บทความเพื่อความสมานฉันท์ เกร็ดความรู้จาก “ประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานี”

        1. สยาม-ปัตตานีดารุสสลามเคยมีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักรอยู่หลายครั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนี้
        * รัชสมัยสุลตอนมุศ็อฟฟัร ชาห์ (คศ.1530-1564) ได้เสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเจ้าช้างเผือก) (พ.ศ.2091-2111)  โดยขบวนเรือของสุลตอนได้เคลื่อนออกจากปัตตานี เดินทางเลียบชายฝั่งทะเลจีน  จนถึงอ่าวสยามแล้วแล่นเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาล่องขึ้นไปถึงท่าเรือกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระยาพระคลังออกมาต้อนรับ แล้วนำเสด็จสุลตอนเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ 

 

         ในระหว่างที่สุลตอนพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้รับการต้อนรับและการรับรองอย่างดีด้วยการจัดสถานที่พำนักในตำหนักไว้โดยเฉพาะ สุลตอนได้พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 เดือน ก็เสด็จไปบังคมลาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพื่อเสด็จนิวัติปัตตานีดารุสสลามในกาลนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้พระราชทานเชลยชาวพม่าจำนวน 60 คนและเชลยชาวลาวอีกจำนวน 100 คนเป็นกำนัลให้สุลตอน  มุศ็อฟฟัร ชาห์นำกลับนครปัตตานีด้วย เมื่อสุลต่านเสด็จกลับถึงปัตตานีแล้ว  พระองค์ทรงมีรับสั่งให้นำเชลยชาวพม่าไปไว้ที่หมู่บ้านกะดีเพื่อให้เลี้ยงช้าง ส่วนเชลยชาวลาวนั้นพระองค์ทรงมีรับสั่งให้ไปทำนาปลูกข้าวที่ ทุ่งปาเระใกล้ ๆ กับพระราชวังอิสตานะฮฺ นีลัมที่กรือเซะ (ปาตานีประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู  ;  อารีฟีน บินจิ และคณะ (2550) หน้า 71-73)

 

        * รัชสมัยสุลตอนมันโซร์ ชาห์ (คศ.1564-1572) โอรสพระองค์ที่สามของสุลตอนอิสมาแอล ชาฮฺ  ทรงมีพระดำริจะเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง  จึงทรงมีบัญชาให้บรรดาขุนนางในราชสำนักร่วมประชุมคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อไปเป็นราชทูต  ในที่สุดบรรดาขุนนางได้มีมีติเลือกท่านวัน มุฮำมัด บิน ชีค ซ่อฟียุดดีน  (ราญา ศรี ฟากีฮฺ) โดยสุลตอนมันโซร์ ชาห์ได้แต่งตั้งให้ท่านวันมุฮำมัด บิน ชีคซ่อฟียุดดีน เป็น “โอรัง กายอ สรี อาฆัร ดิ ราญอ” (Orang Kaya Seri Agar di  Raja) เมื่อท่านวันมุฮำมัดฯ เดินทางไปถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับโปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (พระสรรเพชญ์ที่ 1) (พ.ศ.2112-2133) และถวายสาส์นของสุลต่านปัตตานี ท่านวันมุฮำมัดฯได้พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 2 วัน  เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ท่านวันมุฮำมัดฯราชทูตก็เดินทางกลับสู่นครปัตตานีพร้อมด้วยพระราชสาส์นของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไปถวายต่อสุลตานมันโซร์ ชาห์  (อ้างแล้ว หน้า 79)

 

        * รัชสมัยราญาอูงู (คศ.1624-1635) พระนางทรงเสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยา  ในเดือนสิงหาคม คศ.1641 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199) เพื่อฟื้นฟูสันติภาพระหว่างนครปัตตานีกับสยาม (อ้างแล้ว หน้า 112)

 

        * รัชสมัยราญากูนิง (คศ.1635-1686) พระนางได้เสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยา  เพื่อฟื้นฟูราชไมตรีต่อกันอีกครั้ง

