่ปรากฏในคำปราศรัยของท่านเมื่อวันที่  1  กุมภาพันธ์  2519  ว่า  “เรื่องของคน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนา  ขอให้ยอมรับความจริงในข้อนี้  แม้ในทางประวัติศาสตร์ก็ถือว่าเป็นคนต่างเชื้อชาติเช่นกัน…  การแก้ปัญหา  3  จังหวัดภาคใต้คิดอย่างไรก็ไม่ออก  เพราะเราหลอกว่าตัวเขาเองเป็นคนไทย…  ขอให้ทุกคนยอมรับความจริงว่า  เขาไม่ใช่คนไทย…”  (รัตติยา  สาและ ,  ปตานี  ดารุสสลาม  (มลายู-อิสลาม  ปตานี)  จากหนังสือ  ”รัฐปัตตานี  ในศรีวิชัยฯ”  สำนักพิมพ์มติชน,  2547  หน้า  257) 

 

        คำพูดของ  มรว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  ที่พูดต่างกรรมต่างวาระเช่นนี้ย่อมถือว่าสับสนอยู่ในที  เพราะคำว่า  ”มุสลิมีน”  นั้นมีนัยครอบคลุมถึงชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และชาวไทยมุสลิมในภาคส่วนอื่นซึ่งมีเชื้อสายมลายูเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย  โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ตอนบนและภาคกลาง  ประเด็นของความสับสนดังกล่าวเกิดจากการนำเอาศัพท์ทางรัฐศาสตร์กับคำศัพท์ทางมานุษยวิทยาเอาไปปนกัน  เพราะคำว่า  “ไทย”  หรือ  “คนไทย”  หมายถึงพลเมืองของประเทศไทยที่มีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้  ส่วนคำว่า  “มลายู”  นั้นหมายถึง  ชาติพันธุ์หรือเชื้อสายอันเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ  รวมตัวกันเป็นชาติหรือรัฐอยู่ภายใต้การปกครองและกฎหมายเดียวกัน  พลเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนแต่มีสัญชาติไทยคือมีสถานะตามกฎหมายของบุคคลที่แสดงว่าเป็นพลเมืองหรือคนในบังคับของประเทศไทยแต่มีเชื้อสายมลายูหรือจีนหรืออินเดียหรือปาทานก็ว่ากันไป  ทั้งนี้โดยไม่แบ่งแยกว่าจะนับถือศาสนาอะไร 

 

        ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิได้แบ่งแยกเรื่องของศาสนาหรือชาติพันธุ์เพราะทุกวันนี้เราแทบจะหาคนไทย  (คนไต)  แท้ ๆ  มิได้อีกแล้ว  พลเมืองที่เป็นคนไทยในทุกวันนี้มีทั้งคนไทยเชื้อสายจีน,  มลายู,  มอญ  (รามัญ),  เขมร,  ลาว,  บังคลาเทศ,  ปาทาน,  อินเดีย,  เปอร์เซีย,  ฝรั่งผสมอยู่ในสายเลือดทั้งสิ้น  และนี่คือ ลักษณะของความหลากหลายทางชาติพันธุ์  และศาสนาที่รวมตัวกันเป็นชาติ  คนไทยหรือคนสยามแต่เดิม  มิได้มุ่งหมายเฉพาะคนที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น  หากแต่ยังรวมถึงคนที่นับถือศาสนาคริสต์  อิสลาม  ซิกข์  ฮินดู-พราหมณ์หรือแม้แต่ขงจื้ออีกด้วย 

 

        ยกตัวอย่างได้ว่า  ตัวกระผมนี้เป็นคนไทย  เชื้อสายมลายู  นับถืออิสลาม  อยู่กรุงเทพฯ  คุณอารีฟีนก็คือคนไทย  เชื้อสายมลายู  นับถือศาสนาอิสลามอยู่ใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ฮัจยีหมง  เป็นคนไทย  เชื้อสายจีนฮ้อ  นับถือศาสนาอิสลาม  อยู่จังหวัดเชียงใหม่  คุณฮาติม  โมรา  เป็นคนไทย  เชื้อสายอินเดีย  นับถือศาสนาอิสลาม  บ้านอยู่จังหวัดยะลา  คุณเกษม  เป็นคนไทย  เชื้อสาย    จาม-เขมร  นับถือศาสนาอิสลาม  บ้านอยู่ที่ชุมชนบ้านครัว  กรุงเทพฯ  เป็นต้น  กระผมยังได้อธิบายในรายการโทรทัศน์อีกด้วยว่า  เรื่องของความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษานั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับทั้งนี้เพราะในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ระบุว่า

“และส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญญาณ  (แห่งมหิทธานุภาพ)  ของพระองค์คือการสร้างฟากฟ้าและผืนแผ่นดินและความแตกต่างของภาษาและสีผิวของหมู่สูเจ้า”  (อัรรูม  :  22)

 

        แต่หลักคำสอนของอิสลามปฏิเสธความนิยมคลั่งไคล้ซึ่งเรียกว่า  “ตะอัซฺซุบ”  หรือ  “อะซอบียะฮฺ”  ไม่ว่าจะเป็นการนิยมคลั่งไคล้ต่อชาติพันธุ์  ชาติตระกูล  สีผิว  หรือหมู่คณะ  ดังปรากฏในพระวจนะของ ท่านศาสดา  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ที่ระบุว่า “ย่อมมิใช่ส่วนหนึ่งจากเรา  บุคคลซึ่งเรียกร้องเชิญชวนสู่ความนิยมคลั่งไคล้  และย่อมมิใช่ส่วนหนึ่งจากเรา  บุคคลซึ่งสู้รบ  (รณรงค์)  บนความนิยมคลั่งไคล้  และย่อมมิใช่ส่วนหนึ่งจากเรา  บุคคลซึ่งเสียชีวิตบนความนิยมคลั่งไคล้”  (บันทึกโดยมุสลิมและอบูดาวูด)  

 

        ดร.ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์  กล่าวว่า  :  ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับชาวมุสลิมในการนิยมคลั่งไคล้ต่อสีผิวหนึ่งเหนืออีกสีผิวหนึ่งและนิยมคลั่งไคล้ต่อกลุ่มชนหนึ่งเหนืออีกกลุ่มชนหนึ่ง  และนิยมคลั่งไคล้ต่อภูมิภาคหนึ่งเหนืออีกภูมิภาคหนึ่ง  …  แท้จริงทุก ๆ  การเรียกร้องเชิญชวนระหว่างพี่น้องมุสลิมสู่ความนิยมคลั่งไคล้ต่อภูมิภาคนิยมหรือความนิยมคลั่งไคล้ต่อชาติพันธุ์  อันที่จริงการเรียกร้องนั้นเป็นการเรียกร้องแบบญาฮีลียะฮฺที่ศาสนาอิสลาม  ศาสนทูตและคัมภีร์ของอิสลามไม่เกี่ยวข้องด้วย  (ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์,  อัลฮะลาล  วัลฮะรอม,  หน้า  237-238)  

