องค์ประกอบหลัก (อัรฺกาน) ของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ทั้ง 2  คุฏบะฮฺ ในการละหมาดวันศุกร์

การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในวันศุกร์มีองค์ประกอบหลัก (อัรฺกาน) ทั้ง 2 คุฏบะฮฺ 5 ประการ โดย 3 ประการแรกนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ มีความเห็นพ้องตรงกัน  และอีก 2 ประการนักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่าเป็นองค์ประกอบหลัก (อัรฺกาน) หรือไม่ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

1.การสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยกำหนดเจาะจงถ้อยคำที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัล-หัมดุ้ (الحَمْدُ) เป็นการเฉพาะ และคำที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า อัล-หัมดุ (อัช-ชุกรุ้-อัล-มัดหุ้อัษ/ษะนาอฺ) จะไม่ถูกนำมาแทนที่ถ้อยคำที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “อัล-หัมดุ้” โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และส่วนที่น้อยที่สุดคือ อัล-หัมดุลิลลาฮฺ” (الحمد لله) (กิตาบอัล-มัจญมูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ 4/388) ซึ่งตามนี้ อิมามอะหฺมัด (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) กล่าวเอาไว้

 

ส่วนอัล-เอาวฺซาอียฺ, อิสหาก, อบูเษาริน, อิบนุ อัล-กอสิม อัล-มาลิกียฺ, อบูยูสุฟ, มุฮัมมัด และดาวูด (เราะฮิมะฮุมุ้ลลอฮฺ) กล่าวว่า “สิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) คือสิ่งที่ชื่อเรียกของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) จะเกิดขึ้นบนสิ่งนั้น (หมายถึง การใช้ถ้อยคำใดๆ ก็ตามที่เมื่อถูกกล่าวแล้วเรียกว่า เป็นการแสดงธรรมก็ถือว่าใช้ได้) อิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) กล่าวว่า “เพียงพอในการที่ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) จะกล่าวว่า “สุบหานัลลอฮฺ” (سُبْحانَ اللهِ) หรือ บิสมิลลาฮฺ” (بسم اللهِ) หรือ “อัลลอฮุ อักบัร” (اللهُ أكبَرُ) หรือถ้อยคำในการซิกรุลลอฮฺที่คล้ายๆ กัน ส่วน อิบนุ อับดิลหะกัม อัล-มาลิกียฺ กล่าวว่า “หากผู้แสดงธรรมกล่าว ตะฮฺลีล (لا إلٰهَ إلاّ اللهُ) หรือกล่าว ตัสบีหฺ (سُبْحانَ اللهِ) ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว (อ้างแล้ว 4/392)

 

2.การกล่าวเศาะละวาตฺแก่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) และการใช้ถ้อยคำที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัศ-เศาะลาฮฺ (الصلاة) นั้นถูกเจาะจงเป็นการเฉพาะ อิมาม อัล-หะเราะมัยนฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ได้ระบุถึงคำกล่าวของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺบางคนซึ่งเป็นคำกล่าวที่ก่อให้เกิดความคลุมเครือว่า คำที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัล-หัมดุ้ (الحمد) และ คำว่า อัศ-เศาะลาฮฺ (الصلاة) ไม่ถูกเจาะจงเป็นการเฉพาะ แต่อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ก็มิได้ถ่ายทอดประเด็นที่ถูกชี้ขาดตามคำกล่าวนั้นแต่อย่างใด สิ่งที่บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ชี้ขาดเอาไว้ก็คือทั้งสองคำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเจาะจงเป็นการเฉพาะ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 388)

 

ทั้งนี้ในการกล่าวเศาะละวาตนั้นมีเงื่อนไขว่าผู้แสดงธรรมต้องกล่าวนามชื่อของท่านนบี (ซ.ล.) อย่างชัดเจน เช่น อัน-นะบียฺ (النبيُّ) หรือ อัร-เราะสูล (الرسولُ) หรือ มุฮัมมัด (محمد)  เป็นต้น ดังนั้นการกล่าวสรรพนาม (เฎาะมีรฺ) แทนจากนามชื่อของท่านนบี (ซ.ล.) ที่ชัดเจนนั้นถือว่าไม่เพียงพอ (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 206)

 

3.การกำชับสั่งสอน (อัล-วะศียะฮฺ) ให้มีความยำเกรง (ตักวา) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ส่วนการใช้ถ้อยคำที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัล-วะศียะฮฺ (الوصية) จะถูกเจาะจงเป็นการเฉพาะหรือไม่นั้น กรณีนี้ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ มี 2 ประเด็น ประเด็นที่ถูกต้องซึ่งมีตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ระบุเอาไว้และบรรดาสานุศิษย์ของท่านตลอดจนบรรดาปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้คือ