        จะเห็นได้ว่า การเสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีของบรรดาผู้ครองนครรัฐปัตตานีดารุสสลามนั้นเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้งในสมัยราชวงศ์ศรีวังสาซึ่งสิ้นสุดลงในรัชสมัยราญากูนิงเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ถูกมองข้ามเนื่องจากถูกมายาคติเข้าครอบงำ มายาคติดังกล่าว คือ การพยายามสร้างบทบาทของตัวละครในประวัติศาสตร์ระหว่างสยามและปัตตานีว่ามีแต่การรบพุ่ง ทำสงครามกันตลอดเวลา โดยมีสยามเป็นผู้รุกรานแต่ฝ่ายเดียว กล่าวคือ เป็นผู้ร้ายตลอดกาล ทั้ง ๆ  ที่ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์หาเป็นเช่นนั้นไม่

 

        2. สงครามระหว่างสยาม-ปัตตานี ฝ่ายใดเริ่มต้นก่อน?
        หากถามคำถามนี้กับบรรดาเยาวชนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือแม้แต่กับบรรดา พี่น้องมุสลิมทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็อาจจะได้รับคำตอบว่า สิแย (สยาม) เป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน และถ้าถามถึงรายละเอียดต่อไปว่า สยามเริ่มทำสงครามและรุกรานปัตตานีดารุสสลามก่อนเมื่อใด?  ก็อาจจะได้รับคำตอบว่า ก็ในรัชสมัยสุลตอนมุศ็อฟฟัร ชาห์นั่นเอง หรือไม่ก็ในรัชสมัยราญาฮิเญา โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำการรุกรานปัตตานีก่อน ทว่าหากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานี เราจะพบว่า ฝ่ายที่เริ่มก่อสงครามก่อนน่าจะเป็นฝ่ายของปัตตานีดารุสสลาม กล่าวคือ ปัตตานีในช่วงต้นราชวงศ์ศรีวังสานั้นมีความสัมพันธ์ฉันท์พันธมิตรกับสยาม (กรุงศรีอยุธยา)

 

        ดังที่มีเอกสารและพงศาวดารระบุว่า ในรัชสมัยสุลตอนมุศ็อฟฟัร ชาห์ (คศ.1530-1564) นั้น พระองค์เคยเสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักร แต่ทว่าเมื่อลุสู่ปี พ.ศ.2106 พระเจ้าบุเรงนองของพม่า ได้ยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเจ้าช้างเผือก) (พ.ศ.2091-2111) พม่าเข้ามาครั้งนั้นมีไพร่พลมากถึง 200,000 คน ทางกรุงศรีอยุธยาจึงมีหนังสือไปแจ้งยังนครรัฐที่เป็นพันธมิตรให้ช่วยยกทัพมาช่วยรบกับพม่า สุลตอนมุศ็อฟฟัร ชาห์แห่งปัตตานีดารุสสลามจึงได้นำกองทัพมลายูปัตตานีไปอยุธยาโดยขบวนเรือจำนวน 200 ลำ กำลังพลอีก 1,600 คน ในจำนวนนั้นเป็นสตรีเสีย 100 คน

 

        เมื่อกองทัพมลายูปัตตานีมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏว่ากองทัพพม่าได้ล่าถอยออกไปเสียแล้ว เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจำใจต้องยอมรับเป็นไมตรีต่อพม่า และสูญเสียช้างเผือกไป 4 เชือกพร้อมด้วยตัวประกันเอาไปไว้ที่กรุงหงสาวดี  สุลตอนมุศ็อฟฟัร ชาห์ ได้นำกองทัพชาวมลายูเข้าไปพักในกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่พักอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้นได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพมลายูปัตตานีกับกองทัพสยาม จึงได้เกิดการขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพมลายูปัตตานีกับกองทัพสยาม จึงได้เกิดการสู้รบกันขึ้น สุลตอนปัตตานีนำทหารมลายูเข้ายึดพระราชวังของกษัตริย์สยามได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องเสด็จหนีไปที่เกาะมหาพราหมณ์ สุลตอนปัตตานียึดกรุงศรีอยุธยาได้ประมาณ 1 เดือน

