บทที่ 2 : ชาวเติร์กมุสลิมในรัฐอิสลามสมัยราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ

ราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ (ฮ.ศ. 132 – 656 / ค.ศ. 750 – 1259) มีศูนย์กลางการปกครองที่นครแบกแดด อีรัก และมีเคาะลีฟะฮฺจำนวน 37 ท่าน นักประวัติศาสตร์แบ่งช่วงเวลาของรัฐอิสลามในราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่
1) รัชสมัยอับบาสียะฮฺช่วงที่ 1 หรือช่วงชนชาติเปอร์เซียเรืองอำนาจ (ฮ.ศ. 132 – 232 / ค.ศ. 750 – 847)
2) รัชสมัยอับบาสียะฮฺช่วงที่ 2 หรือช่วงชนชาติเติร์กเรืองอำนาจ (ฮ.ศ. 232 – 334 / ค.ศ. 847 – 945)
3) รัชสมัยอับบาสียะฮฺช่วงที่ 3 หรือช่วงวงศ์เปอร์เซียนอัล-บุวัยฮียูนเรืองอำนาจ (ฮ.ศ. 334 – 447 / ค.ศ. 945 – 1055)
4) รัชสมัยอับบาสียะฮฺช่วงที่ 4 หรือช่วงวงศ์เซลจูกเติร์กเรืองอำนาจ (ฮ.ศ. 447 – 656 / ค.ศ. 1055 – 1258)  (1)

ในปลายรัชสมัยอับบาสียะฮฺช่วงที่ 1 ตรงกับรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิม บิลลาฮฺ (อบูอิสหาก มุฮัมมัด อิบนุ ฮารูน อัร-เราะชีด) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 8 (ฮ.ศ. 218 – 227 / ค.ศ. 833 – 842) ได้เริ่มมีการใช้กองทหารชาวเติร์กเป็นครั้งแรกในราชสำนักแห่งนครแบกแดด พวกเติร์กที่เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิม บิลลาฮฺ ทรงนำมาใช้ล้วนมาจากดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) เช่น สะมัรฺกอนด์, ฟัรฺฆอนะฮฺ, อัชรูสนะฮฺ และคุวาริซม์ มีทั้งการเลือกซื้อจากตลาดค้าทาสและเชลยศึกในสงคราม หรือบรรณาการที่ผู้ครองแคว้นคัดเลือกและนำส่งถวายเคาะลีฟะฮฺและเสนาบดี (วะซีรฺ) ของพระองค์

แผนที่แสดงที่ตั้งสำคัญในนครสะมัรฺรออฺ

นครแบกแดดในรัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมจึงเต็มไปด้วยทหารชาวเติร์กซึ่งมีจำนวนหลายหมื่นคน พวกทหารชาวเติร์กแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอย่างดีและได้รับอนุญาตให้ขี่ม้าไปตามถนนหนทางในนครแบกแดดจนมีการกระทบกระทั่งและสร้างความไม่พอใจแก่พลเมืองแบกแดด เคาะลีฟะฮฺจึงทรงย้ายกองทหารเติร์กไปยังนครสะมัรฺรออฺ ซึ่งพระองค์มีบัญชาให้สร้างขึ้นบนริมฝั่งแม่น้ำไทกริสฝั่งขวาทางตอนเหนือของนครแบกแดดในปี ค.ศ. 836 เพื่อเป็นราชธานีแห่งใหม่ของพระองค์ นครสะมัรฺรออฺจึงกลายเป็นที่มั่นของกองทัพชาวเติร์กทั้งที่เป็นพวกทาสและเสรีชน

นักประวัติศาสตร์บางท่านมีทัศนะว่าการที่เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมทรงโปรดปรานพวกเติร์กเป็นผลมาจากพระมารดาของพระองค์เป็นชาวเติร์ก ทรงพระนามว่า มาริดะฮฺ หรือมาริยะฮฺ ทัศนะที่ว่านี้ถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ พระองค์ประสงค์ที่จะหลุดพ้นจากอิทธิพลของพวกเปอร์เซียและอาหรับในด้านการทหารและการปกคอง จึงใช้ชาวเติร์กเป็นเครื่องมือในการลดทอนอำนาจและอิทธิพลของพวกเปอร์เซียและอาหรับ  จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้เคาะลีฟะฮฺอัล-มะอฺมูน (ฮ.ศ. 170 -218 / ค.ศ. 786 – 844) ก็ทรงใช้พวกทาสชาวเติร์กเป็นทหารรักษาพระองค์มาก่อนเช่นกัน แต่เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมทรงเปิดกว้างในเรื่องนี้มากกว่า ซึ่งแน่นอนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเบื้องหน้าต่อราชสำนักก็ย่อมมีมากกว่าตามไปด้วย

นั่นคือภายหลังรัชกาล เคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ (ฮ.ศ. 206 – 247 / ค.ศ. 821 – 861) พระราชโอรสของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมบิลลาฮฺ พวกเติร์กก็เริ่มเข้าแทรกแซงราชสำนักของอัล-อับบาสียะฮฺในด้านการบริหาราชการแผ่นดิน เคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺก็เสื่อมอำนาจและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกเติร์กที่เข้ามาแทนที่พวกเปอร์เซียและอาหรับ มิหนำซ้ำการสิ้นพระชนม์ของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ ก็เป็นแผนการของพวกขุนนางชาวเติร์กที่ร่วมมือกับมุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุตะวักกิล พระราชโอรสในการลอบปลงพระชนม์พระราชบิดาด้วยยาพิษ แล้วพวกเติร์กก็ยกมุฮัมมัดขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺ ทรงพระนามว่า อัล-มุนตะศิรฺ บิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 247 – 248 / ค.ศ. 861 – 862) เป็นเคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ยุคของพวกเติร์กเรืองอำนาจจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้น

บรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺถูกจำกัดอำนาจอยู่ในเฉพาะราชสำนักแห่งนครแบกแดด อำนาจในการบริหารและการทหารตกอยู่ในกำมือของพวกขุนนางชาวเติร์ก คราใดที่พวกขุนนางชาวเติร์กเห็นว่าควรปลด เคาะลีฟะฮฺออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งเชื้อพระวงศ์อีกองค์หนึ่งขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺก็สามารถทำได้ เลวร้ายจนถึงขั้นลอบปลงพระชนม์ หรือจับเคาะลีฟะฮฺในรัชสมัยนั้นๆ สำเร็จโทษก็มีอยู่หลายครา เมื่อราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺอ่อนแอลงและไร้อำนาจในการบริหารรัฐอิสลามอันกว้างใหญ่ไพศาล การผุดขึ้นของรัฐอิสระจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พวกขุนนางชาวเติร์กไม่ได้มีอำนาจแทรกแซงราชสำนักแห่งนครแบกแดดราชธานีแห่งอัล-อับบาสียะฮฺเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหัวเมืองต่างๆ ในรัฐอิสลามอีกด้วย กล่าวคือ บรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺได้มอบอำนาจในการปกครองหัวเมืองและแคว้นที่ขึ้นกับราชสำนักแห่งนครแบกแดดแก่พวกขุนนางชาวเติร์กเพื่อแลกกับภาษีและบรรณาการที่ผู้ปกครองหัวเมืองและแว่นแคว้นจะส่งมอบแก่บัยตุลมาล (ท้องพระคลังหลวง) ในแต่ละปี ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งบรรดาขุนนางชาวเติร์กที่กินตำแหน่งเจ้าเมือง และข้าหลวงผู้ครองแคว้นเลือกที่จะประจำอยู่ในราชธานีแบกแดดหรือสะมัรฺรออฺเพื่อควบคุม เคาะลีฟะฮฺอย่างใกล้ชิดและส่งตัวแทนของพวกตนไปปกครองหัวเมืองและแว่นแคว้นต่างๆ โดยเฉพาะ ในอียิปต์

รัฐอิสระ อัฏ-ฏูลูนียะฮฺ (ฮ.ศ. 254 – 292 / ค.ศ. 868 – 905)

อัล-กินดียฺ บันทึกไว้ในตำรา “วุลาต มิศร์ ว่า กุฎอตุฮา” ของเขาว่า : เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมได้มีสารไปถึงข้าหลวงชาวเติร์กที่ปกครองอียิปต์นามว่า เคาะลีฟะฮฺกัยดัรฺ ให้คัดชาวอาหรับออกจากบัญชี (ดีวาน) ของกองทัพ นับแต่นั้นทหารส่วนใหญ่ในกองทัพอียิปต์และพวกแม่ทัพนายกองจึงถูกแทนที่ด้วยชาวเติร์ก ส่วนชาวอาหรับที่ถูกปลดประจำการได้หันไปประกอบอาชีพทางการเกษตรและการค้าขาย แต่ในยามสงครามชาวอาหรับก็จะถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมรบในฐานะทหารอาสาช่วยรบหรือเป็นกำลังเสริม ธรรมเนียมปฏิบัติที่รู้กันคือ บรรดาข้าหลวงที่มีอำนาจในการปกครองอียิปต์คือพวกขุนนางชาวเติร์กซึ่งพวกเขาจะประจำอยู่ในนครแบกแดดหรือสะมัรฺรออฺ และส่งผู้แทนที่ไว้ใจไปเป็นผู้ปกครองอียิปต์แทน

ในจำนวนผู้แทนที่ถูกส่งไปปกครองอียิปต์ได้แก่ อะหฺมัด อิบนุ ฏูลูน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 270 / ค.ศ. 884) เดิมฏูลูนบิดาของอะหฺมัดเป็นทาสชาวเติร์กที่เจ้าเมืองบุคอรอ ส่งตัวไปเป็นบรรณาการแก่เคาะลีฟะฮฺอัล-มะอฺมูน แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในปี ฮ.ศ. 200 ต่อมาฏูลูนได้ไต่เต้าจนได้เป็นนายทหารกองหลังของกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และอะหฺมัดบุตรชายของฏูลูนถือกำเนิด ณ นครสะมีรฺรออฺในรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิม ปี ฮ.ศ. 220 บ้างก็ว่าอะหฺมัดเป็นบุตรบุญธรรมของฏูลูน อย่างไรก็ตามอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนได้เติบโตและเป็นทหารในนครสะมัรฺรออฺ ตลอดจนศึกษาวิชาการทางศาสนาและนิติศาสตร์อิสลาม?ในนครแบกแดดและเมืองฏอรฺสูส ซึ่งทั้งสองเมืองเป็นศูนย์กลางทางวิชาการในเวลานั้น

หลังฏูลูนผู้เป็นบิดาเสียชีวิต มารดาของอะหฺมัดได้แต่งงานใหม่กับอะมีรฺ บักบ๊าก ซึ่งเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตะวักกิล อิบนุ อัล-มุอฺตะศิม (ฮ.ศ. 206 – 247 / ค.ศ. 821 – 861) ได้แต่งตั้งให้อะมีรฺ บักบ๊ากเป็นข้าหลวงประจำอียิปต์ บักบ๊ากจึงส่งอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนลูกเลี้ยงของตนไปปกครองอียิปต์ในนามของตน เมื่อปี ฮ.ศ. 254 (ค.ศ. 868) ต่อมาไม่นาน บักบ๊ากพ่อเลี้ยงของอะหฺมัดก็ถูกลอบสังหาร แม่ทัพชาวเติร์กคือ อะมีรฺ ยัรฺกูค (ในบางตำราออกชื่อว่า บ๊ารฺกูค) จึงได้รับตำแหน่งข้าหลวงอียิปต์แทน

ดังนั้นอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูน ซึ่งเป็นผู้แทนของข้าหลวงคนก่อน (คือ บักบ๊าก พ่อเลี้ยงของอะหฺมัดที่ถูกลอบสังหาร) ในการปกครองอียิปต์จึงสมรสกับบุตรีของข้าหลวงคนใหม่ เมื่ออะหมัดมีศักดิ์เป็นลูกเขยของอะมีรฺ ยัรฺกูค ข้าหลวงคนใหม่ อะหฺมัดจึงเป็นผู้แทนในการปกครองอียิปต์ในนามพ่อตาของตนต่อไป อำนาจในการปกครองอียิปต์ของอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนจึงเป็นไปอย่างราบรื่นและมั่นคง ความสัมพันธ์ของอะหฺมัดกับเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดดมีเพียงการขอดุอาอฺให้แก่เคาะลีฟะฮฺในการแสดงธรรมวันศุกร์ การตราเหรียญกษาปณ์ด้วยพระนามของเคาะลีฟะฮฺและส่งบรรณาการแก่ราชสำนักเท่านั้น

ต่อมาอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนได้สถาปนารัฐอิสระของตนในอียิปต์และแผ่อำนาจไปถึงแคว้นชาม (ซีเรีย) ทางตอนเหนือและลิเบียทางทิศตะวันตก ซึ่งขณะนั้นราชสำนักของอัล-อับบาสียะฮฺกำลังติดพันอยู่กับการปราบปรามพวกทาสผิวดำที่ก่อการลุกฮือทางตอนใต้ของอีรัก รัฐอิสระของ อิบนุ ฏูลูนถูกนับว่าเป็นรัฐอิสระแห่งแรกในประวัติศาสตร์อิสลามช่วงที่เคาะลีฟะฮฺแห่งแบกแดดมีความอ่อนแอ กองทัพของอิบนุฏูลูนมีความเข้มแข็งและประกอบไปด้วยพวกทหารชาวเติร์ก ทาสผิวดำและพวกอาหรับ นักประวัติศาสตร์อัล-มักรีซียฺ (ค.ศ. 1364 – 1441) บันทึกว่า : อิบนุ ฏูลูนได้ซื้อทาสชาวเติร์กมีจำนวนมากถึง 24,000 คน ทาสผิวดำ 40,000 คน และมีทหารรับจ้างชาวอาหรับมากถึง 7,000 คน

ในปี ฮ.ศ. 256 (ค.ศ. 870) อิบนุ ฏูลูนได้สร้างนครอัล-เกาะฏออิอฺบนเนินเขายัชกัรฺ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนครฟุสฏอฏ และเชิงเขาอัล-มุกอฏฏอมในนครแห่งใหม่นี้ อิบนุ ฏูลูนได้สร้างปราสาทขนาดใหญ่มีจัตตุรัสที่กว้างขวางอยุ่เบื้องหน้าปราสาท และพื้นที่รอบปราสาทได้ถูกแบ่งออกเป็นเขตที่ตั้งของชุมชน พวกทหารผิวดำอยู่ในเขตชุมชนเฉพาะ เช่นเดียวกับพวกทหารชาวเติร์ก การแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตเฉพาะของแต่ละชุมชนจึงเป็นที่มาของคำว่า อัล-เกาะฏออิอฺ และที่ข้างปราสาทบนตีนเขายัชกัรฺ อิบนุ ฏูลูนได้สร้างมัสญิดญามิอฺขึ้นโดยสร้างแล้วเสร็จในปี ฮ.ศ. 265 (ค.ศ. 879)