        ดังนั้นการปลุกสมางัตผู้คนโดยอ้างชาติพันธุ์นิยมจนเลยเถิดย่อมถือเป็นสิ่งที่ค้านกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามโดยสิ้นเชิง  และการต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์มลายูอย่างที่มีคนบางกลุ่มกำลังพยายามปลุกระดมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จนกระทั่งเลยเถิดไปทุกขั้นที่ว่า  ดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนของมลายูชนเท่านั้น  พวกสิแย  (หรือสยามพุทธ)  จำต้องออกไปจากดินแดนนี้ทั้งหมด  จึงเข้าข่ายเป็นการนิยมคลั่งไคล้ที่ศาสนาอิสลามปฏิเสธโดยสิ้นเชิง  นอกเหนือจากที่ว่า  ดินแดนสามจังหวัดนี้มิใช่เขตแผ่นดินฮะรอมเฉกเช่นนครมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ  ไฉนจึงต้องขับไล่คนที่มิใช่มุสลิมออกไปด้วยโต๊ะครูในปอเนาะบางแห่งถึงกับกล่าวว่า  “ให้บาบี  (สุกร)  เข้ามาในเขตที่ดินวะกัฟของโรงเรียนได้อย่างไร?  คำว่า  “บาบี”  (สุกร)  ในที่นี้หมายถึงข้าราชการทหารตำรวจที่เข้าไปพบปะพี่น้องมุสลิมในเขตของปอเนาะดังกล่าวนั่นเอง

 

 

         ประเด็นที่ 2  คุณอารีฟีนระบุว่า  “เราเคารพในความสามารถและความชาญฉลาดของท่าน  (หมายถึงตัวกระผม)  ที่ได้เปรียบเปรยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีเหตุมีผลอย่างยิ่ง  และความคิดของท่านก็น่ารับฟังที่ว่า  เราควรจะยอมรับในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า  (กอฎอ-กอดัร) ที่ทำให้มีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นในอดีต  ทำให้มีการอพยพโยกย้ายประชากรมุสลิมจากภาคใต้ไปยังที่อื่น ๆ  เพื่อได้เผยแพร่ศาสนา  และเราควรยอมรับในความเป็นไทยและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย  (แต่โดยดุษฎี)

        เรื่องพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ซึ่งเรียกว่า  “อิรอดะตุลลอฮฺ”  หรือ  มะชีอะตุลลอฮฺ”  นั้น  เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อ  (อะกีดะฮฺ)  ซึ่งจำเป็นสำหรับชาวมุสลิมทุกคนที่จะต้องเชื่ออย่างเด็ดขาด  สิ่งใดที่พระองค์อัลลอฮฺ  ทรงมีพระประสงค์สิ่งนั้นย่อมเกิดขึ้นอย่างเป็นไป  และสิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงมีพระประสงค์สิ่งนั้นย่อมไม่เกิดขึ้นย่อมไม่มีทางเป็นไปได้  พระประสงค์นี้เกี่ยวพันกับการกำหนดสภาวการณ์   หรือการลิขิตที่เรียกว่า  กอฎอ-กอดัรซึ่งครอบคลุมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต  ปัจจุบันและอนาคต  ไม่มีสิ่งใดเลยที่เกิดขึ้นและเป็นไปนอกจากเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงมีพระประสงค์และลิขิตเอาไว้ 

 

        ดังนั้นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต  อาทิเช่น  เหตุการณ์ที่สยามตีปัตตานีแตกแล้ว  กวาดต้อนเทครัวชาวมลายูสู่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ถึงแม้ว่ามนุษย์อย่างเราๆ  ท่านๆ  จะไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้นก็ตามที  แต่เราก็สามารถทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อเป็นบทเรียนและอนุสติเตือนใจสำหรับอนุชนรุ่นหลังได้  โดยเฉพาะมุมมองของเราซึ่งเป็นชนรุ่นหลังที่จำต้องสืบค้นว่าเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมานั้นมีวิทยปัญญา  (ฮิกมะฮฺ)  แฝงเร้นอยู่อย่างไร?  กระผมไม่ได้พูดในรายการ  “สลามร่อมาฎอน”  ว่าให้เราลืมประวัติศาสตร์  หรือรากเหง้าของตนเองอย่างที่คุณอารีฟีนสรุปเอาเองว่า  ”เช้าวันนั้น  เราฟังแล้วเห็นด้วยกับท่านร้อยเปอร์เซ็นต์  คือต้องยอมรับการปกครองของบ้านเมือง  ไม่ว่าอดีตนั้นจะเป็นอย่างไร?  ช่างมัน  เรามาลืมประวัติศาสตร์  รากเหง้าของตนเองกันได้แล้วใช่หรือไม่?”

 

        ก็ต้องชี้แจงว่า  “ไม่ใช่” !!  เพราะบุคคลจะมีปัจจุบันได้ก็ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากอดีต  หากไม่มีอดีตก็ย่อมไม่มีปัจจุบัน  แต่การจมปลักอยู่กับอดีตจนทำให้เราไร้ที่ยืน หรือปิดกั้นตนเอง  ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ย่อมเป็นการสูญเปล่าและไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด  การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และรากเหง้าของตนเองเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ในภาวะปัจจุบัน  ตัวกระผมเองก็ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์  ทั้งในส่วนของประวัติศาสตร์โลกอิสลามและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประชาคมมุสลิมท้องถิ่น  หนังสือ  ”ขุนนางมุสลิมสยาม”  ซึ่งรวบรวมบทบาทของชาวมุสลิมในสยามประเทศนับแต่ครั้งกรุงสุโขทัย, กรุงศรีอยุธยา,  กรุงธนบุรี  และกรุงรัตนโกสินทร์ 

 

        ตลอดจนประวัติศาสตร์ของปัตตานีดารุสสลามซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า  กระผมมีจุดยืนและทัศนคติต่อประวัติศาสตร์และรากเหง้าของชาวมุสลิมในสยามประเทศอย่างไร?  นอกจากนี้ตัวกระผมก็เป็นครูสอนศาสนาในโรงเรียนซานาวีย์และตามสถาบันต่าง ๆ  ของพี่น้องมุสลิมในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง  ส่วนหนึ่งจากวิชาที่ถ่ายทอดและสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาตลอดจนพี่น้องมุสลิมทั่วไปก็คือ  วิชาภาษามลายู  โดยถ่ายทอดความหมายและอรรถาธิบายบรรดาตำราที่ถูกเขียนด้วยภาษามลายู  (ยาวี)  เป็นภาษาไทย  อาทิเช่น  ตำราที่ชื่อว่า  ”มัตละอุลบัดรอยน์”  ของท่านเชคดาวูด  อัลฟะฏอนี  เป็นต้น  การอนุรักษ์และสืบสานตำราภาษามลายูของนักปราชญ์ชาวฟะตอนีที่เป็นมรดกทางวิชาการสำหรับอนุชนรุ่นหลังย่อมเป็นสักขีพยานได้เป็นอย่างดีว่ากระผมลืมรากเหง้าของความเป็นมลายูชนหรือไม่?