 

        กษัตริย์สยามจึงส่งทหารเข้าไปสู้รบแย่งชิงกรุงศรีอยุธยาจากสุลตอนปัตตานีคืนมาได้ (ดูในปัตตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู ; อาริฟีน บินจิ และคณะ หน้า 73-74) ปรามินทร์ เครือทอง ระบุว่า “………ครั้งหนึ่งสุลต่านเมืองปัตตานีถึงกับนำทหารรุกพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งขณะนั้นสยามกำลังติดพันศึกอยู่กับหงสาวดี เหตุการณ์ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ ดังนี้

        (ศักราช ๙๒๕)  “ครั้งนั้นพระญาศรีสุรต่านพระญาตานีมาช่วยการเศิก พระญาตานีนั้นเปนขบถ แลคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวังครั้นแล เข้าในพระราชวังได้เอาช้างเผือกมาขี่ยืนอยู่ ณ ท้องสนามแล้วจึงลงช้างออกไป ณ ทางตะแลงแกง แลชาวพระนครเอาพวงขึงไว้ต่อรบด้วยชาวตานีฯนั้นตายมาก แลพระญาตานีนั้นลงสำเภาหนีรอดไป” ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ลงความไว้คล้ายกัน แต่มีรายละเอียดมากกว่า

        (ศักราช ๙๑๑)  “ขณะนั้นพระยาตานีศรีสุลต่าน ยกทัพเรือหย่าหยับสองร้อยลำเข้ามาช่วยราชการสงคราม ถึงทอดอยู่หน้าวัดกุฎีบางกะจะ รุ่งขึ้นยกเข้ามาทอดอยู่ประตูไชย พระยาตานีศรีสุลต่านได้ทีกลับเป็นกบฏ  ก็ยกเข้ามาในพระราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าไม่ทันรู้ตัวเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดหนีไปเกาะมหาพราหมณ์และเสนาบดีมุขมนตรีพร้อมกันเข้าไปในพระราชวัง สะพัดไล่ชาวตานีแตกฉานลงเรือรุดหนีไป ฝ่ายมุขมนตรีทั้งปวงก็ออกไปเชิญเสด็จสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช พระเจ้าช้างเผือกเสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศมหาสถาน”

        พระยาตานีคนนี้คือ สุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮฺ (Sulan Muzafar syah) พระราชโอรสของสุลต่านอิสมาเอล ชาฮฺ แต่เรื่องราวของพระองค์ในเอกสารของทางฝ่ายปัตตานีกล่าวไว้ต่างกัน คือ สุลต่าน มุซาฟาร์ ชาฮฺเคยเสด็จไปเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับสยาม แต่ฝ่ายสยามต้อนรับไม่สมพระเกียรติ จึงเสด็จกลับปัตตานีด้วยความน้อยพระทัย ต่อมาเมื่อทราบว่าสยามติดพันสงครามอยู่กับหงสาวดี จึงยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา บุกเข้าพระราชวังได้ แต่กษัตริย์สยามหนีออกมาทันไปหลบอยู่ที่เกาะมหาพราหมณ์ แล้วจึงรวบรวมกำลังเข้าตีตอบโต้ กองทัพปัตตานีต้องถอยร่นออกมาถึงปากอ่าว สุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮฺ สิ้นพระชนม์ขณะยกทัพกลับพระศพถูกฝังไว้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากอ่าว” (พญาตานีฯ ปรามินทร์ เครือทอง, รัฐปัตตานี ในศรีวิชัยฯ สำนักพิมพ์มติชน (2547) กรุงเทพฯ หน้า 305-306)

 