 

ไม่ถือว่าจะต้องเจาะจงเป็นการเฉพาะ หากแต่การตักเตือนชี้แนะ (อัล-วะอฺซ์) ด้วยสำนวนหรือถ้อยคำใดๆ ก็ได้มาแทนที่การกำชับสั่งสอน (อัล-วะศียะฮฺ) นั้นก็ย่อมถือว่าใช้ได้แล้ว

 

ส่วนประเด็นที่สอง อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ และอัล-บะเฆาะวียฺตลอดจนนักวิชาการท่านอื่นๆ จากชาวเมืองคุรอสานเล่าเอาไว้ว่า การใช้ถ้อยคำที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “อัล-วะศียะฮฺ” (الوصية) เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเจาะจงเป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับคำว่า “อัล-หัมดุ้” และคำว่า “อัศ-เศาะลาฮฺ” ซึ่งอิมามอัน-นะวาวียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ระบุว่า ประเด็นที่สองนี้อ่อน (เฎาะอีฟ) หรือเป็นโมฆะ (บาฎิลฺ) เพราะถ้อยคำ “อัล-หัมดุ้” และ อัศ-เศาะลาฮฺ” นั้นเราใช้ในการประกอบอิบาดะฮฺ (ศาสนกิจ) ในหลายกรณี ส่วนคำว่า “อัล-วะศียะฮฺ” นั้นไม่มีตัวบทระบุเป็นคำสั่งและเจาะจงให้ใช้คำๆ นี้แต่อย่างใด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฮ เล่มที่ 4 หน้า 388)

 

อิมามอัล-หะเราะมัยน (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) กล่าวว่า : และไม่มีข้อขัดแย้งในกรณีที่ว่า แท้จริงการเตือนให้ระวังจากการหลงยึดติดกับโลกดุนยาและสิ่งประดับอันสวยงามของโลกดุนยานั้นถือว่าไม่เพียงพอ เพราะสิ่งดังกล่าวนั้นบรรดาผู้ที่ปฏิเสธหลักนิติธรรม (ชะรีอะฮฺ) ก็มักจะกำชับและสั่งสอนกันในเรื่องนี้  ทว่าจำเป็นที่จะต้องมีการปลุกเร้าให้ทำการภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และห้ามปราม ทัดทานจากการประพฤติสิ่งที่ฝ่าฝืนบัญญัติของศาสนา (อ้างแล้ว 4/389)

 

และในการตักเตือนเพื่อให้เกิดอนุสติ (อัล-เมาวฺอิเซาะฮฺ) นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้คำพูดที่ยืดยาว ทว่าหากผู้แสดงธรรมกล่าวว่า : ท่านทั้งหลายจงภักดีเชื่อฟังพระองค์อัลลอฮฺ (اطيعوا الله) ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ในส่วนของการกล่าวเศาะละหวาตฺนั้นหากผู้แสดงธรรมกล่าวว่า “วัศ-เศาะลาตุ้ อะลันนะบียฺ” (والصلاة على النبى) หรือ วัศ-เศาะลาตุ้ อะลา มุฮัมมัด (والصلاة على محمد) หรือ “วัศ-เศาะลาตุ้ อะลา เราะสูลิลลาฮฺ” (والصلاة على رسول الله)  ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

 

และถ้าหากผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) กล่าวว่า “อัล-หัมดุลิรฺเราะหฺมาน” (الحمدللرحمن) หรือ “อัล-หัมดุลิรเราะหฺหีม” (الحمدللرحيم) ย่อมถือว่าไม่พอเพียง เช่นเดียวกับกรณีของผู้ละหมาดที่กล่าวว่า “อัร-เราะหฺมาน อักบัรฺ” (الرحمن أكبر) ในการตักบีเราะหฺตุลอิหฺรอม (ก็ถือว่าใช้ไม่ได้)

 

อนึ่ง บรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรฺ-กาน) ข้างต้นทั้ง 3 ประการนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นในแต่ละคุฏบะฮฺจากการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺนั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ยกเว้นมีอยู่ประเด็นหนึ่งที่อิมาม อัร-รอฟิอียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) เล่าเอาไว้ว่าแท้จริงการกล่าวเศาะละหวาตฺแก่ท่านนบี (ซ.ล.) นั้นเพียงพอในคุฏบะฮฺหนึ่งคุฏบะฮฺใดจากการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺนั้น ซึ่งประเด็นนี้อิมาม อัน–นะวาวียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ระบุว่า เป็นสิ่งที่แหวกแนว (ชาซฺ) และไม่ถูกยอมรับ (มัรฺดู๊ด) (อ้างแล้ว 4/389)

