จดหมายชี้แจงข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนเพื่อความเข้าใจและความสมานฉันท์

        เรียน  พระคุณเจ้า พระศรีญาณโสภณ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

        สืบเนื่องจาก ปรากฏเอกสารการบรรยายเรื่อง “สถานการณ์ปัจจุบันของพระพุทธศาสนาและหน้าที่ของชาวพุทธ”  ซึ่งบรรยายโดยพระคุณเจ้า ตีพิมพ์ในเอกสาร  “การอบรมอาสาสมัครช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแลและขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชน”  จัดโดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (5 ธันวาคม 2550) หน้า 58-67 กระผมในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่เกิดอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน ได้อ่านถ้อยความคำบรรยายของพระคุณเจ้าแล้ว เกิดความไม่สบายใจต่อเนื้อหาโดยรวมในคำบรรยายดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายประการ อันจักทำให้เกิดความเข้าใจผิดและมีอคติต่อพี่น้องร่วมชาติ และกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวพุทธศาสนิกชนกันชาวไทยมุสลิม ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมาอย่างโดยดีตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

 

        ในฐานะที่กระผมเป็นอิสลามิกชนชาวไทย ขอเรียนกับพระคุณเจ้าด้วยความจริงใจและจิตอันบริสุทธิ์ว่า ข้อที่พระพุทธศาสนามีความสำคัญ เพราะเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ข้อนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ แม้ชาวมุสลิมไทยโดยรวม ก็หาได้มีข้อขัดข้องแต่อย่างใดไม่ เพราะพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทยถือในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาหลักที่มีส่วนในประวัติศาสตร์ของชาติมาโดยตลอด  คงไม่มีผู้ใดจะอาจหาญปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว  แต่ความเป็นชาติอันมีพระพุทธศาสนาเป็นปฐมบท นั้นก็มิได้หมายความว่า พลเมืองในชาติที่นับถือในศาสนาอื่น ปราศจากความมีส่วนร่วมในความเป็นชาติ ซึ่งสถาปนาขึ้นเป็นปึกแผ่นจากความหลากหลายของผู้คนในชาตินั้น การเบียดบังคุณูปการและการมีส่วนร่วมของศาสนิกชนอื่นที่เป็นสมาชิกของความเป็นชาติย่อมถือได้ว่าเป็นการมีอคติและถือเป็นมิจฉาทิฐิ ซึ่งเรื่องเช่นนี้เป็นสิ่งที่ ไม่พึงประสงค์ ถือเป็นอกุศลกรรมอย่างหนึ่ง

 

        กระผมใคร่ขอนำเรียนพระคุณเจ้าถึงคำกล่าวของผู้เป็นปราชญ์แห่งแผ่นดินสยาม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านเองก็เป็นพุทธบริษัท โดยท่านได้กล่าวว่า :
        “ประเทศไทยนี้มิใช่ของคนของหมู่ใด คณะใดมาสร้างขึ้นโดยเฉพาะ ประเทศไทยเริ่มต้นด้วยคนหลายชาติ หลายศาสนามารวมเข้าอยู่ภายใต้การปกครองอันเดียวกัน มีโชคชะตาแห่งชีวิตร่วมกัน ต้องเผชิญข้าศึกศัตรูร่วมกัน ต้องเผชิญภัยธรรมชาติต่างๆ ร่วมกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นเช่นนี้มาแต่แรก การนับถือศาสนาเป็นเรื่องของการเลื่อมใส เป็นเรื่องการเห็นดีเห็นชอบในใจของมนุษย์แต่ละท่านแต่ละคน ไม่มีใครจะบังคับกันได้ ศาสนามิได้เป็นเครื่องกีดขวางที่จะทำให้คนไม่รักชาติคนตน ไม่รักคนที่อยู่ในชาติเดียวกัน……..เพราะฉะนั้นคติใดๆ ก็ดีที่ว่า มุสลีมีนเป็นชนอีกส่วนหนึ่ง ไม่มีอะไรผูกพันกับประเทศไทยหรือข้อกล่าวหาที่ว่ามุสลีมีนไม่ใช่คนไทย เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นจริงโดยสิ้นเชิง หลักฐานต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมีน้อย แต่เท่าที่มีก็ปรากฏชัดว่า มุสลีมีนได้มีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยขึ้นมาจากสมัยโบราณ จนตกมาเป็นประเทศไทยที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้” (ปาฐกถาของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง “ความเป็นมาของมุสลิมในประเทศไทย”  แสดงที่ห้องประชุมคุรุสภา สวนกุหลาบวิทยาลัย ตามคำเชิญของ  “พิทยสามัคคีสมาคม”  วันที่ 12 กรกฎาคม 2501)

 

        ข้อที่ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ล้วนแต่ผนวชในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น… เรามีพระมหากษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลาที่เราสร้างชาติบ้านเมืองมา ไม่มีรัชกาลใดนับถือศาสนาอื่น” ข้อนี้ก็คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ แต่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก็ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกแก่ศาสนาอื่นๆ เท่ากัน เหตุนี้ชนต่างชาติต่างภาษาและพ่อค้าวาณิชจึงเข้ามาอยู่เมืองไทยได้อย่างสันติสุข… ประชาชนทุกสารทิศหลั่งใหลเข้ามาผสมผสานกัน จากการมีเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมทีแตกต่างกัน มาเป็นคนกลุ่มเดียวกันในนามของชาวสยามหรือคนไทย มีภาษาและวัฒนธรรมร่วมกัน ภายใต้การปกครองที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กรุงศรีอยุธยาของเรา,ศรีศักร วัลลิโภคม,สำนักพิมพ์มติชน 2541 หน้า 4-5)

 

        แม้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน จะทรงเป็นพุทธมามกะ แต่พระองค์ก็ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกด้วยในคราเดียวกัน พระปฐมบรมราชโองการที่ทรงแสดงไว้เมื่อแรกเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินั้น ก็ทรงประกาศชัดเจนต่อหมู่ผสกนิกรของพระองค์ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  พระปฐมบรมราชโองการนั้นทรงตรัสเอาไว้อย่างเป็นกลาง อุดมด้วยทศพิศราชธรรม มิได้ทรงแยกแยะผสกนิกรของพระองค์ออกเป็นหมู่เป็นเหล่าแต่อย่างใด คำว่า  “มหาชนชาวสยาม”  นั้นมีนัยครอบคลุมไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่าโดยมิแบ่งแยก ด้วยเหตุของชาติพันธุ์ ภาษา หรือศาสนา ศาสนิกชนของทุกศาสนาต่างก็แซ่สร้องในพระมหากรุณาธิคุณอันแผ่ไพศาลนั้น ไม่ว่าผสกนิกรเหล่านั้นจะเป็นพุทธศาสนิกชน คริสตชน มุสลิม ซิกข์ ฮินดู-พราหมณ์ ต่างก็ซาบซึ้งในบุญวาสนาที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารทั้งสิ้น

 

        การที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า  “ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เจริญได้ด้วยกษัตริย์ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช มือของพระมหากษัตริย์เอื้อมมาไม่ถึงพระพุทธศาสนาเท่าที่ควรจะเป็น สนับสนุนได้ แต่พิทักษ์รักษาไม่ค่อยได้” นั้น  ก็อาจจะมีส่วนเป็นไปได้ตามการวิเคราะห์ของพระคุณเจ้า แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว บทบาทของพระมหากษัตริย์ในการสนับสนุน ทำนุบำรุง และพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นไปได้ด้วยดี มิได้ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่น้อย จะว่าเอื้อมมือมาไม่ถึงอย่างที่ควรจะเป็นหรือพิทักษ์รักษาไม่ค่อยได้นั้น ออกจะเป็นการดูแคลนพระปรีชาสามารถและความยึดมั่นในบวรพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์อยู่ในที

