ความหมายเนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาคภาษาอาหรับทั้ง ๒ สำนวน…

คลิปจาก https://www.facebook.com/santi.sasakul

ความหมายเนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาคภาษาอาหรับทั้ง ๒ สำนวน เป็นภาษาไทย และเทียบเนื้อร้องภาษาไทยต้นฉบับ

14606464_1224801904206811_4078806171916524730_n

สำนวนที่ ๑

ท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสตร์ อดีตจุฬาราชมนตรี ได้ประพันธ์เป็นภาษาอาหรับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) เสด็จประพาสทางชลมารคผ่านโรงภาษีเก่า หรือที่เรียกกันว่า โรงภาษีร้อยชัก ๓ ครานั้นท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสตร์ (ฮัจยีอิสมาแอล ยะห์ยาวี) เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอันยุมันอิสลาม (ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี) จึงได้แปลงบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นภาษาอาหรับเพื่อให้นักเรียนขับร้องรับเสด็จ ซึ่งเป็นที่ประทับพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นอันมาก สำนวนภาษาอาหรับที่ท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณ์ศาสตร์ประพันธ์ไว้ มีดังนี้

 

ما ملك سيام – มา มาลิกุส สยาม

(กษัตริย์แห่งสยาม)

جاد رعيته – ญา ดะร่ออี-ยะตะฮู

(ทรงมีชัยต่อพสกนิกรของพระองค์ด้วยพระกรุณา)

أظل رايته – อะซอล-ละ รอ ยะตะฮู

(ทรงประทานธงชัยของพระองค์ให้เป็นร่มเงา)

دآمت سلطنته – ดา มัด-ซัล ต่อนะ ตะฮู

(พระราชอำนาจของพระองค์สถิตสถาพร)

يحميهم ينصرهم – ยะมี-ฮิม ยันชุรฮุม

(พระองค์ทรงบริบาลพวกเขา ทรงอุปถัมภ์พวกเขา)

نالالحرام سقيم الحدوث – นา ลัล-ฮะรอม สกีมุล-ฮุดูส

(อุบัติการณ์ที่ไม่ดี ย่อมประสบการหักห้าม)

ما نع متعديابه – มา นิอุน-มุตะอัด-ดิยา บิ ฮี

(ทรงเป็นผู้ขัดขวาง ผู้ที่ล่วงล้ำ…)

تنظيمالبلاد – ตันซีมุล-บิลาด

(การวางระบบประเทศ)

ويثبت الأمن ويحفظ الوطن วะยุส บิตุล-อะมัน วะยะหฟะซุลวะต๊อน

(และทรงทำให้ความศานติ (ปลอดภัย) เป็นที่เสถียรมั่นคง และทรงปกปักรักษาประเทศชาติ)

وينشر العدل      آمين – วะยัน ชิ รุลอัดล์  อะมีน

 (และทรงแผ่ความยุติธรรมให้ขจรขจายไป อามีน)

*ให้ความหมายภาษาไทยโดย นายอาลี เสือสมิง

*คำอ่านเทียบภาษาไทยเขียนตามอักขระวิธีเดิมในต้นฉบับ อ้างจากหนังสือ “พระบรมราชูปถัมภ์กิจการศาสนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๗ หน้า ๑๔๕

 

14572331_1230025843684417_8238449507719240274_n

สำนวนที่ ๒

นายสันติ เสือสมิง (อาลี บิน อะหฺมัด) ครูใหญ่โรงเรียนมัจลิซุดดีนี สวนหลวง กรุงเทพฯ ได้ประพันธ์เนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นภาษาอาหรับเพื่อให้นักเรียนขับร้องบนเวทีงานประจำปีของโรงเรียน พ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อันเป็นช่วงกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ๕ ธันวา มหาราช ทางโรงเรียนได้เชิญพลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นมาเป็นประธานในพิธี การประพันธ์เนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญซึ่งนักเรียนที่ร่วมขับร้องได้อัดคลิปเสียงไว้ขณะทำการซ้อมในช่วงบ่ายของวันงานประจำปีดังกล่าวยังขาดความสมบูรณ์ทั้งในด้านนไวยากรณ์ภาษาอาหรับและท่วงทำนอง ตลอดจนความหมายของเนื้อร้องภาษาอาหรับยังไม่ตรงกับความหมายเนื้อร้องภาษาไทยของบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับ

 

แต่คลิปเสียงที่อัดไว้โดยฉุกละหุกนั้น ได้ถูกเผยแพร่และแชร์กันในสื่อภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ไปเสียก่อนแล้วโดยที่ยังมิทันจะปรับแก้และเรียบเรียงใหม่ให้สมบูรณ์ เนื้อร้องภาษาอาหรับในคลิปเสียงจึงเป็นฉบับที่ ๑ ก่อนปรับแก้ เพื่อให้เกิดความถูกต้องตรงตามหลักไวยากรณ์ภาษาอาหรับและมีความหมายใกล้เคียงและสอดคล้องกับท่วงทำนองเดิมของบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับ นายสันติ เสือสมิงจึงได้ปรับแก้ถ้อยคำเสียใหม่ และถือว่าสำนวนของฉบับปรับแก้แล้วนี้เป็นฉบับที่ ๒ อันเป็นที่ยุติแล้ว ดังนี้

