การวางรากฐานรัฐอิสลาม

الحمد لله رب العالمين والصلاة والسلام على سيدنا محمد خاتم الأنبياء والمرسلين المبعوث رحمة للعالمين وعلى آله الطاهرين وصحابته المكرمين والتابعين لهم بايمان وإحسان إلى يوم الدين…أمابعد ؛

 

อุบัติการณ์แห่งศาสนาอิสลามในยุคสุดท้ายเริ่มต้นขึ้นด้วยการรับวะหียฺ (วิวรณ์) ของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จากพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ ผ่านท่านญิบรีล (อ.ล.) ณ ถ้ำหิรออฺ เหนือยอดเขาอัน-นู๊ร และการประกาศศาสนาอิสลามแก่พลเมืองมักกะฮฺ ในปีค.ศ.610 ขณะท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มีอายุได้ 40 ปี

 

การประกาศศาสนา ณ นครมักกะฮฺเป็นไปอย่างลับๆในช่วงแรกราว 3 ปี โดยเป็นไปอย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการปะทะกับพวกกุรอยช์ซึ่งทรงอิทธิพลในนครมักกะฮฺ กลุ่มสาวกรุ่นแรกที่ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จะเป็นญาติสนิทมิตรสหายและบุคคลในครอบครัวของท่าน

 

จนกระทั่งมีผู้เข้ารับอิสลามทั้งบุรุษและสตรีเกินกว่า 30 คน ก็เริ่มมีการรวมตัวภายในบ้านของอัล-อัรฺก็อม อิบนุ อบีอัล-อัรก็อมเพื่อเรียนรู้หลักคำสอนของอิสลามผ่านโองการอัล-กุรอานที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้นำมาประกาศและอ่านให้เหล่าสาวกภายในบ้านหลังนั้นได้รับฟังและทำความเข้าใจ ผลพวงจากการประกาศศาสนาอย่างลับๆในช่วง 3 ปีแรกทำให้มีกลุ่มสาวกเพิ่มขึ้นเกือบ 40 คน ทั้งบุรุษและสตรี ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ยากจน ทาส และบุคคลที่มิได้ถูกจับตามองจากพวกกุรอยช์ (1)

 

การที่เหล่าสาวกรุ่นแรกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่างของสังคมในนครมักกะฮฺ เป็นคนยากจนหรือเป็นทาส ไร้อำนาจและอิทธิพล แต่ยอมรับศรัทธาต่อศาสนาอิสลามก่อนชนชั้นสูงที่ทรงอิทธิพล ถือเป็นวิถีปกติของเหล่าผู้ศรัทธานับตั้งแต่อดีตที่ย้อนกลับไปถึงสมัยท่านนบีนูหฺ (อ.ล.) ความเร้นลับในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ศาสนาอิสลามซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ ได้ส่งบรรดาศาสนทูตทั้งหลายมาประกาศศาสนานับแต่อดีต เป็นการนำเอาผู้คนออกจากอำนาจการยึดครองของมนุษย์สู่การยอมรับอำนาจและการปกครองของพระองค์เพียงพระองค์เดียว

 

การยอมรับอิสลามจึงเป็นการปฏิเสธการตั้งตนขึ้นเทียมพระผู้เป็นเจ้าของเหล่าผู้ปกครองที่สถาปนาสถานะของตนขึ้นเป็นพระเจ้า และเป็นการปฏิเสธต่ออำนาจอันเลยเถิดของเหล่าชนชั้นผู้ปกครองที่กดขี่ผู้คน ซึ่งแน่นอนกลุ่มชนที่เหมาะสมในการต่อต้านสภาพการณ์ดังกล่าวก็คือ บรรดาผู้อ่อนแอและบรรดาผู้ที่ถูกกดขี่ ปฏิกิริยาที่ตอบโต้การเผยแผ่หลักคำสอนของอิสลามจึงเป็นความหยิ่งยะโสโอหังและความดื้อดึงของบรรดาชนชั้นปกครองที่ อยุติธรรมเหล่านั้น ซึ่งหมายจะรักษาอำนาจและบารมีของพวกตนเหนือผู้คนที่อ่อนแอกว่า (2)

 

เมื่อมีผู้คนที่ยอมรับในศาสนาอิสลามมากขึ้น การเผยแผ่อย่างลับๆก็แปรเปลี่ยนเป็นการเผยแผ่อย่างเปิดเผยตามบัญชาที่พระองค์อัลลอฮฺ ﷻ ได้ประทานลงมาแก่ท่านนบี ﷺ การเรียกร้องบรรดาผู้คนในตระกูลกุรอยช์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกับท่านนบี ﷺ ซึ่งเริ่มต้น ณ ภูเขาเศาะฟา จึงเป็นปฐมบทของการประกาศศาสนาโดยเปิดเผย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปะทะระหว่างสัจธรรมและความเท็จ

 

ความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกับลัทธิความเชื่อแบบพหุเทวนิยม ความเชื่อที่ตั้งอยู่บนปัญญาและเหตุผลกับอวิชชาและความงมงาย การปลดแอกคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์กับการตกเป็นทาสของวัตถุและความจมปลักในประเพณีนิยมที่สืบทอดอย่างมืดบอดมาจากบรรพชนที่บิดเบือนหลักคำสอนของท่าน นบีอิบรอฮีม (อ.ล.) และนบีอิสมาอีล (อ.ล.) จนวิปริตผิดเพี้ยนไป

 

อรุณรุ่งแห่งอิสลามที่แตกออกจากความมืดมนของช่วงเวลาสุดท้ายแห่งรัตติกาลได้ถูกบดบังด้วยเมฆทะมึนก่อนรุ่งสาง ผู้ศรัทธาซึ่งเป็นเหล่าสาวกรุ่นแรก ณ นครมักกะฮฺต้องเผชิญกับการประทุษร้ายและทารุณกรรมต่างๆนาๆจากผู้นำชาวกุรอยช์ที่ต้องการขัดขวางมิให้แสงสว่างแห่งอรุณรุ่งนั้นเฉิดฉายและขับไล่ความมืดที่พวกกุรอยช์พยายามใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำความเชื่อและวิถีของผู้คน