 

        ประเด็นที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสยามกับปัตตานีซึ่งผมได้นำเสนอในรายการโทรทัศน์นั้นเป็นการเปิดมุมมองและการวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีการเล่าสืบกันมาแบบมุขปาฐะ  โดยนำเสนอว่า หากประวัติศาสตร์ในอดีตนั้นเป็นเรื่องที่ถูกระบุไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านและพระวจนะของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่มีสายรายงานถูกต้องแล้วนั่นถือว่าเป็นสัจธรรมที่มิอาจปฎิเสธได้  ส่วนประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเหนือแหล่งที่มาทั้งสองและถูกเขียนขึ้นหรือถูกจดบันทึกโดยบุคคลผู้เป็นปุถุชน ย่อมเป็นสิ่งที่ปะปนกันไปทั้งเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้  ยิ่งหากบุคคลที่จดบันทึกนั้นเป็นคนรุ่นหลังแล้วก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ไม่มากก็น้อย  และบ่อยครั้งที่บุคคลซึ่งจดบันทึกนั้นอาจจะใส่ความเห็น ทัศนะ ความเชื่อ  ความชอบหรือความชังเข้าไปในเนื้อหาของเหตุการณ์ในอดีตอีกด้วย

 

        ดังนั้นประวัติศาสตร์ของสยาม-ปัตตานี ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์และวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเท็จจริงได้  อีกทั้งยังสามารถนำเสนอแง่มุม ทั้งในเชิงลบและเชิงบวกได้  แต่การบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานีที่กลุ่มผู้คนบางส่วนได้นำมาใช้เป็นปัจจัยปลุกสมางัตพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะเป็นในเชิงลบ  กล่าวคือ พูดถึงความโหดร้ายทารุณที่สยามกระทำกับชาวปัตตานีดารุสสลามและหัวเมืองมลายู  การเผามัสญิดกรือเซะ  และพระราชวังของสุลต่าน  การกวาดต้อนเชลยศึกด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวายและการบังคับให้ขุดคลองแสนแสบอย่างทารุณกรรมจนเป็นที่มาของชื่อคลองว่าหมายถึงความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่เหล่าบรรพชนได้รับและที่สำคัญคือการสูญเสียเอกราชของปัตตานีดารุสสลาม  ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ชาวมลายูต้องนำเอากลับคืนโดยถือว่าจำต้องญิฮาดและผู้ที่สูญเสียชีวิตไปเพื่อการนั้นเป็นชะฮีด  (มรณะสักขี) 

 

        นี่คือสิ่งที่ผู้คนบางส่วนพยายามปลุกสมางัตบรรดาพี่น้องและเหล่าเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งคุณอารีฟีน   คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีความพยายามเช่นนี้อยู่จริง  ดังนั้นในช่วงเวลาอันจำกัดของรายการโทรทัศน์ข้างต้น  กระผมได้พยายามชี้ให้เห็นว่า  ประวัติศาสตร์ย่อมมีสองด้านเสมอ  แต่ทำไมเราจึงพยายามพูดถึงประวัติศาสตร์แต่เพียงด้านเดียวและละวางจากการพูดถึงด้านดีของมัน  อีกทั้งยังได้ย้ำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นผ่านพ้นไปแล้ว  เราย้อนเวลากลับคืนมิได้และบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำนั้นต่างก็ล้มหายตายจากและไปพบกับสิ่งที่พวกเขาได้กระทำเอาไว้ในปรโลกแล้ว  ในคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ระบุว่า

“ดังกล่าวนั้นคือประชาชาติที่ผ่านพ้นมาแล้ว  สำหรับประชาชาตินั้นคือสิ่งที่พวกเขาขวนขวายเอาไว้  และสำหรับพวกท่านคือสิ่งที่พวกท่านได้ขวนขวายเอาไว้  และพวกท่านจะไม่ถูกสอบถามถึงสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นได้ประพฤติไว้”  (อัลบะกอเราะฮฺ  134,141)

        ดังนั้นหากชาวสยามได้กระทำทารุณกรรมกับชาวมลายูในอดีตจริงนั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องได้รับการตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างสาสมแต่ประเด็นอยู่ที่ว่า  การทำสงครามศาสนาใช่หรือไม่?  และมีการขับไล่ชาวมุสลิมออกจากดินแดนของพวกเขาหรือไม่?  มีการกดขี่บังคับในเรื่องศาสนาต่อชาวมุสลิมหรือไม่? ข้อยืนยันประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ  ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในการสงครามเมื่อครั้งอดีตเป็นการแผ่ขยายดินแดนและแผ่แสนยานุภาพของเหล่ากษัตริย์  เป็นเรื่องของการเมืองการปกครองมากกว่าเป็นการทำสงครามศาสนา  เพราะสยามก็ทำสงครามกับรัฐอื่นที่ถือในพุทธศาสนาเช่นเดียวกับตน  อาทิเช่น  อาณาจักรล้านนา,  ล้านช้าง  เขมรหรือแม้แต่เมืองนครศรีธรรมราช  และเมื่อสยามทำสงครามกับหัวเมืองมลายูซึ่งเป็นดินแดนของชาวมุสลิมก็ต้องถามว่าสยามกดขี่บังคับชาวมลายูมุสลิมเหล่านั้นให้เข้ารีตในพุทธศาสนาหรือไม่? 