        การระบุว่า สุลต่านปัตตานีทรงน้อยพระทัย เนื่องจากฝ่ายสยามต้อนรับไม่สมพระเกียรติเมื่อครั้งเสด็จสู่กรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี นั้นดูจะขัดกันกับเรื่องราวที่ระบุมาก่อนหน้านี้ว่า : ในระหว่างที่พระองค์พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้รับการต้อนรับและการรับรองอย่างดี และก่อนเสด็จกลับ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชทานเชลยชาวพม่าจำนวน 60 คน และเชลยชาวลาวอีกจำนวน 100 คนเป็นของกำนัล (ดูปัตตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู อ้างแล้ว หน้า 72) ส่วนที่ว่ามาช่วยการศึกนั้นสอดคล้องกัน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เพราะอะไรจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างกองทัพมลายูปัตตานีกับกองทัพสยามในระหว่างที่กองทัพมลายูปัตตานีเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา เป็นเพราะกรุงศรีอยุธยากำลังอยู่ในช่วงอ่อนแอเนื่องจากเสียไพร่พลและทรัพย์สมบัติเป็นอันมากในการศึกกับพม่า

 

        อีกทั้งพระมหากษัตริย์ของสยามทรงสูญเสียพระเดชานุภาพในคราวเสียช้างเผือก 4 เชือกนั้นใช่หรือไม่ จึงทำให้สุลต่านปัตตานีคิดประทุษร้ายเป็นกบถเข้ายึดพระราชวังหลวง อย่างไรก็ตามสงครามยึดพระราชวังหลวงในครั้งนั้นย่อมถือเป็นการเริ่มก่อสงครามจากฝ่ายของปัตตานีก่อน ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากกรณีใดก็ตาม นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่จำต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างเป็นกลาง ถึงแม้จะค้านกับความรู้สึกและการรับรู้ที่เคยถ่ายทอดกันมาก็ตาม ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้ระบุว่า

وَلاَ يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَى أَلاَّ تَعْدِلُواْ اعْدِلُواْ هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَى  
“และจงอย่าให้ความชิงชังที่มีต่อกลุ่มชนหนึ่งโน้มนำให้พวกท่านไม่มีความเป็นกลาง (เป็นธรรม) พวกท่านทั้งหลายจงมีความเป็นกลาง (เป็นธรรม) อันความเป็นกลางนั้นมันเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับความยำเกรงเป็นที่สุด”   (อัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 8)

        3. ปัตตานีดารุสสลามในอดีตถูกสยามรุกรานแต่เพียงฝ่ายเดียวกระนั้นหรือ?
        ดูเหมือนว่า มายาคติที่แฝงอยู่ในความเข้าใจของผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งบางส่วนถูกปลูกฝังด้วยคำบอกเล่าถึงสงครามสยาม – ปัตตานีในอดีตว่า  สยาม (กรุงศรีอยุธยา) เป็นผู้รุกรานและหมายยึดครองนครรัฐปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของตนมาโดยตลอดจนดูเป็นว่า ปัตตานีไม่มีคู่รักคู่แค้นใดนอกจากสยาม (สิแย) และคงจะเป็นเช่นนั้นเรื่อยไปจวบจนถึงวันโลกาวินาศ (วันกิยามะฮฺ) มายาคติเช่นนี้บ่มเพาะความชิงชังระหว่างคนนายูกับคนสิแยมาตราบจนทุกวันนี้ แต่ถ้าหากเราพิจารณาและศึกษาประวัติศาสตร์อย่างรอบด้านและถ้วน ทั่ว เราก็จะพบว่าข้อเท็จจริงอาจมิได้เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด

 

        กล่าวคือผู้รุกรานปัตตานีหรือผู้สร้างความเสียหายในนครรัฐปัตตานี หาใช่ชาวสยามแต่เพียงกลุ่มชนเดียว ปัตตานีเองก็เคยรุกรานและเปิดศึกกับฝ่ายสยามก่อนเช่นกัน ดังกรณีเหตุการณ์ยึดพระราชวังหลวงในกรุงศรีอยุธยาของกองทัพชาวมลายูตานี ภายใต้การนำของสุลตอนมุศ็อฟฟัร ชาห์ซึ่งกล่าวถึงมาแล้วในเกร็ดความรู้ข้อที่ 2 นอกจากนี้ปัตตานีก็เคยยกทัพของตนเข้าโจมตีเมืองพัทลุงจนถึงเขตแดนนครศรีธรรมราช ในปีคศ.1631 ตรงกับรัชสมัยราญาอูงู (คศ.1624-1635) ในช่วงการศึกกับเมืองพัทลุงนี้ ฝ่ายปัตตานียังได้ยึดเรือสินค้าของสยามที่กำลังเดินทางผ่านน่านน้ำของปัตตานี เพื่อไปปัตตาเวีย (ชวา) พร้อมกับควบคุมลูกเรือของสยามซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น 7 คน พ่อค้าชาวฮอลันดา 2 คนอีกด้วย (ดูปัตตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู อ้างแล้ว หน้า 106)