 

การปะทะกันระหว่างศรัทธากับการปฏิเสธได้ดำเนินไปในนครมักกะฮฺและเขตปริมณฑลตลอดช่วงเวลา 13 ปี บรรดากลุ่มสาวกรุ่นแรกในช่วงเวลานั้นเป็นผู้มีศรัทธาโดยแท้ ไม่มีผู้กลับกลอกหรือผู้แสวงหาประโยชน์ทางโลกแอบแฝงเข้ามา พลังศรัทธาอันเข้มแข็งและความอดทนของพวกเขาได้หล่อหลอมให้กลายเป็นกลุ่มชนที่มีคุณสมบัติอันเข้มข้นในการสืบสานและเผยแผ่ศาสนาอิสลามสู่ดินแดนนนอกคาบสมุทรอาหรับในเวลาต่อมา (3)

 

การเผชิญหน้ากับกลุ่มชนผู้มีอำนาจและทรงอิทธิพลในคาบสมุทรอาหรับโดยไม่มีการลุกฮือหรือการใช้กำลังในการตอบโต้ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษซึ่งคล้ายกับหลักอหิงสาย่อมเป็นเครื่องยืนยันว่าการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มิได้มีจุดมุ่งหมายในการแย่งชิงอำนาจจากพวกกุรอยช์หรือมีความปรารถนาในการตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ของชาวอาหรับโดยถือเอานครมักกะฮฺเป็นศูนย์กลางอำนาจ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ก็คงรับข้อเสนอของพวกกุรอยช์ที่จะตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์ของชาวอาหรับไปแล้วเพื่อแลกกับการล้มเลิกภารกิจในการประกาศศาสนา

 

และเหตุที่ว่าทำไมพวกผู้นำของกุรอยช์จึงแข็งขืนและปฏิเสธศรัทธา นั่นก็เป็นเพราะว่าหากพวกกุรอยช์ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ซึ่งเป็นบุคคลในตระกูลกุรอยช์เช่นกัน ก็ย่อมไม่พ้นข้อครหาที่ว่า พวกกุรอยช์ได้อาศัยนบีมุฮัมมัด ﷺ และศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายอำนาจของพวกตนเพื่อครอบครองคาบสมุทรอาหรับ การเข้ารับอิสลามของพวกกุรอยช์จึงมีเลศนัยและอุบายแอบแฝง มิได้เกิดจากศรัทธาที่แท้จริงต่อศาสนาอิสลาม (4)

 

และหากการประกาศศาสนามิได้เกิดขึ้นในนครมักกะฮฺ แต่เริ่มขึ้นในชนเผ่าที่อ่อนแอนอกมักกะฮฺ พวกกุรอยช์ก็ย่อมมีเหตุผลเพียงพอในการอ้างว่า ชนเผ่าที่อ่อนแอนั้นต้องการผู้นำอย่างนบีมุฮัมมัด ﷺ ในการนำพาชนเผ่านั้นๆให้ลุกฮือและแย่งชิงอำนาจจากพวกกุรอยช์ และชนเผ่านั้นๆมิได้มีศรัทธาจริงๆต่อนบีมุฮัมมัด ﷺ แต่ต้องการแย่งชิงอำนาจและสร้างอิทธิพลขึ้นมาเทียมพวกกุรอยช์โดยใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว (5)

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนของผู้ศรัทธาในนครมักกะฮฺจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักตลอดช่วงเวลา 13 ปี เนื่องจากพวกกุรอยช์และชนเผ่าอาหรับที่เป็นพันธมิตรในแคว้นอัล-หิญาซเป็นปราการขวางกั้นที่สำคัญต่อการเติบโตของผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม การประทุษร้ายและการทารุณกรรมได้หนักข้อมากขึ้น

 

จนกระทั่งสาวกบางส่วนจำต้องอพยพสู่ดินแดนอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปีย) ถึง 2 ครั้งตามคำชี้แนะของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ แต่ก็ใช่ว่าทุกสิ่งจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะต่อมาได้มีกลุ่มชาวคริสต์แห่งเอธิโอเปียจำนวน 30 คนเศษได้มายังนครมักกะฮฺพร้อมกับท่านญะอฺฟัร อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) และประกาศตนเข้ารับอิสลามต่อหน้าท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ

 

ในขณะที่ผู้ศรัทธาในนครมักกะฮฺกำลังถูกทารุณกรรมอย่างหนักหน่วง (6) และการส่งตัวแทนของพลเมืองมะดีนะฮฺจำนวน 12 คนมาพบท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ในช่วงเทศกาลหัจญ์และกระทำสัตยาบัน ณ อัล-อะเกาะบะฮฺครั้งแรกในช่วงปีที่ 11 นับจากการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และมีการส่งมุศอับ อิบนุ อุมัยรฺ (ร.ฎ.) กลับไปพร้อมกับพลเมืองมะดีนะฮฺเพื่ออ่านอัล-กรุอานและสอนศาสนาแก่พลเมืองมะดีนะฮฺ (7)

 

และในปีถัดมาท่านมุศอับ อิบนุ อุมัยรฺ (ร.ฎ.) ได้กลับมายังนครมักกะฮฺพร้อมกับตัวแทนของพลเมืองมะดีนะฮฺจำนวน 70 คนเศษ มีสตรีร่วมอยู่ด้วย 2 ท่าน (8) และมีการกระทำสัตยาบันครั้งที่ 2 ณ อัล-อะเกาะบะฮฺ ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนการอพยพของเหล่าสาวกรุ่นแรกซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ศรัทธาในนครมักกะฮฺถูกทารุณกรรม ศาสนาอิสลามได้แพร่หลายในนครมะดีนะฮฺแล้วด้วยการเผยแผ่ของกลุ่มคณะบุคคลที่ให้สัตยาบัน ณ อัล-อะเกาะบะฮฺกับท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จนกระทั่งไม่มีบ้านหลังใดในนครมะดีนะฮฺนอกจากศาสนาอิสลามได้เข้าสู่บ้านหลังนั้นแล้ว (9)