มัสญิดญามิอฺ อิบนุ ฏูลูน มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวในแต่ละด้าน 162 เมตร ถือเป็นมัสยิดที่มีความกว้างขวางมากที่สุดในกรุงไคโร (ปัจจุบัน) สถาปัตยกรรมของมัสญิดญามิอฺ อิบนุ ฏูลูนได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมในการสร้างมัสญิดแบบอีรักและศิลปกรรมแบบอับบาสียะฮฺ นครอัล-เกาะฏออิอฺในปัจจุบันเหลือพื้นที่เฉพาะอาคารมัสญิด ญามิอฺ อิบนุ ฏูลูนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้อิบนุ ฏูลุนยังได้สร้างสถานพยาบาล (บีมาริสตาน) และสร้างกองเรือรบจำนวน 100 ลำ โดยมีอู่ต่อเรือรบอยู่ ณ เกาะกลางแม่น้ำไนล์ ที่เรียกกันว่า ญะซีเราะฮฺ อัรฺ-เราวฺเฏาะฮฺ กองเรือรบของอิบนุ ฏูลูนมีภารกิจคุ้มครองน่านน้ำของเขตชายฝั่งเมืองท่าที่สำคัญ เช่น ยาฟา อักก้า ดุมยาฏ และอเล็กซานเดรียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกตลอดจนชายฝั่งของชาม (ซีเรีย) อียิปต์ และลิเบีย

มัสญิด อิบนุ ฏูลูน
มัสญิดสะมัรฺรออฺ

อะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 270 (ค.ศ. 883) ขณะมีอายุได้ 50 ปี และปกครองรัฐอิสระ อัฏ-ฏูลูนียะฮฺ เป็นเวลา 16 ปี คุมาเราะวัยฮฺ (ฮ.ศ. 270 – 282 / ค.ศ. 883 – 895) บุตรชายของอิบนุ ฏูลูนได้สืบทอดอำนาจในการปกครองรัฐอิสระอัฏ-ฏุลุนียะฮฺ แห่งอียิปต์และซีเรีย ต่อมาเป็นเวลา 12 ปี ในช่วงเวลาที่อะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนเสียชีวิต เจ้าชาย (อะมีรฺ) ฏอลหะฮฺ อิบนุ อัล-มุตะวักกิล หรืออัล-มุวัฟฟัก บิลลาฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 278 / ค.ศ. 891) ผู้เป็นพระราชบิดาของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะฎิคบิลลาฮฺ และเป็นพระเชษฐาของเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุอฺตะมิดอะลัลลอฮฺ (ฮ.ศ. 256 – 279 / ค.ศ. 870 – 892) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺเป็นผู้มีอำนาจเต็มในราชสำนักของอัล-อับบาสียะฮฺ

เนื่องจากอัล-มุอฺตะมิดพระอนุชามีความอ่อนแอ เจ้าชายฏอลหะฮฺ (อัล-มุวัฟฟัก บิลลาฮฺ) สามารถปราบปรามพวกทาสผิวดำที่ก่อการลุกฮือได้อย่างเด็ดขาด และนำทัพทำศึกกับพวกโรมัน ไบเซนไทน์ พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากนครสะมัรฺรออฺกลับมายังนครแบกแดดในปี ค.ศ. 892 และในปี ฮ.ศ. 2710 (ค.ศ. 883) ซึ่งเป็นปีที่อะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนสิ้นชีวิต เจ้าชายฏอลหะฮฺได้ส่งกองทัพของอัล-อับบาสียะฮฺเพื่อปราบปรามรัฐอิสระอัฏ-ฏูลูนิยะฮฺโดยเข้ายึดครองกรุงดามัสกัสและเคลื่อนทัพลงใต้เพื่อเข้าประชิดเส้นพรมแดนอียิปต์

คุมาเราะวัยฮฺจึงนำทัพจากอียิปต์มุ่งหน้าสู่เมืองอัร-รอมละฮฺ ทางตอนใต้ของปาเลสไตน์ ในปี ฮ.ศ. 271 (ค.ศ. 884) กองทัพของสองฝ่ายได้สู้รบกันอย่างหนักหน่วง คุมาเราะวัยฮฺได้รับความปราชัยและถอยทัพกลับสู่อียิปต์ แต่แม่ทัพสะอฺด์ อัล-อัสอัรฺของ คุมาเราะวัยฮฺยังคงทำศึกต่อไปกับพวกอัล-อับบาสียะฮฺจนได้รับชัยชนะ เมื่อคุมาเราะวัยฮฺทราบว่ากองทัพของตนได้รับชัยชนะจึงนำทัพมุ่งหน้าจากอียิปต์สู่ซีเรียอีกครั้ง และตีกรุงดามัสกัสคืนได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็นำทัพเข้าพิชิตเขตอัล-ญะซีเราะฮฺและเมืองโมศุล ทำให้อาณาเขตของรัฐอิสระอัฏ-ฏูลูนียะฮฺมีพื้นที่เท่ากับสมัยอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนผู้เป็นบิดาของตนนับจากเส้นพรมแดนอิรักทางทิศตะวันออกจรดเมืองบุรฺเกาะฮฺ (ลิเบีย) ทางทิศตะวันตกและจากภาคเหนือของแคว้นชาม (ซีเรีย) จรดแคว้นอัน-นูบะฮฺ (ซูดาน) ทางทิศใต้ ต่อมาคุมาเราะวัยฮฺได้ทำสนธิสัญญาหย่าศึกกับเจ้าชายอัล-มุวัฟฟัก บิลลาฮฺ (ฏอลหะฮฺ) และเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิด อะลัลลอฮฺ แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในปี ฮ.ศ. 273 (ค.ศ. 556) ลุสู่ปี ฮ.ศ. 278 เจ้าชายฏอลหะฮฺ (อัล-มุวัฟฟัก บิลลาฮฺ) สิ้นพระชนม์

ถัดมาในปี ฮ.ศ. 279 เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิดถูกลอบวางยาพิษจนสิ้นพระชนม์ เจ้าชายอะหฺมัด อิบนุ อัล-มุวัฟฟักได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 16 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ เฉลิมพระนามว่า อัล-มุอฺตะฎิดบิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 279-289 / ค.ศ. 892-902) คุมาเราะวัยฮฺได้ถวายราชบุตรีของตนคือ อัสมาอฺผู้มีฉายานามว่า กอฏรุนนะดา (พระนางหยาดน้ำค้าง) ให้อภิเษกกับเจ้าชายอัล-มุกตะฟียฺบิลลาฮฺ ราชโอรสในเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะฎิดบิลลาฮฺ แต่เคาะลีฟะฮฺได้เลือกที่จะอภิเษกกับราชบุตรีของคุมาเราะวัยฮฺเสียเอง คุมาเราะวัยฮฺก็เห็นตามนั้น การอภิเษกระหว่างเจ้าหญิงกอฏรุนนะดา ราชบุตรีของคุมาเราะวัยฮฺกับเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะฎิดบิลลาฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺจึงเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 281

ในปี ฮ.ศ. 282 (ค.ศ. 895) ระหว่างการเดินทางสู่ซีเรียคุมาเราะวัยฮฺถูกสนมของตนลอบสังหาร ราชบุตรนามว่า อบุลอะสากิรฺญัยชฺ จึงสืบต่ออำนาจจากคุมาเราะวัยฮฺ แต่ราชบุตรญัยชฺซึ่งเยาว์วัยได้สั่งประหารพี่น้องของคุมาเราะวัยฮฺผู้มีศักดิ์เป็นลุงของราชบุตรญัยชฺถึง 3 คน ทำให้บรรดาแม่ทัพนายกองเกิดความไม่พอใจ และแคว้นชาม (ซีเรีย) ก่อการกบฏในที่สุด อบุลอะสากิรฺ ญัยชฺ ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกคุมขัง ฝ่ายแม่ทัพนายกองและขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงร่วมกันยกฮารูน ราชบุตรองค์เล็กของคุมาเราะวัยฮฺขึ้นเป็นเจ้าครองรัฐอิสระ อัฏ-ฏูลูนียะฮฺแทนในปี ค.ศ. 896

ช่วงเวลานั้น รัฐอิสระอัฏ-ฏูลุนียะฮฺต้องเผชิญกับการคุกคามของพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺ ทางทิศตะวันตกในแอฟริกาเหนือและพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺ ทางทิศตะวันออกในเขตตอนใต้ของซีเรีย กองทัพของอัฏ-ฏูลูนียะฮฺประสบความล้มเหลวในการปราบปรามพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺ และพ่ายแต่อพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺอยู่หลายครั้ง ฝ่ายเคาะลีฟะฮฺอัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดรู้ถึงความอ่อนแอของพวกวงศ์อัฏ-ฏุลุนจึงตั้งใจตีอียิปต์คืนก่อนที่อียิปต์จะตกอยู่ในกำมือของพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺหรือพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺ

ลุปี ฮ.ศ. 292 เคาะลีฟะฮฺอัล-มุกตะฟียฺ บิลลาฮฺ อะลี อิบนุ อัล-มุอฺตะฎิด (ฮ.ศ. 289 – 295 / ค.ษ. 902 – 908) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 17 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺได้ส่งกองทัพสู่อียิปต์ภายใต้การนำทัพของมุฮัมมัด อิบนุ สุลัยมาน อัล-กาติบ เป็นกองทัพบก พร้อมกับบัญชาให้แม่ทัพเรือดุมยานะฮฺ นำกองเรือรบในน่านน้ำซีเรียมุ่งหน้าสู่อียิปต์เป็นทัพเรือ กองเรือรบของอัล-อับบาสียะฮฺได้รับชัยชนะในยุทธนาวี ณ เมืองตะนีส หรือตินนีส (ใกล้กับดุมยาฏ) แล้วล่องเข้าสู่ลำน้ำไนล์ มุ่งหน้าสู่นครอัล-ฟุสฏอฏ

ในเวลาเดียวกันกองทัพบกที่มีมุฮัมมัด อิบนุ สุลัยมานเป็นแม่ทัพได้เคลื่อนทัพผ่านซีเรียมุ่งหน้าถึงอียิปต์ และเข้าสู่นครอัล-เกาะฏออิอฺ ราชานีของรัฐอิสระอัฏ-ฏูลูนียะฮฺ กองทัพของพวกอัล-อับบาสียะฮฺได้ทำลายนครอัล-เกาะฏออิอฺ ลงเสียสิ้นเหลือเพียงมัสญิดญามิอฺ อิบนุ ฏูลูนเท่านั้น รัฐอิสระอัฏ-ฏูลูนียะฮฺได้สิ้นสุดลงหลังจากมีอำนาจอิสระอยู่ราว 40 ปี อียิปต์และซีเรียก็กลับสู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺอีกครั้ง โดยขึ้นตรงต่อราชสำนักแห่งนครแบกแดด มีข้าหลวงที่เคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองโดยตรงนับตั้งแต่ปี ฮ.ศ. 293 – 323 ในช่วงเวลานั้นพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺได้สถาปนารัฐชีอะฮฺ อิสมาอีลียะฮฺขึ้นในดินแดนทางทิศตะวันตกของโลกอิสลาม (แอฟริกาเหนือ) ในปี ฮ.ศ. 297 มีศูนย์กลางอยู่ในแคว้นอัฟริกิยะฮฺ (ตูนิเซีย)

พวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺนับแต่เคาะลีฟะฮฺ อบัยดุลลอฮฺ อิบนุ อัล-มะฮฺดียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 322 / ค.ศ. 934) ซึ่งเป็นผู้สถาปนารัฐอัล-ฟาฏิมิยะฮฺ และมีราชธานีอยู่ที่นครอัล-มะฮฺดียะฮฺ ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครอัล-กอยเราะวานในตูนิเซีย ได้พยายามแผ่ขยายอาณาเขตสู่อียิปต์ทางเส้นพรมแดนทิศตะวันตก และต้องการยึดครองอียิปต์จากพวกอัล-อับบาสียะฮฺ มีการส่งกองทัพทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อยึดครองอียิปต์ถึง 3 ครั้ง คือในปี ฮ.ศ. 301 , 307 และ 322 แต่พวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺก็ล้มเหลวในการยึดครองอียิปต์เนื่องจากกองทัพของเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺมีความเข้มแข็ง

ในการรุกรานอียิปต์ครั้งแรกปี ฮ.ศ. 301 และครั้งที่ 2 ปีฮ.ศ. 307 แม่ทัพมุอฺนิส อัล-คอดิมแห่งเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุกตะดิรฺ บิลลาฮฺ ญะอฺฟัรฺ อิบนุ อัล-มุอฺตะฏิด (ฮ.ศ. 295 – 320 /ค.ศ. 908 – 932) เป็นผู้นำทัพและเอาชนะพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺได้ ในการรุกรานอียิปต์ทั้ง 2 ครั้ง และในครั้งที่ 3 ปีฮ.ศ. 322 กองทัพของอัล-อับบาสียะฮฺโดยแม่ทัพชาวเติร์กผู้มีนามว่า มุฮัมมัด อิบนุ ฏุฆญ์ อัล-อิคชีดก็สามารถเอาชนะกองทัพของพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺได้อีกครั้ง ต่อมาแม่ทัพอัล-อิคชีดผู้นี้ก็กลายเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองอียิปต์ และตั้งรัฐอิสระอัล-อิคชีดียะฮฺขึ้นในระหว่างปี ฮ.ศ. 323 – 358 / ค.ศ. 935 -969 นับเป็นรัฐอิสระที่มีชาวเติร์กเป็นผู้ปกครองต่อจากรัฐอิสระอัฏ-ฏูลูนียะฮฺซึ่งเป็นรัฐอิสระของชาวเติร์กเช่นกัน

รัฐอิสระอัล-อิคชีดียะฮฺ (ฮ.ศ. 323 – 358 / ค.ศ. 935 – 969)

รัฐอิสระอัล-อิคชีดียะฮฺถูกสถาปนาขึ้นในอียิปต์โดยแม่ทัพชาวเติร์กนามว่า มุฮัมมัด อิบนุ ฏุฆญ์ ผู้มีฉายานามว่า “อัล-อิคชีด” คำว่า อัล-อิคชีด เป็นฉายานามของเหล่ากษัตริย์ชาวเติร์กในแคว้นฟัรฺฆอนะฮฺ (ดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน –อมูดเรีย) กล่าวกันว่าอัล-อิคชีดเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ชาวเติร์ก แต่นักประวัติศาสตร์มีข้อกังขาในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามอัล-อิคชีดเป็นชาวเติร์กและฉายานามของเขานี้เคาะลีฟะฮฺ อัร-รอฎียฺ บิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุกตะดิรฺ (ฮ.ศ. 322 – 329 / ค.ศ. 934 – 940) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 20 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺทางประทานให้ตามคำขอของอัล-อิคชีดหลังการได้รับชัยชนะของอัล-อิคชีดในการสู้รบกับพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺในปี ฮ.ศ. 322