 

        เมื่อราชวงศ์ศรีมหาวังสา สิ้นสุดลงด้วยการสิ้นพระชนม์ของราญากูนิง อำนาจการปกครองปัตตานีได้ตกไปอยู่กับราญาสักตี หรือ สุลตอนมุฮัมมัดที่ 1 (คศ.1650-1662) แห่งกลันตัน ราญาสักตีได้นำกองทัพมลายูมุ่งไปทางทิศเหนือเข้าโจมตีเมืองสงขลาจนถึงพัทลุงและเขตแดนของเมืองนครศรีธรรมราช และยึดหัวเมืองดังกล่าวพร้อมด้วยตรังกานูเข้ามาไว้ในอำนาจแล้วประกาศจัดตั้งอาณาจักรปัตตานีเสียใหม่เป็นสหพันธรัฐปัตตานี (Patani Besar) อันประกอบด้วย กลันตัน ปัตตานี สงขลา พัทลุง และตรังกานู ราญาสักตี จึงเป็นปฐมกษัตริย์ปัตตานีที่ได้ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ ที่เรียกว่า “ราชวงศ์ราชาจึมบาล หรือ “Keluarga di Raja Jembal” (อ้างแล้ว หน้า 130)

 

        การทำสงครามยึดครองดินแดนชายขอบของสยาม  โดยกองทัพมลายูปัตตานีรวมถึงกลันตันนั้นเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่า สงครามประเพณีระหว่างสองอาณาจักรนี้มิใช่เป็นการตั้งรับแต่ฝ่ายเดียว หากแต่เป็นการขับเคี่ยวกันจากทั้งสองฝ่าย ผลัดกันรุกผลัดกันรับ คราใดที่ฝ่ายหนึ่งอ่อนแอหรือมีปัญหาภายใน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะใช้โอกาสและสถานการณ์ที่เป็นต่อในการแผ่แสนยานุภาพของตนเข้ายึดครองเขตแดนของปัจจามิตร นอกจากนี้การทำสงครามรบพุ่งระหว่างชาวมลายูด้วยกันเองในอาณาบริเวณแถบนี้ก็มีปรากฏอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งอดีต ดังเช่นในรัชสมัยสุลตอนมันโซร์ ชาห์ (Soltan Mansur Syah) (คศ.1564-1572) สุลตอนแห่งปาเล็มบัง (ชวา) ได้ส่งกองทัพเรือชวามีจำนวนกำลังพล 1 แสนคน นำทัพโดยกิไย บันดาร์ (Kiyai Bandar) เพื่อทำศึกยึดครองปัตตานี

 

        กองทัพเรือชวาได้สู้รบกับนครรัฐปัตตานีเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน ก็ไม่สามารถยกพลขึ้นบกและเข้ายึดปัตตานีได้จึงต้องถอยทัพกลับสู่ปาเล็มบัง ต่อมาอีก 45 วันในเดือนถัดมา สุลตอนแห่งปาเล็มบัง จึงส่งกิไย กือลาซัง (Kiyai Kelasang) นำทัพกองเรือชวาเข้าทำศึกกับปัตตานีอีกครั้งโดยมีกำลังพล 1 แสนคน ในครั้งนี้พวกชวาสามารถยกพลขึ้นบกและเข้าประชิดกำแพงเมืองปัตตานีได้สำเร็จ แต่ก็ต้องถูกปืนใหญ่ของปัตตานียิงเข้าใส่จนทหารชวาล้มตายเป็นอันมาก ในที่สุดก็จำต้องล่าถอยกลับสู่ปาเล็มบัง (สุมาตรา) อีกครั้ง (อ้างแล้ว หน้า 78)