 

และสาระสำคัญของการให้สัตยาบันครั้งที่สองคือการต่อสู้เพื่อปกป้องการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ และเป็นหลักพื้นฐานสำคัญสำหรับการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺของท่านนบี ﷺ ในเวลาต่อมา อีกทั้งยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานสำหรับการสถาปนารัฐอิสลามแห่งแรกบนหน้าพื้นพิภพนี้อีกด้วย

 

การอพยพสู่นครมะดีนะฮฺและการสถาปนารัฐอิสลาม

ปีค.ศ.622 ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ พร้อมด้วยท่านอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก (ร.ฎ.) ได้อพยพจากนครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺโดยก่อนหน้านั้นบรรดาสาวกรุ่นแรกได้รับอนุญาตจากท่านนบี ﷺ ให้อพยพสู่นครมะดีนะฮฺอย่างลับๆล่วงหน้าไปแล้ว จนกระทั่งในนครมักกะฮฺเหลืออยู่เฉพาะท่านนบี ﷺ ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ท่านอะลี (ร.ฎ.) และเหล่าผู้ศรัทธาที่ถูกคุมขังหรือผู้ที่อ่อนแอซึ่งยังไม่สามารถหลบหนีออกจากนครมักกะฮฺ (10)

มัสยิดกุบาอฺ ในปัจจุบัน

ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ออกจากนครมักกะฮฺในวันที่ 2 เดือนเราะบีอุ้ลเอาวัล/20 กันยายน ค.ศ.622 (11) บ้างก็ว่าในตอนปลายเดือนเศาะฟัรฺ (12) และเดินทางถึงตำบลกุบาอฺในวันที่ 12 เราะบีอุ้ลเอาวัล (13)  ท่านนบี ﷺ ลงพักที่บ้านของกุลษูม อิบนุ ฮัดม์ แล้วท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็อพยพตามหลังท่านนบี ﷺ และทันพบท่านนบี ﷺ ที่ตำบลกุบาอฺ (14)

 

และผู้คนได้เข้าพบท่านนบี ﷺ ที่บ้านของสะอฺด์ อิบนุ ค็อยษุมะฮฺ ท่านนบี ﷺ พำนักอยู่ที่ตำบลกุบาอฺนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 12 เราะบีอุ้ลเอาวัล จนถึงเช้าวันศุกร์ที่ 16 เราะบีอุ้ลเอาวัล ในระหว่างนั้นท่านได้ร่วมกับชาวตำบลกุบาอฺในการสร้างมัสยิดแห่งแรกซึ่งเรียกกันว่า มัสยิดกุบาอฺ

 

เช้าวันศุกร์ที่ 16 เราะบีอุ้ลเอาวัล ท่านนบี ﷺ พร้อมด้วยผู้ศรัทธากลุ่มหนึ่งได้ออกจากตำบลกุบาอฺมุ่งหน้าสู่ใจกลางนครมะดีนะฮฺ (ยัษริบเดิม) ในระหว่างทางได้เวลาละหมาดวันศุกร์ ท่านนบี ﷺ จึงลงพักในเขตชุมชนของตระกูลสาลิม อิบนุ เอาวฺฟ์ ณ วาดียฺ รอนูนาอฺ และประกอบพิธีละหมาดวันศุกร์เป็นครั้งแรกพร้อมกับผู้คนที่นั่น ต่อมามีการสร้างมัสยิดขึ้น ณ บริเวณนั้น รู้จักกันว่า มัสยิดอัล-ญุมุอะฮฺ ตราบจนทุกวันนี้ (15)

มัสยิดอัล-ญุมุอะฮฺ ในปัจจุบัน

ในระหว่างทาง พลเมืองมะดีนะฮฺได้เสนอให้ท่านนบี ﷺ ลงพักอยู่กับตนโดยแย่งกันจับเชือกสะพายอูฐของท่าน นบี ﷺ แต่ท่านได้สั่งให้พวกเขาปล่อยอูฐนั้นเดินไป เพราะอูฐนั่นถูกบัญชาใช้ (มะอฺมูเราะฮฺ) จนกระทั่งอูฐของท่านนบี ﷺ เดินมาถึงลานตากอินทผลัมใกล้กับวาดียฺ บัฏหาน ซึ่งเป็นที่ดินของตระกูลอัน-นัจญารฺ เผ่าอัล-ค็อซรอจญ์ อูฐก็คุกเข่าลงนอนตรงลานนั้น ต่อมาอูฐก็ลุกขึ้นและเดินไปไม่ไกลนักแล้วก็กลับมาคุกเข่าลงลงนอน ณ ที่เดิม

 

ท่านนบี ﷺ ก็ลงจากหลังอูฐ ท่านอบูอัยยูบ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) ก็นำเอาเครื่องนั่งลงจากหลังอูฐแล้วนำไปไว้ที่บ้านของท่าน ผู้คนก็แย่งกันเชื้อเชิญให้ท่านนบี ﷺ ลงพักอยู่กับตน ท่านนบี ﷺ จึงกล่าวว่า : “บุคคลอยู่พร้อมกับเครื่องนั่งบนหลังอูฐของเขา” ท่านจึงไปพักอยู่ที่บ้านของท่านอบูอัยยูบ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) ส่วนท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ได้ไปพักอยู่ที่บ้านของคอรีญะฮฺ อิบนุ ซัยด์ อัล-ค็อซเราะญียฺ (ร.ฎ.) ณ ตำบลอัส-สุนห์ห่างจากมัสยิดนะบะวียฺประมาณ 1 ไมล์อาหรับ (16)

