กำเนิดปฏิทินฮิจเราะห์ศักราช

        ราวปีที่ 16-17 (บ้างก็ว่าปีที่ 18) นับแต่การฮิจเราะห์ของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) สู่นครม่าดีนะห์ อันตรงกับช่วงการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ของท่านอุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (รฎ.) – ท่านอุมัร (รฎ.) ได้รับให้การให้สัตยาบันในปีที่ 13 แห่งฮิจเราะห์ศักราช / คศ.634-  ได้มีการเริ่มนับใช้ปฏิทินอิสลามโดยนับจากปีที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ได้อพยพ (ฮิจเราะห์) เป็นปีที่ 1 ของศักราช

        เรื่องมีอยู่ว่าท่านอุมัร (รฎ.) ได้ชำระความคดีฟ้องร้องของโจทก์และจำเลยคู่หนึ่ง โจทก์อ้างว่าจำเลยติดหนี้สินกับตนและจะต้องชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในเดือนชะอฺบาน ท่านอุมัร (รฎ.) ก็ซักว่า เดือนชะอฺบานไหน? ชะอฺบานของปีนี้หรือปีที่แล้วหรือปีหน้า? โจทก์ก็มิอาจยืนยันในคำให้การของตนได้แน่ชัดว่าเป็นชะอฺบานของปีใด! หลังการชำระคดีความครั้งนั้น ท่านอุมัร (รฎ.) เห็นว่าเกิดความไม่แน่ชัดในการกำหนดศักราช อันจักกลายเป็นปัญหาต่อไปในภายหน้าเหมือนคดีความรายนี้ ท่านจึงเรียกเหล่าสาวกของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับท่านในนครม่าดีนะห์เข้าร่วมประชุมหารือ และสนองความคิดในการกำหนดปฏิทินหรือศักราชที่ชัดเจนเพื่อจะได้รู้เวลาในการชำระหนี้และเรื่องอื่นๆ

 

        มีผู้เสนอว่าให้กำหนดปีศักราชอย่างเปอร์เซีย แต่ท่านอุมัร (รฎ.) ก็ไม่เห็นชอบกับข้อเสนอนี้ เพราะพวกเปอร์เซียกำหนดปีศักราชตามปีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์เปอร์เซียแต่ละองค์ อีกฝ่ายหนึ่งก็เสนอให้ใช้ปีปฏิทินเหมือนพวกโรมัน ซึ่งนับศักราชแต่ปีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ พระราชโอรสกษัตริย์ฟิลิปส์แห่งมาซิโดเนียเป็นปีแรก ท่านอุมัร (รฎ.) ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนออีกเช่นกัน บางคนก็เสนอให้ใช้ปีที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิดเป็นปีแรกของปฏิทิน ในขณะที่บางส่วนของที่ประชุมเสนอให้นับปีที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ได้รับแต่งตั้งให้ประกาศศาสนาเป็นปีแรก แต่ก็นั่นแหละมีผู้เสนอให้นับปีที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ทำการอพยพ (ฮิจเราะห์) และบางส่วนก็เสนอให้นับปีที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เสียชีวิต

 

        ทว่าท่านอุมัร (รฎ.) เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้ปีแห่งการอพยพเป็นปีศักราชแรกของปฏิทินอิสลาม เนื่องจากชัดเจนและเป็นที่ทราบกัน ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบ ด้วยการนี้การนับปฏิทินอิสลามจึงเริ่มขึ้นนับแต่บัดนั้น โดยถือเอาปีที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) อพยพเป็นปีแรกของศักราช และเรียกว่าปฏิทินฮิจเราะห์ศักราช และตามหลักการแล้วถือว่าเรื่องการกำหนดศักราชเป็นมติของเหล่าสาวก ( إِجْمَاعُ الصَّحَابَةِ )

 

        ผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมไม่ใช้เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ลเป็นเดือนแรกในปฏิทินไปด้วย ทั้งนี้เพราะการอพยพ (ฮิจเราะห์) ของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) เกิดขึ้นในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล แต่ด้วยเหตุไฉน? จึงนับเดือนมุฮัรรอมเป็นเดือนแรก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอิหม่ามมาลิก (รฎ.) เองก็ระบุว่า เดือนแรกแห่งปฏิทินอิสลาม คือ เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ได้อพยพสู่นครม่าดีนะห์ ที่ท่านอิหม่ามมาลิก (รฎ.) ว่าก็ดูสมเหตุสมผลอยู่มิใช่น้อย แต่ไม่นิยมปฏิบัติกัน ทั้งนี้เพราะเดือนแรกของชาวอาหรับที่ใช้กันมาแต่โบราณนั้น คือเดือนอัลมุฮัรรอม ถ้าหากไปเปลี่ยนลำดับเดือนที่ตั้งกันไว้แต่โบราณก็จะทำให้เกิดความสับสนได้ จึงกำหนดปีแรกของปฏิทินอิสลามเป็นปีที่มีการอพยพ (ฮิจเราะห์) และคงเดือนอัลมุฮัรรอมไว้เช่นเดิมในลำดับเดือนอาหรับที่หนึ่ง เพราะเรื่องของเรื่องอยู่ที่การกำหนด  “ปี” มิใช่การกำหนด “เดือน” แต่อย่างใด

 

        แต่เดิมชาวอาหรับก็เคยอาศัยเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เป็นตัวกำหนดปีศักราชเหมือนกัน กล่าวคือลูกหลานของศาสดาอิสมาอีล (อล.) – คือชาวอาหรับลูกผสมนั่นเอง- นับปีที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อล.) ถูกจับโยนลงในกองเพลิง สมัยกษัตริย์นัมรูซแห่งบาบิโลน ต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้ปีที่ท่านศาสดาทั้งสองสร้างอัลกะอ์บะห์ ครั้นต่อมาก็ใช้ปีที่ท่านกะอฺบ์ อิบนุ ลุอัยย์ เสียชีวิตเป็นปีปฏิทิน แล้วก็เปลี่ยนมาใช้ปีช้าง (คือปีที่อับรอฮะห์ กษัตริย์เยเมนยกกองทัพช้างหมายทำลายอัลกะอ์บะห์ ซึ่งศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิดในปีนั้น เรียกว่า ปีช้าง แล้วก็ได้ข้อยุติในการนับปีแห่งการอพยพ (ฮิจเราะห์) เป็นศักราชที่ 1 ในสมัยท่านค่อลีฟะห์ อุมัร (รฎ.) ดังที่กล่าวมา จวบจนทุกวันนี้ อนึ่งปีปฏิทินฮิจเราะห์ศักราชมิใช่ปีที่กำหนดอายุของศาสนาอิสลาม เพราะอิสลามได้อุบัติขึ้นก่อนการอพยพมาแล้วถึง 13 ปี โดยประมาณ ณ นครมักกะห์

 


ที่มา

  • อัลบิดายะห์ วันนี่ฮายะห์ อัลฮาฟิซ อิบนุ กะซีร