 

        สิ่งที่เราพบในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็คือ  สยามไม่เพียงแต่ไม่ก้าวก่ายในเรื่องของศาสนา  แต่ยังได้แต่งตั้งผู้ปกครองซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิมให้ปกครองในฐานะหัวเมืองประเทศราช  แต่เมื่อนโยบายเปลี่ยนแปลงไปในภายหลัง  ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากแข็งเมืองของผู้นำหัวเมืองประเทศราชมลายูที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งจึงมีการแต่งตั้งผู้ปกครองที่มิใช่ชาวมลายูมุสลิมติดตามมา  บรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นคือผู้สูญเสียอำนาจ  แต่ชาวมลายูมุสลิมในดินแดนที่เป็นพลเมืองเล่า  พวกเขาสูญเสียอำนาจไปด้วยหรือไม่?  และที่สำคัญพวกเขาสูญเสียดินแดนถิ่นเกิดที่ครอบครองกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ซึ่งสืบมาแต่ครั้งปู่ย่าตายายจวบจนทุกวันนี้หรือไม่?  เพราะเมื่อสงครามสงบลงพวกเขาก็คืนถิ่นไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากมาตุภูมิของตน  ส่วนเชลยศึกชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนเทครัวเอามาไว้  ณ  กรุงเทพมหานครก็กลายเป็นผู้ถือครองที่ดินตลอดสองฝั่งของคลองแสนแสบและผืนนาในจังหวัดอื่น ๆ  เช่น  นนทบุรี,  ปทุมธานี,  ฉะเชิงเทรา,  นครนายก,  สมุทรปราการ,  อยุธยา  เป็นต้น  จวบจนปัจจุบันมีชุมชนและมัสญิดเกิดขึ้นมากมายเฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชธานีของสยามมีมากถึง  175  แห่ง 

 

        นี่เป็นผลของสงครามในอดีต  ซึ่งผมชี้ว่าเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นด้านดีของมัน  มุสลิมในถิ่นเดิมของปัตตานีดารุสสลามก็ยังคงอยู่อย่างมั่นคง  และลูกหลานของชาวมลายูปัตตานีก็แตกลูกออกหลานขยายวงศ์วานว่านเครือในภาคกลาง  ความเป็นมลายูทางภาษาอาจจะเจือจางลงไปบ้างตามกาลเวลา  แต่ศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมมลายูมุสลิมยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่ได้ถูกลิดรอนหรือถูกทำลายลงไปโดยชาวสยามแม้แต่น้อย  ความเข้าใจเดิมที่กล่าวว่าชาวมลายูมุสลิมในภาคกลางถูกกลืนและหลงลืมอิสลามไปแล้วถือเป็นสิ่งไร้สาระ  จริงอยู่พวกเขาอาจจะไม่ได้ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเหมือนบรรพบุรุษแต่การศึกษาศาสนาที่มีนักวิชาการและผู้รู้ที่ชำนาญในภาษามลายูกิตาบก็ยังมีให้เห็นดาษดื่น  อาจกล่าวได้ว่า  ภาษามลายูที่เป็นภาษาทางวิชาการนั้นยังคงเป็นมรดกตกทอดสืบต่อมา  อย่างน้อยกระผมคนหนึ่งที่มีเจตนารมณ์ในการสืบสานมรดกทางวิชาการด้านนี้

 

        ย้อนกลับไปสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสยาม-ปัตตานีอีกครั้ง  การทำสงครามของสยาม-ปัตตานีในอดีตเกิดขึ้นจริง  ข้อนี้ไม่มีผู้ใดปฏิเสธ  ต่อสมมติฐานที่ว่าสยามทำสงครามศาสนากับรัฐปัตตานีดารุสสลามซึ่งเป็นรัฐอิสลาม  (ซึ่งจำต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของรัฐที่ปกครองด้วยระบอบอิสลามและกฎหมายอิสลามกับรัฐที่ปกครองโดยชาวมุสลิมแต่ใช้จารีตประเพณีมลายูโบราณไม่ได้ใช้ระบอบอิสลามเต็มรูปแบบด้วยเพราะมีผลในการกำหนดสถานภาพของรัฐอิสลามตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม)  เมื่อมีการรุกรานรัฐอิสลามจากฝ่ายของชนต่างศาสนา  การญิฮาดกับชนต่างศาสนาซึ่งถือเป็นกาฟิร  ฮัรบีย์  (คือชนผู้ปฏิเสธที่เป็นคู่สงคราม)  ก็อาจจะมีความสมเหตุสมผลตามหลักการทางนิติศาสตร์  แต่การญิฮาดในอิสลามมิได้หมายถึงการสู้รบเพื่อ คงอำนาจในการปกครองเอาไว้  หรือเพื่อสิ่งอื่นใด  แต่หมายถึงการปกป้องอิสลามและเป็นไปเพื่อเทิดทูนศาสนาอิสลามให้สูงส่ง  และไม่ได้หมายความว่าเป็นการสู้รบที่ไม่มีข้อยุติในภาวะสงคราม 

 

        หากแต่หลักนิติศาสตร์อิสลามได้กำหนดกระบวนการในการยุติสงครามเอาไว้ด้วย  นั่นคือ การพ่ายแพ้ของศัตรู และการยอมรับอิสลาม  หรือการทำสนธิสัญญาพักรบระหว่างสองฝ่ายและเมื่อมีการทำสนธิสัญญาพักรบแล้ว  ฝ่ายศัตรูก็กลายสภาพเป็นกาฟิร  มุอาฮัด  (คือเป็นชนต่างศาสนิกที่เป็นคู่สัญญา)  ตราบใดที่มีการรักษาเงื่อนไขในข้อตกลงตามสนธิสัญญาและไม่มีการละเมิดของฝ่ายศัตรู  ฝ่ายมุสลิมก็จำต้องรักษาสนธิสัญญานั้นไว้โดยไม่มีการบิดพลิ้วถึงแม้ว่าเงื่อนไขของสัญญาจะทำให้ฝ่ายมุสลิมเสียเปรียบก็ตามดังกรณีการทำสนธิสัญญาพักรบ  อัลฮุดัยบียะฮฺ  ของท่านศาสดา  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  กับฝ่ายมักกะฮฺในปีที่  6  แห่งฮิจเราะฮฺศักราช

 

        สงครามสยาม-ปัตตานีเมื่อ  200  กว่าปีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นสงครามระหว่างรัฐต่อรัฐนั้นยุติลงแล้วหรือยัง?  หากตอบว่ายุติลงแล้ว  ก็ต้องถามต่อไปว่า  ยุติลงในรูปแบบใด?  มีการทำข้อตกลงระหว่างตัวแทนของสองฝ่ายหลังสิ้นสุดสงครามหรือไม่?  นี่คือ  คำถามที่ต้องการคำตอบเพื่อกำหนดข้อชี้ขาดตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม  หากตอบว่ายังไม่ยุติ!  นั่นแสดงว่าการญิฮาดยังคงดำรงอยู่ตราบทุกวันนี้ใช่หรือไม่?  หากตอบว่าใช่  ก็ต้องย้อนกลับไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับการญิฮาดว่าถูกบัญญัติขึ้นเพื่อสิ่งใด  โปรดอย่าลืมว่า  การญิฮาดตามหลักการของศาสนาอิสลามนั้นถูกบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นหลักค้ำประกันสิทธิเสรีภาพในด้านความเชื่อทางศาสนา  การประกอบศาสนกิจ  และการเผยแผ่ศาสนาอิสลามอย่างเสรี 

 