 

การสร้างมัสยิดนะบะวียฺ ศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาและการปกครอง

การอพยพสู่นครมะดีนะฮฺของท่านนบี ﷺ เป็นจุดเริ่มต้นในการอุบัติขึ้นของ ดินแดนแห่งอิสลาม (ดารุลอิสลาม) บนหน้าแผ่นดินโลก ณ เวลานั้น และนั่นเป็นการประกาศว่า รัฐอิสลาม ภายใต้การกำกับดูแลของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้ปรากฏขึ้นแล้วโดยท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้วางรากฐานที่สำคัญสำหรับรัฐอิสลาม 3 ประการด้วยกัน คือ

 

  1. การสร้างมัสยิดนะบะวียฺและบ้านของท่านนบี ﷺ
  2. การผูกสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง (อัล-มุอาคอต) ระหว่างประชาคมมุสลิมโดยทั่วไปและระหว่างบรรดาผู้อพยพ (มุฮาญิรูน) กับบรรดาผู้ให้การช่วยเหลือ (อัล-อันศอรฺ) ซึ่งเป็นพลเมืองเดิมในนครมะดีนะฮฺที่ประกอบด้วยกลุ่มชน 2 เผ่าคือ เอาวฺส์กับค็อซรอจญ์เป็นกรณีเฉพาะ
  3. การบันทึกข้อตกลงอันเป็นธรรมนูญการปกครองที่กำหนดระเบียบว่าด้วยสิทธิและหน้าที่พลเมือง ทั้งในส่วนของประชาคมมุสลิมด้วยกัน และความสัมพันธ์กับชนต่างศาสนิกโดยทั่วไปและชาวยิวเป็นกรณีเฉพาะ (17)
มัสยิดนะบะวียฺ ในปัจจุบัน

การสร้างมัสยิดนะบะวียฺ ณ บริเวณใจกลางของนครมะดีนะฮฺถือเป็นสิ่งแรกและเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในการสร้างสังคมอิสลาม กล่าวคือ ประชาคมมุสลิมที่จะมีคุณลักษณะที่มั่นคงในการยึดมั่นต่อหลักคำสอนของอิสลามในทุกมิติได้ก็ต่อเมื่อมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการบ่มเพาะจิตวิญญาณและเป็นแหล่งในการเผยแผ่ความรู้และปัญญาแก่ประชาคม

 

เมื่ออิสลามมีหลักคำสอนว่าด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ร่วมศรัทธาด้วยกัน การมีความกลมเกลียว รักใคร่บนสามัคคีธรรม ภราดรภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม อิสลามจึงได้กำหนดให้มัสยิดเป็นสถานที่ของการประกอบศาสนกิจประจำวันและประจำสัปดาห์ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นการปฏิบัติจริงที่จะเสริมสร้างให้เกิดสภาวะที่กล่าวมาอย่างเป็นรูปธรรม

 

การหล่อหลอมประชาคมมุสลิมให้กลายเป็นหนึ่งเดียวภายใต้หลักคำสอนของอิสลามพร้อมกับการมีองค์ความรู้ในหลักธรรมคำสอนอย่างถูกต้องและแตกฉานจะเกิดขึ้นมิได้หรือเกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่สมบูรณ์ยกเว้นต้องมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน เหตุนั้นสิ่งแรกที่ท่านนบี ﷺ ได้ดำเนินการเมื่ออพยพถึงนครมะดีนะฮฺก็คือการสร้างมัสยิดซึ่งจะขาดเสียมิได้เมื่อมีการเริ่มต้นสถาปนารัฐอิสลาม

 

อาจกล่าวได้ว่าประชาคมมุสลิมในทุกสังคมจะเป็นชุมชนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตามย่อมไม่อาจมีพัฒนาการใดๆในด้านความเจริญทางสังคมเมือง การเมือง การปกครอง หรืออื่นใดได้เลย หากประชาคมนั้นไม่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง เหตุนี้เราจึงพบว่าบรรดาอาณาจักรอิสลามในประวัติศาสตร์ต่างก็เริ่มต้นที่มัสยิดหรือมีมัสยิดเป็นจุดเริ่มต้นในการสถาปนาอาณาจักร

 

หรืออาจกล่าวได้ว่า บรรดาผู้ปกครองรัฐชาวมุสลิมในทุกภูมิภาคของโลกต่างก็มีมัสยิดเป็นเครื่องหมายของการสร้างฐานอำนาจในด้านการเมือง การปกครองแทบทั้งสิ้น อาทิ มัสยิดญามิอฺแห่งนครดามัสกัสในสมัยอาณาจักรอัล-อุมะวียะฮฺ มัสยิดญามิอฺแห่งนครแบกแดดในสมัยอาณาจักรอัล-อับบาสียะฮฺ มัสยิดญามิอฺแห่งนครกุรฺฏุบะฮฺ (คอร์โดบา) ในสมัยรัฐอิสระอัล-อุมะวียะฮฺ ในแคว้นเอ็นดะลูเซีย (สเปน) มัสยิดญามิอฺอัล-อัซฮัร กรุงไคโร ในสมัยรัฐอิสระอัล-ฟาฏิมียะฮฺ เป็นต้น

 

มัสยิดญามิอฺเหล่านี้ต่างก็อาศัยมัสยิดนะบะวียฺ ณ นครมะดีนะฮฺเป็นต้นแบบทั้งสิ้น นี่ยังไม่รวมบรรดามัสยิดที่ชาวมุสลิมในสมัยของเหล่าสาวกและชนรุ่นถัดมาได้สร้างขึ้นตามหัวเมืองและดินแดนที่ถูกพิชิตซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิสลาม เป็นศูนย์กลางในด้านการปกครองหัวเมืองหรือท้องถิ่นซึ่งมีจำนวนมากมายตามความกว้างใหญ่ไพศาลของอาณาจักรอิสลามใน 3 ทวีป

 