 

        ฝ่ายสุลตอนแห่งยะโฮร์เองก็มุ่งหมายจะรุกรานปัตตานีอยู่หลายครั้ง ในรัชสมัยราญาฮิเญา (คศ.1584-1616) ต่อมาในรัชสมัยราญากูนิง (คศ.1635-1686) ระหว่างปีคศ.1671-1679 ปัตตานีก็ทำสงครามรบพุ่งกันสิงขรานคร (สงขลา) ซึ่งเป็นรัฐมุสลิมชายขอบของสยามเช่นกัน เมืองเคดะห์ (ไทรบุรี) เองก็เคยถูกกองทัพของอาเจ๊ะ (จากตอนเหนือของเกาะสุมาตรา) เข้ารุกราน จนเป็นเหตุให้เจ้าเมืองเคดะห์พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ต้องลี้ภัยมาอยู่ที่ปัตตานี และต่อมาเจ้าเมืองเคดะห์ก็ได้สมรสกับสตรีชาวปัตตานีเป็นชายา จนเกิดพระธิดาที่ชื่อ ราญาเดวี ซึ่งปกครองปัตตานีในระหว่างปีคศ.1710-1719 (อ้างแล้ว หน้า 135) และในปีพ.ศ.2301 ลงฆอฟฟาร์  ได้นำนักรบจากเมืองระแงะ  และรามันเข้าตีเมืองกลันตันในประวัติศาสตร์  เมืองกลันตันเรียกว่า ศึกกูบังลาบู ครั้งที่ 1 (ดูปาตานี ดารุสสลาม ; อาริฟีน บินจิ, ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ หน้า 73-77) ต่อมาในปีพ.ศ.2276 ลงฆอฟฟาร์บุตรพญาเมืองรามันได้นำทัพในศึกกูบังลาบูครั้งที่ 2 (เล่มเดียวกัน หน้า 82)

        จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ข้างต้น ย่อมชี้ให้เห็นว่า สงครามที่เกิดขึ้นในนครรัฐปัตตานีและหัวเมืองมลายูในหลายครั้งก็เป็นการรบพุ่งเองระหว่างชาวมลายูกับชาวมลายูซึ่งเป็นภาวะทั่วไปสำหรับสงครามประเพณีในอดีตที่มักจะมีข้อบาดหมางระหว่างกันเองหรือไม่ก็เป็นการแผ่ขยายอำนาจเพื่อครอบครองดินแดนของนครรัฐใกล้เคียง สงครามที่รบพุ่งกันเองนี้มิได้มุ่งหมายว่าเป็นการทำสงครามศาสนาเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้เพราะชาวมลายูส่วนใหญ่ตลอดจนนครรัฐที่อยู่ร่วมสมัยกับปัตตานีดารุสสลามในเวลานั้นส่วนใหญ่ได้เข้ารับอิสลามมาเป็นเวลานานแล้ว ทำนองเดียวกับการศึกสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างนครรัฐในสุวรรณภูมิซึ่งล้วนแต่ถือในศาสนาพุทธเหมือนกัน ดังกรณีของสงครามระหว่างสยามกับพม่า, กัมพูชา และลาว ซึ่งต่างก็เป็นพุทธด้วยกัน มิหนำซ้ำการรบพุ่งระหว่างชาวพุทธในสุวรรณภูมิด้วยกันเองนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นมากครั้งยิ่งกว่าการรบพุ่งระหว่างสยามกับปัตตานีเสียอีก

 