 

        เพราะการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาในฐานะที่ทรงเป็นพุทธราชาหรือธรรมราชาของพระมหากษัตริย์ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศนั้น ก็ยังคงปรากฏเด่นชัดอย่างที่รับรู้กัน แต่การสนับสนุน ทำนุบำรุงตลอดจนการพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนานั้น ก็หาใช่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เพียงแต่ฝ่ายเดียว หากแต่ยังรวมถึงเหล่าพุทธบริษัททั้งหลายอีกด้วย หากเหล่าพุทธบริษัทขาดความเอาใจใส่ในการทำนุบำรุงพระศาสนาเหมือนอย่างสถานการณ์ที่พระคุณเจ้าปรารภและแสดงความวิตกเอาไว้ในคำบรรยายดังกล่าวแล้วไซร้ ต่อให้พระธรรมราชาหรือพุทธราชาเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทในการพิทักษ์รักษาพระศาสนามากเพียงใด แต่พุทธบริษัทอ่อนแอและมีสภาพอย่างที่เป็นที่รู้กันในขณะนี้ ความเสื่อมตามโลกธรรมก็ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และสนิมนั้นเกิดแต่เนื้อในเหล็กหาใช่อื่น

 

        เรามักจะโทษปัจจัยภายนอกหรือคนอื่นที่เราเข้าใจว่าเป็นศัตรู แต่เราหลงลืมตัวเราเองหรือปัจจัยภายในที่เป็นศัตรูตัวฉกาจไปเสียสิ้น พระคุณเจ้ากล่าวขัดแย้งกันในที่ว่า “หลังจากเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนานั้น คลอนแคลนลงมาเรื่อยๆ ไม่ค่อยมั่นคงเท่าที่ควร” แสดงว่าพระพุทธศาสนาในยุคประชาธิปไตยขาดความมั่นคงและอ่อนแอกว่าเมื่อครั้งยังมีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่พระคุณเจ้ากลับกล่าวในทำนองขัดแย้งกันว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 75 ปี พระพุทธศาสนาในบ้านเราก็เจริญรุ่งเรือง มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระภิกษุสามเณร มีระบบการบริหารการคณะสงฆ์ที่ดี พุทธศาสนิกชนก็เพิ่มขึ้นมาก” ตกลงว่า ตลอดระยะเวลาของระบอบประชาธิปไตยนั้น (คือ 75 ปี ตามที่พระคุณเจ้าระบุ) พระพุทธศาสนาคลอนแคลนหรือว่าเจริญรุ่งเรืองกันแน่?

 

        ข้อที่ว่า “พระพุทธศาสนาของเราถูกเหตุการณ์ต่างๆ รุกรานมามาก ตั้งแต่เริ่มต้นที่ประเทศอินเดีย ถูกรุกรานด้วยมุสลิม เติร์กฆ่าพระ บั่นคอพระ ฟันพระ และเผามหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของพระชื่อ นาลันทา จนกระทั่งเหลือแต่เถ้าถ่าน”   ข้อนี้เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของสงครามทางจารีตประเพณีของผู้คนในยุคอดีตเก่าก่อน การรุกรานระหว่างชนชาติที่มีกำลังทหารเข้มแข็งมากกว่าและตามมาด้วยความสูญเสียและความเสื่อมของฝ่ายที่ปราชัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ข้อกล่าวหาที่ว่า ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมเป็นผู้รุกรานและทำลายพระพุทธศาสนาจนเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย นั้นดูจะเป็นการจงใจกล่าวหาอย่างมีอคติ และขาดการศึกษาประวัติศาสตร์ของชมพูทวีปอย่างรอบด้าน

 

        ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาเองก็ถูกเอาชนะด้วยการโต้วาทีจากปราชญ์ฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู จนเป็นที่ยอมรับกันไปทั่ว จนปราชญ์ฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู เช่น ท่านกุมาริละ และท่านศังกราจารย์ ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้พิชิต” ปราชญ์ฝ่ายพุทธ (กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, อโศกมหาราช, สำนักพิมพ์สยาม 2539 หน้า 134) ครั้งเมื่อราชวงศ์เมารยะดับสูญ และคนในวรรณะพราหมณ์มีโอกาสได้เป็นใหญ่ จึงเป็นเหตุให้พวกพราหมณ์ฟื้นฟูลัทธิศาสนาเป็นการใหญ่ พระเจ้าปุษยมิตร (ซึ่งเดิมเป็นพราหมณ์ในนิกายสามเวท) แสดงพระองค์เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาเต็มที่ มีการขับไล่ภิกษุสงฆ์ที่กุกกุฎารามและอโศการาม ทำร้ายคณะสงฆ์และทำลายวัดวาอารามของพระพุทธศาสนา ถึงกับตั้งรางวัลให้ผู้ตัดศีรษะภิกษุ ตั้งแต่ 1 ศีรษะขึ้นไป จนภิกษุสงฆ์ต้องหนีจากแคว้นมคธไปอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคใต้ของอินเดียมากขึ้น (เสถียร โพธิ์นันทะ , ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา , พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ ,มหากุฎราชวิทยาลัย 2541 หน้า 193-194)

 

        นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำลายพระพุทธศาสนาในอินเดียซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมหลายร้อยปี แม้ในสมัยราชวงศ์คุปตะ ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระราชาแห่งเมืองปาฎลีบุตร ผู้มีพระนามว่า จันทรคุปต์ (เป็นปี 308 A.D, ภายหลังพระเจ้าอโศกมหาราช 534 ปี) พระองค์ทรงอภิเษกกับพระนามกุมราเทวีแห่งลิจฉวีวงศ์ ทรงประกาศสงครามศาสนากับพวกกุศานะ (ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา) แล้วโค่นอาณาจักรของพวกนี้ลงได้ พระองค์ทรงดำเนินตามรอยพระเจ้าปุษยมิตรอีกครั้งหนึ่ง คือ ทรงยกย่องลัทธิพราหมณ์ (สมัคร บุราวาศ, ปรีชาญาณของสิทธัตถะ,สำนักพิมพ์ศยาม, 2537 หน้า 342)

 

        ราชวงศ์คุปตะครองอินเดียส่วนเหนืออยู่ถึง 150 ปี อาณาจักรเริ่มสลายตัว พวกฮั่นหรือหูณจากเอเชียกลางก็มาโจมตีอินเดียเหนือได้ ได้ทำลายเมืองปาฏลีบุตรและปล้นสะดมวัดพระพุทธศาสนา แล้วสังหารชีวิตสงฆ์เสียมาก พวกฮั่นปกครองอินเดียอยู่ได้เพียง 50 ปี ในศตวรรษที่ 7 A.D. พระเจ้าหรรษวรรธนะก็ทรงขับไล่พวกนี้ออกไปได้… พระเจ้าหรรษวรรธนะทรงสวรรคตใน ค.ศ.648 เป็นปีเดียวกับที่พวกอิสลามได้รุกจากอารเบียนมาสู่เอเชีย แล้วประมาณ 1000 A.D. พวกอิสลามก็มาสู่อินเดีย หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาก็หมดจากอินเดียไปเลย อิสลามน่าจะไม่ใช่ผู้ทำลายพุทธศาสนาให้สูญไปจากอินเดียอย่างที่โลกเข้าใจกันเลย เพราะจากบันทึกของจีน พระพุทธศาสนาได้ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ อยู่แล้วในอินเดีย ในศตวรรษที่ 7 ตอนปลาย หลวงจีนอิจิง รายงานว่า ศาสนาพุทธกำลังจะหมดไปจากอินเดียแล้ว ต่อมามีการฟื้นฟูพุทธศาสนาในเมืองมคธอีกหน่อยหนึ่งภายใต้ราชวงศ์ปาละ