 

يا ملك سيام – ยา มะลิกะ สิยาม

(โอ้ ผู้เป็นกษัตริย์แห่งสยาม)

 

نحييه بصفاء القلوب – นุหัยยีฮฺ บิ เศาะฟาอิลกุลูบ

(เราแสดงความคารวะต่อพระองค์ด้วยความพิสุทธิ์ผ่องใสของดวงฤทัย)

 

لجلالته ﺬي الكرم – ลิ ญะลาละติฮี ซิล กะร็อม

(แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเกียรติ)

*ท่อนนี้แต่ต้น คำว่า “เรา” ถอดมาจาก “ข้าวรพุทธเจ้า” สรรพนามบุรุษที่ ๑ และ ๒ ประโยคหลังถอดมาจาก “เอามโนและศิระกาน นบพระภูมิบาลบุญดิเรก” โดยอนุโลม

 

أوحدْآل جاكرين – เอาหัด อาลิ ญ๊ากริน

(พระผู้ทรงเป็นเอกแห่งบรมราชจักรีวงศ์)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “เอกบรมจักริน”

عاهل سيام – อาฮิลุ สิยาม

(พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยาม)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “พระสยามินทร์”

 

أطال عزه – อะฏอล่ะ อิซฺซุฮู

(พระเกียรติยศของพระองค์ยืนยาวยิ่ง)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “พระยศยิ่งยง” ซึ่งกริยา (อะฏอล่ะ) เดิมคือ (ฏอล่ะ) เป็นอกรรมกริยา (ฟิอฺล์ ลาซิม) แต่ที่เติม อะลีฟ เข้าข้างหน้าเพื่อบ่งถึงความมาก (มุบาละเฆาะฮฺ) หากจะตัด อะลีฟ ออกและเหลือเพียง (ฏอล่ะ) ก็ทำได้

 

سليمة الرؤوس بحمايته – สะลีมะตุรฺ รุอูส บิ หิมายะติฮี

(บรรดาศีรษะมีความเป็นปกติด้วยการพิทักษ์รักษาของพระองค์)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “เย็นศิระเพราะพระบริบาล” และแก้ไขจากสำนวนที่ ๑ سلمت الرؤوس برعايته  (สะลิมะติรฺรุอูส บิริอายะติฮี) ความหมายเหมือนกันแต่รูปประโยคต่างกัน

 

جميع الرعايا بفضله سعيدون – ญะมีอุรฺ เราะอายา บิฟัฎลิฮี สะอีดูน

(ด้วยความประเสริฐของพระองค์ ปวงประชาทั้งมวลคือผู้มีความสุข)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์”

بالتوفيق أي مراده ، بالغ المرام كمايشاء – บิต เตาฟีก อัยมุรอดิฮี บาลิฆุล มะรอม กะมายะชาอุ

(ด้วยการเอื้ออำนวย สิ่งที่ถูกมุ่งหมายอันใดก็ตาม บรรลุถึงที่หมาย ตามที่มีพระประสงค์)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “ขอบันดาล พระประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย” ประโยค أي مراده เดิมคือ อัยยุมุรอดิฮี แต่จังหวะของทำนองออกเสียงเพียงแค่ อัยมุรอดิฮี

مثلما التهاني…آمين – มิษละมัต ตะฮานี…อามีน

(เหมือนดังสิ่งที่เป็นคำอำนวยพรทั้งหลาย…เทอญ)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “ดุจ ถวายชัย ชโย”

 

เนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาษาไทยบางถ้อยคำและบางประโยคอาจมีความคลุมเครือต่อการเข้าใจในด้านหลักศรัทธาของศาสนาอิสลาม แต่เมื่อแปลงเป็นเนื้อร้องภาษาอาหรับแล้ว ความหมายจะเป็นกลาง ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ส่วนความหมายบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับภาษาไทยนั้น ท่านอาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด อดีตจุฬาราชมนตรีได้ให้รายละเอียดเป็นคำตอบไว้นานแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งพอสรุปได้ว่าสามารถร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีภาษาไทยได้ เพราะสำนวนของประโยคและถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับภาษาไทยเป็นโวหารเสียมาก และขึ้นอยู่กับการตีความ ตลอดจนเจตนาของผู้ขับร้อง

 

วัลลอฮุ วะลียุตเตาฟีก วัล-ฮิดายะฮฺ

นายสันติ เสือสมิง (อาลี บิน อะหฺมัด)

๒๘/๑๐/๒๕๕๙