มัสยิดคือสถานศึกษาแห่งแรกในอิสลาม เป็นแหล่งของการศึกษาคัมภีร์อัล-กุรอาน สุนนะฮฺของท่านนบี ﷺ และหลักคำสอนที่ชี้นำบุคคลและสังคม ท่านนบี ﷺ ได้ใช้มัสยิดของท่านในการเผยแผ่ความรู้ การแสดงบทบาทในความเป็นผู้นำ การวินิจฉัยปัญหา การชำระคดีความ การทำข้อตกลงสมรส การสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ การต้อนรับคณะตัวแทนและทูตานุทูตจากชนเผ่าต่างๆ นอกเหนือจากการประกอบศาสนกิจซึ่งเป็นเรื่องหลักของมัสยิด (18)

 

ส่วนการผูกสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องระหว่างประชาคมมุสลิมนั้น ท่านนบี ﷺ ได้กำหนดให้กลุ่มชนผู้อพยพ (มุฮาญิรูน) และพลเมืองมะดีนะฮฺที่ให้การช่วยเหลือ (อันศ็อรฺ) ผูกสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานของสายสัมพันธ์แห่งศรัทธาและการเกื้อกูลระหว่างกันโดยให้สิทธิในการรับมรดกระหว่างกันได้หลังฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลง ซึ่งสิ่งนี้ยืนยันว่าความเป็นพี่น้องร่วมศรัทธามีผลยิ่งยวดมากกว่าการเป็นญาติสนิท (19)

 

และเป็นที่ทราบกันดีว่าในด้านรัฐศาสตร์ การปกครอง พลเมืองของรัฐคือโครงสร้างหลักของระบอบการปกครอง และความเป็นปึกแผ่นของพลเมืองเป็นปัจจัยหลักในด้านความมีเสถียรภาพของรัฐ เมื่อพลเมืองมีเอกภาพและสนับสนุนช่วยเหลือในระหว่างกันบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ยึดโยงพลเมืองในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน รัฐนั้นย่อมมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการบริหารและสร้างความเจริญมากกว่ารัฐที่พลเมืองแตกแยกและไร้ความสัมพันธ์ระหว่างกัน

 

ดังนั้นเพื่อความยั่งยืนและความมีเสถียรภาพของรัฐอิสลาม ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จึงได้ใช้ความสัมพันธ์ในศาสนาร่วมกันเป็นสื่อในการผูกสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองที่เป็นฐานกำลังของรัฐอิสลาม 2 ฝ่ายเข้าด้วยกันโดยแต่ละฝ่ายยังคงมีอัตลักษณ์เฉพาะอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ศรัทธาและความเป็นพี่น้องร่วมศรัทธาได้หลอมรวมทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นเรือนร่างเดียวกัน

 

กล่าวคือ ฝ่ายผู้อพยพ (มุฮาญิรูน) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำรงศาสนาอิสลามและผ่านการทดสอบศรัทธามาอย่างเข้มข้นตลอดจนเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการนำศาสนาอิสลามมาสู่พลเมืองมะดีนะฮฺ และฝ่ายผู้ให้การช่วยเหลือ (อันศ็อรฺ) ซึ่งยอมรับศรัทธาด้วยความยินดีและพร้อมสำหรับการเกื้อกูล แบ่งปัน และเสียสละในวิถีทางแห่งพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ

 

การสร้างความเป็นปึกแผ่นและความสมานฉันท์ระหว่าง 2 ชนเผ่าคือ เผ่าเอาวฺส์และค็อซรอจญ์ซึ่งมีการพิพาทถึงขั้นรบพุ่งระหว่างกันในสมัยก่อนอิสลามได้เกิดขึ้นเมื่อผู้คนทั้ง 2 เผ่าได้เข้ารับอิสลามก่อนที่ท่านนบี ﷺ จะอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ และถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างสนิทแนบแน่นเมื่อท่านนบี ﷺ ได้กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นประมุขของพลเมืองมะดีนะฮฺ

 

ความรักและความจงรักภักดีที่มีต่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ของพลเมืองมะดีนะฮฺได้แผ่ไปถึงเหล่าผู้อพยพจากนครมักกะฮฺซึ่งยอมสละทุกสิ่งที่นครมักกะฮฺเพื่อนำพาอิสลามมายังนครมะดีนะฮฺ พลเมืองมะดีนะฮฺย่อมยินดีในการตอบแทนคุณงามความดีของเหล่าผู้อพยพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อได้ผูกสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องกับเหล่าผู้อพยพตามที่ท่านนบี ﷺ ได้วางไว้ ก็ย่อมเป็นโอกาสในการช่วยเหลือพี่น้องผู้ร่วมศรัทธาอย่างเป็นรูปธรรม

 

รากฐานที่สามสำหรับการสถาปนารัฐอิสลามคือการบันทึกข้อตกลงอันเป็นธรรมนูญการปกครองที่กำหนดระเบียบว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของฝ่ายรัฐกับพลเมือง และพลเมืองกับฝ่ายรัฐ ตลอดจนระหว่างพลเมืองผู้ศรัทธาด้วยกัน และพลเมืองผู้ศรัทธากับพลเมืองที่มิได้ศรัทธา เช่น คนในชนเผ่าเอาวฺส์บางส่วน และชาวอาหรับเร่ร่อน (อัล-อะอฺร็อบ) โดยทั่วไป รวมถึงกลุ่มชาวยิวอันประกอบด้วย 3 ชนเผ่า คือ อัน-นะฎีรฺ, ก็อยนุกออฺ และกุรอยเซาะฮฺ เป็นกรณีเฉพาะ

 

จะเห็นได้ว่าอัจฉริยภาพของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้แสดงให้เห็นถึงความนำสมัยของท่านในการวางธรรมนูญการปกครองนับแต่ต้นการสถาปนารัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺ และเป็นการยอมรับถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีอยู่ก่อนแล้วในนครมะดีนะฮฺ การหลอมรวมฝ่ายมุฮาญิรูนและอันศอรฺเข้าเป็นหนึ่งเดียวในฐานะพี่น้องร่วมศรัทธานั้นมีพื้นฐานของศรัทธาในศาสนาเดียวกันเป็นที่ตั้ง