 

4.การอ่านอายะฮฺหนึ่งจากคัมภีร์ อัล-กุรอานในคุฏบะฮฺหนึ่งของการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺนั้น ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าอายะฮฺนั้นต้องเป็นที่เข้าใจและมีความหมายชัดเจน ดังนั้นการอ่านอายะฮฺจากบรรดาพยัญชนะโดด (อัล-หุรุฟ อัล-มุกอฏเฏาะอะฮฺ) ในตอนต้นของบรรดาสูเราะฮฺ (เช่น อะลีฟ ลาม มีม) ถือว่าไม่เพียงพอ (อัล-ฟิกฮุล มันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 207) สำหรับองค์ประกอบหลักในข้อนี้ ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมี 4 ประเด็น (เอาวฺญุฮฺ) คือ

 

  1. ประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะหิหฺ) ซึ่งมีตัวบทระบุไว้ในตำราอัล-อุมม์ ถือว่าจำเป็นในคุฏบะฮฺหนึ่งของการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺนั้น ตามที่ผู้แสดงธรรมมีความประสงค์ แต่ส่งเสริมให้อ่านอายะฮฺอัล-กุรอานนั้นในการแสดงธรรมคุฏบะฮฺ แรก ซึ่งการส่งเสริมนี้อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ระบุเป็นตัวบท (นัศฺ) เอาไว้
  2. เป็นประเด็นที่ถูกระบุตัวบท (มันศูศ) ในอัล-บุวัยฏียฺและมุคตะศ็อรฺของอัล- มุซะนียฺว่า จำเป็นในคุฏบะฮฺแรก และใช้ไม่ได้ในการอ่านอายะฮฺ อัล-กุรอานนั้นในคุฏบะฮฺที่สอง
  3. จำเป็นที่จะต้องอ่านอายะฮฺอัล-กุรอานนั้นในการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺ ประเด็นนี้เป็นที่รู้กัน (มัชฮูร) ซึ่ง ชัยคฺ อบูหามิด (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) กล่าวว่า ผิดพลาด
  4. ไม่จำเป็นในการแสดงธรรมคุฏบะฮฺหนึ่งคุฏบะฮฺใดจาก 2 คุฏบะฮฺนั้น ทว่าเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ประเด็นนี้อิมาม อัล-หะเราะมัยนฺ, อิบนุ อัศ-ศ็อบบาฆ, อัช-ชาชียฺ และเจ้าของตำราอัล-บะยาน ถ่ายทอดเป็นคำกล่าวหนึ่ง แต่มัซฮับในหมู่สานุศิษย์ของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) คือการอ่านอายะฮฺอัล-กุรอานนั้นจำเป็นในคุฏบะฮฺหนึ่งของการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺโดยไม่เจาะจงว่าเป็นคุฏบะฮฺใด (กิตาบ อัล-มัจญูมูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 389)

 

อนึ่ง นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเห็นพ้องตรงกันว่า ที่น้อยที่สุดของการอ่านนั้นคือ หนึ่งอายะฮฺไม่ว่าอายะฮฺนั้นจะเป็นคำสัญญาดีหรือคำสัญญาร้ายหรือข้อชี้ขาดหนึ่งหรือเรื่องราว (กิศเศาะฮฺ) หนึ่ง หรืออื่นจากนั้นก็ตาม แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นหนึ่งอายะฮฺที่สมบูรณ์และเป็นที่เข้าใจได้ หากผู้แสดงธรรมอ่านประโยคที่ว่า (ثُمَّنَظَرَ) ก็ถือว่าไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะถูกนับเป็นหนึ่งอายะฮฺก็ตามโดยไม่มีข้อขัดแย้งในกรณีนี้ (อ้างแล้ว 4/389)

 

และส่งเสริม (มุสตะหับ) ในการที่ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) จะอ่านสูเราะก็อฟ ในการแสดงธรรมของคุฏบะฮฺแรกโดยอ่านสูเราะฮฺนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเนื่องจากมีอัล-หะดีษที่เศาะหิหฺในเศาะหิหฺมุสลิมและอื่นๆ ระบุเอาไว้ (อ้างแล้ว 4/389)

 