อัล-อิคชีดเป็นชาวเติร์กจากแคว้นฟัรฺฆอนะฮฺในดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน – อมูดเรีย ปู่ของเขาคือ ญัฟ เป็นนายทหารเติร์กในกองทัพของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิมบิลลาฮฺ ที่นครสะมัรฺรออฺ บิดาของเขาคือฏุฆญ์ เคยรับใช้อยู่ในกองทัพของอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูนที่ประจำการอยู่ ณ เมืองฏอรฺสูส (Tursus) ซึ่งสู้รบกับพวกโรมันไบแซนไทน์ ต่อมาคุเราะวัยฮฺได้ตั้งให้ฏุฆญ์เป็นผู้ปกครองนครดามัสกัส และหลังการล่มสลายของรัฐอิสระอัฏ-ฏูลูนียะฮฺ ฏุฆญ์ได้กลับสู่นครแบกแดด และมีข้อพิพาทกับอิบนุอัล-หะสัน เสนาบดี (วะซีรฺ) แห่งอับบาสียะฮฺ ฏุฆญ์และมุฮัมมัดบุตรชายถูกคุมขัง ต่อมาฏุฆญ์เสียชีวิตในที่คุมขัง ส่วนมุฮัมมัดถูกปล่อยให้เป็นอิสระในเวลาต่อมา

มุฮัมมัด อิบนุ ฏุฆญ์ อัล-อิคชีดได้เข้าร่วมในการศึกกับพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺซึ่งรุกรานอียิปต์อย่างกล้าหาญ เคาะลีฟะฮฺอัร-รอฎียฺบิลลาฮฺจึงทรงแต่งตั้งให้มุฮัมมัดเป็นข้าหลวงปกครองอียิปต์ในปี ฮ.ศ. 323 ต่อมาเมื่ออำนาจของมุฮัมมัด อัล-อิคชีดเป็นที่มั่นคงในอียิปต์แล้ว ก็มุ่งเข้ายึดครองซีเรียตามอย่างอะหฺมัด อิบนุ ฏูลูน แต่เคาะลีฟะฮฺอัรฺ-รอฎียฺ ล่วงรู้ถึงเจตนาของอัล-อิคชีดจึงทรงแต่งตั้งแม่ทัพมุฮัมมัด อิบนุ รออิก ให้ปกครองภาคใต้ของซีเรีย ส่วนภาคเหนือของซีเรียพวกอัล-หัมดานียูนซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองโมศุล และตอนเหนือของอัล-ญะซีเราะฮฺได้ยึดครองอยู่ เหตุนี้อัล-อิคชีดจึงต้องขับเคี่ยวกับแม่ทัพอิบนุ รออิก และพวกอัล-หัมดานิยูนในการยึดครองซีเรีย

ในปี ฮ.ศ. 327 กองทัพของอิบนุ รออิกได้เข้ายึดครองกรุงดามัสกัส และเมืองหิมศ์ แล้วบ่ายหน้าลงสู่ทางใต้ประชิดเส้นพรมแดนของอียิปต์ อัล-อิคชีดได้นำทัพเข้าสู้รบกับพวกอัล- อับบาสียะฮฺที่เมืองอัล-อะสีร และได้รับชัยชนะอย่างสวยงาม ต่อมาอัล-อิคชีดได้ส่งอัล-หุสัยนฺ อิบนุ ฏุฆญ์ น้องชายของตนนำทัพเพื่อขับไล่กองทัพของอิบนุ รออิกให้ออกจากเส้นพรมแดนอียิปต์ แต่กองทัพของอิบนุ รออิกได้สร้างความปราชัยแก่กองทัพของอัล-หุสัยนฺ ณ บริเวณทะเลสาบเฏาะบะรียะฮฺ อัล-หุสัยนฺเสียชีวิตในสนามรบ

นักประวัติศาสตร์บันทึกว่า อิบนุ รออิกเศร้าใจต่อการเสียชีวิตของอัล-หุสัยนฺจึงอาบน้ำศพและห่อศพของอัล-หุสัยนฺพร้อมกับบรรจุศพใส่โลงส่งไปให้อัล-อิคชีด โดยแม่ทัพอิบนุ รออิกได้ส่งมุซาหิมบุตรชายของตนให้ร่วมไปแสดงความเสียใจแก่อัล-อิคชีด การปฏิบัติของแม่ทัพอิบนุ รออิกได้ส่งผลต่อจิตใจของอัล-อิคชีด จึงให้เกียรติมุซาหิมและสมรสฟาฏิมะฮฺบุตรของตนให้แก่มุซาหิม กองทัพของสองฝ่ายจึงทำสนธิสัญญาสงบศึกในปี ฮ.ศ. 238 โดยยอมให้ดินแดนภาคเหนือของเมืองอัรฺ-รอมละฮฺในแคว้นชาม (ซีรีย) อยู่ภายใต้การปกครองของอิบนุ รออิก แม่ทัพแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ แต่ผ่านไปได้ 2 ปี นับจากการทำสนธิสัญญาสงบศึก (ฮ.ศ. 330) พวกอัล-หัมดานียะฮฺได้สังหารแม่ทัพอิบนุ รออิก จึงเป็นโอกาสที่อัล-อิคชีดได้เข้ายึดครองซีเรีย โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ จากพลเมืองในซีเรีย อัล-อิคชีดแผ่ขยายดินแดนสู่ตอนเหนือของซีเรียจนประชิดเส้นพรมแดนของรัฐอัล-หัมดานียะฮฺ

ผู้ปกครองรัฐอัล-หัมดานียะฮฺไม่พอใจอัล-อิคชีคที่ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการจากเคาะลีฟะฮฺอัล-มุตตะกียฺ ลิลลาฮฺ อิบรอฮีม อิบนุ อัล-มุกตะดิรฺ (ฮ.ศ. 329 – 333 / ค.ศ. 940 – 944) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 21 ให้เป็นผู้ครองแคว้นอียิปต์และซีเรียทั้งหมด เหตุนี้สัยฟุดเดาละฮฺ อัล-หัมดานียฺ (ฮ.ศ. 303 – 356 / ค.ศ. 915 – 967) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงศ์อัล-หัมดานียะฮฺจึงฉวยโอกาสขณะที่กองทัพของอัล-อิคชีดได้เข้าใกล้พรมแดนของรัฐอัล-หัมดานียะฮฺด้วยการบุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบ กองทัพของอัล-อิคชีดปราชัยและสัยฟุดเดาละฮฺเข้ายึดครองกรุงดามัสกัสเอาไว้ได้

อัล-อิคชีดจำต้องนำทัพด้วยตัวเองโดยสนธิกำลังกับแม่ทัพทั้งสองของตนที่เมืองหิมศ์ กองทัพของอัล-อิคชีดได้รับชัยชนะในสมรภูมิกินนัสรีน ทางตอนเหนือของซีเรีย (ทิศใต้ของเมืองหะลับริมฝั่งแม่น้ำกุวัยกฺ) และเคลื่อนทัพเข้าสู่เมืองหะลับ (อะเล็ปโป) ตลอดจนตีกรุงดามัสกัสกลับคืน อย่างไรก็ตาม อัล-อิคชีดได้ยอมสละเมืองหะลับและภาคเหนือของซีเรียให้แก่สัยฟุดเดาละฮฺ อัล-หัมดานียฺเพื่อแลกกับไมตรีจากสัยฟุดเดาละฮฺ อัล-หัมดานียฺ

นักประวัติศาสตร์ได้ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า ในขณะนั้นอัล-อิคชีดมีอายุ 66 ปี อัล-อิคชีดจึงเกรงว่าตนอาจจะเสียชีวิตลง แล้วพวกอัล-หัมดานียูนก็จะยึดครองอาณาจักรของตน อัล-อิคชีดจึงเลือกที่จะเป็นไมตรีกับพวกอัล-หัมดานียูนเพื่อรักษาอาณาจักรอัล-อิคชีดียะฮฺให้ลูกหลานของตนได้สืบอำนาจต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นอัล-อิคชีดรู้ดีว่า ผู้ที่ปกครองภาคเหนือของซีเรียย่อมมีภารกิจในการสู้รบกับพวกโรมันไบแซนไทน์และปกป้องเส้นพรมแดนของชาวมุสลิมในซีเรีย เหตุนี้อัล-อิคชีดจึงเลือกที่จะให้พวกอัล-หัมดานียูนคงมีอำนาจอยู่ต่อไปเพื่อรักษาเส้นพรมแดนของรัฐอิสลาม อีกทั้งเป็นการรักษาอาณาเขตของตนในภาคใต้ของซีเรียให้พ้นจากการรุกรานของพวกโรมันไบแซนไทน์อีกด้วย

ในขณะเดียวกันอัล-อิคชีดก็จำต้องเผชิญกับการคุกคามจากพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺทางทิศตะวันตกในแอฟริกาเหนือ จึงต้องหลีกเลี่ยงการเปิดศึกกับพวกอัล-หัมดานียูน การหย่าศึกกับพวกอัล-หัมดานียูนเป็นที่ยุติด้วยการที่อัล-อิคชีดได้ปกครองกรุงดามัสกัสและเขตทางตอนใต้ของซีเรีย ส่วนสัยฟุดเดาะละฮฺ อัล-หัมดานียฺมีอำนาจปกครองภาคเหนือของซีเรียนับจากเมืองหิมศ์ถึงเมืองหะลับ (อเล็ปโป) และสัยฟุดเดาละฮฺได้สมรสกับบุตรีน้องชายของอัล-อิคชีด ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอัล-อิคชีดียะฮฺและอัล-หัมดานียะฮฺจึงเป็นไปอย่างราบรื่นในปี ฮ.ศ. 333

นักประวัติศาสตร์บันทึกว่า มุฮัมมัด อิบนุ ฏุฆญ์ อัล-อิคชีดมีทาสชาวเติร์กเป็นกองทหารมหาดเล็กจำนวนมากถึง 8,000 นาย ในทุกวันจะมีทหารมหาดเล็กเข้าเวรเพื่อรักษาความปลอดภัยในปราสาทของอัล-อิคชีด 1,000 นาย ในปี ฮ.ศ. 334 (ค.ศ. 946) อัล-อิคชีดเสียชีวิตที่นครดามัสกัส ศพของเขาถูกฝัง ณ นครบัยตุลมักดิส (เยรูซาเล็ม – อัลกุดส์) ปาเลสไตน์ ก่อนเสียชีวิต อัล-อิคชีดได้สั่งเสียให้อบุลกอสิม อุนุญูรฺ บุตรชายของตนเป็นเจ้าครองรัฐอัล-อิคชีดียะฮฺ และมอบให้แม่ทัพกาฟูรฺ อัล-หะบะชียฺ เป็นผู้สำเร็จราชการเนื่องจาก อบุลกอสิม อุนูญูรฺยังเยาว์วัย

อบุลมิสก์ กาฟู๊รฺ อัล-อิคชีดียะฮฺ (ฮ.ศ. 334 – 357 / ค.ศ. 946 – 968) เป็นทาสผิวดำชาวเอธิโอเปีย (อัล-หะบะชียฺ) ที่อัล-อิคชีดซื้อมาจากคนขายน้ำมันเพียง 18 ดีนารฺ ต่อมากาฟู๊รฺเป็นทาสรับใช้คนสนิทของอัล- อิคชีดและศึกษาหาความรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจจากอัล-อิคชีดให้เป็นราชครูคอยอบรมสั่งสอนลูกๆ ของอัล-อิคชีด กาฟู๊รฺได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในการสู้รบกับพวกอัล-หัมดานียูนและอีกหลายสมรภูมิ ต่อมากาฟู๊รได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนดังที่กล่าวมาแล้ว โดยดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา 22 ปี ตลอดสมัยของอุนูญูรฺ ซึ่งเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 349 และอะลี อิบนุ อัล-อิคชีดซึ่งเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 355 หลังจากนั้นกาฟู๊รฺได้รับการยอมรับจากราชสำนักของอัล-อับบาสียะฮฺให้เป็นข้าหลวงปกครองอียิปต์อย่างเป็นทางการอีกราว 2 ปีครึ่ง

ในช่วงที่อบุลมิสก์ กาฟู๊รมีอำนาจเต็มในฐานะผู้ปกครองรัฐอัล-อิคชีดียะฮฺเขาได้สู้รบกับพวกอัล-หัมดานียูนซึ่งจบลงด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึก ทำให้ภาคใต้ของซีเรียยังคงขึ้นอยู่กับอียิปต์เช่นเดียวกับสมัยของอัล-อิคชีด และในช่วงเวลานั้นกาฟู๊รได้ทำการสู้รบกับพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺ ซึ่งรุกรานภาคใต้ของซีเรียและคุกคามเส้นทางของกองคาราวานสินค้าและบรรดาหุจญาจที่มุ่งหน้าสู่แคว้นอัล-หิญาซ สงครามกับพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺจบลงด้วยการทำสัญญาสงบศึกเช่นกัน

ทางภาคใต้ของอียิปต์ กาฟู๊รได้ทำสงครามกับบรรดาผู้ครองแคว้นอัน-นูบะฮฺ (นูเบียน) ซึ่งรุกรานเมืองอัสวานและหัวเมืองภาคใต้ของอียิปต์ที่ติดกับพรมแดนซูดานอยู่เนืองๆ การรบพุ่งกับพวกนูเบียนจบลงด้วยการยอมส่งบรรณาการทั้งภาษีและทาสให้แก่อียิปต์ในทุกๆ ปี เป็นผลทำให้มีทหารผิวดำเป็นจำนวนมากในกองทัพของกาฟู๊ร ส่วนทางเส้นพรมแดนตะวันตกในแอฟริกาเหนือ กาฟู๊รได้สู้รบกับพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺที่รุกเข้ามาในเขตที่ตั้งของโอเอซิสในทะเลทรายด้านตะวันตกของอียิปต์ และสามารถขับไล่พวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺออกจากพื้นที่ดังกล่าว เมื่อเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอิซ ลิดีนิลลาฮฺ แห่งราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺ (ฮ.ศ. 319 – 365 / ค.ศ. 93 – 975) ส่งราชทูตมายังกาฟู๊รเพื่อเรียกร้องให้กาฟู๊รสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺ กาฟู๊รได้ต้อนรับราชทูตของอัล-ฟาฏิมียะฮฺเป็นอย่างดีแต่ก็ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

กาฟู๊ร อัล-อิคชีดียฺเสียชีวิตปี ฮ.ศ. 357 (ค.ศ. 963) หลังการเสียชีวิตของกาฟู๊ร บรรดาขุนนางในราชสำนักของรัฐอิสระอัล-อิคชีดียะฮฺได้ประชุมหารือและเลือกอบุลฟะวาริส อะหฺมัด หลานชายของอัล-อิคชีดขึ้นเป็นผู้ครองรัฐขณะมีอายุได้ 11 ปี การกระทำดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ เป็นผลทำให้การบริหารบ้านเมืองเกิดความสับสนวุ่นวาย พวกทหารก่อการประท้วง กอปรกับเกิดความอดอยากและความแห้งแล้งเนื่องจากแม่น้ำไนล์มีน้ำน้อย บ้านเมืองจึงตกอยู่ในความระส่ำระส่าย