        ปัจจัยเหตุที่เป็นสิ่งผลักดันให้มีการญิฮาดก็คือการละเมิดต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม  และการชี้ขาดว่ามีการละเมิดหรือไม่นั้นเป็นดุลยพินิจของผู้นำประชาคมมุสลิมในแต่ละยุคแต่ละสมัย  และจำต้องมีการประกาศญิฮาดอย่างเป็นทางการโดยผู้นำประชาคมมุสลิม  ครั้นเมื่อมีการญิฮาดตามเงื่อนไขที่หลักศาสนบัญญัติกำหนดเอาไว้ก็มีกฎระเบียบและข้อห้ามที่ผู้ทำการญิฮาดจำต้องหลีกเลี่ยง  อาทิเช่น  การสังหารเด็ก,  สตรี, คนชรา,  พ่อค้า,  ชาวนาชาวสวน,  นักการศาสนาเช่นบาทหลวง  พระ  และแพทย์ที่ไม่มีส่วนในการทำสงคราม  ตลอดจนการทำลายอาคารบ้านเรือน  สาธารณูปโภค  การตัดต้นไม้ในกรณีที่ไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายของมุสลิม  เป็นต้น  ทั้งหมด

 

        ที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่มีข้อกำหนดตามหลักการของศาสนาอิสลามทั้งสิ้น  การอ้างว่ามีการญิฮาดหรืออ้างว่าการก่อความไม่สงบในขณะนี้เป็นการญิฮาดจะอ้างลอย ๆ โดยไม่พิจารณาหลักการของศาสนาไม่ได้  อีกทั้งต้องนำข้อเท็จจริงเข้ามาประกอบในการพิจารณาด้วย  กล่าวคือ  ในดินแดนของสยามนับแต่ครั้งอดีตจวบจนกลายเป็นประเทศไทยในทุกวันนี้มีการกีดกันสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา  การประกอบศาสนกิจ  และการเผยแผ่ศาสนาอิสลามอย่างเสรีหรือไม่?  หากเราพิจารณาอย่างเป็นธรรมและไม่มีอคติแล้วเราก็จะพบว่าในดินแดนนี้ไม่เพียงแต่ให้สิทธิเสรีภาพในเรื่องศาสนาเท่านั้นแต่ยังสนับสนุนและให้การอุปถัมภ์เป็นอย่างดี  หากจะกล่าวว่าดีกว่าในประเทศมุสลิมบางประเทศเสียอีกก็คงไม่ผิด  นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันชาวมุสลิมในประเทศไทยต่างก็มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศนี้  เป็นพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศมีสิทธิและหน้าที่ต่อบ้านเมืองไม่ได้น้อยหน้ากลุ่มชนอื่น  มุสลิมในอดีตเป็นขุนนางในราชสำนักที่มีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินและการปกครองบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู,  จาม,  มัวร์,  เปอร์เซีย,  อินเดีย  ฯลฯ

 

        แม้เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย  ชาวมุสลิมก็มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนั้นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ปกครองในทุกระดับชั้นนับตั้งแต่กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  สมาชิกอบต.  อบจ.  สมาชิกสภาทั้งสภาล่าง  สภาบน, ปลัดกระทรวง,  ประธานรัฐสภา,  รัฐมนตรีว่าการ หรือแม้กระทั่งรองนายกรัฐมนตรี  หรือผู้บัญชาการกองทัพบกซึ่งมีกำลังพลมากที่สุด  จนถึงประธาน คมช. 

 

        ดังนั้นคำกล่าวของคุณอารีฟีนที่ระบุว่า  “และเราควรยอมรับในความเป็นไทยและอยู่ภายใต้การปกครองของ รัฐไทย  (โดยดุษฎี)”  นั้นเป็นการกล่าวในเชิงประชดประชันมากกว่าจะเป็นการยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่าความเป็นไทยอย่างมุสลิมไม่ใช่เรื่องเสียหายเพราะประเทศไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา  เราไม่ใช่คนกัมพูชาหรือคนเวียดนาม  แต่เราเป็นเจ้าของประเทศ  มีที่ดินทำกินเป็นกรรมสิทธิ์ของเราเอง  มีสำมะโนครัว  มีบัตรประชาชนและมีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา  มีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางศาสนาของเราเอง  และรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ก็คุ้มครองพวกเรา  คนที่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญก็มีชาวมุสลิมร่วมอยู่  ส.ส. และ ส.ว.  ที่ผ่านร่างกฎหมายในการปกครองประเทศก็มีชาวมุสลิมร่วมอยู่ 

 

        ดังนั้นต้องเรียกว่าเราชาวมุสลิมในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง  แต่เราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของบ้านเมือง  ไม่ใช่อยู่เหนือกฎหมาย  การใช้สำนวนว่า  “และอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย  (โดยดุษฎี)“  เป็นการใช้สำนวนที่ส่อในความหมายว่า  เราถูกกดขี่  ถูกปกครองโดยรัฐไทยแต่ฝ่ายเดียว  จนดูเหมือนว่าเราไม่มีสิทธิไม่มีศักดิ์ศรีใดๆ ในฐานะเจ้าของประเทศ  ซึ่งค้านกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมา  และคำในวงเล็บ  (โดยดุษฎี)  ซึ่งคุณอารีฟีนอาจจะหมายถึง  การยอมรับโดยศิโรราบ  ไม่คัดค้าน  ไม่ทัดทานนั้นก็หาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะคราใดที่มีการกำหนดนโยบายของรัฐหรือการออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา  ชาวมุสลิมก็จะไม่  วางเฉยและจะเรียกร้องต่อสู้เสมอเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพนั้น  จนบางครั้งดูเหมือนว่าชาวมุสลิมจะเรียกร้องมากกว่าชนกลุ่มอื่นเสียด้วยซ้ำ  จริงๆ แล้วคำว่า  “ดุษฎี”  หมายถึงความยินดี  หรือความชื่นชมมิได้หมายถึงการยอมจำนนแต่อย่างใด

 

 

          ประเด็นที่  3  คุณอารีฟีนระบุถึง  การสนทนาของซัยยิด  สุลัยมาน  อัลฮุซัยน์  กับคุณอุสมาน  ลูกหยี  ในวันถัดมาทางช่อง  11  กรมประชาสัมพันธ์  โดยวิทยากรทั้งสองสนทนาเกี่ยวกับ  “วันแห่งอัลกุดส์”  และปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล  กับปาเลสไตน์  ซึ่งมีเนื้อหาที่คุณอารีฟีนสรุปมาเกือบ 2 หน้า  และกล่าวว่า : “มันเป็นภาพที่ขัดแย้งกับอาจารย์สันติ  เสือสมิง  กล่าวไว้ข้างต้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ”

 