ในกรณีที่ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) อ่านอายะฮฺที่มีสุนนะฮฺให้ทำการสุหญูด (อัส-สัจญ์ดะฮฺ-อัตติลาวะฮฺ) ก็ให้ผู้แสดงธรรมลงจากมิมบัรฺและทำการสุหญูดหากว่าผู้แสดงธรรมไม่สามารถสุหญูดบนมิมบัรได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ต้องลงแต่ให้สุหญูดบนมิมบัรนั้น แต่ถ้าหากการสุหญูดบนมิมบัรฺเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ โดยมิมบัรนั้นสูงและผู้แสดงธรรมก็เคลื่อนไหวเชื่องช้าโดยถ้าหากผู้แสดงธรรมลงมาก็จะเป็นการคั่น (ขาดตอน) ที่นาน (ในความต่อเนื่อง -มุวาลาตฺ- ของการแสดงธรรม) ก็ให้ผู้แสดงธรรมละทิ้งการสุหญูด และไม่ต้องลงมาจากมิมบัร

 

เพราะมีตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ระบุว่า : “สิ่งที่ฉันถือว่าเป็นเรื่องที่ฉันชอบ (ในกรณีนี้) ก็คือการที่ผู้แสดงธรรมจะต้องไม่ละทิ้งการแสดงธรรมแล้วไปพะวงกับการสุหญูด เพราะการสุหญูด (อัล-สัจญดะฮฺ) เป็นสุนนะฮฺ ดังนั้นผู้แสดงธรรมจะต้องไม่พะวงกับสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺจนต้องออกจากการแสดงธรรมซึ่งเป็นฟัรฏู” แต่ถ้าหากผู้แสดงธรรมลงจากมิมบัรฺแล้วทำการสุหญูดแล้วเขาก็กลับขึ้นไปยังมิมบัร (ถ้าหากไม่มีการคั่นที่นาน) ก็ให้ผู้แสดงธรรมทำการแสดงธรรมต่อไปโดยไม่มีข้อขัดแย้ง

 

แต่ถ้าหากมีการคั่น (ขาดตอน) ที่นานเกิดขึ้น กรณีนี้มี 2 คำกล่าวในมัซฮับซึ่งระบุมาแล้วก่อนหน้านี้ในเรื่องเงื่อนไขของการแสดงธรรม กล่าวคือ คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนฺ) ใน อัล-ญะดีด คือ ความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) ระหว่างบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) เพราะการพลาดความต่อเนื่องจะทำให้เป้าหมายของการตักเตือนชี้แนะ (อัล-วะอฺซ์) บกพร่อง ดังนั้นตามคำกล่าวนี้ก็จำเป็นที่ผู้แสดงธรรมต้องเริ่มทำการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่ตั้งแต่ต้น ส่วนคำกล่าวที่สองนั้นเป็น (อัล-เกาะดีม) คือ ความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ซึ่งหากถือตามคำกล่าวที่สองนี้ก็ส่งเสริมให้ผู้แสดงธรรมเริ่มทำการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่ตั้งแต่ต้น แต่ถ้าหากแสดงธรรมต่อไปเลย (หลังจากกลับขึ้นสู่มิมบัร) ก็ถือว่าอนุญาต (อ้างแล้ว 4/390)

 

อนึ่ง หากผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) อ่านอายะฮฺหนึ่งที่ในอายะฮฺนั้นมีการตักเตือนและชี้นำ (อัล-วะอฺซ์) และผู้แสดงธรรมมีเจตนามุ่งหมาย (ก็อศฺด์) ให้อายะฮฺนั้นเกิดขึ้นแทนจากการกำชับสั่งเสีย (อัล-วะศียะฮฺ) ให้มีความยำเกรง (ตักวา) และแทนจากการอ่านอายะฮฺอัล-กุรอานซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักทั้ง 2 ประการ อายะฮฺที่ถูกอ่านนั้นจะไม่ถูกคิดแทนจาก 2 ด้านนั้น (คือองค์ประกอบหลักทั้ง 2 ประการ) แต่จะถูกคิดว่าเป็นการอ่านซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักหนึ่งเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ผู้แสดงธรรมนำเอาบรรดาอายะฮฺอัล-กุรอานที่ประมวลองค์ประกอบหลัก (อัรฺกาน) ทั้งหมดของการแสดงธรรมเข้าไว้ด้วยกันนำมาอ่านในการแสดงคุฏบะฮฺ เพราะสิ่งดังกล่าวไม่ถูกเรียกว่าเป็นการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) แต่ถ้าหากผู้แสดงธรรมนำเอาบางส่วนของบรรดาองค์ประกอบหลัก (เช่น การกล่าวสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺ) ในเนื้อหาของอายะฮฺหนึ่งมากล่าวก็เป็นที่อนุญาต (อ้างแล้ว 4/390)

 