        สงครามประเพณีระหว่างสยามกับพม่านั้นกินเวลานับร้อยปีทีเดียว กล่าวคือเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2081 (ศึกเชียงกราน รัชสมัยพระไชยราชาธิราช) จนถึงปีพ.ศ.2148 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการทำสงครามระหว่างกัน ส่วนช่วงหลัง ระหว่างปีพ.ศ.2302 ถึงปีพ.ศ.2310 (สงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2) สมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ 1 ได้รจนาสภาพบ้านเมืองหลังสงครามครั้งเสียกรุงเมื่อปีพ.ศ.2310 ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ว่า “บ้านเมืองอยู่ในสภาพไม่ต่างไปจากกาลกลียุค พระพุทธศาสนาตกต่ำจนพระภิกษุไร้อาหารที่เคยได้จากการออกบิณฑบาตต้อง “พากันสึกออกหาเลี้ยงชีพตามสติกำลัง” ส่วนพวกมิจฉาทิฐิทั้งหลายต่างชิงกันทำลายพระพุทธรูป พระธรรมวินัย และพระไตรปิฎกเพื่อยื้อแย่งเอาของมีค่าไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน” (สังคีติยวงศ์ พระนคร : โรงพิมพ์ไท, 2466 หน้า 408-412, 423-424)

 

        สงครามก็คือสงคราม สงครามมิเคยปราณีผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม มุสลิมกับมุสลิม มลายูกับมลายู หรือพุทธกับพุทธก็มิได้รับการยกเว้นแต่อย่างใด แน่นอนหากการทำสงครามนั้นเกิดขึ้นระหว่างนครรัฐ และพลเมืองที่ถือศาสนาต่างกัน ความชอบธรรมก็มักจะเป็นข้ออ้างของทั้งสองฝ่ายเสมอในการปกป้องศาสนาและความเชื่อของฝ่ายตน ผลของสงครามที่หลีกเลี่ยงมิได้ ก็คือการสูญเสียกำลังพล ชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนเกิดความระส่ำระสาย บ้านแตกสาแหรกขาด พลัดบ้านพลัดเมือง ในบรรยากาศเช่นนั้นความชิงชังและการอาฆาตพยาบาทในฝ่ายผู้สูญเสียและปราชัยย่อมเป็นปฏิกิริยาที่เกิดตามมาเป็นธรรมดา

 

        เราในฐานะเป็นอนุชนรุ่นหลังที่อ่านประวัติศาสตร์ก็คงต้องวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณด้วยหลักของเหตุผลและความเป็นกลาง กรุงศรีอยุธยาก็แตกสลายไปแล้ว พม่าก็เสียเมืองและแปรเปลี่ยนไปแล้ว ในขณะเดียวกันปัตตานีดารุสสลามก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยมาเนิ่นนานแล้ว สถานการณ์และวิถีทางการเมืองและรัฐศาสตร์ก็แปรเปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน การตอกย้ำความชิงชังและเคียดแค้นระหว่างกันก็คงไม่มีประโยชน์อันใดอีกต่อไป

 

        คงถึงเวลาแล้วที่ชาวมลายูในบ้านนี้เมืองนี้ต้องกำหนดอนาคตและวิถีทางของตนว่าจะเอาอย่างไร จะรบราฆ่าฟันบนพื้นฐานของความชิงชังเคียดแค้นหรือจะปรับยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิและเสรีภาพบนพื้นฐานของความเป็นพลเมืองไทยและสันติวิธีซึ่งเป็นวิถีแห่งอิสลามที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะลูกหลานมลายูมุสลิมจะต้องดำรงอยู่ต่อไป สงครามและการประหัตประหารผู้บริสุทธิ์ที่เกิดจากน้ำมือของฝ่ายใดก็ตาม ย่อมมิใช่คำตอบและทางเลือกสุดท้าย ตราบใดที่โอกาสและสันติวิธียังคงสามารถขับเคลื่อนวิถีทางของผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้ได้อยู่ มิได้หมดสิ้นหนทางไปเสียทั้งหมด

وَمَن يَتَّقِ اللَّهَ يَجْعَل لَّه مَخْرَجاً
 “และผู้ใดที่เขายำเกรงต่อเอกองค์อัลลอฮฺ พระองค์จะทรงดลบันดาลทางออกให้แก่เขาผู้นั้น” (อัลกุรอาน)