จนกระทั่งถึง ปี ฮ.ศ. 358 (ค.ศ. 969) กองทัพของพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺโดยการนำทัพของเญาฮัร อัศ-ศิกิลลียฺได้ยาตราทัพออกจากนครอัล-กอยเราะวาน (ตูนิเซีย) มุ่งหน้าสู่นครอเล็กซานเดรียพร้อมกับกองเรือรบบางส่วน แม่ทัพเญาฮัร อัศ-ศิกิลลียฺยึดนครอเล็กซานเดรียและเดินทัพต่อเนื่องจนถึงเมืองอัล-ญีซะฮฺ (กีซ่า) ในปีเดียวกัน ต่อมาก็ข้ามแม่น้ำไนล์สู่ฝั่งตะวันออกเพื่อสู้รบกับกองทัพของอัล-อิคชีดียะฮฺซึ่งพ่ายแพ้ต่อกองทัพของอัล-ฟาฏิมียะฮฺ หลังจากนั้นแม่ทัพเญาฮัรก็มุ่งสู่นครอัล-ฟุสฏอฏและผนวกอียิปต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอัล-ฟาฏิมียะฮฺ รัฐอิสระ อัล-อิคชีดียะฮฺซึ่งเป็นรัฐของชาวเติร์กในอียิปต์และซีเรียก็สิ้นสุดลง แม่ทัพ เญาฮัร อัศ-ศิกิลลียฺได้สร้างกรุงไคโร (อัล-กอฮิเราะฮฺ) และมัสญิดญามิอฺ อัล-อัซฮัรฺซึ่งยังคงอยู่ต่อมาตราบจนทุกวันนี้

มัสญิดอัล-อัซฮัร
กรุงไคโร

รัฐอิสระ อัล-ฆอซนะวียะฮฺ (ฮ.ศ. 359 – 582 / ค.ศ. 962 – 1187)

พวกอัล-ฆอซนะวียูน เป็นทาสชาวเติร์กที่เคยรับใช้ราชวงศ์อัส-สามานียะฮฺ (ฮ.ศ. 261-389 / ค.ศ. 873 – 999) ซึ่งเป็นพวกเปอร์เซียที่ทรงอิทธิพลในดินแดนภาคตะวันออกของรัฐอัล-อับบาสียะฮฺแถบแคว้น คุรอสานและดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ถึงแม้พวกอัส-สามานียะฮฺจะเป็นมุสลิมเปอร์เซียที่ต้นวงศ์คือ สามานคุดาฮฺได้เข้ารับอิสลามนับตั้งแต่รัชสมัยเคาะลีฟะฮฺฮิชาม อิบนุ อับดิลมะลิก (ฮ.ศ. 71 – 725 / ค.ศ. 690 – 745) แห่งราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ

แต่วงศ์อัส-สามานียะฮฺก็ใช้ทาสชาวเติร์กเป็นกำลังพลในกองทัพ เนื่องจากเขตอิทธิพลของพวกอัส-สามานียะฮฺอยู่ในดินแดนของชาวเติร์ก หลานของสามานคุดาฮฺทั้ง 4 คนได้แก่ นัวะหฺ , อะหฺมัด , ยะหฺยา และอิลยาส ต่างก็ดำรงตำแหน่งข้าหลวงในรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มะอฺมูน (ฮ.ศ. 170 – 218 / ค.ศ. 786 – 833) แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺในการปกครองนครสะมัรฺกอนด์ , ฟัรฺฆอนะฮฺ , ชาช และฮะรอต (เฮรัต) ต่อมาในปี ฮ.ศ. 261 (ค.ศ. 874) เคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะมิด อะลัลลอฮฺ (ฮ.ศ. 256 – 279 / ค.ศ. 870 – 892) ได้แต่งตั้งให้นัศรฺ อิบนุ อะหฺมัด อัส-สามานียฺ เป็นข้าหลวงปกครองดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ทั้งหมด

พวกอัส-สามานียะฮฺได้สู้รบกับชนเผ่าเติร์กที่มิใช่มุสลิมในเอเซียกลางและทำการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในหมู่ชนเผ่าเติร์ก มีผลทำให้แคว้นตุรกีสถานกลายเป็นขุมกำลังของอิสลามในดินแดนภาคตะวันออกของรัฐอิสลาม นครอัล-บุคอรอและนครสะมัรฺกอนด์กลายเป็นศูนย์กลางทางวิทยาการเคียงคู่กับนครแบกแดด วรรณกรรมของอิหร่านและภาษาเปอร์เซียได้รับการฟื้นฟู นักกวีเปอร์เซียผู้ยิ่งใหญ่นามว่า ญะอฺฟัรฺ รูดกียฺ (เสียชีวิต ค.ศ. 940) ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ปกครองอัส-สามานียะฮฺ ผลงานทางวรรณกรรมของรูดกียฺได้แก่ กะลีละฮฺ ว่า ดิมนะฮฺ และเรื่องของซินแบด และนักการแพทย์ อบูบักร มุฮัมมัด อิบนุ ซะกะรียา อัรฺ-รอซียฺ (Razes) ซึ่งถูกขนานนามว่า กาลิโนสของชาวอาหรับ ก็สร้างผลงานในด้านการแพทย์และเป็นที่เลื่องลือในสมัยนี้ ตำราอัล-มันศูรียฺในวิชาแพทย์ศาสตร์ของอัส-รอซียฺเป็นตำราที่อัร-รอซียฺประพันธ์และมอบให้แก่ อะมีรฺ มันศูรฺ อิบนุ อิสมาอีล อัส-สามานียฺผู้เป็นสหายของอัร-รอซียฺ

นักการแพทย์และนักปรัชญา อิบนุ สีนา (Avicenne) ก็เดินทางสู่นครบุคอรอเพื่อให้การรักษาอะมีรฺ นัวหฺ อิบนุ นัศรฺ อัส-สามานียฺ นอกจากนี้เสนาบดี (วะซีรฺ) มุฮัมมัด อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัล-บัลอะมียฺของวงศ์อัส-สามานียะฮฺยังได้แปลตำราตารีค อัฏ-เฏาะบารียฺเป็นภาษาเปอร์เซียในปี ฮ.ศ. 352 นักกวีอัด-ดะกีกียฺ (เสียชีวิต ค.ศ. 980) ก็ประพันธ์บทกวีร้อยกรอง 1,000 บทที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเปอร์เซียโบราณถวายแก่ ราชสำนัก อัส-สามานียะฮฺ แต่อัด-ดะกีกียฺเสียชีวิตก่อนประพันธ์เสร็จ อบุลกอสิม อัล-ฟิรฺเดาสียฺ (ราว ค.ศ. 932 – 1020) นักกวีชาวเปอร์เซียผู้ยิ่งใหญ่จึงสานต่อ เรียกบทกวีร้อยกรองนี้ว่า ชาฮฺนามะฮฺ หรือ กิตาบอัล- มุลูก มีจำนวนถึง 6 หมื่นบทซึ่งชาวอิหร่านในทุกวันนี้ถือว่า ชาฮฺนามะฮฺ เป็นวรรณกรรมสุดยอดของชาวเปอร์เซีย ต่อมาอัล-ฟิรฺเดาสียฺได้รับใช้พวกอัล-ฆอซนะวียะฮฺและมอบบทกวีของตนถวายแก่สุลฏอน มะหฺมูด อัล-ฆอซนะวียฺ (ค.ศ. 970 – 1030) ซึ่งสุลฏอลมะหฺมูดได้มอบเงินจำนวน 6 หมื่นมิษกอลตามจำนวนบทกวีในชาฮฺนามะฮฺแก่อัล-ฟิรเดาสียฺ

อัรฺ-รอซียฺ – อิบุ สีนา – อัล-ฟิรฺเดาสียฺ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พวกอัส-สามานียะฮฺมีกองทัพชาวเติร์กเป็นกำลังพลหลัก ถึงแม้ว่าพวกอัส-สามานียะฮฺจะเป็นพวกเชื้อสายเปอร์เซียก็ตาม ในตำราสิยาสะฮฺนามะฮฺซึ่งประพันธ์โดยเสนาบดี (วะซีรฺ) นิซอม อัลมุลก์ อัฏ-ฏูสียฺได้ระบุถึงระเบียบในการอบรมพวกทาสชาวเติร์กว่า เมื่อซื้อทาสชาวเติร์กมาแล้วในช่วงแรกให้เดินเท้าสวมเสื้อคลุมผ้าฝ้ายที่เรียกว่า ซันดาญียฺ (อ้างถึงผ้าฝ้ายจากเมืองซันดะนะฮฺทางตอนเหนือของบุคอรอ) คอยรับใช้เจ้านายของตนซึ่งขี่ม้า ไม่อนุญาตให้ทาสชาวเติร์กขี่ม้าในช่วงปีแรกที่ทำหน้าที่รับใช้เจ้านายของตน หาไม่แล้วจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

เมื่อทำหน้าที่ครบ 1 ปีแรกแล้ว อะรีฟุดดารฺ (นายทาส) จะแจ้งเจ้าหน้าที่ หาญิบอัล-หุจญาบ (เจ้ากรมอัศวานึก – พลม้า) ซึ่งจะมอบม้าสายพันธุ์เติร์กแก่ทาสผู้นั้นพร้อมบังเหียนแต่ไม่มีอานม้า ในปีที่ 5 ทาสชาวเติร์กจะได้รับอานม้าพร้อมสายบังเหียนประดับโลหะ การเกงผ้าฝ้ายผสมผ้าไหมและอาวุธประจำกายแขวนที่อานม้า ปีที่ 6 จะไดรับเสื้อผ้าอย่างดีหลายชุด ในปีที่ 7 จะได้รับผ้าขนสัตว์มีสายธนู 16 สาย และทาส 3 คนคอยปรนนิบัติรับใช้ และได้รับฉายาว่า อะรีฟ อัด-ดารฺ (นายทาส) โดยสวมหมวกสักหลาดสีดำทอด้วยดิ้นเงินและสวมชุดผ้าไหมกันญุวียฺ (อ้างถึงเมืองกันญะฮฺ ริมฝั่งทะเลสาบแคสเปียนในอาเซอร์ไบจาน) ต่อมาก็ เลื่อนขั้นสูงขึ้นในทุกปี ตำแหน่งสูงสุดคือ หาญิบ อัล- หุจญาบ (เจ้ากรมอัศวานึก – พลม้า) ทาสชาวเติร์กจะยังไม่ได้รับฉายา อะมีรฺ และยังไม่ได้รับตำแหน่งข้าหลวงหรือแม่ทัพจนกว่าจะมีอายุได้ 35 ปี ระเบียบที่พวกอัส-สามานียะฮฺใช้กับทาสชาวเติร์กเป็นที่แพร่หลายไปในรัฐอิสลามต่างๆ ในเวลาต่อมา เช่น รัฐเซลจูเติร์ก รัฐอะตาบิกะฮฺและรัฐอัล-อัยยูบียะฮฺ เป็นต้น

รัฐอัส-สามานียะฮฺมีอำนาจ 170 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อพวกอัล-ฆอซนะวียะฮฺจากแคว้นคุรอสานขึ้นมามีอำนาจ และพวกเติร์ก อัล-กุรฺคอนียะฮฺหรืออีลคอนาตแห่งตุรกีสถานสามารถยึดครองดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ในปี ฮ.ศ. 389 (ค.ศ. 999)

ทาสชาวเติร์กที่ผ่านการเลื่อนขั้นจนถึงระดับอะมีรฺ และเป็นข้าหลวงผู้ปกครองแคว้นคุรอสานในรัฐอัส-สามานียะฮฺคือ อะมีรฺ อัลบ์ ตะกีน ต่อมาได้เป็นข้าหลวงแห่งฆอซนะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเทือกเขาสุลัยมานียฺทางตอนเหนือของอินเดีย ในปี ค.ศ. 962 ที่นครฆอซนะฮฺ อัลบ์ ตะกีนพร้อมกับบรรดาทาสชาวเติร์กได้สถาปนารัฐอิสลามแห่งอัล-ฆอซนะวียะฮฺและแยกตนเป็นอิสระจากวงศ์อัส-สามานียะฮฺโดยขึ้นกับอัส-สามานียะฮฺแต่เพียงในนามเท่านั้น หลังการเสียชีวิตของอัลบ์ ตะกีน (ค.ศ. 963) บุตรเขยของอัลบ์ ตะกีนนามว่า นาศิรุดดีน สุบุกตะกีน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 387 / ค.ศ. 997) ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพชาวเติร์กของวงศ์อัส-สามานียะฮฺได้สืบอำนาจต่อมา สุบุกตะกีนได้ทำสงครามกับดินแดนภาคเหนือของอินเดีย พิชิตเมืองบิสต์ (ในอัฟกานิสถานระหว่างแคว้นบัลลูชิสตานและอินเดีย) และกิศดารฺได้ในปี ฮ.ศ. 368 (ค.ศ. 978) สุบุกตะกีนได้สร้างความปราชัยแก่กองทัพของญีปาล ราชาแห่งลาฮอร์ ณ เส้นพรมแดนแคว้นปัญจาบ ถือกันว่าสุบุกตะกีนคือผู้สถาปนารัฐอัล-ฆอซนะวียะฮฺที่แท้จริง

เมื่อสุบุกตะกีนเสียชีวิต (ฮ.ศ. 387 / ค.ศ. 997) มะหฺมูด อัล-ฆอซนะวียฺ บุตรชายของสุบุกตะกีนได้สืบอำนาจต่อมา (ฮ.ศ. 388 – 421 / ค.ศ. 998 – 1030) รัฐอัล-ฆอซนะวียะฮฺรุ่งเรืองสุดขีด นามของผู้ปกครองในวงศ์อัส-สามานียะฮฺถูกยกเลิกในการกล่าวขอพรขณะแสดงธรรมวันศุกร์และถูกแทนด้วยพระนามของ เคาะลีฟะฮฺอัล-กอดิรฺ บิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 381 – 422 / ค.ศ. 991 – 1031) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ ต่อมาเคาะลีฟะฮฺอัล-กอดิรฺ บิลลาฮฺ ทรงประทานฉายา “ยะมีนุดเดาละฮฺ ว่า อะมีนุลมิลละฮฺ” แก่ สุลฏอนมะหฺมูด อัล-ฆอซนะวียฺ ในสมัยของสุลฏอนมะหฺมูด พวกเติร์กอัล-ฆอซนะวียะฮฺได้ทำการญิฮาดกับอินเดียถึง 12 ครั้งเพื่อนำอิสลามสู่พลเมืองฮินดูในภาคเหนือของอินเดีย อำนาจของสุลฏอนมะหฺมูดแผ่ไปถึงแคว้นแคชเมียร์และปัญจาบ ทำให้แคว้นปัญจาบกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลาม มีเมืองลาฮอร์ (ลาโฮร์) เป็นศูนย์กลางและมีข้าหลวงจากวงศ์อัล-ฆอซนะวียะฮฺเป็นผู้ปกครอง เหตุนี้จึงถือกันว่ารัฐอัล-ฆอซนะวียะฮฺคือรัฐอิสลามแห่งแรกในอินเดีย และศาสนาอิสลามได้แพร่หลายไปทั้งภาคเหนือของอินเดีย ทั้งแคว้นสินธุ ปัญจาบและเบงกอล ปัจจุบันคืออาณาเขตของปากีสถาน