 

ส่วนการนำเอากลุ่มชนต่างศาสนิกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลามในฐานะพลเมืองที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองเดียวกัน นี่เป็นกรณีของความเป็นพลเมืองซึ่งเป็นหลักรัฐศาสตร์ในด้านการปกครองที่ครอบคลุมชนต่างศาสนิกเอาไว้ด้วย เพราะโดยข้อเท็จจริง รัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺที่ท่านนบี ﷺได้สถาปนาขึ้นมิได้มีเฉพาะผู้ศรัทธาหรือชาวมุสลิมเท่านั้น หากแต่ยังมีชนต่างศาสนิก เช่น ชาวอาหรับบางส่วนในตระกูลเอาวฺส์ที่ยังไม่เข้ารับอิสลาม และชาวอาหรับที่เป็นชนเผ่าเร่ร่อน (เบดูอิน) ร่วมเป็นพลเมืองอยู่ด้วย

 

ซึ่งในกรณีของพลเมืองต่างศาสนิกดังกล่าวรวมถึงชาวยิวทั้ง 3 เผ่าซึ่งเคยมีอิทธิพลมาก่อนย่อมมิอาจใช้ความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามและความเป็นพี่น้องร่วมศาสนาเป็นเครื่องมือในการผูกสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับอิสลามกับพวกเขาได้ หนทางเดียวที่สามารถกระทำได้เมื่อพวกเขาไม่ยอมรับในศาสนาอิสลามก็คือการให้สิทธิในความเป็นพลเมืองแก่พวกเขาภายใต้การยอมรับต่อข้อตกลงในธรรมนูญการปกครองร่วมกัน และเมื่อพวกเขาได้รับสิทธิตามหลักประกันของธรรมนูญการปกครอง พวกเขาก็ย่อมมีหน้าที่อันเกิดจากสิทธิที่ได้รับนั้นในฐานะความเป็นพลเมืองของรัฐอิสลามโดยปริยาย

 

ธรรมนูญการปกครอง (วะษีเกาะฮฺ) แห่งรัฐอิสลาม ณ นครมะดีนะฮฺ มีรายละเอียดมากพอควร แต่จะขอหยิบยกบางมาตรามากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

1) ชาวมุสลิมกุรอยช์และยัษริบตลอดจนผู้ติดตาม ผู้เข้าร่วมสมทบและญิฮาดพร้อมกับชาวมสุลิมกุรอยช์และยัษริบนั้นเป็นประชาคมหนึ่งเดียวโดยไม่รวมชนกลุ่มอื่น

 

2) บรรดามุสลิมเหล่านั้นทั้งหมดตามความแตกต่างของสายตระกูลจะร่วมกันจ่ายค่าสินไหมในระหว่างพวกเขา และไถ่เชลยศึกของพวกเขาโดยดีและยุติธรรมระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกัน

 

3) แท้จริงผู้ศรัทธาจะไม่ละทิ้งผู้มีหนี้สินล้นพ้นเอาไว้ท่ามกลางพวกเขาโดยบรรดาผู้ศรัทธาจำต้องมอบทรัพย์แก่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นนั้นในการไถ่ตัวหรือการจ่ายค่าสินไหม

 

4) แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาผู้มีความยำเกรงจะร่วมกันจัดการกับผู้ละเมิดจากพวกเขาหรือมุ่งแสวงหาความยิ่งใหญ่ของตนด้วยการอธรรมหรือประพฤติบาปหรือเป็นปรปักษ์หรือการสร้างความเสียหายในหมู่ผู้ศรัทธา และบรรดาผู้ศรัทธาจะร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงกันในการจัดการกับบุคคลนั้น ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุตรของผู้ศรัทธาคนใดก็ตาม

 

5) ผู้ศรัทธาจะไม่สังหารผู้ศรัทธาอีกคนเนื่องด้วยผู้ปฏิเสธเป็นเหตุ และผู้ศรัทธาจะไม่ช่วยเหลือผู้ปฏิเสธให้มีชัยเหนือผู้ศรัทธา

6) สันติภาพของบรรดาผู้ศรัทธาเป็นหนึ่งเดียว ผู้ศรัทธาจะไม่ปรองดองโดยสันติกับผู้ที่มิใช่ผู้ศรัทธาในการสู้รบในวิถีทางแห่งพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ นอกเสียจากบนความเสมอภาคและยุติธรรมระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกัน

 

7) ชาวยิวในตระกูลเอาวฺฟ์เป็นประชาคมหนึ่งพร้อมกับผู้ศรัทธา สำหรับชาวยิวคือศาสนาของพวกเขา และสำหรับมุสลิมคือศาสนาของพวกเขา ยกเว้นผู้ที่อธรรมและประพฤติบาปผู้นั้นจะไม่สร้างความวิบัตินอกจากแก่ตัวเองและครอบครัวของผู้นั้น

 

8) ชาวยิวมีภาระในค่าใช้จ่ายของพวกเขา และมุสลิมมีภาระค่าใช้จ่ายของพวกเขา และระหว่างพวกเขาคือการช่วยเหลือให้มีชัยต่อผู้ที่สู้รบกับประชาคมแห่งพันธสัญญานี้ เป็นต้น (20)

 

เนื้อหาสาระในธรรมนูญการปกครองของรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺได้บ่งชี้ว่ารัฐอิสลามได้ถูกสถาปนาขึ้นบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์และครอบคลุมนับแต่เบื้องต้นและยืนยันว่าอิสลามมิใช่เรื่องของศาสนาและการประกอบพิธีกรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่อิสลามมีบริบทที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และครอบคลุมเรื่องรัฐศาสตร์ การเมือง การจัดระเบียบทางสังคม