5.การขอพร (ดุอาอฺ) แก่บรรดาผู้ศรัทธาในการแสดงธรรมคุฏบะฮฺที่สอง ด้วยถ้อยคำที่เรียกว่าเป็นการขอพร (ดุอาอฺ) ตามจารีต (อัล-อุรฺฟ์) (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 207)

 

องค์ประกอบหลักข้อนี้ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมี 2 คำกล่าวคือ

(หนึ่ง) ถือเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) และไม่จำเป็น เพราะหลักเดิม (อัล-อัศลุ) คือไม่มีความจำเป็นในการขอดุอาอฺ และเป้าหมายของการแสดงธรรมคือการตักเตือนชี้แนะ คำกล่าวนี้เป็นตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ในตำรา อัล-อิมลาอฺ ซึ่งอิมาม อัร-รอฟิอียฺและท่านอื่นๆ ถ่ายทอดจากตำราเล่มนี้

 

(สอง) ถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) และเป็นองค์ประกอบหลัก (รุกฺน์) ที่การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) จะใช้ไม่ได้นอกเสียจากต้องมีองค์ประกอบข้อนี้ คำกล่าวที่สองนี้เป็นตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ใน “มุคตะศ็อร” ของอิมาม อัล-มุซะนียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) และในตำราของอิมามอัล-บุวัยฏียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ตลอดจนตำราอัล-อุมม์ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ มีความเห็นต่างกันว่า คำกล่าวใดเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนฺ) ปวงปราชญ์ชาวอีรักให้น้ำหนักคำกล่าวแรก (คือเป็นที่ส่งเสริม) ส่วนปวงปราชญ์ชาวคุรอสานให้น้ำหนักคำกล่าวที่สอง (คือเป็นสิ่งจำเป็น) ซึ่งอิมาม อัน-นะวาวียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ระบุว่าเป็นทัศนะที่ถูกต้องและได้รับการคัดเลือก (มุคตารฺ) (อ้างแล้ว 4/391)

 

อนึ่ง ในกรณีที่เรากล่าวว่า การขอพร (ดุอาอฺ) เป็นสิ่งจำเป็น ตำแหน่งของการขอพร (ดุอาอฺ) นั้นก็คืออยู่ในการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ที่สอง ดังนั้นหากผู้แสดงธรรมกล่าวขอพร (ดุอาอฺ) ในการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ที่หนึ่งก็ถือว่าใช้ไม่ได้ และอิมามอัล-หะเราะมัยนฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) กล่าวว่า  : “ฉันมีความเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องปรากฏว่าการขอพร (ดุอาอฺ) นั้นมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของอาคิเราะฮฺและไม่เป็นอะไรสำหรับการที่ผู้แสดงธรรมจะจำกัดการขอพรนั้นเฉพาะกับบรรดาผู้ร่วมฟังการแสดงธรรม ด้วยการที่เขากล่าวว่า “เราะหิมะกุมุลลอฮฺ” (رحمكم الله) “ขออัลลอฮฺทรงประทานพระเมตตาแก่พวกท่าน”

 

ส่วนการขอดุอาอฺให้แก่ผู้ปกครอง (สุลฏอน) นั้นนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เห็นพ้องว่าไม่จำเป็นและไม่ถูกส่งเสริม” เพราะเข้าข่ายเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) หรือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) หรือค้านกับสิ่งที่ดีที่สุด (คิลาฟุลเอาวฺลา) ทั้งนี้ในกรณีเมื่อผู้แสดงธรรมกล่าวขอพร (ดุอาอฺ) ให้แก่ผู้ปกครอง (สุลฏอน) นั้นโดยเจาะจง

 

ส่วนการขอพร (ดุอาอฺ) ให้แก่บรรดาผู้นำ (อิมาม) ของชาวมุสลิมและบรรดาผู้รับผิดชอบกิจการของชาวมุสลิม (วะลียุลอัมริ) ให้มีธรรมาภิบาล การสนับสนุนสัจธรรมความถูกต้องและการดำรงความยุติธรรมเป็นต้น  ตลอดจนการขอพรให้แก่บรรดากองทัพของชาวมุสลิม  (ในการญิฮาดเพื่อปกป้องศาสนา) การขอพร (ดุอาอฺ) ดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอิมามอัน-นะวาวียฺ (เราะฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ระบุว่าที่ถูกคัดเลือก (อัล-มุคต๊ารฺ) คือไม่เป็นอะไรในการขอพร (ดุอาอฺ) ให้แก่ผู้ปกครอง (สุลฏอน) โดยเจาะจง เมื่อไม่มีการใช้คำพูดที่เลอะเทอะในการสาธยายคุณลักษณะของผู้ปกครองนั้น วัลลอฮุอะอฺลัม (อ้างแล้ว 4/391)