แผนที่อาณาจักรอัล-ฆอซนะวียะฮฺ รัชสมัยสุลฏอนมะหฺมูด

ในสมัยของอัล-ฆอซนะวียะฮฺ วัฒนธรรมของเปอร์เซียเป็นที่แพร่หลายถึงแม้ว่าพวกวงศ์อัล-ฆอซนาวียะฮฺจะเป็นชาวเติร์กก็ตาม ว่ากันว่า ภาษาอุรฺดูเกิดจากการผสมผสานของภาษาเปอร์เซีย สันสกฤต และคำศัพท์ในภาษาอาหรับและภาษาของชาวเติร์ก เป็นภาษาที่เริ่มใช้กันในสมัยของสุลฏอนมะหฺมูด อัล-ฆอซนะวียฺ ต่อมาได้รับการพัฒนาการจนกลายเป็นภาษาของศาสนาและวิทยาการของชาวมุสลิมในอนุทวีป (อินเดีย) และรุ่งเรืองในสมัยจักรวรรดิ์โมกุล ปัจจุบันเป็นภาษาทางราชการของประเทศปากีสถาน

ส่วนหนึ่งจากนักวรรณกรรมที่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักแห่งฆอซนะฮฺคือ อบุลกอสิม อัล-ฟิรฺเดาสียฺ เจ้าของบทกวีชาฮฺนามะฮฺ ซึ่งกล่าวถึงมาแล้ว , นักประวัติศาสตร์ อบู นัศร์ อัล-อุตบียฺ (เสียชีวิต ค.ศ. 1035) ได้บันทึกอัตชีวประวัติและการญิฮาดของสุลฏอนมะหฺมูดจนถึงปี ฮ.ศ. 409 และเรียกตำราประวัติศาสตร์นี้ว่า ตารีค อัล-ยะมีนียฺ (อ้างถึงฉายาของสุลฏอน มะหฺมูดซึ่งถูกขนานนามว่า ยะมีนุดเดาละฮฺ) , นักประวัติศาสตร์และนักปราชญ์ อบู อัร-รอยหาน อัล-บีรูนียฺ อัล-คูวาริซมียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 440) ได้แต่งตำราอัล-มัสอูดียฺถวายแก่สุลฏอน มัสอูด อิบนุ มะหฺมูด อัล-ฆอซนะวียฺ (ค.ศ. 998 – 1040) และตำราว่าด้วยรัตนชาติถวายแก่สุลฏอน เมาว์ดูด อิบนุ มัสอูด อัล-ฆอซนะวียฺ (ค.ศ. 1041 – 1048) เป็นต้น

รัฐอิสระ อัล-ฆอซนะวียะฮฺ สิ้นสุดลงหลังพวกเซลจูกเติร์กเข้ายึดครองแคว้นคุรอสานและพวกอัล-ฆูรียุนเข้ายึดครองอินเดียและสถาปนาอาณาจักรเติร์กแห่งที่สองขึ้นในอินเดียตอนเหนือ คือ รัฐอัล-ฆูรียะฮฺ และในอินเดียสมัยหลังรัฐอัล-ฆอซนะวียะฮฺ และอัล-ฆุรียะฮฺยังมีรัฐของชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์ก-อัฟกันปรากฏขึ้นต่อมาอีกหลายรัฐ เช่น วงศ์คัลญียฺ , วงศ์ตุฆลุก , รัฐสุลฏอนแห่งเดลฮี เป็นต้น ซึ่งเรื่องราวของชาวเติร์กในอินเดียมีประวัติศาสตร์เฉพาะจึงต้องขอละไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษาโดยละเอียดในคำรบต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

รัฐเซลจูกเติร์ก

พวกเซลจูก (สะลาญิเกาะฮฺ) เป็นชาวเติร์กเชื้อสายตุรฺกุมาน (เติร์กะเมน) มีบรรพบุรุษ เซลจูก หรือ สัลญูก ซึ่งเป็นก๊กหนึ่งของพวกเติร์กอัล-ฆุซ เป็นต้นวงศ์ จริงๆ แล้วพวกเซลจูกมีหลายสาขาและมีอำนาจในอีหร่าน เอเซียน้อย อีรัก และซีเรียในคริสตศตวรรษที่ 11-13 พวกเซลจูกได้ปราบปรามวงศ์อัล-บุวัยฮียะฮฺซึ่งมีเชื้อสายเปอร์เซียและมีอิทธิพลอยู่ในอิศฟาฮาน ชีราช กิรฺมาน และนครแบกแดด ระหว่างปี ฮ.ศ. 320 – 447 / ค.ศ. 932 – 1055 ต่อมาถูกเจงกิสข่านแห่งจักรวรรดิมองโกลและบรรดาข่านมองโกลรุกราน สาขาที่สำคัญของพวกเซลจูกเติร์กได้แก่

  • พวกเซลจูกแห่งเปอร์เซีย (ค.ศ. 1037 – 1157) สถาปานาโดยฎุฆรุลเบยฺก์ อิบนุ มีกาอีล อิบนิ สัลญูก (ค.ศ. 1037 – 1063) มีสุลฏอนสำคัญได้แก่ ญัฆรียฺ เบยฺก์ ดาวูด (เสียชีวิต ค.ศ. 1059) น้องชายของฏุฆรุล เบยฺก์ , สุลฏอล อัลบ์ อัรฺสะลาน (ค.ศ. 1063 – 1072) และมะลิกชาฮฺ ที่ 1 (ค.ศ. 1072 – 1092) เป็นต้น
  • พวกเซลจูกแห่งอีรัก (ค.ศ. 1117 – 1194) มีสุลฏอนปกครอง 9 องค์ และสุลฏอนมะหฺมูด อิบนุ มุฮัมมัด (ค.ศ. 1118 – 1131) เป็นองค์แรก และฏุฆรุลที่ 2 เป็นองค์สุดท้าย (ค.ศ. 1177 – 1194)
  • พวกเซลจูกแห่งซีเรีย (ค.ศ. 1094 – 1117) มีสุลฏอนปกครอง 5 องค์ มีศูนย์กลางการปกครองที่กรุงดามัสกัสและนครหะลับ (อเล็ปโป)
  • พวกเซลจูกแห่งรูม (เอเซียน้อย) (ค.ศ. 1077 – 1300) ถือเป็นวงศ์เซลจูกเติร์กที่มีอำนาจปกครองยาวนานที่สุดและสืบเนื่องกับการเกิดขึ้นของจักรวรรดิอุษมานียะฮฺ (ออตโตมานเติร์ก) มีสุลฏอนปกครอง 20 องค์ และมีอำนาจอยู่ในคาบสมุทรอนาโตเลียซึ่งประชิดพรมแดนของจักรวรรดิโรมันไบเซนไทน์
แผนที่รัฐเซลจูกเติร์ก

โลกอิสลามนับตั้งแต่ตอนกลางของศตวรรษที่ 5 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช (คริสตศตวรรษที่ 11) เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาที่ศูนย์กลางอำนาจปกครองแตกออกเป็นรัฐอิสระภายหลังราชสำนักของอัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดอ่อนแอและเสื่อมอำนาจ รัฐคิลาฟะฮฺของฝ่ายสุนนียฺคือ อัล-อับบาสียะฮฺในนครแบกแดด และรัฐ คิลาฟะฮฺของฝ่ายชีอะฮฺคือ อัล-ฟาฏิมียะฮฺในนครไคโร ทั้งสองรัฐได้สูญเสียพลังและความเข้มแข็งของตนไปในการจัดการกับบรรดาปัญหาภายในจนไร้ความสามารถในการปกป้องเส้นพรมแดนของตน จักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ซึ่งยังคงมีอิทธิพลอยู่ในคาบสมุทรอนาโตเลียจึงฉวยโอกาสในการส่งกองทัพเข้าโจมตีเส้นพรมแดนของชาวมุสลิม และรุกคืบเข้ายึดครองดินแดนภาคเหนือของซีเรียและแคว้นอัล-ญะซีเราะฮฺ

ภาพวาดสมรภูมิซัลลาเกาะฮ ในเอ็นดะลูเซีย

ในเวลาเดียวกันนั้นดินแดนในภาคตะวันตกที่ฝั่งคาบสมุทรไอบีเรีย แคว้นเอ็นดะลูเซียก็เริ่มอ่อนแอภายหลังรัฐคิลาะฟะฮฺ อัล-อุมาวียะฮฺ แห่งนครโคโดบาฮฺ (กุรฺฏุบะฮฺ) ล่มสลาย (ฮ.ศ. 316 – 422 / ค.ศ. 929 – 1031) และแคว้นเอ็นดะลูเซียเข้าสู่ยุคของรัฐอิสระที่ปกครองด้วยวงศ์ต่างๆ (ฮ.ศ. 422 – 484 / ค.ศ. 1031 – 1091) ซึ่งหากพวกอัล-มุรอบิฏูนโดยการนำทัพของสุลฏอนยูสุฟ อิบนุ ต๊าชฟีน (ฮ.ศ. 454 / ค.ศ. 1062) ไม่ส่งกองทัพข้ามช่องแคบญิบรอลต้าจากแอฟริกาเหนือไปช่วยแคว้นเอ็นดะลูเซียและได้รับชัยชนะต่อกษัตริย์สเปน อัล-ฟองโซ ที่ 6 ในสมรภูมิอัซ-ซัลลาเกาะฮฺ (ซาลาเคียส) ในปี ฮ.ศ. 479 / ค.ศ. 1086 แล้ว แคว้นเอ็นดะลูเซียทั้งหมดคงจะถูกกองทัพคริสเตียนยึดครองไปหมดสิ้น แต่แคว้นเอ็นดะลูเซียยังคงสืบต่อมาอีกราว 400 ปี และตกอยู่ในกำมือของกษัตริย์สเปนในปี ฮ.ศ. 892 / ค.ศ. 1492 เมื่อรัฐฆอรฺนาเฏาะฮฺ (แกรนาดา) ที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมถูกยึดครอง

ในช่วงเวลานั้นโลกอิสลามในด้านตะวันออกและตอนเหนือพวกเซลจูกเติร์กได้สถาปนารัฐอิสลาม และสามารถหยุดยั้งการรุกคืบของพวกโรมันไบแซนไทน์ตลอดจนขับไล่พวกโรมันไบแซนไทน์ออกจากเอเซียน้อยหลังสมรภูมิมะลาซฺกุรด์ (มัลซิเคิร์ด) ในปี ฮ.ศ. 463 / ค.ศ. 1071

แผนที่สมรภูมิมัลซิเคิร์ด

พวกเซลจูกเติร์กเป็นชนเผ่าเติร์กุมานที่เป็นสาขาจากชนชาติเติร์ก อัล-ฆุซ เดิมมีหลักแหล่งอยู่ในที่ราบแคว้นตุรกีสถาน เอเซียกลาง ต้นตระกูลของพวกเซลจูกเติร์กคือ สัลญูก อิบนุ ดักก็อก เหตุนั้นจึงเรียกพวกเขาว่า สัลญูกียูนหรือสลาญิเกาะฮฺ หมายถึงลูกหลานของเซลจูก (สัลญูก) ความสำคัญของพวกเซลจูก เติร์กเริ่มขึ้นนับตั้งแต่การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานพร้อมกับเซลจูกหัวหน้าเผ่าสู่ดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) และเข้ารับอิสลามนิกายสุนนียฺ

การเป็นมุสลิมของเซลจูกเติร์กได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ตั้งหลักแหล่งในดินแดนอิสลามแถบนครบุคอรอและสะมัรฺกอนด์ราวตอนปลายศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชและร่วมมือกับวงศ์อัส-สามานียะฮฺในการพิทักษ์เส้นพรมแดนทางทิศตะวันออกและเผยแผ่ศาสนาอิสลามในหมู่ชาวเติร์กที่ยังไม่ได้เข้ารับอิสลาม การรวมตัวอย่างเป็นปึกแผ่นของพวกเซลจูกเติร์กได้เพิ่มมากขึ้นและแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วภูมิภาคนี้โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของวงศ์อัส-สามานียะฮฺ และยังไม่ทันเข้าสู่ศตวรรษที่ 5 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชพวกเซลจูเติร์กก็พร้อมสำหรับการอพยพสู่แคว้นคุรอสานทางทิศตะวันตกจากหลักแหล่งเดิมของพวกเขาโดยการนำของฏุฆรุล เบยฺก์ หลานชายของเซลจูก ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเกิดขึ้นของรัฐเติร์ก ณ เส้นพรมแดนทางทิศตะวันออกของโลกอิสลาม เช่น รัฐอัล-กุรคอนียะฮฺและรัฐอัล-ฆอซนะวียะฮฺมีส่วนสนับสนุนให้พวกเซลจูกเติร์กได้ข้ามแม่น้ำญัยหูนและแพร่สะพัดเข้าสู่อาณาเขตของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ

พวกเซลจูกเติร์กได้ยึดครองนครมัรฺว์ , นัยสาบูรฺ , บะลัค , เฏาะบะริสตานและแค้นคุวาริซม์ในปี ฮ.ศ. 429 (ค.ศ. 1037) ต่อมายึดครองอัล-ญิบาล , ฮะมะซาน , ดัยนะวัรฺ , อัร-รอยย์และอิศฟาฮานในปี ฮ.ศ. 433 – 437 โดยในระหว่างการรุกคืบของพวกเซลจูกเติร์กพวกเขาได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการยึดมั่นตามแนวทางของชาวสุนนียฺและสู้รบกับพวกชีอะฮฺ ในเวลาเดียวกันนั้นราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดกำลังเผชิญกับอิทธิพลของพวกอัล-บุวัยฮียะฮฺเช่นกัน โดยบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายสุนนียฺและชีอะฮฺ เหตุนี้เคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม บิอัมริลลาฮฺ อับดุลลอฮฺ อิบนุ กอดิรฺ (ฮ.ศ. 422 – 467 / ค.ศ. 1031 – 1075) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 26 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺจึงไม่มีวิธีการใดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากขอความช่วยเหลือจากฏุฆรุล เบยฺก์ ผู้นำเซลจูกเติร์กให้เข้ามาจัดการกับปัญหาที่ราชสำนักแบกแดดกำลังเผชิญอยู่

เคาะลีฟะฮฺอัล-กออิมจึงมีบัญชาให้เอ่ยนามของฏุฆรุล เบยฺก์ในการแสดงธรรมของบรรดามัสญิดทั่วกรุงแบกแดดในเดือนเราะมะฎอน ปี ฮ.ศ. 447 ต่อมาก็ทรงอนุญาตให้ฏุฆรุล เบยฺก์เข้าสุ่กรุงแบกแดดโดยมีขบวนของเหล่าบุคคลสำคัญได้ให้การต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ การเข้าสู่กรุงแบกแดดของฏุฆรุล เบยฺก์ถือเป็นการสิ้นสุดของพวกอัล-บุวัยฮียะฮฺ ในปี ฮ.ศ. 447 / ค.ศ. 1055 และรัฐเซลจูกเติร์กได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้การสนับสนุนของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺและเคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม บิอัมริลลาฮฺ ได้ทรงอภิเษกกับเคาะดีญะฮฺ อัรฺสะลาน คอตูน บุตรีของดาวูดน้องชายของสุลฏอน ฏุฆรุล เบยฺก์ ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺกับพวกเซลจูกเติร์กจึงเป็นไปอย่างราบรื่นและแน่นแฟ้น