 

อิสลามเป็นระบอบและวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งในส่วนปัจเจกบุคคลและสังคม ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์จะมีหลักธรรมคำสอนและแนวทางการปฏิบัติที่อิสลามได้วางไว้ กล่าวคือ หากระบอบการปกครองเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์พยายามเสาะแสวงหา อิสลามก็มีบัญญัติและรูปแบบที่เหมาะสมเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่เด่นชัดเป็นทางเลือกสำหรับมนุษยชาติ

 

และระบอบการปกครองที่อิสลามได้นำเสนอนี้ได้รับการอธิบายถึงสาระสำคัญและหลักมูลฐานในคัมภีร์อัล-กรุอานและสุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ อีกทั้งยังได้ถูกนำมาปฏิบัติจริงโดยท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และเหล่าสาวกที่สืบทอดต่อมาหลังจากท่านได้สิ้นชีวิต ระบอบการปกครองหรือรัฐศาสตร์อิสลามจึงมิใช่เป็นเพียงทฤษฎีหรือความเป็นอุดมคติในเชิงปรัชญาที่สวยหรู ดูดี แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติหรือบังคับใช้ในโลกของความเป็นจริงได้หรือเป็นเพียงวาทะกรรมในทำนองโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

 

รัฐอิสลามต้นแบบซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้สถาปนาขึ้น ณ นครมะดีนะฮฺมีรากฐานและโครงสร้างหลักที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากรากฐานและโครงสร้างที่จักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์และจักรวรรดิเปอร์เซียตั้งอยู่บนสิ่งดังกล่าว ถึงแม้ว่าองค์ประกอบของความเป็นรัฐหรืออาณาจักรจะมีลักษณะที่คล้ายกันก็ตาม

 

เพราะอิสลามได้สลัดทิ้งความคิดที่ว่า อำนาจของผู้ปกครองรัฐเป็นสิทธิขาดโดยสมบูรณ์แม้ว่าการใช้อำนาจนั้นจะขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาและศีลธรรมอันดีก็ตาม และอิสลามก็ไม่ยอมรับว่า ผู้ถูกปกครองจำต้องยอมจำนนต่อคำสั่งของผู้ปกครองในทุกเรื่องแม้ว่าคำสั่งนั้นจะขัดต่อหลักมูลฐานของอิสลามก็ตาม

 

และอิสลามถือว่า อำนาจที่แท้จริงเป็นของพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ เพียงพระองค์เดียว และระบอบการปกครองของรัฐอิสลามในเรื่องทางโลกจะตั้งอยู่บนกฏเกณฑ์ทางศาสนบัญญัติที่มุ่งรักษาสิทธิประโยชน์ และป้องกันความเสียหายซึ่งเป็นไปตามสภาพของช่วงเวลาและสถานที่ ตลอดจนตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของความยุติธรรม การปรึกษาหารือ ความเสมอภาค การมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมและจริยธรรม โดยไม่มีการจำแนกหรือแบ่งชนชั้นในระหว่างพลเมืองด้วยเหตุของเชื้อชาติ ภาษา สีผิว หรือภูมิภาค (21)

 

และเราจะสังเกตได้ว่าองค์ประกอบหลักที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐชาติในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีอยู่ครบถ้วนในการสถาปนารัฐอิสลามในอดีต อันได้แก่ กลุ่มประชาคมที่เป็นพลเมือง การยอมรับและถือตามระบอบการปกครองที่มีแบบเฉพาะ การมอบอำนาจที่ถูกกำหนดอย่างเป็นกิจจะลักษณะ อำนาจในการปกครอง และความเป็นนิติบุคคล เป็นต้น (22) กล่าวคือ

 

ในรัฐอิสลามที่ถูกสถาปนาขึ้นในนครมะดีนะฮฺ มีบรรดามุฮาญิรูนและอันศ็อรฺ ตลอดจนชาวอาหรับชนเผ่าและชาวยิวเป็นพลเมืองของรัฐ มีหลักนิติธรรมอิสลาม (ชะรีอะฮฺ อิสลามียะฮฺ) เป็นระบอบการปกครองและกฏหมาย

 

มีนครมะดีนะฮฺและปริมณฑลเป็นเขตแดน มีท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นประมุขสูงสุดและเป็นองค์รัฐฐาธิปัตย์ มีธรรมนูญการปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร มีกองทัพที่ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของรัฐและระบอบการปกครอง ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และมีระบบการคลังรวมถึงสวัสดิการสังคม เป็นต้น

 

การสถาปนารัฐอิสลาม ณ นครมะดีนะฮฺโดยท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และการดำรงอยู่ของรัฐอิสลามตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งมีเสถียรภาพและความเติบใหญ่ในเวลาต่อมาอีกราว 30 ปีในช่วงการปกครองของบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่หักล้างความเชื่อที่ว่า อิสลามเป็นเรื่องของศาสนาและพิธีกรรมที่มีพื้นที่อยู่ในเขตจำกัดของศาสนสถานบนทฤษฎีที่แยกศาสนาออกจากการเมืองการปกครองและวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของผู้คน ซึ่งความเชื่อที่ว่านี้เป็นผลพวงของลัทธิโลกนิยมหรือฆราวาสนิยมที่แพร่หลายในยุโรปในช่วงการปฏิรูปศาสนาและลดทอนอำนาจของฝ่ายศาสนจักรซึ่งมีบริบทและปูมหลังต่างจากโลกอิสลาม

 

การแยกศาสนาออกจากรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ และศาสตร์บางแขนงของนักคิดชาวตะวันตกอาจจะมีปัจจัยเหตุที่เหมาะสมสำหรับสภาพสังคมของชาวตะวันตก แต่การนำเอาทฤษฎีและความเชื่อของชาวตะวันตกในเรื่องนี้มาใช้กับโลกอิสลามย่อมเป็นการบิดเบือนและทำให้ข้อเท็จจริงวิปริตผิดเพี้ยนไป