 

        แต่เมื่ออิสลามเข้ามามีอำนาจในอินเดียนั้น หากพวกเขาจะชอบทำลายศาสนาอื่นจริง ศาสนาพุทธก็ไม่มีอะไรเหลือให้ทำลายมากนัก (อ้างแล้ว หน้า 343) อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของอิสลามเป็นมรสุมลูกสุดท้ายที่กระหน่ำให้  “พุทธนาวา”  พังพินาศและจมหายไปในท้องมหาสมุทรอินเดีย เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า อันที่จริงแล้วในช่วงเวลานั้น  “พุทธนาวา”  ลำนี้ก็อยู่ในสภาพชำรุดเต็มประดา ด้วยท้องนาวาถูกแมงกะพรุนตันตระกัดกินเป็นรูรั่วน้ำไหลเข้าได้จวนเจียนจะพลิกคว่ำอยู่แล้ว  (กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, อ้างแล้ว หน้า 137)

 

        ถึงแม้ว่าในความเชื่อของพุทธศาสนิกชนจะปักใจว่าอิสลามและมุสลิม คือ ผู้ทำลายพุทธนาวาและทำให้พระพุทธศาสนาดับสูญจากพุทธภูมิในชมพูทวีป นั่นก็เป็นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านพ้นมาแล้ว การกระทำของผู้คนในยุคนั้นย่อมเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมที่ได้กระทำเอาไว้ หากนำเอาการกระทำของคนหมู่หนึ่งมาตัดสินและเหมารวมผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีส่วนร่วม ก็คงจะเป็นสิ่งที่มิชอบด้วยหลักของเหตุผลและปัญญา การที่ชาวมุสลิมหรือชนชาติเติร์กฆ่าพระสงฆ์และเผามหาวิทยาลัยนาลันทานั้น ตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลามก็ถือว่าไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง เพราะในการทำสงครามตามหลักนิติธรรมอิสลามนั้น ระบุห้ามในการประหัตประหารนักการศาสนา ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวง นักพรต หรือพระสงฆ์องค์เจ้า หลักธรรมคำสอนคือสิ่งที่จะชี้ขาดว่าอะไรถูกอะไรผิด ส่วนการกระทำของปุถุชนที่ค้านกับหลักธรรมคำสอนจะนำเอามาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินหลักธรรมคำสอนของศาสนาว่าสอนอย่างนั้นคงมิได้ เพราะคงไม่มีผู้มีปัญญาคนใด กล่าวตู่ว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ฆ่าคน ทำลายชีวิต วัดวาอาราม เผาพระพุทธรูป เพียงเพราะการกระทำของพวกพม่ารามัญที่เผากรุงศรีอยุธยาและวัดวาอารามจนราบพนาสูร พวกพม่ารามัญที่รุกรานสยามประเทศและทำลายกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง 2 ครา โดยครั้งหลังหนักที่สุดนั้น ต่างก็เป็นพุทธศาสนิกชน เช่น ชาวสยามนั่นเอง

 

        แม้สงครามจารีตประเพณีที่สยามกระทำกับหัวเมืองประเทศราช เช่น ศรีสัตนาคนหุต (ลาว) ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีบันทึกในพงศาวดารว่า มีการเผาวัดวาอารามของชาวล้านช้างเช่นกัน หากจะเอาการกระทำของคนหมู่หนึ่งหมู่ใดที่เป็น ศาสนิกชนในแต่ละศาสนามาชี้ขาดว่าศาสนานั้นๆ สอนให้กระทำอย่างนั้นก็คงเป็นการด่วนสรุปเอาเอง ในประวัติศาสตร์ คริสตชนก็เคยฆ่าและทำสงครามทั้งกับชาวคริสต์ด้วยกันเองและชนต่างศาสนา ดังเช่น ในสงครามครูเสด ชาวฮินดู-พราหมณ์ ก็เคยทำสงครามและประหัตประหาร ชาวยิวที่ถือในศาสนายูดายก็เคยประหัตประหารชาวคะนาอัน ชาวมุสลิมก็เช่นกัน และแม้แต่ชาวพุทธก็ประหัตประหารกันเอง ฆ่ากันเอง ดังสงครามในประวัติศาสตร์ที่เป็นที่ทราบกันดี คงไม่มีผู้ใดด่วนสรุปว่า ศาสนาคริสต์สอนให้ฆ่าคน ศาสนาพุทธสอนให้ฆ่าคน ศาสนาอิสลามสอนให้ฆ่าคน หลักธรรมคำสอนอันเป็นสิ่งที่มีบัญญัติในศาสนานั้นเรื่องหนึ่ง การกระทำของปุถุชนที่อ้างอิงกับศาสนานั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะเหมารวมว่าเป็นเรื่องเดียวกันอย่างสนิทนั้นคงมิได้

 

        พระคุณเจ้าวิจารณ์รายการโทรทัศน์ทางช่อง 5 ที่ชื่อ  “เพื่อแผ่นดิน”  มีคุณนิติภูมิ เนาวรัตน์ กับนักวิชาการอีกคนหนึ่ง ออกมาพูดแก้ต่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ว่า ไม่ใช่ฝีมือของคนไทยมุสลิม เพราะประวัติศาสตร์ มุสลิมไม่เคยฆ่า มีแต่สันติ จนเป็นเหตุให้พระคุณเจ้าต้องโทรศัพท์ไปประท้วงกองทัพบกนั้น กระผมก็มิอาจทราบได้ว่า เป็นเพราะโมหาคติของพระคุณเจ้าเองหรือไม่ คุณนิติภูมิ ก็เป็นพุทธศาสนิกชน มิใช่ชาวมุสลิมแน่นอน และการแก้ต่างว่ามิใช่ฝีมือของคนไทยมุสลิมก็เป็นความเห็นของคุณนิติภูมิเอง ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้

 

        กระผมไม่ปฏิเสธว่าผู้ก่อการและสร้างความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ย่อมจะมีคนมุสลิมบางกลุ่มเข้าไปมีส่วนอย่างแน่นอน เพราะในคนหมู่มากย่อมจะมีปะปนกันทั้งคนดีและคนเลว มุสลิมก็ไม่ได้มีข้อยกเว้น แต่มุสลิมประเภทนี้ย่อมถือว่าเป็นผู้ทำลายศาสนาและสร้างความเสื่อมเสียให้กับภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมโดยรวม ครั้นจะกล่าวหาว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของพวกมุสลิมจำพวกนี้ทั้งสิ้น ก็คงจะกล่าวมิได้  เพราะอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น บางทีก็มิใช่เรื่องของการสร้างสถานการณ์ไปเสียทั้งหมด อาชญากรที่เป็นชาวพุทธในจังหวัดอื่นที่ฆ่าแกงกันอย่างไม่สะทกสะท้านต่ออาญาบ้านเมืองและเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีออกเกลื่อนไป แต่สื่อไม่ได้ลงว่า “โจรพุทธ” เท่านั้นเอง ไม่เหมือนกับกรณีของชาวมุสลิมซึ่งมักจะถูกใส่คำต่อท้ายว่า โจรมุสลิม , ขบวนการก่อการร้ายมุสลิม , พวกมุสลิมหัวรุนแรง…ฯลฯ

 