การล่มสลายของพวกอัล-บุวัยฮียะฮฺและการที่พวกเซลจูกเติร์กซึ่งเป็นมุสลิมสุนนียฺเข้ามาแทนที่ ได้ทำให้พวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺในกรุงไคโรผูกใจเจ็บต่อเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์ อัล-อับบาสียะฮฺจึงยุยงให้อบุลหาริษ อัรฺสะลาน อัล-บะสาสิรียฺ อดีตแม่ทัพของเคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม ทำการกบฏในอีรัก เดิมทีอัล-บะสาสีรียฺเป็นทาสชาวเติร์กที่รับใช้สุลฏอน บะฮาอุดเดาละฮฺ อัล-บุวัยฮียฺ (เสียชีวิต ค.ศ. 1002) ต่อมาอัล-บะสาสีรียฺได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพกองทหารรักษาพระองค์ของเคาะลีฟะฮฺ อัล-กออิม ซึ่งจะไม่ตัดสินพระทัยในเรื่องใดนอกจากได้ปรึกษากับอัล-บะสาสีรียฺเสียก่อน การมีอิทธิพลต่อราชสำนักของอัล-บะสีรียฺที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เสนาบดี อบุลกอสิม อะลี อิบนุ อัล-มัสละมะฮฺเกิดความไม่พอใจจึงวางแผนในการทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง เคาะลีฟะฮฺ อัล-กออิมกับแม่ทัพอัล-บะสาสีรียฺ ซึ่งต่อมาเคาะลีฟะฮฺ อัล-กออิมทรงกริ้วต่ออัล-บะสาสีรียฺ ทำให้อัล-บะสาสีรียฺจำต้องหลบหนีออกจากนครแบกแดดและไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองอัร-เราะหฺบะฮฺทางตอนเหนือของแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส)

เมื่อฏุฆรุล เบยฺก์เข้าสู่นครแบกแดดแล้ว อัล-บะสาสีรียฺจึงลอบติดต่ออย่างลับๆ กับเคาะลีฟะฮฺ อัล- มุสตันศิรฺ บิลลาฮฺ อบูตะมีม มะอัด อิบนุ อัซ-ซอฮิรฺ (ฮ.ศ. 427 – 487 / ค.ศ. 1036 – 1094) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺในกรุงไคโร โดยขอกำลังสนับสนุนจากเคาะลีฟะฮฺ อัล-มุสตันศิรฺ บิลลาฮฺเพื่อโจมตีกรุงแบกแดดและขับไล่พวกเซลจูกเติร์ก

เคาะลีฟะฮฺ อัล-มุสตันศิรฺ บิลลาฮฺ รับข้อเสนอของอัล-บะสาสีรียฺโดยมิรอช้า อบุลมะหาสิน บันทึกว่า : สิ่งที่มาถึงอัล-บะสาสีรียฺจากอัล-มุสตันศิรฺคือเงินสนับสนุนจำนวน 500,000 ดินารฺ เสื้อผ้าที่มีราคาในจำนวนเท่ากันนั้น ม้าศึก 500 ตัว คันธนู 10,000 คัน ดาบอีกหลายพันเล่ม รวมถึงหอกและลูกธนูอีกเป็นจำนวนมาก (อบุลมะหาสิน ; อัน-นุญูม อัซ-ซาฮิเราะฮฺ 5/11-12)

หลังจากที่อัล-บะสาสีรียฺได้รับการสนับสนุนจากเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺ อัล- บะสาสีรียฺรอคอยโอกาสที่เหมาะสมสำหรับการโจมตีนครแบกแดด แล้วโอกาสก็มาถึง ในปี ฮ.ศ. 450 สุลฏอนฏุฆรุล เบยฺก์นำทัพออกจากนครแบกแดดเพื่อปราบปรามอิบรอฮีม ยันนาลฺ น้องชายของฏุฆรุลซึ่งก่อการกบฏในภาคเหนือของอีรัก อัล-บะสาสีรียฺฉวยโอกาสเข้าโจมตีนครแบกแดดและยึดครองได้สำเร็จ โดยมีพวกชีอะฮฺในตำบลอัล-กัรฺค์ ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองทางทิศตะวันตกของแบกแดดให้การสนับสนุน

อัล-บะสาสีรียฺจับกุมเสนาบดี (วะซีรฺ) อบุลกอสิมซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้อัล-บะสาสีรียฺต้องระเห็จออกจากกรุงแบกแดด อบุลกอสิมถูกล่ามโซ่ตรวนและถูกแห่ประจานไปทั่วถนนทุกสายของกรุงแบกแดดและเสียชีวิตอย่างน่าเวทนา ส่วนเคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม บิอัมริลลาฮฺนั้น พระตำหนักของพระองค์ถูกปล้นสะดมภ์ แต่อัล-บะสาสีรียฺปฏิบัติกับพระองค์อย่างดีและส่งตัวไปให้เจ้าเมืองอานะฮฺ ทางตอนเหนือของแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) หลังจากบังคับให้พระองค์ลงนามยืนยันว่า ราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺไม่มีสิทธิในการเป็นเคาะลีฟะฮฺพร้อมกับการมีอยู่ของลูกหลานท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) ซึ่งพวกราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺอ้างว่าพวกตนสืบเชื้อสายถึงท่านหญิง (ร.ฎ.) จึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺแต่พวกเดียว อัล-บะสาสีรียฺสั่งให้ชักธงประจำราชสำนักของอัล-ฟาฏิมียฺขึ้นในนครแบกแดดและทุกหัวเมืองที่ตนพิชิตได้ เช่น อัล-บัศเราะฮฺและวาสิฏ เป็นต้น ตลอดจนมีคำสั่งให้กล่าวขอพรในการแสดงธรรมแก่ เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺ บิลลาฮฺ แห่งราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียฺพร้อมกับส่งคณะทูตนำข่าวไปแจ้งยังกรุงไคโร ราชานีของพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺ

ฝ่ายเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺ บิลลาฮฺ เมื่อทราบข่าวก็ทรงดีพระทัยเป็นอันมาก สั่งให้ประดับประดากรุงไคโรอย่างสวยงามและจัดงานรื่นเริงเพื่อฉลองชัยชนะของราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺที่มีต่อราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ แต่ทว่าเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺ บิลลาฮฺกลับไม่ส่งการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธอย่างต่อเนื่องแก่อัล-บาสาสีรียฺในกรุงแบกแดด

นักประวัติศาสตร์ระบุว่า เหตุดังกล่าวเป็นเพราะเคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตันศิรฺเองก็ไม่วางพระทัยต่ออัล-บะสาสีรียฺ กอปรกับช่วงเวลานั้นเกิดปัญหาทางการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจในอียิปต์มีผลทำให้การปฏิวัติของอัล-บะสาสีรียฺอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะหลังชัยชนะของฏุฆรุล เบยฺก์ต่ออิบรอฮีม ยันนาลฺ ในภาคเหนือของอีรัก ฏุฆรุล เบยฺก์พร้อมด้วยกองทัพของเซลจูกเติร์กก็กลับสู่นครแบกแดดและยึดอำนาจคืน เคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม บิอัมริลลาฮฺกลับคืนสู่ราชบัลลังก์ กองทัพของฏุฆรุล เบยฺก์ได้สู้รบกับกองทหารของอัล-บะสาสีรียฺและสามารถสังหารอัล-บะสาสีรียฺได้สำเร็จ รัฐอัล-อับบาสียะฮฺจึงรอดพ้นจากความวุ่นวายที่อัล-บะสาสีรียฺได้ก่อขึ้น และเคาะลีฟะฮฺอัล-กออิม บิอัมริลลาฮฺได้ให้ฏุฆรุล เบยฺก์อภิเษกกับราชบุตรีของพระองค์ในปีฮ.ศ. 454 แต่ฏุฆรุล เบยฺก์มีชีวิตอยู่ต่อมาได้ไม่นานภายหลังการอภิเษก เขาสิ้นชีวิตในเดือนเราะมะฎอน ปีฮ.ศ. 455 (ค.ศ. 1063) ขณะมีอายุได้ 70 ปี อะเฎาะดุดดีน อัลบ์ อัรฺสะลาน (ฮ.ศ. 455 – 465 / ค.ศ. 1063 – 1072) หลานชายของฏุฆรุล เบยฺก์ได้สืบอำนาจต่อมา

อิบนุ อัล-อะษีรฺบันทึกเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ. 436 (ค.ศ. 1070) ว่าสุลฏอน อัลบ์ อัรฺสะลานเห็นว่าจำต้องยึดครองเมืองหะลับ (อเล็บโป) และตอนเหนือของซีเรียเอาไว้ให้ได้เสียก่อน เพื่อป้องกันแนวหลังจากการคุกคามของพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺก่อนที่จะรุกเข้าไปในแผ่นดินของโรมันไบแซนไทน์ทางภาคเหนือ ฝ่ายมะหฺมูด อิบนุ ศอลิหฺ อิบนิ มิรฺดาส เจ้าเมืองหะลับรู้ถึงการเคลื่อนไหวนี้ และมะหฺมูดถือในนิกายชีอะฮฺ เขาจึงเรียกพลเมืองหะลับให้มารวมตัวกัน และกล่าวว่า : นี่คือรัฐใหม่ และเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง และพวกเราตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อพวกเขา และพวกเขา (เซลจูกเติร์ก) ถือว่าเลือดของพวกท่านเป็นที่อนุมัติเนื่องจากการถือในนิกายของพวกท่าน ความเห็นก็คือ พวกเราจะต้องทำการแสดงธรรม (ด้วยการขอพรแก่เคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ) ก่อนที่จะสายไป บรรดานักปราชญ์จึงตอบรับข้อเสนอนั้น พวกเขาสวมใส่ชุดสีดำและขอพรในการแสดงธรรมแก่เคาะลีฟะฮฺ อัล-กออิม บิอัมริลลาฮฺ และสุลฏอน อัลบ์ อัรฺสะลาน แต่พวกชาวเมืองกลับนำเอาผ้าปูละหมาดในมัสญิดญามิอฺไป แล้วกล่าวว่า : นี่คือผู้ปูละหมาดของอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ ฉะนั้นอบูบักรฺก็จงนำเอาผ้าปูละหมาดมาปูแทนเถิดผู้คนจะได้ละหมาดบนผ้าปูนั้น! (แสดงว่าชาวเมืองหะลับไม่พอใจ)

เคาะลีฟะฮฺ อัล-กออิมจึงส่งฏอดร็อด อิบนุ มุฮัมมัด อัซ-ซัยนียฺให้นำชุดพระราชทานไปมอบให้แก่มะหฺมูด อิบนุ มิรฺดาส เจ้าเมืองหะลับ มะหฺมูดสวมชุดพระราชทานและบรรดานักกวีก็กล่าวบทกวีเยินยอ ต่อมาไม่นานสุลฏอนอัลบ์ อัรฺสลานก็มาถึงเมืองหะลับ ผู้แทนเคาะลีฟะฮฺคือฏอดร็อดยังคงอยู่ที่เมืองหะลับ ฝ่ายมะหฺมูดจึงขอร้องให้ฏอดร็อดออกไปพบสุลฏอน อัลบ์ อัรฺสะลานเพื่อขออภัยที่ตนมิได้ออกไปร่วมต้อนรับ ฏอดร็อดจึงออกไปแจ้งแก่สุลฏอนว่า อะมีรฺ มะหฺมูดได้สวมชุดพระราชทานของเคาะลีฟะฮฺและแสดงธรรมขอพรแก่พระองค์แล้ว สุลฏอนจึงกล่าวว่า : “การแสดงธรรมและขอพรของพวกเขาจะมีค่าเทียบกับสิ่งใดก็หาไม่ ทั้งๆ ที่พวกเขายังคงอะซานว่า “หัยยะอะลา คอยริล อะมัล” (จงมาสู่การงานที่ดีที่สุดเถิด) – เป็นการอะซานของพวกชีอะฮฺที่อุตริเติมเข้ามาในประโยคอะซาน- เขาจึงต้องมาหาฉันและเหยียบพรมของฉัน”

ฝ่ายอะมีรฺ มะหฺมูดก็ปฏิเสธ การปิดล้อมเมืองหะลับจึงเป็นไปอย่างหนักหน่วง สินค้าในเมืองมีราคาสูงลิ่ว การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรง เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องบานปลายต่ออะมีรฺ มะหฺมูด เขาและมารดาคือ มะนีอะฮฺ บินตุ วัษษาบ อัน-นุมัยรียฺจึงออกจากเมืองในเวลากลางคืน แล้วทั้งสองก็เข้าพบสุลฏอน มะนีอะฮฺกล่าวว่า : นี่คือบุตรชายของฉัน ท่านจงกระทำกับเขาตามที่ท่านเห็นชอบเถิด! สุลฏอนได้ปฏิบัติกับมะหฺมูดและมารดาของเขาเป็นอย่างดี มอบชุดคลุมให้มะหฺมูดสวมใส่ และนำเขากลับสู่เมืองหะลับ มะหฺมูดได้มอบทรัพย์สินเป็นอันมากแก่สุลฏอน (2)

หลังยึดเมืองหะลับได้แล้ว สุลฏอน อัลบ์ อัรฺสะลานได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของอะมีรฺ อัตสัซ อิบนุ เอาวฺก์ อัล-คุวาริซมียฺ ซึ่งเป็นแม่ทัพชาวเติร์กไปยังตอนใต้ของซีเรียคือ ปาเลสไตน์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพวกอัล-ฟาฏิมียะฮฺ แม่ทัพอัตสัซ พิชิตเมืองอัรฺ-รอมละฮฺ , นครบัยตุลมักดิส (เยรูซาเล็ม) และหัวเมืองใกล้เคียงเอาไว้ได้ ยกเว้นเมืองอัสเกาะลานซึ่งเป็นเส้นทางที่ไปสู่อียิปต์ ต่อมาแม่ทัพอัตสัซก็นำทัพมุ่งหน้าปิดล้อมกรุงดามัสกัสแต่มิได้ยึดเอาไว้ การเดินทัพของกองทัพแห่งสุลฏอน อัลบ์ อัรฺสะลานในดินแดนซีเรียเป็นการมุ่งตัดทอนกำลังของฝ่ายชีอะฮฺ อัล-ฟาฏิมียะฮฺในดินแดนดังกล่าวก่อนที่จะบ่ายหน้ากองทัพขึ้นสู่ภาคเหนือของเอเซียน้อยเพื่อทำสงครามญิฮาดกับพวกโรมันไบเซนไทน์ต่อไป