        ก็ต้องขอแจกแจงกับคุณอารีฟีนว่า  แน่นอน!  หากคุณอารีฟีนนำเอาเรื่อง  2  เรื่องคือเรื่องของ  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้กับเรื่องของอิสราเอล-ปาเลสไตน์มาเทียบเคียงกัน  มันก็ต้องขัดแย้งกันจากหน้ามือเป็นหลังมืออยู่แล้ว  เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน  การเทียบเคียงแบบนี้ในหลักมูลฐานของนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่า  “กิยาสฺ  มะอัล  ฟาริก”  (การเทียบเคียงทั้งที่มีข้อแตกต่าง)  ถือเป็น  “กิยาสฺ  ฟาซิด”  (การเทียบเคียงที่ใช้ไม่ได้) 

 

        ทั้งนี้เพราะกรณีของอิสราเอล-ปาเลสไตน์นั้นมีรายละเอียด  ดังเช่นที่วิทยากรทั้งสองท่านได้กล่าวมา  ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย  ไม่ได้มีทัศนะขัดแย้งแต่อย่างใด  ตัวกระผมเองก็ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวความเป็นมาของชาวยิว  การจัดตั้งองค์กรไซออนิสต์สากล  และการยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอลมามากพอควร  อีกทั้งยังได้บรรยายเรื่องราวดังกล่าวในสังคมมุสลิมมาโดยตลอด  และล่าสุดก็ได้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์นครอัลกุดสและมัสญิดอัลอักศอ  ซึ่งทางสำนักพิมพ์ศูนย์หนังสืออิสลาม  กรุงเทพฯ  จะวางจำหน่ายในช่วงงาน เมาลิดกลางปีนี้  (2550)  อินชาอัลลอฮฺ  นอกจากนี้ผมเองยังได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนนครอัลกุดส์ และละหมาดในมัสญิดอัลอักศอมาแล้วเมื่อ  2  ปีก่อนดังรายละเอียดในคำนำของหนังสือดังกล่าว  กระผมจึงมิใช่ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้แต่เพียงอาศัยตำรับตำราเท่านั้น  แต่ยังได้ไปพบเห็นถึงสถานที่จริงด้วยตาอีกด้วย ซึ่งนั่นถือเป็นพระกรุณาของพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  โดยแท้  อัลฮัมดุลิลลาฮฺ

 

        ชาวปาเลสไตน์ในดินแดนของตนเป็นชนชาติที่ลงหลักปักฐานและสร้างบ้านแปงเมืองมาก่อน การเข้ามาของศาสดาอิบรอฮีม  (อ.ล.)  นับพันปี  และพวกเขาก็ยังคงอยู่  ณ  ที่นั่นตราบจนทุกวันนี้  แม้กระทั่งที่ชาวยิวหลังยุคท่านศาสดามูซา  (อ.ล.)  จะได้ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์  (คะนาอัน)  บางส่วนและมีการสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลและอาณาจักรยูดายขึ้นในเวลาต่อมา  ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงต่อสู้กับชาวยิวมาโดยตลอด  เมื่อชาวยิวหมดสิ้นอาณาจักรของตนและแตกกระซ่านกระเซ็นไปยังดินแดนอื่น  ชาวปาเลสไตน์ ก็ยังคงอยู่ต่อมา  จนกระทั่งผ่านยุคของอิสลาม  ชาวปาเลสไตน์ซึ่งมีเชื้อสายอาหรับเซมิติกเช่นเดียวกับชาวอาหรับในคาบสมุทรอารเบียก็ถูกปลดแอกจากพวกโรมันไบแซนไทน์  และเข้ารับอิสลามนับแต่นั้น

 

        จวบจนถึงปลายสมัยอาณาจักรออตโตมันเติร์ก  (อุษมานียะฮฺ)  ในรัชสมัยสุลต่านอับดุลฮะมีด  ข่านที่  2  กลุ่มยิวไซออนิสต์สากลโดยมีธิออดอร์  เฮิร์ตเซล  เป็นผู้นำก็เริ่มดำเนินการแผนการ  “การกลับคืนสู่แผ่นดิน แห่งพันธสัญญา”  ของพวกตน  โดยอ้างเรื่องราวของประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิ้ลเก่า  เพื่อมาสนับสนุนความชอบธรรมในการยึดครองปาเลสไตน์และนครอัลกุดส์  (เยรูซาเล็ม)  ของพวกตน  สอดคล้องกับที่ ท่านซัยยิดสุลัยมาน  อัลฮุซัยนี ได้นำเสนอในบทสนทนาดังกล่าว  คุณอารีฟีนอาจจะเข้าใจว่ากรณีของ 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือรัฐปัตตานีเดิมเหมือนกับกรณีของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในประเด็นของการยึดครองและการสูญเสียเอกราช  ซึ่งก็อาจจะมองและวิเคราะห์เช่นนั้นได้  แต่การยึดครองปัตตานีดารุสสลามของสยามเมื่อ  200  กว่าปีที่แล้วเป็นการทำสงครามตามจารีตโบราณซึ่งนิยมกระทำกันในสมัยอดีตซึ่งเป็นการผนวกเอาดินแดนเข้ามาเป็นหัวเมืองประเทศราชแล้วให้ปกครองกันเองโดยที่สยามไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของหัวเมืองประเทศราช  และมีการส่งเครื่องบรรณาการเป็นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง  (บุหงามัศ)  เพื่อแสดงความสวามิภักดิ์เท่านั้น

 

        ครั้นเมื่อความเป็นชาติเดียวกันถูกสถาปนาขึ้นในภายหลัง  ผู้คนในดินแดนของหัวเมืองมลายูเดิมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองในชาติไปในที่สุด  ส่วนกรณีของอิสราเอลนั้นพวกยิวไซออนิสต์ได้อาศัยชาติมหาอำนาจในเวลานั้นคือ  อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในการนำเอาชาวยิว อพยพเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์เป็นจำนวนมากหลายระลอก  มีการกว้านซื้อที่ดิน  มีการสร้างคิบบุตช์หรือนิคมชาวยิวแล้วนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังของชาวยิวที่ ติดอาวุธโดยมีอังกฤษหนุนหลังแล้วก็ประกาศตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นในดินแดนของปาเลสไตน์  ชาวปาเลสไตน์และชาติอาหรับจึงต้องประกาศสงครามกับอิสราเอล  แต่แล้วอิสราเอลซึ่งมีความได้เปรียบในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่าชาวอาหรับก็สามารถกำชัยชนะแล้ว เข้ายึดครองนครอัลกุดส์และมัสญิดอัลอักศอได้ในที่สุดชาวปาเลสไตน์สูญเสียดินแดนเพราะถูกพวกยิวและมหาอำนาจรวมหัวกันปล้นชิงไปอย่างหน้าด้านๆ 