        กล่าวคือ เอาความเป็นศาสนิกชนที่สื่อถึงศาสนาเข้ามาต่อเติมในการสื่อ พระคุณเจ้าคงไม่เคยได้ยินว่ามีการเรียกอาชญากรหรือคนร้ายว่า โจรคริสต์ , กบถฮินดู , พวกสิบแปดมงกุฎ หรือพวกโจรพุทธปล้นธนาคาร เป็นต้น แต่สำหรับชาวมุสลิมแล้วเป็นเรื่องธรรมดาที่สื่อไทยและสื่อตะวันตกมักจะพ่วงคำเหล่านี้เข้าไปด้วยเสมอ ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับการยัดเยียดข้อกล่าวหาแบบดิบๆ และพิพากษาแบบเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาคดีแต่อย่างใด หากพระคุณเจ้ารักความยุติธรรมและมีพรมวิหาร 4 แล้ว พระคุณเจ้าก็น่าจะโทรศัพท์เข้าไปท้วงติงสำนักข่าวที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ , วิทยุเกี่ยวกับประเด็นนี้เสียบ้าง จะถือเป็นการโปรดสัตว์ก็คงได้ เหมือนดังกรณีที่พระคุณเจ้าขาดขันติธรรมเมื่อดูรายการข้างต้น จนต้องโทรศัพท์เข้าไปทักท้วงนั่นแล

 

        สำหรับข้อแก้ต่างของคุณนิติภูมิ ที่บอกว่า “ประวัติศาสตร์มุสลิมไม่เคยฆ่า มีแต่สันติ” ก็ต้องขอเรียนว่า ใจความและนัยของประโยคนี้ดูจะรวบรัดและสรุปเกินไป อีกทั้งยังสับสนปนเปกับหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลามที่มุ่งเน้นการสร้างสันติภาพและการให้ความสำคัญกับชีวิตของมนุษย์ โดยเอาไปปนเปกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม ซึ่งแน่นอนการสรุปว่า มุสลิมไม่เคยฆ่านั้น คงจะค้านและฝืนกับข้อเท็จจริง เพราะในประวัติศาสตร์นั้น ชาวมุสลิมต้องทำสงครามปกป้องศาสนาและรัฐอิสลามซึ่งถูกคุกคามจากทั้งฝ่ายผู้ปกครองมักกะฮฺและพันธมิตรและจักรวรรดิโรมันกับจักรวรรดิเปอร์เซีย  ทั้งๆ ที่ฝ่ายมุสลิมมีกำลังน้อยกว่าในเกือบทุกสมรภูมิ แต่สงครามเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นภายหลังการเผยแผ่ศาสนาของท่านศาสดามุฮำมัดและเหล่าอัครสาวกโดยสันติวิธีตลอดระยะเวลา 13 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว มุสลิมถูกกดขี่และถูกทารุณกรรมแต่ฝ่ายเดียว แม้เมื่อท่านศาสดาและเหล่าอัครสาวกอพยพลี้ภัยสู่นครมาดีนะฮฺและสถาปนารัฐอิสลามแล้ว พวกศัตรูก็ยังคงยกทัพมาตามราวีอย่างไม่หยุดหย่อน มุสลิมซึ่งหมายถึง ผู้รักสันติก็จำต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม

 

        การฆ่ากับสงครามย่อมเป็นสิ่งคู่กัน แต่ถ้าหากศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามอย่างถ่องแท้แล้วจะพบว่า ชาวมุสลิมมิได้กระหายสงครามหรือเข่นฆ่าชนต่างศาสนาจนสูญสิ้น การมีประชาคมชาวคริสต์, ชาวยิวคงอยู่ท่ามกลางประชาคมมุสลิมในประเทศมุสลิมทุกวันนี้ ย่อมเป็นสักขีพยานได้เป็นอย่างดี  ศาสนาอิสลามถือเป็นระบอบการดำเนินชีวิต มีหลักนิติธรรมชัดเจนในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นหลักศรัทธา หลักวัตรปฏิบัติ การเมืองการปกครอง นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การครองเรือน ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการทำสงคราม ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ชาวมุสลิมจะมีกฎหมายชะรีอะฮฺในการปกครอง  ศาสนิกชน มีระบบเศรษฐศาสตร์ที่นำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอิสลาม เพราะในหลักนิติศาสตร์อิสลามมีหมวดที่ว่าด้วยการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้า กล่าวโดยสรุป ศาสนาอิสลามมิได้แบ่งแยกเรื่องทางโลกออกจากทางธรรม หรือแบ่งแยก ศาสนจักรออกจากอาณาจักรแต่อย่างใด ทุกแง่มุมอันเกี่ยวกับโลกียะจะมีหลักธรรมของศาสนาเป็นเครื่องกำกับและชี้นำเสมอ

 

        กรณีที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงคุณอารี วงศ์อารยะ ว่า ไปเปิดงานแล้วเขาให้รูปรัชกาลที่ 5 มาสักการะ เขาบอกว่าก้มคำนับไม่ได้ เขาบอกว่า ً”หน้าผากมีไว้ก้มคำนับพระเจ้าเท่านั้น” สิ่งที่คุณอารีกล่าวนั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีหลักศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว จะไม่มีการเคารพสักการะต่อสิ่งอื่นนอกจากพระองค์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นวัตถุ รูปเคารพ หรือบุคคลตลอดจนสรรพสิ่งทั้งปวง การก้มกราบเป็นสิ่งที่สงวนเอาไว้เฉพาะองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เรื่องนี้เป็นหลักความเชื่อขั้นพื้นฐานในศาสนาอิสลามซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่น เป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายที่จะต้องยอมรับซึ่งกันและกัน

 

        การที่คุณอารีและชาวมุสลิมไม่เคารพสักการะสิ่งอื่นใดนอกจากพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง ย่อมถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมและหาได้เบียดเบียนต่อผู้อื่นไม่ ทุกศาสนาล้วนแต่มีกฎเกณฑ์ควบคุมศาสนิกชนของตน หากคนมุสลิมก้มลงกราบต่อสิ่งอื่นนอกจากพระผู้เป็นเจ้า ก็ย่อมถือว่ามุสลิมผู้นั้นสิ้นสภาพจากความเป็นมุสลิม ชาวคริสต์ก็คงไม่สักการะต่อรูปเคารพในศาสนาอื่นฉันใด มุสลิมก็เป็นเช่นนั้น ส่วนพุทธศาสนิกชนก็มีหลักไตรสรณคมน์ คือ การเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก หากพุทธศาสนิกชนไปยึดเอาสิ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัยแล้วไซร้ ก็ย่อมได้ชื่อว่าพ้นจากไตรสรณคมน์ 

 

        ฉะนั้นกระผมจึงไม่เข้าใจว่า ด้วยเหตุใดพระคุณเจ้าจึงเอาเรื่องของคุณอารี มากล่าวพาดพิง หรือจะต้องให้คุณอารีก้มลงกราบต่อพระรูปของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 5 พระคุณเจ้าถึงจะต้องจริต! พระคุณเจ้าพอใจกับการที่ศาสนิกชนอื่นกระทำผิดต่อหลักความเชื่อของศาสนาตนกระนั้นหรือ? การที่มีชาวมุสลิมปรากฏอยู่หน้าจอโทรทัศน์ช่องกองทัพบกเป็นประจำทุกวันนั้น (ซึ่งคงไม่ใช่ทุกวัน แต่โฆษณาของบริษัทสุราต่างหากที่ออกอากาศทุกวัน ที่เหลือก็เป็นละครจำอวดและมหรสพทั้งหลาย) กระผมไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาตรงไหน ในเมื่อว่าคนมุสลิมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้น ไม่ได้ผิดศีลธรรมหรือผิดกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด หรือพระคุณเจ้าเห็นว่าชาวมุสลิมที่ออกรายการโทรทัศน์เป็นโจรก่อการร้าย เป็นมารพระศาสนา ในขณะที่พระคุณเจ้าไม่ได้แสดงความวิตกเลยแม้แต่น้อยว่าสื่อโทรทัศน์ทุกวันนี้ กำลังมอมเมาเยาวชนในทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นวิกฤติสำหรับทุกฝ่ายไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นชาวพุทธที่เป็นห่วงต่อสถานการณ์ของเยาวชนหรือเป็นมุสลิมก็ตาม