ก่อนหน้านั้นญัฆรียฺ เบยฺก์ ดาวูด อิบนุ มีกาอีล อิบนิ สัลญูก ผู้มีศักดิ์เป็นอาของสุลฏอน มุฮัมมัด อัลบ์ อัรฺสะลาน ได้นำชนเผ่าเซลจูกเติร์กมุ่งหน้าสู่อาเซอร์ไบจานและดินแดนทางทิศตะวันออกของเอเซียน้อย (เอเซียไมเนอร์) ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นาน จักรวรรดิไบแซนไทน์ได้แผ่อิทธิพลเหนือแคว้นอาร์เมเนียและโยกย้ายชาวอาร์เมเนียนเป็นจำนวนมากมาสู่เอเซียน้อยโดยให้พวกอาร์เมเนียนตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกกันว่า อาร์เมเนียน้อย

จักรพรรดิโรมานุส ดิโอจิเนส (Romanus Diogenes) (ค.ศ. 1067 – 1071) แห่งจักรวรรดิโรมัน ไบแซนไทน์ได้พยายามสกัดการรุกคืบของพวกเซลจูกเติร์กซึ่งตั้งมั่นอยู่ในดินแดนทางทิศตะวันออกของเอเซียน้อย จึงนำทัพโรมันจำนวนราว 200,000 นาย ซึ่งประกอบด้วยพวกสล๊าฟ (รุสเซีย) โรมัน , พวกอาร์มาเนียน และชนชาติที่อยู่ในเอเซียน้อยเคลื่อนทัพสู่ทิศตะวันออกจนถึงเมืองมะลาซกุรด์ (Malazgerd) ใกล้กับทะเลสาบวาน (Van) แคว้นอาร์มาเนีย ในเวลาเดียวกันนั้น มีทหารม้าของสุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลานที่มาถึง อาเซอร์ไบจาณเพียง 15,000 นาย เท่านั้น สุลฏอน อัลบ์ อัรสะลานจึงส่งคณะทูตไปยังจักรพรรดิโรมานุส เพื่อขอหย่าศึก แต่จักรพรรดิโรมานุสยืนกรานที่จะทำสงครามและเคลื่อนทัพต่อไป โดยกล่าวว่าไม่มีการหย่าศึกนอกเสียจากต้องพิชิตเมืองอัรฺ-รอยย์ในดินแดนอิหร่านใกล้กับทะเลสาบแคสเปียนเสียก่อน

เมื่อเป็นเช่นนั้นสุลฏอนอัลบ์ อัรสะลานจึงตัดสินใจเผชิญหน้ากับกองทัพโรมันไบแซนไทน์ซึ่งมีกำลังพลมากกว่า เซลจูกเติร์กหลายเท่า สุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลานเลือกวันศุกร์เป็นวันเผชิญหน้ากับศัตรู อันเป็นช่วงเวลาที่บรรดานักแสดงธรรมขึ้นมิมบัรฺ (ธรรมาสน์) ตามมัสญิดในดินแดนของชาวมุสลิมและขอพรให้บรรดา มุญาฮิดีนได้รับชัยชนะ ครั้นเมื่อถึงเวลาละหมาดสุลฏอนก็ร่วมละหมาดพร้อมกับเหล่าทหาร เสร็จแล้วก็ลุกขึ้นประกาศต่อหน้าเหล่าทหารว่า “ผู้ใดต้องการไปก็จงไปเสียเถิด ณ ที่นี้ไม่มีสุลฏอนที่จะออกคำสั่งหรือห้ามแต่อย่างใด เพราะตัวข้าพเจ้าขอออกศึกโดยมุ่งหวังผลานิสงส์แห่งการญิฮาดและสู้รบด้วยความอดทน หากตัวข้าพเจ้าปลอดภัย นั่นก็เป็นความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺ และหากข้าพเจ้าได้รับชะฮีด (พลีชีพในสนามรบ) มะลิกชาฮฺ บุตรชายของข้าพเจ้าก็คือรัชทายาทสืบไป”

แล้วสุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลานก็โยนคันศรและลูกธนู จับดาบและโล่ห์ผูกหางม้าศึกด้วยมือของท่านเอง บรรดาเหล่าทหารหาญก็กระทำตามอย่างท่าน แล้วสุลฏอนก็สวมใส่ผ้าสีขาวและพันตัวของท่านพร้อมกล่าวขึ้นว่า “หากข้าพเจ้าถูกสังหาร นี่คือผ้าห่อศพของข้าพเจ้า” แล้วก็สั่งเคลื่อนทัพประจัญบานกับกองทัพของโรมัน เมื่อเข้าใกล้พวกข้าศึก ก็ลงจากหลังม้าย่างเท้าแล้วก้มลงสู่ผืนดินพร้อมวิงวอนขอชัยชนะจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่างมากมายสุลฏอนกลับขึ้นหลังม้าศึกอีกครั้งแล้วนำทัพเข้าสู้รบกับศัตรู เหล่าทหารเซลจูกเติร์กก็เข้าสู่สนามรบด้วยความพร้อมเพรียงการสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด กองทัพเซลจูกเติร์กไล่ฆ่าฟันศัตรูล้มตายเป็นอันมากจนนับไม่ถ้วน แล้วพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ทรงประทานชัยชนะแก่ฝ่ายกองทัพเซลจูกเติร์กในท้ายที่สุด

จักพรรดิโรมานุส ดิโอจิเนส ตกเป็นเชลยศึกแต่พระองค์ก็สัญญากับสุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลานว่าจะไถ่ตัวของพระองค์เป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนดีนารฺ พร้อมกับทำข้อตกลงกับสุลฏอนว่าจะส่งกองทหารโรมันเข้าร่วมการศึกเมื่อสุลฏอนขอมา และจะทรงปล่อยเชลยศึกในดินแดนของโรมันไบเซนไทน์ให้เป็นไททุกคน ทั้งสองฝ่ายจะสงบศึกเป็นเวลา 50 ปี ฝ่ายสุลฏอนได้ปฏิบัติกับจักรพรรดิโรมานุสอย่างสมพระเกียรติ และมอบเงินจำนวน 10,000 ดีนารฺแก่จักรพรรดิพร้อมกับปล่อยบรรดาแม่ทัพนายกองที่ตกเป็นเชลยศึกให้เป็นอิสระ และสุลฏอนได้ร่วมขบวนส่งจักรพรรดิกลับสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ตลอดระยะเวลา) ราว 1 ฟัรฺสัค หลังจากนั้นก็มอบให้กองทหารคุ้มกันพระองค์ไปจนถึงที่ปลอดภัย (3)

สมรภูมิมะลาซกุรฺด์ (มัลซิเคอร์ด) ในปี ฮ.ศ. 463 (ค.ศ. 1071) ถือเป็นสมรภูมิครั้งสำคัญที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของโลกมุสลิม และเป็นสมรภูมิที่ได้รับการกล่าวขานและจดจำเช่นเดียวกัน สมรภูมิบัดร์ , ยัริมู๊ก , อัล-กอดิสียะฮฺ , หิฏฏีน , อัยนฺ ญาลูต และสมรภูมิอัซ-ซัลลาเกาะฮฺ (ซาลาเคียส) ผลพวงของสมรภูมิมะลาซกุรฺด์ คือการหมดอิทธิพลทางการทหารและการเมืองของจักรวรรดิไบเซนไทน์ในเอเซียน้อยและคาบสมุทรอนาโตเลีย และเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเซลจูกเติร์กรุกคืบและตั้งมั่นอยู่ในภาคตะวันออกของเอเซียน้อยซึ่งตามมาด้วยการสถาปนารัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูม โดยมีสุลฏอนสุลัยมาน กุตุลมิช (บุตรชายลุงของสุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลาน) เป็นสุลฏอนองค์แรกในปี ฮ.ศ. 470 (ค.ศ. 1077) และรัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมนี้มีอำนาจยาวนานที่สุดในกลุ่มรัฐเซลจูกเติร์กด้วยกัน กล่าวคือมีอำนาจสืบมาจนถึงยุคของพวกเติร์กอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) ในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 14

ภาพแสดงการัดทัพในสมรภูมิมัลซิเคิร์ด

สมรภูมิมะลาซกุรด์ (มันซิเคอร์ด) ยังเป็นหนึ่งในสามาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของสงครามครูเสด ในปี ค.ศ. 1096 เนื่องจากข่าวความปราชัยของกองทัพโรมันไบเซนไทน์และการไร้ความสามารถของฝ่ายโรมันในการระดมพลเพื่อต้านทานภัยคุกคามของพวกเติร์กได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่พลเมืองและผู้ปกครองในยุโรป จริงอยู่! ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกรุงโรมกับกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเนื่องด้วยความขัดแย้งของสองนิกายในคริสตศาสนาคือ กรีกออร์เธอดอกซ์แห่งคริสตจักร ไบแซนไทน์ และโรมันแคเทอลิกแห่งคริสตจักรโรมจนเป็นเหตุให้แยกคริสตจักรทั้งสองออกจากกันในปี ค.ศ. 1054 (ก่อนหน้าสมรภูมิมะลาซกุรฺด์ ราว 18 ปี)

กระนั้นพวกละตินฝ่ายตะวันตกก็มองว่าไบเซนไทน์คือป้อมปราการด่านหน้าที่มีหน้าที่พิทักษ์คริสตศาสนาในการสู้รบกับอิสลามทางด้านตะวันออก จึงเป็นสิ่งที่ชาวคริสต์ในฝ่ายตะวันตกจำต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือไบเซนไทน์ และนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่สงคราม ครูเสดได้เกิดขึ้น ในเวลาต่อมาโดยมีบรรดาพระสันตปาปาแห่งกรุงโรมเป็นผู้รณรงค์ และให้ความสำคัญต่อการหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่ไบแซนไทน์ อาทิ พระสันตปาปา เกรเกอรี่ ที่ 7 (ค.ศ. 1073 – 1085) พระสันตปาปาเออร์บาน ที่ 2 (ค.ศ. 1088 – 1099) เป็นต้น

สุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลานมีชีวิตอยู่ต่อมาไม่นานหลังชัยชนะที่สมรภูมิมะลาซกุรฺด์ นักประวัติศาสตร์บันทึกว่า สุลฏอนได้นำทัพมุ่งหน้าสู่ดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน เพื่อทำศึกในแคว้นตุรกีสถาน และในระหว่างข้ามแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ทหารเซลจูกเติร์กของพระองค์ได้สร้างความขุ่นเคืองแก่พลเมืองในแคว้นตุรกีสถานถึงขั้นที่ชาวเมืองบุคอรอและสะมัรฺกอนด์ได้รวมตัวกันอ่านคัมภีร์อัล-กุรอานและวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ทรงกำหราบพวกเซลจูกเติร์ก ต่อมานายทหารประจำป้อมปราการแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า ยูสุฟ อัล-คุวาริซมียฺได้บริภาษสุลฏอน พระองค์ได้ยินก็กริ้วเป็นกำลัง จึงสั่งให้ทหารองค์รักษ์ถอยห่างจากพระองค์ เพื่อจัดการนายทหารผู้นั้นด้วยพระองค์เอง พระองค์ยิงธนูใส่นายทหารผู้นั้น แต่พลาดเป้า (ทั้งๆ ที่พระองค์เป็นนักแม่นธนูและไม่เคยยิงพลาด) ยูสุฟ อัล-คุวาริซมียฺจึงกระโจนเข้าใส่ และใช้มีดแทงที่สีข้างของพระองค์เป็นแผลฉกรรจ์และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 465 มะลิกชาฮฺผู้เป็นราชบุตรจึงได้รับสืบอำนาจต่อมา

ญะลาลุดดีน อบุลฟัตห์ มะลิกชาฮฺ (ฮ.ศ. 465 / ค.ศ. 1072 – 1092) ได้เป็นสุลฏอนแห่งวงศ์ เซลจูกเติร์กต่อจากสุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลาน ผู้เป็นราชบิดา ในรัชสมัยมะลิกชาฮฺ แม่ทัพอัต-สัซ สามารถยึดครองกรุงดามัสกัสได้สำเร็จในปี ฮ.ศ. 468 สุลฏอนมะลิกชาฮฺจึงแต่งตั้งตุตุซ ตาญุดดีน น้องชายของพระองค์ให้ปกครองซีเรีย รัฐเซลจูกเติร์กแห่งซีเรียจึงถูกสถาปนาขึ้นโดยมี ตุตุซ อิบนุ อัลบ์ อัรฺสะลานเป็นสุลฏอนคนแรก (ค.ศ. 1094) ต่อมาคือสุลฏอนดักก๊อก อิบนุ ตุตุซ (ค.ศ. 1095 – 1103) ใน 2 รัชกาลนี้กรุงดามัสกัสเป็นราชานี ต่อมาคือสุลฏอนริฎวาน อิบนุ ตุตุซ (1095 – 1113) ถัดมาคือ อัลบ์ อัรฺสะลาน อิบนุ ริฎวาน (ค.ศ. 1113 – 1114) และสุฏอนชาฮฺ อิบนุ ริฎวาน (ค.ศ. 1114 – 1117) ตามลำดับ ในสามรัชกาลหลังนี้มีนครหะลับ (อเล็บโป) เป็นราชธานี รัฐเซลจูกเติร์กแห่งซีเรียมีบทบาทสำคัญในการสกัดการรุกคืบของพวกวงศ์อัล-ฟาฏีมียะฮฺในอียิปต์ที่ต้องการแผ่อำนาจสู่ซีเรีย

ในรัชสมัยของมะลิกชาฮฺ รัฐเซลจูกเติร์กมีอาณาเขตและความเข้มแข็งมากที่สุด กล่าวคือกินอาณาเขตจากอัฟกานิสถานทางตะวันออก (ซึ่งพวกเซลจูกเติร์กยึดครองมาจากวงศ์อัล-ฆอซนะวียะฮฺ) ถึงเอเซียน้อยทางตะวันตก และถึงปาเลสไตน์ทางใต้ หากจะกล่าวว่า สุลฏอนฏุฆรุล เบยฺก์ และสุลฏอนอัลบ์ อัรฺ สะลานเป็นนักรบผู้พิชิต ก็กล่าวได้ว่า สุลฏอนมะลิกชาฮฺแห่งรัฐเซลจูกเติร์กคือนักปกครองที่จัดระเบียบการบริหารที่เชี่ยวชาญ พระองค์ได้อาศัยเสนาบดี (วะซีรฺ) อบุลหะสัน อิบนุ อะลี เกาะวามุดดีน นิซอม อัล-มุลก์ อัฏ-ฏูลียฺ (ค.ศ. 1018 – 1092) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “นิซอม อัล-มุลก์” ในการจัดระเบียบการบริหารและการปกครองรัฐ นิซอม อัล-มุลก์เป็นชาวอีหร่านโดยสายเลือด และเป็นเสนาบดี (วะซีรฺ) มาแต่ครั้งสมัย สุลฏอน อัลบ์ อัรฺสะลานยังมีพระชนม์อยู่ เสนาบดีนิซอม อัล-มุลก์ได้รับหน้าที่ในการเป็นผู้อบรมสั่งสอนราชบุตรของสุลฏอน จึงมีฉายานามอีกอย่างว่า อะตาบัก (อะตาเบยฺก์) หมายถึงนายพ่อ หรือ ราชครู และ นิซอม อัล-มุลก์คือบุคคลแรกที่ได้รับฉายานามนี้ซึ่งมีปรากฏต่อไปในประวัติศาสตร์ของรัฐเซลจูกเติร์ก เมื่อกล่าวถึงรัฐอิสระของพวกอะตาบิกะฮฺ