 

เพราะตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษในประวัติศาสตร์ของโลกมุสลิม คำสอนของศาสนามีความกลมกลืนและเกี่ยวข้องกับบริบทของการดำเนินชีวิตสำหรับโลกมุสลิมในตะวันออก ระบอบการปกครองของชาวมุสลิมไม่ได้ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนา แต่ศาสนาเป็นปฐมบทของระบอบการปกครอง ผู้ปกครองมุสลิมและผู้ถูกปกครองที่เป็นมุสลิมต่างก็มีความเสมอภาคภายใต้ธรรมนูญและกฏหมายอิสลาม ทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักรถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบอบการปกครองของรัฐอิสลาม

 

ลักษณะเช่นนี้แตกต่างจากคำสอนในศาสนาคริสต์และแตกต่างจากพฤติกรรมของนักการศาสนาที่เป็นชาวคริสต์ในช่วงยุคกลางซึ่งผลพวงจากการแทรกแซงและการใช้อำนาจทางศาสนจักรต่อผู้ปกครองในทางอาณาจักรและพลเมืองในยุโรปได้นำไปสู่ผลลัพธ์ของการแยกศาสนาออกจากการเมืองการปกครองตามลัทธิโลกนิยมหรือฆราวาสนิยม ตลอดจนจำกัดพื้นที่ของศาสนาเอาไว้เฉพาะเขตของศาสนสถานเท่านั้น ต่างจากมัสยิดของชาวมุสลิมที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการสถาปนารัฐอิสลามและความเป็นศูนย์กลางของประชาคมมุสลิมในทุกมิติ

 

ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าศาสนาอิสลามมีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องศีลธรรมและการประกอบพิธีกรรมอยู่เฉพาะในมัสยิด และข้อกล่าวหาที่ว่าอิสลามไม่ได้นำเสนอระบอบการปกครองที่สมบูรณ์แบบเพื่อเป็นมาตรฐานและแบบอย่างแก่มนุษยชาติจึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง และข้อกล่าวหานี้สมควรย้อนกลับไปยังผู้กล่าวหานั้นเองมากเสียกว่า เพราะสัจธรรมนั้นส่งแสงแผดกล้าจนไม่ต้องถามถึงว่าเบื้องหลังแสงสว่างอันแผดกล้านั้นมีดวงตะวันปรากฏอยู่หรือไม่!

 

วัลลอฮุอะอฺลัม

อ้างอิง

1. ดร.มุฮัมมัด สะอีด เราะมะฎอน อัล-บูฏียฺ: ฟิกฮุสสีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ; สำนักพิมพ์ดารุสลาม, ไคโร (1994) หน้า 68-69
2. ดร.มุฮัมมัด สะอีด เราะมะฎอน อัล-บูฏียฺ: ฟิกฮุสสีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ; สำนักพิมพ์ดารุสลาม, ไคโร (1994) หน้า 71
3. มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ: อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ สำนักพิมพ์อัล-อัศรียะฮฺ; เบรุต (2004) หน้า 102
4. มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ: อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ สำนักพิมพ์อัล-อัศรียะฮฺ; เบรุต (2004) หน้า 102
5. มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ: อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ สำนักพิมพ์อัล-อัศรียะฮฺ; เบรุต (2004) หน้า 104
6. ดร.มุฮัมมัดสะอีด เราะมะฎอน อัล-บุฏียฺ หน้า 95
7. ดร.มุฮัมมัดสะอีด เราะมะฎอน อัล-บุฏียฺ หน้า 117
8. ดร.มุฮัมมัดสะอีด เราะมะฎอน อัล-บุฏียฺ หน้า 124
9. ดร.มุฮัมมัดสะอีด เราะมะฎอน อัล-บุฏียฺ หน้า 124
10. ดร.มุฮัมมัดสะอีด เราะมะฎอน อัล-บุฏียฺ หน้า 129
11. ดร.มุฮัมมัดสะอีด เราะมะฎอน อัล-บุฏียฺ หน้า 133
12. ดร.อับดุลบาสิฏ บัดร์: อัต-ตารีค อัช-ชามิล ลิลมะดีนะฮฺ อัล-มุเนาวะเราะฮฺ (1994) หน้า 137
13. อิบนุ ฮิชาม 1/133
14. มุฮัมมัด สะอีด เราะมะฎอน อัล-บูฏ๊ยฺ หน้า 135
15. ดร.อับดุลบาสิฏ บัดร์ หน้า 139-140
16. ดร.อับดุลบาสิฏ บัดร์ หน้า 141
17. ดร.มุฮัมมัด สะอีด เราะมะฎอน อัล-บูฏียฺ หน้า 142
18. บุหูษ ว่า ฟะตาวา อิสลามียะฮฺ ฟี เกาะฎอยา มุอาศิเราะฮฺ: ชัยคฺ ญาดัลหัก อะลี ญาดัลหัก เรื่อง หน้าที่ของมัสยิดในอิสลาม: หน้า 393 เป้นต้นไป
19. ดร.มุฮัมมัด สะอีด เราะมะฎอน อัล-บูฏียฺ หน้า 147
20. ดร.มุฮัมมัด สะอีด เราะมะฎอน อัล-บูฏียฺ หน้า 151
21. อิบนุตัยมียะฮฺ: อัส-สิยาสะฮฺ อัช-ชัรฺอียะฮฺ หน้า 157, หามิด สุลฏอน: อะหฺกาม อัล-กอนูน อัด-ดุวะลียฺ ฟี อัช-ชะรีอะฮฺ หน้า 127
22. ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ: อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮฺ 9/831

อ้างอิงรูปภาพ

  • springfieldmosque.com
  • islamiclandmarks.com/madinah-other/masjid-quba
  • c1.staticflickr.com/3/2841/8756155217_4d7ef97d28_b.jpg
  • http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?p=140433074