 

        กรณีที่พระคุณเจ้ากล่าวถึง อบต.ท่าศาลา จังหวัดลพบุรี อนุมัติงบประมาณสร้างมัสยิด โดยใช้เงินของเราคำว่า ใช้เงินของเรานั้น กระผมมิทราบว่าพระคุณเจ้าหมายถึงเงินของใคร หากหมายถึงเงินงบประมาณของ อบต. ก็ต้องบอกว่านั่นเป็นเงินส่วนกลางที่ได้จากภาษีท้องถิ่น ซึ่งคงมิใช่เงินของชาวพุทธแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นเงินภาษีซึ่งถือเป็นงบประมาณส่วนกลางที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บจากประชาชน ซึ่งมิได้หมายเฉพาะชาวพุทธ แต่รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ชาวมุสลิมที่เป็นคนไทยก็ต้องเสียภาษีไม่ได้รับข้อยกเว้น กระผมก็เสียภาษี เพราะกระผมเป็นคนไทย เมื่อมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ เงินภาษีทุกวันนี้จัดเก็บจากคนมุสลิมก็มากอยู่ การที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นชาวพุทธ อาจจะไม่ได้หมายความว่า เงินภาษีทั้งหมดมาจากชาวพุทธเท่านั้น เพราะชาวพุทธที่ยากจนไม่มีรายได้มากถึงขั้นต้องเสียภาษีก็มีเป็นจำนวนมาก

 

        ชาวมุสลิมไทยในภาคกลางและภาคใต้ ส่วนใหญ่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐเป็นจำนวนเงินมิใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาษีโรงเรือน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เป็นต้น พระคุณเจ้าเองเป็นสมมติสงฆ์ เป็นบรรพชิตเคยเสียภาษีให้แก่รัฐหรือไม่? เมื่อมุสลิมที่เป็นคนไทยมีสัญชาติไทย มีสิทธิพลเมืองและเสียภาษีให้แก่รัฐ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวมุสลิม จะมีสิทธิเป็นประธาน อบต. เป็น สส. หรือ สว. ถ้าหากได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งคนที่เลือกก็มีทั้งชาวพุทธและคนต่างศาสนิก เป็นไปตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การที่มีชาวมุสลิมบางคนได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธาน อบต. หรือ สส. ในจังหวัดแถบภาคอีสาน นั่นคงมิใช่เหตุปัจจัยที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมแต่อย่างใด เพราะชาวมุสลิมเหล่านั้นเข้าไปทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งเป็นชาวพุทธโดยส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของการเมืองการปกครอง คงไม่มี สส. หรือ สว. คนใดที่เป็นชาวมุสลิมอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนไปใช้ในการรุกรานพระพุทธศาสนา เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประชาชนในท้องถิ่นภาคอีสานซึ่งเป็นชาวพุทธเกือบทั้งสิ้นก็คงไม่ยอมเป็นแน่แท้

 

        พระคุณเจ้ากล่าวว่า ไปบรรยายที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วไปบรรยายต่อที่จังหวัดขอนแก่น พระสงฆ์จำนวนนับ 1000 รูป ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไกลเหตุการณ์มากเกินไป นึกว่าเกิดขึ้นแค่ 3 จังหวัด แล้วพระคุณเจ้าก็บอกกล่าวว่า ข้างวัดศรีจันทร์ มีบ้านของโต๊ะอิหม่าม สุเหร่าเกิดขึ้นแล้ว พระคุณเจ้าแสดงความไม่สบายใจระคนกับความวิตกจริต ความจริงพระคุณเจ้าก็จำวัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร ไฉนเลยจึงไม่เคยสังเกตว่า วัดวาอารามในพระพุทธศาสนาอยู่เคียงข้างกับมัสยิดและชุมชนชาวไทยมุสลิมอยู่ออกดาษดื่น ข้างวัดเทพลีลา (วัดตึก) ก็มีมัสยิดอยู่ในละแวกใกล้เคียง ผู้คนเรียกกันติดปากว่า “สุเหร่าวัดตึก” ถัดจากตรงนั้นก็มีวัดกลาง มีมัสยิดอยู่ใกล้เคียงเรียกกันติดปากว่า “สุเหร่าวัดกลาง” วัดเฉลิมพระเกียรติตรงเขตสวนหลวงก็ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนมุสลิมที่มีมัสยิดอยู่เคียงข้าง

 

        แม้ในจังหวัดกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) บริเวณคลองตะเคียนก็มีวัดโคกวนารามตั้งอยู่คนละฝั่งคลองกับมัสยิดของชาวมุสลิม ทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมไปมาหาสู่และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข เป็นชุมชนที่มีความเป็นปึกแผ่นและเอื้ออาทรกัน จะเรียกว่าอยู่อย่างสมานฉันท์ก็คงไม่ผิด (แต่คำว่า “สมานฉันท์” อาจจะเป็นคำที่แสลงหูสำหรับพระคุณเจ้า เพราะพระคุณเจ้าใช้สำนวนว่า “กรอกหู”) แม้ในเขตพระนครธนบุรีก็มีมัสยิดต้นสนซึ่งมีที่ดินติดกับวัดกัลยาฯ อยู่กันมายาวนานหลายร้อยปี แล้วไฉนพระคุณเจ้าจึงเป็นเดือดเป็นร้อนต่อการมีมัสยิดตั้งอยู่ข้างวัดศรีจันทร์นั่นเล่า ใยจึงไม่มองว่านั่นคือความงดงามของสังคมไทยที่มีความหลากหลายเล่า

 

        กรณีที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า “อบต. เป็นเป้าหมายของเขาเลย เพราะ อบต. เกิดขึ้นเพื่อรองรับ พ.ร.บ. บริหารองค์กรศาสนาอิสลามโดยตรง เพราะเมื่อเงินมา อำนาจมา การกระจายการบริหารก็จะเป็นไปได้โดยง่าย เป้าหมายคือ หนึ่งวัดหนึ่งหมู่บ้านมีได้ฉันใด หนึ่งสุเหร่า หนึ่งหมู่บ้านก็ย่อมมีได้ฉันนั้น ควบคู่กันไป” นี่เป็นการเจตนาโยงเรื่องแบบจับแพะชนแกะและเจือสมเอาเอง เพราะเรื่องของ อบต. เป็นเรื่องนโยบายของรัฐที่จะกระจายอำนายบริหารจากส่วนกลางสู่ระดับท้องถิ่น เป็นคนละเรื่องกัน พรบ. บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม” มีมาตั้งแต่พุทธศักราช 2488 แล้วได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมมาโดยตลอด กระผมไม่เข้าใจว่าพระคุณเจ้าเอาเรื่องคนละเรื่องมาผูกเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร

 