อำนาจในการบริหารอยู่ในมือของนิซอม อัล-มุลก์ตลอดรัชสมัยของสุลฏอนมะลิกชาฮฺ โดยอิบนุ อัล-อะษีรฺ เล่าถึงความสัมพันธ์ของสุลฏอนมะลิกชาฮฺกับนิซอม อัล-มุลก์ ว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ครองรัฐ เซลจูกเติร์กของสุลฏอนมะลิกชาฮฺ พระองค์ตรัสกับเสนาบดีนิซอม อัล-มุลก์ว่า “ข้าพเจ้ามอบการกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงให้แก่ท่าน ตัวท่านนั้นคือบิดา” สุลฏอนให้คำสัตย์สาบานต่อนิซอม อัล-มุลก์ และประทานดินแดนเพิ่มเป็นศักดินาแก่นิซอม อัล-มุลก์มากกว่าแต่ก่อน ส่วนหนึ่งคือ ฏูส บ้านเกิดของนิซอม อัล-มุลก์ สุลฏอนสวมชุดคลุมแก่นิซอม อัล-มุลก์และมอบราชทินนามให้ อาทิ อะตาบัก (อะตาเบยฺก์) หมายถึง นายพ่อ (อัล-อะมีรฺ อัล-วาลิด) นิซอม อัล-มุลก์ได้แสดงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และการปฏิบัติตนเป็นอย่างดีตามที่ทราบกัน”  (4)

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสุลฏอนมาะลิกชาฮฺกับราชวงศ์อัล-บาสียะฮฺนั้นเป็นไปอย่างแนบแน่น เนื่องจาก เคาะลีฟะฮฺอัล-มุกตะดียฺ บิ อัมริลลาฮฺ (ฮ.ศ. 467 – 487 / ค.ศ. 1075 – 1094) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 27 และ เคาะลีฟะฮฺอัล-มุสตัซฮิร บิลลาฮฺ (ฮ.ศ. 487 – 512 / ค.ศ. 1094 – 1118) เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 28 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺได้อภิเษกกับราชบุตรีของสุลฏอนมะลิกชาฮฺ

ในรัชสมัยสุลฏอนมะลิกชาฮฺแห่งวงศ์เซลจูกเติร์ก ได้มีการปรับปรุงและแก้ไขปฏิทินของเปอร์เซียโดยคณะนักดาราศาสตร์ในปีฮ.ศ. 467 (ค.ศ. 1074) ตามบัญชาของสุลฏอน หนึ่งในคณะนักดาราศาสตร์คือ อุมัร อัล-ค็อยยาม (เสียชีวิต ค.ศ. 1132) นักคณิตศาสตร์ , นักพีชคณิตและนักกวีเจ้าของบทกวีอัรฺ-รุบาอียาต และปฏิทินนี้ถูกเรียกว่า “ปฏิทินอัล-ญะลาลียฺ” ซึ่งอ้างถึงสุลฏอนญะลาลุดดีน มะลิกชาฮฺ นั่นเอง นักปราชญ์ชาวยุโรปยอมรับว่าปฏิทินอัล-ญะลาลียฺมีความละเอียดในการคำนวณและความแม่นยำทางดาราศาสตร์มากกว่าปฏิทินแกร์เกอรี่ย์ที่นิยมในยุโรปเสียอีก

ภาพวาด อุมัรฺ อัล-ค็อยยาม

เป็นเรื่องที่น่าสังเกตในกรณีที่ว่า พวกเซลจูกเติร์กในช่วงแรกๆ ที่เคลื่อนย้ายสู่ดินแดนทางทิศตะวันตกของตุรกีสถาน พวกเซลจูกเติร์กได้รับเอาอารยธรรมของชาวอีหร่าน (เปอร์เซีย) มาใช้เป็นอารยธรรมแรก และอารยธรรมของชาวอีหร่านเป็นที่แพร่หลายในหมู่พวกอัส-สามานียะฮฺและอัล-ฆอซนะวียะฮฺมาก่อน ต่อมาเมื่อพวกเซลจูกเติร์กได้ตั้งหลักแหล่งในเอเซียน้อยและสถาปนารัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูม อารยธรรมของชาวอีหร่าน (เปอร์เซีย) ก็เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในหมู่เซลจูกเติร์กเช่นกัน ภาษาเปอร์เซียคือภาษาทางวรรณกรรมและการแต่งตำราทางวิชาการ แม้กระทั่งในสมัยแรกๆ ของการสถาปนารัฐอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) ภาษาเปอร์เซียก็ยังคงมีสถานภาพเช่นนั้น เนื่องจากภาษาเติร์ก (เติร์กิช) ยังไม่มีพัฒนาการจนถึงขั้นของภาษาเปอร์เซีย และบรรดาปราสาทตลอดจนพระราชวังของสุลฏอนแห่งเซลจูก เติร์กก็ถูกประดับประดาและตบแต่งด้วยศิลปกรรมแบบอิหร่านรวมถึงตัวอักษรวิจิตรแบบฟารีสียฺที่นำบทกวีจากชาฮฺนามะฮฺของเปอร์เซียมาเขียนประดับลงบนผนังของอาคารหรือห้องโถงในปราสาทของพวกเซลจูกเติร์กก็เช่นกัน

นิซอม อัล-มุลก์ได้แต่งตำราสิยาสะฮฺนามะฮฺเป็นภาษาเปอร์เซียถวายแด่สุลฏอนมะลิกชาฮฺ เป็นตำราที่กล่าวถึงระเบียบปฏิบัติของสุลฏอน ข้อแนะนำและกฏมณเฑียรบาลตลอดจนรัฐศาสตร์การปกครองสำหรับบรรดาผู้ปกครองรัฐเซลจูกเติร์ก และนิซอม อัล-มุลก์ยังได้สร้างโรงเรียน (มัดเราะสะฮฺ) ที่เรียกกันว่า โรงเรียนอัน-นิซอมียะฮฺในนครนัยสะบู๊ร , แบกแดด , บะลัค , โมศุล ,ฮะรอต และมัรฺว์ จึงถือกันว่า นิซอม อัล-มุลก์คือบุคคลแรกที่สร้างโรงเรียนในดินแดนตะวันออกของโลกอิสลาม

ในปี ฮ.ศ. 485 (ค.ศ. 1092) สุลฏอนมะลิกชาฮฺสิ้นพระชนม์ และหนึ่งเดือนต่อมา นิซอม อัล-มุลก์ก็สิ้นชีวิต บัรฺกิยารูก ราชบุตรของสุลฏอนมะลิกชาฮฺก็ดำรงตำแหน่งสุลฏอนแห่งเซลจูกเติร์ก (ค.ศ. 1080 – 1105) รัชสมัยของสุลฏอนบัรฺกิยารูกเริ่มต้นด้วยการแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนักของเซลจูกเติร์กและสงครามระหว่างขั้วอำนาจทำให้รัฐเซลจูกเติร์กอ่อนแอและไร้เสถียรภาพ กองทัพของเซลจูกเติร์กที่เคยเกรียงไกรไม่สามารถต้านทานการรุกรานของพวกชนเผ่า อัล-ฆุซ และอัล-กุรอคิไตยน์ (มองโกล) ตลอดจนปราชัยในการศึกกับพวกชาฮฺแห่งแคว้นคุวาริซม์ แล้วรัฐเซลจูกเติร์กที่ยิ่งใหญ่ก็สิ้นสุดลงด้วยการสิ้นพระชนม์ของสุลฏอนองค์สุดท้าย คือ สุลฏอนนาศิรุดดีน อบุลหาริษ สันญัรฺ อิบนุ มาลิกชาฮฺ ในปี ฮ.ศ. 552 (ค.ศ. 1157)

มัสยิดอะลาอุดดีน ในเมืองกูนียะฮฺ ราชธานีแห่งรัฐเซลจูก เติร์ก
มัสญิดญามิอฺ อัต-ตะหฺศีลียะฮฺ ในเมืองสีวาส สร้างในสมัยเซลจูก เติร์ก

ประมวลเหตุการณ์สำคัญ

• ฮ.ศ. 218 – 220 / ค.ศ. 833 – 842 อัล-มุอฺตะศิม บิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ ฮารูน อัรฺ-เราะชีด เคาะลีฟะฮฺองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ

• ฮ.ศ. 221 / ค.ศ. 836 สร้างนครสะมัรฺรออฺเป็นราชธานี

• ฮ.ศ. 254 – 292 / ค.ศ. 863 – 905 รัฐอัฏ-ฏูลูนียะฮฺในอียิปต์

• ฮ.ศ. 260 – 390 / ค.ศ. 837 – 999 รัฐอัส-สามานียะฮฺในดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย)

• ฮ.ศ. 264 / ค.ศ. 875 อิบนุฏูลูนสร้างมัสญิดญามิอฺ อิบนิ ฏุลูน ในนครอัล-เกาะฏออิอฺ อียิปต์

• ฮ.ศ. 297 / ค.ศ. 909 อุบัยดุลลอฮฺ อัล-มะฮฺดียฺ สถาปนาอาณาจักรอัล-ฟาฏิมียะฮฺในแอฟริกาเหนือ (ตูนิเซีย)

• ฮ.ศ. 316 – 350 / ค.ศ. 929 – 931 อัน-นาศิร อับดุรเราะหฺมานที่ 3 ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺในนครโคโดบาฮฺ (กุรฺฏุบะฮฺ) แคว้นอัล-อันดะลุส (สเปน)

• ฮ.ศ. 317 / ค.ศ. 930 พวกชีอะฮฺอัล-เกาะรอมิเฎาะฮฺโจมตีนครมักกะฮฺและนำหินดำ (หะญะรุล อัสวัด) ไปจากอาคารอัล-กะอฺบะฮฺ

• ฮ.ศ. 317 – 394 /ค.ศ. 929 – 1003 พวกอัล-หัมดานียูน เรืองอำนาจในนครโมศุล และ หะลับ (อเล็ปโป)

• ฮ.ศ. 320 – 447 / ค.ศ. 932 – 1055 รัฐอิสระอัล-บุวัยฮียะฮฺในอีหร่านและอีรัก

• ฮ.ศ. 323 – 358 / ค.ศ. 935 – 969 รัฐอิสระอัล-อิคชีดียะฮฺในอียิปต์และซีเรีย

• ฮ.ศ. 351 – 583 / ค.ศ. 962 – 1187 รัฐอิสระอัล-ฆอซนะวียะฮฺในอีหร่านและอัฟกานิสถาน

• ฮ.ศ. 358 / ค.ศ. 969 แม่ทัพเญาฮัร อัศ-ศิกิลลียฺแห่งราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺ ยึดครองอียิปต์

• ฮ.ศ. 359 / ค.ศ. 970 เริ่มสร้างกรุงไคโรและมัสญิดญามิอฺ อัล-อัซฮัรฺ

• ฮ.ศ. 386 – 411 / ค.ศ. 996 – 1021 เคาะลีฟะฮฺอัล-หากิม บิอัมริลลาฮฺ แห่งราชวงศ์อัล-ฟาฏิมียะฮฺในอียิปต์

• ฮ.ศ. 388 – 421 / ค.ศ. 998 – 1030 สุลฏอนมะหฺมูด อิบนุ สุบุกตะกีน แห่งอัล-ฆอซนะวียะฮฺ

• ฮ.ศ. 411 / ค.ศ. 1020 อัล-ฟิรเดาสียฺ นักกวีเอกผู้ประพันธ์ชาฮฺนามะฮฺเสียชีวิต

• ฮ.ศ. 420 – 422 / ค.ศ. 1029 – 1031 ฮิชามที่ 3 เคาะลีฟะฮฺองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺในนครโคโดบาฮฺ (กุรฺฏุบะฮฺ) แคว้นอัล-อันดะลุส (สเปน)

• ฮ.ศ. 429 – 455 / ค.ศ. 1037 – 1063 ฏุฆรุล เบยฺก์ สถาปนารัฐเซลจูกเติร์กในแคว้นฟาริส (อีหร่าน)

• ฮ.ศ. 447 / ค.ศ. 1055 ฏุฆรุล เบยฺก์ แห่งเซลจูกเติร์กเข้าสู่นครแบกแดดและปราบปรามพวกอัล-บุวัยฮียะฮ

• ฮ.ศ. 463 / ค.ศ. 1071 สมรภูมิมะลาซกุรฺด์ (มัลซิเคิร์ด) สุลฏอน อัลบ์ อัรฺสะลานได้รับชัยชนะต่อกองทัพของโรมันไบเซนไทน์

• ฮ.ศ. 464 – 702 / ค.ศ. 10714 – 1302 รัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมในเอเซียน้อย

• ฮ.ศ. 465 – 485 / ค.ศ. 1072 – 1092 สุลฏอนญะลาลุดดีน อบุลฟัตห์ มะลิกชาฮฺ แห่งเซลจูกเติร์ก

• ฮ.ศ. 511 – 552 / ค.ศ. 1117 – 1157 สุลฏอนสันญัรฺ นาศิรุดดีน อบุลหาริษ อิบนุ มะลิกชาฮฺ สุลฏอนองค์สุดท้ายแห่งเซลจูกเติร์ก

เชิงอรรถ

(1) ฟี อัต-ตารีค อัล-อับบาสียะฮฺ วัล-ฟาฏิมียะฮฺ : ดร.อะหฺมัด มุคต๊าค อัล-อิบาดียฺ หน้า 38

(2) อิบนุ อัล-อะษีรฺ ; อัล-กามิล 10/63-64

(3) อิบนุ อัล-อะษีรฺ ; อัล-กามิล 10/66…

(4) อัล-กามิล อิบนุ อัล-อะษีรฺ 10/20

เครดิตรูปภาพ

  • https://en.wikipedia.org/wiki/
  • egypttoursplus.com/mosque-of-al-azhar/
  • deliopolis.files.wordpress.com/2007/09/view-over-cairo-city-with-mosque-of-sultan-hassan.jpg
  • freepressjournal.in/wp-content/uploads/2015/09/lead-1
  • sciencemuseum.org.uk/hommedia.ashx?id=10263&size=Small
  • muslimheritage.com/sites/default/files/ibn-sina-01
  • afghanland.com/history/mahmoo5
  • painting-depicting-the-battle-of-sagrajas-1086-a-battle-between-the-G1CRRG
  • http://sobhmashhad.ir/1395/08/10/دوستدارانفردوسیراهنمایانفرهنگیتو/
  • http://dakwah.org/gallery/albums/masjid/Samarra_Mosque_in_Iraq.jpg