 

        ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวปาเลสไตน์ต้องสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากด้วยน้ำมือของชาวยิว   มีการยึดครองที่ดินทำกินของชาวปาเลสไตน์  ทำลายบ้านเรือน  มีการยึดครองมัสญิดของชาวมุสลิมที่ตั้งอยู่ในเขตของชาวยิว  มัสญิดอัลอักศอถูกยึดครอง  มุสลิมถูกกีดกันจากการประกอบศาสนกิจในมัสญิดอัลอักศอ  มีการสร้างแนวกำแพงระหว่างเขตอัลกุดส์กับเมืองอื่นที่มีชาวปาเลสไตน์เป็นพลเมืองส่วนใหญ่  และชาวปาเลสไตน์ถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณในเหตุการณ์อินติฟาเฎาะฮฺ  และอีกหลายครั้ง  ชาวปาเลสไตน์นับล้านคนต้องกลายเป็นผู้ไร้ดินแดนและอยู่ในค่ายอพยพของอียิปต์,  จอร์แดน,  ซีเรียและเลบานอน 

 

        ชาวยิวไม่เพียงแต่ยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์และมัสญิดอัลอักศอเท่านั้นแต่ยังได้บ่อนทำลายความเป็นอิสลามของชาวปาเลสไตน์อีกด้วย  หากเราจะสาธยายถึงความลำบากยากเข็ญและชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ตลอดจนการสร้างความเสียหายของชาวยิวที่ยึดครองแล้ว   ก็คงต้องแต่งหนังสือขึ้นมาหลายเล่มทีเดียวย้อนกลับมายังกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็ต้องถาม   คุณอารีฟีนว่า  สยามกระทำกับพลเมืองมลายูมุสลิมเหมือนอย่างที่ชาวยิวอิสราเอลได้กระทำกับชาวปาเลสไตน์หรือไม่?  มีการขับไล่ชาวมลายูออกจากดินแดนของตนหรือไม่  มีการยึดครองที่ดินทำกิน  ทำลายบ้านเรือน  ยึดครองมัสญิดและห้ามชาวมุสลิมประกอบศาสนกิจหรือไม่?  และอีกหลายคำถามเพื่อเทียบเคียงกับกรณีของปาเลสไตน์ซึ่งถ้าผลของคำถามออกมาว่าเหมือนหรือใช่!  ก็ต้องบอกกับคุณอารีฟีนว่า  เราต้องญิฮาดกันแล้วแหล่ะ  เพราะคำตอบมันยืนยันว่ามีการละเมิดต่อศาสนาอิสลามและสิทธิเสรีภาพของชาวมุสลิมในทุกประตู  แต่ถ้าตอบว่า  ไม่เหมือน!  หรือเหมือนในบางประเด็นเท่านั้นก็ต้องว่ากันไปตามหลักการและข้อเท็จจริง

 

        สำหรับคำถามที่ว่า  “เหตุใด  ชาวอาหรับจึงต้องต่อสู้กับชาวอิสราเอลผู้ยึดครองตั้ง  50  ปี  ตายแล้วเป็นล้านคน?  ทำไมชาวอาหรับจึงไม่ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลอิสราเอล  เมื่อรัฐบาลอิสราเอลยื่นมือขอประนีประนอม  เพื่อขออยู่ร่วมกันโดยสันติ?”  ก็ต้องขอชี้แจงว่า  เพราะนั่นเป็นการญิฮาดเพื่อปกป้องอิสลามและดินแดนของชาวมุสลิมซึ่งถูกอิสราเอลรุกรานและปล้นชิงไป  รัฐบาลอิสราเอลคือศัตรูของอิสลามและชาวมุสลิม  มืออันสกปรกของยิวอิสราเอลที่ชุ่มไปด้วยโลหิตของพี่น้องชาวปาเลสไตน์ที่ยื่นมาขอประนีประนอมกับชาวอาหรับนั้นเป็นมือของผู้สับปลับหน้าไหว้หลังหลอก  อิสราเอลไม่เคยปรารถนาความสันติอันใดเพราะพวกเขาคือผู้บ่อนทำลายบนหน้าผืนแผ่นดิน  และต้องขอยืนยันกับคุณอารีฟีนว่า  นี่คือพระประสงค์ของอัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ที่ทรงกำหนดให้ดินแดนนี้  (ปาเลสไตน์)  เป็นดินแดนแห่งการญิฮาด  และท่านศาสดา  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ก็ทรงประกาศเอาไว้แล้วว่า  ก่อนวันสิ้นโลกชาวมุสลิมจะทำสงครามใหญ่กับเหล่าชาวยิว  และสงครามนั้นจะเกิดขึ้น  ณ  ดินแดนนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกขานว่า  “ชาม”  นี่คือคำตอบ

 

        ต่อคำถามที่ว่า  ทำไมชาวอาหรับและกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ  เช่น  ฮิสบุลเลาะฮฺ  และฮามาส  จึงยังคงต่อสู้กับอิสราเอลจวบจนทุกวันนี้  อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ในปาเลสไตน์ทุกวันนี้จะยังไม่มีทางสัมฤทธิผล  ตราบใดที่พวกเขายังคงต่อสู้กันเพื่ออำนาจของกลุ่ม  พวกเขาจะสัมฤทธิผลก็ต่อเมื่อการต่อสู้ของพวกเขาเป็นการญิฮาด  เพื่ออิสลามและเทิดทูนพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้สูงส่งเท่านั้น

 

        ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ระบุว่า  “พระองค์อัลลอฮฺไม่ทรงห้ามสูเจ้าทั้งหลายจากบรรดาผู้ซึ่งพวกเขาไม่ได้สู้รบกับสูเจ้าทั้งหลายในทางศาสนาและไม่ได้ขับสูเจ้าทั้งหลายออกจากบ้านเรือนของสูเจ้าทั้งหลายซึ่งการที่สูเจ้าทั้งหลายจะกระทำดีกับพวกเขาและให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา  แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดปรานบรรดาผู้ดำรงความยุติธรรม  อันที่จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงห้ามสูเจ้าทั้งหลายจากบรรดาผู้ซึ่งพวกเขาสู้รบกับสูเจ้าทั้งหลายในด้านศาสนา  และขับพวกสูเจ้าออกจากบ้านเรือนของสูเจ้าทั้งหลายอีกทั้งสำแดงอย่างเปิดเผยต่อการสนับสนุนให้ขับไล่พวกเจ้าซึ่งการที่พวกเจ้าจะผูกมิตรกับพวกเขา  และผู้ใดผูกมิตรกับพวกเขา  ชนเหล่านั้นคือผู้อธรรม”  (อัลมุมตะฮินะฮฺ  8-9)

 