        กระผมเคยรับฟังรายการวิทยุทางคลื่น F.M หลังเที่ยงคืน จำได้ว่าผู้ดำเนินรายการชื่อ คุณทองขาว (ไม่ใคร่จำ) วิพากษ์วิจารณ์เรื่อง พรบ. บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม อย่างดุเดือดเผ็ดมันถึงขั้นกล่าวหาชาวมุสลิมว่า มีประมุขอีกผู้หนึ่ง เป็นเอกเทศคือ ท่านจุฬาราชมนตรี นอกเหนือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงแต่ก็รับฟังด้วยขันติธรรมและได้แต่อโหสิให้ต่อความไม่รู้และความมีอคติของผู้ดำเนินรายการ กระผมไม่ทราบว่าผู้ดำเนินรายการหลงประเด็นไปหรือไม่ เพราะพระราชบัญญัติอันเป็นกฎหมายของประเทศนั้นต้องมีการลงพระปรมาภิไธยโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระคุณเจ้าก็ลองตรองเอาดูเถิดว่า เป็นการพูดเองเออเองหรือไม่? การได้มาซึ่งความรู้ที่คลาดเคลื่อนและขาดการใช้ปัญญาเป็นสิ่งที่บัณฑิตควรกระทำเช่นนั้นหรือ ในเกสปุตตสูตรหรือกาลามสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสไม่ให้ชาวกาลามะเชื่อในวิธีที่ได้ความรู้ 10 วิธี คือ

        1. (มา อนุสฺสเวน) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะการฟังตามกันมา
        2. (มา ปรมฺปราย) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะการถือสืบๆ กันมา
        3. (มา อิติกิรายฺ) อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการเล่าลือ
        4. (มา ปฏกสมฺปทาเนน) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะการอ้างตำรา
        5. (มา ตกฺกเหตุ) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะตรรก
        6. (มา นยเหตุ) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะการอนุมาน
        7. (มา อาการปริวตกฺเกน) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะการตรึกตามแนวเหตุผล
        8. (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะการเข้ากันได้กับความเห็นของตน
        9. (มา ภพฺพรูปตาย)  อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้  และ
       10. (มา สมโณ โน ครุ) อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

        ไฉนพระคุณเจ้าจึงอนุมานและโยงเรื่องเข้ากับความเห็นของตนแล้วสรุปเอาเองเช่นนี้เล่า การจะมีมัสยิดหรือสุเหร่าเกิดขึ้นนั้นต้องมีสัปบุรุษอันมาจากผู้อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งรวมตัวกันตามจำนวนที่ศาสนากำหนด ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็จะตั้งมัสยิดหรือสุเหร่าขึ้นมาลอยๆ มัสยิดไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สินค้า จะได้กำหนดให้มีหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ก็หาได้ไม่

 

        ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ  “หะยีสุหลง”  ซึ่งพระคุณเจ้าอ้างถึงในคำบรรยายว่า  “เป็นลูกของ “เต็งกู อับดุลกอเดร” (พระยาวิชิตภักดี ศรีสุวังษา รัตนาณาเขตประเทศราช อดีตเจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย)” นั่น พระคุณเจ้าสับสนและได้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ความจริง “หะยีสุหลง” หาใช่บุตรชายของ “เต็งกู อับดุลกอเดร” ไม่  บิดาของหะยีสุหลงคือ หะยี อับดุลกอเดร บินมุฮำมัด อัลฟะตอนี เป็นโต๊ะครูใน จ.ปัตตานี เป็นคนละคนกับ “เต็งกู อับดุลกอเดร” เผอิญชื่อบิดาของท่านไปพ้องกัน พระคุณเจ้าจึงสับสน ฉะนั้นหะยีสุหลง บิดาของคุณ เด่น โต๊ะมีนา จึงไม่ใช่บุตรของ เต็งกู อับดุลกอเดร และไม่ใช่พี่น้องกับ ตวนกู มะหะหมัด มะไฮยิดดีน แต่อย่างใด (ดู หะยีสุหลง อับดุลกอเดร กบฏ หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้,เฉลิมพระเกียรติขุนทองเพชร ; สำนักพิมพ์ มติชน, 2547 หน้า 13)

 

        ส่วนกรณีการพิพากษาคดีของหะยีสุหลงในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนนั่นก็เป็นเรื่องของหะยีสุหลงกับพรรคพวก ซึ่งจบไปนานแล้ว มีรายละเอียดซับซ้อนและมีความคาบเกี่ยวกับสถานการณ์ความพลิกผันทางการเมืองและนโยบายของรัฐในสมัยนั้น หะยีสุหลงเป็นกบฏหรือไม่เป็นนั้น ก็สุดแล้วแต่ จะเหมารวมว่าคนไทยมุสลิมมีความคิดกบฏต่อราชอาณาจักรทั้งหมดนั้นก็ออกจะดูไม่เป็นธรรมนัก การคิดกบฏหรือการมีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับรัฐในสมัยนั้นก็มีออกดาษดื่น โดยเฉพาะในสมัยที่คอมมิวนิสต์แพร่ระบาด คนไทยพุทธที่คิดกบฏหรือถูกตัดสินพิพากษาว่า เป็นกบฏ เป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรไทยก็มีเช่นกัน พระคุณเจ้ากล่าวถึงภาษายาวี เรียนอักษรฮิบบลู (น่าจะเป็น “ฮิบรู”)  ของคนในสามจังหวัด กระผมก็เป็นงงอีกเช่นกันว่า ภาษายาวีหรือภาษามลายูที่ใช้อักษรอาหรับ (อารบิก) หรืออักษรละติน ซึ่งเรียกว่า ภาษารูมีย์ (บะฮาซามาเลเซีย) ไปเกี่ยวข้องกับอักษรฮิบรูได้อย่างไร

 

        เพราะ “ฮิบบลู” น่าจะเป็น “ฮิบรู” ซึ่งหมายถึง ภาษายิวที่ใช้ในประเทศอิสราเอล ตัวอักษรฮิบรูนั้นเป็นภาษาโบราณที่เคยตายไปแล้วหลายพันปี อิสราเอลพึ่งจะฟื้นฟูจนกลายเป็นภาษาทางราชการเมื่อสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นในปาเลสไตน์ ข้อมูลของพระคุณเจ้าขัดแย้งและสับสนต่อข้อเท็จจริงไปสุดกู่เลยทีเดียว ที่กล่าวว่า ภาษายาวีเขียนด้วยอักษรฮิบรู อย่างไรก็ตาม คำปรารภของพระคุณเจ้าเกี่ยวกับเรื่องภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาไทยหรือการพูดภาษาไทยของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพูดภาษายาวี (ภาษามลายู) นั้น ข้อนี้กระผมเองก็มองเห็นปัญหาไม่ได้แตกต่างมากไปกว่ากันนัก เพราะเท่าที่สัมผัสและรับรู้จากเยาวชนในพื้นที่นั้น มาตรฐานในการพูด การอ่าน การเขียนภาษาไทย ยังต่ำกว่าเกณฑ์อยู่มาก ถึงแม้เยาวชนรุ่นนี้จะรู้ฟังภาษาไทย แต่ก็พูดภาษาไทยไม่แข็งแรง ส่วนภาษามลายูที่พูดสื่อสารกันนั้น ก็เป็นภาษาถิ่นหรือสำเนียงถิ่น ไม่นิยมใช้ภาษามลายูกลาง

 

        ส่วนภาษามลายูที่เป็นภาษาหนังสือนั้นมักจะนิยมใช้ในการเรียนศาสนาตามสถาบันปอเนาะเท่านั้น ไม่ได้ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน คล้ายๆ กับภาษาบาลี ที่ใช้เรียนใช้สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมของสามเณรและพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ในทุกวันนี้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามประเภทบูรณาการนั้นก็มีหลักสูตรภาษาไทย แต่ก็มีสอนภาษามลายูกลางและภาษาอาหรับควบคู่กันไป เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในพื้นที่และการร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย ส่วนการจะรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เรื่องภาษา ก็คงต้องคำนึงถึงเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ระบุเอาไว้เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ ทั้งนี้หากไม่คำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์ภาษาถิ่นเอาไว้เลย และมุ่งเอาภาษากลางเป็นหลักแต่ถ่ายเดียว ก็จะเกิดปัญหาการลืมภาษาถิ่นของอนุชนรุ่นหลังอย่างที่หลายฝ่ายเริ่มแสดงความวิตกกันบ้างแล้วในขณะนี้