        หากเราได้พิจารณาถึงนับของโองการทั้ง  2  นี้เราจะพบว่ามีเงื่อนไขอยู่  3  ประการที่เป็นเหตุของการบัญญัติห้ามในการผูกมิตรกับชนต่างศาสนา  กล่าวคือ
        1)มีการสู้รบหรือต่อต้านชาวมุสลิมเนื่องด้วยเหตุ ของศาสนาและความเชื่อ 
        2)มีการขับไล่ชาวมุสลิมออกจากบ้านเกิดเมืองนอน 
        3)แสดงออกอย่างเปิดเผยในการสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือในการขับไล่ชาวมุสลิมออกจากดินแดนของตน 

 

        เงื่อนไขทั้ง  3  ประการนี้  มีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในกรณีของอิสราเอลที่ได้กระทำกับชาวมุสลิมปาเลสไตน์ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้ชาวมุสลิมผูกมิตรและยอมจำนนต่อรัฐบาลอิสราเอลและพวกยิวไซออนิสต์ได้ทั้งนี้เพราะพวกยิวไซออนิสต์  และรัฐบาลของอิสราเอลได้รุกรานและมุ่งทำลายศาสนาอิสลามทุกวิถีทาง  และขับไล่ประชาชนชาวปาเลสไตน์และยึดครองที่ดินทำกินของพวกเขา  ทำลายบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์เพื่อสร้างนิคมชาวยิว  และที่สำคัญยึดครองมัสญิดอัลอักศอซึ่งเป็นมัสญิดสำคัญอันดับ 3 ของชาวมุสลิมทั่วโลก  มีการวางเพลิงและพยายามขุดฐานล่างของมัสญิดอัลอักศอ  มีการกราดยิงผู้ประกอบพิธีละหมาดและอีกสารพัดการทำลายล้าง 

 

        ส่วนกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และชาวมุสลิมในประเทศไทยนั้น  เป็นสิ่งที่อาจจะมีภาวะคล้ายคลึงบ้างในบางกรณี  แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อยและมักจะเกิดจากความเข้าใจผิดที่มาจากฝ่ายรัฐ  แต่ก็ได้รับการเยียวยาแก้ไขมาโดยลำดับ  ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา  ไม่เคยมีการยึดครองมัสญิดและห้ามชาวมุสลิมในการประกอบศาสนกิจ  มุสลิมมลายูยังคงอยู่ในมาตุภูมิของตนไม่ได้ถูกขับไล่ออกนอกประเทศ  อิสลามและชาวมุสลิมในประเทศไทยยังคงดำรงอยู่อย่างที่เคยเป็นมาเมื่อหลายร้อยปีก่อน 

 

        ส่วนความอยุติธรรมที่ฝ่ายรัฐ  ได้เคยกระทำกับผู้คนใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มี  แต่นั่นก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้คนในชนบทที่อยู่ในเขตชายแดน  ส่วนอื่นถูกกระทำจากฝ่ายรัฐ  หรือข้าราชการหรือผู้มีอิทธิพลซึ่งผู้คนเหล่านั้นมิใช่ชาวมุสลิมแต่เป็นชาวพุทธด้วยซ้ำไป  และสภาพการณ์เช่นที่ว่านี้ก็มีออกดาษดื่นไปแม้กระทั่งในประเทศมุสลิมเอง  ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมามิได้หมายความว่า  ผมโปรฯ  รัฐบาลไทยหรือเป็นกระบอกเสียงแก้ต่างให้แก่รัฐ  แต่เพราะผมเป็นมุสลิมที่พยายามดำเนินตามครรลองของอิสลาม  ซึ่งสอนให้เราพูดความจริงและยอมรับข้อเท็จจริงตลอดจนการรับผิดชอบในสิ่งที่แสดงออกมา  เพราะผมจะต้องถูกสอบสวนและพิพากษาต่อสิ่งที่ผมได้พูดและแสดงเอาไว้ในวันแห่งการตัดสิน  “ข้าพเจ้ามิปรารถนาสิ่งใดนอกจากการ  อิศลาฮฺเท่าที่ข้าพเจ้ามีความสามารถและการเอื้ออำนวยของข้าพเจ้าย่อมมิอาจเกิดขึ้นนอกจากด้วยการเอื้ออำนวยของพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้น”

 

        สุดท้ายนี้  ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปคำวิจารณ์ของคุณอารีฟีนที่ว่า  “ชนผู้มีอารยธรรม  ย่อมไม่อาจหลีกหนีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติตนเองได้  เว้นแต่พวกชาวป่าซาไกหรือกลุ่มชนที่ไม่มีอารยธรรม”  แต่กระนั้นก็ต้องขอย้ำกับคุณอารีฟีนอีกครั้งว่า  ผมไม่ได้บอกให้พี่น้องชาวมุสลิมของผมหนีจากประวัติศาสตร์หรือลืมประวัติศาสตร์และรากเหง้าของตนเอง  แต่กลับบอกว่าประวัติศาสตร์คือบทเรียนอันทรงคุณค่าสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบันที่จะต้องแสวงหา  “อนุสติเตือนใจ”  และ  “ข้อใคร่ครวญ”  (อิบเราะฮฺ)  จากประวัติศาสตร์นั้น

 

        และคนที่จมปลักอยู่กับอดีตโดยไม่วิเคราะห์และปรับปรุงแก้ไขในเวลาปัจจุบันก็ย่อมมิอาจจะสืบสานอารยธรรมที่สั่งสมมาให้ดำรงสืบไปได้  และอารยธรรมใด ๆ ก็ตามที่ขาดหลักธรรมคำสอนของศาสนาเป็นเครื่องนำทาง  อารยธรรมนั้นให้สูงล้ำและเป็นเลิศเพียงใดก็ย่อมไร้ค่า  มีสภาพไม่ต่างอะไรกับวิถีของชาวป่าซาไกนั่นเอง  (เท่าที่ผมอ่านจากตำรับตำรามานั้น  พวกซาไกจัดอยู่ในพวกนิกริโตซึ่งก็เป็นชาติพันธุ์ดึกดำบรรพ์ของชาติพันธุ์มลายูโบราณก่อนที่พวกโปรโตมลายูและดิวเทอโรมลายูจะเคลื่อนย้ายลงมาในแหลมมลายูนี่นา)

“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺจะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใดจนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของตัวเองเสียก่อน”  (อัลกุรอ่าน,  อัรเราะอฺดุ้  : 11)

 

วัสลามุอะลัยกุมวะเราะฮฺม่าตุ้ลลอฮิว่าบ้าร่อกาตุฮฺ
สันติ เสือสมิง   (อาลี บิน อะฮฺหมัด)
ค่ำคืนที่ 1 เชาว๊าล  ฮ.ศ.1428  (อีดุลฟิตรี่  อัลมุ่บารอก)