 

        สำหรับกรณี ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ของหะยีสุหลงและผู้นำศาสนาในพื้นที่เมื่อปี พ.ศ.2490 ต่อรัฐบาลไทยนั้น ก็เป็นเรื่องของการเรียกร้องสิทธิต่างๆ แก่ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่เป็นการเฉพาะ ไม่ได้หมายรวมว่าชาวมุสลิมในส่วนอื่นจะมีประสงค์เช่นนั้นเหมือนกันหรือเห็นดีเห็นชอบไปด้วยทั้งหมด ชาวมุสลิมไทยในภาคใต้ตอนบน ภาคกลางและจังหวัดอื่นๆ คงไม่มีความจำเป็นตามข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อนั้น เพราะพวกเขาส่วนใหญ่พูดภาษาไทย เรียนภาษาไทย และอยู่ภายใต้การปกครองจากส่วนกลาง คงไม่มีมุสลิมไทยคนใดในจังหวัดอื่น เห็นชอบกับการแบ่งแยกดินแดน เพราะทุกคนมีสิทธิในผืนแผ่นดินไทยในฐานะพลเมืองของชาติ ส่วนการที่มีคนบางกลุ่มมีความคิดเช่นนั้น เราในฐานะคนไทยก็คงไม่มีทางที่จะยอมอ่อนข้อให้ ก็คงต้องสู้กัน เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าเหมารวมว่า คนไทยมุสลิมมีความคิดเช่นนั้น

 

        การที่พระคุณเจ้าอ้างว่า “พรบ. ป่าชุมชนนี่แหล่ะสำคัญมาก จะเป็นตัวเร่งให้คนไปซื้อที่ดิน เพราะกฎหมายธนาคารอิสลามเกิดขึ้นแล้ว…..ตอนนี้ซื้อที่ดินได้สบาย ซื้อในนามใครก็ได้ รับรองเลยว่าแผ่นดินไทยจะถูกซื้อในนาม พรบ.ป่าชุมชน” ชนหมู่ใดเล่าที่พระคุณเจ้ามุ่งหมายถึง คงไม่พ้นชาวมุสลิมอีกกระมัง ธนาคารอิสลามถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นลูกค้าชาวมุสลิมเพียงอย่างเดียว เป้าหมายสำคัญก็คือ การหลีกเลี่ยงจากระบบดอกเบี้ยในการทำธุรกรรมทางการเงินแล้วไปเกี่ยวกับ พรบ.ป่าชุมชนได้อย่างไร? ความจริงชาวมุสลิมไทยในภาคใต้และภาคกลางตลอดจนภาคอื่น ก็มีที่ดินทำกินอยู่แล้ว หากย้อนเวลากลับไปในอดีต ชาวมุสลิมเป็นเจ้าของที่ดินเป็นอันมากในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล อย่างมีนบุรี หนองจอก ประเวศ คันนายาว สวนหลวง หรือตลอดริมคลองแสนแสบที่ชาวมุสลิมเคยเป็นแรงงานขุดนั่นแหล่ะ แม้ถนนพระรามเก้า ถนนพัฒนาการ ก็ตัดผ่านที่ดินของชาวมุสลิมไทยหลายต่อหลายผืน

 

        ถ้าเกรงว่าผืนแผ่นดินไทยจะถูกซื้อโดยคนมุสลิมไทย นั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพวกเขาเป็นคนไทย ไม่ใช่ต่างด้าวหรือเป็นฝรั่งต่างชาติเสียหน่อย จริงๆ แล้วคนที่ชอบกว้านซื้อที่ดินไปทั่วไม่เว้นแม้กระทั่งป่าสงวน คือคนไทยเชื้อสายจีนและชาวซิกข์ต่างหาก หรือพระคุณเจ้าจะว่าไม่ใช่ ทุกวันนี้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวไทยเชื้อสายจีนและฝรั่งตาน้ำข้าวเกือบจะหมดแล้ว เจ้าสัวธนาคารและเจ้าของธุรกิจร้อยล้านพันล้านก็มีเชื้อสายจีน ถึงวันตรุษจีนคนไทยก็แต่งชุดจีนจัดรายการกันอื้ออึงไปหมด ทีเหลือก็เห่อฝรั่งเป็นบ้าเป็นหลัง

 

        ที่เป็นเช่นนี้จะไปโทษใครที่ไหนก็คงมิได้ นอกจากต้องโทษตัวเองที่เราสู้เขาไม่ได้และอัตลักษณ์ของคนไทยก็เสื่อมทรามลงทุกวัน ใครคือผู้ทำลายวัฒนธรรมไทยและวิถีชีวิตอันงดงามของพวกเขา กระผมมั่นใจว่า ไม่ใช่ชาวมุสลิมไทยแน่นอน ในขณะที่มีการยื่นข้อเสนอจะใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานใน 3 จังหวัดนั้น พระคุณเจ้าทราบหรือไม่ว่า ชาวไทยมุสลิมในภาคกลางเขาหวงแหนภาษาไทยเป็นหนักหนา หากลูกหลานมุสลิมคนใดพูด ร. เป็น ล. จะถูกตำหนิติเตียนจากผู้หลักผู้ใหญ่ว่า ทำภาษาวิบัติ อย่างน้อยเวลานี้หากจะชมว่าบ้านทรงไทยเป็นอย่างไรก็คงหาชมได้ไม่ยาก ในชุมชนมุสลิม พระคุณเจ้าอาจจะดูแคลนว่า กระผมพูดถึงเรื่องไร้สาระและนอกเรื่อง แต่นี่เป็นแง่มุมที่หลายคนละเลยและมองไม่เห็น

 

        พระคุณเจ้ายังแสดงความเชื่อมั่นในคำบรรยายดังกล่าวว่า “และเราเชื่อมั่นเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปนี้ จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ…ไม่มีทางหลีกเลี่ยงชะตากรรม ชาวพุทธจะอยู่ไหน” รัฐธรรมนูญฉบับ…(อ่านว่าฉบับจุดๆๆๆๆ) ตามความเชื่อมั่นของพระคุณเจ้าก็คงไม่พ้นรัฐธรรมนูญฉบับมุสลิมหรืออิสลาม เพราะท้องเรื่องที่ร่ายมามันส่อว่าเป็นเช่นนั้น นี่ก็เลยเถิดออกทะเลไปเสียสุดกู่ คิดเป็นตุเป็นตะไปได้อย่างไรถึงขนาดนั้น ถ้ามั่นใจจนไม่ละคลายลงเสียบ้าง ก็ป่วยการที่จะอธิบายความกัน ดูเหมือนว่า พระคุณเจ้าเป็นเดือดเป็นแค้นชาวมุสลิมเข้ากระดูกดำ เห็นคนโพกผ้า (ซึ่งมีทั้งชาวมุสลิมและชาวซิกข์) ก็มองว่าเป็นเรื่องแปลกปลอม แล้วที่นุ่งน้อยห่มน้อยเดินกันเกลื่อนถนนนั้นล่ะ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมกระนั้นหรือ พระคุณเจ้ายังวิตกจริตอีกว่า  “ในอนาคต วัดทุกวัดก็เป็นที่ละหมาด”  มันจะเป็นไปได้อย่างไร

 

        ท้ายที่สุดของคำบรรยาย ก็ยังไม่วายจะปลุกระดมอีกว่า “อย่าให้เขามาดูถูกว่าสังคมไทยพังพินาศ เพราะวัฒนธรรมพุทธอ่อนแอ ต้องเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมอิสลามจึงจะเข้มแข็ง!!” อ่านแล้วก็เหนื่อยใจว่า ไฉนเลย พระสงฆ์องค์เจ้าผู้มีสมณศักดิ์อย่างพระคุณเจ้าจึงสรุปท้ายลงเช่นนั้นไปได้เยี่ยงไรกัน พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองหรืออ่อนแอเสื่อมลง เป็นภารกิจของพุทธบริษัท 4 ที่จะต้องช่วยกัน แต่เมื่อใดพุทธบริษัทเป็นผู้กระทำการเสียเอง พระพุทธศาสนาก็ย่อมมัวหมองและเสื่อมลง โดยเฉพาะถ้าผู้สร้างความเสื่อมนั้น เป็นภิกษุเสียเอง อย่างที่เรารับทราบกันดีในขณะนี้หรือชาวพุทธที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ไม่สนใจใยดีต่อหลักคำสอนในบวรพระพุทธศาสนา หลงไปในอบายมุขซึ่งแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า แล้วเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อม จะไปโทษคนอื่นได้อย่างไร อันสนิมนั้นเกิดจากเนื้อในเหล็ก ดังที่ว่ามาก่อนข้างต้น

 

        “ภิกษุทั้งหลาย! ในการยืดยาวไปภายหน้า จักมีภิกษุซึ่งมิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต และมิได้อบรมปัญญา เธอทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งที่เป็นภิกษุชั้นเถระแล้ว จักเป็นผู้ชอบทำการสะสมบริขารประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่สนใจแสวงหาที่สงัดเงียบ ไม่ใช้ความเพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ผู้บวชในภายหลังได้เห็นเถระเหล่านั้นทำเป็นแบบแผนเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง จึงทำให้เป็นผู้ชอบทำการสะสมบริขารบ้าง ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งวิวรณ์ ไม่สนใจแสวงหาทีสงัดเงียบ ไม่บำเพ็ญเพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ตามๆกันสืบไป

        ภิกษุทั้งหลาย! ด้วยอาการอย่างนี้เอง วินัยมีมลทินเพราะธรรมมีมลทิน ธรรมมีมลทินเพราะวินัยมีมลทิน นี่เป็นอนาคตภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ แต่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อไป พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ ครั้นได้สำนึกแล้วก็พึงพยายามเพื่อกำจัดภัยนั้นเสีย (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต ปญจก องฺ ๒๒/๑๒๓/๗๙ ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย)

        “ภิกษุทั้งหลาย! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป ๔ อย่าง อะไรกันเล่า? ๔ อย่าง คือ

        ๑. พวกภิกษุเล่าเรียนสูตร อันถือกันมาผิดๆ ด้วยคำและสำเนียงก็ใช้กันผิดๆ เมื่อคำและสำเนียงที่ใช้กันผิดแล้ว ความหมายก็คลาดเคลื่อนและทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

        ๒. พวกภิกษุเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น นี่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

        ๓. พวกภิกษุเหล่าใดเป็นผู้เรียนมาก คล่องแคล่วในหลักพระพุทธพจน์ รู้ธรรม รู้วินัย รู้แม่บท ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่ที่จะบอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับดับไป สูตรทั้งหลายก็เลยขาดอาจารย์ ไม่มีผู้สอนสืบไป ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

        ๔. ภิกษุชั้นเถระทำการสะสมเครื่องอุปโภค-บริโภค ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา…ภิกษุทั้งหลาย! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แล ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป” (คัดจากพระพุทธภาษิต จตุกกฺ องฺ ๒๑/๑๙๗/๑๖๐) พระพุทธพจน์บทนี้ชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาจะเสื่อมหรือสูญสิ้นไปก็เพราะภิกษุเอง มิใช่คนภายนอก ฉะนั้น ภิกษุที่ทำลายพุทธศาสนาก็คือผู้ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนา หลงประกาศแต่ศาสนาพราหมณ์ ปฏิบัติกิจเกี่ยวกับพิธีรีตอง ของขลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ว่ายาก ใครตักเตือนเข้าก็โกรธ เพราะมีมิจฉาทิฐิและเห็นแก่ตัวจัด ยกตัวว่าเป็นบุคคลพิเศษ ใครว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้ ภิกษุที่รู้จักพระพุทธศาสนาดีก็ไม่มีอิทธิพล ไม่ได้รับความสนับสนุนจากทางการ ในที่สุดก็หมดกำลังใจที่จะประกาศสัจธรรม พอท่านล่วงลับไปก็เลยขาดผู้สอน ภิกษุเถระส่วนมากก็ไม่สนใจในงานพระพุทธศาสนา คอยแต่จะแต่งกุฏิให้งดงามเป็นปราสาทราชวัง ปล่อยให้ภิกษุหนุ่มที่โง่เขลาและไร้การศึกษา โฆษณาหลอกลวงประชาชน โดยคิดว่าตนเป็นศาสดา (คำอธิบายจากหนังสือ “ตำราดูพระและวินัยของภิกษุ” คำแปลจากหนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ของพุทธทาสภิกขุ,องค์การฟื้นฟูพุทธศาสนาฯ ;ปุ่น จงประเสริฐ หน้า ๗๕)

 

        “ภิกษุทั้งหลาย! คนเราแม้เป็นผู้เฒ่าจะมีอายุ ๘๐ , ๙๐ , ๑๐๐ปี โดยกำเนิดก็ดี แต่เขามีคำพูดไม่เหมาะแก่กาล พูดไม่จริง พูดไม่มีประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีเหตุ ไม่มีที่อิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ คนผู้นั้นย่อมถูกนับว่าเป็น “เถระผู้พาล” โดยแท้” (คัดจากบาลีพระพุทธภาษิต จตุกกฺ องฺ ๒๑/๒๘/๒๒ ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่ อชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา)

 

        ท้ายที่สุดนี้ ขอวิงวอนพระคุณเจ้าและพระเถรานุเถระทั้งปวงโปรดรับคำวิจารณ์ในส่วนที่ดีและยังประโยชน์แก่สังคมโดยรวม คำวิจารณ์อันใดผิดพลาด คลาดเคลื่อนโปรดจงอโหสิกรรม กระผมมิได้มีเจตนาลบหลู่หรือมุ่งร้ายแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้เราทุกฝ่ายซึ่งต่างก็รักในศาสนาอันเป็นที่รักของตน พูดความจริงและเปิดใจรับระหว่างกัน ตลอดจนช่วยกันดูแลสังคมไทยให้ปลอดจากความเสื่อมทั้งหลาย และร่วมเป็น “สหายธรรม” ในการอบรมสั่งสอนศาสนิกชนของตนให้เคร่งครัดตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างสุดความสามารถ การอันใดที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจผิดและบาดหมางกัน ก็ขอให้หยุดเสียเถิด อย่ามัวแต่กล่าวหากัน เพราะแท้ที่สุดแล้วเราก็คือคนไทย ผู้ร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน หาใช่ใครอื่น!

                                                                      

ศานติจงมีแด่ผู้ปฏิบัติตามทางนำอันเป็นสัจธรรม
นายสันติ (อาลี)   เสือสมิง
291/1 ซ.พัฒนาการ 20 แยก 11/2  
ถนนพัฒนาการ แขวง/เขต สวนหลวง กรุงเทพฯ 10250